RAZE งานอิเล็กทรอนิกหนักหน่วงจากการร่วมมือของ Koichi Shimizu และ Marmosets
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
ต้นเดือนหน้า กรุงเทพ ฯ กำลังจะมีงานอิเล็กทรอนิกที่หนักหน่วงแบบที่เราอาจจะไม่เคยได้ฟังที่ไหนมาก่อน และนี่เป็นโอกาสดีที่เราอยากชวนคุณมาร่วมงาน RAZE ปาร์ตี้ที่เกิดจากการร่วมมือของ Marmosets ดีเจและโปรดิวเซอร์ที่คร่ำหวอดในซีนปาร์ตี้ไทย และ Koichi Shimizu อดีตผู้บริหารค่ายดนตรีนอกกระแส SO::ON Dryflower ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นศิลปินสาย industrial techno เต็มตัว สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าจะมางานนี้ดีหรือเปล่า เราก็ขอชวนมาอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้ก่อตั้งทั้งสองคนนี้ก่อนเลย
ที่มาที่ไปของการจัดงาน RAZE
โคอิชิ: มันเป็นแนวดนตรีที่เราชอบในปัจจุบันน่ะ เรียกว่าเป็น techno แล้วมีความ industrial ค่อนข้างเป็นดนตรีที่แรง ๆ พอดีเราไปดูปาร์ตี้พวกนี้ที่เมืองนอก เราก็ได้แรงบันดาลใจจากพวกเขา ยิ่งงานที่โซล เกาหลีใต้ เราไปเล่น แล้ว vibe มันดีมาก ก็รู้สึกว่าอยากจัดที่ไทยด้วย ชื่อ Constant Value เป็น collective underground ของเขาที่ทำมาอยู่แค่ 2 ปี แต่เขาก็เอาแนวนี้มาสร้างกระแสในเกาหลีได้ดีมาก เพิ่งเกิดแล้วก็กำลังมาแรงด้วย พอได้คุยกับปอนด์แล้วเราชอบเหมือนกัน
แม้แต่ในไทยเองจริง ๆ แล้วซีนเทคโนตอนนี้ก็กำลังมา รู้สึกว่าไม่ได้เงียบแบบเมื่อก่อนแล้ว
โคอิชิ: ใช่ เราก็รู้สึกว่าเด็กเริ่มสนใจด้านอิเล็กทรอนิกมากขึ้น
ปอนด์กับโคอิชิมาเจอกันได้ยังไง
ปอนด์: ผมกับพี่โครู้จักกันมาได้ 3-4 ปีแล้วครับ แต่ว่าตอนนั้นก็ไม่ได้ร่วมงานกันเป็นโปรโมเตอร์ คือผมชอบเพลงพี่โคแล้วก็เคยดูพี่โคเล่น live ผมจัดงาน Tempo ก็จะชวนพี่โคมาเล่นบ่อย ๆ มันเริ่มจากปีที่แล้วผมอยากลองเล่นโมดูลาร์เลยให้พี่โคสอน ก็คุยกันมาเรื่อย ๆ ครับ แล้วเมื่อต้นปีนี้ก็คุยกับพี่โคว่าอยากจัดงาน industrial หนัก ๆ เห็นซีนนี้อยู่ที่เบอร์ลินมันก็มีเยอะ ก็เลยอยากทำเหมือนกัน มันต่างจากดนตรีเทคโนทั่วไป สำหรับผมนะ ถ้าเป็นดนตรีร็อกก็คือเป็นเดธเมทัล มันจะเป็นอีกคาแร็กเตอร์นึง ถ้าเทคโนก็จะเริ่มเห็นมา 3-4 ปีแล้วในเมืองไทย แต่อย่าง industrial techno มันยังไม่ได้มีชัดเจน ผมก็เลยคุยกับพี่โคว่าที่อยากตั้งใจทำคืออยากให้มันมีเป็นปกติในกรุงเทพ ฯ ซักที เหมือนเป็นอีกทางเลือกนึงที่คนอยากฟังดนตรีหนักมาก ๆ จะเป็นซีนนี้นะ
ก่อนที่จะมีคนมางาน อยากให้ช่วยอธิบายว่า industrail techno ต่างจากเทคโนและอิเล็กทรอนิกทั่วไปยังไง
โคอิชิ: จริง ๆ น่าจะรู้ว่าแต่ก่อนผมทำค่ายอินดี้ (SO::ON Dryflower) แล้วผมก็ทำอิเล็กทรอนิกมานานเหมือนกัน แต่ผมก็ชอบร็อกด้วย บางที industrial จริง ๆ ต้นกำเนิดมันมาจากร็อก แล้วมันจะมีอะไรต่างจาก club music อยู่ attitude ของมันก็จะค่อนข้างสำคัญ มันจะมีความพังก์อยู่สูง ก็อยากให้น้อง ๆ ที่สนใจด้านนี้ หรือแม้ว่าจะชอบร็อกหรืออินดี้ก็อยากให้ลองมาดู จะได้มาเข้าใจ มากกว่าไปคลับปกติ มันจะมีทั้งดีเจ แล้วก็มีเล่นสด
ปอนด์: มีเรื่อง sound design, rave culture ผสมอยู่ในนั้น เพลงมีความหนักกว่า ดิบกว่า
ถ้าให้เริ่มฟัง ควรฟังดีเจหรือโปรดิวเซอร์คนไหนดี
โคอิชิ: เยอะเลยนะ (หัวเราะ) ไปลองฟังงานคนที่จะมาดีกว่า ชื่อ Ansome เขาเป็นเด็กอังกฤษ ช่วงนี้มาแรงมาก ดนตรีเขาก็มีความ industrial สูง แล้วก็เล่นสดได้ดีมาก แล้วก็ไป Spotify เอาต่อไปเรื่อย ๆ ได้ (หัวเราะ)
ปอนด์: แล้วก็จะมีเพชร DuckUnit (PSRWP) มาช่วยเรื่อง art work ในงานนี้ มีวิชวลนิดหน่อยด้วย สำหรับงานนี้งานแรก แต่เพชรเขาก็มาเริ่มเล่นไลฟ์เหมือนกัน
โคอิชิ: มาเป็น artist คนนึงในงานนี้ จะเน้นเรื่องเพลงมากกว่า อยากให้คนดูได้ฟังเสียงมากกว่าดูสีของภาพ
บางคนจะคิดว่างานพวกนี้ต้องมี visual lighting เพื่อให้บรรยากาศดูอิ่มกว่า จริง ๆ มันมีความจำเป็นไหม
โคอิชิ: มันแล้วแต่ศิลปินนะครับว่าอยากจะนำเสนออะไร แต่สำหรับเราก็อยากนำเสนอ pure sound บางทีเราก็อยากจะใช้ไฟน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ปอนด์ตอนนี้ใช้ชื่อดีเจว่า Marmosets แต่ก่อนหน้านี้ชื่อ Kingkong คือทำไมต้องมีสองชื่อ เปิดเพลงคนละแนวหรอ
ปอนด์: ไม่ได้ใช้ชื่อ Kingkong มาซักพักแล้วครับตั้งแต่เริ่มทำ Marmosets เพราะว่ามันมีช่วงที่เล่นที่ Dark Bar บ่อย ๆ คนจะรู้จัก Kingkong ที่เล่น drum n bass มันมีอยู่ช่วงนึงที่ซีน dnb มันเงียบหายไป แล้วผมก็เริ่มเล่นพวกปาร์ตี้ต่าง ๆ ที่เป็นแนวอื่นเยอะขึ้น ทีนี้เพื่อน ๆ ที่ชอบ dnb มาดูมันก็จะมาขอ dnb แล้วคนฝั่งที่ฟัง house techno เขาก็อยากจะฟังแบบนั้น ผมก็เลยคิดว่าต้องแยกชื่อ อีกอย่างนึงตอนที่เล่น Marmosets ผมก็เริ่มจากเล่น live ด้วยครับ เป็น hardware, drum machine กับ synthesizer ตัวนึงก่อน เริ่มเป็น dj set หลัง ๆ มาก็มีทั้งไลฟ์ ทั้งดีเจเซ็ตไปด้วยกันครับ ทีนี้ก็ ช่วง 2-3 ปีที่เห็นก็จะเป็น Marmosets ซะส่วนใหญ่ ตอนนี้เล่นประจำที่ BEAM เดือนละครั้งครับ แล้วก็ส่วนใหญ่จะเป็นปาร์ตี้ตัวเอง ชื่อแล้วแต่ว่าไปเล่นร้านไหน จัดกันเองกับเพื่อน ๆ ที่เล่นระหว่างเฮาส์กับเทคโน
กระแส drum n bass เริ่มซาไปตอนไหน
ปอนด์: อันนี้ก็ไม่แน่ใจครับ แต่ที่ต่างประเทศก็เป็นเหมือนกัน อย่างสมัยก่อนที่ฮ่องกง ที่จีน จะบูมมาก ตอนนี้ไม่ค่อยมีเลยครับ แม้แต่เจ้าของประเทศต้นตำรับก็ยังเหมือนเล่นได้แต่ในประเทศตัวเองแล้ว คือที่อังกฤษ
โคอิชิ: ผมว่าจริง ๆ มันก็ไม่ได้หายนะ แค่พัฒนาไปแนวอื่น ตอนนี้อาจจะไปทาง dubstep มากขึ้น แต่วิญญาณของ dnb ก็ยังอยู่ แค่เปลี่ยนสไตล์นิดนึง
ปอนด์: ช่วงนึงมันก็กลายเป็น dubstep ช่วงนี้มันก็จะแตกออกไปหลายแนวเหมือนกัน แต่ที่ผมหมายถึงมันหายไปหมายถึงซีน คนฟังในไทย พอมันเริ่มจากยุค 90s ปลาย ๆ พอมาปี 2000 ต้น ๆ นี่เป็นยุครุ่งเรืองเลย ผมจำได้ว่าเล่น dnb ที่นี่ได้เดือนละครั้ง พอประมาณสัก 2008-2010 คนก็เริ่มหายไป ก็จะเหลือเล่นกันเองอยู่ไม่กี่คนครับ
เรื่องพวกนี้จำเป็นต้องให้ความรู้คนฟังไหม เพราะคนไทยส่วนใหญ่จริง ๆ ก็ยังไม่เก็ตอิเล็กทรอนิกหรือเทคโน
โคอิชิ: ผมไม่ค่อยอยากใช้คำว่า educate เท่าไหร่เพราะดนตรีมันก็แค่ให้เรารู้สึกกับมัน อยู่ตรงนั้นแล้วรู้สึกดีหรือไม่ดี สิ่งที่เราทำได้คือให้โอกาสคนได้มีประสบการณ์ร่วมกับมัน ถ้าชอบไม่ชอบก็ขึ้นอยู่กับทุกคนแล้ว แต่ถ้ามีอะไรที่เรารักจริง ๆ เราก็อยากนำเสนอไป
งานนี้คงไม่ยากเกินไปที่จะฟังใช่ไหม
โคอิชิ: ก็คงจะมีความตกใจสูง (หัวเราะ)
ปอนด์: มันก็คงหนักแหละครับ แต่ดนตรีชนิดนี้คือ มันต้องออกมาเจอเองในคลับ มันฟังอยู่บ้าน เวลาเราฟังอยู่บ้านเราไม่อินหรอก นึกถึงตอนเด็ก ๆ ที่มาเที่ยวอิเล็กทรอนิกปาร์ตี้ครั้งแรก ๆ มันเหมือนเป็นแบบ vibe มันต้องใช่ก่อน ถ้า vibe มันใช่ คนมันสนุก ผมก็แค่คลิกเดียวเลย ก็เปลี่ยนมาชอบได้แล้ว บางครั้งตอนเด็ก ๆ ผมจำได้ว่าไปเที่ยงฟังปาร์ตี้งานอย่างนี้ครั้งแรก ๆ อย่างไป Home Bass คือเพลง drum n bass ฟังอยู่บ้านมันก็ไม่ได้ชอบมาก คือตอนเด็กเลยผมหัดฟังนิด ๆ หน่อย ๆ แต่พอไปเที่ยวงานพวกนี้ปั๊บ คนเต้นกันทั้งงาน แล้วมันก็ทำให้เรารู้สึกชอบตรงนั้นขึ้นมา ผมเลยรู้สึกว่า ดนตรีหลาย ๆ ชนิดเลยครับ พอมันไปเจอ vibe ที่ถูกต้องมันถึงจะดึงคาแร็กเตอร์ตรงนั้นออกมา ยิ่งเป็นเพลงที่หนัก ๆ เป็นเพลงที่ปาร์ตี้หรือจำเป็นต้องใช้สถานการณ์ตรงนั้นมาสนุก บางทีนั่งฟังอยู่คนเดียวที่บ้านมันก็เหงา ๆ ก็อาจจะไม่ได้อินก็ได้ ถึงอยากจะให้ลองดู ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะทำแค่ครั้งเดียว อยากทำสม่ำเสมอให้รู้ว่าซีนนี้ในกรุงเทพ ฯ มันมีแล้วนะ วันนึงคนก็จะเริ่มฟังเอง เดือนละครั้งไม่รู้ทำกันไหวรึเปล่าอาจจะสองเดือนครั้ง
โคอิชิ: น้อง ๆ ที่ชอบดนตรีร็อกหนัก ๆ พวกเมทัล อยากให้เขามาดู อาจจะชอบก็ได้ เพราะมันก็มีความใกล้เคียงกันอยู่ พวก attitude ของ expression น่ะครับ
มีที่รองรับแนวดนตรีแบบนี้เพียงพอหรือยังในกรุงเทพ ฯ
โคอิชิ: ตอนนี้ผมว่ามี คลับในประเทศไทยกว้างขึ้นเยอะ
อะไรทำให้โคอิชิเปลี่ยนมาทำแนวนี้
โคอิชิ: มันก็ค่อย ๆ เปลี่ยนมา ตอนทำอยู่ค่าย SO::ON ตอนนั้นเราทำหน้าที่คนละแบบ เราเป็นเจ้าของค่ายกับโปรดิวเซอร์มากกว่า เราค่อนข้างทิ้งดนตรีของตัวเอง จริง ๆ ก่อนผมมาเมืองไทย ตอนอยู่ญี่ปุ่นผมก็ทำแนวดนตรีแบบนี้ (เทคโน) มานาน ซึ่งผมก็ต้องตัดทิ้งเพราะตั้งใจทำค่าย แต่สุดท้ายผมก็เลือกมาสายนี้ ก็เลยเลือกตัดค่ายทิ้ง (หัวเราะ) ตอนนี้ผมอยากตั้งใจทำงานของตัวเอง เหมือนจะกลับมาเล่นแบบนี้อีกครั้งนึงมากกว่า
ตอนที่เลิกทำค่ายนี่ทำให้แฟนเพลงอกหักหลายคนเลยนะ
โคอิชิ: จะให้กลับไปทำก็ได้นะ (หัวเราะ) แต่อาจจะไม่ได้ทำรูปแบบเดิม ชื่ออาจจะไม่เหมือนเดิม… แต่ก็เนาะ เราก็ยังเล่นดนตรีอยู่ ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตครับ แต่ช่วงนี้เราตั้งใจกับงานของตัวเองมากกว่า
อยากเห็นอะไรในวงการอิเล็กทรอนิกไทยอีก
ปอนด์: จริง ๆ ตอนนี้มันก็เริ่มดีขึ้นนะครับสำหรับที่ผมรู้สึก เรื่องของสถานที่ที่มันเอื้อต่อดนตรีแบบนี้ มีแต่เรื่องเวลาปิด เรื่องการเมืองทั้งหลาย โอกาสเรายังน้อยกว่าต่างประเทศ เราต้องปิดเร็ว ถ้าเกิดเป็นที่อื่น ๆ เขาก็ให้อิสระกว่านี้ นี่ถ้าเรามีคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ ไปจัดก็ต้องปิดเที่ยงคืน สไตล์คลับอันเดอร์กราวด์ของผมก็ยังดึงได้ถึงตีสอง ปาร์ตี้ในต่างประเทศก็ได้นานกว่านี้ ตีสี่ หกโมงเช้า ซึ่งสำหรับผมว่ามันทำให้เวลาเล่นแต่ละคืนมันยาวขึ้น พอมันยาวขึ้นคนเที่ยวก็อยู่ได้นานขึ้น คนเล่นงานนึงก็จะมีหลายคน ได้เล่นนานขึ้นก็ได้ฝึกฝนตัวเอง ผมก็ไม่รู้ว่าจริง ๆ มันเป็นปัญหารึเปล่า (โคอิชิ: ปัญหารัฐบาลมากกว่า) เราก็อยู่ตรงนี้มาตั้งแต่เรียนจบแล้ว จบมาผมก็ไม่ได้ทำงานประจำ ก็เป็นดีเจโปรดิวเซอร์อยู่อย่างนี้ ก็รู้สึกว่าวันนึงอยากจะมีปาร์ตี้ที่จัดแล้วลาก ๆ ไปถึงเช้าได้บ้าง แต่อันนี้ก็พยายามจะจัดให้นานกว่างานอื่น ในคลับปกติสี่ทุ่มเริ่ม อันนี้จะสามทุ่มเริ่ม คงเลตได้นิดหน่อยไปตีสองครึ่ง ตีสาม น่าจะ 5-6 ชั่วโมง
อยากให้ subculture นี้ขึ้นมาเป็น mainstream หรือเปล่า
โคอิชิ: ไม่หรอกครับ mainstream ก็ควรจะเป็น mainstream แบบนี้ต่อไป (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่ามันมีคนฟังเยอะขึ้น แต่แนวนี้จะขึ้นเป็น mainstream ได้ไหม มันก็ไม่ใช่ ดนตรีที่เรานำเสนอมันมีความประชดบางอย่าง (หัวเราะ)
ปอนด์: จริง ๆ มันก็อยู่ซ่อน ๆ ของมันอย่างนี้ดีอยู่แล้วครับ ดนตรีแบบนี้ แต่ถ้ามีเด็กมาฟังเยอะ ๆ มันก็สนุก ไม่ได้ปิด ไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำตัวอินดี้อะไร มันก็มีวิธีอยู่ของมัน
สุดท้าย ชวนกันมางานหน่อย
โคอิชิ: อันนี้คือครั้งแรก และเราก็ตั้งใจที่สุดเลย อยากให้มาลองฟังดู มามีความรู้สึกบางอย่าง งานมันมีคำว่า heavy แต่ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่ามันหนักจนฟังไม่ได้ มันเป็นความ ‘หนักแน่น’ และมีคุณภาพของมัน ไม่ใช่แค่หนวกหู ถ้าอยากได้ความหนักแน่น ผมว่างานนี้ไม่แพ้ใคร
ปอนด์: ดนตรีบางชนิดมันต้องออกมาฟังที่งานมัน ไม่ใช่ฟัง Soundcloud หรือ Spotify ได้ บางทีเราฟังหูฟังมันก็จะรู้สึกอย่างนึง แต่อันนี้มันจะมาอยู่ตรงข้างหน้า กับคน 40-50 คน แล้วเสียงเบสมันกระแทกเข้ามา มันจะได้อีกความรู้สึกนึง แล้วอันนี้ก็ตามชื่อครับ heavy electronic experience เราเล่าถึงโจทย์ของดนตรีหนัก ๆ ล้วน ๆ หลายคนที่คิดว่าทำไมช่วงนี้มีแต่ดนตรีเบา ๆ เห็นน้องหลายคนก็อยากออกมาเที่ยวงานหนัก ๆ แบบนี้ อย่างงานนี้ได้ทั้งสายอิเล็กทรอนิกและสายร็อกเลย ก็อยากชวน ถ้าใครได้อ่านบทความนี้ก็อยากให้ลองดูครับ ถือเป็นโอกาสของเราที่จะได้มาเจอกัน
RAZE | Heavy Electronics Experience w/ Ansome and more.
— Line Up —
ANSOME [S.L.A.M.,Mord Recs, – UK] – Dj set
KOICHI SHIMIZU – live
MARMOSETS
PSRWP – live
WINKIEB
Music : Industrial Techno / Noise / Dark / Experimental / Hard Techno
Date : Friday 6th July 2018
Start 9pm
Venue : Safe Room – Silom Soi 8
Ticket : goo.gl/dJrKFb