di-age-1st-interview

Interview

‘di age’ วงดนตรีหน้าใหม่ที่มีความแตกต่างทางอายุที่หลากหลาย กับดนตรีโซลนุ่มหูชวนฝัน

di age (ได เอจ) วงดนตรีที่เกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกทั้ง 4 คนจากรั้ววิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ สไปรท์ – วรวลัญช์ น้อยกมล (ร้องนำ) จากเวที The Voice Thailand 2019, หมิง อภิวิชญ์ – ดีไพโรจน์สกุล (กีตาร์), เต็ง วัชรพงษ์ บัวดี (เบส) และ อ๊อบ อัศวิน นรินทรกุล ณ อยุธยา (กลอง) ซึ่งมีอายุที่หลากหลาย จนเป็นที่มาของชื่อวง di age ที่สื่อความหมายถึง different age นั่นเอง เรามาทำความรู้จักพวกเขาให้มากขึ้นกันเถอะ

เล่าจุดเริ่มต้นของ  di age ให้เราฟังหน่อย

สไปรท์ (Vocal): จุดเริ่มต้นมีอยู่ว่าพี่อ๊อฟเป็นอาจารย์ที่คณะ แล้วพี่อ๊อฟอยากทำวงกับเด็กรุ่นใหม่ เลยมาชวนผม ผมก็เลยเอาด้วยแบบไม่ลังเล ระดับอาจารย์มาชวนทำวงเลยนะเว้ย โอกาสไม่ได้มีมาบ่อยๆ (คิดในใจ) จากนั้นผมก็ได้ไปชวนหมิง ที่เป็นเพื่อนในคณะเดียวกัน หลังจากนั้นพี่อ๊อฟก็ชวนพี่ นนท์ (Nonlaybeat) มาร่วมด้วย แต่พอได้ร่วมกันทำเพลงแรกเสร็จ พี่นนท์ก็ได้ออกจากวง  ก็เลยได้หาสมาชิกเพิ่มกันใหม่ เลยได้พี่เต็งเข้ามาร่วมวงครับ

หมิง (Guitar): เริ่มต้นคือสไปร์ทชวนผมทำวง ในตอนนั้นมี พี่อ๊อฟ, สไปรท์ และพี่นนท์ ​(Nonlaybeat) ​กำลังฟอร์มทีมทำเพลงกันเพื่อส่งประกวดใน Project ที่มีชื่อว่า Youth Explosion​ หลังจากนั้นพี่นนท์ขอแยกออกไปทำงานเดี่ยวของตัวเอง​ ทางวงเลยชวนพี่เต็งเข้ามาเล่นเบสครับ

เต็ง (Bass): ผมเข้ามาเป็นสมาชิกคนสุดท้ายเลยครับ ผมเคยเรียนกับพี่อ๊อฟมาก่อน ซึ่งพี่อ๊อฟก็จำได้ว่า เต็งเล่นเพลงประมาณนี้ได้ แล้วเป็นคนชอบฟังเพลงด้วยเลยโทรมาชวนทำวงกัน

อ๊อฟ (Drum): จุดเริ่มต้นเลย ผมอยากทำวงกับเด็ก ๆ รุ่นใหม่ไฟแรง และมีความสามารถ เลยมองหาคนที่น่าจะมีรสนิยมใกล้ ๆ กัน ก็เจอกับสไปรท์เป็นคนแรก สไปรท์เลยชวนเพื่อน ๆ อย่าง หมิงมาร่วมด้วย แล้วผมก็เลยชวนเต็งมาร่วมวงเป็นคนสุดท้าย

ทำไมถึงอ่านว่า ได เอจ แทนที่จะเป็น ดิ เอจ (different age) 

สไปรท์ (Vocal): ที่อ่านว่าไดเพราะว่า ชื่อเต็มของวงคือ  “different age” แปลว่า “ความแตกต่างกันทางอายุ” แต่ก็รู้สึกคำว่า different age มันยาวเกินไป เลยย่อลงมาให้เหลือแค่ “di age” ครับ

หมิง (Guitar): เพราะ​คำว่า​ Di(ได) ​ในภาษาอังกฤษมีความหมายแปลว่า​ 2​ ได้เหมือนกันครับ ​มาจากที่​ สไปรท์, หมิง และพี่เต็งเป็นนักศึกษา ​ส่วนพี่อ๊อปเป็นอาจารย์ เลยคิดว่าเป็นวงที่มี 2 ช่วงอายุ เลยเรียกว่า​ “ได​ เอจ”

เต็ง (Bass): จริง ๆ อ่านได้ 2 แบบ แต่ทุกคนตกลงกันว่าจะให้อ่านว่า “ได เอจ” ครับ รู้สึกว่าจำง่ายกว่า

อ๊อฟ (Drum): ถามกันในวงแล้วสรุปว่าเป็น “ได เอจ” เพราะมีความหมายด้วย

การทำวงดนตรีกับคนทำงานที่อายุค่อนข้างหลากหลาย

สไปรท์ (Vocal): ส่วนตัวคิดว่าเป็นผลดีครับ ได้ทำงานกับคนที่มีอายุมากว่าประสบการณ์พี่ ๆ เขาก็มากกว่า ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็น

หมิง (Guitar): มีผลดีที่จะได้ทัศนคติและมุมมองในการทำงานที่ต่างกัน ทำได้มีความหลากหลายในความคิด ในการปรับตัวคือต้องรับฟังและเข้าใจในเหตผลของทุกคนครับ​ ซึ่งผมเองก็เพิ่งปรับตัวได้เหมือนกันครับ 555

เต็ง (Bass): แรกๆก็แอบเหงาๆนิดหน่อยครับ เพราะอีกคนก็อาจารย์ อีก 2 คนก็เป็นรุ่นน้อง ไม่มีเพื่อนไว้คุยเล่นได้แบบสุดทางเท่าไหร่ 🤣

อ๊อฟ (Drum): ผลดีคือเราได้พลังงานความสดใหม่จากเด็ก ๆ มีข้อคิดเห็นที่เรานึกไม่ถึงบ้าง ได้เจอสังคมเพื่อนๆของเค้าอีกที ทำให้เราได้อัพเดทไปอีกแบบ ผลเสียก็อาจจะมีบ้างในความเป็นวัยรุ่น อาจจะมีความใจร้อนบ้าง อะไรบ้าง

di age กับดนตรีแนว pop-soul 

สไปรท์ (Vocal): เพราะว่า pop-soul เป็นแนวดนตรีที่พวกเราชอบเล่น ชอบฟังกันอยู่แล้ว และเป็นตรงกลางสำหรับทุกคนในวงด้วยครับ

หมิง (Guitar): ด้วยความชอบในแนวดนตรีของวงครับ

เต็ง (Bass): ส่วนตัวชอบสไตล์ประมาณนี้อยู่แล้วครับ คิดว่าน่าจะคิดอะไรได้เยอะละก็รู้สึกว่าฟังง่าย เข้าใจง่ายด้วยครับ

อ๊อฟ (Drum): จริงๆชอบดนตรี soul, R&B มากอยู่แล้ว ชอบในความเพราะ และสนุกของจังหวะ คิดว่าถ้าทำวงต้องทำแนวนี้ 

การร่วมงานกับ เงาะ The Richman Toy, AUTTA และ AIMZILLOW 

สไปรท์ (Vocal): เดิมที พี่เงาะ The Richman Toy เป็นอาจารย์สอนวิชาเขียนเนื้อเพลงที่ ดุริยางค์ศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่แล้ว ผมเลยอยากให้พี่เงาะช่วยสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ด้วย ส่วน AIMZILLOW และ AUTTA เป็นเพื่อนที่คณะด้วยกันอยู่แล้ว เพลงนี้เราอยากได้ซาวน์คียบอร์ดแบบหวาน ๆ เลยชวนเอมมาร่วมแจม และ แร็ปแบบ flow flow จึงได้ชวนอัดตามาร่วมด้วยครับ

หมิง (Guitar): Aimzillow ​กับ Autta เป็นเพื่อนครับ ในตอนแรกที่เริ่มทำเพลงนี้ พี่อ๊อฟ และสไปร์ท อยากให้มีท่อนแร็ป พวกเราเลยได้ชวนอัตตามาร่วมสร้างสีสันในเพลงนี้ครับ​ เพราะคิดว่าถ้าได้ Style การแร็ปของกร (Autta) มาอยู่ในเพลง มันต้องน่าสนุกแน่ๆ​ ส่วนเอม​ (Aimzillow) คนในวงรู้สึกว่าเสียงคีย์บอร์ดในเพลงมันเหมาะมากที่จะเป็นสไตล์ของ Aimzillow สุดท้ายก็ได้พี่เงาะมาช่วยแก้เนื้อเพลง ให้มีความสละสลวยและมีความหมายที่ชัดเจนขึ้น

เต็ง (Bass): ส่วนตัวของผมคิดว่า พี่เงาะ เค้าเขียนเนื้อเพลงได้ดีมาก ๆ ครับ ละก็คิดว่าพี่เค้าจะช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ให้ได้ครับ ส่วนน้องเอม (Aimzillow) เค้าก็เก่งครับ อย่างตอนจะอัด Record เค้าก็ช่วยเสนอทางเลือกให้ได้หลากหลายครับ

อ๊อฟ (Drum): คุยกันในวงว่าอยากเพิ่มสีสันให้เพลงนี้ ทั้งการแร๊ปและซาวด์คีย์บอร์ด ด้วยความชื่นชอบผลงานอยู่ของทั้งคู่อยู่แล้ว และหมิงก็รู้จักเป็นการส่วนตัวกับทั้ง 2 คน ด้วย เลยชวน ๆ กันมาแจม ส่วนเงาะผมก็รู้จกกันส่วนตัวอยู่แล้ว และปรึกษาเรื่องการเขียนเนื้อเพลงอยู่บ่อย ๆ พอเขียนเพลงกันเสร็จก็ไปปรึกษาเงาะเลย จริง ๆ จะมี Non Laybeats อีกคนด้วยที่มาช่วยทำดนตรีครับ

ตั้งแต่ ชาดำเย็น มาจน จูบกันสักครั้ง เป็นเพลงรักหมดเลย แอบมีเพลงเศร้า ๆ เก็บไว้ในคลังแล้วบ้างรึยัง ?

สไปรท์ (Vocal): มีแน่นอนครับ ภูมิใจนำเสนอมาก ๆ ด้วย และข่าวดีคือ เตรียมคลอดภายในปีนี้แน่นอนครับ รอติดตามกันได้เลยครับ

หมิง (Guitar): มีแน่นอนครับ​ รอติดตามได้เลย​ อาจจะเป็นเพลงต่อไปก็ได้นะครับ😎

เต็ง (Bass): มีแน่นอนครับ ภูมิใจนำเสนอมากๆ 😆

อ๊อฟ (Drum): เพลงต่อไปแน่นอนครับ

เล่าถึง จูบกันสักครั้ง ให้ฟังหน่อย

สไปรท์ (Vocal): เพลงนี้พี่อ๊อฟกับหมิง ขึ้นโครงเพลงมาก่อนครับ จากนั้นก็มาช่วยกันขึ้นเนื้อเพลง โดยพี่อ๊อฟอยากให้คำว่า “จูบกันสักครั้ง” อยู่ในเพลง จนออกมาอย่างที่ทุกคนเห็นกันครับ

หมิง (Guitar): มาจากวงเริ่ม Demo กัน แล้วพี่อ๊อฟรู้สึกว่าคำว่า “จูบกันสักครั้ง” เหมาะมาก ๆ ที่จะถูกถ่ายทอดออกมาในเพลงนี้ครับ

เต็ง (Bass): ที่มาที่ไปก็เริ่มจากหมิงกับพี่อ๊อฟครับ ขึ้นโครงเพลงมาให้ ละก็ช่วย ๆ กันคิดเนื้อเพลงต่อครับ ถ้ากระบวนการทำงานก็ค่อนข้างเร็วครับ เพราะช่วงนั้นยุ่งๆกันทุกคน นัดกันยากหน่อย

อ๊อฟ (Drum): พอทำดนตรีเสร็จประมาณนึงแล้วก็เริ่มหาเนื้อร้องกัน ผมก็ได้ยินคำว่าจูบกันสักครั้งขึ้นมา พอสไปรท์ร้อง แล้วบอกว่าเข้าปากดี เลยเริ่มเรื่องมาจากจุดนี้ ทุกคนก็ช่วยกันวางคำและเนื้อเรื่องจนลงตัว สุดท้ายให้เงาะช่วยตบอีกทีในตอนท้าย

มุมมองต่อวงการดนตรีในปัจจุบัน

สไปรท์ (Vocal): ส่วนตัวคิดว่า ตลาดมันเปิดกว้างมากขึ้น และการแข่งขันก็สูงขึ้นด้วย แต่ก็ดีเพราะว่า มีศิลปินหน้าใหม่ที่มีผลงานเท่ ๆ เยอะขึ้นด้วยครับ

หมิง (Guitar): ดีครับ​วงการกำลังเติบโต​ มีศิลปินใหม่เยอะมากครับ​ รวมถึงพวกเราด้วย

เต็ง (Bass): รู้สึกว่าตลาดเปิดกว้างขึ้น คนเข้าถึงเพลงนอกกระแสมากขึ้น เพลงตลาดค่ายใหญ่ ๆ ก็มีออกมาเรื่อย ๆ เรื่องภาพลักษณ์มีส่วนเกี่ยวข้อง,การเป็น icon ต่อแฟนคลับ การแข่งขันสูงมากครับ แต่ที่สุดก็อยู่ที่กลุ่มคนฟังเลยครับว่าจะเลือกแบบไหน

อ๊อฟ (Drum): รู้สึกว่าปัจจุบันสังคมดนตรีในบ้านเราผู้ฟังเปิดกว้างและหลากหลายมาก จากการที่ไปทัวร์คอนเสิตร์อยู่ประจำจะเห็นว่ามีกลุ่มศิลปินหลากหลายสไตล์ดนตรีที่มีแฟนของตัวเอง ด้วยโลกดิจิตอลที่ศิลปินเข้าหาผู้ฟังได้ทั่วถึง แต่ก็ยังรู้สึกว่าการสลับสนุนดนตรีที่ไม่ใช่กระแสหลักอย่างดนตรี jazz, ดนตรีไทย,ดนตรี classic ยังน้อยอยู่มาก

ศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจ

สไปรท์ (Vocal): ศิลปินที่ชื่นชอบ คือพี่แหลม 25 Hours ชอบเพราะเอกลักษณ์ของเสียงร้องครับ

หมิง (Guitar): ผมชอบ ​John​ Mayer, Cory​ Wong, Pj​ Morton, Prince

เต็ง (Bass): สำหรับเต็งก็ชอบพวกโซน ๆ 70s-80s ครับ ถ้าฝั่งสากลก็พวก Earth wind & Fire , Stevie Wonder , TOTO ถ้าฝั่งเพลงไทยเพลงในช่วงเวลานั้นก็มีบ้างครับ พวก พี่แจ้ ดนุพล , The Innocent , พี่ชมพู ฟรุ๊ตตี้

อ๊อฟ (Drum): ช่วงนี้ก็จะชอบฟัง C. Tangana, Red Hands ถ้าเป็นมือกลองก็ Chris Dave, Eric Moore

อนาคตเราจะได้เห็นอะไรจาก di age อีก

สไปรท์ (Vocal): อนาคตอันใกล้นี้จะได้พบกับเพลงที่พวกเราภูมิใจนำเสนอกันมากครับ แต่จะเป็นเพลงช้าหรือเพลงเร็ว จะเศร้าหรือสมหวัง รอติดตามกันนะครับ ฝาก di age ไว้ในใจทุกท่านด้วยครับ

หมิง (Guitar): จะมีเพลงใหม่ๆออกมาอีกเยอะแน่นอนครับผม😀

เต็ง (Bass): ยังไงก็ฝากพวกเรา di age ไว้ด้วยนะครับ จะทำเพลงเพราะ ๆ ให้ทุก ๆ คนฟังกันเรื่อย ๆ แน่นอน หวังว่าในเพลงหน้าและก็ทุก ๆ ผลงานต่อจากนี้จะทำให้ทุกคนชอบกันนะครับ ขอบคุณครับ

อ๊อฟ (Drum): พวกเราจะสร้างผลงานอีกมากมายแน่นอน!

 

ติดตาม di age ได้ ที่นี่

ฟังเพลงจาก di age ได้แล้ว ที่นี่

อ่านบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่

Facebook Comments

Next:


Donratcharat

นัท มีหมาน่ารักสองตัวชื่อหมูตุ๋นกับหมูปิ้ง กาแฟดำยังจำเป็นต่อชีวิต และยกให้กาแฟใส่นมเป็นรางวัล