รู้จักกับ นรา ผู้กำกับจาก Hello Filmmaker กับหนังสั้นชวนปลดปล่อยตัวเองจากเมื่อวาน Loser Club
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
นราธิป ไชยณรงค์ ผู้กำกับหน้าใหม่แห่ง Hello Filmmaker ผู้เคยนำเสนอผลงานอย่างมิวสิกวิดิโอเพลง 55 ของ Youth Brush Two Million Thanks – Me You, Scrubb – ทุกวัน และงานชิ้นล่าสุด The Toys – ก่อนฤดูฝน จนตอนนี้เขาได้มีโอกาสมาร่วมสนุกกับโครงการ Tiger Jams ด้วยการสร้างหนังสั้นชวนให้ทุกคนปลดปล่อยตัวเองจากเมื่อวานอย่าง Loser Club และตอนนี้เราจะมาพูดคุยกับเขาถึงที่มาที่ไปของไอเดียในการสร้างหนังสั้นเรื่องนี้ขึ้นมา
รู้สึกยังไงที่ได้มาร่วมงานกับ Tiger Jams
งานนี้เป็นงานแรกที่ผมได้ทำในนามของ Hello Filmmaker ก็แปลกใจประมาณนึงที่เขาเลือกให้ผมทำ แต่พี่ที่เป็นโปรดิวเซอร์เขาบอกว่า งานนี้น่าจะเหมาะกับมึงมากเลย เขาคงรู้สึกว่าพอโจทย์มันมีคำว่า uncage ผมคงจะจะหาอะไรแปลก ๆ มานำเสนอได้
แล้วนราตีความจากคำว่า uncage ยังไง
จริง ๆ ทีแรกมันมีออกมา 3 พล็อต พยายามทำให้มันเล่าเรื่องต่างจากหนังไวรัลที่เราเห็นในอินเทอร์เน็ต แล้วผมก็เอาคำว่า uncage มาใช้กับวิธีการทำงานของผมเองด้วย คือลองทำอะไรที่ไม่เซฟตัวเองมาก อย่างปกติจะระวังงบประมาณการถ่ายทำ แต่อันนี้การมาทำครั้งแรกแล้วโปรดักชันมันค่อนข้างใหญ่ คือถ้าทำให้มันเซฟตัวเองประมาณนึงได้ก็จะดี กับอีกอย่างที่ uncage คือ พวกแร็ปนี่ผมแต่งกับน้อง ๆ เป็นครั้งแรกด้วย มีช่วงนึงรู้สึกว่าตัวเองเป็นแร็ปเปอร์ตลอดเวลา ที่ Hello Filmmaker คือกินเบียร์ไปเปิดบีทนั่งกันสี่ห้าคนกับน้องฝึกงาน บังคับเรียกมันมาแร็ป แร็ปไม่ได้ก็ไม่ให้กลับ (หัวเราะ)
ไอเดียแรกที่คิดไว้คือเล่าเรื่องคนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ อาชีพพื้นฐาน คนธรรมดา ๆ แต่อาจจะเล่าด้วย visual จัด ๆ ให้รู้สึกว่าแค่สิ่งที่ทำอยู่ทุกวัน แต่วันนึงเราได้พลังพิเศษมาเหมือนซูเปอร์ฮีโร่ โดยที่ความจริงอาจจะไม่มีพลังจริง ๆ แต่แค่เราเชื่อ มันก็พิเศษได้
อีกอันนึงผมเอามาจากพี่ในออฟฟิศที่ชอบกินเบียร์ด้วยกัน แล้วเขาจะแรนด้อมคาแร็กเตอร์ออกมาเวลาเมา บางทีถ้าไปกินกับเขาอาจจะเข้าคุกได้เลย คือหมายถึงเวลาเขาเมาแล้วเขาสุดมากจนกลายเป็นคนอื่นไปแล้ว แล้วคนอื่นก็พยายามจะบอกว่าอย่าไปกินกับพี่คนนี้ แต่ด้วยความที่ผมชอบลอง อยากรู้ว่าจะเป็นไง วันแรกที่ไปด้วยกันคือโดนแท็กซี่ไล่ลงจากรถเพราะความห่าม (หัวเราะ) แต่พอไปกินอีกครั้งแล้วเขาก็น่ารักมาก ผมเลยเอามาจากตรงนี้แล้วคิดเป็นเรื่องออกแนวโรแมนติกคอเมดี้ เป็นเรื่องผู้หญิงคนนึงที่มีคาแร็กเตอร์สุ่มออกมาเยอะมาก แล้วมันมีเพื่อนผู้ชายที่ไปเจอคาแร็กเตอร์ที่ผู้หญิงบอกชอบตัวเอง แต่หลังจากวันนั้นแล้วคาแร็กเตอร์นี้ก็ไม่โผล่ออกมาอีกเลย ผู้ชายก็เลยพยายามกินเบียร์กับอีนี่อีกเพื่อพิสูจน์ว่ามันมีจริงหรือเปล่า สุดท้ายมันอาจจะเป็นตัวมันจริง ๆ ที่ไม่ได้เมาแล้วบอกชอบไปก็ได้ แต่ก็ไม่ได้เอามาพัฒนาต่อเพราะมันเป็นหนังเบียร์ Tiger แล้วถ้าทำเป็นเรื่องเกี่ยวกับเบียร์อีกก็จะตรงไปหน่อย
เลยมาลงที่ Loser Club มันเป็นอันที่ผมชอบที่สุดด้วย ทางพี่ ๆ ฟังใจก็มองเห็นตรงกันว่าบรรยากาศในคลับน่าจะมันดีแล้วก็พูดความเป็น Tiger Jams ออกมาได้ดีสุด ทีแรกมันจะไม่มีพาร์ตนักดนตรีเลย จะมีแค่อยู่ในคลับที่แร็ปอย่างเดียว เพราะผมอยากเน้นแค่ประเด็นคนที่ห่วยกันมาก ๆ แล้วเอาสิ่งนี้มาสู้กันเพื่อผลักดันชีวิตขึ้นไป เหมือนมาตายกันที่นี่แล้วเกิดใหม่ทุกวัน แต่คราวนี้ด้วยความที่มันเป็นประกวดวงเขาก็อยากให้มีวงดนตรีเข้ามา เลยพยายามหาที่ทางให้ตัววงมันลงได้
ได้แรงบันดาลใจจาก Rap is Now หรือเปล่า
Rap is Now ก็ส่วนนึงครับ จริง ๆ แล้วการแร็ปมันถูกคิดมาหลังสุดนะ ผมไม่ได้ชอบแร็ปขนาดที่มันเป็นทุกอย่างในชีวิต แต่พอได้ดูพวก rap battle ต่างประเทศ ดูหนังเรื่อง 8 Mile แล้วรู้สึกว่าถ้าเอาแร็ปออกจากหัวไม่ได้ อยากลองไปแข่งกับเขาดูดีไหม แล้วผมอาจจะเป็น loser ในนั้น โดนด่ายับก็ได้ แต่พอได้มาทำ Loser Club ก็เหมือนปลดทุกข์ในชีวิตไปได้หนึ่งอย่าง จนทุกวันนี้ก็ไม่ได้แร็ปละ (หัวเราะ)
แรกเริ่มเลยกะเอาแค่เห็นภาพการ uncage ผมแค่ invert มาตรง ๆ เลยว่าแทนที่จะมาพูดว่า เฮ้ย นายสู้ต่อไปสิวะ ก็ให้มันเป็น เออ ก็กูจะห่วยแบบนี้ แล้วใครจะทำไมวะ ทำไมไม่มีคนพูดแบบนี้บ้าง ทีแรกก็คิดให้เป็นชมรมแบบล้อมโต๊ะคุยกัน แต่คิดว่าถ้าแค่เอาเรื่องห่วย ๆ มันคุยกันมันจะมีวิธีเล่าแบบไหนอีก ก็นึกถึง rap battle มันก็ได้ทั้งการพูดเรื่องนี้ออกมาแล้วได้ความสนุก แล้วก็ได้แข่งกันด้วย การ uncage ตรงนี้เลยเป็นการที่เรากล้าพูดว่าเราเป็น loser
ไปเจอคนที่ตรงกับคาแร็กเตอร์ในเรื่องได้ยังไง
ก่อนจะเลือกคาแร็กเตอร์พวกนี้ ผมคิดว่าภาพแรกที่คนจะมองว่าคนนี้ห่วยจะมีอะไรบ้าง มันก็ค่อนข้างดิบเลย อย่างเช่น อ้วน แว่น ดำ ผอม ดูติดยา อะไรแบบนั้น แล้วค่อยคิดต่อว่าคนพวกนี้จะเป็นลักษณะอะไรได้อีก เช่นอ้วนอืดอาด อ้วนมีพาวเวอร์ ใส่แว่นแล้วเป็นเนิร์ด หรือเป็นคนทำงาน แล้วส่งให้น้องแคสติ้งไปหามา พอเห็นคนที่เขาเลือกมาให้ก็ใช่เลย เอาคนพวกนี้แหละ ทีแรกก็พยายามระวังเรื่อง sterotype เหมือนกัน แต่บางทีการคิด screenplay มันก็ต้องให้ภาพชัดแบบนี้ให้รู้ว่าสิ่งที่คนมองร่วมกันมันก็น่าจะประมาณนี้อยู่แล้ว สุดท้ายตัวละครพวกนี้เขาก็ไม่ได้เป็น loser จริง ๆ ทุกคนเขามีพลังในแบบของเขา
กลุ่มของ Loser Club มันมีคอนเซปต์ที่พยายามจะปลดปล่อยตัวเองอยู่แล้ว คือ ไม่กลัวแพ้ แต่ในความที่ไม่กลัวแพ้ของคนพวกนี้มันมีอันนึงที่ไม่ได้ก้าวข้ามจริง ๆ คือการเป็นผู้ชนะในชีวิตจริง สุดท้ายแล้วมันพยายามไม่แพ้มากกว่า อย่างตัวละครพระเอกเลือกที่จะบอกความรู้สึกจริง ๆ ต่อนางเอกออกไป ตอนนั้นทุกคนไม่ได้รู้สึกชื่นชมมัน เพราะมันกล้าพูดไปแล้ว ก็เลยแพ้ในการแข่ง แต่ในชีวิตจริงเขาไม่แพ้อะ ส่วนไอ้คนที่เป็นแชมป์ 20 ปีเพราะเขาเลือกที่จะไม่บอกความรู้สึก แล้วความรู้สึกแพ้นี่มันทำให้เขาดูเจ๋งที่สุดแล้วว่า คนอะไรวะ แพ้มาตลอดแต่เป็นแชมป์มาได้ 20 ปีแล้ว
พูดถึงตัวหนังที่อิงการ rap battle รู้สึกยังไงที่การแร็ปกลายเป็นปรากฏการณ์ส่งผลกับคนรุ่นใหม่
ผมว่าเด็ก ๆ บางทีดูอะไรแล้วยังจับแค่ความมันหรือแค่เปลือกอยู่ถ้าแค่เอาคำหยาบไปใช้หรือทำให้รู้สึกดูเท่ แต่ถ้ามองลึก ๆ แล้วการ battle มันมีที่มาที่ไปและมีความหมายเยอะ อย่างหนังเกี่ยวกับคนดำนี่รู้เลยว่าสิ่งที่เขาเอามา battle กันมันเป็นสิ่งที่ถูกกดทับมามากจากทั้งคนขาวหรือตัวคนดำด้วยกันเอง การเกิดแร็ปขึ้นมาได้คือมันผ่านอะไรมาเยอะเขาถึงจะพูดเรื่องนั้น อย่างใน 8 Mile นี่พระเอกไม่ได้ battle มาตั้งแต่ตอนต้นของหนัง เพราะก่อนหน้าหนังมันพาไปดูว่าชีวิตเขาผ่านอะไรมาเยอะมากกว่าการโดนด่าแค่ 1 นาที แล้วเขามา battle เอาตอนท้ายของเรื่องแล้วถามว่า มีอะไรที่ยังไม่รู้อีก มึงพูดมา เลยรู้สึกว่าถ้ามองข้ามคำหยาบหรือความเท่ไปมองวิธีที่เขาเอาแร็ปมาใช้ในการพูดเรื่องสังคมหรืออะไรแบบนั้นก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก
มีเรื่องที่รู้สึก loser ที่สุดในชีวิตไหม
เยอะเลยครับ จริง ๆ ทุกวันผมมีความ loser อยู่แล้ว คือพวกความผิดพลาดเล็กน้อยเช่นตื่นมาลืมบัตร ATM แล้วต้องขึ้นไปเอา อันนี้มันก็คือความ loser อย่างนึง ในความคิดผมมันไม่จำเป็นต้องเรื่องใหญ่มาก อาจจะแค่สะดุดก้อนหินก้อนนึง แต่ไม่ได้ทำให้รู้สึกผิดไปตลอดชีวิต อันที่จริงก็นึกเรื่องใหญ่ ๆ ไม่ออก หรือผมอาจจะไม่บอกคุณก็ได้ (หัวเราะ)
มีอะไรที่อยาก uncage ในชีวิตอีกไหม
มีอีกหลายเรื่องเลยนะครับ ผมนับว่าการทำหนังของตัวเองก็คือการ uncage มาไกลมากแล้ว ถ้านับตั้งแต่ม.ต้น ม.ปลาย ที่อยากทำหนังเฉย ๆ จนมาทำตรงนี้ก็รู้สึกว่าได้ uncage มาเยอะแล้ว มันดูลำบากชีวิตสุด ๆ ไปเลยทำงาน production เนี่ย ก็คิดว่าการทำหนังไปเรื่อย ๆ มันเป็นการ uncage ที่เป็นระบบออโต้ไปแล้ว ไม่ก็คงวน ๆ อยู่กับการเล่าเรื่องครับ อยากทำนิทรรศการ installation ที่ใช้วิดิโอเข้ามา หรืออาจจะมีงานเขียนที่คงจะไปผสมกับวิดิโอ
รู้สึกยังไงที่สินค้าต่าง ๆ หันมาทำหนังสั้นหรือ viral กันหมด จะรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้นนี้ยังไง
จะรับมือยังไงก็ไม่รู้ แต่ถ้าบอกว่าอยากทำอะไรใหม่ ๆ ก็ไม่รู้ว่าพูดเว่อร์ไปไหม มันอาจจะไม่ได้ใหม่สำหรับบางคน หรือถ้าใหม่แล้วอาจจะไม่ได้มีคนอยากดูก็ได้ เพราะงั้นถ้าทำงานที่ทำกับลูกค้าหรือแบรนด์ มันคงเป็นการต้องบาลานซ์สองอย่างให้พอดีกัน จะทำสุดโต่งไปเลยไม่ได้ ยกเว้นลูกค้าเขาอยากเห็นแบบนั้น เพราะงั้นวิธีการของผมคือถ้าอยากทำอะไรก็ทำของตัวเองดีกว่า ซึ่งตอนนี้ก็มีเยอะฮะ ส่วนใหญ่เป็น mv ทำให้เพื่อน น่าจะเป็นของ Two Million Thanks ต้องรอดุ่ยไปเป็นทหารก่อนถึงจะได้ดูกัน
ความคาดหวังในยอดวิวจากลูกค้ากดดันการคิดงานแต่ละชิ้นของเราไหม
เอาจริงผมไม่ได้กดดันเลยฮะ เพราะไม่รู้สึกถึงตรงนั้นเท่าไหร่เพราะนี่ก็เพิ่งมาทำตัวแรก ผมว่าต่อให้เป็นผู้กำกับที่ทำมาเยอะแล้วเขาก็ไม่สามารถการันตีตรงนี้ได้ แล้วอีกอย่างยอดวิวยอดไลค์มันมีปัจจัยอื่น ๆ อีก มันพิสูจน์ไม่ได้ว่าเรื่องนี้ประสบความสำเร็จไหม แต่ถ้าลูกค้าอยากได้เยอะ ผมว่ามันก็มีวิธีการอื่นที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการให้เนื้อเรื่องทำงานก็ได้ แต่ถ้าถามในแง่ของคนทำมันก็จะดีกว่าถ้าหนังของเราไปสู่คนที่เราอยากให้เขาดูได้ คือตรง target
ฝากผลงาน
ตอนนี้ก็ยังเป็นฟรีแลนซ์อยู่แหละ แต่พอมาทำกับ Hello Filmmaker น่าจะเป็นพาร์ตเกิน 60-70% ในชีวิตแล้ว คิดว่าจะมีงานที่ทำกับที่นี่ออกมาอีกเรื่อย ๆ