เห็ดนอกใจ

อ้วน อธิษว์ ศรสงคราม

  • Writer: Patikal Phakguy
  • Photographer: Nattanich Chanaritichai

ย้อนกลับไปในปี 2006 ขณะที่เวทีโลกมีแต่ข่าวชวนปวดหัวอย่างการถูกพิพากษาประหารชีวิตของ ซัดดัม ฮุสเซน, ประเทศไทยเกิดการรัฐประหาร หรือมีการระเบิดในช่วงคืนส่งท้ายปีใหม่ในกรุงเทพฯ

ปี 2006 กลับเป็นปีที่วงการเพลงได้อ้าแขนรับวงดนตรีหน้าใหม่อย่าง Desktop Error กับ EP ชุด Instinct, Slur กับอัลบั้ม Boo!, Tattoo Colourกับอัลบั้ม Hong Ser รวมไปถึงการพลิกบทบาทมาออกอัลบั้มเดี่ยวแบบเต็มตัวของ อ้วน Armchair หรือ อธิษว์ ศรสงคราม ในชื่ออัลบั้ม Like How You Feel

ในบรรดาศิลปินที่ยกมาข้างต้น นอกจากอธิษว์แล้ว แทบทุกวงล้วนมีผลงานใหม่ ๆ มาให้ชื่นรูหูเสมอ

อธิษว์หายไปไหน? — ไม่น่าใช่คำถามสำหรับแฟนเพลงของเขา

อธิษว์จะกลับมาเมื่อไหร่ — น่าจะเป็นคำถามในใจใครหลายคนมากกว่า

2006 คือปีที่อธิษว์เริ่มไปเรียนต่อด้านศิลปะและใช้ชีวิตที่เยอรมนี ระหว่างนั้น เขาแวะเวียนกลับมาเมืองไทยบ้างเป็นระยะ มีงานคอนเสิร์ตขนาดย่อมให้คลายคิดถึงประปราย หากคำถามที่ว่า เขาจะกลับมาเมื่อไหร่ ยังคงสะท้อนอยู่ในหมู่แฟนเพลงเสมอ

ต้นเดือนสิงหาคม 2016 เราเห็นข่าวคราวของเขาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ส่งข้อความไปทัก ได้ความว่าเขากลับมาเมืองไทยแล้ว

10 ปีที่ผ่านไป เกิดอะไรขึ้นบ้าง, ชีวิตในเยอรมนีเป็นอย่างไร, เมืองไทยเปลี่ยนไปบ้างมั้ย และกลับมาคราวนี้อยู่ถาวรหรือเปล่า

ไม่กี่บรรทัดถัดไปมีคำตอบ

1

คุณกลับมานานหรือยัง

ไม่นานเลยครับ เพิ่งกลับมาสด ๆ ร้อน ๆ

คุณมีแผนจะทำอะไรต่อ

ตอนนี้เตรียมโซโลโชว์งานถ่ายภาพของตัวเองตอนเดือนพฤศจิกายนอยู่ครับ แต่จริง ๆ ช่วงนี้วุ่นอยู่กับการจัดบ้านให้เข้าที่ ต่อไปจะสร้างสตูดิโอ ทำงานศิลปะ แล้วก็อาจไปรับสอน เปิดคอร์สหารายได้ควบคู่ไป

ดูเหมือนคุณจะกลับมาอยู่ถาวร?

คงอยู่ยาวเลย เราอิ่มตัวกับเยอรมนีแล้ว

อะไรทำให้คุณอิ่มตัว

จริง ๆ เราก็อยู่ได้เรื่อย ๆ นะ เพราะปีนึงก็อาจมีโชว์งานประมาณสองสามครั้ง ระหว่างนั้น เราต้องทำงานอื่นเพื่อหาเงินควบคู่ไปด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้ว เราคิดว่า ถ้าอยู่เมืองไทยคงมีกิจกรรมที่สนุกกว่า ได้ทำอะไรหลากหลายมากกว่า

งานอื่นที่ทำเกี่ยวกับอะไร

เราทำหลายอย่างมากเลย แต่ที่ทำแล้วสนุกสุดคือ archaeology (โบราณคดี) ทำอยู่ 4-5 ปี

นักโบราณคดีที่นั่นชอบมีวัฒนธรรมรับเด็กศิลปะเข้าไปทำงานด้วย เพราะเด็กศิลปะช่วยถ่ายรูป สเกตช์ของที่ขุดมาได้ เราเลยได้ทำหลายอย่างมาก ได้ขุดหาพวกวัตถุหลักฐานด้วย แล้วพอเรียนจบ เขาก็จ้างเรากับเพื่อนเอาของที่ขุดได้มาถ่ายรูปเก็บไว้

นอกนั้นก็ทำอีกหลายอย่างนะ งานซูเปอร์มาร์เก็ตก็เคยทำ พวกใช้แรงงานก็ทำ เออ เราเคยบอกคนไทยว่าเป็นแรงงานแล้วเขาชอบเหวอกัน (หัวเราะ) แต่ที่เยอรมนีทำงานได้ค่าแรง  8.50 ยูโรต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าดีเลยนะ เราทำงานสองวันต่อสัปดาห์ เดือนนึงได้ตังค์เกือบสองหมื่นบาท หรือประมาณห้าร้อยยูโร

ถือว่าอยู่ได้มั้ย

ไม่ได้นะ เราว่าต้องทำให้ได้สักประมาณแปดร้อยยูโร

2

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ทำไมคุณถึงเลือกไปเยอรมนี

ตอนเราเรียนปี 3-4 ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เราต้องรีเสิร์ชข้อมูลทำธีสิสเยอะ ตอนนั้นจำได้ว่าน่าจะมีอินเทอร์เน็ตแล้วมั้ง พอดูงานไปเยอะๆ เราก็รู้สึกชอบสถาบันหนึ่งมาก ชื่อว่า Kunstakademie Düsseldorf (Dusseldorf Art Academy) เพราะศิลปินที่เราชอบทั้ง Andreas Gursky, Thomas Ruff, Thomas Struth, Thomas Demand เรียนที่นี่หมดเลย

แล้วเราชอบประวัติของอาจารย์พวกเขาด้วย เป็นผัวเมียกัน ชื่อ Bernd กับ Hilla Becher คือสองคนนี้ทำงานมาสามสิบปี ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครเห็นว่าเป็นศิลปะ ไม่เคยได้ทุนอะไรเลย จนประมาณยุค 70s พวกคอนเซปชวลอาร์ตมาแรง มีแมวมองมาเห็น เป็นคิวเรเตอร์ใหญ่ เจองานเขาที่มิวเซียมประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ คือไม่ได้เกี่ยวกับศิลปะเลย อยู่ๆ ก็มาขอให้เขาไปเป็นโปรเฟสเซอร์ที่สถาบัน จากไม่มีอะไรเลย ทำงานในรถบ้าน ก็กลายเป็นดังทั่วโลก

อ๋อ แต่จริงๆ ที่เราไปเรียนเพราะชอบ Thomas Ruff มาก อยากไปเรียนกับเขา พอไปถึง ค่อยได้รู้ว่า เขาเลิกสอนไปสองปีแล้ว แต่เราเลยได้เรียนกับ Gursky แทนนะ

บรรยากาศการเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

ความที่มันเป็นโรงเรียนศิลปะ เวลาเรียนเลยค่อนข้างฟรีมาก แถมการเรียนก็เป็นอิสระ ยกตัวอย่าง วิชาถ่ายภาพ ไม่จำเป็นว่าต้องให้นักศึกษาถ่ายภาพเรียนเท่านั้น นักศึกษาจากมีเดียอื่นก็สามารถเรียนได้

โรงเรียนเรามีระบบเหมือนเจไดกับลูกศิษย์ คือให้ความสำคัญกับโปรเฟสเซอร์มาก เช่น ถ้าคุณอยากเรียนกับคนนี้ คุณต้องไปนัดเวลากับเขา ไปให้เขาสัมภาษณ์ เอาพอร์ตโฟลิโอไปให้เขาพิจารณาว่าทำไมต้องรับคุณเข้ามาเรียนในคลาสของเขา

แล้วก็โรงเรียนเราไม่มีสั่งงาน ไม่มีสอบ ไม่มีอะไรเลยเว้ย (หัวเราะ) คือโปรเฟสเซอร์จะสั่งหัวหน้าห้องว่าเจอกันสัปดาห์ไหนเท่านั้น ที่เหลือก็ฟรีมาก อย่างคลาสเรา เวลาเรียนก็จะนัดกันมาเป็นกลุ่ม เอางานทุกคนมาแชร์กัน มานั่งคุยพร้อมกันทั้งคลาสว่างานคนนี้เป็นไง อธิษว์คิดยังไงบ้าง แต่อย่างที่บอกว่ามันฟรีมาก ใครไม่อยากให้คนอื่นดูก็เอาไปให้โปรเฟสเซอร์ดูตัวต่อตัวได้

มีงานต้องส่งแบบนี้แปลว่าเขามีการตั้งโจทย์ให้?

ไม่มี ใครอยากทำอะไรก็ทำ พอถึงเวลาก็เอามาคุยกัน คือเราว่าที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนผู้ใหญ่ คุณต้องรู้แล้วว่าต้องการอะไรในชีวิต คุณจะทำอะไร คุณอยากทำอะไร แล้วคุณก็ควรทำในสิ่งที่อยากทำ

เป็นแบบนี้ทุกคลาส

ใช่ครับ

 พอมันอิสระแบบนี้ ก่อนทำงานชิ้นหนึ่งคุณเริ่มจากอะไร

เราว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตลกของเรานะ แต่ก่อนเวลาอยู่เมืองไทย วิธีทำงานของเราคือ การแก้ปัญหา เช่น กล้องไม่พอ คอมพ์เสีย มีปัญหาเรื่องสถานที่ แต่ที่เยอรมนีไม่มีปัญหาอะไรเลย คงเพราะเขารวยด้วยมั้ง คอมพ์เรียงกันเป็นตับ ปรินเตอร์มีเต็ม จะเอาอะไรมีทุกอย่าง โรงเรียนมีให้หมด ปัญหามันก็เลยไม่มี แต่ก็ช็อกเหมือนกันนะ แบบ เฮ้ย เราแม่งอิสระสุดๆ บางทีก็ต้องมานั่งคิด ว่าจะทำอะไรดีวะ (หัวเราะ)

ต้องปรับตัวนานมั้ย

ประมาณหนึ่ง ก็ค่อย ๆ ปรับไป และจริง ๆ เราจำไม่ค่อยได้แล้วด้วยว่าช่วงแรกเจอปัญหาอะไร ถ้าจะมีก็คงเป็นเรื่องภาษาที่ไม่เข้าใจมันร้อยเปอร์เซนต์

คุณรู้ภาษาเยอรมันอยู่ก่อนแล้ว?

ไม่ครับ ก่อนไปเยอรมนีเราไปเรียนภาษาที่สถาบันเกอเธ่อยู่หนึ่งปี พอไปถึงนู่นก็พบว่า ใช้อะไรไม่ได้เลยเว้ย (หัวเราะ) คือเยอรมนีเมื่อสิบปีที่แล้ว คนใช้ภาษาอังกฤษน้อยมาก ช่วงนั้นเราก็ใช้ภาษามั่วไปหมด เดี๋ยวภาษาอังกฤษ เดี๋ยวภาษาเยอรมัน สุดท้ายเราเลยต้องไปเรียนภาษาต่ออีกประมาณแปดเดือน

การใช้ชีวิตช่วงนั้นเป็นยังไง

ก็ยากแหละ เพราะเราไม่รู้จักใครที่นู่นเลย แล้วพอมีบ้านก็ต้องติดต่อพวกการไฟฟ้า หรือบริการอินเทอร์เน็ตด้วยตัวเอง ช่วงแรกๆ เราฟังไม่รู้เรื่องเลย มั่วซั่วมาก ต้องจ่ายค่าปรับค่าอะไรเต็มไปหมด เป็นอยู่แบบนี้ประมาณสองปี

คุณเรียนจบตั้งแต่ปีไหน

2014

เขามีจำกัดระยะเวลาการเรียนมั้ย

ตอนที่เราเรียนไม่มีจำกัดนะ อย่างเราเรียนเจ็ดปี แต่เดี๋ยวนี้เหมือนจะจำกัดไว้ที่หกปี

ทำไมเขาถึงให้ระยะเวลานานขนาดนั้น

ไม่รู้เหมือนกัน แต่เราค่อนข้างเห็นด้วยนะ เพราะในวัยประมาณนี้ วัยที่เตรียมเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ มันเป็นวัยที่เราควรให้เวลากับการใช้ชีวิต ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การไปเที่ยวเตร่นะ เราหมายถึงงานที่ชอบด้วย หรือกับการเรียนเองก็ตาม เราว่ายิ่งต้องใช้เวลาว่ะ ยิ่งเรียนศิลปะด้วยแล้ว เราโคตรงงเลยว่าที่อื่นอย่างอเมริกาหรืออังกฤษเรียนกันสองปีจบได้ยังไง มันเข้าใจได้จริง ๆ เหรอ

อย่างตอนที่เราเรียน เราก็ทำอย่างอื่นไปด้วย ได้แสดงงานทั้งในเยอรมนีและต่างประเทศ หาประสบการณ์ไปเรื่อย แต่เราว่าถ้าเรียนนานไปมันก็จะเฉื่อยนะ

คุณเฉื่อยมั้ย

กลาง ๆ

3

คุณไปแสดงงานได้ยังไง

มันมีหลายแบบนะครับ เช่น จัดแสดงกับเพื่อน เพราะบางคนก็จะชอบทำออร์กาไนซ์ เขาก็จะไปหาที่มา บางทีก็มีคิวเรเตอร์มาติดต่อให้ไปร่วมแสดงกับคนอื่น หรือถ้าคอมเมอร์เชียลหน่อยก็จะมีคอลเลคเตอร์มาติดต่อให้เอางานไปแขวน แล้วเขาจะขายรูปให้

ตอนโชว์งานครั้งแรก ๆ กดดันบ้างมั้ย

ไม่นะ กดดันเรื่องการอธิบายงานมากกว่า เพราะมันไม่ใช่ภาษาเรา แถก็ไม่ได้ เวลาโชว์งานทีเราต้องจดไว้ก่อนว่าจะพูดอะไรบ้าง เป็นแบบนี้อยู่หลายปีมาก ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้ก็ยังเป็นนะ แล้วไม่ใช่แค่กับการโชว์งานด้วย เวลาจะโทร.ไปถามค่าน้ำค่าไฟ เราก็จดไว้หมด ไม่งั้นพอคุยแล้วนึกศัพท์ไม่ออก

วงการศิลปะบ้านเขาเป็นยังไง

เขาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมสูงมาก แล้วความหลากหลายก็เยอะ มีทุกอย่างครบวงจร ทั้งคนทำ, คนซื้อ, คนวิจารณ์ และคนดู อย่างเราอยู่ที่ดุสเซลดอร์ฟ ซึ่งน่าจะเป็นเมืองที่ผลิตงานศิลปะเยอะที่สุดในเยอรมนีแล้ว แกลเลอรี่เยอะมาก งานศิลปะที่จัดแสดง หรือคนที่ไปเรียนมีความอินเตอร์เนชั่นแนลสุด ๆ

ซึ่งน่าจะดีสำหรับคนทำศิลปะ

ใช่ แต่อยู่ที่นั่นเรามีสิทธิ์แค่รอนะ คือก็ทำงานของเราไป แล้วเดี๋ยวถ้ามีคนสนใจ เขาก็จะมาติดต่อ ซึ่งเราไม่ชอบ เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยในการที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ

การทำงานกับคนเยอรมันยากมั้ย

ไม่ยาก การทำงานกับคนไทยสิยาก (หัวเราะ) คือคนเยอรมันจะรู้ว่าเขาต้องทำอะไร สมมติ เราเตรียมห้องจัดแสดงงานอยู่ ก็จะมีคนบอกว่าเดี๋ยวกูทาสี เดี๋ยวกูเช็ดพื้น แล้วเวลาทำงานก็ไม่ก้าวก่าย ต่างคนต่างรับผิดชอบหน้าที่ตัวเอง ซึ่งโคตรดีเลยเว้ย เวลาทำจ็อบเรื่องสิทธิของเราก็ดีมาก เวลาดีลงานก็ค่อนข้างเป็นไปตามที่ตกลงไว้

คนเยอรมันที่คุณเจอเป็นยังไงบ้าง

ปกตินะ ไม่น่ากลัว จริง ๆ แล้วคนทุกชาติมันก็มีทุกแบบ แต่ว่าจากภายนอกคนเยอรมันอาจดูเหมือนเป็นคนตรงๆ ซึ่งเราว่าแบบนี้แหละดีแล้ว ทำอะไรไม่ได้ก็บอกกันตรง ๆ ไม่พอใจอะไรก็พูด แล้วเป็นพวกที่ระเบียบสุด ๆ ตรงข้ามกับคนไทยมาก แต่เราชอบนะ

เขาระเบียบกับเรื่องอะไรบ้าง

เราทึ่งกับกำหนดการของพวกเขามาก เวลาคนเยอรมันนัดทำอะไรกัน เขานัดล่วงหน้าเป็นเดือนนะ เช่น วันที่ 13 เดือนหน้า ไปปาร์ตี้ที่บ้านเราตอนสามทุ่มนะ แล้วระหว่างนั้นก็ไม่ต้องโทร.หา ไม่ต้องอะไรเลยเว้ย ถึงเวลามากดกริ่ง แล้วเป็นอย่างนี้ทุกคนเลย แบบโอ้โห มึง… (หัวเราะ)

ช่วงตัดสินใจว่าจะกลับ เราเสียดายอะไรที่นั่นมั้ย

เสียดายนะ แต่มันต้องเลือกว่าจะเอายังไง เพราะเพื่อนสนิทเราสองสามคนก็กำลังจะย้ายเมือง เราก็แบบ แล้วกูจะทำอะไรวะ คือสังคมเยอรมันเป็นสังคมค่อนข้างปิด มันไม่เหมือนคนไทยที่คนนี้รู้จักเพื่อนเรา คนนั้นเป็นน้องคนโน้น เราเลยตัดสินใจล่วงหน้าสองปีว่าจะกลับ ทยอยบอกเพื่อนว่าจะกลับบ้านแล้ว เพื่อนนี่ตาลอย หงอยเลย เฮ้ย กลับจริงเหรอ อย่ากลับเลย อยู่ด้วยกัน

ทำไมอยากกลับ

ช่วงเรียนจบ เราเริ่มต้องทำงานหาเงินจริงจัง ซึ่งทำให้เราไม่มีเวลาทำงานศิลปะเท่าที่ควร เราเลยคิดว่าถ้ากลับไทย มันคงมีแพลตฟอร์ม มีสถานที่ให้เราได้ทำงานศิลปะ ให้เราได้ทำอะไรที่สนุกกว่า

นอกนั้นก็เพราะครอบครัวด้วย พ่อแม่เราแก่แล้ว หรือเรื่องความสนุก กิจกรรมในชีวิตก็เกี่ยวนะ ตอนอยู่เยอรมนี เรานัดเจอเพื่อนได้มากสุดก็สัปดาห์ละสองครั้ง นอกนั้นก็ทำงาน อยู่บ้านไปเรื่อย ๆ จนเฉา

ไม่อยากไปอยู่เมืองอื่น?

ไปเมืองอื่นก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ทำความรู้จักเพื่อน สังคม คนรู้จัก หาร้านกรอบรูป คือถ้าย้ายไปเบอร์ลินก็คงสนุก แต่ถ้าเราทำงานศิลปะ ก็คงไม่มีคนซื้อ ต้องหาคอลเลคเตอร์ที่สะสมงานศิลปะใหม่ ซึ่งเราใช้เวลาสิบปีกว่าจะสะสมเพื่อนอันน้อยนิด หรือคอลเลคเตอร์สองคนได้ ทั้งที่เราอยู่ในดุสเซลดอร์ฟ เมืองที่จัดว่ารวยและมีศักยภาพซื้องานศิลปะสูงแล้วนะ (หัวเราะ)

เสียดายมั้ย

โคตรเสียดาย คืออย่างเรื่องศิลปะ มาตรฐานการแสดงงานที่นั่นสูงมากนะ ถึงจะเป็นที่เล็กๆ แต่คนซีเรียสกันสุดๆ อันนี้เราหมายถึงแค่คนทำเลยนะ สมมติเรากับเพื่อนแสดงนิทรรศการร่วมกัน ก็จะมีการคุยหรือเตรียมงานกันแบบจริงจังเลย แล้วที่นั่นเรามีบัดดี้เป็นคนเยอรมันที่เอาไว้คุยงานด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่โคตรสำคัญสำหรับศิลปิน เพราะเขาจะเป็นคนที่รู้จักงานเราตั้งแต่ยุคแรกสุด รู้การพัฒนา แล้วสามารถฟัน สับเราได้ ซึ่งเราว่าการมีคนวิจารณ์สำคัญมากเลยในการทำทุกอย่าง

4

เวลาวิจารณ์งานกันจริงจังขนาดไหน

จริง ๆ เพื่อนที่สนิทกับเราเป็นแนวใจดีนะ เราทำอะไรก็ดีไปหมด แต่เวลาเปิดโอกาสให้เขาวิจารณ์จะลึกซึ้งเหี้ย ๆ แบบมันต้องคิดอะไรลึกขนาดนั้นเลยเหรอวะ (หัวเราะ) ซึ่งก็ดี เพราะเราจะได้เห็นมุมที่เราไม่เคยมอง

บรรยากาศการวิจารณ์ที่นู่นเป็นยังไง

กินเบียร์ไปคุยไป แต่จริง ๆ ก็แล้วแต่นะ ถ้าสนิทก็กินเบียร์ เอารูปให้ดูผ่านไอแพด หรือถ้าเป็นพวกงานประติมากรรมก็จะนัดกันไปดูงาน พกเบียร์ไปด้วย

แต่มันก็จะมีคนที่วิจารณ์แบบทำลายล้างด้วยนะ พวกนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องสนใจ มันไม่ช่วยในการทำงาน เพราะเขาวิจารณ์เอามันอย่างเดียว

มีอวยกันเองมั้ย

มีทุกอย่างแหละ ต่อหน้าชมลับหลังด่าก็มี เพราะการแข่งขันในโรงเรียนเราสูงมาก ถ้าใครเก่งหรือโชคดีด้วยแม่งดังไปเลยนะเว้ย รวยเลย เงินรางวัลได้ทีเป็นล้านบาทน่ะ

เป็นแบบนี้แล้วเครียดมั้ย

เครียดนะ แต่คนอื่นเครียดกว่า เราพยายามจะปล่อย เพราะเราไม่ชอบด้วย

ที่โรงเรียนจะมีวันที่แต่ละคลาสจะโชว์งานกัน แล้วก็จะมีแมวมองมาดู ซึ่งความที่มันเป็นโรงเรียนใหญ่ คิวเรเตอร์ทั้งประเทศก็จะแห่กันมา ตัวแทนแกลเลอรี่ดัง ๆ จากนิวยอร์กบินมาดู ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ช่วงนี้ก็จะเห็นธาตุแท้ของคนเลยนะว่าใครเป็นยังไง บางคนก็เห็นแก่ตัวฉิบหาย เลือกที่ที่ดีที่สุดทั้งที่งานไม่เหมาะ หรือบางคนไม่มาช่วยทาสี ช่วยขนของ แต่เลือกที่ที่เด่นสุด แต่พอมีเหตุการณ์แบบนี้ คนในคลาสก็จะจัดการกันเอง ใครไม่มาทำบางทีก็จะโดน เฮ้ย มึงไม่เคยมาทำ ไม่มาช่วย มาเอาที่แบบนี้ไปได้ไง หรือบางทีโปรเฟสเซอร์ก็จะมาช่วย เห็นงานใครควรได้ที่ดีๆ ก็บอกให้ลองเอาไปวางดู ซึ่งถ้าไม่เห็นด้วยนี่ทะเลาะได้ด้วยนะ แบบ เฮ้ย ไม่เอา จะเอาตรงนั้น (หัวเราะ) ทำได้ทุกอย่างเลย

เคยทะเลาะรุนแรงมั้ย

เราไม่เคย แต่เคยอยู่ในเหตุการณ์ที่พอจัดห้องเสร็จ มีคนนึงพูดว่า “Look like shit” โปรเฟสเซอร์แม่งโกรธเหี้ย ๆ เพราะเขาอุตส่าห์สละเวลาสองวันสองคืนมาเพื่อช่วยพวกเรา เขาเลยบอก ไหนมึงลองทำแบบที่ต้องการทำซิ แล้วก็ขี่จักรยานกลับบ้านไปเลย (หัวเราะ) แต่สรุปก็คือหาจุดกึ่งกลางระหว่างที่โปรเฟสเซอร์ชอบกับนักเรียนชอบ คือการเรียนการสอนที่นั่นค่อนข้างประชาธิปไตย บางปีตัวแทนนักเรียนสามารถเข้าไปร่วมประชุมกับเหล่าโปรเฟสเซอร์เพื่อเลือกโปรเฟสเซอร์ที่จะมาสอนพวกเราในปีถัดไปได้ นักเรียนทำได้ทุกอย่าง แล้วสิทธิในการตัดสินใจ หรือเลือกอะไรให้ตัวเราก็สูงมาก

ว่ากันว่า ทำศิลปะอย่างเดียวอยู่ไม่ได้ คุณว่าแค่ในประเทศไทยหรือในเยอรมันก็ด้วย

อยู่ไม่ได้จริง ๆ ทุกที่เลย ในเยอรมนีก็อยู่ไม่ได้นะ ถ้าโชคไม่ช่วยสุดยอด ทุกคนต้องทำงานอื่นไปด้วย โปรเฟสเซอร์เราก็เคยขับแท็กซี่มาก่อน ทุกคนต้องทำมาหากินของตัวเอง

การทำงานศิลปะต้องใจรักแบบสุด ๆ เพราะการทำงานหนึ่งชิ้นมันจะดูดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปจากชีวิต สมมติเราลงทุนแสนบาทสำหรับทำรูปโชว์ในนิทรรศการแปดรูป รูปนึงขายได้หนึ่งแสน แต่พอเราเอาไปทำกรอบ ที่เหลือก็แค่คุ้มทุน การทำงานศิลปะเลยต้องใช้ใจมากๆ

กลับมาไทยเราก็คงทำงานศิลปะต่อ แต่เป้าหมายของเราคือ ครึ่งหนึ่งหาเงิน ครึ่งหนึ่งทำงานส่วนตัว เราจะพยายามหางานที่ซัพพอร์ตด้านศิลปะ อาจเปิดคอร์ส ทำโฮสเตล หรืออะไรที่เรามีเวลาเยอะ ๆ

ยังจะทำเพลงอยู่มั้ย

ทำครับ เรามี material ที่เก็บไว้ทำเพลงค่อนข้างเยอะ แต่ขอจัดการทุกอย่างให้เสร็จก่อน ตอนนี้เราไม่สามารถทำทุกอย่างพร้อมกันได้

เมืองไทยวันนี้เปลี่ยนไปจากสิบปีที่แล้วหรือเปล่า

คนอาจไม่ค่อยเชื่อ แต่เรารู้สึกว่าสะอาดขึ้น พวกตึกดูไม่ค่อยซกมกเหมือนแต่ก่อน นอกนั้นก็ของแพงขึ้น แพงแบบหลอนเลย ตอนเราไป ก๋วยเตี๋ยวชามละสี่สิบ ตอนนี้ร้อยนึงแล้ว หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำตกเจ้าประจำ ตอนไป 12 บาท เดี๋ยวนี้ 20 บาท แล้วก็เหมือนว่าจะรถติดขึ้น

อ๋อ แล้วชอบมีคนพูดว่าคนไทยเปลี่ยนไป แต่เราไม่รู้สึกว่าเปลี่ยนไปเท่าไหร่

5

ตอนนี้คิดว่าตัวเองเป็นคนชาติอะไร

ตอนนี้รู้สึกว่ากำลังมาเที่ยวอยู่ (หัวเราะ) แต่เราพยายามคิดว่า เฮ้ย มันไม่มีตั๋วกลับนะเว้ย เราว่าทุกอย่างในเมืองไทยย้อนแย้งไปหมด พูดอีกอย่างทำอีกอย่าง ระบบก็ไม่มี ไม่คิด ไม่ออกแบบ ไม่มีการวางแผนเอาไว้ก่อนแล้วค่อยทำ

เอาง่าย ๆ ระบบร้านค้า ทำไมพนักงานต้องเยอะขนาดนั้น มีความจำเป็นขนาดนั้นเลยเหรอ หรือทำไมไม่ทำให้ทุกคนมีคุณภาพ แล้วขึ้นเงินเดือนให้เขาเยอะ ๆ หน่อย เวลาคัดคนงานก็เลือกเอาที่เหมาะกับงานหน่อย ไม่ใช่อะไรก็ได้ แต่จริง ๆ เราเป็นคนที่เห็นอะไรพวกนี้นอกบ้านแล้วจะไม่หงุดหงิด เราปล่อยวางได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องในบ้าน เราจะ เฮ้ย ทำไมอันนี้ต้องวางอย่างงั้นอย่างงี้ หรือทำไมไม่ทำทีเดียวให้ดีไปเลย สมมติก่อสร้าง ทำไมต้องทำถูก ๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยมาซ่อมทีหลัง

ไม่นานมานี้ เราเพิ่งอ่านบันทึกการเดินทางของคนฝรั่งเศสที่มาเมืองไทยตอนยุค ร.สี่ เขาบอกว่าธรรมชาติของไทยทำให้คนไทยเหลิง ทำให้เป็นคนขี้เกียจ เพราะไม่ว่าอะไรก็สบายไปหมด ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ซึ่งของฝรั่งเขาทำงี้ไม่ได้ไง ต่างประเทศเขามีฤดูหนาว มีมรสุม ซึ่งมันทำให้คนต้องกักตุน วางแผน ต้องแปรสภาพพวกของที่มี คนบ้านเขาเลยต้องคิด ต้องวางแผน บ้านเมืองเขาเลยเป็นแบบนั้น ของเราคนมันชิล น้ำแห้งเหรอก็เข้าป่าไปยิงนกสิ

คิดว่าตัวเองติดความเป็นเยอรมันกลับมาบ้างมั้ย

ติดครับ เรื่องระบบนี่แหละ ความอิสระนี่ก็รับมาเยอะ

คุณจะนำความเป็นระบบและความอิสระพวกนี้ไปใช้กับคนอื่นหรือเปล่า

เราคิดว่าต้องใช้แค่กับตัวเรา หรือถ้าจะใช้กับคนอื่นก็ต้องเป็นอะไรที่ไม่ละเมิดสิทธิเขา

ตอนอยู่เยอรมนีได้ติดตามอะไรที่เมืองไทยอีกบ้าง

การเมือง

การเมืองเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า

ไม่เปลี่ยน เป็นไงก็เป็นงั้น ไร้ความหวัง

ช่วงนี้คนพูดว่าอยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศกันเยอะ ทำไมคุณถึงเลือกกลับมาถาวร

เรามองอีกแง่นึงนะ คือถ้าเราคิดแต่เรื่องการเมืองเราก็คงไม่อยากกลับ แต่เราคิดถึงเรื่องอื่นด้วย เช่น สังคม การใช้ชีวิต แล้วเราอยู่ที่นั่นจนกลายเป็นคนเยอรมันไปเยอะแล้ว การกลับมาเลยอาจดีกว่า เพราะถ้านานไปกว่านี้มันจะเลยจุดกลับตัวแล้ว

เราไม่อยากแก่ตายที่เยอรมนี มันเหงา มันเป็นสังคมเดี่ยว ต่อให้เรามีเพื่อนที่ดียังไง ต่างคนต่างก็มีปลายทางชีวิตของตัวเอง

Facebook Comments

Next:


Patikal Pakkai

ปฏิกาล ภาคกาย เป็นคนทำหนังสือประจำสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง เป็นนักฟังเพลงในบางจังหวะ และนักพบปะผู้คนในบางโอกาส