Article Interview

คุยกับ ‘พาย Fungjai’ เพราะซีนดนตรีไทยต้องพัฒนาไปได้อีก!

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Photographer: Jiratchaya Pattarathumrong

หลายคนอาจรู้จักหนึ่งใน co-founder ของฟังใจอย่าง พาย—ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ดีอยู่แล้วว่าเป็นอดีตสมาชิกวง Cigarette Launcher และเป็นผู้ที่อยากตอบคำถามให้ได้ว่า ‘การทำวงอินดี้ในไทยให้อยู่รอดต้องทำอะไรบ้าง’ จึงเข้ามาดูแลในส่วนสำคัญของฟังใจ

และถ้าใครอยู่ในบ้านฟังใจ ก็จะเห็นเขาเคลื่อนไหวเดินทางตลอดเวลาถึงขั้นชีพจรลงเท้า เพราะต้องร่วมงานสัมมนาทั้งในและต่างประเทศ หัวข้อส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับซีนดนตรีในบ้านเราหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดือนหนึ่งเลยอยู่ไทยแค่ไม่กี่วัน เราจึงหาโอกาสล็อกตัวพี่พายไว้หนึ่งวันเพื่อพูดคุยกันซักหน่อยถึงสิ่งที่พี่พายไปเห็นไปฟังมาเกี่ยวกับซีนดนตรีทั่วโลก และมุมมองต่อซีนดนตรีไทยในสายตาเขา รวมถึงข้อสงสัยว่าทำไมอยู่ดี ๆ เว็บฟังใจก็มีภาษาอินโดนีเซียขึ้นมา

เห็นพี่พายไปงานสัมมนามาหลายที่ทั่วโลก อยากให้เล่าถึงงานสัมมนาที่ไปมาแล้วประทับใจมากที่สุดหน่อย

งานสัมมนาที่ประทับใจที่สุด ชื่อว่า Zandari Festa จัดที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ แต่งานนี้งานสัมมนาไม่ใช่เรื่องหลักแต่เป็นเรื่องรอง งานหลักของมันเป็น showcase festival โดยจะมีผู้ชมที่เป็นทั้งคนดูทั่วไป และนักธุรกิจดนตรีที่สนใจหาวงใหม่ ๆ เพื่อร่วมทำงานด้วย

Showcase festival จะไม่เหมือนกับ music festival ที่เราเห็นกันทั่วไป แต่เป็นงานเทศกาลดนตรีที่ผู้จัดงานจัดเพื่อให้นักธุรกิจดนตรีมาพบกับวงดนตรีที่อาจจะยังไม่ดัง แต่มีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งนักธุรกิจดนตรีที่ว่าก็จะมีทั้งเจ้าของเฟสติวัล booking agent ค่ายเพลงที่เฟ้นหาศิลปินใหม่ ๆ distributor ที่ต้องการเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับค่ายเพลงหรือศิลปินต่าง ๆ ไรงี้ แล้วคนดูทั่วไปที่มาร่วมงานก็จะเป็นคนที่ค่อนข้างเปิดกว้างอยากรู้จักวงดนตรีใหม่ ๆ ด้วย

Showcase festival จะเป็นงานที่มีวงดนตรีเยอะมาก ๆ และจัดให้เล่นพร้อม ๆ กันในหลาย ๆ venue ที่เดินถึงกันได้ในเวลาสั้น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจดนตรีที่มาร่วมงานได้ดูวงได้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ นิสัยคนพวกนี้เขาก็เลยจะดูวงหนึ่งแค่ 2-3 เพลงแล้วก็กระโดดไปดูอีกวงหนึ่งต่อ เพราะฉะนั้นวงดนตรีที่อยากได้ดีลธุรกิจ เขามีเวลาที่จะ convince ให้นักธุรกิจดนตรีพวกนี้สนใจอยากทำงานกับเขาแค่นิดเดียวเท่านั้นเอง แล้ววงดนตรีเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่ามีหน้าที่แค่ขึ้นไปเล่นเฉย ๆ แล้วรอคนพวกนี้มาคุยด้วย แต่เขาจะต้องเป็นฝ่ายรุกเดินเข้าไปหาพวกนักธุรกิจดนตรีในงานเองด้วย เพื่อจะได้เอาซีดี ใบปลิว หรือ press kit ไปให้ พยายามพูดคุยสร้างสัมพันธ์ที่ดี และก็ชวนเขาไปดูงานตัวเองให้ได้ มันเป็นความสามารถที่วงดนตรีจะต้องมีหากต้องการหาดีลดี ๆ

ความประทับใจที่เกิดขึ้นจากงานนี้ก็คือการได้เห็นวงพวกนี้ดูแลบริหารตัวเอง และก็มีความมั่นใจในการขายงานตัวเอง แถมยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการขายงานมาก ๆ ด้วย อย่างเช่นการทำ packaging ของ press kit เจ๋ง ๆ มีขนมแถมในนั้นบ้าง มีวงนึงทำ packaging เป็นซองบุหรี่ ข้างในใส่นามบัตร ใส่ข้อมูลวง USB บรรจุอัลบั้มเพลงของตัวเอง แล้วก็บุหรี่สองมวน มีบางวงทำไฟแช็กติดโลโก้วง แล้วมีวงหนึ่งทำถุงยางติดโลโก้วงด้วย ซึ่งมันทำให้จำง่ายแล้วก็ทำให้อยากไปดูโชว์ของวง

[ซ้าย] ไฟแช็ควง Billy Carter; [ขวา] ถุงยางวง Wasted Johnnys
พวกนักธุรกิจดนตรีพวกนี้ส่วนใหญ่เขาก็มาด้วยจิตใจที่กว้างมาก อยากจะรู้จักคนเยอะ ๆ มาสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจดนตรีคนอื่น ๆ มาสร้างเครือข่ายกับศิลปินใหม่ ๆ มันก็จะเป็นงานที่ค่อนข้าง friendly มาก ทุกคนพร้อมที่จะเข้าหากันและคุยกัน

ในส่วนของงานสัมมนานั้น เขาจะเน้นไปในทางการให้ความรู้กับวงอินดี้ว่าถ้าเขาอยากไปทัวร์ อยากส่งออกเพลงตัวเองไปขายต่างประเทศ จะต้องทำยังไงบ้าง เทศกาลดนตรีต่างประเทศมีอะไรบ้างที่น่าสนใจ มี workshop การเข้าหานักธุรกิจดนตรีว่าควรจะเข้าหาอย่างไรบ้าง เทคนิคการสร้าง network สิ่งที่ควรเตรียมก่อนเข้าไปหานักธุรกิจดนตรี ฯลฯ ผู้จัดงานก็เชิญวิทยากรจากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งเจ้าของเฟสติวัล touring agency ฯลฯ มาเล่าให้ฟังว่าแบบ ถ้าจะไปต่างประเทศต้องติดต่อใครอะไรยังไงบ้าง ก็เป็นการส่งเสริมให้นักดนตรีที่อยากจะก้าวเข้าสู่อีกระดับหนึ่งของอาชีพตัวเองได้เข้ามาเรียนรู้ครับ

งานแบบนี้ภาครัฐเขาก็ช่วยด้วยใช่ไหม?

รัฐบาลของบางประเทศก็มีการสนับสนุนวงการดนตรีอินดี้อยู่บ้างนะครับ อย่างเกาหลีใต้ เท่าที่ฟังมาจากเจ้าของงาน Zandari เขาลงทุนด้วยตัวเองไปเยอะมาก และภาครัฐก็มีเงินสนับสนุนให้อยู่บ้าง แต่ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับ K-pop ที่รัฐบาลเกาหลีน่าจะให้เงินกว่า 90% ของงบสนับสนุนดนตรีทั้งหมด ส่วนที่เหลือเนี่ยค่อยมาลงกับดนตรีอินดี้

รัฐบาลไต้หวันก็มีงบประมาณสนับสนุนดนตรีอินดี้ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน อย่างเช่นโครงการ Taiwan Beats ที่โปรโมตและให้ทุนสนับสนุนวงอินดี้ไต้หวันให้ได้ไปทัวร์ต่างประเทศ แล้วก็จัดงานสัมมนาดนตรีที่ไต้หวันด้วย

มีพวกบริษัทหรือคนจากเมืองไทยไปงานสัมมนาพวกนี้บ้างไหม?

ตอนแรก ๆ ที่เริ่มไปเมื่อซัก 3-4 ปีที่แล้ว ปรกติจะไม่ค่อยได้เจอคนไทยเลย แต่หลัง ๆ ได้เจอบ่อยขึ้น ที่เจอบ่อย ๆ ก็คือพี่เต้ด จาก Big Mountain ที่ถูกเชิญไปพูดและไปดูวงที่นู่นเพื่อคัดมาเล่นที่ Big Mountain แล้วพอพี่ได้เจอผู้จัดหลาย ๆ งาน เขาก็มาขอให้ช่วยแนะนำคนไทยที่น่าสนใจให้ไปร่วมงานด้วย ก็เลยได้ชวนอย่างทาง Cat Radio, Seen Scene Space, Have You Heard? ไปด้วยกัน วงที่ไปแสดงงานแบบนี้ก็มีอย่าง Mattnimare กับ Two Pills After Meal ที่ไปเล่นที่งาน Zandari Festa

อย่างพี่พายนี่ได้ไปร่วมสัมมนาหลาย ๆ งาน ส่วนใหญ่พี่พายไปพูดเกี่ยวอะไรบ้าง?

สิ่งที่พูดก็มีทั้งหัวข้อที่เกี่ยวกับซีนดนตรีของประเทศไทย แล้วก็ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วเราเริ่มสร้าง network ความรู้จักกันอย่างไร ชุมชนดนตรีในแต่ละประเทศเป็นยังไง อย่างเช่นงาน MaMA Festival & Convention ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก็ไปพูดแนะนำเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดนตรีไทยโดยรวม แล้วก็ให้คำแนะนำว่าถ้าวงอินดี้หรือค่ายอินดี้ฝรั่งเศสอยากมาตีตลาดในไทยจะทำยังไงได้บ้าง ซึ่งแนวทางที่ให้เขาไปก็คือให้มาทำความรู้จักกับวงดนตรีไทย ค่ายเพลงไทย แล้วเริ่มติดต่อสร้างความสัมพันธ์แบบเพื่อน นอกจากนี้ก็พูดถึงเรื่องความคุ้มค่า เพราะการเดินทางมาแสดงที่ไทยมันไกลแล้วค่าเดินทางก็แพงมาก ก็แนะนำว่าเขาควรจัดเป็นทัวร์ โดยหาโปรโมเตอร์อื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ซึ่งพี่ก็มีเพื่อน ๆ ที่อยู่ในแต่ละประเทศเป็นโปรโมเตอร์หรือรู้จักกับโปรโมเตอร์ท้องถิ่น ถ้ามีวงไหนเขาติดต่อมา พี่ก็จะเเนะนำให้เขาต่อได้ จุดประสงค์ที่พี่ทำสิ่งนี้มันไม่ใช่เพียงแค่การเอาดนตรีต่างประเทศเข้ามาเมืองไทยนะ แต่ทำให้เขามาเห็นวงดนตรีบ้านเรา และสร้างโอกาสให้เกิดการเเลกเปลี่ยนกันในอนาคต เผื่อว่าเขาจะอยากชวนวงไทยเราไปบ้านเขาด้วย

พายไปพูดในงาน Golden Melody Festival (GMA) 2017 ที่ประเทศไต้หวัน

แล้วส่วนใหญ่ในสายตาต่างชาติ เขาเห็นซีนดนตรีไทยเป็นอย่างไรบ้าง?

ถ้าเป็นประเทศตะวันตกนี่เขาแทบไม่เห็นไม่รู้จักเราเลยครับ ก็เลยอยากทำให้เขารู้จัก ให้เขารู้สึกสนใจ ว่าจริง ๆ แล้วที่นี่มีซีนเจ๋ง ๆ นะ เราอาจไม่ได้อยู่ในข่าวหรือใน blog ที่เขาอ่าน แล้วก็ไม่มีศิลปินที่โด่งดังไปถึงบ้านเขาเพราะการที่จะตีตลาดบ้านเขามันก็ยากมาก ๆ ด้วย ทั้งเรื่องภาษา ทั้งวัฒนธรรม เชื้อชาติ และบ้านเขาเองก็มีวงดนตรีที่ดีอีกเยอะแยะมากมาย การแนะนำดนตรีของประเทศไทยผ่านงานสัมมนาต่าง ๆ นี่ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีวิธีหนึ่ง เพราะคนที่ตัดสินใจเอาวงเราไปได้ก็คือนักธุรกิจดนตรีต่าง ๆ เหล่านี้แหละ

แต่สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกประเทศเขาชื่นชมเราหมดเลย ว่ามีเพลงดี ๆ ศิลปินน่าสนใจอยู่เยอะมาก ซึ่งเขาได้เห็นผ่านพวกโซเชียลมีเดีย แล้วก็อยากที่จะได้มีโอกาสมาเล่นที่บ้านเราด้วย ผมก็รู้สึกดีที่เขาชอบเรานะ แล้วก็อยากให้เราได้ลองฟังเพลงพวกเขาด้วยเยอะ ๆ เพราะจุดเริ่มต้นของการส่งออกเพลง ก็คือการแลกเปลี่ยนฟังเพลงของกันและกันล่ะ

คิดว่าซีนดนตรีไทยมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรบ้าง?

ถ้าเทียบแค่ภายในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เราก็น่าจะถือเป็นซีนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดฯ เพราะอินโดฯ ได้เปรียบที่ประเทศเขาใหญ่ มีตั้งสองร้อยกว่าล้านคน ด้วยความที่เยอะก็ทำให้มี supply กับ demand ที่ใหญ่เพียงพอ แต่บ้านเราเองก็ไม่ใช่ประเทศที่เล็กเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ นะ

ข้อได้เปรียบใหญ่อันหนึ่งของเราคือความเปิดกว้างของคน เรามีอิสรภาพในการแสดงออกค่อนข้างมาก มีความเปิดกว้างพอสมควรที่จะรับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามา เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอย่างเช่นมาเลเซียและอินโดฯ ที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาหลักของชาติ และยังมีกฎหมายอิสลามอยู่ด้วย ทำให้การขายแอลกอฮอล์ในเทศกาลดนตรีอาจจะทำไม่ได้ ทำให้เขาหาสปอนเซอร์แบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ยาก ซึ่งเคยมีตัวอย่างของแบรนด์เบียร์ที่จัดงานประกวดดนตรี แต่ก็จะมีกฏอยู่ว่า ห้ามให้คนที่นับถืออิสลามเข้าประกวด

โห! อันนี้คือเป็นข้อห้ามจากคนจัด?

ข้อห้ามจากรัฐบาล (FJZ: !!!) งานดนตรีนี้มันจึงมีเพลงไม่หลากหลายมาก เพราะว่ามันโดนตัดออกไปเยอะ คือประชากรมาเลเซียกว่า 60% นับถือศาสนาอิสลาม การมีกฏแบบนี้ก็ทำให้ความหลากหลายของเพลงหายไปเยอะเลยล่ะ

ส่วนอิสรภาพในการเเสดงออกอื่น ๆ ก็มีเช่น ที่มาเลย์ฯ กับอินโดฯ ก็จะมีกลุ่มหัวรุนแรงที่ต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตก ศิลปินหลาย ๆ คนที่ไปแสดงที่มาเลเซีย ยกตัวอย่างเช่น Gwen Stefani ก็ถูกสั่งห้ามกระโดดโลดเต้น ห้ามขว้างของ แต่งตัวโป๊หรือใช้คำหยาบ ทำให้โชว์ของเขาไม่เหมือนที่อื่นในโลก

สิงคโปร์ก็มีเรื่องคล้าย ๆ กับมาเลเซีย ในเรื่องของ censorship เช่นกัน คือมีการตรวจสอบว่าเพลงเกี่ยวกับศาสนาไหม เกี่ยวกับการเมืองไหม ก็จะมีลิมิตในการแสดงออกพอสมควร เรื่องหัวรุนแรงเงี้ย ก็มีกลุ่มที่บุกเข้าไปปิดงานดนตรี เช่นมีงานพังก์งานหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสิทธิสตรีและโปรโมทผู้หญิงในซีนพังค์ ปรากฎว่าก็มีกลุ่มคนรวมตัวกันมาล้อมสถานที่จัดงาน มีการจับตัวประกัน จนต้องมีตำรวจมาเคลียร์ แล้วยังเคยมีเหตุการณ์ที่กลุ่มคนพวกนี้ไปประท้วงหน้า festival ต่อต้านเพลงและวัฒนธรรมตะวันตกด้วย

และที่น่าสนใจมาก ๆ คือมันจะมีกลุ่มที่เรียกว่าต่อต้านดนตรีเลยล่ะ ชื่อ The Strangers ของอินโดฯ ซึ่งมีการ recruit คนที่เคยเป็นนักดนตรี ร็อกสตาร์ แล้วหันหลังให้กับดนตรีมาเป็น influencer มาบอกว่าดนตรีมันไม่ดีอย่างงู้นอย่างงี้ มันผิดกฏศาสนา เป็น Haram (ซึ่งมีความหมายตรงข้ามกับ Halal) คือเป็นบาป ประมาณนั้น

ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างแข็งแรงหรือเปล่า?

ก็ไม่ได้ใหญ่มาก แต่ก็มีคนติดตามและก็มีหัวรุนแรงอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้นข้อได้เปรียบของเราคือการมีอิสรภาพในการแสดงออกค่อนข้างสูง ความยอมรับในเพศที่หลากหลายก็สูงกว่าบ้านเขา และก็ความยอมรับในเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ก็สูงกว่าเขา เช่นการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาขายในงานเนี่ย ก็จะง่ายกว่าเขา เป็นต้น แต่ในเรื่องของ venue จริง ๆ รู้สึกว่าเราก็ไม่ได้เด่นหรือด้อยไปกว่าเขา เช่น ไทยกับอินโดฯ เนี่ย ก็จะมีผับที่เล่นเพลงโคฟเวอร์เยอะ แล้วสถานที่ที่เล่นเพลงอินดี้ไม่เยอะ เหมือน ๆ กัน

มาถึงจุดอ่อนบ้างครับ ถ้าเทียบกับหลาย ๆ ประเทศที่พี่พายไปเห็นมา

ถ้าใน ASEAN เอง เราก็ไม่ได้มีจุดอ่อนที่แย่ไปกว่าใคร รู้สึกว่าเราสามารถปลุกปั้นให้ซีนมันไต่ขึ้นไปได้อีก แต่จุดอ่อนหนึ่งที่พอนึกได้คือ นอกเหนือจากกรุงเทพแล้ว แทบจะไม่มีเมืองไหนที่รองรับซีนอินดี้ได้จริงจังนัก แม้บางคนอาจจะนึกถึงเชียงใหม่ แต่เรียกได้ว่า demand เพลงอินดี้ในเชียงใหม่ก็ไม่ได้เยอะ มหาสารคามก็เป็นที่ที่ดีมาก ๆ ที่พอจะมี demand แต่ก็ไม่ใช่ทุกวงจะสามารถไปเล่นได้ สรุปแล้ววงอินดี้จะทัวร์ในประเทศก็อาจจะทำได้ไม่บ่อยนัก พอเทียบกับอินโดฯ ด้วยความที่ประชากรเขาเยอะ มีเมืองใหญ่เยอะ เลยมีซีนดนตรีท้องถิ่นที่แข็งแรงกว่าเรา สามารถทัวร์ได้ ไม่ใช่แค่ Jakarta ที่เป็นเมืองหลวงอย่างเดียว ยังมี Bandung, Yogyakarta หรือชื่อเล่นว่า Jogja, Surabaya แล้วก็ Bali ที่มีซีนดนตรีเช่นกัน

อินโดฯ เป็นประเทศที่คนฟังมีพื้นฐานการฟังเพลงเมทัลแล้วก็ร็อกเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในสายนี้จะเจริญเติบโตได้ง่ายกว่าสายอื่น เมืองแต่ละเมืองที่มีซีนดนตรีของตัวเอง ก็จะมีลักษณะเฉพาะตัวพอควร เช่นใน Jogja มีวงชื่อ Senyawa ที่มีสมาชิกสองคน เป็นวงประมาณแนว Avant-garde ผสม Metal เครื่องดนตรีที่เขาเล่นเป็นเครื่องดนตรีที่สร้างเองจากกระบอกไม้ไผ่ เป็นทั้งเครื่องเพอร์คัสชันและก็เป็นเครื่องสาย ก็คือสีด้วยดีดด้วย แต่ไม่เป็นโน้ตมาตรฐาน แล้วคนร้องก็จะร้องโหยหวนสลับคำราม เขามีไปทัวร์ยุโรปบ่อยเลย ค่อนข้างดังที่นู่น เป็นวงที่น่าสนใจมากวงหนึ่ง

เมืองของเขาก็จะมีซีนดนตรีที่ไม่เหมือนกัน แนวดนตรีก็จะไม่เหมือนกันไปเลย?

มันจะมีจุดเด่นและความหลากหลายของตัวเองบ้างนะ มีเมืองอย่าง Bandung ที่ถ้าเรียกว่า Jakarta เหมือนกับกรุงเทพฯ ตรงที่เป็นเมืองหลวง วุ่นวาย รถติดเหมือนกัน Bandung ก็จะเหมือนเชียงใหม่ที่เป็นเมืองในหุบเขา เป็นเมืองศิลปะ อากาศเย็น ๆ ดนตรีที่นั่นก็จะมีความเข้ากับบรรยากาศท้องถิ่นอยู่บ้าง แต่ก็มีซีนฮาร์ดคอร์ เมทัล แล้วก็มีแนวเพลงหลากหลายตั้งแต่ folk ยัน experimental

พอได้ไปเห็นซีนดนตรีหลาย ๆ ที่แล้ว มีประเทศไหนที่สามารถนำมาปรับใช้กับซีนบ้านเราได้?

(คิดนาน) พี่อยากให้บ้านเรามีซีนของ live house แบบที่ญี่ปุ่น ที่วงดนตรีสามารถเข้าไปเช่าเล่นได้ ไม่จำเป็นต้องเล่นเพลงโคฟเวอร์เหมือนในผับ สิ่งหนึ่งที่ชอบก็คือเขามีทีมงานที่ professional มาก ๆ จัดงานแล้วเสียงดี คนที่มาดูจะได้รับความสุขกลับบ้านไปเต็ม ๆ นักดนตรีก็ได้รับการ treat ที่ดี บ้านเราเองยังไม่มีอะไรแบบนั้นจริงจัง เคยมี live house เกิดขึ้นมาบ้าง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการเงินซักเท่าไหร่ ไต้หวันก็เป็นอีกประเทศที่มี live house เยอะ เช่น The Wall ที่เป็น live house ที่ดังที่สุดที่แห่งหนึ่ง

กลับมาที่อินโดฯ ใหม่ คือเรื่องของสื่อดนตรีอินดี้ที่นู้น จะมีค่อนข้างเยอะเลย ทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์และออนไลน์ มี Provoke! Magazine ทำมาตั้งแต่ปี 2000 กว่า ๆ ละ มีทั้งออนไลน์แล้วก็พอคเกตบุ๊คที่แจกตามโรงเรียนมัธยม พิมพ์แจกเดือนละประมาณ 9 หมื่นฉบับ แจกในสี่เมืองใหญ่บนเกาะชวา คือ Jakarta, Jogja, Surabaya กับ Bandung การมีสื่อดนตรีอินดี้แบบนี้มันทำให้คนรู้จักเพลงอินดี้ตั้งแต่มัธยมเลย ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศไทยแล้ว เราจะเริ่มรู้จักเพลงอินดี้กันช่วงเรียนมหาวิทยาลัย แต่ที่นั่นคือรู้จักตั้งแต่มัธยมเลย แถมมีการจัดงานเทศกาลดนตรีและศิลปะประจำโรงเรียนมัธยมที่เด็กนักเรียนมีหน้าที่จัดกันเอง ซึ่งศิลปินอินดี้ก็จะมีโอกาสได้ไปเปิดตัว แล้วก็สร้างฐานแฟนเพลงใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งนี้ก็อาจจะปรับมาใช้กับในประเทศไทยได้บ้างเหมือนกัน

พายไปพูดที่งาน Archipelago Festival 2018 ที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย

อิจฉา ecosystem ของวงการเพลงในประเทศไหนเป็นพิเศษไหม ที่เห็นแล้วแบบมันดีมาก?

พี่น่ะไม่อิจฉาเลย และพี่รู้สึกว่าทุกประเทศอิจฉากันและกันเอง เพราะมักจะเห็นแต่ข้อดีของคนอื่นแล้วเอามาเทียบกับข้อเสียของตัวเอง อย่างเช่นคนไทยบางคนอาจจะอิจฉาญี่ปุ่นที่คนยังชื้อซีดีอยู่เลย ทำให้ศิลปินมีรายได้ที่เยอะ แต่พอได้เรียนรู้จากคนในวงการดนตรีที่เป็นทนายที่นู่น จริง ๆ มันก็มีด้านมืดอยู่เหมือนกัน เขาบอกว่าเหตุผลที่ซีดียังขายดีอยู่ก็เป็นเพราะว่าค่ายเพลงทั้งหลาย โดยเฉพาะค่ายเพลงใหญ่ ๆ เนี่ย ช่วยกันกีดกันการเข้ามาของดิจิทัลแพลตฟอร์ม แถมการเอาเพลงขึ้นไปขายบนดิจิทัลแพลตฟอร์มก็ทำได้ยาก เพราะว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ญี่ปุ่นกำหนดว่าไม่สามารถขายเพลงขึ้นบนดิจิทัลได้จนกว่าจะขออนุญาตจากทุกคนที่มีส่วนร่วมในเพลงจนครบก่อน แล้วถ้าคนหนึ่งปฎิเสธก็จะไม่ได้เลย มันเป็นเหมือนกฎหมายที่ถูกล็อบบี้ให้เกิดขึ้นโดยค่ายเพลงที่รวมตัวกัน เพิ่งจะเร็ว ๆ นี้เองมั้ง ที่ดิจิทัลแพลตฟอร์มเริ่มสามารถเข้าไปตีตลาดได้เพราะมีการเปลี่ยนกฏเกณฑ์อะไรบางย่าง นี่เป็นตัวอย่างด้านมืดของตลาด physical ในญี่ปุ่น เหตุผลที่คนชื้อซีดี ก็เป็นเพราะมันต้องชื้อถึงจะได้ฟังเพลง ทำให้ญี่ปุ่นยังมีวัฒนธรรมที่ appreciate ซีดีนั่นเอง แล้วค่ายเพลงก็ยังหากลยุทธ์ให้คนชื้อซีดีเยอะ ๆ เช่น อัลบั้มวงไอดอล อาจจะต้องชื้อสิบยี่สิบแผ่น หรือต้องมีครบทุกชุด ถึงจะได้สิทธิจับมือกับศิลปิน อะไรงี้ เป็นกลยุทธ์การเพิ่มยอดขายของเขา

ฟิลิปปินส์ก็เป็นอีกประเทศที่มีศิลปินอินดี้ค่อนข้างเยอะ เพลงก็น่าสนใจ ซีนก็กำลังเริ่มแข็งแรง แต่ศูนย์กลางอินดี้อยู่แค่ที่ Manila ซึ่งมีสถานที่ให้วงอินดี้เล่นไม่เยอะ จำนวนที่จุได้ก็ยังน้อย แค่ประมาณ 100 คน แถมรถก็ติด เดินทางไปไหนก็ลำบาก ไม่ค่อยสะดวกเท่าไร การเดินทางในกรุงเทพฯ ค่อนข้างสะดวกกว่าเพราะมีรถไฟฟ้ากับรถใต้ดิน แต่ข้อดีของบ้านเขาคือผับบาร์เปิดได้ถึงเช้า ก็มีเวลาให้เล่นดนตรีนานดี

มีประเทศไหนที่รัฐเข้ามาช่วยแล้วทำให้ซีนมันยิ่งใหญ่หรือว่ายั่งยืนขึ้นไหม?

ประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดีก็คงเป็นประเทศแบบสังคมนิยมในยุโรป ซึ่งก็มีการให้ทุนสนับสนุนกับค่ายเล็ก ๆ วงเล็ก ๆ ให้สามารถขอทุนไปทำเพลง ทำการตลาด ทำทัวร์ได้ เช่น ประเทศเดนมาร์ก ประเทศฝรั่งเศส ก็มีทุนเหล่านี้อยู่ แล้วก็มีหน่วยงานในรัฐบาลที่เรียกว่า music export office ที่จะทำการคัดเลือก รับสมัคร แล้วก็ให้ทุนสนับสนุนวงในการไปเล่นต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่นในงาน Zandari ที่เกาหลี ทุกปีก็จะมีวงดนตรีที่ได้รับทุนจากรัฐบาลของอังกฤษกับฝรั่งเศสมาแสดง เเล้วตอนนี้ก็มีจากประเทศอื่น ๆ อย่างฮังการี ก็เริ่มส่งออกนักดนตรีของเขามาที่ Zandari เหมือนกัน

คนในรัฐบาลเป็นคนที่อยู่ในซีนอยู่แล้วด้วยหรือเปล่า?

ส่วนหนึ่งก็ใช่ครับ คนที่ทำงานให้หน่วยงานพวกนี้ก็มักจะเคยอยู่ในซีนมาก่อน หรือทำงานที่เกี่ยวข้องจนเข้าใจวงการดนตรีค่อนข้างดีมาก หลาย ๆ คนเคยอยู่ค่ายเพลง อยู่ booking agency มาก่อน แล้วค่อยมาทำหน้าที่เหล่านี้

ประเทศเหล่านี้ เขามองดนตรีว่ามันคือ soft power ซึ่งก็คือพลังอำนาจที่จะสามารถโน้มน้าวคนในประเทศอื่น ๆ ผ่านวัฒนธรรมของเขา กลยุทธ์นี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็เข้าใจเช่นกัน พี่เคยอ่านบทความที่พูดถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมดนตรีและบันเทิงของเกาหลีใต้ ว่าเขาเห็นว่าคนเกาหลีสมัยก่อนชอบชื้อของที่แปะป้ายว่า Made in USA เพราะมันเท่ แล้วยังมีหนัง มีเพลง รวมเป็นไลฟ์สไตล์อเมริกัน รัฐบาลเกาหลีก็เลยคิดแผนได้ว่า ถ้าเราอยากจะขายของได้เยอะ ๆ เราก็ควรจะทำให้ประเทศเราเท่เหมือนกัน ถ้าเเบรนด์เราเท่ คนจะได้ชื้อ เขาเลยสนับสนุนทั้งด้านดนตรี ละคร และ entertainment พอคนรู้จักดาราเกาหลี รู้จักศิลปินเกาหลี ก็อยากจะชื้อของเกาหลีตาม

ซึ่งประเทศไทยก็…

คนที่อยู่ในรัฐบาลไทยอาจจะมีความหัวเก่าค่อนข้างมาก เพราะนโยบายกับกิจกรรมที่ออกมาให้เห็นก็มักจะสนับสนุนวัฒนธรรมเก่าแก่ ท้องถิ่น หรือพื้นบ้านเป็นหลัก ส่งเสริมความภูมิใจในความเป็นไทยอะไรแบบนี้มากกว่า เเต่พี่ว่าเราไม่จำเป็นจะต้องเชิดชูเพียงด้านเดียวอ่ะ เราต้องเข้าใจว่าคนยุคสมัยใหม่เขาเสพอะไรบ้าง แล้วทำสิ่งที่คนรุ่นใหม่เสพ แล้วก็ใช้ช่องทางเหล่านั้นในการแนะนำเรื่องศิลปวัฒนธรรมก็ได้ อย่างเช่นเกาหลีทำหนัง ซีรีย์ กับเพลงสมัยใหม่ พอคนสนใจดาราเกาหลีมากขึ้น ก็เสนอละคร period พวกยุคเก่า ๆ เข้าไปด้วย อย่างเช่นอะไรนะที่มันทำกับข้าวอะ? (FJZ: แดจังกึม) เอ้อ! แดจังกึม! มันทำให้คนสนใจวัฒนธรรมเกาหลี ทำให้อยากรู้จักอาหารเกาหลี แล้วก็ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมเกาหลีมากขึ้น

บางครั้งเราก็ต้องมองว่าสิ่งสมัยใหม่เนี่ย มันสามารถดึงดูดให้คนสนใจสิ่งเก่า ๆ พวกเป็น traditional ได้ด้วย อย่ามองว่ามันคือการทำลายวัฒนธรรมอันดีงาม ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดีมากที่นำเอาวัฒนธรรมเเบบเก่าและใหม่มาผสมกัน ทำให้คนสนใจ เด็ก ๆ ดูหนังดูการ์ตูนก็อยากเป็นนินจา โตมาอยากเรียนคาราเต้ เล่นเกมภาษาเกม RPG ก็อยากเรียนภาษาญี่ปุ่น หรืออะไรก็แล้วแต่

เมืองท่องเที่ยวทางดนตรีในฝันของพี่พายเป็นแบบไหน?

เมืองท่องเที่ยวทางดนตรีที่ดี ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างมาก แล้วควรต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งข้างบนและข้างล่าง คือจากรากหญ้าขึ้นไปจนถึงฝ่ายรัฐบาล ภาครัฐควรต้องนำดนตรีและวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควรที่จะมีการทำ research และศึกษาอุตสาหกรรมดนตรีและบันเทิงอย่างจริงจัง ไม่ใช่มองว่ามันเป็นเรื่องไม่ดี เป็นกิเลส ผิดศีล อะไรแบบนี้ ควรต้องมองว่ามันเป็นธุรกิจที่ส่งเสริมธุรกิจอื่น ๆ ให้อยู่ได้ด้วย แล้วต้องมองว่าดนตรีคือสิ่งที่ช่วยในด้านความคิดสร้างสรรค์ ช่วยเยียวยาจิตใจคนได้ แล้วถึงจะเขียนนโยบายที่เหมาะสมได้ เช่น เรื่องเวลาการเปิดปิดของสถานบันเทิง เมื่อก่อนเปิดได้ถึงตีสอง ตอนหลังเปิดได้ถึงแค่เที่ยงคืน ซึ่งแปลว่านักดนตรีกับคนทำงานกลางคืนเนี่ย เวลาทำงานลดลงไปคืนละสองชั่วโมงเลยนะ รายได้ก็ลดลง รัฐบาลสามารถที่จะส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟสติวัลหรืองานดนตรี หรือสร้างสถานที่ให้นักดนตรีได้ไปเล่น ไปซ้อม ไปเรียนรู้ ก็จะเกิดประโยชน์ หรือช่วยเหลือโดยเขียนนโยบายที่อำนวยคนที่ทำงานในสายงานเหล่านี้บ้าง เช่นขยายเวลาการเปิดสถานบันเทิง อย่างน้อยในเขตท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ให้คนทำงานกลางคืน เป็นต้น

ในฝั่งผู้ฟังเอง ถ้าเขาสามารถเปิดใจที่จะฟังเพลงที่หลากหลายมากขึ้นได้ มันก็จะสามารถกระจายรายได้ ไปสู่นักดนตรีรากหญ้าได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่การเสพเฉพาะจากค่ายใหญ่ ๆ เท่านั้น เดี๋ยวนี้แฟนเพลงก็สามารถที่จะสร้างสื่อของตัวเองเพื่อสนับสนุนแนวเพลงที่เขาชอบได้ เช่นทำแฟนซีน (Fan-zine) ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องไปซีรอกซ์เพื่อแจกแล้ว แต่อาจจะเป็นเขียน blog ของตัวเองแทนได้

แล้วก็เรื่อง venue ต่าง ๆ ตอนนี้วงกลางคืนส่วนใหญ่จะเล่นเพลง cover แต่ถ้า venue ต่าง ๆ เริ่มเปิดโอกาสให้วงดนตรีที่มีเพลงที่แต่งเองเข้าไปเล่นเพลงของตัวเองได้บ้าง นอกจากเป็นการเพิ่มโอกาสให้วงเหล่านี้แล้ว มันก็ยังเป็นการทำให้คนที่ไปเที่ยว ไปกินข้าว ไปฟังเพลง ได้ถูก educate และก็ได้รับ exposure การฟังเพลงที่ไม่คุ้นเคยมากขึ้น ถ้าทำแบบนี้สักพัก มันก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะตอนนี้ถ้าเอาวงอินดี้ไปเล่นในผับ คนก็อาจจะแบบ ‘เฮ้ย ทำไมไม่เล่นเพลงที่รู้จัก ๆ บ้างวะ’ อย่างวง Yellow Fang ก็เคยถูกจ้างไปเล่นในร้านเเห่งหนึ่ง แล้วมีทิชชู่เขียนขึ้นมาว่า ‘เกรงใจคนฟังบ้าง เล่นเพลงที่คนรู้จักบ้างได้ไหม’ ทั้ง ๆ ที่วงเขาถูกจ้างไปเล่น ถ้าเรามีวงที่เป็นอินดี้ไปเล่นบ่อย ๆ คนอาจจะเริ่มแบบว่า ‘โอเค ไม่รู้จักแต่จะลองฟังดูก็ได้’

อ้อ แล้วตอนนี้ทางฟังใจกับ NYLON Thailand กำลังทำโปรเจคด้วยกัน ชื่อว่า Bangkok Music City เป็น conference & showcase festival ที่จะจัดที่แถวเจริญกรุงปลายปีนี้ เพื่อสนับสนุนการทำกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวทางดนตรี แล้วก็ดึงดูดให้นักธุรกิจดนตรีจากต่างประเทศมาให้ความรู้ แล้วก็เลือกซื้อวงไทยไปเล่นต่างประเทศด้วย ก็อยากขอให้ทุกคนติดตามด้วยนะครับ

มันเป็นไปได้ไหมที่ประเทศเราจะแบบจัดงานแบบ Coachella หรือ Clockenflap อะไรแบบนี้?

เป็นไปได้ครับ เพราะประเทศเราเองก็เป็นประเทศท่องเที่ยวอยู่แล้ว อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็สร้างรายได้ทางตรงให้กับประเทศประมาณ 9% ของ GDP แล้วก็มีการพยากรณ์ว่าการท่องเที่ยวจะเติบโตและดึงรายได้ให้กับประเทศมากขึ้นอีก บ้านเรามีสถานที่ ๆ สวยงาม มีที่ที่สามารถจัดงานดนตรีได้อย่างดี นอกจากจะดึงดูดให้คนมาดูธรรมชาติ ดูวัฒนธรรม เราก็สามารถดึงดูดให้คนมาดูดนตรีเราได้ด้วย

ยกตัวอย่างงานอย่างเช่น SXSW ที่เมือง Austin รัฐ Texas ที่ประเทศอเมริกา Austin เป็นเมืองเล็ก ๆ ในรัฐที่ใหญ่มาก มีทะเลทรายแล้วก็พื้นที่เวิ้งว้างว่างเปล่าเยอะมาก ๆ จนประมาณปี 1984 ที่มีคนอยู่สี่คนมารวมหัวกันคิดอยากจะช่วยทำให้คนได้รู้จักศิลปินของเมือง Austin มากขึ้น ก็เลยจัดงาน Conference & Showcase Festival แล้วเชิญนักธุรกิจดนตรีจาก New York และ LA ที่เป็นศูนย์กลางทางดนตรีในอเมริกา มาดูวงของ Austin ในปีแรกนั้น ก็จัดงานเล็ก ๆ เชิญคนมาไม่เยอะ มีวงแค่ไม่กี่สิบวง แล้วคนดูไม่เยอะ แต่มันก็เป็นตัวจุดประกายทำให้คนข้างนอกได้รู้จักวงจาก Austin จนตอนนี้ SXSW มันขยายตัวเป็นงานที่จัดยาวเป็นสิบกว่าวัน ปีหนึ่ง ๆ มีคนไปเป็นแสนเป็นล้านคน ดึงเงินและธุรกิจเข้ามาสู่เมืองแต่ละปีมากมาย เงินภาษีที่ได้ก็นำมาพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในเมืองได้ แล้วก็ทำให้ซีนดนตรีท้องถิ่นเเข็งแรงมาก จนถึงขั้นว่าคนไปเที่ยว Austin ในช่วงที่ไม่ได้จัดงาน SXSW เพื่อไปดูวงดนตรีท้องถิ่นเลย สรุปคือ SXSW ได้ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนรู้จักกับเมือง

แต่มันก็ใช้เวลา?

ใช่ มันก็ต้องใช้เวลาปลุกปั้นนานเลยทีเดียว แต่ก็เป็นวิธีการที่ค่อนข้างยั่งยืน

ทุกวันนี้ ถ้ารัฐจะเข้ามาช่วยซีนดนตรีไทย จะสามารถช่วยเรื่องอะไรได้บ้าง?

ก่อนที่รัฐจะเข้ามาช่วย อยากให้ช่วยทำการศึกษาก่อน! (หัวเราะ) คือช่วย research แล้วก็ศึกษาก่อนว่าอุตสาหกรรมดนตรีไทยนี่มีอะไรอยู่บ้าง มีชุมชนที่ไหน มีค่ายเพลงกี่ค่าย มีเพลงแนวไหนบ้าง ในเชิงเศรษฐศาสตร์แล้วก่อให้เกิดรายได้มากน้อยเท่าไหร่ มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอย่างอื่น เช่น อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมขนส่ง อย่างไร แล้วค่อยเขียนนโยบายที่เหมาะสมแล้วพัฒนาต่อ

พี่ก็บอกไม่ได้หรอกว่ารัฐควรจะทำยังไงเป๊ะ ๆ แต่สิ่งแรกที่ควรจะมีคือการศึกษาแล้วก็เอาข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์แล้วก็ทำออกมาเป็นรายงานให้ทุกคนไป download แล้วก็อ่านได้ฟรี นี่น่าจะเป็นสิ่งสำคัญขั้นแรก ขั้นถัดมาก็ค่อยเข้าไปสนับสนุนสิ่งที่ควรสนับสนุน อย่างเช่นคนจัดงานดี ๆ แต่จัดแล้วมักขาดทุนตลอด ถ้าเจ๊งไปก็น่าเสียดาย ก็ควรมีทุนสนับสนุนให้จัดได้เรื่อย ๆ อย่างเช่นประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างสิงค์โปร์ ก็มีหน่วยงานชื่อ National Arts Council ที่นักดนตรีหรือค่ายเพลงสามารถไปขอทุนเพื่อที่จะผลิตเพลง ทำการตลาด หรือแม้แต่ออกทัวร์ต่างประเทศ จากตัวอย่างนี้ รัฐบาลไทยควรมีหน่วยงานที่สามารถให้คนดนตรีติดต่อได้ แล้วคนที่ทำงานในนั้นก็ควรจะรู้จักซีนดนตรีเป็นอย่างดีด้วย

คนในวงการจะสามารถทำอะไรให้วงการดนตรียั่งยืนได้บ้างไหม?

คิดว่าสิ่งที่แต่ละคนทำก็ดีมาก ๆ อยู่แล้วล่ะ ทั้งการจัดงาน การสร้างพื้นที่ให้วงดนตรีได้แสดงออก แต่ทุกคนมักจะทำแต่ของตัวเองกัน มุ่งแต่แนวเพลงของตัวเอง อยู่ในกลุ่มของตัวเอง ถ้ามันมีการ collaborate กันมากขึ้น สร้างงานร่วมกัน มีการมาคุยกันบ่อย ๆ ว่าเราจะร่วมกันทำยังไงได้บ้างเพื่อให้เกิดภาพที่ใหญ่ขึ้น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี คำว่าภาพใหญ่ขึ้น มันก็คือ การทำให้เกิด awareness มากขึ้น คนที่ฟังเพลง mass ก็จะได้รู้จักกลุ่มอินดี้มากขึ้น เเล้วเขาค่อยไปเลือกเองว่าอยากฟังแนวไหน ก็ค่อยว่ากันอีกที อืม

หลังจากที่ทำงานอยู่ในวงการเพลงมานานแล้ว ทั้งในฐานะที่เป็นศิลปิน เป็น co-founder ของ ฟังใจ ด้วย ได้ข้อคิดอะไรบ้าง?

ได้ข้อคิดเยอะไปหมด (หัวเราะ) ย้อนกลับไปหาคำตอบเมื่อกี๊แหละ ว่าเราควรจะรวมตัวและร่วมกันทำภาพที่ใหญ่ขึ้น แล้วสิ่งหนึ่งที่สังเกตแล้วไม่ชอบมาก ๆ ซึ่งจะทำให้การรวมตัวกันเกิดขึ้นได้ยาก ก็คือการว่าร้ายคนอื่นในแบบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการพูดผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งมันเป็นอะไรที่ประกาศออกไปแล้วคนทั้งโลกเห็น แล้วคนบางคนก็มีความสามารถในการดึงดูดผู้ติดตามและโน้มน้าวคนให้คล้อยตามได้มากกว่าคนอื่น ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นวงกว้างได้

สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากให้มี ก็คือการเหยียดแนวเพลงกันอ่ะ พี่มองว่าดนตรีมันคือยาวิเศษที่ใช้รักษาเยียวยาจิตใจคนเราได้ แต่เพลงเพลงหนึ่ง หรือเพลงแนวหนึ่ง ๆ มันไม่สามารถรักษาคนได้ทุกคนอ่ะ มันมีคำพูดหนึ่งว่า “ลางเนื้อชอบลางยา” คือเพลงเพลงหนึ่งอาจจะไม่ได้มีผลกระทบต่อจิตใจทุกคนในแบบเดียวกัน อย่างคนบางคนเนี่ย เพื่อให้อารมณ์ดี อาจจะไม่ฟังเพลงป๊อปใส ๆ แต่ต้องฟังเพลงเมทัลหนัก ๆ ก็ได้ ถ้าเรายอมรับว่าดนตรีคือยาวิเศษ และแต่ละคนฟังดนตรีไม่เหมือนกัน เราก็ควรที่จะไม่ไปเหยียดหยามเพลงแนวอื่น ๆ เพราะมันอาจจะมีคุณค่าสำหรับคนอื่น ๆ แม้จะไม่ใช่สำหรับเรา ดนตรีคือสิ่งวิเศษ เราไม่ควรจะว่าร้ายมัน

“ครางชื่ออ้ายแน” หรือ “ประเทศกูมี” ก็มา serve คนฟังคนละกลุ่มอะไรแบบนี้?

ใช่แหละนะ และพี่ว่าเราควรปรับความคิดกันอย่างหนึ่ง คือเราควรมองว่าโลกนี้ไม่มีเพลงที่ดีหรือไม่ดี มันมีแต่เพลงที่เราชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น เพราะดนตรีมันเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น แล้วความ appreciate ดนตรีของแต่ละคนก็เกิดขึ้นมาจากการเติบโตและหล่อเลี้ยงตั้งแต่สมัยเด็ก เราโตมาด้วยเพลงแบบหนึ่ง การจะข้ามไปฟังเพลงอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากเดิมมาก ๆ ก็มักจะไม่ง่าย อย่างเช่นเอาง่าย ๆ ถ้าเราชินกับเพลงที่มีจังหวะ 4/4 พอเราไปฟังอีกเพลงที่มีจังหวะ 4/4 เหมือนกัน เราก็จะปรับตัวและชอบได้ง่ายกว่าเพลงที่จังหวะแปลก ๆ อย่าง Math Rock หรือพวก Polyrhythm หรือถ้าเราชอบเพลงที่มีเมโลดี้ การฟังเพลงที่ร้องโฮก ๆ อย่างเพลง Death Metal เราก็คงไม่ชอบ

แล้วชุมชนวัฒนธรรมแต่ละที่ก็มีเพลงไม่เหมือนกัน การที่เราเอาทฤษฎีดนตรีมาอ้างอิงว่าเพลงที่เป็นคีย์ Major ฟังแล้วมีความสุข คีย์ Minor ฟังแล้วเศร้า มันใช้ไม่ได้กับดนตรีทุกชนิด อย่างเพลงที่ใช้ในการจัดงานศพของคนบาหลีเล่นในคีย์ Major ดังนั้นคนบาหลีพื้นเมืองฟังเพลงเมเจอร์แล้วจะรู้สึกว่าเป็นเพลงเศร้า มันเกิดจากการโตมากับดนตรีที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ดนตรีเกี่ยวโยงกับอารมณ์ที่ไม่เหมือนกัน เราไปฟังเพลงในงานศพเขา เราอาจจะรู้สึกสนุกจังเลย แต่คนที่นู้น relate ว่าเพลงแบบนี้คือเพลงเศร้ากูนะเว้ย! ก็เหมือนกับการที่คนอีสานชอบเพลงลูกทุ่ง เพลงหมอลำ เราจะว่า ๆ เพลงลูกทุ่งหมอลำเขาไม่ดีได้ยังไง

ล่าสุดก็เห็นเพิ่งเปิด Fungjai ที่อินโดนีเซียด้วย ช่วยเล่าที่มาที่ไปหน่อย

พี่คิดมาโดยตลอดว่าอยากจะช่วยสนับสนุนวงการดนตรีไทยให้เติบโตขึ้น​ แต่ถ้าเราอยู่แต่ในประเทศ เราก็จะเติบโตยาก เพราะฉะนั้นเราควรจะหาวิธีส่งวงดนตรีไทยไปเมืองนอก แต่การทำแบบนั้นฝ่ายเดียวมันก็ไม่ถูกต้อง เราควรจะทำให้เกิดการเเลกเปลี่ยน คือถ้าเราอยากให้เขาฟังเพลงเรา เราก็ควรจะฟังเพลงเขาด้วย ถ้าเราอยากจะไปเล่นดนตรีที่บ้านเขา เราก็ควรที่จะชวนเขามาเล่นดนตรีที่บ้านเราด้วย การไปเปิดฟังใจที่อินโดฯ ก็เป็นการเปิดช่องทางให้ศิลปินและค่ายเพลงของที่นู่นได้เผยแพร่เพลงของเขาให้คนไทยเราฟัง แล้วก็ให้คนฟังอินโดฯ ได้รู้จักเพลงของเรามากขึ้นด้วย

สาเหตุที่เลือกอินโดฯ อย่างหนึ่งก็คือประชากรเขาเยอะ เป็นตลาดที่ใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งหลัก สิ่งที่ชอบที่สุดคือเรื่องของความหลากหลายของดนตรี แล้วก็เรื่องของผู้คน แม้ว่าเราจะนับกันคนละศาสนา แต่ความคิด นิสัยใจคอ เราคล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก ความเป็นเพื่อนกัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือความโอบอ้อมอารีของทั้งสองวัฒนธรรมก็มีความคล้ายกัน

มันเป็นไปได้ไหมครับว่าศิลปินไทยจะไปโตที่อินโดได้ง่ายขึ้น?

ก็คิดว่าเป็นช่องทางที่ทำให้ศิลปินไทยได้ไปอินโดฯ ได้มากขึ้นจริง ๆ นะ อย่าง Yellow Fang ก็มีแฟนเพลงอินโดฯ ค่อนข้างเยอะมาก คนในซีนเขาก็รู้จักแทบทุกคนอ่ะ ถามใครก็รู้จัก

แล้วเเบบนี้จะมีแบบ เห็ดสด ในอินโดนีเซียไหม?

อันนี้ก็ยังไม่แน่ใจครับ เราไม่รู้เราจะเจริญเติบโตไปได้แค่ไหน อันนี้คือจุดเริ่มต้นที่จะสร้าง center ให้เขาได้พูดคุยกับเราก่อน หลังจากนี้ค่อยว่ากัน

การที่ศิลปินจะไปหางานเล่นที่ต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปแล้วในสมัยนี้ แล้วถ้าสมมุติมีวงไทยอยากไปเล่นต่างประเทศ พี่พายมีคำแนะนำอะไรไหม?

หาวงที่คล้ายคลึงกับเราในประเทศเขาให้ได้ อาจจะหาผ่านเฟซบุ๊ก หาผ่านเพื่อนอะไรงี้ เข้าไปฟังเพลงเขา ทักทายแนะนำตัว เข้าไปคุยว่าเรามีเพลงแบบนี้นะ ลองฟังไหม? เริ่มจากการเป็นเพื่อนกัน แล้วค่อยคุยกันต่อว่า “ไออยากไปเล่นบ้านยู ไอไปได้ไหม?” ถ้าเป็นเพื่อนกันแล้ว ด้วยนิสัยของคนอาเซียนด้วยกันอะ เพื่อนกันก็ช่วยกัน

มันก็จะมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ เช่น ไต้หวันกับ New Lights Production ก็เคยทำอัลบั้ม compilation ด้วยกัน เอาวงไต้หวันมาเล่นที่ไทย เอาวงไทยไปเล่นที่นู้น หรือไม่ก็ของคุณจิน Aire ก็ทำเป็นเเบบ compilation ระหว่างวงไทยและญี่ปุ่น ก็ทำให้วงไทยได้ไปเล่นที่ญี่ปุ่นด้วย วงญี่ปุ่นก็ได้มาเล่นเมืองไทย ก็คือสร้างความสัมพันธ์แบบเพื่อน ถ้าเราเป็นวงเล็ก ๆ ไม่มีค่าย ไม่มีคนติดต่อ ก็สามารถเริ่มจากการติดต่อจากวงที่คล้ายคลึงกัน เวลาเราไปเล่นบ้านเขา เขาก็เล่นเปิดให้เรา ดึงคนมาดูเรา เวลาเขามาบ้านเรา เราก็ต้องเล่นเปิดให้เขา ให้คนมาดูเขาด้วย เป็นการเเลกเปลี่ยนกัน

แล้วก็ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองก่อนว่าไปเพื่ออะไร ถ้าไปเพื่อเงิน ยากมาก (หัวเราะ) ถ้าไปเพื่อให้ดังขึ้นอาจจะเป็นไปได้ เป็นการสร้างโปรไฟล์ให้ตัวเอง ให้กลับมาขายตัวเองในไทยได้ง่ายขึ้น ถ้าไปเพื่อเก็บประสบการณ์ ไปรู้จักเพื่อนใหม่ ๆ สร้างฐานแฟนเพลงใหม่ ๆ ถ้านี่เป็นจุดประสงค์ของเรา แล้วถ้ามีงบทำ ก็ทำได้เลย หรือถ้าต้องการที่จะรู้จักกับคนที่เป็น touring agency ที่จะพาเราไปเล่นที่อื่นได้ หรือถ้าอยากไปเล่นงานเฟสติวัลต่างประเทศ ก็ควรจะไปงานที่เป็นลักษณะ showcase festival หรือ conference แบบนี้ ให้ไปรู้จักคนเยอะ ๆ เอาตัวเองไปสู่อีกขั้นหนึ่งของเส้นทางดนตรี

คืออย่างน้อยเราก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราไปเพราะอะไร?

ใช่ ต้องตีโจทย์ให้แตกก่อนนะ

ฝากอะไรให้กับศิลปินรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตหน่อย

เยอะแยะมากมายเลย (หัวเราะ) อย่างแรก ต้องรู้จักตัวเองให้ดีก่อน ว่าเราทำเพลงไปเพื่ออะไร เราทำเพื่อเงิน? เพื่อชื่อเสียง? หรือเพื่อความสุขส่วนตัว? แล้วเราค่อยคิดขั้นต่อไปได้ว่าเราจะเดินไปทางไหน เช่นถ้าอยากทำเพื่อความสุขส่วนตัว ก็จงทำเพลงที่เราชอบ เเล้วก็แค่พยายามหาคนที่อาจจะชอบฟังเพลงของเรา ถ้าจะทำเพื่อเงิน ก็ต้องเรียนรู้เรื่องการตลาดหน่อยว่าทำไงคนถึงจะชื้อ แล้วถ้าทำเพื่อชื่อเสียง ก็ต้องเรียนรู้วิธีการใช้ช่องทางออนไลน์

แล้วก็ควรจะรู้จักคนอื่นด้วย คือลองสำรวจตลาดหน่อยซิว่าเราจะไปอยู่กลุ่มหรือชุมชนนักดนตรีไหนได้บ้าง? เราจะไปร่วมเล่นเวทีเดียวกันใครได้บ้าง? ใครเป็น promoter ที่น่าจะจัดงานแนวที่ให้เราไปเล่นด้วยได้? ความรู้พวกนี้กับการรู้จักคนเยอะ ๆ มันจะช่วยสร้างโอกาสที่จะได้เล่นมากขึ้น

สุดท้ายก็คือควรศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอุตสาหกรรมดนตรีให้มากขึ้น เข้าใจ trend ต่าง ๆ เช่น trend digital กับ physical ตอนนี้เป็นอย่างไร? trend ของเพลงหรือการชื้อการเสพดนตรีเป็นยังไง? เทคโนโลยีใหม่ ๆ มีอะไรบ้าง? เทคนิคการตลาดและการบริหารตัวเองมีอะไรบ้าง? อะไรพวกนี้ การเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจและการตลาดบ้างก็จะดีครับ

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา