The Funkees ปฐมบทของตำนาน Afro-Rock ที่ถูกลืมจากไนจีเรีย
- Writer: Tas Suwanasang
- Art Director: Tas Suwanasang
จากโชว์แรกในคืนที่คิดว่า นี่จะเป็นการแสดงสดครั้งสุดท้ายในชีวิต เพราะวันพรุ่งนี้อาจจะไม่มีอีกแล้ว ของ The Funkees วงดนตรี Afro-Rock ที่ถูกลืม เรื่องราวหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรเชิญอ่านต่อได้เลย
The Funkees ได้เริ่มก่อตั้งวงกันในช่วงสงครามกลางเมืองในประเทศไนจีเรียราว ๆ ยุค 60s ช่วงปลายที่มีทั้งเรื่อง ศาสนา, การเมือง และ เชื้อชาติ เป็นสาเหตุหลักของสงครามกลางเมืองในครั้งนี้ พวกเขาได้แรงบันดาลใจการทำเพลงจากดนตรีแอฟริกันท้องถิ่น มาผสมผสานกับดนตรีฟังค์ และไซคีเดลิกร็อก พร้อมกับการร้องภาษาท้องถิ่นอย่าง ภาษาอิ๊กโบ (Igbo) จนเกิดการบัญญัติดนตรีแนว Afro-Rock ( แอฟโฟรร็อก ) เพราะความกรู๊ฟ และความคราฟต์ของวงจึงทำให้กลายเป็นอนาคตอันสดใสในวงการดนตรีไนจีเรีย
The Funkees ได้โชว์สู่สาธารณชนชาวไนจีเรียครั้งแรกที่ Durumbu Hall (ดูรุมบุ ฮอลล์) ในช่วงเดือน มกราคม ปี 1970 เมือง Nkwerre (อ่านไม่ออก ฮ่า ๆ) ที่ตั้งอยู่ในรัฐ อิโม (Imo) ในวันนั้นซึ่งเป็นเพียงไม่กี่วันก่อนที่สงครามกลางเมืองจะยุติลง แต่ว่าทางวงเอง รวมถึงคนที่มาดู ก็ต่างพากันคิดว่าอาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้แล้วสำหรับพวกเขา ทั้งความหวาดกลัว และความไม่มีอะไรจะเสียแล้วนั่นแหละ เลยทำให้เป็นคืนที่อาจจะไม่มีวันลืมของพวกเขาเลยทีเดียว เพราะพวกคนดูพร้อมใจกันดิ้นไปกับเพลงที่พวกเขาเล่นดังจนไปกลบเสียงหน่วยรักษาความปลอดภัยข้างนอกซะหมด และหลังจากนั้นไม่กี่วัน สงครามกลางเมืองก็ยุติลงอย่างเป็นทางการ จนมีการเล่าต่อ ๆ กันเหมือนเป็นนิทานว่าคืนนั้นแม่งเป็นคืนที่สุดยอด และวง The Funkees ก็กลายเป็นวงที่คนเล่ากันปากต่อปากจนกลายเป็นวงที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ในที่สุด
หลังจากนั้นทางวงก็ได้มีงานเดินสายเล่น อย่างน้อยสัปดาห์ละสามงานเป็นอย่างต่ำ แต่กลับเปลี่ยนสมาชิกในวงอยู่เรื่อย ๆ จึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าไลน์อัพสมาชิกดั้งเดิมของวง จนกระทั่งได้ Sonny Akpan เพอร์คัชชั่นมือฉกาจ ที่เคยอยู่วงดนตรีเล่นคัฟเวอร์เพลงอังกฤษ มาเสริมทัพเพื่อที่จะพัฒนาเพลงของพวกเขาต่อไป จน Sonny Akpan กลายเป็นมันสมองของวงในที่สุด
ในช่วงเวลาที่วงยังได้เดินสายเล่นงานคอนเสิร์ตนั้น The Funkees ก็ได้มีการปล่อยเพลงในรูปแบบแผ่นเสียงไวนิลขนาด 7 นิ้วออกมา พร้อมกับเพลง Dancing Time (หนึ่งในไม่กี่เพลงในเวลานั้นที่ทางวงได้ร้องเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด) ที่เหมือนกับเป็นเพลงเปิดฟลอร์สำหรับทุกคน เพราะทุกคนต้องเต้น! และก็มีเพลงดังอย่าง Akula Owu Onyeara ที่ Mohammad Ahidjo นักร้องนำคนเก่าได้ร้องอย่างสุดเสียง เพื่อที่จะส่งไปให้คนทั้งฮอลล์ได้ยินโดยไม่ใช้ไมค์
จากไนจีเรียสู่ประเทศอังกฤษ
เป็นเวลาประมาณ 3 ปีที่วงได้เดินสายเล่นดนตรี ก็ได้มีทั้งแมวมอง โปรโมเตอร์ รวมถึงค่ายเพลง ได้แวะเวียนมาดูการแสดงสดของวงจนทำให้ได้ไปเดินสายโชว์ที่ประเทศอังกฤษ จากสัญญา 1 เดือนที่ทำไว้ในการไปเยือนประเทศอังกฤษ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็กลายเป็น 4 ปี! และหลังจากเดินทางถึงประเทศอังกฤษได้ไม่นาน ก็ได้พบกับดีเจในตำนาน John Peel และพูดคุยกันจนสนิทสนม
ปี 1974 พวกเขาก็ได้ทำการอัดอัลบั้มเต็มชุดแรกของวงที่มีชื่อว่า Point of No Return ต่อมาในปี 1976 ก็มีอัลบั้มชุดที่สองโผล่มาพร้อมกับชื่อ Now I’m A Man แต่ทั้งสองอัลบั้มนี้กลับไม่เป็นที่นิยมมากนัก แฟนคลับหลายคนต่างพูดว่าทั้งสองอัลบั้มนี้ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเท่าที่ควร ทางวงได้เสียความเป็นตัวตนไปเสียหมดเพื่อที่จะให้ขายได้ในฝั่งตะวันตก การที่วงโด่งดังมีชื่อเสียงขึ้นมา และเดินมาถึงจุด ๆ นี้ได้ก็เพราะซาวด์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและกลิ่นอายของวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างภาษาอิ๊กโบ จึงทำให้คนไนจีเรียส่วนใหญ่ต่างพากันไม่พอใจ เพราะทั้งสองชุดที่ปล่อยมาไม่มีภาษาอิ๊กโบเลย และคนไนจีเรียบางส่วนยังบอกว่า “นี่ก็เป็นแค่วงดนตรีที่ใช้ชื่อว่า The Funkees เฉย ๆ”
กลับสู่มาตุภูมิ เมื่อการเดินทางครั้งนี้ไม่เป็นดังที่หวัง
ในปี 1977 วง The Funkees ก็ได้เดินกลับมายังไนจีเรียบ้านเกิดเพื่อที่จะเล่นในเทศกาล World Black and African Festival of Arts and Culture ในเมืองลากอส (Lagos) แต่สถานการณ์ดันไม่เป็นที่วงคาดไว้ เพราะแทนที่จะกลับมาเยี่ยงฮีโร่และได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น กลับกลายเป็นว่าชาวเมืองไม่ยอมรับ รวมถึงการจัดการที่ไม่ดีเลยกลายเป็นเหตุที่ทำให้วงทะเลาะกันถึงขั้นวงแตก จนต้องขายเครื่องดนตรีของตัวเองทิ้ง เพื่อจะซื้อตั๋วกลับมาที่ประเทศอังกฤษ จนกลายเป็นจุดจบของวงในที่สุด
เวลาต่อมาสมาชิกวงบางส่วนก็ยังคงวนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรี แต่ว่าในประเทศในจีเรีย แทบจะไม่มีคนพูดถึง The Funkees อีกเลย จนกลายเป็นตำนานวง Afro-Rock ที่ถูกลืมไปในที่สุด
อ้างอิง:
Moving To The Beat: The Rise And Fall of The Funkees
Nigerian Civil War
Wang Wen ตำนานโพสต์ร็อกจีน บันทึกความรู้สึกของบ้านเกิดไว้ใน Invisible City
วงนี้เคยมาไทยด้วยหรอ! รวมวงในตำนานที่เคยมาไทยแบบที่คุณเห็นชื่อแล้วต้องร้องไห้