Solitude is Bliss : Spiritual Journey
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Nattanich Chanaritichai
- Stylish: Varachaya Chetchotiros
- Art Director: Tunlaya Dunnvatanachit
ประมาณสามปีก่อน ระหว่างที่กำลังเลื่อน news feed อยู่เพลิน ๆ ก็เห็นว่าใครสักคนได้แชร์เพลงเพลงพร้อมแคปชวนให้เราลองฟัง นิ้วมือของเรากดปุ่มเพลย์ตามคำเชื้อเชิญนั้น
ภาพที่ทำให้ฉันไม่รับไม่รู้ถึงวันเวลา ภาพที่ทำให้ฉันอ่อนวัยและลืมแม้กลิ่นสุรา
เนื้อเพลงก้องกังวานในตอนต้นชวนให้คิดตามถึงความหมายของ Vintage Pic เพลงแรกสุดที่ทำให้เราได้รู้จักและติดตามวงดนตรีจากเชียงใหม่อย่าง Solitude is Bliss ชนิดที่ว่าเมื่อใดก็ตามหากพวกเขามาเล่นที่กรุงเทพ ฯ เราจะพยายามไปดูให้ได้ในทุกครั้ง และคาดหวังว่าวันนึงจะได้ชวนพวกเขามาขึ้นปก Fungjaizine ซึ่งพอเอาเข้าจริงแล้วกว่าจะจัดแจงคิวทีมงานให้ตรงกับช่วงที่พวกเขามาเล่นได้ก็แสนยาก แต่ในที่สุดวันที่เรารอคอยก็มาถึง ย่อหน้าต่อไปนี้เราจะได้สนทนากับพวกเขากันอย่างจุใจแล้ว
การคุยตรง ๆ ถ้ามีอะไรติดค้างก็ให้พูดเลยตรงนั้น อย่าเก็บไว้ เพราะเก็บไว้มาก ๆ มันก็มีคนระเบิด
สมาชิก
เฟนเดอร์—ธนพล จูมคำมูล (ร้องนำ, กีตาร์)
เบียร์—เศษรฐกิจ สิทธิ (กีตาร์)
โด่ง—จอมยุทธ์ วงษ์โต (เบส)
ปอนด์—ทรงพล แก้ววงศ์วาร (คีย์บอร์ด)
แฟรงค์—ศรัณย์ ดลพิพัฒน์พงศ์ (กลอง)
Chapter I
การออกเดินทางครั้งแรกในนาม Solitude is Bliss
เบียร์: ย้อนไปประมาณ 4 ปีที่แล้ว ผมเป็นคนไปชวนเฟนเดอร์มาทำเพลงเพราะผมมีเพลงแต่ง เฟนเดอร์ก็มีเพลงแต่ง ผมส่งเพลง 4:00 AM ไปให้เขาฟังแล้วเขาบอกโอเค ก็มาทำกัน แต่ตอนนั้นยังไม่คิดจะทำเป็นวงครับ
เฟนเดอร์: เพลงนั้นเป็นเพลงแรกที่เริ่มทำกัน 4 วันเสร็จเลยก็มีมิกซ์แก้นิดหน่อย ไม่ได้อัดเพิ่ม กลายมาเป็นเวอร์ชันปัจจุบัน ตอนนั้นมีกันแค่สี่คนยังไม่มีมือกลอง ก็ใช้คีย์บอร์ดจิ้มเป็นแซมพ์เอา แล้วพอเพลงเราออกมา โปรเจกต์ของ No Signal Input ที่กำลังรับรุ่นใหม่อยู่ก็ดันหมดเขตรับเดโมไปแล้วสองวัน พี่เบียร์ก็บอกว่าเอาไปให้เขาฟังก่อน ได้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร มีเพลง 4:00 AM แล้วก็มี View Will ของผมที่ทำในชื่อ View From the Bus Tour แต่คนที่ฟังตอนนั้นคือพี่เมธ (สุเมธ ยอดแก้ว) Minimal Records เขาก็ชอบเพลง 4:00 AM ที่ดูมีความเป็นวงกว่า แต่พี่เมธบอกว่าเดี๋ยวเอาให้คนใน No Signal Input ฟังก่อน พอมาเจอกันอีกทีแกก็บอกว่า จะรับเข้ากลุ่มก็ได้ แต่ก็อาจจะมีข้อกังขานิดหน่อยที่มาทีหลังแล้วยังรับ อะไรแบบนั้น แต่ถ้าลำบากใจยังไงก็กูมีค่ายอยู่นะ (หัวเราะ) เราก็เลยถามว่าค่ายกับ No Signal Input ต่างกันยังไงเพราะเราก็ไม่รู้ว่าวงการเชียงใหม่ตอนนั้นมีอะไรบ้าง เขาเองก็ไม่รู้จักเรา พี่เมธก็อธิบายว่า No Signal Input เป็นกลุ่มที่รวมกันแต่ละรุ่นแล้วทำ compilation ออกมา หาร้านเล่นเดือนละครั้ง จัดการทุกอย่างกันเอง ส่วน Minimal Records เป็นระบบค่ายเล็ก ๆ ที่ช่วยออกทุนทำอัลบั้ม ทัวร์ พอรู้แล้วก็ลองมาคุยกันในวง… ก็ต้องอยู่ค่ายสิวะ (หัวเราะ) ตอนนั้นไฟแรงมาก อยากทำเพลงจริงจังแล้ว
แฟรงค์: แต่ตอนนั้นเราเป็นมือกีตาร์วง Diary Day อยู่ใน No Signal Input 4 ด้วย แต่พอทำโปรเจกต์นี้เสร็จแล้วทุกคนก็แยกย้าย เพราะต่างคนต่างก็มีภาระหน้าที่ของตัวเอง
เฟนเดอร์: คือพี่แฟรงค์เล่นดนตรีกับพวกพี่เบียร์อยู่แล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ตัดสินใจมาทำด้วยจริงจัง เพราะว่ามีทั้ง No Signal Input มีทั้งงานประจำ เลยต้องมาวางแผนกันใหม่ พี่โด่งเลยไปชวนพี่ชายมาเล่นเบส แล้วพี่โด่งก็ไปตีกลองแทน ก็คิดว่าเซ็ตวงจะประมาณนี้แหละ แต่ตอนหลังพี่แฟรงค์มาคอนเฟิร์มว่า เฮ้ย กูมีเวลาให้แล้วนะ เอ้า!
ตอนนั้นแต่ละคนยังมีประสบการณ์การทำงานเป็นทีมต่ำ ยังจัดการอารมณ์ความรู้สึกในการทำงานเป็นทีมไม่เป็น รู้สึกว่าการคุยตรง ๆ จะเหมือนมาคุกันตลอดเวลา พี่โด่งตอนนั้นก็ยังประดักประเดิดประมาณว่า กูอุตส่าห์ชวนพี่ชายกูมา จะให้กูบอกกับพี่ยังไงว่ามึงไม่เอาแล้ว กูขอออกเองละกัน เอ้า! ชิบหาย ก็นั่งเคลียร์กันนาน หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการทำงาน ก็คือการคุยตรง ๆ ถ้ามีอะไรติดค้างก็ให้พูดเลยตรงนั้น อย่าเก็บไว้ เพราะเก็บไว้มาก ๆ มันก็มีคนระเบิด หลาย ๆ ครั้งมีเหตุการณ์ที่เป็นบทเรียน มีมาเถียง ทะเลาะกัน พอเหมือนจะผ่านตรงนั้นมาได้ก็ไม่ได้จะจบเลย เราก็เลยมาตกลงกันว่าถ้ามันมี conflict แบบนี้มาอีกจะจัดการยังไง แต่ในการทำงานมันก็ต้องมีปัญหาตลอดแหละ
ระบบค่ายทำให้วงต้องปรับตัวยังไงบ้าง
เฟนเดอร์: ระบบค่ายของ Minimal Records เรียบง่ายมากครับ ผมไม่รู้สึกว่าเป็นค่ายด้วยเพราะมันสเกลเล็ก พนักงานประจำมีแค่หนึ่งคน ก็คือพี่เมธ เจ้าของค่าย แล้วสัญญาที่มีก็เป็นสัญญาใจ
เบียร์: ใช่ สัญญาเป็นเบียร์สองลัง ไปบอกใครเขาก็ไม่เชื่อ แต่แค่นี้จริง ๆ ครับ
เฟนเดอร์: เอาแค่ process ทำเพลง ทำแผ่นออกมา ทุนการเดินทางช่วงแรก ๆ เวลาไปทัวร์ ค่ายก็จะออกให้ แล้วก็ส่วนแบ่งเป็น 80/20 ถ้าหักทุนออกไปแล้ว รายได้ 20% เป็นของค่าย 80% เป็นของศิลปิน แต่ตอนหลังนี่กลายเป็นหาร 6 ไปเลย คือค่ายก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของเรา เพราะถ้าเปรียบค่ายเป็นพี่เมธ เขาก็ทำงานในพาร์ทที่สมาชิกวงทำไม่ได้ คือการติดต่อจัดการ วางแผน นัดประชุม ถ้าให้สมาชิกวงทำกันเองก็ได้แหละแต่มันหนักเกิน เขาก็ช่วยแบ่งเบา
กระบวนการคิดเพลงและแบ่งงานของ Solitude Is Bliss
เฟนเดอร์: พี่เบียร์ก็จะแต่งเพลงของพี่เบียร์ ผมก็จะแต่งของผม แล้วเอามาแชร์กันว่าเพลงนี้จะทำจริงได้ไหม หรือว่าเอามาลองทำก่อนแล้วตัดสินใจอีกทีว่าจะคิดพาร์ทเพลงต่อไหม หรือว่ามันคงไม่ได้ว่ะ อย่างเราเคยมีเพลงชื่อ ขยะ แล้วมันก็ขยะสมชื่อ
เบียร์: คือมันมีเพลงที่เราทำกันมาแล้วทิ้งไปเยอะ feedback ไม่ค่อยดี แต่ก็อยากเอามาทำเป็น bonus track เหมือนกัน
เฟนเดอร์: มันไม่ได้ตั้งใจจะทิ้งในตอนแรกนะ แต่พอลองเล่นสดแล้วก็คิดว่างานต่อไปจะไม่เอาไปเล่นอีกเลย เหมือนเป็นการคัดกรองเพลงไปโดยอัตโนมัติ จากนั้นพอได้เพลงแล้วก็นัดประชุมกันทั้งหมด มาช่วยกันคิดพาร์ตดนตรี มา arrange เดโมดิบ แล้วก็คิดโครงกลอง โครงคอร์ด วางท่อน ตกลงกันว่าตอนต้นเริ่มอย่างนี้ จบลงอย่างนี้ พอได้ก็แจกจ่ายกันไปฟัง แล้วมาช่วยกันคิด ๆๆๆ จนกว่าจะพอใจ
แฟรงค์: เหมือนส่วนใหญ่ process การทำเพลงของ Solitude is Bliss จะไม่ได้อยู่ในห้องซ้อมก่อน แต่เหมือนคิดของใครของมันแล้วมาลงหน้าคอม
เฟนเดอร์: ความจริงไม่ใช่ว่าหน้าคอมหรอก มันก็คือมานั่งระดมสมอง แต่คอมคืออุปกรณ์ที่เอามา input เก็บไว้ก่อน เสร็จแล้วก็เอา source ที่เรา input ไปมาลองในห้องซ้อมอีกทีว่ามันเล่นได้จริงไหม มันเวิร์กไหม หรือว่ามันเล่นได้แต่มันยาก แต่มันหัดให้ชินได้ไหมจากที่หัวคิดออกมา source หลัก ๆ เราจะเริ่มจากจินตนาการในหัวก่อน แทนที่จะเป็นเล่นแบบ improvise คิดอะไรได้ก็อัดเข้าไป มี ambient ด้วย ผมก็จะรับหน้าที่ร้องไปเลย อย่างเพลงที่พี่เบียร์คิด บางทีอาจจะมีคีย์สูงไปบ้างเพราะพี่เบียร์ไม่ใช่คนร้องหลัก ผมก็จะบอกว่าขอลดคีย์ลงมาหน่อยนึงน้า ตะโกนไม่ถึง ตอนแรกนี่จะให้เป็นพี่โต Silly Fools ละ (หัวเราะ) แล้วก็จะทอนเมโลดี้นิดหน่อย เกลานิด ๆ ตามประสาคนร้องเพลงอยู่เป็นประจำ
อุปสรรคในการทำงานนอกจากความคิดเห็นในวงที่ไม่ตรงกันบางเวลา
เฟนเดอร์: อุปกรณ์เราน้อย คือตอนเริ่มวงเราไม่มีเอฟเฟกต์เลย กีตาร์ไฟฟ้าก็มีแต่ยี่ห้อบ้าน ๆ ตัวดี ๆ ต้องไปยืมเขามาอัด พอเริ่มทำงานประจำแต่ละคนก็ค่อย ๆ เก็บเครื่องมือของตัวเองเพิ่มทีละนิดทีละหน่อย แต่ปัญหาคือฮาร์ดแวร์ตอนอัดเพราะพวกเราอัดกันเอง แล้วก็สถานที่ก็คืออพาร์ตเมนต์ของพี่โด่ง ทำเป็น bedroom studio มาตลอด ตอน EP มีทั้งอัดจริง ทั้ง midi อย่างเพลง Don’t Expect Me เป็นกลองจริงอยู่เพลงเดียวเลย แต่ในอัลบั้มเต็มเป็นกลองจริงหมด เราก็จำเป็นต้องไปอัดที่สตูเพราะว่าไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีฮาร์ดแวร์ ไม่มี compresser เราก็เลยไปเช่าชั่วโมง ตอน micking เราก็ทำเอง พี่โด่งก็รับหน้าที่ sound engineer เอง วงจัดการรับหน้าที่ input อะไรเองหมดเลย แล้วให้ sound engineer ประจำสตูดิโอมาช่วยนั่งคุมเครื่องเฉย ๆ
แฟรงค์: พูดง่าย ๆ ว่าอัลบั้ม Her Social Anxiety มีต้นทุนแค่สองอย่างที่จ่ายตัง คืออัดกลอง กับจ้างโด่งมิกซ์ แค่นั้นจริง ๆ ไม่นับโปรดักชันแผ่นนะ แล้วก็เวลาการนัดกันเนี่ยแหละที่เป็นปัญหา
เฟนเดอร์: ผมว่าเรื่องเวลาเป็นปัญหาร่วมในวงการดนตรีตอนนี้เลยนะ วงเราจะมีงานหลักกันอยู่ อย่างพี่เบียร์เป็นครู พี่แฟรงค์เป็นคอลัมนิสต์ เรากับพี่ปอนด์เป็นนักดนตรี พี่โด่งก็เป็นนักดนตรีแต่ทำเรื่องซาวด์ด้วย แต่ทุกคนในวงมีงานเล่นดนตรีเหมือนกันหมด ก็เลยจะแบ่งความรู้สึกเป็นฝั่งไปเลยคือ เล่นคัฟเวอร์เพื่อหารายได้กับเล่นดนตรีเพื่อ passion หรือเป็นงานอดิเรกแต่จริงจังที่เราใส่คุณภาพลงไป ถึงได้บอกว่ามีปัญหาเรื่องนัดที่ยากนิดนึง เพราะก่อนหน้านี้เราทำงานประจำกันเจ็ดวันต่ออาทิตย์เลย หรือบางทีเราต้องไปเล่นอีเวนต์ต่างจังหวัดบ่อย แล้วก็ชอบสะเพร่า ลางานที่เล่นประจำช้ากัน โดนร้านด่า งานอีเวนต์ส่วนมากจะเป็นศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เราก็เลยคุยกันว่างั้นเราทำเสาร์อาทิตย์ให้เป็นวันไว้รับงาน ถึงไม่มีงานก็นัดกันเอาไว้ทำเพลง ถ้าไม่มีทำเพลงก็เอาไว้เป็นวันหยุดละกัน (หัวเราะ) เมื่อก่อนจะรับทุกงาน งานเล็ก งานใหญ่ ไฟแรงมาก แล้วเราก็ได้ฐานแฟนเพลงที่เขาได้สัมผัสเราโดยตรงจากการเล่นสด จากแผ่นก็มีแหละ แต่เรารู้สึกว่าเล่นสดแล้วมันมันกว่าเยอะ ดีกว่าต้องมานั่งลุ้นให้เขาไปเปิดแผ่นฟังแล้วจะชอบไหม ต้องมานั่งเครียดกับคนที่เอาไปอัพโหลดฟรี เราก็สู้เอาตัวเองไปชนกับคนดูเลยดีกว่า ความคิด ณ เวลานั้นเป็นอย่างนั้น พอตอนหลังมาสิ่งที่ทำก็คืนกำไรให้พอสมควร กำไรที่ว่านี้คือเราไม่ต้องเสียค่าเดินทางเองแล้ว (หัวเราะ) แค่นั้นแหละก็พอใจแล้วที่ไปเล่นแล้วไม่เข้าเนื้อ เมื่อก่อนมีตั้งแต่งานฟรี งานแรกสุดได้สองพัน แบบเดินทางข้ามจังหวัดด้วยนะ ไล่มาห้าพัน เป็นปีสองปีกว่าจะได้
เบียร์: จริง ๆ ปัญหาของอัลบั้ม LP นี้ คือเรารีบทำกันครับ เราไม่ได้วางแผนอะไรไว้เลย คืออัดให้มันเสร็จตรงนั้นให้ทันเส้นตาย อย่างเพลง ย้ายรัง เป็นเพลงที่รีบทำที่สุดแล้ว ทีแรกกะจะส่งไปมาสเตอร์ที่กรุงเทพ ฯ ด้วย แต่มันไม่ทัน Cat Expo
เฟนเดอร์: แต่เสือกง่าย แล้วดีสุด สมบูรณ์สุด (หัวเราะ)
แฟรงค์: อย่างเพลง Wanderer Land เฟนเดอร์คิดเนื้อท่อนฮุคตอนกำลังขี่มอเตอร์ไซค์จะไปอัด แบบ มันไม่ทันแล้วอะ ท่อนฮุคจะใส่อะไรดีวะ (หัวเราะ)
เฟนเดอร์: คือเราดีใจที่มีอัลบั้ม ได้ทำงานออกมา แต่ถ้าพูดถึงมาตรฐานที่มันอยู่ในใจเราอะ เราว่ามันยังไม่ถึงที่เราต้องการ แล้วเราจะรู้สึกแย่ แบบ เชี่ยเอ๊ย อยากให้มันมีเวลามากกว่านี้ การทำอัลบั้มนั้นออกมาก็เป็นบทเรียนสำคัญในการวางตารางการทำงาน ด้วยความที่วงค่อนข้างจะไม่ได้ตรงเป๊ะกับตารางขนาดนั้น การฟันวันไปเลยจะทำให้คุณภาพงานต่ำลงเพราะเราจะรู้สึกลน เลยเปลี่ยนเป็นวางขั้นตอนแทน สมมติว่าการทำเพลงหนึ่งเพลงจะผ่านสี่ขั้นตอน เดโม 1 เดโม 2 เดโมอัดจริง แล้วก็มาสเตอร์ ถ้าผ่านสี่ขั้นตอนนี้จะถือว่าเพลงนั้นผ่าน อีกอย่างที่ไม่ส่งไปมาสเตอร์กรุงเทพ ฯ เพราะเราก็ไม่รู้มาตรฐานทางนู้นด้วยว่าจะออกมายังไง กลัวจ่ายตังให้กรุงเทพ ฯ มาสเตอร์แล้วเราไม่ถูกใจ อาจจะจำเป็นต้องใช้อันที่ไม่ชอบใจนั่นแหละเพราะไม่มีตังจะจ่ายเพิ่ม บวกกับตอนนี้เราก็กำลังจะมีสตูดิโอที่มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาทำด้วย สามารถมาอัดตอนตีสอง หรือคิดไลน์ออกก็เข้าไปตีกลองแม่งเลยตอนนั้น
เรารู้สึกว่าเล่นสดแล้วมันมันกว่าเยอะ ดีกว่าต้องมานั่งลุ้นให้เขาไปเปิดแผ่นฟังแล้วจะชอบไหม ต้องมานั่งเครียดกับคนที่เอาไปอัพโหลดฟรี เราก็สู้เอาตัวเองไปชนกับคนดูเลยดีกว่า
นิยามความเป็นเพลงของ Solitude is Bliss
เฟนเดอร์: คือตอนแรกวงเราฟังดนตรีกันคนละแบบเลย แต่ก็พื้นฐานเป็นร็อกนั่นแหละ เราจะเป็นคลาสสิกร็อก ยุค 60s กับ บริตป็อป โฟล์ก อะไรก็ว่าไป พี่เบียร์ก็จะเป็น Radiohead, Pink Floyd ก่อนหน้านี้ก็เล่นฟังก์ บลูส์ พี่โด่งก็ชอบฮาร์ดร็อก แต่ก็เล่น ฟังก์ บลูส์ มาเหมือนกัน พี่แฟรงค์จะชอบแมธร็อก ญี่ปุ่น กลองส่วนเยอะ ๆ กีตาร์ชัด ๆ ส่วนพี่ปอนด์ชอบพวก Sigur Ros ซึ่ง Solitude is Bliss มันก่อร่างสร้างตัวมาจากการที่แต่ละคนเปิดใจเวลาเอาอะไรมาให้ฟังก็จะพากันบ้าไปฟัง ซึมซับไปด้วยกัน ไอ้ source ที่อยู่ในแต่ละคน ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ที่เจอมา ก็จะเข้าใจเซนส์ หรือประสบการณ์ที่แต่ละคนมี
เบียร์: มันเกิดจากการฟังซะส่วนใหญ่ แล้วเราก็ได้ไอเดียตรงนั้นมาทำเพลง
แฟรงค์: อีกอย่างคือเราไม่อยากจำกัดตัวเองที่แนวใดแนวหนึ่ง เราถึงให้ตัวเองเป็นอัลเทอร์เนทิฟไว้ก่อน เราอยากจะสร้างทางเลือกให้วงเราเยอะ ๆ
เฟนเดอร์: เราเคยดู ‘หมานคร’ แล้วนั่งถกกับเพื่อนว่า สารของหมานครที่พยายามนำเสนอคืออะไร เราก็เข้าใจว่าประเทศเรามันเป็นประเทศทางผ่านของวัฒนธรรม ทั้งตะวันตก ตะวันออก ปนกันไปหมดเลย เลยรู้สึกว่าเราไม่มีความเป็นแก่นที่แท้จริงหรอกมั้ง หมายถึง เราไม่ใช่ญี่ปุ่นที่ชัดขนาดนั้น ความเป็นไทยของเราคือการผสมวัฒนธรรมอื่นที่มันไหลผ่านจากรุ่นพ่อรุ่นแม่มาถึงเรา พอเริ่มทำงานเป็นทีมก็เอาวัฒนธรรมของแต่ละคนมาผสม กลายมาเป็นงานที่มีกลิ่นแบบนั้นอยู่ แล้วในอนาคตงานของเราก็จะไหลไปตามสายธารวัฒนธรรมเหมือนกัน
ถ้าพูดถึงงานที่ผ่านมา เพลงของเราจะพูดเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองซะเยอะ หรือเล่าถึงตัวตน ทุกปรากฏการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในหัว หรือความรู้สึกของคนคนนึง พยายามขยายคำถาม ขยายความรู้สึกที่อยู่ในเนื้อเพลง ที่ไม่ว่าจะมีคำตอบ หรือไม่มีคำตอบ เป็นรูปธรรม หรือเป็นนามธรรมออกมาให้ชัดเจนที่สุด ณ เวลานั้น ซึ่งความรู้สึกพวกนั้นมันจริง ถ้าสังเกตเนื้อเพลงจะมีความย้อนแย้งกันในความหมายอยู่ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นจริงในความรู้สึกของทุกคนที่ขัดกันอย่างสุดโต่งอย่างนั้นจริง ๆ แต่เราก็ไม่ได้เป็นคนแบบที่เขียนในเพลงเพราะสังคมมันตีกรอบให้เราได้แค่รู้สึกแต่ทำจริง ๆ ไม่ได้ อย่างในเพลง สตรี เหมือนจะบอกว่าความรักเป็นเรื่องเหี้ย แต่อีกท่อนก็ดันบอกว่าความรักมีจริง ถ้าพูดกันแบบวิชาการมันก็มีคำอธิบายในทางอื่นได้แหละ ถ้าสมมติความรักไม่มีอยู่จริงในความหมายไหน ในนิยามไหน แต่เรารวบกันมาอยู่ในหนึ่งความรู้สึก หนึ่งเนื้อเพลง เราก็เลยใส่ความรู้สึกตรงนั้นลงไปเลย
เบียร์: ของผมจะเน้นเรื่องความรู้สึกมากกว่า เพลง สตรี มันมาจากที่ผมเล่นดนตรีร้านเหล้า แล้วเจอเพื่อนมานั่งบอกว่ามีผู้ชายกี่คน ๆๆๆ ก็เอามาเขียน แต่เราไม่เขียนเจาะจงว่าเขาคือใคร หรือ Vintage Pic ผมเขียนวันที่ผมทำข้อสอบไม่ได้ แล้วเขียนเพลงนั้นจบในวันนั้นเลย จริง ๆ เวลาเขียนเพลงผมจะสร้างดนตรีขึ้นมาก่อน ไม่ได้ตั้งทิศทางไว้เลยว่าจะให้เป็นเพลงที่มีเรื่องแบบไหน แล้วทีนี้พอมีเรื่องมากระทบจิตใจปุ๊บก็ เออ เอาเรื่องนี้ดีกว่า แต่บางเพลงก็เริ่มมาจากเนื้อเพลง ซึ่งทำนองโดยมากจะมาจากตอนขี่มอเตอร์ไซค์
แฟรงค์: เหมือนเพลง 3:00 AM เราไปเจอเพื่อนเราที่แฟนเขาโดนรถชนแล้วโคม่า (อ่านต่อได้ ที่นี่)
Chapter II
Solitude is Bliss มาจากชื่อเพลงของ Tame Impala
เฟนเดอร์: เราฟัง Tame Impala ตอนที่เริ่มทำวง แล้วเราชอบตรงที่เขารวมเอาวงคลาสสิกร็อกเก่า ๆ ที่เราชอบ ทั้งเซ้นส์ของ The Beatles คือ Kevin Parker เสียงร้องเหมือน John Lennon มี Led Zeppellin, Pink Floyd อยู่ในวงเดียวได้ แล้วเราก็ชอบชื่อเพลงนี้มาก มันเป็นประโยคที่อธิบายความรู้สึกได้ชัดเจนเหมือนสิ่งที่เราทำอยู่ คือการที่เราพยายามขยายความรู้สึก แล้วไอ้ประโยคนี้มันเป็นประโยคแรกที่ประกาศออกมาแล้วทำให้คนที่ได้ฟังมีความรู้สึกร่วมกัน แต่แนวเพลงเราไม่ตั้งใจจะไปเหมือน Tame Impala นะ แค่เราดึงชื่อเขามา… โอเค reference ช่วงแรกถ้าฟังกันตรง ๆ เลยก็มีเยอะอยู่ แต่เราไม่ได้ตั้งใจจะหยุดตรงนั้น เรารู้สึกว่า source ประสบการณ์เราเยอะกว่านั้นและพร้อมที่จะผสมให้ได้ของใหม่แล้วไปได้เรื่อย ๆ ไม่จำกัด
แล้วตอนที่มีคนบอกว่าเพลงเราไปเหมือนเขารู้สึกยังไง
เบียร์: เขาอาจจะเห็นชื่อวงครับ มันเลยมีส่วน ถ้าถามว่ามันเหมือนไหมก็ไม่ขนาดนั้นนะ แต่คงพอมีเพราะช่วงนั้นเราชอบอะไรที่ออกไซคีเดลิกอยู่ แล้วก็อาจจะเป็นที่ซาวด์กีตาร์ของผมที่เป็น Phaser อาจจะมีกลิ่นติดมา
เฟนเดอร์: ผมรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้พอเวลาผ่านไปมันจะรู้เองว่าไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเพลงเราเป็นแบบนี้ คนก็จำได้อยู่ดีว่ามันคือวงนี้ แต่สังเกตว่าแต่ละเพลงในอัลบั้มเต็มก็ไม่เหมือนแล้ว มีหลายแนวมาก
ความไซคีเดลิกในงานของ Solitude is Bliss
เฟนเดอร์: เราต้องตกลงนิยามร่วมกันก่อนว่าไซคีเดลิกที่ว่ามันยังไง คือบางทีบางงานผมไม่ได้รู้สึกถึงความหลอน แต่บางคนก็จะบอกว่า เหี้ย เมาว่ะ ไรเงี้ย ถ้าไซคีเดลิกของจะไม่ใช่ซาวด์ แต่เป็นวิธีคิดมากกว่า วิธีคิดในที่นี้หมายถึงความซับซ้อน การมีเลเยอร์ เข้า ออก การเล่นฟังก์ชันของโค้ดเพลง เพลงที่ออกมาอาจจะไม่เป็นซาวด์ไซคีเดลิก แต่เป็นป็อปเลยก็ได้ แค่มีเลเยอร์เยอะ ๆ หน่อย
เบียร์: เราเคยไปเล่นบางที่แล้วมีคนตะโกนว่า เฮ้ย เด็กแนว ๆ (หัวเราะ) จริง ๆ พวกเราไม่ได้กำหนดว่ามันจะต้องเป็นไซคีเดลิกเลยนะ มันมาจากความชอบ ถ้ารากของไซคีเดลิกมันคือการใช้ยาแล้วทำเพลง แต่จริง ๆ เราไม่ได้ทำแบบนั้น
แฟรงค์: ผมว่ามันขึ้นอยู่กับประสบการณ์คนฟังมากกว่าว่าเขารู้สึกกับเพลงเราแค่ไหน เขาดำดิ่งยังไง แล้วก็ฟังตอนไหน
เบียร์: การฟังล้วน ๆ เลยครับ ถ้าจะทำเพลงก็ต้องฟังเพลง แต่ก็มีดูงานศิลปะด้วย (หัวเราะ) สังเกตเพลงของเราบางช่วงจะพูดถึงบรรยากาศ มันก็ได้จากสิ่งแวดล้อมและความรู้สึกเยอะมาก ช่วงแรกมันก็ยังไม่ชัดเจนหรอกเพราะแต่ละคนก็ฟังกันมาคนละอย่าง หลังจากอัลบั้มนั้นเสร็จไปแล้วก็รู้สึกว่าเราเริ่มตกผลึก เป็นทางแบบนี้แล้วโดยที่เราไม่ต้องบอกว่ามันควรจะเป็นอะไร
เฟนเดอร์: อย่างเราเนี่ยโชคดีด้วยที่ชั่วโมงบินเราสูง ขอเรียกว่าชั่วโมงบินอัตโนมัติ ไม่ได้ตั้งใจจะสร้าง แต่กูแค่หาตังเฉย ๆ (หัวเราะ) นอกจากจะเล่นด้วยกันบ่อยแล้ว เพราะงานประจำทำให้ได้เล่นดนตรีกันทุกอาทิตย์ก็ค่อนข้างจะชินกับบรรยากาศสเตจ การเล่นรวมวง ทำบาลานซ์กันอยู่แล้ว
เรามองดนตรีว่าเป็นการถ่ายทอด source ประสบการณ์แล้วผสมออกมา มากกว่าจะนำเสนอว่ามันคืออะไร ซึ่งที่เรารับมาก็มีถึงขั้นเพลงจดหมายเหตุกรุงศรี กระจกหกด้าน หรือเพลงโฆษณา ไม่ว่า ‘คุณจะทำอะไร จะไปที่ไหน พกยูโร่ไว้’ ‘ทวิสโก้ กรอบโก้ มาแร้งงง’ มันมีหมดเลยอะ เพลงไตเติ้ลข่าวก็มี อย่างในเพลง ระบายกับเสียงเพรียก มันจะมีเสียงแบบ ‘แถ่น แท้แดแดแด่น แถ่น แท้น ขอต้อนรับสู่ข่าวภาคค่ำ’ อะไรอย่างนี้ ไปฟังดี ๆ กับอีกที ผมก็ค่อนข้างได้อิทธิพลจากศิลปะอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่คนสายอาร์ต 100% ผมค่อนข้างจะเสพผสม รูป รส กลิ่น เสียง จะมีผลโดยตรงกับการสร้างเสียงของเรา สมมติว่าเวลาผมคิดเดโมขึ้นมา เปอร์เซนต์ส่วนมากเวลาผมทำงานผมจะเอามาจากความรู้สึกอื่นที่ไม่ใช่เสียง เช่นขับรถแล้วลมเย็น แล้วจู่ ๆ ก็ได้ยินเสียง ฮู้ววววว แบบได้ยินเมโลดี้ออกมา อย่างถ้าเหม็นเนี่ย เราจะลองคิดดูว่าทำยังไงให้ดนตรีทำออกมาที่ฟังแล้วรู้สึกเหม็น
แล้วการที่ต้องอยู่กับมันตลอดเคยรู้สึกเบื่อบ้างไหม
เฟนเดอร์: มี จริง ๆ เราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักดนตรีเล่นประจำ ดนตรีเป็นหนึ่งในงานอดิเรกที่เราสนใจเท่านั้นเอง แต่พอเราต้องเอาสิ่งนั้นมาหาเงิน ก็กลัวว่าวิญญาณเราจะหายแล้วทำให้เราเกลียดดนตรี เราเลยแบ่งความรู้สึกของเราเป็นสองพาร์ท พาร์ทแรกคือเอาความรู้สึกเบื่อไปลงกับงานประจำให้หมด ให้วิญญาณมันหายไปเลย หาเงินกินล้วน ๆ อีกพาร์ทนึงคืองาน passion เราจะไม่เอาความรู้สึกเบื่อ เหนื่อย มาใส่ไว้ในนี้ เรามีเวลาให้มันเหลือเฟือที่จะสร้างให้มันมีคุณภาพมาตรฐาน เพราะว่างาน passion ถ้าไม่ใส่คุณภาพเข้าไปสุดท้ายมันก็ไม่ให้อะไรคืน แล้วก็ไม่ให้อะไรใครด้วย แล้วพอแบ่งเป็นสองอย่างนี้ โอเคมันอาจจะคลุมเครือแหละ แต่มันช่วยได้เยอะเลย เราจะรู้สึกว่าเหนื่อยกับดนตรี แต่ยังสนุกกับการที่ได้คิดดนตรีของตัวเองอยู่ มันไม่เหมือนกันนะ ทำงานประจำกับวงที่เราทำ
งาน passion ถ้าไม่ใส่มาตรฐานเข้าไปสุดท้ายมันก็ไม่ให้อะไรคืน แล้วก็ไม่ให้อะไรใครด้วย
รู้สึกยังไงที่ตอนนี้ EP Montage กำลังเป็นที่ต้องการของแฟน ๆ มาก
เฟนเดอร์: ความจริงเป็นเพราะเราทำมาในจำนวนเพดานต่ำสุดของโรงงานที่เขารับทำ คือ 500 แผ่น ระบบของพี่เมธคือ ไม่บินสูงเกินไป บินเรี่ย ๆ ไป ทำต่ำ ๆ คืนทุนได้ ไม่เข้าเนื้อ พอละ แล้วทุนมันเป็นระบบหมุน คือทำอัลบั้มนี้เสร็จก็ต้องเอาเงินไปทำอัลบั้มของวงอื่นในค่ายต่อ ซึ่งเราดีใจนะที่คนต้องการเพิ่มขึ้น แต่การที่เราไม่ได้ผลิตออกมาตามความต้องการ มันคือเหตุผลนี้ ในระยะยาวเราคงทำแหละ แต่ตอนนี้เราโฟกัสงานข้างหน้าดีกว่า มันเหมือนกับว่ามีครั้งนึงมีคนมาถามหา EP เราบอกหมดแล้วครับ มี LP กำลังขาย เขาบอกอยากได้ EP อะ แล้วพอ LP หมด ก็มาเสียดายอีก เราก็เลยคิดว่า คนฟังเขาควรจะโฟกัสงานปัจจุบันเรา เพราะงานปัจจุบันมันจะกลายเป็นอดีต คุณต้องการงานที่หมดไปแล้วเพราะตอนนั้นที่มันออกมาแล้วคุณไม่ตัดสินใจซื้อของปัจจุบัน อันผมยกตัวอย่างคนที่ปฏิเสธงานล่าสุด แต่คนที่เพิ่งมารู้จักก็เสียดายแทน
ทำไมหน้าปกต้องเป็นรูปนั้น
เบียร์: ได้ไอเดียมาจาก Sigur Ros ที่เป็นคนวิ่ง
เฟนเดอร์: ความรู้สึกของผมขณะนั้นคือ เชี่ย ยากว่ะ ใครจะมาแก้ผ้าให้กูวะ ตังก็ไม่มี แต่ถ้าได้มันก็โอเคนะ แค่ผมยังมองไม่ออก แต่พี่เบียร์ก็บอกว่า เดี๋ยวถามเพื่อนให้ ซึ่งก็หาได้จริง ๆ ตอนไปถ่ายก็เลยเลือกเวลากันเช้า ๆ เลย ไปที่ห้วยตึงเฒ่า มีหน่วยถือกางเกงในหนึ่งคน หน่วยดูต้นทาง ดูคน ซ้ายขวา 30-40 เมตร
เบียร์: จริง ๆ มันมีคนนึงก่อนที่จะเป็นในรูปนั้น ชื่อสเตฟาน แต่วันนั้นเขาไม่ว่างพอดี เลยไปถามเพื่อนอีกคน ไอ้นี่มันสุดโต่งอยู่แล้ว ก็บอก เอาดิ เดี๋ยวขับรถให้ด้วย มีช่วงนึงที่กำลังถอดผ้าวิ่งอยู่ แล้วมีฝรั่งปั่นจักรยานมา (หัวเราะ) ต้องรีบวิ่งเข้าป่า โคตรฮา จริง ๆ เขาคือพระเอก mv 3:00 AM กับเจ้าของเรื่องเองด้วย
แฟรงค์: ถ้าโชคดีอาจจะได้เห็นบางรูปที่เราอาจจะปล่อยออกมาทีหลัง
เฟนเดอร์: เราเป็นหน่วยถ่าย ใช้กล้องฟิล์ม มีอยู่สี่ช็อตใหญ่ ทั้งหมด 38 รูป มีแต่ตูดล้วน ๆ มีมุมข้างหน้าด้วย ตอนนั้นพี่เบียร์ไม่รู้ว่าฟิล์มต้องเก็บ ตอนทำความสะอาดห้องเลยหยิบไปทิ้ง ตอนนี้ก็พยายามหาที่แบคอัพในคอมผมอยู่ (เบียร์: เออ ก็คิดว่ารูปมันก็อยู่ในคอมแล้วนี่หว่า กูจำไม่ได้ว่าเอาไปทิ้งหรือหาย) มันไม่หายหรอก อยู่ในห้องพี่อะแหละ แต่พี่เอาไปทิ้ง (หัวเราะ) เอาจริงมันสแกนติดใหญ่เท่าตึกได้
ทำไมอัลบั้มเต็มถึงใช้ชื่อว่า Her Social Anxiety
แฟรงค์: แฟนผมคิดคำว่า anxiety มาให้ คือนางไปเจอคำนี้มันแปลว่าโรคที่กลัวสังคม เพราะเราบอกว่าอยากได้ชื่อที่เกี่ยวกับความรู้สึก เลยเจอคำว่า anxiety disorder
เฟนเดอร์: จริง ๆ ช่วงที่แต่งเพลงทำอัลบั้มเราอยากได้คำที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าทางสังคม เพราะตอนนั้นเราค่อนข้างอินการเมือง แล้วเรารู้สึกว่ามันเชื่อมโยงกับความรู้สึกหรือความสัมพันธ์รอบตัว หรืออนาคต หมดเลย เราก็เสนอคำนี้เข้าไป แต่พี่เบียร์อยากได้คำที่เป็นผู้หญิงอยู่ในนั้นด้วย เราก็เลยใช้คำว่า Her Social Anxiety แล้วในเพลงก็จะสังเกตได้ว่ามันจะพูดถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเอง เกี่ยวกับข้อจำกัดของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองอยู่
เบียร์: อย่างเพลง Sex หรือ สตรี มันก็เกี่ยวกับผู้หญิงเป็นส่วนมาก
แฟรงค์: หรือบนหน้าปกก็จะมีสัญญะของอวัยวะเพศด้วยในบางจุด คือจริง ๆ เป็นรูปตาแหละ แต่จะมองให้เชื่อมโยงกับตรงนั้นก็ได้
แนวดนตรีใน EP กับ LP ต่างกันยังไงบ้าง
เฟนเดอร์: EP เหมือนเป็นการจูนไอเดียครั้งแรกกันก่อน ก็คือแต่งเพลงที่เราอยากจะเห็นมันออกมาอย่าง Don’t Expect Me ของพี่เบียร์ก็ Vintage Pic, 4:00 AM แนวเพลงคนละทางกันเลย แล้วพอเราผ่านชั่วโมงบิน เล่นสด คิดมาเรื่อย ๆ แล้วมันเริ่มจับแก่นถูกแล้วว่าเซนส์ของทีมนี้มันคืออะไร ความแตกต่างมันก็จะเป็นเรื่องความบาลานซ์ของ compose, mood, tone ในเพลง โอเค เพลงใน LP มันก็ไม่ค่อยเหมือนกันหรอก แต่วิธีเล่น วิธีคิด การเรียบเรียงจะมีเซนส์ของมันอยู่ในนั้นที่เหมือนกัน รวมถึงวิธีการมิกซ์กับมาสเตอร์ของพี่โด่งด้วย
เบียร์: อย่างผมก็จะชอบทำเพลงช้า ๆ ออกมาดาร์ก ๆ หน่อย
รู้สึกยังไงที่แฟนเพลงในกรุงเทพ ฯ ให้ความสนใจกับวงมาก
เบียร์: อย่างงาน Cat Expo เนี่ยครับ ผมไม่คิดว่าจะมีคนมาดูเยอะขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว
แฟรงค์: เราต้องขึ้นชนกับ Flure กับ วี วิโอเลตด้วย เราก็กลัวว่าจะมีคนมาดูมั้ยวะ แต่ปรากฎว่าตอนขึ้นเวทีไป ผมนี่อึ้งเลย มาจากไหนกันเนี่ย
เฟนเดอร์: ก็เยี่ยมครับ แต่จะบอกว่าดีกว่าเชียงใหม่ก็ไม่ได้ เพราะว่าเชียงใหม่มันเล็กกว่า สเกลมันอาจจะเท่ากัน แต่คนกรุงเทพ ฯ มันเยอะกว่า เชียงใหม่ค่าครองชีพต่ำกว่าด้วย งานก็จัดบ่อย เริ่มจากฟรี บัตร 50 บาท ไม่เกิน 150 บาท คือถ้า 200-300 เริ่มคิดว่าแพงละ ไม่ไปดูละ เราเลยมีความรู้สึกว่าเชียงใหม่ ณ เวลานี้เป็นบ้านเอาไว้ทำงาน เพราะสิ่งแวดล้อมของเชียงใหม่มันทำให้เราทำงานแบบนี้ออกมาได้
แฟรงค์: แต่ที่อีสานก็เยอะนะ ต้องขอบคุณร้านมหานิยมที่เขาเป็นร้านใหญ่ที่สร้างวัฒนธรรมการฟังเพลงแบบนี้ขึ้นมาที่ร้านเขา
เฟนเดอร์: ตลาดเขาใหญ่มาก จริง ๆ เขาเคลื่อนไหวมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว แค่เพิ่งมีวัยรุ่นในยุคนั้นโตมาเป็นผู้ใหญ่แล้วเพิ่งมีกำลังพอที่จะซัพพอร์ต เอาวงมาเล่นให้เด็กที่นั่นดูได้
เคยได้มาเล่น ‘เห็ดสด’ ด้วย
เฟนเดอร์: เป็นเวทีใหญ่งานที่สองต่อจาก Big Mountain ตอนนั้นตื่นเวทีมาก นิ่งเลย ขึ้นไปเจอคนสองพันคนแล้วมือผมเย็นชิบหาย เล่นหลุดกันเยอะด้วย
เบียร์: แต่รอบนั้นสนุกนะ ได้ re-arrange เพลงของ Two Million Thanks เพลง ยา
แฟรงค์: ก็แปลกดี ๆ นาน ๆ เราจะได้มีโจทย์เข้ามาให้ทำอะไรแบบนี้ เราขึ้นโชว์เป็นวงที่สองด้วยเนาะ ต้องขอบคุณพี่ ๆ Desktop Error ที่เล่นก่อนเราเลยยังมีคนยืนดูเราต่อ (หัวเราะ)
ตอน Crossplay กับ Penguin Villa รู้สึกยังไงบ้าง
เฟนเดอร์: ก็เป็นการทดลองระบบการทำงานใหม่ของเราได้ดี เราไม่ได้คาดหวังว่าจะทำอะไรแบบนี้แต่แรก แต่เพราะรู้สึกว่าเราต้องทำ กูก็… ลองเลยละกัน เมื่อก่อนยึดติดกับการอัดจ่อตู้ จ่อไมค์จริง อันนี้เสียบเข้าผ่าน plug in ในคอม จากแต่ก่อนที่เราอัดรวดเดียว อันนี้เราก็ค่อยอัดไปทีละอัน ๆ ทำให้จบทีละเวอร์ชัน แล้วก็ลองอัดจริง เสร็จแล้วพอได้เวอร์ชันอัดจริงก็ทิ้งเวลาเอาไปฟังตอนเมา ตอนขับรถ แล้วเอามาแก้เติมไปเรื่อย ๆ คือไม่ปักใจว่ามันจะสมบูรณ์ จนกว่าจะคิดไม่ออกแล้ว หรือไม่รู้จะแก้ จะใส่อะไรเพิ่มแล้ว ส่วนเพลงเราที่พี่เจทำ เขา compose ได้เป็นฟังก์ชันแบบสถาปนิกมาก มีความละเอียดในทุกท่อน อันนี้ดับ อันนี้โผล่ สลับ ซ้อน
แฟรงค์: แต่ผมดีใจอย่างนึงคือผมได้ยินเพลงตัวเองในแบบที่พี่เจทำ ชอบไอเดียที่แกใส่ตรงนั้นมา (เฟนเดอร์: โคตรดี) เลยทำให้รู้ว่าถ้าเพลงเราไปอยู่กับคนอื่นมันก็ได้พลังอีกแบบนึงนะที่ทำให้เราขนลุกเหมือนกัน ตั้งแต่ขึ้นเลยเนี่ย ทุกอย่างที่แกทำมีความหมาย อันนี้ถึงรู้ว่าชั่วโมงบินของแกสูงจริง ๆ ทำให้เราเกิด passion ว่าอยากทำอะไรให้ได้แบบนั้นบ้าง
พอจบโปรเจกต์นั้นไปแล้วอยากร่วมงานกับคนอื่นอีกไหม
เฟนเดอร์: ไม่ค่อยแล้ว คือถ้าความกดดันมันเกิดจากเราเองก็โอเค แต่ถ้ามันเป็นงานที่เรารู้ว่าจะมีความกดดันจากสายตาของคนอื่นที่ไม่ใช่เราเอง เราจะรู้สึกอึดอัด งานอาจจะออกมาดีแหละ แต่มันไม่สนุกเลย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันค่อนข้างท้าทายความสามารถของเรา
เบียร์: อย่างโปรเจกต์พี่เอ้—รงค์ สุภารัตน์ ก็เหมือนกันเลยครับ เพลง ห้องสุดท้าย ความรู้สึกเดียวกันเลย เหมือนวาดรูป เขาวาดมาก่อนแล้วแล้วเราไปวาดตาม คือต้องวาดให้มันดีแต่จะวาดยังไงวะให้มันแตกต่าง เลยทำให้เราอยากทำเพลงของตัวเองมากกว่า
แฟรงค์: ผมกลัวว่าคนอื่นจะคาดหวังกับงานนี้มากว่าพอออกมาแล้ว เฮ้ย มึงทำได้แค่นี้เองหรอ แข่งกับตัวเองดีกว่า
Chapter III
ซีนดนตรีที่เชียงใหม่ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
เฟนเดอร์: มีความคิดนึงที่เราอยากทำคือแคมปัสทัวร์ ลงโรงเรียนมัธยม แต่ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนมาซัพพอร์ต มันค่อนข้างจะสำคัญนะ เห็นกรุงเทพ ฯ ก็ทำกันตลอด แต่เชียงใหม่ยังไม่มี จะเอาวงไหนก็ได้ในเชียงใหม่ไปเล่น เด็กเห็นแล้วเขาจะรู้สึกว่า เหี้ย เท่สัส เหมือนเราตอนเด็กที่มีวงผับมาเล่นในงานโรงเรียนเรา วงผับเล่นคัฟเวอร์เฉย ๆ เลยอะ ทำไมเท่กันจังวะ แล้วมัน inspire เด็กสัส ๆ ที่ไปหย่อนเมล็ดพันธุ์ให้ แล้วมันจะแตกไปไหนก็แล้วแต่มึง
เบียร์: ผมว่าที่พิเศษในเชียงใหม่ตอนนี้คือเด็กเก่งกันขึ้นมากเรื่องทักษะต่าง ๆ เด็กมัธยมเล่นแจ๊สกัน หรืออย่าง Vega เรื่องไอเดียเพลงเขาผมจะได้คุยกันบ่อย ส่วนมากเขาก็จะตาม ๆ เริ่มจากการชอบวงผม ปรึกษาเพลง ผมก็ให้คำแนะนำ อีกอย่างที่ชอบคือความเคลียร์เวลาเขาเล่น เขาเรียงพาร์ตอะไรมาได้ชัดเจน ถ้า Solitude ก็จะมี improvise มาด้วย อย่างงาน Cat Expo Vega ก็มีคนมาดูเยอะกว่าหลาย ๆ วง พอลองเข้าไปดูก็คิดว่าเขาเริ่มได้แล้ว
เฟนเดอร์: ในสายตาผมวงนี้ก็เป็นวงที่พร้อมจะดีดตัวไปนะ ตอนนี้งมทางเริ่มต้นกันอยู่ สกิลมันพร้อมแล้วเนี่ย คือเชียงใหม่ดูมีรุ่นใหม่มากขึ้น แต่เริ่มชะลอ ขาดช่วง คือเด็กที่ทำวงใหม่เล่นน้อยลง ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นการขาดช่วงเพื่อเตรียมดีดตัว แต่เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่
แฟรงค์: อย่าง Vega ถ้าเขายังทำต่อคือ เขาเป็นวงที่มี potential พอในการจะดีดตัวไป ถ้ายังไม่มีปัญหาอะไรกันในวงนะ เพราะน้อง ๆ เขากำลังจะเรียนจบกัน วงนี้เขาก็เล่นร้านด้วยกันมาตลอด จะต่างกับเราที่แยกกันเล่น
พูดถึงการเล่นแล้ว ชอบแบบที่ fixed หรือ improvised ได้มากกว่ากัน
เฟนเดอร์: มันกึ่ง ๆ กัน แล้วแต่เพลงนะ เพราะช่วงแรก ๆ เรา improvise กันบ่อย แล้วมันทำให้เพลงไม่แข็งแรง พี่แฟรงค์ก็จะชอบใส่กลอง เล่นแฉเยอะ (แฟรงค์: นั่นไง!!!)
เบียร์: ช่วงหลังมาเราจะมีกำหนดว่าควรจะใส่ช่วงไหน อย่าง ระบายกับเสียงเพรียก improvise นี่ก็จะร้องไปเรื่อย คือทุกคนจะเล็งถูกแล้วว่าจะใส่ตรงไหน อย่างกีตาร์ของผมก็ไม่ได้เป๊ะ 100%
มีแฟนเพลงต่างประเทศบ้างไหม
เฟนเดอร์: มีบ้าง แต่พูดภาษาอังกฤษกันไม่ค่อยเก่งเลยสร้าง connection ได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่
แล้วใครแต่งเนื้อเพลงภาษาอังกฤษ
เบียร์: ก็เฟนเดอร์
เฟนเดอร์: เราพอสื่อสารได้แต่ไม่ถึงขั้นนั้น ศัพท์ยาก ๆ ก็ต้องมานั่ง เอ๊ะ กัน (หัวเราะ) ก็มีแฟนเพลงเป็นฝรั่งที่อยู่ในไทย อยู่เชียงใหม่ มาดูกัน
แฟรงค์: แต่มีงานนึงที่เรารู้สึกดีนะ ตอนเล่นเปิดให้วง Ratatat คิดว่าฝรั่งส่วนใหญ่เขามารอดูวงหลักแหละ แต่พอวงเราขึ้นก่อน เขาก็ดูเราแบบตั้งใจเลยนะ (เฟนเดอร์: ฟัคกิ้งออวซ่ามมมม) ตื่นเต้นมาก งานนั้น
เฟนเดอร์: เป็นงานแรกที่เรารู้สึกถึงความเพอร์เฟกต์ของซาวด์ เพราะเล่นเครื่องสเป็กฝรั่งเลย
เบียร์: ดีที่สุดในกรุงเทพ ฯ ที่เคยเล่น ก็จะไม่ต้องห่วงอะไรแล้ว ซาวด์ฟินที่สุดแล้ว
คิดจะไปเปิดตลาดต่างประเทศบ้างไหม
โด่ง: อยากครับ แต่ไม่มีตัง (หัวเราะ)
แฟรงค์: เหมือนพี่เมธเคยเกริ่นไว้ประมาณกลางปีที่แล้วว่า พวกมึงเก็บตังกันไว้เลยนะ ปีหน้าอาจจะได้ไปญี่ปุ่น แต่ก็รอลุ้นข่าวดีกันอยู่ครับ กลัวที่สุดคือข่าวมันจะเงียบไปนี่แหละ (หัวเราะ)
เฟนเดอร์: แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่า เพลงเรามันยังไม่คราฟต์ ไม่ชัดเจน ไม่ unique พอที่จะให้ต่างประเทศฟัง ถ้ามีคนจัดให้จริง ๆ เราก็ไปแหละ แต่ถ้าจะให้รู้สึกดีจริง ๆ คือเพลงเราพาเราไปเอง
แฟรงค์: ไม่เอาตั๋วเหลือแล้วชวนไปนะ (หัวเราะ) จริง ๆ คราวก่อนที่มีสัมภาษณ์ฝรั่ง เขาก็บอกว่าเขาเรียนที่เวลส์ แล้วเขาตามมาเพราะเขาฟังเพลงเราที่เปิดในวิทยุวนใน college เขา เราก็งงว่าเขาไปรู้จักได้ยังไง เขาก็บอกว่าคนที่เป็นดีเจในนั้นดันชอบวงเรา เหมือนเป็นฝรั่งที่เคยมาอยู่ไทยแล้วกลับไปเอาเพลงนี้ไปให้ฟัง เราแบบ ฮะ! ขนาดนี้เลยหรอ
เฟนเดอร์: ล่าสุดนี่คุณแพรวา Yellow Fang ทักมาในเพจเลย ว่า ขอคอนแทคมือกลองหน่อยค่ะ คือตอนที่อ่านพวกเราตื่นเต้นกันมากครับ โดยเฉพาะพี่แฟรงค์ น่าจะทำหน้าเก๊กหล่อรอละ แต่พออ่านอีกบรรทัดว่า ชอบเสียงสแนร์มากเลยค่ะ ทุกคนเลย อ๋ออออ คือ ตอนนั้นเล่นงานเดียวกัน เขาเลยทักมาถามอุปกรณ์กลองเฉย ๆ ภาพพี่แฟรงค์เฟดตัวเองเข้าไปในเงามืดจึงเกิดขึ้น
คนฟังเขาควรจะโฟกัสงานปัจจุบันเรา เพราะงานปัจจุบันมันจะกลายเป็นอดีต
วงการดนตรีไทยตอนนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
แฟรงค์: ช่วงนี้รู้สึกว่างานประกวดดนตรีน้อยลงนะ ผมไม่รู้ว่าเราผ่านจุดที่สนใจงานดนตรีมาแล้วหรือเปล่า แต่เราไม่เห็นเด็กรุ่นใหม่ที่มาจากเวทีพวกนี้เลย ล่าสุดมีแค่สมเกียรติเองที่มาจากงานประกวดอันนั้น นานมากแล้ว
เฟนเดอร์: เราอาจจะไม่เห็นก็ได้ ผมรู้สึกว่ามันมีการเมืองเยอะเกินไป แต่ก็โทษไม่ได้ เพราะความหลากหลายทางดนตรีมันก็ต่ำ แต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่ความผิดของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะให้กำเนิดมันออกมาได้ตลอดเวลา แต่บุคลากรที่มีประสบการณ์ในไทยที่เขาเป็นรุ่นใหญ่เขารับแต่งานโต ๆ เราเลยไม่เห็นนโยบายที่จะหยิบวงมาช่วยปั้น หรือว่าทำให้มันดีซักเท่าไหร่ แต่เรารู้สึกว่า source วงเด็กรุ่นใหม่มันดีกว่าวงเมื่อก่อนด้วยซ้ำ จนเรารู้สึกเองว่า คงต้องเป็นรุ่นกูมั้งที่แก่ไปขั้นนึงแล้วเราถึงไปช่วยวงที่เราอยากจะช่วยเอง เนี่ย มันก็เลยมีการขาดช่วงไปสิบปีจากยุคก่อนตั้งแต่สมอลรูม หลังจากนั้นก็เงียบไปช่วงนึง
เบียร์: แต่ถ้ามองในยุคนี้ผมว่ามันเป็นไปในทางที่ดีมากเลยนะ เพราะดูจากวงต่างประเทศที่เข้ามาเล่น โอกาสที่ได้เล่นในงานอินดี้ มีพื้นที่และโอกาสในการพัฒนาทางด้านดนตรีเยอะ
เฟนเดอร์: อย่างที่เราพูดเมื่อกี้ มันเลยบีบให้คนรุ่นใหม่ทำกันเอง คลำทางมืด ๆ กันไปเอง แล้วก็เป็นส่วนน้อยที่คลำทางออกมาได้ดี รวมถึงเราด้วยนะ ทำให้เห็นว่าวงการดนตรีตอนนี้มันดีประมาณนึง แต่มันควรจะดีได้กว่านี้ เพราะมันขาดบุคลากรพวกนี้
แฟรงค์: อีกอย่างคือช่องทางการโปรโมตมันเร็วกว่าด้วย แต่พอเหมือนมีวงเกิดเยอะ บางงานที่เราไปฟังมันยังไม่พิถีพิถันพอ ด้วยความง่ายของบางคน ทำเสร็จแล้วปล่อยเลย ซึ่งพอเขาทำมาง่าย ๆ บางทีมันก็อยู่ได้ไม่นาน แต่บางอันก็ดังเลยนะ อันนี้ก็แอบอิจฉาเบา ๆ (หัวเราะ)
เฟนเดอร์: passion ของเขาอาจจะมีมากพอแหละ แต่เขาคงมองข้ามอะไรบางอย่าง เขาอาจจะเกลียดเมโลดี้ที่ได้ยินตั้งแต่เกิด เขาอาจจะชอบอะไรที่ดูอินเตอร์ ดูเท่ อยู่ข้างหน้าเขามากกว่า ซาวด์แบบยุคนี้ ทั้ง ๆ ที่ของที่โคตรมีค่าคือ source ที่เขาได้รับมา ‘สะดวกอร่อยทุกเวลา’ อะไรแบบนั้นอะ เพราะว่ามันเกิดการผูกขาดทางวัฒนธรรมของคนรุ่นก่อนหน้านั้นด้วย คือ ถ้ายกแค่เรื่องดนตรีกับศิลปะนะ ดนตรีศิลปะของไทยยุคก่อนหน้านี้ความจริงมันก็คือทางผ่านวัฒนธรรมแหละ แต่ยุคนี้เขายกมันไปเป็นของศักดิ์สิทธิ์เกินไปจนคนรุ่นใหม่เอามาต่อยอดไม่ได้ ซึ่งความจริงยุคก่อนนั้นชั้นครูเขาก็ adapt มาจากประเทศอื่น คราวนี้จะให้กูแตะทีก็ต้องทำให้เป็นพิธีรีตรอง แต่ถ้ากูไม่อยากพิธีรีตรองอะ กูก็ต้องมาอีกทางนึงดีกว่า มันก็เลยไร้ราก เลยกลายเป็นถีบให้คนรุ่นใหม่ต้องไปที่อื่น วงการดนตรี วัฒนธรรมของเพลงไทยมันเลยไร้แก่น แก่นที่ว่าไม่ใช่ความไทยขนาดนั้นนะ หมายถึงวัฒนธรรมผสมตรงนั้นมากกว่า
แต่เดี๋ยวนี้ก็มีหลายวงเอามาผสมผสานแล้วนี่
เบียร์: ผมก็ชื่นชมกับคนที่สร้างสรรค์ พยายามเอามาประยุกต์ได้ ผมดีใจที่มีวงอะไรแบบนี้เกิดขึ้น อย่างรัสมี หรือ Paradise Bangkok Molam เขาไปสู้ต่างประเทศได้ แล้วมันทำให้เด็กรุ่นใหม่กล้าเอารากของตัวเองมาใช้ หรือบางทีเขาเอาแค่ให้ฟังรู้เรื่อง ฟังให้มีความหมาย อยากให้มันพูดถึงเรื่องอะไรที่ชัดเจนไปเลยดีกว่า ผมเคยเอาเพลงไปให้เพื่อนฟัง เพื่อนถามว่าอันนี้เพลงมันพูดถึงอะไรวะ เปิดเพลงบรรเลงให้ฟัง มันถาม เมื่อไหร่จะร้อง รอจนจบเพลงแล้วเนี่ย ไม่ร้องหรอ (หัวเราะ)
เฟนเดอร์: มันมีคนทำตลอดแหละ แต่คนที่ปฏิเสธมันแข็งแรงกว่าเพราะเขากุมอำนาจทางวัฒนธรรมมากกว่า
แฟรงค์: จริง ๆ ผมว่าคนส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องค่านิยมในการมองว่าดนตรีไม่ใช่ศิลปะอยู่ คือจะไปโทษรากก็ไม่ถูก เรามองว่าดนตรีมันคือการละเล่นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่ได้มีคุณค่าอะไร สมมติแค่เกี่ยวข้าวก็แค่ทำเพลงไว้มารำกันตอนทำนา เขาเห็นค่ามันแค่นั้น
เฟนเดอร์: ให้พูดอีกแบบนึงคือความเข้าใจทางการเสพศิลปะของคนไทยยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ขณะที่ผมพูดคำว่าศิลปะ เรากันเองยังไม่เก็ตกันเลย ศิลปะคือมิติของการรับรู้ทางอารมณ์ ซึ่งถ้ายกตัวอย่างแค่เพลง คนไทยที่ผ่านมาส่วนมากจะฟังเอาเนื้อเรื่อง แบบ เมื่อไหร่เนื้อจะขึ้นวะ ทั้งที่เพลงมันมีส่วนประกอบทั้งเสียงที่ทำให้เกิดภาพในหัว รูป รส กลิ่น เสียง ความรู้สึก มันขาดความเชื่อมโยงของ perception เหล่านี้อยู่
Originality มีจริงไหม
โด่ง: เราคิดว่าทุกความ original บนโลกใบนี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว มันไม่มีอะไรใหม่
เฟนเดอร์: แต่แม้ original มันจะเป็นแบบที่พี่โด่งบอก แต่ผมยังเชื่อว่า original มันยังใช้ได้ สมมติว่าเราเอาของที่เกิดก่อน 5 อย่าง ผสมออกมาเป็นของใหม่อันแรก มันก็เป็น original ของคนแรกที่เอาแบบนั้นมาผสมกัน มันก็คือ reference
เบียร์: พวกซาวด์กีตาร์ยุคก่อน ๆ ความวินเทจมันเอามาใช้กับยุคปัจจุบันได้
วางแผนทำอัลบั้มเต็มชุดที่สองแล้วหรือยัง
เบียร์: ก็คุย ๆ บ้าง แต่ยังไม่ได้เริ่ม ยังไม่ได้เป็นแผนเป๊ะ ๆ อย่างแรกคือต้องมีเดโมให้ได้
เฟนเดอร์: ตัวเพลงอะยังไม่มา แต่ขั้นตอนการทำงานคิดไว้แล้วว่าจะทำยังไง
เป้าหมายของวง
เบียร์: ทำอัลบั้มใหม่ แล้วก็อยากไปเล่นต่างประเทศ
แฟรงค์: ถ้ามีสักทีก็ดีเนาะ เราจะได้มีประสบการณ์ใหม่ จะได้รู้ว่าเตรียมตัวยังไง ตั้งแต่เรื่องเก็บตังเลย (หัวเราะ) อันนี้ส่วนตัวของผมนะ อยากเล่นวงเปิดให้กับศิลปินระดับโลกอีก อยาก challenge ตัวเองอีกรอบนึง และส่วนตัวผมอยากเล่นกับ Tame Impala มากเลย เพราะผมอยากฟังเขาเล่นสดมาก (หัวเราะ)
เฟนเดอร์: ถ้าไปญี่ปุ่นนี่ผมหมดตังกับโมเดลเยอะแน่เลย เดินผ่านตู้กาชาปองก็คงหมดไปเยอะ
เบียร์: ถ้ามันมีโอกาสก็ดีหมดแหละครับ อยากเล่นไม่ว่าจะวงอะไรก็ตาม
เป็นการสัมภาษณ์ลงนิตยสารครั้งแรกหรือเปล่า
เฟนเดอร์: ไม่ใช่นะ แต่คำถามมันไม่เหมือนกันไง ชอบแบบเนี้ย สะใจดี (หัวเราะ)
ไม่คิดว่าลึกเกินไปแล้วคนจะไม่อ่านบ้างหรอ
แฟรงค์: ทำอย่างที่เราชอบให้ดีที่สุดแหละ กับทุกเรื่องเลยนะ ถ้าพูดเรื่องคอนเทนต์ออนไลน์ เราเคยคุยกับนักเขียนคนนึงที่เขียนให้กับ The MATTER ตอนนี้คอนเทนต์ออนไลน์มันอยู่ในความสนใจคนแทบจะไม่เกิน 12-24 ชั่วโมงด้วยซ้ำ เผลอ ๆ จะวัดกันแค่หลักนาทีเลย เพราะฉะนั้นถ้ามันอยู่แค่นี้ สู้ทำให้ดีที่สุดดีกว่า ไม่ต้องกังวลว่ามันจะอยู่แป๊บเดียว ถ้ามันดีจริงมันจะอยู่นานด้วยตัวของมันเอง เพราะเราเองก็เขียนออนไลน์อยู่บ้างเหมือนกัน ใส่สุดไปเลยนาจา
เฟนเดอร์: สมมติว่าถ้ามีคนในอนาคตข้างหน้ากลับมาค้นเจองานของเราแล้วพบว่า ไอ้เหี้ย ละเอียดสัส คือมันเหมือนเป็นงานที่รอเวลาให้คนจะมาเจอ แต่งานที่มันตื้น ๆ คนเขาก็จะผ่านไป ยิ่งถ้าผ่านยุคสมัยไปแล้วคนกลับมาเห็น เชี่ย ขยะของยุคสมัยว่ะ (หัวเราะ)
พอเหมือนมีวงเกิดเยอะ บางงานที่เราไปฟังมันยังไม่พิถีพิถันพอ ด้วยความง่ายของบางคน ทำเสร็จแล้วปล่อยเลย ซึ่งพอเขาทำมาง่าย ๆ บางทีมันก็อยู่ได้ไม่นาน
Chapter IV
สิ่งที่สนใจเป็นพิเศษในช่วงนี้
โด่ง: เล่นเกมอย่างเดียวเลย DotA (หัวเราะ) บ้าทำเพลง ศึกษา plug in หาของใหม่ ๆ อยากรู้อะไรใหม่ ๆ แล้วก็จะทำร้านกาแฟ มีห้องบันทึกเสียง ยังไม่มีชื่อ
แฟรงค์: ช่วงนี้ผมก็เริ่มจด lick กลองมาฝึกละ เพราะรู้สึกว่ามันตันแล้ว ส่วนเรื่องอื่นตอนนี้กำลังหาแรงบันดาลใจเรื่องเที่ยว ผมจองตั๋วไว้หลายที่มาก (เฟนเดอร์: คราวก่อนไปม่อนจอง ลากคนแฮงก์ไปเดิน ทำโทรศัพท์หาย) เป็นครั้งแรกที่เราไปเที่ยวกับวงแต่ไม่ครบวง เบียร์ไม่ว่าง ปอนด์เบี้ยว อนาคตคือแพลนว่าอยากจะไปเที่ยวกันทั้งวงให้ครบสักที ผมก็ต้องไปดูเองก่อนหลายที่ แล้วก็เริ่มเข้าแกลเลอรีมากขึ้น เพื่อไปดูวิชวลแบบอื่น ถ้ามันจะเป็นแรงบันดาลใจให้การแต่งเพลงให้เราได้ จะเป็นยังไง ท้ายสุดก็คงเป็นอยากจะออกจาก confort zone ให้ได้ คือเราจะยัง struggle กับข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างในชีวิตกับการงานเราอยู่ ด้วยความที่เป็นมนุษย์เงินเดือน มันเลยมีข้อจำกัดแบบที่หลาย ๆ คนบ่น เรื่องเวลา เรื่องเงิน แต่การมีงานประจำมันก็ไม่ใช่ข้อเสียอะไรนะ เพียงแต่ถ้ามันมีงานประจำที่เรามีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นเยอะ ๆ อันนี้คงเหมือนฝันแหง ๆ (หัวเราะ)
เฟนเดอร์: เรื่องเพลงก็จะ geek เรื่องซาวด์เหมือนพี่โด่ง แต่ไม่ได้รู้ลึกถึงขั้นเทคนิก เราสนใจในเรื่องคาแรกเตอร์ของซาวด์ เมโลดี้ ส่วนเรื่องอื่นถ้าไม่ใช่ดนตรี เราก็บ้าโมเดล พวกเครื่องบิน ยานพาหนะ แล้วความจริงอยากทำ hand color tinting ลงสีภาพขาวดำด้วยมือ แล้วตอนนี้ก็ติดการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง Space Brothers แล้วก็… Red Alert 2 เราบ้า sci-fi ด้วย
เบียร์: ผมอยากทำไซด์โปรเจกต์ อัดกับกีตาร์โปร่ง เพราะผมก็มีเพลงที่แต่งอยู่ ฝากติดตามใน soundcloud ชื่อ OK Green จะมีเพลงเดโม่ที่ยังไม่ได้อัดเป็นรูปเป็นร่าง แล้วก็ซื้อกีตาร์ อัพอุปกรณ์ใหม่ นอกจากดนตรีก็เป็นเป้าหมายชีวิตการทำงาน พยายามสอบครูให้ติดเพื่อจะได้ออกจากที่ทำงานเก่า ทุกคนอยากก้าวหน้าในงานประจำ ไม่อยากให้มันตันแค่นี้
ปอนด์: น่าจะเป็น live stream เกี่ยวกับเกม เพราะตอนนี้มีเกมใหม่ ๆ ออกมาเยอะ ที่ผมติดตามก็มี Resident Evil 7 เพราะมันมาพร้อมกับหนังภาคใหม่เลย นี่ผมก็ไล่ดูแคสต์เกมหลาย ๆ คน ดูตอนจบหลาย ๆ แบบ พยายามติดตามเนื้อเรื่อง แล้วก็อยากทำ channel อะไรแบบนั้นด้วย คิดไว้นานแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มสักที (หัวเราะ) ถ้าเรื่องดนตรีก็กำลังเก็บอุปกรณ์เพิ่ม อัลบั้มหน้าอาจจะมีของใหม่ ๆ บ้าง นี่ก็ได้ launchpad มา ตอนนี้มีคีย์บอร์ดซ้ำสองตัวแล้ว ที่ซื้อมาใหม่เพราะซาวด์มันจำเป็นต้องใช้ อาจจะขายตัวแรกที่พังเพราะล้ม แต่เอาไปซ่อมแล้ว ส่วนตัวใหม่ยังไม่ได้เอาออกมาซักที แต่เดี๋ยวคงได้ใช้ยาวเลย
ทำไมถึงสนใจ sci-fi
เฟนเดอร์: เราชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว มันเริ่มมาจากพื้น ๆ คือชอบ Star Wars แล้วเราก็ชอบวิทยาศาสตร์ จนตอนหลังมาเจอว่า sci-fi มันไม่ใช่แค่นั้น มันรวมถึงศาสตร์ ศิลป์ ปรัชญา มันเป็นวิทยาการความก้าวหน้าของ civilization ซึ่งเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น มันทำให้เราก้าวไปข้างหน้า sci-fi คือความตื่นเต้นที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในแง่ที่ดีขึ้นของวิทยาการ แล้วก็อารยธรรมต่าง ๆ ชอบเรื่องเกี่ยวกับเวลา ยานยนต์ ประดิษฐกรรม การออกแบบ คำถามที่อยู่ในหัวของมนุษย์ ว่าเรามาจากไหน เราเป็นใคร เรากำลังจะไปไหน เพื่ออะไร
เชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวไหม
โด่ง: มีความเชื่ออยู่ 30% เพราะดูพวกสารคดีพวกประตูมิติต่าง ๆ มันก็มีความเป็นไปได้อยู่ แต่ก็ไม่เชื่อทั้งหมด
แฟรงค์: ผมรอลุ้นอยู่เนี่ย จริง ๆ อาจจะเจอแล้วก็ได้ แต่คือ NASA ยังไม่ประกาศมาด้วยเหตุผลของความมั่นคงของทั้งโลก ถ้าเกิดบอกมาว่าเราเจออะไรบนดาวอังคาร หรือในระบบสุริยะแฝดที่เราเพิ่งเจอมีอารยธรรมซ่อนอยู่ จะพังหมดทุกอย่าง ระบบศาสนาและความเชื่อบนโลกมันจะระเบิดเอาได้ง่าย ๆ เราก็เลยรอข่าวตรงนั้นว่าถ้าเจอแล้วจะยังไงต่อ แต่ในความอยากรู้ อยากเห็นตรงนี้ ก็มีคนเป็นห่วงด้วยเหมือนกันอย่างที่ Stephen Hawkins บอกอะ เราพลาดมากเลยนะที่เราส่งสัญญาณวิทยุไปไกล ๆ เพราะเราไม่รู้ว่าคนที่เจอเขาจะคิดอะไรกับเรา หมายถึงว่าถ้าเขาล้ำกว่าเราเยอะ ๆ ล่ะ เราสูญพันธุ์เลยนะเว่ย (หัวเราะ)
เฟนเดอร์: แต่ผมรู้สึกว่าคำพูดของ Stephen Hawkins ไม่ยอมรับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์เท่าไหร่ คือถ้าไอ้นี่ไม่ส่ง ก็ต้องมีใครสักคนส่งกลับมาหาเราอยู่ดีปะวะ ก็ให้รู้กันไปเลยว่ามีอะไรอยู่ แต่เราเชื่อว่ามี แค่ไม่ได้อยู่แถวนี้ อาจจะมีร่างกายแบบเราแต่อยู่ไกล อีกอันนึงก็คืออยู่คนละจักรวาล คนละกฎฟิสิกส์กัน ถ้าสมมติว่ามีคนละกฎอยู่มันก็เลยเกิดความคลุมเครือว่ามันมีจริงหรือไม่มีจริง แต่มันไม่ชัดเจนที่จะบอกว่า เชี่ย นี่คือมนุษย์ต่างดาว เพราะมนุษย์ต่างดาวมันคือภาพตรงข้ามของคนเรา คือสิ่งมีชีวิตที่เป็นลักษณะเดียวกับเรา มีอารยธรรม ที่เราเจอมันอาจจะเป็นอะไรที่ใหญ่กว่าแล้วมองเราเป็นฝุ่นเล็ก ๆ ก็ได้ มันจะเหนือกว่าสิ่งที่เราจับต้องก็ได้ หรือเป็นแค่จุลชีพ อาจจะไม่ใช่ต่างดาวแต่แค่คนละสปีชีส์กัน
ปอนด์: บางทีก็เชื่อ บางทีก็ไม่เชื่อ ก็เคยดูสารคดีผ่าน ๆ เราไม่ได้ซึมซับกับความเชื่ออะไรขนาดนั้น
ถ้าสื่อสารกับเอเลี่ยนได้ คำแรกที่จะพูดกับพวกเขาคือคำว่าอะไร
เบียร์: สวัสดีครับ… ไม่อะ ถ้าไปเจอจริง ๆ ก็ไม่รู้หรอกว่าเขาจะมาด้วยสถานการณ์ยังไง จะไปเกรียนเขาก็ไม่ได้
เฟนเดอร์: เออ ถ้าเกรียน ๆ อยู่แม่งเอาปืนยิงจะทำไง
แฟรงค์: อาจจะไม่ได้พูด อาจจะหนีก่อน (หัวเราะ) แต่สังเกตไหมว่าช่วงนี้ถึงเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกล หรือกล้องจะพัฒนาแค่ไหนอะ เวลาถ่าย UFO ก็ยังเป็นคลิปที่มาจากกล้องเหี้ย ๆ สั่นรัวๆ อยู่ดี
เฟนเดอร์: ต้องปกปิดให้เนียนไง ถ้าถ่ายชัดเกินก็รู้กันหมด
ถ้าให้สร้างลัทธิขึ้นมา ลัทธิของแต่ละคนจะเป็นยังไง
โด่ง: ลัทธิสายเขียว (หัวเราะ)
เฟนเดอร์: ขอเรียกว่าอาณาจักรศิลปะก็แล้วกัน คือการสร้างขอบเขตนิยามด้วยตัวเอง เราเคยคุยกับเพื่อนว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ก็ยกตัวอย่างมาสักเรื่อง อย่างเรื่องความรัก ปัจจุบันมันเป็นนิยามแบบโรแมนติก แต่ก่อนหน้านี้มันไม่มี มีแค่ ชอบกัน เย็ดกัน มีลูกกับคนชนชั้นเดียวกัน ทำอาชีพต่อ ๆ กันไปเป็นรุ่น แต่นิยามมันมาเปลี่ยนเพราะบทละครเวทีเรื่องเดียว คือโรมิโอกับจูเลียต แล้วนิยามของดนตรียุคปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเยอะ จากแค่เด็กผู้ชายสี่คนที่ geek เรื่องดนตรีอย่าง The Beatles เราคุยเรื่องนี้กับเพื่อนเลยได้คำนี้มาว่า ‘สงครามที่ใหญ่กว่าการรบพุ่งชนกันก็คือ สงครามของการแย่งชิงการสร้างความหมาย’ เพราะถ้าเราสามารถเปลี่ยนความหมายของอะไรต่าง ๆ ได้ คือเราเปลี่ยนโลกได้ทันที เราก็เลยคิดว่าลัทธิของเรา เราอยากสร้างอาณาจักรศิลปะที่เราสร้างนิยามใหม่ ๆ แล้วก็สามารถสื่อสารให้คนคิดแบบเราได้ มันก็เหมือนว่าเราอยากเห็นโลกเปลียนไปในแบบที่เราอยากให้มันเป็นด้วยการสร้างงานออกมา อาจจะทำลายขนบเดิม แล้วสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา เหมือนกับว่าเราแค่ขับเคลื่อนยุคสมัยไปด้วยมัน ให้มันหมุน ให้มันมีวิวัฒนาการ ไม่ใช่เรานำยุคสมัยไป
เบียร์: ถ้าเป็นลัทธิผมอยากให้มีศิลปะหลาย ๆ แขนงเลย
ปอนด์: ลัทธิคนบ้าเกม (หัวเราะ)
คิดยังไงกับการที่คนเลือกไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นมากกว่าการเคารพกฎหมาย
แฟรงค์: ศักดิ์สิทธิ์หมดทุกอย่างยกเว้นกฎหมาย มันเป็นประเทศไทยอะ มันไปไกลกว่านี้ไม่ได้หรอก มันมีคนขับเคลื่อนเป็นคนยุคนั้นอะ เราก็ยังมองว่านี่เป็นอุปสรรคอย่างนึงที่ทำให้ประเทศไทยอยู่อย่างนี้ เป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องการใช้เหตุผลมาก ๆ การคิด วิเคราะห์ แยกแยะ
เฟนเดอร์: ผมว่ามันเป็นช่องโหว่การศึกษา เพราะคนไม่รู้คนเลยยังไปไหว้อย่างนั้นอยู่ ในระบบการศึกษาคือ เรียนไปถึงดอกเตอร์หรือเป็นนักการเมืองแล้วมึงยังมาไหว้ ฝนตกน้ำจะท่วมยังไปไหว้ขอกันอีก การศึกษามันต้องเจาะไปในจิตวิทยาของคน พัฒนาตรรกะของคนให้ได้
เบียร์: ของผมว่ามันแล้วแต่ความเชื่อนะ เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าต่างประเทศเขาก็มีความเชื่อของเขา เรื่องกฎหมายผมขอไม่พูดละกัน
ถ้าการทำคราฟต์เบียร์หรือปลูกกัญชาถูกกฎหมาย
โด่ง: ดีเลยครับ
เฟนเดอร์: เหมือนมินิมาร์ตอะ เคยเข้าร้านแบบเก่า ๆ ไหม เดินเข้าประตูไปมันจะมีแอร์พ่นออกมา ของเราจะเป็นควันมาเลย (หัวเราะ)
อยากบอกอะไรกับคนที่จำกัดเวลาซื้อเหล้า
แฟรงค์: งี่เง่าครับ มันเคยมีประเด็นว่าฝรั่งจะซื้อเบียร์วันวิสาขบูชา ทำไมเขาซื้อไม่ได้วะ เขาก็ไม่ได้นับถือศาสนา (เฟนเดอร์: เหมือนเป็นรัฐผูกมัด รัฐลำเอียงอะ) เราพยายามให้ศาสนาประจำชาติเป็นศาสนาพุทธ แต่เราไม่เคยใช้เหตุผลอะไรในแต่ละเรื่องเลย ทุกอย่างคือความว่างเปล่า คือความจริง คือเหตุและผล แต่เราดันมีรูปเคารพเต็มไปหมดที่มันไม่ใช่แก่น เราเอาพราหมณ์มาหมดเลย ต้องไหว้นู่น ต้องไหว้นี่ ถึงบอกไงครับ ประเทศนี้อะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ไปหมด
เฟนเดอร์: คนสร้างคติให้สังคมเชื่อแบบนี้ได้ก็คือคนที่มีอิทธิพลข้างบนนั่นแหละ ซึ่งคนที่มีอิทธิพลข้างบนก็โดนกดดันจากตัวสังคมอีกทีนึง คือมันแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เหมือนงูกินหาง แต่ถ้าพูดตื้น ๆ เลยมันเป็นความลำเอียงของรัฐ ที่รัฐไม่ทำให้ของพวกนี้เป็นทางเลือกของประชาชน แต่บังคับด้วยการทำเป็นแบบอย่าง แล้วมันมีคำว่าซื้อหลังเที่ยงคืนผิดศีลด้วยนะ แต่ถ้ามันขายตามเวลาปกติ มันก็ผิดศีลอยู่ดีหรือเปล่า
แฟรงค์: เหล้าเบียร์เป็นของที่ผิดศีล แต่เศรษฐีที่ขายเหล้าเบียร์ก็เป็นบุคคลที่รวยมาก ๆ แล้วยังไปมีอิทธิพลกับกฎหมาย เหมือนที่เฟนเดอร์บอก ถ้าเราสร้างนิยามได้ แล้วคนทำตามนิยามใหม่เราได้ มันอาจจะไม่แฮปปี้กับทุกคน แต่ก็อาจจะดี
เฟนเดอร์: รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าด้วยที่รณรงค์ไม่อยากให้สูบ แต่ความจริงบุหรี่ไฟฟ้ามันทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง ซึ่งมันดีกว่า แต่รัฐเป็นเจ้าของโรงงานยาสูบไง มันก็แบบเดียวกันกับ Uber ที่รัฐไม่สนับสนุน ทั้ง ๆ ที่เมื่อสิบปีก่อนมีนโยบายให้ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน จำได้ไหม Uber ตอบสนองโจทย์นี้มาก แล้วนี่มาต่อต้าน ซึ่ง เมื่อคืนเพิ่งพูดเรื่องนี้เลย ก็คือการประสบความสำเร็จของ Uber ที่เข้ามา มันเป็นตัวสะท้อนเลยว่าระบบขนส่งมวลชนของเรามันไม่ดี คนก็เลยไปเทใจให้กับตรงนู้น กลายเป็นการโทษปลายเหตุอะ คุณไม่มองว่าตัวเองไม่ดีมันเลยมีทางเลือกแบบนี้โผล่ขึ้นมา
ถ้ามีคนในอนาคตข้างหน้ากลับมาค้นเจองานของเราแล้วพบว่า ไอ้เหี้ย ละเอียดสัส คือมันเหมือนเป็นงานที่รอเวลาให้คนจะมาเจอ แต่งานที่มันตื้น ๆ คนเขาก็จะผ่านไป ยิ่งถ้าผ่านยุคสมัยไปแล้วคนกลับมาเห็น เชี่ย ขยะของยุคสมัยว่ะ
ทิ้งท้ายอะไรให้กับประเทศไทย
โด่ง: ขออยู่เฉย ๆ ดีกว่า
เบียร์: ผมอยากให้มีการศึกษาทางเลือกแบบฟินแลนด์ ฟินแลนด์เขาจะไม่ได้สอนเรื่องเดียวกัน เขาเข้าไปแล้วเอาเด็กที่สนใจเรื่องไหนแล้วแยกกลุ่มพวกนี้ไปสอนในสิ่งที่เขาสนใจ แล้วก็เรื่องการจำกัดสื่อด้วย
แฟรงค์: รถไฟความเร็วสูงครับ อันนั้นพูดเล่นนะ อยากฝากเรื่องผู้ใหญ่ในประเทศมากกว่า ไม่รู้ดิ ประเทศไทยมันอยู่ในจุดที่จะเกิดอะไรขึ้นก็ได้แล้วอะ ทั้งเรื่องกฎหมายอะไรแบบนี้ คนจนไม่เคยรอดอะไรเลย คนรวยแม่งรอดเอา ๆ ความยุติธรรมมันหายไปหมดแล้ว เราจะอยู่กันอย่างนี้จริง ๆ ใช่ไหม ท้ายสุด ก็อยากให้พี่ ๆ สื่อถามรัฐบาลแบบเถียง ๆ เค้าหน่อย อย่ากลัว แรงหน่อย สู้เขาหน่อยก็ได้ ไม่ใช่ว่ามัวแต่ยืนฟังอย่างเดียว ไม่งั้นก็เปิดเฟซบุ๊กให้เค้าดูหน่อย ว่าคนอื่นเค้าด่า เค้าว่าอะไรรัฐบาลอยู่บ้าง
เฟนเดอร์: การศึกษาเหมือนกันครับ อยากให้ดีขึ้น อาจจะไม่ฟินแลนด์ก็ได้ แต่ให้มันเจาะถึงจิตวิทยาการเรียนรู้ของคนจริง ๆ ปรัชญาที่ไม่ได้เอาผลจากการวัดผลสอบ เอาที่คน คิดองค์รวม
ปอนด์: ไม่รู้ 🙂
ฝากผลงาน
เบียร์: อัลบั้มใหม่เราบอกไม่ได้ ออกเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น แล้วอัลบั้มนี้จะเป็นอัลบั้มที่เราพอใจที่สุด ฝากติดตามกันด้วย
แฟรงค์: ถ้าออกมาก็ซื้อด้วยนะครับ
เฟนเดอร์: ใกล้สุดก็เป็นซิงเกิ้ลแหละนะ อย่าไปยึดติดกับอันเก่ามากนะครับ เพราะอันใหม่ก็จะเป็นอันเก่าเหมือนกัน
กว่าสองชั่วโมงที่เราและ Solitude is Bliss ได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวและความคิดเห็นกัน ทำให้เรายิ่งสนใจตัวตนของพวกเขาและรอที่จะรับฟังสิ่งใหม่ที่กำลังจะออกมาว่าพวกเขาจะถ่ายทอดความรู้สึกหรือแนวคิดออกมาผ่านเพลงยังไงบ้าง ตอนนี้ก็คงต้องฟังเพลงที่ผ่านมาของพวกเขาใน ฟังใจ รอกันไปก่อนล่ะนะ
Facebook https://www.facebook.com/solitudeisbliss.band