อยากฟัง Three Man Down เล่าเรื่องของพวกเขาให้เราได้รู้จักกันมากขึ้น
- Writer: Thananan Tantiyawut
- Photographer: Chavit Mayot
Three Man Down ห้าหนุ่มหน้าใหม่ แต่ทำไม้ทำไมชื่อวงเขามีแค่สามคนล่ะ เอ้า มาหาคำตอบได้ที่บรรทัดต่อไปกันเลย
การรวมตัวของ Three Man Down
กฤต: มันเกิดจากเหตุบังเอิญครับ คือช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมกำลังเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แล้วผมอยากทำวงดนตรีก็เลยหาเพื่อนมารวมวง จนมาเจอเพื่อนคนนึงกำลังฟังเพลงอยู่แล้วทำท่าตีกลองไปด้วย ก็เลยลองเข้าไปชวนดู แบบเดินเข้าไปทักเลย ‘เฮ้ย! นายเล่นดนตรีหรือเปล่าวะ?’ มันก็คงงง ๆ แบบว่ามึงเป็นใครวะ (หัวเราะ) ซึ่งเพื่อนคนนั้นก็คือ เต (มือกลอง) นี่แหละ
เต: แล้วผมก็รู้จักกับตูน (กีตาร์) ก็เลยชวนมาเล่นด้วยกัน จากนั้นก็นัดกันเข้าห้องซ้อมเลย ซึ่งจากการซ้อมนี่แหละทำให้เรารู้ว่าเคมีเราเข้ากันได้ ก็เลยเกิดเป็นวง Three Man Down ครับ
Three Man Down แปลว่าอะไร
กฤต: มันเป็นคำอุปมาอุปไมยครับ เหมือนกับว่าผู้ชาย 3 คนที่ตายไปแล้ว คือสมัยเรียนมัธยมผมก็มีวงดนตรีวงนึง ส่วนอีก 3 คนก็อยู่วงเดียวกัน เส็งเองก็มีวงดนตรี เท่ากับว่าวงพวกเราเคยทำวงถึง 3 วง เราก็เลยแทนวงดนตรีของแต่ละคนเป็น Three Man Down คือการรวมตัวของ 3 วงดนตรีในอดีตของพวกเราที่เลิกทำไปแล้ว
จุดเริ่มต้นที่ทำให้แต่ละคนอยากเล่นดนตรี และไอดอลของแต่ละคนคือใคร
เต: จริง ๆ แล้วไอดอลของผมในทางดนตรีเริ่มประมาณ ป.4 ด้วยความเป็นเด็ก ป.4 ก็ไม่รู้จะทำอะไรนอกจากเรียนไปวัน ๆ โรงเรียนของผมเป็นโรงเรียนคริสต์ แล้ววันคริสต์มาสคืนหนึ่ง เห็นเพื่อนคนละห้องได้เล่นกลองบนเวที ซึ่งตอนนั้นคือรู้สึกว่า ที่สุด และรู้สึกว่าเพื่อนโคตรเท่ คือคงไม่มีอะไรที่จะทำให้ผู้หญิงชอบได้มากกว่านี้อีกแล้ว ตอนนั้นเขาน่าจะตีเพลง It’s My Life ของ Bon Jovi ผมยืนมองแล้วผมรู้สึกว่า แบบเนี้ยผมทำได้ ก็กลับไปบ้านไปขอพ่อเลย บอกพ่อว่าอยากเล่นดนตรี อยากเล่นกลอง หลังจากนั้นพ่อผมที่เป็นนักดนตรีอยู่แล้วก็บอกว่า ถ้าอยากเล่นรออีกสองอาทิตย์แล้วมาบอกใหม่ว่ายังอยากเล่นอยู่ไหม เราก็รอสองอาทิตย์แล้วก็ไปบอกใหม่ว่าอยากเล่นจริง ๆ พ่อผมก็พาไปซื้อกลองเลยวันนั้น จำได้ว่าไปซื้อที่หลังกระทรวง ผมก็หัดเล่นเลย หลังจากนั้นกลับมาหลังจากเลิกเรียนผมก็ซ้อมจนเราเล่นกลองเป็น พอคาบเรียนวิชาดนตรี ครูเขาก็ถามว่าใครอยากเล่นเครื่องดนตรีไหน เราก็เดินขึ้นไปตีกลอง ทุกคนก็เฮ้ยไอ้เตตีกลองได้ เราก็เลยเล่นกลองจริงจังมาตั้งแต่ตอนนั้น ก็คือเพื่อนของเราคนนั้นแหละเป็นไอดอลของเรา (ยิ้ม) แต่ถ้าไอดอลในแง่ศิลปิน ก็เปลี่ยนไปเรื่อยตามอายุของเรา แต่คนที่มีอิทธิพลของจากของเรามากที่สุดน่าจะเป็น Matthew Nicholls มือกลองของวง Bring Me The Horizon เขาเป็นมากกว่ามือกลองทั่วไปที่สื่ออารมณ์ออกมาทางเสียงมากกว่า ส่วนเพลงแรกที่ผมตีเป็นคือเพลง Hoobastank – The Reason ครับ
โอม: ผมคิดว่าคนที่เริ่มเล่นเบสประมาณ 80-90% เลือกเล่นเครื่องดนตรีชิ้นนี้เพราะว่าวงแม่งไม่เหลืออะไรให้เล่นแล้ว (หัวเราะ) ผมก็เลยเล่นเบสครับ ไอดอลที่ชอบที่สุดคือ Jeremy Davis มือเบสของวง Paramore ชอบเพราะเขาตีลังกาทุกโชว์ (หัวเราะ) ส่วนเพลงแรกที่ดีดเป็นก็คือเพลง ก้อนหินละเมอ ของ Soul After Six ซึ่งเป็นเพลงของมือเบสจริงๆ
ตูน: เริ่มเล่นกีตาร์ช่วงนั้นเป็นเพราะวง Retrospect ชอบมากแบบไอดอลเลยครับพี่ (เน้นเสียง) เพลงแรกที่เล่นก็คือเพลง ปล่อยฉัน ส่วนไอดอลจริง ๆ คือวง The 1975
เส็ง: ตอนแรกเราไม่รู้จักซินธ์เลยเพราะเราเล่นแต่เปียโนมา แต่มีเหตุการณ์ที่ตอนนั้นเราขึ้นบ้านใหม่ เพื่อนพ่อเอาของขวัญขึ้นบ้านใหม่มาให้ เขาไปประมูลเปียโนมาเพราะลูกเขาอยากได้ แต่ว่าการประมูลเปียโนมันจะต้องประมูลครั้งละ 2 ตัว เขาก็เลยเอามาให้ที่บ้านตัวนึงเป็นของขวัญขึ้นบ้านใหม่ ทีนี้พอขึ้นบ้านใหม่เปียโนก็ถูกวางไว้นานมากจนพ่อถามว่าทำไมเราไม่ลองเล่น จนประมาณป.6 เขาก็ให้ไปเรียนแต่เราก็ไม่ชอบเรียนเพราะตอนนั้นด้วยความที่ยังเด็ก แต่พอเรียนไปได้ซักสองสามอาทิตย์แล้วรู้สึกว่ามีความสุขดี จากนั้นเราก็เล่นมาเรื่อย ๆ จนมาทำวงประมาณ ม.4 ก็พึ่งได้หัดมาเล่นคีย์บอร์ดที่เป็นซาวด์ เพลงแรกที่หัดเล่นคือเพลงในตำนานอย่างเพลง พรปีใหม่ ส่วนไอดอลที่ชอบจริง ๆ คือ Herbie Hancock เป็นนักดนตรีแจ๊ส ถ้าเป็นสายดีเจก็ชอบ David Guetta ครับ
กฤต: บ้านผมร้องเพลงได้ทุกคนครับ แถมเพราะด้วย (ยิ้ม) จริง ๆ ตอนเด็ก ๆ เรายังไม่รู้ว่าเราร้องเพลงได้ มารู้ได้เพราะว่ามีเหตุการณ์นึง มีร้านอาหารอยู่ร้านหนึ่งตรงแยกมหานคร ชื่อร้านครัวมหานคร ร้านนั้นถ้าคุณไป 2 คน คุณจะได้ร้องหนึ่งเพลง ถ้าไป 3 คน ก็จะได้ร้อง 3 เพลง ซึ่งพ่อแม่ผมมีอยู่ 2 คน แต่อยากร้องเพลง 3 เพลง ก็เลยเอาผมไปด้วย ผมก็ต้องไปกับเขาทุกอาทิตย์ ซึ่งจริง ๆ ผมไม่อยากไปเพราะเขาร้องเพลงลูกกรุงกัน ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้ผมได้รับอิทธิพลเพลงลูกกรุงมาตั้งแต่เด็ก จนมีครั้งหนึ่งที่พ่อผมร้องจนขี้เกียจร้องแล้วเหลืออีกเพลงหนึ่ง แม่ผมก็ถามผมว่าร้องเพลงเป็นไหม ผมบอกว่าร้องไม่เป็นแต่ว่าจำเนื้อเพลงได้ แม่ก็เลยจับผมขึ้นไปร้องเพลง ส้มตำ ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ พอผมขึ้นไปร้องปุ๊บ คนทั้งร้านหันมามองหมด อาจเพราะว่าผมเป็นเด็ก เขาเลยงงกัน แต่มันก็ทำให้รู้ว่าผมร้องเพลงได้ เราก็เลยเลือกที่จะร้องเพลงตั้งแต่ประมาณ 6-7 ขวบ แต่ก็ยังไม่รู้ตัวเองว่าเราจะร้องเพลงเพราะ จุดที่ทำให้เรารู้ว่าเราร้องเพราะก็คือตอนป.3 ที่มีประกวดร้องเพลงที่โรงเรียนและผมก็ไปหัดร้อง เพราะเขาบอกให้ผมหัดร้องเพลงประกวดหนึ่งเพลง ผมร้องเพลง รักคนมีเจ้าของ ของวงไอน้ำ แล้วทุกคนบอกว่าผมร้องเพราะ ผมก็โอเค งั้นเราร้องเพลงดีกว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นครับ ส่วนไอดอลจริง ๆ ที่ทำให้ผมร้องเพลงก็คือพ่อแม่ผมเองนั่นแหละ ถ้าเป็นศิลปินที่ทำให้เริ่มร้องเพลงก็คงจะเป็นวงไอน้ำแต่ถ้าเป็นศิลปินที่ให้เข้ามาเป็นวงดนตรีเล่นดนตรีก็คือวง Bodyslam
ได้ยินมาว่า Three Man Down เป็นวงที่เดินสายประกวดเยอะมาก เวทีแรกที่ประกวดคือที่ไหน
กฤต: ชื่องานว่า 5 GUM ครับ เป็นงานประกวดดนตรีที่นิตยสาร a day ร่วมกับ Believe Records จัดขึ้นมา
เต: ซึ่งก็เป็นแคมเปญที่ค่อนข้างใหญ่เพราะว่าจัดที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ซึ่งเราก็ได้เปิดตัววงที่นี่เลย ซึ่ง feedback ที่ได้กลับมาคือ วงเริ่มมีคนรู้จักตั้งแต่วันนั้นเลย ถือเป็นก้าวแรกของเรา
จุดเปลี่ยนจากวงเดินสายประกวด สู่วงที่มีผลงานเป็นของตัวเองสักที
ตูน: งาน Melody of Life ครับ
กฤต: คือหลังจากจบการประกวดครั้งแรกแล้ว เราก็เริ่มเดินสายประกวดกันอย่างเข้มข้น คือเราประกวดหลายเวที มีที่ไหนเราไปหมดและเราก็เข้ารอบตลอดด้วย แต่อย่างที่บอกว่าจุดพลิกผันของเราคือที่งาน Melody of Life เพราะว่างานนี้เราติดหนึ่งในสิบวงสุดท้ายแล้วก็คิดว่า ถ้าเราเล่นแนวนี้เราได้เข้ารอบชัวร์ ซึ่งเราเล่นประมาณวงที่ 7 แต่ปรากฏว่า 6 วงที่เล่นก่อนหน้าพวกเรา เหมือนเขาไม่ได้มาประกวดแต่พวกเขาเล่นเหมือนตัวเขาเป็นศิลปินจริง ๆ ทำให้ตอนนั้นพวกผมถึงกับหงอย
เต: คืองานนั้นเหมือนงานโชว์ของมากกว่า ไม่ได้มาแข่งกับใคร ทุกคนมีของมาขาย แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักวงการนี้ เราก็แค่คิดว่าเราจะประกวดไปให้ชนะ ซึ่งทุกคนไม่ได้แข่งกับเราเลย แต่เรานั้นแหละที่แข่งกับทุกคน
กฤต: แล้วสุดท้ายก็มีพี่คนหนึ่งจาก Spicy Disc ชื่อพี่โดม เดินเข้ามาบอกพวกเราว่า ‘ที่กูเรียกพวกมึงมา กูไม่ได้เรียกมึงมาฆ่านะเว้ย! กูเรียกให้มึงมาดูว่าโลกข้างนอกเขาเป็นยังไง’ แล้วเขาก็ให้พวกเราขึ้นไปเล่นแบบที่เล่นมา แล้วจะยังไงค่อยว่ากันอีกที จำได้ว่าหลังจากวันนั้นพวกผมก็ไม่ประกวดอีก แล้วหันมาทำเพลงกันเลย
ผลงานแรกของวง Three Man Down
กฤต: คำทำนาย ครับ ซึ่งเกิดจากการแจมกันในห้องซ้อมและระหว่างรอมือเบสที่มาสาย (หัวเราะ) เราก็ได้ท่อนอินโทร ซึ่งตูนก็รับหน้าที่ในการเขียนเพลงจนได้โครงของเพลงมา
เต: แล้วพวกเราทุกคนก็เริ่มเห็นภาพเดียวกันว่าเพลงนี้จะออกมาประมาณไหน จากนั้นพวกเราก็เข้าห้องอัด ซึ่งเป็นครั้งแรกของพวกเราด้วย พออัดเสร็จก็เข้ากระบวนการทำ mv ก็เป็นการทำ mv ครั้งแรกของพวกเราด้วยงบประมาณที่จำกัด
กฤต: มันค่อนข้างเป็นงาน DIY พอสมควร แต่พอเพลงเสร็จ ถึงเวลาปล่อย เพลงนี้ก็ทำให้พวกเราก็มีตัวตนในแบบศิลปินขึ้นมาเลย
จริง ๆ แล้ว Three Man Down คือวงร็อก
กฤต: ใช่ครับ ณ ตอนนั้นพวกเราเป็นวงร็อก แต่เหมือนตอนนี้ความคิดของพวกเราเปลี่ยนไปนิดนึง คือตั้งแต่มีเพลง คำทำนาย แล้ว เรามีโอกาสได้ไปอยู่ค่ายเพลง เราก็ได้ปล่อยเพลงออกมา 2 เพลง แต่ว่า 2 เพลงนั้นก็หายไป…
เต: แต่จริง ๆ แล้วก่อนที่จะไปอยู่ค่าย พวกเรามีปัญหากันคือช่วงที่ทำเพลง แผนที่ วงเจอทางตัน เพราะเราเริ่มอยากมีตัวตนในวงการเพลง อยากมีแนวทางที่เด่นชัดจน เราไม่เป็นตัวของตัวเอง ทำให้ความเห็นพวกเราไม่ตรงกันจนทะเลาะกัน
กฤต: ปัญหาคือทิศทางของแนวเพลงมันเปลี่ยนทำให้ทุกคนมองว่ามันไขว้เขว ต่างคนต่างมองว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดีแล้วทำให้หาจุดลงตัวไม่ได้ เราไม่ได้คุยกันก่อน จึงทำให้เพลงออกมาไม่ค่อยลงตัว
แต่สุดท้ายวงก็หาจุดลงตัวได้ ถามว่ามีจุดหรือเหตุการณ์อะไรที่ทำให้วงกลับมเหมือนเดิม
กฤต: เราเลือกที่จะข้ามไปครับ คือทิ้งเพลงนั้นเลยและไม่ไปแตะมันอีกเลย จนเราได้มารู้จักกับ พี่ซุง Mattnimare และเราก็ได้ทำงานร่วมกัน พี่เขามาช่วยโปรดิวซ์เพลงให้พวกเราชื่อว่า อยากฟัง ซึ่งพี่ซุงก็เหมือนทำให้เราค้นพบตัวตนด้วยระดับนึง ทำให้พวกเรารู้ว่าเราอยากจะเล่นอะไร
ซึ่งเพลง อยากฟัง ถือว่าฉีกไปเลยกับผลงานเพลงที่ผ่าน ๆ มา
ตูน: ใช่ครับ
เต: เราเปลี่ยนด้วยความชอบของวงล้วน ๆ ทั้งในเรื่องของแนวเพลงและวิธีการทำงาน
กับผลงานใหม่ล่าสุด ข้างกัน (City) เป็นยังไงบ้าง
ตูน: งานนี้จริง ๆ มีเดโม่มาประมาณปีนึงแล้ว ซึ่งเพลงนี้พูดถึงผู้ชายคนหนึ่งที่อยู่ในเมืองใหญ่แล้วไม่มีใคร จนกระทั่งวันนึง มาพบกับผู้หญิงคนนึงที่ทำให้รู้สึกว่าเมือง ๆ นี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เขาไม่ได้อยู่คนเดียวตั้งแต่มีผู้หญิงคนนี้เข้ามา ราวกับว่าเมืองที่เคยเศร้าก็สดใส
กฤต: ซึ่งการทำงานในห้องอัดครั้งนี้เราก็ได้แขกรับเชิญสุดพิเศษคือ พี่ออม จากวง TELEx TELEXs มาช่วยร้องและสื่อความหมายของฝั่งผู้หญิง เนื่องด้วยโปรดิวเซอร์ของเราเพลงนี้ก็คือพี่ซุงคนเดิม ดีไซน์เพลงนี้ให้เป็นเพลงคู่ เพราะมันจะได้เป็นการเล่าความรักของทั้งสองฝ่าย
ประทับใจอะไรบ้างกับการร่วมงานกับ ออม TELEx TELEXs
กฤต: แนวทางและเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ครับ คือถ้าร้องออกมาก็รู้เลยว่าเป็นใคร
ตูน: และที่สำคัญเพลงนี้เป็นเพลงรักเพลงแรกของพวกเราด้วย การได้เขามาอยู่ในเพลงนี้คือสุดๆ ครับ ทำให้กลายเป็นเพลงรักที่สมหวังและมีความอบอุ่น เข้าถึงง่ายมากขึ้น
ถามตูนในฐานะที่เป็นคนแต่งเพลงนี้ ทำไมถึงเลือกที่จะเล่ามุมมองนี้ มีเหตุการณ์อะไรของตัวเองจริง ๆ หรือเปล่า
ตูน: โอ้โห้…ถามอย่างนี้เขินเลย (ยิ้ม) เพลงนี้ผมแต่งให้แฟนครับ แฟนคนปัจจุบันด้วย (ยิ้ม) ที่เป็นคนแรกและเป็นคนสุดท้าย และเป็นคนแรกที่ผมแต่งเพลงให้ด้วยครับ
กฤต: ขอเสริมในส่วนเนื้อเพลงนิดนึงครับ อยากจะพูดแทนเจ้าตัวว่าถ้าเราสังเกตเนื้อเพลงดี ๆ มันคือเพลงที่มาจากชีวิตของตูนจริง ๆ ซึ่งตอนที่ผมได้ฟังเดโม่ครั้งแรกผมร้องไห้เลยนะ คือผมรู้สึกว่าผู้ชายคนนี้มันคงมีความสุข แต่ผมก็สัมผัสความเศร้าของตัวละครตัวนี้ไปพร้อมกันด้วย ซึ่ง จริง ๆ แล้วตัวละครตัวนี้มันไม่เคยมีความสุขเลย แต่ว่าตอนนี้มันมีความสุขแล้ว และร้องไห้ก็เพราะว่าได้เห็นมันมีความสุขสักที
พาร์ตดนตรีของเพลงนี้
ตูน: เกิดจากการแจมกันเหมือนเดิม มาลองผิดลองถูกว่าตรงไหนใช้อะไรได้อีกบ้างจนได้ความสมบูรณ์แล้วพวกเราเข้าห้องอัด
เต: คือจริง ๆ แล้วมู้ดโทนในช่วงหลังจะมาจากความรู้สึกและความชอบที่คล้ายกัน แต่ว่าเพลงจะขึ้นโดยตูน มันก็จะทำให้เพลงในอัลบั้มที่เราจะทำทั้งหมดเป็นไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่ว่าคนนี้ขึ้นทางนี้ อีกคนขึ้นทางนั้น แบบนั้นอาจจะทำให้หลงทางได้ ดังนั้นพวกเราจึงเอาตูนเป็นหลัก เพราะตูนเป็นคนที่เขียนเนื้อและหลอมทุกอย่างให้เข้ากับสิ่งที่ตูนคิดและสิ่งที่พวกเราต้องการ
คนที่ใช้เวลาในห้องอัดนานที่สุด
เต: ไอ้กฤตเลย (หัวเราะ)
กฤต: มันร้องเยอะ (ขำ) แถมไลน์ประสานค่อนข้างสูง คือตอนอัดผมก็ไม่รู้ว่าผมร้องไปได้ยังไง มันต้องเป๊ะ ต้องมีฟีลลิ่ง แล้วก็มีอีกเรื่องนึงครับที่ผมอยากบอก คือจริง ๆ แล้วเพลงนี้มันมีความลับซ่อนอยู่เรื่องนึงคือเพลงนี้มันไม่ใช่เพลงรัก อย่างที่ผมบอกว่าวันที่ตูนส่งเพลงนี้มาให้แล้วผมร้องไห้ คือเพราะว่าผมเพิ่งคบกับแฟน แล้วแฟนคนนี้คือกว่าจะได้คบกันมันยากมาก แล้วพอไปฟังเพลงนี้ก็เลยรู้สึกว่า ผมเข้าใจแล้วว่ากว่าตูนจะมีความสุข ตูนมีความทุกข์มามากแค่ไหน แล้วผมก็ร้องเดโม่เพลงนี้ไปแบบเศร้ามาก ๆ แต่พอมันผ่านไปทุกคนชอบเสียงเดโม่แบบนั้น ทุกคนรู้สึกว่ามันโอเค ผมก็เลยให้แฟนผมฟังเพลงนี้ แฟนผมก็บอกว่าเพลงนี้มันเพราะมากเลยนะ แต่ก็มีความเศร้าอยู่ หลังจากนั้นมาผมก็เลิกกับแฟนคนนี้ แล้วผมก็ต้องมาอัดเพลงนี้ใหม่ โปรดิวเซอร์ก็สั่งให้ผมร้องแบบมีความสุขกว่านี้ ผมไม่รู้จะมีความสุขกับเพลงนี้อย่างไร พออัดร้องเพลงนี้เสร็จ ผมก็ส่งเพลงนี้ไปให้แฟนผมฟังอีกครั้ง แต่ครั้งนี้แฟนผมกลับบอกว่าเพลงนี้มันไม่เพราะแล้ว… มันจึงเป็นเพลงรักที่มีความเศร้ามาก
คาดหวังอย่างไรกับเพลงนี้บ้าง
กฤต: ก็จริง ๆ แล้วถ้าเพลงนี้ไม่ดังก็คงไม่ดังแล้วแหละ เนื่องจากอะไรหลาย ๆ อย่างเราจึงคาดหวังกับเพลงนี้มาก
เต: แล้วเราก็อยากให้คนที่ฟังเข้าใจแบบง่าย ๆ เหมือนเราจะทำอะไรให้ทุกคนกินแล้วรู้สึกอร่อย ถ้าทุกคนกินแล้วอร่อย มันก็จะมีผลกลับมากับวงด้วย ดังนั้นถ้าเรากินแล้วเราชอบ เราก็อยากทำให้คนอื่นกินและชอบและอร่อยไปกับเรา
แล้วคิดว่าเพลงของวงตัวเองอร่อยไหม
เต: อย่างน้อยเราก็พยายามทำให้มันอร่อยมากขึ้นกว่าเดิมด้วยการปรุงรสที่อาจจะไม่เผ็ดเกินไป ไม่เค็มเกินไป เราทำให้รสชาติเพลงมีความเป็นกลางที่สุด ซึ่งคำว่ากลาง ๆ นี่ก็ยากเหมือนกัน เพราะว่าคาแรกเตอร์ก็ยังไม่เด่นชัด และลิ้นของคนเราก็รับรสชาติไม่เหมือนกัน แต่ว่าเราก็ยังไม่รู้ผลลัพธ์ เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้ได้หลังจากปล่อยอาหาร (เพลง) จานนี้ออกไป
จุดเริ่มต้นกับบ้านใหม่อย่าง Malama Collective
เต: พวกเราทราบมาว่า Malama คือการรวมกลุ่มของคนในเครือข่ายวงการดนตรีที่มีการทำงานในระบบเหมือนวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเราคิดว่าการทำงานของเขามันเหมาะและลงตัวกับการทำงานของพวกเรา ทั้งในแง่ของการให้อิสระทางความคิดและดนตรีที่เราชอบ เราก็ลองติดต่อเขามาพูดคุย เอาเพลงให้ทีมงานฟังและก็คุยกันในเรื่องแนวทางต่าง ๆ ต่อจากนี้ ซึ่งมันค่อนข้างคลิกกัน ก็เลยได้ทำงานร่วมกันครับ ก็ฝากชุมชนดนตรีเล็กอย่าง Malama ด้วยนะครับ (ยิ้ม)
รู้สึกอย่างไรบ้างกับบ้านหลังใหม่อย่าง Malama Collective
เต: ดีครับ เรื่องของทัศนคติเราค่อนข้างได้รับความไว้ใจจากมาละมาอยู่แล้ว เขาเลยปล่อยให้เราได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ส่วนเรื่องของระบบสหกรณ์ดนตรีเราแฮปปี้อยู่แล้ว เพราะว่าทีมงานก็อยู่ในเจนเนอเรชั่นเดียวกัน คุยกันง่าย ทุกอย่างก็เลยต้องไปในทางเดียวกันส่วนเรื่องระบบเราก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันไป เพราะว่าเราก็เพิ่งเข้ามาอยู่ แต่มาละมาก็ทำให้เรารู้สึกดีเพราะเราเข้ามาปุ๊บ ก็ได้รับการซัพพอร์ตกลับจากมาละมาเลยในเรื่องของโปรดักชันต่าง ๆ เรื่องติดต่อสื่อ ทีมงาน
มองวงการดนตรีปัจจุบันเป็นยังไงบ้าง
เต: จริง ๆ ทุกวันนี้ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ ทุกวันนี้วงการอินดี้ก็เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้นเยอะ คนก็เริ่มฟังอินดี้มากขึ้น เพลงอินดี้เริ่มมีตัวตนในสื่อหลัก ซึ่งก็อาจจะทำให้พวกเราทำงานได้ง่ายขึ้น อยากเล่นอะไรก็ได้เล่น เพราะว่าจะมีกลุ่มคนตลาดที่คอยฟังเพลงพวกเราอยู่ไม่มากก็น้อย แต่ผมเดาว่าจะมากขึ้นด้วยบริบทและปัจจัยต่าง ๆ
กฤต: ผมมองว่าทุกวันนี้ผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะเสพสื่อเองได้ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ดูทีวีและฟังวิทยุ ทุกวันนี้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกเสพในแต่ละสื่อ ทุกคนมี YouTube และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำให้วงการอินดี้เริ่มมีตัวตนมากขึ้น เราแค่ตั้งใจทำงานของเราให้ดี คนก็จะเห็นได้แบบที่มันจะเป็น ผมคิดว่าในอนาคตมันจะทำให้ไม่มีคำว่าอินดี้อีกแล้ว ในความคิดส่วนตัว ไอ้รูปแบบการเสพสื่อแบบนี้มันจะทำให้ไม่มีคำว่าอินดี้อีต่อไป ไม่มีคำว่าวงดนตรี underground เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเผยแพร่เท่ากันอยู่ที่ว่าเพลงของคุณมันจะดีแค่ไหน ผมมองว่าอนาคตดนตรีจะมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้ถูกชักจูง ชักนำ ทุกคนมีสิทธิ์มากขึ้น แต่ความมีตัวตนของเรามันก็จะยากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มมันเยอะ
เต: คือการที่จะทำงานให้คนทั้งประเทศบอกว่าอร่อยเหมือนกันได้นี่มันค่อนข้างยาก เพราะว่าทุกคนก็จะเปิดเพลงฟังได้เหมือนกัน ทุกคนมีสิทธิ์เปิดร้านได้เหมือนกัน ทุกคนเลือกกินอะไรก็ได้เหมือนกัน แล้วคนที่กินก็ไม่ได้ชอบเหมือนกัน แต่ผมก็ยังเชื่ออยู่ว่ามันก็ยังจะมีความอร่อยที่เป็นสากล เพลงที่ทุกคนบอกว่าเพราะมันอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่มันคือเพลงที่จะยังมีจุดหนึ่งที่ทุกคนโอเคกับมัน
ติดตามความเคลื่อนไหวของ Three Man Down ได้ที่ https://www.facebook.com/threemandownofficial/ และรับฟังเพลงของพวกเขาบน ฟังใจ ได้ ที่นี่
ThreeManDown ถึงเวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ยังอยู่ ‘ทีมรอเธอ’
‘ตอนไม่ได้เจอ’ เพลงใหม่จาก ThreeManDown เฝ้ารอเวลาที่จะได้พบกันอีกครั้งนึง