พฤติกรรมผู้บริโภคคอนเสิร์ต: ความหวัง หรือสัญญาณที่โปรโมเตอร์ต้องกุมขมับ
- Writer: Montipa Virojpan
- Photograph: BEC-Tero Entertainment
เรามักจะคุ้นกันดีกับโชว์ต่างประเทศหรือคอนเสิร์ตต่างประเทศที่จัดโดย BEC-Tero แต่ที่น่าสนใจคือไม่นานมานี้ ทำไมโปรโมเตอร์ยักษ์ใหญ่ถึงได้หันมาให้ความสนใจกับตลาดเพลงนอกกระแส หรือคิดจะทำคอนเสิร์ตให้วงจากค่ายเพลงอื่น ๆ ตอนนี้เราอยู่กับคุณ รักษิต รักการดี ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเสิร์ตและกิจกรรมพิเศษ จะมาให้คำตอบกับเรา พร้อมมุมมองที่มีต่อวงการธุรกิจโชว์ในบ้านเราว่าเขามีความเห็นอย่างไรบ้าง
ทำไม BEC-Tero จัดคอนเสิร์ตของค่ายเพลงอื่น ๆ
ต้องบอกว่าเราแยกกันระหว่างการเป็นค่ายเพลงกับโปรโมเตอร์ ซึ่งเราเป็นโปรโมเตอร์ก็พยายามจะจัดคอนเสิร์ตที่ทางศิลปินอยากจัด ถ้ามันเป็นธุรกิจที่เราทำแล้วพอที่จะอยู่รอดได้เราก็อยากทำ แต่ต้องย้อนกลับมาว่าเราเป็นคนทำงานที่ชอบงานที่เราทำ มันสนุก และอย่างน้อยสักครั้งในชีวิตเราก็อยากทำคอนเสิร์ตที่เราคิดว่ามันใช่สำหรับเรา เหมือนคอนเสิร์ต Queen ถ้าเราไม่ทำปีนี้แล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้ทำอีกหรือเปล่า เหตุผลหลัก ๆ มามันก็มาจาก passion เหมือนสโลแกนของเราคือ “Passion United” ก็คือการที่เราเอาความลุ่มหลงในงานที่เราทำมารวมกัน ทีนี้เราเริ่มทำคอนเสิร์ตไทยมาได้สองปีกว่า ๆ เรียกว่าเราก็เป็นมือใหม่ในการทำคอนเสิร์ตไทยมากทีเดียว เพราะเราไม่เคยทำมาก่อน แล้วขั้นตอนการทำก็ไม่เหมือนคอนเสิร์ตฝรั่ง คอนเสิร์ตฝรั่งเนี่ยเราไม่ได้เป็นผู้ผลิต คือเขาทำโชว์มาเสร็จแล้ว ส่ง rider มาให้เราว่าเขาจะใช้ไฟกี่ดวง ไฟแบบไหน เราก็ซัพพอร์ตโปรดักชันเขาไป
สำหรับคอนเสิร์ตไทยเราก็เห็นว่าตลาดนี้น่าสนใจ ก็เริ่มทำจากคนในค่ายกันเองก่อน เป็นการทดลองดูว่ามันจะออกมาเป็นยังไง พอออกมาก็โอเค แล้วก็สนุกกับมัน เพราะมันก็มีตลาดของมันอยู่แล้ว แต่เวลาเราทำรีเสิร์ช เราจะทรีตคอนเสิร์ตไทยเหมือนคอนเสิร์ตนอกเลย คือเราจะไม่พยายามไปครอบศิลปินมาก อย่างเช่น Slot Machine หรือ เบน ชลาทิศ เราก็จะให้เขาเป็นคนลีดไอเดียว่าเขาอยากจะนำเสนออะไร แต่ปีนี้เพิ่งเริ่มทำกับค่ายอื่น ๆ จริง ๆ จัง ๆ อย่าง Thailand Music League ของพี่บอย โกสิยพงษ์ ที่อยากชวนค่ายอื่นหลาย ๆ ค่ายมาทำด้วยกัน เราก็เริ่มทำคอนเสิร์ตแบบนี้มาเรื่อย ๆ ถ้ามีศิลปินที่เสนอมาว่าอยากทำคอนเสิร์ต เราก็จะมาศึกษาดูว่าเราพอทำไหวไหม เราจะหาสปอนเซอร์ได้ไหม แล้วก็ค่อย ๆ ปั้นโปรเจกต์ขึ้นมา เป็นการค่อย ๆ เรียนรู้ตลาดกันไป
อย่าง Moderndog คือผมกับโป้งรู้จักกัน เป็นรุ่นน้องที่สถาปัตย์ จุฬา ฯ ตอนที่เขามาเป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตพี่บอย ผมก็ถามเขาว่าเมื่อไหร่จะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ เขาบอกว่าถ้าเขาสนใจจะติดต่อกลับมา ก็หายไปหลายปีนะ จนมาเมื่อต้นปีก็โทรมาบอกว่าเนี่ย ผมอยากจัดแล้ว นัดประชุมได้ไหม ก็คุยเรื่องคอนเซปต์ ตกลง offer อะไรกันเรียบร้อย ก็จับมือกันทำ ส่วนของ Yokee Playboy ยังไม่จบเรื่องสปอนเซอร์ที่จะเข้ามาซัพพอร์ต คือสุดท้ายเราก็เป็นบริษัท แล้วบริษัทก็ต้องอยู่บนผลกำไรขาดทุน ถ้ามันยังไม่บาลานซ์กันก็ยังทำไม่ได้ อาจจะต้องเลื่อนไปก่อน ต้องเข้าใจว่าตลาดคนไทยมันไม่เหมือนฝรั่งเนอะ อย่างที่ออสเตรเลีย สิงคโปร์ หรือที่ญี่ปุ่น สปอนเซอร์เขาไม่มี แต่เขาขายตั๋วราคาแพงได้ คนเขาพร้อมจ่าย แต่คอนเสิร์ตไทยเนี่ย แพงมากก็ไม่ได้เลย เรื่อง pricing ก็สำคัญ เราก็ต้องดูกลุ่มแฟนด้วย บางคนก็อาจจะเป็นกลุ่ม niche market ที่มีแฟนอยู่แต่ไม่เยอะถึงขั้น full arena หมื่นสองหมื่นคน เราก็จะมีวิธีการคำนวณว่าอันนี้ยังไปไม่ได้นะ แต่เราอยากทำ ช่วงนี้มีคนเสนอเข้ามาเยอะ อันไหนที่ผมเห็นว่าพอทำได้เราก็อยากทำ อันไหนเราดูว่าปีนี้ของผ่านก่อนละกัน ปีหน้าไว้ว่ากันใหม่
แล้วเราเคยเสนอว่าอยากทำคอนเสิร์ตให้เขาบ้างไหม
มีอยู่หนึ่งวง คือ Grand X มันเกิดมาจากความเป็นแฟนบอย ที่เราอยากจะจัด ผมไปเจอกับคุณนครตอนจัดคอนเสิร์ตคริสเตียน บอกว่าเป็นแฟนแกรนด์เอ็กซ์ แกก็ไปคุยกับพี่แจ้ ผ่านไปสักหกเดือนก็โทรมาบอกว่านัดคุยกับพี่แจ้ได้แล้ว ก็เลยเกิดคอนเสิร์ตนี้ขึ้นมา ออกมาก็โอเค แฮปปี้ทั้งผู้จัด ทั้งคนแสดง ตอนนี้ก็กำลังทำทัวร์ กรุงเทพ ฯ เชียงใหม่ หาดใหญ่จัดไปแล้ว เดี๋ยวมีไปอุดรธานี ปลายปีจะไปที่หัวหิน แฟนเพลงเขาเยอะมาก บินจากต่างประเทศมาก็มี
ยังไม่ได้มองทาร์เก็ตวงเล็ก ๆ
มองครับ เพราะอย่าลืมว่าเรามีงานสเกลเล็ก ๆ ทำขึ้นมาเพื่อจะซัพพอร์ตศิลปินที่ยังไม่เหมือนเบน ชลาทิศ หรือ Slot Machine แต่เขายังมีผลงานดี ๆ ของเขาอยู่ แต่เราเข้าใจว่าการเป็นศิลปินสมัยนี้ต้องเดินทาง มันใช้เวลา วันนึงพอเขาประสบความสำเร็จขึ้นมาเขาอาจจะกลับมาบอกว่า ที่ผ่านมาพี่ไม่เคยช่วยอะไรผมเลย คือผมว่าวงการนี้มันแคบอะ เราเป็นเพื่อนกันดีกว่า ก็คิดว่าถ้าทำ SOUNDBOX ขึ้นมา เป็นศิลปิน upcoming อย่างที่เราเคยเอาศิลปินต่างประเทศมาก็มี Broods, Twenty One Pilot บัตรถูกด้วย เราอยากจะให้คนรุ่นใหม่ ๆ เขาได้ลองดู live concert โดยที่เขาไม่รู้สึกว่ามันเป็นภาระหนัก ก็เริ่มจาก combination จะเป็นดีเจ มีคอนเสิร์ตศิลปินไทย แล้วก็ศิลปินฝรั่ง ที่เราทำไปแล้วก็มี Charlie Putt กับ Room39 และ OZMO หรืออย่างที่ผ่านมาก็เป็น Pentatonix มีวง Fellow Fellow มีคนมาซื้อบัตรหน้างานด้วย สำหรับปีหน้าเราดูตลาดเพิ่ม ก็จะเป็นศิลปินญี่ปุ่นกับศิลปินไทยรุ่นพี่รุ่นน้องมา เราพยายามจะทำโปรเจกต์ให้คนซัพพอร์ตศิลปิน เรามองว่าอันนี้ไม่ใช่ตัวทำเงิน แต่เป็นตัวสร้างตลาด เหมาะกับจะชวนเพื่อนไปชิว ๆ ดื่มเบียร์ ฟังเพลง อย่างการดูตลาดอันนี้ ผมชื่นชม Dudesweet นะที่เขาสร้างตลาดจนอีเวนต์เขาจัดกี่ที คนก็ไป เขาทำให้คนกลุ่มเดิมขยายขึ้นเพราะก็บอกกันปากต่อปาก วิธีการที่เขาสร้าง brand loyalty ทำให้คนรู้สึกสนุก เราก็คิดว่าเราสายคอนเสิร์ต ก็อยากจะให้คนนึกถึง SOUNDBOX
เป็นการช่วยศิลปินไทยโดยการให้ไปเล่นซัพพอร์ตให้ศิลปินต่างประเทศใน SOUNDBOX
ผมไม่เรียกว่าซัพพอร์ตนะ แต่เรียกว่ามาเล่นเวทีเดียวกันมากกว่า เพราะจริง ๆ แล้วศิลปินที่มาเล่นงาน Sound Box ก็ไม่ใช่ศิลปินที่ไม่มีใครรู้จัก Room 39 หรือ Fellow Fellow ก็มีแฟนของเขาอยู่ อยากให้มองว่าเป็น festival อาจจะไม่ใช่ headline แต่คนก็แฮปปี้กับการที่คนเหล่านี้มาเล่น บางคนที่ไม่รู้จักวงนี้มาก่อนเขาก็เอนจอยกับวงพวกนี้ 2 หรืออย่างตอน Lady Gaga มา มีดีเจมาเปิดแผ่นที่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก จนตอนนี้เขากลายเป็น headline ของเฟสติวัลไปแล้ว
แต่ตอนนี้คนยังไม่ค่อยรู้จัก Sound Box เราไม่คิดถึงเรื่องสร้างกำไรเลยจริง ๆ หรอ
อย่างที่บอกว่าจุดเริ่มต้นมันไม่เหมือนกัน เราไม่ใช่นักธุรกิจ 100% เราเป็นแบบนักธุรกิจ 40% แล้วที่เหลือก็เป็นพวกคนลุ่มหลงในงานตัวเอง เสพงานตัวเอง ผมชอบดูโชว์ทุกแบบ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว อย่างที่เราเอามิวสิคัล Cat เข้ามา ตอนแรกมีคนถามว่าเอามาทำไม เดี๋ยวก็เจ๊งหรอก ไม่มีตลาดหรอก เราก็ทำเป็นหูทวนลมเพราะอยากทำ อีกอย่างคือเราก็รู้สึกว่าทำไมคนไทยต้องบินไปสิงคโปร์เพื่อจะไปดูมิวสิคัล ตอน Lion King มาก็ไป ผมไปนั่งดูที่ Marina Bay Sand แล้วก็พบว่า ประมาณเกือบครึ่งฮอลเป็นคนไทย เราก็สงสัยว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น แล้วทำไมเราไม่จัดเอง เราก็ติดต่อได้ แล้วบังเอิญช่วงนั้นคุณบอย ถกลเกียรติก็สร้างโรงละครรัชดาลัยเธียเตอร์ ก็เลยคุยกัน ทำด้วยกัน เอา Cat, Chicago, Mamma Mia, Phantom of the Opera แล้วตลาดมันค่อย ๆ โตนะ อย่าง Phantom นี่อยู่มา 6 สัปดาห์ sold out ทุกวัน แล้วเราก็ทำ exhibition ด้วย มีคนถามว่าทำทำไม อันแรกคือ 100 ปีเรือไททานิก ทำแล้วคนก็ไม่เก็ตว่ามันคืออะไร มันเป็นหนังหรอ แต่จริง ๆ มันคือ exhibition กึ่ง ๆ พิพิธภัณฑ์ที่เราทำเป็น walkthrough นำเข้ามาจากอเมริกา ลงทุนไปมหาศาล แต่ผมกับนายเดินทางไปต่างประเทศ เราเห็นเด็ก generation ต่อไปเขาเดินพิพิธภัณฑ์ เขาได้เรียนรู้นอกตำรา แล้วมันเสพง่าย เหมือนเวลาที่เขาเห็นของที่มันเป็นชิ้นแล้ว มันง่ายกว่าเปิดหนังสือ ตอนเด็ก ๆ ผมไม่มีโอกาสเห็นของพวกนี้ ผมเลยคิดว่าถ้าเราทำมันก็กึ่ง ๆ ว่าเรามองถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป เราไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นหลักแล้วอันนี้ ไหน ๆ เราก็ทำธุรกิจบันเทิงซะเยอะแล้ว ถ้ามีสาระบ้างก็น่าจะดี เราเลยเอาตัวนี้เป็นตัวนำร่อง แล้วก็ล่องเลยครับ (หัวเราะ) คนไม่เก็ตว่ามันคืออะไร กว่าจะเก็ตก็สองวันสุดท้าย คนต่อแถวกันยาว 5-6 พันคนเพื่อจะเข้ามาดูไททานิก เราก็กุมขมับสิ ก็เลยเอาใหม่ เอา NASA เข้ามา ใช้ชื่อที่คนรู้จัก คนอยากดู คราวนี้คนแย่งกันดู ทุกคนแฮปปี้แล้วก็ตื่นเต้นว่าปีหน้าจะมีมาอีกไหม จะเป็นอะไร เราก็ค่อย ๆ ทำ ปีนี้เราก็ทำ teamLab ตอนแรกคนไม่รู้ว่าชื่อนี้มันคืออะไร แต่พอคนมาดูปุ๊บก็ชอบในความไฮเทค เป็น digital art ให้เด็กเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่คนไทยไม่มี แล้วโอกาสที่จะได้เห็นมันก็น้อย ในปีต่อ ๆ ไปก็พยายามจะให้มีงานแบบนี้ปีละครั้ง product อันนี้เราไม่ได้เน้นเรื่องเงิน เราก็อยากได้กำไรแหละนะแต่เราไม่ได้ไปโฟกัสมันขนาดนั้น อยากสร้างตลาด อยากทำอะไรให้กับคนรุ่นใหม่
งั้นปัญหาก็คือคนไทยไม่เปิดใจ
ผมว่ามันเป็นเรื่องของเวลานะครับ ผมมองว่าถ้าเรามี supply เยอะเพียงพอ demand มันจะโตขึ้นมาเอง ก็เหมือนสมัยก่อน โรงหนังน้อยมาก เวลาดูหนังคนต้องวางแผนเยอะมาก ไม่มีออนไลน์ก็ต้องเปิดหนังสือพิมพ์ดูว่าหนังเข้ากี่โมง ต้องไปซื้อตั๋วก่อนแล้วหาอะไรทำฆ่าเวลา แต่สมัยนี้พอ supply เยอะ มี Major Cineplex, SF Cinema เต็มไปหมด คนก็จะดูหนัง ส่วนใหญ่คือเดินไปเลย เช็กรอบหน้าโรง ตัว product มัน access ได้มากขึ้น มี choice ให้มากขึ้น ตลาดก็โตขึ้น เหมือนกัน ถ้าเมื่อไหร่คอนเสิร์ตหรือโชว์มีมากขึ้น คนไม่รู้สึกว่าเป็นเอเลี่ยนหรืออะไรพิเศษอีกต่อไป เมื่อก่อนตอนที่ Michael Jackson มาที่สนามกีฬาแห่งชาติ ตั๋วมี 15,000 ใบ สมัยนั้นบัตร 2,500 รู้สึกว่าแพงมาก สองใบห้าพันคิดแล้วคิดอีก แต่คนก็ไปนะ ก็แย่งตบตีกันสุด ๆ เพื่อจะได้ดูเขา มันก็ดีที่มันได้กระแส แต่มันจัดได้นาน ๆ ที มันคือ special มาก ๆ ก็จะไม่ได้ความถี่ แต่อีกมุมนึง สมัยนี้คอนเสิร์ตมีเกือบทุกอาทิตย์ บางวันสองสามคอนเสิร์ตทั้งไทยทั้งเทศ พอมี product มีทางเลือกมากขึ้น ตลาดมันก็จะ niche ขึ้น คนก็จะเลือกดูโชว์ที่ตัวเองคิดว่าชอบจริง ๆ เพราะคิดว่าไม่สามารถเลือกไปดูได้ทุกโชว์
ซึ่งเป็นปัญหาของคอนเสิร์ตอินดี้ตอนนี้
ถ้าเอาปัญหาของโปรโมเตอร์มาเทียบกับเรื่องคนดูเนี่ย มันต้องร่วมมือกัน อันดับแรกเราต้องทำใจว่าธุรกิจแบบนี้มันไม่ได้การันตีกำไรเสมอไป สองคือ เราต้องไม่สร้างตลาดผิด ๆ เช่น การให้ตั๋วฟรีโดยที่ไม่ควบคุมอะไรเลย เพราะคนดูจะรู้สึกว่าไม่ต้องรีบซื้อหรอก เดี๋ยวก็แจกฟรี วัฒนธรรมไถตั๋วก็จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ โทษใครไม่ได้เลย การแจกตั๋วหรือการบาเธอร์ตั๋วมันมีใช้กับสื่อ เช่น นักข่าว ศิลปินที่ช่วยโมท มันก็เป็นการตอบแทนกันได้ อีกทีก็เป็นการ flood market คือปล่อยให้มันท่วมตลาด ไปไหนใคร ๆ ก็หาตั๋วได้โดยไม่ต้องเสียเงิน ระยะสั้น ๆ ไม่รู้สึกอะไรหรอก แต่ถ้าคุณอยู่ยาว ๆ แบบเราก็เริ่มรู้สึกละ แล้วคนก็จะมองว่า BEC-Tero งกจังเลย ทำไมตั๋วไม่ยอมให้ คนอื่นเขายังให้เลย ผมจะโดนถามประจำ ก็ได้แต่บอกว่าผมทำไม่ได้จริง ๆ ยังต้องมีเงินเดือน ยังต้องให้เงินเดือนลูกน้อง ถ้าทุกคนแจกบัตรทุกคอนเสิร์ตเราก็อยู่ไม่ได้ ก็ต้องช่วยกันปรับวัฒนธรรมการดูคอนเสิร์ตครับ เราจะปรับคนเดียวก็ไม่ได้ ต้องช่วยกัน แม้ในตลาดคอนเสิร์ตเราอาจจะกินอยู่ 30% อาจจะดูเหมือนเยอะแต่เราก็คุมทั้งตลาดไม่ได้อยู่ดี
เพราะอะไรคนยอมจ่ายเงินให้อาหารจานละสามร้อย ขณะที่บัตรคอนเสิร์ตราคาเท่ากันกลับขอฟรี
เพราะคนไม่เห็นค่าไง คือถ้าเกิดเป็นคนญี่ปุ่น เขาจะรีบซื้อตั๋ว เพราะวัฒนธรรมเขาสอนว่าให้เสพศิลปะ ผมว่าวัฒนธรรมไทยมันกระเดิดอยู่ ก่อนหน้านี้คนไทยเป็นคนเสพศิลปะมากนะ ไปวัดก็เจอภาพเขียนสวย ๆ เจอประติมากรรม งานหัตถกรรมทุกอย่างมันสวย พอเราค่อย ๆ ปรับตามยุคสมัย คนก็เริ่มสูญเสียอัตลักษณ์ของตัวเอง ไม่รู้จะรับอะไรดี เพลง หรือว่าจะรับ Hollywood เข้ามา พอเป็นแบบนี้แล้วเราพยายามจะกลับไปจุดเดิมคือการปลูกฝังคุณค่าของศิลปะ ดนตรี หรือการแสดงต่าง ๆ จริง ๆ เด็กรุ่นใหม่เริ่มกลับมาสนใจแล้ว แต่พอเขาไม่เห็นคุณค่าเขาก็ไม่ยอมจ่าย
เกิดจากที่เทคโนโลยีทำให้คนเริ่มดูหรือฟังอะไรได้ฟรี ๆ แล้วด้วยหรือเปล่า
ผมว่าไม่นะ มันเป็นตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ไม่รู้ว่าเพราะอะไร แต่ผลลัพธ์มันออกมาเป็นแบบนี้ อย่างคนรุ่นผมดูคอนเสิร์ตเสียตังนะ แล้วก็ภูมิใจด้วย ไปดู Air Supply, Phil Collins รู้สึกว่ามันใช่ เราก็ยินดีเสียเงินเพื่อจะเก็บตั๋วคอนเสิร์ตไว้ แต่พอตลาดมันโตขึ้น เราคุมอะไรหลาย ๆ อย่างไม่ได้ ถ้าให้เทียบกัน เกาหลีมาทำไมเด็กยอมจ่าย เป็นหมื่นก็จ่าย ขอให้ได้ดูคอนเสิร์ต เพราะ passion ของเขามันแรงไง Maroon 5 ทำไมคนแย่งกัน ดราม่ากันจะซื้อ เพราะ Adam Levine มาทั้งทีทำไมจะไม่ไปดู
งั้นแปลว่าดนตรีที่ขายได้อยู่แค่เปลือกและชื่อเสียง
ผมขอเรียกมันว่า McDonald’s Music คือถ้าแมคโดนัลเปิดเพลงนี้แล้วคนร้องเพลงได้ Black Eyed Peas สมัยนึงทุกคนร้องเพลง My Hump ได้ เหมือน Sugar ของ Maroon 5 หรือการที่เด็กชอบวงเกาหลีบางคนบอกว่า Big Bang เกิดมาก่อน The Beatles เนี่ย มัน obsessed ได้ขนาดนั้นก็จะยอมซื้อ แล้วมันก็จะมี demand มากกว่า supply แต่ถ้าเป็นดนตรีที่กำลังมา อาจจะไม่ได้ดังมากหรือกำลังมา ก็จะมีกลุ่ม niche, core fan แต่ถามว่าตลาดใหญ่จะตามมาไหมก็อีกเรื่องนึง อย่าง Two Door Cinema Club มาเนี่ยผมยังงงเลยว่ามันไม่ sold out คนไม่เต็ม อย่างนึงเราคิดว่าคนรอคอยเขาเยอะ รอมานาน ทำไมขายไม่หมด เพราะตอนนี้ตลาดวงดนตรีมันเยอะ เมื่อก่อนวงดนตรีมีไม่กี่วง กว่าจะดังได้ต้องผ่านค่ายเพลง ผ่านสื่อ สื่อก็เลือกอีก กว่าจะได้ airplay ของวิทยุ มันยากมาก วงที่จะอยู่ top 10 มันถูกคัดแล้ว แต่เดี๋ยวนี้มีกีตาร์ตัวนึง มีวงเล่น YouTube มีแฟนเพลง แต่ยังดังไม่พอ บางทีเขาดังช่วงนึง กลายเป็นว่า life cycle มันสั้นลง สงสัยไหมว่าทำไมศิลปินสมัยก่อนมี life cycle ยาว ทำไม Bon Jovi ยังขายได้ ทั้งที่เราประกาศขายบัตรแค่ 7 วันก่อนโชว์ แต่วงดนตรีรุ่นใหม่ ๆ น่าเป็นห่วง เพราะว่าสงครามมันดุเดือดมาก ไม่มีใครคัดกรอง ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างงี้อีกนานเท่าไหร่ ใคร ๆ ก็คิดว่าตัวเองสามารถดังได้ อันตรายมาก แล้วคนที่เสพก็ไม่โฟกัส ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ สมมติผมเคยชอบ Queen ชอบอัลบั้มนี้ ต่อมาอัลบั้มสองเริ่มแป๊ก ไม่เป็นไรเราฟังอัลบั้มที่เราชอบก่อน เดี๋ยวรอฟังอัลบั้มสาม แล้วพอมันออกมาแล้วเราชอบ คือเรายังเชียร์อยู่ นึกออกไหม แต่อันนี้ไม่แล้ว ตลาดพร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่สิ่งใหม่ทันที ตลาดเกาหลีก็เหมือนกัน Rain เคยดังมาก แต่พอเขาหายไปจากตลาดเอง ไปเป็นทหาร ก็ช่วยไม่ได้ ฉันไป G-Dragon ดีกว่า สดใหม่กว่า พออะไรที่มัน shift ง่าย ๆ แล้วศิลปินจะลำบาก
Case study อันนึงคือ Muse เขาเคยอยู่จุดพีคสุดของศิลปินแนวนี้ แล้วผมในฐานะโปรโมเตอร์จะโดนบิ๊วว่าให้เอา Muse มาตลอด แต่เขาไม่ยอมมา พอเราเอาเขามาปุ๊บ ไม่มีคนดู ซึ่งผลกระทบที่ได้รับมากที่สุดไม่ใช่ตัวโปรโมเตอร์ แต่เป็นตัวศิลปินเอง Imagine Dragon โตเร็วมาก ตอนนี้มีแฟน 4-5 พันคนที่อยากดูคอนเสิร์ต กลับมาอีกครั้งคนกลุ่มนั้นจะยังอยู่ไหม หรือจะมี the next Imagine Dragon เรื่องแบบนี้ แค่ผมเอง เวลามี offer มาเรื่องศิลปิน ชื่อมันเยอะมาก ไม่รู้จะจำยังไงไหว เราก้ต้องหาทำ research เปิด YouTube ฟังเพลง เออ เพลงนี้เคยได้ยิน แต่มันดังเพลงเดียว ดังมาก เปิดทุกคลื่น ทุกร้านอาหาร บางคนรู้จักเพลงแต่ไม่รู้จักศิลปิน จะทำยังไงดี ดูอย่างง่าย ๆ คนรู้สึกว่า Ariana Grande กำลังจะมา คนก็อยากให้เราเอามา แต่ถามว่าเขาดังเพลงอะไร ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน มันไม่เหมือนตลาดเมื่อก่อน Eagles เราอยากดู อยากทำ Rod Steward มาก็ sold out ทั้งสองรอบ ถ้าเอา Celine Dion มา เขาไม่ได้ออกอัลบั้มมากี่ปีแล้วแต่เรายังอยากดู Madonna ซิงเกิ้ลใหม่สมัยไหน แต่เพราะชื่อเขา ความขลังของเขา มันต้องดู มันยังขายได้อยู่ ความรู้สึกแบบนั้นกับวงในสมัยนี้มันไม่มีแล้ว ภาพรวมของวงการเพลงตอนนี้มันเลยน่าเป็นห่วง
เมื่อก่อนตอนที่มาทำงานที่นี่ใหม่ ๆ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มันเช็กง่ายมากคือเราดูยอดขายอัลบั้ม ยอดขายซีดี คือถ้ายอดขายมันขายได้สองหมื่น ขอคนดูซักสี่พันคน ก็น่าจะขายตั๋วได้ มันพอจะเดาได้ แต่พอเริ่มเข้าสู่ยุคมืด คือซีดีตีกลับ ถามค่ายเพลงไปเขาบอกว่า shipped มาสองหมื่นแผ่น แต่เขาไม่บอกว่ามันโดนส่งกลับไปด้วย มันขายไม่ได้ ยิ่งปัญหาคือคนไม่ซื้อซีดี เราก็ประเมินทุกอย่างเละเทะไปหมด ไม่รู้จะคลำกับอะไร YouTube Facebook ก็ยังไม่มี เช็กแฟนก็ไม่ได้ ตอนนี้เราเช็กกับแฟนเพจ อย่างศิลปินคนนี้มีแฟนเพจ Selena Gomez มีแฟนอยู่จำนวนนึง ก็น่าจะจัดได้ เราก็ต้องเดา ดู YouTube Stat คนไทยคลิก viewing ไปกี่คน repeat มั้ย ค่อย ๆ ย่อยข้อมูล แต่ถามว่าเชื่อได้ไหม เชื่อไม่ได้ เคยมีตอนเราทำคอนเสิร์ต Avanged Sevenfold โพสต์ปุ๊บ ไลค์เป็นสองสามหมื่นคน marketing เราดีใจมาก แชร์กันเป็นพัน พอวันขายตั๋วปุ๊บ… เราจะไม่เชื่ออะไรใน Facebook อีกแล้ว ที่มันแชร์มันไลค์กันหายไปไหนหมด
อาจจะเป็นเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่เสพอยู่แค่ในวงแคบ ๆ แล้วเงินหมดหรือเปล่า
ไม่ใช่ คือมันเป็นเรื่องของการลงทุน เวลาคนคลิกไลค์ คลิกไปเหอะสามหมื่นเพจ เขาไม่เสียเงิน แชร์ก็ไม่เสีย แต่พออะไรที่มันต้องควักเข้าไปในตัวเองเพื่อไปจ่ายเนี่ย มันคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นข้อมูลพวกนี้มันไม่ได้การันตี มันแค่ช่วยให้เราเห็นว่ากระแสออนไลน์มันมี แต่ไม่ได้การันตีว่าคนจะยอมควักตังมาซื้อบัตร ผมว่ามันขึ้นอยู่กับกลุ่ม ถ้าเราทำกับกลุ่มที่มันเป็น niche, core fan มันมี แต่ mass จะตามมาไหมก็ต้องมาลุ้นกัน ถ้าทำกลุ่มที่เป็นกลุ่มใหญ่มันซื้อแน่ ๆ Maroon 5, Michael Bluble, Katy Perry ขอให้เป็น big name เถอะ ยังไง mass ก็มา แต่ถ้าเราเลือกทำกลุ่มเล็ก ๆImagine Dragon, Muse, The Script ก็ต้องเผื่อใจไว้ด้วยว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบเพลงแนวนี้ ไม่ใช่ทุกคนที่เคยฟัง มันต่างกัน ถ้าทำพวกวงใหญ่ Eagles, Celine Dion, Madonna จะได้ range อายุที่มากกว่า บัตรก็ขายแพงกว่าได้ เพราะคนก็มีกำลังซื้อแล้ว หรือศิลปินที่เคยดังปีที่แล้ว ปีนี้กลับมาเขายังดังอยู่ไหม โปรโมเตอร์ก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก อย่าง PR ก็จะโดนกดดันให้ทำให้เกิดกระแส ทั้งไทยทั้งเทศเขาก็ช่วยให้ลองทำวิธีนั้นวิธีนี้ มันเป็นเรื่องของ product ที่มีให้เลือกเยอะมากในตลาด
ถามถึง festival บ้าง จะทำ Sonic Bang อีกไหม
อยากทำครับ (เสียงสูง) คือ Sonic Bang เราเล่นใหญ่ แล้วก็เหมือนกับเคส exhibitio คือเราไปศึกษา Summer Sonic อยู่เป็นสิบปี ผมไปดูกับคุณนีลปีสองปี แล้วก็เริ่มพาทีมงานไปดูทีละคน ๆ ไปให้เห็นว่าเขามีอะไรบ้าง ไปประชุมกับเขา ไปเจอศิลปิน เจอผู้จัด จนเขาเปลี่ยนเจ้าของเราก็ยังไปดู เราอยากทำ เพราะรู้สึกว่าคนไทยก็พร้อมแล้วที่จะมี festival แต่เราเดินเร็วไปก้าวนึง พอเปิดตัวปุ๊บ คนด่า ผมนี่นอยไปหลายเดือนเลย ผมไม่เข้าใจว่าทำไมต้องด่ากันด้วย บัตรยังไม่ได้ซื้อ เงินยังไม่เสียสักบาทแต่ก็มาด่ากันแล้วว่า ทำไมไม่ประกาศไลน์อัพ ทำไมไม่เล่นเวทีเดียว ทำไมต้องจัดหลายเวที แล้วจะเดินยังไง แล้วเล่นนานไหม full show คืออะไร คนยังไม่เข้าใจ culture ของ festival มีการบอกว่าไหน 30 วง เอาแค่ international วงไทยไม่นับดิ แต่ถามว่าเราเอาวงอะไรมาบ้าง Jason Mraz, Pitbull, Pet Shop Boys, Owl City, Placebo, Rain, Miyavi, Scandal แล้วทุกวงที่เอามาก็เล่น full show ชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงสิบนาที เซ็ตอัพเต็มเหมือนคอนเสิร์ตเดี่ยว บัตร 4,500 เริ่มตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงเที่ยงคืน ก่อนหน้าสองเดือนที่ทำมานี่ผมไม่อยากเข้าเฟสบุ๊กเลยเพราะผมเป็นแอดมินเพจของ BEC-Tero อ่านแล้วจิตตก แต่พอจบปุ๊บ หน้ามือเป็นหลังมือ ผมทำ survey คนประมาณสองพันคน มีแค่ 4 คนที่ไม่พอใจ เพราะมาสาย เพราะจอดรถไม่ได้ เพราะดูคิวผิดแล้วพลาดศิลปิน ที่เหลือเกือบทั้งหมดคืออยากกลับมาอีก ขอให้เราจัดอีก แต่เงินที่เราลงไปมันมหาศาล ก็เป็นการก้าวเร็วไปของเรา หลังจาก Sonic Bang คนไทยเก็ตแล้วว่า festival คืออะไร คราวนี้คนจัดเพียบเลย แล้วตอนนี้นะ ศิลปินไม่มี headline แบบนี้ บัตรราคาเป็นหมื่นคนยังไปเลย แต่เราก็ยังอยากจัดนะครับ แค่ตอนนี้เป็นเรื่องของเงินทุนแล้วล่ะ หลังจากที่เราทำภารกิจฆ่าตัวตายไปหนึ่งโปรเจกต์ และเราเปิดตลาดให้คนอื่นไปแล้ว ความที่เป็นบริษัทเราก็มีบอร์ด มีฝ่ายการเงิน เขาก็บอกว่าถ้าเป็นหัวหมุดทะลวงฟันแบบนี้ไม่เอาแล้วนะ ไม่เซ็น budget จนกว่าจะหาสปอนเซอร์ได้จำนวนมาเท่านึงถึงจะเสี่ยงกันอีกครั้ง คือตอนนั้น festival ในประเทศไทยน้อยมาก EDM ก็ยังไม่มา คือ Summer Sonic ที่ญี่ปุ่นเขาก็ต้องบิ๊วกันสามปีกว่าจะขึ้น รอบนี้เราคงไม่บ้าเลือดแบบคราวที่แล้ว อาจจะลดเหลือสเตจ สองสเตจ เริ่มซักหกโมงเย็นถึงเที่ยงคืนแทน ผมเห็นวันนั้นแล้วรู้สึกคิดอะไรผิดไปหมดเลย โกรธตัวเอง เราคิดว่าเราเริ่มตั้งแต่สิบโมง คนต้องหิวข้าว ต้องมีร้านอาหาร แต่ไม่มีใครกินข้าวเลย ทุกคนกลัวไม่คุ้ม วิ่งไปดูแต่ละเวทีกินแต่เบียร์ ไม่กินข้าว ผมเอาข้าวมันไก่ประตูน้ำ ขาหมูสีลม เอาอาหารดัง ๆ ทั้งกรุงเทพ ฯ มากอง ไม่เก็บค่า GP ด้วย ทำทุกอย่างแทบจะบริการ ขอให้มากินน้ำแข็งไส ไข่แข็งสามย่าน ข้างบนก็มีของทำมือขาย จบงานโดนด่าเละเลยเพราะไม่มีใครสนใจอะไรนอกจากวิ่งไปดูคอนเสิร์ต ตอน Pitbull หรือ Pet Shop Boys, Jason Mraz ฮอลแทบแตก คนเข้าไม่ได้ ผมก็งงว่าขายตั๋วได้นิดเดียว ทำไมคนมาจากไหนเยอะแยะ (ยิ้ม)
แล้วไปร่วมมือกับ Cat Expo ได้ยังไง
ผมมองว่าธุรกิจไม่ต้องทำคนเดียวก็ได้ ไม่ต้องเป็นฮีโร่ เราอยู่เบื้องหลังเป็นกองหลังก็ได้ ทำสิ่งที่เรามีที่เราถนัดให้ดีที่สุด และเราชอบไปพบคนเยอะ ๆ อย่างของ Cat Radio ก็เห็นว่างานนี้ดีเนอะ เราก็อยากจะทำกับเขา ก็คุยกัน โอเค ถ้าเรามีอะไรช่วยให้เขาโตขึ้นได้บ้าง เราก็ไปทำ media ให้ พี่จ๋องเองก็ใช้เราขายตั๋วมาหลายปีแล้ว อย่างตอนงาน Fat คนไปเป็นแสน แล้วพอมาเป็น Cat คนน้อยลง เพราะคนอาจจะรู้สึกว่าแบรนด์ไม่เหมือนเดิม แต่จริง ๆ คนทำงานก็ยังทีมเดิมอยู่ โปรดักต์เขาดี แล้วก็มีกลุ่มแฟน เราก็อยากจะบิ๊วให้มันกลับมามีคนไปดูเป็นแสนคนให้ได้ นั่นคือ mission ที่เราตั้งไว้ ทีมงานทุกคนอยากทำหมด แล้วทีม Cat ก็น่ารัก สุดยอด เราก็ถือว่าจะได้เรียนรู้จากเขาด้วย แล้วเราก็ได้ซัพพอร์ตเขา อนาคตจะเป็นยังไงก็ต้องดูต่อไป
เร็ว ๆ นี้จะมีอีเวนต์เซอร์ไพรส์อะไรอีก
ปีนี้เราคงจบที่ Blue Man Show อาจจะมีคอนเสิร์ตไทยอีกงานนึง แต่ก็ยังไม่ได้คอนเฟิร์มอะไร เราก้คิดว่าเราจะเตรียมพร้อมสำหรับปีหน้า คือจะเริ่มประกาศงานปี 2017 quater 1 แล้ว เราคงจะไม่เร่งมาก ค่อยเป็นค่อยไป เลือกอันที่ตลาดพร้อมที่จะรับ ผมคิดว่าเศรษฐกิจบ้านเราโอเคนะ เพียงแต่คนไม่กล้าใช้ตัง ไม่ใช่ไม่มี ถ้าไปเดินห้าง ร้านอาหารยังแน่น ยังมีคนนั่งรอคิวอยู่เหมือนเดิม โรงหนังก็ยังแน่น iPhone 7 เดี๋ยวออกมาก็มีคนซื้อ ผมยังงงเลย เจอ Gaysorn โปรโมชัน ช็อปครบหนึ่งล้านบ้าน ได้เป็นสมาชิก privillege 1 ปี คือเข้าใจว่าช็อปหนึ่งล้านบาทได้ที่จอดรถ โน่นนี่นั่น แต่ผมไม่คิดว่าจะมีคนซีเรียสถามในโพสต์ว่าหนึ่งล้านบาทเงื่อนไขคืออะไรบ้าง คนคอมเมนต์คือพร้อมจะช็อปหนึ่งล้านในเกสร ถ้าตอบโจทย์ คือ จอดรถได้แน่ใช่ไหม เพราะคุ้มกว่าที่เขาไปซื้อคอนโดจอดรถแล้วมาทำงาน สองคือจอดได้ปีเดียว หรือได้ตลอดชีวิต เกสรบอกว่า ปีต่อไปใช้แค่พันเดียวเพื่อต่ออายุ เขาก็ว่าคุ้ม เพราะคนพวกนี้คิดอย่างนี้ ล้านนึงเขาซื้อของ เขาได้ของมาอยู่แล้ว ซื้อโรเลกซ์ได้สามเรือน ซื้อกระเป๋าได้สี่ห้าใบ เป็นสมบัติอยู่ดี คนที่เขามีเงินเลเวลนั้นเขาก็รู้สึกว่ามันไม่ได้แพงอะไร สำหรับเรารู้สึกว่า เชี่ย นี่คือโปรโมชันอะไร แถมคนมาถามอีกว่ามีกี่โควตา ล้านนึงมึงกลัวหมดหรอ (หัวเราะ) น่ากลัวมาก
เราพอจะเป็นความหวังให้วงการดนตรีบ้านเราได้ไหม
อย่าสิ้นหวัง มันเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว cycle ของทุกอย่างมันมีเกิด เติบโต รุ่งเรือง แตกดับ แล้วก็วนไป ไม่มีอะไรผิดไปจากนี้สักอย่าง วงการภาพยนตร์ เพลง หนังสือ ใครจะเชื่อว่าสกุลไทยจะเลิกพิมพ์แล้ว แล้วป้า ๆ จะไปอ่านนิยายที่ไหนเพราะคนยุคนั้นเขาไม่อ่านออนไลน์ แต่มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น มันกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว มันจะกลายเป็น new normal ของเรา ผมมองว่านี่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของ digital music ไปสู่อะไรสักอย่าง แล้วมันก็จะค่อย ๆ คัดกรอง เพราะว่าผมเจอศิลปินหลายคนที่ยังไม่ดัง แล้วใช้เงินในการโปรโมตวงตัวเอง ทำ YouTubeทำมิวสิกวิดิโอ อัดกันเอง หวังว่าวันนึงจะแจ็คพ็อตสักเพลง สุดท้ายก็ไม่ปัง หรือบางวงมีเพลงดังแค่หนึ่งเพลง แล้วก็ไปต่อไม่ได้ แต่ที่ผมมองว่าธุรกิจเราน่าเป็นห่วงคือ แล้ว positioning ที่มีอยู่มันเปลี่ยนไปขนาดไหน เช่น จะมีค่ายเพลงไหม ค่ายเพลงมีฟังก์ชันอะไรไหม หลาย ๆ อย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว distributor, license ยังมีอยู่ไหม ถ้าคุณไปดูคอนเสิร์ต แล้ว live ในเฟสบุ๊ก ใครจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงที่ live ในเฟสบุ๊ก ศิลปินจะฟ้องได้ไหมว่าเอาคอนเทนต์เขามา live มันซับซ้อน เพราะงั้นพวกนี้มันต้องถูกขยี้ให้เหลือก้อนเดียว เราก็ต้องรอดูว่ามันจะเหลืออะไรบ้าง อีกหน่อยคนจะดูโรงหนังไหมถ้าออนไลน์มันดีเหมือน Netflix ทั้งหมด เขาเริ่มทำอะไรแปลก ๆ แต่คนเริ่มเก็ตแล้ว กับการปล่อยซีรีส์วันเดียวครบทุกตอน วันเดียวดูให้จบไปเลย มีสตูดิโอทำหนังของตัวเอง แล้วอย่างนี้พวกทีวีที่ค่อย ๆ ปล่อยทีละตอนจะขายโฆษณายังไง เคเบิ้ลทีวีจะอยู่ยังไง Netflix ทำ localize ด้วย น่ากลัวมาก มีละครเอเชียน หนังผีไม่แน่ใจว่าของไทยหรือเปล่า ผมว่าเมื่อก่อนโรงหนังเคยกลัวแผ่นผี พวก Blue Ray ปลอมเริ่มขายไม่ได้แล้ว เพราะซื้อไปกองเต็มตู้ก็หนัก ดูออนไลน์ไม่เก็บ ออนไลน์ก็จ่ายค่าสมาชิกคนก็ยอมจ่าย มันสบาย เพลงก็ไม่ต่างกัน จะมีพวก Joox, Apple Music แต่ Spotify ประหลาด คือมันเป็นเรื่องของการกีดกันกันเลยไม่เข้าไทย ญี่ปุ่น หรือจีน พอ Spotify เข้าไปแล้วก็เจอเรื่องลิขสิทธิ์ ญี่ปุ่น เกาหลีก็มี format ของตัวเอง ตลาดเอเชียนมันแปลก แต่สุดท้ายก็จะมาจบลงที่เดียวกัน เชื่อสิ ก็มีคนเริ่มถามเรื่อง streaming concert แล้ว เพราะบางทีเกาหลีเขามี live streaming หรือ Ultra Singapore ก็มี live เหมือนกัน ผมก็คิดว่าวงการเพลงมันต้องรอการตกผลึก แต่มีคนออกมาพูดว่ามันหดหู่มาก ผมกลับไม่คิดอย่างนั้น คิดว่าถ้ามันถึงจุดเมื่อไหร่มันก็จะเฮือกของมันออกมาเอง เมื่อก่อนไม่มีหรอกศิลปินที่ยอมมาเล่นคอนเสิร์ตเมืองไทยง่าย ๆ เพราะเขาอยู่บ้านเฉย ๆ เขาก็กินค่าอัลบั้มแล้ว ตอนนี้ต้องวิ่งออกมาทำ world tour หาตัง เลยเป็นโอกาสดีที่เราก็ได้เจอศิลปินที่เราอยากเจอ ไม่งั้นเราจะได้ดู Charlie Puttเร็วขนาดนี้หรอ มันเพิ่งดังเองเนี่ย เหมือนจังหวะพอดีด้วย Queen อยู่ดี ๆ ก็ได้ดู แต่สุดท้ายถามว่าจะมีคนเลิกฟังเพลงไหม ไม่มีหรอก แต่มันจะได้เงินแบบไหนเท่านั้นเอง