Feature เห็ดหูหนู

คุยเรื่องเพลงกับ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

  • Writer: Piyakul Phusri
  • Photographer: Chavit Mayot

ถ้าไม่นับดารานักแสดง แฟรงค์ — เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล คงเป็นวัยรุ่นไทยที่ปรากฏตัวผ่านสื่อทั้งออนไลน์ออฟไลน์บ่อยที่สุดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะในฐานะนักกิจกรรมทางการเมือง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการปฏิรูประบบรับน้อง ผู้ปฏิเสธระบบการเกณฑ์ทหาร ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอื่น อีกมากมาย

แต่ไม่ว่าคุณจะรู้จักเขาในภาพลักษณ์ หรือฐานะไหน เราอยากทำความรู้จักเขาในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่น่าจะหาความบันเทิงเริงใจจากดนตรีเหมือนวัยรุ่นทั่งไปบ้างเหมือนกันแหละ (ก่อนไปสัมภาษณ์เราคิดไว้ว่าคงเป็นอย่างนั้น แม้จะหวั่น ว่าแฟรงค์จะเป็นคนฟังเพลงรึเปล่านะ)

และก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่แฟรงค์ก็เป็นนักฟังเพลงเหมือนกัน เราเลยอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับอีกแง่มุมของวัยรุ่นคนนี้ว่าดนตรีเป็นทั้งความบันเทิง และแรงบันดาลใจในชีวิตของเขาอย่างไร

img_3742

Frank’s choices: 6 เพลงเพื่อสิทธิและเสรีภาพที่เนติวิทย์ชอบและแนะนำให้เราฟัง

Pete Seegar – All Mixed Up

เป็นเพลงเกี่ยวกับความหลากหลายของคน เขาบอกว่าคำภาษาอังกฤษที่ใช้กันเนี่ยมันไม่ได้เป็นภาษาอังกฤษ มันเป็นคำที่บางทีก็มาจากคนงาน มาจากทาสแอฟริกา ไปจนถึงโรมัน การที่จะบอกว่าเป็นคนอเมริกันแท้ เป็นคนอังกฤษแท้ มันไม่มี และผมคิดว่าเมืองไทยน่าจะมีเพลงแบบนี้บ้างที่ให้เราเห็นว่าภาษาไทย ความเป็นไทย มันก็มีที่มาที่หลากหลาย

Phil Ochs – What Are You Fighting For

เป็นเพลงเกี่ยวกับสงคราม อย่างเรื่องเกณฑ์ทหาร ถ้าเราฟังเพลงนี้ก็อาจจะทำให้ได้คิดว่าเราสู้กันไปทำไม ผมคิดว่าประเทศไทยยังขาดเพลงแบบนี้ เพลงที่เล่นอ้อม ก็อาจจะมี แต่เพลงนี้เขาสื่อตรงไปตรงมา และเนื้อเพลงก็ดีมาก คนนี้เป็นอัจฉริยะเลย เสียดายที่ตายไปนานแล้ว

Bruce Springsteen – Street of Philadelphia

ผมว่ามันเป็นการบรรยายความหลากหลายและความเหลื่อมล้ำของสังคมที่งดงามมากเลย พอมาเทียบกับกรุงเทพ เราสามารถแต่งเพลงในลักษณะคล้าย กันได้ เพราะที่นี่เราจะเห็นความหลากหลาย ความเหลื่อมล้ำของคนเยอะแยะไปหมด

Woody Guthrie – This Land is Your Land

เป็นเพลงที่ผมชอบที่สุด ผมเคยพยายามหาคนมาทำเพลงนี้ในเวอร์ชันภาษาไทยแต่ตอนนี้ยังไม่สำเร็จ เพลงมันดีมาก มันบอกว่านี่คือดินแดนของคุณ และนี่ก็คือดินแดนของฉันด้วย คือปัญหาทางการเมืองของบ้านเราตอนนี้มันระอุรุนแรงมาก เราไม่เคยคิดว่านี่เป็นที่ของเราและก็เป็นที่ของคุณด้วย มันไม่มีเพลงที่ทำให้เสื้อเหลืองและเสื้อแดงมาร้องด้วยกันได้จริง ว่าเราเป็นเจ้าของดินแดนนี้ร่วมกันอย่างเท่าเทียม และเราทุกคนก็มีเสรีภาพที่ไม่มีใครมาขัดขวางเราได้ในที่นี้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือชนชั้นสูงแค่ไหนก็ไม่มีสิทธิมารังแกคนอื่น ที่อเมริกา บางคนยกให้นี่เป็นเพลงชาติหมายเลขสอง

Pete Seegar – Where Have All the Flowers Gone

เป็นเพลงที่บางทีผมฟังแล้วก็น้ำตาไหล ดอกไม้หายไปไหน? ดอกไม้ก็ถูกผู้หญิงเก็บไป ผู้หญิงหายไปไหน? ผู้หญิงก็ไปแต่งงาน แล้วผู้ชายที่แต่งงานแล้วไปไหน? ก็ไปเป็นทหาร แล้วทหารไปไหน? ทหารก็ไปอยู่ในหลุมศพ (หลังจากเสียชีวิตในการรบ) จากหลุมศพก็กลับมากลายเป็นดอกไม้ เป็นเพลงที่ทำให้เราคิดเรื่องเกณฑ์ทหารและการเข่นฆ่ากัน มันทำให้ผมคิดว่า เราก็ไม่ได้ต่างกันเลยไม่ใช่เหรอ ทำไมจะต้องทำให้ชีวิตอีกกี่ชีวิตต้องเศร้าโศกเพราะการฆ่าฟันและสงคราม

Pink Floyd – Another Brick in the Wall

เป็นเพลงที่นักเรียน นักศึกษา ควรฟังว่าโรงเรียน และมหาวิทยาลัยล้างสมองเรายังไง มันเป็นเพลงที่ทำให้เรารู้เท่าทันอะไรบางอย่าง


 

TALK TALK TALK

img_3753

เป็นคนเล่นดนตรีไหม

ผมไม่ได้เล่นดนตรี อันนี้เป็นสิ่งที่ผมเสียดายมาก คือผมมีความสนใจและอยากเล่นดนตรีให้เป็น เพราะผมคิดว่าการเล่นดนตรีไม่เป็นมันเป็นอะไรที่บกพร่องในชีวิตอย่างนึง คือเมื่อก่อนก็เคยเรียนดนตรีมาบ้างแหละ เรียนระนาดสมัยเด็ก แต่ก็ไม่ได้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และตอนมัธยมก็มีอะไรให้ทำเยอะแยะ เราก็ใช้เวลาไปทำอย่างอื่น แต่เร็ว นี้ผมกำลังจะมีเวลา ก็คุยกับเพื่อนที่อยู่คณะศิลปกรรมว่าจะให้มาสอนเล่นดนตรี

ที่ว่าสนใจอยากเล่นดนตรีนี่อยากเล่นอะไร

อยากเล่นกีตาร์ให้ได้ก่อน แล้วสิ่งที่สนใจตามมาคือแบนโจ เพราะผมฟังเพลงโฟล์ก เพลงคันทรี่ของอเมริกาค่อนข้างมาก ทำให้มีแรงบันดาลใจในการอยากจะเล่นเครื่องดนตรีพวกนี้ให้เป็น

แล้วฟังเพลงไทยบ้างไหม

ส่วนใหญ่เป็นการฟังแบบได้ยินผ่านหูมากกว่า แต่ก็มีเพลงที่ชอบอยู่บ้าง และก็มีเพื่อน ส่งมาให้ฟังอยู่บ้าง โดยรวมไม่ค่อยฟังเพลงไทย ไม่ได้ตามเพลงไทยเท่าไหร่นัก

nenenenen2

ทำไมถึงชอบฟังเพลงโฟล์ก เพลงคันทรี่

คือเพลงพวกนี้มันก็มีหลายประเภท แต่เพลงที่ผมชอบจะเป็นเพลงเก่า คือผมเป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง การได้ฟังเพลงพวกนี้มันทำให้ผมรู้สึกมีแรงบันดาลใจในการทำงานและการให้ความหวังกับการดำเนินชีวิต เพราะเพลงที่ผมฟังบางเพลงมันเป็นเพลงที่มีความหมาย มีประวัติศาสตร์ของคนร้อง นอกจากนี้ ยังสะท้อนชีวิตภายในออกมารวมถึงสภาพสังคมที่บีบคั้นมนุษย์ได้อย่างถึงรสชาติ การฟังเพลงบางประเภทมันก็ช่วยปลอบประโลมใจเรา

ชอบศิลปินคนไหนเป็นพิเศษ

ก็มีหลายคน อย่าง Woody Guthrie, Pete Seegar, Bob Dylan, Neil Young หรือ Bruce Springsteen

เพลงอย่างที่แฟรงค์ชอบ ในยุคหนึ่งเมืองไทยก็มีสิ่งที่เรียกว่าเพลงเพื่อชีวิตที่อาจจะหยิบยืมทั้งแนวดนตรี และแนวคิดของศิลปินที่ชอบมาทำเพลง ทำไมถึงไม่ฟังเพลงเพื่อชีวิตไทย

มันก็เป็นรสนิยมส่วนตัวนะครับ คือผมไม่ค่อยได้ฟังเพลงไทย ส่วนหนึ่งก็ติดมาจากการพยายามฝึกภาษาอังกฤษหลายปีแล้ว เพลงโฟล์กอเมริกันที่ผมฟังเขาจะบรรยายถึงลักษณะชีวิตของคนในสังคมเพื่อต้องการให้สังคมมันดีขึ้น ในอดีตเพลงแบบนี้ในสังคมไทยก็อาจจะมี แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้มันกลายเป็นเพลงที่รับใช้ระบบทุนนิยม หรืออาจจะมีการวิพากษ์ แต่เป็นการวิพากษ์ที่ไม่มีความแหลมคม

แบบนี้จำเป็นไหมที่เราจะต้องแยกระหว่างตัวตน ทัศนคติทางการเมืองกับศิลปินออกจากผลงานของเขา

เป็นคำถามที่ตอบยากมาก อย่างเพลงหนึ่งที่แต่งขึ้นในบริบทหนึ่ง แต่ตัวศิลปินเปลี่ยนไปแล้ว แต่เราจะบอกว่างานชิ้นนั้นมันไม่มีค่าเลยก็คงไม่ได้ อย่างบีโธเฟ่นเองก็เคยแต่งเพลงให้นโปเลียน (The Symphony No. 3 in E-flat major, Op. 55 – Eroica) แล้วตอนหลังเขาก็รู้สึกล้มเหลวกับมันด้วยซ้ำไป แต่แน่นอนว่าตัวศิลปินก็มีผลกับตัวผลงาน ถ้าเราคิดลงลึกไปเราก็อาจจะทราบได้ว่าเขาแต่งไปเพื่ออะไร มีนัยอะไร ถ้าเวลามันเปลี่ยนไป เพลงที่เขาจะแต่งขึ้นมาจากตอนแรกมันก็อาจจะมีความซับซ้อนที่ทำให้เราต้องคิดมากขึ้นก็ได้ ตัวตนเขาเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างก็เห็นได้จากเพลง แต่เรื่องการประเมินค่าจากคำถามที่ตั้งมาให้ มันแล้วแต่คนจริง บางคนยึดว่าศิลปินต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่ตัวเองสื่อออกมา บางคนก็เห็นว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน

อีกอย่างหนึ่งมันขึ้นอยู่กับการตีความด้วย ดนตรี บทกวี มันคือการตีความ บางทีตัวศิลปินไม่ได้มีความตั้งใจให้มันออกมาอย่างนี้แต่คนก็ตีความกันไป เพลงหลายเพลงที่ผมชอบบางทีก็กลายเป็นเครื่องมือทางการค้าเหมือนกัน อย่างเพลง This Land is Your Land เป็นเพลงดังมากของ Woody Guthrie และเป็นเพลงที่ใช้ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโอบาม่า ซึ่งเพลงนี้มันมีเนื้อหาทางสังคมนิยมมาก แต่มันก็มีวงที่เอาเพลงนี้ไปใช้ในธุรกิจประกันภัย 

ในส่วนตัวของผม พูดด้วยจุดยืนที่มีอคติอย่างหนึ่ง ผมจะมองว่าชีวิตของเขากับเพลงสะท้อนกันและกัน ผมไม่ชอบศิลปินที่สมัยหนึ่งรับใช้อุดมคติ แต่อีกยุคละทิ้งลงไป จริง เพลงของเขาก็ยังมีคุณค่าให้ฟัง แต่ผมรู้สึกไม่อยากจะฟังมากเท่าไหร่แล้ว

screen-shot-2560-07-05-at-1-43-00-pm

ทั้งเพลงและศิลปินที่แฟรงค์ชอบฟังมันก็ค่อนข้างเก่า แต่แฟรงค์มองว่าเนื้อหามันยังร่วมสมัยอยู่

ร่วมสมัยมาก เพลงหลาย เพลงที่ผมชอบ ศิลปินเองก็ไม่ได้เป็นคนแต่งเองทั้งหมดนะครับ แต่มันเป็นเพลงเก่าแก่ของพวกคนผิวดำที่เขาร้องกันในทุ่ง ในสวน ในโบสถ์ แล้วศิลปินก็เอามาดัดแปลงเพิ่มเติมให้เนื้อหามันเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ซึ่งผมถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของเพลงแอฟริกันอเมริกัน อย่างเพลงหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากคือเพลง We Shall Overcome เมื่อก่อนมันไม่ได้ชื่อนี้นะ แต่ชื่อ I’ll Overcome Some Day เป็นเพลงที่ร้องในโบสถ์ ตอนหลังเขาก็มีการเปลี่ยนเนื้อร้องให้เข้ากับบริบทสถานการณ์ที่กำลังต่อสู้อยู่ ผมชอบเพราะมันเป็นเพลงที่รวมผู้คนเข้าด้วยกัน รู้สึกมันมีพลังเวลาฟัง

ปกติไปงานคอนเสิร์ตบ้างไหม

ไม่ค่อยมีโอกาสไป เพลงที่ผมชอบนี่หาฟังยากในประเทศไทย ยิ่งคอนเสิร์ตไม่ต้องพูดถึงเลย น่าเสียดายเหมือนกัน เพลงที่ผมฟังมันย้อนกลับไปหลายปีมาก อย่างเพลงของ Woody Guthrie มันย้อนกลับไปปี 1930 ถ้าจะหาฟังคงต้องที่สหรัฐอเมริกาซึ่งก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ ผมเคยอยากจะไปฟังคอนเสิร์ตของ Pete Seeger มาก เขาเล่นดนตรีจนอายุ 90 กว่าก็ยังไม่เลิก ผมคิดว่าถ้าผมได้ไปอเมริกา ผมจะต้องไปฟังให้ได้แน่ แต่น่าเศร้าใจมาก เขาไม่รออยู่ให้ผมได้ไปฟัง

จัดสรรเวลาฟังเพลงเป็นพิเศษไหม

ผมคิดว่าการฟังเพลงควรเป็นเรื่องปกติในชีวิต เวลาทำงานจะไม่ฟังเพราะมันรบกวนสมาธิ ทำทีละอย่างดีที่สุดสำหรับตัวผม แต่เวลาผมไม่ได้ทำอะไรก็จะฟังเพลง อย่างตอนเช้า เพลงที่ผมฟังมันเป็นเพลงที่มีความหมายกับชีวิต เวลาผมฟังแล้วก็จะรู้สึกว่าการมีชีวิตอยู่ของเราในวันนี้ วันพรุ่งนี้ วันต่อไป เราจะทำอะไรบ้าง เป็นประโยชน์อะไรได้บ้าง แต่เวลากลางคืนผมจะไม่ค่อยฟังเพลงนะ เพราะเวลาฟังเพลงผมจะเป็นคนคิดมาก ก็จะทำให้นอนไม่หลับ

untitled-1

แฟรงค์อาจจะไม่ค่อยได้ฟังเพลงไทย แต่อยากรู้ว่าแฟรงค์ต้องการเห็นวงการเพลงไทยเป็นยังไง หรือต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางไหน

ผมคงไม่สามารถบอกได้อย่างละเอียดเพราะไม่ค่อยรู้จักศิลปินไทย แต่พอทราบมาบ้างว่าก็มีศิลปินหลายวงที่มีความคิดขบถ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก ผมชอบสิ่งที่ Woody Guthrie เคยบอกว่าเพลงของเขาไม่ได้ต้องการให้คนรู้สึกสิ้นหวัง หรือ ฟังแล้วลดทอนคุณค่าของตัวเอง แต่เป็นเพลงที่ฟังแล้วทำให้คนรู้สึกมีค่าหรือภูมิใจในตัวเอง ซึ่งผมว่าเพลงพวกนี้มีจำนวนน้อยในสังคมปัจจุบัน ยิ่งเราอยู่ในสังคมที่ทุนนิยมเป็นใหญ่ และรัฐก็เป็นเรื่องของชนชั้นปกครองของทหาร ดังนั้นเพลงของเรายังมีน้อยที่จะทำให้เรารู้สึกภูมิใจว่าเราเป็นมนุษย์เท่า กัน มีความต้องการความยุติธรรม ปลุกให้เราตั้งคำถามกับโลกที่เราเห็น ให้ฝันถึงโลกที่ดีกว่าเดิม ผมว่าเพลงจำพวกนี้ยังน้อยกว่าเพลงที่ทำให้เรารู้สึกเนื้อน้อยต่ำใจ

แสดงว่าแฟรงค์ก็เชื่อว่าดนตรีมันต้องให้กำลังใจผู้คน

ก็คงจะเป็นอย่างนั้น ส่วนตัวผมเชื่อในพลังอำนาจของดนตรี หลายปีที่แล้วผมเคยพยายามจะทำวงประสานเสียงให้คนมาร้องเพลงที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน แต่ยังไม่สำเร็จ คือเพลงมันมีบทบาทกับชีวิตมาก มันเป็นตัวกำกับชีวิตของเราได้ด้วยซ้ำไป บางทีเราทำอะไรบางอย่าง ก็เพราะเพลงมันพาไป เอาไว้ใช้ propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ก็ได้ ไม่งั้นรัฐบาลก็คงไม่ทำเพลงหรอก จริงมั้ยครับ

นอกจากจะฟังเพลงเพื่อปลุกพลัง สร้างแรงบันดาลใจ มีเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกคิดถึงวัยเด็ก คิดถึงเพื่อน บ้างรึเปล่า

เพลงอนิเมะบางเพลงก็ฟังบ้าง หรือเวลาดูการ์ตูน เพลงเหล่านี้ย้อนกลับไปให้คิดถึงวัยเด็ก เพื่อน ที่ห่างหายกันไป

คุณเคยใช้เพลงเพื่อจีบสาวบ้างไหม

ยังไม่เคยลองครับ ไม่เคยจีบใครนาน ๆ (หัวเราะ)

nenenenen

แล้วบทบาทของเพลงที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นยังไง

อย่างเพลง มหาจุฬาลงกรณ์ ก็มีบทบาทในการสร้างความภาคภูมิใจ เด็กใหม่ ที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่ก็ซาบซึ้งกันมาก แม้แต่ผมเองก็ซาบซึ้ง ตอนนี้ผ่านมาหนึ่งปีผมก็ไม่ฟังแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ผมนี่เปิดฟังเลย ก็รู้สึกอินขึ้นมานิดนึง นี่ก็ยกตัวอย่างให้ฟังเท่านั้นว่าเพลงก็มีส่วนในการบิวท์อารมณ์คนมาก และบางทีการจะทำอะไรบางอย่างก็ต้องอาศัยเพลงมาช่วย และในจุฬา ฯ ก็มีเพลงที่สนับสนุนระบบโซตัส ซึ่งมันก็ปลูกฝังคนโดยที่เราไม่รู้ตัว เพลงเป็นเครื่องมือที่ชาญฉลาดมากที่มันส่งสารอะไรบางอย่างเข้าหาเราโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย

คำถามสุดท้าย แล้วแฟรงค์ร้องเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ได้มั้ย

ร้องได้ครับ

Facebook Comments

Next:


Piyakul Phusri

Piyakul Phusri นักฟังเพลงจับฉ่ายที่มีความเชื่อว่านอกจากการกินอิ่ม-นอนอุ่น การบริโภคงานศิลปะที่ถูกใจก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการมีชีวิตที่ดี