Interview

เรืองฤทธิ์ บุญรอด เปิดแง่มุมความคิด ‘ทุกจังหวะชีวิตมีความสุขด้วยเสียงดนตรี’

เรืองฤทธิ์ บุญรอด ศิลปินโฟล์กจากถิ่นเหนือล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของบทเพลงที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข เขาจะเขียนเพลงออกมาให้เรามีรอยยิ้มไปด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็น ใจ, เธอ, เวทีดาว ไปจนถึง ฤดูกาล เพลงขึ้นชื่อของเขาที่ตอนนี้ถูกหยิบไปคัฟเวอร์หลายเวอร์ชัน เพลงที่สอดแทรกภาษาสวย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ สอดรับกับความรู้สึกเป็นกันเองที่เพลงกำลังบอกเล่าบันทึกของผู้ชายคนหนึ่งให้เราฟัง

บรรยากาศเหล่านี้คงไม่ได้เกิดขึ้นมาได้ง่าย ๆ หากงานศิลปะชิ้นนั้นถูกประดิดประดอยมากจนเกินไป แต่ผลงานเพลงที่เจือความรู้สึกสู่คนฟังได้แบบที่เขาทำ เกิดจากอะไรกันแน่ ช่วงชีวิตที่ผ่านมาบอกอะไรกับเขา ปัจจุบันที่ความสนุกกำลังพาเขาเดินทาง และอนาคตที่จับต้องไม่ได้แต่รู้สึกได้ เรืองฤทธิ์ เตรียมรับมือกับสิ่งเหล่านี้ยังไงบ้าง

เรืองฤทธิ์ บุญรอด

นิยามของผู้ชายที่ชื่อว่า เรืองฤทธิ์ บุญรอด

เรืองฤทธิ์: ถ้าสั้น ๆ ก็เป็น ชื่อ เรืองฤทธิ์ บุญรอด เป็นนักดนตรีที่เชียงใหม่ หลงรักเชียงใหม่ ถ้าเรียกสั้น ๆ ว่า เรืองฤทธิ์ เรียกยาว ๆ ก็ เรืองรี๊ดดดดด (โคตรมุกวงเหล้า) เอ้า..เล่นเองตบเองเฉย

ทำไมถึงหลงรักเชียงใหม่ ที่นั่นมีอะไรพิเศษ

เรืองฤทธิ์: ชอบคนที่นั่น ชอบอากาศ เป็นคนชอบภูเขา แล้วรู้สึกว่าตรงนั้นเป็นที่ ๆ รวมงานศิลปะ ที่ ๆ นึงถ้ารองมาจากกรุงเทพ ฯ ก็น่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ตรงนั้นค่อนข้างที่จะเปิดใจในการรับฟังงานศิลปะ เราก็เลยรู้สึกว่าอยู่ตรงนั้นเราเป็นตัวของตัวเองได้ดี

ที่มาที่ไปกับการได้อยู่เชียงใหม่ ทั้งที่ไม่ใช่คนที่นั่น

เรืองฤทธิ์: เมื่อก่อนเป็นพนักงานประจำ เป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ที่กรุงเทพ ฯ แล้วที่ออฟฟิศมีการเพิ่มสาขาไปที่เชียงใหม่ เขา (หัวหน้า) ก็เป็นคนรักเชียงใหม่เหมือนกัน มีบ้านอยู่ที่เชียงใหม่ ก็อยากมีออฟฟิศอยู่ที่เชียงใหม่ด้วย ประมาณว่าอยากจะให้บรรยากาศของออฟฟิศ มีอะไรสักอย่างที่ออฟฟิศที่กรุงเทพ ฯ ได้ไปทำงานที่เชียงใหม่ คนเชียงใหม่ได้มาทำงานที่กรุงเทพ ฯ ได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันด้วย แล้วก็มีจังหวะนึงเขาถามว่า ‘เรืองฤทธิ์ อยากไปประจำอยู่ที่เชียงใหม่ไหม ?’ ตอบตกลงไปโดยไม่ต้องคิดอะไรเลย 

 

บริษัทหมดสัญญาต้องกลับมากรุงเทพ ฯ อีกครั้ง

เรืองฤทธิ์: ตอนย้ายกลับมามันทำให้เกิดเพลง ๆ นึงด้วย เขียนเป็นบทความไว้ ประมาณว่า ‘คิดถึงเขา คิดถึงเชียงใหม่’ เลยตั้งชื่ออันนี้ไว้ว่า จดหมายถึงอ่างแก้ว ก็คือเป็นสถานที่ที่เราชอบไป หลังจากกลับมาอยู่กรุงเทพ ฯ ได้ 6 เดือน ไม่เอาแล้วว่ะ..เราว่าเราตัดสินใจแล้วว่าเราจะลาออก คือเราตัดสินใจตั้งแต่ประมาณเดือนที่ 4 แล้ว ไปทำเป็นรูปแบบฟรีแลนซ์แต่ช่วงแรกก็ยังติดต่อกับออฟฟิศเดิมอยู่นะ จนพอหลัง ๆ ก็เริ่มหายไป ๆ ท้ายที่สุดงานก็แทบจะไม่มีต่อกันแล้วแค่มีแบบความสัมพันธ์อื่น ๆ เลยย้ายมาอยู่เชียงใหม่อีกครั้ง นั่นคงเป็นที่มาที่ไปว่าทำไมถึงได้ไปอยู่ที่เชียงใหม่ 

แรงบันดาลใจในการเลือกเดินทางดนตรีโฟล์ก

เรืองฤทธิ์:  เรายังไม่รู้นิยามของมันจริง ๆ อันนี้สารภาพเลย ว่าโฟล์กมันคืออะไรวะ.. เล่นกีตาร์ตัวเดียวเรียกว่าโฟล์กได้แล้วหรอ แล้วโฟล์กมันต้องเป็นยังไง คือเอาจริงไม่มีความรู้เรื่องนี้ แค่เรารู้สึกว่ามันง่ายต่อเราดีคือมีกีตาร์ตัวเดียว เล่นดนตรีไป ร้องเพลงไป แล้วขณะที่มีคนอื่นเขาถามเราว่าเล่นดนตรีชนิดไหน เราก็ตอบเขาไม่ถูกเหมือนกัน แล้วก็มีบางคนเขาก็นิยามว่าพวกนี้สายโฟล์กนะ เราก็ยัง งง ๆ อยู่เหมือนกัน ตอบคำถามนี้ก็คือ เราไม่รู้เรื่องทำไมถึงต้องเล่นโฟล์ก แต่เรารู้สึกว่าเล่นกีตาร์คนเดียวกับร้องเพลงมันง่ายดี

เรืองฤทธิ์ บุญรอด

อัลบัมแรก  me.home () ; สื่อถึงอะไร

เรืองฤทธิ์:  อย่างแรกคือมันเป็นภาษาโปรแกรมเมอร์ที่เราทำงานอยู่ me ก็คือตัวฉันเอง . ก็คือเป็นการเรียกฟังก์ชัน เรียกใช้ตัวฉันเอง home ก็คือ ตอนที่เราเริ่มทำ เราไปอยู่เชียงใหม่ home ของเราอาจจะไม่เป็นที่บ้าน มันเป็นความรู้สึกมากกว่า อยากจะมีชีวิตอะไรสักอย่างนึงที่มันรู้สึกอิสระมานานแล้ว เมื่อก่อนทำงานประจำมันก็มีความสนุกอีกอย่าง แต่ว่ามันก็จะมีเวลาที่เรารู้สึกมันขาด ๆ หายไป มีบางสิ่งบางอย่างที่มันต้องหายไปกับงานประจำ พอเริ่มทำเรารู้สึกว่ามันเหมือนใจเราได้กลับบ้าน เหมือนตอนเด็ก ๆ ที่เรารู้สึกว่าอยากจะทำอะไรก็ทำได้ ตอนนั้นเราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสุข มีภาษาโปรแกรมเมอร์หน่อยนึง ถ้าโปรแกรมเมอร์เห็นน่าจะเข้าใจเลย มี me.home มีวงเล็บเปิดปิด มี semicolon ตอนจบ ซึ่งมันคือการเรียกใช้ฟังก์ชันหนึ่งของโปรแกรมเมอร์

มีเพลงไหนที่อยากเล่าหรือบันทึกเรื่องราวอะไรเอาไว้ไหม

เรืองฤทธิ์: ถ้าจะพูดถึงเพลงที่มีอิทธิพลต่ออัลบัมนี้น่าจะเป็นเพลงแรกก็คือเพลง ฝัน มันเป็นเพลงเอาไว้รบกวนความฝันที่เราทด ที่เราเคยเขียนไว้แล้วเราไม่เคยสนใจมันเลย พอได้ฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกว่า ความฝันเดิมสิ่งเราเคยอยากจะทำมันถูกรบกวน ถูกทำให้มันมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง แล้วสิ่ง ๆ นั้นก็คือเราอยากอัดเพลงมานานแล้ว มันเหมือนเพลงนี้เป็นพระเอกของอัลบัมเลยก็ว่าได้ 

ย้อนกลับไปในวันที่ยังไม่มีอัลบัม อะไรคือจุดเริ่มต้น

เรืองฤทธิ์: คิดไว้นานแล้วว่าสักวันนึงต้องมีเพลงจนสะสมครบให้ครบอัลบัมจนได้ แต่มันก็ผ่านเวลาไปนานมาก แล้วก็มีคนสุ่ย (คนยุยง) ก็คือ พี่โอม ที่ทำโฮมสเตย์อยู่ เป็นเพื่อน ๆ ข้างบนดอย ‘ทำให้เสร็จช่วงนี้สิ จะได้เปิดอัลบัม’ มี due date ไว้ด้วยนะ พร้อมกับ พี่อ้น—เกิดสุข ชนบุปผา ที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นนักดนตรีเหมือนกัน จับมาคู่กันแล้วเพื่อที่จะได้มีจุดหมายปลายทาง ถ้าให้เราคนเดียว อาจจะแบบว่าพังก็ได้

สำหรับเรามันเป็นอัลบัม demo มาก ทำการบ้านน้อยมาก เราตื่นห้องอัด พอเข้าไปสิ่งที่เคยดีไซน์ไว้ก็เล่นผิดเล่นอะไรหมดเลย ด้วยที่ว่าเราต้องให้เสร็จแล้ว เราก็ ‘โอเค ๆ เอาแบบนี้ก็พอแล้ว’ แต่พอกลับมาฟังโดยรวม เรารู้สึกว่าหลายอย่างมันขาดหายไปพอสมควรเลยนะ ก็ถือว่ามันเป็นปรากฏการณ์นึงที่มันเกิดขึ้น

เวทีดาว เพลงที่หลายคนประทับใจ มีเรื่องราวอะไรในนั้น

เรืองฤทธิ์: ที่จริงแล้วหลายคนอาจจะจินตนาการว่ามันต้องแทรกอะไรไว้เยอะ บางคนตีความแล้วเราก็ เอ่อ..ผมไม่ได้ตั้งใจจะแทรกอะไรไว้อย่างนั้นนะครับ (หัวเราะ) ตอนเริ่มต้นมันคือเกิดขึ้นมาจากเราไปแซวรุ่นน้องมันอกหักหรืออะไรสักอย่าง ว่า ‘ฟังซิ ดาวลูกไก่มันยังร้องจิ๊บ ๆ เลย’ ปลอบใจมันว่าอะไรมันก็เรื่อง จิ๊บ ๆ ทั้งนั้น เราก็แบบ เฮ้ย..ประเด็นนี้น่าเขียนเหมือนกันนะ ดาวลูกไก่ร้อง จิ๊บ ๆ ประจวบกับเราขึ้นไปบนดอย เห็นดาวโคตรเยอะ แล้วเราก็นั่งดื่มไปด้วย ไม่ได้ฟังเพลงอะไรเลยนะ นั่งดูดาวอยู่เฉย ๆ 3-4 ชั่วโมง มันสวยมาก แบบเราก็อยู่บ้านนอกมา แต่มันไม่ได้มืดขนาดบนดอยขนาดนั้น เราเห็นแบบเยอะเราก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ทำไมเราถึงเพลิดเพลินกับการดูดาวขนาดนี้วะ ?’ ไม่ได้เติมนะ..กินเบียร์อย่างเดียว (หัวเราะ) เหมือนเราไปชมมหรสพตามงานวัด ข้างบนมันเป็นเวทีการแสดงแห่งดวงดาวกันนะ คิดแบบเป็นการ์ตูน ๆ เราก็เลยน่าจะเขียนเพลง คิดคอนเซ็ปต์มาประมาณว่า อยากจะให้ข้างบนนั้นเป็นเวทีการแสดงของดวงดาว 

คิดยังไงกับที่คนเรียก ‘แสตมป์ดอย’

เรืองฤทธิ์: ก็ตลก ๆ นะตอนนี้ น่าจะชวนเพื่อนเรียกเองด้วยแหละ คือเราโดนทักบ่อยมากว่าเหมือน พี่แสตมป์ แล้วอีกหลาย ๆ คน แต่โดนทักเหมือนพี่แสตมป์เยอะสุด ‘เฮ้ย..พี่แตมป์หนิ’ เราก็จะมีนิสัยที่เราจะไม่ยอมแพ้คนทัก เราก็จะแบบว่า ‘ใช่แล้วครับ ผมแสตมป์ดอยเอง’ ประมาณนี้ เหมือนแพะภูเขา ดูเป็นชาวเขา ๆ หน่อย แล้วเราก็ตอบกลับโดยไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่แต่คนก็จำแล้วก็เอาไปเรียก ๆ กัน

ชีวิตนักดนตรีกลางคืนกับแมลงบาร์

เรืองฤทธิ์: ส่วนใหญ่ของเรามันจะเรียบ ๆ แต่มันก็สนุกไปเรื่อย ๆ ก็จะมีสิ่งที่ชอบคือการสนทนาหน้าบาร์ เราเรียกว่าเหล่า ‘แมลงบาร์’ คือไม่รู้ว่าที่มาเป็นยังไงแต่เขาเรียกกันอย่างนั้น เราก็ตีความไปว่า แมลงบาร์​มักจะมาชุมนุมกันตามแสงไฟในยามราตรี แล้วพวกเราก็จะเป็นพวกชุมนุมดึกหน่อย ดึกกว่าลูกค้า คือช่วงใกล้ร้านปิด เราก็จะไปชุมนุมกันอยู่หน้าบาร์ เราก็เล่นดนตรีเสร็จก็นั่งดื่ม ๆ อยู่หน้าบาร์คนเดียว ก็จะมีพวกทำงานดึกเสร็จ มาจากร้านหนังสือ มาจากที่ต่าง ๆ 4-5 ทุ่มก็จะมารวมบทสนทนากันอยู่ที่หน้าร้านสุดสะแนน คุยเรื่องต่าง ๆ นานา ส่วนใหญ่ก็มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง สิ่งที่เราชอบคือเป็นเรื่องตลกของแต่ละคนที่มาเล่าให้กันฟัง

เรื่องฮา ๆ ที่จำได้ในในชีวิตนักดนตรีกลางคืน

เรืองฤทธิ์: ของเราจำไม่ค่อยได้ แต่จะมีอันนึงที่จำได้ เป็นเรื่องของรุ่นน้องของคลี (KLEE BHO) แล้ว คลี น่าจะเป็นคนเล่าให้ฟังมั้งว่า ที่ร้าน ๆ นึงแถวนิมมานเป็นร้านที่เล่นดนตรีสากล ชาวต่างชาติจะเยอะ แล้วก็มีคนเดินมาถามพนักงานที่ร้านว่า ‘ซิงซอง ซิงซอง’ ประมาณว่าเล่นดนตรีใช่ไหมที่นี่ พนักงานก็ ‘ครับ ๆๆ’ แล้วก็เดินไป สรุปคือเดินไปที่ตู้แช่ หยิบเบียร์สิงห์มา 2 ขวด นี่ครับ ซิงซอง เราฟังก็ตลกหมูกระทะมาก แต่มันคือเรื่องจริง เราฟังแล้วก็ฮาโคตร ๆ (โอ๊ยยย..ทั้งขำ ทั้งสงสารน้อง) แล้วคือก็ให้สิงห์ไป 2 ขวด ฝรั่งก็ดูงง ๆ แต่ก็รับไป ไปนั่งกิน แต่ก็คงคิดในใจว่า ‘แม่ง เมื่อไหร่เพลงจะขึ้นสักที’ แล้ววันนั้นคือนักดนตรีประจำก็ลา ไม่มีเล่นดนตรีสด สุดท้ายก็นั่ง ซิงซองไป (หัวเราะ) 

คิดยังไงกับคำว่า ‘เล่นดนตรีกลางคืนมันน่าเบื่อ’

เรืองฤทธิ์: อ่า..วิธีของเราคือ แกะเพลงใหม่ เป็นเพลงที่เราอยากเล่น ความน่าเบื่ออันแรกของนักดนตรีกลางคืนถ้าพูดกว้าง ๆ ก็คือ 1. โดนบังคับให้เล่นนู่นนี่อย่างที่เราไม่ชอบ 2. เพลงจำเจ 3. ลูกค้าเสียงดังกันมาก แต่อะไรพวกนี้เราแก้เขาไม่ได้อะนะ บางวันเราก็โชคไม่ดี

และข้อที่ 1. ที่เราบอกอะ เราโชคดีที่เราได้เล่นในร้านที่เขาไม่บังคับเพลง ส่วนข้อที่ 2. พอตอนหลังถ้าเราไม่แกะเพลงใหม่ ๆ ไปเล่น เรารู้สึกความตื่นเต้นเราไม่ค่อยมี เป็นเพลงที่เราชอบเองก็ตามแต่ถ้าเราเล่นบ่อย ๆ เข้าความรู้สึกความสนุกมันน้อยลง อีกอย่างคือพอเราเล่นเป็นงานประจำ เป็นงานหลัก

บางวันเราไม่ได้อยากเล่นเราก็จะไม่ค่อยรู้สึกกับเพลง มันก็เลยทำให้เป็นการทำลายความรู้สึกกับเพลงที่เราชอบ ๆ ด้วยนะในบางครั้ง เราเคยลางานนาน ๆ แล้วเรากลับไปเล่นเพลง เป็นเพลงเดิมแต่เมื่อนานมาแล้วที่เราไม่ได้เล่นมันก็จะเป็นอีกความรู้สึกนึง เกิดความกระหายที่อยากจะเล่น สรุปก็คือมันต้องปล่อยให้เรามีความกระหายต่อการเล่นบ้าง มันจะทำให้เรารู้สึกดี

—เรืองฤทธิ์ บุญรอด

เป้าหมายต่อไปในชีวิต..

เรืองฤทธิ์: ในระยะใกล้นี้ เราวางแผนไว้ว่าเรายังรู้สึกกับการทำงานเพลงอยู่ เราอยากจะทำงานเพลงของเราต่อแต่ว่าให้มันดีขึ้น เรารู้สึกว่าช่วงนี้มันยิ่งทำเรายิ่งสนุกกับมันอยู่ เราก็ยังอยากจะอยู่กับมัน ส่วนในระยะไกลออกไป เดี๋ยวมันก็ต้องเจอความน่าเบื่อความอะไรสักอย่าง การได้ออกไปเล่นบ่อย ๆ แม้จะได้เล่นเพลงตัวเองด้วยนะ แต่บางครั้งบางทีความกระหายมันก็ไม่ได้ขนาดนั้นนะ เราเลยรู้สึกว่าสิ่ง ๆ นึงที่ทำให้เรารู้สึกกระหายมันก็คือ การได้ไปทำงานพาร์ตอื่น แล้วเก็บสิ่งที่เราอยากเล่นไว้ต่อเมื่อเราอยากเล่นให้มันเป็นงานศิลปะที่ไม่ใช่เป็นงานหลัก แต่แค่รู้ว่าในระยะยาวเราจะเก็บงานดนตรีไว้เป็นงานเสริมมากกว่า เพื่อให้มันยังสนุกอยู่

มอง อดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคต..

เรืองฤทธิ์: ในหลาย ๆ พาร์ตบางทีรู้สึกว่าตัวเองชอบจมอยู่กับอดีตมากพอสมควร เราชอบมองแล้วยังเสียดายความสนุก ความสวยงามในอดีต มันหลายช่วงเวลา พาร์ตสิ่งแวดล้อม พาร์ตการที่เคยใช้ชีวิตตอนเป็นเด็ก อย่างเพลง เด็กคนนั้น เราก็เขียนถึงอดีตที่มันงดงามแล้วก็ผ่านไปเร็วเหลือเกิน แต่มันก็จะมีเพลงปัจจุบันเหมือนกันอย่างเพลง บันทึก ที่เราเคยเขียนไว้ เรามีชีวิตอยู่ในโลกเพียงเวลาแปปเดียว แล้วเราก็จะจากไปแล้ว ส่วนเพลงอนาคตเราไม่เคยเขียน ในมุมมองในคำถามนี้น่าจะเป็นระหว่างปัจจุบันกับอดีตพ่วงกันเล็กน้อย ไม่ค่อยมองอนาคตเท่าไหร่ ประกันอะไรไม่เคยทำ (หัวเราะ)

เราก็ทำบันทึกประจำวันเรียกว่าเป็นบทความ มีอันนึงเราเขียนว่า ‘อนาคตมันจะสนใจตัวผมเองบ้างไหมนะ มันคงจะแก้แค้นที่ผมไม่เคยไปสนใจมันเลย’ เราก็มองอนาคตอยู่บ้าง แต่ว่ามองออกไปไกล ๆ แต่ไม่อยากทำให้สิ่งนั้นมันมารบกวนปัจจุบัน

—เรืองฤทธิ์ บุญรอด

ความสุขพอสังเขปในปัจจุบัน

เรืองฤทธิ์: เรื่องแรกเป็นเรื่องเพลงที่ค่อนข้างชัดเจน เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้นั่งขีดเขียน ได้แต่งทำนอง แต่งเมโลดี้ วันไหนที่เราทำเพลงเสร็จ หลุดไปจากมือเรา เรารู้สึกว่าลูกคลอด คือเราไม่ได้คาดหวัง เรารู้สึกว่าสิ่ง ๆ นี้มันคือสิ่งที่อยู่ในใจเรา แล้วในกระบวนการคือเราพยายามสังเคราะห์สิ่งที่อยู่ในใจเราให้ออกมาเป็นอะไรสักอย่างนึง ที่มันตรงกับใจที่เราอยากจะพูด

พูดถึงเพลงใหม่หน่อย..ลูกคนใหม่ก็ใกล้คลอดแล้ว

เรืองฤทธิ์: เพลงใหม่มีเพลงที่แต่งเสร็จแล้ว รออัด 1 เพลง แล้วก็เพลงที่แต่งเกือบจะเสร็จ 90% แล้ว เอ่อ..เพลงที่แต่งเสร็จแล้วรออัดน่าจะปล่อยประมาณเดือนหน้า ชื่อว่า นก อันนี้เป็นเพลงที่เราแต่งตามโจทย์ คลี ให้โจทย์มาว่า ‘พี่ริดแต่งเพลงให้กับที่บ้านผมหน่อย บ้านบนดอยที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา บ้านหลังเดียวโดด ๆ อยู่กลางป่าสน’ เราก็รับปากไปสุ่มสี่สุ่มห้า ได้ ๆๆๆ แต่ก็ยังไม่มีโจทย์ไม่มีอะไรเลย สุดท้ายมันก็ทวง มันจำไง ‘เป็นยังไงบ้าง เริ่มเขียนรึยังพี่ ?’ เราก็ เออว่ะ..ยังไม่มีโจทย์ไม่มีอะไรเลย เราก็นั่งอยู่ตรงในป่าบ้านนั้นพอดี ที่ริมระเบียง นกมันก็บินมาเกาะต้นสนอยู่ใกล้ ๆ เราก็ไม่อยากเขียนถึงบ้านแบบตรงไปตรงมา โอเค..เขียนถึงนกแล้วกัน แล้วก็กลับลงไปในเมือง เราก็มานั่งเขียน คลีก็บอกว่า พี่จะปีใหม่แล้วเนี่ย ขอผมเป็นของขวัญหน่อยเถอะ คือครึ่งปีแล้วที่เราไม่ได้เขียนให้มัน แล้วก็มีเวลาใกล้ปีใหม่วันสองวัน เราก็ไปนั่งตีความว่าเราจะเขียนถึงนกที่มันอยู่ตรงนั้นยังไงดีนะ แล้วก็ไปนึกออกมาได้ว่านกมันคือนักปลูกต้นไม้

มันก็ใช้ชีวิตสัญชาติญาณมัน ก็แค่กินแล้วก็ถ่ายตามนั้น แต่ว่าประโยชน์สิ่งที่เกิดจากตัวมัน มันไม่รู้เรื่อง เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่ทำ มันงดงาม ว่างเปล่า บริสุทธิ์ดีนะ เลยตีความว่า เมื่อไหร่ที่มีหัวใจงดงามและบริสุทธิ์อย่างนั้น ต่อให้ไปเจอเรื่องแย่ ๆ มันจะต้องผ่านไปได้อยู่ดี อันนี้เป็นความเชื่อเราด้วย

—เรืองฤทธิ์ บุญรอด

แล้วอีกเพลงล่ะ ?

เรืองฤทธิ์: อีกเพลงชื่อว่า ดอกมะลิ พูดถึงหญิงสาว เราเป็นบุคคลอื่นที่มองหญิงสาวที่เขากำลังร้องไห้เสียใจอยู่เปรียบเสมือน เขาคือดอกมะลิที่ถูกฝน ถูกพายุ จนดอกมันช้ำ เราก็ประมาณว่าอยากให้เขาอดทน เฝ้ารอ ให้พายุมันผ่านไป แล้วเขาจะชูช่อท้าดวงตะวันอีกครั้ง

ได้ยินมาว่าทำ The All Star Tours ด้วย

เรืองฤทธิ์: อันนี้หมาด ๆ เลย พวกเราเพิ่งจบทริปกันมาอย่างเหน็ดเหนื่อย สาหัส เพราะว่ากินเบียร์กันเยอะมาก ที่มาที่ไปก็คือ เรารับสายจาก พี่ต่อ—ปลานิลเต็มบ้าน ถามเราว่า ‘ช่วงนี้มีงานทัวร์เยอะไหม ?’ เราก็ เอ้ย..ว่างเลยครับ มันก็ว่างในช่วงเดียวกัน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่เขาวางแผนไว้ ก็เรียกว่าเป็นการรวบรวม พี่ต่อ เป็นคนติดต่อ มีเรา ยามราตรี, วันชัย, สิทธา แล้วก็พี่ต่อเอง  จริง ๆ reference ทัวร์ ทั้งการติดต่อร้าน เป็นทีมเดียวกัน พี่ต่อก็เคยไปทำซาวด์ให้ทั้ง พวงรักเร่ ทำให้ อภิรมย์ ก็จะเข้าใจอารมณ์ พวงรักเร่ เลย จริง ๆ

เราเหมือนพวกก้อนดินธรรมดา ๆ แต่พอมันเป็นรวมแล้วถูกไฟบนเวทีฉายเข้าไปนะ เราจะกลายเป็นดวงดาวอยู่บนเวทีนั้นเพียงชั่วครู่ชั่วคราวนึง

—เรืองฤทธิ์ บุญรอด

เมื่อเพลงถูกหยิบไปใช้ใน Low Season สุขสันต์วันโสด

เรืองฤทธิ์: น่าจะเป็นผู้กำกับกับผู้อำนวยการ ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าเขาทำหนังทำอะไร ก็ไปเจอกันบนดอยกับพวกคลี ก็ใช้ชีวิตกัน นู่นนี่ ๆ แล้วก็มาเล่าให้กันฟังว่านี่เขาทำงานเป็นผู้กำกับอยู่นะ แล้วชอบที่บนดอยตรงนั้นมากใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นสักพัก จนผ่านไปช่วงนึง เขาก็บอกว่ามีโปรเจ็กต์ที่ชื่อว่า Low Season ก็จะใช้เพลง ตอนแรกแกจะใช้เพลง ใจ แกชอบเพลงนี้ เอาไปเอามาวันที่จะถ่ายจริง ๆ เราปล่อยเพลง เธอ พอดีเพลงนี้ให้ คลี ช่วยอัดกีตาร์ให้ ช่วยคิดเมโลดี้ ช่วยเรียบเรียงให้ด้วยอะไรด้วย คลี ก็บอกว่าเนี่ยมีเพลงนี้ฟังแล้วรู้สึก พี่แอนก็บอกว่าเอามาฟังซิ พอแกฟังได้ถึงแค่ครึ่งเพลงแกเดินไปบอกผู้กำกับว่า เธอ ๆ เปลี่ยนจากเพลง ใจ เป็นเพลงนี้

มี เขียนไขและวานิช นั่งอยู่ โดยที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ คือเป็นเพลงเราเองเรายังเล่นได้ แต่ว่าคนไม่รู้สุดก็คือ โจ้ มันก็นั่งแบบว่าทำอะไรไม่ถูกเหมือนกัน มันก็เริ่มมาจากเพลง เธอ เพลงแรกก่อน แล้วก็เพลง ฤดูกาล เป็นเพราะว่า คลี ได้ทำสกอร์หนัง เรายังไม่รู้เลยว่าใช้เพลงนี้ด้วย คลีก็เหมือนประมาณว่า ช่วงนี้นะ..น่าจะเป็นประมาณนี้ ก็คือไปบอกกับผู้กำกับว่า เพลงที่เหมาะสม เพลงที่รู้สึกกับฉาก ๆ นี้น่าจะเป็นอันนี้ ก็เอาของเราไปใช้โดยที่เรายัง งง ๆ อยู่เหมือนกัน อันนี้คือที่มาที่ไป แต่ว่าเราก็คุยกันว่าพวกเราไม่ได้ซีเรียส เอาไป ๆ เถอะ ยิ่งดีด้วยที่เอาเพลงเราไป

เรืองฤทธิ์ บุญรอด

หลังประตูบานนั้นเปิดออก กระแสตอบรับกับเพลงเป็นยังไงบ้าง

เรืองฤทธิ์: ความเปลี่ยนแปลงแรกก็คือ ยอดวิวของเพลงเพิ่มขึ้นมาก ๆ เพลง เธอ กับ ฤดูกาล เพิ่มขึ้นมาก อย่างเพลง ใจ มันพอมีคนฟังอยู่แล้วบ้าง ก็เหมือนแบบลากประตูเปิดให้คนอื่นที่ไม่เคยฟังเพลงเราเข้ามาฟังมากขึ้น แต่ส่วนเรื่องงานจ้างไม่แน่ใจ ไม่น่าจะมี (หัวเราะ) น่าจะเป็นเรื่องคนสนใจในสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น แล้วกระแสตอบรับกับเพลงก็ค่อนข้างดีนะ หมายถึงว่ามีคนชอบเพลงเราเพิ่มขึ้น

มุมมองต่อวงการดนตรีโฟล์กในปัจจุบัน นักดนตรีเกิดขึ้นมากมาย

เรืองฤทธิ์: จริง ๆ เราก็เป็นความมากมายนึงที่เกิดจากสิ่ง ๆ นั้นเหมือนกัน ถ้าเราเกิดในยุคก่อน เราอาจจะไม่มีเงินไปอัดเพลง อาจจะไม่มีกีตาร์ใช้ ในยุคนี้มีคอมพิวเตอร์ มีไมค์คอนเดนเซอร์ง่าย ๆ ก็อัดได้เป็นแบบ bedroom ทีนี้เรารู้สึกยังไงต่อโฟล์ก คือในความมากมายเรารู้สึกดีนะ มันหลากหลายดี อีกอันนึงก็คือช่วงนี้มันมีกระแสโฟล์กกำลังมาด้วย มองว่าเป็นโอกาส เรียกว่าดีใจมากกว่าที่ทำให้คนที่เขาทำงานอยู่ในที่เงียบ ๆ ถูกการเงี่ยหูฟังมากขึ้น ถ้ายกตัวอย่างก็ เขียนไขและวานิช ก็เป็นนักดนตรีโฟล์กที่ทำงานอยู่ในที่เงียบ ๆ อยู่กับกลุ่มคนจำนวนนึง แต่พอเวลาเราถูกเปิดด้วยประตูอะไรสักอย่าง เขาก็เดินทางไปไกลมากแล้ว เราก็คิดว่าทำให้คนเงี่ยหูมาสนใจเพลงโฟล์กมากขึ้น มองเป็นเรื่องที่ดี

พูดถึง คลี โพ เล่าโปรเจ็กต์ที่ทำด้วยกันหน่อย

เรืองฤทธิ์: ในช่วงที่เราสัมภาษณ์มาเราพูดคำว่า คลี หลายรอบมากเลยนะ คือมันอยู่ในช่วงเพลง ช่วงที่ใช้ชีวิตด้วยกันพอดี ไม่ได้อยากจะอวยมันหรอกนะ เพียงแค่โชคร้ายที่ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน (หัวเราะ) กำลังจะทำโปรเจ็กต์ที่คล้าย ๆ ค่าย แต่ว่าไม่ได้ซีเรียสขนาดต้องเป็นแบบค่ายใหญ่ ๆ เราก็เลยเรียกว่าเป็นเหมือนกลุ่มนักดนตรี กลุ่มคนทำเพลง ใช้วิธีการจัดการแบบค่ายบ้าง ไม่ค่ายบ้าง เป็นการอยู่ค่ายแบบไม่มีสัญญาเอกสาร รวมกลุ่มกันแบ่งหน้าที่กันทำงาน แล้วเราจะออกไปแสดงโชว์ยังไงกัน เราจะทำผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ตอนนี้มีสมาชิก ชื่อว่าน้อง ป๊อปปี้ ใช้ชื่อว่า Dork Phyn (ดอกฝิ่น) เป็นคนแรก แล้วก็เรา เป็นคน 2-3 ประมาณนี้แหละ หลัก ๆ เราเหมือนจะดูดาวรุ่งมากกว่า ดูน้องหน้าใหม่ สดใส ๆ เอามาปั้นมาทำ ของเรายังไงก็อยู่นี่อยู่แล้วเหลือเพียงแค่รอเวลา ซึ่งกลุ่มนี้ชื่อว่า Thepoe Buntuek (เด๊อะโพ บันทึก) เด๊อะโพ นี่ก็เป็นชื่อบ้านของคลีที่อยู่บนดอยนั้น ถ้าจำไม่ผิดเป็นชื่อภาษาปกาเก่อญอนะ เด๊อะโพ ก็ประมาณว่า บ้านเล็กในป่าใหญ่ 

เราจะเจอ เรืองฤทธิ์ บุญรอด ได้ที่ไหนบ้าง

เรืองฤทธิ์: ส่วนใหญ่ผมใช้ชีวิตอยู่ในเชียงใหม่เป็นหลัก แต่ว่าถ้าช่วงนี้อาการยังหนักอยู่เราอาจจะไปขอข้าวแม่กินที่บ้านเพชรบูรณ์ อาจจะไปให้ข้าวกล่องผมได้ที่ตรงนั้นนะครับ (หัวเราะ) หลัก ๆ ก็อยู่ที่เชียงใหม่ ก็ไป สุดสะแนน, แจ่มเจริญ, MALT, นาเบะ, EAST BAR ประมาณนี้ 

ส่วนโลกออนไลน์ก็เรามีเพจที่ชื่อว่า เรืองฤทธิ์ แล้วก็เฟซบุ๊กส่วนตัว แล้วก็มี Youtube ชื่อว่า Ruangrit Boonrod ลองเสิร์ชดู ภาษาไทยก็ได้ อังกฤษก็ได้ ไทยง่ายกว่า

เรืองฤทธิ์ บุญรอด

สุดท้าย เรืองฤทธิ์ อยากฝากอะไรถึง ฟังใจ

เรืองฤทธิ์: ตอนแรกเราชอบชื่อมากเลย ฟังใจ มันรู้สึกสนิทสนม เราฟังด้วยหัวใจ เราทำมันด้วยหัวใจ ตอนแรกเราแค่รู้ชื่อแล้วก็เห็นว่าทำงานเกี่ยวกับเพลง เรายังไม่ได้รู้ทิศทางอะไร พอปล่อยไปขณะนึง..ตรงนี้มันเหมือนสนามเด็กเล่นนะสำหรับเรา มันเหมือนสนามเด็กเล่นที่วางของไว้มากมาย ระเกะระกะหน่อย แต่มันคือความหลากหลาย มีตั้งแต่ใครก็ได้ทำเพลง ที่ไม่ต้องมีชื่อเสียงก็ได้ ไปจนคนที่ทำเพลงจนมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จแล้ว รู้สึกสนามเด็กเล่นนี้ประกอบด้วยความหลากหลาย สนามเด็กเล่นนั่นแหละคือนิยามของเรา เราขอบคุณ ชื่นชม และเป็นกำลังใจให้สนามเด็กเล่นนี้ได้เติบโต

ยินดีที่ได้พบกัน..ปลอดภัยเสมอ แล้วพบกันใหม่หรือที่ไหนสักที่ที่เพลงจะมาเรามาเจอกัน ติดตามคลิปสัมภาษณ์ เรืองฤทธิ์ บุญรอด ได้ที่ Fungjai Channel เร็ว ๆ นี้

 

อ่านต่อได้ที่: The All Star Tours กลุ่มโฟล์กต่างถิ่นรวมการเดินทางของดวงดาว

Facebook Comments

Next:


บ็อบ รักเพลงโฟล์ก พอ ๆ กับชอบกินกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล วงนั่งเล่น กับ Boy Imagine คืออาจารย์ ดูอาร์เซน่อลเตะเวลาฟอร์มดี ชอบอ่านหนังสือแปลจากญี่ปุ่นกับจีน ตอนเช้ากินกาแฟ กลางวันกินกะเพรา ตอนเย็น อะ! กินเหล้ากัน