Feature Head talk

Kidnappers : Feeling Electric

  • Writer: Gandit Panthong
  • Photographer: Nattanich Chanaritichai
  • Stylist: Varachaya Chetchotiros
  • Art Director: Tunlaya Dunnvatanachit

ดนตรีแนวอิเล็กทรอนิก คืออะไรคำถามนี้เป็นคำถามแรกที่นึกออกขึ้นมาทันทีหลังจากรู้ว่าจะต้องสัมภาษณ์วง Kidnappers ลงในฟังใจซีนฉบับนี้ ผมไม่มีความรู้เรื่องราวของดนตรีแนวนี้มาก่อน จนกระทั่งได้ไปไล่ฟังเพลงของวงดนตรีวงนี้ ศึกษาพัฒนาการของแนวดนตรีนี้อย่างจริงจังทำให้รู้ว่าการสนทนาของผมและวง Kidnappers จะต้องเป็นเรื่องราวใหม่ๆ ในชีวิตอย่างแน่นอน แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็ตามสำหรับเด็กรุ่นใหม่อย่างผม ขอสารภาพเลยว่าผมเกิดไม่ทันวงดนตรีวงนี้ครับและเมื่อสมาชิกของวงทั้ง 3 คน เดินทางมาถึงโต๊ะที่เรานัดสัมภาษณ์ เครื่องบันทึกเสียงเริ่มทำงาน การเรียนรู้ในวิชา Kidnappers ได้เริ่มขึ้นแล้ว ณ บัดนี้

 

Lesson 1 : “Sa-laang” Time

หากถามเด็กรุ่นใหม่หลาย ๆ คนถึงวงดนตรีที่ชื่อว่า Kidnappers น้อยคนนักที่จะรู้ว่าพวกเขาเป็นใครมาจากไหน เพราะฉะนั้น ผมขอเป็นตัวแทนเด็กรุ่นใหม่ทำการย้อนเวลาไปฟังเรื่องราวในยุคแรกเริ่มของวงดนตรีวงนี้กันอะไรทำให้พวกเขาอยากเล่นดนตรีแนวนี้ นักร้องคนแรกของวงเป็นใคร นี่คือประวัติของวง Kidnappers ที่ทางวงจะเล่าให้ทุกคนได้ฟังกันแบบครบถ้วนที่แรกบนโลกใบนี้

2

การทำความรู้จักของสองหนุ่มเมย์และอู่

เมย์ : จุดเริ่มต้นของวงมันมาจากตอนเด็กที่ผมสนใจเพลงแนวอิเล็กทรอนิกและสนใจเรื่องของเครื่องซินธิไซเซอร์ โดยได้รับอิทธิพลมาจากการฟังเพลง การดูทีวีพวกรายการ Galaxy of star ครับ เทรนด์ของดนตรียุค 80 ช่วงนั้นดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกจะเป็นแนวที่ใหม่มาก เพราะมันไม่มีเครื่องดนตรีเยอะ แค่ยืนเล่นซินธ์แล้วก็มีนักร้อง ทำให้เรารู้สึกว่ามันเท่ดี น่าสนใจ ผมเลยไปศึกษาหาทางเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ให้ได้ ช่วงเวลานั้นผมอายุ 11 ขวบเองนะที่สนใจ พอดีที่บ้านมีห้องซ้อมดนตรีอยู่ พี่ชายผมเขาจะมีคีย์บอร์ดทรงคล้าย ๆ ออร์แกนอยู่ เขาก็เอามาให้ผมลองเล่นดูจนมาวันนึงเริ่มเป็นวัยรุ่น แล้วก็ชอบผู้หญิงคนนึงครับ (หัวเราะ) แล้วผู้หญิงคนนั้นก็แนะนำให้รู้จักกับผู้ชายอีกคนนึงชื่อว่า “อู่” เขาได้ให้เบอร์ผมมา อู่ อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในตอนนั้น ผมเลยโทรไปหาเขาเลยแล้วแนะนำตัวให้รู้จักทั้งที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน

อู่ : ซึ่งการโทรข้ามประเทศราคามันแพงมากนะ นาทีละ 70 บาทครับ ตอนนั้นผมทำงานอยู่ร้านขายเครื่องซินธิไซเซอร์ด้วยซึ่งมันก็เกิดจากความชอบเครื่องพวกนี้มาก ความจริงคืออยากไปซื้อเป็นลูกค้าล่ะ ไปเล่นทุกวันจนเจ้าของร้านเขาชวนไปทำงานที่นั่น เพราะเขาเห็นเราเล่นทุกเครื่องแล้วรู้เกี่ยวกับข้อมูลมันหมดเลยจึงทำงานอยู่ที่นั้นสักพักนึง เมย์เขาก็โทรมาคุยกับผมเรื่อย ๆ เรื่องดนตรีแนวนี้ คือ เรียกง่าย ๆ ว่ารู้จักกันโดยที่ไม่เคยเจอหน้าตากันมาก่อนด้วยเหมือนจีบกันยังไงไม่รู้ (หัวเราะ)

เมย์ : จริง ๆ เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากนะ การโทรไปคุยของผมกับอู่มันลากยาวไปจนถึงช่วงเรียนมหา’ลัยเลย แถมผมได้เริ่มมีเงินแล้วซื้อซินธ์มาได้ตัวนึง เลยโทรไปคุยกับพี่อู่ถึงฟังก์ชันต่าง ๆ มันเป็นการคุยที่นานด้วยนะ โทรแต่ละทีเหมือนหนุ่มสาวจีบกันแบบไม่เจอหน้ากันอะ ทีนี้สาวคนที่ผมชอบที่ให้เบอร์พี่อู่มากับผมเนี่ย ปรากฏว่า เขาเป็นแฟนของพี่อู่ครับ (หัวเราะ) หลังจากนั้นพอผมเรียนมหา’ลัยจบแล้ว พี่อู่ก็ดันมาชอบแฟนผมอีก มันสลับการชอบครั้งนี้กันแบบงง ๆ คนที่เราชอบเป็นแฟนมัน คนมันชอบเป็นแฟนเรา หลังจากนั้นพี่อู่ก็กลับมาไทยได้คุยกันแบบเจอตัวมากขึ้น สนิทกันมากขึ้น สุดท้ายผมย้ายไปอยู่บ้านพี่อู่เลยครับ

อู่ : มันเหมือนคู่รักย้ายไปอยู่ด้วยกันมาก ๆ (หัวเราะ) เอาของเอาเครื่องดนตรีอะไรมาอยู่ในห้องกัน ตอนกลางวันทำเพลง ตอนกลางคืนก็ออกไปดูหลาย ๆ วงเล่นดนตรีกัน ทำให้สนิทมากขึ้นจนมาถึงจุดนึงที่ว่า เออเราอยากมีวงดนตรีแล้วนะ อยากทำเพลงจังเลยมันจึงเกิดการตั้งวงขึ้นครับ  

ก่อกำเนิด Kidnappers

เมย์ : พอเราตั้งใจจะทำวงดนตรีกันแล้ว ก็อยากได้นักร้องครับ เลยตัดสินใจไปว่าขอเป็นผู้หญิงดีกว่า เพราะดนตรีกระแสหลักบ้านเราตอนนั้นคือวงร็อกล้วน ๆ เลย เพราะฉะนั้นถ้าจะทำวง เราต้องมีนักร้องที่สวย ๆ หน่อยดีกว่า เพลงเรามันฟังยากนะ เอานักร้องเข้าไปสู้ละกัน (หัวเราะ)

อู่ : ทีนี้พอเราออกไปตามหานักร้อง ไปพวกที่เที่ยวต่าง ๆ จนได้ไปเจอกับ “ปิ่น” (เก็จมณี วรรธนะสิน)

เมย์ : ตอนนั้นก็นั่งเมากันตรงพื้นหน้าร้านอะไรสักร้านนึง เพื่อนผมแนะนำให้รู้จัก ก็เลยชวนคุย ถามว่าชอบร้องเพลงรึเปล่า พอดีปื่นเป็นคนที่ชอบฟังเพลงมากครับ เพลงแนวดาร์ก ๆ นี่เขาชอบมาก เลยถามไปว่า อยากทำวงรึเปล่า ร้องเพลงด้วยกันมั้ย ปิ่นก็ตอบว่า เอาดิ ตอบด้วยสภาพเมา ๆ (หัวเราะ) ก็เป็นจุดเริ่มต้นของวง Kidnappers ตั้งแต่นั้นมาครับ โดยได้ออกกับค่าย เกกโก้ มิวสิก ทำเพลงกับในแบบฉบับอินดี้ ๆ ซึ่งออกต่อจากวง Crub ในช่วงปลายปี 1993

ดนตรีอิเล็กทรอนิกมันเหมือนดนตรีคลาสสิกมาก ๆ ดนตรีมันมีน้อยประเภทมากนะที่จะพาเราไปเศร้าหรือว่าสนุกสุด ๆ ดีงความสุขหรือเคมีในร่างกายเราออกมา ดนตรีแนวนี้มันสามารถทำได้

3

นักร้องนำคนแรกของ Kidnappers แท้จริงแล้วไม่ใช่ ปิ่นเก็จมณี

เมย์ : จริง ๆ ตอนนั้นก่อนหน้าที่จะเป็นปิ่น มีนักร้องนำชื่อว่า นีออน ครับ สมัยนั้นเราทำเพลงเป็นเดโม่ไปเสนอตามค่ายต่าง ๆ ค่ายเขาก็งงว่าเพลงอะไรของเราวะ ฟังยากจัง แล้วก็ไม่มีใครติดต่อกลับมาหาเราทั้งสิ้นเลย ก็เลยตัดสินใจทำเองเลย ทีนี้นีออนเหมือนเขาต้องทำงานพวกดีไซน์เนอร์ เขาก็ไม่ว่าง เลยต้องหานักร้องใหม่ จึงมาได้เป็นปิ่นในที่สุดครับ อันนี้เป็นความลับที่หลาย ๆ คนไม่รู้นะ

Kidnappers ชื่อนี้มีที่มา

เมย์ : ตอนตั้งวง เราพยายามหาชื่อวงที่มันดูลึกลับ ๆ หน่อยครับ ชื่อ Kidnappers มันมาจากชื่อเพลงของวง Blondie วงนี้เป็นวงอังกฤษที่ดังมากวงนึงเลย สมาชิกจะมีผู้หญิงร้องนำ ผู้ชายเป็นนักดนตรี เท่มาก เป็นวงโปรดของผม เขามีเพลงชื่อนี้ละผมชอบ มันดูเป็นคำตอบทุกอย่างหมดเลย ดูลึกลับเหมือนเราลักพาตัวคนฟังไปฟังเพลงเรา ก็เลยใช้ชื่อนี้ครับ

กระแสตอบรับจากอัลบั้มแรก (แสลง) ที่วงคาดไม่ถึง

เมย์ : ดีในระดับนึงเลยนะ ตอนนั้นคนฟังเพลงเราส่วนใหญ่จะเป็นพวกฟังดนตรีนอกกระแส มันเป็นยุคที่อินดี้เริ่มขยับแล้ว วงนอกกระแสเริ่มมีทางที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ก็เริ่มมีแฟนเพลงในระดับนึง แต่ถ้าเอายอดขายก็ห่วยสุด ๆ เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ถ้าเทียบกับสมัยนี้ขายได้เป็นหลักหมื่นก็โอเคแล้วนะ ช่วงเวลานั้นจำได้ว่ามีคอนเสิร์ตของตัวเองด้วย รู้สึกว่ามันก็ค่อนข้างโอเคในระดับนึงที่เพลงเรามีคนรู้จัก ติดชาร์ตเพลงนิดหน่อย มีแฟนเพลงเกิดขึ้น

อู่ : มีจดหมายจากแฟนเพลงเขียนเข้ามาหาด้วย แต่ปรากฏว่าเขียนมาให้ปิ่นทั้งหมดเลย อารมณ์แบบว่า พี่ผมชอบพี่มากเลยแล้วพี่ผู้ชายสองคนข้างหลังเป็นใครเนี่ย (หัวเราะ) อ่านไปก็ขำ สนุกดี แล้วก็ตอนนั้นเทปวงเราครับ จะมีคู่มือแนะนำการฟังเพลงที่ถูกต้องด้วย เพราะเราทำเป็นซาวด์ 3 มิติเป็นวงแรกของประเทศไทยเลย เท่านั้นยังไม่พอ มีตั๋วเครื่องบินไปฮ่องกงด้วย

Kidnappers รุ่นแรกกับชีวิตที่เปลี่ยนไปของเมย์และอู่

เมย์ : ช่วงนั้นทำวงนี้ใช้เวลาไปทั้งหมดก็ประมาณ 2 – 3 ปีนะ หลังจากออกอัลบั้มแรกชีวิตก็เปลี่ยนไป ด้วยความที่ซาวด์เพลงเราค่อนข้างแปลกใหม่ ทำให้วงการโฆษณาก็สนใจวงเรา มีงานเข้ามาเยอะมาก ทำหนัง ทำแฟชั่นโชว์ คือ ตอนนั้นเราไม่เคยทำอะไรแบบนั้นเลย เราก็สนุกกับการทำอะไรแบบนั้น เลยขาดช่วงการทำวงไป ช่วงนั้นได้เงินเยอะมาก ได้รางวัลด้วย ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ”นางนาค” ได้รางวัลทุกรางวัลเลย ก็สนุกสนานกันเลยทำสตูดิโอขึ้นมาด้วยกัน ทำเพลงโฆษณา ทำโปรดักชัน แถมปิ่นก็เข้าไปเป็นนักแสดง Exact แล้ว เขาก็มีสัญญาทำให้ต้องแยกย้ายกันไป พอรู้สึกตัวอีกที เรากับอู่ยังอยากทำเพลงอีกนะก็ต้องหานักร้องใหม่อีกละ โดยทุกอย่างมันกินเวลาไปประมาณ 10 ปีครับ กว่าจะรอบมาทำวงกันอีกรอบ

ตอนนั้นคนฟังเพลงวงเราส่วนใหญ่จะเป็นพวกฟังดนตรีนอกกระแส มันเป็นยุคที่อินดี้เริ่มขยับแล้ว วงนอกกระแสเริ่มมีทางที่ชัดเจนขึ้น ทำให้เริ่มมีแฟนเพลงในระดับนึงแล้ว แต่ถ้าเอาเรื่องยอดขายก็ห่วยสุด ๆ เหมือนกัน

4

Part 2 : Let’s “Set” Go           

หลังจากที่ทราบเรื่องราวของ Kidnappers ในยุคแรกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 10 ปีหลังจากที่พวกเขาหายไป การกลับมาทำเพลงอีกครั้งในอัลบั้มที่2 ของพวกเขาเป็นอะไรที่แปลกใหม่และต่างไปจากเดิม ทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นและจุดสานต่อ เรื่องราวต่อไปที่กำลังจะเล่าต่อไปนี้ คือภาคต่อของวงKidnappers ในรุ่นที่สองครับ

10 ปีแรกผ่านไป Kidnappers รุ่นที่สองถือกำเนิด

เมย์ : มาชุดที่ 2 ยุคนั้นคนทำดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกเนี่ยน้อยมากนะ ก็จะมีวงเรา มี Z-myx แล้วก็มี จามร ผมสนิทกับจามรครับ เลยชวนเขาว่า อัลบั้มนี้เรามาเล่นด้วยกันดีกว่า ก็เลยจะมีพี่เขาเข้ามาอยู่ในวงด้วยในอัลบั้มสอง ดนตรีก็จะเปลี่ยนไปแถมตอนนั้นพี่เขาก็แนะนำน้องนู๋ (มนต์ทิพย์ ลิปิสุนทร) ให้รู้จักเลยได้ทำเพลง สายเกินไป ด้วยกัน พอเราฟังแล้วก็รู้สึกเฮ้ยโอเค เสียงหวาน ๆ น่ารัก ดนตรีชุดสองมันก็เปลี่ยนไป

อู่ : หลังจากทำเพลงนั้นเสร็จ ก็ลองส่งไปวิทยุเล่น ๆ ดู ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้เปิดด้วยกะทำเล่น ๆ ขายแผ่นซิงเกิลงาน Fat Festival แต่ปรากฏว่าเพลงขึ้นอันดับ 1 เลย ทำให้รู้สึกว่า ซวยแล้วทำกันเล่น ๆ สงสัยต้องเอาจริงแล้ว เลยตัดสินใจทำไปอีก 9 เพลง จากนั้นก็มีคนติดต่อเข้ามาให้ไปอยู่ที่ค่าย Blacksheep แล้วออกอัลบั้มที่ 2 ทันทีครับ  

คนรู้จักเยอะขึ้น ทำให้มีชื่อเสียงเร็วขึ้น

เมย์ : รอบนี้เราได้เล่นอยู่หลายที่เหมือนกันนะ สถานที่ที่เราไปเล่นรอบนี้ก็จะมีที่ใหม่ ๆ ไม่ได้เป็นตามผับอย่างเดียวแล้ว มันมีการทัวร์เกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมด แฟนเพลงเราก็ยังเกาะกลุ่มแน่นจากอัลบั้มที่แล้ว มีคนรู้จักผมกับอู่มากขึ้นจากอัลบั้มแรก คนเริ่มรู้ว่าดนตรีที่เรากำลังสื่อสารออกไปเป็นแนวอะไร แต่น่าเสียดายที่การกลับมารอบนี้ของเราสองคนมันใช้เวลาน้อยเกินไป 

นักร้องนำเปลี่ยน แฟนเพลงถามมั้ยว่าเปลี่ยนนักร้องทำไม

เมย์ : มีถามนะ แบบไม่เอาไม่อยากได้เสียงนี้ จะเอาเสียงปิ่นนะ ตามเรื่องตามราวไป (หัวเราะ)  จริง ๆ พอทำอัลบั้มสองเสร็จสักพักนึงก็ทุกอย่างก็กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก หน้าที่การงานมันค่อนข้างจะวุ่นวาย เหมือนเดิมไม่มีเวลา ทุกอย่างก็หายไป กว่าจะรู้สึกตัวอีกทีก็ 10 ปีอีกละ เราก็ทำงานของเราปกติ เพลงเราก็ทำเก็บไว้เรื่อย ๆ แต่ไม่รู้เมื่อไรจะออกสักที เพราะฉะนั้นเราก็หายไปอีก 10 ปีครับ แล้วจึงจะหานักร้องใหม่อีกครั้ง

5

Part 3 :  “Sway” Swing Dance            

การกลับมาของ Kidnappers ในอัลบั้ม 2 สิ้นสุดลงไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้น วงดนตรีวงนี้ก็ถูกกาลเวลาลักพาตัวไปอีกครั้ง ซึ่งกินเวลาทั้งหมดไปถึง 10 ปีด้วยกัน หากบวกลบแล้ว วงนี้มีอายุ 20 ปีคงเป็นวัยรุ่นกำลังคึกคะนองเลยล่ะ ปี 2015 คือการฉลองครบรอบ 20 ปีของพวกเขา สาเหตุใดที่พวกเขากลับมา การหานักร้องนำที่เป็นอุปสรรคในครั้งนี้ติวดิษยากรกชมาศคือ ส่วนเติมเต็มในการกลับมาของพวกเขา

อะไรทำให้รู้สึกว่าต้องกลับมาทำดนตรีอีกครั้งในปี 2015

เมย์ : มันรู้สึกแบบเดิมอะครับ อยากทำอยู่ แต่รอบนี้จะเหนื่อยตรงหานักร้องละ เพราะต้องเป็นคนที่เข้ากับเราได้ ไม่มีแรงไปนั่งดูนักร้องตามร้านแบบสมัยก่อนแล้ว แก่ขึ้นเยอะเลย

อู่ : ยิ่งเวลาผ่านไป เราสองคนจะรู้สึกห่างกับนักร้องมากขึ้น ตอนแรกปิ่นจะอ่อนกว่าเราไปนิดนึง นู๋ก็จะห่างไปอีกนิดนึง พอมารุ่นสาม ติวก็ไกลมากหน่อย (หัวเราะ)

เมย์ : อีกอย่างมันเป็นเหมือนแรงผลักดันจากคนรอบ ๆ ตัวเราด้วยที่บอกเราเสมอว่า พี่กลับมาทำเพลงกันเถอะ ก็เลยไฟมา กระจายข่าวเลยว่าวงเรารับสมัครนักร้องนำ ช่วงนั้นระหว่างที่ทำงานโฆษณาก็มีนักร้องมาร้องอยู่ตลอดนะ ก็จะดูบุคลิกเขา มีคนมาออดิชั่นเรื่อย ๆ คือ ทุกคนร้องเพลงเก่งหมดเลย แต่เขาไม่เข้ากับดนตรีของเรา ใช้เวลาหลายปีมากกว่าจะเจอ ดูไปก็ท้อไป แต่โชคดีที่น้องในออฟฟิศแนะนำติวให้มาร้อง ซึ่งก่อนหน้านั้นผมเจอติวตามงานดนตรีแนวนี้อยู่แล้ว จึงเป็นที่ผ่านมานักร้องรุ่นที่ 3 ปัจจุบันนี้ครับ           

การมาของหญิงสาวที่ชื่อ ดิษยา กรกชมาศ นักร้องนำคนล่าสุดของ Kidnappers

ติว : จริง ๆ ตอนนั้นติวเคยร้องเพลงให้วง Cut The Crab ซึ่งเป็นผู้ช่วยของพี่อู่ แล้วก็เป็นช่วงเดียวกับที่เขามาบอกข่าวว่า Kidnappers กำลังจะหานักร้องคนใหม่นะ ก็เลยเตรียมตัวเอาเพลงชุดเก่า ๆ มาฝึกร้องเยอะมาก พวกเพลงช่วงชุดที่ 2 ชุดที่ 1 ยังเด็กอยู่ (หัวเราะ) เป็นแฟนคลับพี่ ๆ เขาด้วย เคยไปดูคอนเสิร์ตก็เลยมาลองออดิชั่นดู มาเจอพี่เขาครั้งแรกแต่ก็ไม่ได้ร้องนะ ครั้งแรก ชวนคุยมากกว่าว่าชอบฟังเพลงที่ไหน ฟังเพลงอะไรบ้าง สุดท้ายก็มีเดโม่เพลง แกว่ง เนี่ยล่ะค่ะเอามาให้เราฟัง กลับไปลองซ้อมดูแล้วค่อยมาออดิชั่นอีกที ซึ่งตอนเดโม่ที่ให้มาก็เป็นเสียงพี่มาเรียม (มาเรียม เกรย์) ร้องไกด์มาเลย ตอนฟังนี่เครียดเลย อารมณ์แบบกูทำไงดีวะ (หัวเราะ)

เมย์ : มันจะมีอยู่พักนึงตอนที่เราไปเล่นดีเจ เล่นไลฟ์ ก็จะเอามาเรียมมาร้องบ่อยเลย สนิทกันจึงให้มาเรียมมาเป็น Guest บ่อยมาก เขาก็ร้องเดโม่ให้กับเราด้วย ติวเจอไปนี่งงเลย

ติว : ตอนนั้นทำใจเกือบอาทิตย์แล้วถึงมาออดิชั่น ที่สำคัญไอ้วันแรกที่พี่เขานัดเจอเขาถามคำถามที่เราฮามากถามว่า “กินเหล้าที่ไหนอะ” เราก็แบบเฮ้ยออดิชั่นไรวะเนี่ยมีถามเรื่องกินเหล้า นี่คืออะไร

เมย์ : ก่อนติวเขามาเนี่ย ผมก็ไปแอบดูชีวิตเขามาสักพักละนะ ทำการบ้านเขาเยอะมาก ดูเป็นคนที่มีคาแรกเตอร์จริง ๆ เขาเป็นคนร้องเพลงดีอยู่แล้วในระดับนึงเลย ผมเลยส่งเข้าไปเรียนร้องเพลงทันทีหลังจากที่รับเข้าวง

ติว : แต่ช่วงก่อนหน้านั้นพี่เขาหายไปเลยนะเป็นเดือนไม่โทรมาเลย จนเราก็คิดว่าคงไม่ได้แล้วล่ะ ปรากฏว่ามีวันนึงก็โทรมาหาเราแล้วบอกว่า ว่างรึเปล่าช่วงนั้นเข้ามาทำเพลงกันหน่อย พอเข้ามาปุ๊บก็นัดซ้อมเลย เพราะเพลงจะออกเดือนหน้าแล้ว เราก็ตกใจว่าอะไรมันจะเร็วขนาดนั้น

Spicydisc บ้านหลังใหม่ของ Kidnappers

เมย์ : ระยะเวลาช่วงนั้นมันเร็วมากครับ ผมคุยกับพี่เต้ง เจ้าของค่าย Spicydisc มานานแล้ว พอไปเจอแกครั้งนั้น เขาก็บอกผมว่า ต้องออกปี 2015 แล้วนะ เพราะมันจะครบรอบการกลับมาในรอบ 10 ปีของวงด้วย ทำให้ต้องออกช่วงนั้นเลย แต่จริง ๆ เพลงทุกอย่างมันเสร็จหมดแล้วเหลือแค่ร้อง พอเซ็นสัญญากับ Spicydisc เสร็จทุกอย่างก็ลุยเลยครับ

อู่ : ความตื่นเต้นอีกอย่างคือการเปิดตัวของเราครับ ช่วงที่ปล่อย Teaser ไปว่าเราจะกลับมา คนก็เดาไปเรื่อยว่านักร้องเป็นใคร คนยังคิดเลยว่าติวมาเล่นเอ็มวีให้วงเรารึเปล่า (หัวเราะ) จนเปิดตัวมาเป็นเพลง แกว่ง เนี่ยละ

6

แกว่งซิงเกิลแรกต้อนรับการกลับมาในรอบ 10 ปี

เมย์ : เพลง แกว่ง จะเป็นเพลงที่ฟังยากหน่อยสำหรับเด็กรุ่นนี้ แต่สำหรับคนมีอายุที่เขาฟังเพลงวงเรามาตั้งแต่อัลบั้มแรก เขาก็จะพอรู้ว่าเพลงเรามันจะเป็นประมาณนี้ เลยจะเป็นอารมณ์แบบงงนิดนึงว่าวงเราทำดนตรีอะไรกันใหม่ แต่ก็เป็นการเปิดตัวที่ดี คนก็เริ่มกลับมาสนใจพวกเราอีกครั้ง

Cat To The Future เวทีนี้ทำขาสั่น

เมย์ : สั่นงั่กเลย ไม่ได้เล่นดนตรีมาตั้ง 10 ปี แถมคนก็เยอะเกินเหตุหลายพันคนมาก คิดในใจอะไรวะเนี่ย แต่สนุกนะ ตัวแข็งเป๊ก ทุกอย่างออกมาดี ซาวด์ดีมาก รอดตายไปครับ

ติว : ถือว่าเป็นคอนเสิร์ตแรกในชีวิตเลยค่ะ มันเป็นเวทีที่ใหญ่มากเลย ตอนแรกคิดว่าน่าจะได้เริ่มจากเวทีเล็ก ๆ ก่อน แต่ความจริงคือเล่นฮอลล์เมืองทองเลย ลงมาเสร็จแล้วโล่งเลย ซ้อมกันเยอะมากคอนเสิร์ตแรก

เมย์ : หลังเวทีติวมาบอกผมว่า ตื่นเต้นมาก ผมบอกกลับไป แกดูชั้นดิ ชั้นยังตื่นเต้นเลย ผมแบบแอบเปิดม่านดู คิดในใจเชี้ยคนเยอะสัส (หัวเราะ) วันนั้นโชว์เราคนจะอึ้ง ๆ นิดนึง อะไรของพวกมึงวะ เพลงแนวนี้แล้วเป็นวงแรกวงเปิดด้วย

อู่ : เขาก็คงคิดว่าเรามาเล่นเพลงชุดแรกไม่ก็ชุดสอง ปรากฏว่าเราเล่นเพลงใหม่หมด เลยกลายเป็นวงหน้าใหม่ในงานวันนั้นเลย ทุกอย่างก็สนุกดี เหมือนกลับไปเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง

เพื่อใครซิงเกิลที่สอง เพลงฟังง่าย เด็กรุ่นใหม่ชื่นชอบ

เมย์ : เพื่อใคร เป็นเพลงฟังง่าย เพลงนี้กระแสตอบรับดีขึ้นเยอะกว่าเพลงแรก เราลองปรับดูให้มันเข้ากับแฟนเพลงยุคหลัง ๆ ด้วย เพลงนี้ก็จะมีเด็ก ๆ หน่อยมาฟังกัน ดูจากคอมเมนต์ยูทูบก็เลยรู้สึกว่าแนวเพลงแบบนี้เด็กรุ่นใหม่ชื่นชอบและเข้าถึงง่าย

หยุดซิงเกิลสาม บทเพลงพร้อมเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบของภาพยนตร์สั้น           

เมย์ : เพลง หยุด เรารู้สึกว่าอยากทำเพลงที่เป็นเพลงช้า ก็เลยทำเพลงซาวด์หม่น ๆ หน่อยออกมา เราอยากให้มันฟังแล้วไม่เหมือนกับว่าฟังเพลงเฉย ๆ ดูมันมีเรื่องราวมีบรรยากาศว่า เพลงเล่าเรื่องอะไรอยู่ มันก็เลยลิงก์มาเป็นหนังต่อกัน แต่ก็จะฟังยากหน่อยนะ มันเป็นการวางรูปแบบไว้ของเราตั้งแต่เริ่มเลยสำหรับเพลงนี้

ซิงเกิลที่สี่เธอเท่านั้น (No way)เพลงที่กำลังจะออกเร็ว ๆนี้            

เมย์ : เพลงต่อไปจะสดใสน่ารัก แบ๊ว ๆ แล้วผ่อนความเครียดของเพลงลงมาหน่อย เพราะว่าเพลงที่แล้วค่อนข้างจะหม่น เพลงต่อไปจะฟังง่ายกว่าเพื่อใครอีกอะ แต่ก็เป็นสไตล์ของ Kidnappers อยู่ดี อยากให้ติดตามกันดูครับ

อู่ : อยากให้มันเป็นเพลงฟังง่าย ๆ จำเนื้อร้องได้เลย โจทย์เป็นแบบนั้น รู้สึกว่าผ่อน ๆ จากเพลงที่แล้วหน่อย เพลง หยุด มันฟังยาก พอหลังจากเพลงนี้ก็จะทำเพลงที่ไม่แคร์แล้ว อยากทำอะไรก็ทำ แล้วหลังจากเพลงนั้นค่อยมาคิดกันอีกที แต่ก่อนมันคิด 10 เพลง แต่ตอนนี้มันคิดกันเพลงต่อเพลง จริง ๆ มีเพลงอีกเยอะที่ทำแล้วแต่ยังไม่ปล่อย ยังไงรอฟังกันครับ

อัลบั้มเต็มปีนี้ต้องได้จับจอง

เมย์ : ปีนี้น่าจะได้จับจองกันครับ จะออกมาเป็น EP Album ด้วย แล้วก็มีแพลนเรื่องอื่น ๆ ที่จะทำ ซึ่งเดี๋ยวก็ต้องคุยกันอีกต่อไปในอนาคต เราจะทำคอนเสิร์ตทำอะไรกัน แต่คงไม่หายไปแล้ว คงทำชุดนี้ไป ซึ่งมันคงกินเวลาไปเรื่อย ๆ

อู่ : จุดนี้อาจจะใช้เวลาไปถึง 10 ปีก็ได้

7

PART 4 : Go to The Future            

อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ วงดนตรีวงนี้ก็เช่นกัน สิ่งที่ผมจะคุยกับวงดนตรีวงนี้เป็นเรื่องสุดท้ายก็คือเรื่องของอนาคต Kidnappersเป็นวงดนตรีที่อยู่คู่วงการเพลงไทยมาอย่างยาวนาน พวกเขามองเห็นอะไรบ้างในวงการเพลงไทย อนาคตแผนการของวงจะเป็นเช่นไร จะหายไปอีก10 ปีรึเปล่า วง Kidnappers พร้อมแล้วที่จะให้คำตอบผมในเรื่องนี้ครับ

เสน่ห์ของดนตรีอิเล็กทรอนิกคืออะไร 

อู่ : ผมว่าเสน่ห์สำคัญที่สุดคือ เสียงซินธิไซเซอร์ เครื่องนึงมันสามารถปรับได้เป็นล้าน ๆ เสียง มันทำให้รู้สึกว่าใหม่อยู่เสมอ แถมมันไม่เหมือนกับเสียงกีตาร์หรือไวโอลิน ส่วนตัวบทเพลงแนวนี้เองก็ทำให้มันน่าสนใจขึ้นมาด้วย เพลงแนวนี้มันเป็นเพลงที่สนุกซะส่วนใหญ่ เต้นได้ด้วย

ติว : มันก็อย่างที่พี่อู่บอก มันก็จะมีซาวด์บางซาวด์ มันพาไปในอีกอารมณ์นึงที่ไม่ต้องมีคำพูดมาบอกก็ได้ ซึ่งเด็ก ๆ ก็จะฟัง EDM กัน มันก็จะมีท่อนส่งท่อนอะไรด้วย แต่เอาจริง ๆ แล้ว มันมีดนตรีอิเล็กทรอนิกหลายแบบมากบนโลกใบนี้

เมย์ : รู้สึกว่าดนตรีอิเล็กทรอนิกมันเหมือนดนตรีคลาสสิกมาก ๆ ดนตรีมันมีน้อยประเภทมากนะที่จะพาเราไปเศร้าหรือว่าสนุกสุด ๆ ดีงความสุขหรือเคมีในร่างกายเราออกมา ดนตรีแนวนี้มันสามารถทำได้ อย่างเราฟังเพลงร็อกหรือเพลงธรรมดามันก็อาจจะได้อีกระดับนึง แต่ดนตรีแนวนี้มันพาเราไปได้ตามอารมณ์และสามารถทำคนเดียวได้ ไม่ต้องรอเพื่อน

8

เป้าหมายในอนาคตของ Kidnappers

เมย์ : จริง ๆ คงทำอัลบั้มนี้ให้ดีที่สุดก่อน อยากให้ทุกเพลงมันเป็นเพลง masterpiece ของเรา ตอนเด็ก ๆ เราอาจจะติดเรื่องของเวลา เรื่องของงบ แต่ตอนนี้เรามีทุกอย่างแล้ว ก็อยากจะทำให้อัลบั้มนี้มันดีที่สุด จริง ๆ ก็มีแผนกับคอนเสิร์ตอีกเยอะเลย นี่มันเพิ่งเริ่มต้นเองรอบนี้อยู่นานแน่นอน

รายได้จากการฟังและการเล่นดนตรีตอนนี้ถือว่าเป็นอย่างไร

เมย์ : ถ้าเป็นศิลปินคุณต้องเล่น live เยอะ ๆ ตอนนี้ทุกคนฟังเพลงก๊อป เพลงเถื่อนกันหมดแล้ว ไม่ได้เน้นยอดขายแล้วล่ะ อย่างวันแรกที่ออกเพลง “เพื่อใคร” มีคนมาบอกแล้วว่า ไปโหลดได้แล้วในเว็บโหลดเพลง เราก็งงนิดนึงว่ามันเกิดอะไรขึ้นวะเนี่ย แต่ก็คงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับสมัยนี้แล้ว สมัยเรามันต้องซื้อและเก็บ ทุกคนก็จะทำปกสวย ๆ มีเครดิตมีอะไรให้มันดูน่าเก็บอะ ตอนนี้มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการเพลง ปัจจัยหลัก คือ คนฟัง  

เมย์ : คนฟังเป็นเหตุผลที่สำคัญสุดอยู่แล้ว เรื่องลิขสิทธิ์ด้วย แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันพังไปแล้ว เรื่องเทปผีอะไรมันทำลายวงการเพลงไปหมดแล้ว พอมันเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น การพัฒนาของวงดนตรีก็เลยทำได้ไม่เต็มที่เท่าไร คนหันไปสนใจเล่นอะไรที่มันได้เงินมากกว่าเล่นตามร้านปกติทั่วไป ถ้าจะเล่นเป็นวงตัวเองตอนนี้ก็ลำบาก คือ ในส่วนของชีวิตนักดนตรี ถ้าจะให้ร่ำรวยจากตรงนี้จริง ๆ บอกเลยว่า ยาก น้อยคนที่จะได้ นอกจากเป็นวงที่ดังมาก ๆ เท่านั้นที่จะอยู่รอด ส่วนในแง่ของคนฟังก็อยากให้เปิดใจให้กว้าง ๆ บางทีพอไม่ชอบอะไรก็ล้มกระดานไม่เอาไปทุกอย่าง คนทำเพลงก็ลำบากฮะ เพราะฉะนั้นถ้าให้พูดกันตรง ๆ กับอาชีพนักดนตรี ตอนนี้ถือว่าการเป็นอยู่ค่อนข้างยากเลยล่ะ

เพราะฉะนั้นชีวิตอีก 10 ปีของ Kidnappers จะเป็นอย่างไร

เมย์ : ก็คงกอดคอกับอู่ทำเพลงต่อไป คงเที่ยวคลับฟังดนตรีเต้นรำอยู่ ช้อปซินธิไซเซอร์กันด้วย แต่อาจจะแก่ไปนิดนึง (หัวเราะ)

อู่ : คงไปด้วยกันกับเมย์ล่ะ เพราะตลอดทางที่ผ่านมาก็เหมือนเดิม ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างก็คงจะเหมือนเดิม

ติว: ก็คงจะเป็นเหมือนพี่ ๆ ตอนนั้นเพิ่มเติมคือมีลูกแล้ว (หัวเราะ)

บทเพลงจาก Kidnappers ถึงนายกของประเทศไทย

เมย์ : เพลง เพื่อใคร ดิ (หัวเราะ) อยากถามนายกว่า เพื่อใคร

อู่ : เพลงใหม่ก็ดีนะ อยากให้นายกได้ลองฟังดูน่ารัก ๆ

ติว : แกว่ง ก็ดีนะ

เมย์ : หยุด ก็ได้นะ (หัวเราะ) แต่ตอนนี้นายกอาจจะแกว่งอยู่ชัวร์เลย

9

ในส่วนของชีวิตนักดนตรี ถ้าจะให้ร่ำรวยจากตรงนี้จริง ๆ บอกเลยว่า ยาก น้อยคนที่จะได้ นอกจากเป็นวงที่ดังมาก ๆ เท่านั้นที่จะอยู่รอด

ก่อนจะจากกันไปฝากตัวฝากใจ

ติว : เร็ว ๆ นี้จะมีซิงเกิลใหม่ค่ะ เอ็มวีเราถ่ายกันเรียบร้อยแล้ว จะมีเซอร์ไพรส์อะไรอีกมากมายกับ Kidnappers ยังไงอยากให้ติดตามคอนเสิร์ตต่าง ๆ น่าจะมีอะไรที่สนุก ๆ กันอีกเยอะเลย หวังว่าได้เจอกัน

อู่ : ขอบคุณแฟนเพลงจากฟังใจด้วยนะครับ

เมย์ : แล้วเจอกันครับ

หลังจากสิ้นสุดบทสัมภาษณ์นี้ ผมกับวง Kidnappers ได้คุยกันต่อในเรื่องของโปรเจกต์ที่ยังไม่สามารถบอกใครได้ในตอนนี้ ทำให้ได้รู้ว่าการกลับมาของพวกเขาในครั้งนี้ไม่ได้กลับมาเล่น ๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือวันนี้พวกคุณเปิดใจให้กับดนตรีแนวนี้มากพอแล้วรึยัง อะไรที่เป็นกำแพงในจิตใจของคุณอยู่ ทำลายมันซะเถอะ แล้วคุณจะพบกับอะไรใหม่ ๆ ในโลกของเสียงดนตรีเต็มไปหมด เหมือนอย่างที่ผมได้เรียนรู้ว่า การเป็นตำนานในโลกดนตรีอิเล็กทรอนิกของ Kidnappers พวกเขาผ่านอะไรกันมา ความรักในสิ่งที่ชอบคือ กุญแจสำคัญอย่างยิ่งในการเล่นดนตรีของพวกเขา ยินดีที่ได้รู้จักพวกคุณครับ Kidnappers แล้วพบกันใหม่นะ  

ปล.ไม่แน่ปีนี้เราอาจจะได้เห็น Kidnappers เล่นในเทศกาลหนึ่งในต่างประเทศก็เป็นได้ รอดูกันนะ

Facebook Comments

Next:


Gandit Panthong

กันดิศ ป้านทอง อดีตนักศึกษาฝึกงานนิตยสาร Hamburger Magazine, ทำงานในกองบรรณาธิการ MiX Magazine และ บก.คนแรกของ Fungjaizine ที่มีความมุ่งมั่นว่าจะตั้งใจสร้างสรรค์วงการเพลงให้เกิดแต่สิ่งดี ๆ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง