นี่คือ 13 เพลงจาก ‘เจ มณฑล’ ที่เขียนขึ้นมา ‘ด้วยความเคารพ’ ในอาชีพคนทำดนตรี
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Watcharawit Moonmang
นอกเหนือไปจากการเป็นนักแสดงดาวรุ่งจากยุค 90s อีกบทบาทที่คนรุ่นหลังน่าจะคุ้นเคยกับ เจ—มณฑล จิรา เป็นอย่างดีคือการเป็นนักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ ที่ได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ
หลังจากที่เขาสั่งสมประสบการณ์ทำงานด้านดนตรีมานาน ทั้งทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ทำวงดนตรี ทำค่ายเพลง โปรดิวซ์ และร่วมงานกับศิลปินคนอื่น ๆ ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เขาจะกลับมาสร้างผลงานภายใต้ชื่อของตัวเอง กับอัลบั้มเต็ม 13 เพลงภาษาไทยชุดแรกในรอบหลายปี
แม้เนื้อหาจะพูดถึงเรื่องราวที่ทุกคนต่างเคยพบเจออย่างเรื่อง ‘ความสัมพันธ์’ แต่เขาเลือกมุมมองมาเล่าได้แตกต่าง น่าสนใจ และยังไม่ลืมที่จะนำเสนอซาวด์ดนตรีที่แปลกใหม่ ผ่านการเรียบเรียงอย่างพิถีพิถัน เพราะนี่คือการทำงาน ‘ด้วยความเคารพ’ ต่อสิ่งที่เขารัก
อะไรทำให้ผันตัวจากนักแสดงมาเอาจริงเอาจังด้านดนตรี
ทีแรกก็เข้าวงการมาในนามนักแสดงทั่วไป แล้วก็มาทำเพลง แต่หลังจากนั้นน่าจะเป็นช่วงที่เราเข้าใจว่าเราชอบตรงนี้จริง ๆ ก็อยากจะไปเรียนรู้และหัดทำเพลง น่าจะประมาณปี 1997 ซีนอินดี้ อัลเทอร์เนทิฟกำลังสนุกเลย
หลังจากที่ผมไปเรียน ก็ย้ายไปทำงานเสียงในโปรดักชันภาพยนตร์ประมาณ 3-4 ปีที่ LA แล้วก็ย้ายไป New York ไปเล่นกับวงชื่อ Kenna ที่อยู่ใต้ Columbia Records หลังจากได้ทำงานตรงนั้นจนถึงปี 2007 ผมก็ตัดสินใจกลับมาอยู่เมืองไทย แล้วก็ทำผลงานของตัวเองตอนปี 2009-2010 ก็ทำห้องอัด ทำค่ายเพลงของตัวเอง (Samutprakarn Sound) แล้วก็โปรดิวซ์ให้คนอื่นไปก่อน
ทำไมถึงใช้ชื่อว่า ‘ด้วยความเคารพ’
ผมอยากเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ในเพลงกับคนฟังโดยตรง เลยหาอะไรที่เป็นเหมือนคำลงท้ายจดหมาย คล้าย ๆ ‘sincerely yours’ หรือ ‘yours truly’ ก็มาตกที่คำว่า ‘ด้วยความเคารพ’ เพราะมันมีความหมายเกี่ยวกับกระบวนการแต่งเพลงทั้งหมด ที่ผมก็ทำด้วยความเคารพในงานตรงนี้
ใช้เวลาทำงานอัลบั้มนี้ถึง 15 ปี
โดยคอนเซ็ปต์ก็ประมาณนั้นครับ เพราะคิดว่าอยากทำตั้งแต่เริ่มทำเพลงแรก ๆ เลย แต่ต้องรอกว่าจะมาถึงจุดที่ตัวเองรู้สึกว่า พร้อมที่จะมาทำตรงนี้จริง ๆ แต่ถ้าลงมือทำจริง ๆ น่าจะประมาณ 2 ปี เพราะก่อนหน้านี้ทำทั้ง Montonn & Hanna, Katsue หรือไปทำกับ Hugo แล้วก็งานโปรดิวซ์ทั่วไป อันนั้นก็เหมือนเป็นการทดลอง เก็บประสบการณ์ต่าง ๆ ก่อนจะมาใช้กับงานตัวเอง มีบางอย่างที่เราต้องค้นหา ต้องสร้างเครดิต แล้วก็เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วย
คอนเซ็ปต์อัลบั้ม
คนทั่วไปจะชอบเพลงรัก เพลงที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ เรื่องนี้แทบจะเป็นหัวข้อแรกที่คนหยิบมาแต่งเพลง เราก็อยากจะเริ่มตรงดูว่า จะเอาเรื่องราวที่ปกติธรรมดามาก ๆ ของทุกคน มาเล่าในมุมมองของเราได้ไหม เพราะเวลาเราวิเคราะห์หลาย ๆ เพลง เรื่องราวก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ แค่เป็นความคิดของแต่ละคนที่จะแตกต่างกันนิดนึง ผมก็เอาตรงนี้มาใช้
โดย 13 เพลงจะเป็นเหมือน snapshot เพลงนี้คือเหตุการณ์ตอนนี้ มันเริ่มมายังไง เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราคิดอะไรกันอยู่ ณ ตอนนั้น อยากให้แต่ละเพลงบันทึกช่วงเวลาของสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา หรือเพื่อน ๆ เจอมา หรือไปอ่านเจอมา ไม่รู้เหมือนกันว่าคนอื่นแต่งเพลงแบบไหน วิธีของผมเป็นการคิด การอธิบายให้ตัวเองฟัง แล้วมีความเชื่อว่า คนอื่นก็อาจจะอยากรู้ด้วย เพราะหลาย ๆ อย่างที่เราคิดว่ามันเกิดขึ้นกับเราคนเดียว มันอาจจะเกิดกับหลาย ๆ คน ที่เขาอาจจะไม่เคยพูดถึง หรือไม่ได้ยอมรับว่ามันเกิดขึ้น แต่บางทีมันก็มีอยู่ในชีวิตของเขา
สไตล์ดนตรีได้อิทธิพลจากที่ไหนบ้าง
ถ้าลองฟังดูมันเป็นการผสมผสานหลาย ๆ อย่างที่ผมชอบฟัง และได้เก็บความรู้สึกมันมา พอมาทำของตัวเองก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ อย่างตอนที่เราให้นักเขียนคนนึง คุณ Andy เขาเขียน press release เป็นภาษาอังกฤษ เขาก็ดึงความคิดของเขามาว่าเราได้อิทธิพลจากอะไรบ้าง ซึ่งเราก็ไม่ได้มองเห็นชื่อพวกนี้ แต่เราเข้าใจได้ว่ามันมีความเกี่ยวข้องกัน อย่างเขาพูดถึง James Blake, Ólafur Arnalds ตอนที่เราเริ่มทำเราก็อยากให้มันมีความ cinematic, visual ความยิ่งใหญ่อยู่ในนั้นนิดนึง แล้วมันก็มีส่วน synthetic vocal processing แล้วก็ natural ด้วย ซึ่งตรงนี้ก็เข้าใจว่ามีความ James Blake กับ Bon Iver เข้ามา โครงสร้างเพลงจะมีความ Sufjan Stevens เป็นนักดนตรี นักแต่งเพลงในยุคนี้ที่ผมฟังอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าขุดลึกลงไปอีกจะมีส่วนที่เป็นร็อก บางคนบอกว่ามีความ 90s มากเลย อาจจะเพลง ‘คนที่ดีกว่า’ มันอาจจะมีกลิ่น Radiohead, Thom Yorke, Chemical Brothers เข้ามา แล้วก็อะไรก็ตามที่อยู่ในยุคนั้น
เนื้อเพลงเรียบง่าย แต่ดนตรีมี sound design ที่ซับซ้อน
คือเราเป็นคนที่ชอบสัดส่วน sound timbre กับ texture ต่าง ๆ อยู่แล้ว เหมือนเป็นลายเซ็นของเราเลย ไม่ว่าจะไปเป็นโปรดิวเซอร์คนอื่น หรือว่าทำงานตัวเอง ถ้าเนื้อกับทำนองซับซ้อนมาก ๆ แล้วดนตรีซับซ้อนมาก ๆ คนที่จะฟังเขาจะรู้สึกว่ามันเข้าถึงยากหรือเปล่า ถ้าผมเข้าใจถูก คนฟังเพลงส่วนมากเขาจะฟังทำนองกับเนื้อเพลง
ตอนเราตัดสินใจทำโปรเจกต์นี้ ก็อยากจะลองทำอะไรที่มันไม่ได้ซับซ้อนมาก ให้เนื้อหา ทำนองง่าย ๆ แล้วมาเสริมดนตรีที่อาจจะมีสีสันนิดนึง ให้เขารู้สึกว่ามันมีตรงนี้เพิ่มมาด้วย แต่ไม่น่าจะมีอะไรที่รู้สึกว่าแปลก
การเริ่มต้นของแต่ละเพลงเริ่มจากกีตาร์โปร่ง หาทำนองใหม่ แล้วเอาส่วนที่เราชอบใน sound design ต่าง ๆ มาใส่ทีหลัง โดยมีจุดประสงค์ที่อยากสร้างผลงาน ที่มันมีย่านเสียงที่กว้างกว่าสิ่งที่เราได้ฟังกันอยู่เรื่อย ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างว่า ดนตรีในยุคนี้มีมากกว่าแค่กลองชุด เบส กีตาร์ คีย์บอร์ด แซ็กโซโฟน มันมีการผสมผสานกันได้หลาย ๆ รูปแบบ
เราก็เลยเอาส่วนนี้มาใช้เป็นส่วนประกอบของการเรียบเรียงเพลง ทุกเพลงมันจะมีส่วนที่ organic element ผสมกับ synthetic element มีกีตาร์โปร่ง มีเปียโนอยู่ตลอด ซึ่งมันเป็นสองฝั่งที่ผมชอบอยู่แล้ว ใช่ว่าผมจะมีผลงานที่เป็น electronic, techno อย่างเดียวเลย Montonn & Hanna เป็นอะไรที่ organic มาก ๆ การที่เราออกแบบซาวด์ของ เจ มณฑล เนี่ยก็จะมีซาวด์ของทั้งสองฝั่ง ต้องมาหาว่า จะ blend ยังไงโดยที่ไม่สังเคราะห์เกินไป และยังพอมีอะไรที่ตัวเองสนใจอยู่ด้วย
สังเกตว่าหลังจากจบเพลงนึง จะมีการเว้นความเงียบที่ค่อนข้างยาว ก่อนที่จะขึ้นอีกเพลง
สำหรับคนที่ยังฟังเป็นอัลบั้มอยู่ (หัวเราะ) อย่างถ้าเราไปดูจุดเริ่มต้นของเพลง พอกด play ปุ๊บ มันเล่นเลย แต่ว่าท้ายเพลงบางทีมันมีช่องว่างระหว่างเพลงที่ยาว เพื่อให้เราได้ย่อยตอนจบของมัน เพราะมันเป็นหางของตัวโน้ตต่าง ๆ จะทำให้รู้สึกว่าเพลงมันเฟดไปสู่ความเงียบ เหมือนให้พักหายใจได้ครั้งนึง (หัวเราะ) แล้วเพลงต่อไปก็จะเริ่ม
ซาวด์โดยรวมก็ฟังแล้วรู้สึกว่า เป็นอัลบั้มที่ควรฟังในที่เงียบและเย็น
อันนี้ถูกต้องเลย เวลาที่เราฟังอะไรแบบนี้มันควรจะเป็นในที่เงียบ และเย็น เพราะในอัลบั้มมันมีความอุ่นอยู่ แต่มันไม่ได้เป็นอุ่นที่มีความชื้น มันมีความรู้สึกแห้ง ๆ หลายคนจะคิดถึงประเทศที่หนาว ไม่มีความ tropical ในนั้นเลย ซึ่ง ตรงนี้ผมอาจจะเห็นว่าคนแบ่งได้ว่า มันฟังดูเหมือนเป็นอะไรที่มันสากล เพราะมันมีฝั่งทาง West เข้ามา ไม่ใช่ Jamaica หรือ Florida West แต่มันจะมาจากที่แห้ง ๆ อยู่ อาจจะเป็น nordic space อีกทีนึง เราไม่ได้ตั้งใจจะให้มันรู้สึกแบบนี้ แต่ว่าวิธีการสร้าง texture บางอย่างที่เราคุ้นเคยและเราชอบ เอามาใส่ใน song structure แบบนี้ คนอาจจะไม่ค่อยได้ฟัง เพราะมันไม่ค่อยมีให้ฟังที่นี่
มีคนบอกว่าถ้าศิลปินอยู่ในภูมิภาคไหน ซาวด์ดนตรีจะออกมาแบบนั้น ทำไมเจอยู่นี่ แต่ทำดนตรีได้เหมือนอยู่แถบ nordic มากๆ
เราเป็นคนที่ชอบซาวด์แบบนั้นอยู่แล้ว แล้วมันก็มี underlying theme จากศิลปินต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานของเรา ไม่ว่าจะ Björk หรือ Sigur Rós ช่วงแรก ๆ จนมาถึงตอนนี้ อย่าง Jon Hopkins, Rival Consoles ก็จะมี density ใน composition ใน content ด้วยแหละ อาจจะเป็นเพราะตอนที่ผมเรียนผมโฟกัสกับเพลงคลาสสิกด้วย แล้วก็ชอบสกอร์หนัง มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ผสมกัน รู้สึกว่ามันมี emotional connection มาก คือเพลงที่มีอะไรพวกนี้อยู่ ก็อยากจะมาใช้ในการสร้างผลงานตัวเอง
รู้สึกว่าการเรียงเพลงในอัลบั้ม เหมือนเป็นการตามไปดูวงจรความสัมพันธ์
ตอนแรกผมอยากให้มันเล่าออกมาแบบนั้น ให้มัน make sense เลย เป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มที่เล่าถึง ‘cycle of relationship’ ว่ามันเริ่มแบบนี้ แล้วมักจะเกิดอะไรอย่างนี้ขึ้น แล้วก็แยกกันไป ไปเจอคนใหม่ ทุกอย่างจะดี จะแปลก แล้วก็ถึงจุดที่ไม่รู้จะอธิบายยังไง แล้วก็แยกย้ายกันไป ไปเจอคนใหม่ วนไปอย่างนี้ แต่พอมีตรงนั้นปุ๊บ มันจะจำกัดมากตอนแต่งเพลง ผมก็เลยมีเพลงจำนวนนึงที่มันเยอะกว่านี้ แต่งไปเรื่อย ๆ ให้มีตัวเลือกเยอะ ๆ เนื้อเรื่องหลาย ๆ อัน ก็แล้วแต่ว่าจะเขียนออกมาได้ยังไงบ้าง
แล้วพอเรามาเลือกจริง ๆ เลยเลือกเพลงที่น่าจะเข้ากัน เอามาเรียบเรียง sequence มาวิเคราะห์ด้วยการดู tempo ก่อน แล้วก็ดูอีกทีว่าพอเพลงนี้จบ อีกเพลงเข้ามาต่อแล้วจะรู้สึกยังไงอีกทีให้มัน make sense หน่อย เราไม่ได้ไป strict กับตรงนั้นมาก แต่มันมี circle progression ที่เรามองเห็นได้ ดีไม่ดีมันอาจจะบังคับให้คนกลับไปฟังทั้งอัลบั้ม แล้ววิเคราะห์ตรงนั้นได้เหมือนกัน
คนไทยก็เริ่มฟังเพลงภาษาอังกฤษแล้ว ทำไมถึงกลับมาเขียนเพลงภาษาไทย ทั้งที่ทำเพลงภาษาอังกฤษมาตลอด
(หัวเราะ) อาจจะเป็นจังหวะที่เราคิดว่า เอ๊ะ หรือว่าควรจะทำเพลงไทย เพราะเราก็ทำภาษาอังกฤษมาโดยตลอด คือจริง ๆ ควรจะแต่งเพลงไทยได้อยู่แล้ว แต่มันยากเพราะรูปแบบภาษามีวรรณยุกต์ต่าง ๆ และมีข้อจำกัดที่เราต้องหาวิธีการมาแต่งมันให้เข้ากับเมโลดี้ มันก็เลยเหมือนเป็นการท้าทายตัวเองว่า เราจะแต่งเมโลดี้ที่ไม่ได้ตาม format เพลงไทย โดยที่มันไม่ได้ซับซ้อน และมีความน่าสนใจอยู่ได้หรือเปล่า ก็เป็นการทดลองตรงนั้นดู ค่อย ๆ พัฒนาไปว่าเราต้องแก้อะไรบ้าง
แต่ในช่วงที่คนทำเริ่มฟังเพลงภาษาอังกฤษกันมากขึ้น แต่ผมว่ามันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ ถ้าเราได้สร้างผลงานที่เป็นภาษาไทย เพื่อให้คนฟังที่มีอยู่ 70 ล้านคนรู้สึกว่ามีอะไรน่าสนใจ ก็น่าจะดึงคนฟังได้มากขึ้น น่าจะดีกว่า
เรามาดูแล้ว ศิลปินที่ปล่อยเพลงภาษาอังกฤษในเมืองไทยทำเหมือนเป็นกิมมิกมากกว่า เพื่อบอกว่าเรามีเพลงภาษาอังกฤษนะ ศิลปินที่จะออกไปนอกได้จริง ๆ ก็ยาก เพราะการไปโปรโมตต่างประเทศก็มีค่าใช้จ่ายสูง และอาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าไหร่ การเดินทางการไปทัวร์ที่นู่น จะพาวงไปยังไง แทนที่เราจะไปทำหลาย ๆ อย่างที่มีข้อจำกัด ทำตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ง่ายกว่า และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ครั้งแรกที่ได้เล่นเพลงจากอัลบั้ม ‘ด้วยความเคารพ’
คนน่าจะได้ฟังครั้งแรก Cat Expo ปีที่แล้ว ฟีดแบ็กคนดูก็งง ๆ (หัวเราะ) บางคนเขาก็ดูเริ่มเข้าใจ เหมือนผมได้อธิบายให้เขารู้ว่ากำลังทำงานตัวเองอยู่ แต่ยังไม่รู้ว่ารูปแบบจริงจะออกมาเป็นยังไง
แต่เพลง ‘หาทางต่อไป’ ที่ปล่อยมาถือว่าย่อยง่ายที่สุดในอัลบั้ม คิดว่าถ้าคนมาฟังทั้งชุดจะเหวอไหม
จริง ๆ อยากให้เขาฟังทั้งชุดนะ ที่เลือก ‘หาทางต่อไป’ เพราะอยากให้เป็น focus track เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Spotify หรือ Apple Music สามารถบอกได้ว่าเพลงของเราเป็นประมาณไหน แล้วที่เลือกเพลงนี้เพราะมันมีองค์ประกอบที่ทำให้คนเห็นภาพรวมของเพลงอื่น ๆ ในอัลบั้ม ไม่ว่าจะเป็น sample manipulation หรือว่า structure ที่มัน build อะไรต่าง ๆ ผมคิดว่าก็ไม่น่าจะเหวอ
จบจากอัลบั้มนี้แล้วจะยังไงต่อ
ในเมื่อเราปล่อยไปทุกเพลงพร้อม ๆ กันแล้ว เราก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้มันไปถึงคนฟังมากขึ้น ก็มาคุยกับหลาย ๆ สื่อ หลาย ๆ ทีม แล้วก็หาโอกาสไปเล่นเพลงพวกนี้ แล้วผมก็คิดว่าเราก็ต้องทำเพลงต่อไปเรื่อย ๆ ภายในไม่กี่เดือนนี้ก็ควรจะเริ่มมีอะไรออกมา เป้าหมายก็คือเราจะมาตั้งใจทำโปรเจกต์เดี่ยวนี่แหละ
ถ้าพูดถึงความคิดของผม เราก็อยากให้มันเป็น essential album อันนึงที่คนฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นผลงานที่ได้อิทธิพลการทำงานของศิลปินคนอื่น แล้วสร้างแรงบันดาลใจให้คนฟังอีกที แต่ผลมันจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ มันจะมี critical acclaim หรือเปล่า มี commercial success ไหมอันนี้ก็แล้วแต่ เราสร้างเสร็จแล้ว ปล่อยมันไปแล้ว เราแฮปปี้กับมันแล้ว
ไปร่วมงานกับศิลปินหรือโปรดิวเซอร์ต่างประเทศมาแล้ว คิดว่าวงการเพลงไทยเรายังขาดอะไรอีกบ้าง
ถ้าพูดถึงยุคก่อนนี้ซัก 10 ปี ผมรู้สึกว่ามันก็ยัง disconnect อยู่นิดนึง แต่ 5 ปีที่ผ่านมา การที่เรามีอินเทอร์เน็ต การที่เราเรียนรู้ผ่าน YouTube ได้ เรื่องการขาดทักษะในการทำงานโปรดักชันก็จะเริ่มหายไปแล้ว
ถ้าพูดถึงรสนิยม อันนี้คือสิ่งที่แตกต่างแล้ว อุปกรณ์เขา มีแต่วิธีการใช้ ใครจะเลือกอะไรมาใช้เป็นสิ่งที่สำคัญ ตรงนี้มันก็กลายเป็นแล้วแต่ว่าใครชอบอะไร ให้เถียงกันก็ไม่จบ เขาทำกันแบบนี้เพราะเขาชอบแบบนี้ ไม่ได้เพราะเขาทำไม่ถึงจุดนั้น ซึ่งตรงนี้มันก็ถือว่ามันเปิดโอกาสให้ทุกคนแล้วว่า คนอยากจะเลือกยังไง
อัลบั้มนี้มันก็ถึงเป็นแบบนี้ด้วยแหละ ตัวผมเองจะคิดว่าศิลปินหลาย ๆ คนอยากจะทำอะไรแบบนี้ แต่อาจจะไม่กล้าที่จะทำ หรือไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้มันออกมาได้ เราก็อยากจะเป็นตัวอย่างให้ดูว่ามันทำได้นะ ในคอนเซ็ปต์ว่าทั้งหมดที่ได้ฟังมันคือคนทำคนเดียว ตั้งแต่ต้นจนจบ ศิลปินคนอื่นอาจจะมีทีมมีโปรดิวเซอร์มาช่วย ถ้าเขามีวิสัยทัศน์ตรงนี้ แล้วอยากจะทำอะไรแบบนี้ มันก็เป็นไปได้มาก
สงสัยมานานแล้วว่า เจเป็น music director ที่ Wonderfruit แต่ทำไมเลือกศิลปิน line up ที่คนไม่ค่อยรู้จัก
(หัวเราะ) เพราะเราไม่ได้ถือว่าเราเป็น music featival เราเป็นเหมือน cultural event เป็น celebration มากกว่า พอเราพูดถึงตรงนี้ การที่เราได้เลือกศิลปินที่เราคิดว่าน่าสนใจ แต่ในแง่ยอดขายอาจจะไม่ได้เป็นชื่อที่จะขายบัตรให้กับคนดู เพราะเราก็อยากให้ Wonderfruit เป็น headliner ตลอด ไม่อยากให้ชื่ออื่นดึงความสนใจไป
น่าจะเป็น 2-3 ปีแรกที่เราได้ประสบการณ์จากการทำงานที่นี่ แล้วได้เห็นว่า ชื่อ top 40 ยังไม่ได้รับประกันว่าจะขายบัตรได้เลย เราจะมานั่งไล่จับ headliner ทุกปีก็ไม่ไหว ด้วยราคา ด้วยฐานแฟนของเราที่นี่ที่อยากจะไปดู เราเลยตัดตรงนั้นทิ้งไปเลยดีกว่า ให้เป็นว่า เราควรจะไปหาศิลปินที่เราชอบ และคนอื่นควรจะได้ดู แล้วก็ให้โอกาสตรงนี้ที่เขาจะมา Wonderfruit เพื่อที่จะมาสนุกกับบรรยากาศในงานรอบ ๆ มากกว่า
ตอนนี้เราเลยอยากไปให้ถึงจุดที่ว่า อะ Wonderfruit ปีนี้จัดวันเท่านี้นะ แล้วคนอยากจะไปโดยที่ไม่ต้องรอว่า เดี๋ยวเราจะประกาศไลน์อัพ มีใครบ้าง เราอยากสร้างมาตรฐานว่า ยังไงมันก็น่าจะมีอะไรที่น่าสนใจอยู่ ให้มันเป็นแนวทางศึกษาด้วย ศิลปินที่มาเล่น อาจจะมีคนรู้จัก หรือไม่รู้จัก แต่อย่างน้อยเข้ามาแล้วไม่รู้จัก อาจจะชอบ หรืออาจจะไม่ชอบก็ได้ แต่ขอให้มีความหลากหลายของแนวดนตรี แต่ละปีจะไม่เหมือนกัน
ไม่ได้มีแต่วงหรือดีเจเมืองนอก มีเวทีให้ศิลปินไทยด้วย
Intermission เป็น platform ที่เราตั้งมาแต่ต้น เพื่อให้วงใหม่ ๆ ได้ทำงานกับ Howie B. แต่ว่าโดยรวมคืออยากให้เขาดึงคนที่รู้จักมาช่วยแนะนำ ช่วยพัฒนาวงใหม่ ๆ ในด้านการแสดง การเขียนเพลง ก็จะมีกรณีตอนปีที่ 2 ที่ Kingkong and the Chum เขาถูกเลือกเข้ามา Howie ชอบวงนี้แล้วเขาก็ติดต่อกัน ปีต่อมา Howie ก็ได้กลับมาโปรดิวซ์ให้ เขาก็เอาเพลงไปเสนอให้ David Byrne (Talking Heads) แล้วก็มีอะไรต่อมิอะไรเกิดขึ้นอีกเยอะ เราก็เห็นว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นให้กับวงได้ หลาย ๆ วงก็สนใจสมัครเข้ามาเล่นใน Intermission ด้วย
Wonderfruit เลื่อนไปปีหน้าแล้ว แต่จะมี ‘หมู่บ้านวันเดอร์’
จะเป็น localize platform เพราะเรารู้ว่าแฟนของ Wonderfruit ที่บินมาจากต่างประเทศส่วนมาก 60% เข้ามาไม่ได้ ศิลปินก็คงจะไม่มา แทนที่เราจะทำ Wonderfruit ก็ rebrand เป็น ‘หมู่บ้านวันเดอร์’ เป็น localized version, local acts, local fans ให้คนที่นี่ แทนที่จะเป็น 1 weekend เราจะขยายเป็น 6 weekends จะเป็นอย่างละนิดหน่อย ตอนกลางวัน ไม่ได้วิ่ง 24 ชั่วโมงแบบ Wonderfruit แต่จะมี element เข้ามา พวก wellness มีอาหาร ร้านค้าต่าง ๆ มี 2 เวที
อีกโปรเจกต์ที่น่าสนใจคือการได้เป็นโปรดิวเซอร์ให้โปรเจกต์ LYRA
(หัวเราะ) ผมมาช่วยในเรื่อง A&R Adviser ของ Universal เขาก็ถามว่ามาช่วยเรื่องนี้ได้ไหม ธรรมดาเขาก็จะมาหาข้อมูล หรือความช่วยเหลือในการ analize เพลง ไม่ว่าจะเป็นของ ฟิล์ม บงกช ของ ไม้หมอน แล้วเขาก็ถามว่ามาทำงานกับเราเลยได้ไหม แต่ก็ไม่ได้ full time ขนาดนั้น
พอเข้าไปปุ๊บ โปรเจกต์ LYRA ก็โผล่มา เขาบอกว่านี่เป็นโปรเจกต์แรกที่จะมาลุยกัน ผมก็เข้าไปเป็น A&R consultant ที่ช่วยหา songwriter, producer, sound engineer จากต่างประเทศ มาช่วยพัฒนางานตรงนี้ ตอนนั้นพี่ป้อ A&R ก็ไปรวบรวมนักแต่งเพลงที่เขารู้จักที่นี่มาแต่ง แล้วเราคิดว่าเอาเพลงพวกนี้ส่งออกไปให้โปรดิวเซอร์ต่าง ๆ ทำบีตออกมา ก็น่าจะถูกต้องเลย เพราะมันมีความไทย ความ international อยู่
ปรากฏตอนส่งโครงสร้างเพลงไป มันค่อนข้างลำบากกับการทำงานกับคนที่นู่น เหมือนกับเขาไม่เข้าใจว่าเราต้องการอะไร เราบอกว่า ขอใหม่ ๆ ไม่เอาแบบที่เคยทำมา K-pop เราไม่เอา แต่ว่ามันต้องมีความไทย ความ international อยู่ แล้ว structure ของเพลงที่ให้ไปก็เจอข้อจำกัดตรงนี้ ทำไปทำมา 2-3 เดือนไป ๆ มา ๆ ไม่ได้สักที ค่ายก็คิดว่ามันขาดอะไรอีกวะ ลองเปลี่ยนเสียงกลอง เสียงซินธ์ดู ก็ยังไม่ใช่ ลองเปลี่ยนทำนองก็ยังไม่ได้ เทมโพก็ไม่ได้ จนมันใกล้เวลาที่จะปล่อยแล้ว ผมก็บอกว่าขอเข้ามาลองดูได้ไหม เพราะเราอธิบายจนเราน่าจะรู้แล้วว่าควรจะเป็นยังไง เขาก็บอกให้ลองดู
ผมก็ไปทำงานกับริชาร์ดที่ Karma Studios เขาจะมีความถนัดอะไรตรงนี้อยู่ แต่ตัวเราเองก็ต้องกลับไปฟัง girl bands, pop เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย (หัวเราะ) พอทำเดโมส่งไปทางค่าย เขาก็บอกว่า เออ มันน่าจะแบบนี้แหละ น่าจะใช่แล้วที่เขาต้องการ เราก็เลยทำ track ตรงนั้นไปเล่นให้ฝั่ง IAM แฮปปี้ ฝั่งเด็ก ๆ เขาก็ตื่นเต้น ทุกอย่างก็ดูจะมาถูกทางแล้ว ก็ลองทำเล่น ๆ อีกเพลง เพลงที่สองออกมาเขาก็บอกว่าใช่ ถูกทาง เราเลยเอาเพลงที่เคยส่งไปต่างประเทศ ที่อย่างน้อยเขาก็แต่งไว้แล้ว มาปรับให้มันเข้ากับ 2 เพลงนี้แล้วทุกคนก็แฮปปี้
โปรดักชันกับ songwrite ตรงนั้นก็เสร็จไป แล้วก็มาคุยกันว่าจะทำต่อเป็น full album เลยไหม เราก็เลยโอเค เป็นอะไรใหม่ ๆ ที่ท้าทาย ที่เราไม่ได้คุ้นเคย แต่ก็ถือว่าเป็นเพลง เราต้องหาวิธีสร้างตรงนี้ แต่สิ่งที่แปลกคือพอเพลงออกมาแล้ว มันจะมีหลายคนที่ไปหาต่อ เพราะเขางงกับโปรดักชันของเพลงว่าใครทำ แล้วพอเขาเห็นว่าเป็นชื่อผม เขาก็จะอ๋อ งั้นมันก็น่าจะมี signature อะไรบางอย่างของผมที่อยู่ในนั้นด้วย วิธีการทำงานที่เรามีอยู่แล้ว หรือมี texture บางอย่างที่อยู่ในนั้น ว่า อ๋อ มณฑล ทำนั่นเอง
ก็เป็นอะไรที่สนุก แตกต่างนิดนึง มันออกหลังสัปดาห์นึงที่ผมปล่อยอัลบั้มของตัวเอง ก็เลยเป็นอะไรที่ช่วยกัน ที่คนพูดถึง ว่ามี ด้วยความเคารพ ของมณฑล แล้วก็มี LYRA ที่มณฑลทำด้วย แฟนเบสใหม่ก็มาจากทางนั้น คนที่ตามไอดอลก็มาตามเรา อย่างน้อยมันเปิดหน้าต่างนิดนึง คืออัลบั้มผมมันช่วย verify ว่าเราทำสิ่งที่เราอยากจะทำแล้ว ตรงที่เราไปทำ LYRA มันเป็นสกิลอีกด้านที่เราอยากฝึกทำดู คนชอบหรือไม่ชอบตรงนั้น ยังไงเขาก็กลับมาที่ ด้วยความเคารพ ได้ แล้วก็จะรู้ว่า นี่คือผลงานของเราเอง
ตอนนี้เพลงไทยหลากหลายขึ้นไหม
แน่นอน ไม่ใช่แค่เพลง พวก streaming platform, social media เปิดโอกาสให้คนแชร์อะไรได้ตลอด broadcast ได้ตลอด คนที่ฟังได้เยอะขึ้น แต่คนทำอาจจะเท่าเดิม สมัยก่อนเขาทำแล้วอยู่ในเทป อาจจะไม่มีใครได้ฟัง แต่สมัยนี้มันขึ้น soundcloud ก็ไปได้ทั่วแล้ว เพลงที่ดีก็เยอะ เพลงไม่ดีก็เยอะมาก มันมี trash, pollution จริง ๆ กลายเป็นว่า คนที่ไม่ควรที่จะทำ เขาก็ทำได้ และแชร์ได้ คนที่อยากจะค้นหาเพลงดี ๆ ก็ต้องกรองทุกอย่างออก แต่ว่าสิ่งที่ดีคือคนที่ฟัง อย่างน้อยเขาก็มีตัวเลือกเยอะขึ้น ไม่ต้องถูกป้อน ถ้าเขายอมที่จะไปค้นหานะ อย่างที่บอก เกี่ยวกับโปรดักชัน ทุกอย่างมันเหมือน open source วิธีใช้ต่าง ๆ มีให้เท่ากันหมด อยู่ที่รสนิยมและวิธีการ ก็คิดว่า แน่นอนเราเห็นว่าแต่ละแนวอาจจะมีคนฟังเป็นกลุ่มเล็ก ซึ่งคงจะเล็กลงเรื่อย ๆ แต่ก็ดีที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมี fanbase อาจจะ 40-50 คนก็ตาม
เพลงสมัยใหม่แย่จริงไหม
เราก็มีความรู้สึกคล้าย ๆ กันนะว่า แนวเพลงที่เป็นที่นิยมในตอนนี้ บางแนว เราฟังแล้วไม่รู้สึกว่ามี connection บางอย่าง แต่ถ้าเรากลับมาดูอีกที มันเกี่ยวกับอายุหรือเปล่า เพราะการฟังเพลงของคนสมัยนี้ เขาอาจจะไม่ได้ฟังสิ่งที่เราฟังมา เราจะไปมองแบบ ยุคคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะคล้ายกัน อย่างถ้าเขามาฟังเพลงยุคเราเขาอาจจะรู้สึกเฉย ๆ เพราะมันไม่มี connection กับสิ่งที่เขาทำ ยุคนั้นเขามี Purple Haze มีวงต่าง ๆ ในยุคของเขา สำหรับเรา impact ที่มีในชีวิตก็มาจากวงที่ฟังตอนเด็ก ๆ Nevermind หรือ OK Computer มันคือยุคของเราเลย
แต่สมัยนี้เขาก็จะรู้สึกว่า OK Computer เป็น historical data ไปแล้ว แต่เขาจะมีวงรุ่นของเขา เราก็ต้องเข้าใจว่า musical history ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งการฟังมันจะไป impact แน่นอน บางคนฟังแค่นี้เขาอาจจะรู้สึกว่าอันนี้มันเปลี่ยนชีวิตเขาแล้ว หรือบางช่วงที่รุ่นน้องฟังวงนึง เขารู้สึกเจ๋งมาก พอเรากลับไปฟังแล้วรู้สึกว่ามันก็คูลนะ แต่ว่ามันมี 2-3 ศิลปินที่ทำมาแล้ว อาจจะเป็น 10 ปีที่ผ่านมา ที่เจ๋งกว่านี้ เขาอาจจะไม่ทันได้ฟัง แต่ไม่เป็นไร มีอินเทอร์เน็ตให้ค่อย ๆ เรียนรู้ได้
ฝากผลงาน
ฝากให้ลองฟังดู ไม่ว่าจะเป็นแฟนเพลงของศิลปินคนอื่น ๆ ที่ผมได้ทำ แฟนเพลงของผมเอง ใครที่ค้นหาอะไรที่อาจจะแตกต่างนิดนึง ต้องการอะไรที่น่าสนใจ ขอให้ลองฟังดูครับ เหมือนที่เราบอกแหละ งานพอเราทำเสร็จแล้ว เราก็ปล่อยมันไป ใครจะชอบหรือไม่ไม่เป็นไร เพื่อที่จะลบบางส่วนของความคาดหวังไป เราค่อยมาดูผลงานต่อ ๆ ไปเพื่อจะสร้างแคตาล็อกดีกว่า อย่างน้อย ๆ ผมคิดว่าอัลบัมนี้มันน่าจะมีคุณค่ากับตัวเราเอง