จากความเสี้ยนของ 3 ผู้จัดที่อยากให้มีไนต์คลับจริงจัง สู่ปาร์ตี้เปิดทุกโสตประสาทยิงยาวสิบชั่วโมงใน MELA Clubnacht
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
MELA Clubnacht กลับมาอีกครั้ง ใน MELA Cl_b_ac_t 2019 ฉลองขวบปีที่ 6 ของกลุ่มดีเจอันเดอร์กราวด์นาม MELA ที่เคลื่อนไหวอยู่ในซีนอิเล็กทรอนิกและคอยรันวงการอย่างต่อเนื่อง และวาระสำคัญที่เติบโตขึ้นอีกปี พวกเขาก็เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารจากคนกันเองไปสู่วงกว้าง ด้วยการกระจาย ‘โค้ด’ ไปสู่คนกลุ่มใหม่ ๆ รอให้ตอบรับสัญญาณ และเข้ามาทำความรู้จักกับ subculture ที่พวกเขาหลงใหลให้มากยิ่งขึ้น
อ่านที่มาที่ไปของ MELA Clubnacht และความสนุกในปีที่ผ่านมาได้ ที่นี่
ค้นพบโลกใบใหม่ในปาร์ตี้ดนตรีอิเล็กทรอนิกกว่า 10 ชั่วโมง MELA Clubnacht
MELA Clubnacht กว่า 12 ชั่วโมงกับเพลงเต้นรำและแสงไฟที่ชุบชีวิตให้มีชีวาอีกครั้ง
MELA Clubnacht รอบนี้จะต่างจากรอบที่แล้วยังไงบ้าง
กร: ต้นตอของมันคือเราอยากมีไนต์คลับแบบที่เราต้องการ มีเครื่องเสียงดี ๆ พื้นที่ดี ๆ องค์ประกอบดี ๆ แต่ยังไม่มีตังสร้าง ก็เลยจัดเป็นอีเวนต์นี้ขึ้นมา ทีนี้ปีนี้พวกแก่นอะไรก็ยังเหมือนเดิม แต่เราไปจัดที่ใหญ่ขึ้นเพราะเราอยากได้คนใหม่ ๆ การสื่อสารของเราก็ต่างไป คือเราออกไปคุยกับคนมากขึ้นเพื่อเปิดรับคนใหม่ ๆ มา คอนเซ็ปต์ของงานครั้งนี้มันคือคำว่า ‘โค้ด’ การส่งโค้ดออกไป ส่งสัญญาณออกไปว่ามันมีสิ่งนี้อยู่ รวมถึงส่งออกไปว่าเราคือใคร เพราะคนเก่า ๆ ก็ยังมาแหละ แต่เราอาจจะไม่ต้องคุยกับเขาเยอะแบบเมื่อก่อน แค่บอกเขาเขาก็รู้กันแล้ว
พอลองเอาไปคุยกับคนใหม่ ๆ แล้วเขามีท่าทีกับเรายังไงบ้าง
มิว: กลัวครับ (หัวเราะ)
กร: เป็นเรื่องที่ดีที่พอเราเปิดปากคุยกับคนมากขึ้น ก็ได้รู้ว่าจริง ๆ มันน่าสนใจสำหรับคนที่เขาไม่เคยมา แบบเราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขาก็สนใจนะ ที่มันน่าตื่นเต้นกว่าก็คือพอมันไปถึงคนกลุ่มใหม่แล้ว มันจะเป็นยังไงต่อ แล้วปีนี้เราก็ได้น้องที่ศิลปากรมาช่วยด้วย ตอนเริ่มคุยกับน้องที่จะมาช่วยเนี่ย น้องเขาก็บอกว่า ‘พี่ หนูไม่รู้ว่าพี่ทำอะไรกันในเพจ’ เราก็เริ่มไปปรับนั่นนี่ให้รู้เรื่องขึ้น มันก็มีช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมหาลัยมากขึ้น ดึงเขาเข้ามาเพื่อมาสร้างซีนกันต่อ แต่พอได้คุยแล้วบางคนเขาก็ยังไม่เข้าใจนะ (หัวเราะ)
มิว: มันเป็นเพจอะไร ทำปาร์ตี้กันหรอวะ หรือลัทธิ
ความเข้าใจของคนทั่วไปอาจจะมองว่าการเต้นในคลับก็อยู่แค่กับบีตวน ๆ แต่กับคนที่ชื่นชอบสายนี้ คิดว่าเขามองเห็นอะไรในเพลงเหล่านั้น
กร: คือในดีเจเซ็ตอะ เวลาจะเล่นเพลงก็ต้องมาเลือกว่าจะเอาเพลงนี้ไว้ตรงไหนของเซ็ต จะเล่นกี่โมง เล่นที่ไหน จริง ๆ แล้วมันมีปัจจัยเยอะมากในการเลือกเพลงขึ้นมาเปิดในช่วงเวลานั้น ซึ่งมันเป็นการที่ตัดสินว่าดีเจคนนี้ดีหรือไม่ดีเลยแหละ รายละเอียดพวกนี้ ทุกคนมีสไตล์ของตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วคือตัดสินใจกันหน้างาน แดนซ์ฟลอร์เป็นยังไงก็ต้องวิเคราะห์ให้ออก ไม่ใช่ว่ากูอยากเล่นอันนี้ก็เล่น คนเดินออกจากแดนซ์ฟลอร์ก็ อะ โอเคไม่เป็นไร แล้วสุดท้ายก็มาพูดว่า ‘เชี่ย คนไม่ฟัง’ คือคุณต้องอ่านคนไง
มิว: มันเป็นการสื่อสารแบบนึงระหว่างคนกับดีเจ คือดีเจก็ต้องทำหน้าที่ให้ดี คือต้องทำการบ้าน ฝึกทักษะของดีเจ
กร: ทุกคนต้องพัฒนาตรงนี้ คนอาจจะคิดว่าเพลงมัน วุบ ๆๆๆ วน ๆ แต่ถ้าเรารู้ว่าเพลงนี้มันมีจุดเด่นอะไร แล้วเราจะดึงมาใช้ตอนไหน โมเมนต์ไหนใน 2-3 นาที ที่ทำให้คนประทับใจได้ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะต้องเป็นเพลงไหน ต่อให้มีเพลงซ้ำกัน ดีเจแต่ละคนก็เปิดเพลงไม่ซ้ำกันอยู่ดี เราเลือกเพลงนั้นมาทำหน้าที่กันคนละอย่าง เพราะเรามีความรู้สึกกับเพลงนั้นคนละแบบ ถ้าอย่างเราไปเร็ว ๆ เราจะรู้ว่าคนนี้เปิดเพลงนี้ไปแล้ว จะพยายามไม่เล่น หรือสมมติเขาเปิดเพลงนี้ตอนสี่ทุ่ม แล้วเราเล่นตอนตีสาม ก็ยังพอเปิดได้
แล้วจะอ่านคนได้ยังไง
มิว: เหมือนการคิดแทนคนเหมือนกัน ผมว่าเรามองภาษากาย มันมีแอคชันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ต้องมองทุกคนก็ได้นะ อย่างน้อยเรามีเกาะไว้ซักหนึ่งกลุ่มนึง ดนตรีมันมความอุปาทานหมู่อยู่แล้ว ถ้าไวบ์มันสนุก อย่างอื่นก็จะสนุกตาม ๆ กันมา
กร: ถ้าวัดกันหน้างานเราดูหลายอย่างมาก เหมือนอย่างเรารู้สึกกับเพลงนี้อย่างนึง แล้วดูว่าคนดูสนุกกับเพลงนี้ยังไง ต้องดูว่าเขาเต้นตามอะไร หรืออยู่กับอะไร เราจะดูท่าทางออกเวลาคนเต้น ถ้าเขาสนุกหน้าเขาจะไปด้วย (หัวเราะ) แล้วถ้าเขาไม่เอา ก็คิดว่าต่อไปจะทำอะไรดี แล้วบางทีไปเร็ว ๆ เห็นว่าโต๊ะไหนกินอะไร เหล้ายาปลาปิ้งประเภทไหน มันก็มีผลกับเพลงที่เราจะเล่น จะได้รู้ว่าจะเอาอะไรเสิร์ฟให้เขาได้ถูก
Soundsystem หรือวิชวลที่แสดงประกอบ จะช่วย
ยกระดับประสบการณ์ให้เหมือนไนต์คลับเต็มรูปแบบยังไงบ้าง
กร: Soundsystem คือสิ่งที่สำคัญที่สุดเลยสำหรับเรา เราซีเรียสเรื่องนี้มากจนทะเลาะกับคนมาหลายที่แล้ว คืออย่างกลุ่มเรามันจะมีเพลงที่เบสลึกจัด บางที่ที่ไปเล่น เสียงเบสไม่ได้ยิน หายไปเลย แล้วจบเลยกับเพลงนั้น แล้วคนก็จะมาถามว่า ‘เปิดอะไรวะ’ แต่จริง ๆ มันมีเสียงเบสไล่อยู่ แทนที่เพลงจะทำงานได้ ก็ไม่ทำงาน สิ่งที่ดีเจจะสื่อสารออกมาก็ไม่เป็นผล
มิว: สมมติว่าเสียงเบสในเพลงนั้นมันคือทั้งหมดของดีเจคนนี้ เป็นสไตล์ที่คนนี้เล่นเบสแบบนี้ตลอดเวลา แล้วต้องมาเจอลำโพงที่ไม่สามารถเล่นเบสไลน์นี้ได้เลย ดีเจก็ไม่สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้แล้ว พวก soundsystem เนี่ย ต่อไม่ใช่แนวเรา พอมันไม่ดีองค์ประกอบมันก็ไม่ได้แล้ว เพราะเราทำงานอยู่กับเสียง ปาร์ตี้คือเสียง ดนตรีคือเสียง ถ้าเสียงออกมาไม่ชัดเท่าที่มันควรจะเป็น มันก็ไม่ใช่
เพียว: แล้วก็วิชวลไลท์ติ้ง คนหลักที่ทำชื่อ Anthony เป็นคนไต้หวัน ครั้งที่แล้วชวนมาทำเหมือนกัน คราวนี้ก็เลยชวนมาทำอีก แล้วตัววิชวล อาร์ตเวิร์กทั้งหมดที่ MELA เคยมีมา สำหรับเรามันคือการทดลอง เราไม่ได้แคร์ว่าต้องเป็นแบบนี้ ๆๆๆ ทั้งนั้น แต่พอมานั่งดูส่วนใหญ่มันจะมีความขาวดำ ก็ตรงคอนเซ็ปต์ ‘melatonin’ ของเรา แล้วอีกอันการที่กรมันวางเลย์เอาต์ สำหรับเรามันคือมินิมัลเหมือนเพลงมันเลย แล้วพอมันมารวมกัน มันคือ minimal abstract บวกกับทุกวันนี้เราชอบความซิ่ง ๆ แว้น ๆ มาก ๆ เราทำยังไงก็ได้ให้มันรวมเข้าไปอยู่ในก้อนนั้นให้ได้ แล้วเราคุยกับคนทำไลท์ติ้ง เขาเข้าใจ แล้วส่ง reference มาตรงกับภาพในหัวเรา เออ มันเป็นแบบนี้แหละ แล้วก็มี พศุตม์ สอิ้งทอง เป็นคนที่มาคุมวิชวลภาพฉายข้างหลัง ก็เข้ากับอันที่เราพูดกับแอนโธนี่ไว้ ซึ่งจอ LED ใหญ่ ๆ ที่พวกงาน EDM ชอบใช้ มันจะตอบความแว้นของเรา ปกติงานเฮาส์ เทคโน จะมืด ๆ อันนี้ก็จะไม่เหมือนแบบนั้น
ความรู้สึกของคนที่มางาน MELA จะต่างจากเทคโนปาร์ตี้ปกติไหม
เพียว: ต่างแน่นอน เพราะดีเจแต่ละคนเราเป็นคนเลือกว่า source ต้นของวิดิโอจะเป็นแบบไหน อย่าง DJ Takky จะมีความเป็นผู้หญิง ดูน่ารัก แต่มันมีความไซคีเดลิกสำหรับเรา โดยที่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะเข้ากับคนอื่นยังไง แต่เราก็เชื่อใจพศุตม์ว่ามันจะปล่อยวิชวลแบบไหนมา จะคัดอะไรมาผสมกัน แล้วก็เชื่อใจแอนโธนี่ว่าจะทำไลท์ติ้งให้เข้ากันได้ คือเราดึงความ primitive มาในทางนึง แบบทำไมสมัยก่อนที่เขาเต้นรอบกองไฟ ทำไมมันต้องมีเพลง ทำไมต้องทำเสียงกัน ทำไมบรรยากาศทั้งหมดต้องเป็นแบบนั้น
มิว: ประสบการณ์คลับจริง ๆ มันก็ใกล้เคียงกัน มีแสง มีอะไร เพียงแต่ว่ามู้ดโทน หรือดีไซน์ที่มันต่างไปเพราะเอเลเมนต์ในนั้นมันมาจากพวกเรา
งานจะยิงยาวตั้งแต่บ่ายสามถึงตีสอง
มิว: คนจะได้เห็นว่าคนที่จะมาเที่ยวอะไรแบบนี้ มันก็สามารถเกิดขึ้นตอนกลางวันได้ ไม่เข้าใจเหมือนกันที่คุณไปบวชพระ คุณยังออกไปเต้นหน้าขบวนกลางวันได้เลย แต่ทำไมดนตรีเต้นรำแบบนี้ทำไม่ได้
เพียว: อย่างอินดี้ซีน หรือวงดนตรี คนก็มาตอนกลางวันกัน เราก็แค่อยากทำบ้าง แต่สิ่งที่กลุ่มพวกเราไม่เคยทำคือการเริ่มประชาสัมพันธ์ไปที่คนกลุ่มอื่น คนที่เราคิดว่าเขาไม่เข้าใจเราหรอก เขาไม่ฟังเราหรอก มันก็เหมือนพอยต์นึงที่เราขาดไป คือการสื่อสาร เราก็เริ่มเอามันเข้ามามากขึ้น แล้วการจัดงานก็เหมือนเป็นโค้ดแบบในคอนเซ็ปต์ที่ซ่อนอยู่ในนั้นว่า คลับที่เราอยากให้มันเกิดขึ้นในไทย มันเป็นประมาณนี้
จัดนาน ๆ แบบนี้คนไม่เหนื่อยหรอ
เพียว: ปีที่แล้วมีกล้วยให้กิน ปีนี้ก็มีเหมือนเดิม เราเอามาต่อยอด จะมี refreshing zone มีน้ำผลไม้ ยาดม ลูกอม มีทุกอย่างให้สดชื่น แล้วก็จะมีคนมานวดให้ ตอนแรกว่าจะให้มีตอนกลางคืนด้วย แต่ว่ามีแค่ตอนกลางวันดีกว่า ให้คนเริ่มมาตอนนั้น เพราะตอนกลางคืนหมอนวดดีลยาก
คราวนี้จัดที่ Live Arena จะใหญ่กว่ารอบก่อนมาก ๆ เลยนะ
เพียว: เราตั้งเป้าไว้อย่างน้อย 500 คน แต่ทำไปทำมา เพิ่งมารู้ตัวอีกทีว่ามันใหญ่มาก ก็เดี๋ยวรอดู ตอนนี้มีน้อง ๆ มาช่วยแล้ว
มีคนที่อยู่ตั้งแต่ต้นจนจบงานไหม
เพียว: ปีที่แล้วมีคนมาตั้งแต่แรก น่าจะ 10-20 คน (กร: อาจจะมีแอบไปกินข้าวบ้าง) มันก็มีอยู่แล้ว แต่เขาก็อยู่ยันเลิก เราก็ดูว่าคนพวกนั้นเขาก็มีวิธีทำให้ตัวเองรอด (หัวเราะ)
กร: จริง ๆ มันก็เหมือนมิวสิกเฟสติวัลอยู่แล้ว เราเลยไม่ได้มาขายว่า เข้! ยิงยาวสิบชั่วโมง คือถ้าพูดมันก็ฟังดูยาว แต่เอาจริงใคร ๆ ก็ทำกัน ไม่ได้แปลก
เพียว: แต่ก็ยากนะที่จะทำให้คนรู้ว่าเริ่มตั้งแต่บ่ายถ้าไม่บอกว่างานมันสิบกว่าชั่วโมง คือสุดท้ายแล้ว club experience มันก็ตอบโจทย์ด้วย ว่ามันทั้งจัดยาว แล้วก็คุณเองก็เลือกได้ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน
ดีเจแต่ละคนเปิดแนวไหนบ้าง
เพียว: DJ Takky สำหรับเรามันพัฒนาการเร็ว จุดเริ่มต้นตอนแรกมันมางงมาก จะเปิดยังไงวะ พอรู้จักกันก็เห็นว่ามันมีเรื่องชีวิตด้วย ตอนนั้นอกหัก แต่ตอนนี้ความรักมันดี ทุกอย่างมันโฟลว
มิว: เมื่อวานเปิดเพลงสว่าง สดใส แฮปปี้มาก ส่วน Jakkawan ก็มาหม่น ๆ เพราะทะเลาะกับเมียมา (หัวเราะ) แบบ เพลงขึ้นสองเพลง ลงสองเพลง อะไรของพวกมึง
กร: ทุกครั้งที่ดูตั๊กตั้งแต่ตอนเริ่ม ๆ จนถึงวันนี้เราก็ยังเห็นความหวานแต่มีพลังของตั๊ก sweet but energatic
เพียว: เหมือนลุคมันเลย ลุคมันดูเท่ ไม่ได้หวานมาก แต่ก็มีความหวานแบบนั้นอยู่
มิว: ชีวิตมันหนัก แต่มันจัดการตัวเองได้ดี แล้วเราก็อยู่ด้วยได้ เรื่องชีวิตมันส่งผลถึงกันหมด เวลาเราจะเลือกเพลง เราจะซื้อเพลง ตอนแรกมาเทคโนหนัก ๆ โหด ๆ มีความแว้นซ์ EDM พอบอกว่าเฮ้ย ยังไม่ได้นะ น้องก็จะไปทำการบ้าน
เพียว: มันจะมีช่วงนึงที่เราจะพูดตลอดว่าเปิดเพลงเล่าเรื่อง แล้วพอเราไปบอกมัน มันก็ถามว่า ‘คือเหี้ยอะไรวะพี่ จะให้กูเล่าอะไรวะ’ (หัวเราะ) แต่ตอนหลังมันก็เก็ต คืออย่างเราเรียนศิลปะ ทุกอย่างอยู่รอบตัวเป็น inspiration ถ้าโมเมนต์ชีวิตตอนนั้นเป็นยังไงมันก็เลือกอะไรแบบนั้น มันก็ส่งผลถึงกัน
มิว: มันพลิกเพราะพี่กฤต Krit Morton บอกมันว่า เพลงแบบนี้เล่นด้วยไม่ได้ (หัวเราะ) เทสต์ไม่ตรงกัน เป็นจุดเปลี่ยนเลย คือตอนแรกผมแฮปปี้กับทุกสายที่จะเปิด แต่พอพี่กฤตพูดงี้เราก็มาคิดว่า เออ มันต้องมาเล่นกับกูอีก เราก็ไปพูดกับมันว่าที่มันเปิดอะดีแล้ว แต่ต้องพัฒนาเทสต์ของตัวเอง ตอนแรกมันเปิดเพลงเพราะอยากเปิดเพลงเฉย ๆ แต่ว่าหลัง ๆ มันก็ศึกษามากขึ้น แล้วมันก็เลยพบว่าตัวเองชอบเกาหลีใช่ไหม ก็ไปดู K-house แล้วก็ไปเจาะมากขึ้นว่ามีอะไรบ้าง หลัง ๆ เลยออกมาเป็นเฮาส์สวย ๆ หน่อย แต่มีความเป็นฝั่งไทยที่รอบ ๆ ตัวอย่างเรา อย่างพี่กร เล่นอยู่
เพียว: พี่กฤตชอบพูดคำนึงว่า เป็นดีเจ มึงห้ามหยุดฟังเพลง หรือเลือกอะไรที่มันใช่ เขาคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของดีเจอยู่แล้ว แต่เขาเป็นคนตรง เขารู้สึกยังไงเขาก็พูดอย่างงั้น
กร: ของพี่ธาดา DJ Tada ตอนแรกมีคนมาบอกว่ามีพี่คนนึงอยากเล่น เขาเป็นช่างภาพ แล้วก็ไปดู รู้แค่ว่าเขาเป็นศิลปินถ่ายรูป แล้วก็ไปเห็นเขาเพิ่งหัดเล่น เครื่องยังใช้ไม่เป็น แต่นั่งดูเขาเล่นแล้วแบบ ไอ้เหี้ย นี่ไม่ได้เปิดเพลงไม่เป็นแล้ว แค่หัดใช้เครื่องให้คล่องก็เก่งแล้ว ตอนนั้นเขาเล่นเทคโนหนักเลย แล้ววิธีการเล่าเรื่องเขามันได้แล้ว พร้อมแล้ว แค่เขาเพิ่งเริ่มเปิด เราก็จำว่าพี่ที่ชื่อธาดาเนี่ย มีของ พอรู้จักเขามากขึ้นก็มารู้อีกว่าเป็นศิลปิน contemporary artist แล้วเขาก็ไต่เต้าในทางของเขาไป แต่สิ่งที่เขาน่าสนใจคือวิธีการที่เขา approach ดนตรีกับศิลปะมันใกล้เคียงกัน ยิ่งรู้จักเขาจะพบว่าเขาชอบตกปลาด้วย
เพียว: เรารู้จักเขาครั้งแรกตอนไปที่ Speedy Grandma ตอนนั้นไม่รู้ว่าเขาทำงานอะไร แค่เดินเมา ๆ แล้วเปิดเพลงในสปีดี้ (หัวเราะ) แล้วเขาเปิดเร็กเก้ลึก ๆ เราก็คิดว่าเขาเปิดเพลงไรวะ ไป ๆ มา ๆ ก็รู้ว่าเขาเปิดเทคโนด้วย แล้วพอยิ่งมารู้จักเขาจริง ๆ เขาฟังเพลงเยอะมาก มันมีช่วงนึงเขาเปิดเพลงให้เราฟังแล้วมันไปเปิดโสตอะไรบางอย่าง แล้วเราต้องไปหาอะไรแบบนั้นฟัง มันมี root จากอินเดีย ญี่ปุ่น แต่ว่าโดยรวมมันก็เป็นอิเล็กทรอนิก ซึ่งมัน inspired เรา แล้วเวลาคุยกับเขาเรื่องเพลง เพลงมันก็ไปสร้างแรงบันดาลใจให้งานเขา แบบ งานมาจากชื่อเพลง แล้วตอนนี้ก็ถามเขาว่า เขาจะเล่นเพลงแบบไหน เขาก็ไม่รู้ บอกจะดูคน แต่เขาก็ลองส่งเพลงมาให้เราฟัง มีทั้งเทคโนหนัก ๆ เฮาส์ แล้วก็แอมเบียนต์ (กร: เรามีโจทย์ให้เขา คือเขาเล่นห้าโมงถึงทุ่มนึง) แล้วมันก็จะมีพระอาทิตย์ตกในวิชวล แล้วเราก็เทิร์นมาเป็นคลับเลย อะ ลองคิดตามว่า เขาเป็น conteporary artist เปิดเพลงเทคโน ชอบตกปลา แล้วพอคนรู้เรื่องเกี่ยวกับดีเจคนนี้ว่าเป็นอย่างนี้มันก็อธิบายถึงเพลงที่เขาจะเลือกเปิด ซึ่งมันก็บอกตัวตนของเขาและประสบการณ์ที่เขาเจอมา
มิว: Chicken and Cow จะเปิดเพลงเดินยา (หัวเราะ) อยากรู้คืออะไรต้องมาลองดู เป็นเพลงเลี้ยงอารมณ์ เพลงที่เท้าเราจะเริ่มเดินย่ำ ๆ แล้วสองคนนี้เขาจะมีทางเฉพาะอยู่ พี่บายจะมีความสนุกสนาน พี่ตี๋จะมีความสุขุม จะดูเท่อยู่ในนั้น แล้วเรารู้สึกว่า พี่ตี๋กับพี่บายคอนทราสต์กันมาก แต่ว่าอยู่ด้วยกันได้แบบลงตัว เพราะทุกครั้งพี่บายจะเหมือนคนไฮเปอร์ เพลงเขาจะพุ่ง ๆ ล้น ๆ หน่อย แล้วพี่ตี๋เป็นคนมาคอยบอกว่าบายใจเย็น ๆ พอก่อนนะ แล้วก็จะพากันไปต่อ คือเขาอยู่ด้วยกันเยอะ เหมือนเขาคุยกันผ่านเพลง ส่วน DOTT พี่ต๊อบเล่นสนุกมาก เพลงเขาประหลาด โคตรพ่อโคตรแม่มินิมัลที่ใส่ทุกอย่าง พี่ต๊อบมันก็เรียนดนตรีมา ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่มันชอบ แล้วมันทำดนตรีด้วย มันก็อยากยัดทุกอย่างที่มันชอบลงไปในนั้น แค่นั้นเอง
เพียว: ให้เขาอธิบายสไตล์เพลงที่เล่น เขาทำไม่ได้เว่ย เพราะเพลงมันประหลาดมาก การที่มันไปเจอไซคีเดลิก อธิบายผ่านคำพูดไม่ได้ แล้วพอเราฟัง เราก็เก็ตว่าทำไมมันต้องทำเพลงแบบนี้ ก็เพราะเพื่อจะอธิบายก้อนอะไรไม่รู้ในหัวมัน แต่มันก็พิสูจน์หลาย ๆ อย่างที่มันได้ไปเล่นที่ยุโรป มันได้ประสบการณ์ว่าเล่นแบบนี้ในท่ีนี้ คนเอาหรือคนไม่เอา เพราะอะไร แล้วงานนี้มันจะเป็นงานที่มันมาปล่อยว่ามันไปเจออะไรมาบ้างที่นู่น
มิว: พี่ต๊อบไม่ได้เล่นงานใหญ่ที่นี่นานแล้ว ถ้าได้เล่นนี่ปล่อยเต็มแน่ ๆ น่าตกใจเวลาเพื่อนเขาที่นู่นอัดคลิปมา แล้วเราก็จะคิดว่าทำไมไม่เล่นเพลงแบบนี้ในไทยวะ (หัวเราะ)
เพียว: คือถ้าเราเล่นแบบนี้ในบ้านเรามันยาก ไม่ใช่มันทำไม่ได้ บรรยากาศมีผลหมด คำว่า club experience มันก็มีผลกับตัวดีเจด้วย
กร: Sunju Hargun เขาเล่นมานานเป็นสิบปี ครั้งแรกที่รู้จักคือช่วงแรก ๆ ที่เรามาเล่นกับพี่กฤต เขาแนะนำมา แล้วตอนนั้นเราไปเล่นด้วยกันที่งาน Tempo Live เราก็รอดูเขา ปรากฏว่าดีมาก เซ็ตวันนั้นทำให้รู้ว่าซันจูมีของ ก็เหมือนต๊อบมั้งที่ไปเล่นที่ไหน casual จะไม่ปล่อยของ
เพียว: มันมีความที่คนฟังคาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์บางอย่างแบบตอนที่เราได้ฟังแล้วรู้สึกประทับใจครั้งแรก แต่พอไปอีกทีมันไม่เหมือนที่เราได้ฟัง พอลองไปคุยกับดีเจเขาก็จะบอกว่าไม่รู้จะเล่นยังไงเหมือนกัน บางทีระบบมันไม่ถึง ไวบ์มันไม่ได้ ก็เหมือนกับที่เราเป็น
กร: พอรู้แล้วว่าเซ็ตที่งานนั้นเขาไม่ธรรมดาแน่นอน ก็เริ่มติดตาม พอจัดงานอะไรก็ชวนมาเล่นบ้าง จนถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าสไตล์ของเขาใกล้กับกลุ่มเรา แค่ซาวด์ของค่ายที่เลือกอาจจะต่างกัน มันมีเอเลเมนต์อย่างนึงของซันจูที่มีความ แว้วแหว่ว อู้วอู่ว (ทำเสียงเบส) ชัดมาก ๆ
เพียว: แนวเพลงที่เขาสนใจคือชอบไซคีเดลิก ชอบทรานซ์ คือมันเร็ว มันบิลด์ให้เราพุ่ง ๆ ขึ้นไป เขาเอาไซค์ทรานซ์มาเล่นให้ช้ามาก พอกดลงแล้วบีตก็จะเหมือนเฮาส์ เทคโน แต่เอเนอร์จี้มันมีเหมือนทรานซ์อยู่ และจากที่คุยมามันไปโตที่จีน ที่นู่นน่าจะมีทรานซ์อยู่ แล้วความตะวันออกมันเยอะมาก ส่วนกลุ่มเรามันเริ่มจากการที่พี่กฤตอยู่ที่อังกฤษ ถึงเราจะสไตล์เหมือนกันแต่ซาวด์ที่ได้จากตรงนั้นเลยต่างกัน จุดเริ่มต้นที่เราจากมามีผลชัวร์ ๆ อยู่แล้ว
มิว: เราว่ามันเป็นเพลงที่เขาได้ฟังในยุคที่เขาโตมา แต่ที่เราไม่สามารถบอกได้ว่าซันจูเล่นแบบไหนแต่จริง ๆ แล้วเขามี และเขาเป็นดีเจที่ดี มันคือการที่เขาสนใจคนมากกว่าเพลงที่จะเล่น แล้วมันไม่ได้ showcase สมมติคุณไปเล่นที่คลับคุณก็ต้องทำให้เขาสนุก ถ้าเป็นเฟสติวัลที่ถูกเชิญไปในฐานะศิลปินมันก็จะถูกทรีตอีกแบบ เซ็ตจะเล่าออกมาอีกแบบ ขึ้นอยู่กับสถานที่ บรรยากาศ คน
กร: อาจจะผิดหวังก็ได้ แต่มันก็ต้องรู้ว่ามันมีปัจจัยอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่แค่เขาไม่ดี
มิว: ส่วนของผม Jirus สมัยก่อนผมจะอยู่ในศูนย์รวมสายดั๊บ แล้วพอได้รู้จักกับดั๊บสเต็ป UK ดูดปุ๊นไปด้วยแล้วเพลงก็กดทุกคนอยู่กับพื้นเป็นผู้ป่วยติดเตียง (หัวเราะ) จะใช้วิธีเดียวกับซันจูคือเอาความดั๊บมาใช้ในเทคโน แต่ก่อนเวลาได้ยินเพลงดั๊บมันจะมีเอคโค่ ก็ลองเอามาใช้ แต่พอรู้สึกเบื่อ ไม่ได้ไปไหน เลยลองพัฒนาสไตล์มาเรื่อย ๆ ก็เจอแบบที่ชอบแล้ว
กร: ความที่มีแบ็คกราวด์แบบนั้น เวลาเล่นเฮาส์ เทคโนก็จะทำให้มีมุมมองอีกแบบนึง ทุกครั้งที่ดูจะเห็นว่าเขาตัดสินใจยังไงในการเลือกเพลง จะเจออะไรใหม่ ๆ ตลอด ส่วนของเรา Kova O’ Sarin เบสความมินิมัลอยู่แล้ว ความที่เป็นคนพูดน้อยด้วยมั้ง แต่เราจะค่อย ๆ บอกนิด ๆ ว่าอยากให้เข้ามาอยู่ตรงนี้ แล้วไปเจออะไรที่อยู่ข้างใน เหมือนให้เซอร์ไพรส์ ฟีลเวลาเปิดเพลง จำความรู้สึกเมื่อก่อนตอนมัธยมที่ไปเจอเพลงใหม่ ๆ แล้วอยากให้เพื่อนฟังได้ไหม ‘เฮ้ย มึงลองดิ’ เพื่อให้มึงรู้สึกเหมือนกู หรืออาจจะไม่เหมือนก็ได้แต่มึงต้องรู้สึกอะไรบางอย่าง ว่ามันมีอะไรแบบนี้ด้วย ก็พยายามทำให้มันมีอะไรหลากหลายด้วยความที่ชอบหลายอย่างด้วยมั้ง แต่มันก็จะมีจุดรวมอยู่ว่าเป็นความน้อย ๆ มินิมัล
เพียว: ของกรเป็นมินิมัลเทคโนที่ปกติก็ใช้เอเลเมนต์อะไรแปลก ๆ อยู่แล้ว อาจจะด้วยการที่อยู่ในอินดี้ซีนมาด้วย เห็นเคยบอกว่าเป็นดีเจ YesIndie จัดเพลย์ลิสต์มาก่อน มันคงโตมาแบบนั้น สมัยก่อนไปงาน Fat Fest ก็คงได้อะไรแบบนี้มาเยอะ แต่ช่องทางในการปล่อยออกมาคือมินิมัล แล้วเซ็ตล่าสุดที่มันดีเจ โปรดิวเซอร์ในเพลงที่มันเลือกไม่ใช่คนไทยเลย แต่ฟังแล้วรู้สึกกรุงเทพ ฯ มาก ๆ เหมือนมันกำลังพยายามอธิบายว่าไนต์ไลฟ์หรือบรรยากาศของกรุงเทพ ฯ มันคืออะไร
มิว: ผมเพิ่งมาจับสังเกตได้ว่าดีเจที่มีเซนส์นักดนตรีมาก่อนจะเป็นคนที่ชอบซาวด์อะไรหลาย ๆ อย่าง แล้วสุดท้ายจะมาจบที่ความมินิมัล ต่อจะให้เล่นเทคโนหนัก ๆ ยังไงก็มีความน้อยให้ได้ฟังชัด ๆ มีหลายเลเยอร์แต่จะเลือกให้ฟังเลเยอร์นึงก่อนแล้วค่อย ๆ ปล่อยมารวมกัน พูดน้อย ต่อยหนัก ขยับไว
เพียว: เซนส์แบบคนเล่นวงมามันต้องฟังคนอื่นด้วย มันจะเล่นคนเดียวไม่ได้ แล้วการเลือกเพลงมามันก็ผ่านการจัดการที่พิถีพิถัน จากการที่ฟังคนที่เล่นด้วยกันในวงอันนี้ก็เหมือนเป็นการฟัง crowd ดูคนว่าเป็นยังไงเพื่อจะได้เล่นกับคนได้
แบบนี้คนที่ไม่เคยมา MELA Clubnacht เลยจะต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
มิว: เราเลี่ยงไม่ได้ที่เขาจะมีความคาดหวังกับงานของเรา มีความคาดหวังได้แต่ให้เตรียมใจเซอร์ไพรส์กับทุกอย่างดีกว่า อย่าให้ความคาดหวังมาปิดอะไรจนเราไม่เห็นว่าจริง ๆ แล้วไฟสวยมาก บางทีมันขยับไปพร้อมกับเพลงจังหวะนี้ หรือบางทีมันคร่อมกันไปก็สวยดีอีกแบบ เราอยากให้มาเจอด้วยตัวเอง
กร: ถึงแม้ว่างานนี้เราจะพยายามหาเหตุผลทางศิลปะมารองรับมัน แต่จริง ๆ แล้วทุกคนที่มางานก็เฟรนด์ลี่มาก มันก็คือการมาแชร์กัน มาเต้นรำกัน คงไม่ต้องบอกแล้วว่าให้เปิดใจฟังเพลง เพราะทุกคนเปิดใจอยู่แล้ว แต่อยากให้เปิดใจเอ็นจอยกับบรรยากาศ ผู้คนรอบข้าง มาลองทำความรู้จักกัน
มิว: ทุกคนชอบคิดว่าคนพวกนี้น่ากลัวจังด้วยแบ็คกราวด์ สมมติคนเดินเข้ามาก็จะเจอที่อึมครึม รโหฐาน มีเพลงที่ฟังไม่รู้เรื่อง แล้วพวกเรายืนยิ้มหัวเราะอยู่ อาจจะรู้สึกเป็นเด็กที่เดินหลงมาในถ้ำปิศาจ แต่จริง ๆ เราก็ไม่มีอะไร บทสนทนาที่เราคุยกันก็เป็นเรื่องปกติ เรื่องตลกที่บางทีอาจจะไม่มีสาระด้วยซ้ำ เราว่ามันก็ยากสำหรับคนบ้านเราหรือเปล่า เพราะคนบ้านเราขี้อายนิดนึง แล้วยังปกป้องตัวเองชิบหายด้วย ทุกครั้งที่เวลามีคนเดินเข้าไปหาจะแอบรู้สึกโดนคุกคาม (หัวเราะ) มันยิ่งทำให้การ connect มันยากมาก ด้วยคัลเจอร์มันอยู่ในที่กลางคืน แล้วบ้านเราจะรู้สึกว่าไนต์ไลฟ์เป็นสิ่งไม่ดี
รันวงการในนาม MELA มา 6 ปี คิดว่าอยากทำอะไรกับซีนนี้อีก
เพียว: ส่วนมากเป็นเรื่องเราเองที่เคยเห็นว่าเคยพลาดอะไรไป ก็แค่อย่าไปติดกับตรงนั้น อันไหนเวิร์กเราทำต่อ อันไหนไม่เวิร์กก็แก้ แล้วก็มีสิ่งที่พูดกับคนในกลุ่มว่าปีหน้าต้องได้ไปเล่นเมืองนอกกันได้แล้ว แล้วก็อยากทำโปรเจกต์นั้นกับกรที่เอาเพลงไทยมา edit ใหม่ให้ออกไปข้างนอกได้จริง ๆ แล้วก็จะเป็นเวย์ที่ทำให้คนอยู่คนละซีนได้มาจอยกัน
กร: อยากให้หลาย ๆ คนได้คุยกัน ทั้งซีนนี้และที่อื่น ทุกคนมีความเป็นกลุ่มของตัวเอง จริง ๆ คนอื่นก็อยากทำแบบเดียวกันนั่นแหละ
เพียว: บางทีเรามีเป้าหมายเดียวกันแต่เราไม่ได้คุยกัน คิดว่ามันไปคนละทาง แต่พอมันคุยกันแล้วก็ เอ้า ทางเดียวกันนี่ ซันจูเคยมาเล่าให้ฟังว่าตอนมาอยู่ไทยสิบกว่าปีก่อน เขาอยากเป็นดีเจมาก แต่ไปยื่นที่ไหนก็ไม่มีใครให้เขาเล่น แล้วจนได้ไปเล่น Demo มีคนมายืนดูมันสองคน ยืนฟังสองเพลงแล้วหายไปเลย แต่โมเมนต์นั้นถ้าเป็นกลุ่มเราจะเป็นไงวะ อาจจะเลิกทำไปแล้ว แต่เขาทำมาสิบปี สิ่งที่เขาอยากทำให้ได้คือการบิลด์กลุ่มตัวเอง แล้วเขาก็บอกว่า ถ้าไม่มีเพื่อนอีก 5-6 คนที่ช่วยทำนู่นทำนี่ มันไม่มีวันนี้หรอก เหมือนที่เราพูดว่าแกนของ MELA คือการชวนทุกคนมาทำด้วยกัน จากพี่กฤตคุยกับกร แล้วพี่กฤตก็มาคุยกับเรา คุยกับมิว มิวก็ไปคุยกับตั๊ก แล้วมันก็ลิงก์ไปเรื่อย ๆ เรารู้สึกว่าทุกคนเป็นเพื่อน เลย collab ได้ทุกคน ตอนนี้ก็มีรุ่นน้องดุริยางค์ ศิลปากร 5 คนมาช่วย เราจ่ายงานให้ น้องเก่งมาก แล้วเวลาคนมาคุยกัน มันก็มีโมเมนต์ที่ได้แชร์กัน แล้วเด็กพวกนี้ฟังเพลงอินดี้ วงไทย เราไม่ได้อัพเดตมานาน พอไปลองฟังก็เจอว่า เฮ้ย มันดีนี่หว่า ตอนนี้เราก็เลยมีไอเดียต่อยอดกับกรว่าอยากเอาเพลงอินดี้ไทยมารีมิกซ์เป็นเฮาส์ เป็นเทคโน เพื่อให้พวกฝรั่งในคลับเมืองนอกเอาเพลงพวกนี้ไปเปิดให้ได้ อยากทำให้ได้แบบนั้น ช่องทางเดี๋ยวนี้ก็ง่ายมาก ออนไลน์ได้หมด มันมาเติมเต็มยอดความคิดของ MELA ว่าจะไปทำอะไรต่อ เมื่อก่อนมันไม่มีเลย พอจัดงานนี้จบ วันต่อมาแฮงก์ แล้วต่อไปทำอะไร ก็จัดงานวนต่ออีกรอบ แต่ปีนี้มันเหมือนมีวิธีว่าถ้าเราจะไปต่อมันจะไปยังไง จะคุยกับใคร
อีกสิ่งที่เขาทำคือการเอาดีเจเมืองนอกมาเล่น เมื่อก่อนเราก็ด่ามันนะว่าถ้าทำแบบนั้นแล้วซีนไทยจะไปรอดหรอวะ แต่จริง ๆ แล้วมันคือการพามาให้ดูว่ามันมีสิ่งเหล่านี้บนโลก มันก็เป็นวิธีนึงของเขา แล้วมันก็สะท้อนกลับมาที่กลุ่มเราให้เลิกบ่นแล้วเริ่มลงมือทำสิ่งที่เราอยากทำ ถ้าตั้งใจให้เป็นคนไทยทำก็ต้องทำให้คนไทยมาฟังให้ได้
ฝากถึงงาน MELA Clubnacht
กร: เราอยากให้สารนี้ไปถึงใครก็ได้ ทั้งคนที่มาสนุก คนที่อยากทำคลับ หรืออยากให้มันมี ก็ลองดูเลยก็ได้ ที่เราทำไม่เคยหวงไอเดีย มาลองคุยกันก็ได้ว่าจะเปิดคลับไหม (หัวเราะ) หรือจะให้แนะนำก็ได้ อยากคุย อยาก connect อยากให้การเต้นรำกลายเป็นส่วนนึงของชีวิต นี่คือ hidden agenda ที่ทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมา เราอยากให้มีคลับไนต์แบบนี้ทุกวัน เอาจริงคือเหงา (หัวเราะ)
มิว: พี่กรเคยคิดจะไปเป็นนักบินเพื่อไปเก็บตังมาเปิดคลับ (หัวเราะ) จริง ๆ ก็อยากให้เพื่อนแหละ อยากชี้ช่องทางให้คนที่สนใจ หรือคนที่มองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ สุดท้ายแล้วอยากให้เขามาลองดูว่ามันมีสุนทรียะแบบนี้อยู่ มีดนตรีแบบคลับ ไลท์ติ้งดีไซน์แบบคลับ มากกว่าการมานั่งกินเหล้ากินเบียร์ เต้นสนุกกับเพื่อนแล้วจบไป อันนี้มันถูกหลายสิ่งหลอมรวมกันมาจนเกิดเป็นงานนี้ ว่าคัลเจอร์ที่มันมาผสานกันมันสวยงามยังไงบ้าง
เพียว: ตอนนี้เราเข้าใจว่าคนมีฟังก์ชันนึงที่ให้พลังกันได้ แค่คุยหรือปรึกษากัน แล้วในปาร์ตี้ประกอบด้วยคนเยอะแยะมากมาย มันก็มีความน่าตื่นเต้นที่ได้คุยกับคนที่ไม่รู้จัก แล้วถ้าลองคุยกันแล้วเจอความที่มันคลิกกันได้ เราเชื่อว่าทุกคนในปาร์ตี้เขาแฮปปี้ทุกคน เพลงมันสนุก คนก็แชร์เอเนอร์จี้ แชร์ความรู้สึกดีกัน นี่ก็เป็นเหตุผลนึงที่ทำให้อยากทำกลุ่มนี้อยู่ ก็อยากให้คนที่มางานได้โมเมนต์ดี ๆ แบบนั้นกลับไป ตื่นมาแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย เมื่อคืนแม่งดีว่ะ ลองมาเจอกันครับ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากลองทำความรู้จักกับ subculture ใหม่ ๆ ลองเปิดประสบการณ์ดนตรีเทคโนอันเดอร์กราวด์ที่หาซื้อไม่ได้ที่ไหน ก็มาซื้อบัตรงาน MELA Cl_b_ac_t 2019 ได้แล้ววันนี้ที่ Ticketmelon จ้า