Article Interview

ชุ่มฉ่ำรับฤดูฝนกับซิงเกิ้ลใหม่จาก Scrubb

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Neungburuj

 

หลังจากที่ได้ฟังเพลงใหม่และชมมิวสิกวิดิโอเพลงล่าสุดของ Scrubbอย่าง ฝน กันไปแล้ว Fungjaizine ไม่รอช้า ชวน บอล-เมื่อย มาพูดคุยถึงการทำงานในเพลงนี้กับช่วงเวลาที่พวกเขาห่างหายไปจากการทำเพลงกัน

3 ปีที่ห่างหายจากการทำอัลบั้มเพื่อไปใช้ชีวิต ได้ลองทบทวนอะไรบ้าง

บอล: โดยอาชีพเราเป็นทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่อยู่ในธุรกิจเพลงเหมือนกัน ก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือเรารู้ทุกขั้นตอน ในแง่ที่พอถึงเวลาต้องทำเพลงของตัวเอง หรือการไปทำเพลงให้น้อง ๆ ผลักดันคนอื่น ที่มันก็เป็นความสนุก แต่ข้อเสียคือเราไม่มีเวลาที่จะละจากตรงนี้เท่าไหร่ บางคนเขาเล่นดนตรีก็จริง แต่เวลาเขาได้พักเขาก็ไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับดนตรี อย่างเมื่อยเวลาพักเขาก็ไปทำอย่างอื่น อ่านหนังสือ วาดรูป ของผมวัน ๆ นึง เอาจริง ไม่งานตัวเองก็งานคนอื่นที่เป็นเรื่องธุรกิจเพลงทั้งหมด เวลามันจดจ่ออยู่กับตรงนั้นมาก ๆ บางทีเราอาจจะตึงเกินไป ไม่ก็ติดนิสัยที่ทำงาน คือทุกอย่างต้องมีแผน มีเป้าหมาย มีงบประมาณ มีระยะเวลาตามที่กำหนด หรือต้องควบคุม ซึ่งจริง ๆ มันไม่ดีในแง่ของการสร้างสรรค์งานหรอกเพราะบางเรื่องรู้เยอะเกินไปก็ไม่ดี ทุกวันนี้ก็พยายามแยกมันออกไป กับอีกสิ่งที่คิดได้คือ ยิ่งทำงานตรงนี้นานมากขึ้นเท่าไหร่มันต้องรับผิดชอบเยอะขึ้น พอโตขึ้นความรับผิดชอบมันก็เยอะขึ้น Scrubb ทำงานมาย่างเข้า 16 ปีแล้ว อะไรที่ควรได้ทำ ได้ลองทำ หรืออยากจะทำ อาจจะยังไม่ทั้งหมดแต่ก็เยอะมากพอสมควร ตอนนี้มันเป็นช่วงเวลาที่มาคุยกันว่า ถ้าวันนี้ยังเล่นดนตรีอยู่ อยากทำอะไรกันอีกมากกว่า ซึ่งสองสามปีที่ผ่านมามันมีช่วงนึงที่ Scrubb ทำงานตลอด พอทำอัลบั้มเสร็จสักพักก็มีคอนเสิร์ต Scrubb SING ครั้งแรก ปีต่อมาก็ทำคอนเสิร์ตอะคูสติกเล็ก ๆ ชื่อ Scrubb NUDE พอทำเสร็จปีต่อมาก็ทำอัลบั้มต่อ มันมีช่วงเวลาที่หลายคนคุ้น ๆ ว่า Scrubb ไม่ได้หายไปไหนเลย มีงานตลอด ค่ายก็ตั้งแพลนทุกอย่างไว้ให้เราทำงานให้ต่อเนื่อง มีโปรเจกต์ที่ต้องไปทำโน่นนี่เต็มไปหมด พอคุยกันก็โอเค ทำก็ได้ จนมาถึงช่วงนึงเรามีซิงเกิ้ลที่จะปล่อยกันในปีที่แล้ว ตอนเราทำเพลงนั้นเสร็จ โปรดิวเซอร์ก็เอาเพลงนั้นเปิดระหว่างขับรถ แล้วภรรยาโปรดิวเซอร์เราก็ถามว่า อ้าว Scrubb จะปล่อยเพลงอีกแล้วเหรอ ซึ่งคงเป็นคำผ่าน ๆ อะ แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันมีความสำคัญนะ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิดหรือทำงานบ่อยแล้วจะไม่ดี เพียงแต่ว่ามันไปตรงกับความรู้สึกเราตอนนั้นที่ทำไมการทำเพลงครั้งล่าสุดมันไม่สนุกเลย เต็มไปด้วยความเครียด แล้วพอไปประชุมกับทีมงานก็เครียด มีปัญหาหลายอย่าง เราก็รู้สึกว่าทุกอย่างตึงไปหมดเลย โปรดิวเซอร์เองก็ทักว่าเพลงนี้เสร็จออกมาทำไมทุกคนดูเครียดขนาดนี้ ก็เริ่มเข้าใจว่าบางทีทำงานไปเรื่อย ๆ มันฟ้องจากชิ้นงานที่ได้ออกมา มันมีความเครียด มีความไม่สนุก ไม่สบายใจแฝงอยู่ในนั้น มันก็เป็นความรู้สึกที่เราเริ่มถอยกันคนละหน่อยนึง แล้วก็มาคุยกันว่าจริง ๆ แล้วเราก็ยังสนุกกับการทำงานนะ แต่ว่า มันถี่ไปไหม หนักไหม ดูเป็นงานประจำหรือเป็นหน้าที่มากเกินไปหรือเปล่า ปีที่แล้วก็เลยเป็นครั้งแรกที่ยอมขอบริษัทตรง ๆ ว่า เราขอช้าลงนิดนึงได้ไหมเพื่อให้เราได้พักกันบ้างนิดนึง เราไม่ได้ทำอาชีพเล่นดนตรีเป็นหลักเลี้ยงตัวเองอย่างเดียว 100% เรากล้าที่จะ eject เพลงตัวเองได้เวลาที่เพลงเราไม่ดีหรือไม่สนุก ซึ่งก็โชคดีที่ค่ายค่อนข้างเข้าใจเรา มันก็เป็นเกือบสองปีที่เราไม่ได้ทำอะไรที่เป็นพิเศษเกี่ยวกับภาคของดนตรี แต่หลัก ๆ คือไปพักกันให้เต็มที่แล้วถ้ามีงานจ้างเราก็ออกไปเล่น เมื่อยก็ไปทำโปรเจกต์ของเมื่อย ผมก็ไม่ต้องมาคิดเรื่องเพลง ปกติเราจะปรับเพลย์ลิสต์เวลาเล่น คราวนี้ผมก็ไม่ปรับเลยนะ ปล่อยให้เล่นจนให้มันเบื่อไปที่สุดนี่แหละ แล้วเอาเวลาไปดูแลค่ายเพลงของตัวเอง ผมไปช่วยคนอื่นทำงาน แต่ไม่ใช่ในฐานะคนแต่งเพลง แต่เป็นคนคอยผลักดัน พอเจอวงหน้าใหม่ เจอเพลงอะไรแปลก ๆ ก็อยากจะลองผลักดันศิลปินหน้าใหม่เหล่านั้นดู

static1-squarespace-12

เมื่อย: ของผมไปทำโปรเจกต์ชื่อ Popdub ครับ จริง ๆ แล้วตัวเองมีเพลงที่ไม่มีเนื้อเพลงอยู่จำนวนนึง เคยพยายามแต่งเนื้อเพลงใส่เข้าไปแล้วมันฟังแย่ลง ก็เหมือนไม่มีทางออกให้เพลงพวกนั้น แล้วเมื่อสองถึงสามปีที่แล้วได้ลองไปงานดนตรี Fuji Rock Festival ก็เพิ่งรู้ว่าที่ญี่ปุ่นมีแนวดนตรี instrumental เยอะมาก คือในงานจะมีเวทีนึงที่เป็น instrumental เลย ซึ่งเราดูแล้วก็แปลกใจ พอได้ไปสัมผัสจริง ๆ ก็เลยลองเอาเพลงที่มีอยู่แล้วมาทำต่อ แล้วก็ชวนเพื่อน ๆ มาทำ แล้วได้รู้จักวง aire แต่ก่อนจำได้ว่าตอนที่ทำ Popdub นี่ aire ยังหาสมาชิกอยู่เลย แล้วเราก็ได้ฟังเพลงเขา เราก็เลยคุยกับเขาว่าถ้ามีไปเล่นที่ไหนให้ชวนไปเล่นด้วยเพราะเราก็ไม่รู้จะไปเล่นที่ไหน มันไม่มีที่ให้เล่นงานพวกนี้ สื่งที่ท้าทายคือเราลองไปเล่นตามร้านเล็ก ๆ ที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ เมื่อก่อนมันมีร้าน Harmonica หรือ Studio Lam แล้วก็จะมี community ของคนญี่ปุ่นที่จะจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ กันอยู่แล้ว ประกอบกับการที่เราไม่อยากไปเล่นเพราะเราเป็น Scrubb อยากไปเล่นโดยที่เขาไม่รู้แบคกราวด์ว่าเราเป็นใคร มันก็ท้าทายที่ไม่มีใครรู้จักเราเลย ก็เล่นไปเรื่อย ๆ เริ่มจากการมีสมาชิกสองคนก่อน เพิ่มเป็น สาม สี่ ห้า หก จำได้ว่าช่วงนึงสนิทกับพี่อดุลย์ Friday เอาให้เขาลองฟัง Popdub แล้วเขาก็มาช่วยเล่นกีตาร์ ซักพักก็ชวนพี่โป้ง Moderndog มาเล่น ก็ได้สมกับที่ตัวเองอยากทำแหละครับ ได้มีโอกาสที่ส่งงานไปให้เพื่อนที่ญี่ปุ่นฟัง ทาง live house ที่นู่นก็ยินดีจะให้เราไปเล่น ก็เก็บตังไปกัน ออกกันเองหมด เขาแค่มีที่เล่นให้ ก็ไปเล่นมาสองครั้ง ผมว่าธรรมเนียมคนฟังเพลงคนไทยกับคนญี่ปุ่นมันต่างกัน คนไทยอาจจะชอบฟังเนื้อร้องก่อนโดยที่มันก็เป็นธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว แต่พอไปเล่นที่ญี่ปุ่นก็ได้รับความสนใจ อาจจะเป็นเพราะเราเป็นคนไทยแล้วเขาก็พยายามฟังว่าเราจะสื่อสารอะไร ประกอบกับเขามีวัฒนธรรมฟังเพลงบรรเลงด้วยความสนุกสนานอยู่แล้ว เขาก็ตั้งใจฟัง แล้วทำให้เราค่อนข้างมีกำลังใจในการทำอะไรแบบนี้ ผมก็คิดง่าย ๆ ว่าญี่ปุ่นเป็นเมืองที่มีอะไรตรงนี้เยอะ เราก็พยายามไปหาที่เล่นให้ถูกที่ พยายามไม่ไปฝืนมัน และไม่ได้เรียกร้องให้คนมาฟังหรือจะบอกว่าเราคืออะไร เรารู้ว่าเราเป็น instrumental แล้วเราก็รู้ว่าชุมชนที่เป็นดนตรีแบบนี้มันไม่ใหญ่ แล้วพอถูกที่ก็ได้เพื่อนใหม่ ๆ มีสิ่งแปลก ๆ เข้ามา มีเพื่อนอยากให้เราไปเล่นอีก มีเพื่อนวงดนตรีที่เขาทำเพลงประหลาด ๆ เต็มไปหมด ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นเมืองที่แต่ละคนทำอะไรสุดอยู่แล้ว ก็สนุกดีครับ แล้วก็การที่ตัดสินใจเก็บตังลองไปเล่นที่ญี่ปุ่นก็รู้สึกว่าตัดสินใจถูก ถึงเราจะไม่ได้เงินอะไรเลย แต่จำได้ว่าเล่นไปสามที่มั้ง กลับมาได้เงินแบ่งกันคนละพัน (หัวเราะ) ก็สนุกดีครับ ได้ประสบการณ์ ได้สนองสิ่งที่ตัวเองไม่ค่อยได้ทำ ซึ่งเราทำ Scrubb เราก็ต้องทำดนตรีที่มีเนื้อร้อง พอร้องแล้วอยากให้คนรู้ว่าความหมายเป็นยังไง แต่จุดประสงค์ในการทำ Popdub ของผมก็คือ ให้ดนตรีเป็นเหมือนแบคกราวด์ ส่วนคนจะทำอะไรก็ได้ จะคุยเล่นยังไงก็ได้ เราก็เล่นให้ปาร์ตี้กันสนุกขึ้น ไม่ต้องมาฟังเราขนาดนั้นก็ได้

static1-squarespace-13

มีแฟนคลับไหม

เมื่อย: จะว่ายังไงดีล่ะ (หัวเราะ) ก็เป็นกลุ่มเล็ก ๆ คนประมาณ 50-100 คน ประมาณนี้ครับ เจอคนคุ้น ๆ หน้ากันบ้าง บางทีก็มีคนญี่ปุ่นที่เขามาอยู่เมืองไทย พอเราไปที่นู่นเขาก็บอกว่าตอนเขาอยู่เมืองไทยเขาก็ได้มาฟัง แล้วอีกอย่างที่ผมทำคือจัดงานเล็ก ๆ ชื่อว่า DOOD ก็เหมือนเป็นการอัพเดตกับน้อง ๆ วงดนตรีใหม่ ๆ ที่ให้เขามาเล่นแล้วเราก็ได้แรงบันดาลใจไปด้วย ได้รู้จักวงดนตรีดี ๆ เยอะแยะ อย่างวง Monomania, Fwends, Two Pills After Meal, DCNXTR แล้วก็มีเพื่อน ๆ วงญี่ปุ่นที่เขามาเล่นดนตรีเมืองไทย เราก็ช่วยหาที่เล่นให้เขา ก็ดีนะครับเพราะบางทีเราอยู่ในมุมของเรา เราก็ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาเป็นยังไงบ้าง อย่างแบบนี้เราก็ได้เห็นความคิดน้อง ๆ ได้เป็นคนหาโอกาสให้น้อง ๆ ซึ่งก็เหมือนเราเมื่อก่อนที่เราอยากหาที่เล่น แต่ไม่รู้จะทำยังไง เหมือนตอนนั้นเราเป็นวงที่ไม่มีเพลงที่คนรู้จัก เราก็เชื่อมตรงนี้ให้เขา ก็เป็นวิธีที่ปิดโอกาสได้ดี แล้วได้สิ่งที่อยากจะทำใหม่ ๆ ให้กับวง Scrubb อีกที

static1-squarespace-14

หลังจากหายไปนาน พอกลับมาแล้วรู้สึกยังไงบ้าง

บอล: บรรยากาศดีขึ้นเยอะ เหมือนเราได้ไปพัก จริง ๆ มันก็เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตได้พอสมควร เพราะถ้าไม่ได้เล่นดนตรี ผมว่าทุกคนก็ต้องมีประสบการณ์นี้นะที่ใจจดใจจ่อกับอะไรมากเกินไปแล้วพยายามทำสิ่งนั้นออกมาให้ได้ตามเวลา แล้วสุดท้ายมันเกิดความกดดันในการทำงานชิ้นนั้นขึ้นมาเอง วิธีการคือก็อยู่กับมัน แล้วก็เรียนรู้กับปัญหา รีแลกซ์ อะไรที่ตึงไปเราก็ทำให้มันหย่อนลงเท่านั้นเอง การที่ได้พักผ่อนมันก็ช่วยทำให้เกิดช่องว่างให้เราได้หยุดคิด ได้ไปทำอะไรอย่างอื่นโดยที่ไม่ต้องสนใจตรงนี้มาก อย่างตอนต้นปีที่เริ่มกลับมาคุยกัน มันไม่ได้คุยกันเรื่องเพลง แต่เป็นการอัพเดตชีวิต กลายเป็นว่าพอไม่ได้ตั้งใจจะพูดเรื่องงานกัน มันได้เคลียร์ปัญหาทุกอย่าง คุยถึงเรื่องที่ผ่านมา และเรื่องดี ๆ ที่อยากจะทำ จบด้วยการออกจากห้องประชุมวันนั้นแล้วพวกผมกับพี่ฟั่น โปรดิวเซอร์ก็นัดกันว่า เดี๋ยวอาทิตย์หน้าเราไปเจอกันที่ห้องอัดแล้วนั่งเล่น ขึ้นโครงเพลงกัน การที่เราไม่ได้ทำเพลงกันมานานก็เหมือนต้องเคาะสนิมกันใหม่ แต่พอทำไปสักพักมันก็อยู่ในลู่ทางที่ดี เราอัดไปแล้วสองเพลง แต่ก็ยังมีเดโมอยู่อีก 4-5 เพลง แต่เดี๋ยวก็จะทำเพลงเพิ่มกันอีก ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็กล้าพูดได้ครั้งแรกจากที่ไม่ได้พูดมานานว่า น่าจะเห็นเค้าลางว่าอาจจะมีกลุ่มก้อนผลงานใหม่ในเร็ว ๆ นี้ ถือว่าเป็นบรรยากาศในการทำงานที่ดี แต่ก่อนหน้านี้มีบางช่วงที่คิดนะว่า เอ๊ะ จะยังทำเพลงกันได้อยู่หรือเปล่า จะมีอัลบั้มกันอยู่ไหม ซึ่งจริง ๆ ก็คิดทุกอัลบั้มแหละ (หัวเราะ) ทุก ๆ ครั้งที่เสร็จงานนึงแล้วก็จะชอบคิดเสมอว่าน่าจะหมดมุขแล้ว แต่มันก็ยังมีอยู่เรื่อย ๆ ถึงเวลาก็เกิดเพลงใหม่ขึ้นมาอีก ทุกวันนี้หน้าที่ของเพลงมันคงกลายเป็นไดอารีแบบจริง ๆ จัง ๆ แล้ว เมื่อก่อนเราหรือวงน้อง ๆ อาจจะพูดกันให้ดูสวยงามว่าเพลงมันคือไดอารี่ของชีวิตเรานะ แต่ทำงานมานานขนาดนี้ก็กล้าพูดว่าเพลงที่ผ่านมาทุกช่วงชีวิตมันเป็นไดอารี่จริง ๆ แม้แต่เราที่เป็นคนเล่นดนตรีเองพอย้อนไปฟังบางเพลงแล้วบรรยากาศของช่วงเวลานั้น ๆ บางทีมันก็กลับมา ตอนนั้นทำเพลงที่ไหน ไปเล่นที่ไหนบ้าง ตอนนั้นมีเรื่องอะไรตลก ๆ มีช่วงอะไรแย่ ๆ เศร้า ๆ มีอะไรที่ดีบ้าง หรือบางทีถ้าจะนึกถึงช่วงเวลานั้น ๆ เราก็นึกผ่านเพลง ใช้อัลบั้มหรืองานของตัวเองเป็น milestone ในการช่วยจำ 15-16 ปีที่ผ่านมา เพราะก็ถือว่าเป็นงานอดิเรกที่จริงจังที่สุดที่ทำมาจนทุกวันนี้

static1-squarespace-15

เพลงใหม่มีความแตกต่างจากงานก่อน ๆ ยังไง

บอล: ตอนทำเพลงนี้ก็กลับมาที่ห้อง มีผม เมื่อย พี่ฟั่น มาคุยไอเดียกันก่อน แต่ว่าผมชอบไปชวนคนอื่นมาจอยด้วย เพราะถ้าแค่สามคนมันทำงานกันเอง เดี๋ยวก็จบงานที่เรากันเองอยู่แล้ว แต่ผมว่าดนตรีมันมีอะไรให้เล่นสนุกได้เยอะ แล้วถ้าเราได้ทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ ๆ เขาก็มีไอเดียหรือทักษะอะไรที่น่าจะสร้างความสนุกให้กับงานเราได้บ้าง ซึ่งจริง ๆ ผมทำมาในช่วงหลัง ๆ ตั้งแต่อัลบั้ม Kid ที่ได้โฟร์ 25 Hours ตอนอัลบั้ม Clean ก็ได้กล้วย มือเบส Morningsurfers มา ชุดนี้เราได้ปกป้อง Plastic Plastic เพราะว่าน้องเพลง Plastic Plastic ก็เล่นคีย์บอร์ดอยู่กับเรา ตอนน้อง ๆ เขาทำอัลบั้มเราก็ไปช่วยเขา เมื่อยก็ใช้ DOOD เป็นตัวช่วยจัดงานวันแถลงข่าวเปิดอัลบั้มให้เขา เราก็เลยค่อนข้างสนิทกัน แล้วความพิเศษนึงคือเรารู้สึกว่า ป้องมันไม่เคยสนใจว่า Scrubb เป็นใครมาจากไหน พอชวนมันมาสนุกก็ไม่มีความงงใด ๆ เราเคยทำงานกับคนอื่นแล้วทุกคนก็จะเกร็งว่า เฮ้ย ทำงานกับ Scrubb จะทำยังไง เหมือนจะกลายเป็นว่าพอ Scrubb ทำงานมามากขึ้นเรื่อย ๆ ลายเซ็นมันชัดขึ้น พอไปทำงานกับใครแล้วเขาติดความเป็น Scrubb มามาก ๆ แล้วเราก็ได้งานที่เหมือนกับที่เราเคยทำกลับมา ซึ่งในแง่ของดนตรีเราต้องการคนแบบป้อง ซึ่งป้องก็เป็นเด็กเนิร์ดคนนึงที่ทำงานด้วยแล้วสนุก มีวัตถุดิบมานำเสนอเราเยอะ มันไม่กลัวที่จะใส่อะไรเข้าไป หลาย ๆ อย่างก็ใช้ไม่ได้นะ (หัวเราะ) แต่มันสนุกตรงที่มีเยอะดีกว่าขาด แล้วเราก็ไปจบงานกันต่อสามคนเหมือนเดิมในห้องอัดอีกทีนึง ซึ่งถ้าฟังเพลงแรกก็คงจะรู้สึกได้ว่าความเป็น Scrubb ก็ยังมีอยู่ แต่อะไรใหม่ ๆ ก็เข้ามาใส่ในเพลงของเราด้วย ถ้ามีโอกาสได้ฟังเดโมแรกจะไม่รู้สึกเลยว่านี่คือเพลงของ Scrubb เดโมมันออกทะเลมาก (หัวเราะ) จริง ๆ ชุดนี้มีธีมนึงที่พี่ฟั่นให้โจทย์ไว้ว่า ก่อนจะกลับมาทำงานกันสามคน ลองไปทำอะไรที่มันไม่เคยทำกันดูก่อนดีไหม ลองหลุดโลกหรือคิดอะไรที่เราไม่เคยคิดกันมาก่อน เพราะจริง ๆ แล้วเราทำงานกันเองมาเยอะและนาน บางทีก็เบื่อที่ทำกันเอง อาจจะดูเซฟแต่เซฟมากไปก็ไม่ดี บางทีก็ต้องยอมเลือกที่จะเสี่ยง เหมือนตอนที่พี่ฟั่นพูดว่าบางทีการที่เราทำอะไรลงไปก็ไม่รู้หรอกว่าทุกอย่างมันจะออกมาดี ส่วนถ้ามันไม่ดีก็อาจจะมีคนอื่นเอาไปทำต่อให้ดีกว่าทำอะไรเดิม ๆ ไปเรื่อย ๆ อาจจะเป็นคำพูดเหมือนสูตรนะ แต่อะไรที่เราเคยทำมาแล้วเราอย่าเพิ่งทำดีกว่า เพราะเดี๋ยวสุดท้ายสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราอยากทำมันก็จะวนกลับมาให้เราได้ทำเอง ดังนั้นต้องเริ่มจากการทำอะไรที่ไม่คุ้นหูไม่คุ้นตาก่อน ป้องก็จะทำซินธ์จ๋าเลย กีตาร์จะไม่เสียงแตก Scrubb ก็จะมีจังหวะจะโคนที่ร็อกกว่า ไม่ได้ซินธ์มาก แต่สุดท้ายเดี๋ยวมันจะหักลบกันเอง ขอแค่มีวัตถุดิบมาวางกอง เสร็จก็จะได้ชิ้นงานชิ้นนึงออกมา

static1-squarespace-16

เมื่อย: ส่วนเนื้อร้องส่วนตัว Scrubb จะพูดเรื่องกลาง ๆ ไม่ได้เน้นว่าเป็นใคร ทำอะไร ยังไง แล้วเพลงแรกก็โชคดี ได้กอล์ฟ Superbaker มาช่วยเหมือนเดิม เนื้อหาเดี๋ยวคงจะได้ฟัง เป็นเรื่องที่ไม่ได้ฟูมฟายมาก อาจจะหันเข้าสู่ความจริงมากขึ้นด้วยซ้ำว่าชีวิตมันเป็นยังไง

บอล: เพราะเราไม่ใช่คนที่เก่งภาษา สูตรของการคิดชื่อเพลงของเราโคตรไม่ซับซ้อนเลยครับ คือคิดชื่อโดยรู้สึกถึงคำอะไรที่มันอยู่ในเพลงมากที่สุด ลองไปสังเกตชื่อเพลง Scrubb มันคือคำที่อยู่ในเนื้อเพลงนั้น ๆ นอกจากบางเพลงอย่าง See Scape, Inchan Tree หรือ Art Bar นั่นเป็นเพลงที่ไปอยู่ในที่ที่เมื่อยชอบก่อนแล้วค่อยเขียนเพลงนั้นขึ้นมา อาจจะไม่ได้มีชื่อเพลงอยู่ในเพลง แต่ความหมายของมันคือตัวแทนของเพลงนั้น ๆ อย่างเพลงที่เราทำอยู่ ท่อนกลางพูดว่า “จะเป็นเรื่องฝนตก ฟ้าเปิด ร้ายดี ฉันว่ามันมีความหมาย” แล้วรู้สึกว่าคำว่า ฝน มันแหลมขึ้นมา ถ้าชื่อฟ้าเปิดก็คงไม่ใช่ ทุกคนก็ไม่ได้ติดอะไรเลยเอาชื่อ ฝน นี่แหละ พี่ฟั่นก็เสริมมาว่าคำว่าฝน มันยังมีความหมายถึงที่มาที่ไปของการกลับมาทำงานของเรา หรือการเป็น Scrubb ในทุกวันนี้ ฝน มันไม่ใช่แค่ฝนตก แต่เป็นคำกริยาของการฝน ฝึกฝน การทำอะไรบางอย่างที่กว่าเราจะมาเป็นแบบนี้ มันผ่านอะไรมาเยอะ แล้วรู้สึกว่าเป็น double meaning ดี ตอนแรกจะหาคำภาษาอังกฤษให้ดูสวยหรูเป็นความหมายเชิงซ้อนอีกอันด้วยนะแบบ FHON แต่ไม่รอด (หัวเราะ) เพลงแรกนี้อาจจะฟังดูแปลกหูพอสมควร แต่เรารู้สึกว่ามีความสนุกบางอย่างที่อยากจะนำเสนอต่อ ในมุมของคนที่ทำฝั่งดนตรีเรารู้สึกว่าวัยนี้ยังทำเพลงได้ประมาณนี้อยู่ ก็ถือว่ายังสนุกกับมันอยู่ มีความสดชื่นบางอย่างอยู่ในเพลง ไม่ได้เครียดอะไรมาก จากนี้ไปจนปีหน้าก็จะตั้งใจทำเพลงกลุ่มนี้ให้เสร็จในรูปแบบอะไรบางอย่าง จะกี่เพลงคงต้องคุยกันก่อน เคยพูดกันว่าบางทีก็ไม่คิดว่าจะเป็นอัลบั้ม จะทำแค่ mini album หรือ EP แต่ก็เลยเถิดมาเป็นอัลบั้มอยู่ดี ตอนนี้ก็ยังไม่อยากพูดไปก่อนว่าเป็นอัลบั้มแต่มีเกิน 5-6 เพลงแน่ ๆ

static1-squarespace-17

ตอนทำ MV ได้มีส่วนร่วมอะไรไหม

เมื่อย: ก็เหมือนทุก ๆ ครั้งครับ เราก็ให้นองที่จะมาช่วยทำตีความต่อว่าเป็นยังไง

บอล: เวลาเราเสร็จเพลงแล้วจะมีคนทำงานในฝ่ายอื่นที่ต้องมาเกี่ยวข้อง ถ่ายภาพ ทำมิวสิกวิดิโอ สิ่งที่เราทำคือเราแค่เลือกคนที่เราชอบงานเขา แล้วเอาเพลงเราให้เขาฟัง ให้เขาช่วยตีความแล้วมาเล่า เรามีหน้าที่ฟันว่าโอเค อันนี้พอดี ๆ กับเรา ไม่ได้เด็กไป ไม่ได้โตไป ซีเรียสเกินไป แต่เราไม่เคยไปบล็อกว่ามีฟอนต์ในใจแบบนี้ ต้องเล่าเรื่องอย่างนี้ ปกต้องเป็นแบบนี้ หน้าที่ของเราที่จะทำได้เต็มที่คือสนุกกับการทำเพลง แล้วก็ทำเพลงให้เสร็จออกมาในแบบที่เราชอบ ที่เหลือมันเป็นการเจอกันของคนทำงานศิลปะในแขนงอื่น ๆ ทุกคนเขาก็จะมีสารของเขาอยู่ มันก็น่าสนุกดีที่เราจะได้เปิดพื้นที่ให้เขาได้จอยกับเพลงของเรา ถ้าเราอยากได้แบบภาพในหัวเราก็ไม่ต้องหานักคิดนักสร้างสรรค์ก็ได้ หาแรงงานที่พอทำเป็นมาทำก็พอ แต่อย่าง mv นี้เขาก็ทำมาพรีเซนต์เป็นเรื่องเป็นราว เราก็ว่าสนุกดีนะ เหมือนเป็นภาคขยายที่มีคนคิดงานต่อจากเพลงของเรา

เมื่อย: เราเริ่มทำแบบนี้ตั้งแต่อัลบั้ม Kid แหละที่บอกว่าให้คนอื่นมาช่วย ศิลปินที่ถนัดในด้านของเขาก็สนุกดี ไม่ได้อยู่ในกรอบของตัวเองด้วย

static1-squarespace-18

คิดว่า feedback เพลงนี้จะเป็นยังไง

เมื่อย: ส่วนตัวก็ไม่กล้าเดานะครับ เพราะผมก็ทำ Scrubb มานานจนไม่รู้ว่าคนคิดยังไงกับ Scrubb แล้ว อันนี้ก็ต้องรอให้เพลงกับ mv มันออกมาก่อนจะได้รู้ว่า feedback มันเป็นยังไง

ทุกวันนี้ยังตื่นเต้นกับการปล่อยเพลงใหม่อยู่ไหม

เมื่อย: ส่วนตัวผมก็ตื่นเต้นอยู่แล้ว เพราะไม่รู้หรอกว่ามันจะเป็นยังไง อย่างที่พี่บอลเคยพูดคือ ถ้าปล่อยไปแล้วดีไม่ดีก็ค่อยว่ากัน เอาจริงส่วนตัวผมจะชอบดูตอนที่เราเล่นสดมากกว่า อันนั้นน่าจะเป็นการตรวจสอบที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นใน YouTube หรือ facebook มันอาจจะไม่ใช่ 100% ที่เราเห็น สู้ที่เราไปเล่นดนตรีสด ๆ ให้มันรู้ไปเลย

ตอนเห็ดสด 2.5 ที่เชียงใหม่ ทำไมถึงเลือกเล่นเพลง side B

บอล: เมื่อยเขาเป็นคนชวนผมตลอดเวลาอยู่แล้วว่าถ้าตอนนี้ยังไม่ได้ทำเพลงแล้วถ้าได้ไปเล่นงานอะไรแบบนี้ เราก็น่าจะขุดเพลงเก่ามาระลึกความหลังนะว่าตอนนั้นทำเพลงอะไรบ้าง แต่ก็เข้าใจได้ คือเราต้องพยายามบาลานซ์กันระหว่างความชอบกับหน้าที่ เลี่ยงไม่ได้ว่างานบางอย่างที่มีลูกค้าจ้างไป วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อสร้างความบันเทิง ณ สถานที่นั้น ๆ โอกาสในการเอาเพลงเก่า ๆ มาแจมมันก็ยาก ทุกวันนี้เราก็พยายามจะแจม ๆ เพลงสองเพลงให้เข้าไปอยู่ในนั้น แต่มันก็มีเพลย์ลิสต์ที่เป็นหน้าที่หลักที่เข้าใจได้ในฐานะของคนทำอาชีพนี้ เวลาที่เป็นผู้รับจ้างก็ต้องทำหน้าที่ผู้ถูกจ้างให้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้ว่าจ้างเขาบรรลุวัตถุประสงค์ เรามองว่าพอโตแล้วเราต้องมีความรับผิดชอบทุก ๆ มุม แต่อีกด้านก็คิดอยู่เสมอเวลาเราไปแคมปัส หรือไปงานบางงานที่ไม่ต้องห่วงเลย เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะมาดูอะไรที่ฮิต หรือสนุกสนาน กระโดดโลดเต้น ซึ่งตอนนั้นก็กำลังคุย ๆ เนิร์ด ๆ กันอยู่ ฟังใจก็ติดต่อมาให้ไปเล่นพอดี อย่างฟังใจเราก็เห็นงานเห็ดสดมาตลอด ซึ่งคนที่มางานเขาก็ตั้งใจมาดูดนตรีจริง ๆ ผมก็ถามว่าเป็นไปได้ไหมถ้าไปเล่นแล้วขอเล่นเพลงที่ปกติไม่ค่อยได้เล่น เขาก็ตอบกลับมาว่า พี่ ผมโคตรอยากจะให้เป็นแบบนั้นเลย เราก็บอกเมื่อย อะ มาแล้วหนึ่งงาน ก็ไปทำเพลย์ลิสต์ใหม่ทั้งหมด ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้นมีแค่ ทุกอย่าง คำตอบ เข้ากันดี เองมั้งที่เป็นเพลงคุ้น ๆ ถ้าไม่ได้มองว่าเป็นเพลงฮิตนะ ทุกอย่าง มันเป็นเพลงที่เป็นจุดเริ่ม คำตอบ กับ เข้ากันดี มันเป็นอะไรที่เหมาะจะเป็นช่วงปิดท้าย ด้วยจังหวะจะโคน ความหมายของเพลงมันได้ แต่ที่เหลือระหว่างนี้อย่าง Art Bar ผ่านไปแล้ว ขอ ย้อนเวลา เราสนุกมาก ทีแรกผมจะทำยากกว่านี้อีก คือเพลงเก่าล้วนเลย แต่พอลองซ้อมสองครั้งแล้วรู้เลยว่าบางอย่างเราฝืนธรรมชาติไม่ได้ การที่เรามีความคุ้นเคยในการทำงานกับเพลงกลุ่มก้อนนึง รู้จังหวะ รู้ทางกันอยู่ แล้วเราคุมสถานการณ์ คุมโชว์นั้นได้ กับการที่อยู่ดี ๆ เอาทุกอย่างออกหมดเลย แล้วเอาเพลงที่ไม่ค่อยได้เล่นมาซ้อมต่อเพลงกัน เหมือนเราเป็นเด็กที่ต้องมาซ้อมดนตรีใหม่ มันมีความยาก ซ้อมบางวันเรารู้สึกว่ายังเอาโชว์นี้ไม่อยู่ เราเป็นเจ้าของเพลงก็จริงแต่มันเป็นเพลงที่ไม่ได้คุย ไม่ได้เจอกันนานแล้ว จำได้ว่าสองสามครั้งนั้นเหนื่อยมากในการต้องจำท่อน ต่อท่อน มีเข้า มีออก สุดท้ายเลยทำให้มันเป็นแบบที่เราชอบดีกว่า 80-20 ใน 20 คือเพลงที่เราเล่นอยู่ประจำ ส่วน 80 เป็นเพลงที่เราไม่เคยได้เล่นเลย แล้วเสร็จจากงานนั้นก็เป็นโมเดลว่า เวลามีงานบางงาน รู้เลยว่างานนี้ไม่ได้เน้นสนุกสนาน กระโดดโลดเต้น หรือไม่ได้เป็นงานในฐานะลูกจ้างมากนัก เราจะไปเพื่อความสนุกของเรา ก็จะดึงตรงนั้นมาเล่น ก็เป็นการได้เรียนรู้ด้วยว่าตอนเมื่อยร้องเพลงแบบนั้นในเวลานั้นเมื่อยคิดอะไรอยู่ ผมเล่นกีตาร์ตอนนั้นก็เพิ่งหัดเล่นอันนี้นี่หว่า เรียกว่าเป็นการทบทวนก็ได้ อย่างพี่ ๆModerndog ก็เคยมีคอนเสิร์ต B side ส่วน Cocktail ก็ไปจัดที่ร้านเล็ก ๆ เล่นเพลงที่ไม่ค่อยได้เล่น ผมว่าวงที่ทำเพลงมาอย่างยาวนานจะมีจำนวนเพลงมากขึ้น แล้วหลาย ๆ คนก็จะมีเจตนาเดียวกันคือ บางครั้งอยากเอาเพลงที่ไม่ค่อยได้เล่นมาเล่น แต่ด้วยความรับผิดชอบบางอย่างทำให้เพลงเหล่านั้นไม่ค่อยถูกเอามาเล่นหรอก ถือว่าเป็นอีกช่องทางนึง ก็ต้องขอบคุณฟังใจที่ชวนมาในจังหวะที่เราอยากเอาเพลงเหล่านี้มาเล่น นอกเหนือจากที่พักแล้ว ไปทำอย่างนู้นอย่างนี้กันแล้ว การที่มีคอนเสิร์ตฟังใจ 2.5 ให้เราได้รื้อเพลงเก่า ๆ กลับมามันก็เหมือนเป็นการรื้อตู้เสื้อผ้า หาชุดที่ไม่ค่อยได้ใส่มาลองใส่ดูว่าตอนนั้นใส่ชุดอย่างนี้จริง ๆ หรอวะ (หัวเราะ) พอเอามาใส่ก็ยังโอเคอยู่นี่หว่า หรือกูจะไม่ใส่ชุดนี้อีกแล้ว มันก็สนุกดีอะไรที่เป็นการยำเพื่อหาวัตถุดิบ หาแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างในช่วงปีที่ผ่านมา อะไรที่ไม่เคยทำได้ทำหมดเลย

static1-squarespace-19

ย่างเข้าปีที่ 16 ตลอดเวลาที่ผ่านมาวงการดนตรีเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

บอล: ส่วนตัวผมว่า ไม่รู้เป็นเรื่องดีหรือเปล่านะ คือ Scrubb ช่วงหลังไม่เล่นผับที่เป็นผับจัด ๆ อะ พวกโต๊ะสูง ๆ ไม่มีเก้าอี้เน้นตึ๊ด ๆ เท่านั้น พอเฟดเพลงตึ๊ดลงก็เป็นวงเล่นอะ จบโชว์เราก็เป็นเพลงตึ๊ดต่อ นึกออกไหม คือจริง ๆ แล้วไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้ไม่โอเค เราก็เล่นได้ทุกที่ แต่ด้วยคุณสมบัติของเพลงหรือโชว์ของพวกเรา ยอมรับตรง ๆ ว่าเราเป็นวงดนตรีประเภทที่ไม่เข้ากับผับที่ต้องการความบันเทิงสูงมาก แรงอัดของกลอง การกระแทกกระทั้น การบิ๊ว เล่นมุขตลกเฮฮาแบบนั้นไม่ไหว ซึ่งเรารู้ตัวว่าเราอาจจะไม่ได้เก่งมากแต่ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ปฏิเสธ มีผับเทคที่ต้องไปเล่นเยอะมาก แบบที่ตีหนึ่งเราต้องขึ้นแต่เขาคอพับกันหมดแล้ว ซึ่งตอนนั้นเล่นเพลงช้าก็ไม่ถูกต้องแล้วอะ วงรอบสุดท้ายที่เล่นกันก็เลยต้องซัดกันแต่เพลงเร็วเท่านั้น เพลงที่เล่นกัน 120 bpm ก็เล่น 140 bpm กันเลย แต่ในฐานะนักดนตรีที่มีงานของตัวเอง เวลาเล่นโชว์ก็ต้องเล่นไม่ว่าจะดึกแค่ไหน แล้วพอมันต้องมีพาร์ตเพลงกลาง หรือเพลงช้าที่ต้องเล่น ซึ่งบางทีช่วงเวลามันก็ไม่ได้ แต่ช่วงหลังไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับการแก่ตัวหรืทำงานกันมานานขึ้นหรือเปล่า เลยไปอยู่ตามร้านอาหารนั่งฟัง แต่ลุกขึ้นเต้นหรือโยกได้ แล้วเป็นอะไรที่อยู่ในบรรยากาศที่รีแลกซ์มากขึ้น หรือไปตามงานที่ต้องการดนตรีในแบบที่เราเป็นจริง ๆ ไม่ได้ต้องการความอึกทึกสูง พอสถานที่เปลี่ยนไป คนที่มาเจอก็กลายเป็นคนที่อบอุ่นคุ้นเคยขึ้นนะ เวลาไปเล่นตามแคมปัสก็ได้เจอน้อง ๆ นักศึกษาหน้าใหม่ แต่พอไปร้านอาหารที่จ้างเราไป มักจะเจอคนที่มาทักด้วยความที่แบบ ดูตั้งแต่เรียน เพลงนี้ใช้จีบกัน วันนี้พาลูกมาดู (หัวเราะ) มันเป็นทั้งคำชมทั้งคำที่สะท้อนเรานะ ไปถ่ายรายการ ไปสัมภาษณ์เสร็จคนที่ถ่ายเราก็ขอถ่ายรูปด้วย มันเหมือนได้เห็นผลผลิตของวันนั้นที่โตมาเป็นวันนี้ เหมือนเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานแล้วมาเจอ มาทักกัน คำทักงี้มันก็อบอุ่นดี สนุกดี แต่ความยากก็คือ เดี๋ยวนี้คนที่ฟังทุกอย่าง ตั้งแต่แรกตอนเด็ก ๆ เลย ตอนนี้ก็โตมาประมาณนึง กับคนที่เพิ่งฟังรอยยิ้มตอนนี้ก็ยังเด็กมากอยู่ก็มี สิ่งที่เป็นความท้าทายมากตอนนี้คือเวลาไปเล่นแต่ละที่ ผมเป็นคนทำลิสต์เพลงส่งทีมงานก็ส่งเขาช้ามากจนถูกบ่น เพราะเราชอบให้ technician ไปที่หน้างานแล้วรายงานบรรยากาศก่อน วันนี้ร้านเป็นอย่างนี้ วันนี้หลังมอมีแต่เด็ก วันนี้ผับตึ๊ดมีแต่ป๋า มันก็ทำให้เรามาคิดถึงหน้างานกับเพลงแบบที่มันควรจะเป็นยังไงดี อย่างย้อนกลับไปตอนเห็ดสด 2.5 ก็มีแต่ทาร์เก็ต เราก็เล่นเพลงเราได้เยอะ มันเป็นเรื่องที่เราเริ่มรู้จักคนมากขึ้น เริ่มมีคนรู้จักเพลงเรามากขึ้น ช่วงอายุคนฟังเริ่มห่างกันมากขึ้น นอกจากเขาฟังเพลงเราแล้ว กลับกันมันก็เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์จากเขาว่าเขารู้จักเราจากช่วงเวลาไหน แต่ละคนก็มีช่วงเวลาที่รู้จักแต่ละเพลงไม่เท่ากัน บางคนไม่รู้จักทุกอย่างก็มี มารู้จักเราจากเข้ากันดี รู้จักจากรอยยิ้ม คนที่ไม่เคยฟัง See Scape ก็เยอะ สนุกดีนะเวลาทำลิสต์นึงเพื่อไปเล่นให้ทุก ๆ เพลงอยู่ด้วยกันได้ และเป็นการเล่าช่วงอายุของเพลงเราให้มันอยู่ในหนึ่งชั่วโมงกว่า ๆ

static1-squarespace-20

เมื่อย: บางทีก็มี เนี่ย ตั้งแต่ยังไม่มีลูกเลย พอมีลูกก็เอาเพลงเรากล่อมลูก

บอล: เพลงฮิตของลูก ๆ ก็เนี่ย เธอหมุนรอบฉัน ฯ ลูกร้องได้ ซึ่งอันนี้ต้องขอบคุณพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ คือเพลงเธอหมุนรอบฉัน ฯ ไม่ใช่เพลงของเรา ตอนนั้นเป็นโปรเจกต์พิเศษ ทางทีม aday ทำเล่มพี่จิกแล้วให้วงดนตรีหน้าใหม่เลือกเพลงมาทำ เราก็ยอมรับว่ารู้จักเพลงเธอหมุนรอบฉัน ฯ ตอนนั้นเหมือนกัน แต่เพลงนี้เป็นเพลงที่พาเราไปอีกสเต็ปนึง เราเคยชอบพูดว่าเพลงที่มันดัง ๆ มันจะเป็นเพลง timeless ไม่มีเวลา หรือช่วงเวลานั้น ๆ มากำหนด อย่างเราฟังเพลง หยุด หรือ แค่ได้พบเธอ Live and Learn เราร้องพ.ศ.ไหนก็ร้องได้ เพราะมันว่าด้วยเรื่องราวที่ไม่ว่าคนช่วงอายุไหนยุคสมัยไหนก็ต้องเคยผ่านเคยเจอ แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเพลงนี้คือ นอกจากจะไม่มีเวลาแล้ว เพลงนี้มันไม่บอกเพศด้วย เพลงนี้ไม่ได้พูดเรื่องแฟนรักแฟน พ่อรักลูก เพื่อนรักกัน พี่รักน้องนะ แต่เธอหมุนรอบฉัน ฯมันพิเศษตรงที่ นอกจากมันจะไม่มีช่วงเวลาแล้ว มันไม่ระบุเพศอีก เราไม่รู้ว่าเพลงนี้ใครเป็นประธาน ใครเป็นกรรม เพลงบางเพลงยังพอเดาได้ว่าใครพูดถึงอะไร แต่เพลงนี้ไปอยู่ได้ทุกที่จริง ๆ คุณป้าคุณยายก็ร้อง เอาเพลงให้เด็กฟังเด็กก็ร้องติดปาก เป็นตัวอย่างที่ดี ต้องขอบคุณพี่จิกที่ให้เราได้ทำเพลงนี้ ทำให้เราเรียนรู้เพลงแบบนี้และเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงานต่อ ๆ ไป

เมื่อย: สำหรับผมมันเปลี่ยนไปยังไงเหรอ ตลอดเวลาที่เราทำ Scrubb ก็ไม่ได้คลุกคลีกับวงการเท่าไหร่หรอกนะว่าเป็นยังไง แต่พอมันเคยมียุคที่คนชอบบ่นว่าวงการแย่ลง นู่นนี่แย่ลง วันนึงที่ผมได้ลองจัดงานเล็ก ๆ ชื่อ DOOD ได้ลองทำ Popdub ได้รู้จักวงดนตรีเจ๋ง ๆ เยอะแยะมากมายแค่เขาไม่มีที่ให้คนเห็นได้เยอะ ยิ่งรวมทั้งมี Cat Radio มีฟังใจ มีที่ให้ได้เห็นของอะ อันนี้มันกลายเป็นว่า มันไม่ได้อยู่ที่ใครเป็นยังไงแล้ว อยู่ที่คุณไปเจอวงอย่างนั้นได้ยังไงมากกว่า แล้วคิดว่าคนที่เขาชอบฟังเพลง เขาก็หาที่ไปฟังกันจนได้ คนที่บ่นว่ามันแย่ลงอาจจะเป็นคนที่ไม่ได้ติดตาม ไม่ได้เข้าไปสัมผัสมันจริง ๆ ได้แต่ดูทีวีหรือฟังวิทยุปกติ ซึ่งไม่ได้ควานหาอะไรแบบนี้ ผมคิดว่ามันมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาด้วยซ้ำ คนที่เขาเลือกที่จะเสพแค่ประมาณนี้ก็จะอยู่แต่ในนั้นต่อไป ส่วนคนที่เขาอยากจะหาอะไรมากกว่านั้นเขาก็จะหาที่ฟังจนได้ แล้วกลายเป็นว่านับวันวงก็ยิ่งเยอะมากขึ้นทุกที ยังเคยคิดเล่น ๆ เลยว่าถ้า Scrubb ทำใต้ดินเมื่อ 15 ปีที่แล้ว อาจจะไม่มีใครสนใจก็ได้ เพราะว่ามันเต็มไปด้วยวงที่เก่ง ๆ วงบางวงจบแม้กระทั่งทำ mv เอง วางขายเอง ผมจัดงานเล็ก ๆ ไปเจอวงอย่าง Monomania ทีแรกเราไม่รู้จักเขา แต่เราลองไปฟังเพลงเขาก็อยากจะชวนมาเล่น เขาทำกันทั้งทีม ส่งสิ่งที่เขาต้องการจะทำ ส่งไรเดอร์มา ขอมาที่งานก่อน แล้วกลับไปซ้อมที่ห้อง ทำสภาพแวดล้อมให้เหมือนร้าน มี sound engineer ของตัวเอง เขาทำกันขนาดนั้นอะ ซึ่งถ้าได้คลุกคลีเข้าไปก็จะรู้ มันเหมือนเป็นที่กลุ่มคนมากกว่า คนที่เขาติดตามเขาก็ยังเข้มข้นกันต่อไป ยิ่งช่วงนี้ก็จะรู้ทุกอย่างเข้มข้น น้องบางคนสามารถจัดงานได้ มีร้านที่ซัพพอร์ต มีเวที มีที่ปล่อยให้เขาพร้อมจะเล่น มันตื่นเต้นขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่า วงที่อยู่เฉย ๆ ไม่สนใจอะไรเลยอาจจะน่าเป็นห่วงมากกว่า เพราะเด็กรุ่นใหม่ ๆ เต็มไปด้วยไอเดีย แล้วเขาทำทุกอย่างได้หมดเลย จริง ๆ แล้วมันเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวของคลื่นใต้น้ำ มันพร้อมจะระเบิดตลอดเวลา อย่างล่าสุดฟังเพลงที่พี่บอลโพสต์ วง Bomb at Track แบบ เข้ เรารู้สึกว่าเจ๋งว่ะ เต็มไปด้วยคนเก่ง ๆ แค่ที่อยู่หลักของเขามันไม่ใช่ mainstream แค่นั้นเอง ถ้าคุณหาเขาเจอคุณก็สามารถเป็นแฟนเพลงเขาได้ง่าย ๆ ไม่ต้องทำอะไรมาก

static1-squarespace-21

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้