Article Interview

Chiangmai Blues…เพราะบลูส์มันก็เป็นแค่ชีวิตธรรมดาที่ไม่ได้มีแต่ความระทม

  • Writer: Piyakul Phusri
  • Photographer: Piyakul Phusri, Jarudet Chailert and Chiangmai Blues

 

บลูส์ เป็นอีกแนวดนตรีที่ไม่เคยหายไปจากซีนดนตรีทั้งในระดับสากล และซีนดนตรีในประเทศไทย เพราะเป็นแนวดนตรีที่มีกลุ่มผู้ฟังค่อนข้างจะเหนียวแน่น และนักดนตรีบลูส์ก็มักจะยึดถือแนวทางการทำเพลงสไตล์บลูส์ ๆ ของตนเองเป็นสรณะ

ในบรรดาวงบลูส์สัญชาติไทยที่มีเพลงของตัวเอง ณ ตอนนี้ น่าจะสามารถนับนิ้วได้ถ้วน หนึ่งในนั้นคือวงบลูส์จากเชียงใหม่ในนาม Chiangmai Blues ที่เป็นการรวมตัวของมือกีตาร์บลูส์ฝีมือฉกาจ และสมาชิกทั้งรุ่นกลาง และรุ่นใหม่ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานเพลงบลูส์ออกมาเป็นอัลบั้มชุดแรกที่ใช้ชื่อเดียวกับวง และเป็นอัลบั้มที่ไม่ว่าจะเป็นนักฟังเพลงบลูส์ระดับคอแข็ง ไปจนถึงมือใหม่หัดฟัง สามารถแสวงหาความรื่นรมย์ได้อย่างเท่าเทียม

เพราะ ‘บลูส์’ ไม่ได้แปลว่า ‘ระทมขมขื่น’ เสมอไป…

Chiangmai Blues

สมาชิก
ใหม่—อนุพล เวียงทอง (กีตาร์, ร้องนำ)
ดนตร์—ธนัทคุณ สุสุข (เบส)
อาร์ท—พันธกร ทองเณร (กลอง)

พื้นหลังทางด้านดนตรีของแต่ละคนก่อนจะมารวมวง ทำอะไรกันมาบ้าง

ใหม่: ผมเล่นดนตรีอาชีพมาได้ซักสิบกว่าปี เกือบยี่สิบปีเล่นบลูส์มาตลอด ตั้งแต่หัดเริ่มเล่นกีตาร์ ตั้งแต่หัดจับคอร์ดซีก็หัดเล่นบลูส์เลย เล่นที่ร้านบราสเซอรี่ เชียงใหม่ เล่นกับพี่ตุ๊ก บราสเซอรี่ มาสิบกว่าปีจนร้านเลิกไป ก็ยังเล่นมาเรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้

อาร์ท: ผมเริ่มเล่นดนตรีตอน ม.ต้น และก็เล่นที่โบสถ์ด้วย จนมาเรียนมหาวิทยาลัยที่วิทยาลัยดุริยศิลป์ ม.พายัพ ตอนนี้ก็เรียนปีสามอยู่ครับ ก็เล่นดนตรีที่ร้านข้างนอกด้วย เล่นกลางคืนทั่วไป

ดนตร์: ผมเล่นเบสตั้งแต่ประมาณ ม.3-4 เริ่มจากเล่นป๊อปธรรมดา แล้วไปเรียนแจ๊สที่โรงเรียนดนตรีวรนันท์ตอนประมาณ ม.6 แล้วก็เล่นแจ๊สมาตลอดประมาณสิบปี เพิ่งได้มาจับบลูส์ตอนสองปีก่อน

แล้วมาฟอร์มกันเป็นวง Chiangmai Blues ตอนไหน

ใหม่: ประมาณปีกับอีกสองเดือนครับ แต่กับดนตร์นี่ก็แจมกันมาเรื่อย ๆ ตามงานต่าง ๆ พอเล่นดนตรีมาถึงจุดหนึ่งก็คิดว่ามันก็ต้องมีเพลงเป็นของตัวเอง เวลาเราไปเล่นตามงานอีเวนต์หรืองานอาร์ตต่าง ๆ คนจัดงานเขาก็อยากจะให้เล่นเพลงของตัวเอง โดยส่วนตัวก็มีประสบการณ์มาพอสมควร เลยอยากนำเสนอเรื่องราวผ่านดนตรี

ก่อนหน้านี้เล่นคัฟเวอร์มาตลอด?

ใหม่: ใช่ครับ ก็มีเล่นเพลงตัวเองบ้าง แต่ไม่ได้จริงจังเท่าตอนนี้

แล้วนี่คืออัลบั้มแรกเลย?

ใหม่: ใช่ครับ

อาร์ท: ตอนแรกผมเล่นกับพี่ดนตร์ก่อน เป็นวงแจ๊สที่เล่นที่นี่ (ร้าน The North Gate) แล้วพี่แก้ว The Next Studio เจอผมไปอัดกลองก็แนะนำให้รู้จักกับพี่ใหม่ พี่ใหม่ก็เลยชวนมาทำ ผมก็ตกลงเลย ไม่ได้คิดอะไรเลย

แนวคิดในการอัลบั้ม Chiangmai Blues คืออะไร เพราะในอัลบั้มเดียวมันมีบลูส์หลากหลายแนวมากเลย และมีทั้งเพลงภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

ใหม่: ถ้าเราดูอัลบั้มบลูส์ของฝรั่งจริง ๆ เนี่ย มันไม่ได้มีแค่บลูส์ที่เป็นเพลงสิบสองห้อง หรือเพลงที่เป็น traditional อย่างเดียวนะครับ มันมีหลากหลายเหมือนกัน แต่คนทั่วไปที่ไม่ค่อยได้ศึกษาหรือไม่ค่อยได้ฟังเพลงบลูส์ก็อาจจะคิดว่าเพลงบลูส์มันก็จะประมาณเนี้ย เป็นเพลงจังหวะสิบสองห้อง หรือแพตเทิร์นแบบนี้ แต่จริง ๆ บลูส์มันหมายถึงชีวิตด้วย มันอาจจะมีโน้ตกีตาร์หรือมีสำเนียงที่ออกเป็นโทนบลูส์ ในบางครั้งที่เล่นอยู่บนเมโลดี้ที่เป็นเพลงป๊อปก็มีเยอะ หรือเป็นเพลงร็อก แต่นั่นก็คือบลูส์อีกแบบหนึ่ง เราพยายามทำเพลงให้มันร่วมสมัย ในอัลบั้มก็จะมีเพลง traditional blues อยู่สองเพลง เป็นเพลงในจังหวะ shuffle และ slow blues ซึ่งเป็นเพลงบลูส์มาตรฐาน แต่นอกนั้นก็จะเป็นเพลง blues rock มีเพลงป๊อป ไซคีเดลิกผสมนิดหน่อย เพราะด้วยตัวเราก็เป็นคนรุ่นใหม่ ค่อนข้างเล่นดนตรีหลากหลาย เลยอยากนำเสนอบลูส์ในแบบของเรา ในแบบเชียงใหม่บลูส์

ดนตร์: ขอเสริมพี่ใหม่นิดหนึ่ง เนื้อหาในเพลงส่วนใหญ่จะเป็นประสบการณ์ชีวิตของพี่ใหม่เป็นหลัก ทั้งที่เจอกับเพื่อน เจอกับตัวเอง เจอกับคนรอบข้าง ก็เอามาแปรเป็นภาษา เป็นเนื้อเพลง และช่วยกันเรียบเรียง

ใหม่: ทุกเพลงมีที่มาที่ไปหมดครับ ไม่ได้นั่งเทียนนึกจินตนาการเอา เขียนมาจากเรื่องจริงทุกเพลง

ใครเป็นคนเขียนเนื้อเพลงในอัลบั้มบ้าง

ใหม่: หลัก ๆ ผมจะเขียนขึ้นมาก่อน แต่จะมีทีมที่ช่วยแก้ภาษาอยู่ อย่างภาษาอังกฤษบางทีผมจะเขียนเป็นภาษาไทยคำ อังกฤษคำ ทีมงานก็จะช่วยดูให้ ว่าผมอยากได้คำนี้ แต่ประโยคข้างในต้องใช้คำว่าอะไรต่อ ๆ กัน เช่น ผมอยากได้คำว่า ‘go down the road’ แล้วผมก็เขียนอธิบายเรื่องราวต่อ ทีมงานก็จะช่วยผมเรื่องประโยคให้มันถูกต้อง

กล่าวจะออกมาเป็นอัลบั้มชุดนี้ ใช้เวลาทำงานนานไหม

ใหม่: หนึ่งปีครับ เราเริ่มฟอร์มวงกันเมื่อปีก่อน ก็เริ่มทำอัลบั้มเลย ผมมีเพลงประมาณหนึ่งอยู่แล้ว ก็รวบรวมสมาชิกเพื่อทำการบันทึกเสียงเล่นดนตรี ออกทัวร์ พวกเราออกทัวร์ต่างจังหวัดบ้าง มีเล่นในจังหวัดบ้าง ไปอีสาน ไปใต้ ไปคนเดียวผมก็ไป แต่ก็เล่นเพลงของวงนะครับ ให้แบ็กอัพที่อื่นเล่น

เรียกว่าจุดประสงค์หลักที่ Chiangmai Blues ฟอร์มวงขึ้นมาก็เพื่อทำอัลบั้ม

ใหม่: ใช่ครับ หลัก ๆ คือเราอยากทำผลงานขึ้นมา

แต่ละคนเล่นหรือฟังเพลงบลูส์มาตั้งแต่เมื่อไหร่

ใหม่: เมื่อก่อน ยุคผมมันจะไม่มี YouTube ซีดีไม่มีตังค์ซื้อหรอก ไวนิลไม่ต้องพูดถึง ไม่มีเครื่องเล่น ผมก็จะมีเทปคาสเซ็ตที่อัดต่อ ๆ กันมาจากรุ่นพี่ เราฟังบลูส์ครั้งแรกจากคาสเซ็ตที่เขียนว่า Tuk and Friends Live at Brasserie ตอนนั้นเราไม่รู้จักเพลงบลูส์ครับ เรามีเทปคาสเซ็ตนี้เพราะพี่ชายเราเล่นคีย์บอร์ดอยู่ในวงนั้น ก็เอามาฟัง เราก็ถามพี่ชายว่านี่มันคืออะไร เรารู้สึกชอบตั้งแต่เรายังไม่เล่นกีตาร์เลย พอฟังแล้วประทับใจก็รู้สึกว่าอยากเล่นเพลงบลูส์ ตอนที่หัดเพลงสี่คอร์ดผมก็โตมากับยุคอัลเทอร์เนทีฟ ยุค 90s พวก NirvanaModerndog ชุดแรก ก็หัดเล่นกีตาร์ในแบบเพลงร็อกทั่วไปด้วย และศึกษาดนตรีบลูส์ด้วยตั้งแต่ผมเริ่มเล่นกีตาร์ แต่ตอนนั้นมันก็เด็ก ๆ มันก็จะไม่ได้เข้มข้นอะไรมาก พอมาทีหลังก็มีเทปของ Stevie Ray Vaughan, Jimi Hendrix แต่คาสเซ็ตม้วนแรกของเราคือ Tuk and Friends Live at Brasserie แรงบันดาลใจแรกของเราเลยไม่ใช่ศิลปินฝรั่ง แต่เป็น ตุ๊ก บราสเซอรี่ เราฟังแล้วก็รู้สึกว่าทำไมคนนี้เล่นกีตาร์ได้ประหลาด มันไม่เหมือนเพลงที่เราเคยฟังอย่างเมื่อก่อนมี Dream Theater มี Mr.Big มี Metallica แต่พอมาฟังดนตรีแนวบลูส์ในม้วนนั้น เรารู้สึกว่ามันไม่เหมือนดนตรีที่เราเคยฟัง หรือที่เคยดูจากทีวี เพราะบ้านเราเมื่อก่อนก็จะมี หินเหล็กไฟ, Moderndog, Y Not 7, Loso แต่ที่เราฟังมันหนังคนละม้วนเลย

ดนตร์: ผมเล่นดนตรีที่เชียงใหม่มานานแล้วก็ย้ายไปต่างจังหวัดประมาณหกเดือนก่อนจะย้ายกลับมา พอกลับมาก็ไม่ได้ทำอะไร พอกลับมาทำงานดนตรีก็ได้อยู่กับพี่ใหม่มากขึ้น เริ่มจากไปดูที่ร้านบราสเซอรี่ ก็ได้เล่นบ้าง ได้แจมบ้าง ก็จะมีบางทีที่มือเบสประจำของพี่ใหม่ไม่ว่าง ก็ไปเล่นแทน ก็เลยได้เริ่มเล่นตั้งแต่ตอนนั้น แต่ส่วนใหญ่ก็ได้ฟังเพลงบลูส์จากวงพี่ใหม่เป็นหลัก คือตั้งแต่เล่นดนตรีมา ถือว่าได้จับเพลงบลูส์น้อยมาก เพิ่งมาได้จับเพลงบลูส์เมื่อ 2-3 ปีก่อน

อาร์ท: ผมไม่เคยตีกลองแนวบลูส์มาก่อน และก็ไม่ค่อยได้ฟังด้วย เพราะฟังเพลงเหมือนวัยรุ่นทั่วไป พอพี่ใหม่ชวนเล่นก็เริ่มฟัง และได้พี่ใหม่เป็นโค้ชให้ เป็นมือกีต้าร์ที่สอนผมตีกลอง โดนพี่ใหม่นวดมา (หัวเราะ) ก็ยังศึกษาอยู่เรื่อย ๆ ครับ

ศิลปินบลูส์ในดวงใจของแต่ละคนเป็นใครกันบ้าง

ใหม่: จริง ๆ มีหลายคนนะครับ หลัก ๆ เลย ผมฟัง พี่ตุ๊ก บราสเซอรี่ เยอะ กับ Stevie Ray Vaughan แล้วก็ Albert King, T-Bone Walker, Muddy Water

ดนตร์: ชอบพี่เชาวน์ครับ พี่เชาวน์เป็นมือเบสที่เล่นกับพี่ใหม่ ซึ่งถ้าเอาจริง ๆ ฟังเยอะที่สุดก็น่าจะเป็นพี่เชาว์ ตามมาดูแกตั้งแต่ยังไม่เริ่มเล่น ส่วนใหญ่ผมจะฟังเพลงตามพี่ใหม่ พวก Albert King, Stevie Ray Vaughan, Jimi Hendrix, Albert Collins คิดว่าไหน ๆ ต้องเล่นกับพี่ใหม่ ก็เลยฟังให้เหมือน ๆ กัน สไตล์คล้าย ๆ กัน

อาร์ท: พี่อาร์ท วง Blue Shade ครับ และผมชอบมือกลองคนผิวดำ ใครก็ได้ครับ เขาจะมีสำเนียงของเขาอยู่

ใหม่: อาร์ท Blue Shade เมื่อก่อนก็เล่นที่บราสเซอรี่ด้วยกันครับ แต่ตอนหลังไปเล่นเพลงป๊อปอยู่กรุงเทพฯ แต่เขาก็ยังเล่นบลูส์อยู่ เวลามีโอกาสก็เล่นแจมกันตลอด ในอัลบั้มนี้เขาก็อัดให้ในบางเพลง

ตอนนี้วงมีเล่นประจำที่ร้านไหนบ้าง

ใหม่: ที่ Thapae East ทุกวันศุกร์ 21.45 – 22.45 น. และที่ The North Gate วันอาทิตย์บ้างเป็นครั้งคราว

ถามอย่างคนที่ไม่ได้รู้เรื่องดนตรีบลูส์อย่างลึกซึ้ง ซีนดนตรีบลูส์ในโลกตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ใหม่: มันก็อยู่ของมันอย่างนั้นล่ะครับ (หัวเราะ) ก็อาจจะคล้าย ๆ แจ๊สมั้ง

ดนตร์: บลูส์เขาเหนียวแน่นของเขา มีความเป็นเอกลักษณ์สูง มีกลุ่มคนฟังที่ชัดเจนอยู่แล้ว และดนตรีบลูส์แทรกอยู่ในดนตรีทุกประเภทอยู่แล้ว แม้แต่ในดนตรีป๊อป ถ้าเปรียบเทียบดนตรีเป็นต้นไม้ บลูส์ก็คือลำต้น คือเขาก็อยู่ของเขาแบบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ทุกคนอาจจะไม่ได้มองว่ามันเติบโตขึ้นไปอย่างไร เขาก็มีความแข็งแรงของเขาในแนวดนตรี ในสไตล์

ใหม่: บ้านเราค่อนข้างอิงอยู่กับสิ่งที่สื่อกระแสหลักป้อนให้เท่านั้น แต่ถ้าอย่างเมืองนอก พวกเพลงแจ๊ส เพลงเมทัล เพลงเฮฟวี่ หรือ บลูส์ เขาก็จะมีกลุ่มของเขาที่อยู่ยงคงกระพัน มันก็เป็นธรรมดาที่เพลงป๊อปจะต้องขึ้นมาตามกระแส แต่เมทัลก็มีกลุ่มของมันที่เขายังฟังอยู่ มันเหมือนรถมอเตอร์ไซค์อ่ะครับ คนขี่ฮาร์เลย์ มันก็มี คนขี่รถโมโตครอส รถวิบาก มันก็มี พวกที่ชอบความเร็วแบบดูคาติ มันก็มี ผมว่าดนตรีมันก็มีการแบ่งกลุ่มความชอบเหมือนมอเตอร์ไซค์

ตอนนี้เพลงพวกฟังก์ พวกดิสโก้ หรืออะคูสติกโฟล์ก มันกลับมาอีกครั้ง แต่ในบ้านเรายังไม่มีศิลปินแม่เหล็กที่จะนำเพลงบลูส์กลับมาสู่กระแสอีกครั้ง

ใหม่: เนี่ย…ผมจะทำให้มันเป็นนี่แหละครับ (หัวเราะทั้งวง)

ดนตร์: เอาจริง ๆ ถ้าดูในอัลบั้ม มันสามารถอธิบายบลูส์ได้ในหลายรูปแบบ คนจะเสพได้ตั้งแต่ระดับเริ่มหัดฟัง แม้แต่คนที่ฟังมาลึก ๆ ก็จะได้ยินเพลงบลูส์ที่เข้มข้นมาก อย่างที่บอกว่าพี่ใหม่เล่น traditional blues สองเพลง คือ You’re Gone So far Away ที่เป็น slow blues กับ Chiangmai Blues ที่เป็น shuffle คนที่เคยเสพบลูส์มาก่อนก็จะเข้าใจว่าสองเพลงนี้มันเป็นอย่างไร แต่อย่างคนที่เริ่มฟัง ก็จะสามารถจับดนตรีบลูส์ได้จากเพลง ไอ้หนุ่มบลูยีนส์ ที่เป็น funk-blues หรือเพลง ไม่เป็นไร ในอัลบั้มมันมีเพลงพวกนี้คอยซัพพอร์ตการฟังของทุกคนอยู่

ใหม่: มันจะมีโน้ตที่มันเป็นบลูส์ สำเนียงที่มันเป็นบลูส์อยู่ในนั้น คือถ้าเป็นมือกีต้าร์บลูส์จริง ๆ ถ้าเขาฟัง เขาจะบอกได้ว่า คนนี้เล่นกีตาร์บลูส์ มันมีกลิ่นของมันแทรกอยู่ในทุก ๆ เพลง

โดยส่วนตัวมองว่าบลูส์เป็นอะไรที่ยากต่อการทำความเข้าใจหรือเปล่า

ใหม่: ไม่เลยครับ ผมว่าจริง ๆ แล้วบลูส์มันเข้าถึงง่ายมากเลย บลูส์มันเป็นเรื่องธรรมดา ๆ พูดถึง ‘เราชอบกินก๋วยเตี๋ยว เราก็ไปกินก๋วยเตี๋ยว’ ‘เราชอบดื่มเหล้า เราก็ไปดื่มเหล้า’ จริง ๆ แล้วบลูส์มันเป็นเรื่องอธิบายเกี่ยวกับชีวิตประจำวันนี่แหละครับ ‘เมียผมทิ้งไปเพราะว่าผมไม่มีตังค์’ อะไรอย่างเนี้ย หรือว่า ‘บ้านโคตรลำบากเลย อยากได้รถสวย ๆ ซักคัน จะทำยังไงดี’ มันเป็นแบบเนี้ยครับ สมัยก่อนมันเป็นเรื่องราวที่คนดำเขาแต่งขึ้นมา เขาไม่ได้พูดถึงว่า ‘พระราชินีคนนั้นรบกับคนนี้’ ไม่ได้เหมือน Neil Young หรือ Bob Dylan ที่เขียนเป็นกวี เพลงบลูส์จะง่าย ๆ ‘วันนี้เมียกูแม่งมีชู้ มันไปฟัคผู้ชายทั่วเมืองเลย เราก็เลยต้องไปยิงมัน’ (แปลจากเพลง Hey Joe ของ Jimi Hendrix) หรือเพลงของ Albert Collins ชื่อ If a Trouble was Money ก็พูดถึงว่า ‘เฮ้! ที่รัก เพราะกูจนใช่มั้ย มึงถึงทิ้งกูไป’ หรือบางทีก็พูดว่า ‘ฉันอยากจะกินเหล้าดี ๆ ฉันก็ไปทำงาน’ มันก็เพลงของพวก ZZ Top ของ Sun House ของนักดนตรีเก่า ๆ ก็จะพูดแค่เรื่องบ้าน ๆ ทั่วไป ไม่ได้วิเศษวิโสไปกว่าใครใด ๆ ในโลก พูดถึงเรื่องคนปกติธรรมดา 

เป็นเพลงเพื่อชีวิตของฝรั่ง จะว่าอย่างนั้นได้มั้ย

ใหม่: เพื่อชีวิตฝรั่งมันน่าจะเป็นพวก Bob Dylan หรือ Neil Young ถ้าบลูส์อาจจะเป็นเหมือนพวกเพลงลูกทุ่ง เพลงฉ่อย เพลงแหล่ น่าจะประมาณนี้ น่าจะเป็นเพลงพื้นบ้านมากกว่าเพื่อชีวิต

อาร์ท: ผมก็แอบเห็นคล้าย ๆ กันนะครับ เหมือนแจ๊สก็เป็นต้นกำเนิด และ ก็มีสายบลูส์อีกสายที่เป็นตัวใหญ่ และมีความดิบที่ผมชอบเป็นส่วนตัว สำหรับผมบลูส์มันเข้าถึงง่ายนะครับ เวลาผมฟังโซโล่ ถ้าเราตั้งใจฟัง มันจะมีการเล่าเรื่องอยู่ในเสียงกีตาร์ มีอะไรอยู่ในนั้นเต็มไปหมด มันรู้สึกระทวยไปตามเสียงดนตรี บางทีผมก็แอบร้องไห้ เพราะเราอิน

ในทัศนคติของคนทั่วไป เพลงบลูส์เนี่ยมันจะมีเซนส์ของความระทมอยู่สูงทั้งในภาคดนตรี และเนื้อร้อง ถึงตอนนี้เราจะสามารถสร้างความหมายใหม่ของดนตรีบลูส์ที่ไม่ใช่ความระทมเป็นหลักจะได้ไหม

ใหม่: จริง ๆ บลูส์มันไม่ได้มีแต่ความเจ็บปวด หรือ ความทุกข์ทั้งหมด ถ้าเราศึกษาดี ๆ บางทีเขาก็พูดถึงเรื่องที่มันแฮปปี้ อย่างที่ผมเคยบอกว่าเขาพูดถึงเรื่องชีวิตซะส่วนใหญ่ แต่คำว่า blues หรือ ‘blue’ ในภาษาอังกฤษมันอาจจะหมายถึง ‘ความเศร้า’ คนเลยตีความไปแบบนั้น แต่จริง ๆ มันไม่ใช่นะผมว่า มันก็ใช่แหละ แต่มันไม่ใช่ทั้งหมด บลูส์มันมีหลายแง่มุม ที่มีความสุขก็มี ลองไปฟังเพลงของ Koko Taylor หรือเพลง I Just Wanna Make Love to You เขาไม่ได้บอกว่าเขามีความทุกข์อะไรเลย เขา…..ก็แค่นั้น หรือ อย่างเพลง Hound Dog ของ Elvis Presley มันเป็นเรื่องธรรมดามากกว่าครับ มันเป็นเรื่องของชีวิตมากกว่า ผมไม่ได้มองมันเป็นความทุกข์ เพราะว่าผมเล่นบลูส์ทุกครั้งผมมีความสุข (หัวเราะ)

ด้วยชื่อวง Chiangmai Blues มีเอกลักษณ์อะไรบ้างที่เมื่อคนฟังได้ฟังเพลงของวงแล้วจะเกิดความรู้สึกว่านี่คือวงบลูส์จากเชียงใหม่

ใหม่: สมัยก่อนมันจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เชียงใหม่ซาวด์’ หรือ ฟิลแบบนักดนตรีเชียงใหม่ ซึ่งสิ่งที่ผมนำเสนอมันเป็นแบบของผม ซึ่งผมไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นอย่างไรนะ ผมเป็นคนเชียงใหม่ ผมชื่อใหม่ ผมเล่นดนตรีบลูส์ในสไตล์ที่ผมเป็น แบบที่ผมซึมซับมาจากนักดนตรีจากเชียงใหม่ที่เป็นรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ผสมกัน มันก็เลยออกมาเป็นแบบนี้ ผมคิดว่ามันก็น่าจะเป็นแนวทางของเชียงใหม่บลูส์ในแบบของผมคนเดียว ไม่เกี่ยวกับของคนอื่นนะฮะ ผมก็ค่อนข้างชัดเจนในสิ่งที่ผมเป็น ในสไตล์ที่ผมเล่น ต้องดูเล่นสดครับ จะชัดที่สุด

ดนตร์: ผมเคยเล่นดนตรีกับอาร์ทมาประมาณหนึ่ง เล่นกับพี่ใหม่มาประมาณหนึ่ง ผมก็จะคิดว่าสองคนนี้เขาจะเล่นอย่างไร ถ้าแปลง่าย ๆ ก็คือการใช้ประสบการณ์เล่นดนตรีในเชียงใหม่ ใช้การเป็นพี่น้องกัน การเล่นดนตรีด้วยกัน การเจอประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกันในเรื่องดนตรี เอามาแปรใช้กับตัวเพลงในเรื่องการบันทึกเสียงและเรียบเรียง ส่วนถ้าถามว่าอะไรที่เป็นเชียงใหม่ชัด ๆ ในอัลบั้มจะมีเพลง Chiangmai Blues

ใหม่: ซึ่งเรายังไม่ได้ปล่อยออกมา ถ้าอยากฟังต้องซื้อซีดีครับ (หัวเราะ) อันนี้เชียงใหม่เต็ม ๆ เราใช้เครื่องดนตรีพื้นเมือง ใช้เครื่องดนตรีของลีซอ ใช้เครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์มาผสม มีสำเนียงพูดแบบเหนือ

ดนตร์: ลองซื้อไปฟังดูครับ ซีดี 300 บาท เพราะเราไม่สามารถบอกได้ว่าความเป็นเชียงใหม่มันมาจากไหน แต่เราเป็นนักดนตรีที่เล่นในเชียงใหม่ และมีประสบการณ์ในซีนดนตรีของเชียงใหม่ เราก็เอาตรงนี้มาใช้ในอัลบั้ม ถ้าจะบอกว่าเชียงใหม่อย่างไร ก็คืออัลบั้มนี้คนเชียงใหม่ทำ เป็นดนตรีที่โตมาจากเชียงใหม่ ไม่ได้มาจากที่อื่น

มีความคาดหวังกับอัลบั้มชุดนี้อย่างไรบ้าง

ใหม่: อยากเดินทางครับ อยากไปประกาศให้โลกรู้ว่านี่คือ Chiangmai Blues แค่นั้นครับ ผมไม่คิดอะไรมาก คิดแค่นี้ อยากไปทุกที่ที่มันไปได้ด้วยผลงาน เพื่อให้คนอื่นมันเห็นว่าเราเป็นอย่างไร

ดนตร์: ผมมองว่าอัลบั้มนี้เป็นอัลบั้มแรก เป็นเหมือนการเปิดตัว สำหรับผม ซีดี คือนามบัตรของเรา ถ้าคุณอยากรู้จักเรา ก็เอาซีดีเราไป หรือคุณจะติดตามเราจากทุกช่องทางที่เรามีก็ได้ และผมก็หวังว่าเพลงของเราจะเป็นใบเบิกทางในอนาคต

อาร์ท: ตื่นเต้นมากครับ เพราะไม่เคยได้ทำอะไรอย่างนี้ สำหรับความคาดหวังของผม ผมก็ต้องตามรอยพี่ ๆ ไป เพราะผมยังเป็นเด็กน้อยอยู่ รู้สึกโชคดีครับที่ได้อยู่ในผลงานนี้ จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และดูดพลังของพี่ ๆ ทั้งสองคนมาใช้ ก็คงจะเดินทางตามพี่ ๆ ไป พี่ไปไหนผมไปด้วย (หัวเราะ)

ฝากอะไรไปถึงแฟน ๆ ฟังใจซักหน่อย

ดนตร์: สำหรับผลงานชิ้นนี้ พวกเราตั้งใจทำงานให้ออกมาดีที่สุด ตลอดหนึ่งปี เราอัด เราแก้ เราเรียบเรียง เราทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ตามแบบที่เราต้องการ อยากฝากไว้ว่า ผลงานชุดนี้เป็นผลงานของคนเชียงใหม่แท้ ๆ ทั้งคนอัด คนคุมห้องอัด คนเขียนเนื้อเพลง ทุกคนเป็นพี่น้องที่เชียงใหม่ เอาความสามารถที่มีมาช่วยกันในอัลบั้มชุดนี้ อยากให้ทุกคนได้สัมผัสเพลงบลูส์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผมว่ามันเป็นมุมที่น่าสนใจ มันไม่ใช่แค่เพลง traditional blues มันมีความหลากหลาย มีทั้งเนื้อเพลงที่แต่งมาจากเรื่องจริง และทุกอย่างทมี่ประกอบกันมันมาจากพวกเรา และทีมงานเชียงใหม่ อยากให้ได้ลองฟังดู

อาร์ท: ตอนนี้ก็มีแผ่นแล้วนะครับ มี 10 เพลง 300 บาท เท่านั้น ส่งได้ทั่วโลก ปกสวยมากนะครับ

ใหม่: We are Chiangmai Blues – We don’t play by the rules!

ฟังเพลงของ Chiangmai Blues บนฟังใจได้บนฟังใจ
ติดตามข่าวสารของ Chiangmai Blues ได้ที่แฟนเพจ

Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี