Rasmee : Shades of Molam
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Nattanich Chanaritichai
- Stylist: Varachaya Chetchotiros
- Art Director: Tunlaya Dunnvatanachit
Part 0: INTRODUCTION
ถ้ายังพอจำกันได้ เมื่อหลายเดือนก่อนมีดราม่าถกเถียงกันว่าการประยุกต์ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมให้ร่วมสมัย เป็นการทำลายเกียรติ ความดีงาม ความศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ของศิลปะนั้น ๆ หรือไม่ แน่นอน ฝั่งอนุรักษ์นิยมก็จะมองว่านั่นเป็นการหยิบมาใช้แบบไม่เหมาะควร ซึ่งในแง่มุมของคนสร้างงานศิลปะที่คลุกคลีกับงานพื้นถิ่นกลับมองว่า นั่นคือการต่อลมหายใจให้วัฒนธรรมเก่าที่กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลาหากไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับผู้คนรุ่นใหม่ที่จะขับเคลื่อนสังคมต่อไปในอนาคต ด้วยยุคสมัย วิถีชีวิต และแนวคิดคนที่เปลี่ยนไปจึงทำให้คนทำงานศิลปะไม่สามารถแช่แข็งรูปแบบดั้งเดิมต่อไปได้
นั่นคงจะเป็นการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมไทยหลังจากมีคนพยายามจะแหวกขนบเพื่อให้ศิลปะนั้นไปต่อ ซึ่งหากจะย้อนกลับไปนานกว่านั้น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนประยุกต์ศิลปะดั้งเดิม โขนของอาจารย์พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ถูกลดทอนรูปแบบจนเหลือเพียงหัวใจของศาสตร์ ซึ่งคือร่างกายและการเคลื่อนไหวของผู้แสดง ไม่ได้รับการยอมรับจากคนไทยบางกลุ่ม แต่งานชิ้นนี้กลับถูกมองว่าเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมและเป็นที่ชื่นชมในสายตาชาวโลก หรือ The Paradise Bangkok Molam International Band กลับเพิ่งได้รับความสนใจหลังจากที่พวกเขาได้ไปแสดงที่เทศกาลดนตรีระดับโลกอย่าง Glastonbury หรือ Boiler Room ทั้งที่จริงแล้วนักดนตรีแต่ละคนถือเป็นครูเพลงอีสานที่หาตัวจับยากยิ่ง และแม้แต่พวกท่านเองก็นำเครื่องดนตรีอีสานไปผสมผสานกับเครื่องดนตรีสากลได้อย่างลงตัว ถึงแม้ว่าลำดับขั้นของการได้รับการยอมรับในศาสตร์เหล่านี้จะดูผิดเพี้ยนจากที่ควร (ที่คนในควรให้ความสนใจก่อนคนนอก) แต่นี่อาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับวงการศิลปะและดนตรีพื้นบ้านของไทย
ที่ว่าอย่างนี้ก็เพราะเมื่อช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีศิลปินและวงดนตรีที่หันมาให้ความสนใจกับดนตรีท้องถิ่น โดยการหยิบจับองค์ประกอบบางอย่างไปผนวกรวมกับดนตรีร่วมสมัย ทำให้เกิดเป็นสีสันและสุ้มเสียงที่แปลกใหม่น่าสนใจออกมามากมายนับไม่ถ้วน เราอาจจะเคยได้ยินหมอลำดั๊บของ เสียงหองไลออนส์ หมอลำอิเล็กทรอนิกของ ต้นตระกูล แก้วหย่อง แร๊ปกำเมืองอย่าง ปู่จ๋าน ลองไมค์ หรือสิงห์เหนือเสือใต้ แม้แต่พี่เบิร์ด ธงไชย กับสามสาว จินตหรา พูนลาภ แคทลียา อิงลิช และนัท มีเรีย ก็ยังเคยเป็นปรากฏการณ์ แฟนจ๋า ที่ร้องกันได้ทั้งบ้านทั้งเมือง ซึ่งเราก็มั่นใจมาก ๆ ว่าจะต้องมี local combination แบบนี้อยู่อีกมากในบ้านเราเพียงแต่ยังไม่ได้รับการค้นพบอย่างทั่วถึงเท่านั้นเอง
ร่ายยาวมาจนถึงบรรทัดนี้ เราแค่อยากให้ทุกคนได้สัมผัสกับอีกศิลปินที่มองเห็นความเจ๋งของวัตถุดิบที่ตัวเองมีและไม่เคอะเขินที่จะทดลองอะไรใหม่ ๆ กับแนวดนตรีสากลหรือเพลงพื้นบ้านของประเทศอื่น ๆ เพราะเธอเชื่อว่าโลกของดนตรีเป็นโลกที่ไร้พรหมแดน เกริ่นมาประมาณนี้คงรู้แล้วแหละว่าเราหมายถึง แป้ง-รัสมี เวระนะ หมอลำอีสานโซล แต่จากคราวก่อนเราพาทุกคนไปรู้จักเธอมาแล้วคร่าว ๆ หนนี้เราจะมาเจาะลึกตัวตน บทบาท ความสนใจ และแรงบันดาลใจในการทำงานของเธอกัน
ความสวยมันเป็นเรื่องของรสนิยม มันก็พูดกันยากว่าจะให้คนมาชอบอะไรเหมือนเรา
Part 1: ISAN CLASSIC
รัสมีได้ทำความรู้จักกับหมอลำจริง ๆ ตอนไหน
มีโอกาสช่วงสักประมาณอายุ 15 คือได้ไปอยู่กับวงหมอลำที่ขอนแก่น อันนี้ได้ทั้งร้องกับวงแล้วก็ได้เล่นหมอลำเรื่องด้วย
เสน่ห์ของหมอลำที่สัมผัสได้
เสน่ห์ของหมอลำเรื่องมันจะเป็นวิธีการเขียนเนื้อให้มันเชื่อมโยงกันเพื่อที่จะจำง่าย คนแต่งเขา amazing มาก แล้วนักแสดงคนนึงเนี่ยจะต้องจำฉากตัวเองให้ได้ มันน่าทึ่งมากสำหรับพี่เพราะว่ามันเยอะไง แล้วเขาก็จะจำกันได้หมดเลยว่าฉากนี้เขาต้องเป็นตัวนี้ แล้วเขาต้องจำเนื้อร้องของตัวเอง ส่วนหมอลำร้องพี่ชอบในเสน่ห์ของหมอลำที่มันมี improvise อยู่แล้วในตัวของมัน คืออย่างเสียงเอื้อนของแต่ละคน เราก็จะรู้เลยว่าน้ำเสียงคนนี้คือใครร้อง
คำว่า ‘หมอ’ ในหมอลำ ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับ ‘แพทย์’
คำว่าหมอคือผู้เชี่ยวชาญ อย่างหมอลำก็คือผู้เชียวชาญในด้านการลำ แล้วก็จะมีหมอพิณ หมอแคน อีก
การลำต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง
ต้องบอกก่อนเลยว่าพี่ไม่ได้มีครูบาอาจารย์อะไรที่สอนมาตั้งแต่แรก ก็เลยยังเข้าได้ไม่ลึกขนาดนั้น แต่เราก็เหมือนหยิบตรงนั้นมานิดนึง อยู่กับวงดนตรีตรงนี้ เหมือนสะสมประสบการณ์ด้วยตัวเองด้วย
ชอบหมอลำคนไหนที่สุด
เยอะนะ อย่างแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ ก็ชอบ แม่บานเย็น รากแก่น ก็ชอบ จินตหรา พูนลาภ ก็จะเป็น vibration ลูกคอลูกเอื้อนของเขาที่เป็นเอกลักษณ์มาก พรศักดิ์ ส่องแสง ก็จะเป็นเจ้าพ่อในการลำประเภทนึง เรียกว่าลำเต้ย จะมีเขาเป็น original ที่ลำออกมาแล้วฟังติดหูที่สุด
หมอลำมีแขนงแยกย่อยออกไปอีก
ลำเต้ย ลำเพลิน ลำซิ่ง ลำกลอนทางสั้น-กลอนทางยาว มันเยอะมาก แต่ละจังหวัดก็มีของเขา บางอันก็… แบบนี้ก็มีด้วยหรอ อย่างเต้ยรถอีแต๋นเงี้ย เพิ่งเคยได้ยินจากเพื่อน บางอย่างก็แบ่งตามภูมิภาค อย่างลำภูไทก็จะเป็นทางเหนือ ทางอีสาน บางอย่างแบ่งตามการละเล่นอย่าง ลำผีฟ้า ลำบางอย่างมันคล้ายกันมาก เพียงแต่อาจารย์คนนี้ได้ไอเดียใหม่ ชื่อมันอาจจะเปลี่ยนไปตามเมโลดี้ที่ฉีกออกไปนิดนึง มันเลยมีเยอะมาก
รู้สึกยังไงที่เมื่อก่อนคนยี้หมอลำ แต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เองหรือชาวต่างชาติกลับชอบหมอลำมาก
มันเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ดีนะ เพราะว่ามันทำให้คนทำเพลงกล้าที่จะทำ อย่างน้อยมันเป็นทางนึงที่เปิดให้คนอยากทำเพลง หรือรู้สึกอยากทำต่อ อย่างเราก็เหมือนกัน ตอนแรกเราก็ไม่ได้ตั้งความหวังอะไรไว้เลย แต่พอออกมาแล้วมันมีคนชอบ เราก็รู้สึกว่าเราอยากทำ
เราจะสามารถเผยแพร่เพลงอีสานไปถึงคนทั่วไปได้ยังไงบ้าง
อย่างของพี่พยายามใช้ภาษาเนื้อร้องที่มันเรียบง่าย ดนตรี ทำนองที่แต่งไม่ต้องสลับซับซ้อนมาก คนจะได้จำได้ เพราะบางทีบางคนเขาก็กวีไปเลย มันเข้าถึงยากกับคนทั่วไป
อะไรทำให้หมอลำเป็นสิ่งร่วมสมัย ไม่เชย
พี่คิดว่ามีเด็กรุ่นใหม่งอกเงยตลอดเวลา อย่างวงโปงลางจะมีคนเยอะมากเป็นหลายสิบชีวิต แล้วก็จะมีเด็ก ๆ ด้วย เราเห็นมือพิณที่อุบลจะมีอยู่คนนึง ชื่อเบบี๋หรืออะไรสักอย่าง 11 ขวบแต่เป็นมือพิณที่โซโล่ได้แบบสุดยอดแล้ว พี่ว่ามันเป็นการปลูกฝังของครูที่เขาสอนให้เด็ก ๆ มันก็เลยไม่ตาย แล้วมันมีเครื่องดนตรีที่หลากหลายด้วยที่สามารถประยุกต์เข้ากับดนตรีหลาย ๆ ประเภทได้
แต่ทำไมคนคิดว่าดนตรีไทยดูเชย
อาจจะเป็นที่จังหวะที่โดดเด่นของดนตรีประเภทนี้ไหม ไม่รู้นะ บางทีเพลงภาคอื่นก็เป็น อย่างเหนือก็จะช้า ต่อนยอน หมอลำอาจจะมีจังหวะที่ดูสนุก เข้าถึงง่ายกว่า
จริงไหมที่คนอีสานเป็นคนรักสนุก
พี่ว่าใช่ มันเห็นความแตกต่างเลยนะหลังจากที่อยู่ภาคเหนือมานาน ๆ เกือบ 20 ปีไม่ได้กลับบ้าน พอกลับไปเล่นคอนเสิร์ตแล้วเราเห็นผู้คนที่แตกต่าง อย่างที่อีสาน เพลงแรกขึ้นมาเขาก็รอเต้นเลย เป็นคนรักสนุก อย่างทางเหนือจะเนิบ ๆ ช้า ๆ เป็นประเภทชอบแต่ไม่แสดงออก เราชอบวัฒนธรรมอีสานที่ตรง ๆ รู้สึกยังไงก็แสดงออก
รัสมีเคยบอกว่าตอนกลับไปบ้านแล้วมีเรื่องอยากจะเล่า ไปเจออะไรมา
ตอนนั้นไปเล่นคอนเสิร์ตที่สุรินทร์ จะมีคลับที่นึงที่เราเดินไปหาน้อง ๆ แฟนคลับกลุ่มนึง พอไปในร้านเขาเปิดเพลงที่เรารู้ว่ามันไม่ใช่เพลงไทยแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร จนตอนเราจะกลับก็ถามน้องเขาว่าอันนี้มันคืออะไร เขาบอกอาจารย์คนนี้เป็น “จะเป็ย” (กระจับปี่) เป็นเครื่องสายของเขมรที่มีสามสายคล้าย ๆ พิณ แต่ตัวมันเหมือนกระป๋อง แล้วเสียงมันพิเศษมาก คนร้องจะเหมือนเขาร้องไปเรื่อย ไม่รู้นับหนึ่งตรงไหน ออกตรงไหน แต่แกก็จะดีดไปด้วยร้องไปด้วย แล้วน้องเขาบอกว่าลุง 80 แล้ว เป็นคนเดียวที่ขุขันธ์ ศรีสะเกษ ที่ยังมีชีวิตอยู่ เราก็รู้สึกว่าถ้าไปหาลุงคนนี้จะเรียนที่ลุงร้องได้ไหม แต่น้องเขาบอกว่า พี่ไม่ต้องไปเรียนหรอก คือถ้าพี่ไปพี่แค่ไปนั่งใต้ต้นกล้วยในวันพระจันทร์เต็มดวง แล้วถ้ามีอะไรโผล่มา ถ้าพี่วิ่ง พี่จะไม่ได้วิชา แต่ถ้าพี่นิ่ง พี่ก็ร้องได้ อะไรเงี้ย เราก็ขนลุกสิ คือน่ากลัวมาก พี่ว่ามันเหมือนทางเขมรมีอะไรไม่รู้ลึกลับซับซ้อน อาจารย์เขาก็ได้วิชามาจากวิธีนี้ แต่เราไม่ได้ขนาดนั้น แค่อยากไปฟังตัวจริงของอาจารย์คนนี้ร้องแล้วหยิบมาใช้บ้าง แล้วก็มีอีกอย่างนึงคือหลัง ๆ เรารู้จักกับคนพื้นถิ่นทางบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เขาก็จะแนะนำให้เราฟังเพลงนู่นนั่นนี่ ตอนนี้เลยกลายเป็นติดฟังเพลงกันตรึมไปเลย แล้วมันทำให้เราเกิดไอเดียอยากทำ อยากนำมาผสมผสานมาก
กันตรึมเป็นเครื่องดนตรีนี่นา
พี่ก็ไม่ได้รู้ลึกมาก แต่กันตรึมมันก็เป็นการร้องอย่างนึงเหมือนกันนะ อย่างลำเพลิน กันตรึม อายัย มันก็แยกประเภทกันไป ซึ่งทางอีสานก็จะเป็นซอที่เป็นเมโลดี้ที่อยู่หลังเสียงคนร้อง แต่ว่าทางเขมรจะมีซอเป็นตัวนำอยู่ตลอดเวลา ส่วนอายัยเป็นดนตรีพื้นบ้านของเขมรที่เป็นลิเกเล่าเรื่องราวเหมือนกัน
มีเพลงแบบอื่น ๆ ของทางภาคอีสานอีกไหม
ไม่ค่อยมีแล้วนะ แต่ถ้าเป็นทางอีสานใต้ก็จะเป็นเพลงเขมร มีเจรียง มีอายัย มีกันตรึม
รู้สึกแย่ที่มีคนแบ่งชนชั้นทางดนตรี
พอคนพูดถึงเขมรคนจะนึกถึงด้านลบหรือความน่ากลัว
ของพี่จริง ๆ ที่บ้านก็มีเรื่องน่ากลัวแบบนั้น ต้องมีนั่นมีนี่จะได้มีคนรักคนหลง คือปู่ทวดพี่นี่ดังมาก สายนั้นเลย แต่พ่อเราไม่เคยสอนให้เราเชื่ออะไรแบบนั้นเลย ทั้ง ๆ ที่พ่อเราลองหมด เป็นลูกศิษย์ สักนู่นนี่นั่น พ่อบอกว่าอย่าเลย ไม่ต้องทำหรอก เชื่อมันในตัวเอง
จริง ๆ แล้วในเขมรมีอะไรที่น่าสนใจ
มีเยอะนะ อย่างตอนเราไปแสดงที่จาการ์ตา เราไปเจอเสียงซอเขมร เป็นเด็กวัยรุ่น เราอยากแจมกับคนนี้เลยเพราะเขาเก่งมาก แล้วก็จะมีคล้าย ๆ เปิงมางบ้านเรา ไปเจอดนตรี เจอวัฒนธรรมบ้านเขา ซึ่งชอบมาก แล้วอยากจะเดินทางไปศึกษา เรียนรู้ ซึ่งภาษาก็ด้วย เราเป็นเขมรแต่เราอยู่ฝั่งไทย เราไม่เคยเรียนรู้อักษรหรือการเขียนอะไรอย่างนั้นเลย
ตอนเอาเพลงเจรียงมาใส่ในเพลง ไม่กลัวคนฟังไม่รู้เรื่องหรอ
ไม่กลัวนะ แต่มีคนบอกเยอะว่าฟังไม่รู้เรื่อง แต่เราไม่คิดว่าตรงนี้มันเป็นประเด็นใหญ่ที่จะทำให้เราหยุดการสร้างสรรค์ เพราะว่าจริง ๆ คนไทยก็เอาคำเขมรมาใช้ตั้งเยอะแยะ พี่ว่ามันอยู่ที่คนจะเปิดไหม แต่ด้วยฐานะที่เราเป็นศิลปิน เรื่องฟังเข้าใจหรือไม่เข้าใจเราไม่คิดว่ามันเป็นปัญหาเลย แต่เคยมีประเด็นมาเล่นในกรุงเทพ ฯ ก็โดนไม่ให้เล่นหมอลำ ตอนแรกพี่บอกไปว่าถ้ามีแบบนี้ก็ไม่อยากเล่น แต่คิดว่ามันเป็นส่วนน้อยที่เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้น แล้วเห็นว่าวงดัง ๆ ก็มาเยอะ มี 25Hours คิดว่าคงไม่เป็นไร แต่วงเราก็เจอ ตอนเราซาวด์เช็กก็มีพิณ มีแคน มาเป่า เจ้าของสถานที่บอกว่ามันไม่เหมาะที่จะมาอยู่ตรงนี้เพราะของเขาเป็นห้างหรู เพลงหมอลำของคุณมันไม่เหมาะ ให้เปลี่ยนเพลงเลย ร้องอะไรก็ได้เป็นคัฟเวอร์ แล้วเรารู้สึกว่า ทำไมมาบอกตอนนี้ รู้ใช่ไหมว่าวงเราเป็นยังไง ตอนนั้นทั้งโกรธด้วย จะร้องไห้ด้วย ไม่รู้จะทำยังไง รู้สึกแย่ที่มีคนแบ่งชนชั้นทางดนตรี เราไม่ได้มีปัญหากับออร์กาไนเซอร์ เขารู้จักเราและชอบเรามาก เขาเองก็ไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น สงสารน้องออร์กาไนเซอร์ตอนนั้นเหมือนกันเพราะต้องรับหลายทาง ตอนหลังน้องสต๊าฟฟ์คนนึงบอกว่า พี่เล่นปกติไปเลย ถ้าเขามาผมจะอยู่ตรงนี้ เขาจะถึงตัวผมก่อน เราก็เลยเล่น แต่เราก็เขวแล้วอะ ซึ่งพอจริง ๆ เขาให้เล่นแต่ก็ให้เปิดแค่ลำโพงมอนิเตอร์เราข้างหน้า ห้ามออก PA อะ ตลกมาก หลัง ๆ พี่เลยจะบอกเขาไว้เลยว่าถ้ามาที่นี่ มันจะมีปัญหาแบบนี้ไหม ถ้ามีพี่ไม่ไป ล่าสุดมี Mercedes Benz ติดต่อให้ไปเล่น เราก็บอกเขาเรื่องนี้ แล้วเขาฉุนมาก เขาโมโหแทนเราว่ามีอย่างนี้ด้วยหรอ (หัวเราะ) แต่มันก็ผ่านไปแล้ว พี่ไปแต่งเพลงมาแล้วเรียบร้อยหนึ่งเพลง ชื่อ ลมผ่านไป ก็คือพูดมาเหอะ ถึงพูดมามันก็จะเป็นเพียงแค่ลมผ่านหูซ้ายทะลุหูขวา เราจะไม่หยุด เราจะทำต่อไป
อะไรคือวัฒนธรรมอีสานที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้
การทำงานหนักลำบากตรากตรำตอนเด็ก ๆ มั้ง ตอนรุ่นพี่ยังมีอยู่ คือมันไม่มีน้ำประปาแล้วเราต้องไปหาบน้ำทุกเย็น นั่นคือหน้าที่ของเด็ก เสาร์อาทิตย์ก็ทำงานหนัก เลี้ยงควาย ทำนา ปัจจุบันก็อาจจะมีอยู่ แต่คงมีน้อย แล้วก็อีกเรื่องคือการศึกษาที่ผู้ใหญ่ไม่ค่อยเห็นคุณค่า ไม่สอนเด็กว่ามันจะช่วยให้อนาคตเราดี เขามีแต่ปลูกฝังให้ทำงาน หาเงิน สร้างบ้าน ซื้อรถ คือเราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มต้นความคิดแบบนี้ แล้วมันปลูกฝังให้คนเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน คือมันน่าเศร้าสำหรับพี่ เด็กมันจะคิดว่า มันคือความรับผิดชอบของเราที่เราต้องไปกรุงเทพ ฯ แม้จะไม่รู้จักใครเลย คือทุกคนต้องผ่านกรุงเทพ ฯ เพราะเป็นสิ่งที่เขาถูกปลูกฝังว่าอันนี้ทำแล้วดี เด็กไม่สามารถที่จะออกความเห็นได้เลย ตรงนี้เป็นสิ่งที่คนเขาไม่เห็น แต่เราเห็น เรารู้ว่ามันมีอย่างนี้จริง ๆ ตอนนั้นในยุคเราก็มีคนบอกเราว่าไม่ต้องเรียน ให้ทำงานนู่นนั่นนี่ แต่เราบากบั่นหาเงินเรียนเองจนเรียนจบ เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาสำคัญ
ถ้าพูดถึงอีสานก็ต้องนึกถึงอาหารอีสาน รัสมีชอบกินอะไร
พี่ชอบกินส้มตำ ปลาร้า (หัวเราะ) แต่มีเมนูแปลกที่อยากให้ลองคือคั่วกุดจี่ คือแมงกุดจี่อยู่ในขี้ควาย (หัวเราะ) แล้วต้องไปขุดตอนขี้ควายมันแห้งแล้ว แมงมันจะไปอยู่ในนั้น ไม่น่าเชื่อว่าแมงเนี่ยมันอร่อยมากเลย มันหอม ๆ มีความเป็นตัวของมันเอง ใครอยากลองต้องไปตามหมู่บ้านในอีสานเลย กล้ากินไหม
Part 2: MUSIC OF THE WORLD
World Music ประเทศไหนที่น่าสนใจในตอนนี้
ของพี่จะเป็นทางแอฟริกันเลย พวกเพลงมาลี มาลีเหนือ มาลีใต้ น่าสนใจหมดเลย ที่โดดเด่นก็จะเป็นเครื่องเคาะ ชื่อ Djembe (เจมเบ้) แล้วก็เครื่องสายชื่อ Kora (โคร่า) เมโลดี้ก็คล้าย ๆ กับเพลงพื้นบ้านของไทย แต่เรารู้สึกทึ่งกับวิธีนับจังหวะของเขา มันไม่เหมือนเราเลย อย่างหมอลำของเรามันยังลง 1 2 3 4 แต่อันนั้นเป็นจังหวะไวขึ้นมาแล้วมีจังหวะขัด 6 8 อะไรอย่างนี้ มันท้าทาย เราก็ทำไม่ได้ เคยมีวงแอฟริกันแล้วต้องร้อง 6 8 ซึ่งมันเป็นอะไรที่ยากมาก มันไม่ชิน ถ้าพี่ไม่ฝึกก็จะลืมไปเลย ต้องรื้อใหม่เพราะเราชินจังหวะแบบเดิมมาตั้งแต่เด็กไง บลูส์ โซล แจ๊ส ก็ชอบ แต่กับละตินก็ชอบแต่ไม่ได้รู้สึกว่ามันเข้ากับเรา จะมีอยู่อันนึงที่มีมือเพอร์คัสชันของพี่ที่รู้จักเพลงโซนนู้นส่งให้ฟัง มันแปลก ๆ มันจะมีบางอย่างที่เข้าไม่ถึง ไม่รู้ว่าคนร้องมาตอนไหน ยังไง มันตลกมาก กับบางเพลงก็รู้จักจากคนฝรั่งเศสที่อยู่ในเชียงใหม่ เขาส่งมาให้ฟัง
ล่าสุดได้ร่วมงานกับ Srirajah Rockers ทำหมอลำเร็กเก้ เป็นยังไงบ้าง
ดีค่ะ ผลตอบรับดี แล้วทุกคนก็น่ารักมาก วินน่ารักมาก มาอัดเพลงด้วยแล้วทำมิวสิกวิดีโอให้ คือทุกคนก็ชอบ แต่ด้วยความเป็นเรา เราไม่ค่อยได้ร้องเร็กเก้อยู่แล้วก็กลัว ทุกครั้งที่ขึ้นเวทีกับศรีราชาร็อคเกอร์จะรู้สึกไม่ค่อยสบาย กังวลมาก แต่เขาก็ดีมากนะ บอก ไม่ต้องห่วงเลยพี่ โอเคมาก ก็เป็นดนตรีอีกแบบนึงที่เรารู้สึกว่าก็เข้ากันได้กับเพลงอีสาน เพราะเราก็แต่งเพลง อย่าไห้เด้ ให้เขา เขาบอกว่าอยากได้เป็นลาวด้วย เขมรด้วย ก็เลยเปลี่ยนของเขาหมด เขาให้โอกาสเราทำหมดเลย
จะเอาเพลงเร็กเก้มาอยู่ในอัลบั้มใหม่ด้วยหรือเปล่า
ตอนนี้ยังไม่คิดว่าจะมีค่ะ แต่อาจจะมีโอกาส
เพลงหมอลำสามารถเข้ากับดนตรีแบบไหนได้อีก
ฮิปฮอปนี่ก็เคยลองมาบ้าง บลูส์นี่ก็คิดนะ ลองแต่งเพลงหมอลำให้ร้องแบบบลูส์นี่ก็อยากทำ
ศิลปิน world music คนไหนที่ควรลองฟัง
รอบที่แล้วบอก Dengue Fever ไป หนนี้มีฝรั่งที่อยู่เขมรได้เข้าชิง Grammy ชื่อ Krom เป็นคล้าย ๆ คันทรี บลูส์ แต่จะมีผู้ชายแก่ ๆ ร้องคนนึง เสียงน่ากลัว ลึกลับ มีพลังมาก ร้องเกี่ยวกับสังคมเขมร แต่ร้องเป็นภาษาอังกฤษ เมโลดี้กีตาร์จะคล้าย ๆ เพลงเขมร แล้วก็จะมีผู้หญิงคนนึงเป็นนักร้อง ยังเป็นวัยรุ่นอยู่เลย ร้องเป็นภาษาเขมร
ซีนดนตรีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไหนน่าสนใจ
พี่คิดว่าอินโดนีเซีย เพราะที่อินโด ฯ เขามีเกาะเล็ก ๆ น้อย ๆ เยอะ แล้วจะมีดนตรีพื้นถิ่นของเขาที่น่าสนใจ แล้วเขาก็ล้ำไปกว่าเราคือมีพวก music festival อย่าง Java ที่เอาของพื้นถิ่นออกมาแล้วทำเป็นคอนเสิร์ต ซึ่งของเรามันยังไม่มีตรงนี้ที่เป็น festival ไม่มีคอนเสิร์ตกลางแจ้งให้ดนตรีพื้นถิ่นให้คนมาดูแล้วเปิดกว้าง จริง ๆ พี่วางแผนไว้ อยากทำหมอลำเฟสติวัล แต่ทำที่เชียงใหม่ พี่จะหยิบหมอลำร่วมสมัย ทั้งใหม่ทั้งเก่าในงาน นี่คือไอเดียคร่าว ๆ ตอนนี้อยากได้สปอนเซอร์ให้มาช่วยค่าเดินทาง เพราะมันมีกลุ่มนักดนตรีที่ต่างประเทศที่เขาสนใจหมอลำ แต่ไม่มีพื้นที่ให้แสดง ถ้าสมมติเขาได้มาก็จะได้มีคนรู้ว่ามันมีชาวต่างชาติที่เล่นดนตรีหมอลำได้ ก็คุย ๆ กับเพื่อน ๆ ในกลุ่มอยู่
ชาวต่างชาติเขาไปเรียนจากไหนกัน
เขามาเรียนที่นี่เลย อย่างวง Limousine ที่พี่เคยไปร้องด้วยเขาก็มาเรียนที่อุบล ฯ เดือนนึง ไปเรียนกับชาวบ้านครูเพลง มีหลายคนนะที่เป็นแบบนี้
Part 3: BEAUTY STANDARD (?)
รัสมีเคยเล่าว่าถ้าไม่สวยจะเป็นนักร้องลูกทุ่งไม่ได้ ตอนนี้ยังเป็นแบบนั้นอยู่ไหม
เราเห็นใครในทีวีไม่สวยไหมล่ะ (หัวเราะ) มันคงมีแล้วแต่มันน้อยนะ คนไม่สวยเนี่ย ไม่รู้เดี๋ยวนี้เป็นไหม แต่เมื่อก่อนเป็น อย่างของเราคือเรามั่นใจว่าแค่เสียงดีอย่างเดียวเราคิดว่ามันพอสำหรับการเป็นนักร้อง แต่พอเข้ามาจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้นน่ะ ไม่สวย เป็นนักร้องไม่ได้ แล้วมันยังมีอย่างอื่นอีกเยอะ
จะมีอะไรที่ลบทัศนคติเรื่องการใช้ความงามเพื่อการตลาดได้ไหม
มันจะแก้ก็ต่อเมื่อบริษัท ทางค่ายเขาแก้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เขาทำตามกัน อย่างถ้าคนนี้ไม่เป็นเหมือนคนที่ถูกยอมรับแล้วเขาก็จะขายไม่ได้ บางทีนักร้องเขาอาจจะไม่อยากแต่งตัวโป๊ ๆ แต่ก็อาจจะเป็นที่บริษัทให้ทำ ถ้าเขาไม่ทำเขาก็ไม่มีงาน ต้องมีจุดขายเพราะค่านิยมสังคมเป็นแบบนั้น
เลยเป็นที่มาของเพลง สวยไทย
จริง ๆ มันมาจากเพื่อนคนนึงที่อยู่เชียงใหม่ คือเขาอยากทำสารคดีเกี่ยวกับสีผิวที่เชียงใหม่ เขาเป็นเพื่อนสนิทพี่บอกให้พี่แต่งเพลง เราก็บอกว่าถ้าแป้งแต่งมันจะเจ็บนะพี่ จะตรง ๆ (หัวเราะ) ก็เลยเป็นเพลงแบบ สวยไทย นี่แหละ เราก็กลัวเหมือนกันว่าจะไปกระทบคนที่เขาผิวขาวหรือเปล่า เหมือนเป็นการแบ่งแยกไหม แต่จริง ๆ ในเพลงเราไม่ได้พูดแบบนั้น แค่ว่า ถ้าสวยอยู่แล้วมันเป็นกรรมเก่า ก็ดีที่เกิดมาสวยอยู่แล้ว แต่บางคนสวยอยู่แล้วแต่อยากสวยขึ้นกว่านั้นอีก คือไปกินยา มันมีประเด็นอย่างลูกเพื่อนไปกินยาให้ขาว แล้วเข้าโรงพยาบาล มันมีเรื่องแบบนี้เยอะ เราก็อยากแต่งเพลงให้รู้ว่าเราเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่เป็นไรหรอก เราก็สวยในแบบของเรา ที่เอาเกาหลีมาเพราะมันเป็นแฟชั่นนิยม ช่วงนี้อะไร ๆ ก็เกาหลี ฮิตแบบนั้น
ผู้หญิงที่สวยสำหรับรัสมี
ชอบอยู่หลายคนค่ะ สาวผิวสี เช่น Halle Berry, Beyonce สวย เสียงดี แข็งแรง Jennifer Lawrence สวยมีเสน่ห์มาก Cate Blanchett ดาราไทย หมิว ลลิตา, เพ็ญพักตร์ ศิริกุล จริง ๆ มันไม่ได้แยกจำกัดว่าใครสวยไม่สวย คือ ผู้หญิงสวยทุกคน สวยกันคนละแบบเท่านั้นเอง เราไปเที่ยวลาว ขี่เรือไปแล้วเจอป้าชาวบ้านคนนึงข้างถนน ธรรมดามาก แต่สำหรับเราป้าสวยอะ แล้วเราก็มองป้าคนนั้น มองแล้วมองอีก พี่ว่าเรื่องความสวยมันเป็นเรื่องของรสนิยม มันก็พูดกันยากว่าจะให้คนมาชอบอะไรเหมือนเรา แต่ของเราสวยคือป้าคนนี้มีริ้วรอยบนใบหน้าเต็มไปหมดเลย ป้าแก่แล้ว แต่สวย เรามองแบบศิลปะ แต่เราไม่รู้ว่าทุกวันนี้คนเขามองความสวยด้วยอะไร มันเยอะแยะไปหมดอะ คือบางที ผู้หญิงที่ศัลยกรรมเราก็โอเคแหละ ก็เป็นความพึงพอใจในมาตรฐานความงามของเขา
ถ้าพูดเรื่องสวยในอุดมคติ
ต้องเป็นผู้หญิงที่มีกล้ามเนื้อนิด ๆ เพราะพี่ทำไม่ได้ไงพี่ชอบกิน (หัวเราะ) ต้องเป็นผู้หญิงเฮลตี้ สุขภาพดี ผิวดี ผมดี กับอีกอย่างคือเป็นผู้หญิงที่มีความมั่นใจ ไม่เกี่ยวกับอายุ การศึกษา สีผิว หรือมาจากที่ไหนประเทศอะไร
ความงามจากภายในมีจริงไหม
มีจริง อันนี้เราเชื่อ นี่แหละคือความงามที่สุด
ถ้าเราไม่สวยกระแสหลัก จะยังมีทางสำหรับคนสวยกระแสรองไหม
ถ้าเราไม่สวยก็ยากกว่าคนที่เขาสวยหน่อย เพราะว่ามันคือ first impression เห็นปุ๊บแล้วสวย มันคือองค์ประกอบหลัก ๆ เลยที่ทำให้คนยอมรับ แต่เราไม่ต้องไปสนใจ เราไม่แคร์ว่าคนจะคิดยังไง แต่ถ้าไม่สวยแล้วไม่มีความสามารถมันก็ไปไม่ได้ ถ้าเรามั่นใจในสิ่งที่เราเป็นอยู่ มันเพอร์เฟกต์ ทำแล้วดี พี่คิดว่ามันไปได้ ตรงนี้ช่วยเราได้ มั่นใจ
เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารของเชียงใหม่ว่าเป็นเฟมินิสต์
ในช่วงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนเลย คือพี่พูดถึงเรื่องงานศิลปะของตัวเอง ซึ่งช่วงนั้นทั้งการเขียนภาพและแต่งเพลงก็เกี่ยวกับผู้หญิงทั้งหมด คืออยากเรียกร้องการกดขี่ทางเพศของผู้หญิง
มีผู้หญิงที่ออกไปถือป้าย free hug แล้วโดนสังคมติเตียน
อันนี้ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ชายทำได้แล้วผู้หญิงทำไม่ได้ เพราะเรามีนมหรอ (หัวเราะ) น่าจะเป็นที่ประเพณีวัฒนธรรม อย่างของเราเป็นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ผู้หญิงเป็นทาส เป็นที่บำเรอของผู้ชายตั้งแต่ยุคไหนสมัยไหน แม้สังคมตอนนี้จะเปลี่ยนไปแล้ว แต่ความเชื่อลึก ๆ มันก็ยังมีอยู่ แต่ถ้าถามว่าที่ยุโรปมีคนว่าอะไรไหม ก็น้อยกว่าบ้านเรา เป็นฝรั่งทำ ไม่เห็นเป็นไร บางทีเราก็ยังรู้สึกเลย เราไม่ชอบเสื้อชั้นใน เราอยากถอดเสื้อชั้นใน มันอึดอัด ทำไมผู้ชายทำได้ แต่แค่นั้นอะ ขนาดใส่เสื้อมิดชิดแล้ว เรายังโดนมองเพราะเราแค่ไม่ใส่เสื้อชั้นใน
บางคนบอกว่าที่คนออกมาเป็นเฟมินิสต์เพราะเป็นแฟชั่น
ไม่หรอก อย่างเพลง ลำดวน พี่ก็เห็นว่ายายพี่โดนแบบนั้นจริง ๆ แต่เขาก็ไม่พูดอะไร เขาก็จะเลือกที่จะไม่พูดอะไรทั้ง ๆ ที่ผู้ชายมีเมียน้อยมาหลายคน มันอาจจะเป็นสิ่งที่รุ่นเราเห็น แต่รุ่นก่อนแสดงออกไม่ได้ แต่พอมาถึงรุ่น ๆ เรา เดี๋ยวนี้สังคมมันเปิด เราแสดงออกได้ มันคงไม่ใช่แฟชั่น เพียงแต่ว่าความเปิดของคนมันเยอะกว่าแต่ก่อน สำหรับพี่ก็อาจจะใช้การร้องเพลง ทำงานศิลปะ คนอื่นก็ออกมาแสดงออกกันเยอะ ผู้หญิงที่ทำงานเก่ง ๆ ก็เยอะ บางคนเลี้ยงลูกสองสามคนด้วยตัวคนเดียว
คอนเซปต์เฟมินิสต์โดยทั่วไปคือชายหญิงเท่าเทียม แต่เฟมินิสต์บางคนจะยกให้เพศหญิงเหนือกว่าหรือได้รับการดูแลมากกว่า ไม่ก็ไปกดผู้หญิงด้วยกันเอง
พี่เคยโดยที่บ้านถามว่ามีแฟนเป็นฝรั่งแล้วทำไมเราต้องแชร์ครึ่งต่อครึ่ง ทำไมเขาไม่เลี้ยง ไม่เทคแคร์เราทุกอย่าง เราก็ถามว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น เราก็ทำงาน เราก็มีเงิน จริง ๆ เราไม่ต้องเป็นแบบนั้น ซึ่งพี่ไม่ค่อยชอบเวลาเจอคนที่ต้องให้ผู้ชายดูแลตลอดเวลาทั้ง ๆ ที่เรามีศักยภาพพอที่จะทำงาน แต่บางคนเลือกที่จะนั่งอยู่เฉย ๆ สบาย ไม่ทำงาน แต่พี่รู้สึกว่าการตัดสินกันเนี่ย มันก็เป็นสิทธิ์ของคนที่จะมองแตกต่าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรามองเขาแต่ไม่ได้ไปเปลี่ยนอะไรเขา อยู่ที่ตัวของคนคนนั้นที่เขาจะคิดยังไง มีวิจารณญาณให้ตัวเองพอไหม เป็นแง่มุมที่มองกันแตกต่างมากกว่า
มองเรื่องการคบชาวต่างชาติว่ายังไง
ของเรามันไม่ได้เกี่ยวว่าต้องมีแฟนเป็นคนไทยหรือต่างชาติ คือมุมมองเข้ากันได้ไหม นิสัย ความเข้าใจในอิสระการทำงานของตัวเรามากกว่าเรื่องทรัพย์สินเงินทอง
อะไรคือสิ่งที่เฟมินิสต์ควรทำและไม่ควรทำ
สิ่งที่ทำแล้วก่อให้เกิดประโยนช์ต่อสังคมในวงกว้าง เช่นการสนับสนุนคนที่ด้อยโอกาสกว่า เช่น ด้านการศึกษาและด้านบทบาททางสังคมของผู้หญิง สิ่งที่ไม่ควรทำ ไม่ควรคิดว่าผู้ชายต้องทำอะไรให้เราเยอะแยะ เราเป็นผู้หญิงก็มีความสามารถที่จะทำงานหาเงินได้ ผู้หญิงบางคนยังคิดว่าผู้ชายต้องเลี้ยง อันนี้รู้สึกว่าเป็นความคิดแบบโบราณ กับไม่ควรทำบางสิ่งในที่ที่ไม่ควรทำ เช่นการถอดเสื้อเดินกลางถนน แล้วบอกว่าฉันก็ทำได้เพราะผู้ชายยังทำ อาจทำได้แต่ต้องดูว่าเราอยู่ที่ไหน ประเทศไหน สิ่งเกินงามก็ไม่ควรทำเพราะนี้คือประเทศไทย หรือประเทศที่มีศาสนาเคร่งครัด มันไม่ใช่เป็นการเสียศักดิ์แต่เป็นการให้เกียรติผู้คนในประเทศนั้น ๆ และสถานที่ที่เขาเคารพ
ความเพอร์เฟกต์เป็นสิ่งจำเป็นไหม
ถ้าในเรื่องการทำงานก็ควรเพอร์เฟกต์ ควรจะเป๊ะ เรื่องเวลา เรื่องความเป็น professional ถ้าความงามก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาเทียบว่าเพอร์เฟกต์หรือไม่เพอร์เฟกต์
Part 4: TOURING
ปีนี้ทัวร์มากี่ครั้งแล้ว เหนื่อยไหม
ก็เยอะค่ะ นับไม่ถ้วน แต่ช่วงก่อน ๆ ก็อยากบ่นว่าเหนื่อยนะ แต่ไม่บ่นดีกว่า ขอมีงานทัวร์อย่างนี้ดีกว่าเราไม่มี
เป็นปีทองของรัสมีเลยไหม
ใช่ค่ะ ก็มีงานที่เราไม่รู้เลยจากต่างจังหวัด หรืองานให้มากรุงเทพ ฯ บ่อยมาก เดี๋ยวจะไปโปแลนด์ เป็นอะคูสติก 4 ชิ้น รอเรื่องวีซ่าอยู่ เดี๋ยวจะมีลาว เขมรด้วย
ไปเล่นเห็ดสด 4 มาเป็นยังไงบ้าง
สนุกมาก คือตื่นเต้นเพราะคนเยอะมาก อาจจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่คนเยอะมากขนาดนั้น แล้วรู้สึกว่ามีความบกพร่องอยู่บ้างเพราะซ้อมกันน้อยมากก็เหมือนมีอะไรติดขัดอยู่ แต่ด้วยเรื่องของฟีลลิ่งที่อยู่ตรงนั้นรู้สึกดีมาก เพราะคนที่มาดูเราซัพพอร์ตอยู่ด้านล่าง แปลกตามาก ด้วยไฟ แสงสี เอาอยู่หมดเลยทุกอย่าง
งานที่ชอบที่สุดที่เคยไปเล่นมา
มีหลายงานอะ ที่กรุงเทพ ฯ คนก็แฮปปี้กับเรา ดูอินกับดนตรี ถ้าอีสานก็จะเป็นอีกอารมณ์นึง ครื้นเครง สนุกมาก ทางเหนือก็จะมีบ้าง ถ้า feat. กับศรีราชาร็อคเกอร์มีงานนึงสนุกมาก ที่เชียงใหม่
เคยแจมกับอาจารย์นุที่ร้าน Jazz Happens เป็นยังไงบ้าง
ก็เป็นดนตรีที่แปลกออกไปบ้าง มีการอิมโพรไวส์ เพราะเป็นอาจารย์ แล้วก็นักดนตรีแจ๊สเข้ามา ก็เป็นอีกอารมณ์นึงของ Isan Soul
อยากให้โชว์เราเป็นโชวนิ่ง ๆ ขลัง ๆ หรือเป็นโชว์ที่สนุกสนานมากกว่า
ของเรามันอยู่ที่สถานที่ด้วยเราว่า บางทีเราก็ชอบนะฟีลคนนิ่ง ๆ ฟัง ๆ แต่บางอารมณ์เราอยู่บนเวทีก็อยากให้คนเต้นเหมือนกัน อยู่ที่เราอยู่ตรงไหนมากกว่า
มีคนบ่นหรือยังว่าเล่นบ่อยแล้ว เบื่อแล้ว
ยังไม่มี แล้วก็ไม่อยากให้มี (ยิ้ม)
มีโปรดิวเซอร์ต่างประเทศติดต่อมาจะทำเพลงให้ไหม
มีค่ะ ตอนไปอินโดนีเซียก็อยากให้ไป feat. กับนักดนตรีทางนู้น แล้วก็โปรดิวเซอร์ทางฝรั่งเศสติดต่อเข้ามา แต่ยังไม่ได้ตกลงอะไร ขอดูเรื่องงาน เรื่องเพลงก่อน ว่าจะเป็นประเภทไหน อะไรยังไง เพราะพี่กลัวมากเวลาร่วมงานกับคนอื่น เรากลัวว่าถ้าเราไปร่วมงานแล้วเราโดนกรอบ เราจะสูญเสียความเป็นตัวเองไป ถ้าเขาให้อิสระในการทำกับเราก็ถือว่าน่าสนใจ ได้แฟนเพลงใหม่ ๆ ด้วย แล้วก็มีคนสนใจจะทำแผ่นเสียง Isan Soul แต่เรายังมาไม่ถึงจุดร่วมกันสักที ก็เลยยังคุย ๆ กันอยู่ คาดว่าน่าจะภายในเดือนนี้ที่ทุกอย่างน่าจะลงตัว
อัลบั้มใหม่ถึงไหนแล้ว
ยังไม่ถึงไหนเลย จริง ๆ ว่าจะเริ่มแต่พอดีมีงานเข้ามาเยอะ ก็เลยเลือกเอาคอนเสิร์ตก่อน เพราะตรงนี้ก็ปล่อยให้อัลบั้มมันเวิร์กไปก่อนสักระยะนึง ตอนนี้กะว่าถ้ากลับเชียงใหม่ก็จะเริ่มอัดเพลงแล้ว ซึ่งเพลงใหม่ก็เอามาเล่นสดบ้างแล้ว
Part 5: INSPIRATION
ได้ไปพูด TEDxBangkok พูดเรื่องอะไร
ที่ไปพูดคือพี่ได้หัวข้อเรื่องกำแพง พี่ก็เล่าประสบการณ์วัยเด็กของตัวเอง เรื่องอยากเป็นนักร้อง สวยไม่สวย กำแพงของการแบ่งชนชั้นทางดนตรีไปจนถึงสรุป คือให้กำลังใจคนที่อยากทำเพลง ไม่ใช่แค่ทางอีสาน คนทั่ว ๆ ไปเลย ที่กำลังท้อ อย่ามีกำแพงให้ตัวเอง คือลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ตัวเองชอบหรือทำสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วต่อไป
การพูดสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น คือการสร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้ผู้พูด
ถูกต้องค่ะอันนี้เห็นด้วยเพราะตอนไปพูดที่ TEDxBuengKaenNakorn มีน้องที่ inbox เข้ามาหา แล้วบอกว่าเมื่อก่อนน้องเคยรู้สึกว่าตัวเองอ้วนเกินไปที่จะเป็นนักร้อง แต่พอฟังเราพูดน้องได้แรงบันดาลใจจากเรา จะทำต่อไปโดยไม่มีอุปสรรคอีกต่อไป
ดนตรีคือการทดลอง แล้วมันคือการทดลองที่ไม่มีที่สิ้นสุด ก็คือต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ อยากจะให้กำลังใจทุกคน ไม่ต้องกลัวว่าเชย หรือไม่คูล อยากให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำแล้วทำให้ดีที่สุด
อะไรคือแรงบันดาลใจตั้งต้นของรัสมี
สิ่งที่ทำให้อยู่ได้ทุกวันนี้คือดนตรี นั่นคือแรงบันดาลใจที่หนึ่ง แล้วนอกเหนือจากนั้นคือการทำงานศิลปะ ช่วงนี้ถ้าว่างก็ได้ painting บ้าง หลังจากที่ยุ่ง ๆ ตั้งแต่จบมาก็ไม่ได้ทำสายที่ตัวเองเรียนมาเลย แต่มีความฝันว่าจะทำนิทรรศการศิลปะของตัวเอง กับวันเปิดงานให้เป็นธีมของตัวเอง ดนตรีตัวเอง นิทรรศการอาจจะชื่อ อารมณ์ เหมือนในเพลง มีภาพวาดเกี่ยวกับอารมณ์ เปิดตัวด้วยเพลงอารมณ์ มีเครื่องสายบรรเลงด้วย วางแผนไว้น่าจะจัดที่เชียงใหม่ แต่ต้องมีเวลา painting ก่อน
ใครเป็นแรงผลักดันและกำลังใจในการทำงาน
ทุกวันนี้ครอบครัวก็มีส่วนนะคะ ตอนแรก ๆ คุณพ่อก็ไม่ได้อะไรเยอะ เหมือนเอาเพลงมาให้ลองแล้วฟังดูแปลก ๆ สำหรับคนที่เคยฟังแต่เพลงแบบนั้นมาตลอด แต่หลัง ๆ ครอบครัวก็สนับสนุน พ่อก็ลุกมาแต่งเพลงแล้วบอกว่าจะเอาไปทำอะไรก็เอาไป แล้วก็มีแฟนที่เข้าใจเรามาก ๆ ทุกที่ที่เราไปหรือเดินทางก็สนับสนุน ก็ดีค่ะ แล้วก็มี พี่ ๆ นักดนตรีทุกคนที่ให้กำลังใจแล้วก็อยู่กับเราตลอด ซัพพอร์ตตลอด
ทิ้งท้ายถึงศิลปินรุ่นใหม่ที่อยากทำอะไรที่แตกต่าง
ไม่ต้องไปมองไกลค่ะถ้าอยากทำอะไรที่แตกต่าง บางคนชอบมองออกไปไกล๊ไกล เรารู้สึกอย่างนั้น แต่จริง ๆ บ้านเรามีของดีเยอะมาก อาจจะมีอะไรที่น่าค้นหาที่สามารถหยิบจับเอามาประยุกต์ ไม่ต้องกลัวว่าผิดหรือถูก คิดว่าดนตรีคือการทดลอง แล้วมันคือการทดลองที่ไม่มีที่สิ้นสุด ก็คือต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ อยากจะให้กำลังใจทุกคน ไม่ต้องกลัวว่าเชย หรือไม่คูล อยากให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำแล้วทำให้ดีที่สุด
เรารู้สึกได้ถึงพลังงานและความมั่นใจที่ส่งผ่านมาทางเราตลอดการพูดคุยของเรากับรัสมี แม้การถ่ายทำแฟชั่นเซ็ตสำหรับเล่มนี้จะกินเวลานานแต่รัสมีไม่เคยบ่นหรือแสดงท่าทีเบื่อหน่ายแม้แต่น้อย แถมจะสนุกกับการทำงานในวันนี้ด้วยซ้ำ เราประทับใจความเป็นมืออาชีพของเธอและประทับใจกับคำตอบที่หนักแน่นชัดเจนจากผู้หญิงคนนี้ เส้นทางสายดนตรีพื้นบ้านที่ผนวกเอาความร่วมสมัยและถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมาได้อย่างดีเยี่ยม เราเชื่อว่าเธอจะเป็นหนึ่งในความหวังที่สืบสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นอย่างหมอลำให้คงอยู่ต่อไปได้แบบไม่เคอะเขินหรือล้าสมัย อดที่จะรอติดตามผลงานชิ้นต่อ ๆ ไปของรัสมีไม่ได้แล้วสิ
ติดตามความเคลื่อนไหวของรัสมีได้ที่ Facebook fanpage และรับฟังเพลงของเธอบนฟังใจได้ ที่นี่