กอล์ฟ Superbaker
- Writer: Teeraphat Janejai
- Photographer: Chavit Mayot
ไม่ท้อเลย ถึงท้อก็แค่แปปเดียว เพราะบ้านเราก็ไม่ได้มีฐานะที่ดี เราจึงไม่มีเวลาที่จะมาเวิ่นเว้ออะไร
ปกติแล้วในคอลัมน์เห็ดนอกใจจะว่าด้วยเรื่องราวนอกเวลาทำการของศิลปินนักดนตรี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเรื่องราวล้านแปดที่คุณผู้อ่าน (รวมทั้งพวกเราด้วย) ไม่เคยรู้มาก่อนว่านอกจากการเล่นดนตรีแล้วพวกเขาประกอบอาชีพอื่น ๆ หรือมีงานอดิเรกอะไรกันบ้าง
แต่ฉบับนี้เรียกได้ว่าไปไม่ไกลจากเรื่องดนตรีสักเท่าไหร่ เพราะนอกจากกีตาร์และไมโครโฟนที่เขาใช้บนเวทีในฐานะฟรอนต์แมนของวงป๊อปอบอุ่นละมุนจากเตาอย่าง Superbaker และวงร็อกเดือดนาม Starfish แล้ว ปากกาก็เป็นอีกสิ่งที่เขาเลือกจับอย่างบรรจงและจรดลงบนกระดาษเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวมาตั้งแต่วัยประถม จนกลายเป็นเพลงฮิตติดปากอย่าง บ้านของหัวใจ เขิน และ ความรัก และยังมีเพลงที่แต่งให้ศิลปินคนอื่น ๆ อีกมากมาย มากไปกว่านั้น ปัจจุบันเขาผันตัวมาเป็นอาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชาการแต่งเพลงอีกด้วย เขาคือ กอล์ฟ— ประภพ ชมถาวร
กว่าจะมาเป็นนักแต่งเพลง และกว่าจะได้เพลง easy pop ที่อบอวลไปด้วยความรัก เรารู้ว่ามันไม่ easy นักหรอก เพราะมันคงต้องใช้พลังอันร้อนแรงเพื่อจะทำให้เนื้อเพลงนั้นแข็งแรง ในขณะที่ต้องควบคุมความร้อนให้อยู่ในระดับอบอุ่นใจที่ใครได้ฟังก็ต้องอมยิ้ม และเขาก็เป็นนักแต่งเพลงอีกคนหนึ่งที่ทำได้เช่นนั้น
จุดเริ่มต้นของการแต่งเพลง
เริ่มเขียนเพลงมาตั้งแต่สมัยประถมแล้ว ช่วงนั้นเราสนใจและเริ่มเขียนคำต่าง ๆ ก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร แต่เราจะแต่งกลอนเก่ง เราทำได้เร็ว และก็เป็นที่พึ่งของเพื่อน ๆ และตอนป.2 เราดูรายการสัมภาษณ์พี่แอม เสาวลักษณ์ เกี่ยวกับการเป็นนักแต่งเพลง ทำให้เราสนใจ เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีงานแบบนี้ด้วย หลังจากนั้นก็เริ่มเขียนเล่น ๆ ให้พ่อแม่อ่าน แต่ก็ไม่ได้มีแก่นสารอะไร เขียนมาเรื่อย ๆ พอเข้าม.ปลาย เพื่อนก็จะซื้อหนังสือเพลงมาแกะเพลงเล่นกีตาร์กัน แต่ผมชอบดูว่าใครเป็นคนแต่งเพลงจนมันกลายเป็นนิสัยไปแล้ว ยิ่งพอเราเริ่มจับทางได้ว่าลายเซ็นของนักแต่งเพลงคนนี้เป็นอย่างไร ก็ทำให้เราเริ่มอินกับพลังของถ้อยคำ ตัวเราเองก็มีความมั่นใจในเรื่องการใช้ภาษาระดับหนึ่ง ก็คิดว่าเราเองก็น่าจะแต่งเพลงได้
นานแค่ไหนกว่าจะได้แต่งเพลงเป็นอาชีพ
ต้องย้อนกลับไปว่า ก่อนที่จะเริ่มงานแต่งเพลงและทำวง Superbaker เราทำงานประจำด้านนิเทศศาสตร์ตามที่เรียนมา ก็ถือเป็นความฝันคู่ขนานกันไป แรกเริ่มเราก็เสนอตัวกับค่ายเพลง ซึ่งตอนนั้นเป็นยุคที่อัลเทอร์เนทีฟกำลังมาพอดี เราก็ได้เขียนเพลงให้กับค่าย Ursa Major มีศิลปินอย่าง เก่ง ธัญลักษณ์ เจ้าของอัลบั้ม ไปโรงเรียน แล้วก็ย้ายเข้าไปทำงานประจำที่ค่าย Ursa Inter หลังจากน้ันก็ลองไปเสนองานที่ Sony music เพราะเราชอบพี่ป้าง นครินทร์ เขาถือเป็น singer – songwriter ที่เก่ง เราก็ได้เขียนเพลงให้ซาร่า ผุงประเสริฐ แต่เป็นเพลงหน้า B นะ (หัวเราะ) แล้วก็ได้ไปเจอพี่โป โปษยะนุกูล นักแต่งเพลงที่เก่งมากอีกคนหนึ่ง ตอนนั้นเราเสนอทั้งงานแต่งเพลงและก็เดโม่เพลงของเราเอง ก็ทำให้เราได้จ๊อบมาเรื่อย ๆ
แต่ที่เริ่มทำเป็นอาชีพจริง ๆ ก็น่าจะสักอายุ 26 ตอนเข้ามาทำที่ Smallroom อันที่จริงผมเข้าไปเสนอเดโม่แต่ไม่ผ่าน ที่ผ่านคือเสียงร้อง กับ สกิลเขียนเพลงของเรา ตอนนั้นเขาก็แค่จำหน้าเราไว้เรียกใช้ จนกระทั่ง Smallroom จะทำวง Armchair ชุดที่สอง อัลบั้ม Design ชุดที่มีเพลง รึเปล่า แล้วเขาต้องการทีมที่มาร่วมกันแต่งเพลง ผมก็โดนเรียกตัวมา นั่นเป็นจุดที่ได้เริ่มเขียนเพลงจริงจัง หลังจากนั้นเราก็ได้เป็นคนดูแลเนื้อเพลงที่ Smallroom มาตลอด แต่ไม่ได้เขียนทุกเพลงนะ เพราะบางวงเขาก็เขียนเพลงกันเอง เราแค่ช่วยดู ตบ ๆ ให้เข้าที่
ก็ถือว่าใช้เวลาระยะหนึ่งหลังเรียนจบกว่าเพลงที่แต่งจะถูกเลือกใช้งานจริง ระหว่างนั้นท้อไหม
ไม่ท้อเลย ถึงท้อก็แค่แปปเดียว เพราะบ้านเราก็ไม่ได้มีฐานะที่ดี เราจึงไม่มีเวลาที่จะมาเวิ่นเว้ออะไร ทางออกเดียวของเราคือต้องทำงาน ก็คิดแค่ว่าถ้าเราตั้งใจและรักในสิ่งนี้ มันก็ควรจะตอบแทนอะไรเราสักอย่างในวันหนึ่ง มีคำคมของฝรั่งอยู่ประโยคหนึ่งว่า ‘ชีวิตคนเราเริ่มต้นตอนอายุ 40 ปี’ ซึ่งเราเห็นด้วยมาก ๆ กับการเขียนเนื้อเพลง เพราะกว่าจะเขียนคำได้ดีมันก็ต้องพึ่งพาประสบการณ์ การมองโลก ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมาพอสมควร เราต้องสรุปความคิดของเราให้ดีก่อนถึงจะสื่อสารได้ชัดเจน ก็มีบางคนทำได้ตั้งแต่อายุยังน้อยอย่างพี่ป๊อด Moderndog แต่เราอยู่ในกลุ่มที่ทำได้ช้า เพราะเราก็ไม่กล้าที่จะมั่นใจว่าก้อนความคิดนี้มันดีแล้วหรือยัง เราก็ต้องสะสมวัตถุดิบอยู่เรื่อย ๆ
ความยากง่ายของการแต่งเพลง
จนถึงทุกวันนี้เราว่ามันก็ยังยากอยู่ เพราะเราต้องเลี่ยงเรื่องการพูดซ้ำ ถ้าเรื่องซ้ำก็ต้องหามุมใหม่ ๆ สารภาพเลยว่าถึงเราจะมั่นใจเรื่องการแต่งเพลง แต่ก็ยังไม่มั่นใจพอที่จะแต่งเพลงให้คนอื่น เพราะว่าเราเชื่อเรื่องความหลากหลาย เวลาเราพูดกับเพื่อน พูดเรื่องเดียวกัน เรายังสื่อสารหรือใช้ภาษาไม่เหมือนกันเลย ถ้าเราไม่เก่งพอ เนื้อเพลงจะออกมาเป็นภาษาของเรา ซึ่งเราไม่อยากเอาตัวตนไปครอบใคร แต่ถามว่ามันไม่ดีหรือเปล่า ก็ไม่เชิง เราแค่ไม่มีความสุขเท่าไหร่ คิดว่าถ้าเขาได้ร้องด้วยภาษาของเขาเองน่าจะดีกว่า
แต่งเพลงให้ตัวเองกับแต่งให้คนอื่นมันแตกต่างกันขนาดนั้นเลย
แตกต่างกันมาก เราเชื่อว่าความมหัศจรรย์ของมนุษย์คือความหลากหลาย เราอินเรื่องนี้มาก พออินเรื่องนี้ ก็ทำให้การแต่งเพลงให้คนอื่นเริ่มไม่สนุกแล้ว เราเคยประกาศไปด้วยซ้ำว่า เราไม่อยากเขียนเพลงให้ใครแล้ว ยิ่งถ้าเป็นวงดนตรี ก็อยากให้นักร้องลองแต่งเองดีกว่า พูดไปก็เหมือนกระแดะ แต่เรารู้สึกแบบนั้นจริง ๆ ทุกวงควรจะเขียนเอง ถ้าไม่เขียนเองแล้วเมื่อไหร่จะเขียนได้ อย่างน้อยลองคิดมาก่อน ถ้าตันจริง ๆ ก็พอช่วยได้ เราอาจจะคิดคำเสนอไป 5 คำ แล้วให้เขาไปเลือกเอง อย่าง อู๋ The Yers เขาเป็นคนเก่งมาก เขาคิดทุกอย่างมาหมดแล้ว แต่อาจจะติดแค่คำบางคำนิดหน่อย ซึ่งก็เกิดขึ้นได้เพราะเขาอาจจะใกล้ชิดกับเพลงตัวเองมากไป จนมองไม่เห็นภาพรวมใหญ่ ๆ เขาก็เลยต้องการอีกมุมหนึ่ง ซึ่งแบบนี้ผมช่วยได้
การที่แต่งเพลงให้ศิลปินคนอื่นแล้วยังคงเอกลักษณ์ของเราไว้มันน่าจะส่งผลดีไม่ใช่หรือ
คนอื่นอาจจะอยากให้เป็นแบบนั้น แต่สำหรับเราไม่โอเค เราคิดว่าการทำแบบนี้จะส่งผลให้บ้านเรามีเพลงไม่หลากหลาย มีศิลปินบางคนที่เขียนเพลงไม่ได้จริง ๆ เพราะเขาโฟกัสที่การร้อง ผมก็เข้าใจ แต่คุณเขียนมามากพอแล้วหรือยังถึงบอกว่าตัวเองเขียนไม่ได้ ซึ่งถ้าพยายามจนทำได้มันจะเสริมความมั่นใจให้ตัวเขาเอง คนอาจจะว่าพูดว่า ใช่สิ แกก็พูดง่ายสิ แกเขียนได้ แต่ผมก็อยากบอกว่า ตอนผมไปสอนนักศึกษา บางคนจากที่เขียนไม่ได้ก็เขียนได้ดีเมื่อเจอเรื่องราวที่ตรงกับชีวิตเขา แบบนี้ก็แปลว่าไม่ใช่พรสวรรค์แล้ว แค่เราต้องเจอเรื่องที่พอดีกับร่องความคิดของเรา และฝึกฝนอีกหน่อย เรารู้สึกว่าประเทศนี้งานสร้างสรรค์มันยังไม่หลากหลายพอ เมื่อไม่หลากหลายพอมันก็ผูกขาด พอผูกขาดมันก็ไม่สนุก ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ฟังใจก็จะไม่เกิดขึ้น
ในฐานะที่อยู่ในวงการแต่งเพลง มองเห็นลายเซ็นของนักแต่งเพลงคนอื่น ๆ บ้างไหม?
เห็นนะ กลิ่นมันแรง (หัวเราะ) อย่างพี่บอย ตรัย เขาเขียนเพลงไหนออกมาผมฟังแล้วก็พอจะรู้นะ เขาจะมีชุดคำ มีชั้นเชิงเฉพาะตัวอยู่ อาจจะมีคำว่า ‘ไม่ไหว’ ในเพลง หรืออาจจะมีการเปรียบเปรย มันช่างแบบนั้นแบบนี้ ถ้าพี่เล็ก Greasy Cafe แต่งให้ใคร ก็อาจจะมีเรื่องลมฟ้าอากาศ สีดำ อยู่ในเนื้อเพลง ถ้าสแตมป์ อภิวัชร์ ก็จะเป็นคนครีเอทีฟมาก มีคำคล้องจองแบบโคตรคล้องจอง
ถ้าไม่รู้ทฤษฎีดนตรีจะแต่งเพลงได้หรือเปล่า
พี่เชาวเลข สร่างทุกข์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Smallroom เขาเป็นนักแต่งเพลงจาก Bakery Music ซึ่งร้องเพลงไม่ตรงคีย์ แต่เขามีเซนส์ที่รู้ว่าโน้ตตัวนี้จะเข้ากับคำไหน ก็คงสรุปได้ประมาณนึงว่า ไม่จำเป็น แต่ควรจะมีประสาททางหูที่ดี คือมันมีหลายวิธีที่จะแต่งเพลง ถ้าเราเป็นคนที่มีภาพในหัวที่ชัดเจน เราก็แค่จับคู่กับคนที่เซนส์ดี หาคนเล่นกีตาร์ได้
เนื้อเพลงที่ดี
คงเป็นเนื้อเพลงที่คนแต่งไม่หลอกตัวเองว่า มันโอเคแล้ว แต่งได้ดั่งใจแล้ว มันควรจะเป็นเพลงที่ถ่ายทอดความรู้สึกของเราออกมาได้เป๊ะ ๆ ถ้าได้แบบนี้ก็ถือว่าโอเค มันจะเป็นเพลงที่มีความงามอยู่ในตัว อย่ามัวแต่ไปเกร็งว่าคนจะชอบมั้ย ผมว่ายุคนี้มันควรจะเลิกคิดแบบนี้ได้แล้ว มันควรเป็นเพลงที่เราแต่งออกมาเหมือนต่อตรงจากกระดูกสันหลังของเรา แล้วเดี๋ยวคนที่เป็นแบบเรา รู้สึกแบบเรา ก็จะชอบมันเอง
แต่งเพลงรักมาหลายเพลง เอาเรื่องราวมาจากไหน
แปลกมากที่เพลงรักส่วนใหญ่ของ Superbaker ไม่ได้มาจากเรื่องราวส่วนตัวของเราเลย เราอยากแต่งเพลงที่ทำให้คนรู้สึกจี๊ดเหมือนที่เราเป็นเมื่อได้ดูหนังที่ดี ฟังเพลงที่ดี เรามีผู้กำกับภาพยนตร์ในดวงใจคนหนึ่งชื่อ Richard Curtis เขาเป็นผู้กำกับสายโรแมนติกคอเมดี้ของประเทศอังกฤษ เขาทำเรื่อง ‘Nothing Hill’ กับ ‘Love actually’ มันก็แปลกดีที่ต่อให้เรารู้ว่าเดี๋ยวมันต้องคืนดีกัน แต่เราก็ยังอยากดูระหว่างทาง แถมพอเราดูจบก็ยังน้ำตารื้น มันจี๊ด ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้ตรงกับชีวิตความรักของเรา แต่มันทำให้คนมีความสุข ทำให้คนรู้สึกว่าความรู้สึกแบบรักครั้งแรกที่ทำให้หัวใจพองโตยังคงต้องมีอยู่ในชีวิตเรา เราก็เลยเลือกเรื่องที่น่าจะทำให้คนมีความสุข มันไม่ได้เฟค มันเป็นเรื่องที่เราเชื่อจริง ๆ อย่างหนังเรื่อง Love Actually ในฉากแรกบรรยายถึงบรรยากาศในสนามบินประมาณว่า คนที่มาส่งกันก็มีแต่คนรักกันเท่านั้น หรืออย่างตอนที่เครื่องบินจะชนตึกเวิล์ดเทรด ตอนนั้นทุกคนก็คงโทรหาแต่คนที่รัก ไม่มีใครโทรหาคนที่เกลียดหรอก ความรักมันดีนะ เราขนลุกเลย มันเป็นเรื่องที่จริงมาก เราอยากให้เพลงของ Superbaker ทำหน้าที่ได้แบบนี้ ส่งต่อความรักให้กับทุกคนด้วยความปรารถนาดีโดยไม่ต้องยัดเยียด
เพลงที่ภูมิใจ
เราขอเลือกเพลง ความรัก มันไม่ใช่เพลงที่เพราะที่สุด แต่เนื้อหามันครอบคลุมคนทั้งหมด มันอันตรายมากที่ตั้งชื่อเพลงด้วยคำนี้ แต่มันก็เริ่มต้นจากที่เราสงสัยว่าทำไมคนถึงใช้ชื่อเพลงแบบนี้กันอยู่ได้ทั้ง Bodyslam, บอย โกสิยพงษ์ หรือ ออโต้บาห์น เราทำเพลงรักมาก็เยอะ แต่ก็ไม่เคยมีเพลงที่ใช้ชื่อเบสิกแบบนี้ พอจะทำเพลงนี้เราจึงต้องกลับไปเช็กว่ามีคนทำมุมไหนไปแล้วบ้าง อย่าง Bodyslam จะร้องว่า ‘เมื่อก่อนเคยรักมาเท่าไหร่ มันยังคงรักมากเท่านั้น’ อย่างออโต้บาห์น ‘รักคือคำ ๆ นี้ รักคือความอดทนทุกอย่าง’ ก็จะเป็นเชิงนิยามความหมาย เราก็เลยขุดคุ้ยเรื่องราวความรักที่คนเคยเล่าให้เราฟัง อย่างมีพี่คนหนึ่งชอบสาวที่เชียงใหม่ในยุคที่ยังไม่มีเครื่องบินโลว์คอส เขาก็นั่งรถทัวร์ไปหาทุกวันศุกร์ กลับมาวันจันทร์เพื่อมาทำงาน ผู้หญิงบางคนยอมให้แฟนเตะ ให้ซ้อมได้ เพราะว่ารัก เรื่องพวกนี้มันเขย่าเรามาก ๆ และเรื่องทั้งหมดมันเชื่อมโยงกันเพราะว่าเขารักคน ๆ นี้ เราอาจจะขี้เกียจชิบหายแต่เรายอมเดินทางไกลเพื่อไปหา ฝ่าดงตีนโรงเรียนคู่อริได้เพื่อมารอสาว บางคนอนามัยจัดเลยไม่ชอบนอนดึก แต่ก็ยอมรอจนดึกดื่นเพื่อคุยโทรศัพท์กับคนที่รัก จนกลายมาเป็นประเด็นว่า ความรักมันทำให้เราทำอะไรก็ได้ กลายเป็นเพลงที่รวมหลายเคส จากหลายวัย
เราต้องเจอเรื่องที่พอดีกับร่องความคิดของเรา และฝึกฝนอีกหน่อย เรารู้สึกว่าประเทศนี้งานสร้างสรรค์มันยังไม่หลากหลายพอ เมื่อไม่หลากหลายพอมันก็ผูกขาด พอผูกขาดมันก็ไม่สนุก
พอแต่งเพลงนาน ๆ เข้า ได้ถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตไปเยอะแล้ว มันมีจุดที่ตันหรือคิดไม่ออกบ้างไหม
ถ้าพึ่งพาสมองเราอย่างเดียวมันก็คงหมดนะ เราเองก็ต้องตุนวัตถุดิบไว้ด้วย ผมได้ยินมาว่า อะตอม ชนกันต์ เขียนเพลงมาตั้งแต่ม.ต้น และเขาจดบันทึกความคิดไว้เยอะมาก ซึ่งการเขียนบันทึกมันก็ช่วยแบ่งเบาภาระสมองไปได้เยอะ แต่เราไม่ค่อยจด ทริกของเราคือ ถ้าว่างเราจะเสพหนัง เพลง และศิลปะให้ได้มากที่สุด แต่ละคนก็คงมีวิธีที่เหมาะกับตัวเอง
คิดอย่างไรที่คนฟังเพลงไทยส่วนหนึ่งบอกว่าเพลงไทยไปไม่ไกลจากเรื่องความรักสักที
สุดท้ายแล้วเรื่องราวที่ถูกพูดถึงในเพลงมากที่สุดในโลกก็ยังเป็นเรื่องความรัก คนที่เขาเบื่อเพลงรัก ก็เป็นไปได้ว่าเขายังไม่เจอเพลงรักที่ชอบ หรือเขาอาจจะมีความสนใจในเรื่องอื่นมากกว่า อาจจะเป็นสังคม การเมือง ปรัชญา ซึ่งเรามองว่าแนวดนตรีที่ต่างกันก็เหมาะกับเรื่องราวต่างกัน เช่น เพลงร็อก ก็มักจะเป็นเรื่องการปลดปล่อย แสดงจุดยืน แสดงทัศนคติ หรือเพลงโฟล์คก็จะเป็นการเล่าเรื่องของศิลปิน คือถ้าไม่ชอบเพลงรักก็แค่ฟังเพลงแนวอื่น แค่นั้นเอง แต่ถ้าบอกว่าบ้านเรามีแต่เพลงรักอย่างเดียว ก็ต้องถามเขาว่าเขาฟังกี่วง คุณเลือกฟังอะไร เป้ อารักษ์ ก็ไม่ได้พูดเรื่องความรักในแบบเดิม ๆ อีกแล้ว เราก็เคยเจอเพลงรักที่ไม่ชอบ แต่มันก็ยังมีเพลงรักอีกหลายเพลงที่เขย่าความรู้สึกเราได้เหมือนกัน ซึ่งถ้าพวกเขาเจอเพลงรักเพลงนั้น เขาก็จะเลิกพูดเรื่องนี้
แล้วเพลงรักแบบไหนที่ไม่ชอบ
มันจะมีบางเพลงที่เรารู้สึกว่าคนแต่งไม่จริงใจกับเพลงเขาเอง บางเพลงก็ตั้งใจใช้คำที่จะทำให้คนอ่อนระทวย พูดง่าย ๆ ว่าเพลงที่มีกลยุทธ์บางอย่าง เราว่ามันไม่ดี แต่มันก็ไม่ผิดหรอกนะ และก็ไม่ใช่ว่าเพลงแมสจะไม่ดี หนังฮอลลีวูดก็ไม่ใช่ว่าจะแย่กว่าหนังอินดี้ หนังอินดี้บางทีก็พยายามเกินไป ในขณะที่หนังฮอลลีวูดถ้าอยู่ในมือคนที่เก่ง มันก็ดีได้ แต่อย่างที่บอกว่ามันก็ไม่ผิดหรอกที่จะแต่งเพลงโดยพยายามยัดคำที่มันจะติดหูคนเข้าไป เพราะคนส่วนใหญ่ก็ชอบ
ได้ยินมาว่าเป็นอาจารย์สอนแต่งเพลงด้วย
เป็นอาจารย์พิเศษสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล กับ มหาวิทยาลัยศิลปากร สอนเขียนเนื้อเพลงทั้งสองที่เลย จุดเริ่มต้นก็คือ อยากได้เงิน (หัวเราะ) เราไม่อยากเล่นผับแล้ว เพราะกลุ่มคนฟังของเราไม่ใช่คนเที่ยวด้วย แล้วเราก็ไม่ค่อยถนัดเอนเตอร์เทนเท่าไหร่ พอไม่รับงานแบบนี้ ก็เลยมานั่งคิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง ซึ่งสิ่งที่ทำได้ดีก็คงเป็นการแชร์ความรู้ของเรา เราอยากทำให้คนเรียนสามารถเขียนเพลงดีกว่าเรา เอาประสบการณ์ของเรามาเล่าให้เขาฟัง เราจะสอนแบบสร้างบรรยากาศให้เขาเขียนเพลง ให้แนวคิด แต่คำจะเป็นของเขา มันก็สนุกดีที่ได้ดูเพลงที่เด็กเขียนออกมา บางเพลงก็ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเขียนออกมาได้แบบนี้ บางทีเราก็รู้สึกเหมือนได้เรียนไปด้วย เพราะก่อนที่เราจะสอนก็ต้องทบทวนตัวเอง ก็พบว่ามีบางเรื่องที่เราลืมไปแล้ว เพราะทำงานมาหลายปีจนเราทำบางอย่างเป็นอัตโนมัติ ไม่ได้มาลงรายละเอียดกับเรื่องนั้น ๆ แล้ว
แต่คุณไม่ได้เรียนทางด้านดนตรีมาแล้วสอนอย่างไร?
อาจจะเป็นเพราะสอนเกี่ยวกับการเขียนเนื้อเพลง ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งทฤษฎีมาก มันก็มีสิ่งที่นักคิดนักเขียนเพลงทั่วโลกเขาวางไว้แล้ว เช่น ปีระมิดของการเล่าเรื่อง เรียงลำดับเรื่องราวยังไงให้คนอยากฟังต่อ เราก็พอหยิบมาเล่าได้ หาตัวอย่างให้เด็กฟังเยอะ ๆ ที่สำคัญที่สุดคือ ทุกคนต้องเขียนในทุก ๆ คลาส อาจจะเริ่มเขียนจากสิ่งที่อัดอั้น พอเขียนเป็นเรียงความออกมา เราก็เริ่มให้เขาลองจับเรื่องราวเข้าสู่โครงสร้างของเพลง ทุกคนสามารถเขียนเพลงได้แน่ ๆ แต่ได้ระดับไหนก็อีกเรื่อง เราไม่เชื่อหรอกว่าคุณจะเขียนไม่ได้ อย่างมีเด็กคนหนึ่งเป็นมือกลอง เดินมาบอกเราว่าเขาเขียนเนื้อเพลงไม่ได้เลย เราก็เลยลองให้หัวข้อเขาไป ยังไม่ต้องทำเป็นเนื้อเพลง เพราะเพลงมันเป็นแค่เครื่องมือ แต่เรื่องมันเป็นของเรา จะนึกไม่ออกได้ไง คลาสต่อมาเขาก็เขียนได้ดี สุดท้ายก็ออกมาเป็นเพลง มีคำคม มีชั้นเชิงด้วย ทุกคนอาจจะเกร็งว่าเพลงจะไม่เพราะ ไม่ดัง เพื่อนจะแซว ซึ่งก็เป็นปัญหาของเด็กไทยที่ถูกสอนให้แสดงออกน้อย เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้เลย
เส้นบาง ๆ ระหว่างแรงบันดาลใจกับการลอกงาน
มันเป็นเรื่องตั้งแต่โบราณแล้วว่างานสร้างสรรค์ก็คือการขโมย มันคือการเอาสิ่งเก่าที่เราเสพมา รวมกับความเป็นเรา จับเขย่าแล้วเทออกมาเป็นงาน แต่บางคนก็เล่นไม่เขย่าไม่เกลี่ยงานเลย แค่คิดว่าคนไม่รู้หรอก ซึ่งจริงอยู่ที่ยุคก่อนคนเข้าถึง referrence เพียงไม่กี่คน แต่ตอนนี้มันไม่ได้แล้ว ตำรวจยูทูปเต็มไปหมด (หัวเราะ) ถ้าเราชอบงานของใครแล้วอยากทำบ้าง เราก็ควรขุดไปถึงรากความคิดของเขาด้วย เขาไปฟังวงไหนมาวะ หรือสมองเขาคิดอะไรถึงออกมาเป็นท่อนหล่อ ๆ แบบนี้ได้ แล้วเราค่อยคิดว่าเราจะสร้างความหล่อแบบนี้ได้ยังไง มันก็จะทำให้เรามีความหล่อแบบเขา แต่โน้ตเราไม่เหมือน แต่ถ้าเหมือนทั้งหมดเลย เราว่าไม่ใช่แล้ว อย่างน้อยคุณก็ควรจะเช็กกันก่อนว่ามันเหมือนใครหรือเปล่า ส่วนที่ฉาว ๆ กันในโซเชียลเราฟังแล้วก็คิดว่ามันเหมือนกันจริง ๆ แต่บางเพลงก็ไม่เหมือน เขาแค่ย่ำกระเดื่องจังหวะเดียวกัน ซึ่งคุณก็ต้องไปดูว่าดนตรีแนวนี้เขาเป็นอย่างไร ถ้าเหมารวมแบบนี้ถือว่าเป็นตำรวจไม่ดี (หัวเราะ) ถ้าเราไปรื้อเพลงร็อกก็จะพบว่ามีซ้ำกันเยอะแยะไปหมดริฟฟ์กีตาร์ก็ซ้ำกันเยอะ ก็ต้องดูเจตนาว่าเขาตั้งใจหรือเปล่าหรือแค่เป็นแนวเพลงเดียวกัน
แนะนำเบื้องต้นสำหรับคนที่อยากแต่งเพลง
เริ่มจากการเขียน เขียนอะไรก็ได้แล้วลองให้ใครสักคนอ่าน ดูว่าคำของเรามันสื่อสารได้ถูกต้องมั้ย เราเองก็ไม่มีคนสอนมาก่อน แต่เราฟังเยอะมาก เราดูว่าเขาเขียนออกมาได้ยังไง เราเรียนรู้จากเพลงเหล่านั้น การฟังเพลงให้เยอะก็เป็นอีกวิธีแต่ฟังแล้วต้องวิเคราะห์ด้วย ทำไมเขาทำแบบนี้ อีกส่วนคือเราต้องจุดไฟตัวเอง ต้องอิจฉาเยอะ ๆ ทำไมเขาทำได้วะ กูก็ทำได้ (หัวเราะ) เราไม่ได้ไปฆ่าเขาหรอกนะ แต่มันเป็นการจุดไฟให้เราอยากทำบ้าง ส่วนเรื่องทำนองก็ต้องใช้ทักษะหน่อย อย่างเวลาเราร้องเพลงแปลงในวงเหล้า เราทำกันได้เพราะเราไม่คิดอะไรมาก เอาสนุกเข้าว่า ซึ่งคนพวกนี้จะแต่งออกมาได้ดีนะ คนที่เริ่มไม่ได้ส่วนมากเพราะกลัวไม่เข้าท่า ซึ่งมันไม่เข้าท่าแน่นอนสำหรับเพลงแรก กระจอกแน่ ๆ ทุกคนต้องผ่านความกระจอก แต่ถ้าเขียนเยอะพอก็จะเจอแสงสว่าง
อาชีพนักแต่งเพลงยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนฟังเพลงเท่าไหร่นัก ส่วนตัวคุณมองอาชีพนี้อย่างไร
พูดยากเหมือนกันนะ เพราะถ้าเราเลือกที่จะทำงานเบื้องหลัง แล้วเราจะให้คนจำชื่อเราทำไม อันนี้นับเฉพาะเพลงที่เขียนให้คนอื่นร้องนะ เราไม่ควรจะเครียดมากที่คนจะไม่จำเรา ยุคของการแต่งเพลงแล้วได้เงินเดือนมันผ่านไปแล้ว อาจจะพอมีเหลืออยู่บ้างในค่ายใหญ่ ๆ แต่เราก็นึกไม่ออกแล้วว่ายังมีใครทำแบบนี้อยู่ ส่วนใหญ่ทุกคนก็เป็นฟรีแลนซ์กันหมด ฉะนั้นมันก็เหลือวิธีเดียวคือทำออกมาหรือรวมวงแล้วก็เดินเข้าไปหาค่ายเลย อีกทางก็โปรโมตตัวเองด้วยโซเชียลมีเดีย ถ้ามองในเชิงการอยู่รอด มันก็แปลกดีที่ยังมีคนเลือกเข้าเรียนดนตรีเยอะขึ้น ทั้ง ๆ ที่มันเป็นยุคมืด มืดกว่าแต่ก่อนเยอะเลย แต่ก็ยังมีคนทำเพลงอยู่ ยังมีหน่วยกล้าตายที่ทำเพลงเจ๋ง ๆ ออกมาเรื่อย ๆ แล้วก็ไม่ได้ทำเพลงตลาดด้วยซ้ำ สุดท้ายที่เราทำอยู่ก็แค่ทำออกมาเพื่อเคลียร์ภารกิจในชีวิตเราไปอีกอย่างหนึ่ง และเราก็เชียร์ให้ทุกคนทำ โอกาสจะรวยเราไม่แน่ใจ แต่โอกาสที่คนจะเข้าถึงคุณตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้ว
ติดตามผลงานของ Superbaker ได้ที่นี่ และ Starfish ได้ ที่นี่