Koichi Shimizu ย้อนความหลัง SO::ON Dry Flower ค่ายที่นำเสนอสิ่งใหม่แก่วงการเพลง
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot, Shimizu Ko, and SO::ON Dry Flower
เพราะเหนื่อยหน่ายกับความเร่งรีบ และสิ่งซ้ำซากน่าเบื่อที่หมุนวนอยู่บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้เรานั่งนิ่ง ๆ กับตัวเองและพบว่าสิ่งที่ทำสูญหายโดยไม่ได้ตั้งใจ คือความน่าตื่นเต้นในหลาย ๆ ด้านที่วัยเยาว์ของเราเคยได้สัมผัส
เราเริ่มออกตามหาความตื่นเต้นพวกนั้นอีกครั้ง เริ่มจากดนตรีที่เคยฟัง เราพบว่าบัดนี้มันค่อย ๆ เลือนหายไปจากหน้าวิทยุและไปปรากฏอยู่ในสตรีมมิงและ YouTube แทน เราใส่ชื่อศิลปินหลายคน ค่ายเพลงหลายค่ายลงไปในช่องค้นหา หลังจากกดเล่นเพลงของพวกเขา เราก็รู้ทันทีว่านี่คือแรงบันดาลใจ และกำลังผลักดันสำคัญ ที่ทำให้เรามาอยู่ ณ จุดนี้
การตามหาจิ๊กซอว์ที่หายไปจากวงการเพลงไทยได้ถือกำเนิดขึ้น เราปักหมุดไปที่ SO::ON Dry Flower และเริ่มสอบถาม พูดคุย ถึงความทรงจำเมื่อครั้งนั้น กับชีวิตปัจจุบันของ อ้วน Armchair, ก้อง Goose, ณภัทร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา จนตัวต่อที่กระจัดกระจายไปในปี 2016 เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็ได้เวลาที่เราจะวางชิ้นส่วนสำคัญลงไปเพื่อให้ภาพนั้นสมบูรณ์ เมื่อเราได้พูดคุยกับ Koichi Shimizu โปรดิวเซอร์ชาวญี่ปุ่นที่ศิลปินไทยเรียกเขาว่า ‘พี่โค’
พี่โคคือหัวเรือหลักของค่ายเพลง SO::ON Dry Flower ที่เรามองว่าเป็นฉากหลังสำคัญของดนตรีทางเลือก เพราะพวกเขาไม่เคยหยุดนำเสนอความหลากหลาย วงในค่ายล้วนมีแนวดนตรีใหม่ ๆ ที่ท้าทายคนฟัง ทั้ง ambient, post rock, experimental, alternative rock ไปจนถึงอิเล็กทรอนิกดุเดือด แถมยังจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้ และจัดงานดนตรีที่พาวงดี ๆ มาเล่นอยู่บ่อย ๆ เราพูดได้เต็มปากว่าค่ายนี้ช่วยเปิดประสบการณ์ฟังของเราให้ไปไกลขึ้นอีกระดับ แม้พวกเขาเองก็ไม่รู้ตัวว่าได้หว่านเมล็ดพันธุ์ทางดนตรีเอาไว้มากมาย
2003
ตอนนั้นยังไม่เป็นค่ายนะ ก่อนหน้านั้นเราอยู่โตเกียวกับทำงานเกี่ยวกับเพลง ทำปาร์ตี้ที่โตเกียว พอย้ายไปอยู่เมืองไทยใหม่ ๆ ก็เริ่มหางาน ก็ไปเจอเพื่อนคนนึงชื่อ CliquetpaR เป็นศิลปินที่ทำอิเล็กทรอนิกเหมือนกัน ทีนี้ก็อยากจัดปาร์ตี้ที่เอาดนตรีอิเล็กทรอนิกมาเล่นสด เพราะที่ไทยยังไม่ค่อยมี ตอนนั้นก็ให้พี่ป๊อด Moderndog แนะนำว่าจะทำยังไงดี พี่ป๊อดก็แนะนำ ณภัทร ให้รู้จัก แล้วก็เจอคนอื่น ๆ มาช่วยกัน
ตอนเริ่มจะทำจริง ๆ ก็ยากนิดนึง สมัยนั้นเวลาจะจัดอีเวนต์มันลำบากเพราะยังไม่มีคลับที่เหมาะให้จัดงานอินดี้ เราก็ต้องหาที่เปล่า ๆ เช่าเครื่องเสียง เช่าไฟ ตั้งบาร์เอง ซื้อเบียร์มาเอง แต่ข้อดีของความลำบากคือเราจะได้เรียนรู้ แล้วพอดีมีเพื่อนที่ SAE เขาก็มีเครื่องให้ยืม มาเป็นสปอนเซอร์ให้ ตอนหลังก็มีคาเฟ่ชื่อ About Cafe มาเสนอ บอกว่ามาจัดที่นี่สิ เราก็โอเค ก็ดูพร้อมที่จะจัดแล้ว
ยุคนั้นยังไม่มี myspace เลยมั้ง วิธีการโปรโมตก็เลย primitive มาก ต้องพิมพ์ใบปลิวแจก แล้วก็ใช้ SMS ส่งหาเพื่อน ซึ่งมันก็มีข้อดีกว่าเฟซบุ๊กตรงที่มันก็เข้าหาคนตรง ๆ อีกอย่างคือยังไม่มีคนจัดอีเวนต์มากเท่าไหร่ พอเราจัดขึ้นมาปุ๊บมันก็เลยเด่น คนมาดูก็เยอะอยู่ สมัยนั้นการเรียกคนดู 200 คนมางานไม่ค่อยยาก เพราะมันเป็นสิ่งใหม่สำหรับเวลานั้น
พอเราทำได้ก็จัดบ่อยทุก ๆ สามเดือน คนที่มาดูงานที่เขาเล่นดนตรีก็เริ่มเอาเดโม่มาให้เราฟัง แล้วเราก็เจอ Goose ฟังเดโม่เขาแล้วชอบมาก ก็ให้โอกาสมาเล่นงานของเรา ถ้าเล่นดีก็จะชวนไปออกซีดี แล้วก็อยากมีผลงานออกเรื่อย ๆ
SO::ON + Dry Flower
ตอนนั้น Goose เขามีค่ายของตัวเอง คือเราเป็น SO::ON เขาเป็น Dry Flower พอมาอยู่ด้วยกันเราเลยเป็น SO::ON Dry Flower สุดท้ายก็กลายมาเป็นค่าย แล้วก็ออก compiltion เป็น Ghosted Note ชุดแรก
เราค่อนข้างมี connection ชัดเจนกับลาดกระบัง (หัวเราะ) Goose เนี่ยก็มีรุ่นน้องเป็น Desktop Error ก้องส่งมาให้ฟัง พอฟังแล้วเราชอบก็ชวนมา ทีนี้ Desktop Error ก็มี โอ๊ก Into the Air เป็นเพื่อน, นิ้ม ที่อยู่ Goose ก็เป็นเพื่อนกับ ฝน นักร้อง Talkless, อ้วน Armchair ก็เป็นเพื่อนสนิทก้อง, Two Million Thanks ก็เด็กลาดกระบัง มันก็เป็นเพื่อนกันหมด
ส่วนแนวดนตรีไม่ได้คัดนะ คนชอบพูดว่า SO::ON Dry Flower ดาร์ก ดีพ จริง ๆ เราก็ไม่ได้ตั้งใจ (หัวเราะ) แนวอะไรก็ได้แต่เราจะเลือกจากอารมณ์ของดนตรีมากกว่า vibe หรือนิสัยคนที่เล่นดนตรีก็สำคัญ เขาต้องเป็นคนที่ทำงานกับเราแล้วรู้สึกดีด้วย ส่วนตัวผมชอบเด็ก ๆ ที่เขียนเพลงเพราะ เล่นดี มีแนวทางของตัวเองค่อนข้างชัดเจน ชอบเด็กที่ทดลองกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ อันนั้นคือสิ่งแรกที่เราต้องการ
พอ myspace เกิดมาก็ค่อนข้างสำคัญ มันจะมี window ที่เราเปิดฟังเพลงของวงต่าง ๆ ไปด้วยได้ ถ้าอยากหาศิลปินใหม่ ๆ ก็ใช้ myspace ติดต่อเขาได้เลย เราพยายามหาฟังไปเรื่อย ๆ วงอินดี้ที่ไม่มีค่าย วงไหนที่เราชอบก็ติดต่อเลยอย่าง อัศจรรย์จักรวาล หรือว่า Plot ก็ชวนมาเล่นงาน SODF ก่อน ถ้าเล่นดี ก็คุยต่อ (หัวเราะ)
ช่วงนั้น private gallery ก็มีเยอะขึ้น มีชื่อ NO Space ของ Red Twenty ก็คือวงที่อยู่ใน Panda Records มีแกเลอรี่ที่ RCA พอผมเห็นก็อยากมีด้วย เรามีอาชีพเป็น composer มีสตูดิโอ Pumpumpumpum แล้วก็มีพื้นที่ว่างที่บริษัทไม่ได้ใช้ คิดว่าจะมีสเปซไว้ทำอีเวนต์ จัดเวิร์กช็อปดีไหม เพราะทุกครั้งที่เราจัดอีเวนต์มันต้องหาที่จัด ซึ่งก็ค่อนข้างลำบาก ถ้าเรามีที่ของตัวเองทุกอย่างน่าจะง่ายขึ้น และมันน่าจะดีกับค่ายด้วย เลยชวน ริศ (อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร) ที่เป็น sound designer ของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) มาทำแกเลอรี่ชื่อ SOL Space อันนั้นสำคัญเลย แต่เวลาจัดงานทีก็ยังต้องควักเงินเองอยู่ เอาจากงานประจำของเรานั่นแหละ
Music Events
ตอนเอา The Observatory เข้ามาเราอยากนำเสนอให้เด็กไทยรู้จัก เขามาจากประเทศสิงคโปร์ใกล้ ๆ เราแต่มันมีความก้าวหน้ามาก ๆ อยากให้ได้ฟังเพลงกว้างขึ้น แต่อย่างวง Mono, Toe หรือ Mogwai ผมก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะดัน post rock เพราะส่วนตัวผมก็ไม่ได้ฟังแนวนั้นเท่าไหร่ แต่รู้ว่าเด็กไทยชอบ ก็มีความคิด commercial เหมือนกัน พอมี educational ไปแล้วก็อยากเป็น entertainment บ้าง (หัวเราะ) แต่ทุกงานที่ผมทำค่อนข้างมีความทรงจำที่ดีตลอด เพราะเราทุ่มเท 100% กับทุกงาน
Mono กับ Toe เป็นวงญี่ปุ่น เขาก็มาติดต่อเราว่าอยากมาเล่นเมืองไทย ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ได้จัด ส่วน Mogwai ตอนที่เราเริ่ม SO::ON มือกลองของวงก็ช่วยมาเล่นดีเจให้ในงานแรก แล้วเราก็กลายมาเป็นเพื่อนกับเขา ตอนนั้นเลยกลายเป็นความฝันของผมว่าเราต้องจัดคอนเสิร์ต Mogwai ให้ได้สักวันนึง สุดท้ายก็ได้จัด แล้วก็มาหลายรอบเลย (หัวเราะ)
ทำไมวงจาก South East Asia ที่เก่ง ๆ กลับไม่ค่อยมีคนสนใจ
ก็หนึ่งเลยคืออาจจะดังไม่พอ ไม่มีเพลงที่ปล่อยมาโปรโมตแล้วเด็กไทยรู้จัก ส่วนใหญ่เขาเน้นฝั่งอังกฤษ อเมริกา แล้วอย่างบางวงเขาก็มีความทดลองสูง เราก็รู้ว่าวงพวกนี้เรียกคนยาก เราเลยใช้วิธีจับคู่กับวงไทยที่มีฐานแฟน คนก็น่าจะมาดูเยอะขึ้น สมมติเราเรียกวงนอยซ์จากนอร์เวย์มา เด็กคงไม่ฟัง ถ้าจับคู่กับ Plot เด็กก็อาจจะฟังด้วย อะไรแบบนี้ แล้วเวลาคิดว่าจะจับคู่วงไหน มาเล่นกับวงไหนถึงจะเข้ากัน มันก็เป็นความสนุกเหมือนกัน
Record Label :: School
ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องเป็นธุรกิจ อยากให้เป็น community แทนที่ SO::ON Dry Flower จะเป็นค่าย เราก็อยากให้มันมีการให้ความรู้กันด้วย การจัดเวิร์กช็อปก็เลยสำคัญสำหรับผม SODF มีความเป็นโรงเรียนสูง เด็กที่เข้ามาในค่ายก็เหมือนเป็นนักเรียนนิดนึง พอเราทำงานด้วยกัน สิ่งที่เรารู้ก็จะสอนให้เด็ก
เวลาผมโปรดิวซ์ก็ไม่ค่อยบังคับนะครับ เราพยายามหาข้อดีของแต่ละคน แต่ละวง แล้วดึงสิ่งนั้นออกมา แต่ถ้าใครเริ่มไปทางที่ไม่น่าใช่ ผมก็จะแนะนำ ไม่ได้บอกว่า No แต่เราจะ Yes, but… (หัวเราะ) หาเอกลักษณ์ของแต่ละคนออกมา ขยายข้อดีอันนั้นออกไป
(Exit) Music For a Film
ยุคนั้นคนทำเพลง abstract เยอะ เราก็ไม่ได้ตั้งใจทำให้เพลงเป็นแอมเบียนต์ขนาดนั้น แต่บังเอิญวงส่วนใหญ่ดันมีเพลงบรรยากาศ มีเมสเสจที่ไม่ชัดเจน ค่อนข้างตีความได้แบบกว้าง ๆ ดนตรีบรรเลงค่ายเราก็เยอะ แล้วเพลงแบบนี้เวลาอยู่กับหนังก็อาจจะอยู่ได้ง่ายกว่าเพลงที่เมสเสจแรง ๆ ชัดเจนรึเปล่า พอดีผมก็มี connection กับผู้กำกับบ้าง บางคนได้ฟังเพลงของศิลปินค่ายผมก็อยากเอาไปใช้ แล้วเพลงก็ได้ไปอยู่ในกลุ่มคนดูหนัง
Less Risk, Play Safe (?)
วันนั้นเพิ่งฟังลิสต์รวมเพลงของประเทศไทยจากคนนึง แล้วผมลองไล่ฟังก็ตกใจ โห คุณภาพอย่างดีอะ แล้วผมก็ประทับใจนะ โปรโมตก็เก่ง ทำ mv ก็สวย แต่ฟังแล้วก็รู้สึกว่า ดนตรีแรง ๆ หายไปไหนแล้ว
เด็กสมัยนี้ก็อาจจะฟังเพลงคนละแบบกับเรา city pop อิเล็กทรอนิกใหม่ ๆ ก็เข้าใจว่าทำไมถึงชอบแนวนั้น คือมันก็ดูเท่ แฟชันมันก็ดี แต่ผมก็ไม่ได้ติดตามเพลงอินดี้สมัยนี้เท่าไหร่ เพราะมันห่างจากสิ่งที่ผมชอบเยอะ
ตอนเด็ก ๆ เราฟัง Nirvana, Sonic Youth ความเท่มันไม่ใช่แค่ลุค ดนตรี grunge มันมีเสน่ห์ชัดเจน สไตล์ที่เขานำเสนอมันก็เท่ด้วย ดนตรี aggressive หรือ extreme ก็มีอยู่ทุกยุค ไม่เคยขาดมาก่อน แต่มาดูในไทยยุคนี้มันก็น้อย อาจจะมีอยู่แต่ไม่ค่อยดัง แต่ผมเชื่อว่ามันยังมีเด็กที่ชอบเพลงแบบนี้อยู่เหมือนกัน
มีวงนึงชื่อ Dogwhine อันนั้นผมชอบนะ คนยังไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ อาจจะวิธีการโปรโมตด้วยหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าต้องขายลุค ทิ้งตัวตนตัวเองนะ (หัวเราะ) พูดยาก พอเพลงทุกอย่างมันดูทำง่ายขึ้น แต่วิธีการนำเสนอมันยากขึ้น สำหรับคนฟังเขามีตัวเลือกเยอะมาก การอยู่กับยอดไลก์และยอดวิว มันทำให้ less risk, play safe รึเปล่า คนทำเพลงก็ไม่ได้ take risk เท่าไหร่ ไม่ต้องทำเพลงยาก ๆ ไม่ต้องท้าทาย
ตอนอยู่เมืองไทยผมก็ถามทุกคนเวลาไปอีเวนต์ว่า เด็กที่ทำดนตรีแรง ๆ ไปไหนหมดแล้ว เขาก็บอกว่า ‘พี่โคแก่แล้ว วงแบบนั้นสมัยนี้มันไม่ฮิต’ (หัวเราะ) แต่เราก็เชื่อว่ามันจะกลับมาอีกไม่นาน ผมว่าเด็กที่มีความเครียด มีอะไรข้างในแรง ๆ มันอั้นไว้อยู่ แล้วเด็กที่ฟังเพลงป๊อปมานาน ๆ ก็ต้องรู้สึกว่า ‘ผมอยากจะระเบิดแล้ว’ ผมก็อยากรู้ว่าเพลงกีตาร์แรง ๆ สมัยนี้ยังมีคนรับได้ไหม
So Long SO::ON
เหมือนสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอกับสิ่งที่เด็กสนใจมันเริ่มห่างกันไปเรื่อย ๆ ถ้าเราจะเปลี่ยนไปทำอะไรที่เอาใจเด็ก แต่ขัดกับสิ่งที่ตัวเองชอบก็ไม่น่าใช่ คิดว่าทำมา 13 ปี ก็พอแล้ว สิ่งที่อยากทำก็ได้ทำไปหมดแล้ว แทนที่เราจะ repeat ตัวเอง ก็หยุดดีกว่าไหม พอดีกับผมออกงานเดี่ยวของตัวเองก็เริ่มอยากเป็นศิลปินมากกว่า admin เลยตัดสินใจหยุดทำ คือพอผมหยุดก็หยุดเลยจริง ๆ ไม่ได้จัด farewell event อะไร
ก็สงสารวงในค่ายนิดนึง แต่พวกเขาก็ยังอยู่ด้วยตัวเองได้ ถึงตอนนี้เราไม่มีค่ายเราก็ยังช่วย ๆ กันอยู่ เจอที่เมืองไทยก็มีชวนกินเหล้า กินข้าวบ้าง แต่ก็ไม่ค่อยได้เจอแหละผมเก็บตัวอยู่บ้านมากกว่า (หัวเราะ) พวกไอ้ก้องเนี่ยเจอบ่อย แต่ถ้าอนาคตใครอยากจะเปิดค่าย ผมก็ยินดีช่วยอยู่นะ
Shimizu Ko
ผมมีโอกาสทำงานของตัวเองด้วย แล้วก็ทำงานของพี่เจ้ย ชื่อ ‘Fever Room’ (เมืองแสงหมด) เป็น theatre performance ที่เป็น extended cinema คือโรงหนังที่มี installation ของ DuckUnit เข้ามาด้วย ไปจัดมาหลายสิบประเทศแล้ว แต่เรายังไม่มีโอกาสที่จะจัดในประเทศไทย คือเราต้องจัดในโรงละครที่ facility ครบนิดนึง แต่ที่นี่ไม่ค่อยมี ก็ได้เดินทางบ่อย ระหว่างนั้นผมก็พยายามหาที่ใหม่เพื่อนำเสนองานตัวเองไปด้วย
จะกลับเมืองไทยเมื่อไหร่
รออยู่ เขาประกาศว่า 1 กรกฎาคม จะเปิดสนามบิน แต่ไม่รู้ว่าเขาต้องให้ทำเอกสารอะไรหรือเปล่า ถ้าเขาขอ PCR test ที่ญี่ปุ่นก็หาที่ตรวจยาก ก็ไม่รู้ว่าจะเตรียมเอกสารได้ไหม แต่อยากกลับละ ต้องทำงานแล้ว (หัวเราะ) ตอนนี้ไม่มีงานเลย! ไม่มีสตูดิโอที่นี่ก็ทำงานไม่ได้ ทำเพลงอะไรไม่ได้ ไม่ได้เอาอะไรมาเลย
ฝากถึงทุกคนที่มีความผูกพันกับ SO::ON Dry Flower
ผมอยากจะพูดกับนักดนตรี เรากำลังรออยู่ เด็กไทยที่มีข้างในแรง ๆ กลับมา shake up ประเทศไทยกันนะ
อ่านต่อ
RAZE งานอิเล็กทรอนิกหนักหน่วงจากการร่วมมือของ Koichi Shimizu และ Marmosets
เตรียมตัวฟัง ‘PLOT ANON’ อัลบั้มเต็มจากโพสต์พังก์ไทยลายเซ็นชัด และบางคำถามที่ ‘ฉันถามทำไมไม่ตอบ’
Desktop Error: Press here to Restart