‘อภิรมย์‘ ในวันที่หลายอย่าง ‘ไม่อภิรมย์’ ผ่านทัศนะของ ต่าย ประกาศิต ในอัลบัมที่ 2
- Writer: Tanaphat Kultavewut
- Visual Designer: Karin Lertchaiprasert
Fungjaizine มีโอกาสได้พูดคุยกับ ต่าย—ประกาศิต แสนปากดี นักร้องนำและผู้สร้างรากฐานของความเป็น อภิรมย์ มาตั้งแต่จุดเริ่มต้นเส้นทางดนตรี นับจนถึงนาทีนี้ก็กว่า 10 ปีแล้วที่พวกเขาโลดแล่นอยู่ในทะเลแห่งเสียงเพลงผืนนี้
หากนับจากอัลบัมแรกพวกเขาเว้นระยะห่างการปล่อยเพลงมาอย่างยาวนาน (มีทำ side project อยู่กับ คณะพวงรักเร่) แม้ว่าการปล่อยเพลงจะหยุดชะงักหายไป แต่กาลเวลาไม่เคยหยุดเดิน เช่นกันกับฟรอนต์แมนคนนี้ที่ยังคงบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่พบเจอ สภาพสังคม ไปจนถึงสภาวะภายใน แง่มุมต่าง ๆ ของการใช้ชีวิต จนผ่านการกลั่นกรองออกมาเป็นผลงานเพลงชุดที่ 2 ภายใต้ชื่อ ‘ไม่อภิรมย์‘ ราวกับจะลบภาพจำอะไรบางอย่างที่พวกเขาเคยสร้างชื่อเอาไว้
หลังจากอ่านบทสัมภาษณ์นี้จบลงคุณอาจจะได้พบมิติใหม่ของ อภิรมย์ ที่รอบนี้ ไม่อภิรมย์ สักเท่าไหร่นักและอาจจะทิ้งภาพจำในอดีตออกไป ไม่ว่าจะเป็น ผิงไฟ, เจ้าสาวไฉไล, ดวงตานั้น และอีกหลายเพลงฮิตที่ติดลมบนอยู่ทุกยุคสมัย เพราะในมุมศิลปิน พวกเขาก็เติบโตขึ้นและพบเจออะไรมากขึ้นเช่นกัน
ความเปลี่ยนแปลงจากชุดที่ 1 ‘อภิรมย์’ มาจนถึง ชุดที่ 2 ‘ไม่อภิรมย์’
สูตรเหมือนเดิม เราเล่าในสิ่งที่เราอยากฟัง เราสนใจอะไรเราก็อยากเล่าเรื่องนั้น หรือเรื่องราวจากสิ่งที่มากระทบเรา เปรียบเสมือนเราใช้เชฟคนเดิมแต่เราใช้วัตถุดิบที่มีในปัจจุบัน ยังคงใช้กระบวนการ วิธีคิด การทำเพลงแบบเดิม ซึ่งไม่ได้พยายามอิงกับกระแสไหน เรารู้สึกว่าเราจะทำเพลงแล้วนาทีนี้เรามีอะไรบ้าง สิ่งที่แตกต่างจากชุดแรกคือเครื่องไม้เครื่องมือมีแค่นั้น ซึ่งตอนนี้ก็พัฒนาขึ้นตามช่วงเวลาที่ผ่านมา
ช่วงที่ผ่านมาเดินทางบ่อยมาก ออกไปหาวัตถุดิบการเขียนเพลงรึเปล่า ?
สำหรับตัวเราเองเรื่องกระบวนการทำเพลงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องจงใจหรือบังคับตัวเองว่า “เฮ้ย..ต้องศึกษาขวนขวายเพิ่มแล้วนะ” แต่มันจะเป็นมุมที่ว่าเราโตขึ้น กระบวนการคิดก็จะเพิ่มตามมา เป็นไปตามวัย ไม่ต้องถึงขนาดไปอ่านหนังสือ ส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ที่เจอ แล้ววันนึงจะตกผลึกของมันเอง มันเป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่ากระบวนการทำเพลงของเรามันช้า ต้องค่อยเป็นค่อยไปให้เวลาตัวเอง ซึ่งถ้าเราเข้าค่าย เรารู้ว่ามันจะไม่ได้ มาบีบคั้นเรา เราจะทำเพลงออกมาไม่ได้
เวลาไม่เคยหยุดเดิน สิ่งที่เก็บเกี่ยวมาจากช่วงวัยที่เติบโต
ด้วยวัยที่โตขึ้นประกอบกับสภาพสังคมก็สะท้อนว่าเราต้องเขียนอะไร จะทำเป็นมองไม่เห็น มาชิลแบบอัลบัมแรกมันก็ไม่ใช่แล้ว อัลบัมนี้มันเกิดจากอีกมิตินึงของตัวเราที่เป็นเราจริง ๆ ไม่ใช่แค่มาชิล เราเขียนเพลงสะสมมาเรื่อย ๆ เป็นมุมมืดของอภิรมย์
จนเกิดคำถามตัวเองว่า “ทำไม mood & tone ของเพลงต้องเป็นแบบนี้ตลอดเลยวะ ?“ เพราะอะไรเรากลับไปเขียนเพลงแบบเดิมไม่ได้ เลยเริ่มค้นหา จนได้เจอ 3 อย่าง ที่เป็นองค์ประกอบเวลาศิลปินมีชื่อเสียงขึ้นมา เราไม่สามารถเขียนเพลงได้เมื่อมีความคาดหวังเข้ามาเยอะ ๆ แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าต้องทำยังไง คือ เราต้องเอาค่าความคาดหวังให้ลดลง
1. ฆ่าความคาดหวังของตัวเองทิ้ง ถ้าเราคาดหวังในสิ่งนั้นมาก ๆ เราจะทำออกมาไม่ได้หรือทำออกมาแล้วจะไม่ดีอย่างที่เราต้องการ 2. ฆ่าความคาดหวังของคนฟังทิ้ง คือพอย้อนกลบับไปยุคที่ยังไม่มีแฟนเพลง ทำไมเราถึงเขียนเพลงแบบนั้นออกมาได้ เราต้องมองใหม่ ต้องกลับไปที่ 0 อีกครั้ง แยกกันออกไปก่อน ซึ่งเราเองก็ใช้เวลาตามหาคำตอบสิ่งนี้ 2-3 ปี เราเอาความคาดหวังจากคนฟังออกแต่ยังเคารพเสมอนะ เราก็เพิ่งคุยสิ่งนี้กับ โจ้—เขียนไขและวานิช ไปเหมือนกัน พอเราฆ่า 2 ข้อแรกได้แล้ว ทีนี้ก็มาขั้นตอนสุดท้ายคือ 3. ฆ่าความคาดหวังของสมาชิกในวง อธิบายให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเรากำลังจะทำอะไร แล้วก็เดินหน้าต่อ
ทำไมต้อง ‘ไม่อภิรมย์’
มันมีมาสักพัก เราอยู่กับปัจจุบันแล้ว ณ ตอนนี้ มันต้องเคารพประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในช่วงเวลา 10 ปี ใช้ตรงนั้นเป็นวัตถุดิบ อย่ายึดติดกับยุคแรก เลยเกิดคำโปรยแรกว่าชื่ออัลบัม ‘ไม่อภิรมย์’ เพราะมันฆ่าชื่อวงเลย ชื่อที่มันค้ำคอเราอยู่ ถ้าเรายังทำแบบเดิมต่อคนฟังจะไม่ได้เห็นอีกมุมนึงของคน รู้สึกว่าวงดนตรีก็เหมือนคน มีหลายอารมณ์ ต้องโตขึ้น
ส่วนเรื่องคนฟังคือเราแยกออกจากกันก่อน ครั้งนี้เราทำเพื่อบำบัดตัวเอง เพื่อแนวคิดจริง ๆ ของเรา รวมถึงแฟนเพลงที่ปัจจุบันก็ผ่านมา 10 ปีแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาก็โตขึ้นเช่นกัน แฟนเพลงใหม่ ๆ เราไม่ได้คาดหวังว่าต้องเข้าใจเราขนาดนั้น แต่ถ้าเกิดเข้าใจถือเป็นกำไรแล้ว เราถือว่าเราสร้างงาน เอางานเป็นที่ตั้งไว้ก่อน แต่จริง ๆ มีเพลงสว่าง ๆ ด้วยนะ วางแผนไว้ว่าชุดที่ 3 จะทำตลกเลย สนุกเลย เพราะอัลบัมนี้เราบำบัดแล้ว
กระบวนการทำเพลงเป็นยังไงบ้าง หลังจากมีสมาชิก 2 คน
เริ่มต้นแทบมาจากเราคนเดียวคือขึ้นโครง เขียนเนื้อร้อง ไปจนถึงพาร์ตดนตรีต่าง ๆ เป็น demo มา แต่ก็มีแจมบ้าง หาไลน์นู่นนี่ แต่ก็เกิน 50% นะ ที่เราคิดมาก่อน แล้วค่อยให้คนอื่นมาเติม นี่เพิ่งทำอัลบัมเสร็จ พวกเราก็ยังได้อะไรใหม่ ๆ มาเรื่อย ๆ เวลาเราอัดจะมีกลองมาในหัวแล้ว โฟล์ค—พีระวัฒน์ อุทโท (มือกลอง) ลองตีซิ ส่วนมือเบสก็แกะจากที่เราวางโครงไว้ ถ้าบางวงอาจจะถนัดรูปแบบประชาธิปไตยแต่อย่างเราเองจะใช้อีโก้ลงไปในงานศิลปะ
บางศิลปินถ้าต้องทำเพลงในรูปแบบนี้ อาจจะมองว่าไม่มีสิทธิ์มีเสียงรึเปล่า แล้วพี่ต่ายมองเรื่องนี้ว่ายังไง
คือมันก็รู้สึกนะ..แต่อันนี้ไม่รู้เข้าข้างตัวเองรึเปล่า คือรู้สึกว่า โฟล์ค ไว้ใจให้เราทำเลย เวลาเราจะแจมกัน จะรู้ได้ว่า “มึงว่ามาเลย เดี๋ยวกูตี” บางทีถ้าพูดถึงวงดนตรี บางวงจะถนัดในการประชาธิปไตย อย่าง จ๋าย—ไททศมิตร แต่อย่างเรารู้สึกว่าถ้าเป็นการสร้างงานศิลปะ ส่วนมากจะใช้อีโก้ลงไป มองว่าถ้าอยู่เป็นวงที่มีสมาชิกหลายคนมันต้องแชร์ อันนั้นถูกต้อง
แต่ถ้าสุดท้ายแล้วภาพวงมันจะชัด คาแรกเตอร์มันจะชัด มันอาจจะต้องมีอีโก้ลงไปหน่อย (อีโก้ในมุมงานศิลปะนะ) แต่เราโชคดีว่าเพื่อนเรา สมาชิกวงเข้าใจกับรูปแบบดนตรีที่เรานำเสนอไป จริง ๆ มันเหมือนคอมมิวนิสต์เลยแหละไม่ใช่ประชาธิปไตย
คำว่า ‘อีโก้’ อาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนรู้สึกไม่ดี ในมุมของ ต่าย อภิรมย์ นัยยะของคำนี้คืออะไร
มันเหมือนของทุกอย่างเลยนะ ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากมัน ต้องรู้ข้อดี ข้อเสีย และใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา อีโก้มันเป็นอัตตา เป็นตัวตน ความยโสในบางมุม เป็นความทะนงตน ความคิดเห็นความเชื่อส่วนตัว ซึ่งจะส่งผลให้ทำงานศิลปะส่วนตัวได้ดี มันเป็นตัวตน เต็ม ๆ อยู่ในงานศิลปะที่มีศิลปินคนเดียว
แต่ถ้าเอาสิ่งนี้มาใช้กับศิลปินที่เป็นวงอาจจะใช้แบบนั้นไม่ได้ทั้งหมด เพราะจะไปทับอีโก้คนอื่น ต่างคนต่างอีโก้มันก็พัง มันใช้กับส่วนรวมไม่ได้ หรือเอาแค่ 2 คนคุยกันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีเหตุผลแล้วเอาไว้ใช้กับงานศิลปะงานเดี่ยว มันมีความเชื่ออยู่อย่างนั้น
อัลบัมมันต้องเป็นสีดำดิ ก็ทำเลย ถ้าคนอื่นอาจจะไม่ชอบ แต่กูรู้สึกว่ามันเป็นงานศิลปะของกู กูก็จะ เฮ้ย..กูชอบว่ะ มันไม่ต้องไปเถียงกับใคร มันไม่มีอะไรถูกผิดอยู่แล้ว—ต่าย อภิรมย์
มันอยู่ที่เราใช้ให้มันถูกมากกว่า แล้วมองความเป็นอภิรมย์กับคนนะ ต้องมีอีโก้อยู่บ้าง (หมายถึงอีโก้ของวงอภิรมย์นะ) มันกำลังวัดใจกับคนฟังอยู่ว่า ชอบเรารึเปล่าเราเป็นอย่างนี้นะ สมมติถ้าเพลงนี้ปล่อยออกไปแล้วจะชอบหรือไม่ชอบ มันจะตัดสินกันได้เลยตรงนั้น (FJZ: แต่ว่ามันก็ต้องผ่านกระบวนการ 3 ข้อที่พี่พูดมาก่อน ถูกไหมครับ ถึงจะวัดใจกับคนฟังได้) มันก็เหมือนดื้อระดับนึงนะ อย่างเอาจริง ๆ ตอนที่ทำอัลบัมนี้เราไม่ได้คิดถึงว่าคนฟังจะเข้าใจรึเปล่า ด้วยจริตเราชอบฟังเพลงที่ฟังง่ายแต่มีความซับซ้อนอยู่ภายในนั้น ถ้าจะเข้าข้างตัวเองคือ “เฮ้ยมันต้องมีสักคนที่ชอบสิ แต่เราต้องทำในสิ่งที่เราชอบไว้ก่อน”
ส่วนเรื่องวัดใจ มันเป็นอีกส่วนเลยคือเราทำเพลงจบไปแล้วนะ หมายถึงว่าภาพของอภิรมย์ต่อคนภายนอก อัลบัมนี้จะท้าทายกับคนฟังหน่อย เพราะมันไม่ใช่ภาพเดิมเลยของ อภิรมย์ สำหรับแฟนเพลงที่โตมากับเรา ก็น่าจะเข้าใจเราได้ แต่สำหรับแฟนเพลงรุ่นใหม่ เรามองให้เป็นโบนัสมากกว่า
เพลงที่อยู่ในอัลบัม ‘ไม่อภิรมย์’
วิธีการสื่อสารของอภิรมย์จะเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ เปลี่ยน cover page ก่อน ยังใช้ pattern เดิมตั้งแต่ยุคแรกแต่สลับสีกัน ให้รู้สึกถึงความหมายของอัลบัมนี้ มีบอกชื่อเพลงหมดเลย แล้วจะพูดถึงสภาวะภายในเยอะ ไม่ค่อยใช้บริบทจากด้านนอก เป็นบริบทจากด้านในมากกว่า บางเพลงถูกปล่อยไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่เป็น demo ในนาม side project ทั้งหมด อย่างเพลง กระดาน, 213, รังแกเด็ก หรือ เดิมเดิม ที่เล่ากี่ยวกับเรื่องผี จะเอากลับมาทำในแบบ อภิรมย์ อีกครั้ง แต่จะมีเพลงที่ยังไม่ได้ปล่อย อย่าง คนข้างใน,วันแล้ววันเล่า, 2540 แล้วก็ ฤดูจริง อันนี้เขียนให้ลูกสาว วันที่คลอดมีปัญหาเกิดขึ้นแต่เพลงนี้เป็นเพลงที่เราไม่อยากฟังเลย และเพลงนี้จะไม่มีเล่นสด เพราะเราอาจจะไม่ไหว ลูกสาวคลอดก่อนกำหนด 725 กรัม ถ้าเทียบก็เท่ากับแก้วมังกรลูกครึ่ง ก็เลยเขียนเพลงนี้ขึ้นมา เราคุยกันแล้วกับสมาชิกวงว่าอัลบัมนี้อาจจะมี 2-3 เพลงที่ไม่ได้ถูกเอามาเล่นจริง
วันแล้ววันเล่า เป็นเพลงที่ได้ idea มาจากรายการผี เราพูดถึงสภาวะภายใน พูดถึงผู้หญิงคนนึงตั้งแต่เด็กจนแก่ มีความเชื่อมั่นว่าตัวเองสมบูรณ์แบบ ต้องได้เจอผู้ชายที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น ซึ่งความคิดที่ว่าตัวเองสมบูรณ์แบบนั่นคือความคิดที่ไม่สมบูรณ์เลย คือใช้คอนเซ็ปต์นี้กับชีวิตจนแก่ แต่ก็ไม่รู้ตัวไปว่าตัวเองพลาดอะไร เราใช้วิธีเล่าเรื่องใกล้เคียงกับ เจ้าสาวไฉไล จะหม่น ๆ หน่อย แต่ไม่ค่อยน่าสงสาร
คนข้างใน ถ้าตีความออกมาเป็นบริบทภายนอก เราก็พูดเชิงสัญลักษณ์ เงิน อำนาจ ชื่อเสียง
2540 จะเป็นเพลงสุดท้ายที่จะปล่อย และจะมี featuring ด้วย แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นใคร พูดถึงการเอาตัวรอดของคนในยุค 2540 เปรียบง่าย ๆ เหมือนการเอาตัวรอดในสถานการณ์ปัจจุบันอย่าง COVID-19 มันจะมีวิธีการเอาตัวรอดที่แตกต่างกัน มันไม่มีสูตรสำเร็จ อยู่ที่ว่าหน้างานใครเจอแบบไหน
วางแผนปล่อยเพลงต่อไปเมื่อไหร่ หลัจาก ‘คนข้างใน’
อยากจะบอกเหมือนกันว่า master ยังไม่เสร็จ แต่เราปล่อยเพลง คนข้างใน ไปก่อน แต่ถ้าจะให้ปล่อยรอบต่อไป ก็คือเราจะปล่อย 4 เพลง 213, เดิมเดิม, กระดาน, รังแกเด็ก วันเดียว 4 เพลง เราอยากปล่อยให้คนได้ฟัง ไม่มีสูตรที่จะต้องปล่อยทีละเพลง เราจะนับเป็นล็อตนะ ล็อตแรกคือ คนข้างใน ล็อตที่ 2 คือ 4 เพลงที่บอกไป ล็อต 3 เป็น 2 เพลงคือ วันแล้ววันเล่า กับ ฤดูจริง แล้วล็อตสุดท้ายก็ 2540 เราไม่ได้จะกั๊กอะไรอยู่แล้ว คิดว่าไม่เกิน 1 อาทิตย์ด้วยมั้ง ก็ได้ฟังกันครบ แล้วเราจะไปทำอัลบัม 3 ต่อ
ฝากถึงคนที่รอคอยการกลับมาของ อภิรมย์
รู้สึกว่าแฟนเพลงของ อภิรมย์ ที่ติดตามกันมา เรื่องนี้เป็นเรื่องเคมี เรื่องจริต เราก็แอบมั่นใจ (มั่นใจเปล่าก็ไม่รู้ว่ะ) คือไม่ว่าเราจะโตขึ้นขนาดไหน ก็จะมีเคมีบางอย่างที่เราคิดว่ายังตรงกันอยู่ อันนี้ไม่เกี่ยวกับพาร์ตดนตรีหรือว่าอารมณ์ในรูปแบบเฉพาะที่มันเหมือนยุคแรก น่าจะแบบสมมติเราเป็นเพื่อนกันนะ จะเข้าใจอารมณ์ตรงกัน เพราะคนฟังเขาก็โตตามเวลาที่เท่ากันกับเราได้เห็นเหมือนกับเราว่า สังคมเป็นยังไง คงไม่ได้ถึงกับว่า “อภิรมย์มาแล้วนะ ฟังกันด้วยนะครับ” ถ้าเป็นแฟนเพลงอภิรมย์จริง ๆ จะเข้าใจว่าเราถ่ายทอดอะไร และจะดีใจมาก ๆ ที่ยังฟังกันอยู่
หลังจากสิ้นเสียงปลายสายจากฟรอนต์แมนของวงดนตรีโฟล์กหัวแถววงนี้ ภาพความรู้สึกของ อภิรมย์ ในวันที่ ‘ไม่อภิรมย์‘ ยิ่งชัดเจนขึ้น และเราเฝ้ารอวันที่อัลบัมเต็มจะถูกปล่อยออกมา เช่นกันกับความรู้สึกของแฟนเพลงของพวกเขาที่คงจะเฝ้ารอให้ถึงวันนั้นเช่นกัน ติดตามได้ที่เพจ อภิรมย์
อ่านต่อที่นี่: The All Star Tours กลุ่มโฟล์กต่างถิ่นรวมการเดินทางของดวงดาว