ชีพจรที่กลับมาเต้นอีกครั้งของวงดนตรี ‘Poomjit’
- Writer: Gandit Panthong
- Photographer: Chavit Mayot
1 พฤษภาคม ปี 2558 คือ วันที่ Fungjaizine ฉบับที่ 2 ถูกปล่อยออกมา ผู้คนต่างฮือฮาและตื่นเต้นกับวงดนตรีที่เราพามาขึ้นปกในครั้งนั้น พวกเขามากัน 4 คนในชุดเครื่องแบบพนักงานก่อสร้างพร้อมกับเล่าถึงเรื่องราวในอัลบั้มใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
เมื่อวันเวลาเดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ พวกเขาหายตัวไปจากวงการเพลงเป็นที่เรียบร้อยแล้วทุกคนไม่มีโอกาสได้ฟังอัลบั้มที่พวกเขาเคยเล่าในวันนั้น เราเองเกิดคำถามและรู้สึกสงสัยว่า พวกเขาเลิกทำอัลบั้มนี้กันแล้วจริง ๆ หรือ
จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวจากค่าย Sanamluang Music ว่าวงดนตรีวงนั้นจะกลับมาปล่อยเพลงอีกครั้งหลังจากหายไปอย่างไร้ร่องรอยมาเป็นเวลาเกือบ 4 ปี เพลง ชีพจร คือ ซิงเกิ้ลแรกที่ถูกปล่อยออกมา และ พวกเขากลับมาตอบคำถามที่เราสงสัย พร้อมเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟังอีกครั้งว่ามันเกิดอะไรขึ้น และนี่คือบทสัมภาษณ์ของวงดนตรี ภูมิจิต ครับ
อะไรทำให้ภูมิจิตตัดสินใจกลับมาสังกัดค่ายเพลงอีกครั้งหลังจากที่เป็นศิลปินอิสระมาเกือบ 4 ปี
พุฒิ: เพราะว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมานั้นไม่มีคนเอาเราครับ (หัวเราะ) ล้อเล่นครับ ความจริงแล้วเราแค่จะหาอะไรบางอย่างที่เข้ากับ ภูมิจิต มากกว่า ส่วนนึงเวลาวงเราเลือกทำงานกับใคร เราไม่อยากทำงานเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เพราะบางทีจบออกมาผลลัพธ์มันอาจจะไม่ได้ดั่งที่หวังแน่ ๆ ที่ผ่านมาส่วนตัวจะเห็นศิลปินจำนวนนึงไปทำงานกับค่ายเพลง พอผลออกมามันไม่เป็นดั่งหวัง เขาก็มานั่งด่าที่ที่ตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราเห็นแบบนั้นแล้วไม่ชอบ ไม่อยากทำอย่างนั้น ดังนั้นมันจึงกลายเป็นเรื่องยากที่ภูมิจิตจะหาค่ายเพลงที่รู้สึกว่า เป็นสถานที่ที่ใช่ เหมือนกำลังลงเรือลำเดียวกัน มีเป้าหมายที่จะพาเรือไปสู่จุดมุ่งหมายด้วยกัน เราจำเป็นต้องเลือกทีมที่ทำด้วยกันให้ละเอียดมันจึงกินเวลามายาวนานขนาดนี้
ทำไมถึงมาเลือกมาอยู่ค่าย Sanamluang Music
พุฒิ: ต้องบอกก่อนว่า เรื่องค่าย Sanamluang Music มันเป็นเรื่องคล้าย ๆ กับเรื่องราวของ ‘สามก๊ก’ ตอนนึงที่มีชื่อว่า ‘3 เยือนกระท่อมหญ้า‘ ซึ่งมันเป็นฉากสำคัญมากฉากนึงในเรื่องเลยเป็นฉากที่ ‘เล่าปี่‘ จะไปขอ ‘ขงเบ้ง‘ ให้มาเป็นกุนซือใหญ่นำทัพแทนตนเองหลังจากที่ตัวเล่าปี่นำทัพแล้วไม่สำเร็จสักที ซึ่งเขาเข้าไปคารวะขงเบ้งถึง 3 ครั้งกว่าขงเบ้งจะยอมมาเป็นกุนซือให้ โดยจากเรื่องราวตรงนี้เอง มันมี 3 ครั้งเช่นกันที่ค่ายสนามหลวง ฝากใครสักคนมาพูดกับเรา ครั้งแรกเราได้มีโอกาสเจอ พี่ตุล อพาร์ตเมนต์คุณป้า ที่งาน Cat Expo เขาพูดว่า ตอนนี้ที่ค่ายกำลังสนใจวง ภูมิจิต นะ เป็นโปรเจกต์ปล่อยของ ตัวเราฟังแล้วก็โอเค จดจำไว้ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไรนะ พอมาครั้งที่ 2 เริ่มตะหงิด ๆ ตอนนั้นโทรไปหาพี่ต๊ะ—จักรพันธุ์ ขวัญมงคล เขาพูดถึงเรื่องค่ายสนามหลวง เริ่มตะหงิด ๆ ในใจเพิ่มขึ้นแล้วว่า มันต้องมีอะไรอยู่แน่ ๆ เรื่องนี้ มาครั้งที่ 3 ครั้งสุดท้าย ช่วงนั้นเป็นงานสวดของคุณพ่อ พี่ทวน วง Day Tripper เขานั่งคุยด้วยคำถามที่ว่า ภูมิจิตหายไปไหนมาตั้งนาน เราเองก็ค่อย ๆ อธิบายว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับวงบ้าง พี่เขาเลยบอกว่า งั้นเดี๋ยวพี่ลองคุยกับค่ายสนามหลวงดูให้ไหม คิดว่ามัน 3 ครั้งแล้วนะ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องก็ได้ที่เข้าไปคุยกับทางค่าย จากนั้นก็เริ่มพูดคุยกัน โดยดีลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่น่าประทับใจมาก
กานต์: เรื่องค่ายเพลงสำหรับเราจริง ๆ มองได้ 2 อย่างนะ อันดับแรกภูมิจิตอยากทำเพลงแบบมีอิสระเหมือนเดิม อันดับที่สอง วงอยากได้คนมาช่วยดูแลในเรื่องที่วงไม่ถนัด ถ้าตอบโจทย์ 2 ข้อนี้ได้พอใจแล้ว บางค่ายอาจจะมีเพลงแบบนี้ไม่ได้ หรืออาจจะต้องทำตามโจทย์ของเขาที่ให้ไว้ ที่นี่มันตอบโจทย์ทุกคนมาก ๆ ได้ทำเพลงในแบบที่อยากทำแฮปปี้มาก ๆ แล้ว ค่ายไม่ต้องมาบอกว่า คุณต้องทำเพลงแบบนี้ ๆ สร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาโจทย์แบบนี้
แม็ก: เราอยากให้ภูมิจิตมีคนช่วยมาตั้งนานแล้วครับ ที่ผ่านมาพวกเราทำกันเองมาตลอดทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนั่งแปะสติ๊กเกอร์ซีดีกันเองอะไรแบบนี้หรือตอนอยู่ที่ค่าย Lemon Factory ภาพที่เห็นหลายคนจะคิดว่ามีคนมาช่วยทั้งหมด แต่มันไม่เชิงขนาดนั้น เพราะที่ค่ายนั้นมันมีความเป็นหน่วยเล็ก ๆ อยู่ เหมือนกับที่ท็อป แห่งค่าย Summer Disc กล่าวไว้ว่า ‘ภูมิจิตควรต้องเดบิวต์กับค่ายใหญ่สักค่ายนึง’ อะไรแบบนี้ครับ โอกาสครั้งนี้มันเป็นโอกาสที่ดีของวง เราเคยบอกเรื่องเรื่องค่ายนี้กับใครสักคนในวงนานแล้ว คล้าย ๆ กับที่พุฒิเล่าเรื่อง ‘สามก๊ก‘ ประมาณว่า ภูมิจิตได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ภูมิจิตน่าจะแบบนี้แบบนั้น มันถึงเวลาแล้วที่ควรจะทำสิ่งที่ต้องทำสักที
บอม: รู้สึกดีครับ
ความรู้สึกแรกที่ก้าวเท้าเข้าสู่ตึก GMM Grammy
พุฒิ: ไม่รู้สึกอะไรนะ เพราะก่อนหน้านั้นคุยทุกอย่างเคลียร์ตั้งแต่ก่อนเดินเข้าตึกแล้ว ดังนั้นพอตอนเดินเข้าไป เราแค่ไปกำชับอีกครั้งว่า โอเคถ้าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ พวกเรายืนยันแล้วนะว่า จะทำแบบนี้กันจริง ๆ แต่ลึก ๆ ในใจก็มีมุมที่แอบรู้สึกห่วงเพื่อนทั้งหมดเช่นกัน แต่ละคนจะรู้สึกยังไงบ้าง จำได้ว่าวันนั้นโทรคุยกับทุกคนในวง ถามว่าทุกคนโอเคกันจริง ๆ ใช่ไหม ซึ่งทุกคนโอเค มันเลยแฮปปี้ครับ
บอม: รู้สึกดีครับ
กานต์: รู้สึกเหมือนเดิมนะ เพราะเพลงทำเสร็จไปหมดแล้ว ไม่ได้ห่วงอะไร เราได้ทำเพลงที่ต้องการทำอยู่แล้ว ทางนี้เขาก็ช่วยมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
พุฒิ: จริงๆ แม็กเอง เขาฝันไว้ว่า อยากเป็นศิลปินแกรมมี่มาตลอดนะเว้ย
แม็ก: ตามที่ พุฒิ บอกภูมิจิตต้องถูกเข้าระบบอะไรบางอย่างหรือว่ามีการร่วมงานกับใครสักคนอะไรแบบนี้ จริง ๆ อยากให้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่อัลบั้มแรกแล้วด้วยซ้ำ หลังจากนี้หวังว่าจะได้เห็นอะไรดี ๆ ต่อไปในอนาคตครับ
ทำไมถึงเลือก ชีพจร มาปล่อยเป็นเพลงเปิดอัลบั้ม Midlife
พุฒิ: ตอนแรกคิดว่าจะเลือกอีกเพลงนึงมาปล่อยด้วยซ้ำ แต่มันมีแวบนึงรู้สึกว่า หลังจากที่วงเราหายไปนาน ก็อยากให้คนจดจำเพลงนี้เป็นเพลงแรก เพราะว่ามันเป็นเพลงที่มีความทรงจำหลายอย่างเกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมด มันเป็นเพลงแรกที่เราเริ่มเขียนกับ กานต์ หลังจากที่กานต์กลับจากประเทศอังกฤษ แถมมันเป็นเพลงที่เล่าโดยภูมิจิตในภาษาใหม่ด้วย เชื่อว่าทุกคนน่าจะชอบ มันมีทั้งความเป็นภูมิจิตและความก้าวหน้าอย่างที่ทุกคนไม่เคยเจอมาก่อน มีทั้งความเป็นไทยและสากลไปพร้อม ๆ กัน ทุกอย่างมันลงตัวกลมกล่อมมาก ๆ เลยคิดว่า อยากให้ทุกคนได้ยินเพลงนี้เป็นเพลงแรก
กานต์: เพลงนี้มันเป็นเพลงที่เหมือนเป็นบทสรุปทั้งหมดก็ว่าได้นะ อัลบั้มนี้มันมีความเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้ม ซึ่งเนื้อเรื่องที่ทุกคนได้ฟังกันอยู่ตอนนี้มันเป็นเพียงแค่องก์แรกเท่านั้น ถ้าได้ฟังซิงเกิ้ลต่อ ๆ ไป มันจะเล่าเรื่องไปต่อเรื่อย ๆ จนถึงตอนจบ
เนื้อเพลง ชีพจร ถูกแต่งมาจากเรื่องจริงของใครในวงภูมิจิต
บอม: เป็นเรื่องจริงของผมครับ ที่อยากจะมีความหวังในชีวิตและอยากจะทำทุกอย่างให้มันประสบความสำเร็จ ผมกำลังเก็บเงินแต่งงานอยู่ครับ
แม็ก: สรุปให้แปลไทยเป็นไทยให้อีกทีนะ จริง ๆ เพลงนี้มันเปรียบเหมือนเป็นชีวิตคนคนหนึ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างเรื่องราวอะไรบางอย่าง โดยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนช่วงอายุประมาณ 30 ปีขึ้น ซึ่งเราก็มีความเชื่อว่า อย่างน้อยหลาย ๆ คนในวัยนี้น่าจะเจอคำถามประเภทที่ว่า ทำงานมาสักพักนึงแล้ว มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบางรึยัง งานที่ทำอยู่รายได้ดีรึเปล่า มีตังค์ผ่อนบ้านไหม สำเร็จทางความฝันแล้วทำไมยังไม่รวย ผมว่าคนอายุประมาณนี้ต้องโดนคำถามแบบนี้บ่อย มันเลยลิงก์ไปสู่คำว่า ‘midlife crisis’ หรือคำว่าวิกฤตวัยกลางคน วงภูมิจิตก็เช่นกันพวกเราอยู่ในช่วงอายุที่ไล่เลี่ยกันวัยนี้พอดี มันก็เลยเปรียบเหมือนเป็นการบันทึกช่วงเวลาวัยกลางคนไว้ในอัลบั้มนี้
พาร์ตดนตรีที่เปลี่ยนไปของวงภูมิจิต
แม็ก: จริง ๆ แนวคิดหรือหลักการในการทำอัลบั้มนี้มันเป็นการทำสิ่งที่คนอื่นเขาอาจจะเคยทำกันมาแล้วทั้งสิ้นหรือเรียกได้ง่าย ๆ ว่า การเอาสิ่งที่เก่ามาทำให้มันเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับเรา อาทิเช่น ภูมิจิตไม่เคยมีเครื่องสายมาก่อนในเพลง แต่วง Bodyslam เขาทำไปนานแล้ว หลาย ๆ วงทำกันเป็นเรื่องปกติแล้วด้วยซ้ำ แต่กับพวกเรามันเป็นครั้งแรก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับภูมิจิต แต่เก่าสำหรับคนอื่นหรือเรื่องการมิกซ์เสียงร้องในเพลงที่ลองทำให้มันชัดเจนขึ้น ถ้าไปฟังสองอัลบั้มแรกจะพบว่าก่อนหน้านี้มันจะมีความนัว ๆ หน่อย แต่อัลบั้มนี้เราตั้งใจที่จะทำให้เสียงร้องชัดเจนขึ้น ดังขึ้น ซึ่งวิธีการนี้มันเป็นวิธีที่เพลงป๊อปส่วนใหญ่เขาใช้กันมาตั้งนานแล้ว แต่มันไม่เคยถูกใช้กับวงเรา พอมันมาใช้กับภูมิจิตมันเลยเป็นสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
เรียกได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันคือการทดลอง
พุฒิ: มันคือการทดลองของเราครับ จริง ๆ ทุกอัลบั้มที่ผ่านมา เราทดลองอะไรใหม่ ๆ อยู่เป็นประจำ แต่ว่าที่ผ่านมามันเหมือนกับทดลองกันอยู่แค่ตัวพวกเราเอง คล้าย ๆ กับนักดนตรีที่ทำเพลงสายแปลกแยกมาก่อน แล้วอยู่มาวันนึงอยากจะทดลองว่า ลองทำอะไรที่มันดูเรียบง่ายกันดูไหม ซึ่งมันเป็นการทดลองที่ใหม่โครตและซับซ้อน ส่วนตัวเพลงในอัลบั้มนี้มันจะเป็นการใช้โครงสร้างใหม่ ๆ เยอะขึ้น อาจจะเป็นเพราะเราเองไปฟังเพลงแนวพวก progressive เยอะขึ้นด้วย มันทำให้พบว่า ถ้าย้อนกลับไปฟังอัลบั้ม Found & Lost เพลงจะมีโครงสร้างจะป๊อปมาก ๆ เราเริ่มด้วยอินโทร เวิร์ส ท่อนฮุก พร้อมทั้งโซโล่นิด ๆ จากนั้นกลับมาท่อนเวิร์สสองแล้วไปท่อนฮุกจบด้วยท่อน outro อัลบั้มนี้เลยลองวิธีใหม่ ๆ จัดโครงสร้างมันใหม่ ซึ่งมันจะตรงข้ามกับอัลบั้มแรกโดยสิ้นเชิง
เครื่องสายที่เกิดในเพลง ชีพจร
แม็ก: นี่เป็นสิ่งใหม่อีกอย่างนึงของเรานะ
กานต์: มันเหมือนกับเราต้องมีอะไรสักอย่างเข้ามาในเพลงนี้ มันมีท่อนนึงที่ร้องว่า ‘น้า น่า น้า นา นา‘ ที่พวกเราพยายามจะยัดท่อนนี้กันอยู่นานว่าจะมาท่อนแรกหรือมาท่อนหลัง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเยอะมาก
พุฒิ: เพราะฉะนั้นเพลงนี้มันเป็นเพลงที่มีโครงสร้างแปลกประหลาด มันมีท่อนเหมือนเอ้าโทรอยู่ตอนแรกแล้วหลังจากนั้นกลายเป็นท่อนบริดจ์ผ่านมาเป็น outro ด้วยบริดจ์ โครงสร้างมันมีความประหลาดอยู่ แต่รวม ๆ เรารู้สึกดีกับมันนะ เคยให้เพลงนี้กับพี่บู้ วง Slur ฟัง พี่บู้แม่งตกใจสัส เขาบอกว่า ‘แม่งคืออะไร ทำไมโครงสร้างคอร์ดต่าง ๆ มันจะโผล่ก็โผล่ มันจะไปก็ไป คุณเอาท่อนบริดจ์มาแล้วไม่จบด้วยการพาไปท่อนฮุกเลย แกไม่พาไปท่อนฮุกเหรอ’ บู้ตื่นเต้นกับโครงสร้างเพลงนี้ของวงเรามาก ดีใจนะ แต่ถ้าถามว่าตอนทำคิดอะไรกันอยู่ เราแค่อยากจะทำให้มันเพราะเฉย ๆ พอเอามาวางแล้วมันเพราะทุกอย่างมันก็จบแล้ว
กานต์: ยิ่งตอนหลังเอามาฟัง สำหรับเรามันคือ การเล่าเรื่องมาก ๆ มันเหมือนกับคนที่แม่งมีปัญหาแล้วอยากจะออกไปใช้ชีวิต ท่อนบริดจ์แม่งคือการตัดสินใจว่า กูต้องกล้าหาญที่จะออกเผชิญโลกแล้ว ยิ่งไอ้ท่อนท้าย ๆ แม่งเหมือนกับการขึ้นรถไฟมาไว ๆ แล้วตอนจบมีสายลมมาปลอบประโลมเหมือนมีคนมาตบไหล่แล้วบอกว่ามันโอเคแล้ว ทุกอย่างมันลงตัวมาก ๆ
พุฒิ: มันมีความ dramatic มาก
แม็ก: ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจะไม่เกิดขึ้นกับวงภูมิจิตเมื่อ 5 ปีที่แล้วแน่นอน เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของอัลบั้ม Midlife มันเป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ครั้งเดียว มันเป็นไปตามวัยด้วย อัลบั้มหน้าอาจจะไม่ได้ทำแบบนี้แล้วก็ได้
พุฒิ: โชคดีที่เราบันทึกมันไว้ครับ
กานต์: มันเปลี่ยนตลอดจริง ๆ มันเป็นเรื่องธรรมชาตินะ เราเริ่มฟังเพลงซอฟต์ลงเยอะ เนื่องจากอายุเข้า 29-30 ปีแล้ว มันเริ่มกลับไปฟังเพลงที่ฟังง่าย หรือฟังเพลงที่ลายโซโล่น้อย ๆ แค่นี้มันเพราะแล้วว่ะ เมื่อก่อนฟังเพลงพวกนี้ไม่เคยเพราะ แบบย้อนกลับไปฟังเพลงเก่า ๆ แล้วแม่งเพราะหมดเว้ย กลายเป็นว่า เราไม่อยากจะทำเพลงหนวกหูอีกแล้วอ่ะ ถ้าเป็นเมื่อก่อน เพลงเสียงร้องชัด ๆ แบบนี้ อี๋นะ ไม่เคยโอบกอดความตรงนี้ไว้เลย เหมือนเบื่อหนังอาร์ตแล้ว อยากดูหนังป๊อปดี ๆ แล้วแค่นั้นเอง
แสดงว่าเรื่องของวัยวุฒิที่เติบโตขึ้นก็มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
กานต์: ใช่ มันเป็นตามวัย มันเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่ต้องพยายาม เหมือนแบบมันไม่มีความคิดที่จะเล่นกีต้าร์ให้มันหนวกหูอะไรแล้ว
แม็ก: แต่กลับกันนะ อีกมุมนึงช่วงวัยรุ่นเราเองก็อยากจะทำตัวคลี่คลาย ทำเพลงให้มันออกในรูปแบบนี้ ซึ่งมันไม่มีทางเกิดขึ้นได้นะ เพราะสุดท้ายมันจะกลายเป็นแบบวงเด็กที่ wanna be วงนึง พยายามทำตัวเท่ พยายามทำตัวคลี่คลายมันจะดูออกทันทีครับ ซึ่งภูมิจิตเคยพยายามทำแบบนั้น แต่ไม่สำเร็จสักที สุดท้ายเวลามันจะทำให้ทุกอย่างสำเร็จเอง เพราะตัวเองจะแก่จริง ๆ ครับ
MV เพลงนี้เป็นเช่นไรบ้าง
พุฒิ: MV นี้สำหรับผมมันมีความผูกพันแปลก ๆ เกิดขึ้นอยู่ หลานเราเล่น mv เป็นครั้งแรกครับ ชื่อว่าน้องสิมิลัน อายุ 5 ขวบ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเอ็มวีนี้มันถูกเล่าด้วยตัวของมันเองครับ มันเกิดขึ้นจากช่วงนี้เราไม่ค่อยมีเวลากับครอบครัว การได้ถ่ายทำ mv ตัวนี้มันกลายเป็นว่า เราได้อยู่กับหลานทั้งวันเลย ได้เล่นได้ทำกิจกรรมด้วยกันมันเลยเกิดโมเม้นต์ครอบครัวโดยที่ไม่ได้ตั้งใจเหมือนกัน ตอนแรกสารภาพเลยว่า กลัวมาก ๆ หลานไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน แล้วได้มีโอกาสคุยกับพ่อเขา เขาเองไม่ได้อยากให้หลานเข้าวงการบันเทิง แต่เห็นเราเป็นน้องก็มาช่วย ๆ กัน กลายเป็นเราเองได้มีช่วงเวลาดี ๆ กับครอบครัวด้วยเอ็มวีตัวนี้ครับ
กานต์: ผมชอบทีม Jettana (ทีมที่มากำกับ mv นี้) นานแล้วครับ ติดตามผลงานเขามาตั้งแต่ตอนที่ทำ mv ให้วง Supersub เพลง คำนั้น รู้สึกว่าเขาถ่ายสวยดีแล้วก็มามีโอกาสได้ดูตอน โถขี้ ของวง Yena โครตชอบตัวนั้นเลย ชอบงานของเขามาก ที่ผ่านมาจะมีชื่อนี้อยู่ในใจตลอดเวลา อยากร่วมงานด้วย จนมันล่วงเลยมา ตอนแรกจริง ๆ เคยคุยกับ แพต (ผู้กำกับเอ็มวีเพลง รั้น, Home Floor) มาเหมือนกันแต่ด้วยจังหวะเวลาเขาไม่ว่าง ทำให้เรานึกถึงทีมนี้ เขาเองตอนที่มารับงานกำกับเอ็มวีนี้ให้ ตัวของเขาประสบเรื่องราวคล้าย ๆ กับในเพลงนี้เหมือนกัน ชีวิตที่เพิ่งเคยทำงานประจำแล้วงานแรกในชีวิต คือ การไปเป็นผู้ช่วย พี่ต่อ Phenomena มันเป็นงานที่ค่อนข้างหนัก เขาบอกกับผมว่า ผมไม่เคยทำงานประจำ เพราะฉะนั้นในช่วงเวลาที่ติดต่อไปทุกอย่างมันค่อนข้างลงตัวมาก ๆ ด้วยตัวเพลงด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้ได้มีโอกาสทำงานด้วยกัน เราปล่อยให้เขาคิด ไม่ยุ่งเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเอ็มวีนี้ ปกติตัวเองจะ input เยอะนะ แต่กับตัวนี้ไม่เลย
แม็ก: อันนี้ส่วนตัวนะ ความรู้สึกเหมือนได้ เต๋อ—นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์ มากำกับ เราชอบงานเขามาก ๆ การได้เขามากำกับให้มันเย็ดเข้เจ๋งว่ะ
พุฒิ: เหมือนได้ Christopher Nolan มากำกับให้ (หัวเราะ)
กานต์: ซึ่งในพาร์ตของตัวเนื้อเรื่องเพลงนี้มันอาจจะดูหยี ๆ หน่อยนะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักและครอบครัวถ้าเป็นสมัยก่อนส่วนตัวจะไม่ยอมทำเอ็มวีแบบนี้
บอม: มันคือการทดลองทำอะไรแบบให้มันเหมือนกับคนอื่นเขาบ้าง
แม็ก: ซึ่งเอ็มวีเนื้อเรื่องปัจจุบันเนี่ยใคร ๆ เขาทำกันเยอะไปหมด เรายังเคยบอกวงเลยว่า เอ็มวีที่เขาหลักร้อยล้านวิวมันเกี่ยวกับเนื้อเรื่องทั้งนั้น ภูมิจิตไม่เคยทำเอ็มวีเนื้อเรื่องมาก่อน นี่เป็นครั้งแรก ถ้าใครจำได้แต่ก่อนพวกเราจะเป็นไปยืนเก๊ก ๆ ตามบ่อหลุมขุดทรายเท่านั้นเอง (หัวเราะ)
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็ยังจะทำ mv แบบเท่ ๆ
กานต์: ใช่ ๆ คงแบบไม่เอาแน่ ๆ มีเนื้อเรื่องทำไม
แม็ก: กลับกันถ้าตอนนี้ปล่อยเพลง ลุมพินี อาจจะทำเป็นเนื้อเรื่อง
พุฒิ: แล้วมีผู้หญิงน่ารัก ๆ คนนึงเป็นนางเอกและไม่ต้องไปถ่ายกันที่หินผานั้นด้วย
กานต์: เราโอบกอดความป๊อปครั้งนี้ของเรามาก ๆ
บอม: MV นี้ผมได้ออก 2 ฉาก นางเอกน่ารักมากครับ
ชีพจรของวงดนตรีภูมิจิตตอนนี้เต้นจังหวะแบบไหนอยู่
กานต์: ถ้าเป็นช่วงนี้คงตื่นเต้นนิด ๆ นะ เหมือนห่างกันไปนาน ช่วงนี้มันเป็นช่วงที่แบบคัมแบ็คเหมือน Rocky ที่ต้องตื่นมาวิ่งตอนเช้าใหม่ แม่งจะมีความตื่นเต้นนิด ๆ อยู่ เหมือนกลับมาเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง
บอม: ดีครับ
การกลับมาออกเพลงครั้งนี้มันทำให้ภูมิจิตคล้ายกับคนที่การฟื้นจากความตายกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
พุฒิ: สำหรับวงภูมิจิตมันมีวินาทีนึงที่เราจะเหมือนคุณลุงที่เป็นโรคหัวใจ โคม่ากำลังจะตาย เพราะฉะนั้นการที่กลับมาออกเพลงครั้งนี้มันเหมือนทำให้ ภูมิจิตกลับมามีชีพจรอีกครั้ง เรียกว่าฟื้นจากความตายก็ได้ สำหรับเราวงภูมิจิต เหมือนเป็นวงที่อยู่จุดกึ่งกลางระหว่างคำว่าสำเร็จกับความไม่สำเร็จ เราเป็นวงที่ดังมากในหมู่วงที่ไม่ดัง มีแฟนเพลงเดนตายอยู่ ครั้งนึงเคยไปทำงานที่โรงงาน จำได้ว่านั่งกินข้าวกับหัวหน้าชาวญี่ปุ่นอยู่ ปรากฏว่า เจอแฟนเพลงเว้ย มาทักแบบพี่พุฒิรึเปล่าครับ เขาบอกกับหัวหน้าว่า ‘He is thailand rock star’ แล้วหัวหน้าก็งง ๆ ไม่ใช่แค่หัวหน้าที่งงนะ ไอ้คนที่อยู่รอบ ๆ ได้ยินเสียงแล้วก็ดู ประมาณว่าแกเป็นใคร มันจะมีความย้อนแยงอยู่สูงมาก ๆ ตกลงเราเป็นวงที่ดังหรือไม่ดังกันแน่ ฉะนั้นวิธีที่จะทำให้ตรงนี้ชัดเจนได้คือ การออกอัลบั้มใหม่เพื่อจะได้ดูว่า เรื่องของเรามันเล่าต่อได้รึเปล่า ฉะนั้นแล้วรู้สึกว่า การออกเพลงมันทำให้พวกเรามีเป้าหมายใหม่ในการใช้ชีวิตต่อไป หลังจากที่เคยรู้สึกทำสำเร็จไปหลายอย่างแล้วในอัลบั้ม Bangkok Fever จนมันมีจุดที่คิดว่า วงการดนตรีมันไม่มีอะไรท้าทายอีกต่อไปแล้ว แต่วันนี้ตอนนี้มันกลับทำให้รู้สึกสนุกอีกครั้ง
วันที่ดีที่สุดและวันที่แย่ที่สุดของวงภูมิจิต
พุฒิ: ช่วงนี้เราชอบย้อนไปช่วงอัลบั้ม Home Floor อยู่บ่อยครั้งนะ รู้สึกว่า ชีวิตช่วงนั้นเราพยายามทำตัวฉลาดเกินไปจนบางครั้งก็ลืมความน่าตื่นเต้นของการผจญภัยไปหมด ถามว่ามันโอเคไหม มันอาจจะเป็นช่วงที่รู้สึกยิ่งใหญ่มากในช่วงเวลานั้น ซึ่งพอหันหลังมองย้อนไปกับพบว่า ตัวเองตลกชะมัด ขณะเดียวกันในช่วงเวลาที่แย่ ๆ สำหรับเรามันไม่ใช่ช่วงเวลาที่วงไม่มีงานเล่น ไม่มีคนพูดถึงนะ แต่เป็นช่วงที่พวกเรา 4 คนไม่ลงรอยกันมากกว่า ส่วนตัวคิดว่า วงภูมิจิตมันเหมือนกับครอบครัวเว้ย การไม่มีงาน แต่ถ้า แม็ก กานต์ บอม อยู่ข้าง ๆ เราจะไม่รู้สึกว่ามันมีปัญหาเลย แต่ช่วงที่แย่ที่สุดมันคือตอนที่เพื่อน ๆ ไม่อยู่ข้างเรา มันเป็นช่วงเวลาที่ลำบากมาก ดีใจนะที่มันผ่านมาได้ ได้เรียนรู้ว่า คนที่ผ่านช่วงเวลาแย่ ๆ ไปได้เนี่ย เวลาเขาเล่าเรื่องมันจะมีพลังบันดาลใจคนรอบ ๆ ไปด้วย
กานต์: เห็นด้วยกับ พุฒิ นะ ไม่มีงานเล่นไม่เท่าไหร่ แต่การเล่นดนตรีสำคัญเลยมันต้องสนุก ถ้าแฮปปี้กับมันทุกอย่างจบแล้ว ไม่ได้ซีเรียสว่า งานจะได้กี่งาน เงินน้อยอะไรยังไง แต่มันมีช่วงแย่ ๆ แบบนั้นเกิดขึ้นจริง ๆ เหมือนพอห่างกันไป 2 ปีจากวง มันไม่น่าเชื่อว่า มันเป็นช่วงที่แบบต่ออีกทีโครตยาก เมื่อก่อนจะแบบขึ้นคอร์ดมานิดเดียวไปต่อกันได้แล้ว เรือมันพร้อมพุ่ง แต่พอกลับมาจูนกันหนักมาก เหมือนคุยกันคนละภาษาด้วย คุยกันหนักหน่วง เกือบจะไม่มีวงแล้ว มันเค้นมากแบบจะแตกแล้ว ช่วงนั้นมันเป็นช่วงทรมานในใจเรามาก
พุฒิ: มันมีงานเข้ามาให้เล่นเรื่อย ๆ นะ ช่วงนั้น แต่มันไม่สนุกแล้ว จุดต่ำสุดมันไม่ได้อยู่ที่มีงานหรือไม่มีงานแล้ว แต่มันอยู่ที่เราจะเป็นเพื่อนหรือไม่เป็นเพื่อนกันมากกว่า
แม็ก: รู้สึกคล้าย ๆ กันครับ ช่วงที่จูนกันก่อนทีจะเกิดเป็นอัลบั้ม Midlife มันเป็นช่วงที่แย่ คือ วงภูมิจิตมันเหมือนกับที่พี่ต้าร์ Paradox ได้กล่าวไว้ว่า ‘ภูมิจิตเป็นหนอนยักษ์ในท่อน้ำเน่า คือ สูงสุดก็สูง ต่ำสุดก็เท่าเดิม’ เพราะฉะนั้นเราไม่ค่อยมีปัญหาตรงนี้เท่าไรในเรื่องของงานเล่นอ่ะนะ แต่มันเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันซะมากกว่า
พุฒิ: พวกเราเป็นครอบครัวเดียวกัน เวลาไม่ลงรอยกันมันเหมือนกับความรู้สึกที่เราไม่อยากกลับบ้าน ซึ่งความรู้สึกไม่อยากกลับบ้านมันแย่มากนะ
กานต์: อย่างอัลบั้มชุดแรกเป็นตอนที่ทำกันลำบากมากที่สุด พวกเราแม่งเหมือนกับวัยรุ่นที่ไม่มีตังค์ เก็บเงินทุกบาท ไม่มีความรู้ ไม่มีเงิน ไม่มีเอฟเฟกต์ ค่ายเขาก็ไม่เอา ต้องไปอัด demo กันเอง ได้เงินวันละ 200 บาทก็ต้องเอาเงินมาทำเพลง ตอนนั้นคิดว่า อัลบั้มแรกมันโครตยากแล้ว สุดท้ายมาเจออัลบั้มนี้แม่งชนะเลย เพราะ ตอนอัลบั้มแรกเหมือนอยู่ด้วยกันแล้วออกไปสู้กับข้างนอก ทุกคนแม่งแฮปปี้ในการไปต่อสู้ แต่อัลบั้มนี้แม่งคือ การต่อสู้กันเองภายในวง มันเป็นช่วงที่เกิดขึ้นช่วงใหญ่ ๆ มันกลายเป็นทำให้อัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มที่โครตยากมาก ทั้ง ๆ ที่ปัจจัยอื่น ๆ มันง่ายกว่าเดิม เดินไปคุยกับค่ายเพลงง่ายขึ้น มีงานจ้างได้ง่ายขึ้น แต่ตอนจูนแม่งยากมากจริง ๆ
พุฒิ: มันคล้าย ๆ กับตอน ลูฟี่ สู้กับ อุซป อะประมาณนั้น
บอม: ช่วงยากของมันคือช่วงตอนที่ พุฒิ กับ กานต์ ทะเลาะกันครับ มันเหมือนพ่อกับแม่ทะเลาะกัน เรากับแม็กเป็นลูก ความรู้สึกตอนนั้นคือคล้ายกับครอบครัวกูแม่งจะแตกแยกแล้ว เราเองต้องคอยโอ๋ทั้งสองคนไม่ว่าไอ้ กานต์ โทรมาหาเพื่อด่าไอ้ พุฒิ ก็ต้องอยู่ข้างมัน หรือ พุฒิ จะโทรมาเพื่อด่าไอ้ กานต์ ก็ช่วยกันด่า ที่ทำแบบนี้เพราะ เราต้องการให้ครอบครัวเดินหน้าต่อไปได้และมีความสุขจนถึงทุกวันนี้
แสดงว่าการทำอัลบั้มนี้มันเหมือนกับการคลี่คลายปัญหานี้ด้วย
แม็ก: ใช่ครับ เพราะฉะนั้นฝากไปถึงน้อง ๆ ที่ทำเพลงครับ วงดนตรีเนี่ยต้องมีช่วงเวลานึงที่มีการทะเลาะกันในวงหรือว่ามันต้องมีจุดนึงที่กระทบกระทั่งกัน เพราะฉะนั้นหากน้อง ๆ ได้ฝ่าฟันผ่านมันมาได้ วงของน้อง ๆ จะประสบความสำเร็จแน่ ๆ
พุฒิ: มันคือการหาจุดกึ่งกลางความชอบของทุกคนนั้นแหละกว่าจะเจอมันยาก
กานต์: จริง ๆ สำหรับเราเพลงในอัลบั้มนี้มันเหมือนกับเป็นลูก ก่อนหน้านั้นเราขึ้นโครงมาแล้วหลายเพลงมาก แต่ไอ้เพลง ชีพจร มันขึ้นโครงมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว เรารักมันมากตั้งแต่วินาทีแรกเลย อะไรแบบนี้
แม็ก: จะเลิกกันกันมันทำไม่ได้ ไม่งั้นเดี๋ยวลูกจะกำพร้า (หัวเราะ)
บอม: ฟังแล้วดูแปลก ๆ ลูกคนนี้ตั้งใจทำกันมากครับไรแบบนี้ (หัวเราะ)
ที่มาของชื่ออัลบั้ม Midlife
กานต์: ชื่อนี้ตอนที่ตั้งเราไปคิดถึงคำว่า ‘วิกฤติการณ์วัยกลางคน‘ แต่เวลาเซฟเดโม่ เข้า iTunes มันต้องตั้งชื่ออัลบั้มด้วยไง เลยตั้งไว้เล่น ๆ ว่า Midlife หรือวัยกลางคน ซึ่งไม่ได้คิดจะใช้นะ ตอนแรกคิดชื่ออื่นไว้เยอะ แต่มันยังไม่เจอชื่อที่จะใช้สักที มันมีหลายชื่อมากจนแบบช่วงที่จะออกอัลบั้มเลยคิดว่า งั้นเอาชื่อนี้ดีกว่า เราใช้ใน iTunes ทุกคนแม่งโอเค เอาก็เอา
แม็ก: พูดถึงเรื่องนี้ไม่ว่าจะมองด้านไหนมันจะมีจุดเชื่อมโยงกันอย่างน่าประหลาด ทั้งเนื้อหาในอัลบั้มที่จะพูดถึงวัยที่อยู่ในช่วง Midlife รวมไปถึงอายุเฉลี่ยของวงมันจะอยู่ในช่วง Midlife พอดี มีวิถีชีวิตทุกอย่างอยู่ในบริบทที่มันได้พอดีทุกอย่างซึ่งมันลงตัวมาก ๆ
กานต์: มันยิ่งทำให้พอเวลาเรามานั่งคิดถึงเรื่องการเล่นคำ มันประกอบด้วยคำว่า ‘mid’ แปลว่า ตรงกลาง และ ‘life’ แปลว่า ชีวิต ทุกอย่างมันลงตัวหมด วัยนี้แม่งคือการอยู่ตรงกลาง ระหว่างชีวิตที่ต้องเจอและการทำตามความฝัน อย่างเราเอง เพิ่งมีลูกมีครอบครัว งานช่วงนี้แม่งหนัก แม่เริ่มแก่ ปลายปีที่แล้วแม่เป็นตับแข็ง เราแม่งคือ คนที่อยู่ตรงกลางของเรื่องราวทุกอย่างเลย กาลเวลามันเปลี่ยนสถานะจากคนที่ใช้ชีวิตทั่วไปให้กลายเป็นคนอยู่ในขั้น Midlife มันรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ เหมือนอยู่ตรงกลางแล้วทุกคนล้อมวงอยู่ เราไม่สามารถทิ้งทุกสิ่งได้ เพราะฉะนั้น Midlife มันคือ ชีวิตพวกเรานั้นแหละครับ
พุฒิ: เราอยู่ตรงกลางล่ะ ขอยกตัวอย่าง เมื่อก่อนเราเป็นเด็กน้อยที่สุดในการเรียนมัธยมต้น เพราะ เข้าม.1 พอกาลเวลาผ่านไปมาเป็น ม.3 ก็กลายเป็นเด็กที่โตที่สุด แต่แล้วพอ ม.4 กลายเป็นหน้าใหม่ในมัธยมปลายอีกครั้ง ชีวิตคนเรามันจะสลับ ๆ กันแบบนี้มาตลอด ขนาดเข้ามหาวิทยาลัยไปก็ต้องกลายเป็นปี 1 แต่เผลอแปปเดียวกลับกลายเป็น senior ปี 4 ซะแล้ว มันคือการเริ่มต้นแล้วไปสิ้นสุดนั้นแหละ แต่การเริ่มต้นไปสิ้นสุดในชีวิตของเราครั้งนี้มันยาวกว่าเดิม เราเริ่มจากการเป็น first jobber แล้วสะสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ จนมาถึงจุดที่จะกลับไปเป็นเด็กเริ่มต้นใหม่ไม่ได้แล้วอ่ะ มันค่อนข้างมีความสั่นสะเทือนหัวใจอยู่ประมาณนึงเลย มันอยู่ในจุดที่กดดันด้วยแถมแรงกดดันที่เกิดขึ้นมันไม่ได้มีเพียงด้านเดียวเหมือนสมัยก่อน มันกลับกลายเป็นมีเข้ามาสองด้าน ไอ้จุดตรงกลางที่เกิดขึ้นในชีวิตมันวุ่นวายมาก อย่างเราทำงานเป็นวิศวกรแถมต้องดูแลความฝันของนั้นคือ การดูแลวงภูมิจิต ในขณะเดียวกันต้องทำงานเก็บเงินเพื่อไปแต่งงานกับแฟน ซึ่งไอ้การหาเงินแต่งงานเนี่ยล่ะมันกลับทำให้เราไม่มีเวลาให้ครอบครัว ทุกอย่างมันเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่กึ่งกลางและมันหมุนซ้อนกันเป็นพายุ มันเป็นช่วงเวลาที่ยาก สมัยเด็ก ๆ เราเลือกอะไรสักอย่างได้ อยากเล่นดนตรีเหรอ อยากเป็นนักวาดการ์ตูนเหรอ มันเลือกอะไรสักอย่างได้ แต่ตอนนี้กลับอยู่ในจุดที่ตัวเองต้องเอาทั้งหมดให้รอด มันเป็นจุดกึ่งกลางที่คิดเสมอว่า จุดมหัศจรรย์ของเรื่องนี้มันอยู่ตรงไหน ซึ่งมันก็คือที่มาของชื่ออัลบั้มเนี่ยล่ะ คำว่าที่มาของอัลบั้มมาจากไหนมันอาจจะใช้ไม่ได้หรอก เพราะ เราเล่าเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว มันแค่หาคำ ๆ นึงให้มันลงกับเรื่องที่กำลังเล่าและคำว่า Midlife มันตรงกับพวกเราที่สุด
แม็ก: ความแปลกประหลาดอีกอย่างนึงคือ เราไม่ได้ตั้งคอนเซ็ปต์อะไรไว้นะ โอเค พุฒิ อาจจะตั้งไว้ส่วนตัว แต่ว่าในการแต่งเพลงการเชื่อมโยงอะไรบางอย่าง ชุดความคิดของมัน เราปล่อยให้มันเกิดขึ้นโดยตามธรรมชาติเลยแล้วค่อยมาตั้งชื่อมันทีหลัง ไอ้การที่จะมานั่งรวมกันทำอัลบั้มเจอพร้อม ๆ กัน 4 คน เขียนขึ้นมาบนกระดานว่า Midlife แล้วแยกย้ายกันไปคิดไอเดียมา แทบไม่ได้ทำวิธีเหล่านั้นเลย
พุฒิ: ทุกคนเริ่มมีประสบการณ์แบบเดียวกันแล้วมันไม่ใช่แค่ประสบการณ์กับเฉพาะพวกเรานะ แต่มันคือคนรุ่นนี้ทั้งหมด อย่างเพื่อนเราที่เคยกระโดดดูคอนเสิร์ต Moderndog ด้วยกัน ทุกวันนี้กลายเป็นพยายามทำธุรกิจขายตรงแล้ว หากย้อนเวลาไปในสมัยนั้นนึกภาพมันขายของพวกนี้ไม่ออกนะ แต่เชื่อว่า มันมีเหตุผลของมันที่จะต้องใช้ชีวิตอีกอย่างนึงไปด้วย แล้วเราก็รู้ว่าเด็ก Fat Radio หลาย ๆ คนที่โตมาในยุคแห่งความหวัง แห่งความฝัน พอต้องมาใช้ชีวิตหนัก ๆ บางคนค้นพบว่า ความฝันมันถูกทำลายไปแล้ว เราเองหวังว่า การมีอยู่ของภูมิจิตมันจะช่วยเติมความฝันให้เขาได้
อัลบั้มนี้เดินทางไปถึงกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว
แม็ก: จริงๆ มันเสร็จแล้วนะ อันนี้ลงลึกให้เฉพาะฟังใจเลยเป็นที่อื่นเนี่ยจะตอบว่า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้วครับ แต่ ฟังใจ เราอยากจะบอกว่า จริงๆ มันมิกซ์เสร็จแล้ว แต่อยู่ในช่วงของการดูภาพรวมทั้งหมด เดี๋ยวเรากับพุฒิจะอัด interlude ต่าง ๆ กัน กานต์อาจจะมีอัดกีต้าร์แก้หน่อย พุฒิอาจจะมีอัดร้องใหม่ด้วย
พุฒิ: ไหนมึงบอกเสร็จแล้วไง (หัวเราะ)
แม็ก: มันไม่ใช่ท่อนใหญ่ไง อย่างเช่น บางเพลงที่มีแผลเล็กแผลน้อยที่ส่วนตัวไม่อยากปล่อยออกไป เหมือนว่า ตัวเราเองทำงานเพลงเพื่อคนอื่นมาเยอะมากทั้งลูกค้าหรือแม้กระทั่งวง The Mousse ก็ไปทำเพลงเพื่อมันโดยตลอด แต่อัลบั้ม Midlife ของภูมิจิต เราทำเพื่อตัวเองล้วน ๆ สองอัลบั้มที่แล้วมันไม่ใช่เรามันเหมือนแค่ พุฒิ ไปลุยๆ มา กานต์ ไปลุย ๆ มา แล้วมาตีกลองแค่นั้น จึงมองว่า อัลบั้มนี้มันคืองานที่ทำด้วยแบบเต็ม ๆ มันเป็นผลงานที่เรามีส่วนร่วม คล้าย ๆ กับคนนึงที่จะอยากร่วมวาดภาพนั้นออกมาให้มันดีที่สุด ถ้าตอนนี้เป็นการเขียนภาพก็จะเป็นช่วงที่ถอยห่าง ๆ ออกมาดูเฟรม ดูภาพรวมว่าเป็นยังไงบ้าง ดูว่าต้องเติมอะไรบ้าง
อัลบั้มจะออกช่วงไหน
พุฒิ: น่าจะปล่อยออกมาช่วงเดือนกันยายนปีนี้ ไม่อยากให้ปล่อยเพลงเดียวออกมาแล้วออกอัลบั้มเลย อยากจะให้คนค่อย ๆ ทำความเข้าใจอัลบั้มมันด้วยหลาย ๆ เพลงก่อน น่าจะมีประมาณ 2-3 ซิงเกิ้ลก่อนที่จะปล่อยอัลบั้ม อัลบั้มนี้จะมีทั้งหมด 14 เพลง
จะมีเพลงเร็วแบบอัลบั้ม Bangkok Fever รึเปล่าหรือจะมานิ่งสุขุมทั้งอัลบั้ม
แม็ก: มี แต่ต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า อย่างตอนเพลง ด้วยความเคารพ มันเป็นเพลงที่ดุเดือดพุ่งพล่านนะครับ ในความเข้าใจของหลาย ๆ คน แต่หารู้ไม่ว่าไปฟังในเวอร์ชันอัลบั้มจะพบว่า ความเร็วของการเล่นสดกับความเร็วในอัลบั้มมันต่างกันมาก ในอัลบั้มมันจะช้ากว่าไง มันจะเป็นเพลงที่อาจจะดุเดือด แต่เราคงไม่รู้สึกว่า มันจะดุเดือดขนาดนั้นเปรียบเทียบกับเพลง Home Floor ชัดเจนสุด ถ้าในความเข้าใจของแฟนเพลงภูมิจิตที่มาดูคอนเสิร์ตจะคิดว่า เพลงนี้มาโดดกัน แต่เราเป็นคนทำอัลบั้มนั้นพบว่า เพลงนี้มันผ่อนคลายมันเลยนะ acoustic เราไม่เคยพูดเรื่องนี้เหมือนกัน จุดมุ่งหมายแรก เราอยากทำอัลบั้มนี้ให้ฟังสบาย ๆ แต่กลายเป็นว่าพวกมึงมาโดดกันซะงั้น เพราะฉะนั้นจะบอกว่า อัลบั้ม Midlife มันก็มีเพลงแบบนั้นอยู่ เพลงที่ฟังในสตูดิโอเวอร์ชั่นให้ความรู้สึกอีกแบบนึง แต่การเล่นสดก็จะเป็นอีกแบบนึงอย่างเช่นเพลง จริง ๆ เป็นต้น เลยตอบไม่ได้ว่าจะมีเพลงที่มันเร็วขนาดนั้นไหม เรียกว่ามันไม่เร็วล่ะกัน มันกลาง ๆ แต่พอเล่นสดปุ้ปทุกคนกระโดดกันเป็นกุ้งเลยนึกออกกันไหมครับ
รูปแบบเพลงเกิดขึ้นในอัลบั้ม Midlife ทำให้การเล่นสดถูกปรับเปลี่ยนมากน้อยขนาดไหน
แม็ก: จะมีสิ่งที่เป็นสิ่งใหม่แต่ไม่เก่า เก่าแต่ไม่ใหม่อยู่ครับนั้นคือการใช้ line harddisk สมัยก่อนให้ความรู้น้อง ๆ ที่อ่านเลยนะครับ เขาจะเรียกกันว่า md บางทีไปได้ยินวงนั้นเขาเรียกกันใช้ md ไม่ต้องตกใจและงงไป สมัยก่อนเขาเรียกมันว่าเครื่อง minidisc นั้นเอง แต่ยุคปัจจุบันนี้มันเปิดจากคอมพิวเตอร์มันถึงเรียกว่า line harddisk สมัยนี้เขาเลยเรียกกันแบบนี้ ภูมิจิตมี line harddisk เพื่อเล่นสดแล้ว หลังจากที่ไม่เคยมีมาก่อน
พุฒิ: จริง ๆ ก่อนหน้านี้เคยมีหลายครั้งนะ แต่มันก็เล็ก ๆ น้อย
แม็ก: ถึงได้บอกว่าหลาย ๆ อย่างวงอื่นเขาทำกันไปนานแล้ว แต่ภูมิจิตไม่เคยทำ เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งใหม่แต่ไม่เก่า เก่าแต่ไม่ใหม่ ประมาณนี้ครับ
กานต์: เมื่อก่อนจะเลี่ยงสิ่งนี้มาตลอด เพราะ พุฒิ เขาจะเป็นคนที่อิมโพรไวส์เยอะคิดว่า ถ้าเกิดเพิ่มตรงนี้มาความสนุกมันจะลดลงรึเปล่า แทนที่ว่า พุฒิ จะมีไอเดียในการทำอะไรต่าง ๆ ของเขา
แม็ก: เลยบอก พุฒิ ว่ามันมีวิธีที่จะใช้ร่วมกันได้นะ วิธีที่จะทำให้คนดูข้างล่างจับไม่ได้ว่า ภูมิจิตกำลังมี line harddisk นะ นี่ก็เป็นศาสตร์และศิลป์ใหม่ ซึ่งต้องฝึกฝนกันต่อไป
แฟนคลับเดนตายกับการเติบโตขึ้นและทำให้พวกเขาสูญหายไปตามกาลเวลา
แม็ก: หายไปเนี่ยเดาได้ว่า มีผัวแล้ว (หัวเราะ) จะหาโอกาสมาดูคอนเสิร์ตได้น้อย แต่ไม่ได้หายไปเลยนะ ยังฟังเพลงอยู่ แต่แค่ไม่ไปดูเท่านั้นเอง เพราะขาดงานไม่ได้ ลูกก็ต้องเลี้ยง ไปดูคอนเสิร์ตผัวคงถามเขาว่า จะไปดูวงอะไรภูมิจิต วงอะไรของมึง (หัวเราะ) อันนี้เราพูดได้มั่นใจว่า ตั้งแต่แต่งงานมีลูกแล้วพอไปไหนมาไหนมันจะยากขึ้น เมียไม่ได้ห้ามด้วยนะ แต่เกรงใจ เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจที่จะไม่เจอใครตามงานที่วงภูมิจิตไปเล่น หลังจากสมัยก่อนจะเจอพวกเขากันที่สามย่านหรือเจอกันตามที่ต่าง ๆ
เรารู้ว่า เขาคงทำอะไรสักอย่างอยู่แต่ปลีกตัวมาไม่ได้ ซึ่งก็ไม่โกรธกัน ผมเองจะซึมซับเรื่องนี้ได้ดี เพราะ ภูมิจิตมาจากช่วงการเปลี่ยนถ่ายของ Fat Radio มา Cat Radio ทุกอย่างจะเห็นชัดเจนมาก ตอนทำรายการอยู่ Fat Radio เรามีแฟนเพลงเยอะมาก สมัยก่อนจัดรายการตอนตี 4 แฟนเพลงเยอะมาก เด็กโตมากับ Fat Radio ช่วงนั้นเพียบ แต่พอมาเป็น Cat Radio ได้แค่ 2 ปี คนเหล่านั้นหายไปหมดแล้ว ซึ่งตอนแรกแปลกใจเว้ยว่า เขาหายไปไหน ทำไมไม่มาอยู่เชียร์ ตอนเนี้ยการตอบคำถามเรื่องนี้มันเหมือนการไขปริศนาที่เกิดขึ้นว่า การเติบโตของคนมันเกิดขึ้น พอถึงจุดนึงเขาเลิกฟังวิทยุ ไปทำงานเลี้ยงลูก ใช้ชีวิตในอีกด้านนึงไป โดยที่นาน ๆ ทีเขาอาจจะตามข่าวสารบ้าง อย่างล่าสุดเราเองได้มีโอกาสไปจังหวัดลำปาง ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมามีเด็กมาถามว่า ไม่ได้จัดรายการ Fat Radio นานรึยัง คิดเอาละกันว่า บางคนมันหายไปนานขนาดไหน เพราะฉะนั้นการที่เขาจะหายไป เราไม่โกรธกัน ตอนนี้เข้าใจได้แล้วว่ามันเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ต้องแยกย้ายหายกันไป
ความฝันตอนนี้ของวงดนตรีภูมิจิต
บอม: จริง ๆ อัลบั้มนี้เสร็จคือประสบความสำเร็จแล้ว ในแง่ของลูกชายประจำบ้านหลังนี้
แม็ก: ถือว่าใช่เลย ด้วยวิถีชีวิตอันยุ่งของแต่ละคนด้วยแล้ว ทำให้มันเสร็จได้ก็เป็นชัยชนะเล็ก ๆ
กานต์: มันมีคำนึงเกิดขึ้นในหัวบ่อยมากนะว่าแบบ เมื่อไรจะเสร็จ เฮ้ยมันยากเย็นอะไรขนาดนั้น นี่ขนาดเลยช่วงตอนทะเลาะกันไปแล้วด้วย กว่าจะนัดเจอกันได้มันนานมาก เหมือนพูดคำว่าเดี๋ยวปีนี้จะเสร็จมา 4 ครั้งแล้ว
แม็ก: ความเหี้ยของมันคือมีเฟซบุ๊กเด้งขึ้นมาเว้ยว่าวันนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนปี 2015 พิมพ์ไว้ว่า ‘ปีนี้เจอกันแน่‘ เป็นภาพบอมอัดเบสอยู่ แต่ปีนี้ 2018 แล้วมันคือความตลกที่มันยาวนาน
พุฒิ: แต่มันเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะเพลงปี 2015 กับ 2018 เอาจริง ๆ แล้วมันคือโครงสร้างเดียวกัน แต่มันแปลกที่ปีนั้นเรากลับไม่อินเท่าตอนปีนี้ เหมือนปีนี้มันคือปีที่สุกง่อมกับชีวิตมาก ๆ ชีวิตเข้ากับเพลงพอดี เหมือนเขียนเพลงทั้งหมดไว้ล่วงหน้า แล้วเวลาจะทำให้ไปเจอเรื่องราวเหล่านั้นเอง อย่างตอนที่เขียนเพลง ชีพจร เมื่อ 5 ปีที่แล้วก็ไม่ได้อินเท่ากับวันนี้
กานต์: เหมือนด้วยการที่อัลบั้มมันกินเวลามานานมาก ค่อย ๆ มาค้นพบว่า ถ้าทำเสร็จเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพลงทั้งหมดมันอาจจะไม่มีบทสรุปก็ได้นะ เหมือนเล่าเรื่องมาถึงองก์ที่ 2 ของอัลบั้มแล้วจบ เพราะชีวิต พุฒิ มันถึงแค่ตรงนั้น แต่พอทำมานานมันเลยเกิดเพลงท้าย ๆ ในอัลบั้มขึ้น สรุปภาพรวมเป็นองก์ที่ 4 องก์จบได้อย่างสวยงาม คือ ถ้าไม่ทำนานขนาดนี้คงไม่มีเพลงถึงตรงนี้แล้ว
การทำงานในชีวิตกับการทำเพลง เป็นอุปสรรคมากน้อยขนาดไหน
กานต์: ที่สุดเลย เจอกันยากมาก
แม็ก: มันคือจุดที่ชีวิตเราอยู่ตรงกลางเนี่ยล่ะครับ อย่างเพลงภูมิจิตเมื่อไรจะเสร็จวะ แต่อีกมุมนึงเราก็ต้องทำเพลงโฆษณาให้มีตังค์ มันจะดึงกันอยู่แบบนี้ตลอด ซึ่งก็พยายามทำให้มันเสร็จจนได้
ชีวิตคนในวงภูมิจิตในใครมีเวลาว่างน้อยสุด
กานต์: พุฒิกับแม็กเลย
พุฒิ: ใช่กูเหรอ
กานต์: ทุกวันนี้มึงอยู่ระยองถึง 5 ทุ่ม บางวันก็อยู่ชลบุรี
แม็ก: มันจะยากกันไปโดยปริยาย อย่างชีวิต พุฒิ จะว่างกลางคืนไม่ว่างกลางวัน ตัวเราเองว่างกลางวันไม่ว่างกลางคืน บางทีอยู่กับลูกเมียก็ไม่อยากจะออกไปไหนแล้ว มันดึงกันอยู่แบบนี้ล่ะ เพราะฉะนั้นการที่จะเจอกัน เราจะไปได้ต้องวางแผนกัน มันกลายเป็นคนที่ตามตัวยากสองคนเลย
พุฒิ: อย่างวันนี้ลางานมานะ
กานต์: เหมือนในวัยนี้อ่ะ เขาไม่มาทำอะไรสองอย่างกันแล้ว เขาทำอย่างเดียว ถ้าเป็นวัยรุ่นยังทำได้อยู่นะเหมือนตำแหน่งมันยังไม่ได้ใหญ่มาก ความรับผิดชอบมันยังน้อย เมื่อก่อนสบายมาก นัดเจอกันอยู่กันได้ยาว ๆ นี่ไม่ได้แล้วทุกวินาทีมีค่า เวลามีค่าขึ้นเยอะมาก ทำให้เจอกันยาก อัลบั้มเลยช้ามาก จริง ๆ บางเพลงถ้าเจอกันแปปเดียวก็เกิดแล้วนะ ถ้าเจอกันมากกว่านี้หน่อย แม่งเสร็จตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว
ชีวิตวัยกลางคนกิจกรรมอื่น ๆ ทำอะไรบ้าง
กานต์: ของเราหลัก ๆ ทำงาน เลี้ยงลูก วันหยุดใช้เวลากับลูกให้มากที่สุด วันธรรมดาตามนี้
แม็ก: ของเราพอพูดมาแบบเนี่ย แอบสะเทือนใจ เพิ่งมาพบว่า เร็ว ๆ นี้ว่า เราไม่มีวันหยุดให้ตัวเอง ซึ่งการจะสร้างวันหยุดให้ตัวเองก็อาจจะทำไม่ได้ เพราะการที่เป็นฟรีแลนซ์ด้วยบางทีให้แก้งานก็เลยไม่ได้หยุด ทำให้ต้องสร้างโมเดลใหม่ขึ้นมาเป็นโมเดลของการที่พูดคำว่า ‘Everyday is holiday’
พุฒิ: ช่วงสงกรานต์มึงพิมพ์ตลอดนะเรื่องนี้
แม็ก: เออใช่ ถ้าตัดเรื่องวันหยุดออกไปทุกวันคือวันทำงาน เราจะไร้เทียมทาน จุดเริ่มต้นเรื่องนี้มันเริ่มจากมีผู้ชายคนนึงมันชื่อ ไฟซาล อยู่แถวพระประแดงเนี่ยล่ะเป็นคนตุรกีทำอาชีพขายปลาแซลมอน ยุคนึงถ้าใครจำได้ทุกคนจะขายปลาแซลมอนกันเยอะมากไอ้ ไฟซาล เนี่ยล่ะเป็นหนึ่งในเบื้องหลังการเอากระแสมาเลย มันเป็นคนหัวหมอเอาแซลมอนมาขาย มันพูดให้ฟังว่า ‘ผมไม่มีวันหยุดหรอก everyday is holiday’ เราก็ถามมันว่ายังไงเหรอ มันบอกว่า นายต้องมีเวลาหยุดของตัวเองสิ เวลาที่จะไม่ทำงานเลย อาทิเช่นอย่างผม ตอนเช้าตั้งแต่ 8 โมงถึงเที่ยงไม่ทำงานเลย ไปเริ่มงานตอนบ่ายโมงถึงห้าโมงเย็นจะมีเวลาเข้มสุด ๆ ไม่ดูไลน์ไม่ทำอะไรทำแต่งาน ซึ่งหลัง 5 โมงก็ทำตัวเปื่อยสุด ๆ ไปนะ นอกจากว่า จะไปซ้อมดนตรีกับภูมิจิตก็อีกเรื่องนึง ถ้าเวลาปกติจะลูปนี้ตลอด แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราไม่ต้องการวันหยุดเพราะ everyday is holiday ไอ้ ไฟซาล เนี่ยแม่งได้ให้ทัศนะไว้น่าสนใจ เราลองแล้วมันเวิร์ก เช้าดูหนังยังได้ หลังห้าโมงมีเวลาไปวิ่งเล่นกับลูกด้วยแบบนี้
กานต์: แต่มันทำไม่ได้ทุกคนนะ อย่าง พุฒิ เนี่ยมีงานในระบบยิ่งยาก
แม็ก: โมเดลของเราจะเหมาะกับคนที่สถาปนาวันหยุดไม่ได้ ต้องใช้โมเดลนี้ เราใช้อยู่แล้วเวิร์ก
บอม: ของเราทำเงินกับทำฝันไปด้วยกัน ทุกอย่างมันคือสิ่งที่ชอบและรักมันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวาดการ์ตูนทำของเล่นหรือว่าแม้แต่อาชีพหลักที่เป็นแอดมินเพจก็มาจากการชอบเล่นเฟซบุ๊กดูข่าวต่าง ๆ ไป เราบาลานซ์งานกับฝันได้ลงตัว ถือว่าตัวเองโชคดีตรงนี้ด้วยไม่ต้องใช้ชีวิตดุเดือดมาก
พุฒิ: ชีวิตเราถ้าไม่มีดนตรีชีวิตจะลงล็อกมาก วันจันทร์ถึงศุกร์ทำงานเต็มที่ ตื่น 7 โมง งานของเราจะเสร็จ 3-4 ทุ่มทุกวัน นอนเที่ยงคืน นอนเวลานี้ประจำตลอด งานมันค่อนข้างเยอะมาก มีโอทีตลอด มีทุกวันเป็นปี ช่วงกลางคืนหรือเสาร์อาทิตย์ที่นัดกับเพื่อน ๆ วันนั้นก็ค่อยไม่ทำโอที เสาร์ –อาทิตย์ เราจะมีสี่ลูปที่ต้องทำ 1.อยู่กับแฟน 2.อยู่กับที่บ้าน 3.อยู่กับวง 4.อยู่กับ podcast ตอนนี้จะเฉลี่ยเวลากันไป มันจะเหนื่อย ๆ หน่อย ครอบครัวก็เป็นช่วงที่ยาก ๆ มั้ง แม่เป็นอัลไซเมอร์ พ่อต้นปีผ่าตัดมะเร็ง เขามีเราเป็นพลังใจในการมีชีวิตต่อ รอทุกสัปดาห์เพื่อเจอเรา อันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องครอบครัวนะทั้งเแฟนและวงด้วย มันเลยแบบเป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยพอสมควรเลย เลิกงาน 3 ทุ่ม ไปซ้อมดนตรีเสร็จ ตี 1 กลับบ้านตีสอง นอนตื่นมาเช้าทำงาน อีกวันอัด podcast เสร็จดึกอีก มันจะมีจังหวะชีวิตที่มันเยอะพอสมควร
กานต์: กูเข้าใจมึงอย่างของกูจะมีวันนี้กลุ่มนี้ชวนแดกเหล้า อีกกลุ่มนึงพอมันครบรอบมามันจะวนกลับมาอีกแล้ว ได้เวลาเจอกันอีกรอบแล้วเพื่อนเป็นลูปเดิม ๆ
พุฒิ: มีคนถามแบบใช้ชีวิตแบบนี้ไม่เหนื่อยเหรอ เราอยากทำมันให้ได้อ่ะ เราไม่สามารถทิ้งภูมิจิตไว้กลางทางได้ ไม่สามารถทิ้งครอบครัว ทิ้งเงินไว้กลางทางได้ ไม่สามารถทิ้งแฟนไว้กลางทางได้
แม็ก: ซึ่งกลับกันถ้าไม่ใช่คนบ้าอย่างพวกเราเนี่ย มันจะเป็นลักษณะแบบเลิกทำวงเถอะไปทำตามความฝันที่มันจับต้องได้ดีกว่า ไปเป็นวิศวกรธรรมดาไม่เหนื่อยด้วย แต่งงานใช้ชีวิตปกติกันไป อย่างของเราที่มันดูทำอะไรเยอะ ๆ เพราะเพื่อนยังต้องการกันอยู่ไง
พุฒิ: จริง ๆ ถ้าจะเลิกข้ออ้างมันเต็มไปหมด สารพัดอะ เพราะเราจะไม่เลิกไงเราจะทำมันให้ได้
อยากบอกอะไรแฟนเพลงรุ่นใหม่ที่เพิ่งมาฟังวงภูมิจิตบ้าง
แม็ก: ต่อหน้าท่านขณะนี้คือวงดนตรีภูมิจิต
กานต์: สำหรับเรา นึกย้อนไปตอนทำอัลบั้มแรก ตอนนั้นไม่มีใครรู้จักเป็นศูนย์ แล้วมีเพลงในมืออยู่ 2-3 เพลงด้วยซ้ำ มี มากมายก่ายกอง , รอผล Ent วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ทุกงาน ๆ เล่นให้เต็มที่ไม่ว่างานจะเล็กแค่ไหน เราเคยเล่นงานที่คนดูแค่ 2 คนก็เล่นมาแล้ว มีหมาดูด้วยนะ แต่เราหวังทุกโชว์ คนดูเขาไม่รู้จักเราหรอก แต่คิดเสมอว่า จะได้แฟนเพลงหนึ่งในนั้นกลับมา ได้กลับมาสองคนก็ดีใจแล้ว อัลบั้มนี้จะกลับไปใช้แบบนั้นเหมือนเดิม ทุกครั้งจะเล่นให้ดีที่สุด อย่างเพลงตั้งใจทำกันมา เรารู้อยู่แล้ว มันต้องเจอทั้งแฟนเพลงคนใหม่และแฟนเพลงคนเก่าที่เลิกฟังเพลงไปแล้ว มันต้องมีแน่นอน แต่หน้าที่ของพวกเราก็จะทำเพลงที่เราชอบออกมาต่อไป หวังว่าเพลงนี้มันอาจจะไปกระทบใจใครบ้างไม่มากก็น้อย
พุฒิ: ขอบคุณมาก รสนิยมดีมาก จริง ๆ แล้ว เราคิดว่า เราพยายามหาแฟนเพลงใหม่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องท้าทายนะที่จะมีแฟนเพลงใหม่มาฟังเพลงเรื่อย ๆ แล้วที่สำคัญแฟนเพลงใหม่ ๆ จำนวนมากเขาน่าจะอายุน้อยกว่าเรา ข้อดีของเขาคือ การเจอแฟนเพลงใหม่ ๆ มันทำให้เราเห็นตัวเองในอดีตเว้ย การเห็นตัวเองในอดีตมันสำคัญมาก มันกำลังบอกว่า จริง ๆ เราควรจะเป็นผู้ใหญ่แบบไหน ควรจะโตไปเป็นแบบไหน ต้องขอบคุณมาก ๆ ที่ยังฟังเพลงของพวกเรากันอยู่ มันทำให้เราเห็นตัวเองมากขึ้นจากการเป็นแฟนเพลงของคุณ
บอม: ขอบคุณมากครับ
แม็ก: ขอต้อนรับเข้าสู่ภูมิจิต family ครับ เวลามาดูคอนเสิร์ตพวกเราเนี่ยก็จะมีเพื่อนเยอะนะครับ ทุกคนสามารถเป็นเพื่อนกันได้ เวลาจัดมีทติ้งก็น่าสนุกนะครับ อยากบอกว่า มาเป็นแฟนเพลงภูมิจิตด้วยกันเถอะ ที่ผ่านมาเราเองพยายามสร้างชุมชน ผมมองว่า วิธีนี้แข็งแรงนะ ยกตัวอย่างวง Miraculous ในเชิงสื่ออาจจะไม่เคยได้ยินเท่าไร แต่วงนี้เวลาไปเล่นร้านไหนแม่งแน่นร้านทุกที คนแน่นร้าน ที่สำคัญแฟนเพลงเขารู้จักกันอีกตะหาก กลุ่มแฟนเพลงของเขาที่จังหวัดสมุทรปราการรู้จักกับอีกกลุ่มนึงที่อยู่จังหวัดนครราชสีมา
แล้วพอวงนี้ไปเล่นนครราชสีมา พวกสมุทรปราการก็ตามไปดู แล้วพอวงไปเล่นที่สมุทรปราการ ปรากฏว่านครราชสีมาก็ตามมาบ้าง มันเหนียวแน่นมาก ไปไหนไปกัน พูดง่าย ๆ วงนี้เวลาไปเล่นร้านไหนคนเยอะตลอด ร้านแฮปปี้เกิดการจ้างงานไปเรื่อย ๆ โดยปริยาย มันจึงเป็นโมเดลแบบว่า ข้าวเกรียบรวยเพื่อน พยายามสร้างโมเดลนี้อยู่เช่นกัน เพราะฉะนั้นขอต้อนรับเข้าสู่สมาคมแก็งภูมิจิตหวังว่ามาดูแล้วทุกคนจะเป็นเพื่อนกัน
สุดท้ายนี้ฝากอะไรกับแฟนเพลงหน่อย
พุฒิ: อย่างแรกครับต้องฟังเพลงเราในทุกที่ที่ฟังได้ ไม่ว่าจะเป็นดูเล่นสด ฟังในฟังใจ ใน Joox ใน Spotify หรือที่ไหนก็ตาม ซึ่งนอกจากฟังในนั้นแล้ว ก็อยากจะชวนทุกคนมาเจอกัน เราคิดว่า เรามีพลังมากพอที่จะมอบให้ทุกคนที่มาดูได้ ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยอยากมีพลังหรืออยากมีพลังมากกว่าเดิมไปส่งต่อให้คนอื่น เราอยากให้มาดู live อยากให้ทุกคนส่งต่อพลังไปเรื่อย ๆ อีกเรื่องคือ เราไม่แน่ใจว่าอัลบั้มนี้มันอาจจะอายุมากเกินไปสำหรับแฟนฟังใจรึเปล่า อันนี้เป็นเรื่องที่เราตั้งคำถามกับตัวเองไว้เหมือนกัน แต่หวังว่า แม้ว่าวันนี้แฟน ๆ ในฟังใจอาจจะไม่อิน แต่เราอยากจะตั้งอัลบั้มนี้เป็นชุดความรู้ไว้ตรงกลาง เมื่อวันนึงชีวิตถึงจุดเดียวกันก็อยากให้นึกถึงอัลบั้มเรา แล้วกลับมาฟังเผื่อว่า อัลบั้มเราจะทำให้คุณก้าวไปในอีกจุดของชีวิต
แม็ก: คงเหมือนประมาณตอนฟังอัลบั้ม Love me Love My Life ของ Moderndog ด้วยความที่คาดหวังจะเจอเพลงแบบ ติ๋ม มัน ๆ โดด ๆ เราไปเจออะไรก็ไม่รู้ เวตาล, อีสานคลาสสิก จำได้ว่าไม่ฟังนะ ตอนไปซื้อเทปวันแรก ๆ เอาเก็บ แต่จะบอกว่าพอเวลาผ่านไปกลับมาฟังแบบโครตชอบ เพราะฉะนั้นเราว่ามันมีโอกาสเหมือนกันที่คุณจะไม่อินอัลบั้มนี้ในตอนนี้ไม่เป็นไรนะครับ เก็บไว้อินในอีก 10 ปีข้างหน้ายังไม่สาย
บอม: แต่ในเมื่อรู้ว่าใน 10 ปีข้างหน้ายังไม่สาย ก็อินไปก่อนเลยได้นะจะได้อินเทรนด์ก่อน ไม่อยากเอ้าท์ฟังก่อน อีก 10 ปีรู้เรื่องแน่นอน
กานต์: ถ้าได้ฟังเพลงวงเราแล้วก็ขอบคุณมาก ๆ ตอนนี้เพลงมันเยอะมากเต็มไปหมด ทุกอย่างมันเร็วมาก คุณแวะมาฟังเพลงเรา ขอบคุณมาก ๆ ถ้ามีโอกาสออกมาเจอกันเถอะ
หลังจากการสัมภาษณ์นี้สิ้นสุดลงคำถามที่ผมตั้งไว้เมื่อ 4 ปีก่อนก็ได้รับคำตอบอย่างชัดเจนและครบถ้วน บทสัมภาษณ์ภูมิจิตในครั้งนี้ทำให้ผมได้ค้นพบว่า แท้จริงแล้วช่วงเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานเพลงเช่นกัน หากพวกเขาตัดสินใจออกอัลบั้มนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น วุฒิภาวะที่เกิดขึ้นรวมไปถึงโลกที่พวกเขาไปเผชิญจะเป็นเช่นไร อาจจะไม่ใช่เพลงที่นิ่งสงบและเข้าใจโลกแบบวันนี้ แต่นั้นแหละครับวันนี้พวกเขากลับมาแล้ว
สำหรับผมก็เหมือนไวน์รสชาติดี ๆ ที่ถูกบ่มไว้ในที่ที่ปลอดภัย เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ทุกคนจะได้ชิมและลิ้มรสมันว่า รสชาติมันอร่อยมากจนหาคำใดมาบรรยายไม่ได้ วงดนตรีภูมิจิตก็เช่นกันครับ อัลบั้มนี้ของพวกเขาต้องไม่ธรรมดาแน่ ๆ แด่ทุกชีวิตที่ต่อสู้เพื่อความฝันครับ / Midlife