Feature Head talk

Sorry, Im Rich : เคล็ดไม่ลับคนดนตรีทำธุรกิจแบบบู้ Slur

  • Writer: Montipa Virojpan
  • Photographer: Chavit Mayot
  • Stylist: Varachaya Chetchotiros
  • Art Director: Benyatip Sittiwej

ช่วงบ่ายของวันฟ้าครึ้มวันหนึ่ง ทีมงาน Fungjaizine ที่กำลังเดินทางมายังสตูดิโอถ่ายภาพอันแสนคุ้นเคยในย่านโชคชัย 4 ต่างภาวนาให้รถไม่ติด น้ำไม่ท่วม เพราะสภาพอากาศช่วงหลายวันที่ผ่านมาเป็นไปอย่างน่าเศร้า คือถ้า เห็ดทอล์ก เล่มนี้ต้องถ่ายปกกัน outdoor ต้องได้ร้องไห้แน่ ๆ เพราะนอกจากฝนฟ้ากระหน่ำไม่พอ ยังมีน้ำท่วมมาเป็นของแถมแบบรายวัน แต่เหมือนวันนี้โชคเข้าข้างเราแบบสุด ๆ เมื่อถนนโชคชัย 4 ในตำนานกลับไม่มีน้ำท่วม รถไม่ติด และฝนไม่ตกราวกับไปบนบานสานกล่าวที่ไหนมา หรือนี่อาจเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะได้พบกับผู้ชายมากความสามารถคนนี้ บู้—ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ (แต่เมื่อเริ่มถ่ายทำไปได้พักนึง ฝนก็เทลงมาอย่างหนักจนไม่อยากคิดว่าขากลับจะเอายังไงกันดี)

fjzbooslur_0022

ในแวดวงดนตรี บู้ เป็นที่รู้จักในฐานะมือเบสมาดกวนแห่งวงที่บุกเบิกแนวทางดนตรีสุดเปรี้ยวในบ้านเราอย่าง Slur แต่ในวงการ SME เขาคือเจ้าของ Rompboy ธุรกิจเครื่องแต่งกายที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในทุกวันนี้ แม้เราจะเคยพูดคุยกับเขาไปแล้วครั้งนึง แต่รอบนี้เราจะขอเจาะลึกวิธีการทำธุรกิจแบบบู้ ๆ product line ใหม่ รวมถึงมุมมองการค้าขาย และถามถึงอนาคตในการเป็นนักดนตรีของเขา จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

อ่านบทสัมภาษณ์ของบู้รอบก่อนหน้าได้ ที่นี่

ทุกครั้งที่เราเดินเราไม่รู้หรอกว่าข้างหน้ามันจะเป็นหลุมหรือจะเป็นบันได บางที่เราอาจจะก้าวพลาด ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยมันก็เป็นสเต็ปที่เราก้าวไปข้างหน้าเรื่อย

บทที่ 1 : รวยอย่างแตกต่าง

อะไรที่ทำให้ Rompboy แตกต่างจากแบรนด์อื่น

คงเป็นความเร้าใจของแบรนด์ครับ ผมรู้สึกว่ามันมีวิธีการขายที่เฉพาะ แตกต่าง ไม่เหมือนชาวบ้าน เราไม่รู้หรอกว่าการขายของต้องทำยังไง ถ้าคนที่เคยซื้ออยู่แล้วก็จะซื้อเป็น แต่คนที่ไม่เคยซื้อเลยก็จะมึนมาก แบบ อะไรวะ ขายเป็นเวลาแค่ช่วงแปปเดียว หรือบางทีเข้ามาในร้านแล้วไม่มีของอะไรเลย

แล้วลูกค้าใหม่จะต้องเตรียมตัวยังไง

ลูกค้าใหม่ส่วนใหญ่จะซื้อล็อตแรกไม่ทันไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เขาจะงงว่าทำไมไม่มีของขาย แล้วก็จะรอซื้อล็อตต่อไป โดยการเข้ามา follow แล้วคอยดูว่าวิธีการซื้อมันคือยังไง เขาจะผิดพลาดแค่ในครั้งแรก ๆ แล้วเขาก็จะปรับเปลี่ยนไปเป็นคนที่ซื้อเป็นในอีกไม่กี่ครั้งข้างหน้า

ทำไมถึงทำสินค้าแบบมีจำนวนจำกัด

จะเรียกว่าเป็น limited ก็ได้ เพราะเรามีวัตถุดิบมาทำของแค่นั้น ก็เลยผลิตเท่าที่มันควรจะเป็น แล้วเราไม่ทำของเยอะอยู่แล้ว มันจะโหล เราอยากให้ทุกอย่างเหมือนของมือสองที่มันมีแค่ไม่กี่ชิ้น แล้วคนใส่ก็รู้สึกว่าได้ใส่ของไม่ซ้ำกับชาวบ้าน เดินไปไหนก็ไม่เจอของที่เหมือนกัน

แต่เคยคิดจะผลิตในปริมาณเยอะ บ้างไหม

เนี่ย ตัวรองเท้านักเรียนเป็นตัวแมสตัวแรกเลย ความจริงตัวรองเท้านักเรียนมันเป็นคอนเซปต์ที่คิดก่อนจะทำรองเท้าตัวหลักแล้ว แต่ทำไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน ส่วนตัวคิดว่ามันคือการ lead กลุ่ม influencer ที่เป็นแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นก่อน แล้วค่อยไปทำตัวที่ตอบโจทย์เด็กมัธยมอีกทีนึง ก็เลยทำ Rompboy School ขึ้นมา ซึ่งเป็นตัวที่มีขายเป็นตัวหลัก แต่ในอนาคตจะมีตัว limited ออกมาด้วย มีผู้ใหญ่หลายคนที่เราได้คุยด้วยบอกว่า ตอนนี้แบรนด์เรามันขายโอเคก็จริง แต่ถ้าสมมติเวลาลูกค้าผิดหวังกับรุ่นใหม่ อย่างน้อยเขาก็จะกลับมาซื้อตัว standard ของมันอยู่ดี

เป็นแบรนด์ที่พอมีล็อตใหม่ เปลี่ยนวัสดุใหม่ แต่ราคาเท่าเดิม

ไม่จำเป็นต้องขึ้นราคา คือถ้าเราได้น้อยกว่าก็ไม่เป็นไร แต่เราขอลูกค้ากลุ่มเดิมดีกว่า อันนี้เป็นการซื้อใจผู้บริโภค เขาจะรู้สึกว่ามีการพัฒนาในราคาเดิม เขาจะรู้สึกว่าเขาคุ้มค่าแล้ว  อย่างน้อยเราก็มั่นใจได้แล้วว่าถ้าเราออกคอลเล็กชันใหม่มาก็จะมีกลุ่มที่คอยซัพพอร์ตเราอยู่

boo%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2

อะไรทำให้รู้ว่าต้องขายของสไตล์นี้ถึงจะขายได้

มั่วเลยครับ เรากะจะซื้อหรือทำแต่อะไรที่เราชอบเป็นหลัก ถ้าไม่ชอบเราจะไม่ทำเลย แล้วเราก็เลยเอาตัวเองเป็นกรอบ ถ้าตัวเองชอบ ลูกค้าก็น่าจะชอบไปด้วย แต่จริง  ก็มีหลายอันที่ทำมาแล้วขายไม่ดี แป๊ก อย่างลายปรินต์กับผมมันไม่ถูกกัน เคยมั่นใจเอาผ้าลายช่วงซัมเมอร์มาขาย แล้วก็ขายไม่ดีเลย หรือบางอันเราคิดว่ามันจะมา แต่คนก็ไม่ทัน เพราะมันใหม่ไป หรือหลงยุคไป บางอันทำราคาผิด เด็กก็ไม่เอา ขายไม่ได้ อยากจะราดน้ำมันจุดไฟเผาทิ้ง

รองเท้าของบู้ถือว่าราคาค่อนข้างสูงสำหรับนักเรียน แล้วแบบนี้การเปลี่ยนมาจับตลาดนักเรียนได้ผลดีไหม

จริง ผมแย่มาก ขี้เกียจมาก timing ของ Rompboy School มันผิดมาก ควรจะมีสื่อออกมาโปรโมตตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมแล้ว เพราะเด็กเริ่มซื้อตอนนั้น แต่ที่มาซื้อเยอะจริง  คือหลังสงกรานต์ แต่รองเท้าอันนี้กว่าผมจะได้ขายก็ช่วงเดือนห้า ซึ่งเขาซื้อกันเสร็จหมดแล้ว แล้วรองเท้านักเรียนเขาไม่ได้ซื้อใส่หลายคู่ เขาซื้อคู่เดียวแล้วใช้ยาว  บางคนอาจจะซื้อแบรนด์อื่นแล้วเพิ่งมาเห็น แบบ เอ้า ไม่เป็นไร เทอมหน้าละกัน ตอนนี้เลยมองว่าจะทำยังไงก็ตามให้เขามองว่านี่จะเป็นคู่ที่สองของเขาดีกว่า อาจจะใส่ไปในวันที่มีกิจกรรมพิเศษของโรงเรียนอย่างกีฬาสี หรือวันที่ไปทัศนศึกษาอย่างนั้นมากกว่า

เท่าที่ดูคนที่ซื้อ ครึ่งต่อครึ่งกลุ่มนึงเป็นลูกค้าประจำ อยากลองสินค้าใหม่ว่าเป็นยังไง สีขาวจะขายดีสุด รองมาก็สีดำ เพราะมันยังดูมีความเป็นแฟชันด้วย แต่คนที่ซื้อไปแต่งตัวจะซื้อสีน้ำตาลน้อยที่สุดทั้งที่เป็นสีที่ผมชอบที่สุด เพราะเป็นสีที่ไทย เท่ แบบอันนี้ดูรู้เลยว่าเป็นยูนิฟอร์มไทย ซึ่งอีกครึ่งนึงที่เป็นนักเรียนก็ซื้อกันเยอะ เมื่อวานผมเห็นกับตาครั้งแรก แล้วดีใจมาก ที่เอ็มควอเทียร์มีเด็กใส่ชุดประมาณนักเรียนโรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่ไม่ชัวร์นะ ไม่ทันเห็นที่ปักตัวย่อ แต่รองเท้านี่ลอยขึ้นมาเลยว่าเป็นรองเท้าของเรา มันไม่มีโลโก้อะไรเลย ทุกอย่างสีเดียวกันหมด ทรงมันจะชัดเจน หัวมันจะสองชั้น ดีใจมากที่ โอ้โห แม่ง ฝันเรามันเริ่มเป็นจริงขึ้นมาเรื่อย แล้ว วันนึงเราอยากจะเห็นเด็ก ยูนิฟอร์มไทยใส่รองเท้าของเราหมด แต่ก็ยังไปไม่ถึงเพราะยังต้านรองเท้านักเรียนกระแสหลักไม่ได้ ราคาเขาทำได้ถูกเหลือเกิน

เพราะเขามองว่าเป็นรองเท้าที่ใส่เป็นเครื่องแบบ ไม่ใช่แฟชัน เลยไม่ต้องแพงหรือเปล่า

ผมว่าคนไทยเขาไปสร้างภาพจำเอง แต่มันไม่ผิดนะ เป็นมาหลายยุคสมัยแล้วที่เราจะเห็นรองเท้าสีดำ ขาว น้ำตาลล้วน เป็นรองเท้านักเรียน ผมว่าถ้าเราเกิดมาแล้วไม่เจออะไรพวกนี้เลย เราไม่ได้โตมากับการศึกษาไทย เราก็จะเห็นว่า เอ้า มันก็รองเท้าผ้าใบปกติ แต่ว่าตอนนี้เราไปติดกับมัน ผมเองก็ยังติดเลยว่า โอ้ นี่มันรองเท้านักเรียนนี่ แต่ก็ดีใจนะที่หลาย คนซื้อไปแล้วพยายามจะเอาไป mix and match กับเสื้อผ้าที่เขาใส่ อยู่ อย่างล่าสุดเห็นพี่บอล Scrubb ใส่ก็เห็นว่า เออว่ะ สนุก มันไม่ได้จำกัดว่ารองเท้านักเรียนจะอยู่แค่กับนักเรียนเท่านั้น

ส่วนเรื่องราคา เราตั้งใจจะเจาะกลุ่มที่เป็นนักเรียนที่มีกำลังซื้อเอง ถ้าพ่อแม่เป็นคนเลือกให้เด็กเองเขาก็ไม่เลือกแบรนด์นี้หรอก ยกเว้นพ่อแม่ที่อาจจะเรียนศิลปะหรือทำงานสถาปนิกมาแล้วเห็นว่าอันนี้สวยดีนะ จริง ๆ ก็มีพ่อแม่ที่เป็นเด็กแนวซื้อให้ลูกเหมือนกัน แต่เราก็รู้สึกว่า น่าจะเป็นกลุ่มเล็ก

ไม่กังวล?

ไม่เลย เพราะเราอยากค่อย โตมากกว่า อันนี้มันคือโปรเจกต์ระยะยาว เรากำลังโปรยเมล็ด พรวนดิน รอเมล็ดมันโตในวันนึง

ท้าทายไหมที่แบรนด์รองเท้านักเรียนเมนสตรีมกลับมาตีตลาดวัยรุ่นมากขึ้น

ผมเคยเข้าใจมาว่าวงการนี้มันหยุดนิ่งมาสักพักแล้ว แต่พอเราเข้ามาในวงการนี้จริง แต่ละแบรนด์ไม่มีการยอมกันเลย อย่างนันยาง Breaker หรือว่า Pan เขาก็มีมีเดียของเขา มีการทำวิดิโอซึ่งเข้าถึงทาร์เก็ตกรุ๊ปในยุคสมัยนี้ เขาทำแบบไม่หยุดนิ่งเลย แล้วเราเป็นเจ้าใหม่ที่อินดี้มาก ถ้าเปรียบมวยนี่นันยางคือ Bodyslam แต่เราคือวงอินดี้เบดรูมสตูดิโอที่เพิ่งเข้ามาในวงการ แล้วเขาก็แค่คิดว่า อ้อ มีคนส่งเดโม่สำหรับ Cat Radio แล้วหรอ เราก็คิดว่าไม่เป็นไร วันนี้เราอยู่ใน league วงอินดี้อยู่ ถ้าวันนึงเราทำเดโม่มากขึ้น มีเพลงมากขึ้น มันก็จะเข้าถึงคนฟังได้มากขึ้น รองเท้าก็เหมือนวงการดนตรี ให้เด็กค่อย ใส่ไปเรื่อย ถ้าเด็กเห็นคนใส่มากขึ้นคงจะเห็นค่ามันแบบ เฮ้ย รองเท้าอะไรวะ ดำล้วน น้ำตาลล้วน ไม่มีโลโก้อะไรเลย ทำไมทรงมันสวยจังวะ ใส่แล้วขาเล็กจังเลยวะ เฮ้ย เดี๋ยวเทอมหน้าซื้อ เราไม่ได้คิดว่าเราจะผงาดอะไรเลยนะ เราแค่อยากเห็นเด็ก ใส่ของเราบ้าง เพราะเราเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ตอนเราเรียนหนังสือเราคิดว่าเราเบื่อทรงนี้ ทำไมรองเท้านักเรียนมันผูกขาด มีแต่ทรงประหลาด เด๋อ อย่างเดียวเลยวะ ทำไมมันไม่มีทรงที่ใส่แล้วดูมีดีไซน์ มีอะไรแตกต่างจากชาวบ้านแบบที่มันควรจะเป็นจริง ตอนออกแบบรองเท้าเราไม่ได้คิดว่ามันจะต้องใหม่เลยนะ มันเกิดจากการเอาตัวเองเป็นที่ตั้งว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการยูนิฟอร์มไทย เราคิดว่ารองเท้านักเรียนแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบที่เราอยากได้ แต่แบบของเราอะ มันเป็นรองเท้าที่ควรจะเป็นสำหรับนักเรียน แล้ววันนี้มันก็เป็นจริงแล้ว

หัวใจของการเป็นพ่อค้าคือ ต้องคิดว่าของตัวเองเจ๋งสัด  เอาง่าย ว่าทำเสร็จต้องกรี๊ด พอคุณกรี๊ดปุ๊บ ลูกค้าก็จะกรี๊ดเหมือนคุณ ถ้าคุณไม่กรี๊ดโปรดักต์ของคุณ คุณอย่าขายของดีกว่า

การนำเสนอเป็นจุดเด่นอีกอย่างของแบรนด์

ช่วงนึงที่ภาพนิ่งมันฮิต ทุกคนขายของผ่านอินสตาแกรม ผ่านเฟสบุ๊ก แล้วเราก็หนีมาทำวิดิโอ เราว่าเราน่าจะเป็นโปรดักต์รองเท้าเจ้าแรก ๆ ของไทยที่อยู่ดี ๆ ทำหนังโฆษณาก็ไปร่วมงานกับผู้กำกับที่เราชอบ เอามาขายผลิตภัณฑ์ แต่ก็อยากจะให้รู้สึกว่าทุกครั้งการออกโปรดักต์ของเรามันเหมือนออกศิลปินอัลบั้มนึงที่มันมีกิมมิก เราอยากขายของในแบบที่มันควรจะเป็น แต่เราพยายามพรีเซนต์อะไรที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สมมติว่า ช่วงนี้ภาพเคลื่อนไหว วิดิโอเล่าเรื่องกำลังมา ตัวหน้าผมจะเลิกทำ จะไปทำอะไรที่ อาจจะเป็นภาพเคลื่อนไหวแต่คงไม่เป็นหนัง หรืออาจจะไปหาอย่างอื่นทำที่ไม่ใช่สื่อวิดิโอไปเลย เพราะตอนนี้เอะอะทุกแบรนด์มีหนังสั้น แล้วมันจะ lead คนกลับมาที่โปรดักต์หรือเปล่าก็ไม่รู้

แล้วผลตอบรับที่ได้กลับมาจากตัวหนังเป็นยังไง

บางตัวก็คุ้ม บางตัวก็ไม่รู้จะทำไปทำไม แต่สุดท้ายก็ดีกับแบรนด์ มันเหมือนการไปต่อ ทุกครั้งที่เราเดินเราไม่รู้หรอกว่าข้างหน้ามันจะเป็นหลุมหรือจะเป็นบันได บางที่เราอาจจะก้าวพลาด ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยมันก็เป็นสเต็ปที่เราก้าวไปข้างหน้าเรื่อย ผมว่าไม่เป็นไรถ้าจะลงเงินไปแล้วมันจะกำไรน้อยหน่อย หรือไม่ได้เลย อย่างโปรเจกต์รองเท้านักเรียนนี่ถ้าขายหมด กำไรแทบไม่ได้เลยทั้งที่ลงทุนไปมหาศาล แต่ความเจ๋งคือเราทำแล้วเราได้ก้าวไปข้างหน้าก่อนใคร เรารู้ว่าเราเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วถึงมันจะเจ๊งหรือมันจะดี เราได้ทำในสิ่งที่เราเชื่อ

บทที่ 2 : รวยอย่างมีชั้นเชิง

ทำไมต้องรีแบรนด์โลโก้ใหม่

หนึ่ง โลโก้เก่ามันใช้งานยาก สอง มันดูไปในทิศทางใดทิศทางนึงเกินไป สาม ตอนนั้นเราทำเพราะเราสนุกกับมัน ไม่ได้คิดอะไรเยอะ แต่ตอนนี้เราอยากได้โลโก้อันนึงซึ่งมันจะต้องไปอยู่ที่ไหนก็ได้ บนเสื้อ บนรองเท้า บนฝาผนัง เราสามารถทำสติ๊กเกอร์ไปบอมบ์ก็ได้ แล้วส่วนตัวเราชอบโลโก้ที่เป็นวงกลม มันดูเป็นโลโก้ดี เราเลยบรีฟคนทำว่าอยากได้อะไรยังไง คือมันเป็นโลโก้ที่ผ่านการตกผลึกมาแล้วว่ามันมีความเป็นเรา แล้วเราก็แฮปปี้กับโลโก้นี้มาก

การไม่ได้เรียนการตลาดมาโดยตรง ต้องทำการบ้านเยอะกว่าคนอื่นไหม

เราชอบเรื่องธุรกิจมาก ก็เลยอ่านเยอะ แต่ชอบดูมากกว่า พวกรายการธุรกิจนู่นนี่ ดูวิธีคิดของเขา พยายามจับประเด็นตรงกลาง ถ้ามันมีอะไรดีก็จะแอบเอามาใช้ คืออะไรที่เราอ่านก็ไม่ได้เชื่อทั้งหมด จะหยิบจับมาใช้แค่บางส่วน เราจะไม่ใช้วิธีการของเขาเพราะเรารู้สึกว่า เราเป็นคนดื้อ เราชอบทำสไตล์ของเราเอง เราเชื่อว่าอันนี้ถ้าเราเก็ต เด็กก็น่าจะเก็ตด้วย แต่บางทีเรากรี๊ดแต่เด็กไม่กรี๊ดก็เพียบ มันคือการเข้าไปชกมากกว่า ไม่รู้ว่าชกถูกหรือชกผิด ผมว่าจริง นักการตลาดหรือนักธุรกิจหลาย คนก็มีการลองผิดลองถูก ไม่ได้ยิง 100 ถูก 100 แต่คงมีเปอร์เซ็นต์ดีกว่าผม แต่ไม่เป็นไร ผมยิง 10 โดน 1 ก็โอเคแล้ว เพราะเราใหม่กับวงการนี้มาก ไม่มีสูตรเลย

copy-of-pboobank

ปัญหาตอนที่มีคน inbox มาสั่งของแล้วคิวมั่วหมดไปหรือยัง

หายไปแล้ว ตอนนี้ผมซื้อระบบนึงของบริษัทนึง เป็นโปรแกรมที่ใช้ผ่านไลน์ หรือเฟสบุ๊กอินบ็อกซ์ ดีมาก ชอบมาก กลายเป็นว่ามาจัดการเรื่องพวกนี้เสร็จสรรพ สบายเลย ลูกค้าโอนเงินง่ายขึ้น แล้วทุกอย่างเป็นคิวมากขึ้น มันรองรับการตอบคำถามก่อน หลัง อะไรได้ดีมาก ก็คิดว่าจะเอาระบบนี้มาใช้ตลอดไป ตอนแรกจะเอาตังค์ไปพัฒนาการซื้อผ่านเว็บไซต์ แต่ผมขายของมาแล้วรู้สึกว่าคนไทยชอบวิธีลูกทุ่งที่สุดอย่างเฟสบุ๊กแมสเสจ หรือไลน์ คือเอาง่ายเข้าไว้ เป็นไทยสไตล์ แต่ถ้าเราขายต่างประเทศก็ต้องขายในเว็บไซต์ถูกแล้ว

เจออะไรที่เป็นอุปสรรคในการขายผ่านโซเชียลมีเดียอีกไหม

ตอนนี้ผมว่าที่แย่สุดเลยคือยอด reach นับวันเรารู้สึกได้เลยว่าบางโพสต์มัน impact มาก แต่มันเข้าถึงคนน้อยมาก แล้วเราไปศึกษาการทำโฆษณามา สุดท้ายแล้วมันก็ไม่มีพลังเท่าคอนเทนต์ ซึ่งคอนเทนต์ที่ดีก็เข้าถึงคนไม่ได้เยอะเท่าคำว่า SALE มันทำให้การเริ่มธุรกิจของวงการนี้ยากขึ้น ไม่ใช่ใครมีของมือสองมาเปิดร้านแล้วเข้ามาขายได้เลย ตอนนี้คือใครเริ่มเข้ามาต้องใช้เงินในการลงทุนเยอะกว่าเดิมอีก เพราะมัน organic น้อยมาก ต้อง boost โพสต์หมดเลย ตอนหลังมันเริ่มไม่โอเค แต่เรื่องระบบตอนนี้คือโฟลวมาก หรือเพราะออเดอร์มันไม่เยอะก็ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ)

เพราะคนทำธุรกิจออนไลน์กันเยอะแล้วการกระจายเลยไม่ทั่วถึง

ใช่ คือตอนนี้เข้าใจว่า e-commerce มันโตก็จริง แต่พอคนกระโดดเข้ามาเล่นกันมาก มันกลายเป็นว่าตอนนี้มันเต็มไปหมดเลยในวงการ เราโชคดีที่เราเริ่มก่อน คือเรามีกลุ่มของเราแล้ว แต่คนที่เพิ่งเริ่มต้นตอนนี้เป็นปัญหามาก ไม่รู้เลยว่าถ้าเราเอาลงหน้าร้าน มีคนเดินผ่านแล้วซื้อ หรือว่าขายออนไลน์ต่อไปจะดีกว่า เพราะตอนนี้การลงทุนโปรโมตโฆษณาเฟสบุ๊กก็ใช้เงินเยอะแล้ว

พอเจอสถานการณ์แบบนี้แล้วจะขายออนไลน์ต่อไปไหม

ไม่หรอก สุดท้ายคนไทยก็เล่นเฟสบุ๊กอยู่ดี นอกจากว่าอยู่ดี จะมีแอพนึงที่บูมขึ้นมา แล้วคนย้ายไปเล่นตรงนั้น แต่ตอนนี้ตัวหลักเราก็ยังขายดีเหมือนเดิม แต่ตัว School ต้องทำการบ้านเยอะ ตอนนี้เราว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคนิกโปรแกรม เฟสบุ๊ก หรืออินสตาแกรมแล้ว มันคือการเข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้มากกว่า เมื่อวานผมเพิ่งไปคุยกับผู้บริหารนันยางรุ่นที่สามมา พี่จั๊ก เขาน่ารักมาก เขาถามเรื่องธุรกิจเราแล้วบอกว่า จริง มันคนละกลุ่มเลยนะระหว่าง Rompboy หลักกับตัว School คือพฤติกรรมการซื้อต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่น่าเชื่อว่าเด็กอายุต่างกันไม่กี่ปี แต่กำลังซื้อมันคนละอย่างกัน ความสนใจต่างกัน การใช้เงินก็ต่างกัน สนุกดี เอาจริงผมไม่เก่งเรื่องแมสเลย ดีใจมากที่เขาชมเราว่าเขาอยากทำ niche market แบบเราให้ได้  Rompboy ให้ได้ เขาพยายามออกรุ่นแสตมป์ออกมา ส่วนเราอยากโต แต่เราโตไม่เป็น เราว่าเราเก่งขายแค่ไม่เยอะมากกว่า แต่ก็ลองศึกษาไปเรื่อย

อยากลองร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ไหมเพื่อขยายตลาด

เอาจริงผมว่าการที่นันยางมาชวนมันเหมือน Nike มาชวน Common Projects ไนกี้เขาใหญ่มาก ลูกค้าเขากว้างมาก ไม่ได้ขายแค่นักเรียน มีทั้งคนทำงาน กรรมกร คนเตะตะกร้อ ฟุตซอล เต็มไปหมดเลย เราเป็นแค่กลุ่มเล็ก นิดเดียว แล้วเราคิดว่า สมมติไนกี้จะมา collaborate กับ Common Projects ที่เป็นแบรนด์รองเท้าเหมือนกัน มันควรจะเลือก category ที่มันต่าง ก็จะได้สิ่งใหม่ในวงการมากกว่า รองเท้าเจอรองเท้ามันไม่ค่อยน่ารักอะ แต่เราคิดว่า ดีใจที่เขาชวน ก็สนใจ อาจจะมีโปรเจกต์สนุก กัน ชอบแนวคิดเขา แต่ยังไม่ทำตอนนี้ดีกว่า ขอคิดก่อน

แต่ตอนนี้ก็มี collab กับศิลปินต่าง

ใช่ แน่นอน ตอนนี้การบ้านเลยคือ ผมกำลังจะมี limited ตัวใหม่ของ Rompboy School แต่ว่ายังเลือกอยู่ว่าจริง เด็กต้องการใคร อาจจะไม่ใช่ศิลปินเลยก็ได้ อาจจะเป็น Rompboy School x อาจารย์อุไรวรรณ ที่อาจจะเป็นคนที่มีอิทธิพลกับวงการการศึกษา หรือ Rompboy School x ครูลิลลี่

เหมือนรองเท้า Toms ที่ไป collab กับไอศกรีม Guss Damn Good

เออ อันนั้นอะผมชอบ ดูสนุก แนวคิดของเราพอเป็นอะไรแบบนี้แล้วมันใช่ ถ้า นันยาง x Rompboy เราไปเป็นซับเซ็ตหนึ่งของเขา เราก็เกรงใจเขา เขาจะเหนื่อย ไม่ใช่เราหรอก

มีคนเอา Rompboy ไปขายโก่งราคาหรือยัง

มันมีเรื่อย ครับ ทุกวันนี้ยังมี inbox ถามถึงพวกรุ่น limited อย่างสีมัสตาร์ดมีถามว่าหมดหรือยังตลอด ทุกวัน เราก็บอกไม่ทำแล้วครับ ส่วนใหญ่คนถามจะเป็นลูกค้าใหม่ ก็ดีเหมือนกันเขาจะได้รู้ว่า อ๋อ หมดแล้ว ไม่ทำเพิ่มหรอ แล้วเขาจะรอล็อตหน้าว่าเราจะทำอะไรต่อไป ไม่ได้คิดว่ามันจะต้องเป็นของ rare แต่มันเป็นคอนเซปต์ตั้งแต่แรกแล้วว่ามันเป็นแนวคิดของของมือสอง แต่ละตัวพอมันหมดแล้วก็ไม่ทำแล้ว

fjzbooslur_0077

ธุรกิจของบู้ช่วยธุรกิจรายอื่น ยังไงบ้าง

ตอนนี้โรงงานของผมรวยมากเลย คือนอกจากไลน์ผลิตหลักของเขาแล้ว ตอนนี้เขาทำรองเท้าให้แบรนด์ทางเลือกอื่น ๆ ด้วย ทำให้วงการรองเท้าไทยน่าสนใจขึ้นเยอะ จากที่เด็กไทยไม่เชื่อในรองเท้าไทย หรือของที่ Made in Thailand ตอนแรกที่ผมเริ่มทำรองเท้าผ้าใบ เพื่อนยังด่าอยู่เลยว่ามึงใช้คำว่ารองเท้า Made in Thailand แล้วใครจะซื้อ มึงเล่นดนตรีดีไหมผมจำคำนี้ได้เลย ผมบอกไม่ได้เว่ย นี่มันคือศักดิ์ศรีของเรา เราทำในไทยก็เราก็บอกไทย เราว่างานไทยเจ๋ง เราต้องบอกให้โลกรู้แล้วพอออกไปปุ๊บเราได้กลุ่มตรงนี้มาเพียบเลย บางคนบอกว่า เขาไม่เคยซื้อรองเท้าหรือเสื้อผ้าต่างประเทศเลย เขาซื้อของไทยอย่างเดียว ผมว่าเจ๋งมาก กลายเป็นว่าพอใช้คำว่า Made in Thailand ปุ๊บแบรนด์ไทยมาหมดเลย คำนี้ตอนนี้ก็เท่ไปเลย ซึ่งดีแล้ว ค่านิยมตรงนี้มันเจ๋ง ลูกค้าต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นหรืออังกฤษชอบคำนี้มาก

ส่งขายต่างประเทศด้วย

อังกฤษสนใจตัว School มาก เพราะราคาน่ารัก แล้วมันมีเรื่องราวของความเป็นนักเรียนไทย ยูนิฟอร์มแบบไทย เขาเป็น distributor ที่เอาไปออกงาน trade งาน fair รับออเดอร์มาจากฝั่งยุโรป หรือญี่ปุ่นก็เป็น distributor กลางที่หน้าร้านต่าง ก็ไปเอาของที่เขา เขาบอกไปเจอเราในบล็อกอะไรสักอย่างที่มีคนซื้อไปรีวิว

หัวใจหลักของการเป็นพ่อค้าคืออะไร

ผมว่าหัวใจของการเป็นพ่อค้าคือ ต้องคิดว่าของตัวเองเจ๋งสัด  เอาง่าย ว่าทำเสร็จต้องกรี๊ด พอคุณกรี๊ดปุ๊บ ลูกค้าก็จะกรี๊ดเหมือนคุณ ถ้าคุณไม่กรี๊ดโปรดักต์ของคุณ คุณอย่าขายของดีกว่า จงเชื่อสิ่งที่คุณใส่ ถ้าทำของออกมาชิ้นนึงแล้วคุณไม่กล้าใส่เองก็อย่าทำ แล้วอีกอย่างนึง ความซื่อสัตย์น่าจะเป็นอะไรที่ติดมากับคำว่าพ่อค้าเลย มีเคสนึงที่ผมจำได้ถึงทุกวันนี้ คือลูกค้าโอนเงินมา แต่สต๊อกผมขาด ของหมดพอดี กับอีกอันคือส่งของผิด เพราะของเยอะมาก ลืมส่งสีมัสตาร์ดให้ลูกค้า แล้วเขาก็มาว่าผม ทีนี้ผมเลยไปหาซื้อจาก resale ผมรู้อยู่แล้วว่ารองเท้าตัวเองราคาเท่าไหร่ ก็ยอมซื้อที่เขาโก่งราคาเป็นคู่ละ 3,500 บาท มาสองคู่เพื่อให้ลูกค้าคนนั้น ปรากฎว่าโดนโกง ผมจ่ายเงินฟรี 7,000 บาท แล้วต้องโอนเงินคืนลูกค้าด้วย ผมก็ต้องขอโทษเขาแล้วแคปแชตกับคนที่โกงไปให้เขาดู ลูกค้าก็บอก ‘โอเค ไม่เป็นไรค่ะ’ เรารู้สึกว่า ถ้าไม่มีความซื่อสัตย์ ถ้าเราส่งของให้เขาช้าหรืออะไร หรือความที่เราไม่ตั้งใจเทคแคร์ลูกค้าแม้แต่นิดเดียว ธุรกิจมันก็พังนะ คิดดูว่าลูกค้าโอนเงินเกิน 5 บาท 10 บาท ผมก็ต้องใส่ทุกบาททุกสตางค์ลงไปในตังค์ทอน แล้วบอกลูกน้องหรือคนแพ็กให้ใส่ไปด้วย ถ้าโอนเกินแบบไม่ใช่ EMS จะโอนคืนทุกอย่าง ทุกวันนี้ไม่เคยทุจริตใด ทั้งสิ้นในร้านผม มันเป็นการไว้เนื้อเชื่อใจกัน แล้วอีกอย่าง ผมไม่เคยทะเลาะกับลูกค้าเลย ยอมทุกอย่าง

ลูกค้าคือพระเจ้า

ลูกค้าคือลูกค้า เขาคือคนที่เราต้องเทคแคร์ เขาคือคนที่เอาเงินให้เรา เราต้องบริการเขาให้ดีที่สุด ทุกวันนี้ยอมอย่างเดียว ไม่ชอบใจโปรดักต์ โอเคโอนเงินคืนเต็มจำนวน ถ้ามีตำหนิก็เปลี่ยนได้หมด อย่าง Rompboy School มันเป็นโปรดักต์ใหม่ ถ้าไซส์ไม่ถูกก็ส่งกลับมาเปลี่ยนใหม่ได้เลย

fbzboobw

บทที่ 3 : รวยอย่างมีศิลปะ

แฟชันหรือภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเป็นศิลปินไหม

มันเป็นของคู่กันเลย คือ อย่างแรก ศิลปินเป็นอะไรที่ต้องสื่อสารกับคนดู เขาไม่ได้ขึ้นไปเล่นดนตรีอย่างเดียว สมมติว่าเด็กคนนึงดูคอนเสิร์ตแล้วเขาเชื่อในสไตล์ดนตรี เชื่อในสิ่งที่เขาเล่า วิชวลที่เขาเห็นชัดเจนคือสไตล์การแต่งตัว มันคือสิ่งที่แพ็กคู่กันมาเลยสามอย่างเนี้ย แล้วเด็กก็จะเห็นว่าคนนี้ใส่อันนี้เล่นหรอ แต่งตัวอย่างนี้หรอ คนนี้ไม่แต่งตัว ต้องการจะเล่นดนตรีอย่างเดียวหรอ บางคนแต่งตัวเรียบ เสื้อยืด กางเกงยีน รองเท้าผ้าใบง่าย ก็ไม่เป็นไร แต่บางคนก็เป็นเขา เราก็เป็นเราอย่างนั้น แล้วการแต่งตัวเป็นการอธิบายศิลปินได้ดี แต่อย่างที่ผมบอก เวลาเราไป perform บนเวทีมันมีพลังมากกว่าตอนเราเดินบนท้องถนนแล้วไม่รู้ว่าเขาสื่อสารอะไร เพราะเขาไม่ได้สื่อสารกับคุณ ขึ้นเวทีเขาสื่อสารกับคุณอยู่ คุณไม่ได้ได้แค่ดนตรีหรือเนื้อร้องแน่นอน คุณได้วิชวล แนวคิดที่เขาจะสื่อด้วย

บู้เป็น trend setter ได้ไหม

ผมไม่เคยคิดเลยว่าผมเป็น trend setter เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก ละ อย่างตอนเรียนหนังสือเนี่ย เราพยายามจะครีเอทชุดนักเรียนให้เยอะที่สุด ตอนนั้นนันยางมันไม่มีให้เลือกไง เราก็พยายามจะทำเชือกรองเท้าให้ประหลาดที่สุด ดึงถุงเท้าให้สวยที่สุด ใส่กางเกงขาสั้นให้พอดี ใส่เสื้อแขนสั้นให้โอเคที่สุด เป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว บางคนบอก โห พี่บู้แต่งตัวเดิ้น ล้ำอะ จริง ไม่เลย ผมแค่ใส่อะไรที่เขาไม่ใส่กัน แล้วแฟชันมีหลากหลาย พอมาตกถึงผมคนก็บอกว่า เฮ้ย พี่บู้ใส่ก่อน จริง ไม่ใช่เลย ผมแค่ชอบคิดว่าจะใส่อะไรให้แตกต่างจากชาวบ้าน

เคยคิดว่าการเป็นนักดนตรีเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ไหม

ความคิดนั้นมันพังไปตั้งนานแล้ว ผมเคยมีศรัทธาอันนั้นตอนช่วง Slur อัลบั้มแรกถึงอัลบั้มสาม ตอนนั้นผมจำได้เลยว่า ความคิดนี้มันมีตอนผมอยู่ปีสามว่า เชี่ย เราแม่งเรียนหนังสือแล้วเราได้รายได้ก่อนเพื่อนว่ะ เรามีตังใช้ มีเงินเก็บว่ะ แล้วพอ Slur อัลบั้มสามออกมาก็แบบ โห เรามีเงินเดือนเยอะขนาดนี้เลยหรอวะเนี่ย ไป มาๆ มันเป็นวัฏจักรอะ เราเริ่มเห็นมันมาตั้งนานแล้วว่า ออกอัลบั้มปุ๊บ เปรี้ยง มีโชว์ มีกิน กราฟค่อย ร่วง ตก แล้วพอทำอัลบั้มใหม่มาก็ขึ้น แล้วก็ ตก ๆๆๆ มารู้ชัด ตอนทำอัลบั้มสี่เนี่ยล่ะ เรารู้สึกว่า มันโคตรจะไม่แน่นอนเลย ไม่เหมือนพนักงานออฟฟิศ นี่คือการจุดธูปไหว้พระบอกว่า เพี้ยง ขอให้เดือนนี้โชว์เยอะ เถอะ เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดว่าอันนี้มันคือการเสี่ยงดวง เราก็ทำให้มันเป็นงานอดิเรกสิ ช่างมันละ เราควบคุมมันไม่ได้ พอเป็นงานอดิเรกปุ๊บแล้วสบายใจขึ้นเยอะเลย มันไม่ใช่รายได้หลักละ เรามาทำอะไรสักอย่างที่มันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำเราดีกว่า ก็เลยทำธุรกิจขึ้นมา เราไม่คิดแบบนั้นแล้ว

แต่การทำแบรนด์ก็มีความเสี่ยง

ชีวิตเราทุกอย่างแม่งคือ ทุก นาทีเราคือความเสี่ยง เราจะรู้ได้ไงว่าเรานั่ง สัมภาษณ์กันอยู่แล้วจะไม่มีเครื่องบินอะไรมาชนเรา หรือบางทีของที่เรากินไปอาจจะเป็นกรดสักอย่างแล้วทำให้เราท้องไส้ปั่นป่วน ถ่ายจนตาย คือผมว่ามันไม่ใช่แค่ธุรกิจ นักดนตรีก็เสี่ยง พนักงานประจำที่บอกว่ามั่นคงก็เสี่ยง ถ้าวันนึงเหตุการณ์บ้านเมืองทำธุรกิจพัง ก็โดน layoff มันเสี่ยงทุกจังหวะชีวิตอยู่แล้ว

แต่สำหรับผมความเสี่ยงมันสนุกมาก ยิ่งลงเงินเยอะ ยิ่งมีพลังในการเอาคืนมา แบบเฮ้ย ไม่ได้ว่ะ ลงทุนไปเยอะนะ ต้องเอากำไรคืนให้ได้ ตรงนี้อะสนุก 

ถ้าไม่ใช่ บู้ Slur คิดว่าคนจะสนใจ Rompboy ขนาดนี้ไหม

ผมรู้สึกว่าศิลปิน จะใครก็ตาม ไม่ว่าจะบู้ Slur หรือเอาพี่ตูน Bodyslam มาขายของ สมมติถ้าพี่ตูนขายขนมจีนอร่อย คนบอกต่อ พี่ตูนสบาย อันนี้รวย แต่ถ้าขนมจีนไม่อร่อยเลย มันก็จะค่อย เฟดไปเรื่อย ขายได้แค่ช่วงแรก ผมว่าศิลปินจุดเริ่มต้นดีกว่าชาวบ้าน ใครยิ่งดังยิ่งมีพลังมากกว่าชาวบ้าน ด้วยชื่อมันจะได้แค่ช่วงแรก แต่สุดท้ายแล้วโปรดักต์มันจะเป็นตัวพิสูจน์  ผมไม่ได้ดังมาก แต่ผมซีเรียส ผมรักโปรดักต์ของผมมาก ผมคิดว่าของผมดีก่อนที่จะขายทุกครั้ง มันเลยทำงานของมัน ตอบแทนเราไปเรื่อย  เพราะขนมจีนผมอร่อย

อนแรกที่ผมเริ่มทำรองเท้าผ้าใบ เพื่อนยังด่าอยู่เลยว่ามึงใช้คำว่ารองเท้า Made in Thailand แล้วใครจะซื้อ มึงเล่นดนตรีดีไหมผมจำคำนี้ได้เลย ผมบอกไม่ได้เว่ย นี่มันคือศักดิ์ศรีของเรา เราทำในไทยก็เราก็บอกไทย เราว่างานไทยเจ๋ง เราต้องบอกให้โลกรู้

ตอนเรียนมหาลัย บู้เรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกเซรามิก ตอนนี้ได้ใช้ทำอะไรกับแบรนด์บ้างไหม

ไม่เกี่ยวเลยครับ นี่จบมาจำได้ว่า หลังจากที่ส่งธีสิสปุ๊บ ไม่จับดินเลย มีคนถามเหมือนกันว่าเซรามิกกับ Rompboy มันเกี่ยวข้องกันยังไง ผมว่ามันมีส่วนเกี่ยวข้องนิด ของมัน คนอื่นทำงานเพนต์ หรือทำกราฟฟิก มันคือแค่สองมิติ แต่ผมอยู่กับสามมิติมาตลอด ผมเลยชอบรองเท้าที่สุด เพราะรองเท้าเป็นไอเท็มที่ผมรู้สึกว่ามันวางแล้วมันไม่แบน มันมีรายละเอียด มีความลึก ความตื้น มีมวล กางเกง เสื้อ คุณลองถอดแล้ววางดิ มันเหี่ยว แต่รองเท้ามันสามมิติว่ะ อีกอันที่ผมชอบคือแว่น ผมชอบอะไรที่มันมีมุม หรือมีหลาย ด้าน ผมว่าตรงนี้อาจจะเป็นความชอบที่อยู่ลึก ของผม เราเรียนปั้นมา แล้วก็ทำรองเท้า เพราะรองเท้าก็ต้องขึ้นแบบ แล้วผมน่าจะเป็นแบรนด์เดียวในไทยที่บ้า ขยันแก้รองเท้าเยอะที่สุด กว่าจะได้ School ออกมาก็ทำเป็นปี

fjzbooslur_0141

ทำไมตอนนั้นเลือกเรียนเซรามิก

เอาจริงความชอบมันแค่ 10-20% จริง ตอนนั้นอยากเข้าจิตรกรรม ศิลปากร แต่ไปสอบจุฬา แล้วติดก่อน ตอนนั้นเราบ้าดนตรีมาก คิดว่าเข้ามหาลัยจะไปหาวงดนตรี ไม่ได้เรียนหนังสือ แล้วนั่งเช็กว่าแต่ละวงจบจากที่ไหนบ้าง Paradox Moderndog จบครุศิลป์ พี่โป้ Yokee Playboy ทีแรกก็เข้าครุศิลป์ แล้วซิ่วไปรังสิต พี่ตูน Bodyslam ก็นิติ จุฬา เราก็ เชี่ย จุฬา ดีกว่าว่ะ ต้องมีนักดนตรีดี ซ่อนอยู่แน่ ถ้าไปศิลปากร นักศึกษาเขาน้อย คิดว่าการจะไปหานักดนตรียาก จุฬา น่าจะเป็นสถานศึกษาที่ เรียนเบา หานักดนตรีได้เยอะ เล่นดนตรีได้นานกว่า ก็เลยเข้าจุฬา ดีกว่า ไม่ได้คิดเลยว่าจะเข้าคณะอะไร จะไปหาวงอย่างเดียว

แล้วก็ทำสำเร็จ

ใช่ จำได้ว่าตอนแรกบ้ามากเลย ไปไล่ถามเพื่อนว่า เฮ้ย เราเล่นเบสนะเว่ย ฟังเพลงอย่างนี้ อยากทำวง คิดว่าอีกนิดนึงถ้าไม่เจอ Slur จะทำโบรชัวร์ติดรูปหน้าตัวเอง หาเพื่อนสมาชิกในวง ทำแนวดนตรีเดียวกัน

มีวิธีใช้ชีวิตให้สมดุลยังไงระหว่างทำธุรกิจกับเล่นดนตรี

ผมว่าชีวิตผมค่อนข้างว่างนะ หมดเวลาไปกับการคุยงานกับผู้ใหญ่เยอะ จะมีการอัพเดตว่าเราจะไม่ปล่อยให้แบรนด์เรานิ่งเลย จะให้มันขึ้นบันไดไปเรื่อย วันนี้คุยกับเจ้านั้น เจ้านี้ เราไม่ได้ทำรองเท้าอย่างเดียวแต่ทำเสื้อผ้าด้วย หลัง ก็มีดีไซเนอร์มาช่วยแล้ว คุยเรื่องทำกราฟฟิก นู่นนี่นั่น เรียกว่าตอนนี้ 80% คือ Rompboy 20% คือซ้อมดนตรี ทำเพลงใหม่บ้าง อัลบั้มใหม่มันเลยช้าไง แล้วก็เล่นคอนเสิร์ต งานของ Slur เดือนนึงก็ไม่ได้เยอะมาก ประมาณ 4-6 โชว์ ถ้า 10 โชว์จะอยู่แค่ช่วงปล่อยอัลบั้ม เป็นประมาณนี้มากสักพักนึงแล้ว

แต่บทสัมภาษณ์เมื่อปีที่แล้วบอกว่ายังเป็น 40/60 อยู่เลย

ช่ ตอนนั้นยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แต่ตอนนี้ทุกวันตื่นมาก็คิดเรื่องธุรกิจก่อน มันเป็นรายได้หลัก เหมือนเป็นงานแล้ว

เพราะ Slur คนอื่น ก็มีอาชีพหลักอื่นเหมือนกัน

เราว่าตอนนี้ทุกคนคิดอย่างนี้เหมือนกัน เพราะเขาคิดว่าธุรกิจมันต้องเดินยังไง มันคือชีวิตเรา วงดนตรีเหมือนมาเล่นกับเพื่อนมากกว่า แต่เราก็ยังแฮปปี้กับดนตรีเหมือนเดิม

อัลบั้มใหม่จะได้ฟังเมื่อไหร่

น่าจะปีนี้แหละ แต่กี่เพลงก็ไม่รู้ เพราะเพลงดีมันก็มีแล้วล่ะ แล้วผมก็บิ๊วให้ปล่อยเพลงดี แต่เขาบอกว่า ไม่ได้ ต้องมีเพลงตุนไว้ก่อน 13 เพลง Smallroom จะไม่มีต่ำกว่า 13 เพลงเพราะเวลาดาวน์โหลดใน iTunes จะเป็นยอดเงินเดียวกับที่ซื้อซีดีพอดี อันนี้ค่ายเขาบอกมานะ ผมไม่เคยไปนั่งหารเหมือนกัน ก็ คนซื้อซีดีก็ได้ ดิจิทัลดาวน์โหลดก็ได้ แต่ถ้าเป็นผม ผมก็จะเลือกซื้อซีดีดีกว่า เพราะว่าได้แพคเกจด้วย จริง ได้ฟังหลายเพลงของ Slur อัลบั้มนี้แล้วมันค่อนข้างแตกต่างจากอัลบั้มสี่นะ

%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b9%86

เป้าหมายในอนาคตของทั้ง Slur และ Rompboy

Slur นี่ผมปล่อยให้เป็นธรรมชาติไปเลย คือเหมือนกับว่า ถ้าเพื่อนยังอยู่กันครบ เราก็เหมือนการประชุมเพื่อน นัดมาคุยกัน นัดมาเจอกัน มันเป็นงานอดิเรกที่คอยหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณเราไปเรื่อย ผมไม่ได้มองเลยว่ามันจะมีกี่อัลบั้ม 10-20 อัลบั้มเลยก็ได้ คอนเสิร์ตใหญ่จะมีหรือเปล่าก็ไม่เป็นไร เพราะมันเป็นการเดินไปข้างหน้า เก็บเพลงไปเรื่อย คือเราฟังเพลงยังไง อัลบั้มก็ออกมาเป็นอย่างนั้น ให้มันออกมาตามธรรมชาติของมันดีกว่า แต่ Rompboy School อันนี้มันคือฝันสเต็ปนึงของผมที่ผมขึ้นมาถึงแล้ว ผมได้ทำรองเท้านักเรียนแล้ว เป้าข้างหน้าคือผมอยากเป็นรองเท้านักเรียนที่ติดกระแสไปแล้ว เขามีนันยาง มี Breakers เราอยากมี Rompboy ไปอยู่ในกระแสหลัก จะเป็นเบอร์อะไรก็ได้ แค่นั้น ตอนหลัง Rompboy ก็ทำไปเรื่อย อยากให้มันมีลูก creative เข้ามาเรื่อย แล้วสุดท้ายก็อยากมีหน้าร้านอยู่ดี อยากทำให้มันไม่เหมือนร้านเสื้อผ้า เรารู้สึกว่าถ้ามาแบบ creative แล้วก็ควร creative ต่อไปเรื่อย เข้ามาแล้วอาจจะแบบ เฮ้ย นี่อะไรวะเนี่ย ร้านติ่มซำหรอ ให้มันฉีกไปเลย แต่ก็เป็นแค่ฝันคร่าว เพราะโฟกัสกับ Rompboy School หนักมาก

ฝากถึงคนที่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเป็นของตัวเอง

ทำก่อนคิด อย่าไปคิดก่อนทำ ถ้าคิดก่อนทำจะไม่ได้ทำ

ถ้าไม่มีความซื่อสัตย์ ถ้าเราส่งของให้เขาช้าหรืออะไร หรือความที่เราไม่ตั้งใจเทคแคร์ลูกค้าแม้แต่นิดเดียว ธุรกิจมันก็พังนะ

บทที่ 4 : รวยแบบนักธุรกิจพันล้าน

อายุ 25 ปี ได้เงินเดือน 8 แสน ถือว่าน้อยไปไหม

ไม่น้อยนะ เยอะนะ เชี่ยแม่ง น่าหมั่นไส้อะ 25 ได้ตั้ง 8 แสน มันเพิ่งเรียนจบมาสามปี ได้เงินเท่านี้ มันทำอะไรวะ บ้านมึงรวยหรอ แต่เด็กรุ่นใหม่รวยเร็ว ขอเดานะว่าไอ้พวก 25 นั้นมันเป็นแม่ค้าตั้งแต่วัยเรียน ทำงานไปเรียนไป เป็นไปได้ เราทำไม่ได้เหมือนกัน 25 เรายังเล่นดนตรีจุดธูปขอโชว์อยู่เลย จำได้ แต่มันเป็นวัยที่คนยังหดหู่อยู่หลังห้อง แบบคนทำงานออฟฟิศมาสองปี แล้วรู้สึกว่ามันเริ่มไม่ใช่ ต้องทำอะไรสักอย่าง เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ แล้วเบญจเพสด้วย บางคนไปบวชเลย แต่มึงได้ 8 แสนเนี่ย

ถ้าน้ำท่วมจะแก้ปัญหายังไง

บ้านผมอยู่นวมินทร์ไม่เคยน้ำท่วมเลย ตกยังไงก็ไม่เคยท่วม แต่ถ้ามีเงินเยอะมาก ก็คงไปเที่ยวต่างประเทศ ช็อปปิ้ง พอน้ำหายแล้ว ก็กลับมา จบ

จะเลือกอะไร ระหว่าง ข้าวหมกไก่ ซุปหางวัว เคบับ แพะตุ๋น หรือ จีระพันธ์ไก่ย่าง

โอ้โห แน่นอน ซุปหางวัว นี่คือแบบ เป็นหนึ่งใน my favorite menu เลย ชอบมาก เรารู้สึกว่าอันนี้เป็นอาหารฝั่งมุสลิมที่เรากรี๊ด แล้วเป็นอะไรที่ ชาติอื่นก็น่าจะชอบ แล้วเราชอบกินเนื้ออยู่แล้ว แต่ไม่ชอบกินหางวัวนะ ชอบซุปอย่างเดียว

คิดจะเปิดร้านซูปหางวัว Rompboy ไหม

จริง เราอยากทำโปรเจกต์ข้าวเหนียวเนื้อย่างจิ้มแจ่ว อยากทำแฟรนชายส์ เพราะเราชอบกินข้าวเหนียวเนื้อย่างมากเลยเว่ย แต่ไม่มีใครทำ ไม่แน่อาจจะเจอ Rompboy Cafe ที่ขายแค่นั้นอะ

fjzbooslur_0115

ติดตามผลงานของ Slur ได้ที่ https://www.facebook.com/slurband/ และรับฟังเพลงของ Slur บนฟังใจได้ ที่นี่
Rompboy https://www.facebook.com/rompboybkk/
Rompboy School https://www.facebook.com/rompboyschool/

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้