หลากรสชาติหลากเมนูกับอัลบั้มใหม่ Folk9 ‘Chinese Banquet’
- Writer: Yanabhus Suriyajai, Pongtorn Klamdit
เมื่ออาหารหูคือบทเพลง เราขอแนะนำชุดสุดคุ้ม Chinese Banquet มีทั้งหมด 11 เมนูหลายรสชาติให้คุณผู้ฟังได้ลิ้มลอง และแต่ละเมนูล้วนมีวัตถุดิบที่ต้องเลือกเฟ้นกว่าจะได้มา เราไปจะไปพูดคุยกับทีมกุ๊ก Folk9 ถึงกระบวนการสรรค์สร้างแต่ละเมนูกัน
สมาชิก
กราฟ–กฤตภาส สุรินต๊ะ (ร้องนำ, กีตาร์)
พัด–บริพัตร แสงศิริ (กีตาร์)
ป่าน–กรวัฒก์ แสงทวีป (เบส)
โดม–ธันวา แสงซื่อ (กลอง)
คอนเซ็ปต์อัลบั้ม
พัด: Chinese Banquet แปลว่าโต๊ะจีน เพลงแต่ละเพลงจะมีมู้ดที่ไม่เหมือนกัน เราเปรียบเพลงเหมือนอาหารบนโต๊ะจีนที่ต่างกัน
ทำไมอัลบั้มนี้มีเพลงภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นหลายเพลงเลย
โดม: เราอยากขายกับ international เพราะเราดูยอดการเข้าถึงใน YouTube แล้วมีคนต่างชาติ ก็เลยอยากแต่งเพลงให้พวกเขาเข้าใจ
พัด: อย่างพี่เจื้อก (ป่าน) จะชอบแฟนเพลงรัสเซียมาก (หัวเราะ)
ตอนฟัง แว่นกันแดด กับได้ยินชื่ออัลบั้ม คิดว่าปกอัลบั้มจะมีความจีนกว่านี้
พัด: จริง ๆ แล้วหน้าปกเป็นภาพที่คิดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว และด้วยต้นทุนที่มีจำกัด แต่มันก็ได้ภาพตามที่คิดไว้นะ ต้องขอบคุณคุณโซ่ Wave and So ครับที่ดีไซน์ทุกอย่าง
อัลบั้มนี้ต่างจากอัลบั้มที่แล้วยังไง
กราฟ: อัลบั้มนี้จะฟังง่ายขึ้น เนื้อเพลงมีความชัดเจนขึ้น ไม่มีความลอยเหมือนอัลบั้มก่อน ๆ
ป่าน: ดนตรีมีความพัฒนาขึ้น จากอัลบั้มก่อนอัดเพลงกันในห้องนอน แต่อัลบั้มนี้อัดเพลงที่ห้องอัดเลย และมีกระบวนการที่มืออาชีพขึ้น
ทิศทางการทำงานจากอัลบั้มแรกจนถึงอัลบั้มนี้เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
ป่าน: เปลี่ยนไปหน้ามือเป็นหลังมือเลย (หัวเราะ) จากลุยเดี่ยวก็เป็นทำร่วมกันทุกคนครับ แต่ยังไงก็หลัก ๆ ก็ยังอยากให้คีพเมโลดี้หรือการเล่าเรื่องแบบกราฟเหมือนเดิม
พัด: ทุกเพลงส่วนใหญ่จะคิดในมุมกราฟครับ อย่างเช่นเมโลดี้ในแต่ละเพลง บางเพลงเราอาจจะทำแค่คอร์ด แต่เมโลดี้อยากให้กราฟอิมโพรไวซ์ ณ ตอนนั้นเลยว่าเมโลดี้จะไปทางไหน คิดว่าเป็นคาแร็กเตอร์ของวง อยากให้ทางเมโลดี้มาจากตัวกราฟ แล้วการทำงานก็อัดเองหมดเลยครับ ทุกเพลง มิกซ์มาสเตอร์เอง ตั้งแต่ต้นยันจบโปรดักชันก็คือทำเองหมดเลย ยกเว้นเพลงแว่นกันแดด มิกซ์โดยพี่ปูมเจ้าของค่ายเราเองครับ
โดม: อาร์ตเวิร์กก็ลุยกันเอง พร็อพหากันเอง
พัด: อาร์ตเวิร์กจะเป็นโซ่จาก Wave and So และปกอัลบั้มก็ได้หลาย ๆ คนมาช่วย ขอบคุณทุกคนเลย
Track by track
Chinese Banquet
ป่าน: ผมทำเพลงนี้เป็นเพลงท้าย ๆ เลย และทำเพลงนี้ให้เป็นธีมของอัลบั้ม โดยการฟังคาแร็กเตอร์เพลงอื่น ๆ ในอัลบั้มมา
พัด: ในตอนแรกเราพยายามจะใส่เนื้อร้องเข้าไป พอทำไปทำมาค้นพบว่าเป็นเพลงบรรเลงดีกว่า จึงนำมาเป็น interlude ของอัลบั้มไปเลย
แว่นกันแดด
กราฟ: จริง ๆ เพลงนี้ไม่มีอะไร ชีวิตประจำวันของผมคือทำเดโม่อยู่ที่ห้องอยู่แล้ว ก็เลยได้เพลงนี้มา จึงหยิบเรื่องสิ่งของมาแต่งเป็นเพลง ความหมายคืออยากหลบสายตาคนบางคนไม่อยากจ้องสายตาประมาณนี้ครับ (FJZ: คนใส่แว่นกันแดดในเพลงต้องเป็นคนยังไง) อาจจะเป็นคนขี้อายไม่กล้าสบตาครับ
พัด: มันคือกราฟครับ (หัวเราะ)
The Waiter
โดม: แทร็คนี้เราช่วยกันทำดนตรีก่อนครับ กราฟกับพี่พัดจะขึ้นเมโลดี้มาก่อน แล้วผมมาแต่งเนื้อร้อง เพลงพูดถึงอาหวังครับ (หัวเราะ) ซีนในหัวเราจึงเป็นพนักงานตามร้านอาหาร diner
พัด: ในตอนแรกเราอยากได้เนื้อเพลงท่อนเวิร์สก่อน เราอยากจะเล่าให้เห็นภาพเหมือนดูหนัง แบบ Bob Dylan ที่จะเล่าไปเรื่อย ๆ
กราฟ: มันก็จะเพ้อ ๆ หน่อย แบบว่าชอบสาวที่มาร้านเรา แต่ก็เพ้ออยู่คนเดียว ชีวิตโดมครับ (หัวเราะ)
Mermaid
กราฟ: จริง ๆ ผมจะแต่งให้มันแฟนตาซีไปเลย แต่มองอีกมุมหนึ่งเราก็อยากทำให้มันเศร้า ๆ
พัด: จริง ๆ เพลงนี้เปลี่ยนเยอะมาก ตอนแรกไม่เหมือนตอนนี้เลยครับ และมันจะมีท่อนเปลี่ยนเทมโป มันดีครับ แค่นี้แหละ (หัวเราะ)
Kiss
โดม: เหมือนเดิมครับ เพ้อ ๆ (หัวเราะ)
พัด: เพลงนี้โดมเป็นคนขึ้นเดโม่มาและเขียนเนื้อ
โดม: ช่วงนั้นไปดูวง Mild High Club มาแล้วอิน จึงอยากใช้ดรัมแมชชีนแบบวงนี้
Lavender
กราฟ: เพลงนี้เป็นเพลงเก่าเมื่อปี 2017 ครับ แต่ในอัลบั้มนี้เราเอามารีมาสเตอร์
พัด: มีอัดใหม่ด้วยนิดหน่อย
กราฟ: มันจะแตกต่างจากใน YouTube พอสมควร
Plant
กราฟ: เพลงนี้พูดถึงการสอนปลูกต้นไม้ครับ คือเราจะบอกขั้นตอนวิธีการปลูกต้นไม้ ประมาณว่า ‘เธออยากจะรู้ไหมว่าต้นไม้ต้นนี้มันปลูกยังไง’ แต่เนื้อหาเพลงในตอนท้าย ๆ จะไม่บอกอะไรเลยเกี่ยวกับขั้นตอนการปลูกต้นไม้ต้นนี้ เพลงนี้ผมขึ้นเดโม่มาก่อน แล้วมาช่วยกัน arrange อีกทีครับ
พัด: จริง ๆ เพลงนี้กวนมาก สนุกมาก ๆ (หัวเราะ) คือเนื้อเพลงจะสับขาหลอกเหมือนที่บอกไปเลยฮะ ซึ่งได้ไอเดียตรงนี้มาจากดนตรีก่อน เพราะตอนกราฟขึ้นเดโม่มา พอทุกคนได้ฟังแล้วรู้สึกว่าริฟฟ์กีตาร์กับ ซินธ์มันยึกยักทะเล้นได้ใจ เลยอยากให้เนื้อเพลงตอบสนองกันด้วย (หัวเราะ) มี easter egg ซ่อนอยู่ในเพลงด้วยนะ ตอน outro เป็นประโยคที่ตอบเนื้อหาเพลงเลย ลองเงี่ยหูฟังดูครับ (หัวเราะ)
Wake Up My Loves
พัด: เพลงนี้ผมแต่งเองครับ ช่วงนั้นอิน Devendra Banhart (หัวเราะ) เพลงนี้จะเพ้อปนโรแมนติกหน่อย ๆ ผมอยากให้เพลงขุ่น ๆ หน่อย ก็เลยออกมาแบบที่ได้ฟัง และผมอยากให้มันเชื่อมโยงกับเพลง Kiss เลยใช้ดรัมแมชชีนเหมือนกัน และสิ่งที่เหมือนกับเพลง Kiss อีกอย่างคือกีตาร์คลาสสิก ส่วนเนื้อเพลงก็จะเพ้อเลย
Romantic Scene
กราฟ: Romantic Scene เนื้อหาเพลงก็จะเกี่ยวกับเราไปเจอผู้หญิงบางคน แล้วทีนี้เจอครั้งแรกเราสปาร์ก แล้วสุดท้ายเราก็ผ่านกันไปแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเป็นความเสียดายในใจ มันเป็นช่วงแค่สองสามวิที่เราเดินสวนกัน สวนกันปุ๊ปแล้วก็เดินผ่าน ต่างคนต่างไป
ป่าน: พูดเรื่องเนื้อไปละ พูดเรื่องดนตรีบ้าง อันนี้เป็นเพลงแรก ๆ ที่ทำกันในอัลบั้ม และทำกันเต็มที่ ตอนแรกเดโม่มันจะรก ๆ เลยอะ แล้วเพลงก็จะไม่สนุกเท่านี้
พัด: เหมือนพยายามทำให้ทุกอย่างคลีนขึ้น แล้วก็มีจังหวะมากขึ้น (ป่าน: โยกได้)
Erotic Scene
ป่าน: Erotic Scene นี่เพลงของพัด
โดม: ตอนนั้นเราอินกับวงอะไร เราก็เอามาผสมกับอัลบั้มนี้หมดเลยครับ
พัด: ผมเขียนเนื้ออีกแล้ว ทำดนตรีด้วย ตอนนั้นอิน Connan Mockasin อัลบั้มใหม่ Jassbusters แล้วก็ร้องกับไอ้กราฟ ช่วงนั้นนอนกับไอ้กราฟครับ แล้วจิตผมหลุดมาก กราฟมันจะเปิดเพลง Charlotte’s Thong ก่อนนอน แล้วเพลงเกือบ 9 นาทีอะ (กราฟ: จริง ๆ ชอบ Connan อยู่แล้ว เลยอยากมีส่วนผสมของมันด้วย พี่พัดเลยจัดให้)
พัด: เหมือนเพลงนี้อยากให้เป็นเพลงที่เน้นเครื่องดนตรีมากครับ เลยมีท่อนที่เป็น insumental อยู่สองท่อนที่เป็นเหมือนแจมครับ แล้วก็เอาไว้ใช้สำหรับเวลาไปเล่นสดด้วย เลยทำท่อนนั้นให้ยาวขึ้นแล้วก็เล่นสนุก ๆ ได้
โดม: มีความกรู๊ฟเบา ๆ แบบ Men I Trust ประมานนั้นครับ
Sunglasses (Bonus Track)
พัด: อันนี้ทำก่อนอัลบั้มเสร็จอีก (หัวเราะ) คือผมได้เครื่องอัดเทปคาสเซ็ตมาใหม่ครับ แล้วผมอยากใช้ ผมเลยเอาเพลงแว่นกันแดด อัดลงไปในเครื่องอัดคาสเซ็ต แล้ว pitch down แค่นั้นเลย แล้วก็ปล่อยออกมา จริง ๆ ตอนแรกต้ังใจตั้งชื่อว่า แว่นกันแดด Vaporwave เพราะว่าผมเพิ่งไปอ่านมาว่าคอนเซ็ปต์ของเพลง vaporwave คือเอาเพลงแบบ 70s 80s มาสโลว์ทุกอย่างลง แล้วอะเรนจ์เข้าไปใหม่ ประมาณนั้นครับ อยากลองทำดู
กราฟ: เหมือนแบบใน YouTube อะ ที่วงมันก็ทำเพลงปกติมาใช่มั้ย แต่พวกแฟนเพลงเอาไปทำเป็นเวอร์ชันสโลว์เพื่อสนองตนเอง ผมชอบอะไรแบบนั้นก็เลยนี่แหละฮะ
พัด: กราฟมันขอร้องครับ (หัวเราะ)
แต่ละเพลงในอัลบั้มเป็นไปอย่างที่ Folk9 อยากได้ไหม
กราฟ: เป็นไปอย่างที่อยากได้ครับ
พัด: ในตอนแรกเรากำหนดมู้ดไว้แล้วว่าต้องการประมาณไหน ซึ่งก็มาจากเพลงที่เราอิน ๆ กัน โดยกราฟจะเริ่มทำเดโม่ก่อนประมาณ 5 เพลง และพวกเราก็ทำต่อ อัลบั้มนี้ทุกคนช่วยกันทำจริง ๆ เพราะอัลบั้ม Morning Day กราฟทำคนเดียวหมดเลย (FJZ: อัลบั้มใหม่มีซินธ์เพิ่มขึ้นด้วย) ใช่ครับ มันเป็นมู้ดที่เราอยากได้ ก็เลยมีคีย์บอร์ดกับซินธ์
คิดเห็นยังไงที่บางค่ายเพลงรวมทั้ง Parinam จะรวมวงดนตรีที่มีแนวคล้าย ๆ กันจนทำให้คนฟังพอเดาได้ว่าวงนี้มาจากค่ายไหน และ Folk9 อยากให้เป็นแบบนั้นไหม
พัด: อย่างนึงที่ดีคือทำให้เราเห็นคาแร็กเตอร์ของค่ายนั้นชัดเจน ซึ่งผมคิดว่าแต่ละค่ายเขาก็ต้องการมีตัวตนที่ชัดเจนอยู่แล้ว
ถ้าทำเพลงแตกต่างจากเดิม จะทำได้มั้ย
พัด: ผมว่ามันทำได้นะ อยู่ที่ว่าเราตกลงกันยังไง เพราะว่าเดี๋ยวนี้ค่ายอินดี้หลายค่ายซัพพอร์ตวงดนตรีง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่ให้ทุนหรือว่าเหมือนระบบสมัยก่อน เดี๋ยวนี้มันอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มมากกว่า ช่วยอะไรได้ก็ช่วย
จากตรงนี้ถือว่า Folk9 มาไกลจากจุดเริ่มต้นแล้วหรือยัง และอยากไปให้ถึงจุดไหน
กราฟ: ผมคิดว่าเรามาไกลพอสมควรครับ แต่คิดว่ายังขึ้นไปได้อีก คิดว่าจะไปต่อเรื่อย ๆ จริง ๆ เคยตั้งไว้ว่าเรามีงานเล่นแล้วทำเป็นอาชีพได้ก็พอ แบบทำอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับดนตรีเกี่ยวกับเสียง แต่ก็คิดไว้ว่าต้องมีงานเสริมแน่นอน (หัวเราะ) (พัด: แต่ผมอยากลองไปทัวร์แถบเอเชียดูครับ (หัวเราะ)) น่าสนใจเหมือนกัน
โดม: ผมคิดว่ามาไกลพอสมควรครับ แต่พอเริ่มตั้งแต่ทำอัลบั้มใหม่ ซิงเกิ้ลใหม่ ๆ พวก แว่นกันแดด หรือไรอย่าเงี้ยะ มันเหมือนเริ่มใหม่อีกรอบมากกว่า ทั้งการทำงาน ทั้งแนวดนตรี วิธีคิด มันเหมือนเริ่มใหม่หมดเลย
ป่าน: อยากทัวร์ในระดับเทศกาลดนตรีทั่ว ๆ รอบ ๆ ชื่อดังครับ แล้วก็อยากทำเพลงให้ได้คุณภาพถูกใจตัวเอง
คิดเห็นอย่างไรที่วงการเพลงมีคนทำเพลงแนว surf, dream pop หรือทำซาวด์ lo-fi เยอะขึ้นเรื่อย ๆ
กราฟ: ผมคิดว่าดีครับจะได้ครึกครื้น แต่ผมคิดว่ามันต้องมีส่วนผสมหลาย ๆ อย่างเพื่อทำให้มันดูน่าสนใจขึ้นด้วยครับ ทุกแนวมันเอามาผสมกันได้หมดเลย
พัด: ของผมยังไงก็ได้ครับ ขอแค่แบบมีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาก็น่าสนใจแล้ว
โดม: ผมก็ชอบครับ เพราะว่าชอบฟังอะไรอย่างงี้อยู่แล้ว มันก็เห็นว่ามีคนฟังเยอะขึ้น ก็ดี ตามยุค
ป่าน: ผมไม่ได้คิดอะไรครับ มันเป็นตามยุคสมัยที่ในแต่ละยุคคนจะทำกันไปเป็นคลื่นลูกใหญ่ ๆ อะครับ แต่ถือว่าดีครับ คึกคักดี
ฝากอะไรถึงผู้อ่าน
กราฟ: ฝากอัลบั้ม Chinese Banquet ครับ เพราะคิดว่าเป็นอัลบั้มที่พวกเราทำกันครั้งแรกแบบจริง ๆ จัง ๆ ลองฟังดูครับ ว่าฟีลอารมณ์จะประมาณไหนตั้งใจทำมาก
พัด: แล้วก็ฝากงานเปิดอัลบั้มของพวกเรา Chinese Banquet วันที่ 31 มกราคมที่ Play Yard บัตรราคา 200 ครับ ทักอินบอกซ์เพจ Folk9 มาได้เลย
เมื่อทุกไอเดียมารวมกันมักก่อให้เกิดส่วนผสมที่แปลกใหม่ เหมือนกับ Chinese Banquet อัลบั้มที่ทางวง Folk9 ย้ำว่านี่คืออัลบั้มที่ทุกคนร่วมกันสร้างจริง ๆ ไม่แปลกที่มันจะเปลี่ยนไปจากผลงานก่อน อัลบั้มนี้อาจเป็นซิกเนเจอร์ที่ชัดเจนขึ้นของพวกเขาอยากให้คุณผู้อ่านได้ลองพิสูจน์ >> Facebook fanpage