Interview

Chladni Chandi การกลับมาแสดงสดในรอบปี โอกาสนี้มีไม่บ่อย

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Neungburuj Butchaingam

ถ้าจะให้พูดถึงวงดนตรี psychedelic, stoner rock ในบ้านเราก็คงแทบจะนับนิ้วได้ และวงแรก ๆ ที่เรานึกออกช่วงที่ซีนนั้นเริ่มกำลังเป็นที่รู้จักในบ้านเราคงหนีไม่พ้น Chladni Chandi ซึ่งในตอนนั้นเองที่พวกเขาเป็นหนึ่งในวงที่เราได้ดูโชว์บ่อยมากที่สุดวงนึง แต่เมื่อไม่กี่ปีก่อน พวกเขาก็ค่อย ๆ เฟดหายไปจากการเล่นสด แต่ในวันศุกร์ที่ 16 ธันวาคมนี้ พวกเขาจะกลับมาอีกครั้งกับโชว์เต็มรูปแบบที่ Studio Lam แต่ก่อนที่จะไปสนุกกันที่งาน เราก็ได้ชวนพวกเขามาพูดคุยถึงวันวานที่ผ่านมาและสิ่งที่จะเกิดขึ้นในคอนเสิร์ตครั้งนี้

img_4679

สมาชิก
ย้ง-ชวลิต เสาวภาคย์พงศ์ชัย (ร้องนำ ,กีต้าร์ ,ซีต้าร์ ,ไวโอลิน)
เบน-สมภพ สุวรรณวัฒนากุล (เบส)
เม้ง-ธนาวุธ ศรีวัฒนะ (กลอง, เพอร์คัสชัน)
แชมป์-คนธรรพ์ พิทักษ์พล (ออร์แกน, เธเรมิน)

ย้อนอดีตกันก่อนสำหรับคนที่ไม่เคยรู้จัก Chladni Chandi

เบน: ผมกับย้งเป็นเพื่อนมัธยม รู้จักกันตั้งแต่ ม.1 แล้วหลังจากนั้นก็หายกันไปเลย แม้กระทั่งเรียนมหาลัยก็แทบไม่เจอ วันนึงอยู่ดี ๆ ย้งก็โทรมาชวนผมไปเล่นกีตาร์ แล้วก็เริ่มทำวงร็อกก่อนที่จะมาเป็น Chladni Chandi ส่วนคนอื่น ๆ มารู้จักกันตอนเล่นดนตรี

ย้ง: แล้วก็มีพี่เม้งที่เคยทำอีกวงด้วยกันก่อนหน้านี้เลยชวนมาเล่นด้วยกัน ล่าสุดก็ได้แชมป์มาเล่นด้วยประมาณสองปีแล้ว

อะไรทำให้ทุกคนมาฟังเพลงแนว psychedelic, stoner rock ได้

เบน: น่าจะมาจากเมื่อก่อนผมกับย้งจะมีพัฒนาการฟังเพลงที่คล้าย ๆ กัน ตอนเป็นวัยรุ่นเราก็จะฟังเพลงที่เป็นการาจร็อก อังกฤษ 90s

ย้ง: ชอบฟังวงพวก Pink Floyd, The Beatles พอโตขึ้นก็มาลงรายละเอียดวงต่าง ๆ แนวนี้ก็เจอว่าเขาทดลองอย่างนั้นอย่างนี้เยอะ แล้วก็ฟังเพลงฝั่งฮิปปี้ San Francisco 60s 70s ฮาร์ดร็อกด้วย มันก็เป็นพื้นฐานของดนตรีร็อกที่เราชอบเหมือนกัน แนวดนตรีก็มีความเชื่อมโยงกัน

psychedelic rock กับ stoner rock ต่างกันยังไง

เบน: ผมก็ไม่ใช่คนที่เรียนดนตรีหรือศึกษาเรื่องดนตรีลึกซึ้งขนาดนั้น แต่ในความคิดผม ผมรู้สึกว่าดนตรี stoner มันจะเป็นสาขาที่มาจากดนตรีที่มีความหนักกว่า ไปในสายเมทัล ที่เป็น doomed หรือ stoner จะมีความหนัก ความหน่วง แต่ psychedelic สำหรับผมมันเหมือนเป็นคำนิยามอะไรบางอย่าง เหมือนอยู่ดี ๆ คุณพูดคำว่าแบบ เฮ้ย เพลงนี้แม่งชิวว่ะ พอพูดว่าชิวมันก็กว้าง เล่นเป็นเพลงโฟล์กก็ได้ อิเล็กทรอนิก down tempo อะไรก็ได้ที่คุณรู้สึกว่า เฮ้ย คุณฟังแล้วมันชิว หรือให้ความรู้สึกแบบนั้น psychedelic ก็เหมือนกัน เราว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่มีผลต่ออารมณ์ค่อนข้างเยอะ

เพลงสองแนวนี้จะมีความเฉพาะของมัน คือความเมา

เบน: เราว่าทุกเพลงมันก็เมา โฟล์กก็เมา ดนตรีร็อกที่เป็นความหนักหน่วงมันก็เมาได้ psychedelic มันเป็นอารมณ์บางอย่าง ที่ทำงานอะไรบางอย่างกับเรา สังเกตว่าเพลงเรามันจะมีความหลวม ๆ ความแจม ๆ กันบ้างก่อนที่จะเล่น เล่นไม่ค่อยซ้ำ ช้าบ้าง เร็วบ้าง ไม่ได้ตายตัว

ทำไมถึงเอาดนตรีอินเดียเข้ามาผนวกในเพลงของ Chladni Chandi ด้วย

ย้ง: มีช่วงวัยที่อินกับเรื่องอินเดีย ทั้งวัฒนธรรม ศาสนา ปรัชญาตะวันออก และดนตรีของเขา แบบผมกับเบนแบ็กแพ็คกันไปเที่ยวอินเดีย ไปดูดนตรี แล้วชอบมาก เป็นช่วงที่เริ่มฟอร์มวงพอดี ประมาณ 9 ปีแล้ว เพลงที่อยู่ในอัลบั้มก็เขียนช่วงนั้นแทบจะทั้งหมด แล้วเราก็ได้แนวคิดตะวันออก ความเชื่อ วิถีชีวิต ความเป็นมนุษย์ การเวียนว่ายตายเกิด สัจธรรม เป็นไอเดียที่เก็บ ๆ มาจากการไปเที่ยวครั้งนั้นแล้วก็อ่านหนังสือบ้าง มาทำเป็นเพลง

ซึ่งในเพลงก็มีการวิพากษ์สังคมด้วย

เม้ง: เราตัดพ้อมากกว่า ไม่ได้ไปวิพากษ์วิจารณ์อะไร เป็นการพูดลอย ๆ

เบน: ที่เม้งบอกว่าตัดพ้อ มันก็มีเนื้อหาบางเพลงที่เป็นแบบนั้น บางอย่างเราพูดถึงความเป็นจริง เรื่องที่ตรงไปตรงมามาก ๆ แต่บางเพลงเราพูดมันผ่านเรื่องเล่า ความเช่ืออะไรบางอย่าง ที่สุดท้ายมันอาจจะอธิบายสิ่งที่เม้งบอกว่าเป็นการตัดพ้อได้ดี ประเด็นที่เราพูดมันกว้างมาก ส่วนใหญ่เป็นความรู้สึกของเรา กับคำถามว่าทำไม หรือชีวิตเราเราเป็นคนกำหนดมันเองหรือเปล่า หรือจริงแล้วมันมีอะไรที่กำหนดอยู่เป็นเบื้องหลัง

ย้ง: ถ้าได้ลองฟังแล้วอาจจะฉุกคิดได้ว่า เอ๊ะ มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า สิ่งที่เราพูดมันอาจจะไม่จริงก็ได้เพราะมันเป็นมุมมองของเรา แต่เพลง รามา อินทรา ตั้งตามชื่อถนนรามอินทราเพราะบ้านอยู่แถวนี้ (หัวเราะ)

img_4668

ทำไมเพลง พรหมโลกวิษัย ถึงได้นำไปเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘โลงจำนำ’

ย้ง: ประมาณสามปีที่แล้วมีหลาย ๆ คนมาชวนให้ผมไปช่วยอัดเพลง score หนังหลายเรื่อง ก็มีผู้กำกับคนนึงติดต่อมาบอกว่าอยากให้เป็นเพลงในหนัง เขาชอบ feeling ที่อยู่ในเมโลดี้หรือทำนอง และภาพรวมของเพลงคือสิ่งที่เขาอยากได้ ไม่ได้เอาเพลงนี้เพราะความหมายมันตรงกับหนังผีที่เขาจะเล่า หนังเรื่องนั้นพี่น้อย (กฤษดา สุโกศล แคลปป์) เขาเป็นพระเอก จริง ๆ ก็ไม่ได้จะให้เขาร้องหรอก จะเอาเวอร์ชันออริจินัลของเราไปเลย แต่คุยกันไปคุยกันมายังไงก็ไม่ทราบระหว่างพี่น้อยกับผู้กำกับ พี่น้อยเขาก็โอเคที่จะมาร้อง เพราะเขาก็คิดว่ามันน่าจะดีต่อหนังที่เขาเล่นถ้าเขาได้ถ่ายทอดเพลงออกมาในอารมณ์ของเขา

เบน: แต่ดนตรีเอาไป arrange ใหม่ เปลี่ยนกลอง เปลี่ยนเบส

ได้ฟังเพลงตัวเองในเวอร์ชันพี่น้อยแล้วรู้สึกยังไงบ้าง

เม้ง: พอเป็นเวอร์ชันที่เขาร้องก็แปลกดีนะ แต่เราก็รู้สึกดีที่ได้รู้ว่าพอเป็นคนอื่นร้องแล้วมันจะรู้สึกยังไง เขาก็ทำได้ดีในแบบของเขา

เบน: ตอนแรกก็ดีใจที่พี่น้อยเป็นคนร้อง (หัวเราะ) เขาเป็นคนที่ artistic อินเนอร์สูงมาก ๆ เป็นคนเก่ง

ย้ง: ตอนที่เขามาอัดนี่ก็นานเหมือนกันนะ พี่น้อยบอกหนุ่ย (นพพล เช็ง) ที่ทำซาวด์ให้ว่าอัดไปเรื่อย ๆ เลย เขาจะร้องไปเรื่อย ๆ ยาว ๆ ทั้งเพลง มีมา 40-50 เทค เผลอ ๆ เยอะกว่านั้นอีก อัดเก็บหมดเลย แล้วชอบตรงไหนจะตัดไปใช้ก็เลือกเลย เต็มที่ แกก็อ่านภาษาไทยไม่ค่อยออก ก็พยายามมาก เพราะมันเป็นคำที่ไม่ได้พูดอยู่ปกติก็ต้องให้ผมไกด์ทุกคำว่าคำนี้หมายถึงอะไร

รู้สึกยังไงตอนมีคนมาบอกว่าเพลงของ Chladni Chandi ค่อนข้างหนัก ฟังยาก

ย้ง: มันเป็นเพลงที่ฟังได้เป็นบางโอกาส บางเวลา เป็นเพลงโทนดาร์ค ไม่มีความบันเทิง

เม้ง: ถ้าเวลามีความสุขมาก ๆ แล้วมาฟังมันก็ไม่ใช่ ถ้ามีความสุขคงไม่อยากฟังอะไรหนัก ๆ หรือหม่นไปหมด

แต่ นักฝันอหังการ์ กับ อนาคตรัศมี สองเพลงใหม่ที่ปล่อยมามีความสว่างขึ้นกว่าเพลงก่อน ๆ

ย้ง: ใช่ ๆ

พอปล่อยสองเพลงออกมาแล้วก็หายไปเลย

เม้ง: ก็ไม่ได้หายนะ ซ้อมอยู่เรื่อย ๆ แค่ไม่ได้ออกไปเล่นข้างนอกมากกว่า แต่บางทีทุกคนทำงานยุ่งมั้ง แค่นี้นัดมาซ้อมกันยังยากเลย วิธีการทำงานก็เปลี่ยนไปมาก ๆ อายุก็ทำให้เปลี่ยนไป

เบน: ดนตรีก็ไม่ใช่อาชีพหลักของทุกคนอยู่แล้ว เราไม่ใช่อาชีพศิลปินที่หาเงินด้วยการเล่นดนตรี เม้ง ผม ย้ง ก็มีงานประจำ มีครอบครัว ด้วยวัย ด้วยหลายปัจจัย ทำงานกันแบบสโลวสุด ๆ ไม่รีบ ปีที่แล้วเล่นครั้งนึง ปีนี้เล่นครั้งนึง ปีหน้านี่ยิ่งไม่รู้จะได้เล่นหรือเปล่าเลย

ย้ง: ช่วงปีสองปีนี้ก็อย่างที่บอกว่าไม่ได้เล่นเลย บางทีก็ปฏิเสธงานผู้จัดไปด้วยซะเยอะ ก็รู้สึกผิดเหมือนกัน แต่ว่ามันก็หลายอย่างครับ อย่างเช่นแรงผลักดันต่าง ๆ ที่จะเล่นดนตรีหรือทำเพลงเนี่ย ก็ยอมรับว่าก็ลดลงไปจากช่วงยุคแรก ๆ ที่ทำ คือยุคนั้นวงดนตรีอินดี้ก็น้อย ค่ายที่เป็นค่ายเพลงอินดี้ก็น้อย ที่เล่นที่เปิดรับ หรือกลุ่มอย่างฟังใจก็ไม่มี YouTube Facebook ตอนนั้นก็ยังไม่มี ใช้ Myspace กันอยู่ กลุ่มเล็กมาก แล้ววงที่ทำกันมันก็ DIY มาก

เบน: ก่อนวันที่เรามาเจอ Panda Records นั่นคือเราอัดกันเองเสร็จแล้วโดยที่เรายังไม่รู้เลยว่าจะทำยังไงกับมันต่อไป

เม้ง: ตอนแรกก็คิดแค่ทำได้ ขายเอง แต่เราก็มาเจอจังหวะดีที่เขาช่วยเรื่องจัดจำหน่าย

ย้ง: ตัวพี่ป๊อก (วรรณฤทธิ์ พงศ์ประยูร) ค่าย Panda ก็มีส่วนทำให้วงเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในกลุ่ม คนฟังแบบนี้เยอะขึ้น แล้วก็จะมีสังคมของนักดนตรี คราวนี้ก็จะชวนกันไปเล่น ที่ตอนนั้นได้เล่นบ่อยก็เพราะแบบนี้ มีงานดนตรีคนนู้นคนนี้จัด

เบน: แต่ส่วนมากเป็นวงดนตรีคนละแนวนะ ไม่มีแนวเดียวกันเลย บ้านเราไม่ค่อยมีงานปาร์ตี้แบบ แนวนี้ไปเลย

img_4672

ถ้ามีงานที่จัดเป็นแนวเดียวไปเลย กับงานที่รวมวงหลาย ๆ แนวไว้ด้วยกัน อยากไปเล่นงานไหนมากกว่า

เบน: เราว่ามันอยู่ที่จุดประสงค์นะ ถ้างานนี้เป็นงานค่าย วงในค่ายก็มีหลากหลาย เป้าหมายของมันก็เป็นอีกแบบคืออยากทำให้วงในค่ายเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าให้เลือกเราก็อยากให้เหมือนกันให้หมด เคยรู้จัก ‘Eastern Psych Movement’ ไหม มันเหมือนงานที่เราจัดกันเอง คือมีความคิดแบบที่หลายคนคิดว่า ทำไมไม่มีคนทำเพลงที่อยู่ในหมวดเดียวกัน และมีคนฟังที่อยากไปเสพเพลงที่ไปในทิศทางเดียวกัน psychedelic หรืออะไรสักอย่างก็ว่าไป

เม้ง: คือถ้ามันมาแบบเดียวกัน แล้วคุณก็พร้อมที่จะรอดู ตอนนั้นก็ไปเล่นได้สองจังหวัด ประมาณสองปีที่แล้ว ไปที่โคราช กับบางแสน feedback ที่โคราชก็ดีเหมือนเขามีกลุ่มคนที่ฟังเพลงนอกกระแสไทยอย่างนี้อยู่แล้วไปรวมตัวกันอยู่นั่น กลุ่มอาจารย์ต้อม อัศจรรย์จักรวาล (Thom AJ Madson) วิมุตติ พวกนี้ ที่บางแสนคนก็มาเยอะ

แต่กลุ่มคนฟัง Panda Records ก็เหนียวแน่นดีอยู่แล้ว

ย้ง: เคยได้ยินพี่ป๊อกพูดว่ากลุ่มคนที่ฟังวงใน Panda เขาก็จะฟังเพลงหมดเลย เขาจะไม่ค่อยถือว่าต้องฟังแนวไหน ก็คือคนฟังดนตรีนอกกระแส

เบน: บ้านเรามีวงดนตรีน้อยมาก ๆ สังเกตดิพอมีการจัดเฟสติวัลหรืองานอะไรบางอย่าง วงที่ไปเล่นก็วน ๆ อยู่แค่นั้น ไม่ได้มีอะไรใหม่ ๆ ที่เราคาดหวัง ยากอะบ้านเรา เมืองนอกยังยากเลย

เม้ง: ยาก ยากทุกที่

ย้ง: แต่อย่างเมืองนอกเราก็ขุดเพลงมาฟังเหมือนกันนะ ไปเจอเรื่อย ๆ หลายวงที่ไม่ได้ฟัง แต่ถ้าวงไทยขุดไปนิดเดียวก็หมดแล้ว

จริง ๆ ตอนนี้ก็มีหลายวงนะ เพราะทุกคนทำเพลงได้

เบน: ตอนนี้ไม่ได้ฟังว่าเขาเป็นไง ส่วนใหญ่จะอินดี้ป๊อปกันใช่ไหม

ย้ง: มันก็เป็นเทรนด์ของดนตรีโลกแหละเนาะ เมืองนอกก็เป็นอิเล็กทรอนิกป๊อป

เม้ง: อินดี้โฟล์กก็เคยเป็นกระแสอยู่ช่วงนึง

ย้ง: จริง ๆ psychedelic ก็เป็นเทรนด์โลกนะ พวก Tame Impala ความภูมิใจของชาวออส Temples อันนี้ก็รุ่นใหม่แล้ว แล้วเป็น psychedelic ที่ใส ไม่ดาร์ค

เม้ง: สายฮิปอะ ฟังง่าย แต่เราไม่เคยแปลเนื้อภาษาอังกฤษเขานะว่าพูดถึงเรื่องอะไร

ย้ง: ก็เรื่องเมาเรื่องอะไรตรง ๆ แหละ

เบน: ผมจะเป็นคนที่ฟังแต่พาร์ตดนตรี ไม่ค่อยแปลเนื้อ อย่างผมฟัง Simon & Garfunkel มานานมาก เพิ่งจะมาแปลเนื้อเพลง The Sound of Silence เนี่ย เชี่ย ขนลุกสัส แต่มันมีผลนะเนื้อเพลง ถ้าคุณฟังเพลงที่เข้าใจได้ทันที มันจะทำให้รู้สึกได้มากกว่า

เม้ง: ยิ่งตอนอกหักนะ เพลงที่ฟังรุ้เรื่องมันโดนสุดแล้ว เวลามีปัญหาชีวิตแล้วไปฟังพอดี เนื้อเพลงแม่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เหมือนเจอคนที่คุยกับเรารู้เรื่องน่ะ

ยุคใหม่ของ Chladni Chandi ที่มีสมาชิกใหม่อย่างแชมป์เข้ามา ทำให้สีสันของเพลงเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

เบน: ก็เหมือนเดิมนะครับ (หัวเราะ) ผมก็เล่นสนุกเหมือนเดิม ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอะไร เดี๋ยวให้แชมป์เล่าเองว่ารู้สึกยังไง แต่ผมจะเล่าว่าแชมป์เขาเป็นคนที่เราเลือกมาแล้ว เรารู้จักเขา แล้วเราก็รู้ฟีลกันประมาณนึงว่าเขาน่าจะชอบอะไรเหมือน ๆ กัน มีภาษาที่คล้าย ๆ กันเลยมาเล่นด้วยกัน

ย้ง: สำหรับผมนะ เขาเป็นนักดนตรีที่ทำงานด้วยกันง่าย เปิดรับ ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรเลย สมาชิกเก่าผมก็โอเคอยู่แล้ว

เม้ง: ไม่รู้สึกว่าสบายขึ้นมั่งหรอ

แล้วแชมป์ต้องปรับตัวมากมั้ย

แชมป์: อยู่มาปีที่สองแล้วครับ ก็ตอนนั้นพี่ย้งชวนเข้ามา แบบผมเล่นดนตรีแนวนี้อยู่แล้ว เขาก็ชวนให้มาเล่นคีย์บอร์ด ผมก็ เฮ้ย จริงหรอพี่ เราก็แบบ เฮ้ย ไม่ใช่มั้งพี่ ไปบอกคนอื่นเถอะ ก่อนหน้านี้ทำ jam band เป็น psychedelic กับเพื่อน ส่วนมากเป็นงานทดลอง sound design พอมาลองซ้อมด้วยกันแล้วก็รู้สึกว่าไม่ต้องปรับตัวเยอะ

ย้ง: สำหรับผม ผมว่าเสียงออร์แกนมีเสน่ห์มาก ก่อนหน้านี้ก็เล่นกันสามชิ้น มีพี่ป๊อกมาแจมบ้าง ก็รู้สึกว่าเสียงออร์แกนมันใช่ในโทนของดนตรีที่เราทำ เพราะผมชอบ Pink Floyd มาก แล้วก็ใฝ่ฝันว่าจะมีเสียงออร์แกนในเพลง เสียงมันมีเสน่ห์

เบน: อาจจะเป็นยุคด้วยหรือเปล่า เพลงยุค 60s 70s จะมีออร์แกนเยอะ อย่าง The Doors วงโปรเกรสซีฟนี่มีออร์แกนแทบทุกวง

เม้ง: แต่เราไม่เคยคิดว่าจะหาคนเล่นกีตาร์เพิ่มอีกคนเลยแฮะ แต่ถ้าแชมป์เล่นได้ก็ดีนะ (หัวเราะ)

img_4657

การกลับมาเล่นสดครั้งนี้มีอะไรเป็นสัญญาณที่บอกว่าเราต้องกลับมาได้แล้ว

ย้ง: ผมคิดว่าการเล่นดนตรีมันควรจะมีช่วงที่ให้หยุดบ้าง มันไม่ได้มีความคิดว่าเราเล่นดนตรี ทำวงแล้วต้องเล่น ๆๆๆๆ ทัวร์ ๆๆๆๆ ทำเพลงออกอัลบั้มทั้งปี แล้วประจวบเหมาะกับธุระที่แต่ละคนมี ของพี่เม้งเป็นธุระใหญ่สุดเพราะเขาก็อยากจะดูแลลูกให้ดีที่สุด

เม้ง: เลี้ยงลูกมันต้องใช้เวลานิดนึง เดี๋ยวมันไม่เต็มที่ไง

ย้ง: แต่เบนเป็นคนพูดขึ้นมาเองนะว่าปีนี้ต้องเล่นซักงานนึง

เม้ง: ทั้งที่เมื่อก่อนเป็นคนที่ชอบปฏิเสธงานเล่นนะ

เบน: ผมแค่รู้สึกว่า ไม่รู้ว่าคนจัดงานมีความตั้งใจเหมือนกันหรือเปล่า คือเราไม่ได้คิดว่าได้เงินเท่าไหร่ เล่นที่ไหน ไกลไหม ร้านเล็ก ร้านใหญ่ แต่เราอยากรู้ว่าเขาอยากให้เราไปเล่นจริง ๆ หรือเปล่า แค่นั้นเอง เราไม่ได้เรื่องมากหรือเป็นรุ่นใหญ่ เราแค่คิดว่าเราไปแล้วเราก็อยากเต็มที่เหมือนกันอย่างที่คุณคาดหวังว่าอยากให้เราไปทำอะไรให้เขา

ย้ง: ก็ต้องยอมรับกันตรง ๆ อย่างเราเล่นดนตรีกันมา เจองานที่เฟลมาก บางทีกลุ่มคนดูที่ร้านนั้นเขาไม่ได้อยากฟังเพลงแบบนี้เลย เขาอยากฟังเพลงตลาด อย่างบางทีไปเล่นต่างจังหวัดบางที่เขาไม่เคยฟังพวกนี้ แล้วก็ไม่คิดจะฟังด้วยเพราะเขามีดนตรีแบบของเขาที่เขาฟังกันอยู่แล้ว แต่คนที่เปิดใจก็มี

เม้ง: เหมือนไปผิดที่ ไม่น่าเอากูมาเลย แบบ เอากูมาเล่นแต่ไม่เคยฟังเพลงกูหรอวะ แล้วเราก็จะเฟล มันมีปัญหาเรื่องการจัดการ เครื่องเสียงอะไรด้วย แต่เราก็ไปแล้วเล่นให้เต็มที่

เบน: ทั้งหมดทั้งมวลมันเหมือนความรู้สึกของเรามันเปลียนไปแล้ว คือวันที่เราออกอัลบั้มกับทุกวันนี้ ความรู้สึกของการเล่นดนตรีของเรามันไม่เหมือนเดิม ผมว่าปัญหานั้นมันทำให้เราเลือกงานมากขึ้น เราเล่นดนตรีกันน้อยลง ช่วงนั้นที่เล่นมันระห่ำมาก เหมือนตอนนั้นงานเราเสร็จใหม่ ๆ แล้วอยากเล่น ตอนนี้มันไม่ใช่ตอนที่เรามีความต้องการกับดนตรีขนาดนั้น แต่ก็ทำอะไรไปเรื่อยเปื่อย ไม่รีบ เหมือนปีล่าสุดที่ทำ live session ออกมาก็มีความคิดคล้าย ๆ กันแหละว่า เชี่ย ปีนี้เราควรจะทำอะไรสักอย่างบ้าง ก็เลยออกมาบันทึกวิดิโอดีกว่า

ย้ง: ตอนนั้นเหมือนรู้แล้วว่าจะหยุดเล่นไปพักใหญ่ ก็เลยทำวิดิโออันนี้เลย แล้วก็มีความคิดว่าอยากจะจัดอะไรเองมากขึ้น คือเบนเขาก็ทำอาชีพพวกการจัด organize เขาก็เลยมีมาตรฐานการจัดการของเขา ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก

เบน: แต่ปัจจัยมันยาก อย่างตอนเราทำมันก็คนละเรื่อง เพราะเราไม่ได้พยายามจะหาเงินจากมัน แบบเฮ้ย ทำ ๆ งานกูควักเงินกูออกเอง มันคนละเรื่องกันกับคนที่ลงทุนเพื่อให้ได้ผลกำไรเพื่ออยู่รอด เป็นอาชีพ ถ้าให้คุยเรื่องอุตสาหกรรมดนตรีทั้งหมดทั้งมวลคงยาว คนเสพ คนทำ คนจัดงาน (ถ้ามีโอกาส ทาง Fungjaizine จะติดต่อคุณเบนเพื่อพูดคุยเรื่องนี้อีกครั้ง)

งานที่จะกลับมาเล่นนี่เบนเป็นคนออกาไนซ์เอง

เบน: เปล่าหรอก แค่ก็อยากเล่น เป็นต้นไอเดีย แล้วพยายามจะทำทุกอย่างให้ง่ายกับชีวิตเราที่สุด โดยการที่นัท Maft Zai เขาเป็นเพื่อนผมอยู่แล้ว แล้ว Studio Lam ก็เป็นที่ที่น่าจะเหมาะ สเกลไม่ใหญ่มาก แล้วเป็นร้านที่แนวทางโอเค ก็ไปขอนัทเล่น เหมือนเขาก็รอมานานแล้วว่าเมื่อไหร่เราจะมาเล่น จนเขาเลิกพูดไปแล้ว (หัวเราะ)

ทำไมถึงเลือก เจ Strange Brew มาเปิดเพลงในงาน

ย้ง: แต่ก่อนผมเล่นเฟซบุ๊ก ตอนนี้ไม่ได้เล่นแล้ว ตอนนั้นอัลบั้มผมก็ยังไม่ออก ยังไม่มีใครรู้จัก แล้วเห็นเจแอดเฟซบุ๊กผมมาเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เขาไม่เคยอยู่ในสารบบเพื่อนเลยก็เลยไม่ได้คุยกัน แล้วผมก็แอบไปส่องเฟซบุ๊กเขา เขาฟังเพลงเหมือนเรามาก ๆ เป็นคนสรรหาเพลง ค้นไปลึก ๆ psychedelic, stoner 70s ทางยุโรป ค่ายแปลก ๆ ก็รู้จัก เหมือนเป็นคนอยู่ช่วงเวลานั้นจริง ๆ แล้วตอนหลังมารู้ว่าเขาทำวง surf ซาวด์เก่า ๆ มีความชอบ psychedelic อยู่ในนั้น

เม้ง: ได้เจอทั้งวงครั้งแรกตอนช่อง True ปลูกปัญญา เหมือนเขาให้วงรุ่นน้องมาคุยกัน แลกเปลี่ยนไอเดียกันยังไง แบบย้งก็เป็นครูสอนดนตรีอยู่แล้ว แต่เจอคำถามนึงถามว่า ปกติพี่อยู่บ้านพี่ฝึกอะไรครับ… อยู่บ้านก็ไม่ได้ทำอะไรนะ นอน เล่นเกม จะไปฝึกอะไร พี่ไม่ฝึกหรอก (หัวเราะ)

เบน: ตอนนั้นผมชิ่งเลยอะ อยู่ดี ๆ จะให้ผมไปสอนเล่นเบส ผมไม่เข้าใจไงตอนนั้น

เห็นว่าจะมีวิชวลในงานด้วย

เบน: ทีม Yellaban ทำครับ เรารู้จักกันอยู่แล้วสมัยที่เขาจะตั้งกลุ่มอะไรบางอย่างขึ้นมา แล้วมาขอทำ mv ให้เรา เราก็โอเคที่เขาชอบงานเราแล้วก็ให้เขามาทำงานด้านภาพ แล้วตอนทำ live session ก็ให้เขามาทำภาพประกอบเพลงให้ ซึ่งวิชวลในงานนี้ มันก็นำพาเรื่องการรับรู้นอกจากการได้ยิน อย่างตอนที่ผมได้ไปดูวงมืออาชีพมาก ๆ เขาก็จะมีการคิดโชว์ทั้งภาพกับเสียงให้มันเข้ากัน ผมว่ามันทำให้เราเข้าถึงดนตรีได้ง่ายขึ้น สื่อสารได้มากขึ้น แต่บางวงที่ผมดูก็รู้สึกว่าภาพมันทะลุเกินดนตรี ทำลายดนตรีไปแล้ว อย่าง Sigur Ros ผมไปดูที่ Primavera ก็รู้สึกว่าภาพมันจริงจังเกินไป เกินดนตรีไปเยอะ อันนี้ก็ความรู้สึกส่วนตัวนะ เพราะจริง ๆ มันไม่มีกำหนดหรอกว่าอันนี้ต้องเท่านี้ถึงจะพอดี

img_4653

จะได้ฟังอัลบั้มใหม่เมื่อไหร่

เบน: ไม่มีแพลนเลย เราเคยคิดว่าเราควรจะมีแต่สุดท้ายเราก็ไม่สามารถกำหนดได้ เวลาที่อยู่ด้วยกันก็น้อยมาก เดือนละครั้งสองครั้ง ครั้งนึงก็ไม่กี่ชั่วโมง ที่เห็นทุกวันนี้เป็นการซ้อมครั้งที่ 2-3 เอง เมื่อก่อนเราไปห้องซ้อมดนตรี 6 ชั่วโมงก็กลับ แต่ไม่ได้คุยอะไรกันมาก เราเลยพยายามจะปรับมาซ้อมที่บ้านย้งก็จะมีความรีแล็กซ์ เราใช้เวลาอยู่ด้วยกันได้มากขึ้น ก็ทำแบบสโลว ๆ ไป แต่มันจะมีช่วงที่ซ้อมจะไปเล่นก็จะรู้สึกว่า ยังไม่พร้อมเลยว่ะ ทำไมมันยุ่งเหี้ย ๆ ความสำคัญในชีวิตเรามันเปลี่ยนไปเยอะ พออยู่ในวัย 30 กลาง ๆ ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว ต้องทำงาน ถ้ามีลูกก็จะเข้าใจว่าจะไม่ใช่ชายโสดอีกต่อไป

เม้ง: นี่ก็ไม่เชิงเรื่อยเปื่อย นี่ก็ทำงานกันอยู่ กูรู้สึกว่าช่วงหลัง ๆ พวกมึงไม่ใช่คนอะไรก็ได้ไง พอเราเลือกเยอะขึ้นอะไร ๆ ก็เลยใช้เวลานาน

ย้ง: เรามีความละเอียดขึ้น แต่ก่อนผมเขียนเพลงในอัลบั้ม วันนึงเขียนได้สามเพลง คือชุ่ยมาก มั่นใจในสิ่งที่ทำออกมา ไม่แก้แล้ว ที่เขียนเป็นกลอนออกมาก็เอาแบบนั้นเลย แล้วก็เอาไปใส่ในเพลงให้มันเข้า แต่เดี๋ยวนี้ไม่ทำแบบนั้นแล้ว ลงรายละเอียดเรื่องซาวด์ด้วย พอมาซ้อมที่บ้านเราสามารถทำงานไปด้วย คุยไปด้วยได้ เปิดคอมหา source มาคุยกัน เหนื่อยก็หาอะไรดู

เบน: แต่เม้งไม่ชอบเพราะไม่ได้ตีกลองจริง (ใช้กลองไฟฟ้า)

เม้ง: เขาไม่ให้ตีแรงด้วย (หัวเราะ) แล้วตอนนี้ก็มีคนเล่นเพิ่มมาอีกคน มันก็ทำให้อะไร ๆ ซับซ้อนไปอีก แต่ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ดีนะ มันดีเพียงแต่ว่ามันต้องปรับวิธีการทำงาน วิธีเล่นก็ต้องเปลี่ยน ทำให้ต้องปรับตัวใหม่

ย้ง: เราสตาร์ทช้าด้วย

เบน: ไม่ช้าหรอก ความคิดมึงตอน 17 กับความคิดตอนมึงออกอัลบั้มมันก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี ตอนที่เราทำมันโอเคมาก เพราะอยู่ในวัยที่มันโต มีวุฒิภาวะประมาณนึงแล้ว แล้วก็ยังมีแรงพลังอะไรบางอย่างผลักดันอยู่ แต่ตอนนี้เราก็สโลวไปแล้ว

เม้ง: มันก็โอเคแหละ เราเริ่มต้นมันก็พอดีกันอยู่แล้ว ไม่ช้านะ วัยรุ่นตอนปลาย แต่กว่าจะโอเคมันก็ใช้เวลาเท่านั้นเอง สองเดือนที่ซ้อมกันนี่เราซ้อมหนักมากนะ เพราะมีจุดมุ่งหมายแล้วไงว่าต้องเล่น

ก้าวต่อไปของ Chladni Chandi

เบน: เราไม่เคยคุยกันเรื่องนี้จริง ๆ จัง ๆ เลยนะ เรามาคุยกันตรงนี้เลยดีกว่า

ย้ง: เราก็ยังอยากทำอยู่นะ แต่ก็ลดความคาดหวังลงมา ในส่วนที่ผมเป็นคนเขียนเพลงส่วนใหญ่ก็ยอมรับว่ามันต่างกับตอนสมัยเขียนเพลงในอัลบั้มที่มันเป็นช่วงแสวงหา จินตนาการฟุ้งไปหมด แต่ตอนนี้ได้ใช้ชีวิต ได้เรียนรู้กับมันจริง ๆ แล้ว มุมมองก็เปลี่ยนออกไป ก็เกรงใจเพื่อนเหมือนกันถ้าสิ่งที่มันออกมาจากผมมันไม่ออกมาจากคนอื่น มันก็ไปกันต่อยาก แล้วพอออกมาปุ๊บก็รู้สึกว่าต้องไปเกลามันเยอะก็ยิ่งช้า แต่ก็มีกำลังใจเพราะว่าเราไม่ได้เป็นวงที่ดังเปรี้ยงขึ้นมาแล้วก็หาย มันไม่เคยเปรี้ยงเลย ค่อย ๆ มาตลอด ทุกวันนี้ก็รู้สึกดีที่มันมีเด็กรุ่นใหม่ ๆ เพิ่งรู้จักเรา ก็อยากจะมีเพลงใหม่อีก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ อย่าง The Stone Roses เขาออกอัลบั้มแรกมาแล้วก็หายไป 22 ปี แล้วค่อยกลับมา แต่ผมว่าเราคงไม่นานขนาดนั้น (หัวเราะ)

เบน: เหมือนโดยพื้นฐานแล้วทุกคนเป็นคนที่ชอบดนตรีอยู่แล้ว ผมเป็นคนที่ชอบฟังดนตรีมาก ๆ โดยเฉพาะการทำดนตรีของตัวเองมันมีความหมายกับผมมาก ๆ ถึงแม้องค์ประกอบของวงนี้ถ้าผมพูดตรง ๆ ย้งคือคน lead ที่แต่งเพลง คิดเพลง ทุกอย่าง ทุกคนที่เหลือก็เหมือนแจมกันไป แต่ตัวผมตอนนี้ก็แทบไม่มีเวลาเลย ทำงานโหดมาก ไม่ค่อยได้นอน ตอนที่ผมเล่นดนตรีผมก็เหมือนทำงานอยู่เพราะมันมีเรื่องงานแทรกมาตลอด แม่งเครียดเว่ย บางทีโดนทักว่า เฮ้ย ไปเล่นดนตรีอีกแล้วหรอ คือการไปซ้อมดนตรีมันกลายเป็นความไร้สาระ แต่มันมีความหมาย เหมือนตอนนี้ผมทำอีเวนต์ ผมจะอยู่ในโลก commercial ที่หนักหน่วงเหี้ย ๆ แต่การที่มาเล่นดนตรีมันเหมือนเราได้ทำงานบางอย่างที่เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่เพื่อการหาเงิน ซึ่งมันดีกับผม ตอนนี้ก็อยากทำเพลงต่อไป แต่พูดตรง ๆ ว่า ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง ก็พยายามเท่าที่ทุกอย่างในชีวิตจะเอื้ออำนวย เราก็ปรับ เราเล่นดนตรีในห้องซ้อมแบบเดิมไม่ได้เราก็มาซ้อมกันสองสามครั้งที่บ้านเผื่อเราจะได้คุยกันมากขึ้น เราจะได้มีเวลามากขึ้น แล้วก็พยายามตั้งเป้าหมายระยะสั้นสุด ๆ ไม่ใช่ว่า เชี่ย อัลบั้มใหม่ต้องออกมาวันนี้ แต่เป็นว่า เราไม่ได้เล่นเลย ทำ live session หน่อยไหม งานเล่นเราก็มาคิดเอาว่าปีนี้ไม่ได้เล่นเลย มาเล่นดีกว่า เราสร้างเป้าหมายเล็ก ๆ ที่แบบ อย่างน้อยเราได้มาเล่นสดพร้อมกันอีกครั้ง เชื่อว่าที่ผมเล่นที่ Studio Lam ครั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งท้าย ๆ แล้วด้วยซ้ำสำหรับผม นี่ผมไม่ได้คุยกันก่อนนะว่าจะเป็นยังไง ผมรู้สึกว่า เฮ้ย ปีที่แล้วเราเล่นครั้งเดียว ครั้งที่เล่นเพราะ Panda จัดงาน 16 ปี ถ้า Panda เขาไม่จัด เราก็อาจจะไม่เล่น ปีนี้เราก็คิดว่าจะเล่นด้วยตัวเองขึ้นมาเพราะไม่ได้เล่นมาทั้งปี เท่ากับว่าที่ผ่านมาถ้าเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายเลยเราอาจจะไม่ได้เล่นดนตรีสองปี การไม่เล่นดนตรีเลยสองปีก็แทบจะหลุดจากชีวิตไปแล้ว

ย้ง: แต่ไม่มีนัยยะอะไร นี่ไม่ใช่หยุดไปแล้วทำสิบเพลงเปรี้ยงออกมา

เม้ง: เราไม่ได้หยุดเพราะต้องรออะไร มันแค่เป็นช่วงจังหวะที่เราพร้อมแล้วกลับมาเล่นกันดีกว่า ด้วยความรู้สึกที่อยากเล่น เราไม่เคยรู้สึกว่าเสียเวลากับการทำวง อันนี้พูดด้วยความซื่อสัตย์เลยนะ ปกติเราชอบอำไง (หัวเราะ) สำหรับเรา ความคิดมันเปลี่ยนไปแล้ว พอเป็นผู้ใหญ่มีอะไรให้ต้องทำมากขึ้น คุณเคยได้ฟังเพลงทุกคืน แต่พอกลับบ้านทุกวันนี้ ลูกหลับแล้วต้องเสียบเฮดโฟนอยู่หน้าตู้แอมป์ฟังเพลงเงียบ ๆ ผมก็ชอบอยู่กับดนตรีมาก เป็นส่วนนึงของชีวิตไปแล้ว ก็ยังคาดหวังว่าจะได้เล่นดนตรีวงนี้ต่อไป ผมไม่คิดจะไปทำ side project หรือวงดนตรีอื่น ผมเป็นคนผูกพันกับตัวคน นี่ไม่ใช่ใครจะมาเรียกไปเล่นได้นะ กูไม่ไปนะเว้ย นี่กูพูดกับพวกมึงเลย (หัวเราะ) หวังว่าจะได้เล่นต่อไปเรื่อย ๆ จนเราอายุซัก 40-50 เหมือน Dinosaur Jr. ที่เรายังกลับมาเล่นดนตรีบวมเบียร์ เราก็ยังเล่นเพลงของเราเองอยู่

ย้ง: เล่นให้เด็กมันดูหน่อย

เม้ง: กูไม่ได้มองว่าจะขึ้นไปทำอะไรแบบนั้น กูแค่อยากเล่น อยากมาดูก็มา คือกูยังเล่นอยู่เว้ย

ย้ง: พี่เขายังไหวอยู่หรอวะ

เม้ง: ไหววววววว แต่เรื่องของอัลบั้มมันอยากมีอยู่แล้วแหละ แต่มันก็มีปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เราไม่อยากทำอะไรลวก ๆ บางทีเราทำอะไรขึ้นมาแล้วคุณไม่ชอบ คุณจะเอาไปให้คนอื่นฟังหรอ ก็ไม่ มันก็คือความรู้สึกของผมตอนนี้

ย้ง: มันมีความกดดันนิดนึงเพราะว่าผลตอบรับจากการที่เราทำอัลบั้มแรก มันดีกว่าที่คิดไว้เยอะ เรากะทำให้ฟังกันแค่เพื่อน ๆ แต่มันไม่ใช่ กลายเป็นว่าได้เข้าชิงรางวัล

เม้ง: เราคิดเลยนะว่ามันเร็วไปสำหรับเราจริง ๆ มันไม่ควรไปถึงจุดนั้นเร็วขนาดนั้น แต่ถ้ามันไม่ได้รางวัลกูอาจจะเลิกเล่นไปเลยก็ได้นะ (หัวเราะ) กูไม่เลิก ๆๆๆๆ

ย้ง: แต่รูปแบบในอนาคตนี่ สมมติอายุ 40-50 ก็อาจจะเปลี่ยนรูปแบบในการนำเสนอเพลง อาจจะไม่ได้เป็นวงแล้ว ให้แชมป์พูดบ้าง

แชมป์: ผมยังเป็นน้องใหม่อยู่ ในระยะเวลาสองปีนี้ก็คิดว่าเกิดความคาดหวังกับ Chladni เพราะคิดว่าเป็นการทำงานที่สนุกดีอยู่กับพี่ ๆ เขา ก็มีประสบการณ์ใหม่ ๆ เข้ามาให้ได้เรียนรู้ตลอด ก็ยังอยากเล่นดนตรีต่อไปกับ Chladni ครับ แล้วก็อยากให้มีเพลงใหม่ ๆ ออกมาด้วย

ย้ง: ตอบดีสุดเลย (หัวเราะ)

img_4680

รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่เป็นแฟนเพลงของ Chladni Chandi ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะโอกาสที่เราจะได้ดูพวกเขาเล่นสดคงไม่ได้มีมาง่าย ๆ แบบเมื่อก่อน หรือใครที่เพิ่งจะรู้จักกับพวกเขา ยังไม่เคยดูเล่นสดที่ไหน งานวันศุกร์นี้แล้วที่จะทำให้คุณได้เปิดประสบการณ์ดนตรีที่ซึมลึกไปถึงจิตวิญญาณ บัตรราคา 200 บาท ที่ Studio Lam แล้วเจอกัน

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้