Interview

Scoutland ลูกเสือสามนาย กับอัลบั้มเต็ม No Gap นำเสนอดนตรีแจ๊สไร้ขอบเขต

จากที่ได้ฟัง VVW มาจนถึง Dan Jumper เพลงล่าสุดที่ Scoutland ปล่อยออกมา ก็ทำให้เราได้รู้ว่าขอบเขตของดนตรีแจ๊สกว้างมาก และหลายครั้งมันก็เกินไปกว่าจินตนาการของเรา ซึ่งความไร้ที่สิ้นสุดของแจ๊สนี้เองที่ทำให้มันเป็นเพลงแขนงหนึ่งที่ฟังได้สนุก และหยุดค้นหาไม่ได้สักที

แต่ขณะเดียวกัน ความเป็นแจ๊สทดลองที่น่าตื่นเต้น ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ไม่ใช่แค่กับคนทั่วไป แม้กับคนที่ศึกษาทางด้านแจ๊สมาโดยเฉพาะในไทยก็ตาม ที่ยังตั้งคำถามกับสิ่งอุบัติใหม่เหล่านี้

Scoutland คือโปรเจกต์ทดลองจัดจ้านของเพื่อนนักดนตรี 3 คน ณป่าน พิชัยกุล (Hariguem Zaboy) ปอม—ทอฝัน ดิลกวิทยรัตน์ (Sasi, Beagle Hug) ร่วมด้วย มาร์ชฐิติวัฒน์ ไตรภพ (HED) โดยอยากนำเสนอดนตรีแจ๊สในมุมมองใหม่ ที่สร้างเสียงขึ้นจากการตีความบรรยากาศ และภาพภาพนึง ให้ออกมาเป็นเรื่องราวที่เกินจะคาดเดา ในบทสัมภาษณ์นี้พวกเขาน่าจะตอบคำถามอะไรหลาย ๆ อย่างข้างต้นได้ เพียงแต่ผู้อ่านจะเปิดใจรับความคิดเห็นเหล่านี้หรือเปล่า

Scoutland

ลูกเสือเขาไม่จับมือขวา

ณป่าน: พี่ทำ Scoutland มาได้สองปีกว่า ๆ เราเล่นดนตรีแจ๊สกลางคืนกันอยู่แล้ว ก็อยากทำวงแจ๊ส ทำอัลบั้มมาอันนึง อยากให้เป็น trio ที่มีความโฟล์ก ๆ หน่อย ไม่ได้แจ๊สจ๋า แค่อยากแต่งเพลงของตัวเอง ให้สบาย ๆ ไม่ได้รู้สึกว่าบีบตัวเองมาก ก็ลองชวน ๆ เพื่อน ๆ กันมา พี่โทรหาพี่ทอฝันก่อนเลยเพราะเคมีตรงกัน ช่วงแรกไม่ได้เป็นสมาชิกแบบนี้ ตอนแรกมือเบสเป็นพี่ยอด รุ่นพี่ในคณะ พี่ไหม (Mai Toy, The Photo Sticker Machine) แต่ก็ยังรวมร่างกันไม่ได้ ก็นึกถึงมาร์ชที่เรียนรุ่นเดียวกันกับเรา ก็ลองชวนดู พอมาเล่นด้วยกันก็สนุกทุกครั้ง ไม่เครียด ต่างคนต่างไม่ทำการบ้านอะไรมา ก็เลยซุยได้ (หัวเราะ)

เคมีในการฟอร์มวงที่ว่านี่คือยังไง

มาร์ช: เหมือนเล่นด้วยกันทีแรกสนุกจริง แต่รอบที่สอง ที่สาม ฟีลอาจจะไม่มาแล้ว

ทอฝัน: เหมือนพวกเราเล่นด้วยกันแล้วมันหามุมสนุกกันได้เรื่อย ๆ

ณป่าน: เหมือนเจอเพื่อนมาเล่นดนตรี ไม่ต้องคิดแผนการอะไรมาก ตอนเลิกเล่นดนตรี เราก็มาคุยกันได้ปกติ

กว่าจะมาลงตัว ใช้เวลานานขนาดไหน

ทอฝัน: ก็ตั้งแต่เริ่มที่ผมเข้ามา ราว ๆ สองปีกว่า มีช่วงที่ณป่านไปบวชด้วย เราก็เว้นกันไป ทีแรกคิดว่าจะไม่เสร็จแล้ว

ณป่าน: ไปก่อนนะ ขอหายตัวแว้บ แต่ไปบวชยาวเลย

พอกลับมาแล้วต่อติดไหม

ณป่าน: ติดนะ แต่กลับมาอีกร่างเลย (หัวเราะ) แล้วเราก็สนใจวาดรูปขึ้นมาก ตอนที่บวชก็จะมีกิจกรรมที่ทำอยู่ คือวาดรูปเล็ก ๆ จริง ๆ เราชอบวาดรูปมาตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด วาดไม่เคยจบ ที่วาดจบก็วาดให้แม่ ให้พ่อ คนสำคัญในวันเกิด แค่นั้น แล้วพอหลังจากที่ทำอัลบั้ม ก็มีความชอบพวกงาน xerox art, punk semiotics งาน zine ปกอัลบั้มวงพังก์ 80s อย่างปก Scoutland อันนี้ ข้างหลังตรงชื่อเพลงก็วาดเป็นหน้าคน

ทอฝัน: ส่วนตัวรู้สึกว่าเพลงก่อนที่จะไปบวช กับเพลงหลังจากที่บวชมา คนละแบบกัน สำหรับพี่มันดูโปร่งขึ้น มีที่ให้อิสระมากขึ้น (ณป่าน: ช่วงนั้นวุ่นวาย ๆ) เหมือนสีเปลี่ยนไปอีกแบบ อารมณ์เพลงมันค่อนข้างสงบลง ไม่ซนแบบตอนก่อนที่จะไปบวช

มาร์ช: ตอนแรกที่เริ่ม Scoutland จะมีความณป่านที่เล่นก๊อกแก๊ก ๆๆ ไม่รู้ว่าเราคุยอะไรกันอยู่ แต่สถานการณ์ตอนที่เล่นคือมันมาก แม้ว่าเราจะเล่นสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่องอะนะ (หัวเราะ)

ณป่าน: เมื่อก่อนคิดเยอะ เวลาแต่งเพลงแจ๊สมันจะต้องอย่างงี้ ๆๆๆ เป็นสเต็ป พอคิดมาเป็นขั้น ๆ ก็จะต้องมาใส่ harmony อย่างนั้นไม่ชอบ อย่างนี้ไม่ชอบ

แต่หลังจากไปบวชมาเรามองเพลงเป็นภาพมากขึ้น เป็นบรรยากาศ เช่นเพลง กระรอกกับพระอาทิตย์ เราแค่แต่งเพลงให้กระรอกกับพระอาทิตย์จริง ๆ คือตอนเราบวชเข้าไปอยู่ในป่า เราเห็นกระรอกกัดกันแล้วก็เห็นแสงแดดขึ้นมาหลังไม้ไผ่ที่ส่องลอดมา เราก็คิดว่าเดี๋ยวจะกลับไปแต่งเพลงให้บรรยากาศอันนี้ คิดแค่นั้นเลย

อีกเพลงนึงชื่อ Fleeting เมื่อก่อนตอนอยู่วัดที่อโศการาม จะชอบไปนั่งดูพระอาทิตย์ตก เหมือนเขาเป็นที่นั่งอิฐแล้วข้างล่างมีก้อนหินเป็นชั้น ๆ มีตาข่าย แล้วก็มีขยะมาติด คล้าย ๆ บางปู เราก็นั่งคิดว่า เราไม่น่าจะมีโมเมนต์ใส่สบงผ้าเหลืองมานั่งดูอะไรแบบนี้ ไม่เคยมีภาพนั้นในหัวเลย พอกลับมาเลยอยากแต่งเพลงสั้น ๆ แล้วก็จบสั้น ๆ เป็นความทรงจำเกี่ยวกับบรรยากาศตรงนั้น

งั้นเราสามารถตีความเพลงจากชื่อเพลงที่ตั้งมาเลยได้ใช่ไหม

ณป่าน: ไม่นะ บางเพลงก็มีเพลงมาก่อนมีชื่อ แค่เราคิดให้มันเป็นภาพ ๆ นึงที่แว้บเข้ามา หรือบางเพลงก็ไม่ได้มีภาพมาก่อน แต่เป็นเสียงมาก่อนแล้วเราค่อยใส่ภาพเข้าไป แล้วก็กลายมาเป็นชื่อเพลง

แต่ละคนมีโปรเจกต์อื่น ๆ ด้วย การเล่นหรือเรียบเรียงเพลงของ Scoutland ต่างกับงานอื่น ๆ ของตัวเองยังไง

ทอฝัน: ค่อนข้างต่างจาก Beagle Hug ครับ เพราะพอเป็น Scoutland เป็นแจ๊ส พี่จะรู้สึกว่าใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปได้เยอะในช่วงอิมโพรไวส์หรือเวลาคนอื่นโซโล่ แต่พอทำ Beagle Hug พี่จะดูว่าเพลงต้องการอะไรกันแน่ แล้วให้เฉพาะเสียงที่ต้องการ ไม่ต้องเอาความเป็นส่วนตัวลงไปเยอะขนาดนั้น

มาร์ช: ตอนเล่นสดกับตอนอัดเหมือนหนังคนละม้วนเลย คือตอนเล่นสดเหมือนทุกคนได้ปากกามาด้ามนึง แล้วใครเปิดปากกาก่อน ทุกคนก็จะไปรุมทางคนนั้น พอใช้ปากกาด้ามนั้นหมด ก็จะเปลี่ยนไปรุมอีกด้ามนึง ไปเล่นอีกแบบนึง พอเล่นสดจะเจออะไรใหม่ตลอดเวลา

แต่อย่างเราเจอกันสามคน เรามีความเป็นตัวเองในนั้น ก่อนซ้อมทุกครั้งก็จะคุยกันชั่วโมงนึง แต่พออัด ความยากคือจะเล่นยังไงให้เหมือนเล่นสด แต่ไม่ให้มันเลอะเทอะเกิน หรือบางอันตอนอัดกันรู้สึกโคตรดี แต่พอมายืนฟังแล้ว เชี่ย ไม่ได้ว่ะ อารมณ์มันไม่มาตอนฟัง แต่ตอนเล่นเรารู้สึกว่ามันมา อะไรแบบนั้น

ณป่าน: คือพี่จะแต่งโครงมาก่อนซัก 30% หรือ 50% จะไม่แต่งให้เสร็จ เดี๋ยวเมโลดี้จะประมาณนี้ เดี๋ยวจะเล่นอย่างนี้ เตรียมทำการบ้านมา มาร์ชกับพี่ทอฝันก็คิดต่อให้มันจบ ถ้ามา 100% เวลาเข้าไปแล้วจะอึดอัด ทุกคนจะสตันท์ เหมือนสมัยเรียนเพราะเราต้องเป๊ะ ๆ ให้ตรงโน้ตที่เขาวางมา

เอาจริง เราทุกคนก็สกิลถึงกันหมด แต่เวลาเล่นจริงมันจะมีความงง เล่นเสร็จแล้วเครื่องค้าง หัวร้อน มันดูต้องพยายามมากไป (มาร์ช: ไม่เป็นธรรมชาติ) ความยากมันก็พอ ๆ กับตอนทำ Hariguem Zaboy คือเราต้องอ่านคน ต้องทำยังไงให้ทุกคนเข้าใจไปในทางเดียวกัน เราก็จะอธิบายให้เห็นภาพรวม ๆ ว่าเราคิดอย่างนี้นะ แล้วทุกครั้งก็พยายามคิดว่าจะอธิบายยังไงให้เพื่อนรู้เรื่อง เพราะพี่ก็เป็นคนสื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่อง (หัวเราะ) แต่ข้อดีของการที่พี่คุยไม่รู้เรื่องคือให้พี่ทอฝันเขาแปลเป็นภาษาของเขา แล้วส่งให้มาร์ชอีกที อย่างตอนทำเพลง กระรอกกับพระอาทิตย์ ‘ณป่านเห็นกระรอก แล้วพระอาทิตย์ก็เริ่มขึ้น แล้วกระรอกก็เริ่มกัดกัน ก็ให้ป่วน ๆ ในท่อนนี้เลยนะพี่’ อะไรแบบนี้ พอหมดท่อนนี้เสร็จ ก็จะให้เข้าท่อนเมโลดี้อีกอันที่เตรียมมา

แจ๊ส = บทสนทนาที่ต้องดำเนินต่อ

ทอฝัน: พี่ว่าแจ๊สควรใส่ความเป็นตัวเองลงไปด้วย มันคือการแบ่งปันกัน การคุยกันตรงนั้น สำหรับพี่แจ๊สมันเหมือนวงสนทนา ถ้าเราคอยฟังคนอื่นอย่างเดียว ไม่พูดอะไรหรือเสนอความคิดเห็นอะไรเลย บทสนทนามันก็ไม่เดิน มันเลยจำเป็นต้องใส่ความเป็นตัวเองให้บทสนทนามันเดินต่อ

ณป่าน: แล้วถ้ามีคนที่ไม่ชอบอยู่ในวงสนทนานั้นอะ

ทอฝัน: ถ้าเราไม่ชอบเขามาก ๆ แล้วมาถึงจุดนึงเราหยุดพูดเลยมันก็ไม่ใช่ มันต้องดำเนินต่อไปให้จบบทสนทนาให้ได้ เราอาจจะไม่ต้องพูดสิ่งที่เราคิดเสมอไป พี่ว่าความสนุกมันคือขัดแย้งบ้าง คล้อยตามบ้าง เห็นด้วยบ้าง ไม่พูดบ้าง พูดมากบ้าง พูดน้อยบ้าง

ณป่าน: แต่สุดท้ายมันคือการดูตัวเอง การตีความของเรามากกว่า ว่าเรามีมุมมองยังไงกับคนคนนั้น เขาอาจจะมีข้อดีของเขาอยู่ก็ได้ เราก็จะต้องทำยังไงก็ได้ให้เขา keep การเล่นแบบนั้นอยู่

สิ่งที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับแจ๊ส

ทอฝัน: คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าแจ๊สคืออิสรภาพ ไม่คิดเรื่องกฎระเบียบอะไรเลย จริง ๆ แล้วมันไม่อิสระ 100% พี่จะมองว่ามันคือกฎครึ่งนึง อิสระครึ่งนึง มันเหมือนโลกประชาธิปไตย มันก็มีกรอบ แต่เราก็อิสระอยู่ในกรอบ มันมีรูปแบบของมัน

มาร์ช: ผมว่าอย่างนั้นเลยนะ คือแจ๊สมันไม่ได้มั่วนะ เราอาจจะต้องเดินในกรอบให้ได้ก่อน แล้วค่อยเลือกสนุกมีอิสระอยู่ในกรอบของมัน ยิ่งถ้าเราอยู่ในกรอบได้ ออกมาได้ แล้วก็กลับเข้าไปได้อีก มันไม่ง่าย

ณป่าน: พี่ว่า คนชอบเข้าใจว่าดนตรีแจ๊สเป็นอะไรที่เข้าใจยาก มันก็เหมือนดนตรีทั่วไปแหละ เพียงแต่ว่าบ้านเราไม่ได้โตมากับดนตรีที่เป็นบรรเลง เราโตมากับเพลงร้องในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งหลาย อีกอย่างมันอาจจะเป็นเรื่องดนตรีที่เราชอบ ดนตรีที่ไม่ชอบ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันก็คือเสียงเหมือนกัน เหมือนกับงานศิลปะน่ะแหละ จริง ๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังประวัติศาสตร์ดนตรี ศิลปะมากกว่านี้ ให้เขาเห็นว่ามันมีทั้งคลาสสิก แจ๊ส ดนตรีฝั่งอินเดีย world music มากกว่าที่สอนในโรงเรียน

ในหนังสือสอนแค่ให้เห็นว่าเครื่องดนตรีชื่อนี้ หน้าตาแบบนี้ แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าเสียงมันเป็นยังไง

มาร์ช: เออจริง โตมาขนาดนี้ยังไม่รู้เลยว่าบางเครื่องเสียงมันเป็นยังไง ครูไม่เคยเปิดให้ฟัง

บางทีทฤษฎีอาจจะไม่จำเป็น

ทอฝัน: อยากทำอะไรก็ทำเลยครับ ในเมื่อคุณอยากทำอะไรก็ทำ คนอื่นก็อยากทำอะไรก็ทำเหมือนกัน สำหรับพี่ดนตรีมันเป็นพื้นที่ว่างอิสระ ในชีวิตคุณโดนอะไรบางอย่างครอบอยู่ และดนตรีอาจจะเป็นที่เดียวที่คุณจะคิดอะไรของคุณก็ได้ จะชอบหรือไม่ชอบก็แล้วแต่ คุณชอบแบบนี้ก็เล่น ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้แล้ว คุณจะฝึกตั้งแต่เบสิกทั้งหมด หรือจะเลือกฝึกอะไรสักอย่างของมันอย่างเดียวก็พอ

มาร์ช: ทำให้นึกถึงเรื่องนึงเหมือนกัน คือตอนเราเริ่มเรียนใหม่ ๆ ก็อาจจะคิดว่า ‘เชี่ย น่าลงคลาสสิกว่ะ’ แต่พอเลยมาจุด ๆ นึง มาทำงานจริงละ มันก็ไม่มีอะไรที่จำเป็นที่สุด คือเหมือนแค่เราทำอันที่เราชอบพอ

เมื่อก่อนผมค่อนข้างอคติ ชอบเอาตัวเองไปตัดสินว่าอะไรดีไม่ดี แต่พอเราเล่น Scoutland แล้วรู้สึกว่าทำไมเมื่อก่อนกูต้องตั้งโจทย์ว่ากูต้องการอะไรจากดนตรีที่เล่นวะ อะไรถึงจะดีที่สุด หรือแย่ที่สุด หรือมันต้องดังที่สุด อะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายก็เหมือนพี่ทอฝันเลือกที่จะฝึกอะไรก็ได้ พอทำดนตรีนั้นออกมาแล้วเราอย่าคิดว่าคนอื่นจะต้องมาชอบเราที่สุด อย่าเพิ่งตัดสินว่ามันแย่หรือมันดี ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องสนใจ บางทีถ้าพูดไปมันอาจจะไปทำร้ายใครหรือเปล่า

ทอฝัน: สำหรับพี่ เพลงทำแล้วก็จบ เขาจะดังไม่ดังมันควบคุมไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่คนฟังจะชอบเยอะหรือชอบน้อย แล้วมันก็ไม่มีอะไรกลวง ทุกอย่างมันเท่ากัน เพียงแต่ว่าทุกคนจะไปยึดสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยผู้ ใหญ่เหล่านั้นจะรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยดีที่สุด เด็กก็จะบอกว่า ‘ก็เราไม่คุ้นเคยอะ’ แล้วเราจะไปสนใจทำไม อย่างที่บอกดนตรีคืออิสรภาพ อยากทำอะไรก็ทำไปเถอะ ให้มันเป็นที่เดียวในชีวิตที่ไม่มีอะไรมาตัดสินมันได้ทุกอย่าง ในชีวิตเราโดนตัดสินไปเยอะแล้ว

ณป่าน: พี่ว่าทฤษฎีก็ควรรู้ไว้นะ เหมือนคนทำงานศิลปะวาดรูปผสมสีนี้แล้วเท่ากับสีนี้ แต่บางคนก็ไม่รู้ว่าสีนี้เท่ากับสีนี้ สุดท้ายมันไม่จำเป็นว่างานที่เราทำกับทฤษฎีมันไปด้วยกันไหม แต่ว่ามันทำแล้วจิตใจเราเป็นยังไง มันสูงขึ้นไหม หรือจิตใจเราแคบลง ยิ่งเราทำงานแล้วรู้สึกว่าใจแคบ ไปว่าดนตรีแบบอื่นกระจอก ก็น่าจะผิดทาง

No Gap

ณป่าน: พอดีได้เต๊นท์ Summer Dress มิกซ์มาสเตอร์อัลบั้มนี้ให้ ก็ให้ช่วยตั้งชื่อเลย เต๊นท์ถามว่า ‘No Gap ไหม แบบ ไม่ต้องใส่หมวก’ เราก็แบบ เอาดิ ๆ โคตรเท่เลย Scoutland ก็เป็นลูกเสือไม่ใส่หมวก ปกติลูกเสือใส่หมวกไง (FJZ: จริง ๆ มันต้อง cap รึเปล่า)

มาร์ช: เพราะคนไทยเรียกแก็ปกันจนติดปากรึเปล่า

ณป่าน: เออ แล้วตอนแรกก็กลัวแก็ปมันจะไปซ้ำมอไซค์มั้ยวะ (มาร์ช: Grab Bike อะนะ) เออเต๊นท์บอกไม่เหมือนหรอกเราก็โอเคๆ

FJZ: นึกว่า No Gap ไม่มีช่องว่าง (มาร์ช: ผมก็เข้าใจแบบนั้น)

ทอฝัน: คงมองได้หลายอย่างแหละ แบบเล่นคำ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ถ้า ‘No Cap’ ก็ชัดไปเนาะ

ณป่าน: เฮ้ย เพิ่งรู้นะเนี่ย gap มันคือ space หรอ (หัวเราะ)

มาร์ช: เอ้า ผมก็เข้าใจว่ามันคือช่องว่าง แบบใครอยากทำอะไรก็ทำ (หัวเราะ)

Dan Jumper 

ณป่าน: จริง ๆ Dan Jumper เป็นเพลงที่เขียนถึงอาจารย์ของพี่ (FJZ: Dan Phillip?) ใช่ ๆ คือช่วงนั้นเขาชอบให้ซ้อม ‘Coltrane Changes’ เยอะมาก เราก็คิดว่าทำไมเราเล่นอะไรสนุก ๆ ไม่ได้วะ เราก็คิดว่าจะเอาอันนั้นมาทำยังไงก็ได้ให้มันสนุก

เพลงนี้แต่งไว้นานมาก แต่งเสร็จแล้วก็ลองเล่นกันรอบนึง อัดไปแล้วรอบนึงก่อนบวช แล้วพอกลับมาฟังอีกที มันไม่ได้ว่ะ เราไม่ได้มีความรู้สึกแบบนี้แล้ว ก็เลยมาอัดใหม่ ให้มี space มากขึ้น ท่อนนี้กะจะเล่นคอร์ดเดียวเป็นสเปซยาว ๆ แล้วพอได้ยินตรงนี้เมื่อไหร่ก็เข้าเมโลดี้ ปรากฏจะเข้าเมโลดี้ก็ไม่ได้เข้า เปลี่ยนเป็นโซโล่ ซัดกันตั้งแต่กลางเพลงเลย แล้วเมโลดี้กลับมาเล่นตอนท้ายสุดทีเดียว แล้วฟังสามคนก็รู้สึกชอบ มันมีความ standard มากที่สุดในเพลงทั้งหมด

Time Machine

ณป่าน: เป็นเพลงที่โจทย์มีอยู่ว่า สมมติเรามีเครื่องที่สามารถย้อนเวลาไปในอดีตได้ แต่สุดท้ายในอดีตมันก็เคยเป็นปัจจุบันมาก่อนหรือเปล่า ตัวเพลงก็จะเป็นการเกากีตาร์ขึ้นมาก่อน แล้วก็จะเปลี่ยนท่อน มีความหม่น ๆ สุดท้ายก็กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าอันนี้ใช่ไหม แล้วให้พี่ทอฝันตีความต่อ

Bumber 6

ณป่าน: เพลงนี้มี composition เยอะสุด (มาร์ช: ชอบเพลงนี้) เราแต่งเป็นโมเดิร์นเยอะหน่อย ใส่เสียงแตก (ทอฝัน: มีความเป็นท่อนเยอะ แล้วก็ตรงที่ณป่านพูดตรงกลาง) เป็นหนังสือเล่มนึง ชื่อ ‘The Silence of Noise’ เขาเป็นนักปีนเขา ชอบไปที่นั่นที่นี่คนเดียว สุดท้ายเขาสรุปว่าทุกที่ที่เขาไปไม่ได้มีความเงียบอยู่ดี จนเขากลับมาที่บ้านแล้วพบว่าความเงียบจริง ๆ มันอยู่ที่ตัวเอง

แต่ชื่อ Bumber 6 นี่มาจากพี่เขียนผิด ตอนแรกจะเขียนว่า ‘Number 6’ (หัวเราะ) แจ๊สมะ

Nicksong

ณป่าน: แต่งเพลงให้พี่นิค เป็นมือเปียโนที่เสียชีวิตไป เพลงนี้ก็มีพี่เล่นเปียโน ใส่ซาวด์อะไรไป

Trekking

ณป่าน: ตอนแรกจะชื่อเพลง ‘เดินป่า’ เป็นบรรยากาศแบบการเดินป่า เล่าเรื่องเหมือนเราเคยสัญญาว่าจะไปเดินป่าแต่สุดท้ายก็ไม่เคยได้ไปด้วยกัน (มาร์ช: เพลงนี้สองปี นานจนลืม) ก็จะมีพวกสัดส่วนประหลาด ๆ เป็น 5/4

Tonmai

ณป่าน: มีสามเพลงที่พี่พรูฟเบา คือ Trekking, Time Machine แล้วก็เพลงนี้ เป็นเพลงที่แต่งให้ต้นไม้ โจทย์คือเห็นต้นไม้อยู่หน้าบ้าน ก็ลองเล่นดู แต่งเพลงประกอบมันมากกว่าทำอะไรที่เป็นทฤษฎี เห็นภาพก่อน เล่นไปเลย แล้วจด ๆ ไว้

VVW

ณป่าน: เป็นเพลงแรกที่แต่ง ไว้เล่นกับพี่ทอฝัน จริง ๆ เพลงนี้ชื่อเต็มคือ V Violette Wautier ตอนแรกแต่งมาไม่มีชื่อ

ทอฝัน: ณป่านมันก็ถามว่าฟังแล้วรู้สึกยังไง (ณป่าน: แบบถ้าเพลงนี้เป็นผู้หญิง พี่จะรู้สึกยังไง) พี่ก็บอกว่าฟันดูแล้วมีความแซ่บ ๆ เซ็กซี่ ช่วงนั้นชอบ วี วิโอเลต เลยเอาชื่อนี้เลยละกัน แต่เป็นตัวย่อ VVW เขาจะได้ไม่รู้ (มาร์ช: เป็นเพลงแรก ที่ทำไว้สองปีก่อนไปบวช) จริง ๆ เพลงแรกที่ปล่อยไปเลยคือเพลงนี้แหละ

จะนิยาม Scoutland ว่าเป็นอะไรดี

ณป่าน: โฟล์ก โมเดิร์นแจ๊ส จะไม่พยายามให้เป็นนิวยอร์กแจ๊สมาก หรือตีกรอบไปสักทาง อยากให้มันเป็นอะไรก็ได้ ไม่ถึงนอยซ์ โพสต์แจ๊ส ไซเคเดลิกแจ๊ส (หัวเราะ) เริ่มเยอะไปละ

มาร์ช: ฟรีแจ๊ส โฟล์ก บางทีมันก็มา บางทีมันก็ไป

ทอฝัน: เป็น experimental jazz

พอออกมาทำวงแบบนี้ แวดวงแจ๊สยอมรับเราไหม

ทอฝัน: พี่ว่าบ้านเราเขามีพื้นที่ให้แค่แจ๊ส mainstream ไม่ค่อยมีที่ให้แจ๊สทางเลือก ตามร้านทั่วไปคือเล่น traditional pop jazz standard แต่ดนตรีที่ Scoutland ทำ หรือแจ๊สทดลองเหมือนกัน ไม่ค่อยมีที่ให้นักดนตรีแจ๊สกลุ่มนี้เท่าไหร่ที่จะเล่นแล้วได้เงินแบบมีกิจจะลักษณะ

มีเด็กแจ๊สสักกี่คนที่จบออกมาแล้วทำวงแบบนี้

ทอฝัน: ถ้าทำเพลงกันจริงจังเป็นอัลบั้ม มีคอนเซ็ปต์ พี่ว่าน้อย ส่วนมากคือฝึกโซโล่ให้ดี แล้วไปทำงานตามโรงแรม ผับ บาร์ มากกว่า ซึ่งพี่ก็เข้าใจนะ บางทีเขาก็มีความสุขกับที่เขาทำ พี่ก็ไม่ได้ปฏิเสธ traditional เพราะอีกพาร์ตนึงเราก็อยากทำแบบนี้ด้วย ชีวิตเราไม่ได้มีมุมเดียว Scoutland หรือวงทดลอง ก็น่าจะอยากทำผลงานตัวเอง

ช่วง lockdown ที่ผ่านมา พวกเราน่าจะได้รับผลกระทบกัน

ณป่าน: ใช่ ก็ไม่ได้เล่นที่ไหนเลย ยังดีที่มีสอนหนังสือบ้าง

ทอฝัน: ก็ได้หาสกิลใหม่ ๆ ฝึกทำ คือการ modify ซ่อมฉาบแล้วก็ฝึกอัดกลองเองที่บ้าน มิกซ์เอง อยากทำมานานแล้ว

มาร์ช: ตอนนี้ก็ใช้เงินเก็บ กินข้าวกับที่บ้าน ฟังเพลงเยอะขึ้น เริ่มสนใจการทำอาหาร จริง ๆ เราก็ชอบกินอยู่แล้ว ก็อยากเปิดร้าน ทำอะไรที่ราคาไม่แพง แต่ดูดี แล้วตัวเองชอบกิน มั่ว ๆ ไปเรื่อย

แล้วแผนที่คาดว่าจะทำต่อจากนี้ล่ะ

ณป่าน: ปีนี้ว่าจะทำโปรเจกต์ 3 อัน คือ Hariguem Zaboy มี Scoutland แล้วก็โปรเจกต์เดี่ยว แบบเล่นแล้วอัดเข้าเทปเลย แล้วช่วงนี้จะวาดรูปเยอะด้วย

ทอฝัน: ช่วงนี้ทำอัลบั้ม Beagle Hug พยายามให้เสร็จทันพฤศจิกายนนี้

มาร์ช: ผมก็มีทำวง HED ด้วยนิดหน่อยครับ

อยากให้ Scoutland ไปถึงจุดไหน

ณป่าน: ไม่ได้มองว่าจะไปให้ถึงตรงไหน แต่อยากทำอีก คิดอัลบั้มหน้าไว้พลาง ๆ แล้ว

ทอฝัน: การได้ออกอัลบั้มสำหรับพี่ก็ดูไปถึงไหนประมาณนึงแล้ว เพราะตอนแรกไม่คิดว่าจะเสร็จด้วยซ้ำ แล้วตอนนี้ก็อยากไปเล่นตามที่ต่าง ๆ เรื่อย ๆ การทำวงเนี่ยก็เพื่อจะได้ไปเล่น

ณป่าน: เออ อยากทัวร์แบบเป็นวงบรรเลงแต่ทำตัวเป็นวงอินดี้ทั่วไป อยากเป็นแบบนั้นเลย

ทอฝัน: วงดนตรีอินดี้ในคราบแจ๊สอะ (หัวเราะ) ได้ไปเล่นที่เชียงใหม่ เล่นเพลงตัวเองหมดเลย Scoutland ที่ Thapae East กับ Northgate สนุกมาก ๆ

Scoutland

ณป่าน: ตอนนั้นเสียดายอัลบั้มยังไม่ออก

ทอฝัน: ก็ลองฟังดูครับ เราเป็นแจ๊สทางเลือก ฝากซีดีอัลบั้ม No Gap ไว้ด้วย เป็นผลงานบทสรุปทั้งหมดในช่วงแรกของวง เราตั้งใจทำกันมาก ๆ สั่งซีดีได้ที่เพจ หรือสมาชิกวงคนใดคนนึงก็ได้ เดี๋ยวจะมีดิจิทัลดาวน์โหลดตามมาเร็ว ๆ นี้

 

อ่านต่อ

Scoutland ปล่อยให้ชิมลางเพลง Dan Jump ก่อนฟังอัลบั้ม No Gap 18 กรกฎาคมนี้

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้