Playlist ของ อุทิศ เหมะมูล
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
เห็ดหูหนู รอบนี้ขอแหวกสูตรเดิมแบบที่เราคุ้นเคยกัน เนื่องด้วยเห็ดหูหนูประจำเดือนนี้คือ อุทิศ เหมะมูล นักเขียนและนักดื่มคราฟต์เบียร์ตัวยงที่เราอยากคุยด้วยมานานแล้ว Fungjaizine เลยขอถือโอกาสถามไถ่ชีวิตที่คลุกคลีกับคราฟต์เบียร์ของเขา และจะขอส่งคำท้าเล่น ๆ ว่าเขาจะสามารถทำ beer pairing หรือการจับคู่เบียร์กับเพลงที่เขาชอบได้หรือไม่
BEER PAIRING PLAYLIST
The Radio Dept. อัลบั้ม Passive Aggressive
คู่กับ Juniper Pale Ale by Eleventh Fort Brewing
จริง ๆ ชอบทุกชุด แต่ที่แนะนำชุดนี้เพราะมันมี 2 แผ่น (หัวเราะ) และเป็นอัลบั้มที่รวมซิงเกิลฮิตของเขาแทบจะทั้งหมด เป็นชุดที่สามารถเปิดทิ้งไว้แล้วนอนเหยียดขาฟังได้เลย
ส่วนเบียร์ตัวนี้เป็น American Pale Ale พิเศษที่ว่าได้ความหอมของผลจูนิเปอร์ กลิ่นออกไปทางสมุนไพรหน่อย ๆ คล้ายใบกัญชาสด เนื้อของเบียร์ก็ทำสมดุลได้ดี มันเหมาะกันเพราะว่าThe Radio Dept. ก็ทำเพลงออกมาได้สวย เมโลดี้พริ้ว มีความเพลิดเพลิน น่าจะไปด้วยกันได้
John Coltrane and Johnny Hartman
คู่กับ Bomb! by Prairie Artisan
เป็น American Double / Imperial Stout ตัวนี้แรงมีแอลกอฮอล์ 13% แต่เขาทำออกมาได้เนียนนุ่มมากจนไม่รู้เลยว่ามีแอลกอฮอล์สูงขนาดนั้น เนื้อเบียร์หนืดข้นดำสนิทเหมือนช็อกโกแลต รสขมออกไปทางโกโก้ มีกลิ่นวานิลลา แล้วตัวนี้ผสมพริกลงไป พอเรากลืนลงไปจะเผ็ดยิบ ๆ อยู่ที่คอ แต่ก็ช่วยตัดความเลี่ยนออกไป สำหรับเราจัดให้ตัวนี้เป็นเบียร์ระดับโลกเลย หายากด้วย
พอมาจับคู่กับเพลงแนวแจ๊สชุดนี้ มันเหมือนกับได้ล่องไหลไปในยามค่ำคืน ระหว่างเสียงร้องที่นิ่งขรึมก้องกังวาลผสมกับเสียงแซกโซโฟนเหมาะกับเบียร์ตัวนี้ที่ต้องค่อย ๆ จิบ ละเลียดไปเรื่อย ๆ
Destroyer อัลบั้ม Kaputt
คู่กับ Ruination Double IPA 2.0 by Stone
เป็นที่สุดของเบียร์ Double IPA เหมาะกับคนที่ชอบความดุดันก้าวร้าว มีความขมของ hop เนื้อเบียร์หนักแน่น ตัวนี้ทำออกมาได้ดีมาก ๆ หอมสวยแบบดอกไม้หน่อย ๆ มีความเค็มแบบเกลือทะเลในเนื้อเบียร์ที่กำลังดี สมดุลดีมาก เราไม่รู้สึกถึงข้อบกพร่องเลย ทั้งกลิ่น รสชาติทั้งตอนดื่มและหลังกลืนลงไปแล้ว เนื้อเบียร์ดี ครบหมดทุกส่วน
Destroyer ก็เป็นวงใหม่ที่เราสนใจ เป็นอีกวงหนึ่งที่ทำออกมาได้เพราะทุกเพลง แต่อัลบั้มนี้จะพีกและลงตัวกว่าอัลบั้มก่อน ๆ ฟังได้ตั้งแต่ต้นยันจบเหมือนกระพงทอดน้ำปลากรอบ ๆ ที่กินได้ตั้งแต่หัวยันหาง ซึ่งเข้ากันกับเบียร์ตัวนี้ที่ดีครบทุกส่วน
Richard Hawley อัลบั้ม Lowedges
คู่กับ Schneider Weisse Tap 5 และWeihenstephaner Vitus
Tap 5 จะเป็นแบบ Weizenbock (ไวเซ็นบ็อก) เป็นการเจอกันของเบียร์ 2 สไตล์คือ Weizen ที่ทำจากข้าวสาลี และ Bock ที่มีแอลกอฮอล์สูง มีสีดำเข้มจากการใช้มอลต์สีเข้ม ปกติเบียร์เยอรมันจะไม่มีกลิ่นของ hop ชัดเจนเหมือนฝั่งอเมริกัน จะไปทางมอลต์มากกว่า แต่ตัวนี้มีกลิ่น hop ที่มีเอกลักษณ์ต่างจากเบียร์เยอรมันทั่วไปและให้กลิ่นชัดเจนด้วย ดื่มดับกระหายได้ดี เป็นขวัญใจของนักดื่มเบียร์ตัวหนึ่งเลย ไม่ว่าคุณจะไปลองมากี่ร้อยตัว แต่ตัวนี้จะอยู่ในความทรงจำของคุณ ส่วน Vitus ก็เป็น Weizenbock เหมือนกัน Tap 5 จะหอมฉุน แต่ Vitus จะหอมสวย ๆ แบบดอกไม้ แต่เนื้อเบียร์ของทั้งสองตัวพอดื่มแล้วสดชื่นสะใจ
ส่วน Hawley จะเป็นสไตล์คันทรีโฟล์ก เนื้อเพลงก็เพลงรักทั่วไป แต่เท่ ฟังแล้วมันน่าถวิลหา เสียงร้องของเขาจะใหญ่ คล้ายกับเสียงสุเทพ วงศ์กำแหง ที่เปรียบเป็นเสียงขยี้ฟองเบียร์Hawley ก็ไม่ต่างกัน เปรียบเหมือนเสียงของอาทิตย์ยามเย็นที่อาบไปบนถนนในอเมริกา เช่นกัน ไม่ว่าคุณจะฟังเพลงอะไรมามากเท่าไหร่ สุดท้ายคุณก็จะคิดถึงเพลงแบบนี้
Ryuichi Sakamoto อัลบั้ม The piano 2009 Japan self selected
คู่กับ Hel & Verdoemenis by Bruichladdich (Peated) BA
คนจะรู้จักเขาจากซาวด์แทร๊กเรื่อง The Last Emperor กับ Merry chrismas Mr. Lawrenceเป็นนักดนตรีที่เราติดตามมาตลอด แต่ช่วงหลังเขาหันมาทำเพลงบรรเลง เล่นเปียโน เพราะเป็นมะเร็งกล่องเสียง อัลบั้มนี้ก็จะเป็นการนำเพลงที่เขาทำเอาไว้มา re-arrange ใหม่ ตีความใหม่ มีความเงียบ มี ambience
ซึ่งน่าจะจับคู่กับเบียร์ตัวนี้ ชื่อมันแปลว่านรกและการสาปแช่ง เป็นเบียร์ Russian Imperial Stout จะมีความเค็ม เนื้อเบียร์เข้ม ออกไปทางกาแฟ มีความหวานด้วย โดยส่วนใหญ่แล้วโรงหมักมักจะนำเบียร์ Stout ไปหมักต่อกับถังหมักหลาย ๆ แบบ อาจจะนำไปหมักกับถังไวน์ ถังหมักเบอร์เบิน เพื่อเอากลิ่นที่ติดอยู่ที่ถังกลับมาอยู่ในเบียร์ อย่างตัวนี้เอาถังหมักวิสกี้ของ Bruichladdich ซึ่งอยู่ทางใต้ของสกอตแลนด์ วิสกี้ของเขาจะมีความเค็มแบบเกลือทะเล มีกลิ่นควันถ่านหินที่มีเฉพาะที่นั่น กลายเป็นเบียร์พิเศษที่พิเศษอีกชั้นด้วยกระบวนการที่ซับซ้อน
EXCLUSIVE TALK
กระแสคราฟต์เบียร์เริ่มต้นอย่างไร
น่าจะเริ่มเป็นกระแสได้ 7 – 8 ปี ก่อนหน้านั้นเรามักจะเรียกว่าเบียร์นอก เป็นเบียร์ที่นิยมของแต่ละประเทศ อย่างของเยอรมันที่เราเห็นในไทยตอนนั้นก็จะเป็น Paulaner (พอลลาเนอร์) กับ Weihenstephaner (ไวเฮนสเตฟาเนอร์) ของอเมริกาก็จะเป็น Budweiser (บัดไวเซอร์) คราฟต์เบียร์เป็นเบียร์ที่หมักบ่มจากโรงเบียร์ท้องถิ่น ผลิตไม่เยอะมาก ดื่มกันเฉพาะคนในท้องถิ่น วัตถุดิบก็ใช้ผลผลิตที่มีในพื้นที่นั้น ส่วนกรรมวิธีก็จะมีความเฉพาะตัวสูง เป็นงานฝีมือ พอผลิตออกมาน้อย แต่คนเริ่มสนใจและต้องการมากขึ้นเพราะเห็นรีวิวในอินเทอร์เน็ต ราคาก็สูงตามไปด้วย อย่าง Trappist (แทรปปิสท์) เป็นเบียร์เบลเยียมซึ่งจะมีขายแค่ที่โรงหมักของเขาเท่านั้น จำกัดจำนวนซื้อด้วย ก็ยิ่งกลายเป็นของหายากเข้าไปอีก หรือเบียร์บางตัวก็ผลิตได้แค่บางฤดูกาลตามวัตถุดิบของเขา ซึ่งกระแสนี้ไม่ได้เกิดแค่ที่ประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคเอเชีย มันมาพร้อมกับกระแสทางเลือกอย่าง clean food และ farmer’s market พอคนมีโอกาสที่จะเลือกได้ ก็อยากจะปฏิเสธการบริโภคสินค้าจากอุตสาหกรรม
แล้วอะไรที่ทำให้หันมาสนใจคราฟต์เบียร์
เวลาเราเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Villa Market ก็จะเห็นชั้นวางขวดเบียร์หน้าตาแปลก ๆ เต็มไปหมด เราก็อยากลองดื่ม ตัวแรกที่ลองก็คือ Leffe (เลฟ) มันเปิดโลกใหม่ให้กับเรา รสชาติ น้ำหนักของเนื้อเบียร์ และกลิ่นที่เราไม่เคยเจอจากเบียร์ไทยทั่วไป ที่เราเคยคิดว่าเบียร์ที่ดื่มปกติขมแล้ว แต่มันมีขมกว่านั้นอีกนะ แล้วก็ยังแยกรสขมออกไปอีกหลายแบบ ซึ่งเขามักจะเขียนส่วนผสมไว้ที่ข้างขวด ก็ทำให้เราเริ่มสนใจความแตกต่างของกลิ่น รสชาติ รสสัมผัส
เวลาอ่านรีวิวเบียร์จะเห็นการบรรยายเบียร์แต่ละชนิดที่ละเอียดและซับซ้อนมาก รู้สึกบ้างไหมว่ามันวุ่นวายเกินไปสำหรับการดื่มเบียร์
มันสนุกมากกว่า ทำไมต้องแยกเป็นหลายขั้นตอน ทำไมต้องมีวิธีการดื่มเฉพาะตัว ถ้าถามเราว่ามันต้องทำขนาดนั้นหรือเปล่า เราก็จะตอบว่าไม่ต้องหรอก ก็ดื่มตามปกติไปก็ได้ การที่เราดมกลิ่น แยกรสชาติตอนที่แตะลิ้นกับหลังจากกลืนลงไปแล้ว จับสัมผัสของเนื้อเบียร์ ดูสีของเบียร์ มันเป็นเพราะเราสนุกไปกับมัน ถ้าคุณสนุกกับเรื่องนี้คุณก็จะสนใจเอง
“เรายังเชื่อว่าคนที่ทำงานเขียนทุกคนก็อยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ยังมีคนที่มุ่งมั่นแบบนั้น แต่ด้วยสภาพการณ์ตอนนี้มันไม่เอื้อให้เป็นนักเขียนง่าย ๆ อีกแล้ว เราต้องมีงานอย่างอื่น มีเงินหล่อเลี้ยงชีวิตเพื่อที่จะทำงานเขียนหนังสือของเราเอง”
เคยนับมั้ยว่าดื่มเบียร์ไปกี่ตัวแล้ว
เกือบ 2,000 ตัวได้ เรามีแอพพลิเคชันชื่อ Untappd เป็นที่รวมตัวของคนดื่มเบียร์ ไว้บันทึกว่าดื่มอะไรไปแล้วบ้าง
เคยเห็นคนดื่มเยอะสุดกี่ตัว
ขึ้นหลักหมื่นได้มั้ง
รสชาติเบียร์ที่ชอบ
จะเป็นพวก IPA (India Pale Ale) กับ Stout (สเตาท์-เบียร์ที่มีสีดำ) ทั้งสองแบบมีความขมที่แตกต่างกันอย่าง IPA จะเป็นขมแบบพวกสมุนไพร แต่ Stout จะเป็นขมนวล ๆ ตุ่น ๆ เหมือนขมกาแฟหรือโกโก้
แล้วเบียร์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร
ก็อร่อย (หัวเราะ) แค่นั้น แต่ละคนก็มีความอร่อยต่างกัน
ปกติดื่มเบียร์ในอารมณ์หรือโอกาสไหนบ้าง
ในโอกาสวันศุกร์วันเสาร์ (หัวเราะ) ดื่มกับแฟนที่บ้าน เราไม่ได้ต้องการออกไปดูบรรยากาศข้างนอก ออกไปสังสรรค์ แต่เรามีบรรยากาศการดื่มเบียร์อีกแบบ ต่อให้เราออกไปดื่มที่ร้าน เราก็จะนั่งอยู่ในมุมร้านเงียบ ๆ คนเดียว
ทำไมถึงสนใจศึกษาเรื่องนี้ทั้ง ๆ ที่สังคมมองว่าเป็นอบายมุข
เพราะเราไม่ได้มองว่าเป็นอบายมุข มันเป็นสิ่งที่ถูกกำกับโดยภาคสังคม ต้องหาผู้ร้ายเพื่อที่จะควบคุมพฤติกรรมของผู้คน โชคร้ายที่เหล้า เบียร์ บุหรี่ โสเภณีถูกจัดเป็นผู้ร้าย สิ่งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาแบบครอบจักรวาล ทั้ง ๆ ที่ก็มีคนจำนวนมากที่ดื่มแต่ไม่เคยสร้างปัญหาอะไร เราไม่เคยถูกปล่อยให้เรียนรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ดีอย่างไร เราเลือกที่จะห้าม เลือกที่จะไม่ให้รู้ รู้แค่ว่ามันไม่ดี อย่างเราดื่มอยู่ที่บ้าน มันก็ไม่เคยทำร้ายเราเพราะเรารู้จักขีดจำกัดการดื่มของตัวเองซึ่งเกิดจากการที่เราเรียนรู้เอง เช่น ถ้าเราดื่มเกิน 6 ขวด เราจะท้องอืด อาหารไม่ย่อย แฮงก์ มันก็เป็นเรื่องที่คุณต้องเรียนรู้สิ พอรู้แล้วเราก็ลดลงมาเหลือ 4 ขวดก็แล้วกัน
คนทั่วไปชอบมองว่าคนที่ทำงานสายศิลปะหรือนักเขียนต้องเมาอยู่บ่อย ๆ หรือเมาเพื่อจะได้ทำงานคล่องขึ้น ชีวิตจริงมันเป็นแบบนั้นไหม
ไม่จริงหรอก แล้วที่คุยกันอยู่นี่เราเมามั้ย (หัวเราะ) เวลาเราทำงานเราไม่ดื่ม มันไปด้วยกันไม่ได้ เวลาเขียนหนังสือมันต้องใช้สติและสมาธิเต็มร้อย มันเรียกร้องการใคร่ครวญก่อนจะเขียนออกมาแต่ละคำ แต่ตอนเป็นวัยรุ่นก็เคยเป็น (FJZ: เคยดื่มแล้วงานออกมาดีมั้ย) สำหรับเรา เราว่าไม่ดี ตื่นมาอ่านอีกทีก็งงว่ากูเขียนอะไรวะ เสร่อมาก แต่เราก็ไม่ได้บอกนะว่ามันจะไม่ดีกับทุกคน เราคงไม่เอาประสบการณ์ตอนที่เราอายุ 40 ไปบอกคนอายุ 20 ว่าอย่าดื่มเบียร์ตอนทำงานนะ คุณก็ลองทำดูก็ได้ จะได้รู้ว่ามันดีหรือไม่ดี แต่สำหรับเรามันไม่โอเค
ชีวิตประจำวันของนักเขียนเป็นอย่างไร
น่าเบื่อ (หัวเราะ) เป็นชีวิตที่น่าเบื่อ ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งอยู่กับที่ ต้องจิ้มคำออกมาให้ได้ภายในเวลา 3 – 4 ชั่วโมงต่อวันแล้วก็ตามมาด้วยอาการปวดหลัง ปวดตา
มันไม่ได้เป็นอาชีพที่มีอิสระ ได้ออกเดินทางแล้วจดบันทึกอะไรแบบนั้น
มีเงินให้ไปมั้ย (หัวเราะ) มีเงินให้ไปก็ดี มันเป็นภาพที่ถูกเสนอให้เห็น เราก็ไม่ได้อยากจะให้ร้ายการทำงานเขียนของตัวเองนะ มันเป็นความพอใจส่วนบุคคล คุณพอใจที่จะนั่งหลังแข็งแบบนั้นหรือเปล่า มีอิสระเต็มที่เลยนะ เพราะไม่มีใครโทรมาเร่งงานคุณ ไม่ต้องออกไปสู้กับสภาพจราจรตอนเช้าเพื่อไปเข้าออฟฟิศ มันมีอิสระมากจนคุณต้องควบคุมชีวิตตัวเองมากขึ้นด้วยซ้ำ
อาชีพศิลปินหรือนักเขียนไส้แห้งจริงไหม
ก็จริง มันก็แลกไปกับความอิสระ อยากเป็นอิสระก็ได้ แต่ไม่มีเงินเดือน มันก็ได้อย่างอื่นแทน ชื่อเสียงในสังคม ได้ทำงานในสิ่งที่คุณอยากทำ ไม่มีใครมาสั่งให้ทำอะไร
แล้วไม่อยากไส้เปียกบ้างหรอ
อยากสิ แต่เราก็อยากไส้เปียกโดยที่เราไม่ต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ถ้างานเขียนของเราขายดี ได้พิมพ์ครั้งที่สองที่สามแบบนี้โอเค แต่ถ้าจะให้รับจ้างเขียนประวัติหรือยกย่องเชิดชูชีวิตใครสักคน แบบนั้นเราไม่อยากทำ
เหมือนที่เรียกกันว่าขายวิญญาณ
เรายังเชื่อว่าคนที่ทำงานเขียนทุกคนก็อยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง ยังมีคนที่มุ่งมั่นแบบนั้น แต่ด้วยสภาพการณ์ตอนนี้มันไม่เอื้อให้เป็นนักเขียนง่าย ๆ อีกแล้ว เราต้องมีงานอย่างอื่น มีเงินหล่อเลี้ยงชีวิตเพื่อที่จะทำงานเขียนหนังสือของเราเอง อย่างเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว ผ่านมาได้ด้วยดีในระดับหนึ่ง เพราะเราได้รางวัลซีไรต์ด้วย มันก็ทำให้เราเป็นที่รู้จักในวงกว้างตั้งแต่อายุ 34 ซึ่งถือว่าเร็ว เลยทำให้เรายังยืนอยู่ตรงนี้แบบนี้ได้
ถ้าตอนนั้นไม่ได้รางวัลซีไรต์คิดว่าจะยังยืนอยู่ในวงการไหวไหม
ก็คงยืนอยู่ได้ แต่ยืนแบบไส้แห้ง (หัวเราะ) เพราะเราไม่อยากทำงานตามคำสั่งใคร เพราะเรียนศิลปะมาด้วย ศิลปะสอนให้เราขุดออกมาจากตัวเอง เราไม่อยากรับใช้ใครนอกจากตัวเอง
ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้มีคนทำงานเขียนอยู่ในโซเชียลมีเดียเยอะมาก แต่ทำไมสถานการณ์ของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ถึงสวนทางกัน
มันมีหลายประเด็น ด้วยเนื้อหาต่าง ๆ มันเข้ามาอยู่ในโซเชียลมีเดียหมดแล้ว เนื้อหานิตยสารในนิตยสารต้องเข้มข้นกว่าเดิม ต้องทำให้เนื้อหามีอายุยืนยาวมากขึ้น เพราะคงเร็วเท่ากับเนื้อหาในโซเชียลมีเดียไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องโฆษณา เพราะการที่นิตยสารจะอยู่ได้คือรายได้จากโฆษณา แต่ทีนี้โฆษณาก็ย้ายเข้าไปในอินเทอร์เน็ตกันหมดแล้ว ส่วนหนังสือก็เป็นเรื่องซับซ้อน เอาเป็นว่าการเข้ามาของโซเชียลมีเดียทำให้นักเขียนสามารถเขียนตามที่ตัวเองคิดได้ ในขณะที่สำนักพิมพ์ก็จะมีหลายส่วนเข้ามามีบทบาทร่วมด้วย ความคิดของนักเขียนบางคนอาจจะถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์หรือบรรณาธิการ แต่งานของเขากลับได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในโซเชียลมีเดีย ก็เลยแยกออกเป็นโลกสองใบ มันไม่เกี่ยวกับว่าสื่อกระดาษจะตาย แต่มันเกิดปัญหาจากขั้นตอนและการร่วมงานกันในระบบอุตสาหกรรมด้วย
‘หัวใจนักเขียน’ ผลงานล่าสุดที่กำลังจะวางขายว่าด้วยเรื่องอะไร
มี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเหมือนบันทึกการทำงานเขียนในแต่ละวันของเรา เพื่อที่จะแบ่งปันประสบการณ์ร่วมของคนที่ทำงานเขียน เราไม่ได้บอกหลักการของการเขียนหนังสือ แต่เราเล่าถึงสภาวะที่นักเขียนจะต้องเผชิญ ถ้าอ่านเล่มนี้ก็จะพบชีวิตนักเขียนไม่ได้เป็นอย่างที่คนทั่วไปคิดกัน มันเป็นความทรมาน (หัวเราะ) เป็นสิ่งสำคัญที่คนอยากทำงานเขียนจะต้องรู้ เขาต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้แกร่งก่อนจะทำงานนี้ ส่วนที่สองเป็นบทบรรยายจากที่เราถูกเชิญไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ
งานเขียนที่ดีควรเป็นอย่างไร
สนุก อร่อย มีความสุขเวลาอ่าน ก็เป็นคำตอบเดียวกับเรื่องเบียร์ มันก็ง่าย ๆ แค่นั้น
ในฐานะที่สามารถยืนอยู่ได้ในวงการนักเขียน มีอะไรอยากจะแนะนำนักเขียนรุ่นใหม่บ้าง
ไม่มี หน้าด้านอยู่ไปเรื่อย ๆ แค่อย่างอแงตัดพ้อบ่นลงเฟซบุ๊กก็พอ งอแงบ้างก็ได้แต่อย่าบ่อย เราเข้าใจ แต่ก่อนเราก็เป็นบ้าง แต่สมัยนั้นมันไม่มีเฟซบุ๊ก ก็ไม่แน่ว่าถ้าสมัยนั้นมี เราอาจจะเป็นหนักเหมือนกันก็ได้ (หัวเราะ) คิดเยอะ ๆ ก่อนจะเขียนอะไรออกไป