Fwends การเติบโตที่ไม่จำเป็นต้องทิ้งไว้แค่น้ำตาและรอยแผลเสมอไป
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Chavit Mayot
- Stylist: Varachaya Chetchotiros
- Art Director: Benyatip Sittivej
ตั้งแต่ที่พวกเขาเคยเป็นส่วนหนึ่งของวง Cloud Behind และเปลี่ยนผ่านสมาชิกจนกลายมาเป็นไลน์อัพปัจจุบัน จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาหลายปีแล้วที่เราได้รู้จักกับ Fwends ซึ่งการได้คุยกับพวกเขาในแต่ละครั้งก็เหมือนการได้คืนสู่เหย้า ชวนกลุ่มเพื่อนมาเม้ามอยที่บ้าน แต่หนนี้ดูเหมือนจะเป็นเราที่ไปบุกบ้านเพื่อนมากกว่า
ด้วยการตกแต่งมินิมอลน่ารักอบอุ่นในสเปซที่จำกัดทำให้หลายคนอยากใช้เป็นแรงบันดาลใจ ทำให้บ้านของเมย์เป็นหนึ่งในสเปซที่หลายคนพูดถึงเพราะเริ่มไปปรากฎในหน้านิตยสารแต่งบ้านหลายหัว แต่ความรู้สึกที่ได้กลับมาที่นี่สำหรับเราก็ยังเป็นเหมือนเดิม เพียงแค่ไม่ได้ใช้เวลามากเท่าเมื่อก่อน เพราะเราทุกคนต่างต้องเติบโตและต้องโฟกัสกับความรับผิดชอบหนักอึ้งที่กองรออยู่ตรงหน้าในแต่ละวัน
เมื่อสมาชิกมาพร้อมหน้าพร้อมตากันแล้ว เราก็ได้เริ่มพูดคุยถึงอดีตวันวาน และการทำงานเพลงในปัจจุบัน แม้การคุยกับ Fwends รอบก่อนจะผ่านไปเพียงหนึ่งปี แต่สังเกตได้เลยว่าระยะเวลาเพียงเท่านั้นก็เปลี่ยนแปลงให้พวกเขาเติบโตมากขึ้นเหลือเกิน
สมาชิก
เมย์—ชูชีวา ชีพชล (ร้องนำ, กีตาร์)
ยูกิ สุวรรณโสภา (กีตาร์)
กร วรศะริน (เบส)
หมี—ถิรวัฒน์ โงสว่าง (กลอง)
ฟ้าใส—ปิยากรณ์ ปิยะสุทธิ์ (คีย์บอร์ด)
กว่าจะโตมาถึงตอนนี้มันก็ต้องมีผ่านอะไรที่เป็นรอยแผลกันมาทั้งนั้น มันต้องเจอกับเรื่องแย่ ๆ ทั้งที่คนอื่นสร้างให้และเราสร้างเอง ซึ่งพอผ่านมาได้ เราก็รู้สึกขอบคุณมากกว่า ไหนจะคนรักที่จากโลกนี้ไปอีกมากมาย มันทิ้งรอยอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป อย่างมากก็คิดถึง แต่ต้องไม่ลืมหน้าที่ของตัวเอง ปัจจุบันก็แค่ใช้ชีวิตให้มีสติขึ้น
อะไรทำให้ Fwends เปลี่ยนแนวเพลง
เมย์: เราไม่ได้ตั้งใจเปลี่ยนแนวเพลงนะ แค่เป็นตัวเองมากขึ้น และด้วยความที่มีสมาชิกใหม่สองคน คือหมีกับยูกิ ซึ่งสไตล์ก็แตกต่างจากคนเดิมอยู่แล้ว เราก็ให้น้องเป็นตัวเอง ไม่ได้ยึดว่า Fwends เมื่อก่อนเป็นยังไงแล้วต้องเล่นแบบเดิม เหมือนเรากับกรมองเห็น potential บางอย่างของวงที่มันจะโตไปเป็นแนวที่เราอยากได้ เราก็เลยโอเค ลุย
กร: เราเคยมี direction ที่เราอยากจะได้ แต่ว่ามันก็ไม่เหมือนเดิมหรอกเพราะคนเปลี่ยน แนวทางก็เปลี่ยน ที่วางไว้แต่แรกคืออยากให้เพลงมีจังหวะมากขึ้น หนัก rhythm มากขึ้น แล้วพอมาเจอสองคนนี้ อย่างหมีพรีเซนต์ตัวเองว่าตีฟังก์ ฮิปฮอป มันก็น่าจะต่างออกไป ก็เลยลองดู
เมย์: หลัง Why Can’t You See เราก็ชัดเจนขึ้นว่าเราจะเป็นวงที่เน้น groove มากขึ้น
มาเจอยูกิกับหมีได้ยังไง
เมย์: หมีมาเป็นนายแบบให้ Greyhound ตอนเรายังทำที่นั่นอยู่ แล้วได้คุยกันเรื่องเพลงเลยรู้ว่าน้องตีกลองได้ และช่วงนั้นกำลังหาสมาชิกใหม่พอดี หมีบอกเรียนตีฟังก์ และฮิปฮอปมา ซึ่งเราว่าน่าสนใจ เอาตรง ๆ คือดูหน้าตาเลยตอนนั้น ถ้าหมีอยู่ก็จะดูเป็นวงที่ขายลุคทันที ล้อเล่นนะ (หัวเราะ) ส่วนยูกิก็เป็นรุ่นน้องกรที่มหาลัย กับเคยมาเล่นแทนคนเก่า ก็ได้เห็นฝีไม้ลายมือของยูกิว่าเล่นอะไรยังไง มันก็เลยเป็นใครไปไม่ได้ที่จะมาเล่นนอกจากยูกิ แล้วก็หล่อสุดในวงด้วย
พอมาเล่นด้วยกันจริง ๆ ครั้งแรกต้องปรับตัวยังไงบ้าง
เมย์: จริง ๆ ปรับน้อยมาก เพราะให้น้องเป็นตัวเองมากที่สุด และเราก็ชอบสิ่งที่น้องนำเสนอออกมาด้วย ใช้เวลาแค่ครั้งสองครั้งที่ซ้อมก็คลิกกันแล้วนะ เสียงกีตาร์ของยูกิช่วยซัพพอร์ตชุดความคิดเวลาแต่งเพลงของเราได้ดีมาก ๆ เราเกิดไอเดีย และเมโลดี้ใหม่ ๆ ที่เราชอบจากเสียงกีตาร์ และทางคอร์ดที่ยูกิเลือกใช้เยอะมาก ๆ เลยคิดว่ามันเป็นการเติมเต็มมากกว่าการปรับตัว
ยูกิ: ไม่มีครับ รู้สึกว่ามันก็ดีที่เราได้ยินอะไรที่เราไม่เคยได้ฟังจากคนอื่น แต่จะเป็นห่วงว่า เขาจะฟังเรา จะตอบสนองเราหรือเปล่า แต่เหมือนว่าอันนี้เราเล่นด้วยแล้วก็มีคนที่คอยฟังคอยตอบสนองเราอยู่ ถึงจะไม่ตลอด อย่างน้อยก็พยายามตอบสนองกันให้ได้มากที่สุด
หมี: เป็นเรื่องการเล่นสด มีเรื่องจำท่อนเพลงด้วยตอนแรก ๆ แต่หลัก ๆ คือเรื่องการตีกลองให้เฉียบคมและเป็นแนวทางใช่ โดยเฉพาะเรื่องทัศนคติทางดนตรีที่ว่าเราเห็นภาพเดียวกันไหมในตอนเล่นดนตรี
เมย์: หมีอาจจะต้องปรับเยอะสุดตรงที่ต้องเล่นสดเลย ตอนนั้นมันไวมาก ๆ นึกถึงวันแรกที่เล่นคอนเสิร์ต เป็นเราก็ตื่นเต้นเหมือนกัน
ความยากตอนขึ้นเล่นสดคืออะไร
หมี: ในตอนแรกก็กลัวว่าจะลืมท่อนหรือเปล่า ลืมเพลงหรือเปล่า หลังจากเรื่องนั้น ก็เป็นเรื่องที่ว่า เราจะถ่ายถอดภาพในหัว ความรู้สึก หรือความคิดไปสู่คนดูได้ไหม
เมโลดี้สวย ๆ ของยูกิได้มาจากไหน
ยูกิ: ผมจะยืนพื้นจากความรู้สึกครับ อย่างพอเล่นคอร์ดเซ็ตแรกไปแล้วก็ต้องตั้งสติ ตั้งใจฟังที่ตัวเองเล่นก่อน จากนั้นจะเล่นอะไรก็ค่อยเล่นต่อ เล่นไปก็ทิ้งของเก่าไปเรื่อย ๆ จนเจอที่เราอยากได้ เหมือนสลัดความคิดเก่า ๆ จากเรื่องเดิม ๆ แล้วเจอแก่นที่เราตามหา พอเจอแล้วก็เก็บมันไว้ มันไม่เหมือนการลองสุ่มนะ อันนี้เหมือนเรารู้ว่ามันจะมีอะไรอยู่ตรงนู้น แต่แค่เราต้องขุดจากเซ็ตคอร์ดนี้ไปเรื่อย ๆ
แล้วทำไมถึงฟังดูดาร์ก
กร: อาจจะเพราะทำเพลงมาประมาณนึงแล้วมันเบื่อด้วย ไม่ได้ตั้งใจว่าไม่อยากสดใสแล้วว่ะ ก็เป็นเพราะชุดคอร์ดที่ออกมาด้วยแหละ ด้วยโทนบรรยากาศแบบนี้มันก็ทำให้การเล่นของเราสนุกไปอีกแบบ แล้วยิ่งตอนนี้การเล่นเรายิ่งไม่มีแพตเทิร์นเลย
เมย์: ไม่ได้บอกตัวเองว่าเราต้องดาร์กนะ เราอยากจะทำเพลงสนุก ๆ ด้วยซ้ำ แต่พอเสียงจากเครื่องดนตรีของเรา 5 คนนี้มาประกอบกัน มันกลายเป็นบรรยากาศแบบนั้นไป ตัวเรายังคงสนุกเหมือนเดิมแค่ แค่เพลงมันอาจจะไม่ได้ดูสดใสเท่าเพลงเก่า ๆ คนฟังเลยอาจจะรู้สึกว่าทำไมมันดาร์กขึ้น
ก็เลยเอาเพลงเก่ามา re-arrange ให้เข้ากับเพลงใหม่ด้วย
เมย์: เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่เข้ากับเซ็ตใหม่ของโชว์โดยรวม ตอนนั้นก็เลยคุยกันว่า จะ re-arrange หรือจะตัดออกไปเลย สำหรับ For a While กับ Where Do We Go พอลองทำใหม่เราก็ชอบกว่าเดิมเพราะมันเข้ากับโชว์ใหม่มากกว่า โดยเฉพาะ For a While เมื่อก่อนนี่ไม่ชอบเล่นสดเพลงนี้เลย รู้สึกจั๊กจี้ แต่เวอร์ชันใหม่คือเราชอบ energy ตอนเล่นเพลงนี้ เราวางให้มันได้อยู่ในช่วงพัก และคนก็ดูอินกับมัน แฮปปี้
ความคืบหน้าของอัลบั้มไปถึงไหนแล้ว
กร: เกือบ 50% แล้วสำหรับเพลง แต่ถ้าโปรดักชันต่าง ๆ เดี๋ยวจะค่อย ๆ ทยอยอัด
เมย์: สิ้นเดือนนี้จะอัด For a While กับ Petrichor ใหม่ พอเป็นอัลบั้มเราอยากใช้ห้องเดียวกันให้หมดให้ซาวด์เกาะกันไว้ แล้วก็ทำซาวด์ให้ดีขึ้น ส่วน For a While ใหม่นี่ยังไม่เคยอัดเลย
ช่วงนี้แต่ละคนฟังเพลงอะไรกันถึงกลั่นออกมาเป็นเพลงประมาณนี้
ยูกิ: ช่วงนี้ฟัง world music ครับ ชอบพวกฮินดู มีละตินบ้างครับ เบื่อ ๆ ก็ฟังไปเรื่อย ไม่ได้เป็นคนลึกนะ จับฉ่ายครับ
เมย์: ก่อนหน้านี้ก็เริ่มฟังเทคโน ดิสโก้ไรงี้นะ ได้อิทธิพลมาจากกรด้วยแหละ แต่ช่วงนี้ชอบฟัง Cuco, Mild High Club, Hey! It’s Your Birthday, Connan Mockasin อะไรเทือก ๆ นั้น ชอบซาวด์เพลง มันน่าสนใจ และเข้าถึงเรา รู้สึกว่าไม่ยากไป เป็นการใช้ซาวด์แปลก ๆ แต่ยังฟังเพราะอยู่ ชนะใจตัวอ่อน (หัวเราะ)
ฟ้าใส: ฟ้าฟัง beat tape อยู่ค่ะ เป็นเพลงบรรเลง ประมาณว่าเอาไวนิลเพลงแจ๊ส โซล มาตัดแล้วใส่บีท ทำลูปไปเรื่อย ๆ คล้าย ๆ jazz hop แต่อันนี้ไม่มีคนร้อง มันเพลินมากเลย แต่ถ้าฟังไปเรื่อย ๆ มันก็เบื่อนะเพราะรู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อวานเลยฟัง เฟย์ ฟาง แก้ว คือ touch ที่สุดแล้ว
หมี: ช่วงนี้เริ่มมาศึกษาแนวคิดพังก์ แล้วก็ Joy Division (เมย์: เออ ช่วงนี้เราก็กลับมาฟัง Joy Division, Radiohead) เหมือนเราเพิ่งมาเก็ตว่าเค้ากำลังคิดอะไรอยู่
กร: ก็ฟังพวกเทคโนโดยปกติแหละ แต่ช่วงนี้มีฟีลกลับมาฟังเพลงเก่า ๆ เหมือนกัน พังก์ก็กลับไปฟัง แล้วก็เป็นเหมือนหมีอะ คือเจออะไรที่เราไม่เคยมองเห็น เรามาเก็ตในเวลานี้ แล้วก็พยายามหา input เบสใหม่ ๆ จากเพลงแจ๊ส ศึกษาแจ๊สมากขึ้น เมื่อก่อนเรียนแล้วไม่อินเท่าไหร่ ก็มาลองตอนนี้ ทางเดินโน้ตมันเปลี่ยนไปตลอด รู้สึกว่าโลกมันกว้างใหญ่ดี ยังต้องเรียนรู้อีกมาก
เพลง Why Can’t You See ไปเป็นเพลงประกอบหนังได้ยังไง
เมย์: พี่บาส (นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) ผู้กำกับ ‘ฉลาดเกมส์โกง‘ ทักมาช่วงที่ปล่อยเพลงแรก ๆ เลย บอกว่ากำลังทำหนังเรื่องนึงอยู่ อย่าเพิ่งเอาเพลงนี้ไปขายใครได้ไหม แต่พี่บาสต้องรอทางผู้ใหญ่ซื้อก่อน ซึ่งเราก็ตกลงตั้งแต่ตอนนั้นเลย เพราะคิดว่าไม่มีใครซื้อหรอก มันคงอยู่ของมันยังงี้แหละ (หัวเราะ) พอก่อนหนังปล่อยสองเดือนเค้าก็ติดต่อมาว่าทาง GDH ตกลงซื้อเพลงเรา เราก็โอเคอยู่แล้ว อะไรก็ได้ เพราะคิดว่ามันเป็นโอกาส
พอทำเป็นภาษาไทยที่ re-arrange ด้วย รู้สึกยังไง
เมย์: เราชอบนะ มันเหมือนอีกเพลงนึงไปเลย มีความ 80s จังหวะก็เร็วขึ้น พี่โหน่ง The Photo Sticker Machine เพิ่มคอร์ด เปลี่ยนทางคอร์ดด้วย เหมือนเหลือแต่ลิก ตึก ๆๆ ตึ๊ก ให้พอรู้ว่ามาจากเพลงนี้นะ (หัวเราะ) แล้วก็คิดว่าเวอร์ชันไทยช่วยพีอาร์หนังได้ดี ชอบเนื้อที่พี่แสตมป์แต่งมาด้วย แต่ความรู้สึกหลักจริง ๆ เลยคือ ได้ร่วมงานกับคนใจดี จริง ๆ เราไม่ได้มีส่วนช่วยแต่งเนื้อไทย แต่พี่แสตมป์เขาขออีเมลเราจากพี่นิค temp. แล้วส่งเนื้อไทยดราฟต์แรกมาให้เราดูว่าเมย์โอเคหรือเปล่า เพราะเขาอยากให้เจ้าของเพลงแฮปปี้กับเนื้อที่เขาเขียนด้วย ซึ่งเรา respect สิ่งที่พี่แสตมป์ทำมาก เพราะจริง ๆ เขาไม่ต้องส่งมาให้เราก็ได้ เราโอเคหมดอยู่แล้ว แต่พอเขาส่งมาก็ได้ลองแก้ไปนิดหน่อย ในบางท่อนที่เราจินตนาการว่าถ้าเราร้องเป็นภาษาไทย แล้วเราจะเคอะเขินน้อยลง เข้าปากมากกว่า ซึ่งพี่แสตมป์ก็ตอบกลับมาไวมาก บอกว่าโอเคหมดเลย และขอให้ทาง GDH ใส่เครดิตชื่อเราลงไปในเนื้อร้องภาษาไทยด้วย จริง ๆ เขาไม่ต้องทำเลยก็ได้ แต่พี่เขาแคร์ และ respect ทุก ๆ คน จนเรารู้สึกว่าตัวเองโชคดี ที่ได้มีโอกาสเจอคนที่เก่ง น่ารัก และถ่อมตัวสุด ๆ แบบพี่เขา มันรู้สึกดีกว่าการได้แฟนคลับเยอะ ๆ หรือวงดังพลุแตกอีกนะ เพราะอะไรแบบนี้มันสอนเรา
วงดนตรีจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนเสมอไปไหม
เมย์: ไม่นะ ไม่คิดว่าต้องไปกำหนดมันขนาดนั้น เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเราได้ลองทำร่วมกัน เครื่องดนตรี 5 ชิ้น บวกกับเสียงร้อง มาเจอกัน แล้วมันเกิดเป็นอะไรมากกว่า ซึ่งหลังจากนี้แหละ มันคือกลิ่นของวงที่แม้บางเพลงจะต่างกันมาก แต่เราเชื่อว่าในอัลบั้มรวม คนฟังจะบอกได้ว่านี่คือเพลง Fwends
กร: มันก็มีมุมมองประมาณว่า ต้องมีกลิ่นแบบไหนถึงจะเป็นวงดนตรีที่ดี สำหรับพวกเรามันไม่ต้อง คือถ้ามันมี reference มันก็ไม่ใช่วงนี้ดิ เราเลยทำออกมาจากแต่ละคนมากกว่า พอรวมกันมันก็มี soul ที่ทุกคนสามารถรับรู้ได้
ยูกิ: พยามจะไม่สโคปแนวหรืออะไรเลย เล่นอะไรที่เล่นตอนว่าง ๆ นี่แหละ พอคาดหวังปุ๊บแล้วมันก็กลายเป็นพยายามทำอะไรที่ไม่ใช่เราอยู่ สุดท้ายก็คือจริงใจกับตัวเองตอนนั้นเลย แล้วก็ทำมันออกมา
ตอนนี้มีใครมาช่วยทำอัลบั้มไหม
เมย์: ทำกันเองเกือบทั้งหมดนะ แล้วก็มี Melvin เป็นเพื่อน และ sound engineer ประจำวง ที่ตอนนี้มาช่วยดูเรื่องโปรดักชัน การอัด มิกซ์ มาสเตอร์ด้วย
ถ้ามันลบแต่มันจริงและมีประโยชน์ ก็เอามาแก้ไขนะ feedback มันก็มีส่วนช่วยให้เราเห็นตัวเองจากมุมคนอื่นมากขึ้น แต่ถ้าลบแบบไร้สาระ ขอแค่ให้ได้พูด ได้แสดงความ negative ของเขา ก็ไม่รู้จะแคร์ทำไม
การเติบโตของ Fwends ตั้งแต่เพลง Fade Away จนถึง Petrichor ทำให้ทิศทางการทำงานของวงเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง
เมย์: รู้ว่ามันมั่วไม่ได้ Fade Away เป็นเพลงที่เราเริ่มคิดกีตาร์เอง แต่ยอมรับว่ามั่วเลย ซาวด์มันถูกใจเราตอนนั้น และเพื่อนในวงก็โอเค แต่ทำไปเรื่อย ๆ ก็รู้เลยว่าไม่มีใครมั่วแล้วรอดไปตลอด เราต้องฝึกตัวเอง ฝึกสกิลกีตาร์ ฝึกหู ฟังเพลงเยอะ ๆ หา input ใหม่ ๆ จริงใจกับตัวเองมาก ๆ อันไหนที่ไม่ได้เราต้องรู้ตัว ซึ่งมาถึงตอนนี้การทำงานมันเปลี่ยนไปมาก เพราะเราใส่ใจกับรายละเอียดมากกว่าเดิมเยอะ แบบรู้ตัวเลย
ฟ้าใส: ตอนที่เป็น Fwends ยุคแรกเราพยายามทำเพลงให้มันป๊อป ประมาณว่าเป็นคนชอบป๊อปอยู่แล้ว แต่พอมาเจอสมาชิกใหม่เซ็ตความคิดมันก็เปลี่ยน ตอนแรกก็จูนกันยาก แต่ตอนนี้ก็เริ่มโอเคขึ้น
กร: ได้รู้ว่าถ้าจะทำอะไรก็ต้องจริงใจกับสิ่งที่ทำ เพราะคนฟังเขาก็รับรู้ได้ว่าเราทำมันตั้งใจไหม เพราะงั้นถ้าตั้งใจจะสื่อสารอะไรออกไปก็ขอให้หนักแน่นในสิ่งนั้น ช่วงแรก ๆ ตอนทำเราค่อนข้างเหยาะแหยะด้วย เหมือนบางอย่างเรา play safe มันกลัว ๆ หรือไม่ได้ตั้งใจ แต่พอมาเป็น Petrichor มันมีหลายอย่างที่เราตั้งใจใส่เข้าไปในเพลง แล้วมีคนรู้สึกเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ได้ตั้งแต่ทำมา
หมี: ผมเป็นสมาชิกใหม่ แต่ก็ลองเอาแนวคิดของทัศนศิลป์มาใช้ ก็มียูกิที่เข้าใจสิ่งที่ผมสื่อ ก็เลยต่อกันติด และก็ค่อย ๆ ทำความรู้กันใหม่ผ่านการแจม ผมต้องบอกสมาชิกในวงผ่านเสียงกลองว่าผมตีกลองมีนิสัยแบบนี้นะ มีจริตแบบนี้ ละมันก็ค่อย ๆ ผสมผสานกันเป็นรสชาติใหม่
ยูกิ: ความตั้งใจเหมือนเดิมครับ ต่างกันที่ความไวในการทำ แค่นั้นเลย ตอนนี้ไวขึ้น
แล้วตอนนี้เจอปัญหาในการทำวงบ้างไหม
เมย์: ปัญหาอย่างเดียวตอนนี้คือการตรงต่อเวลา (หัวเราะ) จะบอกน้องตลอดว่าอย่าให้คนอื่นต้องมารอ ต้องมารอเค้า จะชิวยังไงก็ได้อะ แต่อย่าทำให้กระทบชีวิตคนอื่น เช่นวันนี้ที่ทีมงาน Fungjaizine ต้องมารอ ตอนแรกก็งอน ๆ น้องนิดนึง (หัวเราะ)
รับมือกับ feedback แง่ลบยังไง
เมย์: ถ้ามันลบแต่มันจริงและมีประโยชน์ ก็เอามาแก้ไขนะ feedback มันก็มีส่วนช่วยให้เราเห็นตัวเองจากมุมคนอื่นมากขึ้น แต่ถ้าลบแบบไร้สาระ ขอแค่ให้ได้พูด ได้แสดงความ negative ของเขา ก็ไม่รู้จะแคร์ทำไม
กร: มุมมองอันไหนมีประโยชน์ก็เอามาปรับปรุง แต่ถ้าด่ากราดก็ไม่รู้จะทำไง
วงนี้เป็นวงที่ให้ความสำคัญกับ visual
กร: มันเป็นส่วนนึงในการพรีเซนต์ตัวเอง อาจจะเป็นคนละเรื่องกับผลงาน แต่ถ้าเราไม่มีส่วนนี้คนก็อาจจะไม่รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เหมือนมีแต่อะไรที่เป็นนามธรรม มันไม่มีการสื่อสารออกไป
เมย์: เราว่า visual มันก็เป็นหนึ่งในสัมผัสทั้งห้า โชว์คนก็ต้องใช้ตาดู ฟังเพลงก็ใช้หู แล้วถ้าทั้งสองสิ่งนี้ซัพพอร์ตกัน มันก็พาคนดูไปถึงจุดที่ควรจะไปได้ดีขึ้น ไม่ได้บอกว่าเพลงมันไม่ทำงานของมันนะ แต่วิชวลมันก็มีส่วนช่วย
เมย์กับกรเป็นโปรโมเตอร์คอนเสิร์ต แล้วไม่คิดจะจัดงานให้วงตัวเองเล่นเองบ้างหรอ
เมย์: ทำ Conflakes มาไม่เคยเอา Fwends ไปเล่นเลยเพราะว่ามันเหนื่อยมาก ทุกครั้งที่ประชุมกันก็จะบอกว่า งานนี้ไว้ก่อนแล้วกัน เพราะเราก็อยากโฟกัสกับการดูแลศิลปินวงอื่น ๆ แต่ถ้ามีโอกาสเราก็ว่าน่าสนุกดี คงเป็นงานเปิดอัลบั้มแหละที่จะให้ Conflakes จัด เพราะเราก็เชื่อในศักยภาพของทีมที่ทำงานมาด้วยกัน 5-6 คน อาจจะมีศิลปินรับเชิญ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
การที่เป็นทั้งคนไปเล่นและคนจัดงานเอง คิดว่าสิ่งที่โปรดักชันแต่ละโชว์ควรจะมีคืออะไร
กร: เราว่าอันที่มันขาดและสำคัญมากก็คือซาวด์ในงานน่ะแหละ หลาย ๆ งานที่ไปรู้สึกว่าซาวด์ไม่ดีเลยว่ะ คือเขาอาจจะเล่นกันเต็มที่ แต่เราได้รับแค่ 60% เพราะซาวด์มันห่วย อาจจะไม่ใช่แค่โปรโมเตอร์ที่ต้องรับผิดชอบ แต่สถานที่ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงด้วย ต้องรู้ว่าอะไรที่ขาดไป ก็ต้องมาเติม
เมย์: ซาวด์ที่ดี ก็เป็นสิ่งที่นักดนตรี และคนดูต้องการมากที่สุด เราว่าทีมงานที่ทำงานเป็นสำคัญมากอ่ะ บางงานซาวด์เช็กไป พอถึงเวลาเล่นจริงเศร้ามากที่ไม่ได้ยินอะไรเลย ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ทั้ง ๆ ที่ซาวด์เช็กไปแล้ว เราคิดว่าเรื่องซาวด์สำคัญที่สุด
ไม่ใช่เพราะคนไม่ยอมจ่ายค่าบัตรแล้วโปรโมเตอร์ไม่มีเงินไปลงทุนกับเครื่องเสียงดี ๆ หรอ
กร: อันนั้นก็เข้าใจ ซึ่งมันเป็นปัญหาสังคมที่ต้องค่อย ๆ ปรับตัวและแก้ไขกันไป แต่เครื่องเสียงดี ๆ มันก็ไม่ได้แพงเสมอไป อันนี้ก็ต้องทำการบ้านกัน แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนด้วย
เมย์: แต่จริง ๆ เราว่ามันทำได้นะ มันมีคนที่เขาทำดี และไม่ได้แพงแบบจ่ายไม่ได้อยู่ ส่วนคนดูก็ควรยอมจ่ายค่าบัตรได้แล้ว โลกไปไกลแล้ว คนไทยยังชอบขอบัตรฟรีอยู่เลย เป็นการกระทำที่ไม่มีจิตสำนึกนะสำหรับเรา ในฐานะที่เราเป็นทั้งคนจัดด้วย เราเข้าใจหัวอกคนจัดว่าแต่ละงานมันใช้เงินเยอะขนาดไหน เราทำงานหนักกันมากกว่าจะเกิดขึ้นมางานนึง ถ้าคุณเป็นสื่อ หรือมีส่วนช่วยในการพีอาร์งาน มันก็ make sense ที่คุณจะได้บัตรฟรี แต่ถ้าคุณเป็นแค่คนรู้จักเรา แล้วมาขอบัตรฟรี คุณควรนอนอยู่บ้าน เปิดเพลง YouTube ฟัง แล้วปรับทัศนคติตัวเองใหม่ซะ มันบาปนะจริง ๆ (หัวเราะ)
การที่มีวงเกิดใหม่เยอะ ๆ แล้วคนฟังเลือกฟังได้ เรามีวิธีผลักดันตัวเองให้ไปถึงคนฟังยังไง
เมย์: ไม่ทำอะไรนะ ก็ทำเพลงต่อไปแหละ ยังไงก็ควรโฟกัสที่เพลงมากกว่าอยู่ดี ถ้าไปโฟกัสว่าต้องผลักให้ตัวเองดังยังไง เราว่านั่นผิดจุดเราละ
กร: เราเชื่อในผลงานมากกว่า วัดกันที่ผลงาน เทคโนโลยีมันไปไกล มีทางเลือก ผลงานเข้าถึงคนง่ายขึ้น แต่สุดท้ายคนฟังเลือกผลงาน ก็อยากให้โฟกัสที่ผลงาน วงใหม่ ๆ ทำงานกันดี ได้รับความนิยม พวกเราก็ยินดี
ยูกิ: เราไม่ควรคิดถึงเรื่องผลลัพธ์เลย เพราะถ้ามานั่งซีเรียสตรงนี้จะไม่มีใครมานั่งทำเพลง
วงดนตรีน้อง ๆ เด็ก ๆ เริ่มทำเพลงกันเยอะ เรารู้สึกยังไงบ้าง
เมย์: ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ดี ดีกว่าไม่มีคนทำนะ
กร: ก็แค่นับหนึ่งกันทุกคน มันมีเยอะขึ้นเพราะก็มีคนสนใจ อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีมันเข้าถึงง่ายขึ้น ก็ไม่ผิดที่เขาจะหันมาทำ เป็นเรื่องน่ายินดี
เมย์: คนที่คิดว่าต้องอยู่รอดด้วยการทำวงอาจจะรู้สึกว่าตัวเองได้รับผลกระทบ แต่มันไม่กระทบเราเพราะเราแค่อยากทำเพลงที่เราชอบ จะมีคนทำน้อยทำมาก เราก็ยังทำของเราเหมือนเดิม ไม่ได้เกี่ยวกับเรา
หมี: ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่มีวงดนตรีเยอะ มันอยู่ที่สิ่งที่เราทำมันใช่สิ่งที่เราเป็นไหม เพราะถ้าผู้ฟังอยากฟังแบบเราเค้าก็จะมาฟังเราเอง ที่เหลือเป็นเรื่องโปรโมต
วงแรกในชีวิตของทุกคน
ฟ้าใส: เคยประกวดฮอตเวฟด้วย ตอนม.ปลายมีวงชื่อ Sleep Snatcher ที่แปลว่าลักหลับ เป็นคนแต่งชื่อเองด้วย เป็นคนลามก แล้วก็เป็นเผด็จการของวง (หัวเราะ) เล่นแนวเหมือนวง Mild หรือ Jetseter อะไรประมาณนี้
เมย์: วงแรกของเราคือ Cloud Behind แรกกว่านี้ก็อยู่วงโยธวาทิต ตีกลอง อยู่พาร์ตเพอร์คัสชัน แต่ชอบโดนเพื่อนผู้ชายในพาร์ตแกล้ง รำคาญ เลยย้ายไปเป่าคลาริเนต
กร: มีวงตอนม.ปลายชื่อ Micky Moose อันนี้ทำเพลงซีเรียส แบบถ้าย้อนไปตอนนั้นนะ (หัวเราะ) เป็นร็อก ๆ แต่ก็ไม่ได้พังก์จ๋า แล้วก็มีอีกวงชื่อ สนิม แต่สนิมไม่มีเพลงของตัวเองเท่าไหร่ จริง ๆ ก็มีเพลงนึงแต่กะเล่นเอามันใน โรงเรียนเฉย ๆ
หมี: วง ไก่อ่อน ก็คัฟเวอร์อย่างเดียว อินดี้ไทยยุคนั้น
ยูกิ: หลายวง จำชื่อวงไม่ค่อยได้ แต่วงแรกก็เล่น ม.ต้น ช่วงนั้นบอดี้แสลมกำลังมา เล่นที่โรงเรียนครับ แล้วมาฟังพังก์ New Found Glory, Blink-182 รู้จักดนตรีฝั่งนู้นก็พาตัวเองไปทางนั้นเรื่อย ๆ ก็…. อยู่หลายวงครับ เป็นกะหรี่แต่เด็ก (หัวเราะ)
Fwends สำหรับทุกคนคืออะไร
กร: มันคือที่ที่เราได้มาแลกเปลี่ยนเรื่องราวทางดนตรี
หมี: มันเหมือนเราไปเจออะไรใหม่ ๆ ด้วยกันโดยใช้ดนตรีเป็นพาหนะ เพราะตอนเเจม มันจะเห็นความคิดและประสบการณ์ของสมาชิกในวง
เมย์: มันคือ Exit 66 เว่ย คือชื่อเพลงเพลงนึงที่เราจะแต่ง มาจากสตูที่เราซ้อมกันอยู่ทุกวันนี้คือบ้านยูกิ อยู่ลาดปลาเค้า 66 เหมือนเราได้ escape มาที่นี่ สำหรับเราเราว่ามันคือ hiding place ที่ไม่มีที่อื่นแล้ว มันคือเรา 5 คนที่อยู่ด้วยกันแล้วเกิดสิ่งที่สร้างสรรค์สำหรับเรา ดูเป็นวงติดยาเลย (หัวเราะ) แต่เราเพียวนะ เวลาซ้อมเรากินพิซซ่า
ยูกิ: ผมว่ามันเหมือนศาลาไว้ประชุมครับ คือส่วนตัวก็ชอบดนตรีมาก ๆ อยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้คิดเรื่องอะไรในหัว ดนตรีมันจะเป็นโลกอีกใบนึงที่ถ้าเราตั้งใจอยู่ มันจะพาเราเดินต่อไปอีกโลกนั้นได้จริง ๆ การดีดกีตาร์โปร่งคนเดียวก็พาไปได้แล้ว ไม่ต้องอยู่กัน 5 คนก็ได้ แต่ 2 คน source สีแดงกับสีน้ำเงินมาเจอกันมันย่อมได้อะไรใหม่ ๆ แน่นอน แล้วนี่มาตั้ง 5 คนมันก็ยิ่งวุ่นวายเข้าไปอีก เหมือนเป็นระบบนิเวศที่เราเดาอะไรไม่ได้เลย
ฟ้าใส: มันไม่ได้เป็นแค่วงดนตรี หรือที่ไว้ปรึกษาเรื่องดนตรี มันไม่ใช่แค่มาเจอกันแล้วทำเพลงอย่างเดียว มันได้คำแนะนำการใช้ชีวิต ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึมซับความคิดหลาย ๆ คน แล้วได้รู้ว่าโลกมันกว้าง
การเติบโตจะทิ้งรอยแผลให้เราไว้เสมอ จริงไหม
ฟ้าใส: จริง ถ้าไม่เจ็บเราก็จะไม่โต ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสมานแผลได้เร็วแค่ไหน ถึงแผลหายแล้วแต่มันก็มีแผลเป็นอยู่ดี แล้วมันก็จะเตือนเราว่าเราโดนอะไรมาบ้าง ถ้าอ่อนแอก็แพ้ไป
เมย์: กว่าจะโตมาถึงตอนนี้มันก็ต้องมีผ่านอะไรที่เป็นรอยแผลกันมาทั้งนั้น มันต้องเจอกับเรื่องแย่ ๆ ทั้งที่คนอื่นสร้างให้และเราสร้างเอง ซึ่งพอผ่านมาได้ เราก็รู้สึกขอบคุณมากกว่า ไหนจะคนรักที่จากโลกนี้ไปอีกมากมาย มันทิ้งรอยอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป อย่างมากก็คิดถึง แต่ต้องไม่ลืมหน้าที่ของตัวเอง ปัจจุบันก็แค่ใช้ชีวิตให้มีสติขึ้น
ยูกิ: ไม่รู้ว่าตัวเองเติบโตตอนไหน แต่จะชอบมาคิดได้ตอนเจ็บหนัก ๆ เพราะมนุษย์มันก็เป็นอย่างเนี้ย
หมี: แผลมันก็ต้องเกิด ความจริงมันเป็นไปแล้วเราจะคิดยังไงก็ได้แล้วแต่ มันอยู่ที่จะทำอะไรกับมันต่อ ถ้าเอามันมาแก้ไขได้ก็แก้ไขกันไป ถ้าไม่แก้ไขก็นั่งอมทุกข์ไปอย่างนั้น
กร: สำหรับเรา การเติบโตมันไม่ต้องเจ็บตลอด แต่อันที่มันเจ็บมันแค่เอฟเฟกต์เราเยอะกว่า (ยูกิ: จำแม่น ๆ) แต่ว่าเวลามันมีอะไรเข้ามาทำให้เราเรียนรู้บางทีมันไม่ได้เจ็บปวดเสมอไป
การ์ตูนที่แต่ละคนชอบ
ฟ้าใส: Saint Seiya เนี่ยชอบสุด… แต่จริง ๆ ก็ชอบ Tokyo Meow Meow นะ
ยูกิ: Monster Farm
เมย์: Family Guy
กร: Adventure Time กับ One Piece
หมี: ครอบครัวตัว ฮ.
รับฟังเพลงของ Fwends บนเว็บไซต์ฟังใจได้ ที่นี่