Ginn Sentaro อยากเชื่อมโลกของวงการดนตรี ไทย และ ญี่ปุ่น ให้ใกล้กันมากขึ้น
- Photographer: Chavit Mayot
- Writer: Montipa Virojpan
Ginn Sentaro หรือที่คนในวงการดนตรีเรียกเขาติดปากว่า ‘จินซัง’ คือศิลปินชาวญี่ปุ่นที่คลุกคลีในซีน underground และอินดี้ไทยมาเป็นระยะเวลากว่าสิบปี ไม่เพียงแต่มีวงดนตรีของตัวเอง (COSMOZ, aire, Faustus) เขายังได้รับความไว้วางใจให้ร่วมเล่นในวงดนตรีอื่น ๆ (Inspirative, Wednesday) และเป็นกำลังสำคัญที่ส่งเสริมให้ศิลปินไทยได้เป็นที่รู้จัก ได้วางจำหน่ายผลงานเพลง และไปแสดงสดที่ญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็แนะนำวงญี่ปุ่นให้คนไทยรู้จัก รวมไปถึงการเชื่อมวงดนตรีเอเชียนให้ได้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นผ่านโปรเจกต์ dessin the world แต่อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากทำทั้งหมดนี้ขึ้นมาจากตัวเขาเองคนเดียว
เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วเราเพิ่งจบปริญญา ก็อยากไปต่างประเทศก่อนจะเข้าบริษัท ตอนนั้นไม่ค่อยสนใจอเมริกา ยุโรป หรือจีน อยากไป South East Asia ตอนนั้นเวียดนาม กัมพูชา ก็ต้องมีวีซ่าหมด มีเมืองไทยที่เดียวที่ไม่ต้องมีวีซ่าสำหรับคนญี่ปุ่น ล้วตอนนั้นเราก็ทำวงฮาร์ดคอร์ มือเบสเขามีหนังสือแนะนำท่องเที่ยวไทยแล้วให้ยืมมา ก็เลยตัดสินใจมาเมืองไทยครั้งแรกในฐานะนักท่องเที่ยว แล้วเราก็สนุกมาก ขนาดยังมีตังไม่เยอะยังสนุก ถ้ามีตังพอสมควรมันก็สนุกเหมือนกัน พอหลังจากเข้าบริษัท ทุกปีผมจะมาเที่ยวเมืองไทย เหมือนมีเมืองไทยอยู่ในหัวเราตลอด
ผมทำงานเป็นวิศวกรไอทีที่บริษัทเดียวเป็นเวลา 6 ปี จริง ๆ ทำงานที่นั่นก็สนุก เพื่อนร่วมงานก็นิสัยดี แต่ว่าวันนึงเรามาคิดว่าถ้าเราใช้ชีวิตแบบนั้นไปเรื่อย ๆ จนตัวเองอายุ 40-50 ถ้าลองมองย้อนกลับไปหาตัวเองในอดีต เราจะรู้สึกภูมิใจที่ตัวเองเป็นแบบนั้นไหม มันได้ท้าทายอะไรบ้างหรือเปล่า ก็รู้สึกว่าไม่อะ อยากลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ
พอตัดสินใจแล้วเราก็ลาออก เลิกทุกอย่างที่ทำตอนอยู่ที่นู่น วงดนตรีที่มีอยู่ก็เลิกทำ ผมเล่นดนตรีมา 20 ปีแล้ว มีวงหลักวงนึง แล้วก็มีสองวงที่เป็นซัพพอร์ต วงที่เราตีกลองซัพพอร์ตก็แค่หาคนมาแทน ส่วนวงหลักมีคนออกไปก่อนแล้ว ต่างคนต่างแยกย้าย เราก็เลยตัดสินใจง่าย แล้วย้ายมาเมืองไทยเลย
เราก็จำไม่ได้ว่ามาอยู่เมืองไทยกี่ปีแล้ว ตอนนั้นผมไม่มีเพื่อน พูดภาษาไทยก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่เก่ง ไม่มีที่อยู่ ช่วงสัปดาห์แรกเราพักที่โรงแรม แล้วก็เริ่มหาที่พัก เราแค่รู้ว่าที่ซอยรางน้ำเขามีห้องพักถูก ๆ ก็ไปเดินดู ถ้าเห็นว่ามีบ้านมากกว่าสองชั้น เราก็เข้าไปถามว่ามีห้องว่างไหม สุดท้ายก็ได้ที่อยู่ แล้วเราค่อยหาโรงเรียนสอนภาษาไทย แล้วก็ลองไปเป็นอาสาสมัครสอนภาษาญี่ปุ่น สอน Excel ให้คนญี่ปุ่นในไทย
ผมไม่เคยตัดสินใจว่าจะอยู่กี่ปี หรือย้ายมาถาวร ตอนผมไปเรียนภาษาไทยก็เจอนักเรียนญี่ปุ่น เขาบอกตั้งใจมาอยู่ถาวร แต่สุดท้าย 2-3 เดือนผ่านไปเขาก็กลับไปญี่ปุ่น ผมเรียนถึง 6 เดือนก็พอพูดภาษาไทยได้แล้ว อยากอยู่ต่อ ก็เริ่มหางานทำที่ไทย จนได้งานประจำแล้วอยู่มาจนสิบกว่าปีเนี่ย ผมรู้สึกว่าคนที่ตัดสินใจอะไรหนักแน่น แล้วเขาเห็นความคาดหวังกับความจริงไม่ตรงกัน จะเป็นคนที่ยอมแพ้ง่าย เราไม่ได้คิดอะไรกลับยังอยู่ที่นี่ จนถึงตอนนี้ก็ไม่ได้คิดว่าจะอยู่ต่ออีกกี่ปี ปล่อยไปเรื่อย ๆ
หาเพื่อนเล่นดนตรีด้วยยากไหม
ยากมาก ประมาณเดือนที่ 2-3 มั้ง ช่วงที่เรียนภาษาไทยแล้วก็สอนภาษาญี่ปุ่นให้คนไทย เราก็ทำหลายอย่างพร้อมกัน มันก็ทำให้เราได้เจอคนไทยกับคนญี่ปุ่นเยอะพอสมควร เราเลยชวนคนที่รู้จักกันไปกินเลี้ยงที่ร้านอาหารอินเดีย แล้วมีคนนึงเป็นคนญี่ปุ่น เราก็คุยกับเขาว่าเราก็เคยทำวงที่ญี่ปุ่นนะ เขาก็เหมือนกัน แล้วตอนนี้เราก็อยากเล่นดนตรีในไทยด้วย เลยชวนมาลองแจมกันที่ห้องซ้อม นี่ก็เป็นจุดเริ่มของการเล่นดนตรีในไทย เขาคือมือกีตาร์ชื่อ Tsuru วง Phy เราเจอกันครั้งแรกตั้งแต่ตอนนั้นแหละ
เราไปห้องซ้อม Music Society ใน CoCo Walk ราชเทวี เราก็แจมกัน ตอนนั้นมีแค่มือกีตาร์คือสึรุ กับมือกลองคือเรา แค่สองคน แล้วตอนนั้นก็ไม่ได้มีเฟซบุ๊ก ยังไม่มี myspace แต่มี mixi เป็นโซเชียลของญี่ปุ่น เขาก็มีสังคมของคนที่ทำวงในไทย ในนั้นก็มีคนญี่ปุ่นมาสมัครวงเรา ชื่อ Yusuke ตอนนี้เป็นมือกีตาร์ LowFat แล้วหามือเบสมาอีกคนชื่อ Daisuke เขาก็มาเล่นขำ ๆ เราก็ทำวงกัน ตั้งชื่อว่า COSMOZ
เรากังวลตัวเองมากว่าจะใช้ชีวิตในสังคมไทยข้างนอกยังไง พอเราอยู่ไทยได้ 1-2 ปี ภาษาก็พูดไม่ค่อยได้ แล้วก็ไม่ค่อยรู้จักคน เลยไม่รู้จะทำตัวยังไงดีให้สังคมไทยยอมรับเรามากขึ้น แต่ตอนทำวงเราไม่เครียดเลยนะว่าจะเข้ากับซีนไทยได้ไหม เพราะรู้สึกว่าซีนนี้เขาเปิดรับอยู่แล้ว ไม่กังวลว่าเขาจะไม่ให้การต้อนรับเรา
อย่าง COSMOZ ก็ไม่ได้เล่นกับสังคมญี่ปุ่นนะ เรามาเล่นกับวงอินดี้ไทย ตอนนั้นเป็นยุค Mind the Gap, Panda Records, SO::ON เราได้เล่นกับ Bear Garden, Tabasco, Abuse the Youth, Revenge of the Cyberman ที่ตอนนี้เขา (ชาลี) มาทำ DCNXTR แล้ว ตอนนั้นมี Class A Cigarette ของบูม มือกลอง The Yers แล้วก็วงที่วิน The Ginkz กับ บูม The Yers เคยเล่นด้วยกันในชื่อ Naked ตอนนั้นมี Ghost Story ที่มี ฟิล กับ แวน aire แล้วก็ ไบรท์ Henri Dunant เป็นมือคีย์บอร์ด ทั้งที่จริง ๆ แล้วไบรท์ตีกลองเก่งมาก (หัวเราะ) ตอนนั้นเราจะไปเล่นกันที่ร้านนึงใน CoCo Walk คล้าย ๆ Fatty’s แล้วก็สุดซอยสีลมซอย 4 กับ Happy Buddha ที่วิน The Ginkz เป็นนักร้อง เรโอ aire ก็เล่นกีตาร์ที่นั่น
เวลาผ่านไป COSMOZ มีโชว์เดือนละครั้งสองครั้ง แต่ผมก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรใหม่ที่เป็นเสียงบรรเลง การที่เราได้เล่นด้วยกันกับวงกลุ่มนั้นทำให้ได้เจอ แวน ฟิล เรโอ เลยชวนมาเล่นด้วยกัน แล้วได้ Tatsuo มาอีกคน กลายเป็น aire เป็นวงที่สองในเมืองไทยของเรา
ความสำเร็จของ aire
เราว่าโชคดี และจังหวะดี เพราะเราไม่ได้คาดหวังอะไรขนาดนั้น เราไม่ได้คิดว่าอยากเล่นงานใหญ่ หรือว่าอยากขายอัลบั้มให้ได้เยอะ ๆ เราแค่อยากเล่นดนตรีกับสมาชิกที่มีความสามารถ ในใจเรามีภาษาญี่ปุ่นว่า 勝って驕らず、負けて腐らず (かっておごらず、まけてくさらず Katte ogorazu, makete kusarazu) ถ้าเราชนะ ก็ต้องจำวันที่ทำเรื่องน่าอับอายให้ได้ ถ้าแพ้ เราก็ต้องจำความรู้สึกที่เราพยายามต่อสู้ให้ได้เหมือนกัน ถ้าเราดังขึ้นมา หรือมีกระแสตอบรับดี อาจจะเป็นบางส่วนที่เกิดจากเรา แต่ส่วนใหญ่คือมีคนช่วย มีคนฟังเราก็เลยอยู่ตรงนั้นได้ เราคิดแบบนี้มาตลอด
ยุคนั้นกระแสโพสต์ร็อกเข้ามา มี Withyouathome วงรุ่นพี่เราพวก Try My Shoes แล้วก็มี Two Million Thanks, Summer Dress อีก เป็นวงเน้นบรรเลงหมดเลย แต่ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกนะว่ามันเรียกว่าโพสต์ร็อก หรือแมธร็อก แต่คนอื่น ๆ เรียกเราแบบนั้น เราเลยไปหาว่าแมธร็อกคืออะไร (หัวเราะ) เพราะเราไม่ได้ตั้งใจว่ามันต้องเป็นแนวนั้น แค่อยากทำแบบนั้นเลยออกมาอย่างนั้น
ตอนนั้นเป็นช่วง ฟังใจ กับ Cat Radio ก็กำลังหาอะไรใหม่ ๆ ไปนำเสนอ แต่ถ้าจัดงานที่มีวงใหม่กลุ่มเดียว ก็คงขายบัตรยาก เขาเลยเอาวงส่วนใหญ่เป็นวงดัง ๆ ที่ขายบัตรได้ แล้วเอาสักวงสองวงที่ต้องมีคุณภาพด้วย แนวใหม่ด้วย เล่นดีด้วย ไปเพิ่มในไลน์อัพ เราก็น่าจะจังหวะดีที่เข้ามาอยู่ในช่วงนั้น โชว์เราน่าจะไม่เหมือนกับโพสต์ร็อก อย่างผม แวน ฟิล เรามาจากฮาร์ดคอร์กันหมด เวลาเล่นสดก็มีใจแบบฮาร์ดคอร์ ก็ใส่กันแบบไม่ใช่โพสต์ร็อกอะ (หัวเราะ) คนมาดูก็เลยรู้สึกสนุก ทำกันมา 4-5 ปี นับตั้งแต่งานแรก มีคนเข้ามาดูแค่ 3-4 คน (หัวเราะ) แล้วเราก็อยากเดินหน้าไปเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายในวงเราความคิดก็คนละทาง ก็ต้องยุบวง
เราใช้เวลาของชีวิตเราทั้งหมดให้ aire วงเราไม่ได้สังกัดค่ายที่ไหนเลย เราหางาน หาเทศกาล เรื่องบัญชี ขายของ ทั้งหมดอยู่ที่เรา แล้วเราเป็นหัวหน้าวงก็ต้องรับผิดชอบทุกส่วน เป็นทั้งผู้จัดการ ทั้งมือกลอง (หัวเราะ) แล้วตอนนั้นเราทำงานบริษัทด้วย ตอนไปทำงานก็ทำ artwork ของวงไปด้วย ซึ่งตอนนี้มันไม่มีแล้ว เราก็ท้อใจมาก ๆ ในเวลานั้นเราไม่อยากฟัง aire ไม่ดูวิดิโอ aire ไม่อยากทำอะไรเลย
Faustus
ตอนหลังก็มีเพื่อน ๆ หรือหลาย ๆ คนมากบอกว่า มีคนถามกันมาว่าเราไม่ได้ทำวงใหม่หรอ ก็รู้สึกว่ามีคนรอสนับสนุนเรา เราก็ค่อย ๆ กลับมาเพราะอยากเล่นดนตรีอยู่แล้วแหละ เราใช้เวลา 3 ปีถึงจะทำวงใหม่ แล้วเราคิดว่า ในวงต้องมีแวน เพราะว่าทำอะไรได้หลายอย่าง และเป็นคนที่ไว้ใจได้ พอได้แวนแล้วก็ขาดมือกีตาร์ คราวที่แล้วมีสมาชิก 5 คน เวลาจะตัดสินใจอะไรต้องถาม 5 คน เลยยากหน่อย เราก็อยากทำวงคนน้อย ๆ แค่ 3 คน (หัวเราะ) อยากทำวงกับคนที่มีความคิดใหม่ ฟังแนวที่เราไม่เคยฟัง แล้วเข้าใจว่าเราคิดอะไร เราอยากทำอะไร ที่สำคัญคือแวนเป็นคนพลังเยอะ ฉลาด ถ้าแวนไม่ชอบ เราก็ไปด้วยกันไม่ได้
แต่เราจำได้ว่าในงานสุดท้ายของ aire ที่ขอนแก่น Jelly Rocket ก็ไปเล่นด้วย แวนกับโมได้คุยกันในห้องพักศิลปิน แล้วแวนบอกผมว่า ‘โมเขายังวัยรุ่น แต่เขาเข้าใจอุปกรณ์ ความคิดดี’ แวนเป็นคนที่ไม่ค่อยชมคนอื่น เราเลยจำชัดเลย ถ้าชมโมเนี่ยไม่ธรรมดา (หัวเราะ) ในใจผมก็ไม่คิดว่าเขาจะชอบฮาร์ดคอร์หรือเสียงแตก ๆ หรือเปล่า แต่พอเจอก็คิดว่าโมมีความคิดใหม่ ฟังอะไรแบบที่เราไม่เคยฟัง แต่มีความร็อก เพราะเราเห็นเขาใส่เสื้อยืดวงพวก Nirvana ก็ลองไปถามโมดู
เราก็นัดกัน ให้โมเตรียมตัวมาก่อน พอแจมกันครั้งแรกเขาเล่นเสียงเบามาก ไม่ได้ยินเลย โมน่าจะเกรงใจเพราะผมกับแวนอายุมากกว่าเขา แต่พอแจมจบ คนที่ทักว่าจะซ้อมครั้งที่สองเมื่อไหร่ดีคือโม เรารู้สึกว่าเขาตั้งใจเล่นนะ เลยไปต่อจนถึงวันนี้
เราอยากกลับไปเล่นฮาร์ดคอร์ แต่ถ้าฮาร์ดคอร์ธรรมดา ๆ ในทั่วโลกมีวงแบบนี้เยอะแล้ว เราก็อยากทำอะไรใหม่ที่ผสมกลิ่นแจ๊ส หรือคลาสสิกในโพสต์ฮาร์ดคอร์ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นวงบรรเลง แต่ดันไม่มีใครร้อง มันเลยกลายเป็นทำเพลงบรรเลงอีกรอบ (หัวเราะ)
มือกลองซามูไร
ดีใจที่มีคนมาชวนเราไปตีกลอง รู้สึกว่าตัวเองยังมีค่า (หัวเราะ) แต่เอาจริงเรื่องทักษะเราไม่เก่ง ถ้าให้ตีโซโล่ เราทำไม่ได้เลย แต่ผมคิดตลอดว่าถ้าเข้าไปอยู่วงไหนเราต้องปรับตัวให้อยู่กับเขาได้ด้วย แล้วใส่ความเป็นตัวเองในวงเขาด้วยแต่ไม่เยอะเกินไป คือถ้าเราตามเขาอย่างเดียวการที่เราเข้าไปในวงเขามันก็ไม่มีความหมาย เราอยากให้ผลงานเขาออกมาดี และฝีมือเราดีขึ้นด้วย เช่น Inspirative ไลน์กลองเขาไม่ได้มีอะไรเยอะมาก แต่เขาเน้นเรื่องน้ำหนัก รายละเอียดความดังมันสำคัญ เราก็ได้เรียนรู้จากเขา หรืออย่าง Wednesday เราได้คิดไลน์กลองเอง ทำอะไรก็ได้ ตอนนี้เราลองหลายอย่าง เล่นมา 2-3 ปีก็ยังเปลี่ยนลูกส่ง เปลี่ยนไลน์กลองไปเรื่อย ๆ ก็พยายามหาอะไรที่เหมาะที่สุดให้เจอ
วงอินดี้ (?)
ในอินดี้ก็มีหลายประเภท พวกที่เฉพาะทางสุด ๆ จะเรียกว่า DIY หรือถ้าเกิดว่าวงที่ทำเพลงออกมาเป็นแนวเพลงที่กำลังเป็นที่นิยม แต่กระบวนการทุกอย่างทำเองหมดเลย เป็นอินดี้หรือเปล่า แล้วก็ตอนนี้มันมีค่ายเพลงเล็ก ๆ ที่แยกตัวเองออกมาจากค่ายใหญ่ แต่เรียกตัวเองว่าค่ายเพลงอินดี้ เป็นอินดี้ได้จริงหรือเปล่านะ?
เราไม่ได้ว่าวงอินดี้ที่อยากดัง คือเขาก็อยากมีเงินกินข้าวด้วยเพลงของเขา มันก็เป็นทางของเขา ถ้าวันนึงอยากเอาดนตรีเป็นอาชีพ ต้องยอมรับบางส่วนว่า เขาต้องปรับตัวให้ผู้ฟังทั่วโลกเข้าถึงเขาได้ จะเล่นกีตาร์เสียงดัง ๆ มากก็ไม่ได้ ต้องให้คนฟังรู้สึกสบาย ทำนองก็ต้องเข้าถึงง่าย
วงที่ทำป๊อป อันนี้เหมือนเขาโชคดีว่าสิ่งที่เขาชอบตอนนี้คือป๊อป แล้วยุคนี้มันก็มีพื้นที่ให้ป๊อปเยอะมาก มันเป็นจังหวะของเขา ถ้าเป็นยุคโพสต์ร็อก แต่วงป๊อปเข้ามาก็อาจจะไม่ได้ดังขนาดนี้ก็ได้ เหมือน aire เราโชคดีที่เข้าตรงยุค เราเลยได้ขึ้นเวทีใหญ่ แต่ถ้า aire เข้ามาตอนนี้ จะไปถึงขนาดนั้นได้ไหม ก็อาจจะไม่ได้
สมัยก่อนวงยังไม่เยอะขนาดนี้ เราต้องเล่นด้วยกันกับวงที่แนวไม่เหมือนกัน มีฮาร์ดคอร์ เร็กเก้ ป๊อป อยู่ในงานเดียวกันเลย แต่ละวงก็เป็นวงที่เก่ง แล้วการได้ฟังหลายแนวมันก็ทำให้เราเปิดใจได้ง่าย และบางทีมันก็มีอิทธิพลกับงานของเรา แต่อย่างนึงที่สำคัญที่สุดของวงอินดี้ควรมีลายเซ็นของตัวเอง แรก ๆ เขาอาจจะไม่มีเอกลักษณ์ แต่หลัง ๆ เขาก็จะหาทางให้มีเอกลักษณ์ได้เอง และวงอินดี้ไม่จำเป็นต้องเก่งทักษะ สำหรับผม วงอินดี้คือเด็กอยากเล่นดนตรี เขาเลยเล่นดนตรี ไม่ได้เก่งทักษะ คือถ้าเราเล่นไม่เก่ง ก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้เอาเป็นอาชีพ แต่จะเล่นดนตรีให้เหมือนคนอื่นทำไม ตัวเองต้องมั่นใจว่าได้ทำอะไรที่มีเอกลักษณ์มาก ๆ ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ขายได้ก็โชคดี
เดี๋ยวนี้ ดรีมป๊อป ซินธ์ป๊อป เขาจะเล่นด้วยกันกับกลุ่มของเขา ฮาร์ดคอร์ก็มีกลุ่มของเขา เหมือนมีกำแพงที่มองไม่เห็น มันก็มีข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเราเรียกเป็นซีน เป็นวงการ ถ้ามีวงอยู่ในซีนดนตรีนึง อย่าง city pop แล้ววันนึงแนวเพลงนั้นมันดังขึ้นมา คนก็ยิ่งเข้ามาทำ และได้แลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนทักษะกัน มันก็เป็นวิธีนึงที่ทำให้วงการโตเร็วขึ้น แต่ข้อเสียคือวงไหน ๆ มันก็เหมือน ๆ กันเพราะใช้อุปกรณ์เหมือนกัน กีตาร์เสียงคล้ายกัน เล่นโน้ตก็คล้ายกัน เริ่มไม่มีเอกลักษณ์ของตัวเขาเอง
Dessin the World
‘Dessin’ เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึงการวาดรูปด้วยดินสอ ออกมาเป็นสีขาวดำ เราอยากทำโลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครเคยสร้าง อยากเป็นคนที่นำเสนออะไรใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยเจอ แต่ตอนนี้มันยังเป็นขาวดำอยู่ เพราะคนที่ทาสีจะต้องเป็นคนฟัง นักดนตรี หรือผู้เกี่ยวข้องในวงการดนตรี ช่วยกันแต่งแต้มสีไปเรื่อย ๆ คนพวกนี้คือคนที่ทำให้โลกสมบูรณ์
เราบริหารมามากกว่า 10 ปีแล้ว ตอนเราเล่น COSMOZ เราก็ได้คุยกับคนไทย แล้วก็ตกใจว่าเขารู้จักวงญี่ปุ่นพอสมควร พวก Hi-Standard ยุคนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่ขนาดนี้เลยนะ ผมก็เลยอยากแนะนำวงญี่ปุ่นวงอื่น ๆ ที่เขาน่าจะชอบ แล้วผมก็อยากรู้จักวงไทยมากกว่านี้
ในฐานะคนญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย และอยู่ในวงการดนตรีไทย เราก็อยากตอบแทนบ้าง อยากให้คนไทยที่ชอบดนตรีได้ฟังอะไรใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยฟัง ตรงข้ามกันคนญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยมีใครได้ฟังเพลงไทย เราก็อยากให้คนญี่ปุ่นได้มีโอกาสมาฟังเพลงไทยด้วย จุดเริ่มต้นคืออันนั้นแหละ
เราก็เริ่มคิดต่อว่าจะทำให้คอนเซ็ปต์นั้นสำเร็จยังไงดี เราก็คิดโปรเจกต์ขึ้นมาชื่อ ‘A Plan Named Overlap’ รวมวงไทยกับวงญี่ปุ่นมาอยู่ที่เดียวกัน แนวก็ค่อนข้างหลากหลาย ทั้ง อัลเทอร์เนทิฟร็อก ฮาร์ดคอร์ ป๊อป อิเล็กทรอนิก ข้ามประเทศ ข้ามภาษา ข้ามค่าย ให้มาอยู่ใน compilation ชุดแรกทำเป็นซีดี เพราะเราอยากทำ physical เอาขายที่ไทยก็พวกร้านน้องท่าพระจันทร์ ดีเจสยาม ที่ญี่ปุ่นมี Tower Records HMV แล้วมันก็ขาดทุนมาก ๆ (หัวเราะ) แต่เราก็รู้อยู่แล้วแหละ เพราะมันคงไม่ค่อยมีคนที่ชอบฮาร์ดคอร์ ป๊อป ไทย ญี่ปุ่น เป็นวงที่ใครก็ไม่รู้จักอยู่รวม ๆ กัน แต่ 5 ชุดหลังเราก็ออกเป็น digital download ผ่าน bandcamp
ช่วงหลังเราเริ่มทำเป็น playlist ใน Spotify ชื่อ ‘Scenario Asia’ คราวนี้ไม่ใช่แค่กับไทย ญี่ปุ่น แต่มีวงเอเชียนอื่น ๆ ด้วย ไต้หวัน อินโดนีเซีย อะไรแบบนี้
การส่งเพลงไปขายใน HMV หรือ Tower Records จริง ๆ กลไกมันก็ค่อนข้างยาก ในญี่ปุ่นมันจะมีเป็น วง ค่าย บริษัทจัดจำหน่าย แล้วก็ร้านต่าง ๆ คือวงกับค่ายอยู่ที่เดียวกันก็ได้ สมมติ aire ได้สังกัดค่าย Parabolica Records เราก็ฝากเขาให้ทำสัญญากับ distribution แล้วเขาก็จะติดต่อ Tower Records สาขาที่ชิบุย่า ฮาราจุกุ อากิฮาบาระ บอกว่าเดี๋ยวมีวงไทยชื่อนี้ แนวนี้ จะมาวางขายซีดีที่ญี่ปุ่น สนใจเอาไปขายไหม ถ้าสนใจก็สั่งมา ร้านนี้อาจจะ 10 แผ่น ร้านนี้ไม่สั่ง เขาก็จะรวบรวมจำนวนส่งกลับมา แต่ถ้าร้านเล็ก ๆ เราก็เอาไปฝากขาย เขียนบิลกับเขาได้เลย เหมือนน้องท่าพระจันทร์
ตอนหาคอนเน็กชันที่ญี่ปุ่นทีแรกก็ยากมากเพราะไม่รู้จักใครเลย แต่ตอนนี้รู้จักบ้างแล้ว อย่างตอนเอาของ aire ไปขาย เรารู้จักกับเจ้าของค่าย Parabolica Records คือ Nishi มือเบส Deepsea Drive Machine เป็นเพื่อนกันมาสิบปีแล้ว ตอนแรกค่ายเขาขายแค่โพสต์ร็อกอเมริกา กับยุโรป แต่พอเจอกับเราเขาก็จำหน่ายแต่วงเอเชีย (หัวเราะ) กระแสหลักด้วย อินดี้ด้วย เขาก็มาเล่นที่ไทยบ่อย 4-5 รอบแล้ว
หลังจากนั้นเราแนะนำวงให้ ถ้าค่ายเขาถูกใจก็จะคุยกับวงโดยตรง ถ้าเขาโอเคกันก็ดีลกันเลย ตอนนี้ก็มีของ Stamp, aire, Stoondio, Moving and Cut, Inspirative, สิงโต นำโชค, Max Jenmana อยู่ในสังกัด งานอื่น ๆ ก็อย่าง เอิร์ธ ภัทรวี เขามีโอกาสไปเล่นโชว์ที่ญี่ปุ่น ก็อยากให้แปลเนื้อเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย เราก็เลยแปลให้ แล้วก็พา Saftplanet ไปงานดนตรีที่ฟุกุโอกะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีคนจาก Space Shower มา ผมก็แนะนำ แล้วเขาก็จัดจำหน่ายซีดีให้ แล้วตอนเดือนตุลาเขาก็ไปเล่นอีก 3 โชว์ มีโชว์นึงเป็นเทศกาลดนตรีใหญ่ ของคนที่จัด Fuji Rock อันนี้ชื่อ Asakiri Jam (朝霧JAM) คือ Safeplanet เกือบได้เล่นปีที่แล้วแล้ว แต่โชคร้ายพายุเข้ามาวันนั้นพอดี งานก็ต้องยกเลิก ส่วนปีที่แล้วเราพา Wave and So ไป Inspirative ก็ไปทัวร์ญี่ปุ่น แล้วก็จริง ๆ ปีนี้มีวงไทยวงนึงอยากไปทัวร์ญี่ปุ่น เขาก็มาปรึกษากับเรา เราก็เสนอ 4 งานโชว์ รวมเทศกาลดนตรีที่นู่น ทางฝั่งนั้นเขาก็สนใจ แต่พอเจอสถานการณ์นี้ก็ทำให้ไปเล่นไม่ได้แล้ว อาจจะไว้ไปเล่นปีหน้า
จนตอนนี้โครงการแลกเปลี่ยนวงดนตรีไทยกับญี่ปุ่น หลัก ๆ มี 3 คน มีผม มี Nishi เจ้าของค่าย Parabolica แล้วก็ Nishimura เจ้าของ Fever ที่เป็นไลฟ์เฮาส์ เราก็รับส่งกันเรื่อย ๆ ซึ่งนิชิ กับนิชิมุระเขามีคอนเน็กชันค่อนข้างเยอะในวงการญี่ปุ่น บางทีเขาก็แนะนำคนอื่นให้ผมรู้จัก ก็ได้รู้จักคนนี้คนนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ปีที่แล้วเราก็จัดงานกินเลี้ยงให้ค่ายเพลงต่าง ๆ ที่เราติดต่อมาเจอกัน พวกค่ายที่จำหน่ายซีดีที่ญี่ปุ่นให้ Plastic Plastic, TELEx TELEXs, Annalyn ก็มา เราอยากให้ทุกคนรู้จักกัน อย่างน้อยแค่อยากให้ดนตรีญี่ปุ่นกระจายไปทั่วโลก คือแม้ว่าจริง ๆ เขาจะเป็นคู่แข่ง แต่ว่าวงการดนตรีญี่ปุ่นมันดรอปลงเรื่อย ๆ วงก็น้อยลงแล้วเขาทำอะไรใหม่ไม่ค่อยได้แล้ว เขาแค่ตามกระแสอเมริกา ยุโรป เราเรียกได้ว่าไม่ใช่ประเทศแนวหน้าทางดนตรีแล้ว
ในทางกลับกันพอคนญี่ปุ่นสนใจ เราก็พาเขามาเล่นที่ Cat Expo แต่ถ้ามาแค่เล่นโชว์เราก็เสียดาย เลยถามคลื่นวิทยุ สื่อต่าง ๆ ว่าให้ไปสัมภาษณ์เขาได้ไหม ก่อนหน้านี้มีงานที่ประสานไปแล้วแต่ไม่ได้ทำ ก็คือ She Is Summer เราจะให้เขาไปเล่นในงานนึง แต่งานนั้นยังไม่กล้าประกาศว่าจะจัดวันไหนเพราะยังไม่รู้สถานการณ์ เขาเลยไม่ได้ตกลงมาเล่น แล้วคุณปูม Seen Scene Space ก็สนใจจะให้เขามาเล่นใน Pow Fest Live! หรือ Paradise Fest ตอนแรกจะมีวงญี่ปุ่น 2-3 วง มาเล่นที่ไทย แต่ว่าด้วย covid-19 ทำให้งานต้องไปจัดปีหน้า
อีกงานนึงคือผมคุยกับ Creativeman คนจัด Summer Sonic เขาบอกว่าช่วงนี้ยอดขาย Summer Sonic ในญี่ปุ่นมันลดลง แต่คนต่างประเทศที่ซื้อบัตรของเขาเพิ่มขึ้น ถ้าคนต่างชาติไปดูคอนเสิร์ตญี่ปุ่นจะรู้ว่าการซื้อบัตรคอนเสิร์ตยากมาก เขาขายแต่ในร้านสะดวกซื้อเซเว่น หรือ Lawson แล้วให้กดกับเครื่องที่ทุกอย่างเป็นภาษาญี่ปุ่น บางทีก็ต้องฝากเพื่อนที่อยู่ญี่ปุ่นซื้อให้ หรือเวลาคอนเสิร์ตแคนเซิลก็ต้องไป refund ที่สาขาที่เราซื้อ แล้วการที่มีคนไทยหลายคนไปดู แต่มันยังไม่มีระบบขายบัตรในไทย ผมก็เลยแนะนำ Ticketmelon เพื่อคนไทยสามารถซื้อบัตร Summer Sonic ในไทยได้ ปีที่แล้วบัตร Summer Sonic ได้วางขายที่ไทยได้แล้ว แต่งานปีนี้เขาลังเลว่าจะจัดงานได้หรือเปล่า ก็เลยยังไม่วางขายในไทย
แล้วเราก็มีบล็อกแนะนำวงการดนตรีทั้งฝั่งไทยญี่ปุ่น ทำสัมภาษณ์ ออกช่อง YouTube ของสื่อญี่ปุ่น HereNow ล่าสุดเราก็อัพเดตบ้างว่า ฟังใจจัด online festival ชื่อว่า At Home Festival โดยมีระบบส่งเงินสนับสนุน เท่าที่เรารู้งานนี้เป็นงานแรกที่มีระบบแบบนี้หลังโควิตเข้ามา แล้ว WhatTheDuck ทำคอนเสิร์ตเขาทำคอนเสิร์ตผ่าน Zoom แต่ที่ญี่ปุ่นคงยาก เพราะวัฒนธรรมเขาไม่ค่อยชอบเปิดตัวในสาธารณะ ชอบความเป็นส่วนตัวมากกว่า เราลองดูงานของเขาแล้วมันเลื่อนดูหน้าทุกคนได้หมดเลยว่าเขาชื่ออะไร หน้าตาแบบไหน วิธีนี้ก็คงไม่เหมาะกับคนญี่ปุ่น เลยต้องหาวิธีอื่น
การเป็นนักดนตรีมาตลอด แล้วต้องมาเป็นคนประสานงาน ต้องเรียนรู้อะไรบ้าง
เยอะมาก งาน co-ordinator ทั้งงานโปรโมตและงานโชว์ ด้วยวัฒนธรรมวงการของเขา มันต่างกันเยอะเหมือนกันนะ ความคิดคนไทย กับคนญี่ปุ่น ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว อันนี้ไม่ใช่ดีหรือไม่ดีนะ ผมว่าคนไทยมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในงานได้ทันที ส่วนคนญี่ปุ่นจะแก้ไขปัญหาในงานทันทีไม่ค่อยเก่ง แต่เขาวางแผนเก่ง วางไว้ 1-10 แล้วดำเนินการตามแผนได้เก่งมาก แต่คนไทยน่าจะไม่ค่อยถนัด แล้วเวลาเราอยู่ตรงกลางคนไทยกับญี่ปุ่น เราก็ต้องอธิบายทั้งสองฝั่ง (หัวเราะ) ต้องให้เขาเข้าใจทั้งสองฝ่าย แล้วเขาต้องอดทนหน่อย ให้หาจุดตรงกลางที่พวกเขาจะตกลงกันได้
สังเกตว่าเมื่อเทียบกับอเมริกา อังกฤษ หรือเกาหลี ทำไมเพลงญี่ปุ่นที่เคยเป็นกระแส ถึงได้รับความสนใจน้อยกว่าในไทย
ถ้าวงญี่ปุ่นที่ป๊อปมาก ๆ ที่เป็นกระแสหลักในญี่ปุ่น อาจจะมาขายที่ไทยไม่ได้ เพราะเขาร้องเพลงเป็นภาษาญี่ปุ่น แล้วคนที่ฟังป๊อปเขาฟังความสำคัญในเนื้อร้องด้วย ถ้าเขาฟังแล้วไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น ยังไงก็ไม่อิน แต่กลับกัน วงอินดี้ที่มีเอกลักษณ์ ดนตรีเฉพาะตัว เขายังมีโอกาสที่ขายได้ทั่วโลก แต่อาจจะปริมาณไม่ได้เยอะ คืออินดี้มันเป็นแนวที่โดนจำกัดอยู่แล้วแหละ เขาอาจจะต้องมีเป้าหมายของตัวเองว่าอยากทำอะไร ในประเทศไหน ถ้าแค่อยากได้ยอดวิวใน Spotify หรือ YouTube ในไทย ก็เน้นแค่โปรโมตเพลงมากกว่าเล่นสด แต่ถ้าเขาอยากประสบการณ์ก็ไปเล่นโชว์ หนึ่งอาทิตย์ 4 โชว์
แนวเพลงอินดี้ที่ฮิตในญี่ปุ่นตอนนี้คืออะไร
วงการดนตรีอินดี้ญี่ปุ่นมันกว้างมาก มีหลายแนว แค่ไม่ได้เป็น ป๊อป, city pop, electronica เขามีแนวที่เรียกตามย่านแบบ Shibuya-kei ตอนนี้มี Shimo Kitazawa (หัวเราะ) มันเป็นวิธีโปรโมตอย่างนึงแหละ ที่ชิโมะคิตะซะวะมันมีไลฟ์เฮาส์เยอะที่สุดย่านนึงในโตเกียว มี 20-30 ในย่านเล็ก ๆ ย่านนั้น แล้ววงที่ส่วนใหญ่เล่นที่นั่น เราก็จะเรียกว่า Shimo Kita-kei ส่วนใหญ่เป็นร็อกโบราณ ๆ หน่อย ปีที่แล้วที่ Bangkok Music City มีวงนึงมาเล่น คือเขาไม่ได้เล่นที่ชิโมะคิตะซะวะบ่อย แต่แนวเพลงไปทางนั้น มันจะออกร็อกแอนด์โรลหน่อย ส่วนชิบุย่าจะออกอิเล็กโทรนิก้า
พวกเร็กเก้กับฮิปฮอป ไทย–ญี่ปุ่น ก็ร่วมงานกันบ่อยนะ
ใช่ ๆ แต่ผมไม่ค่อยถนัดแนวนั้นเลยไม่ได้รู้เรื่องมาก แต่ผมก็เห็นว่าเขาร่วมงานกันเยอะ เขาอาจจะติดต่อกันเอง เราคิดว่าด้วยวัฒนธรรมของเร็กเก้กับฮิปฮอปมันจะมีการ featuring กันเยอะอยู่แล้ว ยิ่งเทคโนโลยีมันพัฒนาขึ้น เขาก็อัดเพลงแล้วส่งไฟล์หากัน ส่งกันไปกันมา มันก็ได้งานแล้ว
แนะนำวงที่น่าสนใจตอนนี้หน่อย
ถ้าส่วนตัวเราก็ชอบฟังเพลงหนัก ๆ แหละ แต่ถ้าเป็น Dessin the World อยากให้ฟัง เราก็ฟังหลายแนวอยู่แล้ว เราก็ต้องแนะนำให้หลากหลาย วงที่ผมชอบก็ไม่ได้ใหม่หรอก อย่าง Lostage, The Band Apart, Fixed, Keishi Tanaka, ATATA ส่วนวงไทยถ้าเอาไว้ฟังต่อวงญี่ปุ่น ก็ Dogwhine ก่อนเลย แล้วก็ Ugoslabier, Beagle Hug, Yonlapa ช่วงนี้เราชอบ Daynim เก่ง ดีเลย
ดนตรีในอีกสามปีจะเป็นยังไง
อันนี้ใส่ความหวังของตัวเองเลย อยากให้วงที่เสียงดังหน่อย อยากให้กระแสนั้นกลับมาบ้าง เพราะตอนนี้ city pop หรือป๊อปนิ่ม ๆ มันมานานแล้ว ผมชอบฟังป๊อปนะ แต่ที่บอกเมื่อกี้ แนวมันใกล้ ๆ เสียงใกล้ กันเยอะไปแล้ว แล้วผมก็ชอบร็อก ฮาร์ดคอร์ เมื่อเทียบกับ 10-15 ปีที่แล้ว ที่ไทยยังมีค่ายเมทัลดัง ๆ ชื่อ Screamlab กับ iScream Records เขาก็เชิญวงต่างประเทศแนวเมทัลมาเล่นที่ศูนย์วัฒนธรรม ฯ แต่เดี๋ยวนี้แนวแบบนี้ซีนมันเล็กมากแล้ว ถ้าสมมติมีกระแสฮาร์ดคอร์หรือเมทัลกลับมาอีก หรือวงใหม่ ๆ กลับไปเล่นแนวนั้น มันก็อาจจะช่วยให้กระเตื้องขึ้นมาบ้าง ที่อเมริกาตอนนี้เสียงแรง ๆ ดนตรีแรง ๆ ก็กำลังกลับมานะ หวังว่ามันจะมาถึงเอเชียด้วย แต่ต้องใช้เวลา อาจจะ 1-2 ปี แต่เอาจริง ถ้ามันตอบรับไม่ดีก็ไม่เป็นไรหรอก เราชอบฮาร์ดคอร์เราเลยเล่นเพลงฮาร์ดคอร์
คือตอนนี้เรามีอินเทอร์เน็ต คนส่วนใหญ่ฟังจาก Spotify หรือสตรีมมิงอื่น ๆ อันนี้ทำไมไม่รู้ คนที่เริ่มอะไรใหม่ ๆ มักจะอยู่ที่อเมริกา ญี่ปุ่น หรือยุโรป แล้ว city pop ที่ดังอยู่ในช่วงนี้ จริง ๆ มันเป็นแนวที่เก่ามากแล้วนะที่ญี่ปุ่น ทำไมก็ไม่รู้อยู่ดี ๆ ถึงขึ้นมา แต่มันคงจะเป็นการวนมาวนไปแหละ แล้วอาจจะเป็นเพราะ marketing ด้วยหรือเปล่า คือที่อเมริกาเขาก็ marketing เก่ง จะคอยบอกว่า ต่อไปแนวแบบนี้จะมาแรงนะ เขาก็แค่ยกวงที่เล่นแนวนั้นขึ้นมาขายแรง ๆ รึเปล่า แล้วทั่วโลกก็ฟังแนวแบบนั้นตาม คนที่ไม่เคยฟังเลยรู้สึกว่ามันเป็นแนวใหม่ ทั้งที่จริงแล้วมันไม่ใหม่ ก็คงเหมือนอีโม ฮาร์ดคอร์ หรือเพลงเสียงแรง ๆ หน่อย มันอาจจะวนมาอีกรอบใน 2-3 ปีข้างหน้า
เราจะสร้างแนวใหม่ได้อีกไหม
ผมว่ายากละ แต่เราอาจจะผสมอันนั้น กับอันนี้ มากกว่า คือมันได้เพลงใหม่แต่ก็ยังมีกลิ่นของดนตรีแบบอื่น ๆ อยู่ สุดท้ายแล้วที่สำคัญที่สุดคือ output ของเรา ว่าถ้าเราได้ input มาแต่ไม่ได้ย่อยให้เป็นของเราเอง มันจะกลายเป็นก๊อปปี้
เห็นด้วยไหมที่มีคนบอกว่า นักเขียนดนตรีจะไม่จำเป็นอีกแล้ว เพราะมีช่องทางให้ศิลปินได้เผยแพร่ดนตรีเองแล้ว
สมัยก่อนหรือสมัยนี้ คนญี่ปุ่นหรือคนไทยเริ่มฟังเพลงจากการมีคนแนะนำ หรือว่าโปรโมต สมัยก่อนกับสมัยนี้ไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ สมัยนี้เรามีเครื่องมือมากขึ้น ก็แนะนำง่ายขึ้น แต่ทางเลือกที่เขาเจออะไรใหม่ ๆ ถ้าไม่มีคนแนะนำ วงก็ไม่เป็นที่รู้จักหรอก อย่างโลกนี้มีคนที่ชอบดนตรี แต่คนชอบดนตรีก็มีหลายแบบ มันมีคนที่ไม่ได้ตั้งใจหา คือมีเพลงเปิดมาจากร้าน ทีวี วิทยุ ฟังแล้วชอบเขาก็เลยบอกว่าชอบเพลง ดนตรีไม่ได้สำคัญกับเขามาก แต่อีกฝ่ายเขารู้ว่าตัวเองชอบแนวนี้ เขาก็ไปหาใน YouTube อินเทอร์เน็ต สตรีมมิง แล้วทำให้โลกของตัวเองขยายขึ้น นักเขียนเกี่ยวกับดนตรี จะสำคัญมากสำหรับคนประเภทนี้ เพราะเขาต้องการข้อมูลเพื่อไปหาเพลงพวกนั้นต่อ
Ginn Sentaro จะทำอะไรอีกในอนาคต
ทีแรกวงเรา (Faustus) จะอัดอัลบั้มสิ้นเดือนมีนาคม แต่ห้องอัดเสียงต้องปิด แล้วตอนนั้นเราก็ท้อใจนิดนึง ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ แต่เดี๋ยวต้นเดือนหน้าเราจะอัดเสียง แล้วก็ทำอัลบั้มเสร็จเดือนพฤศจิกายน
ช่วงนี้เราก็ทำอะไรหลายอย่างเพื่อแลกเปลี่ยน ยังคิดอยู่ว่าน่าจะจับมือกับคนจัดอีเวนต์สักที่ที่ทำ live streaming วงไทย–ญี่ปุ่น ครึ่ง ๆ อย่าง Pow Fest เขาก็มีวงต่างประเทศหลายวง แต่เราจะทำแค่ไทย–ญี่ปุ่น
อยากเห็นอะไรในวงการดนตรีทั้งไทยและญี่ปุ่น
สำหรับ Dessin the World เราอยากให้เพลย์ลิสต์ของคนญี่ปุ่นมีเพลงไทย ญี่ปุ่น หรือเพลงเอเชียมากขึ้น คือสำหรับคนญี่ปุ่น เพลงสากลจะหมายถึงแค่เพลงอเมริกา หรือยุโรปเท่านั้น หรือที่ไทยก็เหมือนกัน จะไม่ค่อยฟังเอเชียน แต่อยากให้คนไทย คนญี่ปุ่น ฟังเพลงหลากหลายได้โดยธรรมชาติ ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นเริ่มเป็นแบบนี้เยอะขึ้น อย่างร้านกาแฟเขาเปิดเพลงของ Gym and Swim หรือ Stoondio แล้วคนญี่ปุ่นเขาก็ชอบฟังแล้ว แม้มันจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย ถ้าเขาสนใจก็จะถามเจ้าของร้านว่าอันนี้เพลงของใคร เพลงอะไร เราก็อยากให้คนอื่น ๆ เป็นแบบนั้นด้วย
นอกจาก Dessin the World และการเป็นมือกลอง Ginn Sentaro ทำงานอะไร
เราเป็นฟรีแลนซ์ รับงานจากหลายที่ บางทีเป็น project manager บางทีช่วยวิศวกรไอที เป็น planning promotor เป็น interior designer (หัวเราะ)
ฝากถึงนักดนตรีรุ่นใหม่
มีอะไรอยากทำก็ทำไปเลย ไม่ต้องไปคิดถึงคนอื่น แต่ต้องถามตัวเองตลอดว่าอันนี้มาจากตัวเองจริง ๆ หรือเปล่า
อ่านต่อ
‘เห็ดหอม’ aire เมื่อท่วงทำนองถูกบรรเลงผ่านห้วงอากาศ สุ้มเสียงที่มองไม่เห็นแต่ขาดไม่ได้
Wednesday ชีวิตที่ขาดเสียงดนตรีไม่ได้
Inspirative: Inspirational Sound