Playlist ของ ป่าน ฉัตรรวี
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
ในวันที่สื่อออนไลน์งอกขึ้นมาเป็นดอกเห็ดจนเราเลือกอ่านกันไม่ถูก ก็ยังมีอยู่เจ้านึงที่มีลายเซ็นเด่นชัด เลือกประเด็นมาเขียนบทความได้น่าสนใจ และมีความตั้งใจอยากนำเสนอเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ที่ทำอะไรเจ๋ง ๆ แบบที่ยังไม่เคยมีใครรู้จักพวกเขามาก่อน ป่าน—ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ บรรณาธิการของ Life MATTERs คือผู้อยู่เบื้องหลังความคิดนั้น เธอเป็นหนึ่งในนักเขียนรุ่นใหม่ที่ออกหนังสือมาแล้วหลายเล่ม และเราก็อยากให้ทุกคนได้รู้จักกับเธอมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ใบ้ให้ว่า ถ้าใครเคยเห็นหนังสือ ‘Okinawa Holiday’ ของ ปาลิดา พิมพะกร และปราบดา หยุ่น ก็จะคุ้นหน้าของเธอมากขึ้น เพราะเธอคือสาวน้อยตากลมที่ยิ้มกำลังจะจิบน้ำมะนาวบนปกนั่นเองจ้า
Chatrawee’s favorite
Rhye – The Fall
ชอบตั้งแต่ประโยคเปิดแล้วที่มาถึงแบบ ‘Make love to me, one more time’ มึงตอแหลอะ แต่ก็ชอบ แล้วตอนนั้นที่ฟังก็รู้สึกว่าเขาต้องเป็นผู้หญิงเยอะ ๆ คนนึง มารู้ทีหลังว่าเขาไม่ใช่ผู้หญิง ก็เลยคิดว่า หรือเขาเป็น trans ก็เลยไปตามต่อ จนมาเจอเพลงที่สอง
Milosh – The City
อันนี้ก็คือคนทำ Rhye นี่แหละ ตอน live session เขาก็เปิดหน้าเป็นตัวเองไปเลย ร้องในร่างของผู้ชาย อย่าง Rhye เขาจะร้องอยู่ในเงาไม่มีใครเห็นหน้า ซึ่งเพลง The City ที่ชอบเนี่ยเพราะ Milosh ก็คล้าย Rhye อยู่บางส่วน แต่ไม่ได้กรุยกรายเท่าเพราะ Rhye ดูลูกเล่นเยอะกว่า ทดลองเยอะกว่ามั้ง The City มันดูฉีกไปอีก มันร็อกปะ ใช้กีตาร์เยอะกว่า มีความเป็นแบนด์ ก็เลยชอบ
Air – Playground Love
ฟังแล้วดูเป็นความรักที่ย้อนวัยดี มันดูวัยรุ่น mv ก็ประสาท ๆ ดี
Cigarette After Sex – I’m a Firefighter
ชอบเพราะการเปรียบเทียบของเพลง เป็นแบบ ฉันติดอยู่ในภาพที่บ้านไฟไหม้ ดูความรักของเราหายไป โอ้โห มาาาา เหลือเกิน ไม่ไหวแล้ว แล้วอีท่อนต่อไปยังเปรียบอีก เปรียบไม่หยุด เออชอบ มึงมาให้หนัก ๆ
Mew – Comforting Sound
ที่จริงเพลงนี้ก็มาเหมือนกัน ‘I don’t feel alright. Because you make promises that you break.’ ตอนคอนเสิร์ตเรารู้สึกว่าแม่งถึงจะเป็นเพลงที่ดังสุดของวง แต่พอเราฟังเพลงนี้จบ มันเหมือนผ่านอะไรบางอย่าง มันคลี่คลาย ในคอนนั้นเราไม่ไหวแล้วเว่ย ไม่ร้องไห้แต่คือยืนนิ่งไปเลย ดีมาก แล้วตอนนั้นก็ไปเจอน้องแพร์—อสมาภรณ์ สมัครพันธ์ที่ทำหนังเรื่อง ‘Klosé’ วันนั้นเราไปคนเดียวทั้งคู่ ทั้งที่ไม่ได้สนิทกันแต่รู้สึกว่ามันเชื่อมโยงเรากับน้องเขาด้วยเพลงนี้ในคอนวันนั้นยังไงไม่รู้ ก็ชอบ ประทับใจ บอกไม่ถูกเลยอะ ก็เป็นซีนที่ประหลาดดีที่ไปเชื่อมโยงใครสักคนที่รู้จักกันแบบผิวเผินมาก เหมือนเป็นพิธีกรรมอะไรบางอย่าง
The Black Skirts – Everything
ชอบที่มันหวานหยดย้อยเหลือเกิน แต่ทุกทีเราจะไม่ชอบเพลงที่มันหวานอะไรเบอร์นั้น แบบ มึงเป็นเหี้ยไร เลี่ยน แต่พอเป็นอันนี้ ข้อแรกคือมันฟังไม่ออก ฟังออกแค่ไม่กี่คำ อย่างมันร้องว่า คุณคือทุกอย่าง แล้วรู้สึกว่าเป็นเพลงแรก ๆ ที่เราอินกับดนตรีและท่วงทำนองไปเลยโดยไม่แคร์เนื้อ ส่วนมากถ้าเราฟังเพลง ต่อให้ชอบดนตรีเพลงนี้มาก ๆ แต่ถ้าเนื้อมันไม่ใช่ก็จะไม่ค่อยอิน แต่พอเป็นเกาหลีแล้วเราฟังไม่รู้เรื่อง เออ กูแทนค่าเอง กูอินเองไปเลยได้
Breakbot – 2GOOD4ME
อันนี้ชอบเพราะ mv ด้วย มันประสาท ๆ ดี เป็นผู้หญิงอเมริกาใต้มาแต่งคอสเพลย์ญี่ปุ่น ดูบ้า ๆ ฮิปฮอปที่จริงเราก็ชอบฟัง แล้วพอไปคอนเสิร์ตก็รู้สึกว่าเพลงนี้มันมาสุดเลยว่ะ ทั้งที่ตอนแรกเราไม่ได้ชอบเพลงนี้เป็นอันดับต้น ๆ ของ Breakbot แต่พอไปคอนก็กลายเป็น เออ ตกหลุมรักเขาเพราะคอนเฉยเลย
สุภัทรา อินทรภักดี – ฉันจะฝันถึงเธอ
อันนี้ที่จริงเพลงฟีลนี้เราก็ชอบ เพราะตอนเด็ก ยายชอบเปิดสุนทราภรณ์ให้ฟัง ก็เลยคุ้นเคยกับเพลงอะไรประมาณนี้อยู่ แล้ว พอมาได้ยินมันอีกทีตอนโตแล้วรู้สึกว่า เฮ้ยดีว่ะ แล้วเนื้อเพลงมันก็ดีอยู่แล้ว ชอบ เราเพิ่งไปดูหนังเรื่อง ‘ตลอดไป’ ของพี่กานต์—ศิวโรจน์ คงสกุล แล้วเขาใช้เพลงนี้ในหนังด้วย แม่งแบบ impact ชิบหาย พอเพลงนี้ขึ้นมาแล้วรู้สึก เชี่ย พี่ขยี้แรงมาก แล้วมันได้ผลมากจริง ๆ จนเราร้องไห้แบบควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้ชอบเพลงนี้มากขึ้น
offonoff – Cigarette feat. Tablo, MISO
อันนี้ก็ชอบเพราะอ่านที่ฟังใจเขียนถึงวงนี้ คือเราชอบ MISO อยู่แล้ว เพลงนี้เขาก็ไปร้องด้วย มี Tablo ด้วย ก็เลยแบบ ดี ๆๆ เล่าถึงบุหรี่แบบตรงไปตรงมาดี ก็อวยบุหรี่ไปเลยว่ากูอยากมาสายนี้
EXO – Fall
(หัวเราะ) ช่วงหลัง ๆ พอมันเครียด ๆ ก็ไปดูเกาหลีเว่ย แล้วเวลาดู EXO จะเหมือนดูรุ่นน้องโรงเรียนเล่นบาสแล้วเราชอบ ชอบลุคมึง ชอบหน้าตามึง ดูไว้เป็นความบันเทิงแบบว่า น้องน่ารัก เอ็นดูน้อง ในเฟซบุ๊กก็จะมีตัดต่อรูปกับน้อง ไรงี้ เป็นการ escape ที่แท้ ไม่ต้องมานั่งครุ่นคิด แต่พอฟังเพลงแล้วเราจะแบบ มึงร้องเหี้ยไรเนี่ย ไม่ชอบ เราชอบเพลงของวงนี้น้อยมากจริง ๆ และนี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น แบบ กูเจอเพลงที่ชอบของมึงแล้ว พอจะมีเพลงที่จะ recommend ได้บ้างแล้วแหละ
TALK TALK TALK
เรียกป่านว่าเป็นติ่งได้ไหม มองคำนี้เป็นคำแง่ลบหรือเปล่า
ก็ถ้าคำนี้มีความหมายถึงสิ่งที่คุณพูดแล้วมันจะเข้าใจในภาพนี้ ก็ได้ แต่เราก็ไม่รู้ว่ะ เราจะไม่เรียกตัวเองว่าเป็นแฟนด้อมวงนี้ อย่าง EXO จะมีชื่อแฟนด้อมเป็น ‘EXO-L’ เราก็จะบอกว่าเราไม่ใช่ EXO-L เว่ยเพราะชั้นไม่ได้ซื้อสินค้า ไม่ได้อะไรเลย เราแค่รับความบันเทิงจากคนกลุ่มนี้มา
แล้วป่านคิดว่าตัวเองติ่งอะไร
กับเรื่องสั้นของตัวเองมั้ง ไม่ได้หมายความว่าชอบอ่านมัน แต่รู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่อยากทำที่สุดแล้วในชีวิต สมมติว่าเราจะเปลี่ยนงาน อย่างนึงที่เราจะคำนึงคือ แล้วเราจะมีเวลาเขียนเรื่องสั้นไหมวะ เพราะไอ้ครึ่งปีที่ผ่านมาเราไม่มีเลยเว่ย Life MATTERs เนี่ยทำให้เรามีเวลาว่างจริง ๆ แค่ 4 วันในตลอดครึ่งปีอะ ซึ่งจากนี้คือไม่ได้ละ อยากออกหนังสือในทุกช่วงอายุของตัวเองเท่าที่จะทำได้ ก่อนจะแก่
ปกติฟังเพลงแบบไหน
ถ้าตอนเดินทางเราจะฟังอีกแบบ Bright Eyes, Fleet Foxes เป็นโฟล์กไปเลย ดูแบบเข้าป่า เหมือนเราชอบมีเพลย์ลิสต์สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ เพลงก็จะไม่เหมือนกัน มีช่วงนึงบ้าวิ่งก็จะฟังฮิปฮอปที่มันคึกคักหน่อย แต่ตอนทำงานก็จะฟังพวก Rhye ที่มันไหล ๆ ลอย ๆ แต่ตอนร้องคาราโอเกะจะชอบร้อง มาช่า, ญาญ่าญิ๋ง (หัวเราะ)
ฟังเพลงตอนทำงานไม่ทำให้เสียสมาธิกว่าเดิมหรอ
สำหรับเราขาดไม่ได้เลยเว่ย คือแค่อาบน้ำก็ต้องฟัง นั่งรถไฟฟ้า หรือเดินไปเซเว่นก็ต้องฟัง ไม่งั้นใจมันจะฟุ้ง มันไม่รู้จะเอาใจไปจับกับอะไร พอฟังเพลงแล้วเรารู้สึกว่า แม่งมีบางอย่างให้ยึดเหนี่ยวอะ มาสังเกตตัวเองว่าเวลาไปไหนแล้วไม่เอาหูฟังไปคือโคตรเดือดร้อน ต้องแวะซื้อเซเว่น ถึงจะได้หูฟังเหี้ย ๆ แต่ก็ต้องมี
เป็นคนที่ค่อนข้างสมาธิสั้น
ใช่ ซึ่งเพลงช่วยนะ เวลาอ่านหนังสือเราจะอ่านสักนิดแล้วแวบไปเตรียมเพลย์ลิสต์สำหรับการอ่านเล่มนี้ เป็นคนเยอะอะ ชอบสร้างบรรยากาศ อย่างเวลาอ่านหนังสือพี่แหม่ม—วีระพร นิติประภา เรื่อง ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ‘ มันก็จะมีกลิ่นอายจีน ๆ หน่อย อีนี่ก็ เอาวะ ก็ไปหาเพลงแบบเซี่ยงไฮ้ยุคนั้นมาฟัง พยายามจัดเพลย์ลิสต์ให้ทุกอย่างเท่าที่จะทำได้
เล่นดนตรีได้ด้วย
ใช่ เล่นกีตาร์ ทุกวันนี้ก็ยังเล่นอยู่ พ่อเราสอนตั้งแต่ตอนเด็กแล้วแหละ ตอนแรกก็หงุดหงิดว่าสอนทำไม ไม่อยากเล่น จับแล้วเจ็บนิ้ว แล้วอยู่ดี ๆ ตอน ป.3 เขาก็ซื้อกีตาร์ให้เป็นของขวัญวันเกิดเว่ย เราก็แบบ ถ้าพ่อมาเบอร์นี้ก็ต้องเล่นแล้วปะ ก็เลยเล่น ซึ่งย้อนไปก็ขอบคุณเขาแหละ กีตาร์ก็เป็นอีกอย่างที่ระบายอารมณ์ได้ดี แต่เราเล่นได้ไม่ advance เลย จริง ๆ ก็อยากลองฝึกแต่มันไม่มีช่วงชีวิตที่ลงจังหวะพอที่จะฝึกมันได้เยอะ ๆ เพราะเราทำอะไรแบบเยอะ ๆๆๆ มาตลอด ไม่ได้มีเวลากับมันขนาดนั้น เหมือน freeze ฝีมือตัวเองไว้แค่นี้ วันไหนดัดจริตก็อัดลง soundcloud มาโพสต์บ้าง เป็นคัฟเวอร์หมดเลย
เคยคิดอยากเป็นศิลปินสักครั้งไหม
คิด เพราะว่าเราชอบเนื้อเพลงอยู่แล้วเลยอยากเขียนเนื้อเพลง ตอนนี้ก็มีเขียนอยู่ เพราะบางทีถ้าเราเขียนแล้วมันไม่ได้เยอะพอที่จะเป็นเรื่องสั้น แต่รู้สึกพอใจกับจังหวะนี้ แค่วรรคเนี้ย แล้วจะทำมันเป็นอะไรวะ จะตั้งสเตตัสเราก็ไม่ค่อยถนัดกับการตั้งสเตตัสที่ดูจมจ่อมหรือจริงจังขนาดนั้น นาน ๆ ทีมาก ๆ เลยรู้สึกว่า ถ้าเป็นเพลงก็ดีเหมือนกัน ตอนนี้ก็เลยลองเขียนเนื้อแล้วให้แฟนช่วยทำทำนองให้ เหมือนนางทำอยู่แล้วไง (Beam Wong) ก็เลย อะ ถ้างั้นคุณก็จงทำทำนองให้ฉัน ซึ่งเม้งก็จะฟังเพลงอีกแบบ คือลึก หลุดกว่าเราไปเลย มันก็จะมีตี ๆ กันบ้าง ไม่ค่อยตรงกัน ก็ต้องพยายามจูน ๆ
รู้สึกว่าเป็นคนต้องหาอะไรทำตลอดเวลาหรือเปล่า
ใช่ รู้สึกว่าถ้าไม่ทำ เราจะเป็นคนที่ไม่มีอะไรเลย เราชอบคิดว่า ไอ้เหี้ย เราไม่ค่อยมีดีในตัวเอง เลยอยากทำอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง
ความขยันนี้เป็นธรรมชาติของเด็กอักษรหรือเปล่า
แต่ตอนเรียนนี่เหี้ยมากเลยนะ คือเกรดก็เหี้ยแล้วเราก็ไม่ตั้งใจเรียนเลยด้วย เพิ่งมารู้สึกตัวตอนเรียนจบว่าถ้าตั้งใจเรียนก็รู้เรื่องนี้ไปละ เสียดายเหมือนกัน
อะไรทำให้เลือกเรียนอักษรศาสตร์ เอกภาษาไทย
ความจริงเราเป็นคนเรียนไม่เก่งแล้วก็ไม่ตั้งใจเรียน แต่ทีนี้เราดันแต่งกลอนได้เว่ย คือพ่อเป็นสายอ่านเหมือนกัน แล้วก็ซื้อรามเกียรติ์มาอ่านให้ฟัง แต่มาแต่งกลอนได้ตอนไหนไม่รู้ พอรู้ตัวว่ามีความสามารถนี้อาจารย์ก็จับไปแข่งแต่งกลอน เราเลยมีรางวัลมาเรื่อย ๆ พอ ม.6 อะเริ่ม lost ละ เพื่อนติวกันแต่เราซื้อหนังสือมากองแล้วไม่อ่านเลย รู้สึกว่า เหี้ย กูจะสอบติดที่ไหนวะ แอดมิชชันคือไม่ได้แน่นอน แล้วอยู่ดี ๆ มันก็มีโครงการเอกไทยอักษรจุฬา ฯ เข้ามา แล้วมันต้องการแค่สองวิชาที่เราถนัดพอดี คือไทยกับอังกฤษ กับความสามารถพิเศษหนึ่งอย่าง คือแต่งกลอน (หัวเราะ) อะ กูยื่นละ พอมันได้เราก็เลย โอเค ทำไมจะไม่ไปวะ ก็เป็นสิ่งที่พอจะทำได้แล้วก็ติดก่อนคนอื่น ตุลาก็มีที่เรียนแล้ว คิดง่าย ๆ คิดแบบไม่มีอะไรในหัว แค่นั้นเลย ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยากทำอะไร แต่พอเข้ามาเรียนก็ suffer มาก รู้สึกว่าฉันไม่เหมาะกับสังคมอักษร ไม่ถนัดกับเด็กเรียนที่เขาตั้งใจโน่นนี่ เรามีเพื่อนในคณะน้อยมาก คบกันอยู่ไม่กี่คน เป็นแก๊งที่ไปเจอกันร้านเหล้า เพิ่งมารู้สึกดีกับตัวเองตอนปีสามเพราะเราได้ไปเข้าค่ายนักเขียนเนี่ยแหละ ก็เลยรู้สึกว่า ที่จริงการเขียนเยียวยาเราได้มาตั้งนานแล้ว มันทำให้รู้สึกดีกับตัวเองว่าเออ เราก็มีสิ่งที่ทำได้นี่
ทำไมถึงสมัครค่ายนักเขียน
เออนั่นสิ จำไม่ได้แล้วอะ มันจับพลัดจับผลูมากเลย เจอในเฟซบุ๊กมั้ง อยู่ดี ๆ เจอก็เลยไป
ไม่มีความคิดว่าอยากเป็นนักเขียนมาก่อนหรอ
จริง ๆ ก็มีบ้าง พอเราอ่านเยอะมันก็มีเรื่องที่อยากเล่าเหมือนกัน แล้วมันก็ค่อย ๆ ชัดขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากไปค่ายนักเขียน ได้ลองเขียนเรื่องสั้น ปรากฎว่าอาจารย์ที่ไปสอนเขาบอกว่าโอเคว่ะ เรียนจบก็ดันทำ a day BULLETIN ก็คิดว่าเราคงทำอย่างอื่นไม่ได้แล้ว ไม่มีทักษะอื่นแล้ว
หนังสือเล่มไหนทำให้รู้ตัวว่าเป็นคนชอบอ่านหนังสือ
การ์ตูน Hunter x Hunter ดูช่อง 9 แล้วมันมีฉากที่คิลัวฆ่าคนด้วยการควักหัวใจออกมาแล้วชอบ แต่อยู่ดี ๆ ก็ไม่ได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้ต่อ ก็คิดว่าไม่ได้ละ ต้องอ่าน ก็เลยไปหาอ่านตั้งแต่ต้นจนจบเพราะอยากรู้เรื่องมากขึ้น แล้วพออ่านเราอ่านมันได้แบบ non-stop ก็เลยยาวเลย ต่อมาก็ตามสเต็ปเด็กรุ่นเราแหละ ก็คือ Harry Potter
มีคำที่บอกว่า ‘Don’t judge a book by its cover’ ป่านเป็นคนตัดสินหนังสือจากปกหรือเปล่า และการออกแบบปกสำคัญกับหนังสือมากน้อยแค่ไหน
เราอด judge ปกไม่ได้ และเราว่าสำคัญมาก ยิ่งเรามาทำงานในสายงานนี้ยิ่ง judge จากปกเป็นหลัก เพราะเรารู้กระบวนการว่าปกมันเกิดจากอะไร มันเกิดจากนักเขียนทำงานร่วมกับบรรณาธิการ แล้วบรรณาธิการจะให้พื้นที่นักเขียนมากน้อยแค่ไหนในการตัดสินใจเรื่องปก หรือเขาจะเทคความคิดตัวเองเป็นหลัก แล้วเขาจะไปดีลนักวาดภาพประกอบ คนออกแบบปกยังไง พอยิ่งเห็นปกก็อดที่จะคิดไปถึงกระบวนการเหล่านั้นไม่ได้ ที่จริงก็ไม่ดีนะ เพราะเราก็รู้ว่ามีนักเขียนหลายคนที่เขาตั้งใจจริง ๆ แล้วเขาไปอยู่กับสำนักพิมพ์นี้ ซึ่งสำนักพิมพ์ก็ไม่ผิดที่เขาจะมีแนวทางของตัวเองชัดเจนมากขนาดนั้น แต่เดี๋ยวนี้หนังสือปกสวยเยอะขึ้นนะ เหมือนปกก็กลายเป็นอีกส่วนสำคัญของการตลาดไปแล้ว
เลยทำให้เป็นปัญหาเวลาเข้าร้านหนังสือหรือเปล่าว่า ไม่รู้จะอ่านอะไรดี เพราะบางทีหนังสือบนชั้น best sellers ก็อาจจะไม่ใช่หนังสือที่ดีขนาดนั้น แบบนี้จะยังตัดสินจากปกอีกไหม
เราก็เชื่อเทสต์ของบางสำนักพิมพ์นะ ก็เลย อะ พอจะมีแนวให้จับละ แล้วพอได้มาก็จะอ่านคำนำก่อน คำนำสำนักพิมพ์ก็ช่วยได้เยอะเพราะบรรณาธิการที่เขาเลือกเรื่องมาก็ด้วยความอิน ซึ่งมันบอกอะไรได้ มันเห็นเทสต์ของคนที่เลือกเรื่องนี้มา จริง ๆ ปกก็ดึงดูดเราประมาณนึง
ไม่คิดจะลองกรุยทางเองหรอ เพราะบางทีคำนำก็เขียนเพื่ออวยตัวเอง
เราก็เปิดดูเนื้อในด้วยเหมือนกันแหละ ดูภาษาสักบทนึง แล้วก็เลือกมา
ชอบอ่านแนวไหนที่สุด
ชอบอ่านแนวแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) เป็นคนเยอะ ชอบเรื่องที่มันเยอะ ๆ Gabriel García Márquez ก็ชอบ มันจะมีเรื่อง ‘เอเรนดีราผู้บริสุทธิ์’ คือถ้าทำเป็นหนังออกมาวิชวลต้องเหี้ยมาก ๆ แน่ ๆ เป็นฉากแบบอเมริกาใต้ ทะเลทรายนิด ๆ แล้วมีกองคาราวานประสาท ๆ ขึ้นมาเพื่อขายตัวผู้หญิงคนนึง เรื่องมันพาเราไปไกลดี ชอบ แล้วความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องมันเจ็บปวด แล้วมันเป็นสิ่งที่แก้ไม่ออก เราไม่ค่อยชอบอะไรที่มันคลี่คลาย ต้องให้ซับซ้อนหน่อย
ตอนนี้อ่านอะไรอยู่
ตั้งแต่ทำ Life MATTERs เนี่ย อ่านน้อยมาก อ่านแต่งานนักเขียนที่ส่งมา (หัวเราะ) ล่าสุดคือ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจําของทรงจําของแมวกุหลาบดํา’ ก็ร้องห่มร้องไห้ มีกลิ่นแบบสัจนิยมมหัศจรรย์เหมือนกัน แล้วเรา respect ในแง่ของทุกเรื่องที่เล่า สุดท้ายมันจะไปประกอบกันแล้วมันเห็นภาพที่ชัดมากเลยว่า เออ บางทีชีวิตคนมันก็เป็นอย่างเงี้ย ถ้ามองกว้างไปถึงประวัติศาสตร์ของประเทศ มันเกิดจากความทรงจำของคนหรืออะไรพวกเนี้ยแหละ แล้วเขาจะไม่ได้ทิ้งอะไรให้มันนิ่ง เล่าแล้วมันเข้มข้นไปหมด ชอบ
แต่หลัง ๆ ได้อ่านงานของเพื่อนที่มันเรียบง่าย แล้วมันดีจัง ก็รู้สึกว่าเออ ทำไมกูเขียนอะไรที่มันเรียบง่ายไม่ค่อยได้เลยวะ ก็เป็นจุดที่ดีลกับตัวเองอยู่ว่า ควรลองไหม เพราะบางทีเรียบง่ายมันก็มีเสน่ห์ หรือว่าเราเจอทางของเราไปเรียบร้อยแล้ว เลยไม่แน่ใจ ก็เลยอยากเขียนให้ได้ทุกปีมันจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของงานตัวเอง อย่างแก่ ๆ ใกล้ตายแล้วลองมาอ่านจะเห็นว่า อ๋อ ตอน 27 กูเป็นแบบนี้ว่ะ แต่พอ 30 กูเป็นอีกอย่างไปเลย ซึ่งก็เป็นอุดมคติมาก ๆ ไม่น่าจะทำได้ (หัวเราะ)
พูดถึงนักเขียนซีไรต์ไปแล้ว คิดว่าการมีอยู่ของรางวัลซีไรต์ช่วยสนับสนุนวงการวรรณกรรม หรือเป็นการผูกขาดตลาดให้นักเขียนคนนั้นกันแน่
โห ยากเลยอะ รู้สึกว่าจริง ๆ งานหนังสือก็คล้าย ๆ กัน หมายถึงในแง่ที่มันทำให้มีบางอย่างลงล็อกไปหมดแค่ในช่วงจังหวะนี้ หรืออย่างซีไรต์สุดท้ายมันก็ดี มันก็ win win นะ ต่อให้มันผูกขาดพื้นที่ให้กับนักเขียนคนนึงในช่วงเวลานึง มันก็อาจจะดึงดูดให้คนอีกกลุ่มที่ปกติเขาอาจจะบันเทิงกับการเสพอย่างอื่น ไม่ได้อ่านเยอะหรือสนุกกับการอ่านได้มาสนใจ ถ้าไม่มีคนกลุ่มนั้นก็อาจจะไม่ได้มาบันเทิงกับการเสพหนังสือด้วยซ้ำ ส่วนคนที่บันเทิงกับการเสพหนังสืออยู่แล้วเขาก็คงไม่หยุดตัวเองไว้กับแค่เรื่องที่ซีไรต์มาการันตีหรอก
แล้วเรื่องนักเขียนกินบุญเก่าล่ะ บางทีก็เหมือนปิดช่องให้นักเขียนโนเนมที่งานดี
เราว่าหลัง ๆ ร้านหนังสืออิสระกับร้านออนไลน์ก็เปิดช่องให้นักเขียนโนเนมเยอะมาก ๆ เพราะมันกลายเป็นความไม่น่าเบื่อสำหรับคนที่ชอบอ่าน น่าจะมีที่ทางเยอะขึ้นบ้างแล้วนะ
เป็นปัญหาไหมที่คนติดกับชื่อนักเขียนมากกว่าตัวผลงาน
เราว่ามันจะเป็นปัญหากับตัวนักเขียนเองมั้ง มันจะมีบางคนที่เขามีผลงานแบบ masterpiece ไปแล้ว พอเขาออกเล่มอื่นมากลายเป็นเขาโดนด่าว่าเขาแม่งฟอร์มตก หรือไม่ อย่างเรา เล่มแรก ๆ ของเรามันก็เขียนตอนเด็ก ๆ ก็รู้สึกว่าถ้าคนจำภาพเราตอนนั้น ก็อาจจะไม่แฟร์กับเรามั้ง เพราะงานตอนหลังเราก็โตขึ้นแล้ว แต่ถ้าติดกับชื่อนักเขียนที่หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะออกอะไรมาฉันก็ตามซื้อ มันก็แล้วแต่เขา ถ้าเขาเลือกวิธีการเลือกบริโภคของแบบนั้น ก็ได้อ่านงานของคนนั้นไปเรื่อย ๆ แต่ก็น่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเขียนคนนั้นชัดเจนกว่าคนอื่น
อะไรคือสิ่งสำคัญที่นักเขียนควรมี
เวลา! แล้วก็ความบังคับตัวเองนิดนึง เพราะทุกวันนี้มันมีอะไรมาทำให้เขวเยอะมาก แม้แต่เราเอง ไปนั่งดู EXO เงี้ย จะมาเขียนได้ไงวะ กว่าจะจูนมู้ดจาก EXO มามู้ดปกติธรรมดา ไปถึงมู้ดแบบ กูจะเขียน มันยากเหมือนกัน ต้องจดจ่อนิดนึง เราไม่รู้ คนอื่นเขาก็คงเก่ง เขามีวินัยมากกว่านี้ที่จะเขียน หรือมีจินตนาการและการผูกเรื่องที่สมเหตุสมผลไปในเวลาเดียวกันได้ด้วย ถ้าเป็นเราต้องใช้เวลาฉิบหายเลยในการทำให้มันกลมกล่อมและสมเหตุสมผลพอให้คนอินไปกับมันด้วย
เริ่มเขียนเรื่องใหม่หรือยัง
เขียนอยู่ แต่คงอีกพักเลยอะ มันดูยากกว่าเล่มที่ผ่านมาเพราะเราโตขึ้นและคิดอะไรเยอะขึ้น พยายามเขียนเป็นนิยาย ก็จะเขียนเป็น fragment สั้น ๆ แล้วพยายามใช้ตัวละครชุดเดียวกัน เราค่อนข้างมีภาพในหัวว่ามันเป็นเรื่องของผู้หญิงสองคนที่ชื่อเหมือนกัน จริง ๆ มันคล้ายการ์ตูนเรื่องนานะ แต่แค่อยากให้ตอนจบมันไปรักคนคนเดียวกัน แล้วสุดท้ายมันไปนอนกับผู้ชาย แล้วผู้ชายละเมอชื่อขึ้นมา แต่คนนั้นจะไม่รู้เลยว่าหมายถึงกูหรือหมายถึงเขาวะ เพราะมันชื่อเดียวกัน แค่อยากให้มีฉากนี้เว่ย (หัวเราะ) ก็เลยพยายามปั้นอยู่ ตอนนี้ก็มีฉากอื่น ๆ เข้ามา แต่ไม่รู้ว่าจะรวมมันเป็นก้อนเดียวกันยังไง ที่พีคคือ ไปดูไพ่ทาโร่ต์กับพี่โอ๊ต มณเฑียร มา พี่โอ๊ตบอกว่า นิยายไม่ได้หรอก ต้องเป็นเรื่องสั้นไปก่อน จริง ๆ เราก็แอบคิดว่า ไพ่มันออกมาเพราะสิ่งที่เราคิดอยู่ลึก ๆ แหละมั้งถ้ามันจะมีกลไกอะไร หรือลึก ๆ เรารู้ตัวว่ายังไม่ถึงเวลาจะเขียนนิยาย รู้สึกว่าต้องเก่งจริง ๆ คนที่เขียนนิยายได้ คือยกนิ้วให้เลยว่าคุณเก่งมากกับการผูกเรื่องขนาดนั้นและใส่รายละเอียดที่สืบเนื่องต่อกันไปได้จนมีเรื่องยาว นี่ก็พยายามอยู่
ทำไมชอบเขียนเรื่องความสัมพันธ์
คงเพราะเป็นเรื่องที่มากระทบตัวเราในตอนนั้น เหมือนเล่มใหม่เนี่ยถึงจะมีความสัมพันธ์อยู่ แต่องค์ประกอบที่ช่วยดำเนินเรื่องมันไม่ใช่ความสัมพันธ์อย่างเดียวแล้ว มันอาจจะมีเรื่องสังคมรอบข้าง ไม่ได้การเมืองจ๋าขนาดนั้นแต่ก็อาจจะมีร่องรอยบางอย่างที่บังคับให้คนเราต้องเป็นแบบนี้ ตัดสินใจแบบนี้ และต้องมีความสัมพันธ์แบบนี้ เราก็อยากให้มีพวกนั้นเข้ามาเสริมด้วย
สำหรับบันเทิงคดีกับสารคดีชอบเขียนอันไหนมากกว่ากัน
โห เท่ากันเลยว่ะ พอมาทำออนไลน์แล้วเราเขียน non fiction เยอะขึ้น ก็รู้สึกว่ามันสนุกและมีความท้าทายทุกครั้งที่คิดว่า จะเล่า non fiction ยังไงให้สนุก สารคดีอาจจะต้องใช้เวลา ถ้ามีเวลาก็อยากเขียน
การเข้าสู่วงการวรรณกรรมจริง ๆ ของป่านคือตอนไหน
น่าจะเป็นหนังสือเล่มล่าสุด ‘Lunar Lunatic คุณคือดวงจันทร์ ฉันสิคนบ้า’ ก่อนหน้านั้นเราเหมือนมีเรื่องอยากเล่าเต็มไปหมด เป็นกลุ่มนักอ่านเด็ก ๆ อะ แล้วเรารีบร้อน เรารู้สึกว่ามีคนชวนก็เอาวะ ก็ทำเลย แล้วมันเป็นวัตถุดิบที่เราเก็บมาตลอดชีวิต แล้วก็ใช้ ๆๆๆ ยิ่งตอนนั้นยังอยู่ในลูปที่เราต้องทำให้ทันงานหนังสือ เรายังรู้สึกว่ามันขาดความประณีตอยู่ คือกลับไปอ่านก็เขินอะ แต่หมายถึงว่า ถ้าเรายังเก็บไอ้ก้อนนั้นมาเล่าตอนนี้มันก็อาจจะไม่มีหนังสือก็ได้ เพราะมันจะฟุ้ง ๆ ก็เลยดีใจที่ได้ทำตอนที่อินกับมันแหละถูกแล้ว ถ้ายังไม่ตายก็เขียนเรื่องใหม่ ๆ สร้างรอยเท้าใหม่ไปเรื่อย ๆ ถ้ามีคนที่ติดกับชื่อเราก็คงได้เห็นความเปลี่ยนแปลง
เอกลักษณ์งานเขียนของป่านฉัตร
ความเยอะมั้ง เราใช้ภาษาเยอะอะ ถ้าอ่านดราฟต์แรกจะแบบ มึงบ้าหรอ จะขยายอะไรขนาดนั้น ถ้าเป็นตัวเองไม่ค่อยรู้ตัว
อยากให้คนอ่านหนังสือของป่านเล่มไหนเป็นเล่มแรก
‘Lunar Lunatic’ กับอีกเล่มคือ ‘The Monster Piece’ เป็นเรื่องสั้นคล้าย ๆ นิทานแฟนตาซีไปเลย คือหลุด เราเขียนแบบไม่ยั้งตัวเองเลย แล้วไม่ได้คราฟต์ด้วยเพราะเวลาน้อยมาก ต้องทำให้ทันงานหนังสือ เขียนแบบเอามันไปเลย ก็ตลกดี บ้า ๆ บอ ๆ
แล้วออกหนังสือเล่มแรกได้ยังไง สมัยนั้นจะมีคนชอบลงนิยายในเว็บ Dek-D
เราเป็นคนไม่ชอบลงเรื่องในเว็บไซต์หรือโซเชียล คือเล่มแรกนี่พี่ หนุงหนิง—ศิษฏา ดาราวลี เขาเป็นบก.ของ Bunbooks ก็มาชวน เป็นเพราะเราเคยเขียนเรื่องสั้นลงใน ‘Okinawa Holiday’ ที่ไปกับพี่ฝน พี่คุ่น แล้วเขาก็ถามเราว่าชอบเขียนหรอ เราก็บอก ชอบ ๆ นั่นแหละก็ไปขอพี่คุ่นเขียนเรื่องนึง เขาก็ตีพิมพ์ให้ ซึ่งใจดีมาก พอพี่หนุงหนิงเห็นว่าชอบเขียน แล้วเขาก็หานักเขียนอยู่ก็เลยชวน เราก็มีเรื่องที่อยากเล่าพอดี มีฟอร์มที่คิดไว้ในหัว ก็เสนอไป แล้วก็ผ่าน ทุกอย่างง่ายไปหมด พอกลับมาอ่านแล้วแบบ (ทำหน้าช็อก) หม่ายก้าดดดด ก็ไม่ได้หมายความว่าบรรณาธิการเขาไม่โอเคนะ คือเขาก็รู้ genre รู้ตลาดของเขา เขาก็เลือกที่จะให้มันออกมาเป็นแบบนั้น เพียงแต่เราโตขึ้นมา ผ่านตรงนั้นมาแล้ว
รู้จักกับพี่ฝนกับพี่คุ่นได้ยังไง
ไปค่ายนักเขียนอีกทีแล้วมีพี่ในค่ายเขาเห็นว่าพี่ฝนกับพี่คุ่นประกาศรับคนไปโอกินาว่าด้วย เขาก็เลยส่งมาให้เรา ก็เลยลองสมัคร อยากไปเที่ยวฟรี เหมือนตอนสัมภาษณ์เขาก็ถามด้วยว่าชอบทำอะไร ก็บอกว่าชอบเขียน ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราได้ไปมั้ง ถ้าไม่ขอเขียนก็คงไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับกระบวนการเขียนในเล่มนั้น คือไปก็ไปเที่ยวอย่างเดียวเลย ยิ้ม กินข้าว ยิ้ม ก็ต้องยิ้มกับทุกอย่างระหว่างเที่ยว เพราะเขาถ่ายรูปด้วยไง เหมือนเราเป็นแบบไปขึ้นปกเขา เราเป็นตัวละครในเล่มนั้นประมาณนึงว่าไปเที่ยวกับคนนี้ แต่ก็สนุกดี หมายถึงระหว่างไปเราก็ได้พูดคุยเรื่องหนังสือบ้าง เรื่องโน่นนี่บ้างกับพี่ฝนพี่คุ่น มันก็เปิดโลกเราเยอะเหมือนกัน ได้จุ่มเท้าเข้ามาในวงการนี้นิดนึง
บางคนบอกว่าการไปเที่ยวคือการไปค้นหาตัวเอง เราเชื่อแบบนั้นไหม
เท่าที่ไปแล้วกลับมาก็ไม่ได้รู้สึกว่ารู้จักตัวเองมากขึ้น แค่รู้ว่าตัวเองเป็นคนแดกเยอะ แล้วก็ไม่ค่อยเสียดายเงินกับการกิน แค่นั้นอะ ไม่ได้ไปเป็นเดือน เป็นปี แค่ไปช่วงนึง แล้วทรีตมันเป็นการไปพักเลย เราเลยไม่ได้รู้จักตัวเองเพิ่มขนาดนั้น แต่มันคือการไปเก็บวัตถุดิบ คือเราชอบหาฉากมาใส่ในเรื่องตัวเอง การไปเที่ยวของเราคือการหาฉากเข้ามาเพิ่ม หรือได้ซีนประหลาด ๆ อย่างนั่งบนเครื่องบินแล้วเราก็แต่งหน้า แบบ เจ็ตแล็ก หลับก็ไม่หลับ ก็เลยแต่งหน้าละกัน แล้วคนที่นั่งข้าง ๆ เป็นคนญี่ปุ่น เขาก็ดูอึดอัดกับการแต่งหน้าของเรามาก แล้วเราแต่งชั่วโมงนึง ก็ค่อย ๆ ใส่ ค่อย ๆ แต่ง ก็มันว่างอะ เขาก็ดูอึดอัด ไม่โอเค เราก็แบบ Sorry, but… ก็ไม่รู้จะทำอะไรอะ แล้วก็อยากลงสนามบินแบบสวยนิดนึง ก็ตลกดี หยิบฉากนั้นมาเขียน เล่าด้วยน้ำเสียงของผู้ชายคนนั้นที่เฝ้ามองผู้หญิงคนนึงแต่งหน้า ด้วยความที่มันถูกบังคับ ถูกล็อกให้อยู่ตรงนั้น กับผู้หญิงคนนี้ที่ทำให้เขารำคาญ
ในเมื่อการท่องเที่ยวไม่ช่วย อะไรที่ทำให้รู้จักตัวเองอีกนอกจากการเขียนหนังสือ
การผ่านเรื่องทุกข์ การผ่านเรื่องประสาทแดก เช่นการปิด Life MATTERs มันทำให้รู้ว่าช่วงที่ดาวน์สุด ๆ ของเรามันไปถึงตรงไหนวะ แล้วเราผ่านมันมาได้ยังไง คนที่ช่วยเราเขาต้องเจออะไรบ้าง ความทุกข์ทำให้เห็นตัวเองชัดขึ้น สมมติตอนที่ผิดหวังกับใครคนนึงมาก ๆ เรารู้สึกกับเขาได้ถึงขนาดไหน หรือเราจะ react กับเขายังไง
การได้มาเป็นบรรณาธิการตั้งแต่อายุยังไม่ขึ้นเลข 3 ป่านต้องเจอความกดดันยังไงบ้าง
โห ต้องปั้นเองเกือบทุกอย่าง ทีมเรามีน้อยด้วย art director ก็ไม่มี บางทีเราก็ต้องดู art direction ด้วย ก็เครียด เหมือนตลอดครึ่งปีที่เราได้หยุดแค่ 4 วัน คือแค่นั้นจริง ๆ เป็น 4 วันที่ไม่ได้คิดและไม่แตะงานเลย นอกนั้นเวลาที่เหลือมาตลอดครึ่งปีคือมีงานเข้ามาตลอดทุกวัน แล้วจากที่เราไม่ค่อยเข้าเฟซบุ๊ก เราตื่นมาต้องกลายเป็นคนที่ดู news feed ตลอด ตอนจะเลือกเรื่องมาคิดว่าใครที่จะอยากอ่าน หรือบางอันถ้าเราอยากเล่าจริง ๆ เราก็เล่า อย่างคนสัมภาษณ์บางทีเรารู้สึกว่าถ้าคนนี้คนสัมภาษณ์กันไปเยอะแล้ว เราลองไปหาคนอื่นไหม เพราะในบ้านเรามันก็มีคนทำอะไรเจ๋ง ๆ เยอะนะ แค่เขายังไม่ได้ปังขึ้นมาหรือยังไม่ค่อยมีพื้นที่ ก็รู้สึกว่าถ้าได้คุยกับคนพวกนี้ก็น่าจะสนุก มันน่าจะยังมีกลุ่มคนที่ชอบแบบนี้ ก็ทำ แล้วโชคดีที่น้องในทีมเราทุกคนตั้งใจ นักเขียนที่ชวนมาก็ตาม ทุกคนให้ input กับเราเยอะมาก Life MATTERs มันก็เลยออกมาเป็นแบบนี้
มีวิธีแข่งขันกับสื่อออนไลน์เจ้าอื่นยังไงในวันที่สื่อออนไลน์ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด
วิธีของเราก็คือ อย่าไปซ้ำกับคนอื่น ถ้าคุณไม่ได้ชอบสิ่งนั้นจริง ๆ หรือแข็งกับสิ่งนั้นจริง ๆ มันจะมีคนที่… อะ เห็น Soimilk คนแชร์เยอะ อยู่ดี ๆ ก็อยากทำแบบ Soimilk แล้วจะไปสู้ original เขาได้ยังไงวะ หรืออยู่ดี ๆ เห็นเรื่องนี้มาก็แห่ไปเล่าเรื่องนี้กันทั้งหมดโดยที่มุมมองก็คล้าย ๆ กัน เรารู้สึกว่า ลองยอมปล่อยบางอันไหม อย่าง bitcoin มันมีคนอื่นเล่าไปเยอะแล้ว หรือยังมีแง่มุมอื่นให้เล่าอีกไหม ทำไมต้องทำร้ายทีมด้วยการต้องวิ่งเร็วขนาดนั้น หรือเราจะได้มีเวลาไปประณีตกับอย่างอื่นที่ยังไม่มีคนทำ เรารู้สึกว่ามันยังมีช่องว่างอีกเยอะ อย่าประมาทผู้เสพว่ามันมีคนอยากอ่านแค่อะไรแบบนี้ แต่ก็ไม่รู้ว่าวิธีนี้มันเวิร์กมั้ยน่ะนะ คือสุดท้ายเราก็ปิดตัวไง
ระหว่างสื่อไว ๆ กับสื่อคราฟต์เนื้อหา นาน ๆ ออกที ป่านฉัตรจะเลือกอะไร
เราก็ยังเลือกงานคราฟต์นะ เหมือน Life MATTERs ก็เคยเล่นเกมเร็วตอนพี่เต๋อ นวพล ตอนนั้นพี่เต๋อสัมภาษณ์ 5 สื่อในวันเดียวก็ เออ กูขอก่อนเลย สัมภาษณ์ 10 โมง กลับออฟฟิศมาทำเลย ตอนนั้นเราก็พยายามคราฟต์ไปด้วยนะ แต่สุดท้ายรู้สึกว่ามันก็ได้แค่ความเร็ว แบบ ว้าว แปปเดียว แต่แล้วถ้าคนมันตั้งใจอ่านจริง ๆ มันก็มีแล้วเขาจะเห็นว่าเรารีบ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนที่เราอยากแคร์เว่ย ไปพิสูจน์ตัวเองกับกลุ่มนั้นดีกว่า ถึงมันคราฟต์ก็ไม่ได้ช้าจนไม่ทันการณ์ขนาดนั้น อย่างที่บอก เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องวิ่งไปจับปลาตัวเดียวกันตลอดเวลา เราก็วิ่งไปคราฟต์กับอย่างอื่นสิ ลองจัดการเวลา คราฟต์แค่ไหนก็คงไม่ได้เขียนวีคละหนึ่งชิ้น มันก็คงไม่ช้าขนาดนั้น คงจะมีเวลาของมัน
‘ทำลาย, เธอกล่าว’ ต้องเขียนร่วมกับนักเขียนคนอื่น ต้องจำกัดตัวเองให้เข้ากับธีมเล่มมากน้อยขนาดไหน
ไม่นะ แล้วก็คิดว่าไม่มีใครต้องทำแบบนั้นด้วย เพราะเหมือนพี่วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ที่เป็นบรรณาธิการเล่ม เขาก็คงอ่านงานพวกเราในวง ๆ นี้มาแล้วแหละ อ่าน ‘Lunar Lunatic’ ของเรา แล้วก็ ‘คนึงแมนชัน’ ของ ฝน—วรรษชล ศิริจันทนันท์ ที่ทำเพจ Moody Twenties ก็ชวน ๆ กันมาปากต่อปาก เขาก็ชวนคนที่เขาเห็นว่าน่าสนใจมาเขียน ธีมแค่เขียนเป็นเรื่องสั้นที่เขียนโดยผู้หญิง แค่นั้นเลย นอกนั้นใครจะเขียนอะไรก็เขียน แล้วเราก็ไม่ได้อ่านงานคนอื่นด้วยเพราะไม่อยากรู้สึกว่า กูเขียนห่วยสุดแน่นอน เพราะรู้สึกว่ามันอาจจะเป็นอย่างนั้น ตอนนี้ก็ยังไม่ได้อ่าน
จริง ๆ แล้วป่านเป็นคนรั่วขัดกับลุค
มาก ถ้ารู้จักตัวจริงก็คงแบบ ไม่ชอบแน่นอน มาเห็นตอนนั่งแล้วลืมแขม่วพุงเงี้ย
มีอะไรอีกที่คนไม่รู้เกี่ยวกับป่านฉัตร
ตอนแรกจะบอกว่า ชอบ EXO ก็ไม่ เพราะในเฟซบุ๊กเล่นใหญ่มาก ใครที่เป็นเฟรนด์กับเราก็น่าจะพอเห็นว่าเป็นคนที่ไม่ใช่แบบมองจากไกล ๆ แล้วคิดว่าเป็น ไม่ต้องแอดมานะคะ (หัวเราะ)
ความสนใจใคร่รู้ในช่วงนี้
อยากทำงานเกี่ยวกับพืชและสัตว์ เหมือนเราเป็นคนชอบรู้ชื่อต้นไม้ ตอนเด็กมันมีหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้ที่พ่อซื้อมา สัตว์ต่าง ๆ แล้วเพื่อนก็ชอบมางงว่า เรารู้ชื่อต้นไม้พวกนี้ได้ไง เราก็จะงงเพื่อนว่ามึงไม่รู้ได้ไง (หัวเราะ) ชอบการไปรู้ชื่อของสิ่งนี้ ๆๆๆ ตอนคุยกับเอิง Teaspoon Studio เขาเคยอยากเป็นนักพฤกษศาสตร์ พอคุยกับเอิงแล้วรู้สึกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นน่าจะดีเหมือนกัน ซึ่งการรู้ชื่อหรือรู้จักมันมากขึ้น สุดท้ายก็จะถูกเอามาใช้ในงานเขียนของเรา แล้วจริง ๆ ถ้ามีปัญญาก็อยากลองทำหนังเด้อ แต่เราก็ไม่น่าจะรับมือคนในกองได้ รู้สึกว่าตัวเองเหมาะกับการทำงานที่ไม่ต้องยุ่งกับคนอื่นเยอะ (FJZ: เขียนบทสิ) น่าจะได้มะ?
คิดว่าตัวเองตอนอายุ 40 จะไปทำอะไรอยู่ที่ส่วนไหนของโลก
ถ้ายังไม่ตายก่อนก็คงอยู่กรุงเทพ ฯ เนี่ยแหละ คงเขียนอะไรอยู่สักอย่าง คงหากิจการที่ไว้สำหรับหาเงินที่ไม่ใช่การเขียน แล้วใช้การเขียนเพื่อความบันเทิง แต่นึกภาพไม่ออกว่าคืออะไรขนาดนั้น แค่ไม่อยากต้องมานั่งหาเงินด้วยทักษะที่เราชอบ แล้วบางทีก็ซัฟเฟอร์กับมัน
นักเขียนควรได้เงินมากกว่านี้ไหม
ควร มาก รู้สึกว่า ทำไมคนทรีตว่า… อันนี้พูดถึงงานคอนเทนต์ที่เราเห็น ๆ นะ มันอาจจะมีคนรับเขียนหน้าละแบบ 500 แต่อย่างน้อยถ้าคุณอยากได้งานเขียน คุณต้องอ่าน แล้วจะรู้ว่าคนเขียนควรได้เงินเท่าไหร่ เขียนมันไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็นั่งพิมพ์ให้เต็มหน้ากระดาษ มันต้องจัดการกับความคิดชุดใหญ่หลายชุดมาก แล้วเราจะโกรธมากถ้าคนบอกว่า อันนี้เขียนมาง่าย ๆ รีวิวหนังสือแค่สองสามหน้า เอาไปพันสองละกัน คือดูถูกกันมากเลยอะ คือคุณให้ค่างานเหมือนเราทำตัวเป็นเครื่องพิมพ์ เราไม่ใช่เครื่องพิมพ์เว่ย กว่าจะพิมพ์มาได้คือต้องไปหาข้อมูล ต้องเอามาเรียบเรียง ต้องมาประดิษฐ์ประโยคว่าจะเริ่มต้นยังไง ออกตัวยังไงไม่ให้เกิดดราม่าในบางชิ้น หรือคิดว่าจะหยิบอะไรมาเขียนดี คิดดูว่าคนที่เขียนงานเป็นอาชีพ เดือนละกี่ชิ้น แล้วมันไม่สามารถใช้วิธีเขียนเปิดและวิธีปิดแบบเดียวกันได้ทั้งหมด มันต้องคิดใหม่อยู่เรื่อย ๆ สมองเนี่ยจะปั่นเป็นผง แต่อันนี้ไม่นับคนที่ลงมาทำเพราะอินกับงานเขียนงานคอนเทนต์และอยากให้โอกาสคนทำงาน รวมถึงนึกถึงคนอ่านจริง ๆ นะ ซึ่งตรงนั้นอะ เราเข้าใจที่เม็ดเงินมันจะน้อย ก็ต้องช่วยเหลือเห็นใจกันไป แต่สำหรับพวกนายทุนที่มองคอนเทนต์เป็นแค่สินค้า ถ้าคุณไม่อิน ไม่เห็นคุณค่า หรือไม่คิดจะอ่านมันด้วยซ้ำ แล้วมานั่งกดราคาคนทำงาน อย่าทำดีกว่า ไปทำธุรกิจอื่นก็ได้มั้ง
สุดท้าย ถ้ายังได้ทำ Life MATTERs ต่อ อยากสัมภาษณ์ใครอีก
เราอยากสัมภาษณ์คุณรัดเกล้า อามระดิษ กับการรับบทเซ็นเซย์ยูกิในเรื่อง ‘ล่า’ มัน cult จนแบบ เราดูแล้วติดชิบหายในความ cult ของเซ็นเซย์ยูกิ พีคมาก แล้วอยากรู้ว่าเขาตัดสินใจรับบทในความคิดแบบไหน ระหว่างเล่นอะไรแบบเนี้ย ต้องจูนอารมณ์ยังไงวะ มันเป็นตัวละครที่หลุดโลกเหี้ย ๆ แล้วแกมีพาร์ตที่เป็นไลฟ์โค้ช เปิดคอร์สบุคลิกภาพแล้วตะโกน ๆ สุดมาก เหมือนคุณรัดเกล้าเขาก็ไม่ใช่คนที่จะมาเล่นอะไรอย่างนี้ปะ แต่ไม่แน่แกอาจสนุกกับบทนี้ก็ได้ อยากลองคุยดู