Feature เห็ดหูหนู

คุยฟุ้งกับ บาส นัฐวุฒิ ผู้กำกับมือฉมังที่เปลี่ยนเพลงโปรดให้กลายเป็นหนัง

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Photographer: Chavit Mayot

เชื่อว่าคนที่อ่านบทความนี่ทุกคนน่าจะได้ดูหนังเรื่อง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ กันไปแล้ว ยิ่งถ้าชอบดูหนังมากหน่อยก็อาจจะรู้จักเรื่อง ‘เคาท์ดาวน์’ ด้วยก็ได้ ทั้งสองเรื่องมีประเด็นที่เกรี้ยวกราดพอสมควร และชวนตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดในหนัง สารตั้งต้นของหนังทั้งสองเรื่องมาจากมันสมองอันปราดเปรื่องของ บาส—นัฐวุฒิ พูนพิริยะ นอกจากจะเป็นผู้กำกับชื่อดังแล้ว เขายังมีอีกบทบาทหนึ่งเป็นผู้กำกับโฆษณาสร้างสรรค์หลายตัวที่โลดแล่นอยู่บนทีวีหรืออินเทอร์เน็ต แถมเขายังเป็นคนที่เลือกใช้เพลงในโฆษณาของตัวเองได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย Fungjaizine เลยบุกถึง Houseton Film Bangkok โปรดักชันเฮาส์ของเขา ไปชวนคุยฟุ้งเรื่องเพลง แนวคิดในการทำงาน รวมถึงความรู้สึกที่เทพเจ้าแห่งวงการเกมระดับโลกอย่าง ฮิเดโอะ โคจิมะ ชมหนังเขา ก่อนอื่นไปฟังเพลงโปรดของเขากันก่อนเลย

Baz’s favorite

Queen – Bohemian Rhapsody

มีเพลงวงนึงที่พี่โคตรอยากใช้ในหนังเลยตั้งแต่เริ่มอาชีพในการเป็นผู้กำกับใหม่ ๆ แต่ไม่เคยทำได้เลยก็คือ Queen เอาจริง ๆ ทุกเพลงของ Queen เลยนะ ทุกครั้งที่เราฟัง เราไปวิ่ง พอเราเริ่มวิ่งไม่ไหว กูเปิด Queen ก่อนเลยอะ Bohemien Rhapsody อะไรแบบนี้ Another One Bites the Dust มันจะสร้างพลังบางอย่างให้เราอย่างคาดไม่ถึง แล้วมันเต็มไปด้วยซีนอะ จริง ๆ อย่างตอนทำหนังเรื่องแรก ‘เคาท์ดาวน์’ คือหนังเรื่องนี้มันถูกดีไซน์มาเพื่อเอาเพลง Queen มาใส่ ถ้าผมเป็น David Fincher หรือเป็น Quentin Tarantino ผมคงใช้ไปแล้ว แต่มันใช้ไม่ได้ ก็เลยจะชอบแบบ Queen เป็นพิเศษในเชิงของพลัง

Clairo – Flaming Hot Cheetos

มันจะมีนักร้องผู้หญิงที่ผมชอบชื่อ Clairo อันนี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการเปิด shuffle ในเพลย์ลิสต์ไปเรื่อย ๆ เหมือนเขาใหม่มากเหมือนกัน แต่ผมชอบแบบถูกจริตมาก ฟังได้ทั้งอัลบั้ม แต่ว่าเพลงที่ชอบที่สุดคือ Flaming Hot Cheetos ฟังแล้วรู้สึกมีความสุขอะ แล้วรู้สึกว่าถ้ามีหนังสักเรื่องที่เรื่องหรือมู้ดโทน หรือตัวสินค้ามันมาทางนี้ได้ รับรองว่าจะหาทางติดต่อมาใช้แน่นอน

James Blake – Don’t Miss It

เพลงนี้ผมเพิ่งเจอเลย อันนี้ชอบเพราะว่าตอนนี้กำลังมีโปรเจกต์นึงที่กำลังทำอยู่แล้วก็พอฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกเห็นตัวละคร หมายถึงว่า เรากำลังงมเรื่องตัวละครที่เรากำลังเขียนอยู่ แต่เพลงนี้แม่งปลดล็อกตัวละครตัวนี้ได้เลย ทั้งแบบอินเนอร์ ความคิด ความรู้สึกที่มีต่อโลก น้ำเสียงของมันอะไรแบบนี้ ลองฟังเนื้อเพลงมันแบบใช่เลย ตอบโจทย์

Jens Lekman – When I Said I Wanted To Be Your Dog

อีกคนหนึ่งที่พี่ชอบ Jens Lekman จรัญ มโนเพชร สาขาเมืองนอก ชอบหลายเพลงเลย เศร้าดี แต่เขาแต่งเนื้อเพลงดีมากเลยนะ น่ารัก เนี่ยแค่ชื่อเพลงก็แบบวิชวลมาแล้วอะ

Pulp – Something Changed

ชอบมาตั้งแต่เด็ก ๆ รู้สึกว่าเป็นเพลงที่โคตรโรแมนติกเลย สำหรับพี่แม่งคืออยู่ในมาตรฐานเดียวกับเพลง แต่งงาน ของ Moor อะ คือเป็นเพลงโรแมนติก ณ ยุคสมัยนั้น แล้วเสียงพี่ Jarvis Cocker เขาเท่ชิบหายเลย เหมือนมันเป็นหนึ่งในไม่กี่เพลงที่เขาเอาเครื่องสายมาใช้มั้ง แล้วมันเลยดูโรแมนติกขึ้น

Yanin x Casinotone – Saturday

พอฟังแล้วรู้สึกแฮปปี้มีความสุข เท่ด้วย น่ารักด้วยในเวลาเดียวกัน เสียงร้องน้องเขาอย่างเงี้ย โคตรเท่เลย คือชอบจนแบบ สุดท้ายยังหาจังหวะใช้เพลงเขาไม่ได้ แต่เรียกเขามาคัฟเวอร์เพลงในหนังให้ ไม่รู้ได้ดูไหมไอ้ตัวข้าวตราฉัตรอะ ที่เป็นคนแก่กินข้าวกัน เหมือนแบบเรียกเขามาคัฟเวอร์เพลง ชั่วนิจนิรันดร คือเพลงต้นฉบับคือเก่ามาก 40-50 ปีมาแล้ว คู่นี้น่ารักมาก ตั้งแต่ตอนรับบรีฟเขาก็มา วันถ่ายเขาก็มาด้วย ขอมาดู อยากสัมผัสบรรยากาศอะไรแบบนี้ แล้วก็ไปทำเพลงมา เหมือนแบบทำครั้งแรกแล้วก็จบเลย ขายลูกค้าได้เลย ลูกค้าแฮปปี้ (FJZ: แล้วอย่างเพลงนี้ของญาณินคิดว่าจะต้องไปอยู่ในหนังแบบไหนของพี่) โหย ได้หมดเลยว่ะ คือสุดท้ายแล้วพี่ก็คงต้องทำหนังแบบพวกออนไลน์ฟิล์ม มีแบรนด์ไปเรื่อย ๆ แต่พี่ว่าพวกมู้ดความหลากหลายมันได้หมด จะหนังโรแมนติกก็ได้ จะหนังเหงาก็ได้ มันแบบใช้มาในเชิงซัพพอร์ตความรู้สึกหรือขัดแย้งกับความรู้สึกตัวละครก็ได้ แต่หาโอกาสใช้อยู่ เล็งไว้นานแล้ว แต่อดใจไม่ไหว ญาณินมาทำเพลงให้พี่ก่อนแล้วกันระหว่างนี้

Napat Snidvongs – วันใหม่

สุดท้ายผมอยากใช้เพลงนี้ ไม่รู้มีใครใช้ไปหรือยัง อันนี้ขายของเพราะว่าเป็นเพื่อนผมเอง คือเหมือนตอนแรกฟังเพลงมันตั้งแต่ตอนผมอยู่นิวยอร์ก สิบกว่าปีแล้วอะ ตอนนั้นติดเลย แบบเฮ้ยพลัม มึงทำเพลงเก่งว่ะ (FJZ: ตอนนี้เขาอยู่ไทยรึเปล่า) จริง ๆ ตอนนี้เขาอยู่นิวยอร์ก แต่เขาจะบินกลับมาเล่นคอนเสิร์ต หลัก ๆ อะชีวิตเขาเบสอยู่ที่นู่น อยู่กับครอบครัว เหมือนจริง ๆ เขาก็โตเป็นวัยรุ่น ทำเพลงมาอัลบั้มนึงก่อนมั้ง แล้วด้วยความจำเป็นบางอย่างเขาก็ต้องมูฟไปที่นู่น แล้วพี่ก็ไม่เคยรู้จักเขามาก่อนเลย ไปรู้จักเขาที่นู่น อ้าว มึงเป็นนักร้องเหรอ แล้วก็ขออัลบั้มมาฟังแล้วก็ชอบ คิดตั้งแต่ตอนนั้นว่าหรือวันนึงจะเอามาใช้ สาเหตุที่อินอะอาจจะเป็นเพราะว่าพอเรารู้จักเขา เรานั่งคุยกับเขาเยอะ แล้วเราแชร์อะไรกันเยอะ บางทีเราสัมผัสได้ถึงแบบ อ๋อ โอเคมึงกำลังพูดเรื่องนี้อยู่ ที่มึงเคยเล่าให้กูฟังอะไรแบบนี้ เพลงนี้พูดถึงคนไกลบ้าน นิวยอร์กแม่งเหงาคุณ

TALK TALK TALK

รู้ตัวว่าชอบภาพยนตร์ตั้งแต่เมื่อไหร่

โห ตั้งแต่ประถมเลยอะ เพราะว่าเมื่อก่อนตอนเด็ก ๆ เราก็มีความสนใจในหลายแขนง ตอนแรกก็ชอบฟังเพลงก่อนจำได้ เด็ก ๆ ชอบฟังเพลงไทย สักพักเริ่มชอบอ่านหนังสือ แต่ว่าพอดีมีญาติเป็นแบบอาอี๊เขาเปิดร้านเช่าวิดีโอ พอมันเป็นร้านเช่าสมัยนั้นเนี่ย วิธีการมันคือเขาจะได้ม้วนมาสเตอร์มาจากต่างประเทศในราคาเท่าไหร่ไม่รู้ วิธีการที่เขาจะเอามาปล่อยให้คนอื่นเช่าได้คือ สมมติ ‘James Bond’ ภาคนี้ เขาต้องเอามาเข้าเครื่อง ดั๊บอะ เป็นเครื่องวิดีโอต่อกันสิบเครื่อง เครื่องยานแม่แม่งเพลย์มาแล้วมันก็อัดได้มาอีกสิบม้วน แต่ก็ต้องกดพอสอะไรในเวลาเดียวกันนะ ตอนเราอายุ 6-7 ขวบเวลาไปนอนค้างบ้านเขา เราก็จะอยู่ในห้องนั้น เป็นเด็กที่คอยไปช่วยเขาอัดวิดีโอปล่อยให้คนเช่า แล้วเราก็คอยดูหนังไปด้วย มันก็จะเป็นหนังฮอลลีวูดยุค 70s-80s แล้วมันจะมีหนังแบบ ‘The Godfather’, ‘James Bond’  อะไรพวกนี้ เราก็จะไปเริ่มคุ้ยมาดู ยิ่งดูก็ยิ่งอิน ยิ่งอินยิ่งสนใจ แต่จำได้ว่าครั้งแรกที่บอกพ่อแม่ว่าอยากเป็นผู้กำกับคือตอนอยู่ปอสี่ พูดไปแบบปากพล่อยมากเลย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้กำกับอะมันคือเหี้ยไรวะ ก็อยากทำหนังอะ เราชอบดูหนังแล้วเราอยากทำสิ่งนี้ให้คนอื่นดูบ้าง มีแค่นั้นเอง หารู้ไม่ หาเรื่องเข้าตัวเอง (หัวเราะ) กว่าแม่งจะเดินทางมาถึงตอนนี้ได้ เหนื่อยมาก

ยังจำหนังเรื่องแรกที่ดูได้ไหม

เอ่อ… น่าจะเป็นหนังไทยที่ไปดูกับอาม่าในโรงหนัง ชื่อเรื่อง ‘โทน’ มั้ง พี่จำไม่ได้… ไม่ใช่ ๆ… คือมันเป็นหนังเพลงด้วย แล้วเป็นหนังไทยรวมดาวแบบศิลปินชื่อดังในยุคนั้น มืด ไข่มุก, ดอน สอนระเบียบ อยู่ในเรื่องเดียวกัน แล้วอาม่าพาไปดู โหย มันนานแบบสามสิบกว่าปีเลย แต่จำชื่อไมได้จริง ๆ โรงหนังโคตรแถวบ้านอะ ทุกวันนี้เป็นโรงหนังโป๊ไปแล้ว (หัวเราะ)

แล้วเรามีแรงบันดาลใจจากหนังหรือผู้กำกับคนไหนไหม ที่ดูแล้วแบบ โอ้!!

มี ๆ ก็เราก็ดูหนังด้วยความรู้สึกแบบดูด้วยความบันเทิงมาตลอด ตอนปอสี่บอกพ่อแม่ว่าอยากเป็นผู้กำกับก็พูดไปประมาณนั้น ไม่ได้คิดว่ามันจะต้อง intense อะไรกับชีวิตมากขนาดนั้น แต่หนังที่ทำให้รู้สึกว่ายังไงกูต้องทำหนังให้ได้ กูต้องเป็นผู้กำกับให้ได้คือเรื่อง ‘Goodfellas’ ของ Martin Scorsese หนังปี 1990 แต่พี่ได้ดูปี 1991 ตอนนั้นพี่สิบขวบเป็นหนังมาเฟีย จำได้ว่าอยากดูแล้วก็ให้ป๊าช่วยซื้อม้วนวิดีโอมาให้ ชื่อไทยคือ ‘คนดีเหยียบฟ้า’ โคตรเท่ แล้วแม่งเป็นแก๊งมาเฟียในนิวยอร์ก ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงด้วยนะ คือในปี 90s อะมันมีหนังมาเฟียอีกเรื่องนึงที่ออกมาพร้อมกันปีเดียวกันคือ ‘The Godfather’ ภาคสาม ซึ่งเราก็รู้จักกันอยู่แล้วไง มันคือเรื่องสูงส่ง โรแมนติก ยิ่งใหญ่ epic เราก็จะแบบ The Godfather คือหนังดีนะ แต่พอมาเจอไอ้หนังเรื่องนี้คือแบบ มันลบล้างทุกอย่างที่ The Godfather เคยทำมา อันนี้มันแบบมาเฟียมันเหี้ย เกรียน กวนตีน เป็นมนุษย์ ขี้กลัว เอาตัวรอด คือทุกอย่างเลยอะ แล้วแบบสีสันในการเล่ามันแบบดูสิบรอบก็จะเห็นดีเทลที่เราไม่เคยเห็นในรอบก่อนหน้านั้นอะ ด้วยความที่ดีเทลมันเยอะมาก แล้วก็เป็นหนังที่ใช้เพลงดีมาก มันมีสิ่งที่พี่เรียกมันว่า โมเมนต์ ‘ป๊อปคัลเจอร์’ อะ คือมันเป็นโมเมนต์นี้ ซีนนี้ เคลื่อนกล้องแบบนี้ จังหวะนี้มันเปลี่ยนเป็นสโลว์โมชันมาพร้อมกับเพลงนี้พอดี มันสอดรับกับทุกอย่าง ใช้ศาสตร์และศิลป์ของการทำหนังแบบครบถ้วนกระบวนความมาก ๆ เลยรู้สึกว่าชอบ

อยากลองทำหนังแบบ Goodfellas ดูบ้างไหม

โห พี่ว่ายากนะ แต่พี่ไม่รู้ว่ะ ไม่กล้าเลยอะ แม่งเป็นเป้าที่สูงส่งเกิน (FJZ: ไม่ลองไม่รู้นะพี่) ถ้าวันนึงทำได้ก็คงจะทำแหละ

บาส นัฐวุฒิ

แล้วอย่างที่บาสชอบทำหนังเกี่ยวกับการท้าทายศีลธรรมของคนอะไรแบบนี้ ทำไมพี่บาสถึงสนใจเรื่องนี้ อย่างเคาท์ดาวน์หรือฉลาดเกมส์โกงที่มันมีเรื่องที่ตัวละครต้องตัดสินใจ ท้าทาย

ไม่รู้เหมือนกัน แต่อย่าง ‘เคาท์ดาวน์’ เนี่ยมันมาจากความรู้สึกส่วนตัว คือตอนนั้นเรารู้สึกว่าชีวิตเราสนุกมากเลยอะ เอาจริง ๆ เราก็เป็นเด็กเนิร์ด ๆ ชอบดูหนังคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตตามสูตร แบบเช้าไปเรียน เรียนเสร็จกลับบ้านหกโมง เดี๋ยวป๊าแม่ด่าอะไรแบบนี้ แล้วพอไปอยู่นิวยอร์กมันก็เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าชีวิตนี้เป็นของเรา ใช้ซะ คือมันรู้สึกแบบนั้น ไม่มีใครมาคุม กูไม่ต้องรีบกลับบ้าน กูไม่ต้องรายงานตัว กูไปกับแฟน แฮปปี้ดี ใช้ชีวิตเต็มที่ อยากทำอะไรทำ เงินหาเอง หามาได้ปุ๊บอยากใช้อะไรกับสิ่งนี้ ก็ใช้ไป มึงใช้เยอะมึงก็ไปเหนื่อยในวันต่อไปที่ต้องหาเงิน แต่มึงเป็นคนคอนโทรลทุกอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งมันมาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่าถ้ามึงคอนโทรลตัวเองไม่ได้หรือไม่ดีเนี่ย… พี่เห็นต่อหน้าต่อตา เพื่อนพี่หลาย ๆ คนพอมันสนุกเกินไปแล้วมันย้อนกลับคืนมาไม่ได้อะ เพื่อนร่วมงานบางคนที่เราเจอเขาตั้งแต่เราเข้าไปทำงานกับเขาวันแรกใหม่ ๆ ฝึกงานไปด้วยกัน เป็นเด็กใส ๆ แบบเนี้ย รู้ตัวอีกทีเมื่อเขาคอนโทรลหลาย ๆ อย่างในชีวิตไม่ได้ คืออะไรที่มันเสียไปแล้วมันเสียไปเลย แล้วเราเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้มันสำคัญมากเหมือนกัน คือทุกครั้งที่พี่เห็นพี่ไม่เคยไปห้ามนะ พี่ได้แค่เตือน แต่สุดท้ายแล้วมันคือทางเลือกคุณ คุณเลือกยังไงก็ได้แต่คุณแค่ต้องรับผิดชอบผลของการกระทำของคุณ 

โดยเซนส์ของพี่อะ พี่แค่ชอบตั้งคำถาม พี่ไม่อยากให้คำตอบหรอก คนทำงานศิลปะไม่ควรจะให้คำตอบ ควรจะแค่ตั้งคำถามแหละ คนดูหรือคนเสพงานควรจะไปหาคำตอบด้วยตัวเองตามต้นทุนชีวิตของเขา

ต้องทำหนังอิสระมากี่เรื่องกว่าจะมาถึงวันนี้

จริง ๆ เคาท์ดาวน์ มันมาจากเวอร์ชันอิสระก่อนนะ เหมือนจริง ๆ พี่มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะตอนอยู่นิวยอร์กแล้วทำหนังสั้นเรื่องนึง ซึ่งก็คือพิมพ์เขียวของ เคาท์ดาวน์ เลย แต่ความยาวแค่ 40 นาทีนะ ชื่อ ‘The Misbehavior’ ในดีวีดี เคาท์ดาวน์ มีนะครับ เป็นหนังสั้น 40 นาทีที่แบบเกือบจะโค้งสุดท้ายของการจะกลับแล้วอะ ตอนนั้นเริ่มมีสังคม มีกลุ่มเพื่อน แล้วทุกคนก็คุยกันว่าเราลองมาจัด เป็น Thai community เป็นโชว์เคสไหมสำหรับศิลปินอะไรแบบนี้ จัดที่ บรูคลิน จำได้ ตรงไอ้ถนนที่มีสะพานนั้นอะ ก็จะมีเพื่อนหลาย ๆ คนเลย บางคนเป็นนักเต้นก็จัดโชว์แดนซ์ บางคนเป็นจิตรกร บางคนเป็นช่างภาพ ส่วนพี่ทำหนัง แล้วก็มีชาวแก๊งอีกสองสามคน เราก็มาทำหนังสั้นฉายกัน แล้วตอนนั้นก็ทำเรื่องนี้แหละ ซึ่งเป็นเรื่องที่พี่คิดและรู้สึกมานานแล้ว เนื้อเรื่องก็เหมือนกันเลย แต่ยังไม่มีไอเดียเรื่องปีใหม่นะ เนี่ยแหละ เด็กไทยสามคนอยู่นิวยอร์ก แล้ววันหนึ่งก็อยากดูดปุ๊นก็เลยโทรเรียกเอเย่นมา ซึ่งก็มาเป็นอีฝรั่งเนี่ยแหละ คนเล่นคนเดียวกันคือพี่ เดวิด อัศวนนท์ เพราะพี่รู้จักเขาครั้งแรกที่นู่น แล้วพี่ทำหนังสั้นกับเขามาประมาณเรื่องสองเรื่องอะไรแบบนี้ คือเรารู้จักกันในฐานะแบบ มึงคนไทยเหรอวะพี่ (หัวเราะ) นึกออกปะ ตอนเพิ่งแนะนำตัวครั้งแรกอะ แล้วพี่เดฟก็พูดมาแบบว่า “เฮ้ยเชี่ยบาส มึงอยากให้กูทำอะไรทำได้เลย” หูย ตอนนั้นเป็นคนหนุ่มไฟแรงสองคน เออ ก็เลยเขียนบทนี้ tailor-made ให้เขาเลย เพราะพอเรารู้จักเขาแล้วปุ๊บ มารวมกับเรื่องที่เรามีในหัว เรารู้ว่าคาแร็กเตอร์อย่างเขามันทำอะไรได้บ้าง เราสร้างคาแร็กเตอร์ที่ชื่อ ‘เฮซุส’ ให้เขาแล้วเขาก็เล่น

แล้วก็ฉายในงาน ก็ success ในระดับนึง คนก็ชอบกัน แล้วก็เอามาฉายที่เมืองไทย เหมือนตอนนั้น ครูร่ม เขามีคอนเน็กชันกับ House RCA ก็เลยมาขอเอาหนังทั้งสามเรื่องเนี่ยไปฉายแบบมัดรวมเป็นแพ็กเดียวกันแล้วก็ฉายเป็นแบบหนังสั้นคนไทยในนิวยอร์ก ยังไม่จบ ฉายไปแค่วันเดียวรอบเดียวมั้ง ก็มีคนมาดู หนึ่งในนั้นคือพี่หมู ชยนพ ที่ทำ ‘SuckSeed’ กับ ‘เมย์ไหนไฟแรงเว่อร์’ พี่หมูดูแล้วพี่หมูชอบหนังพี่มาก ก็เลยไปขอแผ่นจากทางพี่ร่มมั้งหรือที่เฮ้าส์ไม่รู้จำไม่ได้แล้ว แล้วเอาแผ่นนั้นอะไปให้พี่เก้ง พี่วรรณ แล้วบอกว่า ‘พี่ต้องดูเรื่องนี้’ พี่เก้งก็ดู ดูเสร็จก็โทรเรียกพี่ให้กลับมาทำหนัง ก็ขยายเรื่องนี้มาเป็นหนังใหญ่ มาเป็น เคาท์ดาวน์ ใส่บิ๊กไอเดียเข้าไป เปลี่ยนตัวละคร อะไรแบบนี้

สิ่งที่เราทำมามันก็ประสบผลเนอะ

แต่จริง ๆ แล้วในช่วงนั้นอะ พี่ give up แล้วนะ ในระดับนึง เรามีความฝันนะ เราอยากทำหนัง เราอยากเป็นผู้กำกับ ก่อนหน้าที่จะไปเรียนต่อนิวยอร์ก พี่ก็ทำโฆษณา เป็นผู้ช่วยผู้กำกับอะไรแบบนี้ แต่เราก็ยังมีความฝันที่อยากจะทำหนังอยู่ตลอดเวลา แต่เรารู้สึกว่ามันห่างไกลจังเลยว่ะ ยิ่งแก่ยิ่งไกล  ยิ่งเราอายุเยอะขึ้นปุ๊บ การหลอกตัวเองมันจะน้อยลง เราจะรู้สึกว่าไม่น่าจะได้ทำหรอกมั้ง แล้วพี่คิดแล้วว่าสมมติกูเรียนจบนิวยอร์กกลับไปเมืองไทย การได้เป็นผู้กำกับโฆษณาก็แฮปปี้แล้ว พี่คิดแค่นั้น แต่ว่าเรา give up ในเชิง attitude แต่เราไม่เคย give up การกระทำของเรานะ หมายถึงว่าพี่ยังคงทำหนังสั้น ทำอะไรต่อไปเรื่อย ๆ  ส่วนหนึ่งเพราะเราทำแล้วเราสนุกกับมัน มันก็เลยนำมาสู่ความโชคดีตรงนี้

ตอนนี้ยังทำหนังสั้นอยู่ไหม

โอ่ย ไม่ทำแล้ว (หัวเราะ) เอาจริง ๆ การทำหนังไวรัล หนังเล่าเรื่องพวกนี้ ต่อให้มันเป็นโฆษณา มันมีโปรดักต์ มันมีแมสเสจที่ถูกกำหนดจากลูกค้า สุดท้ายแล้วถ้าเราสามารถเอามาเขย่ากับของที่เรามีอะ เราเทิร์นมันได้นะ อย่างทำ mv พี่บอย โกสิยพงษ์ไป ในคืนที่เราเจอะเจอกันครั้งแรก ถ่ายที่นิวยอร์ก ซึ่งมันเป็นเรื่องที่พี่คิดว่าพี่อยากจะถ่ายตั้งแต่ตอนที่พี่อยู่นิวยอร์กเมื่อสิบปีก่อน เรื่องนี้เลย พล็อตนี้เลย ตัวละครคู่นี้เลย วิธีการตอนนั้นอาจจะแตกต่างกันนิดนึง คิดไว้แต่ไม่มีโอกาสได้ถ่าย เพราะว่าตอนนั้นเงินไม่มี เวลาไม่มี แต่เรายังเก็บมันไว้อย่างเข้มข้นข้างใน พอพี่บอยให้โจทย์เพลงนี้มาปุ๊บ แม่งแบบสวมทับกันพอดี

จริง ๆ ตำนานของการโยนรองเท้าผูกเชือกพาดไว้มันคือย่านบรูคลิน คนโยนขึ้นไปมันสำหรับพวกค้ายา เป็นสัญลักษณ์ว่านี่คือแหล่งขายยา (หัวเราะ) แต่อันนี้คนแม่งเทิร์นมาเป็นสิ่งโรแมนติก จริง ๆ เรื่องใน mv มันไม่มีอะไรเลย เป็นแบบคู่รักคู่หนึ่งเลิกกันไป อันนี้ก็เบสจากชีวิตตัวเอง คือพี่ไปกับแฟนแล้วพี่ไปเลิกกับแฟนที่นู่น แล้วก็วันนึงอีกคนนึงกำลังจะกลับ ก็เลยลองใช้เวลาด้วยกันครั้งสุดท้าย นิวยอร์กมันจะมีเรื่องปรับเวลาหนึ่งชั่วโมงที่เรียกว่า daylight saving เป็นช่วงที่เปลี่ยนจากหน้าหนาวเป็นหน้าร้อนก็จะมีเวลาเพิ่มมาอีกหนึ่งชั่วโมง ก็เลยเอาเรื่องนี้มาผสมกัน

อยากรู้ว่าคนอเมริกันเขาจำกัดความคนในบรูคลินว่าเป็นอย่างไร เหมือนเราเคยได้ยินตามพวกเพลงดัง ว่าฉันเป็น Brooklyn baby อะไรแบบนี้ มันหมายความว่าอย่างไร

ไม่แน่ใจว่ะ แต่ถ้าจากมุมพี่ ในยุคที่พี่อยู่อะ บรูคลินคือฮิปสเตอร์เลยนะ มันคือย่านที่วัยรุ่นอเมริกันจะอยู่เยอะ แต่ก่อนหน้านั้นที่ได้ยินมาบรูคลินจะเป็นแบบคนแอฟริกัน-อเมริกันอยู่เยอะ เป็นย่านอันตราย อย่างไอ้พวกแบบ อัพทาวน์ นิวยอร์ก พวกฮาร์เล็มอะไรแบบนี้ ซึ่งขนาดยุคที่พี่อยู่อะ ก็มีแต่คนเตือนนะว่าถ้าไม่จำเป็นไม่ต้องไป แต่พี่ก็ไปนะ เคยไปครั้งหนึ่งเพราะอยากไปอะ อยากรู้ว่ามันเป็นยังไง มันก็จะเป็นอีกโลกนึง เป็นโลกที่แบบมีความเหมือนอยู่ในหนังยุค 70s ที่ตัวละครเป็นคนแอฟริกัน-อเมริกัน คนเขาจะ sassy มีคัลเจอร์ของเขาที่เข้มแข็ง แข็งแรง ชัดเจนมาก แล้วเราไปเราก็จะดู… (FJZ: แล้วเราเป็นเอเชียนไม่อันตรายเหรอ) ไปกลางวันโอเค แต่กลางคืนก็มีสิทธิ์ มีความเสี่ยงอยู่ เพื่อนพี่อย่างเนี้ยบ้านอยู่บรูคลิน ทุกครั้งที่เลิกงานร้านอาหารด้วยกัน แล้วปั่นจักรยานกลับบ้านแม่งโดนคนดำเอาหินเขวี้ยงทุกทีเลย 

เราคิดว่าการทำงานของโฆษณากับการทำหนังแนวทางมันต่างกันไหม

ต่างแน่นอนครับ เแต่ไม่รู้อะ เพราะหลัง ๆ พี่ก็ผสมซะจนมันไม่ต่างแล้วอะ หมายถึงว่า ความเชื่อของเราในการเป็นผู้กำกับอะ มันคือการเล่าเรื่องในแบบที่เราอยากจะเล่า ประเด็นที่เราอยากจะเล่า เราถึงจะทำหนังใหญ่หนึ่งเรื่องได้ ซึ่งมันก็ควรจะเป็นแบบนั้นแหละ ทำไมถึงมีพูดกำกับอัลเทอร์ ฯ อย่างแบบ พี่เจ้ย บางคนที่มีวอยซ์ในการทำหนังแข็งแรงมาก แต่พอพี่ทำหนังเรื่องแรกแล้วแม่งเจ๊ง เจ๊งปุ๊บแล้วมันเหมือนดับฝันการเติบโตในฐานะผู้กำกับหนังประมาณนึง พี่ก็เลยเปลี่ยน mindset ตัวเอง ถ้ากูต้องหากินกับโฆษณาหรือ mv ก็ได้ว่ะ อะไรแบบนี้ แล้วก็อยู่กับการเบลนด์โจทย์ลูกค้าให้มาเข้ากับสไตล์บางอย่างในการเล่าหนังของเรา เขย่ายังไงก็ได้ แล้วไฟต์กับเขาให้ได้ แพ้บ้าง ชนะบ้าง แล้วแต่ แต่ส่วนมากที่เคยเจอคือถ้าทำงานด้วยการตั้งโจทย์ว่า ‘กูจะทำงานชิ้นนี้ โจทย์นี้ กับโปรดักต์นี้ให้ออกมาให้ดีที่สุด’ ซึ่งมันจะเป็นครั้งเดียวเลยนะในโลกนี้ คุณไม่สามารถรีเมคงานโฆษณาได้อะ ตั้งโจทย์แค่นี้ เราไฟท์กับเขาด้วยความรู้สึกว่า ที่ผมไฟต์คุณไม่ใช่เรื่องอีโก้เลยนะ ผมไฟต์เพราะผมเชื่อว่าในฐานะที่ผมเป็นคนทำงานอะ สิ่งนี้มันดีกับหนังคุณจริง ๆ ว่ะ แล้วถ้าลูกค้าเขาเข้าใจสิ่งนี้นะ มันจะเกิดอะไรแบบโอเค สวยงามขึ้นมาเสมอ แต่ก็อย่างที่บอก บางครั้งก็แพ้ บางครั้งก็ ‘จ้ะ ได้จ้ะ’ (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็เลยกลายเป็นคนติดกับการแบบ… ถ้าโยนกล้องมาให้พี่ โยนนักแสดงมาให้พี่ พี่อาจจะคิดอะไรไม่ออกเลยก็ได้นะ พี่อาจจะแบบ ‘แล้วโจทย์ล่ะ? ขอโจทย์หน่อย’ เอออาจจะมีก็ได้ บางครั้งก็ต้องการให้มีใครมา kick start ให้นิดนึงแล้วเดี๋ยวกูเบลนด์ตัวเองเข้าไปเองได้ ในสิ่งที่อยากจะเล่าอะไรแบบนี้

แล้วอย่างเวลาหมดไอเดีย บาสทำอย่างไร 

หมดก็หาไปเรื่อย ๆ ก็ดูหนัง เบสิกเลยสำหรับผม ดูหนังเรื่องอื่น ๆ ดูโฆษณาที่คิดว่าน่าจะเข้ากับ direction ที่เรากำลังคิดอยู่ ฟังเพลง วิ่ง กินไวน์ ไปต่างจังหวัด เนี่ยมันก็วนอยู่แค่นี้ ไม่ได้เยอะหรอก

แล้วเรามีเกณฑ์อย่างไรในการเลือกเพลงที่จะมาใช้ในงานโฆษณาของเรา

ไม่มีเกณฑ์เลยว่ะสำหรับพี่ คือไม่ได้หมายความว่า ถ้าสมมติโจทย์ลูกค้าบอกให้ทำหนังรักโรแมนติก แล้วพี่ต้องไปหาเพลงจากแบบ ‘100 love songs of all time’ มันไม่ใช่อะ บางทีบางเพลงมันมาจากไหนไม่รู้ แต่มันก็เข้ากันได้ เหมือน ดินแดน อย่างเนี้ย ถ้าฟังเพลงเปล่า ๆ มันก็ไม่ใช่เพลงรักขนาดนั้น มันเหมือนหลอน ๆ เมายาอยู่นิดนึง (หัวเราะ) เออ แต่พอใช้มันอย่างเข้าใจ พี่ว่าเพลงนี้มันคืออีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่มาทำให้หนังมันสมบูรณ์ขึ้นอย่างนี้ก็โอเค

ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าพี่อะ ไม่ได้เป็นคนรู้จักเพลงเท่าไหร่ หมายถึงว่า ไม่ได้เป็นคนฟังเพลงขนาดที่แบบเป็นสายลึกที่แบบรู้จักวงดนตรี รู้จักชื่อนักร้อง แบบคนนี้ทำอัลบั้มไหน ปีไหน ไม่รู้เรื่องเลย ถ้ารู้ก็คือรู้แบบยุคเก่า ยุคพี่ คือผมอะเป็นคนโตมากับยุค 90s โตมากับพวก Brit pop ฟังตามพี่อะไรแบบนี้ แต่ว่าถ้าพูดในเชิงของคนทำหนัง ผมค้นพบว่าเพลงแม่งสำคัญมากเลยว่ะ ในการคิดหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างในหนังให้มันเกิดขึ้น ผมมักจะชอบวิ่งแล้วฟังพวกเพลย์ลิสต์ใน iTunes อะไรเงี้ย เพลงใหม่ ๆ เพลงไทย แล้วบางครั้งเราก็ได้เจอเพลงดี ๆ ที่มันนำมาสู่อะไรหลาย ๆ อย่าง

แล้วอย่างเพลงที่เอาไปใช้ในโฆษณา บาสเป็นคนเลือกเองหรือเปล่า

ผมเป็นคนเลือกเองหมดเลย

รู้จักเพลงจากไหน อย่าง My Life As Ali Thomas  เรารู้จักจากไหน

ก็หลายช่องทาง บางทีก็มีน้อง ๆ แนะนำให้ฟัง บางทีก็แฟนผม ขิม แนะนำให้ฟัง บางทีเราเห็นน้องที่เราชื่นชมในรสนิยมการฟังเพลงเขาโพสต์พอดี เราก็ไปตามฟัง หรือบางครั้งมันอาจจะแบบง่าย ๆ แล้วกัน อย่างเช่น การเปิดเพลย์ลิสต์ใน YouTube ไปเรื่อย ๆ แล้วก็เจออะไรแบบนี้ แล้วผมก็ค้นพบว่านั่นแหละ อย่างที่บอก บางครั้งบางเพลงผมไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าเพลงนี้มันจะดี แต่แค่สมตติถ้าช่วงนั้นผมมีงาน ต้องคิดงาน แล้วยังคิดไม่ออก หรือคิดเป็นแค่ไอเดียกลม ๆ แต่ยังคิดซีนไม่ได้ เพลงแม่งปลดล็อกทุกอย่างเลย บางครั้งเพลงแม่งมาปลดล็อกทุกสิ่งอย่าง เช่น สมมติเริ่มต้นครั้งแรกที่ผมใช้เพลงในหนังเป็นนางเอกจริง ๆ อะ ย้อนกลับไปตอนทำ ‘ลลิน’ ซึ่งตอนนั้นคือ Jelly Rocket ตอนแรกก็แบบมีไอเดียหนังแล้ว แต่ว่าในฐานะของคนทำหนังอะ บางทีมันก็เหมือนกับเขียนบทใช่ไหม เล่าเรื่อง หนี่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แต่มันไม่พอ อันนี้คือเขียนบท ในฟากของการเป็นผู้กำกับอะมันต้องคิดมู้ดโทน มันต้องคิดซีน คิดอารมณ์ของเรื่องที่มันจะห่อหุ้ม แล้วเราสามารถเอามวลอารมณ์เนี่ยถ่ายทอดให้คนดูได้

ตอนแรกคิดไม่ออกเลย หนังรักด้วย หนังวัยรุ่นด้วย แล้วกูจะทำยังไงวะ จนแบบวันหนึ่ง เหมือนช่วงค้นหาอยู่ก็ไปต่างจังหวัดกับรุ่นน้องที่สนิท น้องมันก็แบบ ‘เฮ้ยพี่บาสฟังเพลงนี้ยัง’ แล้วก็เปิด Jelly RocketHow Long พี่ก็แบบ ไม่รู้จักเลย ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ความเป็นคนวัย 30 กว่า พี่ก็แบบ เฮ้ยแต่เพลงนี้มันเพราะว่ะ มันของวงประเทศไหนเนี่ย มันก็บอก ‘คนไทยพี่ เด็กไทยเลย เด็กจุฬา ฯ’ อะไรแบบนี้ ผมก็แบบอะเมซิง เฮ้ย เด็กไทยเดี๋ยวนี้ทำเพลงเก่งขนาดนี้เลยเหรอ แล้วก็นั่นแหละ แล้วมันก็มาปลดล็อกตอนที่ผมทำหนังสั้นเรื่อง ลลิน พอดีเพลงนี้ แล้วยิ่งพอเราฟังปุ๊บเราเห็นภาพ เห็นวิชวล เราเห็นความรู้สึก มันก่อให้เกิดไอ้อารมณ์ รู้เลยว่าเพลงนี้มันควรจะเอาไปใช้เล่าเรื่องช่วงไคลแมกซ์ของหนัง ไม่พอ อ๋อถ้างั้นจังหวะเพลงแม่งเป็นแบบนี้ว่ะ แม่งบิลด์มาแล้วแม่งดร็อปลง งั้นตรงนี้เราตัดไปเป็นแฟลชแบ็กอะไรแบบนี้ มันจะมาเป็นหมวดโครงสร้างการทำ mv ประมาณนึงเหมือนกันอะ

กลายเป็นว่าเหมือนเราก็ได้ไอเดียการเล่าจากเพลงด้วย

ใช่ ๆ หลาย ๆ อย่างเนี่ย หรืออย่างหลังสุด ยกตัวอย่างตัวที่เพิ่งออนแอร์ KBANK ‘เธอกับKult’ ตอนแรกนึกหนังไม่ออก คือเขียนบทเสร็จแล้วด้วยนะ ก็ขายลูกค้าไปแล้วก็กลับมานั่งเครียดกับ co-director ที่ชื่อ อัตต้า ‘อัตต้าจะทำหนังไงดีวะ’ ยังนึกไม่ออกเลยอะ จนแบบวันหนึ่งก็ตื่นเช้ามาแล้วก็ไปวิ่ง แล้วก็เปิดเพลย์ลิสต์ แต่ Safeplanet อะผมฟังอยู่แล้วนะ ก็เปิดเพลย์ลิสต์ฟังไปเรื่อย ๆ แล้วก็มาเจอเพลงนี้ แค่แบบท่อนแรกที่มันขึ้นมา ที่เป็นเสียงคอรัสอะ ไอ้เหี้ย นี่ไซไฟมากเลยว่ะ พอฟังเรื่อย ๆ ปุ๊บ มันเหมือนจะไซไฟ แต่มันพูดเรื่องอื่น มันพูดเรื่องความรู้สึกคน มันพูดเรื่องมนุษย์ มันพูดเรื่องความสัมพันธ์ มันพูดเรื่องความคาดหวังบางอย่าง คือมันตอบโจทย์ของหนังที่ผมกำลังจะเล่าใน KBANK พอดี หลังจากนั้นมันเหมือนแบบ เครื่องฟิต สตาร์ทติดง่าย อะ หลังจากนั้นมันคือพอได้เพลงนี้ปุ๊บ direction ทุกอย่างของหนังมันมาอย่างเป็นธรรมชาติเลย

แต่อันนี้เป็นเคสที่น่าสนใจ ตอนที่พี่บอกทุกคนว่าพี่จะใช้เพลงนี้อะ ไม่มีใครเห็นด้วย เหมือนตอนแรกจะใช้เพลงนี้ จำได้ว่าก็เล่าให้พี่ co-director ฟัง พี่เขาก็ ‘ครับ ได้ครับ’ เล่าให้ลูกค้าฟัง ลูกค้าก็ ‘อ๋อโอเค น่าสนใจ’ สักพักก็มีมาละ ลูกค้าก็เริ่มส่งเพลงมา ‘พี่บาสครับเพลงนี้ก็น่าสนใจนะครับ เพลงนี้ก็เพราะนะครับ’ แบบเป็นเพลงโรแมนติกทั้งหลายอะ เราก็เก็บไว้นะ แต่ในใจเราก็ยังคงมีสิ่งนี้อยู่ ตอนตัดปุ๊บตอนแรกก็มีโมเมนต์แบบ พี่อัตต้ากับคนตัดมานั่งตัดกันก่อน แล้วเขาก็มีการมุบมิบก่อกบฏกันภายใน แบบ พี่บาส ผมว่าเพลงนี้ทุกคนรู้สึกว่าดีกว่า เป็นเพลงใหม่ของ Safeplanet เนี่ยแหละ จำชื่อเพลงไม่ได้แล้ว (คิ้ว ผู้ช่วยบาส: แสงสว่าง?) เออ ใช่ ซึ่งมันก็ดี โอเค เป็นมู้ดเพลงโรแมนติก แต่เราก็แบบจำได้ว่าฟังตอนแรกก็เกือบจะ convince แล้วนะ แต่เรารู้สึกว่ามู้ดนี้เราเห็นในหนังหลายเรื่องแล้วอะ สุดท้ายเราก็เลยขอเผด็จการเอาเพลงนี้แหละ ทำยังไงก็ได้ ตัดหนังยังไงก็ได้ให้ลงกับมัน ด้วยความที่พี่มีเพลงนี้อยู่ในหัวแล้ว พี่ก็ถ่ายหนังด้วยเพลงนี้ในหัวพี่อะ หน้าที่ของพี่คือพี่แค่ต้องอธิบายให้คนทำงานกับพี่เข้าใจได้ว่าพี่ต้องการอะไรกับมัน แค่นั้น ก็จะยากตรงนี้

เพลง ดินแดน ก็เป็นเพลงที่แปลกมาก คือมันไม่มีเพลงไหนของ Safeplanet ที่เหมือนเพลงนี้อีกแล้ว

มันเหมือนเพลงบางเพลงมันเกิดมาเพื่อหนังบางเรื่องหรือโปรเจกต์บางโปรเจกต์จริง ๆ นะ อย่างอันนี้คือตอนแรกฟังอินโทรเราก็ เฮ้ย อันนี้ดี มู้ดได้ละ มู้ดไซไฟได้ละ ฟังเนื้อเพลงไปสักพัก มาคิดเทียบกับเนื้อเรื่องที่เราคิดมา ไอ้พวกคีย์เวิร์ด ‘ที่ใดมีความรักอยู่บนนั้นก็คงดี’ อะ โดนแล้วหนึ่งดอก ‘ที่ดินแดนหนึ่งที่เรากำลังจะไป’ โดนดอกที่สอง ลูกค้าบรีฟมาบอกว่าเป็นไอเดียเกี่ยวกับโลกใหม่ ‘จะได้ไม่ต้องจินตนาการ’ มันแบบทุกอย่างคลิก มันตอบโจทย์หมดเลย เลยรู้สึกว่ามันถูกสร้างมาเพื่อกันและกัน

หลัง ๆ มันเป็นอย่างนี้หมดเลย นั่งคุยกับคิ้วผู้ช่วย พอไล่ลิสต์มาเหมือนนั่งพี่จะใช้เพลงเยอะมาก แล้วส่วนมากมันมาจากยังเงี้ย ก็ต้องบอกว่าขอบคุณหลาย ๆ เพลงที่มันทำให้เรามีทุกวันนี้ได้ (หัวเราะ) อย่าง My Life As Ali Thomas ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เหมือนตอนแรกก็แบบใช้เพลงแนวไหนดีวะ แนวปลุกใจ แนว dramatic แนวตื่นเต้น แต่เพลงเนี่ยแม่งคือมันใช่อะ มันมีความเท่ มันมีมู้ดที่เหมาะกับหนัง แต่ในเวลาเดียวกันมันซอฟท์ มันเป็นเสียงผู้หญิง มันมีความ emotional ในแบบผู้หญิงอะ เราก็เลยเห็นหนังชัดขึ้น

เพิ่งเคยได้ยินผู้กำกับที่ได้แรงบันดาลใจจากเพลง

ผมได้เยอะมาก ส่วนมากจะเป็นซีนครับ เป็นซีนกับทำให้ direction หนังชัดขึ้น บางครั้งก็คิดได้เลยนะ หมายถึงว่าได้ฟังเพลงนี้ปุ๊บ พล็อตแม่งมาเลยอะไรแบบนี้ จำไม่ได้ว่างานไหน แต่มี ต้องไปนั่งไล่ดู

อย่างเราชอบเพลงนี้อยากเอาไปใส่ในหนังมากแล้วเราต้องไปต่อสู้เพื่อเอาเพลงมาให้ได้ อยากรู้ว่ามันยากไหม

ต้องคุยกับทีมโปรดิวเซอร์เลย คือผมจะไม่ค่อยรู้ขั้นตอนพวกนี้เท่าไหร่ ผมจะแค่แบบ เฮ้ยเพลงนี้แม่งใช่ว่ะ แล้วก็โยนให้ทีมโปรดิวเซอร์ไป ซึ่งทีมโปรดิวเซอร์เขาก็จะไปต่อสู้ฟันฝ่ามา บางครั้งก็พ่ายแพ้ ซมซานกลับมาแบบ ‘บาส มึงเปลี่ยนเพลงเหอะ แม่งแพงเกิน’ ยังเงี้ยก็มี บ่อยด้วย แต่บางครั้งเราก็จะแบบไม่ได้ว่ะพี่ ต้องเพลงนี้ว่ะ เช่นแบบ ตอนทำ ‘Girlhattan’ Pink Martini อย่างนี้ ซึ่งสำหรับเรา แม่งคือเพลงระดับโลกเลยนะ Hang On Little Tomato แต่อันนี้เป็นโจทย์มาจากทางคนเขียนบทคือน้อง จูนจูน ของเรานี่เอง เหมือนผมให้โจทย์จูนไปว่าให้ลองเขียนบทเอง ลองวางโครงเรื่องคร่าว ๆ แล้วจูนก็ส่งบทกลับมาพร้อมบอกว่า “เฮ้ยเฮียบาส หนูว่ามันต้องเพลงนี้ว่ะเรื่องเนี้ย แกฉันเคาะเลย ต้องเพลงนี้เท่านั้น” (หัวเราะที่พูดและทำเสียงเหมือนจูนจูนจริง ๆ) “คือมันใช่มากแก ฉันเห็นภาพ” สุดท้ายผมก็เลย อะ ๆ งั้นเดี๋ยวลองดู ซึ่งเราก็เห็นด้วยกับเขาจริง ๆ นะว่ามันใช่ พอเรามาลองฟังอีกรอบหนึ่งกับสิ่งที่เราลองทำการบ้านกันมากับจูน เออมันก็จริงว่ะ มันสร้างโลกบางอย่างให้หนังเรื่องนี้ไปแล้วอะไรแบบนี้ แต่ก็แบบ ขอลองดูก่อนนะ เดี๋ยวลองดีลดูก่อน โห จำได้ว่ามันเป็นขั้นตอนการติดต่อขอซื้อเพลงที่ยาวนานมาก หลายทอดมาก เหมือนติดต่อไปทางเจ้านี้แต่เจ้านี้ก็บอกว่าไม่ได้ถือลิขสิทธิ์แล้ว ต้องไปทางฝรั่งเศสอะไรแบบนี้ ต้องแบบเขียนอีเมล์เพื่อติดต่อซื้อกัน แต่ในความยากมันก็ดันมีความง่าย ตรงที่สุดท้ายแล้วไอ้เพลงนี้ที่เราคิดว่ามันจะต้องแพงมาก ๆ แน่ ๆ เลยแม่งเสือกถูกกว่าเพลงไทยบางเพลงอีก (หัวเราะ) ถูก ถูกมาก จริง ถูกแบบแสนกว่า ๆ ซึ่งถ้าเทียบกับเพลงไทยบางเพลงที่เป็นค่ายใหญ่ยังเงี้ย ที่เราแตะไม่ได้เลยยังเงี้ย

สำหรับบาสเพลงที่ดีมันเป็นอย่างไร

ก็ต้องเพราะปะ สำหรับผมนะ อย่างแรกต้องเพราะ หมายถึงว่าถ้าบางเพลงมาแบบ experimental มาก ๆ อย่างเนี้ย ผมก็สู้ไม่ไหว เพราะและมีอารมณ์ ก็จะช่วยอีกถ้าเนื้อเพลงมันชาร์ปอะ ฟังแล้วคำมันสวยงาม มีไอเดียที่แข็งแรง อันนี้จากมุมคนทำหนังนะ แต่อย่างโน้ต เมโลดี้อะไรแบบนี้ผมฟังไม่ค่อยออกอยู่แล้ว บอกไม่ถูกว่ามันคืออะไร แต่แค่แบบรวม ๆ แล้วรู้สึกอย่างไรมากกว่า

อยากให้เล่าถึงที่มาที่ไปของหนังสั้นเธอกับ Kult’ หน่อย

ก็จริง ๆ มันก็มาจากลูกค้า เขาอยากทำหนังที่พูดองค์กรเขา KBANK เขามีองค์กรใหม่ที่มาซัพพอร์ตเขาชื่อ KBTG ซึ่งเหมือนเป็นบริษัทไอที เพราะในอนาคตอย่างที่เรารู้กัน ทุกอย่างมันเป็นไอทีหมดเลย เราสามารถจบทุกอย่างได้ในมือถือ เพราะงั้นการทำธุรกรรมทางการเงินของเราในอนาคตมันจะไม่ใช่แค่มึงเดินไปที่แบงค์แล้ว เขาต้องการเห็นองค์กรและคนในองค์กรนั้นที่มาสร้างแอป ทำโปรแกรม คิดนู่นคิดนี่เพื่อซัพพอร์ตโลกตรงนี้ให้ได้ ซึ่ง ณ ขณะนี้ มันไม่ใช่แค่ KBANK อย่างเดียวนะ ทุกที่เลยถ้าไปดูอะ SCB ก็มี เพิ่งทำโฆษณาออกไปด้วย ทุกธนาคารต้องการสิ่งเหล่านี้มาซัพพอร์ตเขา โจทย์จากลูกค้าก็คือเราจะชวนให้คนมาทำงาน คือจริง ๆ ความตั้งใจของการสร้างหนังเรื่องนี้คือ เรียกคนมาทำงาน เรียกคนมาสมัครงานกับเขา คนที่มีศักยภาพ คนที่มีสกิล พูดกับคนเหล่านี้ คนรุ่นใหม่ที่อยากลองมาทำงานที่ไม่ใช่แค่การอยู่ตรงเคาท์เตอร์โอนเงินอะไรแบบนี้ ก็คุยกันว่าทำยังไง ก็คือการสร้างโลกที่มันน่าอยู่ ก็คืออย่างเนี้ย โลกที่มีตัวละคร มีผู้คน มีเรื่องราว มีความรู้สึกบางอย่าง และทำให้เขาเห็นถึง possibility ในชีวิตเขาให้ได้  คุยไปคุยมาก็จะมีอะไรดีไปกว่าหนังรักล่ะ ก็ดูน่าจะ connect กับคนได้มากที่สุด แต่ก็ไม่ใช่รักในเชิงโรแมนติกอย่างเดียว รักในเชิงเพื่อนร่วมงาน รักในเชิงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็เลยตีโจทย์ไปเรื่อย ๆ มาถึงสิ่งนี้

แล้วคำว่าหมาไลก้ากับยานอะพอลโล่เนี่ยมันคืออะไร

คือคุยกับ อัตต้า ที่เป็นโคได ฯ และเป็นคนเขียนบทด้วย เหมือนเราพยายามจะหาอะไรที่มันเป็นสิ่งที่คนเนิร์ด ๆ เขาคุยกัน หนังรักที่เกี่ยวกับคนเนิร์ด ๆ เขาคุยกัน แล้วคีย์แมสเสจมันคือ ‘โลกใหม่’ เราก็นึกย้อนไปถึงยุค 60s ที่คนแม่งไปสำรวจอวกาศครั้งแรก ไม่มีใครคิดว่าแม่งจะเกิดขึ้นได้แต่มันเกิดขึ้นจริงว่ะ แล้วอย่างหมาไลก้ามันก็คือมันมาจากสำนวนที่เราชอบใช้ ‘หมาเห่าเครื่องบิน’ คือเรากำลังเปรียบเทียบให้กลายเป็นเชิงไอทีและไซไฟ มันเลยกลายมาเป็น ‘หมาไลก้ากับยานอะพอลโล่’ แทน อันนี้ต้องให้เครดิตพี่อัตต้าเขา

ในหนังก็มี AI แล้วถ้าในอนาคตมี AI จริง คิดว่ามันจะเป็นอย่างไร

ก็คงน่าสนใจดี แต่อย่างพี่แม่งเป็นคนอนาล็อกมากเว้ย จริง ๆ พี่ไม่รู้เรื่องอะไรพวกนี้เลย ตอนรับโจทย์ครั้งแรกก็เกาหัวเลย บอกโปรดิวเซอร์ ‘ไม่ทำได้เปล่าวะพี่’ คือพี่ไม่รู้จักศัพท์พวกนี้ AI อะไร รู้จักแต่ Adobe Illustrator นึกออกปะ ตอนแรกฟังแล้วก็แบบ ทำอิลลัสเหรอ คืออะไร โฟโต้ชอปอะไรงี้เหรอ แล้วพอมาเริ่มทำการบ้านก็อ๋อ มันคือสิ่งนี้ ๆ พอยิ่งทำเยอะขึ้นก็ยิ่งแบบมันซับซ้อนจังวะ นี่แม่งก็โลกใหม่สำหรับกูเหมือนกันนะเนี่ย ทุกวันนี้ผมยังไม่มีแอปในมือถือเลย ไอ้พวกแอปโอนเงิน เป็นคนไม่ใช้เลยเพราะกลัว กลัวแม่งเดี๋ยวมีคนแฮ็กเอาเงินกูไปทำไงวะ อะไรแบบนี้ มีความเชื่อแบบนั้นอยู่อะ (FJZ: พี่ไม่แมสเลยอะ) ฉันแมสไปกว่านี้ไม่ได้แล้วแก เต๋อแม่งเก่งอะ อัจฉริยะ

ไม่กลัวว่า AI จะครองโลกเหมือนในเรื่อง ‘The Matrix’ เหรอ

คือพอพี่ไม่ได้อินกับมันขนาดนั้น ความคิดมันเลยไปไม่ถึงขนาดนั้นว่ะ ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นได้จริงหรือเปล่า แต่ก็พยายามมองโลกในแง่ดีว่าสุดท้ายแล้วมันก็อาจจะดีก็ได้มั้ง

แล้วถ้าวันหนึ่ง AI ทำหนังขึ้นมา จะไปดูไหมหรือว่าจะต่อต้าน

กว่าจะถึงวันนั้นพี่หวังว่าพี่จะแก่แล้วก็เกษียณไปแล้วนะ ไม่รู้เหมือนกัน คงไปดู อย่างน้อยพี่ต้องไปดูก่อนว่ามันทำได้จริงใช่ไหม แล้วมันดีใช่ไหม ซึ่งมันก็อาจจะดีก็ได้ ถ้ามันถึงจุดนั้นจริง ๆ นั่นหมายความว่าเราในฐานะมนุษย์ต้องไปไกลกว่าเขา มันคือการแข่งขันอะ คือสุดท้ายแล้วมันวกกลับมาที่การแข่งกับตัวเองเนี่ยแหละ คือพอมึงผูกขาดทางการค้าแล้วไม่มีคู่แข่ง มันก็จะสปอยล์ตัวเองอะ

รู้สึกอย่างไรบ้างที่ ฮิเดโอะ โคจิมะ ชมหนังเรา

เอาจริง ๆ ปะ ไม่รู้จัก (หัวเราะ) พี่ไม่เคยเล่นเกม เกมที่พี่เคยเล่นคือมาริโอ้ กระโดดเก็บเห็ด พี่ไม่รู้จักเลยเว้ย คือพี่เคยได้ยินเกมแบบ ‘Silent Hill’ หมดแหละ แล้ววันนั้นจำได้ว่าทุกคนแม่งแท็กพี่แบบ ‘เชี่ยบาส พีคมากเลย’ ตอนแรกเห็นชื่อ เราก็แบบเฮ้ย ผู้กำกับคนไหนวะ เดี๋ยวก่อน ๆๆ เผื่อกูชอบหนังเขา อ๋อ เขาทำเกม… แล้วแม่งก็มีความแบบ อ๋อเหรอ แล้วคือยังไงวะ จนต้องมีคนบอกว่า ไอ้เหี้ย เขาคือ Martin Scorsese ของวงการเกมเว้ย ผมก็เลยแบบ อะ ก็ได้วะ (หัวเราะ) 

เป็นคนไม่เล่นเกมเลยเหรอ

ไม่เล่นเกม ไม่ดูบอล โตมาได้ไงวะเป็นผู้ชาย ดูแต่หนังอย่างเดียว

นี่ยังรู้สึกตื่นเต้นแทนเลยนะตอนรู้ข่าว เขาเป็นเทพเจ้าในวงการเกม

เนี่ยจนถึงทุกวันนี้ทุกคนพยายามอธิบายให้พี่ฟังอะ ทุกคนแม่งยังเงี้ยอะ เฮ้ยพี่ เฮ้ยมึง เขาแม่งยังงี้…จ้ะ (หัวเราะ) แต่พี่คุย direct message กับเขา ก็แมสเสจไปขอบคุณเขา เขาก็น่ารักมาก เขาก็ตอบดีแบบ ยูจีเนียส ไอจะช่วยโปรโมตทุกอย่าง คือถ้าวันหนึ่ง สกอร์เซซี แม่งบอกว่าชอบหนังพี่ พี่คงแบบหัวใจวายตายไปเลยอะ อาจจะเป็นความรู้สึกเดียวกันก็ได้นะ เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองนะ ทำไมทุกคนรู้จัก นั่นหมายความว่าสำหรับผู้ชายวัยยี่สิบกว่าสามสิบกว่านี่แม่งต้องเล่นเกมใช่ไหมวะ คือเรื่องปกติใช่ไหม แสดงว่ากูผิดปกติใช่ไหม ถามตัวเองตลอดเวลาเลย ทุกวันนี้เกมเดียวที่พี่อินคือ ‘Subway Surfers’ ชอบมาก เล่นตอนอึนี่เพลินมากเลย

เห็นพี่ทำหนังเกี่ยวกับการศึกษามาแล้ว อยากรู้ความเห็นของพี่เกี่ยวกับการศึกษาไทยตอนนี้

เขาเพิ่งมี answer sheet เป็นวงกลมออกมา รู้สึกว่ามาถูกทางแล้วครับ (หัวเราะ) ก็คิดยังไงเหรอ… ไม่รู้อะ คือสุดท้ายแล้วพี่ว่ามันก็ซับซ้อนขึ้นนะ ดูจากวิธีการเลือกจะสอบเข้ามหาลัยอะไรแบบนี้ การแข่งขันก็น่าจะสูงขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่พี่ก็ยังอยากเห็นการศึกษาไทยที่มันเน้นการพัฒนาคนให้เป็นคน ซัพพอร์ตในสิ่งที่เขาเป็น คือมันอาจจะดีขึ้นแล้วก็ได้มั้ง แต่ในรุ่นที่พี่อยู่อะ พี่ถูกสอนและเติบโตมากับชุดความคิดที่ว่าโลกนี้แม่งมีแค่สายวิทย์กับสายศิลป์อะ เรามันหยุดอยู่แค่นี้เลยนะ เหมือนแบบวิทย์ ศิลป์ แล้วไง อะ คำนวณอีกอันนึง แล้วก็ไม่มีอาจารย์ที่เฉพาะทางหรือเก่งมากพอที่จะให้คำแนะนำเรา หรือขุดคุ้ยความเป็นตัวเราออกมาได้จริง ๆ ในขณะเดียวกันพี่ก็เห็นเพื่อน ๆ หลาย ๆ คน มีเพื่อนพี่สมัยมอต้นคนหนึ่งชื่อไอ้เดชา ชอบดูหนังเหมือนพี่เลย คือแม่งแบบเหมือนพี่ทุกอย่าง ไปดูหนังด้วยกัน สะสมโปสเตอร์หนัง นั่งคุยเรื่องหนังกันด้วยแพชชั่น แต่สุดท้ายแล้วมันต่อยอดไม่ได้เพราะว่าพ่อแม่ไม่สนับสนุน พ่อแม่ไม่ให้ดู เพราะคิดว่ามันคือเรื่องไร้สาระ ในขณะที่พี่แบบพ่อแม่โอเค พ่อแม่ซัพพอร์ตลูกในสิ่งที่ลูกชอบ ต่อให้จุดนั้นเขาอาจจะแค่แบบไม่ได้แพลนว่าโตขึ้นมาจะต้องเป็นผู้กำกับ แต่แค่อย่างน้อยเขาเห็นลูกทำในสิ่งที่ทำแล้วแฮปปี้ แล้วเขาก็แฮปปี้ แล้วก็ประคับประคองกันไปว่ะพี่ว่า มีแค่นั้น

จริง ครอบครัวก็มีส่วนสำคัญมาก ในการต่อยอดอนาคตของลูก แต่ปัญหามันคือเหมือนกับ พอเราต้องโตในสังคมที่มันปิดมาก คนก็อาจจะจินตนาการไม่ออกหรือเปล่าว่า อ่าว ลูกฉันเรียนจบหนังแล้วยังไง 

คือเอาจริง ๆ ตอนพี่อยู่มหาลัยก็มีคำถามพวกนี้นะ จากญาติ จากพ่อแม่อะไรแบบนี้ แต่สุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราด้วยว่ะ คือทุกครั้งที่พี่เจอคำถามจากญาติ ๆ แบบ ‘เรียนจบไปจะไปทำอะไร’ พี่เรียนมหาลัยเดียวกับคิ้ว เอกการแสดงและกำกับการแสดง ตอนนั้นเราอยากเป็นผู้กำกับ แต่ปรากฏว่าพอเราไปเรียนแล้วต้องไปเล่นด้วย ต้องไปแบบเฉิดฉายบนเวที ญาติก็จะแบบ หน้าอย่างมึงจะเป็นดารา? คือทุกคนจะมาถาม เพราะเขามี mindset ประมาณนั้นไง ‘อยากเป็นดาราเหรอ?’ ไม่ใช่ อยากเป็นผู้กำกับ ‘เป็นผู้กำกับแล้วมันยังไง? แล้วมันทำเงินได้เหรอ? ทำไมไม่เป็นกราฟิกดีไซน์ ไม่เป็นหมอ” อะไรแบบนี้ นึกออกมะ สุดท้ายพี่เปลี่ยนพวกนั้นเป็นพลังไปเลย มึงเอามา เอาความเนกาทีฟทั้งหมดส่งมาให้กู แล้วเดี๋ยวกูจะเปลี่ยนมันเป็นเชื้อเพลิงในการพิสูจน์ให้มึงเห็นว่ากูทำได้ ถึงจะใช้เวลานานหน่อยนะ ก็ขึ้นอยู่กับเรา ถ้าเราฟังแล้วเราใช้มันเป็นพลังในแง่ลบให้ตัวเราเอง พี่อาจจะซิ่วไปเรียนคณะใหม่ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วก็ได้แต่เราไม่ยอมไง 

มันเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย

ใช่ ชีวิตมันคือการสอบอะเอาจริง ๆ มันจะมีด่านการสอบตลอดเวลาเว้ย สอบเล็ก สอบใหญ่ สอบยาก สอบง่าย มันต้องสอบ มึงไม่สอบไม่ได้ ก็ต้องชนะให้ได้ ใครคือคนออกข้อสอบ สิ่งนั้นสำคัญกับมึงขนาดไหน 

ตั้งใจเรียนสิ จะได้เป็นเจ้าคนนายคนก็อาจจะใช้ไม่ได้กับยุคนี้แล้ว

พี่ว่ามันเป็นดินแดนสีเทาอะ มันไม่มีใช่หรือไม่ใช่ คำถามนี้มันเป็นเคมีที่มันขึ้นอยู่กับคนและสถานการณ์จริง ๆ ว่ะ ดูเป็นสิ่งที่แบบถ้าพี่พูดออกไปแล้วมันไปสร้าง mindset ผิด ๆ กับเด็กสักคน อันนี้คือแย่มากเลย เลยไม่อยากตอบ รู้สึกว่าก็นั่นแหละ อะไรก็ได้ แค่สุดท้ายรู้จักตัว รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ แล้วก็กลับไปประเด็นเดิม ชีวิตมันคือการทดสอบ อย่ายอมแพ้ง่าย ๆ แค่นั้นพอ 

สมมติในอนาคตพี่มีลูกแล้วลูกเรียนไม่เก่งพี่จะทำอย่างไร

ก็จะถามว่า แล้วคิดว่าตัวเองทำอะไรเก่ง ทำเก่งไม่พอ ทำแล้วแฮปปี้หรือเปล่า แล้วทำสิ่งนั้น อยากทำอะไรก็ได้ทำเลย ถ้าสิ่งนั้นมันไม่ใช่อะไรที่ผิดกฎหมายนะ เราทำได้แค่นั้นในฐานะพ่อแม่ 

บาสอยากฝากอะไรถึงคนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ในตอนนี้หน่อย

ความสำเร็จมันมีหลายรูปแบบนะ แล้วแต่ละคนก็ทรีตคำนี้ไม่เหมือนกันว่ะ พี่ว่าสร้างโกลให้ตัวเองอะดีแล้ว มนุษย์ทุกคนต้องมีโกล เพียงแต่ว่าในระหว่างการเดินทางของเราจากจุด A ไปจุด B หรือโกลของเราอะ อย่าใช้ความคาดหวังมากดดันเรา ถ้าระหว่างทางมันเกิดอะไรที่ผิดที่มันพลาดที่มันออกเส้นทางที่เราแพลนไว้ แล้วเราก็ไปซีเรียสกับมัน แล้วเราเขว ตีอกชกหัวตัวเอง มันไม่ใช่ว่ะ มันเกิดขึ้นได้ เราแค่ต้องตั้งสติแล้วทำอย่างไรก็ได้เพื่อเดินไปถึงปลายทางให้ได้อย่างที่เราควรจะเป็น สมัยพี่ทำงานใหม่ ๆ พี่ก็จะตีอกชกหัวตัวเองเวลาทำงานออกมาได้ไม่ดี เมื่อไหร่ผมจะได้เป็นผู้กำกับหนังครับพี่ จนเจ้านายพี่ต้องบอกว่า ‘บาส มึงเครียดไป พอมึงซีเรียสปุ๊บมึงจะแผ่พลังงานบางอย่างออกมาจากตัวมึงอะ’ แล้วเขาบอกว่า ทำงานเหมือนหายใจ ใช้ชีวิตเหมือนหายใจ หายใจแรงไปมันก็เหนื่อย หายใจเบาไปมันก็อึดอัด ใช้ชีวิตเหมือนหายใจ สำคัญไหม สำคัญ คนเราต้องหายใจ แค่นั้น

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา