Feature เห็ดนอกใจ

คัตโตะ Lipta

  • Writer: Patikal Phakguy
  • Photographer: Neungburuj Butchaingam

บอกตามตรงว่าประหม่า

ผมเขียนแล้วลบบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อยู่หลายครั้งมาก เหตุเพราะช่วงหนึ่งของการนั่งขัดสมาธิคุยกัน ‘คัตโตะ’ หรือ อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล ได้เอ่ยคำที่ทำเอาผมสะเทือนมาจนถึงวันที่นั่งเขียนและลบบทสัมภาษณ์อยู่นี้ว่า “คนที่มาสัมภาษณ์เราหลาย ๆ คนไม่เข้าใจอะไรเลย บางคนที่เข้าใจ อย่างมากก็โดนปัจจัยเรื่องพื้นที่ของหน้ากระดาษบังคับ เราคุยกับเขาไปตั้งนาน ใจความที่เขาถอดออกมามันมีเพียงแค่นิดเดียว เราว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย” ด้วยการเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ผมขอจัดตัวเองอยู่ในหมวดผู้สัมภาษณ์ชนิดแรก เพราะจากข้อมูลที่มี ผมรู้จักคัตโตะจากการเป็นนักร้องแห่ง ลิปตา เป็นหนึ่งในกลุ่มคนร่ำรวยอารมณ์ขัน เสือร้องไห้ เป็นผู้เขียนหนังสือ ทามรายอ่ะ A Timeline, เขียนเล่นแต่รู้สึกจริง, หนังสือเล่มนี้ไม่มีชื่อ และเจ้าของคำ (ที่หลายคนมองว่า) คม…รู้เพียงแค่ผิวจะให้บอกว่าเข้าใจก็เข้าข้างตัวเองเกินไปหน่อย

อย่างไรก็ตาม ผมจะหยุดการประหม่าแต่เพียงเท่านี้ ขอเกริ่นนำเข้าเรื่องอีกเล็กน้อย ผมไปพูดคุยกับคัตโตะด้วยเรื่องการเขียน ทั้งในมิติของการทำเป็นเล่ม และการเขียนผ่านทวิตเตอร์ อินสตาแกรม รวมถึงเฟซบุ๊ก ตอนแรกผมคิดว่าเมื่อถามถึงฟีดแบ็กในด้านลบ เขาจะแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว แต่ไป ๆ มา ๆ เขากลับดูใจเย็น นิ่งเฉยกว่าที่คิด หากจะมีสักสิ่งที่เข้าใจ ผมว่าคัตโตะเข้าใจสิ่งที่เขาเจอได้ดีมากส่วนบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะทำให้เข้าใจเขามากขึ้นมั้ย ขอเชิญทุกท่านพบกับคำถามแรก

1

คุณเขียนหนังสือตั้งแต่เมื่อไร

จริง ๆ มันเริ่มมาจากตอนจะเรียนจบ ม.3 โรงเรียนที่เราเรียนอยู่  มีสอนถึงแค่มัธยมต้น พอจะแยกย้ายกัน แต่ละคนก็เลยเอาเฟรนด์ชิปมาให้เขียนเต็มไปหมด ทีนี้เราก็ได้เห็นว่าคนก่อนหน้าเราเขียนอะไรกันบ้าง พอเปิดอ่านของคนอื่น เราก็รู้สึกว่าเจ๋งว่ะ อ่านแล้วได้ฟีลเยอะมาก ประกอบกับตอนนั้นเราได้อ่าน โทษฐานที่รู้จักกัน ของพี่โน้ส—อุดม แต้พานิช ที่เขาเขียนเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง เราก็เลยเอาทั้งสองสิ่งนี้มารวมกัน เขียนไดอารี่ของตัวเองที่เขียนเรื่องเพื่อนเข้าไปด้วย

เขียนบ่อยมั้ย

ทุกวันครับ เพราะเราสัญญากับตัวเองไว้ว่าจะเขียนทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้เขียน ตื่นมาก็ต้องเขียนย้อนหลังทันที บรรทัดเดียวก็เอา

ทำไมถึงต้องเขียนทุกวัน

เราเป็นคนไม่เก่ง คิดว่าตัวเองห่วยมาตั้งแต่เด็ก ๆ เรียนเลขก็ไม่เก่ง เรียนสังคมก็ไม่ดี เราชอบวาดรูป ชอบร้องเพลง ชอบเรื่องอาหาร ชอบแพตเทิร์นเสื้อผ้า เราชอบอะไรที่มันเป็นสายศิลป์ ซึ่งในสายตาของผู้ใหญ่ยุคนั้น เขาไม่ได้เปิดกว้างเหมือนตอนนี้ สิ่งที่เราชอบมันไม่เจ๋งในมุมของเขา เราเลยบันทึกสิ่งเหล่านั้นไว้ในไดอารี่ของเรา

คุณบันทึกเรื่องอะไรบ้าง

5 ปีแรก ผมเขียนแต่เรื่องของเพื่อนกับครอบครัว ช่วงนั้นผมไม่มีแฟน กว่าจะมีแฟนคนแรกก็ 19-20 แล้ว

2

พอมีแฟนแล้ว ไดอารี่ของคุณเปลี่ยนไปมั้ย

เปลี่ยนนะ เราไม่สามารถเขียนให้ละเอียดเท่าเดิมได้ เพราะมีหลายอย่างที่เราไม่รู้ ตอนนั้นเราคิดว่าตัวเองเข้าใจชีวิตแล้ว แต่พอมีความรัก เราก็งงว่าทำไมหลายอย่างถึงเป็นแบบนั้น มันเหมือนเราได้เข้าไปอยู่ในวังวนใหม่ ๆ ได้เห็นสมการที่ไม่เคยเจอมาก่อน กว่าจะเข้าใจได้ว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องยากก็นานอยู่ การจัดวางตำแหน่งของตัวเองให้มันพอดี ๆ เป็นเรื่องยากมาก

เหมือนช่วงแรกคุณจะเขียนแต่เรื่องของตัวเอง

ใช่ครับ

เมื่อไหร่ที่หันมาสนใจสิ่งอื่นๆ บ้าง

เมื่อเราแก่ขึ้น

ตอนนั้นเราคิดว่าตัวเองเข้าใจชีวิตแล้ว แต่พอมีความรัก เราก็งงว่าทำไมหลายอย่างถึงเป็นแบบนั้น มันเหมือนเราได้เข้าไปอยู่ในวังวนใหม่ ๆ ได้เห็นสมการที่ไม่เคยเจอมาก่อน กว่าจะเข้าใจได้ว่าความสัมพันธ์เป็นเรื่องยากก็นานอยู่

คุณอายุเท่าไหร่

34

ทำไมถึงคิดว่าตัวเองแก่

เรารู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป ทั้งร่างกาย ความคิด เปลี่ยนไปเยอะ

ทุกวันนี้ยังเขียนไดอารี่อยู่มั้ย

เขียน แต่น้อยมาก เราเลือกที่จะเขียนผ่านทวิตเตอร์หรือไม่ก็เขียนในอินสตาแกรมลับ ๆ ของเราเอง

ตอนนี้เขียนถึงเรื่องอะไรบ้าง

เรื่องที่เราชอบ เรื่องที่เราสังเกต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ เวลา และความรัก

ยิ่งเขียนยิ่งสั้น

ใช่

ตอนโพสต์แรกๆ มีเพื่อนแซวหรือเปล่า

ไม่มีเลย เพื่อนสนิทเราเขารู้อยู่แล้วว่าเป็นคนเวิ่นเว้อ แล้วถ้าสังเกตจะเห็นว่าเราไม่ค่อยเอาข้อความเหล่านั้นมายุ่งกับเฟซบุ๊กส่วนตัวของเราเลย เพราะจริง ๆ เราอยากสื่อสารกับคนไม่รู้จัก

ทำไม

คนเรามันมีหลายบุคลิกนะครับ เวลาที่อยู่คนเดียว เวลาที่อยู่กับเพื่อน เวลาที่อยู่กับพ่อแม่ เราก็จะพูด แสดงความคิดเห็น หรือแสดงอารมณ์แตกต่างกันไป ซึ่งบางอารมณ์ เราก็อยากเล่นกับคนไม่รู้จักบ้างแค่นั้น

3

คุณเป็นคนคีปคาแรกเตอร์มั้ย

ไม่เลย ถ้าไปดูทวิตเตอร์หรืออินสตาแกรมจะเห็นว่าเละเทะมาก มีหลายอารมณ์เหลือเกิน แต่ว่าในเพจเฟซบุ๊กจะต่างออกไป เพราะคนที่ติดตามส่วนใหญ่เขาจะอยากอ่านเรื่องราวของความสัมพันธ์ เราก็จะนำเสนอแนวนั้นให้อย่างเดียว

ทำไมถึงเลือกใช้โซเชียลมีเดียเป็นไดอารี่

เราว่าอินสตาแกรมเป็นฟอร์แมตที่ดีมาก คือทำได้แค่โพสต์รูปกับเขียนแคปชั่น ทำอะไรมากกว่านั้นไม่ได้ เวลาจะลงอะไรก็เลยต้องสัมพันธ์กัน ซึ่งเราว่ามันเป็นเสน่ห์ เป็นฟอร์แมตที่ทำให้ทุกคนเหมือนได้เป็นศิลปิน เวลาเข้าไปดู เราเลยรู้สึกเหมือนทุกคนกำลังสร้างงานศิลปะอยู่ ส่วนทวิตเตอร์ มันเป็นกล่องขังอารมณ์ความรู้สึกในช่วงหนึ่งของเรา ซึ่งจริง ๆ แล้วมันดาร์กมากเลยนะ

คุณมองว่าดาร์ก แต่ก็มีหลายคนที่คิดว่าข้อความของคุณหล่อ โลกสวย

เราเข้าใจคนที่คิดแบบนั้น แต่เราไม่สามารถเอาใจคนทุกคนบนโลกได้ ในโลกนี้ไม่มีใครที่เป็นที่รักของทุกคนหรอกครับ คนบนโลกมีความคิดต่างกัน เราเลยคิดว่าช่างมันเถอะ ถ้าสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรก็ทำต่อไป อย่าไปคิดมาก ถามว่าหล่อมั้ย เป็นคำคมมั้ย เราไม่เคยคิดอย่างนั้น แต่ละโพสต์มันคือการระบายความคิดของเราเฉย ๆ ซึ่งเราเชื่อว่ามีหลายคนที่คิดแบบเรา เพียงแต่มีคนรู้จักเราเยอะกว่า ข้อความของเราก็เลยถูกคนเห็นมากกว่า

เราไม่สามารถเอาใจคนทุกคนบนโลกได้ ในโลกนี้ไม่มีใครที่เป็นที่รักของทุกคนหรอกครับ คนบนโลกมีความคิดต่างกัน

คุณโดนด่าเยอะมั้ย

ช่วงหนึ่งที่ฮิตมาก ๆ ก็โดนเยอะครับ ยิ่งในเฟซบุ๊กนี่น่วมเลย ด้วยอัลกอริธึมของมันที่ทำให้ใครกดไลค์ปุ๊บ ข้อความนั้นก็จะไปโผล่อยู่ในหน้าฟีดของคนที่เป็นเพื่อนกับคนที่กดไลค์ด้วย ซึ่งก็ไม่แปลกที่เขาจะไม่ชอบ เพราะเขาไม่ได้ต้องการมัน เราเลยไม่โกรธพวกเขา เรากลับเข้าใจด้วยซ้ำ ใครที่ไม่ชอบมาก ๆ เราก็เข้าไปขอโทษเป็นเรื่องเป็นราวเลย

ทุกคนเลยหรือเปล่า

เฉพาะคนที่เข้ามาด่าในเพจ cuttO เราว่ามันคงไปรกฟีดเขาจริง ๆ เราก็บอกไปว่าไม่ได้มีเจตนาร้าย ซึ่งเราว่าเขาน่าจะเข้าใจนะ แต่ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร เราถือว่าได้ขอโทษเขาไปแล้ว

ยังขอโทษอยู่มั้ย

ตอนนี้ไม่มีใครโจมตีแล้วครับ กระแสในเฟซบุ๊กก็เริ่มคงตัว อีกอย่างเราว่าพวกเขาคงเบื่อ เพราะเราไม่ได้ไปตอบโต้อะไรด้วย เรื่องราวก็เลยไม่บานปลาย

คุณให้ความสนใจฟีดแบ็คทางด้านลบมากน้อยแค่ไหน

ไม่ค่อยครับ เวลามีคนแคปเจอร์มาให้ดู เราก็มักจะบอกแฟนคลับทุกคนว่าไม่ต้องไปตอบโต้ อยู่เฉย ๆ เราไม่ได้ทำอะไรผิด ถ้าเราไม่ไปยุ่ง ทุกอย่างก็จบ แต่หากไปตอบโต้ก็จะกลายเป็นการไปราดน้ำมันทำให้เขามีเพื่อนเล่นด้วย ถ้าเขาด่าผมแล้วมีความสุขก็โอเคนะครับ ไม่เป็นอะไร

4

ตอนแรกคุณเขียนเพื่อจะบันทึกเอาไว้อ่านเอง แต่พอเอาไปโพสต์บนโลกออนไลน์แล้วได้รับความนิยม มีการทำหนังสือเข้ามาเกี่ยว คุณเกร็งบ้างมั้ย

ถ้าเป็นสมัยก่อนเราคงเกร็ง เพราะตอนเด็ก ๆ เราต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ เราเก่ง อยากให้ทุกคนยอมรับ ซึ่งความคิดพวกนี้มันทำให้เราเกร็ง แต่พอโตขึ้นมา ความกลัวก็เริ่มหายไป การทำหนังสือมันมาในจุดที่เราไม่มีความกลัวในชีวิตพอดี เราไม่ต้องพิสูจน์แล้วว่าจะเลี้ยงดูตัวเองได้หรือเปล่า เราหลุดพ้นจากปัจจัยอย่างเงินหรืออาชีพมาแล้ว เราเลยไม่มีอะไรต้องกลัว ต้องกดดัน เราทำเพราะว่าเราชอบ และรู้ว่ามันดีก็พอ เราว่าคนที่อยู่ภายใต้ความกดดันคือคนที่ยังต้องพิสูจน์ตัวเอง ยังมีภาระอยู่ ซึ่งถ้าวันนี้เรามีหนี้อยู่ร้อยล้าน เราก็คงกดดันแหละ แต่วันนี้เราไม่มีภาระอะไร ความกดดันมันเลยไม่มี

การโพสต์ลงโซเชียล ฯ บ่อย ๆ ทำให้คุณได้เขียนหนังสือหรือเปล่า

น่าจะเกี่ยวครับ แต่ก่อนหน้านี้เราเคยเขียนคอลัมน์ให้นิตยสารผู้หญิงอย่าง Cosmopolitan หรือ Cleo อยู่แล้ว ส่วนพ็อคเก็ตบุ๊กนั้นได้ทำเพราะรุ่นพี่ที่มหาลัยติดต่อมา บอกว่าอยากทำให้เก็บเอาไว้ดู ซึ่งตอนแรกเราไม่อยากทำ เราคิดว่ามันไม่ได้น่าสนใจอะไร แต่พอเขาบอกว่าไม่มีเงื่อนไข อยากทำอะไรก็ตามใจเรา อยากเลิกตอนไหนก็บอก เราเลยตกลงทำไปหนึ่งเล่ม ซึ่งเราเป็นพวกขวยเขินกับการโปรโมตตัวเองด้วยนะ อย่างตอนทำหนังสือ เราก็บอกไปว่าลงรูปใบเดียวพอ กลัวคนรำคาญ ไม่ค่อยอยากพูดถึงเท่าไหร่ คนที่อยากได้จริง ๆ เดี๋ยวเขาก็หามันเจอเอง

ฟีดแบ็คก็โอเค

โอเคนะครับ ทำไปแล้วมีคนอยากอ่านต่อ เราก็เลยทำอีก

กับการทำเพลง คุณก็เขินที่จะโปรโมตหรือเปล่า

อืม เฉย ๆ คือถ้ามันดี เดี๋ยวมันก็ไปได้เอง

คุณคิดแบบนี้ตั้งแต่แรกหรือเพิ่งมาเป็นตอนนี้

ตอนนี้แหละครับ อย่างที่บอกว่าเราแก่แล้ว มุมมองมันก็เลยเปลี่ยนไปเยอะ

ดูเหมือนคุณเป็นคนใจเย็น

ใจเย็นมาก

เคยมีเรื่องกับใครบ้างมั้ย

ไม่ค่อยครับ เคยมีคนไม่ชอบเรามาก ๆ มาด่า เราก็ฟังไปเรื่อย ๆ ไม่ตอบโต้ ไม่แก้ตัวอะไร เราคิดว่าถ้าเราเป็นน้ำ เวลาโดนตี เราก็ไม่เป็นอะไร แต่คนที่ตีเรา ถ้าเขาตีจนพอใจ ตีจนเหนื่อยเขาก็จะเบื่อไปเอง ดังนั้น เราก็เลยเปลี่ยนตัวเองให้เป็นน้ำ เพื่อที่ว่าวันหนึ่งเขาอาจจะนึกได้ว่าการตีน้ำไม่ช่วยให้ได้อะไรขึ้นมา

เป็นคนธรรมะธัมโมหรือเปล่า

ไม่เลย สมาธิก็ไม่นั่ง เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งนี่แหละครับ

เคยกลับไปอ่านไดอารี่เก่า ๆ บ้างมั้ย

เคยครับ เมื่อไม่นานมานี้ แม่ค้นเจอไดอารี่ที่เราเขียนตอน ม.3 – ม. 4 อ่านแล้วเขินมาก เก็บไว้เล่มเดียว ที่เหลือเอาไปเผาหมดเลย อ่านไม่ไหว แย่มาก เขียนได้สมกับเป็นเด็กอายุ 15-16 ปี (หัวเราะ)

5

แต่เราว่าการเขียนไดอารี่มันเป็นสิ่งที่ดีนะ เป็นเหมือนใบตรวจสุขภาพประจำปี พอเอากลับมาอ่านใหม่ มันเหมือนเราได้สำรวจสุขภาพจิตในช่วงนั้นอีกรอบว่าเคยเป็นอย่างไร การจดบันทึกบ่อย ๆ ทำให้เรารู้ว่าช่วงชีวิตที่ดีของเราคือช่วงไหน แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เราแย่ลง

บางเหตุการณ์ก็ทำให้เราคิดอะไรได้หลายอย่าง ทำให้รู้ตัวว่าเราไม่ควรปล่อยให้ตัวเองยุ่งขนาดนั้น ไม่ควรปล่อยใจไปรักใครขนาดนี้ แล้วบางเรื่องนะ สมัยก่อนดันคิดได้ สมัยนี้ดันคิดไม่ออก

การกลับไปอ่านไดอารี่มันเลยเหมือนได้กลับไปย้อนดูตัวเองหลายอย่าง นอกจากจะมีหลายเรื่องที่โคตรอายและเขินแล้ว มันก็ยังมีเรื่องดี ๆ สนุก ๆ อยู่อีกเยอะ

Facebook Comments

Next:


Patikal Pakkai

ปฏิกาล ภาคกาย เป็นคนทำหนังสือประจำสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง เป็นนักฟังเพลงในบางจังหวะ และนักพบปะผู้คนในบางโอกาส