Dogwhine เด็กหนุ่มห้าคนที่ถ่ายทอดความคิดตรงไปตรงมา ผ่านดนตรีดิบเถื่อนอย่างมีชั้นเชิง
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
Dogwhine เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 4 คน และหนึ่งนักศึกษาคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ตั้งใจจะทำเพลงการเมืองมาระบายความอัดอั้นที่กักเก็บมานานหลายปี แต่ที่น่าสนใจไปกว่าเนื้อหาเพลง ก็คือความแปลกใหม่และมีชั้นเชิงในดนตรีที่น่าสนใจและไม่เหมือนใคร กับการแสดงสดที่พุ่งพล่านไปด้วยพลังงานที่ทำให้เราต้องโดดไม่ยั้งหน้าเวที
สมาชิก
แบงค์—สรวิศ อุทยารัตน์ (กลอง)
แคน—พันแสน คล่องดี (กีตาร์)
ต๊อด—กษิดิศ เงินคงพันธ์ (กีตาร์)
เฟิร์ส—ปราชญ์ ภคธารา (แซ็กโซโฟน)
ปั้น—ณัฐวรรธน์ โชติวิจักขณ์ (เบส)
แบงค์: เราเรียนลาดกระบัง ฯ ด้วยกันครับ มีเฟิร์สคนเดียวที่มาจากศิลปากร จริง ๆ เราเล่นมาด้วยกันตั้งแต่ปีหนึ่ง แต่ยังไม่ได้ชื่อวง ก็เล่นคัฟเวอร์ไปเรื่อยกับแคนสองคน แล้ววันนึงแคนบอกว่าอยากทำเพลงจริงจัง แล้วตอนที่ทำเพลง Leader ก็คือเริ่มรู้ทิศทาง แต่ยังไม่ได้ปล่อยเพราะนักดนตรีในวงยังไม่ครบ ยังไม่ลงตัว ตอนเล่นก็ยังไม่เห็นภาพจริง ๆ แล้วเพิ่งได้มาปล่อยเมื่อต้นปีนี้ งานแรกที่เล่นคือ Art Street ของลาดกระบัง ฯ รวมวงมาได้ปีที่แล้วที่ครบ ๆ เอง
แล้วไปเจอเฟิร์สได้ยังไง
แบงค์: คือทีแรกเพื่อนผมแนะนำ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นยังไง แคนก็ไปสมัครงานร้านข้าง ๆ เพื่อดูมันทุกวันอังคาร
แคน: ผมไปเป็นเด็กเสิร์ฟร้านข้าง ๆ Jazz Happens ที่เฟิร์สเล่น (หัวเราะ) จะได้มาคุยกับมัน (ปั้น: เหมือนจีบหญิง) ไม่เชื่อว่าเก่งไง จริง ๆ ผมจะไปดูทุกอาทิตย์เลยก็ได้แต่มันจะเสียตังไง ค่าเบียร์ ค่าเดินทาง ผมหาเงินด้วยแหละตอนนั้น ทำอยู่เดือนสองเดือน ก็ไปลองคุยกับมัน ช่วงแรก ๆ ไม่คุยกับผมหรอก แต่ก็พยายามชวนคุย แต่ละวีคเล่นเล่นไม่เหมือนกัน ก็ได้ดูเรื่อย ๆ แล้วรู้สึกว่าสไตล์ชัด พอพื้นฐานเริ่มสนิทกันก็ชวนเลยครับ
ปั้น: ใครจะไม่กลัววะ โคตรเหมือนสตอล์กเกอร์ ไปนั่งเฝ้าตามร้านอะ (หัวเราะ)
เฟิร์สรู้อยู่แล้วไหมว่าเพื่อนเล่นเพลงแนวนี้
เฟิร์ส: ไม่รู้เลย ก็แค่ทัก ๆ มาว่าเป็นเพื่อนของเพื่อนเราอีกที บอกว่าอยากทำเพลง เราก็ได้ ๆๆๆ แล้วเขาก็หายไปเลยเป็นเดือน นึกว่าไม่ทำแล้ว แล้วทักมาอีกทีถามว่าเล่นไหน ก็เป็นตามที่เล่ามา แล้วพอรู้ว่าเล่นแบบนี้ก็มีเหวออยู่พักนึงกว่าจะคิดอะไรได้ เพราะไม่เคยเล่นอะไรแบบนี้จริงจัง คือเคยเล่นผ่าน ๆ เพราะเล่นทุกแนวอยู่แล้ว แค่เราเรียนแจ๊สมา ก็เอามาใช้หมด
ช่วงคัฟเวอร์เล่นเพลงแบบไหนกัน กับตอนทำ Leader ทีแรก ตั้งใจให้เพลงออกมาเป็นแบบไหน
แบงค์: ตอนแรกปีหนึ่งมาก็แมธร็อกเลย แบบ Two Million Thanks เงี้ย ก็ลองทำแล้วอัดเดโม่ใส่มือถือ เปิดฟังแล้วแบบ เชี่ย แม่งเหมือนเกินไป น้ำค้าง Desktop Error (หัวเราะ) เงี้ย ก็รู้สึกว่าความเป็นตัวเองมันไม่มี แต่ไฟยังเยอะอยู่เลยลองไปเรื่อย ก็เริ่มมาลงตัวตอนปีสาม แคนเอา Deerhoof มาให้ฟัง (แคน: อัลบั้มเก่า ๆ Deerhoof นี่สไตล์ค่อนข้างชัดเลย) ตอนแรกก็ยังไม่เก็ตหรอก อย่างงี้มันต้องเล่นยังไงวะ ก็คุยกันเรื่องเพลง คนนู้นคนนี้แลกกันฟัง เหมือนเราไม่ค่อยเปลี่ยนแนวทางกันแล้ว พอทำเพลงแรก Leader ออกมาเลยต่อเพลงอื่นไปได้ง่าย
แคน: ใช้เวลาปีสองปีกว่าจะได้เวอร์ชันนี้
แสดงว่าแบบนี้ก็ทันยุค SO::ON Dryflower รู้สึกยังไงตอนที่ไม่มีค่ายนี้แล้ว เพราะตอนนั้นซีนดนตรีทางเลือกคือคึกคักหลากแนวมาก ๆ
ปั้น: ตอนที่เราเริ่มอัด เริ่มทำจริง ๆ คือค่ายเขาก็ไปแล้ว ก็เศร้า
แบงค์: จริง ๆ ตอนแรกอยากอยู่ค่ายนี้เลย เคยคิดว่าคงไม่อยากอยู่ค่ายไหนอีกแล้ว แต่พอตอนนี้ได้รับโอกาสจาก Tomato Love Records หยิบยื่นเข้ามาก็รู้สึกว่าได้มากกว่าเสีย แล้วเขาดูจริงใจที่จะคุยกับเรา
ปั้น: ผมรู้สึกว่าอยู่ที่ตัวคนทำเพลงมากกว่า เพราะยิ่งช่วงนี้ผมเห็นคนแอคทีฟขึ้นมาทำเยอะขึ้นกว่าตอน SO::ON ปลาย ๆ มันไม่ค่อยมีอะไรให้เห็น กลายเป็นช่วงนี้มีออกมาเยอะกว่ามาก ๆ แบบ มีเพลงปล่อยทุกอาทิตย์ มีงานเล่นสดเยอะกว่า แล้วยังมีคอมมิวนิตี้ที่แข็งแรงกว่าตอนนั้นมาก
แบงค์: รู้สึกว่ามีคนทำงานดนตรีแล้วมีวงอินดี้ไปเล่นด้วยเยอะกว่าแต่ก่อน เมื่อก่อนแทบหาไม่ได้เลย ยาก
ในขณะที่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เพลงก็ทำกันเองได้แล้วทำไมถึงยังยอมอยู่ค่าย
วง: เงินเลยครับ
แคน: คือ EP แรกเรายังไหวอยู่ มี 6 เพลงกับ 2 interlude มันก็ไม่เยอะมาก แล้วก็คุยกับ Tomato Love Records ว่าจะทำอัลบั้ม 13 เพลง ซึ่งมันก็มีในหัวมาบ้างแล้ว ถ้าเรายังอยู่กันอย่างนี้ เราอาจจะมีเงิน แต่เราไม่มีเวลา เพราะบางคนก็ต้องทำงาน ต้องเรียน ก็เลยหาทางที่พอจะช่วยเราได้ไม่ทางใดก็ทางนึงมาซัพพอร์ตเราด้านโปรดักชัน มันเป็นเรื่องใหญ่ที่พวกเราไม่รู้ เรามีหน้าที่แค่คิดเพลง กับอัด แล้วก็ปรึกษาเรื่องมิกซ์ มาสเตอร์ ซึ่งเขามีความรู้เรื่องนี้มากกว่า เขาคงจะช่วยเราได้
แบงค์: เหมือนมันเกินกำลังกันไปด้วย เพราะภาพที่แคนเคยเล่าให้ฟัง มันเหมือนโปรดักชันด้านดนตรีใหญ่ขึ้นไปอีก อาจจะมีเครื่องอื่นแล้วเราก็ต้องพึ่งเขา แล้วบางทีบางงานใหญ่ผมอาจจะรู้จักคนจัด แต่พาวเวอร์ไม่พอ ถ้าค่ายไปคุยน่าจะง่ายกว่า ก็อาจจะเป็นช่องทางที่ทำให้ผมได้เล่นงานที่น่าสนใจมากขึ้นด้วย
ปั้น: แล้วคนในนั้นก็เก่ง พี่เต๊นท์ Summer Dress แก๊งพี่เอ๊กซ์ Soft Pine พี่ ๆ Supergoods หรือพี่พัด Folk9 เขาเก่งกันมากเลยอะ เขาช่วยอะไรเราได้แน่ ๆ ไม่ขั้นตอนใดขั้นตอนนึง สมมติเราไปเล่าไอเดียให้เขาฟัง เขาอาจจะมีอะไรที่คุยกับเราได้มากกว่าที่เรามานั่งคุยกันเอง ในโปรดักชันการอัดเขาอาจจะมีอะไรที่แนะนำเราได้ post production เขาเก่งกันอยู่แล้ว พี่เต๊นท์ก็เป็นครู
ความเป็นคณะครีเอทีฟมันทำให้ตีกรอบความสนใจของเราหรือเปล่า เพราะจากที่เล่ามาวงต้นแบบเป็นเด็กลาดกระบังทั้งนั้นเลย
แบงค์: ผมว่าถ้าเรื่องการช่วยหลอมคน เป็นไปได้ ผมรู้สึกว่าตอนที่ผมอยู่ปีหนึ่งปีสอง ตอนนั้นฟังแต่เพลงแบบนึง ส่วนสมัยนี้อาจจะเป็นฮิปฮอป แต่ก่อนงานดนตรีเยอะ แล้วคณะผมชอบจัดงานเล็ก ๆ เอาวงที่ไม่รู้จักมาก่อนเลยมาเล่นอย่าง Lake House มันทำให้ผมรู้จักวงที่อินดี้สุดทางไปเลยอะ แล้ววงที่ผมได้ดูเขาเล่นกันตอนนั้นเขาก็ไม่ได้ทำเพลงกันแล้ว
ปั้น: จริง ๆ สถาบันอาจจะไม่ได้เชปอะไรเรา แต่ว่าคนที่เข้าไปบังเอิญเป็นคนที่ชอบอะไรแบบนั้น เวลาคนประเภทคล้าย ๆ กันอยู่ด้วยกันมันก็จะดึงกันไปในทางนึง รุ่นหลัง ๆ เราก็ไม่ค่อยได้เข้าไปนั่นนี่กันแล้ว
แบงค์: ผมรู้สึกว่าเป็นเพราะทุกคนไม่ได้เรียนดนตรีมา แล้วเกิดว่าใครอยากเล่นอะไรก็เล่นไปเลย ไม่มีอะไรมากั้นไว้ ตอนแรกก็ไม่เก็ตเหมือนกันนะ การฟังเพลงตอนแรกต้องมีฮุก มีโซโล่ แล้วตอนคุยกับแคน เอาเพลงมาให้ฟัง มันก็เริ่มเปลี่ยนไป แจมกัน พอได้ก็อัดเก็บ ๆ
แคน: ผมว่าเป็นเรื่องจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรียนศิลปะ ดนตรี หรือไม่ได้เรียน มันอยู่บนพื้นฐานที่เรากล้าที่จะทำอย่างนั้น ไม่ต้องมีทฤษฎีมาคอยทำให้เรากลัว ผิดถูกเราก็ไม่รู้ คือชอบไปแล้ว ไม่รู้เป็นทุกภาควิชาไหม แต่เด็กลาดกระบังถูกสอนให้เป็นอย่างนั้นไปแล้ว อย่างผมทำงานศิลปะ ก็คิดแค่ว่าทำไปก่อน แล้วคิดเผื่อว่ามีคนชอบ ก็มีคนไม่ชอบ ไม่มีผิดไม่มีถูก
แล้วในแง่เด็กที่เรียนดนตรีมารู้สึกยังไงกับแนวคิดนี้
เฟิร์ส: ตอนแรกก็งง แต่รับรู้ด้วยสัญชาตญาณ เพราะผมก็เป็นคนเล่นดนตรีโดยสัญชาตญาณเหมือนกันว่า ไม่มีทฤษฎีแน่นอน (หัวเราะ) (แคน: เหมือนมันจะด่า) แต่ชอบเพราะมันดิบมาก ไม่เคยเจออะไรที่ดิบ รุนแรง ขนาดนี้ มันมีความหมายซ่อนอยู่ในเพลง มันพูดยาก จินตนาการดีเกินไปมาก พอดนตรีมาเราก็เอาของเราไปเสริม พยายามปิดช่องตอนโซโล่ มาเติมเต็มท่อนนั้นท่อนนี้ให้แปลกขึ้น
ได้ยินว่ามีช่วงนึงที่ดุ่ย Two Million Thanks/ Youth Brush มาช่วยโปรดิวซ์
ปั้น: ในเซ็ต EP อันนี้แหละครับ พี่ดุ่ยมาช่วยดูในหลาย ๆ เพลง แล้วก็มิกซ์ ส่วนมากที่ผมรู้สึกการโปรดิวซ์ของพี่ดุ่ยไม่ใช่แบบ อะ มึงมาซ้อมกัน แล้วเดี๋ยวกูเข้าไปบอกนะ ตรงนั้นมึงแก้ ๆๆๆ เขาไม่ได้ทำ เขาเป็นสายแบบ มึงเล่นของมึงไปเหอะ แล้วส่งไปให้เขามิกซ์ เขาจะเอาไปทำอะไรต่อ เช่น จัดวางอะไรหลาย ๆ อย่าง ไลน์ร้องให้เป็นแบบนี้ เอฟเฟกต์ตัวนั้นตัวนี้เขาจะเป็นคนช่วยเราส่วนนั้นเยอะ แล้วเพลงที่ยังไม่ได้ปล่อย Symphony Song อันนั้นเขาเข้ามาช่วยโปรดิวซ์เยอะเลย มานั่งดูตอนซ้อมเลย
แบงค์: เหมือนเขามาเกลาตั้งแต่ต้น ๆ แล้วปล่อยทำเอง เขาแค่จบงาน ตบ ๆ ให้
ได้อะไรจากการร่วมงานกับดุ่ยบ้าง
แคน: ตอนนี้เรามีอะไรก็คุยกันตรง ๆ เราเรียนรู้กัน ณ เดี๋ยวนั้น พี่ดุ่ยเขาชอบส่งเพลงมาให้ฟัง พาไปดูนู่นดูนี่ คอนเสิร์ตที่เขาเล่น
ปั้น: ตอนนั้นเขามีทัวร์ Youth Brush ตอนนั้นยังไม่มี Dogwhine แต่เขาก็ชวนพี่แคนตอนทำวง Anesthetic Granny ไปเล่นเปิดที่ขอนแก่น กับมหาสารคาม ผมก็ไปด้วย มันเป็นการสอนที่ดีมาก
แคน: คือได้ไปดู ไปซึมซับ ไปรู้จักคน ก็คือได้ไปคัดกรองอะไรที่รับมาด้วย
รู้สึกยังไงที่ได้รับความสนใจมาก ๆ ในฐานะวงหน้าใหม่ แถมมีงานเล่นบ่อย ทั้ง ๆ ที่แนวเพลงก็เฉพาะกลุ่มมาก
ปั้น: ผมรับงานกันง่ายด้วยแหละ ไม่ได้ตังก็ไป
แบงค์: ก็เหมือนจุดเริ่มต้นของทุกวง งานฟรีอะไรก็ไป แต่เคยคุยกันในวงว่าพยายามเอาตัวเองไปวางในจุดที่มันถูกต้อง ตอนแรกผมก็ไหล ๆ ได้หมด แต่คิดว่าตอนนี้ผมโชคดีที่ไปสะกิดโดนอะไรถูกที่ถูกเวลาพอดี แล้วคนช่วยเยอะเลย connection ช่วยแชร์ ช่วยอะไรเยอะมาก มันได้จากตรงนั้นแหละ ขอบคุณฟังใจด้วยครับ อันนี้คือสุด ๆ แล้ว
แคน: ผมว่าวงโชคดีที่มีความสดใหม่ มันอาจจะถูกหู สมมติถ้ามีวงที่ซาวด์เป็นแบบนี้อีกวง พวกผมอาจจะไม่ได้โชคดีอย่างนี้ก็ได้ จังหวะเวลามันพอดี
กังวลไหมว่าใครจะฟัง
แคน: ไม่ ผมบอกเพื่อนเลยว่า ทำไปเหอะ ไม่ดังหรอก
ปั้น: ตอนแรกคือซ้อมกันก่อนไปเล่น Art Street ตอนนั้นยังไม่มีเพลงปล่อยเลย แล้วผมเข้ามาเล่นซักพัก ก็บอกพี่แคนว่า ถ้าไปเล่น ปล่อยเพลงเถอะ ไม่ปล่อยมันเหี้ยเว่ยพี่ ก็เลย กลับบ้านไปส่งไฟล์ แปะรูป ปล่อยเพลง ทำเพจ ทำอะไรคืนนั้นทุกอย่าง แล้วงงกว่าคือสองวันต่อมา ฟังใจเขียนถึง ตอนแรกนึกว่าจะไม่มีใครรู้จักไปอีกสองสามเดือน จนมีเพลงอื่นตามออกมาเงี้ย เพราะเพลงนี้ฉุกละหุก ปล่อยตอนสิบโมง
แคน: เราไม่ได้หวังดัง การปล่อยเพลงคือไม่ได้วางแผนอะไรเลย แต่ก็ไม่ได้กลัวถึงขนาดตัดทอนกำลังใจตัวเอง เพราะก็รู้ว่าเพลงแนวนี้มันเฉพาะกลุ่มประมาณนึง แล้วไม่รู้ว่ากลุ่มนี้ใหญ่แค่ไหน แต่เราก็มีการซัพพอร์ตด้วยการเล่นสดด้วยอีกทาง เหมือนใครอยากรู้จักวงก็ต้องมาดูสดนะ ออดิโอก็แค่ 50% ผมว่ากระแสดนตรีมันหมุนไปเรื่อย ๆ
ปั้น: คือเพลงแนวอื่นเขาก็มีวิธีการถ่ายทอดต่างกับเรา เราไม่ได้รู้สึกว่าเราโตมากับมัน มันไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำออกมาเป็นดนตรี สิ่งที่เราทำคือแค่อยากทำอะไรที่เราอยากจะฟัง แต่การเป็นเพลงแนวอื่นที่เป็นที่นิยมมากกว่าไม่ใช่เพราะเขาอยากดัง แต่เพราะเขาโตมากับอย่างนั้น เขาเลยเป็นแบบนั้น
ตอนทำเพลง Leader นี่คือตั้งใจเป็นวงการเมืองหรือเปล่า
แบงค์: ตั้งใจครับ แคนมันบอกมาตั้งแต่แรกเลยว่าอยากจะพูดอะไร
แคน: ชื่อวงก็การเมือง พื้นฐานชีวิตผมเป็นคนชอบหมา แล้วรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว สัมผัสทุกวัน มันก็ใกล้ชิดพอ ๆ กับหมา ก็เป็นอะไรที่เราชอบ เลยมองถึงเรื่องประท้วง การเรียกร้อง แล้วคำว่าหมาหอน มันก็คืออะไรแบบนั้น Dogwhine ซึ่งผมก็เขียนในคอนเซ็ปต์วงว่า หมาหอนเกิน 5 ตัว คุณก็จะถูกจับไป เหมือนกฎหมายประท้วงนั่นแหละ หรืออย่างเพลง Dog of God ดันสัมพันธ์กับประชาชนตาดำ ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ แบบ อยู่ไปเถอะ เขาก็มองเราเป็นแค่หมา
ปั้น: แต่ไม่ได้เป็นขนาด Bomb At Track ที่บอก ‘ไอ้สัส มึงแย่’ เราจะเป็นอีกพาร์ตนึงมากกว่า ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เราจะทำสิ่งนั้นมันเกิดอะไรขึ้น มันมีอะไรอยู่ในใจพี่แคน เขาแค่ระบายออกไป
แคน: เพลงของ Dogwhine ก็จะบันทึกสิ่งที่เกิดในปี 2019 แหละ จริง ๆ แนวคิดก็เหมือนวงเพื่อชีวิตทั่วไป อีก 10-20 ปีวงผมอาจจะเป็นวงสงครามแล้วก็ได้ใครจะไปรู้ (หัวเราะ)
ปั้น: สมมติปีหน้าการเมืองไม่มีเหี้ยอะไรแล้ว ทุกอย่างสงบเรียบร้อย เราอาจจะทำเพลงรักกันอยู่
การทำเพลงการเมืองเพื่อเรียกร้อง หรือพูดแทนในสิ่งที่คนไม่กล้าพูด ได้ผลจริงไหม
แคน: ส่วนตัวผมว่าได้ผล การประท้วงมีทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะกระบอกเสียงใหญ่หรือเล็ก พวกผมเป็นนักดนตรี ถ้าผมจะประท้วง หน้าที่ของผมก็คือเล่นดนตรี เอาความรู้ความสามารถของตัวเองถ่ายทอดให้เห็นอีกรูปแบบ หรืออย่างเพนกวินเขาอาจจะมีความรู้เรื่องกฎหมาย หรือการรณรงค์เชิงสัญญะ เขาก็ออกไปกินมาม่าบนสกายวอล์ก ก็เป็นวิธีของเขา นี่เป็นวิธีของพวกผมที่กล้าที่จะทำ
ปั้น: แล้วหน้าที่ของคนเล่นดนตรีมันก็คือการพูดออกไปอยู่แล้ว
กลัวไหม
วง: ไม่กลัว
แบงค์: เราจะไม่พูดอะไรตรง ๆ ไปยังไงก็ได้ให้มันอ้อม ๆ ให้มันมีชั้นเชิงในการเล่าหน่อยเพื่อป้องกันตัวเองด้วย มันอาจจะดูโอเคกว่าการที่โพล่งไปเลย ให้ดูแบบ กูคิดมานะเว่ย เอาความเป็นศิลปะเข้าไปใช้ด้วย
แคน: แต่บางเพลงก็เป็นหมัดตรงเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องที่พูดได้ อย่างเพลง Democrazy คือเราไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะเป็นวงที่คนมาฟังเยอะด้วย
ปั้น: ถ้าไม่มีใครไปบอกตรง ๆ ว่าวงนี้เอียงซ้าย (หัวเราะ) ถ้าเป็น Bodyslam มาพูดเรื่องการเมืองเขาก็อาจจะโดน
EP มี 6 เพลง 2 interlude จะใช้ชื่ออะไร ขอคอนเซ็ปต์คร่าว ๆ
ปั้น: มี interlude ชื่อ Destroy the States กับเพลงที่ยังไม่มีชื่อ จะมาก่อนเข้า Dog of God
แคน: ชื่อ Dog of God EP นี้ก็คือทุกคนยังใหม่ ก็จะเป็นการปล่อยผีแหละ
ปั้น: เหมือนเราเพิ่งมาเล่นดนตรีด้วยกันไม่นาน แล้วพี่แคนอยากทำอันนี้ พี่แบงค์อยากทำอันนี้ ตอนผมเข้ามาก็เหมือนเป็นกาวระหว่างพี่แบงค์กับพี่แคน พี่ต๊อดก็เข้ามาเติมไลน์กีตาร์โซโล่ และอื่น ๆ พี่เฟิร์สเข้ามาเติมโซโล่ มันคือการยำของแต่ละคน แล้วเป็นอะไรที่สดใหม่ เราทำแบบเดินไปทีละช่อง ๆๆ เพลงนี้เสร็จ ต่อเพลงใหม่ เป็นการที่เราเข้ามาแจม เพลงนี้ได้เอาเพลงนี้ ไม่ได้มีแก่นของอัลบั้มที่เราคิดว่าควรจะเป็น เราเลยอยากตัดให้เป็น EP มากกว่า กับสิ่งที่เราเห็นมาด้วยเนี่ย PLOT หรือ Two Million Thanks ยังมี EP เดียวอยู่เลย มันไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีนะ แต่เราก็ทำแบบนี้ด้วยจุดประสงค์นี้
แคน: ก็จะมีทุกเพลงที่ปล่อยมาแล้ว คือ Leader, Unemployment, Dog of God, Democrazy, Symphony Song แล้วก็ Apologise for the Monument ซึ่งสองเพลงหลังเนี่ย Symphony Song เป็นเพลงรักธรรมดา วงเราควรมีเพลงรักสักเพลงให้คนมีส่วนร่วมได้
ปั้น: มันก็เป็นเรื่องราวของพี่แคนแหละ ถึงมันจะไม่ค่อยเข้าพวก
แบงค์: แต่ผมรู้สึกว่ามันโอเค เพราะเป็นเพลงที่เบรกอารมณ์ของเพลงอื่น ๆ แล้วก็เป็นเพลงค่อนข้างป๊อป ฟังง่ายสุดแล้ว ผมชอบเพลงนี้เพราะตอนเล่นมันไม่เหนื่อย ชิลดี เหมือนเราได้พักไปด้วย คนฟังก็อาจจะเอ็นจอย
แคน: ส่วน Apologise for the Monument ผมพูดเรื่องอนุสาวรีย์ในบ้านเราที่สร้างไปก็ไม่มีความหมาย จริง ๆ มันมีหลายที่มาก 14 ตุลา พฤษภาทมิฬ อนุสาวรีย์ชัย ฯ ประชาธิปไตย คือมันไม่ได้มีประวัติศาสตร์ที่สอนในคลาส แทบจำความไม่ได้ถ้ามองกลับไป ต่างชาติทุกอย่างมีในตำราหมดเลยนะ ของเราอาจจะมีแค่สองหน้า ก่อนแต่งเพลงเนี้ยผมถามใครหลายคนมาก คือผมชอบทำรีเสิร์ช ว่าทั้งชีวิตนี้รู้จักอนุสาวรีย์ในประเทศไทยทั้งหมดกี่อัน ก็ตอบซ้ำ ๆ กัน พอถามลึก ๆ เขาเริ่มไม่รู้แล้ว ผมไม่โทษเขา แต่ผมโทษการศึกษา เหมือนเราพยายามจะลบประวัติศาสตร์ด้วยการไม่สอน
ปั้น: ผมว่าคนจะไม่เข้าถึงมันถ้าคนไม่เห็นอะไรเลย อย่างหลาย ๆ ประเทศเขาจะบอกตลอดว่ามันมาถึงตรงนี้ได้เพราะอะไร ฝรั่งเศสมันเห็นชัดเลย แต่ของเราเราไม่เคยรู้ รู้แค่กู้เอกราช เสียกรุง ตั้งเมือง
แคน: ประวัติศาสตร์เราจะตายเพราะการศึกษา เขาคงกลัวว่าคนจะตั้งคำถาม สมมติมีเด็ก 50 คนในคลาส แล้วเขาจะสอนเรื่อง 6 ตุลา ผมรู้ว่าเด็กทุกคนไม่ชอบความรุนแรง เขาคงตั้งคำถามกัน เด็กคืออนาคตของชาติ เขากลัวเด็กจะเปลี่ยนแปลง เขาคงกลัวเลยไม่สอน การศึกษาไทยขาดความจริงใจ
ปั้น: ผมโทษคนตอนนี้ที่ไม่ทำอะไรกับเรื่องที่ถูกบิดเบือนมาเลย
คิดว่าซีนอินดี้ไทยเป็นสนามเด็กเล่นที่เปิดโอกาสให้ทุกคนจริง ๆ หรือเปล่า
ปั้น: ถ้านับซีนในยุคนี้เราจะนึกถึง Cat Radio ฟังใจ แล้วก็หลาย ๆ เพจที่เขียนรีวิวเพลง หรืออะไรก็ตาม ถ้านับ YouTube ด้วยก็เปิดโอกาสจริง ๆ นะ เพราะใครจะลงอะไรก็ลงได้ ฟังใจด้วย ถามว่าเป็นสนามเด็กเล่นสำหรับทุกคนทุกแนวไหม ผมว่ามันครบถ้วน แต่ถ้านับในด้านสื่อ มันไม่ได้มีที่สำหรับทุกคน ไม่มีที่ไหนในโลกนี้มี มันต้องมีทางที่จะมีก็คือคุณต้องทำเพลงที่ถูกจริตเขา และเขาก็จะนำคุณขึ้นไปอยู่บนซีนนั้น ๆ แต่มันก็มีหลายตัวอย่าง บางทีเราชอบมาก แต่ไม่เคยเห็นวงนี้ถูกเอาไปเล่นสด ไม่รู้ว่าเขาเรื่องมากเองหรืออะไร แต่เราไม่เคยเจอเขา แล้วเราก็ไปเจอ Soundcloud เขา แบบ เหี้ยไรเนี่ย ดีชิบหาย แต่ไม่มีคนฟัง มันก็มี
แคน: ผมว่าอาจจะไม่ใช่สนามเด็กเล่นซะทีเดียว เป็นเวทีมากกว่า ให้คุณมาโชว์ของที่คุณมี ไม่ชอบแค่ตกรอบ แต่ถ้าตกรอบก็ยังมีคนเชียร์อยู่ แต่ถ้าเป็นคนที่ถูกจริตกรรมการ คุณมีคนเชียร์เยอะ ก็ไปการแข่งขันอีกรายการได้ กรรมการพวกนี้ก็เป็นสื่อใหญ่ ๆ Cat Radio ฟังใจ พวกนี้คอยให้การสนับสนุนคุณอยู่แล้ว กรรมการทุกคนความเห็นไม่ตรงกันหรอก แต่เขาจะพาคุณไปแข่งในอีกหลาย ๆ ที่อยู่ดีนั่นแหละ
แบงค์: สำหรับคนที่จะอยู่นานหรือไม่นาน ผมมองว่ามันอยู่ที่ความสม่ำเสมอแหละพี่ มันเหมือนทุกวันนี้อะไรบ้างก็ไม่รู้เต็มไปหมด มีคนทำเพลงทุกวัน คนตั้งวงทุกวัน แล้วเทรนด์ตอนนี้เป็นแบบเดียวกันหมด มันก็อาจจะเหนื่อยนิดนึงถ้าเขาคิดมาว่าเขาอยากไปไกลกว่านี้ ก็ต้องสู้หน่อย ต้องทำเพลงตลอด ๆ ไม่งั้นจะจมหายไป
การหายไปของ Play Yard และการเกิดใหม่ของไลฟ์เฮาส์
ปั้น: มันก็น่าเสียดาย แต่ว่าการหายไปของ Play Yard ไม่ใช่ไม่มีคนมาดู คนดูยังอยู่ แต่เขาก็หาที่ใหม่ไปเรื่อย ๆ คือมันไม่ได้ส่งผลกับภาพรวมซีน ตอนนี้มี De Commune มี Goose Life Space, Brownstone, NOMA, Speaker Box, Studio Lam โห มันเยอะมาก แล้วยังมี Junk House ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้จัก แล้วพี่แบงค์เพิ่งแนะนำว่ามีที่นี่ที่อยุธยา แล้วช่วงนี้เขาก็กำลังมา มันเริ่มเป็นหลักเป็นแหล่งขึ้นด้วยซ้ำ
แคน: ผมว่าที่เป็นผลกระทบคือการที่ทางเลือกเยอะขึ้น วงดนตรีเยอะขึ้น คนดูมันก็เลือกจะไปฟังเยอะขึ้น เพราะอีเวนต์ผุดเป็นดอกเห็ดเลย
แบงค์: มันอาจจะดีตรงที่ทำให้ตลาดอินดี้โตขึ้น มันมีคนที่ทำเพลงฟังยาก ๆ อย่างวงผม ผมรู้สึกว่ามันก็มาได้ไวกว่าที่ควร มันเกินไปเยอะ ถ้าเป็นแต่ก่อนก็คงมายากเหมือนกัน มันต้องเจ๋งจริง
แคน: โชคดีที่ทุกคนให้ความสำคัญด้วย ขอบคุณทุกคนมากนะครับ
เหมือนสมัยก่อนต้องมีคนพูดคนนึงแล้วทุกคนเชื่อ
ปั้น: มันจะมีคอมมิวนิตี้ สมัยนั้นเพจยังไม่โตเลยมั้ง ก็ต้องมานั่งคุยกันแบบ เฮ้ย วงนี้ดี ไหนลองฟัง เผลอ ๆ เพื่อนเราไม่ชอบ ต้องไปพูดกับสิบคนแล้วมีคนค่อย ๆ ชอบ สมัยนั้นยากกว่าตอนนี้เยอะ
แต่การที่งานผุดเป็นดอกเห็ด แล้วคนดูส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกัน แบบนี้ก็เหมือนแย่งลูกค้ากัน
ปั้น: มันก็คัดสรรคนที่เก่งให้อยู่รอด สมมติเรามีคนอยู่ในห้องนี้เจ็ดคน เรามีวงดนตรีไปแล้วห้าคน ก็เป็นไปไม่ได้ที่อีกสองคนจะตามไปดูงานของแต่ละคนได้ครบ แล้วกรุงเทพ ฯ มันเล็ก เราต้องไปโตทั่วประเทศ ต้องไม่ใช่แค่สองคนเป็นคนฟัง แต่ต้องสิบ ยี่สิบคนจากที่อื่นมากฟัง มันก็เป็นธรรมดาของตลาดที่วงเยอะ คนก็มาดูมึงน้อย ถ้าวงน้อย เล่นน้อย คนก็จะมาดูมึงเยอะในแต่ละครั้ง วิธีแก้ของมันที่ผมรู้สึกคือเราต้องไปเล่นที่อื่น เพราะที่นี่เป็นไปได้ยากว่าคืนนึงเราจะมารวมวง 20 วงให้มาเล่นด้วยกันในงานเดียว แล้วเสียเงินครั้งเดียว
เผลอ ๆ บางงานคนก็ไม่ไป เพราะคนไม่มีตังกันแล้ว จะแก้ปัญหายังไง อย่างงานที่ลิโด้ เป็นงานฟรี คนไปเต็มโรงเลย
แคน: ผมมองภาพรวมนะว่าสถานที่มันสะดวก ใกล้รถไฟฟ้า แล้วลิโด้ใหม่ก็ดี 70% เลยด้วยเพราะว่ามันฟรี ผมคิดว่าเราอาจจะต้องให้งานนั้นเหมือนจะฟรีแต่ไม่ได้ฟรี คือเรามาดูดนตรีฟรีก็จริง แต่เราอาจจะต้องซื้ออะไรสักอย่าง เช่นแผ่นซีดี ของที่ระลึกเป็นค่าผ่านทาง แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกัน เรื่องอุปสงค์ อุปทาน มันเป็นเรื่องเศรษฐกิจไปแล้ว
ตอนนี้ทุกคนในซีนพยายามผลักดันให้ดนตรีไม่ฟรี แต่คนก็ไม่ได้ให้มูลค่ากับงานศิลปะหรือดนตรีขนาดนั้น
แบงค์: มันเกี่ยวกับค่านิยมบางอย่างด้วยที่เราชอบได้ของดีราคาถูกกันอะ ผมก็เป็นคนนึงที่รู้สึกตลอดว่าสมมติงานนี้ขายไม่เกิน 300 ก็คงเข้า แต่ถ้าเกินกว่านั้น คนทั่วไปที่อยากจะดูดนตรีจะไม่ค่อยเข้ากันแล้ว ถ้าไม่ใช่งานคอนเสิร์ตใหญ่อะ
ปั้น: ล่าสุดไปงาน Crossplay ฟังใจ ไม่ได้จะพูดว่าแพง แต่ถ้าเราไปวันนั้น เราจ่ายบัตรไปแล้ว 800 เราต้องไปซื้อเบียร์กิน ซึ่ง ตังจะไม่ค่อยมีละ วันนั้นผมยอมเดินไปโคตรไกล นั่งกินกันอยู่หน้าเซเว่น สักพักค่อยเข้ามาดู ซึ่งทั้งหมดที่ผมหมดวันนั้นคือ 1,500 แล้วราคานั้นสำหรับเด็ก ได้เงินเดือนนึง 6-7 พัน 1,500 นี่เกิน 10% แล้วนะสำหรับคอนเสิร์ตเดียว ดังนั้นทุกคนในวงเราก็ยังต้องทำงานอยู่ เรายังไม่รู้สึกว่าเราทำเพลงแล้วเราจะกินอิ่มนอนหลับ ถ้าเราคิดว่าทำเพลงแล้วได้บ้านได้รถ เราคงไม่ทำงาน คงเลิกเรียน แล้วมาทำเพลง (แบงค์: ถ้าอยากมีแดกอย่ามาทำเพลงแนวนี้ดีกว่า (หัวเราะ)) แต่ถึงเราไม่มีแดก เราก็จะทำเพลงแนวนี้อยู่ดี แต่เราก็จะทำงานเพราะเรายังรู้สึกถึงความไม่มั่นคง แต่ปัญหาเศรษฐกิจมันไม่ใช่เรื่องที่เราทำเพลงห่วยแล้วเราไม่มีตังแดก ปัญหาปากท้องเราแก้ที่ตัวเราไม่ได้ เราไม่สามารถประหยัดเงินแล้วช่วยทุกอย่างได้ ดังนั้นเขาก็ต้องแก้ให้เรา และเราก็พยายามทำให้เขามาแก้ให้เรา ถ้าไม่ได้ยินต้องยังไงนะ
แคน: ก็ต้องตะโกน (หัวเราะ) รู้จักเขาก็ไม่รู้จัก
แบงค์: ผมชอบ ๆ เขาเก่ง (หัวเราะ)
อยากร่วมงานกับใครบ้าง
แคน: พี่โคอิชิครับ พี่ดุ่ยด้วย อยากร่วมงานด้วยตลอดกาล Eyedropper Fill ก็อยากด้วย ด้านวิชวล แต่ไม่รู้จะมีตังหรือเปล่า
ปั้น: พี่เต๊นท์ที่กำลังจะได้อยู่ค่ายเขา แล้วก็วงอะไรนะ KUNST อะ (หัวเราะ)
นอกเหนือจากเรื่องคุณภาพงาน ทัศนคติของวงสำคัญด้วยไหม
แบงค์: สำคัญครับ มันควรจะชัดสุดแล้วเวลาเราต้องการอะไร
ต๊อด: มันเป็นสิ่งแรกสุดเลยในการเริ่มทำอะไร ต้องชัดเจน
ปั้น: เป็นนักดนตรีมันต้องมีอีโก้ หรือสิ่งที่อยากจะเป็น ตรงที่อยากจะอยู่อยู่แล้ว ไม่งั้นทำเพลงไม่ได้หรอก แต่อีกอย่างที่วงเรารู้สึกว่าสำคัญคือการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น มันสำคัญมาก ๆ ไม่งั้นเราจะแย่กว่านี้ จริง ๆ วงพวกเราปากไวมาก แบบ เฮ้ย เราไม่ชอบเพลงเหี้ยนี่เลย แต่เราพยายามจะไม่ทำอย่างงั้น เราพยายามไนซ์กับทุกคน คือถึงเราไม่ชอบเพลงเขา แต่เขาอาจจะเป็นคนที่นิสัยดีมาก ๆ แล้วช่วยอะไรเราหลายอย่าง เรื่องนี้ผมว่าสำคัญ
มีงานเล่นที่ไหนบ้าง
ปั้น: 7 กันยายนที่ Junk House กับ Anatomy Rabbit, Plasui Plasui, Soft Pine พี่คิดว่าผมจะอยู่ตรงไหนของไลน์อัพ (หัวเราะ) เหมือนเอาวงผมไปฆ่า แล้วก็งานเปิด EP วันที่ 4 ตุลาคม ที่ Brownstone กับเร็ว ๆ นี้จะมีอีกหนึ่งเพลงปล่อยใหม่
ติดตามผลงานของวงได้ที่ official fanpage