Desktop Error: Press here to Restart
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Nattanich Chanaritichai
- Stylist: Varachaya Chetchotiros
- Art Director: Tunlaya Dunnvatanachit
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว วงการดนตรีบ้านเราได้ถือกำเนิดวงที่มีทิศทางแปลกใหม่ไปจากวงอื่น ๆ ในสมัยนั้น ถึงตอนนี้พวกเขาเป็นหนึ่งในผู้เหลือรอดจากวงรุ่นเดียวกัน และยังคงผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นต้นแบบให้วงรุ่นหลังสร้างสรรค์ผลงานออกมาโดยมีพวกเขาเป็นแรงบันดาลใจ
ตอนนี้เราอยู่กับ Desktop Error ในลุคที่แปลกตาด้วยชุดขาวล้วน พวกเขาจะมาเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาตลอด 10 ปีให้เราได้ฟังกัน
คือดนตรีมันเปลี่ยนไปแล้วล่ะฮะ ยุคก่อนมันคือลัทธิ เหมือนเป็นพระเจ้า แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นเฟอร์นิเจอร์อะ ของที่ตื่นมาก็หยิบใช้ หยิบมาฟัง
click START
10 ปีที่ผ่านมาเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรของวงบ้าง
เล็ก: แก่ขึ้น เหนื่อยง่าย เหี่ยว ระบบเผาผลาญแย่
เอาที่ไม่ใช่กายภาพสิ
เล็ก: เมื่อ 10 ปีก่อนตอนเราเรียนมหาวิทยาลัยมันยังไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเยอะ พอมาถึงปีนี้ มันต้องรับผิดชอบทั้งตัวเอง ครอบครัว คนอื่น ๆ ด้วย ตามวัย ตามภาระหน้าที่ ส่วนวงเรา 10 ปี ความรู้สึกมันก็แป๊บเดียว เราก็ยังกระหายที่จะเล่นดนตรีอยู่เรื่อย ๆ
อ๊อฟ: แค่ 10 ขวบมันก็ยังเด็กอยู่นะ เราเคยคุยกับวงญี่ปุ่นที่ชื่อ sgt. ว่าวงเราจะครบ 10 ปีเร็ว ๆ นี้ เขาก็บอกว่า โอ๊ย ยังอยู่กันอีกนาน เพราะเหมือนเขาก็ทำวงมานานแล้วเหมือนกัน
อะไรเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เราอยู่ยงมาจนวันนี้และยังมีคนตามเราอยู่
เล็ก: มันไม่มีเคล็ดลับหรอก ถ้าเรายังมีความสุขกับสิ่งที่ทำ มันก็ยังอยากทำต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีช่วงเบื่อเลยนะ ซึ่งระหว่างที่เบื่อเพลง ทุกคนมีงานส่วนตัวก็ทำเลี้ยงตัวเองไป พอเบื่องานหรือหายเบื่อเพลงแล้วก็กลับมาทำเพราะเรายังชอบมันอยู่ ไม่ใช่เลิกไปเลย ก็เลยยังมีงานเรื่อย ๆ
เบิร์ด: ถ้าเครียด หรือคิดงานไม่ออก หลบมาเล่นดนตรีมันก็ผ่อนคลาย
ตุ้ย: แต่ยังสนุกและตื่นเต้นอยู่ทุกครั้งที่จะขึ้นเล่นนะ
แต่ละอัลบั้มมีคอนเซปต์ไหม
อ๊อฟ: อย่างชุดแรก Instinct มันก็ตามชื่ออัลบั้ม (แปลว่า สัญชาตญาณ) เลยไม่ค่อยมีคอนเซปต์อะไรมาก เหมือนทำเสร็จให้ครบ 6 เพลงก็เลือกมาใส่ในอัลบั้ม จริง ๆ ตอนนั้นเราก็ใหม่มาก ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอัลบั้มต่างจาก EP ยังไง (หัวเราะ)
งานชุดแรกได้อิทธิพลมาจากดนตรี shoegaze ด้วย
อ๊อฟ: เหมือนเป็นช่วงปรับตัวของสื่อที่เราเริ่มหาอะไรฟังง่ายขึ้นกว่าตอนแรก ๆ ที่เป็นเทป ซีดี เราก็ฟังพวก Muse, The Music, Travis, Coldplay, My Bloody Valentine คือทุกวันนี้วงพวกนี้ก็กลายเป็นวงแมสไปแล้ว (หัวเราะ)
เล็ก: จริง ๆ เราก็มีหลายกลิ่นนะ ไม่ได้ shoegaze อย่างเดียว ตอนนั้นฟังก็ Pink Floyd, The Stone Roses, Radiohead เป็นยุค Myspace, hi5, MSN ที่มันจะมีขึ้นท้ายชื่อว่าใครฟังเพลงอะไรอยู่ เราก็จะอ่อยหญิงด้วยการฟังเพลงที่มันเทสต์ดี ๆ (หัวเราะ)
เอาอิทธิพลจากเพลงพวกนี้มาใช้กับงานของเรายังไง
เบิร์ด: พอฟังแล้วชอบก็อยากทำเพลงของตัวเองบ้าง ใน Instinct ช่วงนั้นเราเสพอะไรมันก็จะออกมาเป็นแบบนั้น
อ๊อฟ: เป็นช่วงที่บ้า Pink Floyd กลิ่นของเพลงก็จะออกไปทางนั้น พวกเพลงลึก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ใน EP ก็มี เป็นเพลงที่กลับไปเปิดฟังแล้วแบบ โอ้โห ทำไปได้ มีโซโล่กีตาร์เยอะ ๆ กลองกระเดื่องคู่
ตุ้ย: พยายามแล้วก็ยังเป็น Pink Floyd เกรด C (หัวเราะ)
เล็ก: เมื่อก่อนนี่ชอบ Pink Floyd มาก วง Yes, King Crimson ก็ด้วย แล้วก็พวกที่สัดส่วนเพลงเป็นแบบ progressive ที่ดูยาก ๆ โซโล่เยอะ ๆ อย่าง ท้องฟ้าจำลอง ที่พยายามจะทำ แต่ทำไม่ได้ (หัวเราะ) แต่พอมาชุด Ticket To Home ก็จะเปลี่ยนไป ชุดนี้แหละที่น่าจะเป็น shoegaze เพราะดนตรีจะใช้ความรู้สึกข้างในมากกว่าจะไปหาลูกเล่นใหม่ ๆ แล้วก็เน้นเมโลดี้ร้องให้มันป๊อป เพราะได้คำแนะนำว่า ถ้าอยากให้ถึงคนฟังมากขึ้นก็ควรให้คนจำเนื้อเพลงได้บ้าง แต่ชอบนะ
เบิร์ด: ด้วยอายุด้วย ตอนนั้นเริ่มทำ EP กับอัลบั้มแรก ก็ใช้เวลา 3 ปี เหมือนเรารู้ขั้นตอนมากขึ้น รู้ว่าเวลาอัดต้องมีความละเมียดละไมกับเรื่องพวกนี้มากขึ้น แล้วก็อยากได้อะไรที่มาทางนี้ โทนก็ฟังง่ายขึ้น
ส่วนตัวอยากทำแบบที่มีหรือไม่มีเนื้อเพลง
เล็ก: ถึงแม้ว่าเราจะทำเพลงออกมาในทิศทางที่ถ้าเป็นบรรเลงแล้วจะดีกว่า แต่ได้หมดเลยครับ จริง ๆ มีโปรเจกต์ในใจที่ผมอยากจะทำ Desktop Error เป็นเพลงบรรเลงอัลบั้มนึง ไม่รู้จะได้ทำกันไหม พูดตรง ๆ เวลาผมร้องเพลงมันก็เขินนิดนึง เพราะจริง ๆ แล้วผมก็ไม่ใช่นักร้องโดยธรรมชาติไง แล้วเวลาวงเราทำเพลงกัน มันจะมาจากการแจมดนตรีก่อน แล้วเท่าที่จำได้นะมีเยอะมาก ถ้าเอามาอัดคงได้เป็นร้อย ๆ เลยแหละที่มันเวิร์ก แต่พอใส่เนื้อร้องแล้วมันตาย ก็อยากจะเอาไปไว้ในโปรเจกต์นั้น
เพลงในอัลบั้มเกี่ยวกับชีวิตแต่ละคน
เบิร์ด: มันมีเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่เชื่อมกันจากเพลง Ticket To Homeครับ
เล็ก: คือปี 2009 มันเป็นจังหวะที่ผมกลับบ้าน เพราะแม่ผมทิ้งโจทย์ไว้แล้วว่าถึงเวลาแล้วนะที่ต้องกลับเพราะไม่มีคนช่วยดูแลสานต่อธุรกิจที่บ้าน ก็ได้เป็น Ticket To Home ที่เป็นทางกลับบ้านของเรา
อ๊อฟ: ส่วนผมพี่ชายเสีย พ่อพี่เบิร์ดเสีย แล้วมันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อชีวิตที่ทุกคนเพิ่งเรียนจบ เป็นช่วงที่ทุกคนมีความเหวอว่าจะเอายังไงต่อวะ ตอนอัลบั้มนี้เสร็จออกมาก็สะใจเหมือนกัน คือมันก็ยากนะเพราะต้องไฟต์กับตัวเอง แล้วตรงกับคอนเซปต์ตรงนี้ไปหมด คือนึกถึงบ้านก็อุ่นใจ
เพลงใน Keep Looking At The Window แตกต่างจากชุดก่อน ๆ
เล็ก: อัลบั้มล่าสุดนี้คือเป็นการต่อยอดจากอัลบั้ม 2 แต่ทุกคนโตกันหมดแล้ว มันก็พัฒนากันไปตามสเต็ป ทั้งเนื้อหา ดนตรี หรือการได้คนมาช่วยคิดคำในเพลง เราจริงจังกับการเลือกคำที่ร้องแล้วลงกับดนตรีแต่ต้องมีความหมาย สละสลวย และฟังง่าย ถ้าถามคนอื่นเขาจะชอบ EP หรือ Ticket To Home กัน แต่ผมกลับชอบชุดนี้เพราะมันร้องแล้วป๊อปดี ฟังได้หลายเพลง รื่นที่สุดในสามชุดแล้วล่ะ แต่มันไม่ได้ทิ้งความดิบกร้านของเราไป ยังมีความเป็นเราทุกอัลบั้ม ผมอาจจะพูดได้ว่าอัลบั้มล่าสุดนี้ป๊อปที่สุดที่เราเคยทำมาแล้ว อันต่อไปอาจจะไม่ใช่แบบนี้แล้ว
เบิร์ด: ความป๊อปของแต่ละคนมันพูดยาก คืออาจจะจำกัดความป๊อปไม่เหมือนกัน อันนี้อาจจะไม่ป๊อปสำหรับบางคนก็ได้
คิดเผื่ออัลบั้ม 4 ไว้แล้วหรือยัง
อ๊อฟ: คิดแล้วครับ ทำโครงออกมาแล้วด้วยประมาณ 80%
DE: 80% แล้วเหรอ!!!
อ๊อฟ: อะ ๆ 50% ก็แล้วกัน (หัวเราะ) ต้องลองครับ แต่เราจะไม่พยายามก๊อปเพลงตัวเองไปเรื่อย ๆ
เม้ง: เพราะความคิดของเราเปลี่ยนทุกวัน เกี่ยวปะวะ…
เบิร์ด: เพลงชุดนี้อาจจะกลับไปสู่ความดิบแบบเด็ก ๆ มองย้อนไปเหมือนตอน Instinct ที่เราไม่ต้องกลั่นกรองอะไรมาก แต่ก็จะมีความเป็น Keep Looking At The Window ด้วย
เล็ก: อย่างเพลง ทุกทุกวัน ก็จะเป็นเพลงขายในชุด Ticket To Home ส่วน Keep Looking At The Window ก็จะเป็นเพลง ควันจางลา ทั้งสองมันคือการต่อยอดมาในรูปแบบเดียวกัน แต่อันต่อไปคงจะไม่เหมือนสองอันนั้นแล้ว จะได้ฟังปีนี้แหละ 3 ปีพอดีแต่ละอัลบั้ม 2009, 2011, 2013, 2016
START > RUN
ว่ากันว่าวงเดิมเล่นซ้ำหลาย ๆ โชว์ก็เบื่อแล้ว แต่ Desktop Error ไม่ใช่แบบนั้น
เล็ก: จริงหรอ (หัวเราะ)
อ๊อฟ: ส่วนใหญ่คนที่เคยดูเราเล่นสดจะมาซื้อแผ่นทีหลัง ถ้าคนที่เคยซื้อแผ่นเราไปก่อนแล้วมาดูสดจะไม่ชอบ เพราะจุดขายของ Desktop Errorคือการเล่นสดครับ มันทำให้เรามายืนในจุดนี้ได้ ชุดแรกเรามีกันแค่ 4 – 5 เพลง ก็ไปเล่นให้พี่โคอิชิ (โคอิชิ ชิมิสึ ผู้ก่อตั้งค่าย SO::ON Dry Flower) ดูที่ About Cafe พี่โคเขาก็ให้เราทำเดโม่มาเลย ไลฟ์มันคือเสน่ห์ เราใส่ใจกับการเล่นสดเพราะการที่เราเล่นเพลงเดิมมันไม่มีทางเหมือนเดิมทุกครั้ง
ตุ้ย: อย่างการทำเพลงเราก็จะต่อยอดกันตอนแจม จะได้ซาวด์ใหม่ ๆ ตลอด ยิ่งเล่นสดก็ไม่ได้ตีกรอบเลย
เบิร์ด: เราคิดลิสต์เพลงสำหรับโชว์แต่ละโชว์มาแล้ว
เล็ก: จริง ๆ ตอนนี้อยู่ในช่วงที่เรากำลังจะพักรับงานเพื่อทำอัลบั้มเพราะอยากเล่นเพลงใหม่กันแล้ว บางทีเล่น ทุกๆ วัน ทุกงาน มันก็เขินตัวเองเหมือนกันนะ
เม้ง: คล้าย ๆ Radiohead ที่จะต้องเล่น Creep ตลอด
อ๊อฟ: แต่เวลาที่ได้ดู Creep ที่ Radiohead เล่นจริง ๆ ก็น้ำตาแทบไหล (หัวเราะ) มันคลาสสิกอะ ล่าสุดนี่เขาก็กลับมาเล่นแล้ว การได้ยินเสียงกีตาร์ แอ่ด ๆ มันขนลุกเพราะเม็ดนี้คือลายเซ็น คนดูก็ทำท่า ทำเสียง แอ่ด ๆ ตามกันหมด มัน signature มาก ๆ บรรยากาศแม่งได้
ตอนคนขออังกอร์ คิดมาก่อนไหมว่าจะเล่นเพลงอะไร
เล็ก: เมื่อก่อนจะเป็นการบอกให้เพื่อนเอาเพื่อนไปอยู่หน้าเวทีแล้วตะโกนขอเพลง แต่โชว์เล็ก ๆ ไม่ค่อยมีเตี๊ยมหรอก ส่วนใหญ่คนจะขอเพลงที่เราไม่ค่อยได้เล่น อย่างน้อย ท้องฟ้าจำลอง แต่มีหนนึงที่ขอเพลงแล้วเราไม่ได้เล่น เขาเมสเสจมาดุในเพจวงว่า ทำไมไม่เล่นเพลง อย่างน้อย ! เรามีแฟนเพลงหลายแบบครับ ฮาร์ดคอร์ก็มี
อ๊อฟ: กูเข้าใจแล้วว่าทำไมวงดนตรีต้องมีการ์ด (หัวเราะ) ส่วนใหญ่แฟนเพลงวงเราเป็นผู้ชายครับ เราเห็นสายตาตอนเขาเข้ามาถามว่า ทำไมพี่ไม่เล่น ผมมาไกลมาก แบบ อุ่ย… บางงานคนก็ตะโกนไปเถอะ ซ้อมมาแค่นี้ ขอโทษด้วย แต่จริง ๆ เราไม่ค่อยชอบให้คนตะโกนขึ้นมานะ เพราะมันจะไปกวนคนอื่นเขาหรือเปล่า
ตุ้ย: บางทีก็จะมีคนตะโกนเพลง เช้า ทั้งที่ไม่ได้มีในอัลบั้ม ปล่อยใน YouTube เพลง ขอ ก็มี ถ้าเวลาเหลือก็จะเล่นให้
มีงานที่เล่นแล้วไม่สนุกเลยไหม
อ๊อฟ: จริง ๆ ก็เยอะนะ แต่ไม่สนุกในแง่ของผู้จัดไม่มีความเอาใจใส่ เราไม่ได้ต้องการให้เขาให้เกียรติเรามาก แต่พื้นฐานของสิ่งที่นักดนตรีควรจะมีก็ควรจะเตรียมให้ เวลาเราไปเล่นงานใหญ่จะมีวงดัง ๆ เยอะ Desktop Error ก็วงอินดี้แหละ ยิ่งช่วงแรก ๆ ที่เรายังไม่มีชื่อประมาณนึงนี่ โอ๊ยยย โดนเยอะมากครับ ซาวด์เช็ก 5 นาที ขึ้นไปเสียบแจ๊กปุ๊บโดนไล่ลง มันไร้ประโยชน์อะ หรือถ้ากีตาร์ดับ ซาวด์ไม่ออก ต้องขอเทคนิเชียนมาช่วย แต่พอเจอเขาทำหน้าก็แบบ เออ ๆ กูทำกันเองก็ได้ มันมีความน่าหงุดหงิดเยอะ แล้วปัญหาเทคนิกพวกนี้เวลาภาพมันออกมาส่วนใหญ่จะเสียที่วงน่ะครับ
เล็ก: มีงานนึงที่เรารับเล่น เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครคือเจ้าของงาน ตอนเราไปถึงมันเป็นความว่างเปล่า เจอคนเดินกวาดอะไรอยู่เราก็บอกว่าผมมาซาวด์เช็กครับต้อง เขาก็ชี้ไปว่าเวทีอยู่นู่นครับ (หัวเราะ) คนจัดก็ไม่ได้เดินมาถามว่าจะเอาอะไรไหม น้ำเปล่าไหม วงการเพลงอินดี้มันก็เศร้าอยู่แล้วอะ เรื่องเงินไม่ต้องเยอะแต่ขอให้ความสำคัญกับศิลปินที่มาเล่นให้บ้าง หรือเวลามีงานแมส ในความคิดผมนะ มีหลายงานที่พวกผู้จัดก็จะคิดว่า มีวงอินดี้หน่อยดิเว้ย แค่อยากให้งานมีความหลากหลายไม่ได้อยากให้เราไปเล่นขนาดนั้น เวลาเราจะขออะไร คนจัดงานก็จะมีอารมณ์ประมาณว่า พวกมึงเป็นใคร มาขออะไรเยอะแยะ วงเราก็ถือว่าไปไฝว้มาประมาณนึงนะ 10 ปีนี่เจอมาทุกรูปแบบ
ตุ้ย: พวกเราเจอมาเยอะจริง งานใหญ่เนี่ย บางวงมาไกลมาก ได้เล่นแค่ 3 เพลง (หัวเราะ)
เม้ง: ตอนที่เราไปทัวร์ที่นั่นที่นี่ หรือไปต่างประเทศ คนจัดใส่ใจเรามากกว่ามาก ๆ เลย
ทำยังไงถึงจะได้ไปเล่นต่างประเทศ
เล็ก: ถ้าสมัยก่อนก็ต้องมีคนพาไปแหละ หรือถ้ามีคนญี่ปุ่นมาเห็นเราเล่นก็ชวนไป แต่เดี๋ยวนี้ง่ายมาก คุณแค่มีคอนเนกชัน หรือมีเพลงที่เอาไปโชว์ได้ประมาณนึงก็ไปเองก็ได้
อ๊อฟ: ตอนไปญี่ปุ่นเราก็น่าจะเป็นวงอินดี้ไทยวงแรก ๆ ที่ไป เหมือนมันเป็นช่วงที่เพิ่งปล่อยให้เข้าประเทศได้ 15 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า เราก็จัดเลย ช่วงนั้นคนญี่ปุ่นเขาถึงเอนจอยกับคนไทยที่ไปแรก ๆ เขาไนซ์กับเรามาก พอรู้ว่าเป็นคนไทยนี่เข้ามาคุยเลย ถามทางนี่แทบจะเดินไปส่ง หลัง ๆ คงเริ่มอี๋คนไทยแล้วเพราะคงไปสร้างชื่อเสียประมาณนึง (หัวเราะ)
คนดูตอนนั้นเป็นใครบ้าง
เม้ง: ส่วนใหญ่ก็คนญี่ปุ่นแหละครับ เป็นคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แค่ดูเราจาก YouTube ถึงตามมาก็มี แล้วก็มีนักเรียนแลกเปลี่ยนจากไทยตามไปดูเราทุกที่เลย
ตุ้ย: เท่าที่คุยกับคนญี่ปุ่นที่มาดูเรานะ เหมือนพอเขารู้ว่าจะมีโชว์อะไร เขาก็ทำการบ้านมาก่อนว่ามีวงอะไรบ้าง แล้วก็ฟังเพลงมาก่อน
ประทับใจอะไรที่นู่นบ้าง
เล็ก: ไลฟ์เฮาส์ที่นั่นไม่ใหญ่นะ 50 คน 100 คน แต่เขาตั้งใจจัด ใส่ใจคนดู อย่างงานนึงจะเลิกไวเพราะต้องการให้คนดูกลับทันก่อนที่รถไฟฟ้าจะหมด แล้วก็ใส่ใจศิลปินนะ ตั้งแต่ที่เราก้าวเข้าไปเขาจะให้กระดาษไรเดอร์ให้เราวาดว่าเครื่องดนตรีจะวางตรงไหนบ้าง ซึ่งบนเวทีตอนนั้นจะไม่มีอะไรเลย แล้วใช้เวลาเซ็ตอัพแค่ 15 นาทีต่อวง พออีกวงจะขึ้น เขาจะเคลียร์ของพวกนั้นออกหมด ทำเป็นระเบียบมาก
ตุ้ย: ใช้คนแค่ 3 คน คนออกแรงไปเลยคนนึง คนมิกซ์เสียงอีกคน ต่อสายอีกคน มันก็ประหยัดเวลาตรงนี้ไป แต่เขาลงทุน ใช้แต่ของดี เสียงที่ออกมาดีมาก วงที่ได้ไปเล่นที่ญี่ปุ่นนี่น่าอิจฉามาก
อ๊อฟ: เรื่องการจัดการของเขาสุดยอดมาก เวลาเป๊ะมาก ๆ แทบไม่ต้องมีสเตจขึ้นมาแก้ปัญหา ค่านิยมคนดูของเขาก็ดีมาก ๆ คือคนดูจะมาก่อนวงขึ้น ของบ้านเราจะเป็นแบบ ให้วงนั้นเล่นจบก่อนค่อยไป ความคิดแรกในการดูคอนเสิร์ตก็ต่างกันแล้ว
เม้ง: เขาตั้งใจดูมาก ยืนดูจนจบ ถ้าไม่จบทั้งเพลงจะไม่ปรบมือ
อ๊อฟ: แล้วมีอีกที ตอนนั้นไปเล่นงาน One Music Camp ชอบที่คนดูเขาร้อง เฮ่ เฮ่ (ทำท่าชูมือประกอบ) พอทำพร้อมกันแล้วน่ารักดี ที่พีกสุดคือคนใส่กางเกงว่ายน้ำกับแว่นตากันน้ำมายืนดู (หัวเราะ)
เม้ง: คนอุ้มลูกไปดูเยอะมาก งานเหมือน Stone Free บ้านเราอะ มีตั้งแคมป์กัน มีถุงดำเหน็บที่ตัวไว้เก็บขยะ แล้วพอทุกอย่างจบก็เคลียร์ขยะกัน
เล็ก: เป็นเฟสติวัลที่ควรไปมาก จัดที่โอซาก้า 2 คืน เหมือนเป็นเทศกาลดนตรีแนว ๆ ของเขา แล้วที่มันโคตรได้ คือโซนกางเต็นท์มันเป็นต้นไม้สูงแบบ โอ้โห เหยดแม่ ! สูงงงง สัส อะ ก็เกิดความร่มรื่น มีกางเต็นท์ ปิ้งย่าง แล้วฝนตก มันสุดยอดมาก เหมาะกับการไปเที่ยวโดยที่คุณไม่ต้องสนดนตรีก็ได้ เหมือนไปเปลี่ยนที่นอน ฟินมาก ฟัง 3 ชั่วโมงก็คุ้มแล้ว แล้วเราเป็นคนไทยกลุ่มเดียวในนั้น ในงานมีอาหารขายด้วยแบบดูมีดีไซน์ มีของทำมือขาย แล้วเด็ดสุดคือมีออนเซ็น เราถือแค่ไฟฉายเดินจะไปแช่อย่างไกลอะ ก่อนจะไปถึงห้องอาบน้ำก็จะเดินผ่านบ้านเก่า คนก็ออกมาเล่นอะไรกันดึก ๆ สนุก ๆ น่าไปครับ ปีนี้จัดเดือนสิงหาคม เหมือนมีวงจากเชียงใหม่ค่าย Summer Disc ได้ไปเล่นงานเดียวกับเรา
ตุ้ย: แล้วก็ชอบที่มีคนญี่ปุ่นคนนึงสักว่า ‘ไม่เป็นไร’ ที่แขน
เล็ก: ไม่ได้ประชดประชันด้วยนะ เหมือนเขาศึกษามาก่อนว่าคนไทยชอบพูดว่า ‘ไม่เป็นไร’ ความหมายมันก็ดี เขาเลยสักเป็นภาษาไทยที่แขนเลย โคตรได้อะ แล้วมีแก๊งนึงที่เขามาถ่ายรูปกับ Desktop Error พอซูมเข้าไปก็เห็นว่ามันไม่ใส่กางเกง (หัวเราะ) เป็นแก๊งป่วนเหมือนหลุดออกมาจากการ์ตูน เมาตลอดเวลา
อ๊อฟ: ใครว่าคนญี่ปุ่นไม่ขโมยวะ รองเท้ากูหาย (หัวเราะ)
เราไม่ได้ต้องการให้เขาให้เกียรติเรามาก แต่พื้นฐานของสิ่งที่นักดนตรีควรจะมีก็ควรจะเตรียมให้
Ctrl-H
เมื่อไม่นานมานี้มีสารคดีของ Desktop Error เกิดขึ้นมาด้วย
เล็ก: พี่ปิ๊ก องอาจ เป็นคนทำครับ เขาเหมือนเป็นพี่ชาย Desktop Errorเป็นพี่ใหญ่ ให้คำปรึกษา อยู่กับพวกเราแทบทุกที่ มาช่วยเราแต่งเพลงด้วย ให้เทียบง่าย ๆ ก็เหมือนเป็นครีเอทีฟแหละครับ ซึ่งพี่ปิ๊กก็จะมาช่วยเรื่องภาพ วิดีโอ ตัดต่อ เขาเก่งตรงนี้ เป็นนักคิด นักวางแผน ถ้าไปสายเซลส์นี่เขาขายได้แน่นอน วาดฝันได้ใหญ่มาก บอกจะทำสารคดีออกมา 5 ตอน แล้วก็ตามด้วยคอนเสิร์ตใหญ่ อะไรแบบนั้น
ตุ้ย: จริง ๆ ทำไว้นานแล้วนะ ใช้เวลาปีกว่า ๆ แล้วจะเอาไปลงช่องนึง แต่เกิดเหตุขัดข้อง เขาก็เลยว่าจะทำเป็น special ให้เราในวาระครบ 10 ปีไปเลยละกัน
อ๊อฟ: ส่วนคอนเสิร์ตน่าจะมีปลายปีครับ อาจจะมีเพลงใน EP album ด้วย งานนี้คงเล่นไม่ต่ำกว่า 30 เพลง คนจะยืนดูกี่ชั่วโมงวะ (หัวเราะ) เดี๋ยวว่ากันครับ
คิดยังไงกับที่คนบอกว่าเราเป็นวงแนวหน้าของสายลอยเช่นเดียวกับ Goose, อัศจรรย์จักรวาล
อ๊อฟ: คือตอนนั้น post-rock กำลังมา แล้วก็มี Goose มาเป็นวงแรก ๆ เลยที่คนสมัยนั้นเรียกว่าเป็น post-rock
เล็ก: 10 ปีนั้นตอนที่มี Goose, อัศจรรย์จักรวาล, Desktop Error ที่อยู่ค่ายเดียวกัน หรืออะไรทั้งหลายทั้งปวงที่ออกมาจากค่ายนี้ คนจะเหมาว่าเป็นแบบนั้นหมดเพราะแค่เป็นของแปลกอะ (หัวเราะ) จริง ๆ ในความคิดผมนะ post-rock ในสมัยนั้นมันไม่ใช่ post-rock คือถ้าคนเห็นอะไรที่มันมีความ shoegaze หรือการใช้อินเนอร์จากข้างในเขาจะพูดละว่านี่คือวงโพสต์! ตอนนั้นคนอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ตอนนี้เชื่อเถอะ มันไม่มีใครมองว่า Desktop Error คือ post-rock แล้ว ผมว่าตอนนี้วงที่ post-rock จริง ๆ คือ Inspirative แต่เราเนี่ย ไม่ใช่แน่นอน
เม้ง: มันเป็นเพราะเพลงนึงของเราออกมาในทิศทางนั้นอย่างเพลง Mind
อ๊อฟ: เอาจริงผมว่าบ้านเรามีความงงเรื่องแนวเพลงสูง (หัวเราะ) คือรับอิทธิพลมาแล้วก็เข้าใจไม่ถูก ตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก เอาวะ บอกกูโพสต์ กูโพสต์ก็ได้! หรืออย่างตอนเราฟัง My Bloody Valentine แรก ๆ เนี่ย ความเข้าใจเดิมของเรามันคือ dream pop แต่พอมันมี term ที่อธิบายคำว่า shoegaze ออกมาเราก็เกทว่า อ๋อ นี่คือ shoegaze หรอวะ เพราะการสื่อสาร ข้อมูลต่าง ๆ ยังไม่ทั่วถึงด้วยเลยไม่รู้ หรืออย่างบางทีก็จะมีคนบอกว่า ค่าย SO::ON Dry Flower นี่ต้อง experimental นะ แบบ ไอเชี่ย เท่ว่ะ เพราะแค่มันดูยาก ๆ (หัวเราะ)
เล็ก: อาจารย์โคอิชิจะแซวว่า การจะอยู่ค่ายนี้ได้ต้อง experimental นะ (หัวเราะ) เมื่อก่อนใช้กันเกลื่อนกลาดเลยคำนี้ แต่เอาเข้าจริงทุกวงก็มีการทดลองเหมือนกันนั่นแหละ แตกต่างกันไป ดังนั้น พอมีคนถามว่าเราแนวไหนเราก็จะบอกว่าเราคือ alternative เพราะมันกว้างดี มันคือทางเลือกนึงที่จะเอาหลาย ๆ แนวมาใส่รวมกันได้
Ctrl-F
นอกจากงานเพลงกับงานประจำแล้ว แต่ละคนวางแผนจะทำอะไรในชีวิต
ตุ้ย: พยายามจะเป็นเจ้านายตัวเอง เพื่อจะได้ควบคุมเวลาตัวเองได้และจะได้ทำอย่างอื่นได้ อย่างเปิดร้านนั่นนี่เป็นของตัวเอง ตอนนี้เราทำร้านกระเป๋ามือสอง สปากระเป๋า accessory กระเป๋า ชื่อร้านบุญแจ่ม ที่รามอินทรา กม. 5
เม้ง: เราไปเรียนทำอาหารแล้วเพิ่งจบมา ก็คงเปิดร้านอาหารไทย คือที่ผ่านมามีงานโฆษณาก็ว่าจะเอาเงินที่ได้จากตรงนั้นมาทำ
เบิร์ด: อยากปั่นจักรยานไปที่ไกล ๆ แต่ตอนนี้ก็ยังเป็นแบ็กอัพให้ อรอรีย์, ฮิวโก้ เล่นดนตรีเหมือนเดิมครับ
เล็ก: อยากดูแลแม่ ดูแลครอบครัว ทำงานช่วยที่บ้าน จริง ๆ อยากเป็นโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ เราชอบคิด ชอบสั่ง (หัวเราะ) (อ๊อฟ: ตอนนี้เลยกำกับพวกผมไปก่อนไง)
อ๊อฟ: ตอนนี้เป็นช่วงงงของชีวิตครับ เพราะเพิ่งออกจากงานที่ทำมา 5 ปี เป้าหมายแรกคงทำอัลบั้ม 10 ปีนี่ให้เสร็จ แล้วเดี๋ยวคงจะมีทางไปของเราแหละ
อ๊อฟเพิ่งเจอ ซานดารา ปาร์ค วง 2NE1 เป็นไงบ้าง
อ๊อฟ: คือเราได้ไปอัดเสียงให้เขาทำโฆษณา จริง ๆ เราไม่รู้จักเขาครับ พอได้ยินชื่อเสียงมาก็เลยไปถ่ายรูปไว้ก่อนดีกว่า
แล้วที่ผ่านมาเห็นอ๊อฟตั้งสเตตัสแซวเม้ง
เล็ก: เป็นคู่จิ้นกันครับ ผมจะเป็นคนกำกับอีกทีนึง หลังคอนเสิร์ตเดี๋ยวผมจะปล่อยคลิปของสองคนนี้ที่ผมถ่ายไว้ 5 – 6 ปีที่ผ่านมา มีประมาณ 7 – 8 ตัว เป็นคลิปสั้น ๆ ที่เขาเล่นกัน รอติดตามละกันครับ
เม้งเล่นโฆษณามากี่ตัวแล้ว
เม้ง: เกิน 20 แล้วมั้ง (DE: โหหหห) ส่วนมากก็เป็นไวรัลบ้าง อะไรบ้าง ล่าสุดงานนักศึกษา
เล็ก: เฮ้ย อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา
เม้ง: ใช่ ใช้โอกาสรับไปเรื่อย ๆ อนาคตไม่แน่นอน นี่ก็เพิ่งไปเรียนแอคติ้งมา เขาให้ไปเรียน เพราะล่าสุดไปแคสต์หนัง อันนี้อยากเล่นนะแต่ผู้กำกับเขาเลือกอยู่ กิมมิกมันได้มาก ให้เล่นคู่กับพี่เผือก (พงศธร จงวิลาส) เป็นเด็กเสิร์ฟให้ไปกวนตีนพี่เขาเพราะหน้าเหมือนกัน
คนอื่นไม่น้อยใจหรอที่เม้งไม่ชวนไปเล่นบ้าง
เม้ง: มี ๆๆ มีคนไปเล่นบ้าง ล่าสุดเบิร์ดไปเล่นให้พี่ตั้ม (ธนกร พงษ์สุวรรณ) ผู้กำกับเรื่อง ‘Fake โกหกทั้งเพ’ เล่นเป็นแฟนเก่านางเอก (DE: เย้ดดดดดด)
เล็ก: พระเอกคืออนันดา! (หัวเราะ) แต่ไอนี่เป็นแฟนเก่านางเอก!!!
อ๊อฟ: อนันดานี่มีวงโคจรกับพวกเราเยอะนะ เคยเล่นเป็นตัวประกอบ แล้วก็ได้ไปอัดเสียงที่ห้องพี่อนันดา ขึ้นไปถึงห้องเขาเลยนะเว้ย แล้วตอนนั้นก็มีอีกเรื่องที่ไปแคสต์กันหมด เรื่อง ‘หลง’ ผมได้เล่นกับ เจสัน ยัง คนนี้นี่เคยเป็นแฟนกับญาติผมตอนผมเด็ก ๆ
เล็ก: แล้วได้ถามเขาไหมเรื่องพี่สาว
อ๊อฟ: ไม่ได้ถาม แต่พี่ผมเอาเทป ตะโกนบอกฟ้า มีเขียนเป็นรูปหัวใจ เอามาให้ผมดูว่า เนี่ย คนนั้นเขาให้ เวลาเจอหน้าเขาก็จะ อ๋อ… (หัวเราะ) คือถ้าตอนเด็ก ๆ เพื่อนให้ไปช่วยเล่นหนังสั้นให้หน่อย เราจะเขิน พอจบมาแล้วก็ลองหน่อยวะเป็นประสบการณ์ชีวิต แต่ถามว่าชอบมั้ยก็คงไม่ได้ชอบขนาดนั้น ในเรื่องมีโอ๊ก Into the Air ด้วยนะครับ (หัวเราะ)
เม้ง: ส่วนผมไปเล่นเป็นคนขับแท็กซี่ ไอ้นี่เล่นเป็นพระเอก ฉายทางทรูวิชันส์
กลับมาที่เบิร์ด ทำไมศิลปินหลาย ๆ คนถึงไว้วางใจให้เบิร์ดเล่นแบ็กอัพให้เขา
เบิร์ด: ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ (หัวเราะ) เพราะเล่นดนตรีอยู่ตลอดมั้งครับ
เล็ก: ถ้าคนนอกมองเราว่า ฝีมือ ความขยัน พอเขาเอาไปเล่นก็รู้สึกว่า โอ้ คิดถูกแล้ว พี่ขอขโมยจาก Desktop Error เลยได้ไหม
สมมติว่าวันนึงสมาชิกไม่ครบ 5 คน จะยังเป็น Desktop Error อยู่ไหม
เล็ก: ถ้าสมาชิกคนนึงออก ก็คงจะไม่ใช่ Desktop Error อาจจะเปลี่ยนชื่อวง แต่ถ้ามีคนตายก็คงยังเป็น Desktop Error เหมือนเดิม
ถ้า Desktop Error เป็นหนัง จะเป็นหนังแนวไหน ใครเป็นคนกำกับ
DE: Quentin Tarantino!
เม้ง: เอาที่ หม่ำ จ๊กม๊ก กำกับก็ได้นะ
เล็ก: อันนี้ดีกว่า ป๋าเทพ ‘ดึกดำดึ๋ย’
อ๊อฟ: เป็นหนังที่จับต้องอะไรไม่ได้เลย (หัวเราะ) นึกถึงพวกหนังโจวซิงฉือที่ไปเรื่อย ๆ ไม่มีแก่นสารอะ จริง ๆ เขาเป็นคนเก่งนะ ตอนนี้รวยแล้วทำธุรกิจ ขนมเปี๊ยะเขาอร่อยด้วย ตอนนั้นไปเล่นที่นึงแล้วเจอป๋าเทพก็ขอถ่ายรูปกันโดยไม่มีนักร้อง จนป๋าบอกว่าเร็ว ๆ สิไอสัส (หัวเราะ) ชอบโดนผู้ใหญ่อย่างนี้ด่า สะใจดี
START > All Programs > Accessories > System Tools > Disk Defragmenter
อยากเห็นอะไรในวงการเพลงไทย
เล็ก: อยากเห็นวงอย่าง Desktop Error เยอะ ๆ แบบ อยู่ยาวนาน วงนอกวงเล็ก ๆ ที่ทำไปเรื่อย ๆ แล้วยังอยู่ก็เยอะ ในอเมริกา ญี่ปุ่น คงมีเป็นพัน แล้วเขาก็ทัวร์จริงจัง บางคนอยู่มา 20 ปีไม่ดังก็ยังอยู่
อ๊อฟ: ไม่อยากให้วงดี ๆ แตกกันมากไปกว่านี้แล้ว อย่างวงที่ออกมาพร้อม ๆ กับเรา ก็เหลือเรากับ Slur เนี่ยแหละสองวง Morning Surfers, Soundlanding ไปหมดแล้ว อยากให้ความเป็นวงมันเป็นวง คนดูมันดูออกนะว่าวงไหนเป็นวงที่แบ๊กอัพกัน กับวงไหนที่มาด้วยกัน เวลาเล่นสด ความมัน ความเข้ากันมันต่าง
เบิร์ด: แต่ตอนนี้ก็เริ่มเห็นวงไทยดี ๆ ที่ดูจะอยู่ได้นาน ๆ มาเยอะแล้วเหมือนกันนะ อย่าง Solitude is Bliss
BrandNew Sunset บอกว่า Desktop Error เก่งนะที่สามารถเป็นมาตรฐานของเด็กรุ่นหลังได้
DE: โห ขอบคุณมากครับ
เม้ง: เราชอบดูเขาเล่นสดด้วยนะ
เล็ก: สายนั้นวงที่อยู่ยาวนานก็มีนะ อย่าง กล้วยไทย อะ นับถือเขามาก สุดยอด มีพี่ที่เขาอยู่เบื้องหลังวงคาวบอย เจ็บจุงเบย ไปช่วยแต่งเนื้อร้อง อย่าง The Ginkz เนี่ยวงดี ยังอยู่กันถึงตอนนี้ก็ไม่อยากให้หายไป หรือวง Smallroom ยุค 10 ปีที่แล้วก็เหลือน้อยมากแล้ว
เบิร์ด: แต่ Slur เนี่ย เขาปรับตัวได้ตามยุคสมัยดีมาก เรายอมรับเขาเลย
วงหน้าใหม่วงไหนที่น่าสนใจ
เล็ก: เยนา, Solitude is Bliss, Summer Dress, Electric Neon Lamp
อ๊อฟ: ENL มันใหม่ยังไงวะ
เล็ก: เออ จะ 10 ปีแล้วมั้ง (หัวเราะ)
เบิร์ด: Part Time Musicians จริง ๆ มีหลายวงมากแต่จำชื่อไม่ได้
อ๊อฟ: ไปส่งกู บขส. ดู๊ วงนี้ก็ดี (หัวเราะ)
เม้ง: DADa’ หายไปไหนแล้ววะ ดีนะ
ตุ้ย: ภูมิจิต ก็ยังทำเพลงกันอยู่เรื่อย ๆ นี่เรามาหลังเขานะ แต่ก็อยากพูดถึง
วัฒนธรรมดนตรียุคก่อนหน้ากับยุคนี้ต่างกันยังไง
เม้ง: คนสมัยนั้นมันกระหายกันอะ
ตุ้ย: เมื่อก่อนกว่าจะหาฟังได้ต้องรอเขาเอาเข้ามา พอได้มาก็ โอ้โห ของมีค่ากูมาแล้ว กูจะใส่เทปฟังก็ เอาละเว้ยยยย เดี๋ยวนี้ตื่นมาก็กดโทรศัพท์เข้า YouTube แล้ว
เล็ก: คงเป็นเพราะว่าเดี๋ยวนี้มันหาง่ายขึ้น แค่จะทำเพลงยังทำที่ห้องได้เลย สมัยก่อนวงออกมาปุ๊บก็ดังไวเพราะมีไม่เยอะ ฮิตกันทั่วประเทศได้เพราะมันโฟกัสไปที่วงเดียว คนยังเล่นดนตรีกันน้อยอยู่เลย ตอนมัธยมวงเล่นกีฬาสีมีปีละวง แต่สมัยนี้เชื่อเหอะ แย่งกันขึ้นเวที
อ๊อฟ: คือดนตรีมันเปลี่ยนไปแล้วล่ะฮะ ยุคก่อนมันคือลัทธิ เหมือนเป็นพระเจ้า แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นเฟอร์นิเจอร์อะ ของที่ตื่นมาก็หยิบใช้ หยิบมาฟัง มันจะไม่มีการคลั่งแบบนั้นอีกแล้ว ไม่ใช่ไม่ดีนะ มันก็ต่างกันไปตามยุคสมัย จะเปลี่ยนยังไงคงเปลี่ยนไม่ได้ฮะ แต่ก็แล้วแต่เคสนะ ส่วนเรื่องคนทำเพลงเราชอบยุคนี้มากกว่าที่ค่านิยมการทำเพลงเองมันก็เยอะขึ้น เด็กเรียนดนตรีทุกคนอยากทำเพลงเพื่อมาเป็นศิลปิน ลดการคัฟเวอร์ ซึ่งมันก็ดีที่มันไม่จำเจ มันควรจะเป็นอย่างนี้แต่แรก เพราะความจริงคนเรียนดนตรีพื้นฐานเขาแน่นไง ถ้าเอามาใช้กับอัลบั้มได้มันมีผลดีต่อวงการมาก สมัยก่อนคนเรียนดนตรีเพื่อที่จะไปเป็นแบ็กอัพ ส่วนเราอยากเรียนมากแต่ไม่มีตังค์เรียน ฝีมือไม่ถึง ก็สายมวยวัดไปดิ (หัวเราะ) Desktop Error อะสายมวยวัด ก็หัดเล่นตาม YouTube ไป บางทีไม่รู้ว่าต้องตั้งสายให้ตรงก่อน เราก็เล่นแต๊ว ๆ ตามคลิป แกะแบบนั้นไปดิ อ้อมอยู่นั่นอะ จับคนละคีย์กับของจริงก็ไปกันใหญ่ แต่สุดท้ายก็เล่นออกมาได้นะ มีความพยายาม (หัวเราะ)
เบิร์ด: แต่สายมวยวัดก็พามาไกลนะ เพราะไม่ได้เล่นคนเดียว มีกัน 5 คน
ตุ้ย: ยุคแกะจากเทปก็กดกรอ ๆ ลูกนี้ยังไม่ได้ก็กรอกลับไปฟัง แล้วต้องเอาเทปไปใส่ช่องฟรีซ (หัวเราะ)
เล็ก: เบสนี่ต้องเทียบสายกับ Come As You Are (หัวเราะ) เพลงนี้เอาไว้ตั้งสายโดยเฉพาะ บุษบา อีกเพลง ลืมไปเลยว่ามันมีที่ตั้งสาย
เบิร์ด: เด็กยุคนี้ดีที่มันมีวิชาเรียนดนตรี เบส กีตาร์ โดยเฉพาะ มันสุดยอดเลยนะ เด็กเดี๋ยวนี้ตีคอร์ด C ได้ทุกคน ไป
เล็ก: อีก 10 ปีการเล่นกีตาร์คงเป็นเบสิกของทุกคน เหมือนภาษาอังกฤษที่ทุกคนพูดได้ คงจะได้มาแข่งกันเรื่องไอเดียการเขียนเพลงเนี่ยแหละ
ถ้ามีความสุขตอนเริ่มทำดนตรี ก็ควรจำความรู้สึกนั้นไว้ มันจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ
ฝากถึงนักดนตรีรุ่นใหม่
เล็ก: ถ้ามีความสุขตอนเริ่มทำดนตรี ก็ควรจำความรู้สึกนั้นไว้ มันจะได้อยู่กับเราไปนาน ๆ แล้วก็ช่วย ๆ กันเถอะ ไม่ว่าทางไหนก็ทางนึง คอนเสิร์ตก็ช่วย ๆ กันมา ฟังใจก็เป็นองค์กรนึงที่มีพื้นที่ให้วงดนตรีนอกกระแสอะนะ ถ้าคนฟังช่วยกันทั้งหมดมันก็ช่วยในทางอื่น ๆ ด้วย วงก็อยากทำเพลงต่อ พอคนทำเพลงมากขึ้น คนจัดงานก็จะเยอะขึ้น มีเพลงให้ฟังมากขึ้น อยากให้มีตารางงานไลฟ์เฮาส์แบบที่ญี่ปุ่นอย่างนั้นเลย มีอยู่แทบทุกวัน ทั้งเดือน แต่บางทีมันจะไม่ใช่ทั้งวงเล่นนะ อย่างสมาชิกสองคนนี้เล่นวันนี้ อีกวันเป็นอีกคน แล้ววันต่อไปเป็นเต็มวงก็มี บางทีก็มีวงบุ๊กกันข้ามเดือนเลย คือวงไหนอยากเล่นก็ไปจ่ายตังค์พวกค่าน้ำค่าไฟของร้าน แล้วจะหารเฉลี่ยจากค่าบัตรมาให้วง เขาพยายามทำออกไปเยอะ ๆ ศิลปินอยู่ได้ ร้านอยู่ได้ คนดูก็ได้ดู มันแฟร์ ๆ แต่พูดถึงวิธีสังสรรค์ของเรากับเขามันก็ต่างกันแล้ว คือมันก็ไม่ผิดหรอกถ้าคนไทยมานั่งกินเหล้าคุยกัน เราเน้นสังสรรค์กันส่วนใหญ่ แต่ลองเปลี่ยนเป็นการไปตามดูว่าวันนี้มีเบิร์ดเล่นโซโล่คนเดียว ที่นี้ ๆ งานนั้นงานนี้น่าไป หรือตั้งใจมาฟังเพลง อะไรแบบนี้ มันจะดี
อ๊อฟ: นิสัยไม่ดีอย่างนึงเลยคือไม่ชอบฟังสิ่งที่ผิดแปลกไปจากที่ตัวเองเคยฟัง จะเริ่มตั้งกำแพงทันที มันเลยไม่ได้เปิดรับอะไรใหม่ ๆ แต่ตอนนี้หลายคนที่เสพก็เริ่มเปลี่ยนนิสัยแล้วนะ คนชอบดนตรีสด อยากมาดูเพลงใหม่ ๆ เป็นค่านิยมที่ดีครับ คนจะได้กล้าจัดงานเยอะขึ้น แต่ที่ไหนที่จัดแล้วดูส่วนตัวมากไปคนจะไม่ค่อยกล้าเข้า เพราะนิสัยคนบ้านเราไม่ค่อยสุงสิงกับคนที่ไม่รู้จัก
เม้ง: จริง ๆ มันก็มีหลายร้านนะที่เป็นที่จัดงานใหม่ ๆ เยอะ ไปลองพวกร้านติดรถไฟฟ้าไรงี้ก็ได้ เดือนนึงแทบจะมีทุกวันศุกร์ เสาร์ เมื่อก่อนจำได้ว่าอยากไปดูงานที่ร้าน Saxophone อนุสาวรีย์ ฯ หัวเกรียน นั่งรถเมล์จะมาดู จะยืนถือถุงกางเกงขาสั้นไปรอหน้าร้าน แต่ก็เข้าไม่ได้ แบบ พี่ขอโค้กซักขวดนึงก็ยังดี ขาย 90 ก็เอา (หัวเราะ) Jazz Happens ตรงพระอาทิตย์ก็น่าไปครับ มี jam session นักดนตรีเก่ง ๆ เยอะ
อ๊อฟ: เด็กศิลปากรทั้งนั้น มีสมาชิกใน Hariguem Zaboy เล่นอยู่ เก่ง ๆ
ฝากถึงแฟนเพลง
อ๊อฟ: ก็ ขอบคุณครับ คนที่ชอบเราก็ชอบอะเนาะ ขอบคุณที่สนับสนุนพวกเราครับ Desktop Error มีคนซัพพอร์ตเยอะมากนะตั้งแต่อัลบั้มแรก มีคนอยากช่วย อยากดันเรื่อย ๆ ก็รู้สึกเกรงใจ ซึ่งหลายคนมากที่ตอนนี้เขาก็โด่งดังกันไปหมดแล้ว พวกทีมแสง สี เสียง ต่าง ๆ ที่เคยช่วยเรา
เล็ก: มีแต่เราเนี่ยยังไม่ดังสักที! (หัวเราะ)
อ๊อฟ: หรืออย่างเวลาพี่เล็กร้องจะต้องมีพี่ตึ๋ง อัศจรรย์จักรวาล คอยไกด์
เล็ก: ไปซะแล้ว… พี่ตึ๋งเนี่ยเป็นคนที่มาเทรนเราทั้ง 3 อัลบั้ม เป็นโค้ชวอยซ์เราอย่างท่อน ก็เลย ต้องออกเสียงแบบ เก๊าะเลยยยยย (ทำเสียงให้ฟัง) แบบ มึงต้องร้องให้ถึงตรงนี้! เขาเป็นอาจารย์เรา เคยให้เราไปเรียนเราก็ไม่ยอมไปจนเขาด่า (หัวเราะ) ก็เราไม่ชอบอะ
เม้ง: ถึงแฟนเพลงใช่มั้ย ขอบคุณมาก ๆ ครับ บางทีมีคนเอาของมาให้นะ แบบ ผมมาจากใต้ แหลงใต้มาเลย เจออะไรน่ารัก ๆ เยอะครับ
เบิร์ด: มีแบบทำน้ำพริกส่งมาจากสารคามด้วยครับ ส่งของมาจากเชียงรายอะไรแบบนี้ ขอบคุณมาก ๆ ครับ
สำหรับใครที่อยากรู้เรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลังชีวิตของพวกเขาเพิ่มเติม สามารถติดตามได้จากสารคดีโดยคุณปิ๊ก องอาจ ที่เราแนบไว้ด้านบน ตอนนี้ปล่อยออกมาให้ได้ดูกัน 4 ตอนแล้ว ระหว่างนี้ก็ซ้อมร้องเพลงของพวกเขาให้แม่น ๆ แล้วเตรียมไปมันกันในคอนเสิร์ตใหญ่ครบรอบ 10 ปี กับอัลบั้มใหม่ที่เรากำลังจะได้ฟังอีกไม่นานนี้
ติดตามผลงานของ Desktop Error ได้ที่ Facebook Fanpage และรับฟังเพลงของพวกเขาบนฟังใจได้ ที่นี่