Plastic Plastic เมื่อดนตรีคือส่วนเติมเต็มความรู้สึกของ BNK48 ใน Girls Don’t Cry
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
จะมีอะไรน่าสนใจไปกว่าการที่ผู้กำกับลายเซ็นจัดอย่าง เต๋อ นวพล เลือกที่จะทำภาพยนตร์สารคดีถ่ายทอดแง่มุมที่เราไม่เคยเห็นของ BNK48 ไอดอลแห่งชาติที่ไม่น่าจะมีใครไม่รู้จักพวกเธอ และด้วยกระแสตอบรับที่ดีแบบถล่มทลายทำให้เราต้องไปพิสูจน์ด้วยตัวเองว่าจะดีงามแบบที่หลายคนพูดไว้หรือเปล่า
หลังจากที่ดูจบก็พบว่าเต๋อยังเป็นผู้กำกับที่เลือกหยิบประเด็นมานำเสนอได้น่าสนใจ มีอารมณ์ขัน และไม่ทิ้งจังหวะการเล่าเรื่องหรือการตัดต่อเป็นเอกลักษณ์ของเขาไปแม้แต่น้อย และนอกจากเส้นเรื่องหลักแล้ว สิ่งที่ดึงความสนใจเราไปจากความน่ารักสดใสของน้อง ๆ ได้โดยสิ้นเชิง คือดนตรีประกอบที่เป็นอีกส่วนสำคัญของหนังที่ทำให้เราต้องตั้งใจฟัง เพราะมันสามารถทำหน้าที่เล่าเรื่องที่น้อง ๆ บอกเล่าให้สมบูรณ์ขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยคนที่อยู่เบื้องหลังสกอร์เหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นคู่พี่น้องมหัศจรรย์ Plastic Plastic ปกป้อง และ ต้องตา จิตดี เราจึงรีบติดต่อพวกเขาเพื่อไปหาคำตอบว่าอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ทั้งสองคนเล่าเรื่องผ่านเสียงเพลงออกมาได้ยอดเยี่ยมขนาดนี้
***บทสัมภาษณ์นี้สปอยล์ส่วนสำคัญของภาพยนตร์***
ก่อนหน้านี้ป้องกับเพลงเคยทำเพลงประกอบภาพยนตร์อื่นมาก่อนที่จะได้ทำ Girls Don’t Cry หรือเปล่า
เพลง: ก็มี ‘Die Tomorrow’ ค่ะ หนังของพี่เต๋อเหมือนกัน
รู้สึกยังไงตอนที่เต๋อชวนมาทำเพลงประกอบ ไปรู้จักกันได้ยังไง
เพลง: ก็ดีใจนะ คือตอนนั้นเพลงเดินไปเจอพี่เต๋อที่สยามโดยบังเอิญ ‘อ้าว หวัดดีค่ะพี่เต๋อ’ ปกติรู้จักกันแบบผ่าน ๆ ไม่เคยคุยกัน พี่เต๋อก็บอก ‘เนี่ยกำลังหาเบอร์เพลงอยู่พอดีเลย กำลังคิดอยู่ว่าจะหาจากใครดี จะให้ทำเพลงประกอบหนัง’
แล้วเขารู้ได้ไงว่าเราทำเพลงประกอบได้ด้วย
เพลง: เขาอาจจะไม่ได้คิดว่าเราทำได้ ตอนนั้นเขาอยากได้เปียโนคลาสสิก เหมือนเขารู้ว่าเพลงเล่นเปียโนได้ (ป้อง: ซึ่งเพลงมันก็เรียนคลาสสิกมา) แต่เพลงก็ไม่เคยทำนะ ไม่เคยมีงานที่มันเป็นเปียโนเดี่ยว เขารู้ได้ไงไม่รู้ ก็ลองดู
ต้องจูนเคมีเยอะหรือเปล่าตอนได้มาทำงานกับผู้กำกับคนนี้
ป้อง: ทำไปมันก็จูนกันไปเรื่อย ๆ ครับ เหมือนพี่เต๋อเขาก็มีศัพท์อะไรของเขาที่ไม่ใช่ศัพท์ดนตรี เราต้องมาแปลงอีกทีนึง เช่น ‘เร็ว–ช้า’ (เพลง: เขาบอกว่าตรงนี้มันเร็ว ๆ) ซึ่งเร็ว ๆ ของเขาคือเร็ว ๆ อะไรวะ
เพลง: เร็วของเขาบางทีมันไม่ใช่เล่นเร็วอะ แต่มันแปลว่าดูแล้วรู้สึกเร็ว ทำให้เราต้องมานั่งคิดอีกทีว่าเฮ้ย เร็วของเขาคืออะไร มีคำอื่นอีก อย่างคำว่า ‘น้อย’ เขาชอบบอกว่า อยากให้มันน้อย เราก็แบบ น้อยหรือช้า บางทีน้อยกับช้ามันมีเส้นบาง ๆ กั้นกัน ก็ต้องลองไปเรื่อย ๆ ว่าแบบนี้ใช่ไหม (FJZ: ก็ค่อนข้างที่จะเป็นการทดลองไปพร้อม ๆ กัน) ใช่
ตอนที่ทำ ‘Die Tomorrow’ กับ ‘Girls Don’t Cry’ ต่างกันขนาดไหน
เพลง: มันเป็นเปียโนเหมือนกันนะ แต่มันต่างกันตรงที่ว่า…
ป้อง: เรื่องหนังก่อนเลย มันเป็นเรื่องคนละแบบอยู่แล้ว
เพลง: ‘Die Tomorrow’ มันเป็นหนังปลงอะ คือความตายมันอยู่ใกล้ ๆ ตัว เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ต้องไปกลัวมัน มันเลยเป็นเพลงที่สงบ นิ่ง เป็นเพลงที่ฟังแล้วไม่ต้องรู้สึกอะไรทั้งนั้นเพราะความตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ BNK48 มันเป็นเรื่องการต่อสู้ของความรู้สึก ต้องทำยังไงก็ได้ให้มีอารมณ์ตามเด็ก ๆ ที่เขาพูด
ป้อง: แล้วก็โจทย์ของพี่เต๋อที่ให้มาก็ไม่เหมือนกัน ‘Die Tomorrow’ ทำยังไงก็ได้ให้ไม่รู้สึกว่าแฮปปี้มาก แต่ก็ไม่ได้เศร้าสุด จะดิ่งก็ไม่ดิ่ง (เพลง: ห้ามเศร้าเกินไป ห้ามสุขเกินไป)
แล้วสามารถทำได้จริงหรอ การไม่ให้อารมณ์เอนไปทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป
เพลง: เราก็คิดว่ายากนะตอนนั้น แต่เขาจะมี reference มาจากเพลงของ Claude Debussy เขาจะมีเพลงเพลงนึงที่เอาฟีลประมาณนี้ เขาบอก ‘พี่ฟังแล้วมันก็ไม่ได้มีความสุขนะ แต่มันก็ไม่ได้เศร้า’ ก็เลยต้องศึกษาจากเพลงนั้นว่าเขาใช้คอร์ดอะไร เขาเรียงยังไงมันถึงฟังแล้วไม่เกิดอารมณ์
ใช้เวลาศึกษาหรือปลุกปั้นนานขนาดไหนกว่าจะเคาะออกมาได้
เพลง: ศึกษาไปเรื่อย ๆ ศึกษาไปทำไป ไม่ได้ต้องนั่งคิดไปก่อน แต่เพลงก็ถึงขั้นวิเคราะห์เหมือนกันว่าเขาใช้คอร์ดนี้แล้วต่อด้วยคอร์ดนี้ทำไมมันถึงได้รู้สึกแบบนี้
การทำสกอร์ต่างจากการทำเพลงของตัวเองยังไงบ้าง
เพลง: ก็คือมันเป็นอะไรที่ต้องทำตามผู้กำกับ ต้องตามโจทย์ ปกติเราทำเราก็เอาตามที่ชอบ
ป้อง: อยากใส่อะไรเราก็ใส่
เพลง: จริง ๆ มันก็มีความเป็นเราด้วยนะเพราะเราเป็นคนคิด แต่ว่ามันมีกรอบ เราก็ต้องทำอยู่ในกรอบนี้
ป้อง: แล้วมันจะมีเรื่องการ sync สกอร์กับภาพ พี่เต๋อเนี่ยชอบ sync บ่อย โดยเฉพาะงาน BNK48 แต่ใน ‘Die Tomorrow’ จะไม่ค่อย sync มาก เหมือนดนตรีเป็นแบ็คกราวด์ปูไปเลย แต่ว่าของ BNK48 จะเป็นช็อตจึ๊ก ๆ ยึกยัก
จริง ๆ Plastic Plastic ก็เคยทำเพลงบรรเลงในอัลบั้ม Stay At Home มาแล้ว อยากรู้ว่าอะไรทำให้สามารถเล่าบรรยากาศออกมาแบบนั้นได้
เพลง: เล่นก่อนแล้วค่อยมาคิด ค่อยมาตั้งชื่อเพลงทีหลังว่าเพลงนี้ฟังแล้วมันดูเป็นอะไร
ป้อง: แต่ว่าหนังมันจะมีเรื่องมาให้ก่อนแล้วเราค่อยทำเพลง
รู้สึกว่าแบบไหนยากหรือง่ายกว่ากัน
เพลง: คิดว่าหนังนะ (หัวเราะ) ไม่รู้
ป้อง: คิดว่ามีโจทย์มันต้องยากกว่าอยู่แล้วครับ เพราะว่ามันต้องทำให้ได้ตามมู้ดที่ควรจะเป็น
‘Die Tomorrow’ ทำเป็นบรรยากาศคลอไปเฉย ๆ แต่ใน ‘Girls Don’t Cry’ ต้องเล่าเรื่องเกี่ยวกับ BNK48 รู้สึกยังไงหลังจากที่รู้ว่าต้องทำโปรเจกต์เกี่ยวกับกลุ่มไอดอลที่โด่งดังที่สุดในขณะนี้
เพลง: ตอนนั้นก็รู้สึกอยากทำนะ มันน่าจะท้าทายดี แล้วมันน่าจะเป็นอีกฟีล น่าจะไม่เหมือน ‘Die Tomorrow’ เลย แล้วตอนที่ไปฟังบรีฟแรก พี่เขาเปิดเพลงไกด์ให้ดู ก็รู้สึกว่าน่าจะถนัดนะ มันออกแนวเหมือนญี่ปุ่น เพราะว่าตอน ‘Die Tomorrow’ ตอนดราฟต์แรก ๆ พี่เต๋อไม่ให้ผ่าน พี่เต๋อบอกว่ามันญี่ปุ่นเกินไป บอกว่า ‘นี่ถ้ามีหนังอื่นนะจะให้ทำเลยถ้ามันจะออกมาญี่ปุ่นแบบนี้ แต่กับอันนี้ใช้ไม่ได้’ พอหนังเรื่องเนี้ย ได้ใช้แล้ว ความญี่ปุ่นแบบนี้แหละ
ก็เลยลงแก๊ปพอดี ซึ่งพอพูดว่าญี่ปุ่น มันมีบางซีนที่เราดูแล้วนึกถึง ‘Hana and Alice’
เพลง: อ๋อ มีคนบอกเหมือนกัน แต่จำเพลงเขาไม่ได้นะ ไม่แน่ใจว่าพี่เต๋อเขาส่งเรฟเพลงนี้มาด้วยหรือเปล่า เขาส่งมารัว ๆ 5 เพลงให้ฟัง แต่สุดท้ายการทำหนังมันก็ไม่ได้ตามเรฟอะไรหรอก จริง ๆ ต้องตามอารมณ์มากกว่า
แสดงว่าเราต้องนั่งฟังทุกบทสัมภาษณ์ของน้อง ๆ แต่ละคนแล้วแต่งเพลงตามหรอ
เพลง: เขาจะบอกมาว่าพาร์ตไหนที่ต้องเล่นบ้าง แล้วตรงที่เขาวางดนตรีมาก็จะฟิกซ์ประมาณนึงแล้วว่า ตรงนี้หยุด ตรงนี้ไม่หยุดนะ ตรงนี้เล่นน้อย ตรงนี้เล่นเยอะ
ป้อง: บางซีนมีอยู่ท่อนเดียว เขาก็วางลูปไปหมดเลย แล้วก็ดูมู้ดของซีนนั้น พอทำจริงมันต้องปรับไปเรื่อย ๆ เพราะไดนามิกหนังไม่เท่ากัน
เพลง: แล้วเขาก็จะบอกว่า เนี่ย จริง ๆ ตามเรฟมู้ดมันก็ไม่ได้ถูกหรอก เราต้องปรับอีก แก้กันหนักมาก น่าจะเป็นสิบดราฟต์อยู่ ดราฟต์นึงนี่บางทีพี่เต๋อเขาจะเอาคอมมา แล้วก็บอกเป็นข้อ ๆ บางทีมันแก้แค่ท่อน แต่ท่อนนึงก็แก้หลายที จดมาเป็นข้อ ๆ เลยว่าอยากแก้อะไรบ้าง มีรอบนึงที่พี่ป้องจดเยอะที่สุด สามสิบข้อที่แก้ ก็มาอยู่บ้าน มานั่งสี่ห้าชั่วโมง ไม่หยุดเลย (หัวเราะ) พูดแก้ไปเรื่อย ๆ เจาะละเอียดมาก
ป้อง: (ป้องหยิบกระดาษที่จดมาให้ดู) จริง ๆ อาจจะอ่านไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) แบบว่าช่วงที่น้องพูดว่า ‘แกรดดีมั้ยน้า’ เพลงก็หยุด หรือพี่เต๋อบอกให้เพลงจบตอนนี้ หรือว่าดราฟต์แรกมันแรงไป… อ่านไม่ออกวุ้ย ผมเลยต้องอัดเสียงไว้อะ
เพลง: ตอนหลังต้องอัดเสียงเอา จดไม่ทัน (หัวเราะ)
แบบนี้ก็ไม่ได้ทำเพลงมาเป็นเพลงนึงยาว ๆ แต่ต้องทำทีละท่อนหรอ
ป้อง: ส่วนใหญ่จะทำทีละท่อนครับ มันมาหลายเพลง อันที่เพิ่ง export ให้พี่เต๋อมีประมาณ 19 เพลง ไม่รู้ว่ามันเยอะขนาดนี้เพราะทำไปเรื่อย ๆ (หัวเราะ)
เพลง: บางเพลงเป็นสิบนาที บางเพลงแค่หนึ่งนาที
มันเลยไม่เหมือนซาวด์แทร็กหรือสกอร์ของหนังเรื่องอื่นที่เป็นบรรยากาศ อันนี้เรารู้สึกว่าแต่ละเพลงมันเล่าเรื่องด้วย เราตั้งใจฟังเพลงมากตอนดูหนัง ถ้าไม่มีเพลงหนังอาจจะแห้งไปเลย
เพลง: พี่เต๋อก็พูดเหมือนกันว่าหนังเรื่องเนี้ยไม่ได้มีอะไรนอกจากเด็กมาพูด คือมันมีฉากเดียว ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพลงมันก็เลยสำคัญที่มันจะช่วยพาเรื่องไป
เริ่มทำเพลงเรื่องนี้กันตั้งแต่ตอนไหนนะ
เพลง: เพิ่งเริ่มก่อนหนังฉายแปปเดียว เราเริ่มประมาณ 10 มิถุนา ได้บรีฟ แล้วก็ทำมาเดือนครึ่ง เพิ่งเสร็จประมาณปลายกรกฎา แล้วเรามิกซ์เสร็จวันที่หกสิงหา หนังออกตอนประมาณกลางสิงหา
ป้อง: คือเราไม่ว่างกันด้วย ก็เลยเลื่อนกันมา เลยเสร็จช้าหน่อย
มีพี่ที่ทำเพลงประกอบเคยบ่นว่าชอบเจอผู้กำกับให้เวลาน้อย เลยไม่มีเวลาคราฟต์จนได้แบบที่ต้องการขนาดนั้น
เพลง: ตอนนั้นรู้สึกก็ไม่น้อยนะ ก็เดือนนึง ยังได้อยู่
ป้อง: คือมันเดือนนึงก็จริง แต่ว่าทำจริง ๆ มันติดนั่นติดนี่กันทั้งคู่
เพลง: เวลาทำเนี่ยนับวันได้เลย
การคิดเพลงแต่ละฉาก แต่ละพาร์ตอารมณ์ต่างกัน เราเริ่มการเขียนตรงนั้นยังไง หรือได้ไอเดียจากอะไรบ้าง
เพลง: ฟังเรฟที่พี่เต๋อส่งมาให้ก่อน แล้วก็นั่งคิดว่า ไอ้เรฟเนี้ย…
ป้อง: มันต้องการให้มู้ดเป็นยังไง คือตอนเราทำช่วงที่มันดาร์ก ๆ ตอนที่น้องกังวลว่าจะติดเซ็มบัตสึหรือเปล่า ที่เป็นบีตแบบ ตึก ๆๆๆๆ อันนั้นจะเป็นพาร์ตที่ผมทำเป็นหลัก พอทำไปสักพักไม่รู้ว่ามันดูน่ากลัวไปไหม พี่เต๋อก็จะมาคอมเมนต์ อันแรกบอก น่ากลัว (หัวเราะ) ซึ่งน่ากลัวกับกดดันมันคนละอันกัน แต่เวลาทำมันก็ใกล้เคียงกัน ซึ่งต้องแยกให้ขาด ก็เป็นความยากนิดนึง การทำเสียง ตึง ๆๆ มันก็ออกมาเป็นหนังผีได้ พี่เต๋อก็เลยบอกให้มันดูไม่น่ากลัวแต่รู้สึกกดดัน
เพลง: หรือบางทีตอนที่มันเศร้า แต่เล่นไปเล่นมาซึ้ง เหมือนเป็นแบบเส้นบาง ๆ กั้นกันนิดเดียว มันต้องเปลี่ยนยังไงถึงจะเศร้า
ป้อง: ซึ่งอันนี้ก็เป็นทฤษฎี เป็นเซนส์ อย่างแบบ ถ้าเป็น ตึก ๆๆๆ แต่มีรีเวิร์บจัด ๆ มันก็จะน่ากลัวละ แต่ถ้าเป็น ตึก ๆๆๆๆ อย่างเดียว เป็นเสียงแห้ง ๆ ก็อาจจะไม่น่ากลัวมาก แต่กดดัน เป็นเรื่องซาวด์ดีไซน์ด้วย หรือแบบตอนที่มีกลองแต๊ก ๆๆๆ ตอนกำลังฝึกอะครับ เหมือนตอนแรกเป็นเปียโนท่อนก่อนหน้านั้น ท่อนเพื่อนกับท่อนฝึก พี่เต๋อก็บอกว่ามันเหมือนกัน แยกไม่ออก ทำไปทำมาก็เพิ่มกลองที่เหมือนฝึกทหารเข้าไป
เพลง: คือบางทีแค่เปลี่ยนหรือเพิ่มเครื่องดนตรีเข้าไปมันก็ทำให้ฟีลเปลี่ยนได้แล้ว
ป้อง: ขุดเลยมั้ย เปิดโปรเจกต์ให้ดูแบบ in depth เลย บางทีเราจำไม่ได้… ทำเหมือนตอนขายพี่เต๋อเลย (หัวเราะ)
ป้องลุกไปเปิดโปรแกรมและเริ่มอธิบายแบบฉากต่อฉาก
มันน่าสนใจนะเพราะแต่ละพาร์ตดนตรีมันไม่เหมือนกันเลย แต่มันสามารถเชื่อมทั้งเรื่องให้ดูกลม ดูเป็นบรรยากาศเดียวกันได้ คล้าย ๆ เหมือนทำเพลงหนึ่งอัลบั้มที่ทำเพลงคนละแนวแต่รู้สึกว่าอยู่ด้วยกันได้ แบบนี้มันมีอะไรเป็นจุดร่วม
ป้อง: อาจจะชิ้นเครื่องดนตรีด้วยครับ เปียโนเป็นหลัก มีทุกท่อน แม้แต่ท่อนที่เป็นเครื่องสังเคราะห์ก็ยังมีเปียโนอยู่
เพลง: พาร์ตเนี้ยง่ายสุด ไม่ได้แก้ (เป็นตอนเปิดของเรื่องที่ขึ้นภาพนิ่ง face shot ของ BNK48 แต่ละคนช่วงที่เพิ่งผ่านการคัดเลือกเข้ามาใหม่ ๆ)
เราว่าพาร์ตนี้น่ารักดี เหมือนเป็นโรงเรียนหญิงล้วนที่เพิ่งเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่
เพลง: เพลงแบบเปิดสดใส ๆ คลีน ๆ แต่มันมีตรงที่แก้ คือมันเป็นฉากที่น้องเดินออกไปหน้าเวทีที่มีไฟสปอตไลต์แว้บมา พี่เต๋อบอกว่าเนี่ย อยากให้เปียโน sync กับไฟ เมื่อกี้ไฟที่กระพริบข้าง ๆ ก็ต้องตรงกับโน้ตด้วย อะไรแบบนี้เขาก็เก็บ
ป้อง: ส่วนอันนี้เป็นฟุตเทจที่เขาให้มาอยู่แล้ว เป็นแก้วเล่นเปียโน (เพลง: เราก็อัดใหม่ แต่เล่นตามเขา) เอาจากที่แก้วเล่นมาต่อเป็นสเกลให้ยาวไปเรื่อย ๆ หรือตอนที่อรดีดนิ้วเป๊าะ เราก็ต้องมีเสียงโน้ตเปียโนที่มัน ตึ๊ง ขึ้นมาด้วย (หัวเราะ)
เพลง: พอพูดเรื่องความฝันเราก็ต้องบิ๊วคนดู ต้องเล่นให้มันใหญ่ขึ้นนะ ที่มันดูเหมือนเป๊ะมากนี่เพราะเราไม่ได้บังเอิญใส่ให้ตรงนะแต่คือมันคิดไว้หมดแล้ว (ป้อง: เสียงเปียโนก็จะลากยาว ๆ) ท่อนสงสัย พี่เต๋อก็บอกทำยังไงก็ได้ให้มันดูสงสัย
ป้อง: ซีนที่น้องดูกำลังสงสัย ผมก็ลองเล่นไปก่อน (กดเปียโนให้ดู) เป็นโน้ตกั๊ก ๆ สั้น ๆ แล้วลองเอามาขยับ ๆ ดู ท่อนเมื่อกี้ผมก็เล่นมั่ว แล้วพอน้องเขาพูดว่า ‘ไม่ได้!’ เลย ผมก็รูดโน้ตให้เสียงมันสูง ให้มัน sync แบบมีอะไร มีอีกอันคือ หนังอันนี้ส่วนใหญ่ 90% จะไม่ได้ sync กับเทมโป้อะไรเลย ไม่มีเมโทรนอม ติ๊กตอก ๆ อันนี้คือเล่นตามมือเลย จะไม่มีอะไรมาขึง ซึ่งปกติการทำเพลงมันจะมีกำหนดเทมโป้ การทำเพลงเรื่องนี้ความยากของมันก็คือมันเป็น free tempo บางทีมันไม่ตรงจังหวะ
เพลง: คือปกติถ้ามีเทมโป้เราสามารถกดให้มันจังหวะเป๊ะเองได้ แต่อันนี้พอไม่มีเราก็ต้องมาแก้ทีละตัว แต่ข้อดีของมันก็คือฟีลมันจะได้ มันจะไหล อยากจะเปลี่ยนท่อน อยากจะอะไรก็ง่าย
ป้อง: แต่มันยากเวลาจะ sync จะแก้ แบบเวลาถ้าเล่นใหม่แล้วมันจะเหมือนเดิมหรือเปล่า บางอันถ้ามันบังเอิญ sync กับภาพเองก็ไม่ต้องไปทำอะไร มีตอนปูเป้ ที่เวลาทุกคนพูดถึงความพยายาม แต่ปูเป้บอกว่าไม่มี ตอนแรกใช้เป็นเล่นแบบ รูดโน้ต พี่เต๋อก็ไกด์ว่าให้หยุดเล่น แล้วทำให้เหมือนเล่นโน้ตผิด พอเป็นตอนมิวสิคเล่าก็มีความจริงจังขึ้น เพลงเลยต้องทำให้ดูจริงจัง พอเป็นเกี่ยวกับการตัดสินใจของปูเป้ที่พ่อมาพูดให้คิดดี ๆ ก็ทำให้มันดูข่ม ๆ หน่อย
เพลง: ตอนเพิ่งเข้ามาเทรนเป็น BNK48 ก็เล่นให้ดูอินโนเซนต์ (ป้อง: ให้ดูแฮปปี้สดใสนิดนึง) ซีนออกกำลังกาย ก็ให้มีกลองเพิ่มเข้ามา
ป้อง: เพราะตอนแรกมันเหมือนกันมากเลยสองเพลงนี้ พอมีกลองมันก็ดูตึงหลังนิดนึง ตอนแรกที่คิดวางไว้ไม่มีกลอง เพิ่งมามีตอนหลัง มันดูเหมือนฝึกทหารดี
เพลง: แล้วก็จะมีช่วงที่เริ่มเฟดเพลง เพราะเรื่องที่เขาพูดมันทำให้รู้สึกว่า เฮ้ย มันเหนื่อยเกินไปหรือเปล่า
ป้อง: จริง ๆ ก็มีท่อนเงียบเยอะเหมือนกันนะ เพราะเรื่องที่เขาเล่ามันเริ่มซีเรียสละ หรือบางช่วงที่อยากให้ตั้งใจฟัง มันก็ไม่ต้องมีเพลงก็ได้… จำได้หมดแล้วเนี่ย (หัวเราะ) อันนี้ก็เข้าท่อนเครียด แข่งขัน การเป็นเซ็มบัตสึ อันนี้มันยาวมาก เป็นเสียง ตึก ๆๆๆๆ อันนี้ที่บอกว่าให้ทำยังไงก็ได้ให้ดูกดดันแต่ไม่น่ากลัว ทำยังไงก็ได้ให้มันดูไม่ซ้ำ มีเพิ่มคอร์ดเข้ามา เพิ่มโน้ตเข้าไป ความดังก็มีผลนะ ถ้าดังมากแล้วเล่นโน้ตแบบนี้ก็จะดูดาร์ก อันนี้ใช้วิธีเพิ่มความเร็วขึ้น มันยิ่งรู้สึกเป็นการแข่งขัน ตอนแรกมันช้าอยู่ อยู่ดี ๆ ก็เร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอีกฉาก
เพลง: เวลามีชื่อขึ้นในลิสต์คนที่ติดเซ็มบัตสึ ก็จะมีเสียงแบบยิงแม็กซ์ที่เย็บกระดาษ ‘แก๊ก’ มาเป็นเอฟเฟกต์ หรือจะมีอันนึงที่เป็นน้องนั่งถ่ายรูปกันบนเรือยอช ก็ให้เป็นเสียงถ่ายรูปด้วยไอโฟน
ป้อง: มันจะเริ่มมีเสียงอุปกรณ์เข้ามาร่วมด้วย อย่างเสียงกดไลก์ ‘วึบ ๆ’ เสียงพิมพ์ไอโฟนให้มันเข้าจังหวะ ตอนที่พูดเรื่องเล่นโซเชียล เรื่องที่น้องบอกว่าคิดแคปชัน ใช้เวลาเป็นวัน กดดัน เราก็เอาเสียงนาฬิกาเข้าไป แล้วก็เริ่มเอาทุกเสียงมาผสมกัน ตอนที่น้องรู้สึกว่าไม่ใช่คนที่เป็นที่นิยมเท่าคนอื่นที่ทำแบ๊ว เป็นฉากที่ดูเฟลกว่าเดิม ก็ทำให้ดนตรีดูหงอย ๆ
เพลง: อีกตอนที่ประกาศเซ็มบัตสึรอบหลัง เราใช้แค่กลองอย่างเดียวเพื่อสร้างบรรยากาศความลุ้น จากช้า ก็ทำให้เร็วขึ้นเรื่อย ๆ เอาอยู่เลย แล้วมันก็มีฉากที่เพื่อนไม่ติดเซ็ม พี่เต๋อเคยบอกว่าเสียงกีตาร์มันแทนความเป็นเพื่อน ความเป็นวัยรุ่น อันนี้เป็นตอนที่เศร้าเกี่ยวกับเพื่อน ก็เลยใช้เสียงกีตาร์ เราก็ว่าเออว่ะ กีตาร์มันเข้า ถ้าใช้เปียโนมันจะดาร์กดิ่งกว่านี้ ดราม่ากว่า กีตาร์มันจะสว่างกว่า
ป้อง: พอเป็นเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง ที่น้องเริ่มสูญเสียความมั่นใจ ต้องทำตามคอมเมนต์ของคนอื่น ก็ให้มันดูซึม ๆ ไม่ค่อย sync มาก ส่วนใหญ่เพลงช้าจะไม่ค่อย sync เพราะมู้ดมันไม่จำเป็น แต่ถ้าเพลงเร็วมันต้องฉึบฉับหน่อย อันนี้ปล่อยไหลได้ ฟังเอามู้ดมากกว่า (เพลง: อันนี้ใส่เครื่องสายเข้าไปทำให้มันดูมีอะไร ให้มันดูใหม่ ไม่ซ้ำ) ช่วงก่อนเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย เราก็ถอดมาจากท่อนที่มันเหมือนลุ้น แต่ไม่เครียดมาเท่าอันนั้น แล้วก็ใช้เพลงของเขาที่อยู่ในฟุตไปเลย
เพลง: มันจะมีฉากนึงที่เป็นน้องจิ๊บตัดพ้อเฌอปราง จะทำให้มันไม่ซึ้ง ทำให้มันดูน่าน้อยใจ ก็แก้เยอะเหมือนกัน ตรงนี้เขาต้องการให้มันเป็นจุดพีคของเรื่อง ที่เฌอปรางบอกว่าทำไมตัวเองได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่น การใส่เสียงไวโอลินเข้าไปมันจะช่วยเพิ่มความพีคได้
ป้อง: ตอนซีนเพลง Shonichi น้องที่ไม่ติดเซ็ม ไม่ได้รับความนิยม ก็เป็นแนวปลอบ ๆ ละ ส่วนตอนที่พูดเรื่องแฟนคลับก็ให้ฟีลมันดูซึ้ง ๆ
เพลง: อันที่เขาพูดถึงการมีผลกับแฟนคลับ เราก็ทำซาวด์ให้มันดู positive (ป้อง: แอบใส่กีตาร์ไปนิดนึง)
ป้อง: อันนี้เหมือนเป็นสรุปของเรื่องละ (เพลง: มีท่อนรัว เล่นไปเรื่อย ๆ เล่นให้มันดูยิ่งใหญ่)
เรารู้สึกว่าเพลงนี้ทำให้นึกถึงเพลงจากเรื่อง ‘Her’ ซึ่งเราชอบฟีลของซีนนี้มาก ๆ ที่มันดูทุกอย่างคลี่คลาย
เพลง: ใช่ เพลงนั้นแหละ เป็นเรฟ ตอนแรกอะเล่นเหมือนมาก พี่เต๋อบอกว่าไม่ได้ เหมือนไป ก็เลยทำให้มันเหมือนน้อยลงหน่อย (หัวเราะ) เพลงออริจินัลมันจะเล่นเร็วกว่านี้
หลายคนที่ทำเพลงจะบอกไม่ได้ว่าชอบเพลงไหน ป้องกับเพลงบอกเพลงที่ชอบในหนังเรื่องนี้ได้หรือเปล่า
เพลง: ชอบเพลงฉากนี้แหละ เพลงนี้ตั้งใจเล่นให้มันเป็นเพลงที่สุด คือมันไม่ต้องพูดอะไรแล้ว ไม่ต้อง sync อะไรแล้ว ก็เลยเล่นให้มันเป็นเพลง เป็นเมโลดี้ ให้มันฟังเพราะ แต่เพลงอื่นมันต้องไปอิงกับซีนต่าง ๆ
งานนี้เป็นงานที่ท้าทายที่สุดแล้วหรือยัง
ป้อง: ก็น่าจะนะ ถ้านับเรื่องเวลาด้วย
เพลง: เพราะว่าเราทำเพลงอัลบั้มเราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันยาก เพราะมันได้ทำที่เราอยากทำ แต่อันนี้ต้องทำตามโจทย์เขา บางทีมันต้องอยู่ในเวลา อย่างอันนี้วันนี้ไม่ทันจริง ๆ ต้องออกไปทำนู่นทำนี่ ตีสามต้องกลับมาทำแล้ว ตื่นมาทำ
ตอนหนังฉายมีคนพูดถึงเพลงบ้างไหม มีฟี้ดแบ็กบ้างไหม
เพลง: เพลงลงในเฟซบุ๊กของ Plastic Plastic ก็มีคนมาให้ความเห็นเยอะเหมือนกัน แต่เขาพูดดีนะ บอกว่าชอบ ยังไม่ค่อยเห็นแบบที่เขาไม่ชอบ แต่พยายามดูว่ามีคอมเมนต์ต้องปรับปรุงไหม
ทำเพลงประกอบหนังเขาจบไปแล้ว โดนใครตกบ้างหรือเปล่า
เพลง: ก็ไม่ได้มีใครเป็นพิเศษ แต่ดูแล้วชอบปูเป้นะ พี่ป้องก็เหมือนกัน แล้วพอหลังจากอันนี้คือทั้งคู่ก็กลายเป็นคนตาม BNK48 เขาทำอะไรรู้หมด ออกซิงเกิ้ล มีรุ่นสอง ใครแกรดรู้หมด มันจะมีรายการ ‘Victory BNK48’ ดูกันทุกตอน ไม่มีตอนไหนไม่ดูเลย แต่อาทิตย์ที่ผ่านมาพี่เต๋อไปเป็นเกสต์ เดี๋ยวจะไปย้อนดูเนี่ย คือมันดูหนังจนมันอินไปเอง อยากรู้จักคนนี้มากขึ้นว่าคนนี้เป็นคนยังไงวะ ตอนแรกก็ไม่รู้จักหรอก
มีคนเข้ามาชวนให้ไปทำเพลงอื่น ๆ ด้วยไหม อย่างเพลงโฆษณา
เพลง: ก็มี หลังจาก ‘Die Tomorrow’ ก็มีพี่ SUNTUR ที่เขาวาดภาพประกอบ เขาจะทำแอนิเมชัน เขาก็ชวนเพลงไปทำเปียโนประกอบ
ป้อง: ก็เป็นงานที่ฟรี อยากทำอะไรทำเลย แบบ เอาภาพไปอยากยัดอะไรใส่ได้เลย ไม่แก้ด้วย
เพลง: แล้วแต่เราตีความ แล้วแต่เราจินตนาการเลย
ถ้าสมมติต้องทำงานกับคนอื่น อยากทำงานแบบท้าทายตัวเอง มีโจทย์ หรือว่างานที่ฟรีสไตล์มากกว่า
ป้อง: จริง ๆ ส่วนใหญ่มันก็มีโจทย์
เพลง: แต่ถ้าตามเราเราก็ตั้งโจทย์เองนะ เวลาเราทำอัลบั้มอะ แต่ว่าถ้ามีโจทย์ก็อยากให้เป็นโจทย์ที่เราอยากทำด้วย อย่างของพี่เต๋อ เป็นโจทย์ที่เราอยากทำ มันก็ต้องมีคละกันไป ก็สนุกดี ได้ทำทั้งสองแบบ
เคยเจออะไรที่ไม่ถนัดหรือยัง งานที่เสนอมาแต่ไม่ใช่ทางเราเลย
เพลง: พวกงานโฆษณา นี่คือตัวอย่างของการไม่ได้อยากได้โจทย์นี้ แต่มันก็เป็นงานอะ ก็ทำ ๆ ไป (หัวเราะ)
ป้อง: ก็ได้เงิน เอาจริงผมทำเยอะ ก็ไม่ถนัดเลย ทุกแนว
มีใครเป็นคนทำเพลงประกอบที่ชอบบ้าง
เพลง: เพลงจะชอบฟังเพลงของ Joe Hisaishi ตอนแรกก็ไม่ได้อินมาก แต่ตั้งแต่ ‘Die Tomorrow’ ที่ต้องทำเพลงพวกนี้ก็ไปลองหาฟัง ๆ ดู เขาก็เปียโนเหมือนกัน
ป้อง: จริง ๆ ก็ฟังด้วยกันแหละ แต่ไม่ได้เจาะจงอะไร
เพลง: พี่ป้องเขาไม่ได้มีคนที่ชอบเป็นพิเศษ หาฟังไปเรื่อย ๆ ไม่เชิงว่าเป็นคนทำเพลงประกอบหนังอย่างเดียว แต่เป็นเพลงปกติเนี่ยแหละ
ถ้าได้ทำเพลงประกอบหนังอีก อยากทำหนังแนวไหน
เพลง: จริง ๆ ชอบหนังแนวนี้นะ ที่ไม่ใช่แบนด์แบบใหญ่ตู้ม เป็นหนังฟอร์มยักษ์ ไม่ได้ถนัดมาก เราจะถนัดอะไรแบบนี้ที่มีความคราฟต์ แยกเครื่อง เป็นเปียโน
ป้อง: อยากทำหนังไซไฟ (หัวเราะ) แบบ ‘Stranger Things’ ที่มันผสม ๆ อยากทำซาวด์ดีไซน์ แต่ไม่ค่อยได้ทำเพราะว่ามันไม่มีงานแบบนั้นเท่าไหร่ ถ้ามีก็เป็นงานเร็ว ๆ ไม่ค่อยได้ทำงานที่ได้ค่อย ๆ ทำ อยากทำงานซาวด์ดีไซน์ ใช้เวลากับมันเยอะ ๆ
เพลง: ก็เอามาลงกับเพลงตัวเองไง (หัวเราะ)
จะได้ฟังอัลบั้มใหม่ Plastic Plastic เมื่อไหร่
ป้อง: ก็น่าจะใกล้แล้วครับ
เพลง: ตุลาปล่อยซิงเกิ้ล อัลบั้มอะเดือนพฤศจิ กำลังปั่นกันอยู่ตอนนี้
ป้อง: คือตอนนี้ทุกงานต้องมาก่อน เพลงตัวเองไว้ทีหลัง งานอื่นเยอะจนไม่ได้ทำงานตัวเอง มันเครียดอะ
เพลง: จริง ๆ ก็อยากทำงานตัวเองนะ แต่พี่ป้องเขาฮอต (หัวเราะ) มีศิลปินมาให้ช่วยทำเพลง ช่วยเป็นโปรดิวเซอร์ให้
ป้อง: ปกติก็ทำงานโฆษณาอยู่แล้ว ทำประจำ ก็ดูดเวลาไปส่วนหนึ่งด้วย ล่าสุดนี่พี่บอล Scrubb มาเรื่อย ๆ เลย
เพลง: สิงโต นำโชค, Telex Telexs, แสตมป์ อภิวัชร์, Fellow Fellow, M Yoss เยอะมาก
ป้อง: พวกบ้านอยู่แถวนี้ พวก Telex เนี่ย ชอบมากินข้าวต้มแถวนี้
เพลงชุดใหม่จะต่างจากงานก่อน ๆ ยังไงบ้าง
เพลง: ก็น่าจะเป็นซาวด์ดีไซน์ที่มีมากขึ้น อาจจะมีความอิเล็กทรอนิกมากขึ้น แล้วก็ไม่กั๊ก เพลงก็จะไม่ได้เพลงเพราะ ฟังสบาย อาจจะบ้า ๆ บอ ๆ มากกว่า อยากทำอะไรก็ทำ อัลบั้มที่แล้วมันจะยังกึ่ง ๆ เซฟ ๆ หน่อย ฟังเพราะ ฟังสบาย ฟังในรถ ชิล อันนี้อาจจะฟังรอบเดียวแล้วจี๊ดไปเลย แบบ ไม่อยากฟังแล้ว (หัวเราะ) อยากให้มีความแปลก ๆ แบบเสียดหูนิดนึง ไม่ได้ฟังแล้วลื่นไปหมด คือช่วงหลัง ๆ มาเราฟังศิลปินทางนี้เยอะ เช่น Kero Kero Bonito แนวนั้นอะ มันก็ฟังง่าย ฟังหลายรอบได้ แต่มันมีความเพี้ยนที่ไม่ได้เสนาะหูขนาดนั้น แล้วก็มี Spazzkid เราจะไปทางนั้นละ
ป้อง: future pop อิเล็กทรอนิกแบบกุ๊งกิ๊ง คนละแบบกับ Gym and Swim เราจะเป็นอิเล็กกาก ๆ ของ Gym จะเป็นซินธ์เท่ ๆ นิดนึง
เพลง: แล้วก็อาจจะไปหาคนร้องที่เป็นมวลหมู่ ไม่ได้ร้องแค่สองคน ก็เลยไปหาน้องที่ร้องเพลงไม่เป็น คือร้องไม่เพี้ยน แต่ไม่ได้ร้องเพราะ (ป้อง: ไม่มีสกิลแต่ร้องตรงจังหวะ) ไม่ได้ร้องเก่ง เหมือนเครื่องดนตรีต่าง ๆ อย่างซินธ์ เราก็ไม่ได้อยากได้ซาวด์ที่มันเท่ อยากให้มันดูโง่ ๆ อะ… มันไม่มีคำอื่นอีกแล้วหรอ (หัวเราะ)
ป้อง: อาร์ตเวิร์กเราได้ศิลปินเกาหลีมาวาดให้ ไปเจอรูปนึงแล้วก็เซิร์ชไอจี
เพลง: เขาชื่อเอล ไปเจอมาที่เชียงใหม่ งานเขาเคยไปขายอยู่ร้านชื่อ Enough For Life เป็นร้านที่เจ้าของเป็นคนเกาหลี สุดท้ายติดต่อไปได้เพราะ a day เขาทำเล่มเกาหลี แล้วน้องที่ทำก็ไปสัมภาษณ์คนนี้ ก็มาบอก เพราะคุยเรื่องนักวาดเหมือนกัน เราก็แบบ เอ้า คนนี้หรอ งั้นขอคอนแทคหน่อย
ป้อง: แล้วก็เดี๋ยวจะดังกว่าวง เหมือนน้องป่าน Juli Baker ตอนนั้นไม่มีใครรู้จักเขา
เพลง: ตอนนั้นน้องป่านเขายังไม่มีลายเส้นที่ชัดเจนเลย เขาวาดทุกอย่างเลยทั้งสีไม้ สีนั่นนี่ วาดหลายแบบมาก ตอนแรกก็คิดว่า อุ๊ย หรือสีไม้ไหม แต่เราเลือกสีอะคริลิก สุดท้ายเขาก็ไปดังสีนี้ สีไม้ไม่วาดละ
รู้สึกยังไงเวลารุ่นพี่ศิลปินมอบหมายงานให้ทำ เคยรู้สึกว่ามันเกินความสามารถของเราไหม แล้วเราก้าวผ่านความรู้สึกนั้นไปได้ยังไง
ป้อง: ก็คิดตลอดนะว่า เอาจริงหรอครับ (หัวเราะ) แต่ก็ทำให้ได้ทุกที แบบ จะให้ไปเป็น music director Scrubb หรอ แต่ผมไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อนเลยนะ ก็ลองทำดูเท่าที่ทำได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้โปรเท่า music director ตัวจริง ก็พยายามขวนขวายช่วยเขาให้ได้มากที่สุด ก็คิดตลอดครับว่าจะไหวหรอวะ (หัวเราะ)
นอกจากเพลงเล่นกับ Scrubb แล้วยังทำอะไรอีกบ้าง
เพลง: ตอนนี้ก็มีบ้างที่เป็นงานโฆษณา ที่เป็นเปียโน หลัง ๆ ก็เริ่มให้เพลงทำแต่เพลงก็ยังไม่เก่งทำพวกนี้มาก ก็ฝึก ๆ กับพี่ป้อง ตอนแรกให้เพลงทำคนเดียวเงี้ยจะยากหน่อย ต้องให้พี่ป้องมาไกด์ก่อน แล้วก็เพลงมีร้องโฆษณาเพราะพี่ป้องเขาทำงานโฆษณาอยู่แล้ว ถ้าต้องมีเสียงผู้หญิงพี่ป้องก็จะเอาเพลงไป (FJZ: แลคตาซอย) ใช่ แอร์เอเชีย คิวท์เพรส จริง ๆ มันเยอะมาก
ป้อง: ด้วยความที่มันเป็นน้องผมไง มันเร็ว อะอยู่บ้าน อัดเลย ก็เลยได้งานไกด์เยอะ นักร้องจริงก็อาจจะได้บ้าง หรือไม่ได้ก็แล้วแต่ลูกค้าว่าเขาเลือกใคร
จากการไปเป็น a team junior มาแล้ว คิดจะไปเอาดีทางอื่นนอกจากทำเพลงบ้างไหม
เพลง: คือทำเกือบเท่าดนตรีอะตอนนี้ (หัวเราะ) รับทำคอนเทนต์อยู่สามอัน คือ Index Living Mall คิดคอนเทนต์ออนไลน์ เขาจะส่งรูปมาแล้วเราเลือกรูปจากเขา บางทีก็ไปถ่าย ๆ เอง แล้วเอามารวมเป็นคอนเทนต์เกี่ยวกับอะไรดี แล้วก็ Bioderma เวชสำอาง กับกรุงศรี ฯ จะเน้นถ่ายตามเรฟเขา แล้วก็มีเขียนให้ a day แต่ตอนนี้เพิ่งเลิกเขียนไป เขียนมาปีนึงละ เริ่มหมดเพราะว่าเป็นเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยว หมดจริง ต้องไปเที่ยวอีกค่อยกลับมาเขียนต่อ (หัวเราะ) ก็เขียนหนังสือสองเล่มที่ผ่านมา แต่ก็กะจะทำอีก กะจะเอาอันเก่า ๆ ที่ไปเที่ยวมาแล้วมารวมใหม่ ก็มีเยอะเหมือนกัน
มีอะไรที่สองพี่น้องไม่เคยทำแล้วอยากจะทำร่วมกันบ้างไหม
เพลง: กะว่าจะทำบริษัท รับผลิตดนตรี คือตอนนี้มันยุ่งยากตรงที่เวลาเงินเข้ามามันเป็นนามบุคคลไง แบบเสียภาษีอะ (หัวเราะ) แต่ถ้าเสียแบบบริษัท สมมติเราซื้อเครื่องดนตรีมามันจะถือว่าเป็นค่าใช้จ่าย อันนี้เป็นส่วนนึง แต่อีกอย่างคืออยากมีห้อง เนี่ย บ้านข้าง ๆ อยากทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา คือสุดท้ายยังไงเราก็อยากมีอะไรเป็นของเราด้วยกัน แล้วเวลาคนเข้ามาอัด จริง ๆ ห้องนี้มันดูเหมือนจะสะดวกแต่มันไม่ได้เก็บเสียง คืออยากมีห้องอัดที่มันเก็บเสียง ความจริงอาจจะไม่ต้องรับงานเยอะขนาดนั้น แค่เราอัดเองได้ เราก็อยากมี
ป้อง: อาจจะทำอย่างอื่นด้วย ชงกาแฟ
เพลง: ใช่ ก็คืออาจจะทำร้านตัวเอง คืออยู่ในบริเวณเดียวกันอาจจะเป็นร้านกาแฟที่ขายของจุกจิก คิดไปเรื่อย ก็แค่อยากมีอะไรเป็นของตัวเอง เป็นแผนการลับ (ยิ้ม)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ Plastic Plastic ได้ ที่นี่ และรับฟังเพลงของพวกเขาบนฟังใจได้ ที่นี่