Penny Time วงดนตรีเล็ก ๆ ที่ใจไม่เล็ก กับการลุยโชว์ต่างประเทศด้วยตัวเอง
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Narawit Suksawat
บางคนอาจจะรู้จักพวกเขาจากเพลงจังหวะติดหูแบบ Conversating หรือบางคนโดนใจกับเพลงน่ารักประมาณ For Her แต่จากการที่เราได้ดูพวกเขาเล่นสดในเพลง Now ทำให้ตัดสินใจชวนมาพูดคุยทันที (นี่เราช้าไปใช่ไหมเนี่ย)
สมาชิก
แดน—แดเนียน ดิษยะศริน (กีตาร์, ร้องนำ)
ก้อง—เทพวิพัฒน์ ประชุมชนเจริญ (กีตาร์)
แม็ก—ฐากร อัญภานนท์ (กลอง)
ปิง—อารการ จันทร์ทอน (เบส)
จุดเริ่มต้นของ Penny Time
แดน: เริ่มจากต้นปี 2015 ตอนแรกจะเป็นผมกับก้องทำวงชื่อ Babylon เป็นเพื่อนจากโรงเรียนเดียวกัน แล้วสักประมาณกลางปีก็เริ่มอัดเพลงเลยตัดสินใจว่า ชื่อนี้หลายวงก็ใช้ไปแล้วนะ ต้องหาชื่อใหม่ได้แล้ว วันนึงผมมาเล่น GTA ที่หอก้อง แล้วมันจะมีโทรศัพท์ในเกมแล้วเราก็นั่งดูกัน แล้วไปสะดุดอยู่อันนึง เป็นตัวหนังสือเล็ก ๆ จาง ๆ มาก เขียนว่า Penny Time คำมันตลกดีว่ะ แล้วพอเล่นเสร็จ ไปนอน ตื่นมาตอนเช้าชื่อมันก็ยังติดอยู่ในหัว ก็เลยใช้ Penny Time มาตลอด
ก้อง: แล้วสมาชิกตอนแรกมีแค่มือกลองที่เป็นเพื่อนแดน ชื่อเบ็น แดนเจอผมในอินสตาแกรม คือมาฟอลโลวกันแล้วก็ขอเฟสบุ๊กผมเลย พอจะทำเพลงจริงจัง ตอนอัดเพลง Now เลยให้รุ่นพี่คนนึงมาอัดให้ พอเพลงที่สอง Conversating ก็ให้พี่อีกคนมาอัดเบส ก็ยังไม่มีมือเบสที่แน่นอน จนประมาณปล่อย Conversating ไปแล้วประมาณเดือนสองเดือน ก็ให้ปิงมาเล่นให้ แล้วแม็กซ์ก็ตามมาทีหลังเพราะเบ็นไปเรียนต่อเลยไม่ได้มาเล่นให้แล้ว
การมาเป็นสมาชิกคือแค่ส่องอินสตาแกรมเจอแล้วชวนมาเล่นเลยหรอ
Penny Time: ใช่
แดน: จริง ๆ ทุกคนมาเจอกันแบบเหมือนกัน ผมเจอก้องผ่านอินสตาแกรม ไอ้ปิงคือมาส่งไอ้ก้องที่ห้องซ้อม ปิงมันเล่นกีตาร์ แล้ววันนั้นมือเบสไม่มาเลยให้ปิงมาช่วยเล่น พอลองซ้อมกันก็รู้สึกว่าปิงโอเค เล่นได้ แล้วช่วงนั้นมือเบสเขาป่วยด้วย ก็ออกมาเล่นไม่ค่อยได้ เลยให้ปิงมาเล่นก่อน
อะไรทำให้ทุกคนตัดสินใจเล่นด้วยกัน ฟังเพลงใกล้กันไหม
Penny Time: ไม่ใกล้กันเลย
ก้อง: เพราะเป็นเพื่อนกันมากกว่า ผมกับปิง แล้วก็แม็กเงี้ย แม็กเรียนนิเทศ ม.รังสิต ปิงเรียนคณะดนตรีกับผม มันก็ใกล้ตัวอยู่แล้ว แล้วผมก็รู้จักกับแดน แดนถามว่ามีใครเล่นดนตรีได้บ้างไหม เราก็บอกก็เนี่ย เยอะแยะ เพื่อนเรา
แดน: เหมือนเลือกขนมเลย (หัวเราะ)
ไม่เจอปัญหาที่แนวเพลงไม่ตรงกันแล้วบางคนไม่อินกับเพลงหรอ
แม็ก: มันเหมือนการแจมกันมากกว่า
ก้อง: การทำเพลงของบางคนจะมี reference มาก่อนว่าจะทำอะไร แต่เวลาทำเราจะไม่คิดเยอะเกินไป คือพวกผมฟังเพลงกันคนละอย่างเลย ปิงก็จะ Justin Bieber เป็น Belieber (หัวเราะ) ตึ๊ด ๆ ไป แดนก็จะ 90s grunge ใต้ดินนิดนึง แม็กก็จะพวก Phoenix ร็อกอังกฤษ แต่งตัวเท่ ๆ ส่วนผมชอบฟังเพลงบลูส์เก่า ๆ
แม็ก: แล้วก็มาแจมกันจนได้แนวอะไรไม่รู้ รู้แต่ว่ามันอยู่ในรากฐานของอัลเทอร์เนทิฟร็อก แล้วก็เป็นในสไตล์ของ Penny Time ที่มีกลิ่นของบลูส์ด้วย ถึงแม้สามเพลงจะให้ความรู้สึกไม่เหมือนกันเลย แต่ยังได้ซาวด์ หรือเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา
ได้กำหนดทิศทางเพลงไหม
ก้อง: ส่วนมากจะแจมกันครับ แต่แดนก็จะขึ้นโครงมาก่อน แล้วเราก็มาช่วยกันทำต่อ เอาจริงคือพวกผมใช้คอมไม่เป็น ไม่มีใครอยากขยันใช้คอม เวลาทำเพลงทีคือต้องไปห้องซ้อม แล้วก็อัดไอโฟนไปลองตัดลองทำกันดูเนี่ยแหละครับ
แม็ก: ไม่มีการตีกลองเป็นแบบจิ้ม ๆ คีย์บอร์ดมาก่อน
เลยทำให้ปล่อยเพลงช้าด้วยหรือเปล่า
แม็ก: ตอนนี้เพลงก็มีค่อนข้างที่จะครบทั้งอัลบั้มแล้ว แต่บางเพลงก็ยังต้องเคาะกันต่อไป บางเพลงก็มีหลายขั้นตอนแต่เราก็พยายามปล่อยออกมาเรื่อย ๆ
ก้อง: ไม่มีตังอัดก็บอกเขาไป (หัวเราะ)
กะจะออกอัลบั้มเต็มเมื่อไหร่
ก้อง: ตอนต้นปีบอกว่า สิ้นปีนี้ปล่อยแน่นอน แต่มาตอนนี้ น่าจะได้อัดสิ้นปี (หัวเราะ) ยังไม่ชัวร์ แต่น่าจะปล่อยปีหน้า
ได้กำหนดทิศทางของเนื้อหาที่จะเล่าไหม
แดน: ยังไม่มีครับ จริง ๆ คือคิดอะไรได้ก็เขียนลงไอโฟนไปก่อน เวลาเขียนเพลงขึ้นโครงขึ้นอะไรมาได้ แล้วยังไม่มีเนื้อหรือคิดอะไรไม่ออกก็ดึงพวกนั้นมาใส่ ส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ครับ อะไรที่บางครั้งรู้สึกโอเคกับมัน หรือไม่โอเคกับมันมาก ๆ แต่อยากเก็บไว้ อยากกลับมาอ่านวันหลัง จะได้จำวันนี้ได้ ก็เขียน ๆ ลงไปก่อน
แล้วเพลงที่กำลังจะปล่อยจะเป็นยังไง
แดน: เล็งไว้ประมาณอีก 2-3 เดือนหน้าครับ สามเพลงที่ปล่อยมามันก็จะไม่ค่อยคล้ายกันเท่าไหร่ อันนี้ก็จะยิ่งแตกออกไปอีกเหมือนกัน แล้วยิ่งปล่อยเพลงไหน เพลงนั้นยิ่งเก่า คือเพลงนี้ทำมาตั้งแต่ 2-3 ปีมาแล้ว ที่จะออกมาเป็นเวอร์ชันนี้คือเราใช้เวลาตกตะกอนกับมัน เนื้อหาถ้าเทียบกับเพลงอื่นก็จะเศร้า เครียด หม่น มีความอีโม (หัวเราะ) เรียกว่าเพลง Jam ไปก่อน
ก้อง: บางคนอาจจะชอบ Conversating เพราะติดหู ฟังง่าย เขาอาจจะมองเราเป็นวงป๊อปร็อก แต่อัลเทอร์เนทิฟเราก็มี แล้วถ้าปล่อยเพลงหน้าเขาคงจะแบบ… (ทำหน้าเหวอ) แต่ตอนเราทำไม่รู้สึกว่ามันฉีก เรารู้สึกดีกับมัน แล้วก็ยังมีความเป็นเราอยู่
แม็ก: เหมือนปล่อยมาสี่เพลงให้คนที่ฟังรู้สึกว่ามีหลายอารมณ์แต่ให้มันอยู่ในคำว่า Penny Time คือถ้าใครชอบเพลง Conversating มันอาจจะมีเพลงอื่นในอัลบั้มที่จะชอบด้วย แต่เรายังไม่ได้ปล่อย
สนใจยอดวิว ยอดฟัง หรืออยากให้เพลงติดชาร์ตไหม
แม็ก: ไม่ครับ จริง ๆ ก็ไม่ได้หวังอะไรอยู่แล้ว แต่ถ้าทำแล้วคนชอบก็รู้สึกดี เหมือนมีคนรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึก เราแค่อยากปล่อยให้คนได้ลองฟังเยอะ ๆ ไม่ได้อยากได้ที่หนึ่งหรืออะไร
ก้อง: ไม่งั้นจะกลายเป็นว่า อุ๊ย แต่งเพลงนี้แล้วยอดวิวโอเคว่ะ เดี๋ยวเพลงหน้าทำอย่างนี้เลยไหม เราจะไม่ทำแบบนั้น มันเลยออกมาไม่ค่อยเหมือนกันแต่ละเพลง เพราะเราไม่ได้คิดเรื่องนั้น แต่ก็เหมือนผลพลอยได้ ถ้ามีคนชอบเพลงเราก็มีความสุขมากขึ้น
รู้สึกยังไงที่มีหลายสื่อช่วยผลักดันเพลงของเรา
ก้อง: ก็แปลกใจว่ามีอะไรที่เขาต้องผลักดันเราหรือสนใจเรา (หัวเราะ)
แม็ก: เหมือนเขาฟังแล้วเขาชอบ แฟนเพลงโทรไปขอ ซึ่งเราไม่รู้มาก่อนเลย (ก้อง: หน้าเพจ Cat Radio ก็เห็นมีคนพิมพ์ขออยู่)
แดน: แล้วก็หลาย ๆ อย่าง ด้วยเวลาที่มาถูกจังหวะพอดี รู้สึกว่าตอนนี้มีวงในซีนเราที่ทำภาษาอังกฤษที่ก็ไม่ได้เยอะเหมือนวงที่ทำเพลงไทย แต่มันก็มีตลาดของมันอยู่ ผมเชื่อว่ามีคนสนใจอยากฟังเพลงแบบนี้ อันที่จริงตอนเล่นกันแรก ๆ เลย จะมีกลุ่ม expats หรือพวกฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ ครับ ตอนเราทำเพลงก็กะจะให้ฐานแฟนอยู่ในกลุ่มนั้นอยู่ แล้วมันอาจจะมีโอกาสที่คนติดตามจริง ๆ มากกว่า เพราะเขาอาจจะชินกับสิ่งที่ผมทำมากกว่าที่คนอื่นทำกัน ก็เลยทำตรงนั้นอยู่ปีสองปี
Feedback ของเพลงที่ปล่อยออกไป
แม็ก: ก็ดีนะครับ เราคิดว่าฐานแฟนเพลงของเราจะมีอยู่แต่ในกรุงเทพ ฯ พอเรามีโอกาสไปเล่นงานคัฟเวอร์ที่บางแสน 7-8 เพลงเป็นปกติ เราก็จะเล่นเพลงเราสักสองเพลง แต่ปรากฎว่ามีแฟนเพลงที่นู่นมายืนรอ ร้องเพลงเราได้ เราเลยรู้สึกว่าเพลงเราจับต้องได้
แดน: ตอนนั้นก็เลยผสมเพลงตัวเองไปเยอะกว่าเดิมหน่อย เพราะเราก็ต้องให้เกียรติคนที่ชวนเราไปเล่นด้วย แต่ก็ไม่คิดว่าจะมีคนไทยมาสนใจขนาดนี้ พอมีก็คิดว่าโอเคนะ เราอาจจะมีโอกาสทั้งที่นี่และที่เมืองนอกด้วย
แม็ก: อย่างที่มาเลเซียเราอยากจะไปโชว์งานเฉย ๆ ไม่ได้คิดว่าจะไปโกยแฟนเพลงกลับมา แล้วตอนก่อนไปเล่น มีคนมาคอมเมนต์ใต้เพลง Now ใน YouTube ว่า “Can’t wait to see you in Penvia Studio.” พอไปเล่นก็มีคนร้องเพลง Conversating ได้ด้วย แต่ร้องออกมาเป็นภาษาเขา (หัวเราะ) เล่นเสร็จก็มากอด มาอะไร
แดน: คือตกใจมาก เพราะเขาทำการบ้านมาจริง ๆ มันรู้สึกเหมือนเวลาวงอย่าง DYGL มาเล่นบ้านเรา มันจะมีความรู้สึกว่าไม่ได้เหมือนดูวงในซีนเราเล่นเอง มันจะดูมีค่ามากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าคงเป็นอะไรที่ดีถ้าวงได้ออกไปเล่นต่างประเทศบ่อย ๆ
ปิง: แล้วคนตั้งใจดูด้วย มีผู้หญิงมุสลิมโพกผ้ามาดู แล้วบอกอย่าบอกแม่นะ (หัวเราะ) เขาร้องเพลงเราได้
การไปเล่นต่างประเทศเองต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
ปิง: ต้องซ้อมให้หนัก ๆ
แม็ก: ต้องวางแผนทุกอย่าง ทุกเม็ด ให้มันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย
แดน: ตอนไปมาเลเซียเราส่งเมลไปทุกร้านที่อยากเล่น copy paste ไปประมาณ 50 เมล สุดท้ายมี 10 ที่ตอบกลับมา แล้วเราก็ได้ไปเล่นประมาณ 3 ที่ แล้ววันแรกไปไม่ทันด้วย จากสามวันเหลือแค่สองวัน
ก้อง: เคยมีที่เขาไม่ตอบเมลผม คือเพิ่งตอบกลับมาเมื่อประมาณสองอาทิตย์ที่แล้ว ทั้งที่เราไปเล่นมาหลายเดือนแล้ว Hey, sorry for the late reply. When are you coming to KL? (หัวเราะ) กูไปมาแล้วววว
มีแพลนจะไปเล่นที่อื่นไหม
แม็ก: มีที่ญี่ปุ่นครับ ประมาณเดือน 8 ก็เล็ง ๆ ไว้อยู่
แดน: ถ้าผมได้ไปจริง ๆ ก็อาจจะมีโปสเตอร์ออกมา
ให้ความสำคัญกับการอัดเพลงหรือเล่นสดมากกว่า
แดน: จริง ๆ เท่า ๆ กันเลยนะครับ แต่ที่เพลงอัดไว้ไม่ได้ปล่อยซักทีเพราะเราเอาเวลาไปเล่นสดเยอะด้วย
แม็ก: แล้วเวลาเราเล่นสดเยอะ ๆ เราจะรู้ว่าแฟนเพลงชอบเพลงไหน เราก็จะให้ความสำคัญกับเพลงนั้น อย่าง For Her ก่อนที่จะปล่อยออดิโอ ก็เอาไปเล่นบ่อย 3-4 เดือน เล่นแล้วเติมไปเรื่อย ๆ เดือนแรก ๆ เป็นแบบเดโม่ แล้วหลัง ๆ ก็เริ่มเข้าที่แล้ว การเล่นสดเหมือนเป็นการเทสต์ทั้งเราทั้งเขาว่าเขาโอเคไหม เราโอเคไหม
ปิง: มันจะมีคลิปวิดิโออยู่ For Her แรก ๆ มันจะไม่ได้เล่นแบบตอนนี้เลย มันจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่ก็เอาให้ขึ้นอยู่กับที่เราสบายใจที่สุด เพราะว่าเวลาเล่นจะได้รู้สึกเต็มที่
ไปเล่นสดแต่ละที่ต้องปรับวิธีเล่นให้เข้ากับกลุ่มคนดูหรือเปล่า
แดน: จริง ๆ เป็นการเปลี่ยนเซ็ตลิสต์มากกว่า
ปิง: ที่ไหนเล่นเพลงหนัก ๆ หรือคัฟเวอร์หนัก ๆ เราก็จะเล่นแต่เพลงหนักเข้าไป ถ้าที่ไหนน่ารัก ๆ เราก็เล่น For Her เดี๋ยวคนแก่ข้างบ้านจะตกใจ
ประสบการณ์การเล่นสดแต่ละครั้งให้อะไรกับเรา
แดน: สำคัญที่สุดเลยคือความสัมพันธ์ของเรากับคนดู เหมือนทั้งให้และรับ เขาให้เรา เราก็ต้องให้เขาด้วย แล้วทุกครั้งมันจะเห็นชัดเลยเวลาเรา enjoy กับเพลง เขาก็จะสนุกเป็นพิเศษ
แม็ก: อย่างมีบางเพลงที่เราทำมาแล้วเราชอบมาก เราก็จะตั้งใจเอาไปเล่นงานนี้เป็นพิเศษ แล้วคนดูก็จะรู้ว่า เอ๊ย เราชอบเพลงนี้นะ เขาก็ชอบเหมือนกัน
แดน: ผมว่าตรงนั้นคือความอินที่สุดแล้วที่ทั้งคนฟังและเราก็โอเคกับเพลง
อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ Penny Time เล่นสดได้มันมาก
แม็ก: คือถ้าเราอิน แล้วเล่นกันบนเวทีแล้วสนุกมาก ๆ ผมว่าคนข้าง ๆ ก็จะบ้าตามเราไปด้วย แรก ๆ เราก็มีเขินเกร็ง มันจะทำให้ฟีลเราไปไม่ถึง คนดูก็จะรู้สึกไม่ถึงไปด้วย
ปิง: เคล็ดลับของวงคือคนนี้เลยครับ (ชี้ไปที่ก้อง)
ก้อง: บางทีผมยังไม่รู้เลยว่าคนดูสนุกเป็นยังไง บางทีตอนนั้นเราแค่อยากสนุกเอง เหมือนเพื่อนชวนไปกินเหล้าแล้วเราตื่นเต้น เป็นความรู้สึกเดียวกับตอนเล่นคือเราอยากสนุก
เคยเจองานที่สนุกเกินเบอร์แล้วคนดูไม่สนุกไปกับเราไหม
ปิง: ที่บางแสน นานแล้ว ตั้งแต่ผมยังไม่เข้ามา แม็กยังไม่เข้ามา
ก้อง: มีคนเดินออกด้วย เราขึ้นปุ๊บเขาก็ลุกเดินไปเลย เหมือน walking street ที่คนมันเยอะมาก ๆ เขามายืนมุงกันแล้วก็แตกหน่อ ทะเลแหวกไปเรื่อย ๆ แทบร้องไห้
แดน: ยอมรับว่าเราเองก็ตื่นเวทีด้วย มือเบสคนเก่าเดินลงมาจากเวทีแล้วบอกว่า เฮ้ย เราเล่นกับพวกนายไม่ได้แล้ว คือวงที่เล่นก่อนพวกเรา คนยืนดู กำลังสนุกเลย พอวงเรา คนหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น แล้วนั่งลงหมด
แล้วตอนนั้นทำยังไง
แม็ก: ก็ไม่ทำไงครับ ไม่ได้หวังตั้งแต่แรกแล้วว่าเขาจะมาดู แต่ถ้าเรายอมแพ้ก็จบ เราไม่ยอม เราเล่นต่อ เราเชื่อว่ามันยังมีวันที่เขาจะยอมรับเรา มันต้องมีวันที่โอเคและไม่โอเค วันนั้นมันแค่ไม่โอเค แล้วคนก็เยอะมาก ๆ แค่นั้นเอง (หัวเราะ)
ปิง: มันเหมือนการที่เราต้องพิสูจน์ตัวเอง
ก้อง: มันทำอะไรไม่ได้ครับ ทุกคนมันต้องหวังอยู่แล้ว รอบนั้นมันก็ผิดหวัง แต่สำหรับ พอลองนึกย้อนไปความรู้สึกแรกตอนเราหัดเล่นกีตาร์โง่ ๆ อยู่ในห้องคนเดียวก็มีความสุข แต่ถ้ามันทำให้เราเซ็งมันก็แค่เซ็ง เรื่องเล่นสดวันนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องมาเซ็งอะไรขนาดนั้น
หลังจากนั้นใช้เวลานานขนาดไหนกว่าคนจะยอมรับหรือเปิดใจ
แดน: ผมมองว่าน่าจะเป็นงาน Sqweez Animal ผมมองว่าเขาเป็นวงที่มาตรฐานสูงเหมือนกัน ซึ่งตอนแรกที่ Cat Radio ชวนก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงเลือกพวกเรา เพราะคิดว่าพวกเราน่าจะไม่อยู่ในเรดาร์ ไม่อยู่ในอะไรเลย แค่ติดชาร์ตครั้งเดียว แต่เหมือนพี่วินตอนนั้นเดินมาบอกว่าจริง ๆ เขาเอาวงสามวงมาให้พี่ดูนะ แต่วงน้องพี่โอเค หลังจากวันนั้น ก็ไม่ได้กดดันตัวเอง รู้สึกว่าเรามีอะไรที่ต้องทำจริง ๆ รู้ว่ามีคนรอฟังเยอะเหมือนกัน การทำวงของเราก็เปลี่ยนไปเยอะเลย
ปิง: ก็มีคนพูดว่า เออ เคยฟังเพลงนะ ชอบมากเลย แต่ไม่รู้ว่าวงอะไรเล่น เราก็รู้สึกว่าคนมาสนใจ คนขอถ่ายรูป
ความทรงจำที่ดีที่สุดที่เคยเล่นมา
ปิง: น่าจะเป็น Cat Expo ปีแรก สองปีที่แล้ว น้ำตาจะไหล
ก้อง: เล่นเปิดเวที แฮปปี้มาก มันอิ่มใจ
การเป็นนักดนตรีไม่มีสังกัด ให้ความสำคัญกับการปรากฎตัวตามสื่อไหม
แดน: ก็ให้นะครับ มันมีช่องทางให้โปรโมตอยู่ แต่อาจจะไม่ได้มีเท่าวงที่มีบ้านอยู่แล้ว เราก็ต้องทำการบ้านมากกว่าเดิม ต้องเข้าไปคุยเองถ้าเขาไม่ติดต่อมา เวลามีอีเวนต์ มีงานอะไรก็พยายามไปรู้จัก พยายามเจอคน เพราะไม่มีใครทำอะไรพวกนี้ให้เรา
เป็นวงที่ลงประกวด ลุยอะไรเยอะเหมือนกัน
ก้อง: ไม่ติดซักอัน น่าจะไม่เหมาะกับการประกวด
แดน: จริงครับ วงเราเคยประกวดสองครั้งยังไม่เคยได้อะไรสักอันเลย
ปิง: แต่เป็นการสร้างโอกาสให้ตัวเอง มีอะไรก็ไปหมด
สองปีในวงการดนตรีเราเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
ปิง: สมาชิก (หัวเราะ)
ก้อง: อาจจะคิดเยอะขึ้น แต่หลัก ๆ แล้วผมว่าเหมือนเดิม แรก ๆ อาจจะไม่โดดเรียนไปเล่น ทุกวันนี้ก็ไม่เรียนละ (หัวเราะ)
แม็ก: เรื่องการทำงานแต่ก่อนก็ไม่ได้บ่อยขนาดนี้ คนดูให้ความสำคัญกับเรา เราก็ต้องให้ความสำคัญกับงาน
แดน: คือในวงจะมานั่งเบรนสตอร์มกันตลอดในแช็ต ในเฟสบุ๊ก โนติเด้งทั้งวันทั้งคืน งานวงมันเป็นงาน 24 ชั่วโมงจริง ๆ ครับ มีโอกาสอะไรต้องรีบคว้า มีอะไรทำได้ก็รีบทำ
ให้เปอร์เซ็นต์ความทุ่มเทกับการทำงานเพลงกี่เปอร์เซ็นต์
แดน: ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ
ก้อง: เราไม่น่าจะเรียนจบสี่ปีนะ (หัวเราะ)
คนดูให้ความสำคัญกับเรา เราก็ต้องให้ความสำคัญกับงาน
เห็นอะไรในวงการที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ก้อง: คนเปิดใจมากขึ้น
แดน: กรุงเทพ ฯ สามปีไม่เหมือนตอนนี้เลยครับ มันมีซีน underground อยู่ แต่ตอนนี้มันเริ่มจะแมสขึ้นมานิดหน่อยแล้ว เรียกได้เต็มปากมากขึ้นว่าเป็น Bamgkok music city อยู่ ๆ เราก็แซงมาเลเซีย แซงอินโดนีเซีย ล่าสุดที่เราไปมาเขายังไม่ได้ขนาดนี้เลยนะ ก็ไม่คิดว่าจะมีคนเปิดใจมากขนาดนี้
อยากเห็นอะไรในวงการเพลงมากขึ้นอีก
ก้อง: อยากเห็นคนเปิดใจมากกว่านี้
แดน: อยากเห็นเรื่อง import export มากกว่านี้ ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นมาหน่อย ปีนี้มีวงนอกเข้ามาเยอะมาก แล้วก็มีวงเราไปเล่นข้างนอกเยอะมาก อยากให้มันเพิ่มขึ้นไปทุกปี อยากสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่น เขามาเราก็ต้อนรับ ถ้าเราไปก็หวังว่าเขาต้อนรับด้วย
แม็ก: อยากเห็นการเปิดรับการยอมรับที่มากขึ้น ความเคารพในวิชาชีพดนตรี ไม่ใช่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นการเต้นกินรำกิน มันควรจะเป็นอะไรที่เป็นอาชีพได้แล้ว ไม่ได้เป็นอาชีพหลักขนาดนั้น แต่ให้มีข้าวกินก็ยังดี
เร็ว ๆ นี้จะมีเล่นที่ไหนไหม
แม็ก: งาน Sound Space ครับ ตรง Soy Sauce Bar เจริญกรุง 24
ก้อง: มี Shark Boys Alive แล้วก็ The Octopuss ด้วย
ฝากผลงาน
แดน: มี EP 3 เพลง อยู่ ขายเป็นแผ่น ทักมาได้ในเฟสบุ๊ก เรารวมซิงเกิ้ลหมดเลย แล้วทำมาสเตอร์ ออดิโอดี ๆ เป็นแผ่นปั๊มโรงงานมาเลย มันก็จะชัดกว่าไรท์ซีดี หรือฟัง YouTube ก็จะได้ประสบการณ์การฟังที่ต่างออกไปเยอะครับ
แม็ก: ฟังสามเพลงแรกของเราก่อน แล้วเพลงใหม่กำลังตามมา ชอบกันรักกันก็สนับสนุนกันนะครับ
ติดตามความเคลื่อนไหวของ Penny Time ได้ที่ https://www.facebook.com/PennyTimeThailand/ และรับฟังเพลงของพวกเขาบนฟังใจได้ ที่นี่