ปูม Parinam Music Seen Scene Space

Article Interview

ขุดชีวิต ปูม ปิยสุ กว่าจะมาเป็นนายห้างแห่ง Parinam Music และ Seen Scene Space

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Photographer: Chavit Mayot

ถ้าใครไปคอนเสิร์ตของ Seen Scene Space บ่อย ๆ เรามักจะเห็น ปูม—ปิยสุ โกมารทัต ง่วนอยู่แถวซาวด์เอนจิเนียร์เกือบตลอดเวลาเพื่อคุ้มงานด้วยตัวเองทุกกระบวนการ นอกจากจะเป็นโปรโมเตอร์แถวหน้าในวงการแล้ว เขายังควบตำแหน่งนายห้างแห่งค่ายเพลง Parinam Music ที่ศิลปินในค่ายก็เป็นขวัญใจเด็กวัยรุ่นทั้งซีน และยังเป็นหนึ่งในสามเหลี่ยมทองคำของ Maho Rasop Festival ด้วย เราเลยชวนคุยถึงประสบการณ์สิบกว่าปีที่เดินอยู่ในวงการเพลงของเขา ซึ่งเขายืนยันว่าเป็นเจ้าของค่ายไม่ใช่เรื่องง่ายเลย กว่าจะลองผิดลองถูกล้มลุกคลุกคลานมาได้ขนาดนี้ แต่มันก็คือความสนุกที่สุดในชีวิตเขาแล้ว

ปูม Parinam Music Seen Scene Space

 

ก้าวเข้ามาในวงการดนตรีได้ยังไง

เป็นคนชอบฟังเพลง ส่วนหนึ่งเป็นคนมาสายซาวด์เอนจิเนียร์ด้วย เหมือนเด็ก ๆ ชอบอัดเสียงอะตั้งแต่ประถม หลงใหลกับการอัด สมัยนั้นเทปมันมีก็จะอัดโน่นอัดนี่ ฝึกเล่นกีตาร์ ร้องเพลง มี backing track เพลงของ มอส ปฏิภาณ อะไรเงี้ยก็เอามาอัดร้อง (หัวเราะ) ตลก ๆ แล้วก็ฝึกเล่นดนตรีมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่มอต้น เป็นมือเบสตอนมอปลาย แล้วดันเป็นคนชอบดนตรีจัด เข้าห้องซ้อมเงี้ยก็จะไม่เล่นแค่เครื่องที่ตัวเองเล่นอย่างเดียว แต่จะลองทุกอย่าง เฮ้ย ขอเป็นมือกลองบ้าง รอบนี้เป็นมือเบส รอบนี้เล่นกีตาร์ รอบนี้ขอร้องบ้าง เล่นคีย์บอร์ดบ้าง เป็นสายจับฉ่ายอะ เล่นได้ทุกชิ้นก็จริงแต่ไม่มีตัวไหนที่ทะลุปรุโปร่งเทพอะไรขนาดนั้น เป็นเป็ด (หัวเราะ) ชอบที่จะเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับดนตรี เพลงก็ฟังเลอะเทอะ ทุกแนว

เทปที่อัดเสียงแล้ว เอาไปทำอะไรต่อหรืออัดเพราะสนุกเฉย ๆ

อัดแล้วมันสนุกอะ สนุกในการบันทึกเสียง ดันไปค้นพบอะไรซักอย่าง ตอนนั้นแกรมมี่มันจะชอบมีเทปศิลปินแล้ว เขาจะมีเทปอีกอันขายต่างหากเลย เป็น backing track ทั้งอัลบั้มเหมือนคาราโอเกะ เขาเรียกว่า ‘ไมนัสวัน’ ก็อัดร้องเล่นดูให้ญาติฟัง ให้เพื่อนฟัง ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดไรนะ เด็ก ๆ แค่สนุกดีกับการทำอะไรแบบนี้ พอโตขึ้นมาก็ค้นพบความฝันว่าอยากเป็นนักดนตรี อยากทำอะไรทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับดนตรีหมดเลยอะ พี่เป็นคนที่มีความฝันหลายอย่างอีก ฟังวิทยุมาก ๆ ก็อยากเป็นดีเจว่ะ ได้เปิดเพลงให้คนฟังได้พูดถึงเพลงที่เราชอบเงี้ย มันก็เจ๋งดี ตอนพี่วัยรุ่นมันก็เป็นสื่อเดียวเนอะ ก็อินกับการฟังป๋าเต๊ดคลื่น Hot Wave ฟังพี่เป้ วิศวะ ก่อนจะมีแฟต มันก็ไปเรื่อยแหละ สมัยก่อน Hot Wave Music Award ก็เคยไปประกวดตั้งแต่รุ่นแรกเลยที่มีวง ละอ่อน ของพี่ตูน Bodyslam ไปประกวดด้วย แต่ก็ไปแค่ปีเดียว

ทำไมถึงไม่เข้าสายดนตรีไปเลย หรือตอนนั้นยังไม่บูม

สมัยที่พี่จะเอนทรานซ์เพิ่งจะมีรุ่นแรกของดุริยางคศาสตร์ ศิลปากร ด้วยมั้ง แม่ก็เห็นว่าอินดนตรีพี่ก็ไปดู ๆ ด้วยความที่พี่ไม่ใช่คนเจาะลึกกับเครื่องดนตรีซักอัน ชอบเล่นไปซะทุกอย่าง ชอบฟัง แถมดันเรียนไม่เก่งด้วยคงเพราะชอบกิจกรรมมาก พอจะเข้ามหาลัยก็นึกในใจว่าถ้าเราไปเรียนดนตรี เราก็จะเป็นแค่เด็กเรียนไม่เก่งที่เล่นดนตรีเป็นอย่างเดียว ถ้าไปเรียนอย่างอื่นแล้วค่อยมาฝึกดนตรีของเราเองก็ได้นี่หว่า เราเห็นที่บ้านสายแม็กกาซีนมา ถ้าเราไปเรียนนิเทศวารสารก็น่าจะตรงสายกับชีวิตที่เติบโตมากับพ่อแม่ดี พี่เลยไปเรียนวารสาร นิเทศศาสตร์ ม. กรุงเทพ พอเขารับสมัครทำละครเวทีของคณะก็ไปอยู่ฝ่ายเสียง ทำเพลงประกอบละคร

พอได้ไปทำตรงนั้นเลยทำให้เรายิ่งมั่นใจในเส้นทางของเราด้วย

ใช่ ๆ ทุกกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับดนตรีพี่ทำหมด ตอนนั้นมี BU Band ก็ยังฟอร์มวงกับเพื่อนเล่น ๆ ไปประกวดกัน ก็จะทำอะไรแปลก ๆ ที่คนเขาไม่ชอบกัน หลังจากไปทำละครเวทีก็ไปเรียนทำเพลง เขาก็สอน computer music จนทำเพลงเป็น ซึ่งก็ยังไม่ได้บูมจนมีคณะดนตรีมากมายเหมือนตอนนี้ แล้วก็เริ่มคุยกับเพื่อนตั้งแต่สมัยมัธยมที่เคยทำวงด้วยกันชวนมาตั้งวงกันจริงจังชื่อ Twice A Day ทำกัน แต่ยังไม่ทันทำอะไรมากมาย พี่ก็เรียนจบมหาลัยพอดี แล้วต้องไปเรียนต่ออเมริกาเลย พี่เลยเลือกเรียน Recording Art Production คือเรียนทั้งโปรดักชันเกี่ยวกับการอัดเลย ไม่ได้เรียนแค่ซาวด์เอนจิเนียร์นะ แต่ต้องเรียนทั้งก้อนเลย แต่งเพลง จัดคอนเสิร์ต ทำแสงยังต้องเรียนเลย ความเจ๋งของมันคือเรียนทุกด้าน ปรากฏว่าที่เมืองไทยมีค่ายชื่อ Black Sheep ของ Sony Music ยุคนั้น ก็มีโปรเจกต์อัลบั้มอันหนึ่งนำทีมโดย อาร์ต Vacation เขาทำ compilation ชื่อว่า Black in USA รวมคนไทยที่ทำเพลงอยู่อเมริกามารวมกัน ช่วงนั้นพี่กลับไทยพอดีก็พากันไปเช่าห้องอัดร้องกัน แล้วเพลงของพวกพี่ก็ได้เป็นเพลงโปรโมตของอัลบั้มเขาด้วย ขึ้นอันดับสองของชาร์ต Fat ด้วย ชื่อเพลง Cause of Monday นี่น่าจะเป็นก้าวแรกที่ได้เข้ามาในวงการดนตรีนะ

แล้วมาตั้งค่าย Parinam Music ได้ยังไง

ด้วยความที่ยังเรียนที่อเมริกาอยู่ ผู้บริหาร Black Sheep ตอนนั้นเขาก็อยากให้ทำอัลบั้มเต็มนะ ก็ลุยทำกันเลย ส่งกลับไปส่งกลับมาระหว่างไทยกับอเมริกาไปเรื่อย ๆ พอเรียนจบกลับมาปุ๊บก็มีเพลงของ Twice A Day ครบแล้วนะ พร้อมปล่อยแล้ว แต่พอกลับมาที่ Black Sheep เขาดันเปลี่ยนผู้บริหารแล้ว คนที่เขาอยากให้เราออกอัลบั้มเขาออกไปละ แล้วด้วยเรื่องธุรกิจหรืออะไรซักอย่างค่ายก็ปรับตัวไป ผู้บริหารคนใหม่เขาไม่เอาเราละ (หัวเราะ) ก็เคว้งเลย ตอนนั้นพี่เก็บตังจากการทำงานที่อเมริกา กลับมาก็เปิดห้องอัดของตัวเองเลย เพื่อนก็ยุให้ออกกันเองเลย ยุคนั้นวงการอินดี้เริ่มแข็งแกร่ง มีวงอิสระมากมาย เลยทำเองปล่อยเองแม่งเลย ไม่สนใจ

ก็มานั่งคิดกันเองว่าถ้าเราตั้งชื่อค่ายขึ้นมาน่าจะดีเหมือนกันนะ เวลาเราติดต่องานหรือยื่นอะไรที่ใคร วงนี้มาจากไหนก็ตอบเขาได้ เลยเป็นที่มาของการตั้งค่ายเพลง ก็มานั่งคิดอีกว่าเอาชื่ออะไรดีวะ ช่วงนั้นก็มีค่ายเกิดขึ้นมากมาย เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขาก็ทำชื่อภาษาอังกฤษกันหมด แต่เราอยากได้ชื่อไทยที่แปลก ๆ น่าจดจำหรือไม่มีใครใช้อะไรเงี่ย เลยเปิดพจณานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้วจิ้มลงไป ก็เจอคำว่า ‘ปริณาม’ แปลว่า การแปรผัน เราไม่เคยได้ยินคำนี้เลย ความหมายแม่งเท่ว่ะ ก็เลยมาตั้งชื่อค่ายเลย Parinam Music

ตอนนั้นคือรันค่ายแบบจริงจังเลยรึเปล่า

เริ่มต้นทำเพื่อซัพพอร์ต Twice A Day เท่านั้น แต่พอโปรโมตไปเรื่อย ๆ ชื่อค่ายมันก็ไปแปะตรงโน่นตรงนี่ ด้วยความที่จบวารสารมาก็มีความรู้เรื่องงานเขียน ก็เขียนข่าว PR ส่งสื่อด้วยตัวเอง เลยทำให้ชื่อวงกับค่ายไปอยู่ตามสื่อ ก็เจ๋งนี่หว่า ทำค่ายต่อเลยละกัน พอถามเพื่อนในวงแต่ละคนก็ไม่เอาด้วยเพราะเขาไปทำงานประจำกันหมดแล้ว พี่เลยทำเองก็ได้ ตอนนั้นมันมีแต่ Hi5 เอง ก็ไปประกาศหาศิลปินลงเว็บบอร์ดต่าง ๆ บอร์ด GuitarThai ตอนนี้ผมทำค่ายนี้ ๆ ใครสนใจก็ส่งผลงานเข้ามา ตอนนั้นเป็นยุคที่เกือบทุกค่ายต้องปล่อยอัลบั้ม compilation พี่ก็คัดเลือกศิลปินเลย ตอนนั้นแบบมั่วมาก พี่ก็ฟังเพลงทุกแนวไง compilation แรกคือเละสัส ๆ (หัวเราะ) มีทุกแนว แจ๊สก็มี ร็อกแบบโหด ๆ experimental ที่หลอน ๆ ก็มี ป๊อปโคตร ๆ ก็มี acid jazz หรือ standard jazz ก็ยังมีเพลงหนึ่ง ไปเอานักดนตรีแจ๊สที่เล่นในผับที่ไปนั่งดูแล้วเจ๋งดี ก็เอาเขามาอัดสดในห้องอัด เรากำลังไฟแรงกับ sound engineering ด้วยเพราะเปิดห้องอัดเอง ไม่ต้องไปเช่าใคร สนุกสนานกับการที่ค่ายเราได้ไปโน่นไปนี่เริ่มมีชื่อด้วย เลยเป็น compilation แรกของ Parinam Music ใช้ชื่อว่า Bangkok Poco Compilation คำว่า ‘Bangkok Poco’ เป็นชื่อห้องอัดของเรา ยังเปิดอยู่นะ ศิลปินคนไหนอยากมิกซ์มาสเตอร์หรือบันทึกเสียงก็ติดต่อได้นะครับ (หัวเราะ) ตอนไปเรียนอเมริกาก็เรียนที่เมืองแซนดีเอโกซึ่งมันติดกับประเทศเม็กซิโก พี่เลยได้อิทธิพลภาษาสเปนมาด้วย poco แปลว่า เล็ก, น้อย แล้วออฟฟิศเราอยู่เขตบางกอกน้อย (หัวเราะ) เลยใช้ชื่อ Bangkok Poco Studio ก็เป็นจุดเริ่มต้นของค่ายตอนนั้น ทำไปเรื่อย ๆ ก็มีศิลปินใหม่ ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ

หลังจาก Twice A Day แล้วมีวงอะไรตามเข้ามาบ้าง

รู้สึกจะมีสองวงใน compilation แรกที่ได้ทำกันต่อคือ Three Saturday ซึ่งตอนนี้ไม่มีละ หนึ่งในสมาชิกของวงนี้คือ ชู มือกลอง Tabasco ส่วนอีกวงคือ Happy January นักร้องคือ กบ เพื่อนพี่เลย หลังจากนั้นก็ยังทำนู่นทำนี่กันทั้ง Seal Pillow ทำ Evil Dude ด้วยความที่อายุเขารุ่น ๆ เดียวกับพี่ก็มีความแก่ ความเติบโตทางชีวิตเขาด้วย ความไม่พร้อม ก็เลยห่าง ๆ หาย ๆ ไป ถ้ามีไฟก็อาจจะอยากกลับมาทำอีก แล้วก็มี ปลานิลเต็มบ้าน มาตั้งแต่ยุคแรก ๆ แล้วทำจนถึงตอนนี้ Overhear แล้วก็ Aplin กับ Anything Else? ก็คือพี่พีท The Peach Band กับ เฉลิม Gym & Swim นี่เขาสนิทกับ มั้ม Overhear แล้วตามมาปาร์ตี้ออฟฟิศบ่อย ๆ แต่ตอนแรกเขาก็ไม่ได้จะมาเป็นศิลปินนะ แค่จบภาคฟิล์มมาก็เลยให้มาช่วยทำ mv ให้ Parinam Music ด้วย ช่วงนึงเลยจะมี mv ของเฉลิมเยอะมากทั้ง เพื่ออากาศที่ดีกว่า ของ Overhear วันเดิม ๆ ของ Aplin แล้วก็ วังวน กับ ทบทวน ของ Anything Else? แล้วก็ ถ้าไม่มี ของ ปลานิลเต็มบ้าน จนแทบจะเป็นพนักงานในค่ายเลย ทำสื่อวีดีโอให้เราอีก วันหนึ่งมันก็ไปลากเพื่อนที่เคยตั้งวงด้วยกันตอนเรียน ปกรณ์ กับ อารอน เขาเคยทำวงกันนะอยากทำเพลงให้พี่ปูมฟังบ้าง มึงก็ทำมาเลย เพลงแรก ๆ ที่มาก็ Polaroid กับ รองเท้าผ้าใบ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย คิดว่าเพลงก็ดีนะ มันเป็นแนวใหม่ที่ไม่เคยฟังอะไรงี้ด้วย พวกมันก็สายฟังเพลงกันทุกคน มีวงนอกมาให้ฟังบ่อย ๆ ก็เลยลองดู ไม่ได้ตั้งใจว่าต้องมาแน่ ๆ ไม่ได้คาดหวังเลย (หัวเราะ) มันเหมือนเป็นการเปลี่ยนถ่ายอะไรบางอย่าง ปลานิลเต็มบ้าน ก็พักวง Aplin ก็วีซ่าหมดกลับบ้านไปละ Anything Else? ก็เพิ่งโปรโมตเสร็จ จะได้ให้ค่ายมีอะไรใหม่ ๆ บ้าง พอปล่อยเพลงออกไปก็มาเลย

แต่จริง ๆ ผมรู้จัก Anything Else? จากหนังเรื่อง ‘อนุบาลเด็กโข่ง’

ตอนนั้นเป็นยุคที่โซเชียลมีเดียยังไม่บูมเท่ายุคนี้ พี่ต้องไปสื่ออื่น ๆ อะ ประกอบหนัง ประกอบละคร Aplin ดันไปดังจากหนังสั้นของช่อง 3 ไปอยู่ในเกม Audition อะไรเงี้ย เลยไปทางนั้นบ้าง ก็เจ๋งดี

แล้ววงยุคแรกจะกลับมาทำเพลงอีกไหม

Stay Go Day Day ก็เพื่อนพี่เนี่ยแหละ ด้วยความแก่มันก็ไปละ Anything Else? นี่ทำเพลงเสร็จแล้วด้วยนะ แต่พี่พีทลูกเพิ่งคลอดธันวาที่แล้ว เขาขอเวลาเลี้ยงลูกก่อน เบรกแป๊ปนึง แต่ ep ใหม่เพลงครบแล้วนะ รอฟังเร็ว ๆ นี้ Nipat Newwave ก็เหมือนจะกลับมาทำอีก ตอนนี้ขอลุย Wave And So ก่อน แต่เขาแต่งเพลงล่วงหน้าไว้เป็นสิบเพลงละ Evil Dude ก็จะปล่อยเพลงใหม่ละ รอนิดนึง เพลงใหม่จะปรับแนวทางไปอีกนิดนึง

ปูม Parinam Music Seen Scene Space

แนวทางของค่ายเราจะไปทางไหนต่อดี ในตอนนี้

พอผ่านมา 10 ปีอะ มันเหมือนเราปรับตัวไปเรื่อย ๆ ด้วยความที่พี่ไม่มีแผนธุรกิจตั้งแต่แรกว่าจะมาทางนี้ ไม่ได้วางมาร์เก็ตติ้ง ไม่ได้วางกลุ่มเป้าหมายว่าเราจะไปทางไหน เหมือนมันทำมาเรื่อย ๆ แล้วมาเจอเองช่วง 5-6 ปีหลังนี้เอง เป้าของเราก็คือเราจะไม่ทำเพลงที่เมืองไทยมันมีอยู่แล้วอะ แน่ ๆ ทุกวงที่รับเข้ามาจะต้องไม่ซ้ำแนวกับใคร ถ้ามันมีอยู่แล้วเราก็ไม่เอาละ อาจจะมองเทรนด์โลกไปล่วงหน้าหน่อย เริ่มเข้าใจโลกมากขึ้นหลังจากที่ทำเพลงป็อปอะไรมาไปชนกับค่ายใหญ่ เชี่ยแม่งไม่มีทางเวิร์ก (หัวเราะ) สมมติ Bodyslam เขามีอยู่แล้ว แล้วเราทำเพลงแบบ Bodyslam อีกอะ แล้วการโปรโมตเราเท่าเขารึเปล่าวะ ก็ไม่ได้ ถ้าหันไปทำอีกแนวหนึ่งที่เราก็ชอบด้วย เดาว่ามีคนอีกกลุ่มที่ต้องชอบแบบนี้ แถมไม่ซ้ำใครเลยก็น่าจะเดินไปได้ง่ายกว่า ปัจจุบันก็เริ่มชัดเจนขึ้นละว่าไปทางไหน ช่วงนี้เราจะเน้นไปต่างประเทศมากขึ้น โลกมันเปลี่ยน วงการเพลงมันก็เปลี่ยน โซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ มันก็พาเราไปได้ไกลขึ้น มีทุกช่องทางเห็นกันทั้งโลก พฤติกรรมการบริโภคเพลงของโลกก็เปลี่ยนไป ต้องซื้อซีดีอย่างเดียว มาหา mp3 โหลดอย่างยากเย็น แต่ยุคนี้มันสตรีมมิ่งที่ฟังได้ทั้งโลกในราคาไม่แพง มันฟังเพลงได้ทั้งโลก มันไม่มีกำแพงอะไรอีกแล้ว แม้กำแพงระหว่างประเทศด้วย

หลังจากอยู่ในวงการมา 10 กว่าปี ซีนดนตรีไทยมันเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

สิ่งที่พี่พยายามมองและปรับตัวมาเรื่อย ๆ ก็คือการบริโภคเพลงของคนเนี่ยแหละว่ามันปรับยังไง ยุคซีดีเราก็ต้องทำซีดีให้ได้ต้องมีซีดีวางทุกครั้ง ยุคที่พี่ตั้งค่ายเมื่อ 12 ปีที่แล้วซีดีก็เริ่มขายยากแล้วนะ mp3 เริ่มเข้ามาละ โหลดบิทอะไรเงี้ย ก็ต้องปรับตัวให้ได้ว่าซีดีมันคือของที่ระลึกของวง ของสะสม เราต้องทำยังไงก็ได้ให้คนสะสมก็แข่งกันที่ดีไซน์ อาร์ตเวิร์ก ข้อความ กิมมิกการขายทั้งหลาย แม้แต่ยุคปัจจุบันซีดีก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ อยากบอกวงใหม่ ๆ ว่าไอ้การที่ทำซีดีให้มันมีดีไซน์ พวกคอนเทนต์พวกข้อความอยู่ในปกซีดีเนี่ยสำคัญมาก บางวงจะชอบแบบไม่อยากให้มันมีเนื้อเพลง ไม่อยากให้มีนั่นนี่ ไม่อยากให้มีเครดิต เฮ้ย! แต่คนเขาซื้อไปเขาคาดหวังสิ่งนี้ไง เวลาพี่ซื้อซีดีมาพี่ก็จะชอบเอาเปิดดูใครทำอะไรในเพลงบ้าง วงมันพูดอะไร มันขอบคุณใคร อ่านทุกประโยค นี่คือความสุขของการที่เราเป็นแฟนเพลงวงนี้แล้วได้อ่านอะไรตรงนี้

รู้สึกยังไงเวลาพูดถึง surf pop หรือ dream pop ก็จะนึกถึงค่ายเราก่อน

พี่ก็ทำของพี่มาเรื่อย ๆ โดยไม่ได้วางเป้าหมายหรืออะไรนะ หลังจากทำ Seal Pillow, Wave And So หรือ Gym & Swim มามันเลยได้ฟังแนวนี้จนอินเองอะ มันเลยไปทางนี้เรื่อย ๆ เพิ่งมาสรุปได้หลังจากที่ ปริญ Death of a Salesman เขาเคยขึ้นสเตตัสถึงค่ายเรา อ๋อ เราเป็นแบบนี้นี่เอง เขาบอกว่าสิ่งที่พี่ทำคือการทำซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนมันใช่อะ จากที่ไม่ใช่มันก็ใช่จนได้อะ มันอะไรประมาณนี้ล่ะมั้ง แต่ก็ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่แนวเพลงนี้นะ แค่ในวงการเพลงไทย Parinam Music น่าจะเป็นค่ายแรก ๆ มั้งที่นำแนวนี้มาทำเพลงไทย

แล้วมีเกณฑ์ยังไงในการคัดวงเข้าค่าย

เกณฑ์เลว ๆ แรก ๆ เลยก็คือพี่ปูมชอบก่อน (หัวเราะ) ฟังแล้วมันใช่ อิน ไม่น่าเบื่อ ไม่ซ้ำใครดีนะ หลังจากคัดมาแล้วก็ต้องมาคุยกันหน่อยว่าทัศนคติเป็นยังไง มีความคาดหวังยังไง

สิ่งที่ยากที่สุดในการทำค่ายเพลงคืออะไร

เรื่องรายรับล่ะมั้ง (หัวเราะ) เป็นความดาร์กของค่ายอินดี้ใน 10 ปีหลังมานี้ การจะอยู่รอดได้ด้วยธุรกิจเพลงอย่างเดียวเนี่ย ทุกคนก็จะมองว่าพี่ก็ทำมาตั้งสิบกว่าปีนี่หว่า จริง ๆ มันอยู่ได้ด้วยการทำหลาย ๆ ธุรกิจมาคู่กัน ในแง่ธุรกิจเฉพาะเพลงอย่างเดียวไม่เวิร์กอะ (หัวเราะ) หลาย ๆ ค่ายอาจจะเป็นมั้ง อย่าง Parinam Music ยุคแรกก็ทำห้องอัดเสียง เราก็จะรับงานเกี่ยวกับการบันทึกเสียง ทำเพลงประกอบโฆษณา ทำสปอตวิทยุ ทำเพลงประกอบหนังต่าง ๆ ใครจะจ้างเราทำเพลงอะไรเราทำได้หมดเลย แล้วก็ใช้โปรดักชันใช้นักดนตรีที่เรามีเนี่ยทำหมดเลย ก็จะมีรายได้จากตรงนั้น

ในฐานะโปรดิวเซอร์ใหญ่มีวิธีสะสมความรู้ยังไงบ้าง

มีสิ่งหนึ่งที่พี่จะต่างจากคนอายุ 30 กว่า ๆ ด้วยกันเนี่ย คือเขาบอกอว่าคนอายุเกิน 30 จะฟังเพลงย้อนหลัง เพลงเก่า ๆ แต่พี่จะเบื่อเพลงเก่า พี่จะฟังแต่เพลงใหม่ ๆ พี่ยังฟังเพลงเหมือนเด็ก ๆ อยู่อะ ยังชอบที่จะ ‘มีเพลงใหม่ ๆ ปะ ขอฟังหน่อยดิ’ มีวงใหม่ ๆ ที่ใครเขาว่าดีก็จะอยากฟัง เท่ากับว่าเรายังเท่าทันกับสิ่งที่เด็ก ๆ ชอบอะ อันนี้ก็ต้องยอมรับหน่อยนึงว่ากลุ่มเป้าหมายเรายังเป็นเด็กวัยรุ่น นักศึกษา วัยทำงานเบื้องต้น ก็ต้องเข้าใจในลูกค้าประมาณหนึ่ง

เวลาต้องทำงานกับหลาย ๆ วงในค่ายที่แนวเพลงไม่เหมือนกัน ส่วนตัวเรามีอุปสรรคกับมันมั้ย

มันอาจจะเพราะพี่ฟังเพลงหลากหลายด้วย เป็นนักฟังเพลงมาก่อน หรือเราไปดูดนตรีสดก็ดูได้ทุกแนว พอมาเจอหลาย ๆ แนวก็ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการเสพของเราเนี่ยมาใช้กับการทำงานได้หมดเลย

ส่วนตัวคิดว่า ค่ายเพลงยังจำเป็นกับศิลปินอยู่ไหม

อันนี้เคยคิดเล่น ๆ เหมือนกัน เคยทำสัมมนากับฟังใจว่า ‘ศิลปินต้องมีค่ายรึเปล่า?’ มันน่าจะอยู่ที่เป้าหมายของวง ว่าวงอยากไปถึงไหน เช่นวงต้องการแค่ทำเพลงให้คนฟังเฉย ๆ ฟังมากฟังน้อยช่างมัน บางวงเขาก็อยากเป็นอาชีพ ต้องอยู่ได้ด้วยเพลง เพลงจะต้องเข้าถึงคนมากที่สุด เขาก็ต้องมีค่ายเพื่อซัพพอร์ตตรงนี้ อยู่ที่เป้าหมายล้วน ๆ เลยอะ ต้องเอาเป้าหมายมาคุยกันก่อนว่าคุณอยากไปถึงไหน มันก็มีบางอย่างที่วงทำได้ บางอย่างที่วงทำไม่ได้ ความพร้อมทั้งเวลาการจัดการ การสร้างบางอย่างขึ้นมาโดยใช้พลังงานและความรู้พิเศษขึ้นมาที่แค่วงทำด้วยตัวเองไม่ได้ ถ้ามีค่ายก็คงดีต่อการพากันไปสู่จุดที่ดีกว่าวงทำเอง หาค่ายที่จะมาซัพพอร์ตส่วนที่เราขาดให้ได้ จะไปหาค่ายอะไรก็ได้อยู่มันก็ไม่ใช่ก็ต้องเป็นค่ายที่ตรงกับแนวทางของ พี่ก็ต้องปฎิเสธกับหลาย ๆ วงที่ไม่ใช่แนวทางที่พี่ทำอยู่ หรือไม่น่าทำงานด้วยกันได้ เช่น วงมาถึงบอกชอบพี่เสก โลโซมากเลย อยากดังให้ได้อย่างนั้น พี่ก็ต้องบอกว่าคุณมาผิดที่แล้วแหละ ก็ต้องไปค่ายที่ใช่กว่ารึเปล่า

Parinam Music ก็พาหลาย ๆ วงในค่ายไปทัวร์ต่างประเทศ สมัยนี้มันไปง่ายขนาดนั้นเลยหรอ

อันเนี้ยอยู่ที่การวางเป้าหมายเหมือนกัน แต่เราก็ค่อยเป็นค่อยไป กูจะไปเมืองนอกอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เราจะต้องทำยังไงให้คนฟังเพลงไทยชอบเราด้วย อยากบอกวงทั่ว ๆ ไปด้วยว่าก่อนจะคิดไปเมืองนอก ต้องมีแฟนในประเทศก่อน มันมีหลาย ๆ วงที่ชอบมาปรึกษาพี่ว่าอยากพาวงไปเมืองนอกบ้าง พอมาดูผลงานในไทยเขายังไม่ค่อยมีผลงานเท่าไหร่เลย การมีเพลงเท่านี้เอง การเป็นที่รู้จักเท่านี้เอง มีเพลงที่พอจะสร้างฐานแฟนในไทยก่อนอะ ต้องสร้างอะไรบางอย่างในบ้านเราก่อนถึงจะออกไปนอกบ้านได้

อย่าง Gym & Swim ตั้งไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่หยุดแค่เมืองไทย มันวางแพลนไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่าจะไปเมืองนอก เขาเลยทำแต่เพลงภาษาอังกฤษอย่างเดียว เพลงแรกสุด Ironman เป็นเพลงไทยเพราะเขาไปอยู่โปรเจกต์หนึ่ง แต่นอกนั้นเลยเป็นเพลงอังกฤษหมด ด้วยความที่วงเขาเป็น super band ที่ทุกคนมีวงทำเพลงภาษาไทยของตัวเองอยู่แล้ว วงนี้เลยเป็นจุดกลางของทุกคนน่าจะเป็นอีกทางหนึ่งได้ อันนี้คือทำไปเรื่อย ๆ เลยนะ เราก็ไม่ได้ผลักดันแบบโหดร้ายด้วยว่าต้องไปเมืองนอกเลย เลยเน้นคนไทยก่อน ก็ทำเพลงที่คนไทยชอบด้วย พอคนไทยชอบก็ไปเองแบบอัตโนมัตินิดนึง แล้วดันมีค่ายเพลงที่ญี่ปุ่นดันสนใจขึ้นมาเขาก็มาขอเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายซีดีที่ญี่ปุ่นได้มั้ย นั่นก็เป็นประตูบานแรกเลย ที่สำคัญคือมันจะมีจุดที่เราต้องยอมเจ็บตัวก่อน เหมือนวงในไทยอะ เวลาเราอยากเล่นก็ต้องหาที่เล่นให้ได้ ไม่มีใครจ้างก็ต้องไปขอเล่นฟรี เมืองนอกก็อาจจะเหมือนกัน (หัวเราะ) ครั้งแรกที่วงไปทัวร์ญี่ปุ่นก็ต้องลงทุนเองเหมือนกัน เป็นการเปิดประตูให้คนข้างนอกเห็นว่ามีวงเราอยู่นะ (FJZ: แต่มันก็อยู่ในแผนของเราอยู่แล้ว) ใช่ เป็นทัวร์ค่อนข้างเหนื่อยด้วย เล่นโตเกียว อีกวันไปโอซาก้าเสร็จ เช้าก็ต้องกลับมาเล่นโตเกียวอีก ไม่ได้หรูหราอะไร แบกเครื่องดนตรีขึ้นรถไฟฟ้า ขึ้นรถเมล์

ปูม Parinam Music Seen Scene Space

อย่างเรื่องวีซ่าล่ะ

ไอ้การที่เราจะไปเล่นได้เนี่ย ไม่ใช่โทรศัพท์หรือส่งอีเมล์ไปบอกที่ live house เฮ้ย เราอยากเล่นอะ ขอไปเล่นหน่อย ก็ต้องรอผู้จัดเขายืนยันก่อนถึงจะได้หนังสือรับรองเพื่อมาทำวีซ่าก่อน (FJZ: อยู่ดี ๆ จะเข้าไปเล่นไม่ได้) ถ้าในแง่กฎหมายอะผิด พี่ก็พอรู้ว่ามีคนทำกัน แต่ถ้าเราไปเราจะทำให้ถูกต้องทุกครั้ง เพราะเราไม่ต้องการความเสี่ยงใด ๆ

ประสบการณ์ 10 กว่าปีนี้ วงการเพลงสอนอะไรเราบ้าง

ก็หลาย ๆ เรื่องที่เขาบอกมันก็จริงนะครับ รายได้หลักของเราตอนนี้คือคอนเสิร์ต (หัวเราะ) ปลานิลเต็มบ้าน เนี่ยอยู่ได้ด้วยคอนเสิร์ตเลย คนฟังเพลงใน YouTube เยอะก็จริง แต่ซีดีมันขายไม่ได้ คนอาจจะไม่ซื้อกันแล้ว การเป็นศิลปินอินดี้เนี่ย ทำเพลงอย่างเดียวเป็นอาชีพน่ะยาก ควรจะหางานประจำทำกัน (หัวเราะ) ศิลปินแทบทุกคนในค่ายเราก็จะมีงานประจำทำเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตในการกินอยู่ ต้องบอกทุกคนให้เข้าใจว่าเป็นไปได้ยากมากที่จะอยู่ได้ด้วยการเอาอันนี้เป็นอาชีพหลักน่ะ

มีโมเมนต์ที่ประทับใจที่สุดตั้งแต่ทำค่ายมาไหม

ซัก 3-4 ปีที่แล้ว พี่จัด Parinam Music Mini Fest คือเอาวงในค่ายเราทุกวงมาเล่นกัน มันเลยเป็นการวัดชัด ๆ ไปเลยว่าคนที่มาคือแฟนค่ายเราจริง ๆ ถึงงานมันจะไม่ได้กำไรอะไรทั้งสิ้นเลย (หัวเราะ) แต่มันประทับใจได้เจอแฟนเพลงจริง ๆ แล้วทุกครั้งที่เห็น feedback ดี ๆ จากคอมเมนต์ YouTube เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อันนั้นก็เป็นกำลังใจที่ดี (FJZ: ใครไปตัดพ้ออะไรในคอมเมนต์ YouTube นี่อ่านหมด) เฮ้ย พี่ดูหมดจริง ๆ นะ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ยังดูอยู่เลย ถ้าเพลงไหนเป็นเพลงเศร้ามากก็จะพร่ำเพ้อถึงแฟนเก่าเขา อย่างเพลงของ ปลานิลเต็มบ้าน ก็จะมีความ build up ชีวิตหน่อย ก็มีคนมาคอมเมนต์ว่าผมลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้ได้เพราะฟังเพลงพี่นะ เราก็ยินดีกับวงไปด้วย เป็นกำลังใจในการทำงานอย่างหนึ่ง เรามาถูกทางแล้วว่ะ หรือ Seal Pillow ยังเงี้ย ทั้งวงแม่ง loser มาก ๆ ทำเพลงเฟรนด์โซน ก็มีคนที่ชอบเพลงแนวนี้ต่าง ๆ นา ๆ ส่งเพลง Seal Pillow ไปจีบสาวแล้วจีบไม่ติด เราก็ยังมาขำกันในวงว่าเอาเพลงวงเราไปจีบสาวเนี่ย มันเพลงเฟรนด์โซน! (หัวเราะ) ใครดู mv Sensei ส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปตีความว่าพาแฟนไปเที่ยว จริง ๆ ไม่ใช่ mv นี้มันเฟรนด์โซนสุด ๆ เลยนะ คุณจะไม่ได้เห็นการจูงมือกันของผู้ชายกับผู้หญิงเลยนะ เราทำตัวเป็นเพื่อนอะแค่แอบชอบอีคนเนี้ย ผู้หญิงแค่นัดไปเที่ยวกัน เขาไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์อะไรเลย (หัวเราะ) ดูนั่น ดูโน่นสิ แต่ไม่มีช็อตสวีทกันเลย จูงมือกันยังไม่มีในนั้น มันไม่ใช่ mv รักไง ก็สนุกดี เวลาเราเห็นคนตีความการทำงานของแต่ละวงออกมาก็มีความหนุกหนาน

เบื้องหลังของ FEVER ก็มีคนของ Parinam เยอะมาก ทำงานกับวงไอดอลเป็นยังไง

อันนี้ต้องให้เครดิตตาเฉลิมเลย มันเป็นไอเดียที่ตั้งขึ้นมานานมาก ๆ แล้วล่ะ มันก็มาคุยกับพี่ด้วย จนแบบเอาไงดีวะ คิดไปคิดมาถ้าเราทำเองนี่ไม่น่ารอดแน่เลยว่ะ (หัวเราะ) ก็มีคนสนใจทำ ทีนี้ก็คุยกันว่าถ้าเราทำเพลงอะไรที่มันแตกต่างจากวงไอดอลชาวบ้านที่มีอยู่แล้ว ให้เด็กที่ฟังเพลงนอกกระแสชอบด้วยก็น่าจะดีเหมือนกัน เฉลิมเลยเอาคนรอบ ๆ ตัวเขามาช่วยทำ สนิทกับ Polycat ก็เอา เพียว มาทำไลน์เบส ปกป้อง Plastic Plastic ก็มาช่วยกัน จริง ๆ นอกค่ายก็มีเยอะนะ เราต้องการคนมาคุมอัดร้องก็เห็น ออม TELEx TELEX จบสายวอยซ์มาเอามาช่วยดิ๊ ก็มาช่วยกัน ตัวพี่มีส่วนน้อยมากเลยนะ (หัวเราะ) มาทำมิกซ์กับมาสเตอร์เฉย ๆ ในอนาคตเพลงต่อไปก็อาจมีคนของ Parinam อีกมากมาย สปอยล์ไว้เลย เพลงสามใกล้เสร็จแล้วเหมือนกัน

แล้วจุดเริ่มต้นของ Seen Scene Space ล่ะ เป็นมายังไง

คาแร็กเตอร์หนึ่งของ Parinam Music คือเราจะไม่ไปดูดศิลปินดัง ๆ มา คือพี่ไม่ใช่สายนั้น ไม่หนุกอะ แล้วแอบรู้สึกว่าถ้าเอาดัง ๆ มาเราจะดูแลเขาไม่ดี ค่ายเลยเน้นปั้นศิลปินใหม่ เป็นวงที่เริ่มทำกันใหม่เลยอะ น่าจะมัน มียุคหลัง ๆ ที่เพิ่งเริ่มชวน ๆ บ้าง เลยมี temp. หรือ FOLK9 เข้ามา หลังจากที่เปิดค่ายตั้งแต่ปีแรก ๆ มันก็ยังเป็นค่ายใหม่ มีแต่วงใหม่ ๆ หมดเลย ไม่มีใครชวนไปเล่นงานไหนเลยซักกะที่ กูจัดงานเองมั่งก็ได้วะ เลยได้จัดคอนเสิร์ตของค่ายไปเป็นมิวสิกปาร์ตี้ตามร้านเหล้าต่าง ๆ เน้นวงในค่ายแต่ก็มีเชิญวงนอกค่ายมาแจมบ้าง ก็สนุกกับการจัดงานคอนเสิร์ตไปด้วย อย่างที่พี่บอกว่าพี่ก็มีความฝันหลายเรื่องใช่มั้ย หลัง ๆ ก็รู้สึกว่าการจัดคอนเสิร์ตก็เป็นส่วนหนึ่งของวงการเพลงเหมือนกัน ก็เริ่มสนุกกับมันไปเรื่อย ๆ ประมาณ 5-6 ปีที่แล้วพี่ก็เปิดร้านคล้าย ๆ live house แบบ PLAY YARD ชื่อ ณ นคร มินิบาร์ ก็จัดงานดนตรีอินดี้กันแบบหนุกหนานรัว ๆ เหมือนที่นี่คือโรงเรียนของการฝึกจัดคอนเสิร์ตแบบจริง ๆ เลย พอร้านเจ๊ง (หัวเราะ) ก็เหงา ๆ เริ่มคิดถึงการจัดคอนเสิร์ต ตอนนั้นอยากจัดคอนเสิร์ตจริงจังเลยว่ะ กำลังอิน เลยคุยกับเพื่อนที่เคยหุ้นส่วนกันทำร้าน เรามาตั้งทีมคอนเสิร์ตกันเล่น ๆ ดีกว่า ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดนะว่าจะเอาวงนอกมา คุณอารอนจาก Seal Pillow ก็ช่วยตั้งให้ว่า Seen Scene Space เขาบอกว่าเอาคำนี้แหละมันเกี่ยวข้องกับทุกอย่างดี

ตอนแรกสุดก็จัดแต่วงไทยอย่างเดียว แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้มันจริงจังมากขึ้นคือเรามาจัดงานที่ชื่อว่า POW! FEST กันดีกว่า ด้วยความที่ในค่ายก็มีวงอย่าง Seal Pillow, Wave And So หรือ Gym & Swim แล้วก็มองหาว่าในวงการเพลงมีวงคล้าย ๆ วงในค่ายเราอีกมั้ย ชวนมาเล่นด้วยกัน ก็มี FWENDS ที่เพิ่งตั้งเลย Safeplanet เพิ่งมีสองเพลงเองมั้ง Hariguem Zaboy กับ Summer Dress เฮดไลน์น่าจะเป็น SLUR พอวางอย่างงี้เสร็จ ในทีมก็คุยกันว่าน่าจะมีวงนอกซักวงมั้ย จะได้ดูเจ๋งดี ก็ไม่ได้คิดอะไรกันเลยจนมีซักคนเสนอ The fin. ขึ้นมา เฮ้ย เจ๋งว่ะ ใกล้เคียงกับแนวเราดี น่าไปเชิญเขามา เขาก็มาแต่โดยดีเลย แล้วคนดูแลวงเขาน่ารักมาก ๆ ตอนนี้ยังเป็นเพื่อนกันอยู่เลย ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ Seen Scene Space แบบที่เป็นทุกวันนี้

ส่วนใหญ่วงที่เอาเข้ามาก็จะเป็นสายเอเชีย สาย post-rock คือเราคิดมาแล้วหรือเราอยากดูเองมากกว่ากัน

4-5 ปีก่อนมันก็มีผู้จัดแนวดนตรีนออกกระแสไม่กี่เจ้า ตอนนั้นมีแค่ Have You Heard? เจ้าเดียวมั้ง เราก็ไม่อยากทับไลน์เขาอะ เขาทำแบบนี้อยู่แล้วทำไมเราต้องทำแบบเขาด้วย ไปแย่งกันคงไม่หนุก พอ The fin. เป็นวงญี่ปุ่นมาก็ฟลุ๊กมากไม่รู้ว่าคนไทยรู้จักรึเปล่า (หัวเราะ) ยังไม่มีทีมรีเสิร์ชอะไรเลยมันคืองานแรกที่เอาวงนอกมา ก็มั่ว ๆ ซั่ว ๆ เอามาให้งานมันมีสีสัน ตอนนั้นเรามั่นใจกับไลน์อัพวงไทยเราแล้วไง กลายเป็น The fin. สร้างความฮือฮาในระดับหนึ่ง ไปเอามาได้ไงวะเนี่ย (หัวเราะ) มันมีแฟนที่ฟังอินดี้เอเชียอยู่นี่หว่า ก็เลยเริ่มมองไปที่วงเอเชียเพราะมันเชิญง่ายดีว่ะ เวลาเชิญวงฝรั่งมาเขาจะชอบถามว่ายูเคยจัดอะไรบ้าง อะไร ยังไง ทำไม เราก็ยังไม่เป็นที่รู้จักและขี้เกียจไปสร้างชื่อเสียงอะไรตรงนี้ในยุคนั้น แต่ชวนวงเอเชียมันบ้านใกล้เรือนเคียงไง มาเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องรอช่วยเขาทัวร์เอเชีย มันเลยเป็นทางนั้นไป

จังหวะหนึ่งมันอาจด้วยความที่พี่จัดวงเอเชียอยู่ดี ๆ เอเจนซี่ของวง MONO เขาคงเห็นมั้งว่าไอ้เจ้านี้จัดวงเอเชียว่ะ เลยมาเสนอซึ่งเป็นวงโพสต์ร็อกที่ดังมาก เลยได้จัด เหมือนเราเลยไปเปิดอีกซีนหนึ่งขึ้นมาคือซีนโพสต์ร็อกที่กำลังเหงา ๆ หลังจาก SO::ON DRY FLOWER เขาเลิกทำไปแล้วอะ มันไม่มีใครจัดงานโพสต์ร็อกอีกแล้วในตอนนั้นอะ พี่ดันไปปลุกกระแสมันนิดนึง อ่อ มันยังมีคนที่รอคอยชาวโพสต์ร็อกมาในไทยอีกนะ พี่ก็ฟังนะแต่ฟังไม่ลึก อย่าง pg.lost ยอมรับว่าตอนนั้นไม่รู้จักแต่ที่ปรึกษาในอย่าง พี่นพ Inspirative ก็ไปถามเขาว่าชอบมั้ย พี่นพก็บอกให้เอามาเลย ฮอน Hope The Flower ก็ไปปรึกษาบ่อย ๆ ในยุคแรก (FJZ: แล้วอย่าง PREP ล่ะครับ) การเลือกวงของเราอีกอันหนึ่งนอกจากพี่ชอบเองแล้วเนี่ย ศิลปินในค่าย Parinam เนี่ยแหละช่วยกันเสนอ พอพี่จัดงานมันก็มากันใหญ่ละ PREP เนี่ยน่าจะเป็น เติร์ก Gym & Swim กับ โอ๊ต Wave And So มาพร้อมกันโดยไม่ได้นัดเลยว่าเขาจะมาทัวร์เอเชีย เอาเลย พอเราลองฟังครั้งแรกก็เพราะเลยอะ ฉะนั้นมันต้องมา แม้กระทั้งพี่เฮอร์แฟนพี่เขาบอกว่าเพลงของวงนี้มันเปิดในร้าน H&M นี่หว่า (หัวเราะ) ก็ชวนมา เขาก็มาอย่างง่าย เขาคงงง ๆ ว่ากูดังหรอวะ เอากูมาเนี่ย จัดงาน PREP เนี่ยก็ค้นพบว่าแม่งมีแฟนประจำ Seen Scene Space แล้วอะ เขาไม่รู้จักวงที่เอามานะแล้วเขาไปตามฟัง เฮ้ยชอบ เลยซื้อบัตร อะไรเงี้ย ตอนนั้นเขามายังเป็นวงเล็ก ๆ อยู่เลย ไม่มีผู้จัดการ มาแต่สมาชิกวง ซาวด์เอนจิเนียร์ยังไม่มีพี่ยังต้องหาคนไทยมาช่วยเลย

POW! FEST ครั้งล่าสุดก็เป็นครั้งที่ 4 ละ ครั้งนี้มีไม้เด็ดอะไรบ้าง

อันเนี้ยก็เซอร์ไพรส์เหมือนกันที่เรามีแฟนประจำ POW! FEST นี่หว่า ครั้งนี้ก็เพิ่งได้เปิดเพจแยกออกไป อีงานนี้ก็เริ่มถอยห่างจากความ Seen Scene Space ประมาณหนึ่ง มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนอยู่ นี่เป็นงานที่พี่จัดเอามันอะ ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งนี้ แค่อยากให้ซีนของดนตรีแนวนี้ยังมีที่ยืนบ้าง นั่นคือก็คือ dream pop, shoegaze, surf pop หรือ surf rock อะไรเงี่ย งานของซีนดนตรีแนวเนี่ยไม่มีเลย POW! FEST เนี่ยแหละจะเป็นที่ยืนให้กับวงแนว ๆ นี้ละกัน รวมถึงวงไทยด้วย ใครติดตามว่าหลัก ๆ จะเป็นวงไทย แล้วจะมีวงนอกมาแจม 2-3 วง ครั้งนี้ก็ไม่ผิดหวังแน่ ๆ ใครที่ชอบ dream pop กับ surf rock ที่เด่น ๆ ในซีนบ้านเราตอนนี้ ได้เจอในงานนี้แน่ ส่วนวงนอกที่จะเอามาก็น่าจะเซอร์ไพรส์กันหน่อยหนึ่งมั้ง จะมีวงรุ่นใหญ่ที่ใบ้ไปแล้วด้วย (หัวเราะ)

ที่ใบ้ไปนี่ใครเดาถูกคือเอามาหมดทุกวงแน่นอน

มันบอกตั้งแต่หัวโพสต์แล้วว่า ‘Seen Scene Space never lies’ (หัวเราะ) แค่ครั้งที่แล้วมันมีเหตุไม่คาดฝันนิดหน่อย แต่เราไม่เคยโกหกอยู่แล้ว

อย่างพี่ได้ไปเห็นซีนต่างประเทศมาแล้ว อย่างนี้งซีนเรากับซีนเขาแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

แต่ละประเทศก็แตกต่างกันมากเหมือนกัน ใกล้เคียงสุดน่าจะอินโดนีเซีย คล้ายบ้านเรามากเลย ซีนแมสก็แมสไปเลย อินดี้ก็จะมีแยกระดับ ตอนไปคุยงานที่อินโดก็ได้ดูวงอินดี้รุ่นใหญ่ ตีความว่าเขาน่าจะเป็น Greasy Cafe บ้านเรามั้ง ก็มีคนไปดูหลักพันเลยนะ ปัญหาก็เหมือนบ้านเราที่ไม่ค่อยมีที่ให้จัด เอามาคนก็ไม่อยากดู บัตรแพงคนก็ไม่อยากไป ที่ญี่ปุ่นนี่มันมาก ซีนดนตรีเขาใหญ่โตมโหฬาร ซีดีก็ยังมี Tower Record ก็ยังอยู่ live house ที่ให้วงไปเล่นก็มีเต็มไปหมดเลย เจ๋งว่ะ ไต้หวันก็ดูใหญ่กว่าไทยนิดนึง แต่เล็กกว่าญี่ปุ่น มี live house เยอะประมาณหนึ่ง แต่วงเริ่มบ่นว่าไม่มีที่จัดงานละ พี่ว่าไต้หวันก็ค่อนข้างแข็งแรงเหมือนกันนะ เขาจะมีวงของไต้หวันที่คนติดตามเยอะ ๆ Sunset Rollercoaster ความดังก็น่าจะเทียบได้กับ Tattoo Colour หรือ Scrubb บ้านเราเลยนะ วงมันค่อนข้างแนวมาก ไม่อยู่ค่าย ปีนี้เองมั้งเขาเพิ่งตั้งบริษัท Sunset Rollercoaster Company เพื่อดูแลเจรจาธุรกิจให้วงตัวเอง ความแข็งแรงอย่างหนึ่งของวงการดนตรีที่ไต้หวันคือสื่อดนตรีเขาแข็งแรงมาก เขามีฟีลแบบ Fungjaizine หลายหัวมาก วงอิสระเลยอยู่ได้ แถมรัฐบาลก็ซัพพอร์ตสุด ๆ วงไต้หวันอยากไปทัวร์เอเชียก็ติดต่อทำเรื่องไป แม้กระทั้งตอน Gym & Swim ตั้งใจจะไปเล่นไทเปที่เดียว ตัวแทนที่ไต้หวันเขาไปทำเรื่องอะไรไม่รู้ รัฐก็ให้ตังมาเป็นค่ารถให้ไปเล่นที่เมืองเกาสงอยู่ล่างสุดด้วย ให้ค่ารถอย่างเดียวก็ยังดีอะ เลยได้เล่นสองเมือง อยู่ดี ๆ รัฐก็ให้เงินต่างประเทศเพื่อไปเล่นให้คนของเขาดู (หัวเราะ) เว่อมาก live house ที่เราไปเล่นก็เป็นของรัฐบาลด้วย ฮ่องกงก็เหมือนกัน Clockenflap สปอนเซอร์หลักก็คือรัฐบาลนะ เขาถือเป็นอุตสาหกรรมที่เรียกคนเข้ามาเที่ยวประเทศเขาได้ เนี่ยแหละ การที่มันจะเติบโตได้ต้องใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนรวมถึงรัฐบาลด้วย

ปูม Parinam Music Seen Scene Space

อยากให้รัฐบาลไทยเข้ามาช่วยซีนเรายังไง

เอาแค่เวลาคนจะจัดงานให้คนจัดง่าย ๆ หน่อยเหอะ จะจัดงานทีต้องไปวิ่งเต้นประมาณหนึ่งกว่าจะได้จัดงาน ส่วนใหญ่ก็หน่วยงานภาครัฐทั้งนั้นเลยที่เรามีปัญหาด้วย ยังไม่ต้องให้ตังเราก็ได้อะแค่ช่วยเคลียร์ปัญหาตรงนี้ให้หน่อยได้มั้ย

ต่างประเทศเขารู้จักซีนไทยหรือรู้จักวงไทยด้วยไหม

รู้จักเยอะเหมือนกันนะ ล่าสุดที่เกาหลีเขาเชิญ Gym & Swim ไปเขาก็ถามถึงวงนั้นวงนี้อยู่เลยนะ ถ้าไอเอา Polycat มาจะยากมั้ย เขาสนใจจริง ๆ นะ ก็มีหลาย ๆ วงที่ทำเพลงแล้วดังในบ้านเราแล้วเพลงมันกระเด็นไปโดนเขาก็มีเยอะอยู่ กลางปีที่แล้วก็เพิ่งไปสัมมนาที่ปักกิ่งมา เขาก็ตามถึงเพลงไทยเยอะเหมือนกันนะ ไอรู้จักวงนั้นวงนี้นะ รู้สึกดีที่เขาเป็นคนในวงการระดับประเทศแต่ก็ยังได้ยินได้ฟังเพลงของเรา

ถ้ามีคนอยากลองเป็นโปรโมเตอร์เองบ้าง ต้องเริ่มยังไง

เบื้องต้นคงต้องไปศึกษาหาความรู้นิดนึง อย่างพี่ในการทำ Seen Scene Space ข้อได้เปรียบของพี่หลัก ๆ เลยคือพี่มาจากสายโปรดักชัน พี่มีความเข้าใจจากการจัดคอนเสิร์ตมาก่อน ทำละครเวที เคยทำเพลงหรือรู้เรื่องซาวด์เอนมาก่อน พี่จะเข้าใจหมดเลยทั้งเรื่องแสงสีเสียง ข้อสองคือเราก็ต้องตะเวณดูอะ ใช้ประสบการณ์ของเราเข้ามาบวกลบคูณหารว่างานนี้ควรมี ไม่ควรมีอะไรบ้าง ทำอะไรแล้วคนด่าคนชอบบ้าง และต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้ดี ยอมรับการโดนด่า (หัวเราะ) ที่มันจะถาโถมเข้ามาในครั้งที่เราทำผิดพลาด แล้วต้องเตรียมพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วย หลัก ๆ เป็นเรื่องของทัศนคติด้วย มองย้อนกลับไปในการแก้ปัญหาของตัวเองในช่วงแรก ๆ ที่จัดงานก็คิดว่าเราก็แก้ปัญหาได้ดีเหมือนนี่หว่า (หัวเราะ) เขามีปัญหาเรื่องบัตรก็แก้ไขตรงนั้นเลย เราเรียน PR marketing มาด้วยเขาก็จะสอน crisis management มันต้องให้ทันและถูกจุด ไม่ควรปล่อยให้มันค้างนานไฟลามทุ่ง พี่ก็แข็งแกร่งด้วยการทำค่ายอินดี้ที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าไหร่มาได้หลายปี (หัวเราะ)

อยากฝากอะไรถึงศิลปินรุ่นใหม่ที่ตั้งไข่หรือกำลังทำงานอย่างหนักกันอยู่ตอนนี้

ถ้าให้แนะนำคือถ้าเป็นวงอะ ต้องมาประชุมกันให้ชัดเจนว่าเป้าหมายของวงเราคืออะไร ทุกสิ่งอย่างไม่ว่าจะการทำเพลง แม้โซเชียลเน็ตเวิร์ก การคุยกับผู้คนหรือการถ่ายรูปกับใครเนี่ย มันจะทำให้ง่ายขึ้น ถ้าเราวางเป้าหมายไว้ว่าอยากจะดังมาก ๆ ดังแบบ Bodyslam ก็ต้องทำให้เนียนเป๊ะ เราต้องไปอยู่ในค่ายที่ผลักดันให้เราไปอยู่จุดนั้นได้ หรือไม่เป็นไร เราทำเพลงให้คนรู้จักก่อน ก็ต้องตั้งใจในสิ่งที่เราจะทำ ตั้งหน้าตั้งตาทำงานของเราต่อไป มั่นคงกับแนวทางไว้แล้วมันจะมาเอง มันก็มีคนที่ทำเพลงไม่สนใจกระแส ก็ทำไปถ้าเป้าหมายคุณไม่ได้คาดหวังว่าจะโด่งดังเพราะเรามีงานประจำแล้ว ทำสิ่งที่เราทำต่อไปมันก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วที่ทำเพลงให้คนฟัง หรืออยากให้เพลงมันดังในระดับนั้นก็ต้องเลือกเส้นทางการทำงานที่ถูกต้อง ตั้งเป้าหมายของวงให้เรียบร้อยร่วมกัน มันจะได้ไปได้ถูก ไม่ต้องมาทะเลาะกันระหว่างทาง บางวงทำเพลง experimental ยากโคตร ๆ psychedelic มาก ๆ แต่จะมาคาดหวังให้ดังแบบ Safeplanet เงี้ยมันเป็นไปไม่ได้ แล้วมานั่งดาร์กว่าทำไมไม่มีใครฟังเพลงเราเลย ก็คุณทำเพลงแบบนี้ มันคือการวางเป้าหมายและทัศนคติที่ถูกต้อง อันนี้สำคัญสุดเลย

ฝากผลงานของค่ายได้เต็มที่เลย

ฝากผลงาน Parinam Music ด้วยนะครับ กำลังจะมี ep ใหม่ของ Gym & Swim ชื่อว่า Amazing Ping Pong Show (หัวเราะ) FOLK9 เพิ่งปล่อยอัลบั้มล่าสุดไป Chinese Banquet ก็กำลังจะได้ไปทัวร์ที่ไต้หวัน Wave And So ที่ทำเพลงกันมา 4-5 ปีแล้วก็กำลังจะมีอัลบั้มเต็มแล้ว Cloud Behind ก็กำลังจะมีอัลบั้มเต็มตอน Cat Expo ปีนี้แน่นอน temp. มีขายสอง ep แล้วนะครับ กำลังจะได้ไปทำเพลงกับค่ายญี่ปุ่น รวมอัลบั้มวางที่ญี่ปุ่นแล้วมีเพลงพิเศษในนั้นด้วย คนไทยได้ฟังในสตรีมมิ่งแน่ ๆ ส่วนซีดีนี่กำลังคิดอยู่ว่าอยากทำอะไรให้มันพิเศษกว่าไปวางขายธรรมดา ๆ อาจจะจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ มีตติ้งสำหรับแฟนวงนี้แล้วแจกซีดีที่มีเพลงพิเศษให้คนมางานไปเลย ปลานิลเต็มบ้าน ตะลุยทำเพลงใหม่กันอยู่ ซิงเกิ้ลที่สองของอัลบั้มที่สามกำลังตามมา ฝากวงใหม่ ๆ ของค่ายด้วยครับ Evil Dude หรือ Pimrat ก็จะกลับมาแล้ว ChillGuest ด้วยความที่เขาเป็นวงชิล ๆ เขาก็จะทำเพลงเมื่อไหร่เขาก็มา เป้าหมายของวงนี้คือทำเพลงเพราะอย่างเดียวก็ฝากติดตามเขาไปเรื่อย ๆ เป็นวงที่กลับไปฟังเพลงเก่า ๆ ของเขาก็ยังรู้สึกดีอยู่อะ Seal Pillow ก็กำลังทำอัลบั้มใหม่อยู่เหมือนกัน ส่วน Seen Scene Space ก็จะมีงานที่ชื่อ POW! FEST วันที่ 15 มิถุนายนนี้นะครับ ใครเคยไปงานครั้งก่อนมาแล้วหรือเป็นแฟน Seen Scene Space น่าจะได้ความสนุกสนานกลับไป แต่ก่อนหน้านั้นก็มี The Japanese Breakfast และการกลับมาอีกครั้งของ Siamese Cats และ Circa Waves ที่เพิ่งประกาศไป ฝากงานต่อ ๆ ไปของเราด้วยนะครับ ใครอยากรู้ว่ามีวงอะไรไปดูที่เราใบ้ตอน April Fools’ Day ได้

ติดตามข่าวสารความสนุกของศิลปินที่เรารักได้ที่เพจ Parinam Music และติดตามข่าวคราวคอนเสิร์ตวงต่างประเทศใหม่ ๆ ทั้งในและนอกเอเชียได้ที่เพจ Seen Scene Space และ POW FEST

ปูม Parinam Music Seen Scene Space

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา