Readery โจ้ เน็ต ร้านขายหนังสืออนไลน์ podcast the standard

Feature เห็ดหูหนู

สนทนาเต็มอิ่มกับ โจ้ และ เน็ต แห่ง Readery ถึงความเป็นไปในโลกที่หนังสือกับเพลงอยู่คู่กันอย่างกลมกลืน

  • Writer: Malaivee Swangpol
  • Photographer: Chavit Mayot

ในโลกที่หนังสือ-หนัง-เพลง อยู่รวมกันอย่างกลมเกลียว มีการ collab ข้ามกันไปมาอยู่เสมอ ๆ Fungjaizine เลยขอชวนสองผู้ก่อตั้ง Readery อย่าง โจ้—อนุรุจน์ วรรณพิณ และ เน็ต—นัฏฐกร ปาระชัย มาพูดคุยกันซักหน่อย ถึงเรื่องราวของ Readery การ collab หนังสือกับเพลง มุมมองต่อประเทศและการเมืองในสายตาของคนขายหนังสือ รวมถึงบทสนทนาสบาย ๆ เรื่องเพลงที่ฟัง และการ book pairing ชวนมาตาดูหูฟังว่าในสายตาของ Readery หนังสือจะอร่อยกลมกล่อมกับบทเพลงไหนบ้าง

Book Pairing playlist

เน็ต—นัฏฐกร ปาระชัย

จริง เพลงพวกนี้เลือกจากเพลงที่เราฟัง หยิบจากเพลงที่ชอบ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงเก่า เอา มา pair กับหนังสือที่อาจจะไม่ได้ sync กัน 100% แต่จากความรู้สึกส่วนตัวมันน่าจะเข้ากันได้

Oasis – Don’t Look Back in Anger คู่กับ ‘อิคิไก: ความหมายของการมีชีวิตอยู่’ โดย Ken Mogi

อิคิไก: ความหมายของการมีชีวิตอยู่ (พิมพ์ครั้งที่ 2)

จำได้เสมอว่าทุกครั้งที่ได้ยินเพลงนี้ ประโยคที่ออกมาประโยคแรกคือ ‘So I start a revolution from my bed’ ทุกครั้งที่อยากทำให้ตัวเองฮึกเหิมตอนตื่นมาตอนเช้า แล้วรู้สึกว่าวันนี้มันต้องมีแรงทำอะไรซักอย่าง ขุดตัวเองขึ้นมาทำอะไรเหอะจะนึกถึงเพลงนี้เสมอ โดยเฉพาะท่อนนี้ที่อยู่ในเพลง ส่วน Sally ไม่รู้ละ ไม่อยู่ในเซนส์เรา (หัวเราะ​) ถ้าจะ pair เพลงนี้เราจะ pair กับ ‘อิคิไก’ เพราะว่าประโยค ‘revolution from my bed’ เป็นประโยคประจำใจมาก สิ่งที่จะปฏิวัติได้ เราต้องปฏิวัติจากข้างในตัวเอง จากบนเตียงตัวเองให้ได้ก่อน ก่อนที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรข้างนอก อิคิไกคือหลักการของคนญี่ปุ่นที่จะทำให้รู้สึกว่า วันนี้มีเป้าประสงค์ในการตื่นขึ้นมาตอนเช้าเพื่ออะไร มันอาจจะเป็นเป้าหมายเล็ก  ไม่ได้สำคัญอะไรมาก แต่อย่างน้อยมันเซ็ตเป็นเป้าให้เรารู้สึกว่า มันคุ้มค่าที่จะตื่นนอนขึ้นมาในเช้าวันนี้

Air – Alone In Kyoto คู่กับ ‘โคะโคะโระ’ โดย Natsume Sōseki

โคะโคะโระ

มันเป็นซาวด์แทร็คของเรื่อง ‘Lost in Translation’ เป็นเพลงบรรเลง พอฟังปุ๊ปมันก็เหมือนมีความญี่ปุ่นขึ้นมา ให้ฟังเอาบรรยากาศแล้วอ่านคู่กับเล่ม ‘โคโคโระ’ บรรยากาศมาเลย จะได้ความรู้สึกที่ mix เหมือนอารมณ์ตอนดูหนัง Lost in Translation คือเราเป็นคนที่ไม่ค่อยเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นเท่าไหร่นัก แต่เราพยายามจะทำความเข้าใจผู้คน ความคิดของคนญี่ปุ่นผ่านเสียงเพลงของ Air ซึ่งเป็นวงฝรั่งเศสที่ก็ไม่ได้เข้าใจญี่ปุ่น แต่ในทางกลับกัน ‘โคโคโระ’ เป็นเรื่องที่นักเขียนญี่ปุ่นที่พยายามเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้าไปอยู่ในหนังสือเล่มนี้ มันเป็นสิ่งที่เหมือนเราพยายามจะเข้าใจ ข้ามกำแพงภาษา กำแพงดนตรี กำแพงวัฒนธรรมให้ได้

Phoenix – Summer Days คู่กับ ‘อาซาฮินะ ชายหนุ่มแห่งคิจิโจจิ’ โดย Eiichi Nakata

อาซาฮินะ ชายหนุ่มแห่งคิจิโจจิ

จำได้ว่าตอนไปฝรั่งเศส เราไปตามซื้อแผ่น Phoenix ทุกแผ่นเลย แล้วสมัยนั้นมันยังไม่มีโหลดเพลง พอซื้อแผ่นมาแล้วก็ต้องมา rip ใส่ iPod ตัวเอง แล้วก็ฟังเพลงนี้วนไปวนมาอยู่นั่นแหละ ช่วงนั้นที่ไปฝรั่งเศสมันเป็นช่วงซัมเมอร์ของเขา อากาศมันก็เย็น ก็มีฝนด้วย ในเพลงมันจะมีไลน์ steel guitar อารมณ์ฮาวาย แต๊ว แล้วพอได้ยินเพลงนี้ มันก็ให้ความรู้สึกถึงช่วงซัมเมอร์ ไปทะเล คือถ้าจะเลือกเพลงที่เป็นฮาวายมาเลย มันก็จะเป็นฮาวายแน่นอน แต่เพลงนี้ Phoenix เป็นวงฝรั่งเศสที่ใส่ความทะเลเข้าไป ซึ่งที่เลือกหนังสือเล่มนี้เพราะมู้ดมันเป็นไลท์โนเวล มันจะอ่านสบาย ความรู้สึกของเรา ถ้าอยากรีแลกซ์ อยากไปทะเล เราก็จะเลือกหนังสือกลุ่มเบา นี้แหละไปอ่าน ให้มู้ดมันไปด้วยกัน

SIRUP – LOOP คู่กับ ‘บันทึกนกไขลาน’ โดย Haruki Murakami

บันทึกนกไขลาน (The Wind-Up Bird Chronicle)

เป็นศิลปินญี่ปุ่นที่เพิ่งรู้จัก แล้ว ‘บันทึกนกไขลาน’ เป็นเล่มที่ชอบที่สุดของมูราคามิ เพราะความรู้สึกของเราก็คือธีมทั้งหมดของมุราคามิบรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เพราะฉะนั้นอารมณ์ทุกอย่าง ความเป็นมูราคามิ ความเหงา การลงไปอยู่ก้นบ่อแล้วคิดคร่ำครวญอะไรบางอย่าง แมวหาย เมียหาย ทุกอย่างอวลด้วยอารมณ์มูราคามิอยู่ในนี้ ตอนแรกลังเลอยู่ว่าจะเอาเล่มนี้หรือจะเอาเล่มราตรีมหัศจรรย์ เพราะว่าถ้าฟังเพลงเหมือนจะเข้ากับเล่ม นั้นมากกว่า ด้วยเป็นเวลาเที่ยงคืนจนถึงเจ็ดโมงเช้า แต่ว่าถ้าเอาอารมณ์ทั้งก้อนใหญ่ อยากมา pair กับเล่มบันทึกนกไขลานมากกว่า เป็นความชอบส่วนตัวด้วย

The Killers – Be Still คู่กับ ‘เยิรเงาสลัว’ โดย Jun’ichiro Tanizaki

เยิรเงาสลัว (ปกใหม่)

 

เป็นเพลงที่เราฟังเมื่อไหร่ก็อยากร้องไห้มาก มันเป็นเพลงที่อ่อนโยน เอาไว้ปลอบตัวเองยามที่ดิ่งดาวน์เศร้ามาก หนังสือเล่มนี้เป็นการพูดถึงเงา แสง ถ้าไม่ไม่มีแสงมันก็จะไม่มีเงา มันเป็นอามณ์ที่ต้องการการครุ่นคิดแบบปรัชญาหน่อย   คร่ำครวญถึงชีวิต คร่ำครวญถึงธรรมชาติ คร่ำครวญถึงความน้อย ของตัวเอง แล้วเพลงนี้ด้วยความที่มัน minimal มาก  เราเชื่อว่าหลายคนที่ฟังเพลงนี้จะรู้สึกอยากอยู่กับตัวเอง อยากปลอบตัวเอง

 

โจ้—อนุรุจน์ วรรณพิณ

BTS – Blood Sweat & Tears คู่กับ ‘เดเมียน’ โดย Hermann Hesse

เดเมียน (ปกแข็ง)

ชั้นบ้ามากเลย BTS ชั้นบอกเลย เพลงนี้เป็นซิงเกิ้ลในอัลบั้ม Wings คือเป็นอัลบั้มที่รู้กันว่าได้แรงบันดาลใจจากเรื่อง ‘ดาเมียน’ ของเฮสเส เป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่นตอนต้นคนนึง อยู่ในครอบครัวใส แล้วไปเจออะไรร้าย โลกร้าย แล้วค่อยรู้ว่าโลกมันมีส่วนร้ายขนาดนี้เลยเหรอ มันเป็นการเปรียบเทียบระหว่างโลกดีกับโลกร้าย good and evil อะไรแบบนี้ คือมันพูดว่าได้แรงบันดาลใจอย่างนี้ก็ดูธรรมดา แต่ในชีวิตโจ้ เท่าที่เคยเห็นการ inspire กันไปมาของหนังสือกับเพลง คือทุก เพลงในอัลบั้ม Wings ถ่ายทอดความเป็นเฮสเสได้ดีมาก เหมือนเอาทั้งหมดมาตีความทีละบท เรียงตามบทตามนั้น แบบมีการวิเคราะห์เชิงวรรณกรรมแบบเหมือนย่อยวรรณกรรมออกมาก่อน เอามาย่อยออกมาเป็นประเด็น เอาประเด็นเหล่านี้ไปทำงานต่อ ทั้งดนตรีและเนื้อเพลง คือถึงมันเป็นภาษาเกาหลี แต่พอฟังเวอร์ชั่นที่มันแปลอังกฤษแล้วลองดูเครื่องดนตรีที่เค้าใช้ เค้าคิดละเอียดยิบ เค้าใช้ถอด structure มาจากเดเมียนเลย ในชีวิตแทบจะไม่เคยเห็นอัลบั้มเต็ม ขนาดนี้มาก่อน

Years & Years – Both Sides Now (Joni Mitchell cover) คู่กับ ‘ใต้เวิ้งฟ้า’ โดย Paul Bowles

ใต้เวิ้งฟ้า

มันเป็นเพลงที่เศร้ามาก  มีเนื้อท่อนนึง ร้องว่า ‘I’ve looked at clouds from both sides now’ ตอนนี้มองท้องฟ้าแล้วมันมีสองด้าน ซึ่งประโยคนี้มันคือประโยคจากหนังสือ ‘Sheltering Sky — ใต้เวิ้งฟ้า’ เต็ม เลย ตลอดทั้งเรื่องมันก็คือภรรยาเดินทางไปกับสามีที่รักไปเรื่อย ในทะลเทราย ตอนจบก็พบว่าชีวิตความรัก…​อะ ไม่สปอยล์ คือสุดท้ายมันจะได้เห็นโลกว่ามีสองด้านนะ

Lauren Daigle – You Say คู่กับ ‘คินสึงิ’ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต โดย Tomas Navarro

คินสึงิ ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต

เป็นเพลงที่ค่อนข้างดังปีที่แล้ว มันมีประโยคแรกที่ร้องว่า ‘I keep fighting voices in my mind that say I’m not enough’ ปีที่แล้วพี่ร้องไห้กับมันเยอะมาก มันเป็นเพลงที่อยู่ในช่วงที่เราหดหู่ จิตตก แล้วมันเหมาะกับหนังสือชื่อว่า ‘คินสึงิ’ เป็นหนังสือที่พูดถึงการเยียวยารักษาหัวใจที่ broken เป็นหนังสือที่พี่อยากแนะนำให้ทุกคนมีติดบ้านไว้เป็นคู่มือเลย คู่กับ ‘อิคิไก’ เพราะเราทุกคนมันจะมีเรื่องที่บาดเจ็บเป็นบางครั้ง การันตีได้เลยว่าในชีวิตต้องมีเรื่องบาดเจ็บแน่นอน ที่ผ่านมาบาดเจ็บแล้วเรารักษาตามมีตามเกิด แต่ ‘คินสึงิ’ มันเปรียบเทียบศิลปะของญี่ปุ่นที่เอาถ้วยกระเบื้องที่แตกแล้วมาประกอบใหม่แล้วเคลือบทอง แทนที่เราจะซุกซ่อนบาดแผลนี้ เราโชว์ให้มันสวยงามเป็นทองขึ้นมาเลยดีกว่า ซึ่งในหนังสือคินสึงิจะอธิบายการรักษาความ broken ได้ดีอะ คือพูดถึงประเด็นว่า ให้เรารู้ว่าเราเป็นใครกันแน่ ซึ่งพี่คงเฉลยไม่ได้ แต่ละคนต้องไปคิดเอา ซึ่งถ้าเรารู้ว่าเราเป็นใคร เราจะรู้ว่าประสบการบิลด์ที่ broken ที่ผ่านมา มันจะบิลด์ให้เราเป็นใคร

Jack Johnson – Only the Ocean คู่กับ ‘ฮาวายประเทศ​’ โดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

ฮาวายประเทศ

จริง ๆ ควรจะเลือกทุกเพลงของ Jack Johnson (หัวเราะ) พูดกันตรง ก็เหมือนกันทุกเพลง (หัวเราะ)​ แต่ว่าก็ชอบไง ก็ชอบทะเล คือพี่เคยอยู่ฮาวาย แล้วพี่จะชอบทุกสิ่งที่เป็นฮาวายกับความเป็นทะเล มันมีหนังสือเล่มนึงของนักเขียนชื่อว่าจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ชื่อเรื่อง ‘ฮาวายประเทศ​’ มันจะเหมาะมากเลย หนังสือเล่มนี้กับการฟังเพลงของ Jack Johnson

Solitude is Bliss – 04.00 A.M. คู่กับ ‘การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก’ โดย Haruki Murakami

การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก (พิมพ์ครั้งที่ 4)

เพลงนี้เนื้อเพลงร้องว่า ‘ตื่นจากฝันที่มันเลอะเลือน ความวุ่นวายและความฟั่นเฟือน จากดีกรีของความมึนเมา สุขใจกับฝันในยามค่ำคืน เธอและฉันล่องลอยกับรัก ณ ที่หนึ่ง’ คือมันพูดถึงว่า บางคืนที่เราหลับฝัน เธอไม่ต้องมาเข้าฝันชั้นก็ได้ ชั้นไม่อยากคิดถึงเธอแล้ว ตกใจตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะฝันถึงเธออีกแล้ว มันตรงกับหนังสือของมูราคามิทั้งอารมณ์และเรื่องราวคือ ‘การปรากฏตัวของหญิงสาวในคืนฝนตก’ ในเรื่องพระเอกเป็นผู้ชายหนุ่มเพอร์เฟกต์ซึ่งเป็นเจ้าของบาร์แจ๊ส มีภรรยาที่เพียบพร้อมอยู่แล้ว แต่กลับโหยหาความรักเก่าในวัยเด็ก แล้ววันหนึ่งผู้หญิงคนนั้นก็กลับเข้ามาในชีวิตอะ มันต้องต่อสู้กับจิตใจตัวเอง บรรยากาศบาร์แจ๊ส ดึก ค่ำ กับเพลง Solitude is Bliss มันเข้ากันมาก ลองอ่านคู่กัน

Exclusive Talk with Readery

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ทำร้านหนังสือออนไลน์

โจ้: เพราะว่าก่อนหน้านั้นพี่โจ้เป็นคนเขียนบทหนัง แล้วพี่เน็ตทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ เราก็อยากทำงานอิสระอยู่แล้ว บวกกับเราเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ กันอยู่แล้ว ก็อยากทำอะไรเกี่ยวกับหนังสือ แล้วร้านหนังสือก็เป็นชอยส์นึง อีกเหตุผลก็คือพี่เน็ตก็ทำเว็บได้ด้วย

เน็ต: จริง จะเรียกว่าแรงบันดาลใจหรือเปล่าก็ไม่รู้ คือตอนแรกไม่ได้มีความคิดเลยว่า เอ้ย วันนี้จะลุกขึ้นมาทำร้านหนังสือออนไลน์กันเถอะ ไม่ได้มีความคิดแบบนั้น แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราทำงานอยู่บ้าน เป็นฟรีแลนซ์ แล้วทำงานไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังสือเลย แต่ด้วยความที่ว่าเห็นหนังสือทุกวันก็ลองทำโปรเจกต์อะไรซักอย่างนึง ซึ่งก่อนหน้านั้นเราก็เคยทำโปรเจกต์ Bibliolism เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นความคาดหวังคืออยากให้เป็น goodreads แบบที่เราเห็นทุกวันนี้ แต่ว่าเราก็ทำได้ไม่ถึงจุดนั้น ทำได้แค่เท่าที่เราอยาก achieve มันเฉย  แต่หลังจากทำเราก็เริ่มรู้จักวิธีการจัดข้อมูลในเว็บ ทำยังไง เอาหนังสือเข้าระบบ ทำยังไง พอได้ข้อมูลเยอะปริมาณนึง เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ไอ้สิ่งนี้มันเป็นร้านหนังสือได้นี่หว่า เพราะว่าตอนนั้นหนังสือที่เอาเข้าระบบมันเป็นหนังสือที่เรามีอยู่แล้วที่บ้าน มันก็มีเป็นหมื่นปก แล้วพอใส่เข้าไปเยอะ เราก็เริ่มรู้สึกว่า หนังสือมันเยอะดีนะ ถ้าเว็บขายหนังสือมีหนังสือเยอะอย่างนี้ก็ดีสิ ก็เลยมีไอเดียมาทะเลาะกันว่า ถ้าอย่างนั้นทำร้านหนังสือเหอะ แต่นั่นหนังสือเรา เราจะขายได้ยังไง (หัวเราะ)​ มันก็เริ่มจากจุดนั้นครับ ก็เลยลองแย้บ  ไปทางพี่ สำนักพิมพ์ที่รู้จัก หรือไม่รู้จักก็ลองเดินเข้าไปถามว่าจะเป็นยังไงถ้าเราขายหนังสือออนไลน์

โจ้: ตอนนั้นทุกคนมีงานอยู่แล้ว แต่มีชีวิตอยู่ช่วงนึงที่เรารู้สึกว่าเราอยากให้เวลากับตัวเองเยอะ  ซึ่งก็ยังไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องทำอะไร แต่ต้องให้เวลาเยอะ  ซึ่งพอมันมีเวลาอยู่ก้อนเวลานึง เราก็สามารถคุยเล่นนู่นนี่นั่นก็ได้ ก็คุยไปเรื่อย เวลาเราไปเที่ยวก็เอ้อ ร้านหนังสือนี้น่ารักดี เอ้ยหนังสือเล่มนี้อ่านแล้วสนุกจังเลย แล้วความว่างมันค่อย ให้เราตกตะกอนความคิดว่า เออลองทำเว็บอย่างที่พี่เน็ตว่ามาเมื่อกี้ดูสิ จนกระทั่งมันก็ narrow down มาเรื่อย จนเป็นร้านหนังสือออนไลน์

จาก Bibliolism มาถึง Readery ได้มีดึงข้อมูลมาใช้ด้วยไหม

เน็ต: ข้อมูลแยกกัน เพราะอันนั้นมันเหมือนเป็นไลบรารี่ เป็นเว็บที่เก็บข้อมูลชั้นหนังสือของเรา จริง ๆ ตอนนี้มันก็ยัง on อยู่ แต่ไม่ได้เปิดพับลิค เราใช้เว็บนั้นเป็นฐานข้อมูลหนังสือของที่บ้าน เราทำเว็บนั้นเพื่อแก้ปัญหาที่เราไม่อยากซื้อหนังสือซ้ำ

โจ้: เป็นปะ? คือซื้อหนังสือซ้ำเป็นสิ่งที่พี่เกลียดมากเลยอะ (หัวเราะ) เวลาจะซื้ออะไรต้องคอยถามว่าเอ้ยแกซื้อยัง พี่ น้อง เอ้ยแกซื้อยัง

เน็ต: หรือบางทีหาหนังสือไม่เจอแล้วก็ตั้งคำถามว่า หนังสือเล่มนี้เราซื้อแล้วหรือยัง ปัจจุบันเราก็ใช้เว็บนี้เช็กกันเองว่า ที่บ้านมีหนังสือเล่มนี้ใช่ไหม เก็บไว้ตรงไหน

โจ้: ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ แต่ถามว่ามันมีอะไรต่อยอดมาถึง Readery ไหม ก็มีนะ ในเชิงของ data ก็คือเว็บนั้นจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้เขียนโดยใคร ถ้าเราจิ้มไปที่นักเขียน ก็จะรู้ว่า นักเขียนคนนี้เขียนหนังสือเรื่องอะไรบ้าง หนังสือเล่มนี้พิมพ์มากี่ครั้งแล้ว มีปกเป็นยังไงบ้าง วิธีคิดแบบความเชื่อมโยง database แบบนี้ เราก็เอามาใช้กับ Readery ไม่น้อยเหมือนกัน แบบ นักเขียนคนนี้ เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มไหนบ้าง

พอทำ Readery แล้วมีเวลาว่างจริง ไหม

โจ้: ใช้คำว่า ต้องมีให้ได้ (หัวเราะ)​ เพราะว่าเราเริ่มจากการที่เรา busy เราอยากมีชีวิตที่มีอิสระ พี่กับพี่เน็ตก็จะ keep สิ่งนี้ไปเรื่อย

เน็ต: เป้าหมายของเราไม่ใช่การแบบกลับไป busy อีกครั้ง ไม่ใช่แน่ มันเริ่มเป็นงาน เป็นธุรกิจแล้วก็จริง แต่มันต้องไม่ใช่ธุรกิจแบบที่จะทำให้ชีวิตวุ่นวายมากขึ้น

Readery โจ้—อนุรุจน์ วรรณพิณ

สิ่งที่ยากที่สุดในการทำ Readery

โจ้: ความยากของพี่คือ พี่อยากอ่านหนังสือทุกเล่มที่พี่ขาย (หัวเราะ) แต่พี่ทำไม่ได้ไง (หัวเราะ)​ ไอ้นั่นก็น่าอ่าน ไอ้นี่ก็น่าอ่าน อะ ออกมาอีกแล้ว คือเวลาคนซื้อตื่นเต้นอะ แต่พวกพี่อะเห็นหนังสือก่อนตั้งแต่แรก แถมยังมีไอ้ที่จะออกอีกล่ะ นี่แหละ ความยากของพี่

เน็ต: ความยากของการขายหนังสือของเราไม่ค่อยมี เพราะว่าเราคุ้นเคยกับหนังสืออยู่แล้ว เรียกว่าถ้าให้เราไปขายรองเท้าแตะ กับขายหนังสือ คือขายรองเท้าแตะอาจจะยาก แต่ขายหนังสือไม่ใช่เรื่องยากของเรา เรื่องที่ท้าทายของเราคือการ start from scratch อะ จากการที่เราไม่รู้อะไรเลยเรื่องวงการหนังสือเป็นยังไง ทำร้านออนไลน์ทำยังไง ขายของทำยังไง ดูแลลูกค้าทำยังไง แล้วก็เราเลือกจะใช้วิธีเริ่มทำเอง คือไม่ได้ไปเอา know how เรื่องเล่านี้มาจากใคร เริ่มไปทีละนิด ก็เลยไม่รู้สึกว่ามันเป็นความยาก

โจ้: แต่เราไม่คิดว่ามันเป็นความยากของพี่เน็ตนะ พี่เน็ตเป็นคนนิสัยอย่างนี้คือชอบทำอะไรจากศูนย์ คือถ้าเป็นพี่พี่ก็อาจจะไปเรียนระบบบัญชีมาเพื่อทำบัญชี พี่อาจจะเริ่มจากไม่รู้อะไรเลย แต่เค้าสนุกแบบนั้นไง (หัวเราะ)

เน็ต: มันเหมือนเป็นความท้าทายทีละขั้นบันไดให้เราปีน จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นสิ่งที่ยาก ยิ่งถ้ามีคนบอกว่า เอ้ยทำร้านหนังสือยากจัง คือเราไม่รู้สึกว่าเป็นงานที่ทีความยากเลย แล้วด้วยความที่เราทำเว็บเอง ไม่ได้จ้างทำ ไม่ใช่ว่าเรามีไอเดียแบบนี้ เราไปหาคนทำมาทำให้เรา  เพราะฉะนั้นถ้าเรามองว่ามันยากตั้งแต่แรก เราคงไม่ได้ทำ (หัวเราะ)

Readery ต่างจากร้านหนังสือออนไลน์อื่น ยังไง

โจ้: เราว่าในความเป็นอิสระของทุกคนมันแตกต่างโดยธรรมชาติอยู่แล้ว คือถ้าเราเป็นตัวเราให้ชัด มันก็จะต่างกันตรงนี้นิด ตรงนู้นหน่อยอยู่แล้ว แต่ถ้าถามของ Readery ตอบยากตรงที่เราไม่รู้จักคนอื่นขนาดนั้น

เน็ต: สิ่งที่เราคิดว่าต่างอาจจะเป็นร้านหนังสือที่มีคนรันน้อยมาก มีคนเบื้องหลังแค่ 3-4 คน ไม่ได้มีแผนก stock แผนก บัญชี ทุกคนเหมือนเป็นร้าน physical ร้านนึง แล้วทุกคนก็อยู่ในร้าน คืออยากเจอแผนกอะไรคุณเจอได้ที่นี่หมดเลย ไม่มีซ่อนอยู่ข้างหลัง

โจ้: คือก็มี outsource ด้วยนิดหน่อย แต่ตำแหน่งอื่น ๆ ก็คือรวมหัวกันอยู่ตรงนี้หมด คนห่อหนังสือของเราเป็นนักเขียนด้วยนะ คอนเซปต์ในการทำงานของพี่คือ เหมือนเรามีเพื่อนมาทำรายงานกลุ่มที่บ้าน พี่ไม่รู้สึกว่านี่คืออฟฟิศที่มีน้อง มีพนักงาน เราทำงานกันแบบนี้

เน็ต: แล้วก็มันคือการทำงานที่บ้าน เพราะฉะนั้นมันก็เลยแบบเป็นอย่างที่โจ้บอก การที่น้อง ๆ มาทำงานด้วยมันไม่ใช่ลูกจ้างไม่ใช่อะไร แต่มันคือการมาทำงานก้อนนี้ด้วยกัน

โจ้: แล้วพอรวมคนที่ชอบหนังสือมาอบู่ด้วยกันมันสนุก มันก็คุยแต่เรื่องหนังสือทั้งวี่ทั้งวันอะ เล่มนี้อ่านแล้วไม่ชอบอะ เล่มนี้สนุกมากเลย ทุกคนอ่านหนังสือกันตลอด มันสนุกดี เอ้ยแก วันนี้ชั้นจะสั่งหนังสือเล่มนี้นะ เอ้ย ลูกค้าถามเรื่องนี้มาอะ ใครเคยอ่านแล้วบ้าง จะอ่านเล่มไหนต่อดี คือมีอินบอกซ์มาถามตลอดเวลา ข้างในเราก็ตะโกนโหวกเหวกโวยวายถามกันแบบนี้ เด็กบัญชีก็จะถามขึ้นมา เดี๋ยวซักพักอีกคนก็จะถามขึ้นมาด้วยความเล็กของเรา คือโอเค ทุกคนมีหน้าที่ชัดเจนแหละว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่พอมันเป็นเรื่องที่ center มันเป็นหนังสืออยู่แล้ว ทุกคน base ด้วยหนังสืออยู่แล้ว มันก็จะมีคำตอบมาจากแต่ละคน ช่วยให้คนที่รับผิดชอบเรื่องนั้นอยู่เอาไปประมวลผลแล้วก็เลือกคำตอบที่ดีที่สุดไปใช้

โจ้: พี่ไม่รู้ที่อื่นจริง ๆ แต่พี่รู้ว่าที่ Readery พวกเราสนุกกับหนังสือมาก ๆ เหมือนฟังใจอาจจะสนุกกับการฟังเพลง แต่เราอะสนุกกับหนังสือมาก ๆ

ที่มาของประโยค READING IS SEXY

โจ้: มาจากภาพฝรั่งนอนอ่านหนังสือริมทะเล เวลาเราไปเที่ยวเกาะแล้วเห็นฝรั่งนอนอาบแดดริมทะเลอ่านหนังสือ แล้วพี่รู้สึกว่า เวลาไปไหน ไปร้านกาแฟ เห็นคนอ่านหนังสือ แล้วจะชะโงกไปดูอ่านไรอะ หรืออย่างคนอ่านบนรถไฟฟ้า อย่างน้อยสายตาเราจะขึ้นไปดู อ่านไรวะ พี่ว่าทุกคนที่ชอบหนังสือเป็น คนที่อ่านหนังสือมันมีความเซ็กซี่บางอย่างแผ่ออกมา นี่คือ READING IS SEXY

เน็ต: แต่จริง แล้วใต้คอนเซปต์อันนี้มันคือที่เราคิดมาเพื่อลดระดับความเข้าถึงยากของหนังสือ คือจริง ที่ Readery มันเริ่มจากการเป็นร้านหนังสือวรรณกรรม พอพูดถึงร้านหนังสือวรรณกรรมมันจะมีความอ่านยาก มันต้องป็นคนที่วิจารณ์หนังสือเล่มนี้ได้ ต้องอ่านยากแน่ เลย คนอ่านไก่กาอย่างเราจะไปอ่านไหวเหรอ คงไม่กล้าที่จะวิจารณ์อะไร เราเลยอยากใช้คำที่มันลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของการอ่านยากของมัน

โจ้: แล้วในยุคสมัยนึงที่เราพูดถึงหนังสือ เราพูดถึงแต่ฝั่งดีของหนังสือ หนังสือเล่มนั้นดี ฯลฯ นั่นก็จริง แต่อีกอย่างที่ไม่ได้พูดคือ หนังสือมันก็ให้ความสุขกับเราด้วยไง เราอ่านหนังสือเพราะเราสนุกก็ได้ อยากจะขับเน้นประเด็นเรื่องความสุขของการอ่านหนังสือ

เน็ต: ใช้คำที่มันง่าย เพื่อทำให้มันรู้สึก relax ในการอ่านหนังสืออะไรก็ได้ ไม่ต้องรู้สึกว่าเข้าไม่ถึง ให้มันป๊อปขึ้น

หนังสือเล่มแรกที่ขายใน Readery คืออะไร

เน็ต: เป็นของสำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด เรื่อง การเดินทางของคชสาร

โจ้: แต่หลังจากนั้นก็จะมีสี่สำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ระหว่างบรรทัด, กำมะหยี่, รหัสคดี แล้วก็เม่นวรรณกรรม

ตอนแรกเริ่มต้นมาด้วยเว็บไซต์เลยไหม หรือขายบน platform อื่นก่อน

เน็ต: ตอนแรกขายในเฟสบุ๊คก่อน เฟสบุคมันมีหน้าให้เชื่อมต่อแอปหรือปลั๊กอิน ตอนนั้นเราใช้แอพชื่อ bento ซึ่งเป็น e-commerce แรก ๆ ของเมืองไทย คล้าย ๆ marketplace แล้วเราก็ใส่ลงใน tab นึงในเพจที่เราเลือกให้มันเป็น shop ได้ คือตอนแรกมีหนังสือมันมีแค่สามเล่มเราเลยทำแบบนั้นได้ แล้วที่ใช้ปลั๊กอินเพราะยังทำเว็บไม่เสร็จด้วย ระหว่างนั้นก็พัฒนาเว็บของตัวเองไป ทำนู่นนี่ไป แล้วมันก็เป็นเรื่องบังเอิญให้เปิดเว็บในวันนั้นเลยคือวันที่ 2 กรกฎาคม จำได้เพราะว่าพี่เจ้าของเพจ โลกในมือนักอ่าน เราเคยเอาเว็บที่เราปั้น ๆ อยู่ให้เค้าดู แล้ววันนั้นเค้าเอาไปโพสต์ในเพจเฉยเลย กูยังทำไม่เสร็จเลย (หัวเราะ) แบบ เอ้า ต้องเปิดแล้วเหรอ งั้นเปิดเลยก็ได้ ก็เปิดด้วยความไม่พร้อมสุด ๆ เลย แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรนะ ฟังก์ชั่นมันใช้ได้อยู่แล้ว แต่ก็ค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ แก้ ค่อย ๆ ปรับ

โจ้: ทุกวันนี้ก็ยังทำแบบนั้นอยู่ (หัวเราะ)

Readery เน็ต—นัฏฐกร ปาระชัย อ่านหนังสือ

ทำไมถึงทำ Podcast แล้วผลตอบรับดีไหม

เน็ต: อย่างแรกคือ The Standard มาชวนเรา ในช่วงที่ The Standard เปิดใหม่ ๆ เราเคยเขียนคอนเทนต์ลง ต่อมาพอมันมีโปรเจคต์ podcast ขึ้นมา ทาง standard เองก็อยากให้มันมีคอนเทนต์เกี่ยวกับหนังสืออยู่ในนั้น

โจ้: คือเราอะไม่รู้ตัวว่าเราเป็นอย่างนี้ สิ่งที่อยู่ใน podcast คือชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว เราก็อ่านหนังสือนะ ละก็แบบ เฮ้ยแก อ่านเรื่องนี้หนุกป่าว เล่มนี้พูดเรื่องไรวะ มันเป็นสิ่งที่เราคุยกันแบบนี้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพื่อนที่อยู่ the standard ทั้งหลายแหล่พอเค้าเห็นว่าเราเป็นแบบนี้ เค้าก็ชวนให้ทำ ให้คนอื่นเค้ารู้ด้วย คุยกับเราด้วย

เน็ต: เราอาจจะประเมินตัวเราต่ำไปนิดนึงด้วย เราคิดว่าสิ่งที่เราคุยกันอะดูเป็นคอนเทนต์ที่ธรรมดา แต่พอไปอยู่ที่คนอื่นได้ฟัง มันก็น่าสนใจดีนะ กับอีกอย่างนึงคือ มันเป็นปีสองปีของ podcast อะ ใช่ปะ มันเป็นกระแส เป็น platform สำหรับการนำเสนอคอนเทนต์ ที่จากเดิมมันก็จะเป็นการโพสต์ลงโซเชียล มีเว็บของตัวเอง มีบล็อก สำหรับเราเรามองว่า podcast มันก็เป็นอีก content platform อันนึงที่กำลังมาและสำคัญมากในตอนนี้

โจ้: แต่เอาจริง ๆ ตอนเริ่มต้นเราไม่ได้คิดอย่างนี้เลยนะ คือก็คุยกันเหมือนที่อยู่ใน podcast คือเราไม่รู้ว่าสิ่งนี้คนเค้าก็สนุกในการฟังแล้วมันจะเป็นเทรนด์ในปัจจุบันนี้ ตอนแรกเราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา โคตรธรรมดาในชีวิตเรา

เน็ต: ทำมา 31-32 ตอนแล้ว ก็คือเราเทสต์ซีรีส์แรกเมื่อปีที่แล้วแค่ 10 ตอน แล้วจริง ๆ อะ ปีนี้เราพูดว่ามันเป็นซีซั่นสอง แต่ซีซั่นสองที่ commitment ของมันคือวีคละตอน แปลว่าเรา commit ไว้ 52 ตอน บวก special episodes ต่าง ๆ มากมาย

โจ้: แต่มันก็เป็นสิ่งที่มีความสุขมาก ๆ ในการทำ podcast เวลาเราได้อ่านหนังสือเนอะ

เน็ต: มันก็ challenge เราด้วย คือปกติเราอ่านแล้วก็ไม่ได้นับเล่มอะ เราอ่านไปแล้วเท่านั้น แต่พอมีตัวเลขกำกับว่าอย่างน้อย 52 เล่ม เราต้องอ่าน ก็เป็นสิ่งที่ challenge ดี จริง ๆ ตอนแรกอยากจะ challenge คนอ่านด้วยว่า เฮ้ย 52 เล่มมาอ่านด้วยกันมั้ย แต่เอาไว้ซีซั่นสามก่อนแล้วกันครับ (หัวเราะ)

โจ้: แต่ก็อ่านไปเหอะ กี่เล่มก็เหอะ (หัวเราะ)

ความยากอะไรในการทำ podcast

โจ้: ก็อย่างที่ว่า คือพี่อยากอ่านเล่มนู้นเล่มนี้ตลอดเวลา แต่เวลาใน podcast มันก็มีอยู่เท่านี้ จริง ๆ ก็อยากจะพูดถึงหนังสือเยอะ ๆ อะ

เน็ต: ความยากคือ พี่เป็นคนไม่พูด (หัวเราะ) อาจจะไม่เชื่อว่าเป็นคนไม่พูด แต่ตอนสัมภาษณ์พูดเยอะจัง (หัวเราะ) คือว่าตอนอยู่บ้าน อยู่ออฟฟิศ ก็เป็นคนไม่พูดเลย ที่วันนี้ดูเหมือนพูดเยอะขึ้นอาจจะเป็นเพราะ podcast ก็ได้นะ (หัวเราะ) สำหรับพี่ มันฝึกการสื่อสารด้วยการพูดให้คนอื่นฟังเข้าใจ แล้วก็สนุกด้วย มันมีหลายชั้น ชั้นแรกคือต้องเอาตัวเองจากคนที่ไม่พูดให้เป็นคนพูดให้ได้ก่อน แต่โปรดิวเซอร์รายการก็ช่วยเยอะแหละ

โจ้: ก็ให้ไกด์คำถามมา ช่วยตบ ๆ กันหน่อย

เน็ต: เพราะเค้ามีหน้าที่รับผิดชอบความสนุกของรายการ เค้าก็จะคอยแนะนำว่าเราควรทำยังไง

โจ้: ขอบคุณ The Standard มา ณ ที่นี้ (หัวเราะ)​

ที่มาของโปรเจค Paper Cut ที่เอาหนังสือมา collab กับเพลง

โจ้: มาจากเพื่อนคำเดียวเลย โปรเจคต์เพื่อน พี่ เจี๊ยบ – วรรธนา เป็นเพื่อนพี่ พี่จุ๋ม เจ้าของสำนักพิมพ์ P.S. ก็เป็นเพื่อนพี่ คือพี่ทำโปรดัคชั่นหนัง ละคร มาก่อนเนอะ ก็จะมีขาหนึ่งอยู่ในพาร์ทฟิล์ม ขานึงอยู่ในพาร์ทหนังสือ พี่ก็จะมีเพื่อนสองกลุ่ม จะทำยังไงให้เหมือนได้นั่งคุยกับเพื่อนไปเรื่อยแล้วทำนู่นทำนี่กัน อย่างที่ใน Readery เองก็ทำงานเหมือนเพื่อนมาทำงานกลุ่มที่บ้าน ก็คือโปรเจคต์ Paper Cut อะ แกมา แกร้อง แกเขียนเพลง

เน็ต: ถ้าเราย้อนไปอีกนิดนึง โปรเจคต์ Paper Cut มันย้อนไปที่ พี่เจี๊ยบเค้าทำเพลงมาเพลงนึงก่อน แล้วเค้ารู้สึกว่าเพลงนี้ด้วยเนื้อหาของเพลง ด้วยฟีลของเพลง เค้าอยากอัดในร้านหนังสือ

โจ้: เค้าก็แบบ เฮ้ยโจ้ ขอไปอัดเพลงที่ร้านหนังสือบ้านแกได้มั้ย

เน็ต: เพราะเพลงมาแบบ ‘รักกลายเป็นกระดาษ’

โจ้: ‘กระดาษบาดมือ ทำให้เจ็บ’ เราก็แบบ อะ มา ๆ

เน็ต: คือเพลงนี้สิ่งที่เค้าต้องการทำคือต้องการอัดสด อัดในสถานที่จริง เพราะฉะนั้นกระบวนการทำงานของเพลงนี้คือ มันต้องการซอกตู้ทุกซอกใน Readery เพื่อไปอัดเสียงกีตาร์ เสียงอะไรต่าง ๆ

โจ้: ที่สนุกมากก็คือ เค้าจะแยกเสียงใช่ปะ เสียงร้องตรงตู้หนังสือนี้ เสียงแซ็กโซโฟนที่ตู้หนังสือนั้น อะไรอย่างนี้

เน็ต: แล้วลากสายทุกอย่างไปคอนโทรลอยู่ห้องใต้ดิน ก็เป็นวันทำงานที่สนุกมาก อยู่ดี ๆ เปลี่ยนบ้าน เปลี่ยนร้านของเราเป็นห้องอัดเลย

โจ้: อัดเบสก็แบบ กินส้มตำ มันคือเพื่อนอะ มันคือการอยู่กับเพื่อนอะไรอย่างนี้

เน็ต: แล้วเค้าอัดแล้วมิกซ์เลย มิกซ์ประมาณ 9 เวอร์ชั่น ฟังกันจนห้าทุ่มเที่ยงคืน พี่เจี๊๊ยบก็ร้องไห้ แบบ ‘ชั้นไม่คิดว่าเพลงที่ชั้นแต่งจะ emotional ขนาดนี้’

โจ้: แล้วเราก็ชวนสำนักพิมพ์ P.S. ที่มีนักเขียนรุ่นใหม่ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ด้วย คอนเทนต์มันคล้าย ๆ กันน่าจะเข้ากันได้

เน็ต: คือสำหรับเรา สำนักพิมพ์ P.S. ในปีที่ผ่านมาเป็นสำนักพิมพ์ที่น่าจับตามองมาก ๆ เพราะเค้าทำเนื้อหาของหนังสือเค้าให้ไปเข้ากับคนกลุ่มนึงที่ต้องการหนังสือประเภทนี้พอดี เป็นหนังสือที่พูดถึงอารมณ์ ความผู้หญิง รักครั้งแรกแล้วอกหักครั้งแรกเป็นยังไง

โจ้: เอาจริงทุก ๆ คนบนโลกใบนี้ มันไม่ใช่ว่าคนนี้ฟังเพลง คนนี้อ่านหนังสือ คนเรามันทั้งดูหนังฟังเพลงอ่านหนังสืออยู่แล้ว มันไม่มีคนนี้ฟังเพลงแล้วไม่อ่านหนังสือ คนเรามันทำทุกสิ่งเป็นก้อนกลม ๆ อยู่แล้ว พี่ก็มานั่งคิดกันว่า โลกสมัยใหม่เหมือน collab กันตลอดเวลา จริง ๆ ก็อาจจะไม่ใช่แค่ หนังเพลงหนังสือ Readery เองก็อาจไป x กับอาหารก็ได้ กับการท่องเที่ยวก็ได้ มันได้กับทุกสิ่ง

คิดว่าจะทำอีกไหม กับศิลปินคนไหนอีก

โจ้: โปรเจคต์นี้ขึ้นอยู่กับเพื่อน อย่างที่บอกว่าพี่เพื่อนเยอะ ก็นึก ๆ เดี๋ยวชวนอิน บุโดกันทำเพลงกันมั้ย พี่มีเพื่อนที่เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง นักเขียน อยู่จำนวนนึงเลย ก็เดี๋ยวค่อย ๆ ดูว่าใครจะเหมาะกับใคร แต่แน่ ๆ ที่อาจจะมีก็อาจจะเกี่ยวกับภาพยนตร์หรือหนังก็ได้นะ กำลังคุยโปรเจคต์กันอยู่

คิดว่าเราสามารถเอาวรรณกรรมไป collab กับอะไรได้อีกบ้าง

โจ้: มันได้หมดแหละ คือหนังสือมันเป็นโปรดัคต์พิเศษอย่างนึงคือ มันมีตั้งแต่หนังสือการเกษตรเพาะปลูกเห็ด ยันการเดินทางไปดาวอังคาร มันเป็นโปรดัคต์เดียวที่ครอบคลุมทุกสิ่งอะ ดังนั้นมันก็ collab กับอะไรก็ได้ กับฟังใจอยาก collab มากเลยเงี้ย หนังสือกับเพลงเนอะ มันก็มีอะไรเข้ากันตั้งเยอะ

Readery โจ้—อนุรุจน์ วรรณพิณ อ่านหนังสือ

หนังสือที่ขายใน readery ที่พี่ ชอบที่สุด

โจ้: อืม… อันนี้ตอบไม่ได้เพราะว่าเล่มไหนขายดีพี่ก็ชอบ (หัวเราะ)

เน็ต: เมื่อก่อนตอนที่เราเป็นคนอ่านอย่างเดียวไม่ได้ขาย อันนี้น่าจะตอบได้ง่าย คือหนังสือที่มีอยู่ในหัวเรามันมีไม่เยอะเท่าไหร่ แล้วก็มีเล่มที่ชอบจริง แต่พอทำร้านหนังสือแล้วเนี่ย คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบยากมาก

โจ้: เพราะพี่สติแตกไปแล้ว (หัวเราะ)

เน็ต: พอเราทำงานกับหนังสือแต่ละเล่ม หลายปีเข้า หนังสือแต่ละเล่มนอกจากมันจะมีเนื้อเรื่องแล้ว มันยังมีประวัติศาสตร์ของมันในการทำงานหนังสือเล่มนั้น เล่มที่พี่ชอบพี่อาจจะบอกว่าพี่ทำงานสนุกกับเล่มนี้ เช่น เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ ที่พี่ชอบเล่มนี้คือเพราะว่ามันเป็นเล่มที่ขายดีที่ Readery ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ต้องการ ถ้าจะถามว่าชอบเล่มไหนมากกที่สุด อาจจะต้องมาคุยกันอีกรอบไหม (หัวเราะ) เพราะว่ามันจะคุยยาวมาก

โจ้: ชั้นขอเป็น 100 เล่มนะ อาจจะพอตอบได้ (หัวเราะ)

เน็ต: แปลว่าไม่ตอบ คำถามนี้ ตอบไม่ได้ (หัวเราะ)

ถ้าต้องจัดหนังสือให้นายกประยุทธ์ อยากให้อ่านอะไร

โจ้: จริง ๆ พี่มีหนังสือสองเล่มที่ธีมเดียวกัน เอาหนังสือภาษาอังกฤษก่อน From Dictatorship To Democracy เขียนโดย Gene Sharp อันนี้เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มบางมาก 100 กว่าหน้า พูดถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงจากเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตย กับอีกเล่มคือ บันทึกโลก เป็นหนังสือประวัติศาสตร์โลก ตัดมาเป็นช็อต ๆ ที่อยากให้คุณประยุทธ์อ่านเพราะว่าอยากให้คุณประยุทธ์รู้ว่า สิ่งที่คุณประยุทธ์กำลังยื้อ กำลังทำอยู่เนี่ย มันยื้อไม่ได้หรอก ประวัติศาสตร์มันมีบอกอยู่ว่า สุดท้ายแล้วคุณประยุทธ์จะมีชีวิตลงเอยอย่างไร มันอาจจะเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง มันจะต้องลงเอยอย่างนี้เสมอ ยังไงธรรมชาติของมนุษย์มันต้องเอียงลงไปในทาง free spirit, freedom, free voice มนุษย์ถูกสร้างมาเป็นแบบนั้น การฝืนธรรมชาติมันอาจจะทำได้ชั่วคราวแต่ไม่ได้ทำได้ตลอดไป แล้วที่พยายามจะ force ให้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ มันก็คือผิดธรรมชาติเนอะ แล้วมันก็มีจุดจบที่ไม่สวยงาม 100% ในประวัติศาสตร์โลก อยากให้ได้รู้ว่า อย่าเลือกเส้นทางนั้นเลย เราก็เป็นห่วงเนอะ (หัวเราะ) อายุก็เยอะแล้วเนอะ

เน็ต: ของพี่แนะนำเล่มนี้ 77 วิธีเล่นมัดใจหลาน ของ Yuko Shimura ลุงไม่ควรอยู่ตรงนี้เลยตั้งแต่แรก ลุงควรไปอยู่กับหลาน ไปเลี้ยงหลาน อยู่ที่บ้าน ไม่มีเหตุผลเลยที่ลุงจะอยู่ที่นี่ ไปซะ (หัวเราะ)

Readery เน็ต—นัฏฐกร ปาระชัย อ่านหนังสือ

คิดว่าการมีร้านหนังสือออนไลน์มีผลต่อธุรกิจหนังสือแบบ offline ไหม

โจ้: ต้องตัดคำว่า online / offline ก่อน โลกยุคนี้เป็นโลกที่เกิดการ disrupt ทุกสิ่งอยู่แล้ว การจะกินก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอย เราไม่ได้เดินไปร้าน เราสั่งไลน์แมนไปเอามาให้เรากิน ทุกอย่างมันถูก disrupt โดยโลกสมัยใหม่อยู่แล้ว แล้วโลกที่มันกำลังจะ shape ไปเรื่อย เนี่ย มันไม่มีคำว่า online กับ offline อีกแล้ว มันมีคำใหม่ที่ชื่อว่า omnichannel ทุกอย่างมันจะรวมผสมกลมกลืน ทุกคนมีทุกสิ่งแบบแยกไม่ออกแล้ว ดังนั้นคือตัวมันที่เกิดการ disrupt ทั้งหมดอยู่แล้ว ใครจะไปรู้ว่าร้านหนังสืออนไลน์อย่าง Readery จะมีร้าน physical ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันมีโอกาสที่จะเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

เน็ต: คือแต่มันส่งผลกันแน่นอน ไม่ว่าคนทำร้านหนังสือประเภทไหนก็ต้องรับรู้ถึงผลกระทบระหว่างกันอย่างนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่วงการหนังสือ วงการเพลง วงการหนัง วงการคอนเทนต์ ทุกอย่างเปลี่ยนวันต่อวันเลย แล้วยิ่งถ้าพวกเราเริ่มจากร้านหนังสือออนไลน์เรายิ่งต้องปรับตัววันต่อวันเลย เพราะฉะนั้นก็ไม่แปลกที่ร้านหนังสืออฟไลน์ทุกร้านก็ต้องปรับตัวเหมือนกันครับ

คิดว่า e-book/kindle มีผลไหมในไทย

โจ้: คือถ้าจะมีผลในมุมของพี่ซึ่งเป็นนักอ่าน มันมีผลดีนะ พี่เป็นคนซื้อหนังสือ e-books วันละเล่มอะ ซึ่งมันก็สะดวกดีเวลาไปไหน นั่งรอ หยิบมือถือขึ้นมาเปิดอีบุ๊คอ่านอะ มันก็มีข้อดีอยู่มาก พี่ชอบ จริง ๆ ต้องพูดอีกเรื่องที่กำลังเป็นที่นิยมตอนนี้คือ audiobooks มันเป็นอีกเทรนด์ที่กำลังมา คือบางทีเวลาคนอ่านหนังสือปิดไฟปุ๊บมันก็อ่านไม่ได้แล้ว หรือเปิดมือถือมันก็ต้องถืออ่าน แต่ถ้ามันฟังมันก็ไปได้เรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ ว่ามันมีผลต่อกันและกันในทุก ๆ มิติ

เน็ต: มองไซส์ของตลาดไทยมากกว่าว่าเป็นตลาดหนังสือเล็ก แต่ถ้าเราพูดถึงเทรนด์โลกหรือเทรนด์ในอเมริกา ว่ามันเกิดผลกระทบแก่กันและกันอย่างไร ภาพมันจะชัดกว่าด้วยขนาดของตลาดที่ใหญ่ แต่พอตลาดไทยซึ่งเล็กมากหรือหนังสือกลุ่มที่มันเฉพาะกลุ่ม เช่นวรรณกรรมที่จำนวนพิมพ์มันไม่ได้สูงมาก ขั้นต่ำมัน 2,000-2,500 ผลกระทบมันไม่ได้ใหญ่มาก แล้วจริง ๆ กลุ่มที่แค่หาคนอ่าน 2,500 คนก็ยากแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการมาถึงของ e-books หรืออะไรอย่างอื่นเลย ไซส์ของตลาดมีผลที่ทำให้ปริมาณข้อมูลไม่พอที่จะเห็นผลกระทบชัดเจนขนาดนั้น แต่ถ้าในมุมของเรา คนอ่านพร้อมมากๆ ที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพราะมันทำให้เราสบายขึ้นอะ สมมติว่ามีหนังสือเล่มนึง กับ audiobooks มา ตอนนี้อายุมากขึ้น ตาไม่ค่อยดี ก็อาจจะชอบ มันเป็นชอยส์ของเรา

โจ้: แล้วหูดีหรอ หูก็ไม่ค่อยดีปะ (หัวเราะ) เหมือนตอนที่เราวิ่งบนลู่อะ เราอ่านหนังสือไม่ได้ไง (หัวเราะ) แล้วมันก็อ่านค้างอยู่ แล้วก็เนี่ย อยากรู้

เน็ต: มันก็เหมือนกับการที่ปีสองปีนี้ podcast มา มันก็เป็นสื่อใหม่ ๆ

โจ้: ถ้าพูดถึงสื่อใหม่อยากพูดอีกอย่างนึง สิ่งนี้เค้าเรียกว่าดิจิทัล คอนเทนต์เนอะ พูดง่าย ๆ คือเด็กดีโมเดล เมื่อก่อนเมื่อประมาณซัก 10 ปีอาจจะเป็นความนอกกระแสที่เด็ก ๆ ช่วยกันเขียนเรื่องอะไรกันขึ้นมา แต่ในวินาทีนี้เนี่ย เรื่องในเด็กดีมันสนุกมาก แล้วมันแซ่บมากนะ มันมี พล็อต มี structure อะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวที่มันสนุกมาก ๆ แล้ว user หรือคนอ่านมีจำนวนมหาศาลอะ มีเป็นแสนวิว พี่ถึงรู้สึกว่า ใครว่าคนไทยไม่อ่านหนังสือ แต่คนไทยอ่านสิ่งนี้กันทุกวันตลอดเวลา พี่ไปไหนก็เห็นน้อง ๆ นั่งอ่านกัน มันก็น่าตื่นเต้นอะครับ

ได้สังเกตไหมว่ากลุ่มร้านหนังสืออิสระอย่าง Readery, Candide, Zombie Books, Bookmoby มีจุดร่วมบางอย่างอยู่

โจ้: คำว่าอิสระไง (ตอบทันที) พี่ชอบคำนี้มาก (เน้นเสียง) คำว่าอิสระมันเปิดโอกาสให้เราเป็นอะไรก็ได้ เราอาจจะเป็นร้านหนังสือที่มีคนรักแมว เลี้ยงแมวไว้ข้างในก็ได้ อาจจะเป็น book & beeer เราเป็นอะไรก็ได้เลย คำนี้มันเปิดโอกาสให้ใครที่อยากทำธุรกิจด้านหนังสือมันจะคิดอะไรพิสดารขึ้นมายังไงก็ได้ มันอาจจะเป็นร้านหนังสือที่ขายหนังสือเพียงแค่ปกเดียว พราะฉะนั้นจุดร่วมที่มีมันก็คือความอิสระ อยากบอกให้ทุกคนที่ทำร้านหนังสืออิสระ keep ความอิสระของตัวเองไว้ แค่นั้นก็โอเคละ

เน็ต: คือนอกจากความอิสระ เราอยากเพิ่มอีกคำนึงคือความชอบ ถ้าศัพท์ที่ Readery ใช้มันคือความบ้าคลั่ง ที่เราบ้าหนังสือย่างนี้ มันต้องแสดงความบ้าคลั่งออกมาให้ขายของให้ได้ พูดง่าย คือ เราด้วยความที่อ่านเยอะ เก็บหนังสือเยอะ บ้าจัดชั้น บ้าอะไรต่าง ๆ สิ่งนึงในวิธีการทำงานของเราคือการแปลความบ้าคลั่งเหล่านี้ออกมาให้กลายเป็นคอนเทนต์ ให้กลายเป็นการชวนให้คนมาอ่านหนังสือ

โจ้: เหมือนแนะนำให้รู้จัก เราชอบหนังสือเล่มนี้ เราก็อยากให้คนมาอ่านหนังสือเล่มนี้เยอะ

เน็ต: พี่จะเป็นคนบ้าประเภทแบบ ถ้าตามอ่านนักเขียนคนนี้เราต้องมีหนังสือทุกเล่มของนักเขียนคนนี้

โจ้: หรือปกทุกเวอร์ชั่น หรือต้องรู้ว่าเจ้าชายน้อยพิมพ์ในเมืองไทยแล้วกี่ปก ย้อนหลังไปถึงปี 2523 ใช่มั้ย พวกนี้เป็นสิ่งที่เราสนุกอยู่ เราอยากแปลงให้กลายเป็นคอนเทนต์ เป็นสิ่งที่ชวนให้คนมาบ้าคลั่งกับเราด้วย

มือถือหนังสือ

คอนเทนต์ที่เราได้เห็นใน Readery มาจากทั้งสองคน

โจ้ และ เน็ต: (ตอบพร้อมกัน) มาจากความบ้าคลั่งของพวกเรานี่แหละ (หัวเราะ)

โจ้: ป้ายยาคนอ่าน (หัวเราะ)

ความบ้าคลั่งนับเป็นจุดยืนของร้าน Readery ในการเป็นร้านหนังสืออิสระด้วยใช่ไหม

เน็ต: ก็ด้วยครับ เรียกได้ว่าเราพยายามขุดความบ้าคลั่งของแต่ละคนที่ไม่ใช่แค่เราสองตคน ตอนที่เรารับน้อง ๆ เข้ามาในทีม เราก็ถามว่าชอบอ่านหนังสืออะไร มันมีแบบนี้จริง ๆ เรารับคนอ่านหนังสือแล้วคุยกับเราถูกคอมาทำบัญชี (หัวเราัะ) ซึ่งสำหรับเรามันไม่ได้ nonsense นะ เพราะหลักการทำงานภายในของเรา เราอยากทำงานอย่างมีความสุข อยากทำงานอย่างสนุก ถ้าเราเห็นใครซักกคนหน้ามุ่ย เคร่งเครียด เซ็งกับงาน เรารู้สึกว่าเอ้ยไม่ใช่ อีกอย่างนึงคือที่ทำงานคือบ้านเรา เพราะฉะนั้นเราไม่อยากเห็นมู้ดที่คนไม่อยากทำ ยังไงก็ได้ ไม่มีสกิลก็ได้ เพราะเราก็เริ่มต้นจากการไม่มีสกิล เราเริ่มต้นได้ พัฒนาได้ เรียนรู้ได้ แต่อย่างแรกที่ขอให้มีมาตั้งแต่แรกและมีตลอดการทำงานกับเรา คือความสนุกกับหนังสือ

โจ้: แล้วหนังสือมันดีจริง ๆ นะ สมมติว่ามีอยู่ช่วงนึงออฟฟิศเราบ้าคลั่งหนังสือชื่อ Mindset มันจะอธิบายว่ากรอบความคิดของคนมี 2 แบบ growth mindset กับ fixed mindset แล้วพอทุกคนในออฟฟิศอ่าน ก็จะแบบ เอ้ย ไอ้นี่มัน fix mindset! เรามา growth mindset กันเถอะ (หัวเราะ) Readery ก็โตไปกับหนังสือที่เราขาย

เน็ต: ความสนุกอีกอย่างในการทำงานในทีมของเราคือ การที่ได้รู้หนังสือเพิ่ม อย่างเราก็คิดว่าเรารู้เยอะแล้วแหละ เรารู้หนังสือเยอะกว่าใคร แต่น้องที่เข้ามาใหม่ ๆ ทำให้เรารู้จักหนังสือที่เค้ารู้จัก หนังสือที่เค้าชอบ ที่เรายังไปไม่ถึงเค้า ความสนุกในการทำงานทุกวันคือ การ name หนังสือชื่อที่เรายังไม่เคยอ่าน

โจ้: น้องก็จะบอก พี่โจ้อ่านเล่มนี้สิ พี่โจ้อ่านเล่มนี้ยัง พี่ต้องชอบ ลูกค้าเองก็สนุกกับเรานะ เค้าก็บอกเอ้ยรีวิวเล่มนี้สิ ดีนะ เราก็ได้ความรู้จากลูกค้าไม่น้อย แลกเปลี่ยนกัน

จัดชั้นหนังสือที่บ้านตัวเองอย่างไร

เน็ต: มีตู้หลายประเภท มีตู้ emotional คือตู้ส่วนตัว มีหนังสือที่แบบห้ามแตะ เป็นที่เล่มโปรดจัด มีความหลังกับมัน ของรักของหวง หนังสือกองนี้ของกู

โจ้: เช่นแบบ หนังสือเล่มนึงพี่ไปเจอที่ร้านหนังสือมือสองที่เกาะพีพี เป็นต้น ส่วนพี่เน็ตเป็นพวกบ้าจัดชั้นหนังสือมาก ว่าง ๆ ก็เรียงใหม่ เรียงใหม่ ซึ่งพฤติกรรมนี้พี่เป็นตั้งแต่เป็นเด็กประถมเลยนะ พี่มีตู้หนังสือพี่ก็จัดสลับไปมาตามก. ไก่ถึง ฮ. นกฮูก A-Z บางทีก็เรียงตามชื่อนักเขียน บางทีก็เรียงตามนามสกุลนักเขียน บางทีก็เรียงตามวันที่ที่ซื้อ อะไรแบบนี้ พี่จัดบ่อยอะ

เน็ต: ส่วนใหญ่จะจัดตามนักเขียนเพราะเราเก็บตามคอลเลคชั่นนักเขียน อย่างที่บอกว่าถ้าเราตามนักเขียนคนไหนก็จะตามงานของเค้าค่อนข้างเยอะ ถ้านักเขียนคนนี้มีเกินกว่า 10 ปก ก็คือเค้าเป็นนักเขียนคนโปรดของเรา

โจ้: แต่ต้องนึกภาพว่าหนังสือบ้าน เรามีประมาณ 10,000 titles บาง title เช่น หนังสือของหวงอี้ ปกละ 1 เรื่อง มีประมาณ 50 เล่มก็มี แต่ไม่ว่าหนังสือเล่มนี้จะอยู่ลึกสุดใจขนาดไหน พี่จะรู้ว่ามันอยู่ตรงไหน เพราะพี่เป็นคนจัดชั้นหนังสือ มันจะรู้อะ มันมีเซนส์ว่าไอ้นี่ต้องอยู่ซอกตู้นี่

เน็ต: การเติบโตของเราคือ หลัง ๆ เราไม่ค่อยยึดติดกับเล่มเท่าไหร่แล้ว แตก่อนจะรู้สึกว่าแบบ หนังสือมันคือ physical thing ที่แบบรัก หวง แหน บูชา แล้วต้องคอยจัดเก็บ ต้องคอยย้ายที่มันให้มันอยู่ในที่ถูกต้อง แต่ตอนหลังเรารู้สึกว่ามันแบบ เราอ่านหนังสือไปแค่หนึ่งในพันหมื่นล้านเล่มในโลกนี้เท่านั้นเอง ถ้าเรามัวแต่ยึดติดกับแค่ object ที่เรามี พูดง่าย ๆ ถ้าชั้นหนังสือบ้านเราเต็มแล้ว เราจะปิดตัวเองไม่ให้ซื้อหนังสือใหม่ ๆ ที่เรายังไม่ได้เจอไหม

โจ้: แต่เรื่องนี้เราไม่เหมือนเน็ต เรายังต้องการเห็นสิ่งนี้อยู่ สมมติเรานอนเราต้องการเห็นเล่มนี้อยู่ตรงนี้ แล้วถ้าบ้านเราหนังสือเต็ม ชั้นจะซื้อที่เพิ่มแล้วสร้างบ้านให้หนังสืออะ ชั้นเป็นอย่างนั้น

เน็ต: ของเราสิ่งที่แก้ปัญหาก็คือ หนังสืออยู่ไหนไม่เป็นไร แต่เรามีเว็บอยู่บอกว่ามันอยู่ที่ไหน (หัวเราะ) คือตอนนี้อยากทำเว็บหรือแอปที่อยู่ในมือถือแล้วกดหาว่าหนังสืออยู่ที่ไหน

โจ้: แบบหันไปทางไหนนะแล้วให้มันร้อง (หัวเราะ)

เน็ต: หรือใส่แบบ RFID แบบเล่มนั้น กดให้มันร้อง (หัวเราะ)

โจ้: หรือทำได้วะ

เน็ต: หนึ่งหมื่นชิปอะ มึงมีตังค์มั้ยล่ะ (หัวเราะ)

โจ้ Readery โจ้—อนุรุจน์ วรรณพิณ

ชอบร้านหนังสือร้านไหนที่สุด 

โจ้: ชอบ Amazon ตอบเลย (หัวเราะ) เพราะว่าพี่ซื้อหนังสืออะเมซอนทุกวัน คือแบบยังซื้ออยู่ทุกวันไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่มหรือว่า kindle แล้วตอนนี้ก็เพิ่ม audible มาอีกแล้ว ได้เพิ่มความชิบหายมากขึ้นอีกแล้ว (หัวเราะ) สำหรับพี่อะเมซอนมันครบมาก

เน็ต: ถ้าถามเราแต่ก่อนว่าชอบหนังสือร้านอะไร เรามีคำตอบให้นะ แต่ว่าชีวิต 2-3 ปีหลังเนี่ย การเดินทางไปร้านหนังสือร้านนึงมันเป็นเรื่องยากลำบากเหมือนกัน แต่ถ้าถามว่าตอนนี้ชอบอะไร ของพี่จะเป็นแฟน Book Depository ในเว็บ ส่วนถ้าชอบร้านหนังสือ physical ร้านไหนที่สุดในเมืองไทย พี่ตอบว่า Kinokuniya เพราะว่า มันพร้อม มันมีสิ่งทีเราต้องการอยู่ในนั้นทั้งหมด ส่วนร้านหนังสือเล็ก ร้านหนังสืออิสระ พี่จะผูกติดกับการท่องเที่ยว คือโอกาสที่จะได้ไปร้านหนังสือเหล่านั้นคือการเซ็ตตัวเองว่าจะไปเที่ยว แล้วร้านที่ชอบเสมอคือร้านหนังสือมือสอง Gekko ตรงหลังถนนท่าแพที่เชียงใหม่ เพราะจริง พี่อยู่เชียงใหม่ เลยเป็นที่ ๆ พี่ไปบ่อยที่สุด ไปเชียงใหม่ก็จะต้องไปร้านนี้กับ Backstreet Book เค้า เหมือนเป็น book depository ขนาดย่อมสำหรับร้านหนังสือมือสอง แล้วก็อีกอย่างที่ชอบของสองร้านนี้คือ พอเป็นร้านหนังสือมือสองของเมืองท่องเที่ยว สิ่งที่เราจะได้เห็นคือคนที่มาเที่ยวในแต่ละปี เค้าอ่านอะไรกัน เพราะว่าร้านหนังสือมือสองมันคือการที่คนเอาหนังสือมาจากบ้านตัวเอง อ่านจบแล้วเอามาเทรดที่ร้าน เพราะฉะนั้นหนังสือที่กองอยู่ที่ร้านคือหนังสือที่เค้าเอามาจากบ้านเค้า เอามาเทรดกอง ตรงนี้ เราก็จะได้เห็นเทรนด์ว่าทำไมกลุ่มนักท่องเที่ยวของปีนี้ถึงชอบอ่านเล่มนี้จัง  พอมันเทรด มันก็จะมีหนังสือปกเดียวที่คนเค้าเอามาเทรดเป็นกอง

โจ้: พอพูดถึงร้านหนังสือที่เป็นร้าน พี่เคยอยู่แคลิฟอร์เนีย ที่เมืองนอกมันจะมีร้านหนังสืออยู่ตามชายทะเลเมืองเล็ก ริมทะเล มีทั่วไปหมด ทุกบล็อกถนน ถ้าถามว่าทำไมชอบร้านหนังสือนี้ ข้างในเค้าขายอะไร คำตอบคือเค้าขายหนังสือทั่ว ไป นั่นแหละ แต่สิ่งที่ชอบคือบรรยากาศร้านหนังสือที่อยู่ตามร้านเล็ก ริมทะเล มันจะมีร้านกาแฟน่ารักเล็ก ติดกัน มีร้านสัก ขายกางเกงว่ายน้ำ เซิร์ฟบอร์ด อะไรที่มันเป็นคอมมูนิตี้ พี่มานั่งคิด เออจริง ที่พี่ชอบคือความธรรมดาของหนังสือที่อยู่ปน กับสิ่งอื่นอะ เช่นกาแฟ ร้านแซนด์วิช ลงไปทะเล ตื่นมาซื้อกาแฟ ลงไปอ่านหนังสือ ซื้อไอติม ชอบความปกติธรรมดาของร้านหนังสือที่อยู่ในชุมชน การที่หนังสือไม่ใช่เรื่องพิสดารอะไร

เน็ต: แล้วหนังสือที่ขายในร้านมือสองมันมักจะเยินนิดหน่อย มันมีเรื่องเล่าอยู่ในนั้น มันจะต่างกับ หนังสือเล่มนั้นเพิ่งออกแล้วเราเพิ่งแกะซีล ความรู้สึกมันจะต่างกันอะเนอะ อันนั้นคือสมบัติของเรา 100% เลย แต่การที่ไปร้านมือสองแล้วไปเจอหนังสือที่คนเขียน dedicate อะไรบางอย่างให้ใครซักคน

โจ้: ร้านหนังสือมือสองเราจะชอบซื้อหนังสือ spiritual, how to เนอะ เช่น Conversation with God, the Power of Now แล้วมันมีบางคนเค้าอ่านแล้วเค้าขีดเส้นใต้ประโยคไว้ แล้วพี่จะต้องคิดอย่างนี้เสมอ มันขีดทำไมวะ เค้าคิดอะไรอยู่ โมเมนต์นั้น เค้าชอบอะไรในนี้ ชีวิตเค้าเจออะไรออยู่ มันมี story behind story ลงไปอีก

เราจะได้เห็นอะไรใหม่ ทั้งสินค้าและรูปแบบคอนเทนต์ จาก readery อีกไหม

โจ้: คือเห็นใหม่ มันเห็นแน่นอน เพราะว่าอย่างที่คุยกันตอนต้น พี่เน็ตเป็นคนคิดอะไรไปเรื่อย มันไม่มีวันจบอยู่แล้ว มันก็จะแตกยอดไปนู่นนี่นั่น ซึ่งถ้าถามคำตอบวินาทีนี้ก็คือไม่รู้หรอกว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น บางโปรเจคต์เราปั้นกันมาหลายเดือนก็อยู่ดี ๆก็ อะ ไม่ทำละ เปลี่ยนไปทำโปรเจคต์อื่นก็ได้ เพราะเราอิสระมาก เลยไง เราไม่ได้ทำตามโจทย์อะไรใด ทั้งนั้น ทำตามใจล้วน ชั้นอยากทำสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นโอกาสเปลี่ยนไปทำสิ่งใหม่มันสูงมาก แน่นอน แล้วยิ่งเป็นเราสองคนทำคอนเทนต์อยู่แล้ว คุยกับตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่ได้ปั้นแต่งขึ้นมา ภาษาที่ใช้ก็ภาษาพูดอย่างนี้แหละ

การจะทำให้กรุงเทพ เป็นเมืองหนังสือโลก เป็นได้จริง ไหม

โจ้: ชั้นอยากตอบอันนี้เลยอะ คือ don’t care ka จะเป็นไม่เป็นเรื่องของมึง แต่พอยท์คือ โลกสมัยนี้ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยควาเมป็นกรุงเทพ อยุธยา ลพบุรีแล้วไง มันแหกความเป็น space and time ไปหมดแล้ว มันอยู่ในมิติที่ห้าแล้ว มันมีคำว่า netizen เกิดขึ้น โลกมันขยายขอบเขตแล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นแล้วที่จะต้องมีที่ใดที่นึงเป็นเมืองหนังสือโลก

เน็ต: ของเราเราใช้ instagram ฟอลโลว์คนอ่านหนังสืออยู่ เลื่อน ฟีดตัวเองมันไม่ใช่แค่เพื่อนคนไทยแล้วที่เป็นเพื่อนอ่านหนังสือด้วยกัน เคยมีคนนึงเค้าอยู่ฝรั่งเศสแล้วเค้าจะมาเมืองไทย แล้วเค้าทัก Readery มาว่าถ้าจะมาเมืองไทย ไปร้านหนังสือร้านไหนบ้างดี แล้วเราก็แนะนำไปร้านนั้นร้านนี้ ก็เสียดายจังเลยเนอะที่ ฑeadery ไม่ได้เปิดเป็นร้าน เลยไม่ได้ต้อนรับ แต่ก็หลังจากนั้นก็ติดตามฟอลโลว์กัน เราก็โพสต์หนังสือ เค้าก็โพสต์หนังสือ รู้สึกว่า ถ้าถามว่าคำถามที่ว่ากรุงเทพจะเป็นเมืองหนังสือโลกได้มั้ย เรารู้สึกว่าเราไม่อยากแคร์ส่ิงนี้ boundary ของเราไม่ได้จำกัดที่พื้นที่ เพราะบางวันเรายัง question อยู่เลยว่าการที่เราทำงานอยู่ที่บ้านเยอะ แบบนี้ แทบไม่ได้ใช้พื้นที่ของเมืองเลย แล้วโลกของเรา เรามองขอบเขตของมัน เรายังเป็นคนกรุงเทพอยู่ไหม (หัวเราะ) สองคือ ขอบเขตของเมืองหนังสือของเรา มันอยู่ที่เส้นแบ่งเขตแดนจังหวัดหรือเส้นภาษา

โจ้: อันนี้ชัด คือพี่อะเป็นสมาชิกของ Reese Witherspoon book club แต่ละเดือนเค้าจะชวนทุกคนมาอ่านหนังสือกัน! คือฟอลโลเวอร์เค้าประมาณหลักล้านที่มันเป็นคนจากทั่วโลกแล้วไง แล้วเราสามารถคุยกับคนจากทั่วโลกได้

เน็ต: แต่ถ้าถามว่าอยากให้กรุงเทพเป็นเมืองหนังสือไหม มันน้ำจิ้มไป ถ้าจะถามแค่นี้เนอะ คือจะเป็นไม่เป็นมันเป็นเรื่องของแคมเปญทางการเมืองหรือเปล่า มันคือการหาเสียงมั้ย แล้วอย่างที่เห็น กันอยู่ ว่ามีครั้งนึงแล้วเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง ก็ไม่เห็นเกิดอะไรขึ้นมาเลย เราเลยไม่รู้สึกว่ามันสำคัญขึ้นมาเท่าไหร่ สิ่งที่สำคัญของเราก็คือ เราอยากเห็นเพื่อน เราเจอคนใหม่ ที่เราพูดออกไปแล้วเราชวนให้เค้าอ่านหนังสือได้ เรารู้สึกว่า สิ่งที่ success ในมุมของเราที่สามารถทำอะไรได้บ้างแล้ว

โจ้: แล้วพอพวกพี่มาทำงานที่จุดนี้ที่เป็นร้านหนังสือเนี่ย พี่รู้ว่าคนอ่านหนังสือเยอะ มาก ๆๆๆๆๆ แล้ว มันไม่ได้น้อยนะ เพียงแต่เราไม่ได้พูดมันออกมาเท่านั้นเอง หรือเราไปมีมายาคติอะไรบางอย่างที่บอกว่าคนอ่านหนังสือน้อย แปดบรรทัดต่อปี อะไรอย่างนั้น ซึ่งไม่จริงสุด ไปไหนก็เห็นแต่คนอ่านหนังสืออะ คิดว่าช่างมันเถอะ ลืม มัน ไป

Readery เน็ต—นัฏฐกร ปาระชัย อ่านหนังสือ

ฟังเพลงแบบไหนกันบ้าง 

โจ้: ถ้าถามพี่ฟังเพลงอะไรบ้าง ชีวิตพี่แบ่งเพลงเป็นสามแบบ แบบเแรกพี่เรียกว่า discovery พี่เป็นคนชอบฟังเพลงใหม่ มาก ยิ่งเพลงที่ไม่เคยฟังจะตื่นเต้นมาก อย่างเพิ่งเจอเพลงเกาหลี ชื่อว่าเพลง study abroad ของวง Crucial Star อันนี้เป็นเพลงที่เพิ่งรู้จักเลย ไม่รู้เลยว่าเพลงนี้คือวงอะไร ไม่รู้เลยว่าเป็นใคร กับสองคือ พี่เรียกมันว่า กลุ่ม explore พี่ชอบกลับไปคุ้ยอัลบั้มเก่า แล้วเจอเพลงที่ไม่ดังไม่ฮิต พอมาฟังใหม่ กลายเป็นว่า ชอบว่ะ เจ๋งว่ะ  ล่าสุดเพิ่งไปคุ้ยขึ้นมาของวง The Cure ชื่อว่า Just Like Heaven กะอีกกลุ่มที่สามพี่เรียกว่า soundtrack of my life คือพี่ชอบเวลาไปไหนมาไหนแล้วมีเพลงอะไรบางอย่างกระทบเข้าหูแล้วแบบ เอ้ย นี่เพลงอะไรอะ มันมีเยอะแยะมากมาย แต่จริง พี่เป็นคนฟังเพลงทั้งหมด ต้องเรียกว่าทั้งหมดจริง คลาสสิกก็ฟัง แต่กลุ่มที่ชอบมาก มาตลอดแล้วไม่เคยเปลี่ยนเลย มันเรียกว่า 80s Japanese City Pop อย่าง Junko Onishi, Momoko Kikuchi, Shizuka Kudo หรือว่า Kiyotaka Sugiyama คือชอบเพลงซิตี้ป๊อป ฟังบ่อย ชอบที่สุดแล้ว

เน็ต: ของเราอะ เวลาจะนึกถึงเพลงว่าฟังอะไร เราจะคิดว่าเพลงมันเป็นซาวด์แทร็คเล่าประวัติศาสตร์ตัวเอง เก็บบันทึกประวัติส่วนตัวไว้ในเพลงแต่ละช่วง ช่วงเรียนจบฟังอะไร ทำงานปีแรกฟังอะไร หรือช่วงอกหักฟังอะไร พอเพลงพวกนี้ขึ้น น้ำตามา เราเป็นคนฟังเพลงเลตนิดนึง เพราะเราอยู่ต่างจังหวัด สมัยก่อนการเข้าถึงอะไรมันยาก สมัยมัธยมมีสถานีวิทยุสถานีเดียวที่เปิดเพลงสากล เพราะฉะนั้นคือจำได้ว่าช่วงแรก ที่ฟัง ฟังวง Shampoo แต่ช่วงที่บิลด์ตัวตนของเราน่าจะเป็นช่วงมหาวิทยาลัยละ ที่เริ่มฟังบริทป๊อป ช่วงนั้นก็จะเป็นบ้า Oasis, Blur, Manic Street Preachers เพราะฉะนั้นซาวด์แทร็คช่วงเรียนมหาลัยส่วนใหญ่จะเป็นบริทป๊อปทั้งนั้นเลย ซึ่งพอเรียนจบแล้วของเราจะย้ายกลับมาฟังวงอินดี้นิดนึง แต่เป็นอินดี้ย้ายฝั่งมาทางเมกาละ สมัยนั้นชอบฟังก็เป็นอย่าง The Killers ซึ่งช่วงนั้นวงอินดี้ออกเอยะ แต่ว่าพอทำงานแล้วเริ่มมี iTunes ก็เป็นโหมด discovery ละ มันพาเราไปเจอเพลงอะไรอีกมากมายที่เราไม่คิดว่าวันนึงเราจะชอบเพลง genre นี้แต่มันเปิดโลกเรา อย่างปีที่แล้วที่ชอบก็ซิตี้ป๊อป ชอบเพราะตาม DJ MOOLA ตามไปฟัง

โจ้: เอาจริง อะพี่เน็ตฟังซิตี้ป๊อปก่อนพี่นะ คือพี่อะฟังสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่รู้ว่ามันเรียกว่าซิตี้ป๊อป ก็รู้แค่ว่าเออมันคือเพลงของชั้น ที่ชั้นชอบ

เน็ต: เพราะ sense ของเพลงซิตี้ป๊อปญี่ปุ่น มันเป็นเพลงของวิยะดาพวกนี้ด้วย มันมีความซิตี้ป๊อปแฝงอยู่ในเพลงไทยยุคนั้นด้วย

โจ้: มันมีความเมืองอะ

เน็ต: นันทิดา ด้วย

โจ้: เดี๋ยวนะ แต่ซิติป๊อปของชั้นไม่ใช่นันทิดานะ (หัวเราะ)

เน็ต: หมายถึงดนตรีของมันจะมีกรู๊ฟอยู่ช่วงนึงที่ฟังแล้วนึกถึงซิตี้ป๊อปอะ

โจ้: smooth jazz อะไรแบบนี้ 

เน็ต: ที่เราลิงก์ไปแบบนี้ได้เพราะฟัง DJ MOOLA นี่แหละ เขาไปขุดเอาเทปเก่าซิตี้ป๊อปไทย แล้วไปมิกซ์กับซิตี้ป๊อปญี่ปุ่น มันเบลนด์กันแบบกลืนมาก แล้วก็ช่วงปีที่แล้วที่พี่วิ่ง ฟัง EDM แล้วก็รู้สึกอยากไปคอนสิร์ตอีดีเอ็มทุกคอนเสิร์ตเลย เพราะว่าอย่างอีดีเอ็มเรารู้สึกได้ปลดปล่อย แถมเนื้อเพลงไม่ใช่ไก่กานะ เนื้อเพลงมันคือการ empower คนค่อนข้างเยอะ ซึ่งช่วงที่ฟังอีดีเอ็มมาพร้อมกับการซื้อ apple watch แล้วเราเห็น beat หัวใจตัวเอง ที่สำคัญการที่เราป็นคนชอบจัดหมวดหมู่ เราสนุกกับการที่ออกกำลังกายแต่ละแบบมันให้ beat ที่ไม่เหมือนกัน 120 130 140 150 EDM ชอบที่จะไป match เอา beat ของอีดีเอ็มมาเข้ากับการออกกำลังกายนั้น สนุกดี (หัวเราะ)

Readery โจ้ เน็ต ร้านขายหนังสืออนไลน์ podcast the standard

หนังสือที่อยากแนะนำให้ชาวฟังใจอ่าน

โจ้: อะ ๆ เอา 10 bestsellers Readery ไป (หัวเราะ) วันนี้ พี่มีหนังสือมา… (หัวเราะ) คำตอบคืออ่านเล่มที่ชอบน่ะแหละ อยากอ่านอะไรก็อ่านไปเถอะ อ่านเล่มที่เราหมายตาไว้นานแล้ว เล่มที่รู้สึกว่าซักวันชั้นจะต้องอ่านเล่มนี้ให้ได้ อ่านไปเหอะ จะได้จบ ๆ จะได้แล้วใจว่า อ่านเล่มนั้นแล้วอะ

เน็ต: ถ้าเลือกคำตอบให้ดูเข้ากับฟังใจหน่อยเราจะเลือกให้อ่านนิยายเรื่อง Hi-Fidelity ของ Nick Hornby เรารู้สึกว่ามันเป็นนิยายที่คนอ่านหนังสือแล้วฟังเพลงจะอ่านนิยายเล่มนี้อย่างมีความสุขมากเลย ทุกวันนี้เราก็รู้สึกว่าเวลาพูดถึงหนังสือเพลง เราก็จะนึกถึง Hi-Fidelity ก่อนคือมันเป็นหนังสือที่พูดถึงเพลงเนอะ

โจ้: ในมุมของพี่ หนัง เพลง หนังสือ มันคือสิ่งเดียวกัน จริง ๆ นะไม่รู้ทำไม มันก็พูดถึงสิ่งเดียวกัน พูดถึง love yourself พูดถึงการอกหักจากการที่เค้าไปรักคนอื่นก็พูดถึงสิ่งเดียวกัน แต่ว่า มันก็มีฟังก์ชั่นต่างกันนิดหน่อย ดนตรีก็อาจจะเข้าใจความรู้สึกเราได้มากหน่อย ส่วนเวลาที่เราฟังเพลง ดูหนังก็อาจจะสะท้อนภาพชีวิตออกมาให้เราเห็นแล้วกลับมาคิด แต่หนังสือจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราคุยกับตัวเองระหว่างทาง ทำความเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น

เน็ต: กับอีกเล่มนึงที่เราอยากแนะนำให้อ่าน มันชื่อหนังสือว่า A Beginner’s Guide to Paradise: 9 Steps to Giving Up Everything ของ Alex Sheshunoff มันเป็นหนังสือ memoir บันทึกประสบการณ์ของผู้ชายอายุ 25 ที่เป็นสาย tech นี่แหละ เขาทำ start up อยู่ซัก 5 ปี แล้วรู้สึกว่าแบบ นี่กูทำอะไรอยู่ตรงนี้วะ เขามีหนังสือกองนึงเป็นร้อยเล่มที่ซื้อไว้ตอนอยู่มหาลัยแล้วยังไม่ได้อ่าน แล้วพอเรียนจบแล้วก็ทำงานอยู่ในสังคมทำงาน แล้วต้องเร่งตัวเอง ผลักตัวเอง ดันตัวเอง เพื่อ step up บริษัทสตาร์ทอัพของตัวเองให้มันขาย จะมี angel มาซื้อมั้ย นั้นนี้ แล้วอยู่มาวันนึงก็แบบ เฮ้ย ไม่เอาละ เลิก เอากองหนังสือทั้งหมดแพคใส่กระเป๋า ย้ายไปอยู่เกาะ แล้วตั้งใจจะอ่านหนังสือ 100 เล่ม ทิ้งโลกเบื้องหลังหมดเลย ประเด็นคือ คนอ่านหนังสือเล่มนี้คงไม่ได้อ่านจบแล้วแพคกระเป๋าทันทีหรอก แต่มันแค่บอกชอยส์อีกชอยส์นึง ว่าเอ้ย ชีวิตเรามีทางเลือกอีกหลายทาง ไม่ได้แบบนี้อย่างเดียว แต่ในทางกลับกัน บางคนก็อาจมีความรู้สึกว่า ก็ชั้นมีความสุขกับการทำงานอะ แล้วไงอะ ทำไมชั้นต้องไปเกาะด้วย คือกำลังจะบอกว่า ชีวิตเป็นชอยส์ที่เราเลือกเอง เจ้านายไม่ได้เลือกให้เรา พ่อแม่ไม่ได้เลือกให้เรา สภาพสังคมไม่ได้เลือกให้เรา ทุกอย่างอยู่ที่เราเท่านั้นเลย เลือกที่จะใช้ชีวิตอะไร แต่ก็ไม่ได้แปลว่าชอยส์ที่เราเลือกจะเป็นหนทางสว่างเสมอ มันจะเจออะไรก็ไม่รู้ทั้งนั้น แต่ไม่ต้องกลัว มันแค่อาศัยความบ้านิดนึง ความกล้าอีกนิดนึง แล้วก็ความมุทะลุพยายามอีกนิดนึง

โจ้: จริง ๆ ความกล้าเลย กล้าออกไป

เน็ต: ไม่ต้องกลัวว่าสิ่งที่จะไปนั้นมันจะทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือตกต่ำลง เพราะทุกเส้นทางที่เราเลือกมันคือตัวเรานั่นแหละ

โจ้: แล้วนี่คือ visual คือ เป้าที่พี่โจ้กับพี่เน็ตเห็นชัดมากเลยนะ เราอยากไปเปิดร้านหนังสือ ที่ Pacific Island (หัวเราะ) ​พูดจริง ๆ นะ คือมันมี visual อยากเปิดร้านหนังสือ มีกระท่อม เดินไปมีร้านหนังสือเล็ก ๆ น่ารัก

เน็ต: ซึ่งตอนแรกคือไม่ได้รู้จักหนังสืออะไรเลย ซื้อมาจากงาน big bad wolf เพราะรู้สึกว่าปกมันสวยดีและดูทะเล ๆ แต่ว่าพอได้อ่านแล้วก็รู้สึกว่า โอเค มีประเด็น

โจ้: เนี่ยคือความมหัศจรรย์ของหนังสือละ


อ่านต่อ

คุยกับ เจี๊ยบ วรรธนา ให้หายคิดถึง หลังจากกลับมาทำ Paper Cut เพลงที่เป็นตัวเอง

กระดาษบาดไม่เจ็บเท่าโดนสะกิดความทรงจำใน ‘Paper Cut’ จาก เจี๊ยบ วรรธนา

10 เพลงจากหนังสือมูราคามิที่อยากให้คุณลองฟัง

‘Rhythm & Books & Friends’ ร้านหนังสือและไวนิลที่ทำให้เราไม่อยากลุกไปไหน

 

ติดตาม Readery ได้ที่ readery.co

Facebook Comments

Next:


Malaivee Swangpol

มิว (เรียกลัยก็ได้)​ โตมาข้าง ๆ วงมอชแต่ตอนนี้ฟังทุกแนว ชอบอ่านหนังสือ ตามหาของกินอร่อย ๆ และตอนนี้ก็คงกำลังวางแผนเที่ยวรอบโลกอยู่