ลองเลือกชิมวัตถุดิบทางดนตรีแปลกใหม่จาก SØAR FLiT
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayod
SØAR FLiT คือวงดนตรีที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับเราตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟังเพลง ดอกไม้ หรือแม้แต่ครั้งล่าสุดที่ได้ดูโชว์สด ๆ ของพวกเขาและพบว่า นี่เป็นอีกวงที่ควรค่าแก่การแนะนำให้เป็นที่รู้จักเป็นอย่างยิ่ง พร้อมแล้วหรือยังที่จะก้าวเข้าสู่โลกแห่งดนตรีแปลกใหม่ไปพร้อมกับพวกเขา
สมาชิก
แลนด์—ภูมรินทร์ ฮ่มป่า (ร้องนำ)
อ๊อฟ—เรืองวิทย์ ไสเหลื่อม (คีย์บอร์ด, ซินธิไซเซอร์)
แชมป์—ณภัทร สมจินตนากุล (กีต้าร์)
ใหม่—ณัฐวัจน์ ไกรพิชญ์ (กีต้าร์, ซินธิไซเซอร์)
พู่กัน—ณัชพล ชูสกุล (เบส, ซินธิไซเซอร์)
ปิ๊ง—เกียรติ เทพช่วยสุข (กลอง)
พีท—นิพนธ์ ลี้อารีย์วงศ์ (ทรัมเป็ต)
อ๊อฟ: เมื่อก่อนวงเรามีสมาชิก 3 คน ผมกับแลนด์ทำงานที่เดียวกัน อีกคนเป็น sound engineer ชื่อทริสตัน เป็นฝรั่ง แต่ตอนนี้เขากลับอังกฤษไปแล้ว แล้วช่วงนั้นคือยังทำเพลงไม่เสร็จ แต่มีแชมป์เข้ามาทำงานที่เดียวกันพอดี เลยชวนมาทำเพลงด้วยกันหลังจากดองไว้สองปี ก็เลยทำเพลงเสร็จเลย (หัวเราะ) ส่วนใหม่นี่เข้ามาพร้อม ๆ กับแชมป์ แล้วค่อยไปเจอพี่ปิ๊ง กับพู่กัน ส่วนพีทนี่มาหลังจากเราไปทัวร์ที่ขอนแก่นกับ Bird Sound Records
ตอนที่ทำทีแรก 3 คน เคยคิดไหมว่าจะมีสมาชิกมาเพิ่มเยอะขนาดนี้
อ๊อฟ: ตอนแรกคิดไว้ว่าจะมีเยอะกว่านี้อีกครับ เพราะซาวด์เราซับซ้อน และอยากได้เครื่องดนตรีที่เป็น world music แต่พอเราคุยกับพี่เบิร์ด Desktop Error แล้วเขาบอกว่าทำเป็นเซ็ตประมาณนี้ก็พอ ก็ใช้เครื่องดนตรีธรรมดาทั่ว ๆ ไป เน้นการใช้เอฟเฟกต์ หรือว่าสเกลที่ไปใกล้เคียงกับเพลงแถบนู้นแทน แต่ในพาร์ตคีย์บอร์ดของผมจะเป็น sound design ทำขึ้นมาเองทั้งหมดเลย
แบ่งพาร์ตการทำงานกันยังไง
อ๊อฟ: จริง ๆ สมาชิกวงนี้สามารถทำเพลงจบได้ด้วยตัวเองเกือบทุกคน ก็จะไปคุยกันเรื่องไอเดียมากกว่า เรื่องซ้อมก็ไม่ค่อยมีปัญหา ค่อยนัดหลังเลิกงาน
ใหม่: ดึก ๆ เลยครับ ตีหนึ่งครึ่ง ตีสอง เพราะทุกคนก็มีงาน เล่นร้าน เวลานัดซ้อมต้องหลังจากนั้นถึงจะมาเจอกันได้
แชมป์: แล้วต้องเผื่อเวลาไว้เซ็ตสักชั่วโมงนึง เราเซ็ตของกันนานมากเพราะอุปกรณ์แต่ละคนเยอะมาก ของพี่ปิ๊งคนเดียวก็สามชุดแล้ว ตีกลองด้วย เปิดซาวด์ ตีบีทอิเล็กทรอนิกด้วย ส่วนใหม่ก็เล่นกีตาร์ มีคีย์บอร์ซินธ์ด้วย ซาวด์เช็กทีนึงก็นาน
จำเป็นไหมว่าสมาชิกวงนี้ต้องเล่นเครื่องดนตรีเป็นหลาย ๆ อย่าง
ใหม่: ไม่ขนาดนั้นครับ แต่เหมือนว่าตอนเรียนทุกคนจะโดนบังคับเรียนคีย์บอร์ดเพราะเป็นเครื่องดนตรีพื้นฐาน เวลาเราเล่นก็กดคอร์ดง่าย ๆ มันก็ไม่ได้ใช้สกิลขนาดนั้น แต่จะไปเน้นเครื่องประจำของเราแทน อย่างเราเล่นกีตาร์ ก็จะเล่นกีตาร์เยอะกว่า ส่วนคีย์บอร์ดก็ได้พื้นฐานมาช่วยนิด ๆ หน่อย ๆ
แชมป์: สมาชิกส่วนใหญ่เรียนดนตรีกันมาครับ ยกเว้นแลนด์กับพี่ปิ๊ง คือเพลงของ SØAR FLiT มันไม่ได้เน้นความหวือหวาเรื่องสกิล ไม่ได้โชว์ว่าเราเล่นเก่ง จะเน้นการออกแบบเสียง อารมณ์เพลง หรือขายไอเดียมากกว่า
อ๊อฟ: สำหรับการเรียบเรียงเพลง SØAR FLiT เรามองเป็นเหมือนงานสถาปัตย์ งานดีไซน์
ใหม่: เวลาเล่นสดแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน เราจะมีโครงเพลงแบบนี้ แล้วก็จะมีท่อนโซโล่ อิมโพรไวส์ แล้วก็จะแบ่งกันว่า เพลงนี้แชมป์โซโล่นะ เพลงนี้เราโซโล่ จะไม่มีการซ้อมตรงนี้ แค่จะบอกว่าเล่นเรื่อย ๆ มองหน้ากัน บางทีอาจจะเล่นยาว ๆ ไป (แชมป์: บางทีเราก็เล่นผิด) เราก็จะเรียกว่าเป็นการสร้างซาวด์สังเคราะห์ (หัวเราะ)
พอสมาชิกครบ 7 คนแล้ว เจอความยากยังไงบ้าง
อ๊อฟ: คงเป็นเรื่องการคุมคอนเซปต์เพลงของวง อย่างใหม่กับแชมป์จะทำเพลงมา แล้วจะมาโหวตว่าเอาเพลงไหนมาเรียบเรียงใหม่ คือบางเพลงมันก็หลุดคอนเซปต์ไป ก็จะเป็นเรื่องยากในวง SØAR FLiT เหมือนกันครับ ตอนนี้เราก็พยายามตีกรอบทำเป็นอัลบั้มกันอยู่ มี 4 เพลงแล้ว
ให้ความสำคัญกับการโปรโมตเพลงไหม
อ๊อฟ: เรื่องนี้ถือว่าเป็นจุดบอดของวงเราในระดับนึงเลยครับ วงเราไม่ค่อยได้โปรโมต จริง ๆ ตอนที่ทำงานกับพี่เบิร์ด เขาก็ช่วยแนะนำเยอะแหละ ในอนาคตเราก็จะโปรโมตให้เยอะขึ้น
มาร่วมงานกับ Bird Sound Records ได้ยังไง
แชมป์: ตอนนั้นผมคุยกับอ๊อฟว่าอยากได้คนช่วยโปรโมต ชี้แนวทางให้ SØAR FLiT พอดีอ๊อฟรู้จักกับปาร์ค วง West of East ที่รู้จักกับพี่เบิร์ด ก็เลยนึกถึงพี่เบิร์ดเพราะเขาอยู่วงการนี้มานานแล้ว
อ๊อฟ: ก็ให้ปาร์คไปถามพี่เบิร์ด แล้วก็เงียบไปเลย แล้วสองเดือนต่อมา พี่กุล Yena ก็ช่วยไปถามอีกที เพลง SØAR FLiT ที่พี่เบิร์ดได้ฟังจริง ๆ ก็น่าจะเป็นเพลง ดอกไม้ แล้วชอบ ตอนเขาไปทัวร์ที่ขอนแก่นแล้วผมไปเจอพอดี เขาถามว่ามาอยู่ค่ายเราไหม ผมก็เลยถือโอกาสบอกไปว่าเคยทำเพลงคัฟเวอร์ของวงพี่ไว้แล้วสองเพลง ดีแล้ว กับแค่เพียง แต่เพลงดีแล้ว มันดีแล้ว ไม่สามารถทำอะไรเพิ่มได้ (หัวเราะ) พอเป็นจังหวะ 6:8 แล้วมันยากที่จะมาทำเป็นแนวเรา แต่ก็ได้แค่ทำเพลงคัฟเวอร์เพลงเดียวก็ไม่ได้ทำด้วยกันแล้ว ด้วยคาแร็กเตอร์ของค่ายกับวงไม่ตรงกัน Bird Sound เขาออกไปทางโฟล์กร็อก เวลาไปเล่นงานก็จะเกรงใจกัน เราก็ไม่กล้าไปเล่นกับเขาบางงานเพราะมันเป็นงานร็อก
กดดันไหมตอนทำเพลงของ สหายแห่งสายลม ให้ออกมาในสไตล์ตัวเอง
อ๊อฟ: กดดันในระดับนึงเลยครับ ทำมาหลายเวอร์ชันมากแล้วเอามาให้เพื่อนเลือก จนมาได้เวอร์ชันล่าสุด พอได้แล้ววงเราก็มาแก้กันเยอะ แต่พี่เบิร์ดแกไม่ได้อะไรเลย ชิวมาก (หัวเราะ)
แชมป์: รู้สึกเขาจะให้เปลี่ยนเนื้อเพลง แค่เพียง ไปคำนึง
จะเรียกเพลงของ SØAR FLiT ว่าเป็นแนวอะไรดี
อ๊อฟ: จริง ๆ เราทำเพลงมาไม่ได้กำหนดแนวครับ แต่จะใช้สเกลใหม่ ๆ ผมเป็นคนที่เคยเล่นดนตรีแจ๊สมาก่อน จะ arrange ทางคอร์ดเพลงแอมเบียนท์ให้เป็นแบบแจ๊ส แล้วก็จะไม่ได้ใช้จังหวะที่เป็นเบสิก ใช้จังหวะแปลก ๆ
ทำไมถึงอยากทำอะไรแปลก ๆ
อ๊อฟ: อยากให้มีเพลงใหม่ ๆ อยากมีเอกลักษณ์ สร้างคาแร็กเตอร์ให้เพลงไม่ได้มาจากแนวเพลง ไม่ใช่ว่าเราอยากฟังเพลงแปลกหรอก
แลนด์: การพยายามหาซาวด์ใหม่ ๆ ก็เป็นสิ่งที่เราอยากทำด้วย
ใหม่: ก็เหมือนพวกดนตรีทดลอง คือเราเล่นดนตรีกลางคืนมา เล่นแต่เพลงคัฟเวอร์ เล่นแต่เพลงตลาดที่ทุกคนเข้าถึง หรือแต่ละคนก็ทำวงต่าง ๆ มาก่อน พอมาตรงนี้เราอยากจะทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องสนใจ แล้วค่อยเอามารวมกัน เวลาถามแนวเพลงกันเองยังตอบไม่ได้เลยว่านี่คืออะไร
แชมป์: แบบ พอทำตรงนั้น เติมอะไรเข้าไปนิดหน่อยมันก็กลายเป็นแนวอะไรไปแล้วก็ไม่รู้
อ๊อฟ: จะเรียกว่า neo ดีไหมก็ไม่รู้เหมือนกัน ความจริงจะเรียกให้เป็นอิเล็กทรอนิกไปเลยก็ได้นะครับ เคยคุยกับเพื่อนฝรั่งเขาเคยบอกว่าเป็น electronic world music ผมชอบคำนี้มาก แต่ก็ไม่กล้าพูดเพราะไม่รู้ว่ามันเวิร์ลขนาดไหน ความเป็นเวิร์ลมิวสิกใน SØAR FLiT อาจจะเป็นการใช้สเกลมากกว่า อย่างเพลง วน เราก็ใช้สเกลไอริช เล่นในทรัมเป็ต แต่ไม่ได้ใช้เครื่องดนตรีไอริช จริง ๆ หลัก ๆ คือป๊อปเลยครับ แต่โครงสร้างเพลง การเลือกใช้ทางคอร์ดจะเป็น turnaround คล้าย ๆ แจ๊ส
เนื้อหาในแต่ละเพลงได้แรงบันดาลใจมากจากไหน
แลนด์: ส่วนใหญ่ผมเป็นคนแต่งครับ อย่างเพลงแรก ดอกไม้ ก็เป็นเพลงที่แต่งไว้สักพักนึงแล้วให้พี่อ๊อฟลองฟังก็ตกลงทำกัน ผมเปรียบเทียบดอกไม้เป็นสิ่งนึง ดอกไม้ของเธอกำลังเบ่งบาน บางคนบอกว่าดอกไม้เปรียบเสมือนความรักของผู้หญิงกำลังเบ่งบาน บางคนก็ตีความอีกแบบ ก็แล้วแต่เขาเลย (หัวเราะ)
ใหม่: แต่จริง ๆ คือแต่งด้วยความลามกนะ (หัวเราะ)
แลนด์: ส่วนเพลง วน เนื้อหาน่าจะตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว เป็นการพร่ำเพ้อความรัก ความรู้สึกเดิม ๆ จะชอบวนมาตลอด ไม่ไปไหนสักที แฟนเก่า ส่วนใหญ่ก็เอามาจากชีวิตจริงแหละครับ
อ๊อฟ: ช้า ช้า นี่ผมแต่งตอนเมาครับ เมามาก แล้วอยากให้ทุกอย่างมันช้า ๆ อยากให้เวลามันช้ากว่านี้ แต่ความจริงเวลามันไม่เคยรอเราหรอกครับ ตัวเราเองเนี่ยแหละที่อยากจะช้าลงบ้าง ออริจินัลไม่ใช่อย่างนี้ครับ ฟังไม่รู้เรื่องเลย อันนี้แก้มาแล้ว หลาย ๆ เพลงทำเสร็จแล้วไม่กล้าฟังอีกเลย ลบทิ้งไปแล้ว (หัวเราะ) แต่ต่อไปจะมีเพลงของแชมป์กับใหม่ออกมาครับ เดี๋ยวจะปล่อยอีกเพลงมาในช่วงเดือนหน้า แล้วกลางปีจะปล่อยอัลบั้มครับ แล้วตั้งใจโปรโมตกว่านี้ครับ
เพลงไหนที่อยากให้คนที่ไม่เคยฟัง SØAR FLiT ได้ลองฟัง
อ๊อฟ: ของผมอยากให้ฟัง In the Dark ครับ จังหวะกลองเป็น even eighth กึ่ง ๆ ด้วยครับ ยำกันเละเหมือนกัน
แลนด์: ผมชอบเพลง ดอกไม้ ครับ
แชมป์: ผมก็ ดอกไม้ เหมือนกัน เพราะรู้สึกว่ามันเป็นเพลงที่น่าจะบ่งบอกว่าเรามาทางนี้ กลิ่นประมานนี้
ปิ๊ง: ผมชอบเพลง ช้า ช้า คิดว่ามันฟังแล้วได้กลิ่นที่มันแตกต่างจากวงอื่น ถ้าสมมติคนฟังป๊อป ฟังอะไรมาจนเบื่อแล้ว แล้วมาฟังอันนี้ก็จะได้อะไรที่มันแตกต่างออกไป
ใหม่: ผมก็ In the Dark เพราะเพลงนี้มันมีความเป็น Irish pop อยู่ ไลน์กีตาร์ที่มันสู้กันสองคน กว่าผมจะเล่นกับแชมป์แล้วตรงกัน ตอนซ้อมเพลงนี้คือพินาศหมดเลย แล้วคนอัดถามว่า เฮ้ย ไลน์นี้มันยังไง เราต้องมานั่งฟังกันใหม่ งงไปหมด อีกอย่างคือเพลงอื่นมันจะช้า ๆ นิ่ง ๆ แต่ความรู้สึกตอนเล่นเพลงนี้จะพุ่งเข้าหาคนดูมากสุด
เร็ว ๆ นี้จะมีงานเล่นที่ไหนบ้าง
อ๊อฟ: วันที่ 28 นี้จะไปเล่นที่งานอีสานเขียวครับ แล้วก็วันที่ 3 มีนาคม ร้าน Jam สุรศักดิ์
เป้าหมายของวงในปี 2017
อ๊อฟ: คงจะเล่นน้อยลงเพราะจะตั้งใจทำอัลบั้ม แล้วก็พอปล่อยอัลบั้มแรกแล้วจะโปรโมตให้เยอะขึ้นครับ อยากเพิ่มโอกาสให้คนได้ลองฟังมากขึ้น ไม่ต้องเยอะมากก็ได้ครับ แต่ก็อยากให้เป็นคนที่ฟังเพลงวงเราจริง ๆ
ใหม่: เหมือนช่วงหลังตอนเราเริ่มมีงานติดต่อมา เขาจะให้เล่นเยอะ แล้วเพลงเราตอนนี้ที่ปล่อยมีแค่ 4 เพลง ก็คิดกันว่า เฮ้ย เราเล่นคัฟเวอร์มาหลายปีแล้ว เราจะคัฟเวอร์อีกทำไม ไม่เอาเพลงตัวเองอย่างเดียวไปเลย แล้วก็คัดคนที่เหลืออยู่คือคนที่เขาฟังจริง ๆ ในเมื่อเราทำดนตรีทดลองขนาดนี้แล้วเราก็ควรเอาเฉพาะกลุ่มไปเลย ให้มันค่อย ๆ แทรกซึมไป เลยพยายามหางานเล่นที่คิดว่าไปแล้วมีประโยชน์หรือได้คนกลับมาแน่ ๆ แต่ถ้าไปงานที่วงอื่นเขาโคตรป๊อปเลย ถ้าเราไปเล่นเราก็เจ๊ง ไม่มี feedback กลับมา บางคนก็เมา ไม่ฟังเพลงเรา ถ้ามีงานติดต่อมาจะลองฟังเพลงของวงที่เราต้องไปเล่นด้วยก่อนว่าเขาเป็นแนวไหน
อ๊อฟ: สมมติว่าใหม่ชวนเพื่อนไปดู ก็จะติดภาพวงเราว่ามีใหม่ JIDA วงนี้ต้องเล่น แกล้งป่วย แน่เลย หรืออย่างแชมป์ทำ สราญรมย์แบนด์ ผมเองก็เล่นไปส่งกู บขส. ดู๊ ถ้าชวนเพื่อนไปดูก็ติดภาพนั้นเหมือนกัน แต่เพลง SØAR FLiT มันคนละแนวกันเลย
Feedback ที่ดีที่สุดที่วงเคยได้รับ
ปิ๊ง: งาน Deep Space ที่ Play Yard ล่าสุดนี่ก็ดี แต่ feedback นี้ผมวัดจากความพอใจของวงเองมากกว่า ผมคิดว่าถ้าเล่นแล้วออกมาได้ซาวด์ที่ต้องการ เป็นอย่างที่คิดตามมาตรฐานเราหรือเปล่า ก็โอเคแล้ว ซึ่งการที่คนดูชอบหรือไม่ชอบมันก็เป็นผลพลอยได้ ซึ่งงานล่าสุดก็โอเค มีคนตอบรับ เขาบอกว่าชอบมาก แตกต่างจากวงอื่น ๆ เหมือนเขาเริ่มเข้าใจมากขึ้นจากงานก่อน ๆ ที่เราเคยไปเล่น ถ้าเป็นงานอื่นอาจจะเหวอ ยืนอึ้ง จบแล้วหรอ จะตบมือดีไหม
ใหม่: เขาเริ่มเก็ตแล้วว่าแต่ละเพลงของเราไม่ได้เล่นตาม original มีแค่โครงท่อน A ท่อน B ที่เหลือคือไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลย มีแค่เพลงเดียวที่เล่นตามเดิมคือเพลง ดอกไม้
แชมป์: เน้นอารมณ์มากกว่า คือถ้าใครอยากฟังแบบต้นฉบับก็จะไม่ได้ฟัง (หัวเราะ)
อ๊อฟ: อาจจะมีงานเปิดอัลบั้มครับที่เราจะเล่นให้เหมือนที่สุด (หัวเราะ)
การที่แต่ละคนเคยมีวงของตัวเองมาก่อน เวลาจะต้องมาเล่น SØAR FLiT ด้วยกันมีความยากตรงไหนบ้าง
แชมป์: ไม่ยากเลยครับ คนละแบบ คนละคอนเซปต์กัน
อ๊อฟ: มันเริ่มตอนที่ผมทำวงแล้วชวนเพื่อนแต่ละคนมาเล่น เรามองถึงคาแร็กเตอร์ของนักดนตรีคนนั้น ๆ มากกว่า อย่างใหม่กับแชมป์เป็นมือกีตาร์ที่เล่นแอมเบียนท์เก่ง คือสามารถเติมเต็มสิ่งที่ผมทำไม่ได้ พี่ปิ๊งเป็นมือกลองที่ครีเอทกรูฟใหม่ ๆ ได้ พู่กันเล่นแบบที่เราอยากได้ได้ อย่างผมเป็นนักดนตรีแจ๊สมาก่อน แล้วมาทำซาวด์ มันก็ช่วยทำให้เราเข้าใจ harmony มากขึ้น วงเราก็เหมือนกัน ผมเชื่อว่าความสามารถอย่างนึงจะเกื้อหนุนความสามารถอีกอย่างนึง
ใหม่: เวลาเราเล่นคาแร็กเตอร์ก็ต่างกันทุกคน เราไม่เคยคุยกันว่าวงนี้ต้องเป็นแบบนี้ ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน เล่นให้เหมือนกัน คือเราอยากเล่นอะไรก็เล่น เอาให้มันรู้สึกบาลานซ์กันไป ใช้ซาวด์ของตัวเอง จริง ๆ แต่ละคนไม่ได้มีแค่สองวงนะ ถ้านับวงเล่นกลางคืนมันก็มีอีกคนละสองวง วงนี้เล่นแนวนึง อีกวงเล่นแนวนึง มันกระจายกันหมด เลยเหมือนว่าเราไม่สามารถเป็นอย่างวงใดวงนึงได้ เราเลยเลือกเป็นตัวของเรา ให้ทุกคนเป็นสิ่งที่เขาเป็นแล้วค่อยปรับให้เป็นทิศทางเดียวกัน ง่ายกว่าการมาบอกให้เราต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เคยลองทำแล้ว แล้วไม่สามารถทำได้
สำหรับ SØAR FLiT วงการดนตรีไทยในปัจจุบันเป็นยังไง
อ๊อฟ: จริง ๆ เราไม่ค่อยได้สนใจเลย (หัวเราะ) แต่ผมคิดว่าตอนนี้ดีมากนะครับ มีสถานที่ให้ปล่อยผลงานเยอะ เหมือนเปิดโอกาสให้คนฟังและคนทำงานได้มาเจอกัน คงกำลังไปในทิศทางที่ดีครับ ปีที่แล้วก็มีการเชิญวงที่ไม่รู้จักเลยไปเล่น อย่างงาน Cheeze ที่ Central World เขาแค่ฟังเพลงเราแล้วก็อยากให้เราไป เราไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน ก็แฟร์ดีครับ อยากให้มีคนแบบนี้ขึ้นมาพัฒนาวงการเราเยอะขึ้น แต่ที่ผมรู้สึกมันเหมือนกับว่าแต่ละที่เหมือนมีเจ้าที่ของตัวเอง เหมือนมีคนสนับสนุนเฉพาะแต่ละวง แต่อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจเขาครับ
แลนด์: ผมว่าก็ดีนะครับ ทุกวันนี้โซเชียลอะไรก็ครอบคลุมหมด แล้วผมก็ชอบตามไปฟังวงนั้นวงนี้ที่เขาทำ แบบ เออ ดีว่ะ คนเก่ง ๆ มีเยอะมาก
แชมป์: ผมมองเป็นสองส่วน ส่วนที่เป็นงานศิลปะกับส่วนที่เป็นเชิงพาณิชย์ ส่วนที่เป็นเชิงพาณิชย์ผมไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่ การทำเพลงเพื่อหาเงินน่ะครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องงานศิลปะผมว่าน่าจะโอเคขึ้น เพราะตอนนี้มีวงน้อง ๆ อายุน้อย ๆ ที่ทำงานออกมาดี เก่งเลย ที่พูดนี่ไม่ได้รวมแค่วงดนตรี แต่บุคลากรอื่น ๆ อย่างน้องบางคนก็โปรดิวซ์งานได้เองแล้ว หรือที่ผมเจอล่าสุด ซาวด์เอนจิเนียร์คนนึงที่อายุ 20 กว่า ๆ เอง แต่ทำงานใหญ่มาก แล้วมานึกว่าตอนเราอายุเท่านั้น เรายังทำไม่ได้เลย
ปิ๊ง: ผมก็คิดว่าใน 2-3 ปีที่ผ่านมาถ้าจะดูกันจริง ๆ ก็มีวงใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก แล้วก็มีงานที่เปิดโอกาสให้วงใหม่ ๆ เยอะ อาจจะเป็นเพราะโซเชียลมันเกิดขึ้นมาแล้วทำให้วงพวกนี้ปล่อยผลงานเองได้ เดี๋ยวนี้ home studio ก็ทำได้ง่ายขึ้น สามารถอัดเพลงได้ในบ้าน อัดเสร็จปุ๊บก็เผยแพร่ลง YouTube ได้เลย เห็นได้จากเวลามีงาน ก็จะมีวงใหม่ ๆ ชื่อใหม่ ๆ ไปเล่นเยอะ ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะจะได้หลากหลายจากแต่ก่อน 5-10 ปี ก็จะมีแต่วงโทนเดียวกันหมด
ใหม่: มันโตขึ้นครับ ทั้งคนฟัง และวงการเพลง คือเมื่อก่อนแนวพวกนี้น้อยคนมากที่จะฟัง post rock นี่คนไม่ค่อยจะรู้จักหรอก สมัยผมเรียน ถ้าเราอยากจะดูคอนเสิร์ตอย่าง Coldplay เงี้ยต้องไปซื้อซีดีมาดูวนอยู่คอนเสิร์ตเดียว เราไม่สามารถจะไปหาจากไหนได้ แต่พอเล่น YouTube แล้วมันก็กว้างขึ้น แล้วมันก็ฉลาดที่ทำให้เราสามารถดูได้ว่าวงนี้มันใกล้เคียงกับวงที่เรากำลังดูอยู่นะ สามารถคลิกลิงก์ไปได้ ผมเนี่ยกด random ฟังไปมั่ว ๆ ได้เรื่อย ๆ จนไปเจอวงที่ชอบ ก็เก็บไว้ ๆ ทุกอย่างมันโตขึ้น อย่างรุ่นน้องผมก็มีมาทำวง พวก Lord Liar Boots เงี้ย มันทำให้เห็นว่ายุคนั้นเราคิดแบบนี้ไม่ได้ คิดไม่ออก เพราะเราแคบไป ไม่รู้จะฟังอะไร ตอนนี้ทุกอย่างมันเร็ว ก็หวังว่าอนาคตบ้านเราจะเป็นแบบออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ที่เขาเปิดรับดนตรีมากขึ้น
อ๊อฟ: แต่อันนี้จริงนะที่วงการเรามันแคบ ผมรู้สึกว่าผมคลุกคลีอยู่กับแวดวงนี้ บ้านผมอยู่ขอนแก่น เวลาไปขอนแก่นแล้วทุกคนจะไม่เก็ตกับสิ่งที่ผมพูดหรือฟัง อย่างพอบอกว่า Desktop Error วงเนี้ย ดังมากเลยนะ แต่ทางนู้นเขาไม่รู้จักเลย เหมือนอยู่คนละโลก
ใหม่: คือวิทยุบ้านเขามันไม่มีแบบสมัย Fat Radio ที่ก็อยู่ในกรุงเทพ ฯ สัญญาณปลาย ๆ ก็เริ่มหายละ คนที่นั่นเขาก็จะได้ฟัง standard จากค่ายตึกสูง ตึกหลายชั้นกันไป แล้วเขาก็โปรโมตแต่อย่างเนี้ย งานคอนเสิร์ตก็จัดแต่แนวนี้ ถ้าเป็นเด็กแนวก็ต้องไปเชียงใหม่ ขอนแก่น สองที่นี้ก็ไปแบบวัดดวงคนดูว่าจะมีใครมาดูเราหรือเปล่า ถ้าไปสุโขทัยก็อาจจะเจ๊งเลย ก็ต้องรอให้คนต่างจังหวัดเขาได้ฟังเพลงแปลก ๆ บ้าง ไม่ใช่แค่ตึก ๆ โป๊ะ ตึก ๆ อย่างเดียว
แล้ว SØAR FLiT อยากให้วงการเป็นยังไง
ใหม่: นั่นแหละครับ อยากให้คนฟังเข้าใจคนเล่นบ้าง สมมติว่าเราไป Play Yard ที่เขาชอบจะเอาวงใหม่ ๆ มา อยากให้เปิดใจรับฟัง ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องฟังต่อก็ได้ แต่อยากให้ลองก่อน เอะอะจะตามใจฉันอย่างเดียวไม่ได้ หรือถ้าอย่างวงกลางคืนวงนี้เล่นอังกฤษ เวลาจะขอเพลงก็ขอใกล้ ๆ เขาหน่อยไม่ใช่จะขอ เชือกวิเศษ ถ้าเล่นไม่ได้เขาก็ด่า หรือพูดให้เราได้ยิน เราเคยรับงานวงกลางคืนแล้วโดนขอเพลงสามช่า แต่ตอนนั้นเราเล่นเพลงวงอังกฤษ บริทป๊อปอะ (หัวเราะ) มันก็อยู่ที่ความเก็ตของคนเสพด้วย เหมือนงานศิลปะเขาเพนท์สีขาวอยู่ แล้วเราไปขอสีชมพู มันเหมือนไม่ได้ดูว่าเขาทำอะไรอยู่ เขาต้องการสื่ออะไร ก็อยากให้คนฟังได้รู้ว่าเขาสื่อสารในแนวไหน ลองฟังเขาไปก่อน เอะอะจะขอโจ๊ะไว้ก่อนก็ไม่ใช่
ปิ๊ง: ทุกวันนี้ก็เดินมาถูกทางแล้ว แต่อยากให้มันหลากหลายกว่านี้ ทั้งคนฟัง คนทำเพลง แล้วก็ร้าน คนทำเพลงยิ่งทำออกมาเยอะก็ยิ่งดี แต่ไม่ใช่ออกมาแบบไม่มีคุณภาพ คนทำเพลงก็ต้องนึกถึงคุณภาพด้วยว่าเราอยากนำเสนออะไร ต้องชัดเจนไปเลยและทำให้ดี คนฟังก็ควรเปิดใจว่ามันไม่ได้มีแค่แนวป๊อป หรืออะไรที่เราฟังกันชิน ๆ หู ลองเปิดใจฟังวงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาบ้าง ส่วนเรื่องร้าน ทุกวันนี้ร้านอาหารหรือร้านที่มีดนตรีแสดงสดส่วนใหญ่ก็จะเป็นการให้วงดนตรีไปเล่นเพลงตลาด แต่ถ้าดูในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่นเขาจะมี live house ให้วงไปเล่นเพลงตัวเอง ซึ่งในไทยหรือกรุงเทพ ฯ เอง เราจะนึกร้านอย่างนั้นไม่ออก หรืออาจจะมีน้อย ส่วนมากก็จัดเป็นอีเวนต์ไม่ได้เป็นวงใหม่ทุกวัน ๆ เล่นกันปกติ ถ้าเทียบวงการตอนนี้กับต่างประเทศก็ยังโตไม่เท่าเขา ทั้งจำนวนวง จำนวนแนวดนตรี แล้วก็การเปิดใจของผู้ฟัง
แชมป์: เรื่องโปรดักชันการทำเพลง ตอนนี้วงการอินดี้บ้านเราจะไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือมีความรู้เรื่องซาวด์เท่าต่างประเทศ ยกตัวอย่างเราฟังวงอินดี้ต่างประเทศ ซาวด์เขาจะดีมาก แต่วงไทยบางวงที่เขาไม่รู้โปรดักชันการทำเพลง ซาวด์เขาจะไม่ค่อยดี อยากให้ใส่ใจรายละเอียดตรงนี้หน่อย เราเป็นคนทำเพลงให้คนอื่นฟัง อย่าทำอะไรสั่ว ๆ ออกมา บางทีแต่งเพลงมาดีมาก แต่บันทึกเสียงมาห่วย ก็ไม่เวิร์ก
แลนด์: ผมอยากให้คนทำภาพกับทำเสียงมาเจอกันมากขึ้น มาช่วยกันทำทั้งแพคเกจ กราฟฟิก หรือ mv
อ๊อฟ: อยากให้ไม่ต้องมี mainstream หรืออินดี้ เพลงทุกเพลงเป็นเรื่องของกลุ่มคนฟังมากกว่า ไม่อยากให้เป็นกลุ่มค่ายเพลงค่ายใหญ่ค่ายเดียวกับคนฟังทั่วประเทศ อยากให้มีการผลักดันเพลงแปลก ๆ ออกไปให้เยอะกว่านี้ ถ้าผมมีเวลาก็อยากทำอะไรแบบนี้ อยากให้บ้านเรามี live house ขายงานได้ แต่ตอนนี้ผมก็เห็นทิศทางที่ดี อย่าง Asiola ที่ให้แฟนเพลงมาลงทุนเพื่อให้ศิลปินวงนั้น ๆ ทำอัลบั้ม ความฝันของผมคืออยากให้ตรงนี้ดังมาก ๆ พอ ๆ กับค่ายเพลงใหญ่ ๆ แล้วมันจะทำให้วงการเราหลากหลายมาก เหมือนตอนที่ The Temper Trap หรือ Alt-J ดังขึ้นมาก็มาจากอะไรประมาณนี้ แล้วก็อยากให้คนรุ่นใหม่ ๆ ทำเพลงแบบไม่ต้องมีกรอบเยอะ อย่างจะมีนักเรียนดนตรีหลาย ๆ คนที่เรียนจบมาแล้วอยากทำเพลงแบบเดิม ๆ ก็ไม่ถือว่าผิดนะครับ แต่ก็อยากให้ลองสร้างอะไรใหม่ ๆ มากกว่า อย่างวงที่เรียนแจ๊สมาลองทำอะไรแบบ Hiatus Kaiyote มากกว่าที่จะทำแบบ traditional แต่ตอนเรียนก็ทำกันมาเยอะแล้ว พอจบมาควรมีสไตล์ของตัวเองมากกว่า อยากเห็นเพื่อน ๆ ที่เรียนดนตรีมาออกมาทำอะไรที่มีเอกลักษณ์มากกว่าจะมองว่าเป็นแนวเพลงอะไร
คิดว่าการที่วงหน้าใหม่เกิดขึ้นมาเยอะ ๆ ทำให้เกิดการแข่งขันสูง เมื่อเทียบกับจำนวนผู้บริโภคแล้วกรณีนี้ทำให้บางวงไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างทั่วถึงหรือเปล่า
อ๊อฟ: ผมคิดว่าการแข่งขันเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วครับ แต่จริง ๆ ผมมองว่าเป็นงานศิลปะมากกว่าการแข่งขัน เพราะมันทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น คนก็จะได้เลือกกินอาหารที่เขาชอบมากขึ้น หนีความจำเจได้
ใหม่: เขาเรียกว่าวงการนักฆ่า วงไหนดีเขาก็จะยังอยู่ แต่มันก็ไม่จริงเสมอไป การมีการแข่งขันมันดีอยู่แล้ว ถ้ามันไม่มีการแข่งขันเราจะรู้สึกว่าเราเด่นแล้ว เราดีแล้ว โดยที่เราไม่รู้ว่าชาวบ้านเขาไปถึงไหนกันแล้ว ถ้าเพลงแรกเจ๊ง เราก็ต้องทำเพลงสองให้ดีขึ้น ถ้าสมมติเราปล่อยเพลงพร้อมกับอีกวงนึงที่เป็นแนวใกล้เคียงกันแล้วเขาดัง ก็ต้องมาดูว่าเพลงเรามันถึงหรือเปล่า เราก็ต้องทำเพลงใหม่ให้ดีกว่าเดิม ต้องฆ่ามัน (หัวเราะ)
การที่สื่อเลือกพูดถึงเฉพาะบางวงที่เห็นว่าดี แต่บางวงที่เชื่อว่าตัวเองดีแล้ว แต่ไม่ได้รับการโปรโมตแล้วไม่พอใจสื่อนั้น ๆ สื่อควรแก้ปัญหาอย่างไร
อ๊อฟ: ความจริงผมว่ามันไม่ใช่ความผิดของสื่อนะครับ ผมทำงานสื่อด้วยก็เลยรู้ แต่มันเป็นเรื่องตัวงานมากกว่า ถ้าเพลงมันโดดเด่นหรือดีจริง มันจะต้องมีคนฟังแน่ ๆ ผมเชื่อตรงนี้มาก ๆ คนที่ทำเพลงเขาก็จะทำตลอด จริง ๆ การมีสื่อเข้ามาสัมภาษณ์หรือโปรโมตเป็นเหมือนกำไรมากกว่า อย่างผมที่ทำเพลงมาตลอด ผมไม่เคยคิดว่าขาดทุนเลย ถึงจะมีคนฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ผมไม่สนใจ ผมแคร์ว่าผมได้ทำไหมมากกว่า ฝากถึงวงที่งอนสื่อที่เขาไม่มาสนใจ ผมว่าคุณต้องอยากทำเพลงจริง ๆ มากกว่าครับ มองเป็นงานศิลปะ ที่ได้ทำเพลงมากกว่า
ใหม่: ต้องถามตัวเขาก่อนว่าคอนเซปต์แรกที่เขาสร้างวง เขาคิดเพลงเพลงนึง เขามีความคิดว่าทำให้สื่อเอาไปโปรโมต หรือจะทำเพราะชอบที่จะทำมากกว่า
แลนด์: ผมว่าเวลามันจะพิสูจน์ตัวจริงออกมาเอง ช่วงนี้คนอาจจะทำออกมาเยอะมาก แต่ผ่าน ๆ ไปมันจะเหลือแต่ตัวจริงที่ยังอยู่ นั่นคือ the real ให้เพลงมันทำงานของมันเอง
ฝากผลงาน
แชมป์: ฝากเพลงล่าสุด In the Dark ด้วยครับ ปล่อย mv มาแล้ว
อ๊อฟ: ฝากเพลงใหม่ที่กำลังจะปล่อย ถ้าคุณชอบพวกเราก็รอฟังได้ต้นเดือนหน้าครับ สำหรับคนที่ชอบแนวนี้อยู่แล้ว ก็ลองฟังพวกเราดู เป็นเพลงสัญชาติไทยที่เราก็พยายามจะทำออกมาให้ดีที่สุดครับ
รับฟังเพลงของ SØAR FLiT บนฟังใจได้ ที่นี่