Article Interview

ชีวิต ความใฝ่ฝัน และมุมมองเรื่องสตรีนิยม ของ ลูกพีช—รพีพร ตันตระกูล

  • Writer: Krit Promjairux
  • Photographer: Vice Pichitphan

บ่ายวันศุกร์สุดท้ายของเดือนมกราคม ณ โฮสเทลแห่งหนึ่งที่ซ่อนตัวจากความวุ่นวายในย่านสีลม ถือเป็นอีกวันที่ผมรู้สึกว่าตัวเองช่างโชคดีเหลือเกินที่มีได้โอกาสพูดคุยกับศิลปินหญิงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถถึง 5 คนในหนึ่งวัน เพื่อประชาสัมพันธ์งานดนตรีงานหนึ่งที่ผมเป็นหนึ่งในทีมผู้จัด

ด้วยความที่เราเป็นโปรโมเตอร์คอนเสิร์ตเล็ก ๆ ทำให้พวกเราแต่ละคนต้องทำหน้าที่หลาย ๆ อย่างที่โดยปกติแล้วเราคงจะไม่ได้ทำอะไรแบบนี้เท่าไหร่ ผมรู้สึกโชคดีกับอภิสิทธิ์ตรงนี้ในการได้ทำความรู้จักกับตัวตนของศิลปินที่เราชื่นชอบผ่านการสนทนาในหัวข้อต่าง ๆ ที่ถ้าไม่ได้เจอกันในสถานการณ์แบบนี้หรือไม่ได้ไปนั่งดื่มด้วยกัน (ซึ่งในกรณีหลังเราคิดว่าน่าจะไม่มีวันนั้น) คงจะยากมากที่เราจะมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวที่ค่อนข้างส่วนตัวและไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะมาก่อน จากคนที่ไม่ได้รู้จักกันและยอมให้เราได้รู้จักแง่มุมอื่น ๆ นอกจากเพลงที่พวกเธอแต่ง ความประทับใจในบ่ายวันนั้นทำให้ผมรู้สึกว่าคลิปวิดิโอความยาว 3-4 นาทีที่จัดทำขึ้นเพื่อโปรโมตคอนเสิร์ตคงไม่เพียงพอ และคงจะน่าเสียดายไม่น้อยถ้าเราไม่ได้แบ่งปันเรื่องราวที่ถูกตัดออกไปของเหล่าสุภาพสตรีที่เราประทับใจกลุ่มนี้ให้กับคุณผู้อ่าน

ในบรรดาศิลปินที่เราสัมภาษณ์ในบ่ายวันนั้น เรื่องราวของ ลูกพีช—รพีพร ตันตระกูล นั้นจับใจเราที่สุด เธอคือนักร้องนักแต่งเพลงที่เริ่มการผจญภัยบนเส้นทางสายดนตรีจากรายการประกวดร้องเพลงมหาชนอย่าง The Voice Thailand Season 2 และเริ่มออกเดินทางครั้งใหม่ในฐานะศิลปินอิสระภายใต้สหกรณ์ดนตรี Malama Collective สู่การเปิดตัว Lukpeach ผลงาน EP ชุดแรกของเธอที่ทุกเพลงในอัลบั้มอัดในแน่นไปด้วยเรื่องราวและตัวตนของลูกพีชที่เพิ่งเปิดตัวกันไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เราจะมาพูดคุยกับเธอถึงชีวิต เป้าหมาย ทัศนคติที่เธอมีต่อวงการดนตรีและสิ่งรอบตัว โดยหวังว่าทุกท่านจะได้รู้จักศิลปินคนนี้มากขึ้น

dsc_4002

ลูกพีชเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่

ลูกพีชเรียนเปียโนตั้งแต่ประมาณ ป.4 มั้ง แต่ว่าเกลียดมาก เพราะพ่อแม่ให้เรียนเพื่อไปสอบเกรด (ประกาศนียบัตรวัดระดับ) แล้วเวลาไปสอบเกรดก็จะกลัว คือมันจะเป็นห้องมืด ๆ แล้วก็มีครูฝรั่งหน้าดุ ๆ มายืนคุม พอสอบเสร็จได้ครั้งเดียวก็ร้องไห้ เลยบอกแม่ว่า ไม่เอาอีกแล้ว จะไม่ขอเรียนอะไรก็ตามเพื่อใบเกรดหรือ certificate อะไรแบบนี้อีก ขอเรียนแค่เพื่อได้เล่นแล้วแฮปปี้พอ แต่ชอบเล่นดนตรีไทยมากนะ เอ้อ เริ่มเล่นดนตรีไทยตั้งแต่ ป.2 เล่นขิม ดนตรีไทยเครื่องอื่น ๆ ก็พอเล่นเป็น ส่วนกีตาร์นี่คือเริ่มตอนที่ได้รู้จักกับพี่ยิปโซ (อริย์กันตา มหาพฤษ์พงศ์, นักแสดง) จากการเล่นละครเวที เห็นพี่ยิปโซเล่นกีตาร์อะคูสติกแบบฟิงเกอร์สไตล์แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย เท่จัง นั่นคือครั้งแรกที่เราเห็นผู้หญิงเล่นกีตาร์แล้วเรารู้สึกว่าเท่ ก็เกิดความรู้สึกว่าอยากเล่นเอง เลยเริ่มฝึกเองมาตั้งแต่ตอนประมาณปี 2 สมัยเรียนมหาลัย

ประสบการณ์การเรียนดนตรีที่ไม่ค่อยดีในวัยเด็กทำให้เกิดความรู้ด้านลบกับดนตรีบ้างไหม

ไม่นะ อย่างตอนนี้เราก็สอนดนตรีเด็กอยู่ เราก็จะกลับไปนึกถึงตอนนั้นเสมอว่า จริง ๆ แล้วเราควรจะทำให้ทุกคนมีความรู้สึกด้านบวกกับดนตรีโดยการไม่ push อะไรเกินไป สมมุติว่า ถ้าลูกพีช อยากเก่งกว่านี้ อยากสอบเกรด มันก็ควรจะมาจากความต้องการของตัวลูกพีชเองหรือตัวเด็กที่เขาอยากเอง แต่ถ้าเราไปบังคับให้ใครสักคนนึงเรียนแบบหักโหม ลูกพีชรู้สึกว่ามันเป็นการทำเกินไป ณ ตอนนั้น เรารู้สึกว่าเหมือนตัวเองโดนบังคับจากครู เพื่อเธอจะได้มีใบเกรดนะ เอาไปใช้เป็นครู เอาไปต่อยอด อะไรแบบนี้ แต่สำหรับเรา การเรียนเปียโนคือแค่อยากเล่นให้มีความสุข แล้วเราก็เป็นหนึ่งในเด็กไทยอีกคนนึงที่วันธรรมดาห้าวันต้องเรียนอะไรก็ไม่รู้ ปวดหัวแล้ว พอเสาร์ อาทิตย์เราได้ดนตรี ศิลปะ เราแค่อยากผ่อนคลายไปกับมัน แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกมีด้านลบกับการเรียนเปียโนนะคะ พอเราไปบอกแม่ว่า เราไม่แฮปปี้ถ้าจะสอบ แม่ก็เข้าใจ แม่ไปบอกครูว่าไม่เอาแล้ว ให้สอนลูกเพื่อให้เล่นเป็น ให้เล่นแล้วมีความสุขก็พอ ไม่ได้มองไปในแง่ร้ายซะทีเดียวค่ะ แต่มันก็ทำให้เรารู้สึกขี้เกียจนิดนึงเวลาทีต้องเรียนพวกดนตรีในเชิงวิชาการ ทฤษฎีดนตรี อะไรประมาณนี้ ซึ่งจริง ๆแล้วมันก็จำเป็น

พอเราถามถึงตรงนี้แล้วเราสังเกตว่า ที่ผ่าน ๆ มา ลูกพีชเล่นดนตรีเพื่อความสุขเป็นหลัก อยากทราบว่าลูกพีชตั้งเป้าหมายกับการเป็นศิลปินไว้แค่ไหน

ตอนแรกเราก็มีเป้าหมายแบบเด็กทั่วไปเลยคือ ฉันอยากเป็นดารา ฉันอยากเป็นคนมีชื่อเสียง (ยิ้ม) แค่นั้นเลย แล้วกลายเป็นว่า พรสวรรค์ที่เรามีคือเสียงของเรา คือการร้องเพลง เราก็รู้สึกมาตลอดว่าเห็นภาพตัวเองในแบบ Academy Fantasia อะ (ยิ้มตาหยีพร้อมทำท่าทางมุ่งมั่นแบบเขิน ๆ) จะไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า หรืออย่าง The Star อะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นพอจบจากโรงเรียนไปเราก็เลยไปสมัคร AF เราติดเข้ารอบตัวแทนภาค จากนั้นก็ตกรอบ แล้วคนทั้งประเทศก็เห็นลูกพีชร้องไห้ แล้วก็โดนเพื่อนล้อ แต่เราก็แบบ ไม่เป็นไร ก็ไปเดอะสตาร์ต่อ พอไปเดอะสตาร์ถึงรอบโปรดิวเซอร์ปุ๊ป เข้าไปยังไม่ทันได้อ้าปากเลย เขาก็แบบ โอเคครับ เชิญครับ เราเลยเริ่มรู้สึกงง ๆ แล้ว ว่านี่ตัวเราเองกำลังทำอะไรอยู่ จากนั้นเราก็รู้สึกดาวน์ ความฝันที่จะมีชื่อเสียงของเราคงไม่เป็นจริงแน่ ๆ เลย จนกระทั่งมาเจอรายการ The Voice เราบอกตัวเองว่า ฉันจะไปรายการนี้เป็นรายการสุดท้ายแล้ว ถ้าไม่เข้ารอบคือเลิกร้องเพลงแล้ว ไม่เอาแล้ว ปรากฏว่าก็ติด ได้อยู่ใน The Voice season 2 คนก็เริ่มรู้จักลูกพีชมาจากตรงนั้น ถือว่าสำเร็จไปหนึ่งก้าวละ คือเป็นที่รู้จักในนามลูกพีช แต่มันกลายเป็นว่า มันไม่ได้เติมข้างในเรา เหมือนคนรู้จักเราเยอะจริง จำหน้าตาได้ แต่ว่าทุกคนรู้จักลูกพีชจากการร้องเพลงคนอื่นหมดเลย พอเราเป็น The Voice เวลาเราขึ้นไปร้องบนเวที ไปงานอีเวนต์หรือไปร้องที่ไหนก็ตาม เราได้ร้องแต่งเพลงของคนอื่น พอเข้ามหาลัยเราเริ่มรู้ว่าเราแต่งเพลงได้ เราเลยรู้สึกว่าอยากเป็นศิลปินที่คนรู้จักและจดจำเรา จากเพลงและตัวตนของเราจริง ๆ ซึ่งเอาจริงเราก็ยังรู้สึกโอเคที่คนจะรู้จักเราในนาม ลูกพีช The Voice อยู่ เพียงแต่ว่าอยากให้เขาเปิดใจ ว่าเรากำลังเดินทางครั้งใหม่กับเป้าหมายใหม่ที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จให้ได้ซึ่งก็คือ ลูกพีช ในฐานะศิลปินเดี่ยว ทำเพลงสไตล์ที่ตัวเองชอบ เขียนเพลงเอง ทำเพลงเอง แล้วทำให้เขายอมรับและชอบเราที่เราเป็นเราแบบนี้ได้ และหวังว่าสักวันมันจะไปไกลเท่ากับที่เขารู้จักเราตอน The Voice

dsc_4004

แล้วตอนนี้เรายังโอเคอยู่ไหมกับการที่คนยังติดภาพในฐานะ ลูกพีช The Voice

โอเค (ยิ้มกว้าง) คือสำหรับบางคน ลูกพีชรู้สึกว่าพอมาเป็นศิลปินแล้วมีบางคนเหมือนกันที่รู้สึกแบบ อย่าเรียกฉันว่า The Voice สิ ฉันไม่ใช่แล้ว แต่ลูกพีชมองว่าเราไม่สามารถปฏิเสธสิ่งที่เราผ่านมาได้ ลูกพีชรู้สึกว่าบางทีเราก็ต้องเคารพตรงนั้นด้วย เราต้องเคารพรายการ ต้องเคารพนามสกุลที่เราได้จากตรงนั้นมาด้วย เพราะถ้าไม่มีตรงนั้น คนก็คงยังไม่รู้จักเรา ถ้าเราไม่ผ่านตรงนั้นมา มันก็ไม่มีตรงนี้ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ลูกพีชไม่ mind เลยถ้าคนจะมาทักว่า เฮ้ย ลูกพีช The Voice ไม่เป็นไร เราก็มาทำความรู้จักกันใหม่ว่า เฮ้ย ใช่ ๆ เราลูกพีช The Voice เอง แต่ว่าตอนนี้เรามีลูกพีชอีกเวอร์ชันนึงนะ สนใจไหม มากกว่า (FJZ: ที่ถามคำถามนี้ก็เพราะว่า เราเห็นศิลปินที่แจ้งเกิดจากรายนี้หลายคนพยายามถีบตัวออกจากนามสกุลนี้) จริง ๆ ทุกคนก็พยายามค่ะ ลูกพีชคิดว่าศิลปินทุกคนก็ต้องอยากให้แฟนเพลงทุกคนเรียกเขาด้วยชื่อของเขาเอง ยกตัวอย่างเช่น พี่ชาติ สุชาติ อย่างเนี้ย พวกเราก็ไม่ได้เรียกเขาว่าพี่ชาติ The Voice หรือ นนท์ ธนนท์ บางคนเขาก็อยาก achieve ตรงนั้นอย่างพี่ตุ๊กตา จมาพร หรือ วี วิโอเล็ต ลูกพีชสนิทกับวี ทุกคนเรียกวีว่า วี ไม่ใช่ วี The Voice แต่บางทีทุกคนอาจจะลืมไปว่า กว่าที่เราถึงจุดนั้น มันก็ต้องให้คนจำภาพเราแบบตอนนั้นได้ก่อน มันเลยไม่แปลกที่ถ้ามีคนยังจำเราได้จากตรงนั้น ก็แค่แนะนำตัวเราใหม่ ในด้านใหม่ ๆ ที่เขาอาจจะยังไม่รู้จักแค่นั้นเอง

อยากทราบถึงกระบวนการทำงานของลูกพีชใน EP ชุดแรก Lukpeach ที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อปลายปี 2017

ส่วนใหญ่ลูกพีชจะแต่งเนื้อเพลง เมโลดี้ คอร์ด ส่วนด้านการอาเรนจ์จะมีโปรดิวเซอร์อีกคนมาช่วยกันทำ แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะยึดจากไอเดียที่ลูกพีชเสนอเป็นหลักว่าอยากได้เป็นฟีลไหน แล้วตัวเรากับโปรดิวเซอร์ก็จะช่วย ๆ หา ส่วนประกอบของแต่ละเพลง

เนื้อหามีความส่วนตัว มากน้อยแค่ไหน

90% มาจากเรื่องส่วนตัว (FJZ: แล้วอีก 10% ที่เหลือล่ะ) จะมีเพลง High เพลงเดียวที่ไม่ได้เขียนจากเรื่องส่วนตัว แต่ว่าเขียนจากจินตนาการ

พูดถึงเรื่องกระบวนการเขียนเนื้อเพลง เราสังเกตเห็นว่าลูกพีชมีเพลงที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ลูกพีชมีเกณฑ์อะไรในการเลือกภาษาให้กับเพลงแต่ละเพลง

ลูกพีชแต่งเพลงสองภาษาก็เพราะว่า หนึ่งเลยคือเราเป็นคนไทย อย่างน้อยเรายังต้องเครารพคนฟังที่ว่ายังมีกลุ่มคนฟังที่ฟังอังกฤษไม่ออก หรือยังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องให้โอกาสกลุ่มคนฟังกลุ่มนี้ด้วย โดยเลือกที่จะทำเพลงไทยด้วย อังกฤษด้วย เพราะก็เป็นคนชอบภาษาอยู่แล้วและชอบสื่อสารภาษาอังกฤษ ชอบพูดคนเดียวเป็นภาษาอังกฤษไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร แต่พูดผิด ๆ ถูก ๆ ค่ะ คือไม่ได้บอกว่าตัวเองเก่ง แต่เราคิดว่าในเมื่อเราชอบแล้วแล้วเอามาบวกกับการพยายามทำมัน ลูกพีชรู้สึกว่ามันก็จะเป็นการฝึกให้เราเก่งขึ้น ภาษามันมีอะไรบางอย่างที่มันแปลก สมมติว่าลูกพีชพูดคำว่า ‘วอน’ ภาษาไทย มันคือการที่เราทำอย่างงี้ (ทำมือประสานกัน ระดับกลางหน้าอก ลักษณะเหมือนคนกำลังอ้อนวอน) แต่พอพูดในภาษาอังกฤษเหมือนคนเขาก็จะเห็นภาพอีกแบบนึง หรืออย่างคำว่า awkward ภาษาอังกฤษ พอมาแปลเป็นภาษาไทยมันแบบ เอ่อ… (FJZ: มันจะมีช่องว่างระหว่างภาษา บางทีบริบทจะไม่ตรงกัน) ใช่ เพราะแบบนี้แหละลูกพีชถึงต้องแต่งเพลงสองภาษา เพราะบางอารมณ์เราพูดเป็นภาษาอังกฤษมันเก็ตกว่า แต่พอบางอารมณ์ เราพูดเป็นภาษาไทยมันชัดกว่าเยอะเลย ก็เลยมีทั้งสองภาษา อย่างเพลง High อย่างเนี้ยะ จะมาแต่งเป็น ลอยยยยยยย มันก็จะแปลก มันก็ต้องเป็นภาษาอังกฤษ

dsc_3965

ถ้าอย่างงั้นลูกพีชคิดว่าระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษอันไหนแต่งง่ายกว่ากัน

ภาษาอังกฤษง่ายกว่า เพราะภาษาไทยมันมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง จริง ๆ ภาษาอังกฤษก็มีค่ะ เพียงแต่ว่า พอเราไม่เป็นเจ้าของภาษา เราก็จะใช้เท่าที่เรารู้ เพราะภาษาอังกฤษมันก็มีระดับภาษา คำที่มีความหมายเดียวกันแบบนี้ แต่มีคำที่ใช้แล้วมันสุภาพกว่านี้ มีวลีที่มันฟังแล้วเป็นกวีกว่านี้ เราไม่ได้ศึกษาลงลึกขนาดนั้น แต่พอมาภาษาไทย เราเป็นเจ้าของภาษาเองเราจะรู้สึกว่า ไม่ได้ละ ใช้คำว่า ‘พบ’ ไม่ได้ละ จะต้องใช้คำว่า ‘เจอ’ แทน มันจะมีความละเอียดตรงนี้ หรือว่าพอเอาไปร้องในเมโลดี้แล้วฟังแปลก ๆ เพราะมันมีเรื่องวรรณยุกต์ เลยมีความยากง่ายต่างกัน

FJZ: งั้นอย่างเวลาเขียนเพลงเป็นภาษอังกฤษ เราคิดเนื้อหาเป็นภาษาไทยก่อนแล้วค่อยมาแปลทีหลังหรือเปล่า) 

ไม่ค่ะ คือคิดขึ้นมาเลยเป็นภาษาอังกฤษ

FJZ: ที่ถามคำถามนี้คือ ส่วนตัวเราอยากรู้เองด้วย เพราะเราทำงานประจำที่ต้องสื่อสารภาษาอังกฤษตลอดเวลาและเรารู้สึกว่าตัวเองสื่อสารภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี แต่พอมาอยู่บริบทของการเขียนเพลง เรารู้สึกว่ามันยากมาก เพราะเรารู้สึกและรับรู้อารมณ์เป็นภาษาไทย

เราคิดว่าเพราะปกติเราจะขึ้นเพลงจากเมโลดี้มาก่อน แล้วใส่เนื้อเพลงทีหลัง เราคิดว่ามันก็เป็น challenge อันนึงที่เรารู้สึกว่าแต่ละคนก็เจอด่านหลาย ๆ ด่านต่างกันไป เหมือนเล่นเกมเก็บเลเวลในการแต่งเพลงไปเรื่อย ๆ อย่างภาษาอังกฤษ บางคนก็แต่งแบบคิดเป็นเมโลดี้ไม่ออก แต่สามารถเขียนคำออกมาได้หมดเลย คือมันแล้วแต่คน แต่บางทีมันก็แปลกนะ อย่างเพลง Love Love คำแรกที่ร้องเลยคือ ‘ทำไม’ (ลูกพีชร้องท่อนดังกล่าวให้ฟังตรงตามโน้ตและเมโลดี้เป๊ะ ๆ : ถ่า-อ่า-อา-อ่า-ทาม-ไม) ตื่อดือดือดื่อดือดื่ด มาได้ก่อน แล้วเราก็คิดว่าแอดลิบท่อนนี้มันต้องเหมาะกับภาษาอังกฤษแน่เลย แต่สุดท้ายเรารู้สึกว่า ไม่ได้ว่ะ คือเพลงนี้มันต้องเป็นเพลงไทยว่ะ ทำยังไงดีที่จะยัดคำอะไรสักอย่างหนึ่งให้ลงในแอดลิบนี้ให้ได้

FJZ: อีกเรื่องหนึ่งที่เรามองมันว่าเป็นปัญหาในการเขียนเพลงเป็นภาษาอังกฤษก็คือ ขีดจำกัดทางภาษาที่ทำให้เราไม่สามารถเขียนเพลงออกมาได้สละสลวยเหมือนภาษาไทย

แต่สำหรับเรา ที่ผ่านมา เพลงที่เราแต่งเป็นภาษาอังกฤษทั้ง 3 เพลงเราก็ไม่ได้ยึดกับหลักภาษามากขนาดนั้น เราจะเน้น ความรู้สึกและอารมณ์เพลงเป็นหลัก ถ้ารู้สึกอย่างนี้ ก็เขียนอย่างนี้ เมื่อก่อนลูกพีชเคยเขียนออกมาแล้วแบบกังวลมากจนต้องเอาเนื้อเพลงไปให้คนที่ความรู้เรื่องแกรมม่าแน่น ๆ ดู แบบในเพลง Not Mine ที่เราเขียนแบบพยายามเปรียบเปรยอะไรสักอย่างหนึ่ง ‘A bloody scene, a broken heart, a jarful of lies’ ตอนเราเขียนเราก็นึกถึงแฟนเก่าแค่นั้นเอง เรานึกถึงว่า a bloody scene คือเหมือนทะเลาะกันจนเลือดสาด a broken heart มันคือความเจ็บปวด a jarful of lies คือสิ่งที่เขาเก็บสะสมมา แต่พอเอาไปให้คนไทยที่แม่นแกรมมาร์ดูเขาตอบกลับมาแบบ a jarful of lies? ยู มันไม่ make senses อะ มันไม่น่าได้นะ แต่พอเราไปคุยกับเจ้าของภาษาที่เป็นคนต่างชาติเลย เขาแบบ เฮ้ย! ยู so gooood อ่ะ ท่อนนี้ฉันชอบมาก ไม่แปลกเลย เขาบอกว่าในฐานะที่เป็น native speaker เขาบอกว่า มันไม่สำคัญว่าคุณจะพูดมันยังไง มันอยู่ที่ว่าเขาฟังแล้วรู้สึก แล้วเขาเก็ตหรือเปล่า มันไม่ต้องสวยหรูเป็นกลอน อาจจะไม่ต้องขึ้นแบบภาษาอังกฤษเวอร์ชันพี่เล็ก Greasy Cafe ที่เปรียบเปรยอะไรขนาดนั้น เขาขอแค่ว่าเขาฟังแล้วรู้สึกก็พอแล้ว

FJZ: เหมือน native speaker ในแต่ละภาษาคงไม่มายด์เรื่องหลักภาษาเท่าไหร่เพราะภาษามันคือเครื่องมือสื่อสาร คือถ้าสารมันไปถึงแล้วรู้สึกได้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ใช่ๆ เขายิ่งรู้สึกชื่นชมเราด้วยซ้ำที่ว่าเราพยายามทำภาษาของเขา เหมือนถ้ามีฝรั่งพยายามจะแต่งเพลงไทย เราก็จะรู้สึกว่า เออ เก่งเนาะ โดยที่เราจะมองข้ามเรื่องการออกเสียงของเขา หรือว่าการที่เขาพูดผิด ๆ ถูก ๆ เหมือนฝรั่งที่พูดไทยแบบ พูดไมค่อยชัด แต่เราก็จะรู้สึกว่ามันน่ารักอะ เพราะฉะนั้น ในมุมเดียวกันเราก็รู้สึกว่า ศิลปินทุกคน หรือว่า คนที่อยากพูดภาษาอังกฤษเก่ง ๆ ทุกคนที่พยายามพูด พยายามถ่ายทอดเพลงตัวเองออกมาเป็นภาษาอังกฤษ หรืออย่างลูกพีชที่พูดไทยคำอังกฤษคำเราก็ไม่ควรไปเอ๊ะเขาเพราะว่ามันคือการเรียนรู้ ถ้าเราไม่กล้าพูดมันก็ไม่มีการเรียนรู้เกิดขึ้น แล้วมันก็จะไม่มีการพัฒนา เพราะฉะนั้นเราควรจะให้กำลังใจมากกว่า ยิ่งศิลปินไทยที่ทำเพลงอังกฤษอย่างเงี้ยะ มันไม่ง่าย แต่เขากล้าทำออกมาแสดงว่าเขาก็ต้องกล้ายอมรับ อย่างลูกพีชทำ ลูกพีชก็รู้ว่า คนฟังมันจะต้องไม่เยอะเท่าทำภาษาไทย แต่ก็อยากให้เปิดใจว่ามันมีคนกล้าทำนะ ฟังหน่อย

dsc_3993

การที่เราเขียนภาษาอังกฤษในสัดส่วนขนาดนี้ ลูกพีชได้คิดหรือหวังเอาไว้ไหมว่าสักวันนึงจะได้รับการจดจำหรือมีชื่อเสียงในฐานะศิลปินระดับนานาชาติ

คิด คิดมากเลย (ตอบอย่างรวดเร็ว) ที่ทำเพลงภาษาอังกฤษเพราะอยากให้ตัวเองไปขนาดนั้นนั่นแหละ ไม่รู้ว่าฝันเฟื่องรึเปล่า แต่สักวันจะทำให้ได้ เพราะลูกพีชมีศิลปินที่เรายกให้เป็นไอดอลอย่าง Yuna คือยูน่าก็เป็นคนมาเลเซีย ที่ตอนอยู่มาเลเซียไปประกวดรายการไหนเขาบอกว่าไม่มีใครเอาเขาเลย แต่กลับไปดังที่อเมริกา เพลงดี ได้ไป featuring กับ Usher คือเราก็ไม่ได้หวังจะต้อง worldwide ขนาดนั้น แต่ถ้าวันนึงมันเป็นไปได้ เราก็อยากจะกลุ่มคนฟังให้กว้างขึ้นไปในต่างประเทศ ก็ตั้งเป้าหมายสูงไว้ก่อน แต่เราก็ไม่ฝันไว้แบบว่าจะต้องเป็นควีน แต่อยากเป็นที่รู้จักในระดับสากล

ระหว่าง การเขียนเพลงเกี่ยวความสุข กับการเขียนเพลงเศร้า อันไหนยากกว่ากัน

เขียนถึงความสุขยากกว่าค่ะ เพราะคนเราจะจำแต่เรื่องไม่ดี เรื่องไม่ดีจะค่อนข้างติดอยู่ในใจนานกว่าเรื่องดี ๆ อยู่แล้วโดยปกติ และลูกพีชเชื่อว่า ยิ่งเราผ่านอะไรร้าย ๆ หรืออะไรที่มันทำร้ายจิตใจเรามาก ๆ มันจำ แล้วความรู้สึกตรงนั้นเหมือนมันผ่านไปอีกกี่ปี ไม่โกรธแล้ว ไม่เกลียดแล้ว แต่ความรู้สึกนี้มันก็จะยังอยู่ แล้วมันสามารถจะดึงออกมาพูดได้เสมอ

อยากให้แสดงความเห็นต่อประโยคต่อไปนี้  ‘คิดว่าจริงไหมสัดส่วนของคนที่เลือกจะเล่นดนตรีหรือเป็นนักดนตรีจะเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง’

ก็จริงนะ สมัยเรียนมัธยม เราอยู่โรงเรียนสห แต่เรามักจะถูกเพื่อนผู้หญิงมองว่าเราแรดตลอดเวลาเพราะว่ากิจกรรมที่เราทำมันแบบ เล่นกีฬา อยู่ในวงดนตรี พอมีวงดนตรีก็ต้องขลุกอยู่ในห้องซ้อมกับผู้ชายล้วน ซึ่งจริง ๆ เราไม่ได้สนเรื่องตรงนั้นเลย เราสนใจแค่ว่าเรามาร้องเพลง หรือว่าบางทีเราคุยกับเพื่อนผู้ชายแล้วเรารู้สึกแฮปปี้กว่า ผู้หญิง ณ ตอนเด็ก ๆ เขาคงจะไม่ค่อยเก็ต

งั้นจริง ๆ คือก็รู้ตัวเองว่าชอบร้องเพลงมาตั้งแต่ประถม มัธยมเลย และอยู่ในวงดนตรี แล้วทำไมตอนนั้นถึงยังไม่สนใจที่จะหัดเล่นกีตาร์

ก็คงเพราะที่เล่าให้ฟังว่าพอเรารู้จักพี่ยิปโซแล้วมันเป็นแบบภาพจำเลยตอนที่พี่เขาเล่นกีตาร์ แล้วมันแบบ ฮึ่ย คือบางทีเราต้องมีใครสักคนที่เราดูแล้วเรารู้สึกว่าเราอยากเป็นอย่างเขา

งั้นลูกพีชคิดว่ามันเกี่ยวไหม ที่ถ้าเกิดเรามองในภาพใหญ่ ศิลปินหรือนักดนตรีที่เป็นผู้หญิงยังมีน้อยเกินไป พอ role model ที่เป็นศิลปินหรือนักดนตรีผู้หญิงมันมีปริมาณน้อย มันส่งผลทำให้ผู้หญิงไม่ค่อยเลือกที่จะเล่นดนตรีกันสักเท่าไหร่หรือเปล่า เพราะตัวเราเองเคยมองความฝันอย่าง ‘โตขึ้นอยากเป็นนักดนตรี’ หรือว่า ‘อยากจะประสบความสำเร็จในฐานะวงดนตรี’ มันดูเป็นความฝันที่ฟังแล้วผู้ช้ายผู้ชาย

เพราะว่าด้วยเส้นทางด้วยมั้ง ด้วยความที่เป็นผู้หญิงด้วย ลูกพีชขอเปรียบเทียบกับคนปกติทั่ว ๆ ไปที่เขาเป็นนักร้องเล่นดนตรีกลางคืนผู้หญิงกับนักร้องกลางคืนผู้ชาย ความปลอดภัยก็ไม่เท่ากันแล้ว ความเสี่ยงก็ไม่เท่ากัน การถูก harassment มันก็มีมากกว่าผู้ชาย ที่สามารถเดินแบกเครื่องดนตรีไปไหนก็ได้ไม่มีปัญหาอะไรแบบนี้ พอเป็นผู้หญิง ลูกพีชเจอหลายคนมากที่แบบต้องคิดเยอะว่า กูทำอาชีพนักร้อง ต้องซื้ออะไรก่อนระหว่างรถกับบ้าน บางคนก็ต้องยอมซื้อรถก่อนเพื่อความปลอดภัย ลูกพีชคิดว่าผู้หญิงมีปัจจัยยิบย่อยเยอะกว่า เพราะยังถูก look down ในทุกวงการเลยด้วย

จริง ๆ แล้วลูกพีชไม่ชอบการที่คนออกมาแบบ ‘ผู้หญิงจะต้องได้รับโน่นนี่นั่น’ บลา บลา บลา จริง ๆ ผู้หญิงจะออกมาพูดอย่างงั้นได้ แต่เราก็ต้องบอกว่าเราอยู่บนโลกนี้โดยไม่มีผู้ชายไม่ได้เหมือนกัน ทั้งสองเพศมันก็ต้องไปด้วยกันดิ เพียงแต่ว่าคุณอย่าเหยียดกันทั้งคู่เลยอ่ะ ไม่ว่าเพศไหนรวมถึง LGBT ด้วย ต้องเท่าเทียมกัน แต่ทุกวันนี้โลกเรายังมีแบบ กลุ่มคนที่พวกเราไปควบคุมความคิดเขาไม่ได้ที่เขาจะมองว่า ผู้หญิงไม่สามารถเป็น ไม่สามารถทำ ไม่สามารถประสบความสำเร็จในสิ่งนู้นนี้ได้เท่าผู้ชาย ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ เพราะอย่างลูกพีชก็โดนมาเยอะ แบบ เข้าใจใช่ไหมว่าขายไม่ได้นะ เป็นผู้หญิงขายยากนะ ถ้าไม่ใช่ผู้หญิงหน้าตาดี ยอมทำศัลยกรรมไหม อะไรไหม ซึ่งเราก็รู้สึกแบบ เพื่อ? ทุกวันนี้เราแฮปปี้ก็เพราะว่า มีคนเดินมาบอกกับเราว่า เราชอบเธอมาก ๆ เลย เพราะลูกพีชเป็นลูกพีช ที่เป็นแบบนี้ ที่หน้ากลมแบบนี้ จมูกอาจจะไม่ได้แหลม ที่แบบเตี้ยมาก ๆ หุ่นไม่เป๊ะ หรือว่านมแบน (หัวเราะ) มีความไม่สมบูรณ์แบบอะ แต่ก็มีคนชอบที่เราเป็นเรา ลูกพีชรู้สึกว่าทุกคนควรได้รับสิทธิ์ตรงนี้ไม่ว่าผู้หญิงหรือชายก็ตาม เพราะมันคงรู้สึกดีมากที่มีคนเดินมาบอกว่า เฮ้ยเราชอบที่แกเป็นแก ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรนะ แต่ขอให้พูดแบบนั้นจริง ๆ ไม่ใช่แบบพอพูดอย่างงั้นแล้วสุดท้ายคุณเลือกสิ่งสวยงามกว่าจากเปลือกหรือรูปลักษณ์ภายนอกอยู่ดี ลูกพีชเคยทำหัวข้อนี้ตอนเรียนมหาลัยเลย ลูกพีชคุยกับเพื่อนผู้ชายว่า แกจะพูดกับเรา แกจะพูดกับเราว่าอะไร เพื่อนก็บอกว่า แกเป็นแกก็ดีแล้วหนิ ไม่เห็นต้องเปลี่ยนอะไรเลย เดี๋ยวก็มีคนมารักแก เดี๋ยวก็มีคนมาชื่นชมแกเอง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ถามกลับไปว่า ชอบผู้หญิงขาวกว่าไหม ชอบผู้หญิงหุ่นดีกว่าไหม ชอบผู้หญิงสวยไหม ชอบผู้หญิงมีหน้าอกไหม ชอบแบบ บลา บลา บลา แบบ ภาพลักษณ์ภายนอก ทุกคนก็บอกว่า ก็ชอบ นึกออกปะ แล้วใครไม่ชอบบ้าง แต่สุดท้ายเรารู้สึกว่า เราชอบคนหน้าตาดีได้ อย่างลูกพีชเองก็ชื่นชมคนหน้าตาดีเยอะแยะเต็มไปหมดเลย เพียงแต่ว่าเราต้องมองข้างในเขาลึก ๆ ด้วยว่าข้างในเขาเป็นคนยังไง

dsc_3974

FJZ: ถ้าให้พูดตรง ๆ เราก็มีช่วงนึงในชีวิตที่รู้สึกว่าเรื่อง movement ของบางกลุ่ม ไม่ใช่ feminist ทุกคน ที่เหมือนเป็นโฆษณาชวนเชื่อระหว่างแนวคิดที่ว่า ผู้ชายแม่งดีกว่าผู้หญิง กับ ผู้หญิงแม่งดีกว่าผู้ชาย

ใช่ คือลูกพีชคิดว่า การที่ผู้หญิงคนนึงจะออกมาบอกว่า ฉันเป็นเฟมินิสต์จ๋า ๆ แต่ไม่ได้เข้าใจมันจริง ๆ แล้วคนที่อยู่ข้าง ๆ คุณคือใครล่ะ นึกออกปะ ถ้าคุณเป็นผู้หญิงมีครอบครัวแล้ว แต่อยากพูดถึงความเป็นเฟมินิสต์มั่ง แบบ ฉันเป็นเฟมินิสต์ I’m girl power แล้วคนข้าง ๆ คุณล่ะ ในเวลาที่คุณไม่มีใคร คุณก็มีผู้ชายคนนี้ที่คอยซัพพอร์ตคุณอยู่ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้หมายความว่า การมี girl power การที่คุณมีพลังในความเป็นผู้หญิง จะแปลว่า คุณจะต้องเลิกจับมือผู้ชายที่ยืนอยู่กับคุณข้าง ๆ หรือแบบไม่สนใจผู้ชาย ลูกพีชแค่รู้สึกว่าทุกคนควรอยู่ด้วยความเท่าเทียมกันและเห็นคุณค่าในตัวทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยมองข้ามเรื่องเพศ เรื่องการเมือง เรื่องศาสนา เรื่องอะไรทุกอย่างออกไปเลย คือไม่ว่าจะเป็น girls หรือ boys หรือ women หรือ men ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือ women ที่อยากจะเป็น men หรือ men ที่อยากจะเป็น women มันก็เป็นเรื่องของเขา คุณไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ทุกอาชีพ ในทุกการงาน ถ้าฉันเป็นตุ๊ด แต่ฉันอยากจะเป็นคุณครู ที่ไปสอนเด็ก แล้วยังไงอ่ะ หรือถ้าลูกพีชสัก แล้วยังไงอ่ะ ต้องหมายความลูกพีชเป็นขี้คุกเหรอ มันก็ไม่เกี่ยวเลย คือมันยังมีทัศนคติอะไรแบบนี้อยู่ ซึ่งรู้สึกว่าเราทุกคนต้องค่อย ๆ เรียนรู้มันไป

FJZ: ที่เรายิงคำถามเรื่องพวกนี้ ส่วนหนึ่งมันเกิดกระแสข่าวเมื่อปีก่อนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฮอลลิวู้ดที่มีการเปิดโปงกันอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วมันยังลามไปต่อถึงวงการดนตรีในโลกตะวันตกด้วย พอเราเสพข่าวพวกนี้เยอะ ๆ ตัวเราเองเลยเหมือนกับพึ่งตระหนักและเกิดคำถามขึ้นในใจว่า จริง ๆ แล้วผู้หญิงใช้ชีวิตอยู่บนโลกยากกว่าผู้ชายหรือเปล่า

ใช่ ใช้ยากกว่า ทั้งปัจจัยด้านร่างกาย แล้วก็ เขาเรียกว่าอะไรล่ะ โห ถ้าพูดเรื่องนี้จริง ๆ มันก็เกิดจากวัฒนธรรมที่มันฝังรากลึกมาอย่างยาวนานด้วย คือมันเป็นวัฒนธรรมที่มีทุกที่ทั่วโลก พูดถึงอเมริกาก็ได้ ประเทศที่เจริญแล้ว ในยุคนึง ผู้หญิงต้องเป็น housewife แบบทำอย่างอื่นไม่ได้เลย เป้าหมายของคุณต้องเป็นการเป็นแม่คนสิ การมีลูก ดูแลผู้ชาย อ่าว แล้วถ้าฉันอยากจะเป็นมากกว่านั้น ลูกพีชไม่อยากเป็นอย่างนั้น ลูกพีชแค่รู้สึกว่าลูกพีชมีแฟน หรือถ้าเรามีคนรักเป็นคู่ชีวิต เราก็อยากจะทำอะไรสักอย่างแล้วเดินไปพร้อม ๆ กัน หรือแชร์ทุกอย่างไปด้วย ไม่มีใครที่ไม่ช่วยใคร อันนี้เราก็ไม่รู้จะพูดยังไง เพราะเรามองเห็นสิ่งที่แม่ทำให้พ่อเราแล้วแบบ สำหรับเรามันคือ เฟมินิสต์จริง ๆ อะ คือทั้งคู่ให้กันและกันแบบหมดใจ บทบาทหน้าที่ในสังคมในโลกนี้ ผู้หญิงกับผู้ชายเวลามายืนเทียบกันแล้วคุณค่ามันควรจะเทียบเท่ากัน อย่างงานนี้ งาน Girl ที่ลูกพีชกำลังจะไปเล่น ไลน์อัพเป็นผู้หญิงทั้งหมด แต่แบ็กอัพก็ไม่ใช่ผู้หญิงล้วน คนที่ทำงานเบื้องหลังก็ไม่ใช่ผู้หญิงล้วน เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเกิดได้เพราะทุก ๆ คน ไม่ได้เกิดได้เพียงแค่เพราะผู้ชายหรือผู้หญิง

dsc_4019

มาพูดถึงผู้หญิงกับการไปคอนเสิร์ตสักหน่อย ลูกพีชคิดว่าการที่ผู้หญิงสักคนนึงจะตัดสินใจไปดูงานดนตรีสักงานมันยากไหม

หลัง ๆ ลูกพีชเวลามีคอนเสิร์ตจะไปดูกับแฟนตลอด แต่ตอนยังไม่มีแฟน ก็เคยไปกับน้องกันแค่สองคน เพราะว่าอยากดูวงนี้มากจริง ๆ แล้วคือรู้จักกันแค่สองคน ตอนนั้นไปดู Paramore ค่ะ ชอบมาก ร้องได้ทุกอัลบั้ม ซึ่งเราก็โตมากับ Paramore แล้วเราก็เคยฝันว่าวันนึงเราจะหัวแดงและไปยืนโบกสะบัดบนเวทีแบบ Hayley Williams แต่เราก็ต้องดูธรรมชาติของเราด้วยว่าเสียงเราเป็นยังไง เหมาะไหม แต่ละคนมีความฝันแต่เราก็ต้องกลับมามองความเป็นจริงด้วยว่า เออ ตัวเองทำได้แค่ไหน เป็นได้แค่ไหน

อย่างงาน Girl vol. II ที่จะถึงนี้เร็ว ๆ นี้ การที่มีงานที่ไลน์อัพแบบนี้ ลูกพีชคิดว่ามันจะช่วยส่งเสริมผู้หญิงให้มางานดนตรีหรือสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงเล่นดนตรีกันมากขึ้นหรือเปล่า

เราว่ามันก็ช่วยนะ เราหมายถึงว่า ในแง่นึง คุณก็ได้ช่วยเราแล้ว คุณให้กำลังใจเรา อย่างน้อยมันก็ทำให้เรารู้สึกว่า เออ มีคนรู้จักเรา แล้วมีคนเห็น value เรา อยากให้เราไปเล่น ต่อให้งานมันจะไม่ได้ช่วยอุตสาหกรรมดนตรีในมุมกว้าง แต่คุณก็ได้ช่วยเราให้เรารู้สึกว่าเราอยากจะทำอะไรต่อไปแล้ว และคนที่มาดูเราก็เชื่อว่าพอเขาได้มาดู เขาคงจะรู้สึกอิ่ม เพราะอย่างลูกพีชเอง ลูกพีชก็ไม่ได้มาโชว์ในแบบ full band แบบเดิม เราเสนออะไรใหม่ ๆ ให้คุณเลย เรามาคนเดียว กับกีตาร์ตัวเดียว มันออร์แกนิกมาก คุณก็จะไม่เคยเห็นเราเล่นแบบนี้ที่ไหนมาก่อน เราเลยคิดว่า ถ้ามาดูก็คงจะอะไรกลับไป อย่างน้อยก็ได้มาเจอศิลปินที่ตัวเองชอบ ซึ่งจริง ๆ ถ้ามาแค่เพื่อสิ่งนี้มันก็ดีพอแล้ว แล้วถ้าเกิดได้อะไรกลับมากกว่านั้นมันก็ยิ่งดีไปกว่าเดิมอีก หรือว่าถ้าเป็นผู้หญิงสักคนที่ซื้อบัตรมาดูแล้วรู้สึกว่า ผู้หญิงก็ทำได้นี่ อย่างก็ช่วยให้แรงบันดาลใจใครสักคนไป

สุดท้ายแล้วถ้าเกิดวันนึงอยู่ ๆ วงการดนตรีบ้านเราจะมีงานที่มีไลน์อัพที่เน้นไปที่ศิลปินหญิงในสัดส่วนที่เยอะขึ้น ลูกพีชคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้หญิงหันมาสนใจและเล่นดนตรีกันมากขึ้นไหม

ลูกพีชคิดว่าช่วย อย่างตัวลูกพีชเองเคยเล่าไป คือเราเจอโมเมนต์ที่เราอยู่กับพี่ยิปโซแล้วเขาจับกีตาร์ขึ้นมาเล่นแล้วเราแบบ เฮ้ย คือเราเซอร์ไพรส์ เพราะเรามองเขาแบบดาราคนนึงมาตลอด แต่จริง ๆ แล้วเขาทำอะไรได้มากกว่านั้นตั้งเยอะ เราก็เลยรู้สึก inspired จากตรงนั้น ลูกพีชรู้สึกว่าผู้หญิงหลาย ๆ คนอาจจะได้แรงบันดาลใจเพิ่มขึ้น ถ้าเกิดได้เห็นผู้หญิง ทำในสิ่งที่เขาคิดอยู่ในหัวว่า ‘มันเป็นไปไม่ได้หรอก’ แต่ถ้าเขาได้เห็นเขาก็อาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย มันเป็นไปได้นะ การเล่นดนตรีก็เป็นไปได้ อย่างลูกพีช ถ้าย้อนกลับไปตอนปี 2 ก็คงจะบอกว่า ไม่มีทาง ฉันไม่มีทางที่จะเล่นกีตาร์เองคนเดียวแล้วไปเล่นโชว์ 30 นาทีได้แน่ ๆ แต่แบบฉันทำมาแล้วสองที่ ทำได้แล้ว คิดว่ามันก็เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ถึงบอกว่างานนี้มันพิเศษตรงที่ว่า งานนี้จะได้เห็นลูกพีชเล่นในแบบที่ไม่เคยเล่นที่ไหนมาก่อน เป็นลูกพีชคนเดียวจริง ๆ ที่ไม่มีแบ็กอัพผู้ชายหลาย ๆ คนอยู่ข้างหลัง คือแบบออกจากตัวเราทั้งหมดจริง ๆ

งาน Girl vol. II จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2018 พบกับ My Life as Ali Thomas, Sasi, The 10th Saturday, Petite และ Lukpeach ซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ Ticketmelon

Facebook Comments

Next:


Krit Promjairux

kicking and screaming in Pistols99 อยากใช้ชีวิตเหมือน William Miller ในหนังเรื่อง Almost Famous.