โน้ต The 10th Saturday
- Writer: Teeraphat Janejai
- Photographer: Nattanich Chanaritichai
ผมใช้เวลานึกอยู่นานกว่าจะรู้ว่าคนที่กำลังจะไปสัมภาษณ์ คือ คนที่เล่นกีตาร์เพลง ‘กล้าพอไหม’ ที่ฟังมาตั้งแต่เด็กและต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะรู้ว่าเขาคือเจ้าของธุรกิจร้านเบอร์เกอร์ Buddy Boy’s ร้านนำเข้ายีนส์และเสื้อผ้า Me&Sons เป็นมือกีตาร์วงอินดี้ The 10th Saturday และเป็นคุณพ่อลูกแฝด
เขาบอกว่าอาชีพของเขาคือการใช้ชีวิต ซึ่งเท่าที่ฟังแล้วก็ดูเหมือนว่าอาชีพของเขากำลังไปได้ดี หลังจากอ่านบทสัมภาษณ์นี้ ไม่แน่ว่าภาพนักดนตรีที่เคยเล่นคอนเสิร์ตปีละกว่า 300 ครั้งในความคิดของคุณอาจจะเปลี่ยนไปเหมือนผม หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะได้เห็นวิธีคิดของนักดนตรีสายอินดี้ที่ไม่ได้นอกกระแสแค่เพลง แถมความคิดของเขาก็อินดี้เหมือนกันและทุกสิ่งที่อยู่ในบทสัมภาษณ์นี้คือ ผู้ชายที่ชื่อว่า นันทไกร ฉ่ำใจหาญ หรือ โน้ต วง The 10th Saturday นั่นเอง
ออกจากโปเตโต้มากี่ปีแล้ว
ปีนี้ปีที่ 9 แล้ว เร็วเหมือนกันนะ
ธุรกิจแรกที่ทำหลังออกจากวง
เริ่มแรกทำธุรกิจกับที่บ้านก่อนเลย แต่เราไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ทำได้สักพักก็เริ่มคิดว่าอยากทำงานที่ไม่เหมือนงาน พอดีเราเป็นคนชอบรถ ก็เลยทำธุรกิจคาร์แคร์เป็นธุรกิจแรกในชีวิต สมัยนั้นยังไม่มีคนทำด้วย ทุกอย่างก็ไปได้สวย ทีนี้เป็นคนชอบเสื้อผ้าด้วย ชอบยีนส์ แล้วเราไปญี่ปุ่นบ่อย ก็เลยสนใจทำธุรกิจเสื้อผ้า ซื้อแฟรนไชส์ของร้านยีนส์ต่างประเทศเข้ามาขาย เปิดควบคู่กันไปได้สัก 2 – 3 ปี เข้าปีที่ 3 คาร์แคร์เริ่มมีปัญหา เพราะเราต้องเข้าไปดูแลทุกวัน ถ้าไม่เข้าไปดูลูกน้องก็จะทำงานกันไม่เต็มที่ ทำให้เราดูทั้งสองร้านได้ไม่เต็มที่ ก็เลยเริ่มมีปัญหา
แล้วร้านเบอร์เกอร์ Buddy Boy’s เกิดขึ้นได้ยังไง
เจ้าของที่ดินเขาถามว่า สนใจจะเช่ามั้ยพื้นที่ข้าง ๆ คาร์แคร์เพิ่มมั้ย ตอนที่คิดว่าจะเช่าทำอะไรดี เราอยู่หัวหินขับรถผ่านเพลินวาน ตอนนั้นเพิ่งเปิดใหม่ ๆ เห็นคนชอบถ่ายรูปมาอวดกัน เราก็ลองเข้าไป เราก็แอบขำนะว่ามันก็แค่ฉากม็อกอัพขึ้นมา ไม่ได้มีอะไรขนาดนั้น แต่คนก็ถ่ายรูปกัน แฟนเราก็พูดว่า “นี่ไง เธอก็ถ่ายรูปเหมือนกัน เช็กอินเหมือนกัน” เออว่ะ เราคิดออกเลยว่าเราจะต้องทำร้านอะไรสักอย่างที่คนมาแล้วต้องพูดว่า ร้านนี้แม่งเจ๋งว่ะ อยากมาถ่ายรูป แล้วเราเป็นคนชอบหนังอเมริกันอยู่แล้ว เราก็มักจะเห็น American diner ในหนังบ่อย ๆ เราชอบมาก ตอนนั้นเราตระเวนดูร้าน diner ในเมือง แต่มันก็ยังไม่ใช่แบบที่เราอยากได้ พอดีไปเจอกับพี่คนหนึ่งเป็นสถาปนิก และเคยทำ diner อยู่ที่อเมริกาด้วย ก็เลยชวนมาทำร้านด้วยกัน อาหารที่เราเลือกทำเป็นเบอร์เกอร์ เพราะเราชอบกิน และสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีคนทำเท่าไหร่ ร้านก็ไปได้ดี คนมาตามกระแสโซเชียลแบบที่เราคิดไว้ มีมาขอถ่ายแฟชั่นบ้าง ก็เลยตัดสินใจปิดธุรกิจคาร์แคร์ และตอนนั้นร้านเสื้อผ้าที่สยามกำลังหมดสัญญา ก็เลยย้ายร้านเสื้อผ้ากลับมาแทนที่คาร์แคร์ กลายเป็นที่ดินเกือบไร่ที่มีทั้งร้านเสื้อผ้า ร้านเบอร์เกอร์ มีบาร์ด้วย
แต่ Buddy Boy’s ที่เรานั่งสัมภาษณ์กันอยู่มันคนละที่กับที่บอกไว้ในเพจร้าน
ใช่ อันนั้นเป็นร้านเดิม เพราะเข้าปีที่ 3 เจ้าของที่โทรมาบอกว่าจะไม่ต่อสัญญาเช่าที่แล้ว เฟลมาก ลงทุนไปก็ค่อนข้างเยอะ เราค่อย ๆ ลงทุนมาเรื่อย ๆ เมื่อร้านดีก็ทำเพิ่ม ปีสุดท้ายคือปีที่ 3 คือปีที่อยู่ตัวแล้ว กำลังคิดว่าจะอยู่เก็บเงินจากตรงนี้สักสองปี พอร้านต้องปิด เราก็ยังรู้สึกว่าต้องทำต่อ เพราะถ้าเลิกก็ต้องกลับไปทำงานที่บ้านเหมือนเดิม จนมาเจอที่ตรงนี้ (ร้านปัจจุบัน) ถนนเปิดใหม่ อาจจะดูเงียบ ๆ แต่เราชอบบุกเบิก เราไม่ชอบวิ่งเข้าหาความเจริญในเมืองแล้วต้องไปแข่งขันกัน
ทั้งสามร้านเป็นธุรกิจคนละประเภทกันเลย ไปเอาไอเดียทำธุรกิจมาจากไหนเยอะแยะ
เวลาขึ้นรถไปกับพ่อตอนเด็ก พ่อจะเปิดวิทยุฟังอาจารย์วีระ แกจะพูดให้คำปรึกษาเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องหุ้น มันคงไปฝังอยู่ในซีรีบรัมสักส่วนมั้ง (หัวเราะ) ส่วนตัวเราชอบหาแรงบันดาลใจตลอด เวลาไปญี่ปุ่น เราก็ไปดูเทรนด์ของเขา ดูวิธีคิด ไปดูงานดนตรี ไปนั่งตามร้านต่าง ๆ ไปไหนเราก็คิดตลอด ชอบเก็บรายละเอียด แค่ไปนั่งร้านก๋วยเตี๋ยวเราก็คิดแล้วว่า เขาต้องตื่นกี่โมงวะ ต้องเตรียมอะไรบ้าง
เท่าที่ฟังมาเหมือนว่าคิดเตรียมตัวออกมาทำธุรกิจตั้งแต่แรกแล้ว
จริง ๆ เราก็ไม่ได้คิดเตรียมตัวมาก่อนนะ ตอนเด็ก ๆ เราไม่เคยคิดเลยว่าจะเล่นดนตรีเป็นอาชีพ เราเล่นเพราะเราชอบ เราก็ไม่คิดหรอกว่าวันหนึ่งจะมีอัลบั้ม ไม่คิดว่าจะได้เล่นคอนเสิร์ต 350 ครั้งในหนึ่งปี ฟังแล้วทุกอย่างมันดูโอเค แต่ตลอดการเล่นในปีนั้น เรากลับไม่เคยคิดว่าสิ่ง ๆ นี้จะเลี้ยงดูเราไปได้จนแก่ ถ้าเป็นนักดนตรีรุ่นพี่ ๆ เรา ถ้าได้ออกอัลบั้ม มีออกงานเรื่อย ๆ เขาอยู่ได้ เพราะรายได้สมัยนั้นยังสูงกว่าทุกวันนี้เยอะมาก แต่พี่ ๆ เขาก็มีธุรกิจส่วนตัวกันแทบทุกคน โดยที่เขาก็ไม่ได้เลิกเล่นดนตรี เราเห็นแล้วเราก็คิดอยู่ตลอดว่าวันหนึ่งเราจะมีธุรกิจส่วนตัวบ้าง
แต่ตอนนี้ธุรกิจดีแล้ว ทำไมยังเล่นดนตรีอยู่
อาจจะยกเว้นการเล่นดนตรีที่เราไม่ได้มองว่าเราเล่นเพื่อหารายได้ การเล่นดนตรีคือการบำบัดของเรา เวลาเครียดก็จะมาเล่นดนตรี อยากใช้ดนตรีพิสูจน์อะไรบางอย่าง พิสูจน์สิ่งที่เราอยากทำแต่ไม่ได้รับการตอบรับตอนอยู่โปเตโต้ เราอยากทำดนตรีอินดี้ ซึ่งพอได้มาทำวง The 10th Saturdayมันรู้สึกดีมาก เป็นอิสระ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ทุกคนในวงก็ต่างมีวงอื่นหรืองานอื่นนะ แต่ทุกคนกลับมีความสุขและยินดีที่จะมาเล่นดนตรีกับวงนี้ เราอาจไม่ได้มีเพลงที่ดีที่สุด แต่เราเป็นวงที่นักดนตรีมีความสุขที่สุด
การทำงานของทั้งสองวงแตกต่างกันอย่างไร
ต่างกันฟ้ากับดิน (หัวเราะ) เราต้องทำงานเองทุกอย่าง การวางแผนการตลาดเราก็ทำเอง อย่างตอนนี้เราก็รู้กันอยู่ว่าคนไม่ค่อยเสียเงินซื้อเพลงมาฟังกันแล้ว แต่คนซื้อเสื้อผ้าตัวละสองสามพันได้ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ล่าสุด The 10th Saturday ทำผ้าเช็ดหน้าแบบงานคราฟต์ให้คนมาซื้อ เพื่อที่จะได้หาเงินไปทำเพลงกันต่อ เรายังคิดอยู่เลยว่า เราอาจจะทำงานคราฟต์แบบนี้ขาย แล้วแถมแผ่นเพลงไปให้เขาฟัง เขาจะฟังหรือไม่ฟังไม่รู้ แต่เขาซื้อของเรา เรามีรายได้ไปทำเพลงต่อ แล้วสิ่งนี้ถูกพิสูจน์แล้วว่ามันทำได้จริง เราอยู่รอด ในขณะที่ค่ายใหญ่ ๆ เขาไม่เข้าใจการทำงานแบบนี้
แล้วตอนอยู่โปเตโต้ไม่สนุกเหรอ
สนุก แต่ก็สนุกจนชิน ตอนนั้นเราเล่นคอนเสิร์ตเยอะเกินไป แต่ก็ต้องทำ เราต้องลุย เอางานออกไปโชว์เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเราเล่นดนตรีได้ ไม่ได้เป็นบอยแบนด์เหมือนที่คนสมัยนั้นมองโปเตโต้ (หัวเราะ)
ความสนุกเปลี่ยนไปมากแค่ไหนจากคนเล่นดนตรีมาทำธุรกิจ
มันเปลี่ยนไปนะ เราก็ไม่รู้ว่านักดนตรีคนอื่นเขาอาจจะชอบการเล่นคอนเสิร์ต เราก็ชอบเล่นดนตรีนะ แต่สิ่งที่เราทำตอนนี้เราก็ชอบเหมือนกัน ก็แค่เปลี่ยนจากที่เราต้องเอนเตอร์เทนคนดูหน้าเวทีมาเป็นดูแลลูกค้าที่มาร้าน ก็สนุกไปอีกแบบ
นิยามอาชีพตัวเองตอนนี้ว่าอะไร
(หยุดคิด) เป็นคนประกอบอาชีพด้วยการใช้ชีวิต การใช้ชีวิตของเราคืออาชีพ เราตั้งใจให้มันเป็นแบบนี้ เราไม่ได้ฟลุค ไม่ได้บังเอิญ เราก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด บาดแผลเยอะ แต่เราไม่เคยเอาบาดแผลมากองไว้ข้างหน้า
เพราะมีลูกหรือเปล่าความคิดถึงเปลี่ยนไปขนาดนี้
ใช่ มีส่วนเลย คือเราก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม แต่มีสิ่งที่เพิ่มเข้ามา มีภาระมากขึ้น ต้องไม่ประมาท ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นได้น้อยลง แต่ก่อนจะชอบไปดูคอนเสิร์ตกับแฟน เดี๋ยวนี้ต้องผลัดกันไป จริง ๆ ก็อยากมีลูกตั้งแต่ตอนเพิ่งออกจากโปเตโต้ใหม่ ๆ เราอยากให้เขาเกิดทันตอนที่เรายังวัยรุ่นอยู่ ตอนนี้ 5 ขวบทั้งคู่ เคยอ่านมาว่าเด็กช่วงอายุ 5 ขวบเป็นช่วงที่กำลังเริ่มจดจำอะไรได้ เวลาเราจะทำอะไรเราจะบอกเขาตลอด เราอยากให้เขาได้เห็นในช่วงที่เรากำลังสร้าง กำลังเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ว่าเขาโตขึ้นมาเห็นเราสำเร็จแล้ว ซึ่งเขาจะไม่รู้เลยว่าตอนเราสร้างขึ้นมาเป็นอย่างไร
มีวิธีเลี้ยงลูกยังไง
เราอยากให้เขาชอบในสิ่งที่เราเป็น ให้รู้ว่าเราชอบอะไร ให้รู้ว่าบ้านเราเป็นแบบนี้ อาชีพเราเป็นแบบนี้ อาจจะประหลาดกว่าพ่อแม่เพื่อนที่โรงเรียนนะ เราชอบพาเขาไปด้วยแทบทุกที่ พาไปตั้งแคมป์ต่างจังหวัดแทบทุกเดือน เราอยากให้เขาทนอากาศร้อนได้ ทนยุงกัดได้ ไม่ค่อยอยากสปอยล์เขาเท่าไหร่ เพราะถ้าวันหนึ่งเรากับแฟนตายไป เขาจะอยู่ยังไงถ้าเราเลี้ยงแบบป้องกันทุกอย่าง
เพราะโดนเลี้ยงมาแบบนี้ด้วยหรือเปล่า
คล้าย ๆ นะ แม่เราเป็นคนดุ เขาจะคอยจัดการให้ทุกอย่าง พอโตมาเราเลยรู้ว่าเราทำอะไรไม่เป็นหลายอย่าง เราใส่ถุงเท้าเป็นตอนโตมากแล้ว เรารู้สึกเป็นปมด้อย อายเพื่อนมาก พอลูกเราสามขวบ กล้ามเนื้อเริ่มจับอะไรได้แล้ว เราสอนใส่ถุงเท้าก่อนเลย (หัวเราะ)
น้อง ๆ เป็นเด็กแบบไหน
เป็นตัวของตัวเองสูงตั้งแต่เด็ก อาจเป็นเพราะเราพยายามให้เขากล้าแสดงออก ชอบเล่นดนตรี เริ่มเล่นได้บ้างโดยที่เราก็ไม่ได้สอนเขานะ อาศัยเปิดเพลงให้ฟัง เราคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่ควรไปบังคับหรือจับไปเรียน ต้องเริ่มจากความชอบก่อน เพราะถ้าไม่ชอบ สุดท้ายเด็กจะเกลียด เคยเห็นเด็กไปเรียนเปียโน แค่ดูหน้าเขาก็ไม่มีความสุขแล้ว มีแต่แม่ที่ยิ้มภูมิใจโดยไม่รู้อะไร สรุปแล้วมันเป็นความสุขของใครกันแน่ก็ไม่รู้
เราอยากปลูกจิตสำนึกลูกว่า ชีวิตมันไม่ได้สวยงาม เราจะบอกเขาว่าเบอร์เกอร์ร้านเราชิ้นละ 300 บาท เวลาที่เขาอยากได้ของเล่น เขาจะถามเราว่า อันนี้ซื้อได้หรือเปล่า เราก็จะบอกถ้าอยากได้ก็ต้องมาช่วยทำงานก่อน หรือต้องขายเบอร์เกอร์กี่ชิ้นถึงจะได้ของเล่นที่เขาอยากได้
เด็กยุคนี้เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี มีวิธีแนะนำลูกหรือทำความเข้าใจกับลูกยังไง
เรามองว่าไม่จำเป็นต้องห้ามเล่น เพราะตอนเราเด็ก ๆ อะไรที่พ่อแม่ห้ามเราก็ทำหมด แต่มันก็ต้องมีลิมิตกันบ้าง เรามีตารางเวลาให้เขาเล่นเท่านั้นเท่านี้ พอดีว่าเขาเรียนอินเตอร์ เขาก็จะดูคลิปแคสเกมของฝรั่งรู้เรื่อง เล่นมายคราฟต์ ซึ่งเรามองว่าสิ่งพวกนี้มันก็มีประโยชน์ วันหนึ่งเขาอาจจะไปเป็นคนแคสเกมจนได้เงินก็ได้
พ่อแม่หรือคนอื่น ๆ มองวิธีการเลี้ยงลูกของคุณว่าแปลกมั้ย
ถ้าพ่อแม่คนอื่น ๆ ที่สนิทกัน เขาจะเห็นรูปเรากับลูกในไอจี เขามักจะบอกว่า มินกับมาร์ชดูเป็นเด็กที่สนุก เสาร์อาทิตย์เด็กคนอื่นไปเรียนว่ายน้ำ เรียนพิเศษนั่นนี่ แต่มินกับมาร์ชเข้าป่า ไปเทศกาลดนตรี คอนเสิร์ต หรือ flee market เราไปเล่นดนตรี เอาเสื้อผ้าไปขาย ไปเปิดบูธเบอร์เกอร์ เขาจะเห็นภาพเราทำงานอยู่ตลอด แต่กลับกันพอเรามองลูกคนอื่น เราก็แอบอยากให้ลูกอยู่สบาย ๆ บ้าง มนุษย์ขี้เหม็นก็แบบนี้แหละ ไม่ชอบในสิ่งที่ตัวเองมี (หัวเราะ)
แต่พ่อแม่บางคนไม่ค่อยพูดกับลูกเรื่องการทำงาน
เราอยากปลูกจิตสำนึกลูกว่า ชีวิตมันไม่ได้สวยงาม เราจะบอกเขาว่าเบอร์เกอร์ร้านเราชิ้นละ 300 บาท เวลาที่เขาอยากได้ของเล่น เขาจะถามเราว่า อันนี้ซื้อได้หรือเปล่า เราก็จะบอกถ้าอยากได้ก็ต้องมาช่วยทำงานก่อน หรือต้องขายกี่ชิ้นถึงจะได้ของเล่นที่เขาอยากได้ ถ้าเราบอกต้องขายสี่ชิ้นถึงจะได้ของเล่น เขาก็จะคิดแล้วว่า 4 ชิ้นนี่เยอะมั้ย เพราะเขาเห็นเราขายว่ากว่าจะได้แต่ละชิ้นมันยากขนาดไหน เด็กไม่รู้หรอกว่าอะไรถูกหรือแพง แต่ถ้าเรามีสมการให้ เขาจะเห็นชัดขึ้น
เด็ก ๆ จำเป็นต้องรู้ขนาดนั้น
เรามองว่าเป็นการแชร์เรื่องราวมากกว่า เราไม่ถึงกับให้เขามาช่วยทำงานหรอก อาจจะมีแค่เวลาคนมาสัมภาษณ์แล้วขอถ่ายรูปเขาด้วย เราก็จะบอกว่าต้องทำงานก่อนนะ สิ่งที่เขามักจะช่วยคือ สวดมนต์ขอพรก่อนนอนว่า ขอให้บัดดี้บอยขายดี ๆ (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ที่เขาทำแบบนั้นเพราะเขาอยากได้ของเล่น อยากไปเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งมันก็ดีกว่าที่เขาเดินมาบอกว่าอยากไปญี่ปุ่นโดยที่เขาไม่ได้รู้สึกต้องพยายามไปด้วยกัน เราปลูกจิตสำนึกเขาแบบนี้ เขาจะได้รู้คุณค่าของเงิน เวลาเราเครียด ขายไม่ดี เราก็บอกเขาว่าขายไม่ดีเลย ไปไหว้พระกัน เขาก็จะถามกลับว่าทำไมขายไม่ดีล่ะ เบอร์เกอร์เราไม่อร่อยเหรอ เขาจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจเราไม่สน แต่เขาควรรับรู้
ตามงานเทศกาลดนตรีที่พาลูกไปด้วย ก็น่าจะต้องมีภาพคนสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ลูกเคยมีคำถามต่อสิ่งพวกนี้มั้ย
มี ไม่ต้องไปถึงเทศกาลดนตรีด้วยซ้ำ เพราะลูกเรามีเพื่อนพ่อเป็นเพื่อนเล่น เวลาปิดเทอมเพื่อน ๆ ในห้องเขาก็จะนัดกันไปเที่ยวหลาย ๆ ครอบครัว ส่วนลูกเราเที่ยวกับเพื่อนพ่อ (หัวเราะ) หรืออย่างพ่อของเราก็กินเบียร์ทุกวัน เขาก็จะเห็นว่าเวลาปู่กินเบียร์ก็จะโวยวาย หรือรุ่นพี่เราสูบบุหรี่ เสียงจะแหบ ๆ หน่อย เวลาเจอหน้ากันเขาก็จะพูดว่า เมื่อไหร่จะเลิกสูบบุหรี่ เสียงแหบแล้วนะ แล้วเขาก็จะทำเสียงแหบล้อเลียน เรามองว่าเรื่องพวกนี้มันปิดบังไม่ได้หรอก แต่เราต้องทำให้เขาแยกแยะว่าอะไรดีไม่ดี แค่นี้ก็โอเคแล้ว ถ้าเราไม่มีเหตุผลไปบอกเขาว่าทำไมสิ่งนี้ดีหรือไม่ดี เขาก็จะไม่เข้าใจ แล้ววันหนึ่งเขาไปลองเอง มันจะแย่กว่า พ่อแม่ต้องใจกล้าที่จะบอกลูก ปกปิดมันไม่มีประโยชน์ อย่างน้อยตอนนี้เขาเห็นแล้วว่าปู่กินเบียร์แล้วโวยวาย เขาก็ไม่ชอบ มันมีผลลัพธ์ให้เขาเห็นแล้ว
เลี้ยงลูกแบบลุย ๆ แบบนี้ มีความกลัวอะไรบ้างมั้ย
มี กลัวเรื่องที่ป้องกันได้แต่ไม่ได้ทำ กลัวอุบัติเหตุ คือเราไม่อยากมาพูดคำว่า “รู้งี้…” ถ้าอะไรที่เราป้องกันได้เราก็ควรทำ เราพาลูกไปตะลุยที่นั่นที่นี่แต่เราก็ต้องเซฟเขาด้วย
อยากให้ลูกโตขึ้นมาเป็นคนแบบไหน
แค่คิดบวกก็พอ เราก็ไม่ใช่คนดีมาก แต่ที่เราผ่านมาถึงจุดนี้ได้เพราะเราคิดบวก เราก็อยากฝังความคิดแบบนี้ให้เขามาก ๆ เพราะเราเชื่อว่าร่างกายเหนื่อยได้ แต่ใจเหนื่อยแล้วมันจะทำอะไรได้ยาก ส่วนเรื่องว่าเขาจะชอบ จะมีความสุขกับอะไร ก็แล้วแต่เขา มีเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าลูกของเขาอายุ 10 ขวบเป็นตุ๊ด เพื่อนมันก็เครียด เรามานั่งถามตัวเองว่า ถ้าลูกเราเป็นบ้างล่ะ เราก็คงช็อกประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเขาเป็นแล้วเขามีความสุข มันก็โอเคไม่ใช่เหรอ เพราะสิ่งที่เราพยายามมอบให้เขามาตั้งแต่เด็กก็เพื่ออยากให้เขามีความสุขไม่ใช่เหรอ เราต้องยอมรับให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะกลายเป็นพ่อแม่ที่เห็นแก่ความสุขตัวเองมากกว่า
ยังมีแพลนที่จะทำธุรกิจอะไรอีกมั้ย
ทำรีสอร์ตต่างจังหวัด อยากอยู่ระยอง เพราะเราโตที่ระยอง หรือไม่ก็เชียงใหม่ ถ้าทุกอย่างมันพร้อมแล้ว เราอาจจะย้ายไปทั้งหมดเลยก็ได้ เราไม่ชอบอยู่กรุงเทพฯ เท่าไหร่ เราไม่ได้เบื่อกรุงเทพฯ นะ แต่เราเบื่อรถติด เราเบื่อชีวิตมนุษย์เมือง ถ้าเราเลือกได้ เราก็ไปอยู่ที่อื่นมากกว่า เวลาไปเล่นงานที่ไหนแล้วต้องขึ้นรถไฟฟ้า คนเบียดกันแบบนรกแตก แค่วันเดียวที่เราเข้าเมืองไปทำงานเรายังเบื่อเลย เราว่าชีวิตแบบนี้มันบั่นทอนจิตใจ แล้วก็อยากเล่นดนตรีเยอะขึ้น อยากทำอัลบั้มกับ The 10th Saturdayตอนนี้ก็ทำ Ep. อยู่ อีกไม่นานก็คงได้ฟังกัน