‘ผลไม้’ (Fruit) โดย Napat Snidvongs อัลบั้มที่เป็นบันทึกความทรงจำในเมืองใหญ่
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Napat Snidvongs
ปี 2007 อัลบั้ม ผลไม้ หรือ Fruits งานของ Napat Snidvongs ศิลปินโฟล์ก อะคูสติก แอมเบียนต์ จาก SO::ON Dry Flower ได้ปรากฏสู่สาธรณชนเป็นครั้งแรก ‘เวลานั้น’ เราถือว่าหลายเพลงใน ผลไม้ เป็นเพลงที่พูดแทนชีวิตของเราและเพื่อน ๆ ที่ชอบแบ่งเพลงกันฟังได้เป็นอย่างดี และคาดว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเช่นเดียวกัน เลยทำให้เพลงของเขาถูกนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์หลายเรื่อง
จนกระทั่งปี 2017 ในวาระครบ 10 ปีของอัลบั้ม ผลไม้ จึงถูกนำมา remastered และมีคอนเสิร์ตเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่ร้านน้อง ท่าพระจันทร์ โดยมีแฟนเพลงมารอต้อนรับศิลปินคนโปรดกันอย่างอบอุ่น (ตามดูบรรยากาศงาน Napat Snidvongs : 10 Years Anniversary with Fruit Party มนต์ขลังผลไม้ ได้ ที่นี่)
‘เวลานี้’ ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย เราได้ทักทายไปยัง พลัม—ณภัทร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่ใช้ชีวิตอยู่ในอีกซีกโลก เพื่อย้อนดูความทรงจำในวันวาน และ ‘ความรู้สึก’ ณ ขณะที่เขาได้สร้างสรรค์อัลบั้ม ผลไม้ ขึ้นมา รวมถึงถามไถ่ความเป็นไปในปัจจุบันขณะของเขาด้วย
ชีวิตในนิวยอร์ก
ตอนแรกมาเรียนหนังสือ ระหว่างนั้นก็ทำงานร้านอาหารไปด้วย ช่วงนั้นเศรษฐกิจไม่ค่อยดี พอเรียนจบก็รับทำฟรีแลนซ์ อัดเสียงในกองถ่ายหนัง ส่วนใหญ่ก็เป็นกองถ่ายนักเรียน พอทำไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มมีออฟฟิศเขาจ้างไปทำ QC โฆษณา ไป ๆ มา ๆ ก็ได้ทำประจำ ตอนนี้เป็นพนักงานออฟฟิศ ทำงานเกี่ยวกับโฆษณา
ได้ยินมาว่าศิลปิน ผู้กำกับ ช่างภาพ ที่เป็นคนไทยในนิวยอร์ก มักจะรู้จักกัน
สังคมมันค่อนข้างเล็ก ส่วนมากก็เคยเห็นกัน บางทีก็เห็นกันผ่าน ๆ บ้าง ไม่สนิท มันก็แล้วแต่กลุ่มนะ บางทีก็ไปเจอที่กองถ่ายหนังเหมือนกัน คิดว่าที่คนไทยได้เจอกันเพราะมีน้องผู้หญิงคนนึงเขาไปทำโปรดักชันเฮาส์เลย เก่งมาก แล้วเขาจะทำงานแบบ low budget ให้เด็กนักเรียนไทยไปทำบ้าง สนุกดี แต่เวลาขออนุญาตไปถ่ายทำในสถานที่ต่าง ๆ ก็ค่อนข้างลำบาก พวกนั้นก็ดูเครียด ๆ กัน อย่างผู้กำกับไทยเวลาเขามาที่นี่ก็ไม่ค่อยเข้าใจ อยากเอานู่น เอานี่ โปรดิวเซอร์ก็เหนื่อย ต้องใช้มารยาเยอะมาก (หัวเราะ)
พลัมไม่ได้จบด้านภาพยนตร์ แต่อะไรทำให้มาคลุกคลีกับกองถ่ายหนัง
เราเรียนเกี่ยวกับสื่อ แล้วที่เข้าไปเรียนมันเหมือนไม่มีคนทำซาวด์ พอดีพี่อัดเสียงเป็นอยู่แล้ว ก็มีคนบอกว่า ‘ไหนมาถือไมค์หน่อยซิ’ ทำเรื่องแรกเสร็จก็ไปทำเรื่องอื่น ๆ ต่อ มีเรื่องนึง ทำหนังไอ้บาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) ชื่อ ‘The Misbehavior’ หนังสั้นต้นเรื่องก่อนที่จะมาเป็น ‘Countdown’ มันไปถ่ายแล้วทำเครื่องอัดเสียงที่เช่ามาตก พี่เลยเอาเครื่องอัดเสียงอันนี้ไปรับงานต่อ (หัวเราะ)
ชีวิตวนเวียนอยู่กับหนัง เคยมีสักครั้งไหมที่หนังส่งผลกับเพลงของพลัม
ตอนเด็ก ๆ ก็ฟังซาวด์แทร็คหนังเยอะเหมือนกัน ตั้งแต่เริ่มเขียนเพลงก็เคยดูเรื่อง ‘Boys on the Side’ ที่ Whoopi Goldberg เล่นกับ Drew Barrymore มันจะมีตอนจบของหนัง Whoopi เขาจะร้องเพลง You Got it แล้วเขาร้องเพลงไม่เก่ง แต่มันอารมณ์ได้มาก ๆ ตอนดูก็รู้สึกตกใจ แล้วเราก็คิดว่า ร้องเพลงมันไม่ต้องร้องให้ได้แบบ The Star ก็ได้นี่หว่า ถ้าเขาร้องเพี้ยน แต่มันมีความรู้สึก และสื่อถึงคนได้ก็พอ
แล้วก็มีเพลงนี้ใน ‘Jerry Maguire’ Bob Dylan – Shelter from the Storm ( Alternate Version )
กับเพลงจบ อิคคิวซัง
Napat Snidvongs แทบจะเป็นศิลปินที่ทำโฟล์กคนเดียวใน SO::ON Dry Flower ณ เวลานั้น
เรารู้จักพวกก้อง Goose อ้วน (อธิศว์ ศรสงคราม/ Armchair) แล้วก็ชวน ๆ กันเข้ามา เหมือนพี่โคอิชิ (Koichi Shimizu) เขาไม่ได้เป็นคนจะมาควานหาวงอะไรมากมายสมัยนั้น พี่โคอิชิเขาไม่ได้จำกัดนะว่าเป็นค่ายเพลงอะไร เขาก็ชอบหลายแบบ แล้วแต่ว่าเขาเห็นอะไรน่าสนใจในวง ยุคนั้นโฟล์กก็ยังมีน้อยอยู่ มีแรก ๆ ที่เริ่มเลยก็ จีน มหาสมุทร, Selina & Sirinya
ตอนนั้นรุ่นพวกพี่ ก้อง อ้วน ฟัง Moderndog กันมา ชุด Love Me, Love My Life เนี่ย เขาทำเพลงเหมือนย่อย Radiohead มาผสมกับความเป็นไทย พวก SO::ON ก็เลยเอา Love Me, Love My Life มาขยาย คือเป็นเพลงไทยที่ abstract แทบไม่มีเพลงไทยทำตามตาม tradition ของอัลบั้มนั้นเลย พวก โยคีเพลย์บอย ชุดแรก ๆ หรือ Joey Boy มันมีสิ่งที่คนกลุ่มนึงรู้สึกว่า เฮ้ย อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเพลงไทย
เติบโตเป็น ผลไม้ ที่สุกงอม
พี่ว่าดนตรีในอัลบั้ม ผลไม้ เนี่ยมันคือการชนกันระหว่างเด็กที่โตมากับเพลงไทยปลาย 80s – 90s เช่น เฉลียง, Moderndog, Joey Boy กับการค้นพบเพลงอินดี้สมัยนั้นของพี่ก็วงพวก Belle & Sebastian, Kings of Convenience, Mogwai, Sparklehorse
สมัยก่อนเพลงหาฟังยาก ตอนเริ่มฟังเพลงต้องไปที่จตุจักร แล้วพี่นอร์ Sonny and Nor เขาจะมีร้านขายซีดี ร้านเขาเป็นแผ่นที่ไม่มีลิขสิทธิ์ที่เมืองไทย ไม่มีใครนำเข้ามา ก็จะเป็นวงเล็ก ๆ แล้วพวกนักฟังเพลงเขาก็จะไปซื้อซีดีกัน สมัยนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่ค่อยดีเลย
แล้วมันก็เป็นยุคแรกท่ีเริ่มมีการดาวน์โหลดเพลง เพื่อนเอาเพลงแปลก ๆ มาแบ่งกันฟัง เด็ก ๆ ยุคนั้นก็อยากทำเพลงเนื้อภาษาไทยแต่มีดนตรีเหมือนกับวงที่ชอบ ทำให้เกิดอัลบั้มอินดี้สมัยนั้นขึ้นมาหลาย ๆ อัลบั้ม ผลไม้ ก็เป็นหนึ่งในนั้น แล้วพี่เองก็ชอบเพลงพวก Dinosaur Jr., Red House Painters
ส่วนเนื้อหา คือเราเพิ่งเริ่มทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ ได้เงินเดือนหมื่นห้า ทำงานโฆษณาก็ต้องไปเจอลูกค้า ตอนเด็ก ๆ ก็จะไม่ค่อยพอใจ เราเลยอยากทำอะไรที่มันเป็นนามธรรมมากกว่าขายของ อยากเขียนอะไรที่เป็น abstract เลยได้แรงบันดาลใจของ Moderndog 3 อัลบั้มแรก ที่จับอารมณ์ของคนในเมืองมาเขียน
ที่มาของชื่อ ผลไม้ คือเราอยากหาอะไรที่มันมีความหวาน ๆ กินได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นของที่อยู่ในป่า มันมีทั้งความน่ากลัว ลึกลับ และมุมที่เป็นมิตรด้วย มันจับความรู้สึกที่น่าสนใจของเพลงในอัลบั้มตรงนั้นไว้
คิดว่าวิธีการเขียนเพลงสมัยก่อน กับปัจจุบันต่างกันยังไง
แค่รู้สึกว่าเด็ก ๆ รุ่นใหม่เล่นดนตรีเก่งกันเท่านั้นเอง แต่รู้สึกแปลกใจมากกว่าคือเด็ก ๆ เขียนเพลงภาษาอังกฤษกันเยอะขึ้น ไม่ค่อยเขียนเพลงไทย แต่ก็ทำได้ดีด้วย บางครั้งฟังแล้วก็รู้สึกว่ามันเป็นมุมมองของคนไทย แต่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ มันเลยกลายเป็นว่าสิ่งที่เราไม่ได้สนใจหรือไม่ได้ชอบมากในทีแรกไม่ใช่ไม่ดี
แล้วทำไมไปรู้จักก้องกับอ้วนได้
พี่ชายของอ้วนเรียนมหาลัยเดียวกับพี่ แล้วเราจะได้ยินชื่อเขาว่าเป็นกีตาร์เนิร์ด ซ่อมกีตาร์เก่ง แล้วเขาก็ชวนไปเที่ยวบ้าน ก็เลยเจออ้วน ซึ่งบ้านอ้วนกับพี่อ้วน ก็คือชั้นบนของร้านก้อง (อ่านต่อ ก้อง Goose — เพราะชีวิตไม่ง่าย เลยอยากให้ Kǔ Bar เป็นอะไรที่เรียบง่ายที่สุด)
คิดว่า SO::ON Dry Flower นำเสนออะไรให้ซีนดนตรีไทยบ้าง
เวลามองกลับไปมันก็เป็นซาวด์ของยุคสมัย SO::ON, Panda Records มันก็เป็นกลุ่มคนคล้าย ๆ กัน สมัยนี้ก็มีค่ายใหม่ ๆ อย่าง Rats Records เงี้ย ไม่รู้ว่าได้เปลี่ยนอะไรหรือเปล่า แต่ก็ทำ ๆ ไปเพราะสนุกแหละ
ตอนที่ไม่มี SO::ON Dry Flower แล้ว รู้สึกเสียดายไหม
ก็ไม่ได้เสียดายนะ เพราะทุกคนก็ติดต่อกันอยู่ มันก็เป็นเพื่อนกันน่ะแหละ เลยไม่ได้รู้สึกโรแมนติก อาจจะเป็นเพราะโตขึ้นทุกคนก็มีครอบครัว แต่ตอนเด็ก ๆ เราก็เข้าใจนะ เวลาคิดว่า ‘ทำไมพี่คนนั้นไม่ออกอัลบั้มซักทีวะ’ (หัวเราะ) พี่โคอิชิก็บอกว่าไม่ได้ปิดซะทีเดียว เดี๋ยวจะเปิดใหม่ก็คงจะบอก
เรารู้สึกว่าทุกคนโตขึ้นแล้วเขาก็ไปทำงานของตัวเอง เหมือนเขาโชว์ให้น้อง ๆ ได้เห็นว่าทำเพลงมันไม่ต้องทำเหมือนเป็นงานประจำอะ คือพอพวกก้อง อ้วน โตไปมันก็หาอาชีพอย่างอื่นทำ แล้วการเป็นศิลปินมันก็เป็นเวลาที่เราเอามาทำเป็นงานอดิเรกได้ ไม่ต้องให้มันมาเลี้ยงเป็นอาชีพ หรือเป็นร็อกสตาร์ เราก็จะไม่เครียดมากนักกับตรงนี้ อย่างพวก Desktop Error มันก็ทำงานอื่น เม้งก็ไปเล่นโฆษณา เห็นก็น่ารักดี เป็นอีก option ให้คนเลือก บางทีเราก็ไม่ต้องไปทัวร์ทุกอาทิตย์
เดี๋ยวนี้ฟังเพลงอะไร
แล้วแต่เลย เดี๋ยวนี้ใหม่ ๆ ที่ฟังแล้วชอบก็ Phoebe Bridgers เหมือนพอมันมี Spotify แล้วการฟังเราเปลี่ยนไปเลย มีอะไรขึ้นมาใน YouTube เราฟังแล้วชอบก็มี บางทีก็ไปฟังเพลงเก่า ๆ ที่ตอนเด็ก ๆ ฟังแล้วไม่ชอบ พออายุมากขึ้นมาฟังเราก็พบมุมใหม่ ๆ ของมัน อารมณ์แบบตอนที่พี่เด็ก ๆ พวกพี่ป๊อดเขาก็จะแนะนำอัลบั้มที่เขาชอบ ที่เขาอิน อัสนี–วสันต์ อะไรพวกนี้ แล้วเวลาพี่ฟังพี่ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน (หัวเราะ) คงเป็นเรื่องยุคสมัยแหละนะ
Track by track
แสงจันทร์ feat. Atit Sornsongkram
อัลบั้มนี้ทำประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็เสร็จแล้ว แล้ววิธีทำสมัยนั้นไม่มีใครมีอุปกรณ์อัดเสียง ก็ได้ความอุปการคุณจากครอบครัวศรสงคราม ก็คือพี่ชายอ้วน กับอ้วนเนี่ยแหละ (หัวเราะ) เขาให้ไปค้างที่บ้าน ก่อนหน้านั้นทำเพลง เวลานี้ ไปก่อนตอนต้นปี เพราะมันจะไปอยู่ในอัลบั้ม Ghosted Note ของ SO::ON Dry Flower พอมาปลายปีก็ตัดสินใจว่าจะไปเรียนต่อ ก็มีเวลาประมาณ 6 เดือนว่าจะทำอัลบั้ม พี่โคอิชิก็บอกว่าให้ทำให้เสร็จก่อนงานแฟต ก็เลยไปขอความช่วยเหลือพวกอ้วน ไปนอนค้างบ้านมัน อัดเสียงกันอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วบ้านอ้วนจะเป็นเหมือนที่ hangout ของเพื่อน ๆ ถ้าอ้วนหรือใครไม่ได้มีเรียน มันแวะเข้ามาแล้วมีท่อนนี้มันร้องได้พอดี ก็ให้มันมาร้อง
ตอนนั้นที่เขียน มันมีวงที่ชื่อ A Camp มีเพลงชื่อ Song For the Leftovers พวก Channel [V] ชอบเปิดบ่อย ตอนเขียนออกมาไม่ค่อยเหมือนหรอก แต่มันมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ เป็นคืนที่สงบ อยู่เงียบ ๆ เวลาปีใหม่เราไม่ได้ออกไปไหน
ฝน
เป็นเพลงแรกที่เขียนในชีวิต แต่เขียนแล้วมันไม่มีเนื้อ พอถึงเวลาทำอัลบั้มนี้เลยหยิบเนื้อขึ้นมาแต่ง เคยเห็นเวลาผู้หญิงฝนตกแล้วผมกระเซิง ๆ ไหม เราก็พูดประมาณว่าเวลาฝนตกมันทำให้เห็นความจริงในความสวยงามของผู้หญิงอะ คือมันก็ไม่ได้ดีหรือไม่ได้แย่ แค่ทำให้เห็นอีกมุม ‘ฝนพรำทำให้ได้เห็นความเป็นจริง’
เพื่อน
สมัยก่อนเวลาทำอัลบั้มมันก็ต้องคิดเป็นภาพรวม บางทีหลาย ๆ วงก็ใส่เพลงที่มันไม่เพราะเข้าไป เพื่อเบรกมู้ดเพลงที่มันไม่ได้มีเมโลดี้มาก เราก็คิดว่าถ้าเกิดในอัลบั้มมีแต่เพลงโฟล์กก็จะเลี่ยน เลยให้มีเพลงกีตาร์ดัง ๆ ขึ้นมาให้ตัดความเลี่ยน แต่เนื้อเพลงนี่ไม่แน่ใจเลยว่าเกี่ยวกับอะไร abstract มั่วไปเรื่อย ๆ มีอย่างเดียวที่นึกถึงคือ ’20th Century Boys’ (หัวเราะ)
ผลไม้
สมัยเด็ก ๆ พี่ชอบฟังเพลงของวงเฉลียง มันจะมีเพลงชื่อว่า โลกยังสวยอยู่ เนื้อเพลงจะพูดถึงเกสรดอกไม้ ‘ลมพาเกสรปลิวว่อน อีกไม่นานเกิดดอกไม้ชื่นชม’ ตอนจบของเพลงจะพูดว่า ‘ถ้ายังมองเห็นความงดงามของโลกอยู่ เดี๋ยวฝนตกก็จะมีต้นไม้ขึ้นมาใหม่’ ลองไปหาฟังดู พี่จิก (ประภาสชลศรานนท์ ร่วมด้วย เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ และ ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์) เขียนเนื้อได้ master มาก ๆ ตอนที่เพลง ผลไม้ ได้เป็นเพลงโฆษณา แล้วพี่จิกแชร์เพลงนี้ โคตรดีใจเลย พี่เขาคงไม่รู้หรอกว่าเราเป็นใคร แต่เรารู้สึกว่าเพลงมันได้ย้อนกลับไปที่แรงบันดาลใจที่เราเอาของเขามา
เวลานี้
ก่อนหน้านี้ SO::ON Dry Flower เคยมีอัลบั้มศิลปินอิเล็กทรอนิกจ๋า ๆ ฟังยากในสมัยนั้น มีศิลปินไทยที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นแล้วพวก CliquetpaR แบบ Aphex Twins เลยยังไม่ค่อยมีคนซื้อเท่าไหร่ เขาก็กะจะทำอันนี้ (Ghosted Note) เป็นภาคต่อ แล้วดันบังเอิญว่ามันมีคนพวกอ้วน พวก Goose ทำเพลงป๊อปมาผสมกับ experimental หน่อย ๆ พี่โคอิชิเลยสนใจ เอาวงพวกนี้ มีพี่ Space Bucha สมัยก่อนเมืองไทยน่าตื่นเต้นตรงนี้ เวลาเราเจอคนแบบ ‘เฮ้ย มีแบบนี้ด้วยหรอวะ’ เราจะทึ่งมาก
พอเขาบอกจะทำ compilation มีวันนึงพี่ไปเดินอยู่สยาม แล้วเจอ นิ้ม Goose รู้สึกวันนั้นเป็นวันหลังปีใหม่วันนึง วันที่ 2 มกรา แล้วนิ้มชวน บอกว่าว่าง ไปอัดเพลงไหม ก็เลยไปบ้านนิ้ม อัดตรงนั้นเลย แล้วพี่โคอิชิตามมาตอนเย็น ๆ เขาก็บอก ตรงนี้ยังไม่พอ เล่นเปียโนเพิ่มซิ พี่ก็ไปเล่น ไหนร้องคอรัสเพิ่มหน่อย ก็เพิ่มอะไรไปเรื่อย ๆ เขาบอกอะไรก็ไปทำตามเขา คืนนั้นเสร็จก็ออกมาเป็นเพลงนี้เลย
เนื้อหาในเพลงตอนนั้น ก็คือทำงานออฟฟิศ กลับมาบ้านก็หัดแต่งเพลง แล้วมันก็มีอารมณ์เหนื่อย ๆ นึกถึงตอนที่ยืนอยู่ใต้ทางด่วนแถวอนุสาวรีย์ชัย ฯ บรรยากาศมันประหลาดมาก เสียงในเมืองมันเวิ้งว้าง มันมีความรู้สึกของกรุงเทพ ฯ ของเด็กจบใหม่อยู่ในนั้น
ระหว่างทาง
ทุกอย่างมันออกมาจากอารมณ์เดียวกัน ชีวิตคนในเมือง อยากพักผ่อน อยากไปที่ที่มันสงบ แล้วตอนที่อัดมีเสียงบรรยากาศ เราอัดจากชั้นบนตึกแถว ด้านล่างมีคลอง ตรงบ้านก้อง จะมีเสียงคนขายก๋วยเตี๋ยวเขาล้างจาน อันนั้นก็เป็นส่วนนึงที่บอกว่าเวลาฟังเพลงแล้วนึกถึงพวกป้า ๆ ที่เขาทำมาหากินกันอยู่ใต้ตึก แล้วก็มีเสียงโมบายแขวน ๆ ด้วย
เหตุผล
เกี่ยวกับเพื่อนเรา เวลาคนเราได้มาเจอกันควรจะทำดีต่อกันไว้ และควรจะดีใจที่เราได้เจอกันวันนี้ ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น เหมือนเนื้อเพลง ‘ฝนตก ก็อย่าเพิ่งไปบ่น มันอาจจะให้ความชุ่มฉ่ำกับเรา’ อะไรก็ว่าไป
กว่าจะมีอัลบั้มสองที่เป็น Self Titled ก็เกือบสิบปี
ตอนนั้นมาที่นิวยอร์กก็ชีวิตลำบากด้วยแหละ กว่าจะตั้งตัว มีคอมพิวเตอร์ไว้อัดเพลง (หัวเราะ) ก็ใช้เวลาหลายปีอยู่ พอมีเวลาว่างก็ทำสนุก ๆ
ตอนที่เพลงของพลัมได้ไปอยู่ในหนังเรื่อง ‘Hi-So’
เราไม่รู้จักกันกับผู้กำกับ (อาทิตย์ อัสสรัตน์) มาก่อน แต่ถ้าจำไม่ผิด เต๋อ (นวพล ธำรงค์รัตนฤทธิ์) เป็นคนตัด trailer ของ ‘Hi-So’ เต๋อจะเป็นคล้าย ๆ แฟน SO::ON Dry Flower รุ่นแรก ๆ เป็นผู้ผลักดันค่าย (หัวเราะ) เขาเอาไปใช้ใน trailer เฉย ๆ ไม่ได้อยู่ในหนัง แต่หลังจากนั้นคนก็ไปหาฟังกัน แต่ส่วนมากก็มีเด็ก ๆ ตามมาจาก ‘ฟรีแลนซ์’ แหละ พี่ก็เลยไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่าแฟนเพลงเราเป็นคนประมาณไหน
กำลังทำอัลบั้ม 3 อยู่
จริง ๆ มีเขียนเพลงอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รีบอะไร เสร็จเมื่อไหร่ก็เสร็จ ไม่เป็นไร พี่ เจ Penguin Villa เขาใช้เวลาทำอัลบั้มชุดที่ 2 กี่ปีนะ …14 ปี พี่ก็มีพี่เจเป็นตัวอย่าง (หัวเราะ) Yellow Fang ก็ยังไม่ได้ทำอัลบั้มใหม่ใช่ไหม เฮ้ย ทำอัลบั้มสองมันยากนะเว้ย! ชุดแรกมันเหมือนเก็บของมาเยอะ ปล่อยง่าย ชุดสองของมันเริ่มจะหมดละ
คนอาจไม่ค่อยรู้ว่าเวลาว่างของพลัมคือชอบดูรายการผี พวก Paranormal Witness
เฮ้ยรายการนั้นมันเก่าแล้ว (หัวเราะ) ตอนนี้มี ‘ช่องส่องผี’ แล้ว บ้านพี่โตมา คุณอาก็ชอบเรื่องพวกเนี้ย เข้าป่า เจอค่าง เหมือนอ่านนิยายพวก ‘ล่องไพร’ ‘เพชรพระอุมา’ ตอนเด็ก ๆ พี่ก็ชอบอ่านชีวิตพระป่า ที่เข้าไปธุดงค์อะ หรือ ‘อาจารย์ยอด’ ใน YouTube ไปหาฟังดู เขาจะเล่าเรื่องประหลาด ผี กระสือ เมืองลับแล สุดยอด แนะนำ ๆ
สถานการณ์ที่นิวยอร์กตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
ที่ทำงานเขาให้ทำงานที่บ้าน เลยไม่ได้เข้าไปในเมือง ก็เห็นเขาชุมนุมกันก็รู้สึกว่าวันนี้ไม่ค่อยมีอะไรรุนแรงแล้วนะ ตอนวันเสาร์ค่อนข้างหนัก การประท้วงที่นี่มันใหญ่มาก เท่าที่เห็นตอนนี้บานปลายไปเป็นเรื่องการระบายความเครียด และโกรธแค้นกับสิ่งของและคนรอบข้างมากกว่า อย่างการ shame คนที่ไม่ได้ออกมาโพสต์เรื่อง BlackLivesMatter
เรื่องสีผิวเป็นเรื่องซับซ้อนของอเมริกา การที่คนตื่นตัวเป็นเรื่องที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงน่าจะเกิดจากประชาชนใส่ใจที่จะร่วมกัน เสียสละเวลา ความรู้ ความสามารถ มาช่วยกันพัฒนาสังคมรอบ ๆ ข้างในระยะยาวด้วย
จะกลับไทยเมื่อไหร่
อาจจะปลายปีนี้นะ
ฝากถึงแฟนเพลง
ฝากขอบคุณน้อง ๆ ทุกคนที่เอาเพลงของ Napat Snidvongs ไปทำธีสิสด้วยนะครับ ถ้าเกิดส่งมาพี่ก็พยายามดู รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักร้องเรียนจบ ได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ (หัวเราะ) ใครอยากได้เพลงก็เอาไปใช้เลย ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไร ไม่ต้องเขียนมาขอด้วย ถ้าทำธีสิสอะไรพวกนี้