Boy in Blue’s สะท้อนเสียงกรีดร้องภายในใจผ่านความคิดถึงที่แวะมาเพียงชั่ววูบแล้วหายไป กับซิงเกิลใหม่ล่าสุด ‘Pillow’
- Writer: Supakit Natib
- Visual Designer: Fahsai Intharak
พูดคุยถึงเพลงที่ถูกเก็บมานาน ผ่านมาหลายเวอร์ชั่น ถ่ายทอดเรื่องราวของห้วงเวลาหนึ่งที่เกิดความรู้สึกคิดถึงใครบางคนขึ้นมา อาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาแต่สุดแสนจะเจ็บปวด Pillow ซิงเกิลล่าสุดจาก Boy in Blue’s
Boy in Blue’s แนะนำตัวกันหน่อย
สมิธ: เตรียมกันไว้แล้วครับว่าใครจะพูดอะไรบ้าง (หัวเราะ) โอเอาเหมือนที่ซ้อมกันไว้เลย
โอ: สวัสดีครับ ผมชื่อโอครับ ส่วนนักร้องสุดหล่อชื่อสมิธครับ ส่วนมือกีตาร์สุดเท่ชื่อพี่นุ๊กครับ
สมิธ: ไม่เหมือนที่ซ้อมเลย (หัวเราะ)
พอจะจำเพลงที่คุยกันเป็นครั้งแรก ๆ ได้อยู่ไหม
สมิธ: ถ้าเพลงแรก ๆ หรอครับ อ่า…เพลงไรวะนุ๊ก?
นุ๊ก: ก็มีอยู่!
สมิธ: ถ้าเพลงแรก ๆ ที่ทำด้วยกัน เหมือนจะแต่งเป็นเพลงไทย พยายามกันแล้วแต่ยังไม่ได้สิ่งที่ตามใจเราเต็มที่ อาจจะเป็นที่พยัญชนะหรือว่าสระอะไรต่าง ๆ ก็เลยลองเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษดูครับ แต่ว่าจำได้ตอนนั้นชวนนุกมาเล่น still feel like your man ของ John Mayer ตอนนั้นเราคิดว่าเราจะโทนนั้นเลย ช่วงนั้นนุ๊กน่าจะฟัง PREP ผมก็ชอบ John Mayer ช่วงนั้น lo-fi กำลังมาแบบ 4-5 ปีที่แล้ว
FJZ: จุดเริ่มต้นของ Boy in Blue’s เริ่มตั้งแต่ 4-5 ปีที่แล้วเลยเหรอครับ
สมิธ: ใช่ครับ แต่เป็นการทำเพื่อสนุก ๆ ตอนแรกที่ทำกันไม่ได้คิดว่าจะต้องมาเป็นวงจริงจังปล่อยเพลง โปรโมทจริงจัง คิดว่าเป็นงานอดิเรกงานหนึ่ง เพลงแรกคือเอารูปจากกล้องฟิล์มที่ไปถ่ายแม่ตัวเองตอนเที่ยวมาเป็นรูปหน้าปก เพลงก็เป็นเพลงสไตล์ lo-fi เลย นั่นก็คือ Sadness Blue แบบไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรมาถึงขนาดนี้
FJZ: ก็เลยยึดโยง มาเป็น Boy In Blue’s เหรอ
สมิธ: ชื่อวงมาก่อน เคยตีกันหลายรอบแล้ว ตอนนั้นผมเคยทำเพลง soundcloud แล้วใช้ aka ว่า Boy in Blue’s เป็นนามแฝง ก็เลยเอาชื่อนั้นเลยมาทำวง
FJZ: แล้วโอมาเสริมทัพตอนไหน
สมิธ: มาตอนงานลิโด้เพราะเห็นว่าเขาให้มาเล่นได้ ใจกล้ามากทั้ง ๆ ที่มีกันอยู่แค่สองคน โดนเรียกไปจริงก็เลยต้องหามือกลองกับมือเบสมา ให้นุ๊กเล่าต่อดีกว่า
นุ๊ก: ผมก็ไปไล่หามา เพราะรู้จักโออยู่แล้วจากที่โรงเรียน เพราะเรียนด้วยกันมาอยู่วงโยด้วยกัน เพราะตอนม.ปลายโอเล่นเบส ก็เลยชวนมาเลย
สมิธ: คือโอมันซวยอะ เรียกว่าจับพลัดจับผลู มือกลองก็เป็นเพื่อนนุ๊ก แต่ก็เป็นเพื่อนอนุบาลผมอีก ณ เวลานั้นที่พาไปเล่นที่ลิโด้ ใครว่างก็ชวนเพราะไม่มีบัดเจ็ตให้ พอหลังจากคอนเสิร์ตนั้นก็จริงจังเลยเพราะแฮปปี้มาก รู้สึกว่าคนที่เขาไม่เคยฟังเพลงเขาก็ยังมาเอ็นจอยด้วย เราเลยอยากมีความรู้สึกแบบนี้ต่อไป เราก็เลยเริ่มจริงจังขึ้นมาเรื่อย ๆ ครับ
เล่าถึงซิงเกิลล่าสุด Pillow ให้ฟังหน่อย
สมิธ: Pillow มาจากการที่เราคิดชื่อเพลงไม่ได้ ก็เลยเอาชื่อนี้ไปก่อน เพราะท่อน “I waking up in this bed with a pillow” บลา ๆ พร้อมกับหมอนข้าง ตรงตัวไปเลย เราก็คิดไม่ออกเลยเอาชื่อนี้ไปเลยไม่มีความลึกลับอะไรเลย
FJZ: เรื่องราวเบื้องหลัง ที่มาที่ไปของเพลงนี้มันมาจากไหน
โอ: จริง ๆ ก็คือมาจากชีวิตส่วนตัวประมาณปี 3 ปี 4 ตอนนั้นเลิกกับแฟนแล้วห่างหายกันไป 6-7 เดือน แต่เรายังมูฟออนไม่ได้ ก็เศร้ามากอยากระบายมันออกมา ก็เลยเขียนเกริ่นมาก่อนแล้วส่งต่อให้พี่ ๆ ดู
สมิธ: มันเขียนภาษาไทยมา แล้วผมกับนุ๊กก็มีหน้าที่เกลาในสิ่งที่มันอยากจะสื่อ แล้วก็ถามมันกลับไปว่า โอเคไหมครับพี่โอ แต่เนื้อเรื่องทั้งหมดก็มาจากโอนั่นแหละครั้บ เหมือนโอก็อยากเล่าว่าแต่ละวันเขาเจออะไร ความรู้สึกต่าง ๆ ที่รู้สึก ซึ่งโอเขียนมาเป็นพารากราฟเลย ผมกับนุกเลยจับใจความต่อแล้วเอามาเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษและได้เมโลดี้ออกมา ก็นับว่าโอเป็นไอเดียใหญ่ ๆ เลยสำหรับเพลงนี้
FJZ: ตอนแปลยากไหม
นุ๊ก: ไม่ยากเท่าไหร่ครับ (ขำ)
สมิธ: ก็คือเอาจากโอมาแปลแหละหลัก ๆ แล้วเลยไม่ได้รู้สึกยากมากมาย แค่หาคำสวย ๆ มาอยู่ไว้ด้วยกัน เพราะแต่ละเพลงที่เราทำกันมันก็ไม่ใช่ศัพท์ที่ยากมากมาย เพราะเราอยากสื่อสารให้มันเข้าใจง่ายด้วย และเราเองก็ไม่ได้เทพขนาดนั้น ก็เลยค่อนข้างตรงไปตรงมา บางคำก็มีความหมายแทบจะเป็นไทย ๆ ด้วยซ้ำ
FJZ: ภาพรวมเนื้อหาของเพลง Pillow พูดถึงเรื่องอะไรบ้าง
นุ๊ก: เรื่องราวของคู่รักที่เลิกรากันไป แล้วแต่ละวันมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง รู้สึกยังไงบ้างในแต่ละวัน แล้วมันก็ไปลิงก์กับดนตรีที่ท่อนฮุกสาดขึ้นมาหลังจากที่เนิบ ๆ มาก่อนหน้านี้ ให้อารมณ์ว่าแบบเหมือนข้างนอกไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ภายในใจคือแบบตะโกนกรีดร้องอยู่ภายในครับ
สมิธ: คือมันเป็นเหมือนวันธรรมดาวันนึงเลยครับ ทั้งหมดในเนื้อเพลงมันคือการใช้ชีวิตธรรมดา ๆ แต่ว่าผมคิดว่าทุกคนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่ว่าในการใช้ชีวิตทั่วไปมันจะมีซักห้วงเวลานึงที่ทำให้เรานึกถึงความรู้สึกเก่า ๆ เหล่านั้นขึ้นมาซักแป๊บนึง ก็รู้สึกคิดถึงเขาแล้วมันก็หายไป ผมคิดว่าใครหลาย ๆ คนก็เป็นขณะที่เราทำกิจกรรมธรรมดา ๆ อยู่ มันจะมีช่วงเวลาอะไรบางอย่างที่คิดถึงเขา อยู่ ๆ มันก็เศร้าขึ้นมาในหัวมาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจแล้วก็หายไป แล้วมันก็เป็นแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา
สมิธ: ในเอ็มวีเราเล่าให้เห็นไปเลยว่ามันคือการใช้ชีวิตปกติ เราก็ยังคิดถึงเขาซ้ำ ๆ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้อยู่ตรงนี้อยู่แล้ว แต่เป็นเราเองที่ทำร้ายความรู้สึกตัวเองด้วยการคิดถึงเขา แต่มันเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้อยากให้เกิดขึ้น ควรลืมเขาได้แล้ว มูฟออนได้แล้วสักที กลับมานั่งทำอะไรต่อ อยู่กับตัวเองได้สักพัก ก็คิดถึงอีกแล้ว มันก็คือการเล่าเรื่องความธรรมดา แต่มันโคตรเจ็บปวดเลย
FJZ: คอนเซปต์ของมิวสิกวิดีโอเป็นยังไง
สมิธ: บางซีนในเอ็มวีก็อาจไม่ได้ถูกคิดไว้แต่แรกทั้งหมด ก็คิดมาระดับหนึ่งว่าการ reverse คือการย้อนกลับมาในความรู้สึกเดิม ๆ มันในเพลงก็จะมีท่อนที่บอกว่า “I’m still not moving on, I want you back” มันเหมือนก็ไม่ได้มูฟออนจากตรงนี้สักที ทั้ง ๆ ที่เวลามันก็ผ่านไปนานแล้ว มันเป็นการย้ำเตือนตัวเองครับ หรือจริง ๆ จะมองเป็นมุมบวกก็ได้ว่าจะทนกับสถานการณ์นี้ต่อไปหรอ จะให้มันวนกลับมาแบบนี้ต่อไปอีกหรอ จะมองเป็นมุมนี้ก็ได้ครับ
FJZ: วิธีการทำงานของเพลงนี้ หลังจากที่โอเขียนเนื้อมานานแล้ว ทางวงได้เอามาทำต่อกันเลยไหม หรือว่าค่อยเอามาทำในภายหลังก่อนจะปล่อย
สมิธ: ให้โอเล่าหน่อยละกัน
นุ๊ก: โอ ๆ
สมิธ: หรือมันหลับ? โอ ๆ มึงเงียบมากเลยตอนนี้ (หัวเราะ)
โอ: ตอนนั้นเหมือนเราจะมีงานเล่นที่ Bangkok Music City ครับ แล้วเพลงเราไม่ครบ เราก็เลยเอาเพลงนี้มาทำเลย จริง ๆ เพลงนี้เรามีหลายเวอร์ชั่นมากเลยครับเพลงนี้ เวอร์ชั่นแรกสุดจะมีไลน์อะไรไม่รู้เยอะ ๆ เวอร์ชั่นสองก็เล่นที่ลิโด้ ส่วนเวอร์ชั่นนี้ก็คือไฟนอลเลยครับที่ปล่อยออกมา
FJZ: เทคนิคทางดนตรีของเพลงนี้ Boy in Blue’s ใส่ลูกเล่นอะไรไปบ้าง?
สมิธ: อันนี้ผมขอตอบก่อนเลย ท่อนฮุคผมไปถ่ายเบาที่ห้องน้ำแล้วนึกออก (หัวเราะ) คือตอนนั้นผมก็ฮัม ๆ อยู่แล้วเมโลดี้ท่อนฮุคนี้มันก็เข้ามาเอง นี่อันนี้นุ๊กกับโอก็ไม่รู้มาก่อน (หัวเราะ) อยู่ ๆ มันก็เห่าหอนในห้องน้ำเองคนเดียวแล้วก็รีบวิ่งออกมาจากห้องน้ำหยิบโทรศัพท์แล้วอัดเลย ส่วนไลน์คีย์บอร์ดผมก็คลำไปคลำมาไปเรื่อย ๆ ครับ ตรงนี้มันยังไม่พอเราก็ใส่ไปเรื่อย ๆ จนบางทีก็เลอะเทอะไปหมด นี่นุ๊กกับโอยังพูดเลยว่าเพลงอื่นเอาน้อย ๆ ก็ได้แต่ว่าให้มีคุณภาพ คือพอให้ปล่อยให้ลองคิดเราก็ใส่ไลน์นู่นไลน์นี่ไปเรื่อย ๆ เลยครับ แน่นปั้กเลย
โอ: ส่วนของผมไลน์เบสเพลงนี้อยากให้ฟังดูแล้วมันลื่นไหล ๆ ไปเรื่อย ๆ คือผมก็ไม่รู้ว่าพูดอะไรนะ แต่จริง ๆ ผมเล่นไปเรื่อยตามฟีลเลยตอนนั้น แล้วก็ใส่พวกซินธ์เบสไปเป็นรองพื้นก่อน พวกไลน์ที่เล่นบนเบสเราก็เล่นให้มันไหล ๆ ไปครับ
นุ๊ก: กีตาร์เพลงนี้ผมก็พยายามหาซาวด์ใหม่ ๆ ที่ให้มันคลอไปกับเพลง ในแต่ละท่อนเนี่ยจะใช้ซาวด์ที่แตกต่างกันไป ท่อนแรกเลยใช้ซาวด์ที่เป็นกีตาร์ที่ใส่เอฟเฟคซินธ์ครับ ให้มันคลอ ๆ ไปกับความเศร้า ๆ ในตอนแรก แล้วพอท่อนฮุคก็จะเปลี่ยนซาวด์อีก พรีฮุคก็เล่นออกบัลลาดนิดนึง ช่วงหลัง ๆ ก็มีติดเสียงแตกสาด ๆ ออกมาบ้างครับ แล้วก็ทีเหลือก็จะเล่นคลอ ๆ ไปตามช่วงของเพลงครับ
FJZ: ความพิเศษของเพลงนี้คือมีไลน์แซ็กโซโฟนมาด้วย สองเวอร์ชั่นที่ทำมาก่อนหน้านี้มีไลน์แซ็กโซโฟนอยู่ด้วยหรือเปล่า?
สมิธ: ไม่มีเลยครับ เหมือนว่ามันมาโดยความบังเอิญ หรือว่าอะไรก็ไม่รู้ แต่ตอนนั้นที่ไปเล่นที่ลิโด้แล้วก็เราเอาพี่ขนุนที่เป็นมือแซกมาเป่า เราก็จะให้เขาเป่า ๆ หยุด ๆ บางเพลงก็ไม่ได้ เราก็เลยคุยกันว่าเป่ามันทุกเพลงไปเลย แล้วตอนนั้นที่เล่นที่ลิโด้เขาก็เป่าดีมาก ๆ ซึ่งผมบอกไว้ก่อนว่าพี่ขนุนคนนี้เขาเป่าไม่เหมือนกันเลยซักเทค อิมโพรไวส์ทุกเทค ซึ่งผมชอบตรงนี้แหละ แล้วตอนที่ไปอัดเขาก็เป่ามาหลายเทคเหมือนกัน แล้วก็มานั่งเลือกกันครับ คือแซกโซโฟนจริง ๆ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันต้องมีหรือไม่ต้องมี แต่ตอนเล่นที่ลิโด้คอนเนคแล้วมันมีคือมันรู้สึกดีกว่า ก็เลยเอามาใส่ดู มันเลยมีความที่เป็นอะไรบางอย่างที่ดูเข้ากันดีประมาณนั้นครับ
Every Shades of Blue สำหรับเพลง Pillow เป็น Blue แบบไหน
นุ๊ก: เป็นฟ้าที่หม่นที่ไม่ได้เข้มแบบน้ำเงิน ติดเขียวนิดหน่อย ให้อารมณ์เหงา ๆ เศร้า ๆ
FJZ: เหมือนฟ้าช่วงฝนจะตกไหม หม่น ๆ ไม่ได้เข้มจัด
นุ๊ก: ไม่เหมือนอะดิ (หัวเราะ) เอาเป็นว่าเป็นฟ้าแต่มันติดเขียวและมันหม่น ๆ
เพลงนี้รู้สึกว่ามันยากกว่าเพลงก่อน ๆ หน้านี้บ้างหรือเปล่า
นุ๊ก: จริง ๆ Pillow ถูกแต่งมาก่อน Sunshine & Roses ง่ายกว่าเยอะเลย เอาจริง Sunshine & Roses เป็นตัวฉีกมากกว่าสำหรับวง เพราะจริง ๆ Pillow มันน่าจะเป็น Boy in Blue’s ตะโกนมากกว่า
สมิธ: ปกติมันจะสาด ๆ อยู่แล้ว พอมองไป Pillow เลยเหมือนงานถนัดของวงเรามากกว่าครับ
มีวี่แววของเพลงอื่น ๆ หรือ อัลบั้มต่อจากนี้มาแล้วหรือยัง
นุ๊ก: กำลังทำอยู่ครับ ปีหน้าน่าจะเข้าขั้นตอนทำอัลบั้มเต็มตัว ถ้ามีโอกาสได้มาฟังเราเล่น ก็จะได้ฟังเพลงใหม่ของเราเรื่อย ๆ ครับ
สมิธ: เป็นการทดสอบว่าคนดูชอบไหม ถ้าตบมือเบา ๆ อาจจะเก็บไว้ก่อน (ขำ)
FJZ: ปีหน้าถ้าจะปล่อยอัลบั้มมารวมกับ EP. Red ด้วยไหม
สมิธ: ยังไม่ได้ฟันธงเลย คิดว่าน่าจะรวมแหละ เพราะอีพี Red ผมชอบมาก OMG! กับ Multitasking Guy ก็น่าจะรวม
FJZ: shade of blue ของอัลบั้มจะเป็นแบบไหน?
สมิธ: ตอนนี้มันยังค้างไว้ 2-3 เพลง ยังไม่ได้ฟันว่าจะปล่อยเพลงไหนต่อ แต่เพลงที่กำลังทำ ๆ อยู่ ค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควรเลยครับ ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีหรือข้อเสียที่สไตล์เรามันไม่ได้ชัดเจนมาก แต่มันทำเพราะสนุกอย่างเดียวเลย อยากทำอันนี้อันนั้นกันไปเรื่อย ๆ 3-4 เพลงที่ทำ ๆ มามันเลยต่างกันมาก
นุ๊ก: แต่มันจะมีความ shade of blue ในทุก ๆ เพลงเลยครับ
Boy in Blue’s เป็นอีกหนึ่งวงที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก และลองฟังเพลงของพวกเขากันดู คุณอาจจะตกหลุมรักในผลงานของ 3 หนุ่ม Boy in Blue’s ก็เป็นได้ ซึ่งในแต่ละเพลงของพวกเขาก็ซ่อนความเป็น shade of blue อยู่เสมอ และภายในปีหน้าอาจจะมีอัลบั้มออกมาให้ได้ติดตามรับชมรับฟังกัน แถมยังมี merchandise ออกมาให้อุดหนุนกันอีกด้วย ยังไงก็ขอฝากช่องทางการติดตามของ Boy in Blue’s ไว้ด้วยนะ Instagram, Tiktok และ Youtube