Feature Head talk

Summer Dress : New Flavor

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Nattanich Chanaritichai
  • Stylist: Varachaya Chetchotiros
  • Art Director: Tunlaya Dunnvatanachit

13198641_491540991035400_8413216100632495152_o“ก็ไม่ได้จะว่าใครเขาแต่ช้ำใจ ฉันแพ้ทอม” เพลงนี้เคยเป็นเพลงที่เราร้องติดปากเมื่อหลายปีก่อน ทั้งยังเป็นเพลงที่ทำให้รู้จักกับ Summer Dress และตื่นเต้นกับสีสันดนตรีแปลกใหม่ที่พวกเขาได้มอบให้กับวงการในช่วงยุคหนึ่ง จนกระทั่งเวลาผ่านไป พวกเขากำลังจะกลับมาอีกครั้งพร้อมกับส่วนผสมที่แปลกใหม่ยิ่งกว่าเดิม แม้จะเป็นวัตถุดิบที่ไม่คุ้นชินนัก แต่เราขอรับประกันว่าเพลงของพวกเขายังคงสดใหม่น่าลิ้มลองเช่นเคย

สมาชิก
เต๊น—ศิวนัส บุญศรีพรชัย (ร้องนำ, กีตาร์)
แน็ต—สรรพวิท สร้อยคำ (กีตาร์)
โป้ว—ภิญโญ ใหม่ละเอียด (เบส)
แปม—ธีรวุฒิ อิทธิวุฒิ (กลอง)
ปอนด์—ปัญญ์ชลี จ้ำแพงจันทร์ (คีย์บอร์ด)

summerdress_03

1st Course — Appetizer

บางคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของ Summer Dress มาก่อน ส่วนบางคนที่เคยฟังงานชุดแรกอย่าง Activity มาแล้วก็สงสัยว่าพวกเขาหายไปไหน ก่อนจะไปไขทุกข้อสงสัย เราขอเรียกน้ำย่อยด้วยการเท้าความไปเมื่อ 8 ปีที่แล้วกันก่อน (นานไปไหม)

Summer Dress คือวงดนตรีจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีสมาชิกตั้งต้นคือ เต๊น แน็ต โป้ว กับเพื่อนอีกคน แล้วจึงมีปอนด์เพิ่มเข้ามา แต่หลังจากนั้นเพื่อนคนที่ว่าก็ออกไป จึงต้องหาสมาชิกเพิ่ม แน็ตเล่าว่าเดิมทีพวกเขาตั้งใจจะทำวงที่ไม่มีมือกลอง แต่เล่นไปเล่นมาก็รู้สึกว่าไม่เวิร์ก เลยได้แปมมาเสริมทัพรวมเป็น Summer Dress 5 คนในทุกวันนี้ โดยที่มาของชื่อวงมาจากตอนที่พวกเขาไปทะเล และนึกถึงเพลง London School Of Economics ของ Acid House Kings ที่เนื้อเพลงนั้นมีคำว่า ‘summer dress’ อยู่จึงนำมาใช้ด้วยความรู้สึกว่าเป็นคำที่น่ารักเข้ากับสไตล์เพลงในช่วงนั้น (Swedish pop) ซึ่งเพลงแรกที่พวกเขาทำคือ เธอข้างทาง

วันนึงพวกเขาได้เอาเพลงที่อยู่ใน iPod ให้ ป๊อก—วรรณฤทธิ์ พงศ์ประยูร ที่เป็นอาจารย์พิเศษอยู่ในขณะนั้นได้ลองฟังเพื่อขอคำปรึกษา จากการแลกเปลี่ยนและแนะนำแนวทางการทำเพลงอยู่บ่อยครั้งผ่านทาง Myspace ก็กลับกลายเป็นการเชื้อเชิญให้มาร่วมงานด้วยกัน นี่จึงนำไปสู่การเป็นศิลปินตัวจี๊ดอีกวงนึงของค่าย Panda Records “แกเป็นเหมือนไอดอลของพวกเราด้วยครับ” เต๊นเล่า

ด้วยความที่หมู่นักฟังรู้สึกว่ากลิ่นอายใกล้เคียงกับไซด์โปรเจกต์ของ Erlend Øye แห่ง Kings of Convenience จึงถูกพูดถึงอยู่ในระยะหนึ่งว่าเป็น The Whitest Boy Alive เมืองไทย ทั้งหมดทั้งมวลก็ด้วยอิทธิพลจากแนวเพลงที่ฟังอยู่ในขณะนั้น

“ตอนนั้นฟัง The Whitest Boy Alive, Phoenix, Pacific!, Empire of the Sun” แปมบอก

“ฟังอินดี้ยุคนั้นแหละ Two Door Cinema Club, Cut Copy กับพวก Euro beat, Brit pop” เต๊นเสริม

นอกเหนือไปจากสไตล์เพลงที่แตกต่างไปจากวงรุ่นเดียวกันในช่วงนั้นแล้ว สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตคือซาวด์ดนตรีพิเศษ จากการอัดด้วยเทปคาสเซ็ตที่ทำให้เสียงดูไม่เนี้ยบแต่มีเสน่ห์ ฟังไปเรื่อย ๆ ก็ไม่น่าเบื่อ รวมถึงวิธีคิดเนื้อเพลง ตอนนั้นเป็นช่วงรอยต่อของวงอินดี้ที่พัฒนาเรื่องราวของเนื้อเพลงไปอีกแบบ คือแทนที่จะพูดแต่เรื่องความสัมพันธ์ ก็เลือกจะพูดเรื่องปรัชญาชีวิต การเดินทาง แต่ Summer Dress กลับเดินสวนกระแสด้วยการเลือกพูดเรื่องที่ตรงไปตรงมาที่สุด

“เราไม่ได้กลัวจะไปเหมือนอันนั้นอันนี้ เราแค่อยากทำแบบนี้เพราะมันถนัดกว่า คนแต่งเพลงมันเพี้ยน” แปมเล่า

แล้วก็เป็นเช่นนั้น เมื่อเพลงต่อมาที่ถูกปล่อยสู่สาธารณชนอย่าง แพ้ทอม… จำได้ว่าครั้งแรกที่เราได้ฟังน่าจะมาจาก Cat Radio (ตอนนั้นยังเป็น Fat Radio อยู่) เป็นเพลงที่มาจากประสบการณ์จริงของเพื่อนร่วมคณะของพวกเขา

“เขาไปจีบผู้หญิง แต่ผู้หญิงไปคบกับทอม เราก็เอาเรื่องเขามาเขียน ซึ่งตอนนั้นก็เขียนจากมุมมองเด็ก ๆ วัยรุ่น คอนเซปต์หรือคำโปรยที่เขียนถึงอัลบั้มก็จะพูดถึงชีวิตหนุ่มสาว เล่าแบบเข้าใจง่าย ก็เป็นเรื่องราวตามวัยในตอนนั้น” เต๊นเล่า

ซึ่งความสดใส ตรงไปตรงมา และกวนโอ๊ยของเพลง ก็ทำให้กลายเป็นปรากฏการณ์ถึงทุกวันนี้ แบบที่ Summer Dress ไปเล่นที่ไหน ทุกคนก็จะขอให้เล่นเพลง แพ้ทอม อยู่ร่ำไป

แน็ต: มันก็มีเบื่อนะ เบื่อก็ไม่เล่น (หัวเราะ) แต่ตอนหลังก็มาเล่น

เต๊น: เหมือน Radiohead ที่ไม่เล่น Creep อะ (หัวเราะ)

ต่อมาก็มีมิวสิกวิดิโอเพลง บรรเลง ออกมาและกลายเป็นที่ถูกพูดถึงในช่วงนึงอยู่เหมือนกัน ซึ่งเดิมทีเพลง บรรเลง คือเพลงที่ดนตรีเสร็จแล้ว แต่ไม่สามารถเขียนเนื้อร้องออกมาให้เข้ากับดนตรีได้ จึงกลายเป็นเพลงบรรเลงสมชื่อ และตอนที่พวกเขาเล่นสด เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่มีการเปลี่ยนแปลงการเล่นอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความที่เพลงนี้มีสเปซให้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้มากที่สุด และวงรู้สึกว่าอยากให้เพลงมีความแปลกใหม่ในทุกครั้งที่เล่นจะได้ไม่เหมือนกับในแผ่น ไม่น่าเบื่อ และตอนนั้นเอง ตั้ม—โตคิณ ฑีฆานันท์ แห่ง The World May Never Know ก็เสนอตัวจะทำ mv ให้ งานนี้ Summer Dress ต้องเล่นจริง วิ่งจริง โดนไล่จริง เป็น social experiment กันเลยทีเดียว

จริง ๆ แล้วในอัลบั้ม Activity เนี่ย มันไม่ได้มีแค่เพลง แพ้ทอม บรรเลง หรือ เธอข้างทาง แต่ยังมีอีกหลายเพลงที่พวกเขาอยากให้ทุกคนได้ลองฟัง

โป้ว: เอคโค่ ชอบสุดแล้ว คนไม่ค่อยรู้จัก เพราะเราไม่ค่อยเล่น mv ก็ไม่ได้ทำ (หัวเราะ)

แน็ต: ไอ้แปมเล่นแล้วเหนื่อย ผมชอบเพลง บรรเลง

เต๊น: ผมชอบ เชิญแบก แต่ว่า ก็ไม่ค่อยมีคนฟังเท่าไหร่ (แน็ต: แต่ก่อนเล่นบ่อย แต่ตอนหลังจำไม่ได้แล้วว่าเล่นยังไง)

แปม: ชอบ เธอข้างทาง แบบ remix ครับ ได้เพื่อนวง Handicat มาทำเป็นเวอร์ชันพิเศษขึ้นมา ก็จะได้ยินอะไรแปลก ๆ ออกไป

ปอนด์: เราชอบทุกเพลงเลยได้ปะ (หัวเราะ)

หลังจากที่อัลบั้มออกมาได้เกือบสองปี ก็ถึงจุดที่เป็นเหมือนขาขึ้นของวง ทั้งการที่เพลง ราตรี ติดอันดับต้น ๆ ของชาร์ตอินดี้แห่งชาติอย่าง Fat Radio หลายคนร้องตามเพลงของพวกเขาได้ และสารพัดงานเล่นก็พุ่งเข้าหา ฟังดูสวยงามมากใช่ไหม ทว่าความจริงแล้ว ถึงแม้จะมีโอกาสในการแสดงผลงานสำหรับพวกเขาอยู่มาก แต่ผู้ลงทุนหรือคนที่หยิบยื่นโอกาสเหล่านั้นยังขาดความเข้าใจหรือใส่ใจในดนตรีจริง ๆ ด้วยความที่มองเห็นแต่เพียงว่า ดนตรี คือช่องทางใหม่ของการสร้างธุรกิจ

แปม: มีงานนึงที่ตลาดรถไฟเก่า โลเคชันแย่มาก ไม่มีใครตั้งใจไปดูตรงนั้นแน่นอนนอกจากจะเดินไปเยี่ยวแล้วบังเอิญเห็นพวกเรา ไม่มีคนรันคิวในงาน ไม่มีซาวด์เอนจิเนียร์ เหมือนโดนปล่อยทิ้งไว้ตรงนั้นให้เล่นกันหน้าส้วม เวทีก็เหมือนฉลองวันเกิดเพื่อนที่บ้าน มีไฟเป็นหลอดนีออน พวกเครื่องปั่นไฟก็ไม่ค่อยดี ไฟติด ๆ ดับ ๆ คีย์บอร์ดก็หลอนไปทีนึง ฝนเพิ่งตกอีก เลยไม่มีคนไปดูด้วยนอกจากนักดนตรีที่เล่นตรงนั้นมาดูกันเอง ตอนแรกคิดว่าจะไม่เล่นด้วยซ้ำ แต่เหมือนแน็ตบอกว่า เฮ้ย มึงเล่นไปเหอะ ถ้ามึงเล่นเวทีนี้ได้ มึงก็เล่นได้ทุกเวทีในโลก ซึ่งมันก็จริง เพราะพอเล่นแล้ว ผ่านตรงนั้นมาได้ก็กลายเป็นเรื่องตลกที่แบบ เคยมาเล่นตรงนี้นะเว่ย ฮาสัด เล่นกันไปได้ยังไง

แน็ต: ไม่ได้ดราม่ากับเจ้าของนะ แต่รูปแบบการจัดมันทำให้เราต้องแบกของไปเองทุกอย่าง ทำอะไรเองทุกอย่าง

เต๊น: เขาไม่ซัพพอร์ตเราซักอย่าง เราก็ต้องไปขนเครื่องกันเอง มีแค่ Kinetics กับ Handicat ที่ต้องไปเล่นด้วยกันก็ไปก๊งกันอยู่ตรงนั้น (หัวเราะ) ต้องเรียกว่าก๊งจริง แม่งไม่เหมือนเล่นดนตรี แบบ เฮ้ย มึงขึ้นไปเล่นให้กูดูหน่อยดิ

summerdress_others_01

ดังนั้นแล้วคนจัดงานควรมีอะไรเตรียมพร้อมสำหรับนักดนตรีบ้าง

เต๊น: ควรมีอุปกรณ์ที่พร้อมซัพพอร์ตเรา แล้วก็เรื่องสวัสดิการ ก็ไม่ได้ขออะไรมากมาย อาจจะค่าตอบแทน ค่ารถ ให้เราไม่เจ็บตัวกันจนเกินไป แล้วการจะจัดงาน คุณก็ควรจะรู้จักวงนี้ดีพอสมควรนิดนึง ไม่ใช่ว่าจับฉลากได้วงนี้มาแล้วเอามาเล่นกับวงนี้ มันไม่ธีม ไม่มีคอนเซปต์ ก็จะไม่มีประโยชน์ คนที่จะมาดูก็ดูสะเปะสะปะไป

แปม: จริง ๆ ก็ไม่จำเป็นขนาดนั้น แต่แค่เขาใส่ใจเราแค่ไหนมากกว่า มันไม่จำเป็นต้องเป็นแนวเดียวกันหรอก ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเรียงใคร งานนึง ไม่รู้จำกันได้ไหม เป็นงานชาวร็อกที่รถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าว มีวงมาเล่นเยอะมากตั้งแต่เช้ายันมืด แล้วให้เวลาแค่วงละ 20 นาทีรวมซาวด์เช็ก เราเล่นประมาณสองเพลงก็หมดเวลา โดนไล่ลง มันเหมือนเล่นแล้วไม่มีประโยชน์ รู้สึกว่า เรามาทำไมวะ คือจะจัดแค่ให้มีวงเยอะ ๆ มีชื่อเต็มโปสเตอร์แค่นั้นหรอ

วีรกรรมตอนเล่นสด งานไหนพีคสุด

แปม: น่าจะ Stone Free 2 ลองกลับไปดูวิดิโอก็ได้ (หัวเราะ)

อื้มมมมม เราจำงานนั้นได้เป็นอย่างดี (ก็เป็นหนึ่งในกองเชียร์เขาล่ะ) เพราะนอกจากวีรกรรมของแน็ต Summer Dress แล้ว งานนี้เป็นหนึ่งในคอนเสิร์ตที่สนุกสัด ๆ บรรยากาศดีโคตร ๆ

สมมติว่า Summer Dress จะต้องไปเล่นสด แล้วต้องทำของที่ระลึกขาย คิดว่าทำอะไรขายถึงจะแปลกกว่าชาวบ้าน

แน็ต: นี่ไง เราเคยทำกระติกน้ำกับผ้าขนหนู

เต๊น: เคยคิดอยากทำเสื้อสกรีนหน้าแน็ตแล้วเขียนว่า ‘อัจฉริยบุคคล’ แล้วก็มีที่ให้มันเขียนโควทสดลงบนเสื้อ (หัวเราะ)

สำหรับคนที่สงสัยว่าอัจฉริยบุคคลคืออะไร เราจะมาเฉลยในช่วงท้ายของบทความนี้

อยากให้คนที่มาดูเราเล่นสดเป็นคนแบบไหน

เต๊น: คนที่ enjoy กับดนตรีได้ แล้วก็รู้วัฒนธรรมการชมดนตรีว่าควรจะวางตัวยังไง คุณจะดูอย่างตั้งใจ หรืออย่างน้อย ถ้าคุณไม่สนุก คุณควรจัดการยังไงกับตัวเอง ถ้าฟังไปเพลงสองเพลงแล้วไม่ชอบ แทนที่จะเล่นมือถืออยู่ตรงนั้น คุณควรจะออกไปข้างนอกหรือเปล่า ก็เป็นมารยาทในการฟังเพลง

summerdress_02

2nd Course — Main Course

อาหารเรียกน้ำย่อยได้หมดไปแล้ว เราจะเริ่มเสริฟอาหารชุดต่อไปซึ่งอุดมไปด้วยเรื่องราวการเข้าสู่ยุคใหม่ของ Summer Dress ที่มีการเปลี่ยนแปลงในแนวเพลงครั้งใหญ่ แน็ตบอกว่าเป็นเพราะการฟังเพลงของพวกเขาเปลี่ยนไป และจากประสบการณ์ทำงานในชีวิตจริงที่พบเจออะไรมามากกว่าช่วงแรกจึงโตขึ้นกว่าเดิม ทำให้เนื้อหาเพลงที่อยากนำเสนอก็โตขึ้นด้วย ดังนั้นเพลงที่มีชื่อว่า 1917 อาจจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงวิวัฒนาการครั้งนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด

เต๊นเล่าว่าเพลงนี้มาจากปีก่อตั้งของ ‘De Stijl’ (มาจากคำว่า The Style) เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะจากเนเธอร์แลนด์ที่สร้างภาพ abstract จากรูปทรงที่เป็นเรขาคณิตในยุคเริ่มต้นของงานโมเดิร์น ซึ่งเพลงใหม่ของพวกเขาก็ถูกลดทอนโครงสร้างจนให้ความรู้สึกเหมือนงานของกลุ่มเดอชตาล และเป็นเพื่อการเฉลิมฉลองผลงานของกลุ่มดังกล่าว เขาจึงนำปีที่ก่อตั้งกลุ่มมาเป็นชื่อเพลง รวมถึงเป็นการบอกกลาย ๆ ในเนื้อเพลง 1917 ท่อนท้าย ๆ ที่ร้องว่า “…Less some detail to pure form…” การลดทอนเพื่อนำไปสู่ตัวตนที่แท้นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่พาทุกคนไปทำความรู้จักกับรูปแบบใหม่ ๆ ของ Summer Dress

เพลง 1917 ถูกนำไปเล่นสดเป็นครั้งแรกที่ Stone Free 3 แม้ผลตอบรับในระยะแรกไม่ค่อยหวือหวา อาจเป็นเพราะแฟนเพลงกลุ่มเดิมไม่คุ้นชินกับสไตล์เพลงที่เปลี่ยนไป แต่ก็มีแฟนคลับกลุ่มเดิมบางส่วน และนักฟังกลุ่มใหม่ ๆ ที่ชื่นชอบทิศทางนี้อยู่เหมือนกัน เราเชื่อเหลือเกินว่าเพลงที่ดีหลาย ๆ เพลงอาจไม่ถูกจริตทุกคนในครั้งแรกที่ได้ฟัง ทุกเพลงจะมีระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคนในการย่อยหรือซึมซับเพลงนั้น ๆ

“ถ้าวัดจากแฟนเพลงที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ หลัง ๆ เขาก็ไม่ได้ฟังวงเราแล้วหลังจากที่เราเล่นอัลบั้มใหม่ ก็คงด้วยสไตล์เพลงแหละ” เต๊นเล่า

“แต่มีตอนที่ไปเล่นงาน 16 ปี Panda Records มีคนเข้ามาคุยกับเราตัว ๆ ว่าชอบเพลง Sound Scape มากเพราะเราเคยไปเล่นที่ Sofar Sound แล้วมีบันทึกการแสดง เขาดูจากอันนั้นแล้วจำเพลงได้” แน็ตเสริม

หลังจากที่ได้ฟังพวกเขาเล่นสดมาระยะนึง ก็มีข้อสังเกตอย่างที่เราพบจากเพลงส่วนใหญ่ในงานชุดใหม่ไม่ว่าจะเป็น Sound Scape, Synthesizer, Sunny Talk ล้วนขึ้นต้นด้วยตัว S หมดเลย

“ฮะ จริงหรอ ไม่ได้สังเกต” นี่คือสิ่งที่พวกเขาบอกกับเรา “เป็นความบังเอิญครับ ไม่มีอะไร แต่ถ้าเอาไปเขียนให้มีอะไรแบบเป็น myth ของวงก็ได้”

จุดนี้เองที่ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า วงต่างประเทศมักจะมีตำนานลึกลับอะไรต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับที่มาของเพลงหรือเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การฆาตกรรม การฆ่าตัวตาย การทะเลาะกัน แต่น้อยวงนักในประเทศไทยที่จะมีเรื่องเล่าหรือคอนเซปต์อย่างที่ The Beatles, David Bowie, Nirvana หรือ Oasis มี

วงเราก็มีนะ แต่แค่ไม่ได้พูดถึงมากกว่า… นี่ไง เพลง Sunny Talk ให้จ้า Hariguem Zaboy แต่งมา เนื้อเพลงภาษาอังกฤษนี่อ่านไม่รู้เรื่องเลยนะ จับประเด็นอะไรไม่ได้เลย” เต๊นบอก

“มันแต่งให้เพื่อนมันที่ติดยาจนหลุดไปเลย” แน็ตเล่า

“มีอีกเรื่องนึง ก่อนเราจะซ้อมกัน แน็ตต้องเมาก่อน” แปมเสริม “เพลงต้องออกจากความเมา”

“ไม่ใช่ มันแค่คอแห้ง” ปอนด์บอก

summerdress_05

ด้วยความแปลกใหม่ทั้งดนตรีและเนื้อหาในเพลงนี้เองทำให้หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าจะเรียกแนวเพลงในอัลบั้มใหม่ของพวกเขาว่าอะไรดี

“เคยนั่งคุยกับ ธีร์ จินตะ ว่าเดี๋ยวนี้เพลงมันต้องขายที่อะไร เราต้องบอกชื่อแนวหรือเปล่า แล้วอยู่ดี ๆ มันก็พูดว่าเพลงพี่แม่งซาวด์ Panda ว่ะ เราก็ เออ เว้ย เราอาจจะเป็นสไตล์ Post-Panda หรือเปล่า (หัวเราะ) คือคำว่า Panda sound มันลิงก์ง่ายมากเลยนะ” เต๊นเล่า

ขออธิบายเสริมตรงนี้จากประสบการณ์ที่ผ่านการฟังเพลงในค่ายเขามาบ้าง แต่อาจจะไม่ได้เข้าใจถูกต้องเสียทีเดียวนักว่า แม้ว่าแนวเพลงของหลาย ๆ วงใน Panda Records จะมีความเฉพาะตัวสูง แต่ทุกวงจะมีความคล้ายคลึงกันประมาณว่า มีความคราฟต์ในความดิบ มีรสนิยมในความไม่ดัดจริต มีความบ้าบิ่นในความถ่อมตน และเป็นกลุ่มนักดนตรีที่ไม่หวังให้ใครมาเข้าใจอะไรมากนักเพราะพวกเขาตั้งใจทำงานด้วยความรักในแนวเพลงที่พวกเขาชื่นชอบล้วน ๆ ผิดพลาดประการใดขออภัย ณ ที่นี้

“แล้วที่ทำเพลงภาษาอังกฤษเพราะคิดว่ามันน่าจะไปได้ไกลกว่า คือเพลงอัลบั้มสองมันคาบเกี่ยวหลายปีมาก 4 ปีได้ ช่วงนั้นวงที่แต่งเพลงภาษาอังกฤษแล้วประสบความสำเร็จมากคือ Part Time Musicians หรือ Basement Tape เราก็เลยรู้สึกว่าน่าจะทำบ้าง แต่พอเอาเข้าจริงก็อยากได้ภาษาไทยมากกว่า เพราะเราร้องภาษาอังกฤษไม่ค่อยดีด้วย ภาษาอังกฤษมันหรูไป (หัวเราะ)”

“มันก็มีช่วงที่วงเราพยายามทำหรู ๆ เท่ ๆ แต่สุดท้ายก็หลอกตัวเองไม่ได้” แน็ตบอก “ส่วนตัวผมผมว่าภาษาไทยมันเป็นภาษาวงเรามากกว่า เป็นภาษาไอ้เต๊นมันก็ดูเป็น Summer Dress แล้วถ้าให้คนไทยฟังก็ทำเพลงภาษาไทยคนฟังน่าจะรู้เรื่องกว่า ต่อให้ฝรั่งฟังไม่รู้เรื่องเขาก็พยายามจะทำความเข้าใจกับตัวเพลงเราอยู่ดี ก็เหมือนกับที่เราพยายามทำความเข้าใจกับเพลงญี่ปุ่น เกาหลี อะไรแบบนั้น”

จึงกลายมาเป็นเพลง ดีออก เพลงภาษาไทยเพลงแรกที่เราได้ยินจากอัลบั้ม

“แน็ตมันจะชอบร้องเมโลดี้อะไรมาไม่รู้ที่ดูเป็นภาษาอังกฤษหน่อย ๆ แต่เราได้ยินเป็น ‘ขอมีแฟนอย่างเขาที แค่ขอมีแฟนสักคน’ แล้วก็คิดว่าไอประโยคนี้มันลิงก์กับอะไรได้บ้างวะ เราก็นึกถึงผู้หญิง พริตตี้สวย ๆ ในเฟสบุ๊กที่โป้วชอบฟอลโลวอะครับ จะบ่นลงสเตตัสว่า เหงาจัง แล้วไลค์เป็นพันสองพัน เราก็เลยเอามาเขียนต่อ โดยพัฒนามาจากประโยคนี้” เต๊นเสริม

เราคาดว่าอัลบั้มเต็มน่าจะได้ฟังกันช่วง Cat Expo ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก่อนหน้านั้นหลายเพลงในอัลบั้มถูกนำไปเล่นสดบ้างแล้ว ด้วยความที่พวกเขาต้องการทดสอบว่าจุดไหนต้องมีการปรับปรุงหรือเพิ่มเติมก่อนที่จะเข้าห้องอัด ซึ่งในปีนี้เองก็ดูเหมือนว่าพวกเขาจะพร้อมกับมาลุยกับงานเล่นสดอีกครั้ง ทั้งงานกิฟต์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ช่วงมีนาคม รวมถึงการไปเล่นต่างประเทศครั้งแรกในเดือนมิถุนายน

“ก็คุยกับนิชิซัง แก๊งเดียวกับตอนที่ Hariguem Zaboy ไปเล่น แล้วก็ให้พี่จิน aire ช่วยประสานงานให้ พี่จินเขาก็น่ารัก” แปมเล่า

“พี่โค (โคอิชิ ชิมิสึ SO::ON Dry Flower) เคยพูดกับเราตั้งนานแล้วว่า วงพวกเอ็งควรไปเล่นญี่ปุ่นได้ตั้งนานแล้ว จริง ๆ เรามีโอกาสว่าจะได้ไปครั้งนึงแล้วที่ Summer Sonic แต่ตอนนั้นเราไม่มีตัง คือต้องออกกันเองหมด ก็เลยมี Yellow Fang ไป” แน็ตเสริม

summerdress_01

มีแฟนเพลงต่างประเทศไหม

แน็ต: ช่วงอัลบั้มแรก ยุค Nospace Gallery RCA มีคนไต้หวันมาดู (แปม: เขาโดนทัวร์ทิ้ง) ไม่ใช่ เขาทักมาใน Myspace บอกว่าตั้งใจมาดูพวกเราเลยนะ แล้วก็พยายามหาทางให้เราไปเล่นที่นู่น แต่เราไม่มีตังไป แล้วตอนนี้คอนแทคก็หายหมดแล้ว

ก่อนหน้านี้มาร่วมโปรเจกต์ Crossplay กับฟังใจ รู้สึกยังไงบ้าง

13198641_491540991035400_8413216100632495152_o

เต๊น: โห ดีมากเลยครับ รู้สึกว่ามีคนเห็นความสำคัญ

แปม: แบบ พี่กอล์ฟเขามาเลือกเพลงเราเลยหรอ ประหลาดใจ

แน็ต: ตอนนั้นไอ้ยักษ์ (โป้ว) บอกว่าอยากได้เพลงเศร้า ๆ แต่ปอนด์บอกว่าอยากได้ บ้านของหัวใจ

ปอนด์: มันเป็นเพลงที่ดังของเขาด้วยมั้ง ใครที่รู้จัก Superbaker ก็ต้องรู้จักเพลงนี้ อยากได้เพลงช้า

เต๊น: ตลกมากที่พี่กอล์ฟเขาเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะด้วย หลัง ๆ ก็เจอเขาอยู่บ่อย ๆ ตอนนั้นเขาไปฟังเพลงเราได้ยังไงก็ไม่รู้

แปม: เฮ้ย เพลงเราไม่ธรรมดา แพ้ทอม อะ คงต้องผ่านหูเขาบ้างแหละ (หัวเราะ)

13235616_494326527423513_4532774977014377755_o

เต๊น: ตอนแรกจะร้องเหมือนเขาเลย แต่ดนตรีเป็นแบบนี้แหละ แล้วอาจารย์ป๊อกก็มาโปรดิวซ์ให้ เรื่องโปรดักชันกับ arrange ท่อนร้องให้จนดีเลยอะ ตัดบางประโยคทิ้ง แต่จากที่ตาเห็นคือฟี้ดแบ็กในโซเชียลก็ไม่ได้พุ่งขนาดนั้น เราเลยไม่รู้ว่ามีคนฟังซ่อนอยู่ตรงไหน

แปม: คือมันเป็นเพลงที่รู้สึกว่าทำยากที่สุดเลย

มีช่วงที่ชวนเพื่อน ๆ มาร้องด้วย

เต๊น: ส่วนใหญ่ที่ชวนมาก็เป็นคนรู้จักที่ศิลปากรแหละ มีเล็ก Cookie & Cream ก็เป็นเพื่อสนิทกัน มี พัด Zweedz n’ Roll อัลบั้มใหม่ได้น้องออม TELEx TELEXs มาร้องเพลง ดีออก ด้วย

อยากร่วมงานกับใครอีก

เต๊น: พี่เจ มณฑล อยากร่วมงานกับคนดังระดับโลก

แน็ต: อยากเข้าห้องอัดพี่เขามาก สมุทรปราการซาวด์

เต๊น: อยากร่วมงานกับคนที่ไม่ใช่สายดนตรีบ้าง สายศิลปะ หรืองานออกแบบ ให้เขาตีความเพลง ทำ mv ให้เราเจ๋ง ๆ อยากให้พี่เต๋อ นวพล มาถ่ายให้

แปม: พี่ตั้ม วิสุทธิ

summerdress_profile-04

3rd Course — Dessert

พักพุงจากอาหารจานหนัก ๆ มาล้างปากกันด้วยขนมหวานเตรียมปิดท้ายมื้ออาหารกันดีกว่า

summerdress_profile-05

ที่มาของฉายาของสมาชิกในวง: ปีแอ

แปม: ช่วงแรกตอนเฟสบุ๊กใหม่ ๆ เราก็เปลี่ยนชื่อกันทั้งแก๊งเลย ชื่อปีแอ มันมาจากหนังเรื่อง ไข่ซ่าโลกาก๊าก มันเป็นหนังที่ฮามาก ๆ

แน็ต: ทุกคนในหมู่บ้านนั้นมันชื่อปีแอหมดเลย

โป้ว: (เลียนเสียง) ปิแอ๋ มาครับ ปิแอ๋ มาครับ ปิแอ๋ เอ้า ปิแอ๋อยู่ไหน ปิแอ๋รู้ไหมว่าปิแอ๋อยู่ไหน (หัวเราะ)

แปม: ช่วงนั้นเพื่อน ๆ ในเฟสบุ๊กก็เป็นปีแอนู่น ปีแอนี่ อย่างของเราก็เป็น ‘ปีแอ อาแปม’ คนอื่นเขาเปลี่ยนกลับเป็นชื่อเดิม เราไม่เปลี่ยนใช้ลากยาวมาเลย จนเฟสบุ๊กมันบังคับให้เปลี่ยนกลับเนี่ยแหละ ของคนอื่นก็มี แน็ต เป็น ‘ปีแอ หนอม’ โป้ว เป็น ‘ปีแอ ไข่แท้’ เลอะเทอะอะ สมัยนั้น

เต๊น: ผมไม่เล่นแบบพวกมันหรอกครับ (หัวเราะ) ‘ปีแอ เต๊น’ ครับ ของผม

summerdress_profile-02

อัจฉริยบุคคล

แปม: ชื่อนี้พี่ทัต Basement Tape เป็นคนตั้งให้ เพราะว่าช่วงนั้นไปทัวร์อีสาน มีวงเขาไปเล่นด้วย แล้วแน็ตก็เป็นนักดนตรีชั้นดี เป็นอะไหล่ชั้นยอด เล่นแทนได้ทุกคนเลย ไม่ว่าจะตีกลอง เล่นเบส เล่นกีตาร์ สุดท้ายพี่เขาก็บอกว่า โหย แน็ตนี่มันอัจฉริยบุคคลจริง ๆ เลย มันทำได้ทุกอย่าง นี่เป็นที่มา แล้วมันก็ไปสอดคล้องกับเวลาที่มันเมา จะมีโควทเด็ด ๆ ตลอด เราก็จะแซวกันว่า เฮ้ย อัจฉริยบุคคลโควทออกมาแล้วว่ะ เป็นโควทจริง ๆ ด้วย ไม่มีเมค

แน็ต: บางอันอะเมค

แปม: ไม่มี มึงเมา เวลาเมามึงชอบยังเงี้ย แต่เดี๋ยวนี้มันคลีนละ หลัง ๆ มันเริ่มน้อยใจแบบ กูไม่ชอบเว่ยที่พวกมึงเอาโควทไปลงในเพจ >>> จิ้มตรงนี้

แน็ต: มันเป็นประโยคเล่าสนุก ๆ กันในวงเหล้า

แปม: ไม่ใช่ มึงบอกอีกอย่างเลย ว่า ‘ความหมายของมันอะ กูจะสื่อแค่ตรงนี้ อย่าเอาความหมายตรงนี้ไปสื่อตรงนั้น มันไม่ใช่ มันไม่ได้!’ (หัวเราะ)

เต๊น: แอดมินเพจมีหลายคนครับ แต่คนที่ก่อตั้งคือเจ๊นพ เขามีวง Govinda Bhasya กับวง ญาณ

summerdress_profile-01

ผบ.

เต๊น: มาจากเมื่อก่อน ไอ้แอ๊ค Handicat, Kinetics มันตั้งเพจ ‘หนุ่มจืด‘ กับพี Gorn Clw แล้วลากเราไปเป็นแอดมิน เป็น ผบ. เพราะตอนนั้นเป็นหนุ่มจืด แบบ จืดสนิท เลยได้ตำแหน่งเป็น ผบ.

แปม: เป็นหัวหน้าแก๊งเด็ก ๆ มัน

summerdress_profile-03

ยักษ์

โป้ว: โหย น่าจะรู้อยู่แล้วนะ ตัวใหญ่ไง

แน็ต: เรียกมันตั้งแต่เข้ามาแล้วอะ (โดนแย่งข้าว) เอ่าแล้วเนี่ย เขียนไปเลยว่ามันชอบแย่งข้าวเพื่อนกิน แย่งไอหนุ่ย (นพพล เช็ง) ประจำตัวมันถึงได้ผอม นี่เลยเป็นยักษ์ไง เนี่ย ๆ เห็นไหม เหลือแต่ข้าวไม่เหลือหมูให้กูเลย

เต๊น: บางคนยังเรียกว่ายักษ์อยู่เลยทุกวันนี้

แต่ละคนทำงานประจำและมีไซด์โปรเจกต์ด้วย

แปม: เล่นดนตรีกลางคืนกับโป้ว กลางวันขายเสื้อผ้ากับแฟน ร้าน Fashion Hill แล้วก็ทำโปรเจกต์วง Temp. กับ นิก จิน อุน Part Time Musicians, น็อต Kinetics แดน JindaJohn อยู่ใน Malama ครับ

ปอนด์: ทำธุรกิจกับที่บ้าน สเปรย์กันยุงสำหรับเด็ก Bunnie Bedah

โป้ว: ทำฝ่ายสื่อสารองค์กรที่ ปตท. กับเล่นดนตรีกับแปมครับ

แน็ต: ทำฟรีแลนซ์ ส่วนใหญ่ทำเพลงการ์ตูนเด็กหรือรายการเด็ก แล้วก็รับมิกซ์-อัดเสียงที่บ้าน แล้วก็ทำ Triggs & the Longest Day กับ Flower Dog ครับ เพลงเสร็จแล้ว รอภาพประกอบเพลง

เต๊น: เป็นอาจารย์พิเศษที่ศิลปากรครับ แล้วก็ทำฟรีแลนซ์โปรดักชัน เพลงประกอบหนัง โฆษณา กับโปรเจกต์เดี่ยวชื่อ rhodesmaninov แต่เปลี่ยนมา Tent เฉย ๆ แล้ว เป็นงานทดลองเรื่อยเปื่อยอัลบั้ม Expo แล้วก็มีงานธีสิสป.โท เป็นงานคอนเซปชวลเกี่ยวกับ Chanel No.5

ศิลปินหรือวงไทยวงไหนที่น่าสนใจในตอนนี้

แปม: วง Temp. ไง

เต๊น: Summer Dress ครับ ไม่มีวงอะไรน่าสนใจไปกว่านี้แล้ว แล้วก็ The ███████

โป้ว: ชอบ TELEx TELEXs เพลงเขาเท่

แน็ต: ชอบ Philosopher Brothers แล้วก็ Hariguem Zaboy อัลบั้มใหม่นี่ผมรอเลย

แปม: อัลบั้มนี้เห็นว่าคนมิกซ์กับมาสเตอร์เป็นฝรั่งด้วย (เต๊น: อันนี้สุดจริง ต้องเป็นพรีเมี่ยมของฟังใจเลย) แต่มันเจ๋งจริง

จริงหรือเปล่าที่ช่วงนี้มีศิลปินเยอะมาก ใคร ๆ ก็ทำเพลงได้ แต่ไม่มีใครเป็นโดดเด่นเลย

แปม: อันนี้เคยคุยกับพี่ปุ๊ก The Sticky Rice ว่าช่วงนี้เป็นช่วงเทขยะ คือทุกอย่างมันจะขุดออกมาหมดเลย รอเวลาอีกสักพักแล้วมันจะกรองขยะเสีย ๆ ออกไปให้หมดแล้วเหลือแต่ตัวจริงที่มันอยู่ได้ แค่ต้องใช้เวลาอีกแปปนึง ดูว่าคนที่เล่นดนตรีมันจะอดทนกันแค่ไหน มันมีความตั้งใจซักแค่ไหน

summerdress_04

คิดว่า Summer Dress จะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน

แน็ต: ก็ทำไปเรื่อย ๆ

โป้ว: จนแน็ตตาย

เต๊น: พรุ่งนี้ละ

แปม: คงทำไปเรื่อย ๆ ครับ เราทำเพราะเป็นเพื่อนกัน และทำเพราะมันเป็นสิ่งที่เราอยากเล่น

พอใจในจุดนี้ของ Summer Dress หรือยัง

เต๊น: ยัง อยากทำเพลงได้ดีกว่านี้ แล้วก็อะไรหลาย ๆ อย่างที่อยากฝึกด้วย เรื่องการจัดการ การประสานงานกับคนอื่นที่ทำงานให้เรา เหมือนเรายังไม่เคยฝึกด้านนี้ เรื่องผู้จัดการวงเราก็ต้องทำกันเอง แล้วมันก็หนักอึ้งเลย ก็อยากให้ดีกว่านี้เหมือนกัน

แน็ต: แต่ก่อนก็มีแพ็ตแหละ แต่เขาเป็นของทั้ง Panda เลย

เต๊น: เออ ด้วยปัจจัยที่เงินที่เราได้มาในแต่ละครั้งมันจุนเจือคนอื่นไม่พอ ไอ้คิดอะเราคิดตั้งนานแล้วแหละว่าอยากมีนู่นมีนี่ แต่มันทำไม่ได้ ไม่มีตังให้เขา เพราะเพลงเรามันก็ไม่เหมือนคนอื่น อย่างวงอื่นเขาออกมาเพลงนึงแม่งดังระเบิดเถิดเทิง ใคร ๆ ก็อยากจะเข้าหาเขา อย่างของเรามันลูกเมียน้อย ต้องหาคนที่มีสปิริตอยากจะช่วย

แปม: ด้วยตัวเพลงของเรามันไม่ป๊อบ คนฟังเพลงก็ไม่ได้จะเปิดกว้างเท่าที่ควร เลยทำให้รายได้ที่จะเข้ามาทางเรามันไม่พอที่จะจัดการเรื่องพวกนี้ เราก็เลยทำได้เท่าที่เราทำตามสภาพไป ฝากประกาศหาผู้จัดการวงละกันครับ หนึ่งตำแหน่ง

ชอบอะไรในวงการตอนนี้

เต๊น: ชอบฟังใจ (หัวเราะ)

แปม: ผมชอบสังคมคนดนตรี นักดนตรี สมมติเราไปงานนี้ แล้วไปเจอแก๊งนี้ ก็คุยกันง่ายดี หรือพวกวงน้อง ๆ เพื่อน ๆ ก็เคมีตรงกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกัน อย่างฟังใจก็ช่วยกันมาดีตลอดหลาย ๆ วง

แน็ต: ชอบคนจัดคอนเสิร์ต พวก Have You Heard? ที่เอาวงต่างประเทศเอามา ทำให้มีโอกาสได้ดูด้วย ได้เล่นเปิดด้วย ตอนนั้นเล่นงาน Beach Fossils นานมากแล้ว จนถึงตอนนี้งานนั้นแทบจะเป็นงานที่เราได้เงินเยอะสุดแล้วมั้ง (หัวเราะ) เอ้ย จริง ๆ งานเห็ดสดได้เยอะสุด แล้วงานนี้ก็รองลงมา

มาถ่ายปกกับ Fungjaizine ครั้งนี้รู้สึกยังไงบ้าง

แปม: นี่ได้ขึ้นปกครั้งแรกเลย

โป้ว: แต่เราเคยลง Cheeze LOOKER ด้วยนะ ภูมิใจมาก

แน็ต: นั่นไปเล่นให้ TOPSHOP ไม่ได้ขึ้นปก ตอนนั้นตัวมึงยังอ้วนอยู่เลย แล้วใส่เอี๊ยม TOPMAN

เต๊น: เป็นบทสัมภาษณ์แรกด้วยที่เจาะลึก เออ จริง ๆ ก็เคยมีคนญี่ปุ่นมาถ่าย สัมภาษณ์ในห้องซ้อมดิบดี ไปดูเราที่คอนเสิร์ต แล้วก็หาย (หัวเราะ)

แน็ต: เหมือนเขาทำทัวร์รอบโลก เห็นในเฟสบุ๊กก็ยังแอคทีฟอยู่นะ แต่ไม่รู้ว่าที่สัมภาษณ์เราไปแล้วมันไปโผล่ที่ไหน (หัวเราะ)

อยากฝากอะไรกับคนที่กำลังอ่านอยู่ตอนนี้

โป้ว: ก็ติดตามอัลบั้มใหม่ของเราด้วยนะครับ ไปจับจองกันได้ที่ Cat Expo แล้วก็อยากให้ฝากติดตามในเพจด้วย อาจจะมี mv มาปล่อย แต่ยังไม่ได้คิดว่าจะปล่อยยังไงให้คนตื่นเต้น ก็คิดว่าจะปล่อยมันทีละวิ ๆ เป็นซีรีส์ที่ช่อง ONE เขาทำกัน (หัวเราะ) อยากให้คนฟังตื่นเต้นกับเราไปด้วยว่าเรากำลังจะพีคแล้ว

มาถึงตรงนี้ทุกคนคงอิ่มอร่อยกับทุกจานที่พวกเขาคัดสรรมา แถมยังปรุงรสชาติเข้มข้นด้วยวัตถุดิบชั้นยอดที่ไม่อยากปล่อยให้หายไปเลยจริง ๆ ใครยังไม่เคยลิ้มลองเพลงของพวกเขา เข้าไปฟังกันได้ ที่นี่ และติดตามกันต่อว่าเมนูต่อไปที่พวกเขาจะเสิร์ฟจะมีรสชาติถูกปากพวกเราหรือไม่ได้ ที่นี่

summerdress_others_02

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้