Ready to take off : My Life as Ali Thomas
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
- Stylist: Grace
- Art Director: Benyatip Sittiwej
My Life as Ali Thomas คือวงดนตรีสัญชาติไทยที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงอัลเทอร์เนทีฟโฟล์กออกมาให้ผู้ฟังชาวไทยได้เปิดโลกการฟังจากการได้ลิ้มลองบทเพลงของพวกเขาและเธอกว่าสองปีที่ผ่านมา และต้องยอมรับเลยว่าเป็นวงที่ทำเพลงออกมาได้มีสเน่ห์โดดเด่นและน่าสนใจ ทั้งภาคดนตรีและเนื้อร้อง รวมไปถึงน้ำเสียงและสำเนียงที่เลือกใช้ก็มักจะทำให้เราหลงคิดไปว่านี่คืองานของวงดนตรีต่างประเทศ นี่เป็นครั้งแรกที่ Fungjaizine จะได้พูดคุยกับพวกเขาถึงผลงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป้าหมายในอนาคตของพวกเขาว่าจะเดินทางต่อไปในทิศทางไหน
สมาชิก
พาย—กัญญภัค วุธรา (ร้องนำ, กีตาร์)
แร็ก—วิภาต เลิศปัญญา (กีตาร์)
ตาว—วรรณพงศ์ แจงบำรุง (กลอง)
คำว่า Ali Thomas ไม่ใช่ชื่อคน แต่เป็นภาษากรีกที่แปลได้ว่า another twin; ฝาแฝดอีกคนในที่นี้หมายถึงอะไร
พาย: มันคือตัวเราเองอีกชีวิตนึงที่ไม่ใช่ว่า เราเป็นคนแบบนี้ แต่พอไปอยู่อีกที่แล้วเรากลายเป็นอีกคน มันคือคนเดียวกันแหละแค่อยู่ในสถานการณ์ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เหมือนก่อนที่จะมีชื่อ My Life as Ali Thomas ตอนนั้นพายยังไม่ได้ทำดนตรีจริงจัง อันนี้ก็เหมือนเป็นช่วงชีวิตที่เราไม่ได้เปิดเผยที่ไหนมาก่อน
การถ่ายทอดเพลงภายใต้ชื่อ My Life as Ali Thomas
พาย: เพลงที่พวกเราทำมามันไม่ใช่เพลงที่ทำเพื่อสื่อออกมาเป็นเพลงซะทีเดียว มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็น soundtrack เพราะคำร้องและดนตรีที่เขียนออกมามันดูเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกมากกว่า ซึ่งการเรียบเรียงต่าง ๆ ก็เพียงเพื่อการเน้นย้ำอารมณ์ที่สื่อออกมา
จุดเริ่มต้นของวง
พาย: จริง ๆ พายทำของพายคนเดียว เหมือนทำเล่น ๆ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอะไร จนได้มาเจอพี่แร็ก
แร็ก: ตอนนั้นมีพี่เขามาบอกว่ามีน้องคนนึงไม่ได้ทำอีกวงนึงแล้ว ลองไปแจมกับเขาไหม ช่วงนั้นผมมีงานประจำด้วย เวลาเล่นดนตรีกลางคืนก็จะเป็นการเล่นแบบเอาสนุกมากกว่า เลยลองมาแจมกันดูก่อน พอเล่นด้วยกันแล้วก็คิดว่ามันจะรอดไหมเนี่ย แต่พี่ที่เขาชวนมาบอกว่าเขามองเห็นในมุมที่เราไม่เห็น ให้ลองเล่นด้วยกันดูก่อน พอเล่น ๆ กันไปสองคนก็เหงา เลยชวนสมาชิกมาเรื่อย ๆ จนมาพบตาว แล้วก็มาลงตัวก่อนปล่อยซิงเกิ้ลแรก Daughter and Son เมื่อสองปีที่แล้ว
จากการทำเพลงคนเดียวมาตลอด พอมาทำวงแล้วรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวเองไปบ้างไหม
พาย: ด้านเนื้อร้องก็ไม่ เพราะวงก็ให้พื้นที่พายตรงนี้ อยากเขียนอะไรเขียนเลย เหมือนไว้ใจกันในหน้าที่ของแต่ละคน แต่พายรู้สึกว่าสมัยก่อนที่พายจะมาเจอวงนี้ พายเป็นคนที่ทำงานด้วยค่อนข้างยาก ตอนนี้ก็ยากนะ แต่ตอนนู้นยากกว่า พายว่าพายไม่ค่อยปล่อยวางเพราะวงพังมาหลายรอบเหมือนกัน แล้วรู้สึกว่า มันก็แค่ดนตรีอะ ทำไมมันยังไม่ได้สักที แต่พอมาเจอกันแล้วได้ทำเพลงด้วยกัน พอเราได้ทำงานในบรรยากาศแบบนี้ก็เหมือนเพิ่งเข้าใจคำว่าการทำงานร่วมกัน คือเรารับผิดชอบทำพาร์ตของเราส่วนนึง ที่เหลือมันคือการที่ต้องแชร์กัน เพราะคนอื่นเขาก็มี input ของตัวเองด้วย แล้วค่อยเอามารวมกันเพื่อสร้างสรรค์ส่วนที่มันมีมากกว่าแค่ของตัวเอง คือถ้าของเราพอใจแค่ตรงนี้แล้วก็ต้องดูว่าคนอื่นพอใจกับของเราด้วยหรือเปล่า แล้วทุกคนก็ต้องเชื่อกันและกัน มันมีความประนีประนอมให้คนในวง อย่างส่วนตัวเราอาจจะไม่ได้ชอบตรงนี้มาก แต่ถ้าเขาชอบมากแล้วมันมีเหตุผลที่โอเค ถ้าเราลองรับความคิดเห็นกัน บางครั้งมันดีกว่าอะไรที่คุณคิดว่าดีอยู่คนเดียวก็ได้
ตาว: เหมือนเป็นที่เล็ก ๆ ที่เราจะได้แสดงความคิดของเราลงไป เราก็ไม่ได้ทำเพราะ เฮ้ย คนนี้อยากให้ทำแบบนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราอยากจะทำจริง ๆ เราไม่ได้ทำเพื่อความคิดใครคนใดคนหนึ่ง
ก่อนหน้านี้แต่ละคนทำเพลงกันมาคนละแบบ
พาย: อันนั้นเป็นของเราคนเดียว เป็นเหมือนกิจกรรมในเวลาส่วนตัวของเรา ไม่ได้ตั้งใจจะออกเดโม่ เวลาเราทำเพลงกับคนอื่นตอนนั้นเราก็ไม่ได้ใช้ชื่อ My Life as Ali Thomas
ตาว: ก่อนหน้านี้ทำมาสองสามวงครับ มีเพลงออกมาเป็นป๊อปร็อก แล้วหลัง ๆ ก็ผันตัวไปเล่น back up จนมาเจอกับวงนี้
แร็ก: ของผม จริง ๆ เคยพยายามทำวงพักนึง แต่เหมือนชะตาชีวิตที่หลายคนเจอแหละครับ คือมันไปไม่รอด พอทำไปสักพักแล้วก็ต้องแยกกันเพราะต่างคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง เลยมาเล่นกลางคืน แล้วเล่นแต่ฝั่ง Brit pop ยุค 90s มาหมด อาจจะข้ามมาฝั่งอเมริกันบ้างอย่างพวก The Killers บางอย่างที่เราชอบกับในวงเลยจะมีเยื้อง ๆ กันบ้าง ตาวก็ชอบ The Killers หรือวงฝั่งอเมริกาบางวงเหมือนกัน แล้วก็จะแนะนำวงนั้นวงนี้ที่ใกล้เคียงกันให้ลองฟัง เราก็ไม่ได้ปิดกั้นแนวเพลงตัวเอง ตาวชอบอะไร พายชอบอะไร ก็ไปลองฟัง ต่างคนต่างช่วยกันหา source มาใส่ไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ซึมซับกันไป แต่ต้องอาศัยเวลามามั่วใส่กัน จูนกันไป
จนมาลงตัวเป็นอัลเทอร์เนทิฟโฟล์ก
ตาว: เพลงมันค่อนข้างหลากหลาย บางทีเพลงนึงมันมีหลายจังหวะมาก เหมือนตอนนั้นพอเพลงมันเล่นมาแบบนึง แล้วการแจมกันอารมณ์มันก็พาไป จะออกมาเป็นยังไงก็เป็นอย่างนั้นแหละ ไม่ได้มาฟิกซ์ว่าอันนี้จะต้องรุนแรงหรือคลี่คลาย จะต้องให้เหมือนเพลงนั้นเพลงนี้ มันขึ้นอยู่กับช่วงสภาวะนั้นเราคิดอะไร รู้สึกยังไงก็เล่นออกไป
แร็ก: ตอนแจมกันเราก็จะมาดูว่า ชอบท่อนนี้ไหม ถ้าเมโลดี้ท่อนนี้ไม่ชอบจะเอายังไง ตียังไงดี หรือเล่นกีตาร์แบบนี้ดีไหม ช่วย ๆ กัน
พาย: พายรู้สึกว่าด้วยสไตล์เสียงเรากับกีตาร์โปร่ง คนเลยไปจำกัดว่าเป็นอย่างนั้น แต่สไตล์ของเราจริง ๆ พายคิดว่ามันเป็นอะไรก็ได้ที่เราชอบ
ได้อิทธิพลดนตรีมาจากอะไรอีก
ตาว: อย่างเราก็เรียนแจ๊สด้วย มันอาจจะมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับแจ๊สในนั้น แล้วเราก็ฟังป๊อปร็อกด้วย ไม่ได้ฟัง The Killers เหมือนกันอย่างเดียว เป็นแค่ส่วนหนึ่ง
พาย: มันไม่มีอะไรที่ออริจินัลอยู่แล้ว ทุกอย่างมันคือสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราฟัง แล้วมันก็แค่ผ่านเราออกมา พายน่าจะได้แรงบันดาลใจจากตรงนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนัง หนังสือ เพลง แต่พายก็อ่านไม่ค่อยเยอะนะ ชอบอ่านเรื่องสั้นมากกว่า เพราะพายสมาธิสั้น (หัวเราะ) หรือบางครั้งพายมีหนังสือพายไม่ได้ดูหน้าปกด้วยว่ามันชื่ออะไร เราอ่านแค่หน้าสองหน้าพอ เล่มอะไรก็ไม่รู้ แต่หนังนี่ดูเยอะกว่า พวกชิว ๆ อย่าง Ghostbusters มันก็สบายใจดี
เพลงในอัลบั้มเพลงไหนที่ได้อิทธิพลจากสื่อเหล่านั้นบ้าง
พาย: ส่วนใหญ่ก็ได้มาจาก Shakespeare อย่าง Winter’s Love ก็ได้ชื่อมาจาก ‘The Winter’s Tale’ ส่วน Cordelia ก็มาจากเรื่อง ‘King Lear’ ก็ไม่ได้เกี่ยวกันหรอก แค่เป็นอะไรที่เราชอบ
อะไรคือความโดดเด่นของเพลง My Life as Ali Thomas
ตาว: ก็คือความที่มันมาจากแต่ละคนแยกกันมา ไม่ได้มาจากทางเดียวกัน มันก็เลยทำให้ทุกอย่างดูคาดเดายาก บางเพลงรู้สึกว่าหนักหน่วง แต่สุดท้ายก็คลี่คลาย บางเพลงก็ดูจะผ่อนคลายแต่สุดท้ายมีเซอร์ไพรส์ มันคือความคาดเดายากของดนตรี
พาย: แต่บางเพลงเราก็ยึดตามสูตรที่มันควรจะเป็นเหมือนกันนะ อย่าง Winter’s Love อันนั้นเป๊ะมาเลย
แร็ก: คือพอเล่นปุ๊บแล้วรู้สึกว่ามันต้องเล่นอย่างนี้ มู้ดเก่า ๆ แบบนี้ ก็จะเล่นไปตามความรู้สึกนั้น พยายามให้มันง่ายที่สุด ตอนนั้นคือทำ Daughter and Son ที่ดูซับซ้อน แล้วพอจะมาทำ Winter’s Love บทที่มันจะต้องง่าย เราก็ควรจะทำให้มันดูง่าย เข้าใจง่าย
ตาว: เหมือนเราอัดไว้แล้วลองมาฟัง ก็จะคิดตามว่าคนฟังควรจะรู้สึกยังไง
คอนเซปต์เพลงในอัลบั้ม Paper มีความเชื่อมโยงกันไหม
พาย: ความจริงก็ไม่เชื่อมกันเท่าไหร่ แค่มีกลิ่นของดนตรีเชื่อมกัน
แร็ก: มันเป็นเรื่องการพัฒนาความคิดช่วงที่เราเริ่มทำเพลงกัน ความเข้าใจที่เกิดขึ้น เพลงนี้อาจจะหลอมรวมกันได้มาก เพราะมันใช้เวลาจากเพลงแรกที่เริ่มต้นมาจนถึงตอนนี้ก็เกือบสองปี เราใช้เวลาด้วยกันเยอะ แต่ละเพลงก็จะมีความเข้มข้นแตกต่างกัน บางเพลงใช้เวลานานมาก ปีกว่ากว่าจะเสร็จ บางเพลงใช้เวลาสองสัปดาห์ก็เสร็จ เหมือนพอแจมแล้วชอบ ก็เอาเลย
อะไรทำให้ใช้เวลานานขนาดนั้น
ตาว: มันฟังแล้วเรายังรู้สึกว่าเรายังไม่ให้ผ่านกับตัวเอง อันนี้มันยังติดอยู่นิดนึง มันก็ไม่ใช่ละ เพราะถ้าจะออกมาให้คนฟังได้ฟังกัน เราก็ต้องชอบเองก่อน ถ้าเราไม่ชอบ คนฟังอาจจะไม่ได้รู้สึกกับเราก็ได้ มันดูไม่จริง เราเลยต้องทำทุกอย่างให้มันลงตัวก่อน
วันนี้เราชอบสิ่งนี้อยู่ อนาคตเราอาจจะไม่ได้ชอบสิ่งนั้นแล้ว คนอื่นก็เหมือนกัน อาจจะฟังเพลงใหม่แล้วชอบวงใหม่ อาจจะเจออะไรใหม่ ๆ เข้ามา เพลงแต่ละเพลงมันเหมือนเล่าเรื่องราวมากกว่าครับว่าช่วงเวลานั้นเราเจออะไรมาบ้าง
Feedback จากการที่ลองปล่อยเพลงออกไปเป็นยังไงบ้าง
ตาว: เพลง Daughter and Son มันถูกอัดและ mastering มานานมากแล้ว จนได้ปล่อยออกไปทีแรกมันก็เงียบ ๆ ไม่ค่อยมีใครพูดถึง จนวันนึง Cat Radio ก็เปิดให้เรา เพลงมันก็ไปของมันเรื่อย ๆ เพราะเรามาจากไม่มีอะไรเลย จนมีคนมารู้จักเรา แล้วมีคนชอบ จนมันก็เริ่มขึ้นชาร์ต แค่ขึ้นชาร์ตก็ถือเป็นกำไรแล้ว ดีใจที่สุดแล้วจากเราไม่ได้คาดหวังตั้งแต่เร่ิม คือสื่อพวกนี้ก็ช่วยเยอะนะ อย่างเพลง Winter’s Love ที่เอาไปใช้ประกอบหนังสั้นฟิล์ม Focus คนก็เริ่มสนใจพวกเราเยอะขึ้น มีคนมาไลค์แฟนเพจหรือไปตามใน channel YouTube เยอะขึ้นกว่าเดิมมาก แล้วเขาก็ตามไปฟังตั้งแต่ Daughter and Son เราก็จะคอยอ่านในคอมเมนต์ว่ามีคนตามมาจากนั่นนี่ แล้วลองฟังเพลงอื่นด้วย ก็รู้สึกว่ามันขยายผลเยอะเหมือนกัน
พออ่านคอมเมนต์แล้วเจอคนบอกว่าวงเราเหมือน Daughter บ้างไหม
ตาว: ปกติครับ มีคนบอกว่าเหมือน Daughter เหมือน Of Monsters and Men เราก็ไม่รู้นะ เราเปิดฟังแล้วเปิดเทียบ อย่าง Of Monsters and Men เพลงไหน ฟังดูก็ไม่ได้รู้สึกว่าเหมือน ตอนนั้นแทบจะยังไม่รู้จักวงนี้ด้วยซ้ำ บางคนยังไม่เคยฟังเลย
แร็ก: ผมอะไม่ฟังแล้วแน่ ๆ หนึ่งคน เราต้องรู้ว่าก่อนเราจะเข้ามาตรงนี้ การเริ่มเป็นที่รู้จักของคน มันก็ต้องเจอกับความคิดเห็นที่หลากหลายอยู่แล้ว ก็ต้องให้มันผ่านไป เหมือน Coldplay, Two Door Cinema Club ยังเคยมีมาบอกเลย
พาย: แต่พายก็ถือว่าเป็นคำชมนะ เพราะ Elena Tonra วง Daughter เขาก็เป็นอัจฉริยะในการเขียนเนื้อเพลง ถ้าบอกว่าเราเหมือนเขาก็คงชมเราแหละ ก็ขอบคุณค่า
ที่เลือกร้องและแต่งเป็นภาษาอังกฤษเพราะเป็นภาษาที่ถนัด
พาย: ใช่ค่ะ คนก็ถามพายบ่อยนะว่าเป็นคนไทยทำไมไม่เขียนภาษาไทย พายรู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวกันว่าต้องเป็นคนไทยแล้วต้องเขียนภาษาไทยเสมอไป ส่วนเรื่อง mv ก็ไม่รู้ทำไมถึงเป็นชาวต่างชาติ แต่จริง ๆ ลึก ๆ ก็อยากใช้คนเอเชียเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ contrast ดี
ตาว: mv แรกนี่เรายังเล่นกันเองอยู่เลย ต่อมาก็เลยเป็นฝรั่งหมดละ (หัวเราะ) คือเราให้อิสระกับผู้กำกับที่เราเลือกมาให้ทำเพลงของเรา แล้วก็มีคนมา collaborate เองด้วย อย่างตอน Winter’s Love ก็ได้รุ่นน้องที่เรียนฟิล์มมาขอเพลงไปทำ ตอนแรกจะขอ Lover to Lover แต่เราอยากจะปล่อย Winter’s Love ก่อนและกะไม่ทำ mv อยู่แล้ว เลยให้น้องเขาไปทำ mv ส่งอาจารย์ พอส่งอาจารย์เสร็จเขาก็ยก mv นี้ให้เราใช้เลย
พาย: ส่วนใหญ่เราโฟกัสกันที่เรื่องดนตรีค่ะ บางทีเราก็แบบลืมไปเหมือนกันว่าวิดิโอมันก็ควรจะมีนะ พอนึกได้ก็ใครจะทำอะไรก็ได้ เอาเลย
คิดว่าวิดิโอทำให้เพลงของเราสมบูรณ์มากขึ้นขนาดไหน
ตาล: มันก็อยู่ที่ว่าอินกับมันขนาดไหน เหมือนบางที mv มันก็ดูจะไปชี้นำเนื้อหามากไปหน่อย ทั้งที่แค่เพลงมันก็ทำให้เราคิดต่อในมุมของเราเองได้ด้วย
แร็ก: สำหรับผมผมไม่คิดถึงขั้นนั้นนะ เพราะส่วนตัวผมชอบมาจากความที่เพลงเป็นเพลง วิดิโอมันก็เป็นการขยายผลของเพลงเฉย ๆ
แล้วเนื้อหาของ mv เพลง Kiss กับ Cordelia นี่ตั้งใจให้เชื่อมโยงกันหรือเปล่า
พาย: จริง ๆ มันไม่เกี่ยวอะไรกันเลย เหมือนกับน้องพิม (Rosebud) ผู้กำกับ เขาเป็นคนคิดคอนเซปต์หนัง แล้วเขาก็ถามเราว่าตอนสุดท้ายเอาใครตายดี ก็ให้เป็น Cordelia ละกัน มันก็สะใจดีที่ได้ฆ่าตัวละครของเราเล่น
รู้สึกกดดันไหมที่วงประสบความสำเร็จแล้ว ในอนาคตจะทำเพลงออกมาได้ดีกว่าหรือเท่ากับงานก่อน ๆ หรือเปล่า
พาย: เราก็กดดันนะ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่น กดดันตัวเองมากกว่า เพราะพายรู้สึกว่ามันเป็นอัลบั้มของเรา ถ้าทำออกไปแล้วคนอาจจะเลิกฟังก็ได้ แต่ว่าเราก็จะไม่ปล่อยเพลงออกไปจนกว่าเราจะชอบมัน เพราะอัลบั้มที่แล้วเราก็เต็มที่กับมันไปแล้ว อันนี้ก็เหมือนเรามาเริ่มเกมใหม่ ถ้าทำออกมาแล้วเหมือนเป็น Paper 2 แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร
ตาว: เหมือนเป็นความท้าทายของตัวเองมากกว่าว่า อัลบั้มนี้เราอยู่เท่านี้ แล้วอัลบั้มต่อไปของเราจะเป็นยังไง จะไปในรูปแบบไหน คำว่าดีในที่นี้ก็คือต้องทำให้ตัวเองชอบก่อน โลกมันหมุนไปนะครับ เราก็หมุนตาม วันนี้เราชอบสิ่งนี้อยู่ อนาคตเราอาจจะไม่ได้ชอบสิ่งนั้นแล้ว คนอื่นก็เหมือนกัน อาจจะฟังเพลงใหม่แล้วชอบวงใหม่ อาจจะเจออะไรใหม่ ๆ เข้ามา เพลงแต่ละเพลงมันเหมือนเล่าเรื่องราวมากกว่าครับว่าช่วงเวลานั้นเราเจออะไรมาบ้าง สองปีที่ผ่านมา เพลงมันก็จะไปตามขั้นตอนของมันว่า ตอนนี้เราฟังอะไรอยู่ ตอนนี้เรากำลังอินกับอะไร เราอ่านหนังสืออะไร เจออะไร คุยกับคนแบบไหน มันก็จะเก็บโมเมนต์นั้นมาเล่า
ตอนนี้ทำเพลงอัลบั้มสองแล้วหรือยัง
ตาว: เดี๋ยวก่อนก็ได้ครับ (หัวเราะ) ขอเวลาอีกแปปนึง ตอนนี้โฟกัสโชว์เพราะเพลงเรา เอาจริงเราพยายามจะเอาเพลงทั้งอัลบั้มมาเล่นในโชว์ของพวกเรา มันก็เหมือน challenge ว่า งานนี้เล่นครึ่งชั่วโมง อีกงานเล่นชั่วโมงนึง เราต้องทำโชว์ให้มันทันกับงานที่เข้ามาตอนนี้ เพราะแต่ละงานก็ยังไม่นิ่ง ความยากง่ายของมันไม่เหมือนกัน เหมือน target ก็คนละกลุ่มด้วย เหมือนตอนนี้ถ้าคนได้ฟังช่วงนี้ก็จะรู้สึกว่ามันมีอะไรที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปทีละขั้น งานนี้อาจจะได้ฟังเพลงใหม่ อีกงานอาจจะได้ฟังเพลงที่เราไม่เคยเอามาเล่นสด
พาย: ในด้านการเล่นสดมันยังมีอะไรที่เราต้องทำอีกเยอะ สิ่งที่วงคิดไว้คือตอนนี้มันอาจจะยังไม่เป็นในรูปแบบที่เราต้องการ อาจจะหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งระบบ บรรยากาศต่าง ๆ มันยังไม่ใช่ในภาพที่เราคิดไว้ อยากให้คนได้ประสบการณ์จากโชว์ด้วย พยายามหาทางอยู่
แร็ก: การเล่นดนตรีของเราไม่ได้อยากแค่ให้เขาฟังเพลงอย่างเดียว มาตรฐานของโชว์เราก็สำคัญ อยากให้คนได้รับจากตรงนั้นด้วย ให้มันไปถึงจุดที่ทุกคนเห็นตรงกันว่ามันดีแล้วหรือยัง
คิดว่าจะทำแนวเพลงที่ต่างไปจากเดิมไหม
แร็ก: จริง ๆ ก็คิดในทุก ๆ เพลงเนาะ เราอยากเปลี่ยน พยายามดีไซน์ใหม่หมดแล้วแต่ว่าอารมณ์ตอนนั้นมันเป็นแบบไหน บางทีตั้งใจทำมาเป็นแบบนี้ แต่พอทำเสร็จแล้วมันกลายเป็นอีกอย่างนึง ก็เลยไปเรื่อย
พาย: ไม่ค่อยเป็นอย่างที่คิดเท่าไหร่
มาตรฐานโชว์ที่ดีสำหรับ My Life as Ali Thomas
ตาว: คงอยากจะได้ทำโชว์ในแบบที่วงอยากให้เป็น และอยู่ในมาตรฐานการเล่นที่มันดีขึ้น ทั้งซาวด์ ระบบแสง สี เสียง การแสดงของพวกเราด้วย ก็ต้องทำการบ้านไปเรื่อย ๆ หลายฝ่ายต้องคุยกัน
พาย: แต่เราก็ยังไม่มีโอกาสที่จะได้ทำโชว์ของเราจริงจัง ส่วนใหญ่ก็คือเล่นตามงาน คือยังไม่มีงานที่เรา full control ทุกอย่างไม่ว่าจะ concept หรือ art direction ก็อาจจะสักวัน
การทำเพลงเป็นภาษาอังกฤษจะช่วยทำให้วงไปได้ไกลกว่าในประเทศจริงไหม
ตาว: ถ้าเป็นแฟนจากต่างประเทศจริง ๆ ค่อนข้างยังน้อยอยู่ เหมือนวงเราเป็นวงไทย เป็นใครก็ยังไม่รู้ในต่างประเทศ แม้ว่าในบ้านเราก็อาจจะมีคนรู้จักบ้าง การ pr ในต่างประเทศคงยังไปไม่ถึง ยังต้องใช้เวลา บางทีก็เป็นการพูดปากต่อปาก ก็ต้องใช้เวลานะครับ เราก็ไม่ได้มีโอกาสไปเล่นต่างประเทศบ่อยมาก ๆ ถึงขั้นจะไปที่ไหนแล้วเอาเพลงไปด้วย
พาย: การที่เพลงเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้แปลว่าเขาจะชอบ ดังนั้นมันขึ้นอยู่ที่ความชอบของเขาด้วย
My Life as Ali Thomas เคยไปเล่นต่างประเทศที่ไหนบ้าง
ตาว: ไปเล่นที่สิงคโปร์กับไต้หวันครับ มีคนติดต่อมา แล้วค่ายจัดการให้ ที่สิงคโปร์คืองาน Music Matters Festival 2016 งานนั้นเราได้เล่นสองเวที สองวัน เป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่เราได้ออกไปจากเมืองไทย แล้วรู้สึกว่ามีอะไรหลาย ๆ อย่างที่คาดเดาไม่ได้ เราไม่รู้ว่าข้างหน้าเราจะเจอวงอะไรบ้าง พอไปถึงแล้วคนดูก็เป็นคนพื้นที่นะ เข้ามาฟัง มาดูดนตรี เสพดนตรีแบบตั้งใจ ก็ได้ประสบการณ์ อย่างวันที่สองที่เราเล่นที่เวทีใหญ่ วงสิงคโปร์เขาก็มาดูพวกเรา ปรบมือให้ ส่งเสียงร้อง อย่างน้อยก็มีคนพอเข้าใจในสิ่งที่เราทำบ้าง
มันไม่มีอะไรที่ออริจินัลอยู่แล้ว ทุกอย่างมันคือสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราฟัง แล้วมันก็แค่ผ่านเราออกมา
หลายคนบอกว่าคนดูที่นั่นเขาจะนิ่ง ๆ
ตาว: ใช่ แต่เขาตั้งใจมากครับ ผมเคยไปดูดนตรีที่สิงคโปร์สองครั้ง คือตอนเขาดูเขาจะตั้งใจมากจนเราคิดว่า นี่เขาชอบไหม หรือว่าอะไร (หัวเราะ) แต่พอจบเพลงเขาตบมือ เราเลย อ๋อ เขาชอบ ส่วนที่ไต้หวันเราไปเล่นเทศกาลอาหาร Taichung International Cuisines Festival 2016 ก็แปลกดี มันจะเป็นอีกมู้ดนึง มันจะไม่ใช่ฟีลคนตั้งใจมาฟังดนตรี มันเป็นงานที่เขาขายอาหารแล้วมีคนมาเล่นดนตรีมากกว่า
แร็ก: แล้วมันเป็นเมืองใหญ่แบบที่ไม่ใช่เมืองหลวงนะ ที่ไทชุงคือออกมาตอนใต้แล้ว คือถ้าไปเล่นที่ไทเปเงี้ย มันคือเมืองที่ทุกคนเสพดนตรี มีดนตรีมาลงเยอะ แต่เราเหมือนออกไปคล้าย ๆ ชานเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ของเขา
พาย: พายว่าเฟสติวัลมันเป็นอะไรที่น่าจะเข้ากับเพลงของเรา แต่งานไต้หวันเนี่ย มันเหมือนเอามา clash กัน ทั้งสไตล์วงและสไตล์งาน ซึ่งพายว่ามันแปลกดี เหมือนเราเล่น ๆ อยู่ในสไตล์ของเรา ป้า ๆ ลุง ๆ แบก ๆ เข็นรถอาหารของเขาเดินผ่านก็หยุดฟัง บางคนก็เดินไปกินไป มัน appreciate ความแตกต่างในคนละฟีล มันก็น่าสนใจเหมือนกันที่จะเล่นให้กับกลุ่มคนที่ไม่เคยสนใจเพลงของเราเลย มันอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำที่คนเคยฟังเพลงเราแล้วแล้วรู้สึกเฉย ๆ อันนี้ยืนชื่นชมเรา หรือจริง ๆ อาจจะไม่ได้ชมเรา อาจจะกำลังตัดสินพวกเราอยู่ก็ได้ (หัวเราะ) แบบ มึงทำอะไรกันวะ
เราคาดหวังกับกลุ่มคนดูแบบไหน
ตาว: เราอยากให้เขามาฟังเพลงแล้วรู้สึก สมมติว่าฟังเพลงของเราแล้วได้ประสบการณ์จากการฟังดนตรี มันก็วัดยากนะ อาจจะเป็นระยะยาวที่เขาคงเอาไปพูดต่อกันว่าควรมาดูวงนี้นะ มันมีอะไรที่คุณน่าจะหยิบนำไปใช้ได้ อย่างตอนนั้นมีนักวาดรูปเขาวาดรูปให้เรา เขาบอกว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงของพวกเรา เหมือนเขามาดูแล้วชอบ มีซีดีฟังเพลงเรา แล้วเขาก็วาด มันเป็นอะไรที่เราอยากให้เพลงของเราเป็นแบบนั้น
แร็ก: จริง ๆ ขอแค่เปิดใจฟังครับ ชอบไม่ชอบไม่ว่ากัน เราบังคับไม่ได้หรอก แต่ไม่ว่าจะวงเราหรือวงไหน แค่ลองฟังก่อน
อยากไปเล่นที่ไหนเป็นพิเศษไหม
พาย: จริง ๆ เราอยากเล่นในเมืองไทยนะ ที่ไหนก็ได้ พายรู้สึกว่าเราเอาดนตรีเราไปใส่ในสถานที่ที่ไม่ชิน ไม่ว่าจะเมืองไทยหรือเมืองนอก พายอยากให้วงเนี้ยทำเพลง แล้วเอาเพลงไปอยู่ในบรรยากาศของสถานที่อะไรก็ได้
ตาว: อยากเล่นในที่ที่คนไม่เคยไปเล่น ที่เคยคุยกันไว้คืออยากให้ไปอยู่ในโรงละคร
พาย: อันนี้เป็นคอนเซปต์ที่อยากทำเป็นคอนเสิร์ต อยากทำเป็นมิวสิคัลในโรงละคร แต่ก็ไม่รู้เหมือนกัน ยังเป็นไอเดียอยู่
คุณสมบัติของวงไทยที่อยากไปเล่นต่างประเทศ คิดว่าควรเตรียมตัวยังไง มีคุณสมบัติอะไรบ้าง
ตาว: เป็นตัวของตัวเองแล้วกันครับ เพราะตอนนี้หลาย ๆ วงของเมืองไทยก็ได้ไปเล่นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น กันตั้งหลายวง เพราะเขาค่อนข้างชัดในคอนเซปต์และตัวเพลง
แร็ก: ทำอะไรก็แสดงออกไปอย่างนั้น
พาย: อาจจะต้องซื้อเคสเครื่องดนตรีที่แข็งแรง (แร็กกับตาวประสานเสียง: ช่ายยยย) กีตาร์อาจจะคอหักได้
จริงไหมที่วงไทยที่จะไปสร้างชื่อเสียงในเมืองนอกต้องมีอัตลักษณ์แบบไทย
ตาว: เราว่ามันเป็นการแสดงออกของวัฒนธรรมมากกว่า เขาเอาความเป็นไทยไปแสดงออกเพื่อเขาจะได้รู้ เพราะฝรั่งเขาก็ชอบวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว ของเขาก็จะถูกจัดประเภทว่า นี่ดนตรีแบบไทยนะ แต่ของที่เราทำ บางอย่างของเรามันเหมือนวัฒนธรรมตะวันตก มันก็เลยกลายเป็นว่าถ้าไปแล้วอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จัก อาจจะรู้แค่ My Life as Ali Thomas มันมาจากเมืองไทยนะ แต่มันไม่มีอะไรที่มีซาวด์ที่เป็นแบบประเทศไทย บ้านเขาอาจจะมีวงที่ซาวด์เป็นแบบนี้เยอะก็ได้ แต่ถ้าวงอีสานบ้านเขาไม่มี ฝรั่งเขาไม่ได้ซึมซับกับหมอลำแบบเรา เหมือนดนตรีแจ๊ส R&B ฝรั่งเขาก็เล่นกันตามปกติ มาตรฐานเขาสูงมาก แต่ถ้าบ้านเราเล่นต้องใช้ความพยายามมากว่าที่จะได้เท่าเขา เพราะเราไม่ได้เกิดมาฟังแจ๊สตั้งแต่เด็ก มาตรฐานการเล่นดนตรีหรือการฟังเพลงของแต่ละพื้นที่มันก็จะมีความยากง่ายต่างกัน ถ้าให้ฝรั่งมาเป่าแคนแบบบ้านเราก็คงทำไม่ได้ง่าย ๆ
พาย: คือถ้าเป็นหมอลำเขาก็มี category ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ของเรามันก็เอาไปเฉพาะเจาะจงไม่ได้เพราะมู้ดโทนดนตรีคนอื่นก็มี
จริง ๆ ก็มีฝรั่งที่มาเรียนเป่าแคนที่นี่แล้วทำได้ดีนะ แต่ทำไมพอคนไทยไปทำดนตรีต่างประเทศบ้างกลับไม่มีใครสนใจ
พาย: เราว่ามันเป็นที่มุมมองนะ มันเป็น mentality ของคนที่มันก็แตกต่างกัน
ตาว: ผมว่าหมอลำไปที่ไหนมันก็สนุกนะ มันอยู่ในธรรมชาติของคน แล้วคนก็โยกตามแล้ว มันเป็น nature ของเพลง ของจังหวะแบบนั้น ไม่ได้แปลว่าเกิดที่เมืองไทยแล้วจังหวะนั้นมันจะไม่เข้า
พาย: คนไทยเองยังชอบเลย มันคือความเป็นพื้นบ้านน่ะค่ะ ลึก ๆ แล้วทุกคนก็มีความเป็น native อยู่แล้ว ไม่รู้สิ (หัวเราะ)
จะมีโปรเจกต์อื่น ๆ อีกในเร็ว ๆ นี้ไหม
ตาว: ล่าสุดเราปล่อยอัลบั้มไปแล้ว มีเพลง Kiss ที่เพิ่งทำ mv ปล่อยไปเป็นอันล่าสุด ผลงานต่อ ๆ ไปอาจจะมีซิงเกิ้ล แต่ยังไม่รู้เมื่อไหร่ กำลังพยายามจะทำกันอยู่ มันต้องใช้เวลา เหมือนปล่อยอัลบั้มแรกไปแล้วมันก็ เออ จะยังไงดีนะ
แร็ก: จังหวะมันมีอะไรมาเบรกเยอะอะ เหมือนตอนเราเริ่มปล่อยอัลบั้มไปแล้ว เริ่มพยายามคิดถึงเรื่องโชว์ แล้วเราก็จะรู้กันว่าหยุดจากอะไรบ้าง แล้วพอมันเริ่มมา ทุกอย่างมันเข้าสู่สถานการณ์เดิม มันก็เลยกลายเป็นว่าเราต้องมาโฟกัสโชว์เป็นหลักแล้วเพราะเราคิดว่ายังไงเรื่องโชว์เราก็ต้องทำ แต่ขอเวลาอีกแปปนึง อยากได้โชว์ที่ดี
พาย: เหมือน material ตอนนี้ก็โดนล้วงอ้วกไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็เหมือนต้องมาเก็บใหม่
ตาว: พยายามหา source ใหม่ หาเพลงที่ชอบฟัง
แร็ก: บางทีเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตมันก็ช่วยเปลี่ยนมุมมองได้เหมือนกันนะ
พาย: ปะ ไปเที่ยวกัน
ฝากถึงคนที่ติดตามผลงาน
ตาว: พวกเรามีหนึ่งอัลบั้มกับอีกหนึ่งซิงเกิ้ล Only Reason เป็นซาวด์แทร็คประกอบเรื่อง ‘รักของเรา The Moment’ ลองเปิดใจมาฟังเพลงของพวกเราดู อาจจะมีอะไรไม่มากก็น้อยที่ได้กลับไป หรืออาจจะไม่ได้เลย (หัวเราะ) พอฟังแล้วอยากให้ลองมาดูพวกเราเล่นสด ๆ มาเจอกัน มาคุยกัน แล้วก็รอติดตามว่าในอนาคตจะมีผลงานอะไรอัพเดตก็ช่วยเป็นกำลังใจ ซัพพอร์ตพวกเราด้วยนะครับ
แร็ก: คนที่ชอบอยู่แล้วก็ขอบคุณมากเลยครับ
พาย: ขอบคุณมากค่ะ
เราแอบเห็นเพจแฟนคลับพาย ทุกคนเคยเห็นหรือยัง รู้สึกยังไง
พาย: เคยเห็นแล้วค่ะ ก็ (หัวเราะ)
แร็ก: ผมว่าถ้ามองกลาง ๆ เราก็ควรยินดีที่มีคนมาชอบเรา แต่บางอย่างเราห้ามความคิดคนไม่ได้
ตาว: จริง ๆ เขาแค่ชื่นชมแหละครับ แต่พอชื่อเพจ (สมาคมเมียพาย) แล้วมันดู… (หัวเราะ) เราจะเห็นวิธีนี้ในหลาย ๆ แบบอย่างคนที่ชอบเจร็อก เจป๊อป หรือคนที่ชอบบอยแบนด์ ก็มี เขาจะมาชอบนักร้องเราแบบนี้เราคงห้ามไม่ได้
พาย: ก็รู้สึก ดีค่ะ ก็ขอบคุณค่ะ… แค่คำว่า ‘เมีย’ มันดูงงไปนิดนึง แต่ก็ขอบคุณที่อยากจะเป็นเมียเรานะคะ (หัวเราะ) ก็ทำได้แค่นี้อะค่ะ
ติดตามผลงานและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของ My Life as Ali Thomas ได้ ที่นี่ และรับฟังเพลงของพวกเขาและเธอบนฟังใจได้ ที่นี่