HUH? โปรเจกต์ใหม่จาก Have You Heard? ที่พยายามบอกเราว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกมีอะไรมากกว่าที่คิด
- Writer: Montipa Virojpan
ครั้งแรกที่ได้ยินเพลงแปลก ๆ ลอยเข้าหูโดยไม่ได้ตั้งใจ บางคนอาจจะร้องอุทานออกมาว่า ‘HUH? นี่มันเพลงอะไรเนี่ย!?’ Have You Heard? โปรโมเตอร์คอนเสิร์ตและอีเวนต์ยอดนิยมก็เล็งเห็นว่า ได้เวลาแล้วที่จะทำให้คนที่เคยชินกับไลฟ์แบนด์ และคนที่ไม่เคยฟังดนตรีอิเล็กทรอนิกหรือเพลงเต้นรำแนวใหม่ ได้ลองมาฟังศิลปินและสัมผัสกับซีนดนตรีที่ไม่คุ้นชินกันดู กิ—กิรตรา พรหมสาขา ณ สกลนคร และ แป๋ง—พิมพ์พร เมธชนัน จะมาเล่าถึงที่มาของโปรเจกต์นี้และชวนให้ทุกคนเปลี่ยนความคิด เผื่อว่าในอนาคตเมนูประหลาดนี้จะกลายเป็นอาหารจานโปรดที่ต้องกลับมากินซ้ำ ๆ แบบเลิกไม่ขาด
HUH? คืออะไร
กิ: มันมาจากคำว่า เฮอะ? แบบ เหออออ?
แป๋ง: จริง ๆ คิดอยู่นานมากว่า เอาไงดีวะ เหมือนอยากให้ชื่อมันลิงก์กับ Have You Heard? นิดนึง เพราะว่าเราอยากทำอะไรที่มันก็มีความคาบเกี่ยวกัน แต่ก็ไม่ซะทีเดียว ก็เลยนั่งคุยกันบนรถแล้วพี่เราก็แบบ คือมันควรจะ H เหมือนกันไหม แล้วก็ได้มาเป็น เฮอะ? แบบไม่ได้ตั้งใจจะเอาเป็นชื่อนี้มากขนาดนั้น แต่ถ้าใช้ก็ง่ายดี เพราะว่ามันก็เป็นประโยคคำถาม อ่านแล้วก็คล้าย ๆ กันกับตัวย่อ HYH?
แล้ว HUH? ต่างกับ Have You Heard? ยังไง
แป๋ง: มันมีความเป็น club music หน่อย ๆ จริง ๆ เราก็มีคอนแทคเข้ามาสักพักแล้วว่าอยากจะให้ดีเจ โปรดิวเซอร์ที่เป็น live set ที่ไม่ใช่ band มาเล่น แล้วเราก็ไม่เคยเอาเข้ามาเลยเพราะเราไม่เคยทำ แต่มีปีที่แล้วที่เป็น Mark Redito เป็น dj set ก็ได้เห็นว่ากลุ่มคนที่มางานค่อนข้างต่างจากงาน HYH? นะ
กิ: คนก็ไม่ได้เยอะมาก ประมาณร้อยคน แต่ทุกคนก็ยังดู enjoy ถ้าเป็นคนดู HYH? ก็จะนิ่ง ๆ หน่อย
แป๋ง: ก็เลยคิดว่า ถ้าทำอีกอันมันก็จะเป็น direction ที่เคลียร์ขึ้น แต่แน่นอนว่าใครที่ชอบทั้งสองอย่างก็มาได้หมด แค่เราอยากทำให้มันชัด ไม่อยาก confuse คน เพราะถ้ามันอยู่บนเพจเดียวกัน คนบางคนก็อาจจะไม่ได้ต้อนรับเพลงแบบแนวคลับมาก เพราะอันนี้ก็เป็นแนว ๆ กลางคืนนิดนึง
กิ: เหมือนอย่าง HYH? ก็ค่อนข้างชัดในแบบของมัน ว่าเป็น live band, full band แต่หลัง ๆ ก็มีวงหรือโปรดิวเซอร์ที่น่าสนใจขึ้นเยอะ เพราะทำเพลงคนเดียวได้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี มันก็เลยเริ่มมีศิลปินที่น่าสนใจที่เราอยากเอาเข้ามา ก็คิดว่า ทำให้มันเป็น platform ใหม่ไปเลย คือที่จะทำก็คือไม่ได้เป็นอะไรที่ตื๊ดมาก เหมือนเป็น alternative electronic
แป๋ง: เป็นทางเลือกของพวก club music เพราะตอนนี้เราก็ไม่รู้จะไปเที่ยวไหนเหมือนกันเนาะ เพลงคลับหรือเพลงเต้นรำที่มีก็ไม่ได้ชัดเจนมากขนาดนั้น ส่วนมากก็เป็นเฟสติวัล เลยคิดว่าอาจจะค่อย ๆ บิลด์คาแร็กเตอร์ของตรงนี้ได้ เพราะ HYH? มันก็จะไม่ใช่ปาร์ตี้ แต่นี่ก็ไม่เชิงปาร์ตี้นะ คือมันยังมีความเป็น live อยู่ แต่จะเป็น experimental club music เพลงเต้นรำอิเล็กทรอนิก แบบที่ไม่ใช่ EDM หรือ house จะมีความหลากหลายของการแสดงสด ถ้าเป็นดีเจก็จะเป็นศิลปินที่ยังมีความเป็นทางเลือกของเพลงเต้นรำ ไม่ได้ mainstream ขนาดนั้น อย่างพวกนี้เขาก็จะทำมิกซ์เพลงของศิลปินอื่น เป็นเหมือน song selector ด้วย
คิดว่า dj set กับ live band มีเสน่ห์ต่างกันยังไง
แป๋ง: เราว่าเราโชคดีตรงที่เราทำ HYH? ไปแล้ว คนก็รู้แล้วว่ามันคืออะไร ส่วนการทำอันนี้มันก็เหมือนคล้าย ๆ เป็นการแนะนำ มาลองฟังไหม ก็เปิดโอกาสให้คนมาลองฟังละกัน ถ้าเขาชอบ HYH? ชอบ live ชอบฟังเพลงอยู่แล้ว เราก็อยากลองนำเสนออะไรที่คิดว่าเขาก็น่าจะชอบ เดี๋ยวเราจัดแล้วก็ลองมาลุ้นกันนะคะ ซึ่งเราว่าซีนนี้มันโตขึ้น อย่าง Wonderfruit ไรเงี้ย คนที่เริ่มเข้าใจเพลงลักษณะพวกเทคโน ซาวด์แอมเบียนต์ หรืออะไรต่าง ๆ ที่มันไม่ต้องมีเมโลดี้ หรือมีเนื้อร้องเป็นท่อน ๆ หรือการออกมาเต้นรำ หรือมา enjoy music โดยไม่ต้องการ attention วง ทั่วโลกมันก็เห็นภาพชัดขึ้น มีอะไรแบบ Boiler Room เยอะแยะไปหมดที่ทุกคนจะเริ่มเห็นจากที่บ้านอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ experience ด้วยตัวเอง อันนี้ก็อาจจะเป็นอีกตัวเลือกนึง คือเราก็ยังคิดไม่ออกว่าถึงเวลามันจะเป็นยังไง เพราะอย่าง HYH? ไปคอนเสิร์ตเสร็จแล้วเราก็กลับบ้าน ไม่ได้มี after party อะไร อันนี้มันอาจจะมีความยิงยาว มีดีเจ ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ศิลปินที่เราเล็ง ๆ กันอยู่ก็ไม่ได้มีความเป็นดีเจทั้งหมด จะเป็นกึ่ง live set คือค่อนข้างเป็นเซ็ตอิเล็กทรอนิก มีอุปกรณ์เสียงสังเคราะห์ มีร้องอะไรของเขาอยู่ สำหรับบางคนอาจจะคิดว่า ฉันมาดูวง ฉันก็ต้องเห็นหน้าตาวง เห็นคนเล่นดนตรี แต่อันนี้เหมือนมาคลับ ลองออกมา hang out สำหรับเด็ก ๆ อาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เราก็ไม่รู้ว่าเด็กเขาเที่ยวไหนกันนะ แต่มันคงไม่เหมือนไป RCA จะเป็นอีกแบบนึง
กิ: เราก็ให้มันเป็นอิเล็กทรอนิกผสมแนวดนตรีอื่น ๆ บ้าง ถ้าคนที่ชอบ r&b ฮิปฮอป ฟังก์ โซล จริง ๆ มันก็มีโปรดิวเซอร์หลาย ๆ คนที่จับหลาย ๆ แนวมาผสมกัน
แป๋ง: ตอนนี้โปรดิวเซอร์คนทำบีตมันเยอะมาก อาจจะมีนักร้อง songwriter กับคนทำบีต มาเจอกัน ก็จะเป็นลายเซ็นของเขาคนนั้น ก็เป็นอะไรที่ขยับเขยื้อนตัวได้ มีกรูฟแบบหนึบ ๆ หน่อย แต่อาจจะไม่ใช่เพลงเต้นรำที่เต้นแบบสนุกมาก ๆ มันอาจจะเป็นอีกประสบการณ์นึงของการออกไปเที่ยว เต้นรำ กับเพลงที่ไม่ต้องรู้จักหรือคลิกในทันที เราอาจจะต้องมีฟงมีไฟ แอมเบียนต์ต่าง ๆ ที่มาบิลด์ เราก็อยากสร้างซีนให้มีพื้นที่ใหม่ ๆ ให้คนไปเที่ยว
Boiler Room มีถ่ายทอดสด คิดว่าสิ่งนี้เป็นข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากันกับการสร้างซีนตรงนี้
แป๋ง: มันก็คงมีทั้งสองอย่าง แต่คงเป็นทางข้อดีนะ เราก็ได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ขี้นจากอะไรพวกนี้ ศิลปินใหม่ ๆ ที่ใช้ live ในการทำอะไรพวกนี้ทำมาหากิน พอคนเห็นแล้วแบบ ฉันอยากจ้างวงนี้มาเฟสติวัลฉัน อยากขายโชว์นี้ กับศิลปินบางคนที่เขาไม่อยากสปอยล์คนว่าฉันมีไฟแบบนี้ มีวิชวลแบบนั้น มันก็ดาบสองคม ถ้าดูมาแล้วบางทีก็เห็นหมดแล้วใน YouTube นี่หว่า แต่บางทีมันก็ทำให้เรารู้สึกอยากไปดูด้วย มันก็ขายของด้วยในเวลาเดียวกัน เราว่าอะไรมีเยอะไปมันก็ไม่ดี ต้องบาลานซ์ ๆ แต่ Boiler Room มันโตขึ้นแบบ สุดยอด มีทั่วโลกแล้ว ศิลปิน underground ได้เปิดตัว คนมารู้จักเขาผ่านช่องทางใหม่อันนี้ ซึ่งเราว่าก็โอเคนะ
แต่ก็ยังอยากให้คนมาที่งานมากกว่า
แป๋ง: แม้จะได้ดู YouTube ที่บ้านครบทุกวงแล้วแต่คนก็ยังไปนะ ยิ่งทำให้อยากไปด้วยซ้ำเราว่า บรรยากาศไม่เหมือนกัน อย่างตั้งแต่ Coachella มี live broadcasting เราว่าคนไปงานเขาเยอะขึ้นกว่าเดิมนะ กลายเป็นยิ่งใหญ่กว่าเดิม เหมือนได้ออกช่องสามแล้วทั้งเมืองก็รู้จัก (หัวเราะ)
HUH? จะเอาอย่างบ้างไหม
แป๋ง: มันก็ดูซับซ้อนเหมือนกันนะถ้าทำ live กับวงกับอะไรก็คงมีข้อจำกัดเยอะ คงแล้วแต่วง
โปรดิวเซอร์ที่ชวนมาเล่นทั้งที่ชื่อยังไม่ค่อยคุ้นในไทยทำไมถึงกล้าเอามา
แป๋ง: ตอนนี้ที่เลือกกันคือเดาไม่ออกนะ จริง ๆ ตอนทำ HYH? หลักก็พอเดาออกแหละ เราแบบ อะ โชว์นี้ได้เท่านี้ โชว์นี้อยากทำ แต่คงได้แค่นี้ ก็พยายามบาลานซ์ระหว่างอันที่คนน่าจะรู้จัก หรือว่าพอได้ยินบ้าง อะไรที่คุ้นหู หรือ experimental underground เราก็อยากให้มีตรงนั้นเพื่อให้ เหมือนเราก็อยากนำเสนออะไรที่มันใหม่ ๆ ไปด้วยกัน ก็ให้มันสลับ ๆ กัน คงเหมือน HYH? ที่รู้อยู่แล้วว่าใครน่าจะขายได้ แต่ HUH? นี่ยังไม่ชัด แต่ถ้ามองไปที่ market กว้าง ๆ ทั้งซีน ก็เห็นแหละว่ามีคนชอบ แต่จะให้คนพวกนั้นมาสนใจเรายังไง ก็เหมือนมีเราเพิ่มขึ้นมาอีกเจ้าที่จะทำอะไรแบบนี้ คิดว่าไม่อยากคาดหวังอะไรใหญ่มาก คงจัดเล็กที่สุดแล้วค่อย ๆ เพิ่มไปนั่นแหละ เหมือนตอนเริ่มทำ HYH?
อย่างวง Suuns ที่ชวนมาเล่น ทำไมไม่จับมาอยู่ HUH? เพราะก็ดูเข้ากับคอนเซปต์ของโปรเจกต์
แป๋ง: ก็ยังคิดเหมือนกันนะ แต่อันนั้นเขาก็มีกีตาร์ มีกลอง เราค่อนข้างอยากให้เคลียร์แหละ อันนี้จะมีความเป็น club music มีกลิ่นอายของเพลงเต้นรำอยู่ในนั้น แต่ก็อย่างที่บอกว่ามันก็จะมีบางคนที่ร้องเพลงหรือแบบพวกสมัยใหม่อย่างพวกค่าย 88 Rising เขาก็จะมีความไลฟ์นิดนึง มีทำบีตแล้วร้องด้วย หรือว่าค่าย Future Classic ศิลปินเขาค่อนข้างจะมีส่วนผสมของอิเล็กทรอนิกในปริมาณเกินครึ่ง อย่าง Suuns เราว่าก็มีความใกล้เคียง แต่มันยังมีความเป็น live band ที่ชัดเจนอยู่ มันไม่ใช่เพลงเต้นรำแต่เป็น experimental rock อันนี้อาจจะเป็น experimental house hiphop r&b ที่มีบีต เรียกอย่างนั้นละกัน
แล้วทำไมงานแรก Beat and Beyond by Asahi ต้องเป็น Coucou Chloe กับ Chad Valley
แป๋ง: Coucou Chloe เป็นโปรดิวเซอร์ดีเจมาจากลอนดอน เป็นคนฝรั่งเศส เขาก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ทำบีต ร้อง ทำ mv เอง ทำค่ายตัวเอง แล้วก็เล่นในคลับ เป็น dark beat underground มาก ๆ ก็ดูน่าสนุกดี
Chad Valley ก็จะ urban หน่อย มีการร้องแบบ r&b เป็นอิเล็กทรอนิกป๊อปสมัยนี้แหละ ก็น่าจะเข้าใจง่ายนะ อันนี้อาจจะ live มากขึ้น ไม่ได้เต้นรำซะทีเดียว คล้าย ๆ ตอน Panama ก็เดี๋ยวต้องมาลอง categorize แหละว่าวงทรงประมาณนี้จะโยนไปใน section ไหน คือ HYH? ก็คงเป็นแพลตฟอร์มหลักของทุกอย่างอยู่แล้ว แค่อันนี้จะ directional ขึ้นนิดนึง
เราเคยไปงานที่ De Commune งานนึงแล้วเจอเด็กที่คาแร็กเตอร์นี้เยอะนะ คนที่ชอบบีต ชอบ underground music แค่เราไม่รู้ว่าเขาไปอยู่ที่ไหน ไปเที่ยว experience เพลงที่ไหนวะ เพราะเขาก็อาจจะไม่ได้ดูวงแบบ HYH? คงไม่ไปดู Beach Fossils ไรเงี้ย คือ Beam ก็มีความทองหล่อ ความแพงนิดนึง มันไม่ได้ดู underground แต่เป็น urban ซึ่งเราก็อยากมีดีเจ urban house บ้าง แต่อย่างเวลาเราจะจัดอย่างงี้เราก็ไม่รู้จะไปจัดที่ไหนเหมือนกันเพราะมีไม่กี่ชอยส์ อย่าง De Commune เราก็เห็นว่าเขาทำอะไรแบบนี้อยู่เหมือนกัน ก็ว่าน่าจะเหมาะ เราว่า experimental club มันใหม่มากก็จริง แต่มันกำลังมา เราก็ค่อนข้างคาดหวังตรงนี้ เหมือนดูแล้วก็รู้สึกว่า เออ คนนี้แม่งแปลกดีว่ะ
แต่บางทีตอนดีเจเปิดเพลง ไม่มีใครอยู่ข้างในตั้งใจฟัง ไม่มีใครเต้น แต่ออกมานั่งคุยกับสูบบุหรี่กันข้างนอก กลัวงานเราจะเป็นแบบนั้นไหม
แป๋ง: ก็เกิดขึ้นได้แหละเนาะ เพราะไม่รู้ว่าคนซื้อบัตรเข้ามาเขาต้องการอะไร เขาอาจจะอยากดู sequence ที่เคลียร์ ถ้าไปคลับมันไม่มี sequence อะ มันเป็นเพลงต่อเพลง คนนี้ต่อคนนี้ มันคือคุณออกมา hang out จริง ๆ ไม่ได้แบบ โอเคสองทุ่ม ดีเจคนนี้เล่นจบเพลงนี้ มันไม่เหมือนดู live band ที่มันชัดมาก ตอนเราไป Beam เราก็เดินเข้าเดินออกอะ มันไม่ได้ต้อง pay attention ขนาดนั้นตลอดเวลา อันนี้ก็ยังนึกไม่ค่อยออก ก็คงต้องค่อย ๆ ฝึกกัน เราก็ฝึกทั้งตัวเองและคนดูว่าเขามาแล้วเขาต้องทำยังไง เขาจะสนุกกับมันได้ยังไง หรือบางทีมันเคลียร์ว่า ตรงนี้แดนซ์ฟลอร์ มายืนเฉย ๆ ไม่ได้ แบบ แต่กับบางที่มันไม่ใช่ที่ให้เต้นเขาก็คงเขินแหละ หรือต้องกินอะไรเข้าไปก่อน (หัวเราะ) (FJZ: เหล้าต้องไม่แพง) เออ ไม่งั้นคนก็จะเดินออกไปซื้อเซเว่น
การทำ HUH? ขึ้นมาคือตั้งใจทำให้กรุงเทพ ฯ มีซีน experimental electronic เพิ่มขึ้นหรือเปล่า
แป๋ง: อันดับแรกคือเรามีโอกาสที่จะเอาศิลปินแบบนี้เข้ามา แล้วเราก็ว่าน่าสนใจ แต่เห็นว่าทุกคนรอคอยสิ่งนี้หรือเปล่ามันก็ไม่ได้ชัดขนาดนั้น เหมือนเอามาแนะนำ มีพื้นที่ให้คนตรงนี้ จากสองหมื่นกว่าคนอาจจะมี 500-600 คนที่เปิดรับอะไรแบบนี้ ก็เลยต้องสร้างแพลตฟอร์มที่เคลียร์ว่ามันจะเป็นสิ่งที่เขาชอบหรือสนใจ ถ้ามันบิลด์ซีนให้โตขึ้น มีคนทำเพลงคนไทย ดีจงดีเจเดี๋ยวนี้ก็มีเพิ่มขึ้นมา แต่ไม่รู้ว่าเขามีพื้นที่ไหม กลายเป็นว่าทุกคนต้องไปอยู่ตามร้านอาหาร ตามบาร์ มันไม่ใช่คลับ สุดท้าย end up ตรงนั้น เราว่าทุกคนก็อยากไปเปิดเพลงในที่ที่คน enjoy ฉันจริง ๆ ไม่ใช่ฟังฉันผ่าน ๆ ก็พื้นที่นี้อาจจะเป็นพื้นที่ใหม่ ใครมีอะไรก็ส่งเข้ามาละกัน เราไม่ค่อยรู้จักว่าน้อง ๆ ใครทำอะไรกันบ้าง
ในไทยมีคนเอาโปรดิวเซอร์ดีเจอะไรแบบนี้มาเยอะไหม
แป๋ง: ก็เยอะ Kolour เขาก็เอามาเยอะ Beam เขาก็มีเยอะ ถ้าเราสังเกตมันก็เป็นงานฟรีเยอะเหมือนกันนะ ไม่ก็บัตร 200-300 แต่เราไม่ได้มีคลับของตัวเอง มีค่าโปรดักชัน ค่าสถานที่ ซึ่งเราคงทำราคานั้นไม่ได้ เพราะก็ไม่รู้ว่าคนจะจ่ายเพื่อมาดูหรือเปล่าเพราะมันไม่ใช่ full band, full production มันเป็นอีกแบบนึง
คาดหวังกับการซัพพอร์ตจากคลับไหม เช่นมีคนมาบุ๊คดีเจไป หรือชวนดีเจ โปรดิวเซอร์ไทยมาร่วมงานให้ซีนเข้มแข็งขึ้น
แป๋ง: เราก็คงเอาเขามาแจมได้นะ เพราะเราก็หาศิลปินเล่นเปิด เราก็นั่งนึกกันอยู่ เราว่าจริง ๆ มันก็มีอยู่แล้วล่ะ แค่กระจัดกระจาย บางคนก็อาจจะคิดว่า มันยังไม่ใช่ที่ที่ฉันอยากไป แต่ฉันสนใจ มันก็กลายเป็นซีนแบบฝรั่ง ๆ เป็นอีกฟีลนึง คนญี่ปุ่นจริง ๆ เขาก็ชอบเพลงอิเล็กทรอนิกนะ แต่เขาก็จะไปอยู่ในถิ่นเขา คือมันก็มีไม่กี่ที่น่ะแหละ เราว่าเราทำสิ่งที่เราเชื่อว่าใช่ด้วยแหละ ไม่งั้นคนอื่นก็คงไม่เชื่อ เราไม่ได้โปรตรงนี้ 100% แต่เราต้องเชื่อว่ามันน่าสนใจ มีอะไรพิเศษ ไม่ได้คิดแค่ว่าคนจะชอบ ต้องคิดว่ามันดีด้วย คนไหนเห็นว่าดีก็ตามมาละกัน ค่อย ๆ ตามมาช้า ๆ เดี๋ยวลองดูค่ะ เราเป็นพื้นที่ใหม่ แต่เราไม่มีคลับเป็นของตัวเองนะคะ หาที่ลงอยู่ (หัวเราะ) เราฟังอย่างนี้ก็แฮปปี้นะว่ามีคนที่พร้อมจะมาลุย มาซัพพอร์ตซีนกัน
กิ: อย่างที่ NOMA หรือ De Commune เขาก็ค่อนข้าง open ที่จะสนับสนุนอะไรแบบนี้ ก็ยังดีที่มี venue ที่เปิดกว้าง
แป๋ง: แต่บางทีเวนิวครึ่ง ๆ กลาง ๆ มันก็ทำให้คนไม่เต็มที่อย่างที่คุณว่าจริง ๆ คนก็อยากมานั่งกินเหล้า ดีเจก็ยืนกร่อย ๆ เป็นแบ็คกราวด์ไกล ๆ เราก็ต้องช่วยสื่อสารไปพร้อมกัน หน้าที่ของเราคือทำยังไงให้คนมี experience ที่ถูกต้องที่สุด เรื่องไฟ เรื่องเลย์เอาต์ วิชวลงาน ต้องหาอะไรมาช่วยบิลด์ความสนุกของทุกคน
ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งที่อิน คนไทยเองไม่ค่อยเสพ
กิ: เหมือนอย่างเราก็ไม่ได้ฟังเยอะนะ บางทีมันก็รู้สึกว่าเข้าถึงยาก หรือมันไม่ได้มีอีเวนต์ที่ให้เราได้ไปสัมผัสบ่อย ๆ เราเลยคิดว่าถ้ามาทำตรงนี้ก็อาจจะเป็นอะไรที่คุ้นหูคุ้นตาขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น
แป๋ง: ฝรั่งอาจจะเยอะกว่าจริง ๆ แหละ อาจจะต้องทลายน้ำแข็งนิดนึงเพราะบางทีคนไทยไม่ได้กล้าเต้น ก็ต้องปรับตัว ปัญหามันอยู่ที่คนไม่เต้นเนี่ยแหละ อาจจะสร้างโซนไว้ให้เต้นแล้วจะไม่มีใครมามองคุณแน่นอน (หัวเราะ) อย่าง Wonderfruit ตอนเราไปปีแรกก็ไม่ได้ enjoy มากนะ แต่พอไปปีหลัง ๆ แล้วมันก็เป็น vibes อะ ซึ่งอะไรพวกนี้สำคัญมาก คำว่า vibes มันอาจจะไม่ใช่แค่เพลงก็ได้ คนรอบ ๆ ตัวที่อยู่ตรงนั้นถ้ามันมีคนที่ confused เมื่อไหร่มันก็ไม่สนุก เราเพิ่งคุยกับรุ่นน้องไปว่า เออ ไอ้คลับเมืองนอกที่มันคัดคนเข้าเนี่ย กูเข้าใจละ เพราะมันขี้เกียจเอา bad vibes เข้าไปอยู่ในนั้น ใครดูเมา ๆ เรื้อน ๆ จะเข้ามาป่วนแน่ ๆ เขาก็จะไม่ให้เข้า เขาต้องการ create best vibes ให้ทุกคนแฮปปี้ ดูงี่เง่าอะนะ แต่มันก็สำคัญเหมือนกัน สำหรับเราก็แค่ให้มาลองก่อนละกัน ใครสู้ต่อก็มางานต่อไป ใครขี้เกียจแล้วก็บาย ไม่เป็นไร
อะไรทำให้ซีนอิเล็กทรอนิกในไทยไม่ค่อยคึกคัก หลายค่ายที่ทำอิเล็กทรอนิกจริงจังยังขึ้นมาเบียดกับ mainstream ไม่ได้
แป๋ง: มันก็อาจจะขาดพื้นที่จริง ๆ คือจะทำยังไงให้คนได้ขึ้นมาแสดง เพราะเพลงพวกนี้มันอาจจะอยู่แต่ใน records แล้วเราชอบ แต่เขาได้มาแสดงในพื้นที่ที่ถูกต้องจริง ๆ หรือเปล่า บางทีเขาได้ไปเล่นในงานที่คนไม่ได้สนใจ
กิ: พวกที่เขาไปเล่นงาน live band หมด บางทีคนที่ไปดูเขาก็เป็นคนที่ชอบ live band
แป๋ง: อาจจะรู้สึกขาด ๆ หาย ๆ ไม่มีกลอง เบสอะไรหายไปวะ แต่ถ้าทุกคนได้ออกมาเล่นเยอะ ๆ คงได้ทำการบ้านว่าจะทำยังไงถึงจะพัฒนา อย่างเราก็เคยมีโชว์อิเล็กทรอนิกเซ็ต มันยากเหมือนกันนะที่จะ hold ทุกอย่างไว้ได้ มันต้องการอุปกรณ์ ต้องการเทคนิกที่จะสร้างโชว์ ซึ่งพอเราไม่ได้เล่นบ่อยมันก็ไม่ได้ซ้อมกับคน มันก็ดูไม่ต่อเนื่องเนาะ แก๊ง Comet Records ก็ไม่ค่อยได้ไปเล่นที่ไหน ไม่งั้นก็ต้องจัดงานของตัวเองทั้งที่เขาสร้าง inspiration ให้ได้นะ แบบเฮ้ยมันมีคนทำเพลงอะไรแบบนี้ด้วยหรอ แล้วมันสามารถเป็นเพลงที่เผื่อแผ่ให้คนอื่นได้ อย่าง Yaeji หรือ Joji เพลงมันมีความ bedroom มาก แต่ก็มีความเต้นรำด้วย เพลงสองแนวมาเจอกันแล้วความ personal มันมีคน appreciate ในสิ่งที่เขาทำ แต่คาแร็กเตอร์เขาด้วยมันมีอะไรที่สวนทาง อย่าง club dj ต้องเซ็กซี่สิวะ แต่นี่ดูเป็น geek เลย มันก็ทำให้ดูมีทางเลือกอะไรใหม่ ๆ ของเพลงแนวนี้ มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นแพตเทิร์นแบบนั้นแล้ว
สรุปคือมันขาดพื้นที่ที่เขาได้แนะนำอะไรใหม่ ๆ ได้โชว์สิ่งที่เขามี ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราอยากแยก HUH? กับ HYH? ไม่อยาก confuse คน ไม่อยากหลอกให้คนคิดว่ามาดู live แล้วอ้าวจริง ๆ มันไม่ใช่นี่หว่า เป็นดีเจ คนที่กดไลก์หรือฟอลโลว HYH? ไม่จำเป็นต้องมาตามอันนี้ก็ได้ เราอาจจะได้คนใหม่ ๆ ที่ไม่ได้ฟอลโลว HYH? มาตามอันนี้แทน อยากให้ทิศทางมันเคลียร์สำหรับทุกคน มาแล้วจะได้ไม่ต้องตั้งคำถามว่า อ้าวไหนกีตาร์
ทำไมถึงทำ Fellow Yang (Yellow Fang electronic set)
แป๋ง: ก็ทำสนุก ๆ อยากทำอะไรที่ใหม่ ๆ แล้วทุกคนมีอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างวันนั้นเล่นกับ Maika Loubté ที่ Studio Lam แล้วที่มันแคบมาก ก็เลยคิดว่าเล่นอะไรกันดี ลองโยนไอเดียกันดู เลือกเพลงที่คิดว่าเราปรับได้ ซ้อมกันสามวัน เล่นออกมาเป็นอะไรไม่รู้ กลับไปนั่งฟังยังขำ แต่จริง ๆ แล้วก็ค้นพบว่าถ้าเล่นสด ส่วนใหญ่ทุกคนจะเปิดลูป ไม่ก็ sync เครื่องกันสุด ๆ แต่ของเราไม่ได้ทำแบบนั้น เล่นทุกอย่างกันสดมาก มันก็ทำให้ยากที่จะบิลด์อารมณ์คน คือเพลงเต้นรำมันต้องการไดนามิก แล้วเรายังหาตรงนั้นไม่ค่อยเจอ แต่ถ้ามีเครื่องมือมาซัพพอร์ตให้ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันได้ก็คิดว่าอาจจะดีขึ้นในอนาคต ไม่รู้เหมือนกัน
สิ่งที่ Have You Heard? กับโปรโมเตอร์หลาย ๆ เจ้าทำ ทำให้ศิลปินระดับโลกตกลงมาเล่นมากขึ้นได้หรือยัง
แป๋ง: ถ้าเป็น agent เดิม ๆ ทุกคนก็ค่อนข้างมั่นใจหมด ถ้ารายใหม่ ๆ ก็ยังมี question บ้าง
กิ: น้อยลงกว่าแต่ก่อน เหมือนเขาเริ่มชินที่จะเห็นกรุงเทพ ฯ เป็น hub ใหม่ ๆ แต่ venue ก็ยังเดิม ๆ มีเพิ่มมาหน่อยนึง
เคยอยากทำ venue ขึ้นมาเองไหม
แป๋ง: ก็เคยนะ คือมันเยอะมากอะสิ่งที่ต้องทำ หลาย ๆ คนที่เขาทำตอนนี้แล้วก็พยายามชวนเราไปจัดงานอยู่ เขาก็พยายามทำให้ space มัน flexible สำหรับงานหลายรูปแบบ เลยเหมือนเป็น De Commune ที่จะเป็นคลับ หรือจะเป็น live house หรืออันที่เราเพิ่งไปดูมา Glow Fish เขาก็ยังมีความเป็นห้องสัมมนา จัดงานอีเวนต์ได้ด้วยหรือเปล่า คือมันเป็น co-working space ทุกคนต้อง survive ใน business เพราะมันไม่มีใครมาซัพพอร์ต ค่าที่มันคงแพงมากตอนนี้ ใคร ๆ ก็ต้องหาทางเอาตัวรอด ซึ่งมันก็ทำให้ไม่ชัดเจนสักที
ประเทศไทยยังขาด creative space อยู่หรือเปล่า
แป๋ง: ใช่ มันขาดพื้นที่ใช้ประโยชน์สำหรับคนทุกคนจริง ๆ อย่างรัฐเขาก็มีพื้นที่นะ แต่จะมีกฎข้อที่ 1 ถึง 100 พอทำ ๆ ไปไอ้โน่นไม่ได้ ไอ้นี่ไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่สำหรับประชาชน มีข้อจำกัดสารพัด มันเหมือน ไม่รู้ว่าทำไว้เพื่อให้ราชการใช้อย่างเดียวหรือไง คนธรรมดาใช้ไม่ได้ กลายเป็นว่าสิ่งที่เขาสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้จริง ๆ อย่าง auditoriam ก็ไม่รู้สร้างมาเพื่อใคร เอกชนก็เห็นธุรกิจสำคัญกว่าอยู่แล้ว มันก็จะมีความครึ่ง ๆ กลาง ๆ คนที่มีเงินทุกคนเขาก็หาตังค์เป็นหลักก่อน ทำไงให้รอดก่อนแหละ ส่วนเรื่องจุดประสงค์ก็คงรองลงมา อย่าง Voice Space เขาก็อยากทำใหม่ให้มันชัดเจนสำหรับจัดคอนเสิร์ต เขามี vision ตรงนี้นะ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็เป็นเรื่องเงิน ต่อให้รวยล้นฟ้าขนาดไหนก็ไม่มีใครอยากขาดทุน แล้วมันไม่มีอะไรชัดเจนเลยว่าจะรอด ไหนเด็กพวกนี้อยู่ที่ไหน มีจริงหรือเปล่า คนที่จะมาดูมีกี่คน แล้วพอให้เขาทำจริง ๆ มันจะมีคอนเสิร์ตทุกวันหรือเปล่า มันก็ทำไม่ได้ อย่างมากก็เดือนละครั้งสองครั้งหรือเปล่า cycle มันยังไม่เคลียร์ ทุกคนไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นที่จะมาบริโภคอะไรแบบนี้ คนไม่ได้เห็นว่าเพลงมีประโยชน์กับชีวิตขนาดนั้น คุณค่ามันไม่ได้เป็นแบบเงินทองอะ โหดเหมือนกันนะค่าบัตรคอนเสิร์ตเมื่อเทียบกับรายได้โดยเฉลี่ยของทุกคน เราเลยต้องมีสปอนเซอร์เข้ามาช่วยเพื่อทำให้ค่าบัตรอยู่ในระดับนี้ได้ หรือการท่องเที่ยว ฯ เราก็เห็นเขาซัพพอร์ตหลายงานนะ แต่ไม่รู้จะเข้าถึงยังไง เห็นล่าสุดเขาซัพพอร์ต Kolour แต่เขาก็ได้ฝรั่งเยอะมั้ง เขาก็ชัดเจนว่าสามารถดึงคนจากยุโรปจากอะไรมาได้
การลองซาวด์เสียงคนดู ใช้ได้ผลขนาดไหน
แป๋ง: แล้วแต่ เพราะเรามีเพื่อนเป็นคลื่นใต้น้ำเยอะมากเลย เพื่อนเราไม่เคยกดไลค์เพจหรือลิงก์อะไรเลย วันก่อนอยู่ดี ๆ ก็มีพวกเพื่อนฝรั่งที่ไกลมาก ๆ ฝากเพื่อนอีกคนนึงมาถามเรา เราแบบ โห ไปถึงนั้นเลยหรอวะ
กิ: แต่ถ้าวงใหม่ ๆ วง YouTube Suggestion ก็จะเดาได้นิดนึง ชัดเจนจาก engagement ว่ามันเร็วแค่ไหนที่เด็กแชร์ หรือยอดไลก์ แต่ถ้าวงรุ่นเก่า ๆ หน่อยแฟนเพลงเขาก็ไม่ค่อย active อะไร ก็อาจจะวัดยากนิดนึง
การขอความช่วยเหลือจาก celebrity หรือ influencer ช่วยเหลือได้มากน้อยขนาดไหน
กิ: เราว่ามันช่วยได้ในระยะแรกนะ เพราะคนสมัยนี้ก็เชื่ออะไรยากขึ้นนะ ไม่ได้เหมือนแต่ก่อนที่เห็นดาราโพสต์อะไรก็ตาม ตอนนี้ทุกคนรู้ว่ามันคือ marketing
แป๋ง: ก็คงต้องเลือกคนที่เป็น opinion leader ได้จริง ๆ ทำยังไงให้คนเชื่อ ก็ต้องเป็นคนที่ตามเขาเชื่อเขาด้วย แต่ไม่ได้มีผลอะไรขนาดนั้นในตอนนี้ อาจจะไม่ใช่ปริมาณแล้ว อาจจะเป็น ใครที่ใช่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คือทำยังไงให้คนมา experience แล้วกัน บางทีมันก็ยังมีคนที่ฟังเพลงอยู่บ้านไม่ดูคอนเสิร์ตเยอะเหมือนกันนะ แบบ ฟังที่บ้านเอาก็ได้ เขายังไม่ value ตรงนี้ แต่บางคนที่ไม่ชอบมาดูจริง ๆ ก็มีนะ
เคยทำแบบสอบถาม มีคนบอกว่าเหตุผลที่ไม่ยอมมาคอนเสิร์ตเพราะรำคาญฮิปสเตอร์
แป๋ง: เขาอาจจะรู้สึกว่าไม่ belong ตรงนั้น ก็เป็นไปได้ ใครไปครั้งแรกก็คงรู้สึกแบบ… ทุกคนดูแต่งตัว มั่นใจมาจากไหน เห็นคนเต้นก็แบบ… ตายแล้วชั้นไม่กล้าเต้น ก็คงเป็นแบบนั้น ตอนเด็ก ๆ เราคงผ่านแบบนั้นมา มีแต่ผู้ใหญ่ พี่ ๆ ชั้นยังเด็ก เสียงดังจังเลย ต้องกินเหล้า ต้องทำยังไงนะ มันคือการเข้าสังคมอะ ครั้งแรกของทุกคนมันจะดูแปลกนิดนึง แต่ครั้งที่สองสามมันจะเริ่มหาเพื่อนได้แล้ว คือมันเป็นที่ที่ทำให้คนมารู้จักกันนะ เพราะเจอกันซ้ำ ๆ อย่างตอนไป Dudesweet ตอนเด็ก ๆ มันก็ทำให้เราเจอคนเหมือน ๆ กัน เราไปตั้งแต่อยู่ปี 2 ปี 3 โปสเตอร์ติดเต็มสยามเลย เพื่อนก็ดู ๆ แล้วแบบ นี่งานไรวะแก ก็ไม่กล้าไปเพราะยังเด็ก ไม่รู้จักใครเลยนึกออกปะ แล้วจัดข้าวสารเงี้ย เขาก็เขียนว่าจะเปิดเพลงอะไรบ้าง ก็มีความอยากไปแต่ไม่ได้ไป มันก็มีคนแบบนั้นอะ ขี้เกียจออกจากบ้าน กลับบ้านดึกลำบาก เพื่อนก็ต้องนัด ต้องรวมตัวแห่กันไป วุ่นวาย มีคนขับรถหนึ่งคนไล่ส่งเพื่อน ตอนเด็ก ๆ มันก็งี่เง่าแบบนี้ แต่พอวันนึงไปอีกแล้วจะรู้สึกว่า comfortable เจอเพื่อนที่งานก็อยู่ได้แล้ว จนวันนึงเขาก็ไม่ไปแล้ว เราก็ยังอยู่ได้ ฟังดูแก่จัง (หัวเราะ)
YouTube ค่อนข้างมีผลกับคนฟังเพลงยุคใหม่ หรือแม้แต่แนวเพลงที่ศิลปินทำออกมาก็ตาม
กิ: เหมือนมีฝรั่งพูดเหมือนกันว่า YouTube มีอัลกอริธึมเหมือนกัน อย่างพวกเราเห็น Her’s หรือ Peach Pit ขึ้นบ่อยมากใน YouTube อย่างเมื่อก่อนก็มี Cigarette After Sex เงี้ย ฝรั่งก็ตั้งข้อสังเกตว่าต้องทำยังไงให้เพลงของวงเขาเข้าไปอยู่ในอัลกอริธึม YouTube ได้ขึ้นบ่อย ๆ วง Her’s เนี่ยยังแปลกใจนะว่าทำไมคนรู้จักเขาในแถบเรา ทั้ง ๆ ที่เขาก็ยังเป็นวงที่ใหม่มากในบ้านเขา ยอดไลก์ที่เป็นล้านของเขาก็น่าจะมาจากฝั่งบ้านเรา
แป๋ง: บ้านเราใช้ YouTube เยอะด้วยแหละ ดูละคร ดูข่าว เพราะเราไม่ค่อยมีเวลานั่งดูทีวีแบบแต่ก่อนด้วยมั้ง ใช้ผ่านโทรศัพท์เยอะ ถ้าเราเปิด YouTube ไปเรื่อย ๆ แบบไม่หยุดมัน เพลงจะวน ๆ อยู่แค่ 20 เพลง แต่ถ้าทุกคนใช้ streaming ก็จะเลิกใช้ YouTube นะ อันที่จริงพวก streaming ในไทยยังไม่ลุยตลาดมากปะ มี Joox เจ้าเดียวที่ลุยหนัก ๆ ของ Spotify เหมือนตื่นเต้นกันแปปนึงแล้วก็เงียบไป ไม่รู้ว่าเขาขยาย user ได้จริงหรือเปล่า อาจจะได้บ้าง แต่ไม่เยอะ ดีไม่ดีคือคนที่ใช้มาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ของ Spotify คือดีมากเลยนะ อัลกอริธึมของมันพยายาม define สิ่งที่เราเคยฟัง ซึ่งมันเป็นข้อดีทำให้เราได้ explore บางเพลงของศิลปินที่มีคนกดฟังแค่สามพันคน แต่คุณก็มาเจอเขาได้ ถ้าลองคลิก ๆ ไปไม่มีทางเจอ แต่เขามีให้ Discover หรือพวก Radio ซึ่งเราเป็นคนใช้ Discover ของ Spotify โหมดนี้มันเวิร์กมากถ้าคุณต้องการใช้มันเพื่อหาอะไรใหม่ ๆ ซึ่ง YouTube มันไม่ค่อยมี เลยกลายเป็นวนฟังอะไรซ้ำ ๆ เราเลยคิดว่ามันทำอัลกอริธึมเป็นพื้นที่รึเปล่า แบบคนอยู่ในกรุงเทพ ฯ ทุกคนจะได้ฟังแบบนี้
HUH? จะได้ใช้ช่องทางนี้ไว้ดันศิลปินที่ตัวเองจะเอามาบ้างหรือเปล่า
แป๋ง: แน่นอน ที่สร้างมาเพราะอยากให้ attention เพลงซีนนี้แยกออกมา ใครชอบแนวนี้ก็ติดตามค่ะ เราก็ offer สิ่งที่ถึงใหม่ เป็นอะไรที่เขาไม่เคยฟัง แต่ก็เป็นสิ่งที่เขาชอบ เราอยากสร้าง vibes ให้กลุ่มคนที่ชอบอะไรแบบนี้ชัด ๆ มาลอง ถ้าลองอะไรที่ยากครั้งนึง มันจะมีครั้งที่สองนะ เหมือนกินเผ็ดอะ เมื่อก่อนเด็ก ๆ ใครจะกินน้ำปลาพริกเป็นวะ แต่ถ้าอันนี้ได้ลองก็แทบจะเพิ่มปริมาณ แล้วจะกินตลอดไป ต้อง encourage ให้คนรู้สึกว่าการออกมาข้างนอกในที่แบบนี้เป็นเรื่องปกติ แต่เด็กสมัยนี้ก็มีนะที่ฟังเพลงยาก ๆ ไปไกลเหมือนกัน แบบมันมีอะไรแบบนี้ด้วยหรอวะ แค่บางทีอัลกอริธึมทำให้คุณแยกโลกกัน ก็ฟังวนอยู่ในโลกของตัวเองไปเลย แต่ถ้าลองย้ายหรือเพิ่มอะไรมานิดนึง มันมี connection จากตรงนี้มาสู่อีกอันได้แน่ ๆ แต่แค่คุณไม่ก้าวมาหรือกล้าทลายกำแพงนั้นมาเฉย ๆ
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเริ่มมีความอยากลองอะไรใหม่ ๆ ดูหรือยัง HUH? กำลังจะมีสองอีเวนต์ที่อยากเชียร์ให้ไปดูมาก ทั้ง Coucou Chloe และ Chad Valley ส่วนฝั่ง Have You Heard? ก็กำลังจะมี Rhye และ Suuns มาให้ดูกัน ใครชอบแนวไหนสไตล์ไหนและสนใจ ติดตามรายละเอียดได้โดยกดที่ชื่อของศิลปินที่ทำตัวเอียงไว้เลย
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของ Have You Heard? ได้ ที่นี่
สำหรับ HUH? ตามได้ ที่นี่