ไวนิล 101: รวมศัพท์ฉบับคนหัดสะสมแผ่นเสียง อ่านปุ๊บเปย์ได้เลย
- Writer: Malaivee Swangpol
หนึ่งในอุปสรรคของผู้ที่สนใจสิ่งของวินเทจไม่ว่าจะเป็นกล้องฟิล์ม แผ่นเสียง รถ ฯลฯ คือคำศัพท์ที่ใช้เวลานานกว่าจะเข้าใจว่าทุกคนพูดถึงอะไร วันนี้เราเลยขอรวบรวมคำสำคัญ ๆ สำหรับการเริ่มเข้าวงการแผ่นเสียงที่หลาย ๆ คนอาจสับสนหรือไม่รู้ว่าคำนี้แปลว่าอะไร ซึ่งถ้าหากใครมีคำอื่น ๆ ที่นิยมใช้กันก็แนะนำเข้ามาได้นะ
หมายเหตุ: audiophile ที่พูดถึงในบทความ หมายถึงผู้หลงใหลในการฟังเพลงแบบคุณภาพเสียงดีที่สุด (hi-fidelity) โดยพวกเขามักจะฟังเพลงจากแผ่นไวนิล, ซีดีที่เสียงที่ดีมาก ๆ และฟังจากชุดลำโพงที่ให้เสียงที่ดีที่สุด
Colored Vinyl
ไวนิลสีเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมเนื่องด้วยลูกเล่นต่าง ๆ ที่ดึงดูดตาเช่น half/split สองสีแบ่งกันครึ่งครึ่ง opaque สีทึบ smoke สีควันบุหรี่ spin wheel อารมณ์คล้าย ๆ พัดลม สลับสีกัน splatter สีกระจาย striped แท่งสี swirl สีที่หมุนอยู่รอบแผ่น transparent ใส มองทะลุได้ tri Color สามสีตัดกัน แต่อย่างไรก็ดีเสียงจากไวนิลสีที่อาจมีนอยซ์รบกวนบ้างในบางครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของสีและจำนวนสีที่ใช้
Condition
สภาพของแผ่น มักใช้ประกอบการซื้อขาย โดยไล่ตั้งแต่ mint (M) สภาพนิ้ง แบบเดียวกับที่ออกจากโรงงาน near mint (NM หรือ M-) คล้ายอันแรก อาจมีการแกะมาดูแล้ว แต่ทุกอย่างต้องปกติ ไร้ริ้วรอย ผู้ขายบางเจ้าเลือกใช้คำนี้มากกว่า M เพราะเชื่อว่าไม่มีแผ่นเสียงมือสองแผ่นไหนเพอร์เฟกต์ very good plus (VG+) มีรอยการเล่น มีรอยขนแมวตามปกแผ่นเสียงนิดเดียว แต่ไม่กระทบการฟังเพลง very good (VG) มีเสียงนอยซ์โผล่มารบกวนระหว่างแทร็คแต่ไม่ถึงกับรำคาญ มีรอยบนแผ่นนิดหน่อย มีรอยขนแมวบนปกแบบเห็นได้ชัด good (G) และ good plus (G+) มีรอยบนแผ่นที่เห็นได้ชัดเจน แต่ยังฟังได้ไม่กระตุก เสียงนอยซ์เพิ่มมาเยอะขึ้น มีร่องรอยบนปก ทั้งยับ หรือมีการแปะเทป poor (P) และ fair (F) แผ่นกระตุกเวลาเล่น ปกมีรอยฉีกขาด เปียกน้ำ มีรอยเขียน แปะเทป และอาจขาดจนใส่แผ่นไม่ได้
Double LP/ double album/2LP
การที่ 1 อัลบั้ม มีแผ่นเสียง 2 แผ่น ที่ต้องแยกออกเป็น 2 แผ่นก็เพราะว่าทั้งอัลบั้มมีความยาวมากกว่า 60 นาที ทำให้ไม่สามารถใส่ลงในแผ่นเสียงแผ่นเดียวได้ ทั้งนี้ก็เพื่อคุณภาพเสียงที่ดีกว่าด้วย
Extended play (EP)
นักฟังเพลงน่าจะรู้จักคำนี้กันโดยทั่วไป โดยสำหรับแผ่นเสียง อัลบั้ม EP มักจะปั๊มลงในแผ่นเสียงขนาด 10″ เพื่อความกะทัดรัดและคุ้มกับการผลิต โดยมักจะมีความยาวไม่เกิน 25 นาทีและมีประมาณ 4 เพลง (ไม่รวม alternate take หรือ bonus tracks ต่าง ๆ ) ที่สำคัญคือแผ่นเสียง 10″ รุ่นเก่าจะมีการผลิตให้เล่นที่ความเร็ว 78 rpm ซึ่งบางเครื่องเล่นอาจจะเล่นไม่ได้
Flexi disc/ postcard flexi
การผลิตแผ่นเสียงบนวัตถุดิบบาง ๆ เช่นกระดาษ หรือไวนิลแบบบาง เพื่อความง่ายในการแจก หรือเพื่อการเก็บเป็นของสะสม อย่างในไทยล่าสุดวง Polycat ก็เพิ่งทำซิงเกิ้ลเพลง อาวรณ์ ลง postcard vinyl ซึ่งที่มาของเทคโนโลยีการผลิต flexi คือช่วงสหภาพโซเวียตที่แบนเพลง เลยต้องแอบผลิตด้วยการปั๊มเพลงลงแผ่น x-ray ใช้แล้ว โดยในยุค 60s เป็นต้นมามีการปั๊มแผ่น flexi แจกทางนิตยสารหรือทางไปรษณีย์ด้วย
Fold: gatefold/ tri-fold
Gatefold คืออัลบั้มที่มีปก 2 ด้าน เปิดวิธีเดียวกับหนังสือ
Tri-fold คืออัลบั้มที่มีปก 3 ด้าน เปิดเหมือนแผ่นพับ
Gram
น้ำหนักแผ่นเสียง โดยที่นิยมคือระหว่าง 120-140 กรัม โดยมีแบบ 180 กรัม หนาพิเศษ ผลิตมาสำหรับชาว audiophile ซึ่งจะทนทาน เล่นได้นาน ไม่บิดงอง่าย ๆ ลดนอยซ์ เพิ่มย่านเบสและย่านแหลม เพิ่มเสียงสเตอริโอ แต่ราคาก็แพงตาม นอกจากนี้ยังมีการผลิตแผ่นเสียงน้ำหนัก 200 กรัมด้วย
Jukebox issue
แผ่นเสียงที่ผลิตมาเพื่อเล่นกับตู้เล่นเพลงสมัยโบราณ ทำให้ตรง center (รูเสียบแผ่น) จะกว้างกว่าปกติเพื่อเสียบเข้าเครื่องเล่น
Long playing (LP)
แผ่นเสียงแบบเต็มอัลบั้ม ขนาด 10″ หรือ 12″ เล่นที่ความเร็ว 33 1⁄3 rpm โดย A Side และ B Side รวมกันเล่นได้เฉลี่ยประมาณ 45 นาที
Numbered
การรันเลขบนแผ่นเพื่อถึงแสดงความ Limited Edition
Obi
กระดาษคาดแผ่นเสียงแบบญี่ปุ่นโดยมักจะอยู่ด้านซ้ายของปก แสดงถึงการผลิตในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมักจะใช้เทคโนโลยีผลิตแผ่นเสียงที่ดีกว่าประเทศอื่น และทำให้เสียงดี นอยซ์น้อยกว่า ที่สำคัญคือมักจะมี bonus track ที่ชาติอื่นไม่มี เลยทำให้แผ่นญี่ปุ่นเป็นที่นิยมในหมู่ audiophile ทั้งหลาย
Picture disc
แผ่นเสียงที่มีรูปอยู่บนแผ่น โดยเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ยุค 70s เป็นต้นมา รวมถึงยังมีแบบ picture label disc ที่มีรูปเฉพาะตรง label ตรงกลางแผ่น กับแบบ picture back disc ที่มีรูปด้านหลังที่เล่นเพลงไม่ได้
Pressing
ลำดับการปั๊มของแต่ละอัลบั้ม เริ่มตั้งแต่ 1st pressing ไล่ไปเรื่อย ๆ ซึ่งแต่ละ pressing อาจมีสีสันของแผ่นเสียงหรือมีปกที่ต่างกัน โดยชาว audiophile เชื่อกันว่า 1st pressing จะเป็นชุดที่ให้เสียงที่ดีที่สุด เพราะหัวปั๊มยังไม่เสื่อมจากการปั๊มมากเท่าไหร่ โดยสามารถดูเลข pressings ได้จากปกอัลบั้มหรือตรง label ตรงกลางแผ่นเสียง นอกจาก 1st pressing แล้ว นักสะสมก็มักจะเก็บ test pressing ที่เป็นแผ่นเสียงตัวเทสก่อนผลิตจริงจากโรงงาน ซึ่งถ้าหากไม่มีข้อผิดพลาด ก็จะเป็นแผ่นเสียงที่เสียงดีที่สุดของอัลบั้มนั้น
ดูวิธีหา pressing ได้ ที่นี่
Promo
แผ่นสำหรับการประชาสัมพันธ์ โดยจะส่งให้กับสื่อ นักวิจารณ์ คลื่นวิทยุ ฯลฯ โดยตรง label กลางแผ่นเสียงจะมีเขียนชัดเจนว่า Promotion only. Not for sale. และปกอาจจะมีการเจาะรูหรือทำสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าเป็นแผ่น promo
RPM
สปีดของแผ่นเสียง ย่อมาจาก revolutions per minute แบ่งเป็น 33 1⁄3 rpm สำหรับแผ่นเสียง 10″ และ 12″, 45 rpm สำหรับแผ่นเสียง 7″ และ 78 rpm สำหรับแผ่นเสียง 10″ โดยเครื่องเล่นแผ่นเสียงทั่วไป หรือ two speed จะสามารถเล่นแผ่น 33 1⁄3 rpm และ 45 rpm ได้ แต่ถ้าจะเล่นแผ่นเสียงสปีด 78 rpm ต้องใช้เครื่องเล่น three speed และอาจจะต้องเปลี่ยนหัวเข็มเพื่อเล่น
Shaped vinyl
แผ่นเสียงที่ตัดเป็นรูปต่าง ๆ แต่ยังสามารถเล่นได้ปกติ เช่นหัวใจ ดาว และรูปอื่น ๆ ตามสัญลักษณ์ของศิลปินนั้น ๆ
Single
แผ่นซิงเกิ้ล มักจะมี side ละ 5 นาที โดยมีขนาด 7″ เล่นด้วยสปีด 45 rpm
แผ่นเสียงขนาดต่าง ๆ
อ่านต่อ
Record Store Day วันที่คนรักแผ่นเสียงตั้งตารอให้วนกลับมาทุกปี
รวม 10 ไวนิลที่น่าจับจองใน Record Store Day 2019
จาก Phonograph สู่ Mp3: คุณทันการฟังเพลงด้วยอะไรบ้าง?