The Charapaabs มองโลกผ่านสายตาผู้ชราภาพ
- Writer: Montipa Virojpan
- Photographer: Neungburuj / The Charapaabs
ไม่ทันไรที่เพลง ศาลาคนเศร้า (Funeral Party) ของคณะ The Charapaabs ถูกส่งมาอยู่บนเว็บฟังใจ ก็ได้สร้างปรากฏการณ์กระหน่ำแชร์เพลงเต็มหน้านิวส์ฟีด ภาพของผู้สูงอายุสี่คนมารวมตัวกันทำดนตรีนั้นให้ความรู้สึกร่วมสมัยจนไม่น่าเชื่อว่าคนอายุปูนนี้จะทำเพลงออกมาได้วัยรุ่นสุด ๆ ฟังใจซีนเลยไม่รอช้าขอนัดเจอพวกเขาตัวเป็น ๆ เลยดีกว่า อยากรู้ว่าคุณปู่คุณตากลุ่มนี้คือใคร แต่แล้วชาวฟังใจทุกคนก็ต้องอึ้ง ! เมื่อพบว่าความจริงแล้วพวกเขาไม่ใช่คนแก่ ! นี่อยากรู้มากว่าพวกเขากำลังคิดอะไรอยู่ ถึงทำให้พวกเราเชื่อได้สนิทใจ เรามาคุยกับพวกเขากัน
The Charapaabs คือใคร
วิน: เราก็เป็นเพื่อน ๆ กันนี่แหละครับ อย่างกิตทำงานกับผมมาก่อน พี่ยศกับพี่ดรเป็นรุ่นพี่ที่ธรรมศาสตร์ มันเริ่มต้นจากผมมีเพื่อนรอบตัวที่เล่นดนตรีกันอยู่ เลยชวนมาลองเล่นดู แต่สักพักพอเล่นไปก็รู้สึกไม่อยากทำเพลงที่เป็นวงดนตรี๊ ดนตรี เลยทดลองทำโน่นทำนี่กันเยอะไปหมด ตอนแรกทำเป็นแนวอิเล็กทรอนิกส์
ยศ: ทีแรกจริง ๆ จะมีแค่สามคนด้วย โดยให้กิตเปิดและควบคุม drum machine ส่วนผมเล่นกีตาร์เข้าไป สุดท้ายมันไม่ค่อยเวิร์กก็ล่ม เลยให้กิตตีกลองเหมือนเดิม เพราะก็เขาเป็นมือกลองน่ะครับ รู้สึกว่าพอเล่นสองชิ้นแล้วมันยาก แค่กลองกับกีตาร์เอาไม่อยู่ เลยเอาเบสร่วมด้วย ดรกับผมเล่นดนตรีด้วยกันอยู่แล้ว ผมเลยดึงดรมาเล่นด้วยกันดีกว่า
วิน: จากนั้นเราก็มานั่งคุยกันว่าจะทำอะไรดีให้มันต่างจากชาวบ้าน เลยว่าจะทำเป็น concept band คิดไว้เยอะมากจนจำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง ทำนู่นทำนี่ แล้วมาเลือกกันว่าคอนเซปต์ไหนมันเวิร์ก คือการทำตรงนี้มันไม่ใช่แค่การทำเพลงอย่างเดียว เราต้องมานั่งเชื่อมโยงว่าอันไหนมันมีความเป็นไปได้เรื่องภาพลักษณ์ด้วย เขียนเนื้อ หรือไปทำอย่างอื่นได้ด้วย เราก็มาคิดกัน สุดท้ายก็มาลงที่ ชราภาพ
ยศ: เหมือนใช้คอนเซปต์นำวงน่ะครับ คือไม่ได้ทำเพลงแล้วมาคิด เราคิดภาพก่อนว่าจะทำอะไร จะพูดเรื่องอะไร แล้วทำเพลงตามนั้น
เหมือนใช้คอนเซปต์นำวงน่ะครับ คือไม่ได้ทำเพลงแล้วมาคิด เราคิดภาพก่อนว่าจะทำอะไร จะพูดเรื่องอะไร แล้วทำเพลงตามนั้น
คิดคอนเซปต์ใหม่ไว้บ้างหรือยัง
ยศ: อ๋อ ยังครับ เอาไว้เพลงใหม่เสร็จก่อนดีกว่า
ก่อนจะมาเป็นคอนเซปต์คนแก่ คิดจะให้เป็นอะไรมาแล้วบ้าง
ยศ: เยอะมาก เยอะจริง ๆ จำไม่ได้ มีเขียนไว้บนกระดาษ จำได้ว่ามีตลก ๆ ง่อย ๆ ให้ลองเล่นดนตรีแบบคนง่อย ๆ ทำเหมือนคนเล่นไม่เป็นมาเล่นดนตรี เคยมีคอนเซปต์แบบนี้ มันผ่านการคุยกันมาก่อน หรือมีคอนเซปต์ทำเป็นสัตว์เลี้ยง ว่าสัตว์เลี้ยงพูดอะไร
ดร: อย่างน้อยคนก็ไม่เชื่อว่าเราเป็นหมาเป็นแมวแน่ ๆ (หัวเราะ)
วิน: อย่างที่ผมบอกว่าเราวาดภาพ แล้วเราเขียนคอนเซปต์ให้มันไกลไปเลยว่าเขียนเนื้อยังไงดี ภาพลักษณ์ mv ที่ออกมาจะเป็นยังไง นึกไปให้สุดทาง แล้วชราภาพมันชนะเพราะมันเห็นหมดทุกอย่าง สุดท้ายทำเพลง เนื้อเพลงต้องเขียนไปมุมไหน แล้วเราก็จะรู้ว่ามันต้องเป็นภาพคนแก่เนี่ยแหละ เห็นทะลุ
จริงจังมากขนาด mv ก็จัดให้เป็น art exhibition
ดร: ผมว่ามันเกินเลยไปมากจริง ๆ (หัวเราะ)
กิต: มันเป็นเรื่องความฟุ้ง ความฟุ้งจากจินตนาการของวิน วินเขาคิดเรื่อง อยากจะทำ mv แล้วไป ๆ มา ๆ วันนึงวินก็บอกว่า เดี๋ยวทำอย่างนี้ดีกว่า
วิน: ก่อนหน้านี้ผมเคยทำ mv มาก่อน แล้วมันน่าเบื่อตรงที่การต้องไป casting ต้องนั่งเรียกคนมาทำกองถ่าย เลยคิดว่าเรามานั่งทำอะไรจริง ๆ ไปเลยดีกว่า ตอนแรกเพลงนี้ไม่ได้ชื่อ ศาลาคนเศร้า นะ มันชื่อ ฌาปนกิจสถาน แต่พอดีอย่างที่ฟัง กิตเขาเขียนเนื้อเพลงมาแล้วมันมีเสน่ห์ตรงที่เราไม่ได้พูดตรง ๆ ถ้าฟังดี ๆ มันจะไม่มีคำว่างานศพในเนื้อเพลงเลย เลยมาคิดว่าจะให้เพลงชื่ออะไรดี เคาะไปเคาะมา หมุนกันอยู่นานมากก็ได้คำว่า ศาลาคนเศร้า แล้วคำนี้มันมีสเน่ห์ตรงท่ี แม่งก็เป็นสถานที่นี่หว่า เราก็คิดว่า งั้นลองสร้างสถานที่นี้ขึ้นมาไหม ตอนแรกก็คิดว่ามันจะง่าย คิดว่า อ๋อ ก็หาที่นึง ชวนคนรอบ ๆ มาจัดศาลา วันเปิดตัววงก็ชวนคนมาฟังเพลง ทีแรกนึกว่าจะง่าย สุดท้ายงานใหญ่กว่าทำ mv (หัวเราะ)
สถานที่จัดที่ไหน
กิต: Dialogue Café ตรงป้อมพระสุเมรุ ครับ
ยศ: คนเยอะกว่าที่คิดนะ เต็มชั้นสองส่วนที่แสดงงานและส่วนนั่งเล่นเลย
แล้วได้เฉลยไหมว่าจริง ๆ คืองานเกี่ยวกับอะไร
ยศ: ไม่ได้เฉลย ส่วนใหญ่ก็เป็น connection จากวิน ซึ่งก็เป็นคนสาย creative
วิน: จริง ๆ ก็มองไม่ทะลุหรอกว่าจะเปิดตัววงไหม คนก็ถามเยอะว่าจะมีลุงมาเล่นดนตรีหรือเปล่า แล้วก็ค่อนข้างหนักใจว่าถ้าวันนั้นมาถึง คนจะเฟลไหม เพราะคนรอดูคนแก่ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ mind เพราะเดี๋ยวคนก็รู้อยู่ดีว่าเราคือคนพวกนี้ ก็วัดกันไปเลยว่ารับได้ก็รับ รับไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แค่มีเพลงออกมาแล้วมีคนฟังก็เกินจุดที่เราคาดหวังแล้ว แล้วมีอีกเรื่องนึงที่ทำไมใช้วิธีจัด art exhibition แทนถ่าย mv นั่นคือเหตุผลการตลาดด้วยแหละ หมายถึงว่า ถ้าเราทำ mv แล้วเราปล่อยไป มันก็จะได้แค่เพื่อนเราที่มากดไลค์ คนเขาก็จะไม่รู้จัก แล้วผมก็คิดว่างาน collaboration เดี๋ยวนี้มันค่อนข้างที่จะเวิร์ค สมมติเราดึงคนมา สุดท้ายเราก็จะได้คนรอบตัวของคนพวกนั้นมาด้วย คราวนี้ผมชวนมา 20 คน ก็เลยคิดว่าคนพวกนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานเรา เขาก็จะแชร์ไปด้วย ช่วยกระจาย ๆ เหมือนดึงเขามาเป็นเจ้าของงานด้วย
ตอนชวนมาทำ บอกเขาไปว่ายังไง
วิน: ก็บอกไปตรง ๆ ว่าทำวงอยู่ ชื่อวงนี้ แล้วเล่าคอนเซปต์ให้ฟัง ตอนแรกก็ไม่คาดหวังว่าจะมีคนมาร่วมด้วย คิด ๆ กันอยู่ว่าใครจะมาบ้าทำวะ
ยศ: ฟรีด้วยนะ ไม่มีเงินให้เขาด้วย ผมก็งงว่าสมัยนี้คนดี ๆ ก็มีอยู่เยอะในโลกนี้ คือชวนแล้วถามว่าจะทำไหม เขาก็ทำกันมา ออกเงินค่าของอะไรกันเอง มาร่วมสนุกกัน
วิน: เขารู้แหละว่าต้องทำอะไร มันก็ไม่ได้หลอกอะไรเขา เขาก็ค่อนข้างสนุกด้วย คือมึงถึงขั้นสร้างศาลา กูแจมกับมึงด้
ทำไมถึงใช้เวลาพัฒนาเพลงถึง 2 ปี
ยศ: ที่มันนานเพราะว่าซ้อมกันแค่อาทิตย์ละครั้งน่ะครับ แต่ละคนมีงานประจำ มันไม่ได้นานเพราะว่าเพลงนี้เราปั้นกันเป็นมาสเตอร์พีซ คงไม่ได้ขนาดนั้น
วิน: จริง ๆ ตัวเพลงมันเสร็จเร็วนะ ไม่ถึงหกเดือนด้วย แต่ที่นานคือการหานักร้อง ซึ่งคนที่ร้องเพลงคือ r-bu (อาบู ยุวบูรณ์ ถุงสุวรรณ) เขามีเพลงของเขาเองด้วย เป็นเหมือนเนตไอดอลที่คัฟเวอร์เพลงมาเยอะ
ถ้าเป็นเพลงอื่นจะเปลี่ยนคนร้องไปเรื่อย ๆ หรือเปล่า
The Charapaabs: คิดว่าอย่างนั้น
ยศ: ตอนแรกเราก็เชิญคนที่รู้จัก มาลองร้อง แต่ก็ไม่ได้อย่างใจหวัง
วิน: เล่าความสนุกให้ฟัง คือตอนแรก คนแรกสุดเขาเป็นอาของรุ่นพี่ พามาร้อง แล้วเราเข้าใจมาตลอดว่า เดี๋ยวพอเปิดเพลงให้ฟังก็คงจะร้องได้ แต่ความเป็นจริงที่เราพบเจอมันคือ mindset ของคนรุ่นนั้นกับคนรุ่นเรามันไม่เหมือนกันเลย อย่างที่พี่ดรเจอคือ คนรุ่นนั้นจะร้องเพลงโดยการจำ
ดร: คุ้นชิน ฟังมาตั้งแต่เด็ก
ยศ: ชินว่าเดี๋ยวตรงนี้ต้องเข้าตรงนี้ ร้องตรงนี้ แล้วเขาร้องคร่อมจังหวะ ผมว่าเขาอาจไม่ชิน ก็เลยร้องไม่ได้
วิน: บางทีเพลงเดียวกัน เปลี่ยนคนร้อง เขาก็ร้องไม่ได้นะ เขาต้องร้องจากต้นฉบับ จากครูเอื้อ พอเป็นเพลงเดียวกันแต่ไม่ใช่ครูเอื้อ เขาก็ร้องไม่ได้ มันแปลกมาก
ยศ: เราก็หามาอีกคนนะ แต่ก็ไม่ได้เหมือนกัน นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เราจะต้องปิดโปรเจกต์เพราะหานักร้องไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) การหานักร้องมันยากเหลือเกิน
ดร: กำลังให้ลุงพรีเซนเตอร์ฝึกเพลงใหม่อยู่ ถ้าได้ก็คงจะเป็นเสียงลุงเขาแหละครับ แกไม่ค่อยร้องเพลงต่อหน้าคนครับ เวลาอยู่ที่คอนโดต้องพาแกไปหลบมุมแล้วให้แกร้องให้ผมฟัง แกเขิน เขาเป็นอดีตยาม แล้วเกษียณมาเป็นช่างซ่อมโน่นซ่อมนี่ในคอนโด
ทำไมต้องอาบู
ยศ: จริง ๆ เขาก็อายุไม่เยอะมาก แต่ว่าผมเป็นคนแนะนำวินให้ลองฟัง วินก็คิดว่า เขาดูฟีลลิงดี ด้วยน้ำเสียง อาจจะไม่ได้แก่มากขนาดนั้น แต่เขาก็ให้ความรู้สึกบางอย่างได้ แล้วทุกคนก็โอเค เลยชวนพี่เขามาร้อง
เพิ่งมาสังเกตว่ารูปลุงสี่คนที่เป็นสมาชิกวง จริง ๆ แล้วคือลุงคนเดียวกันหมดเลย
วิน: (หัวเราะ) คือตอนแรกนี่อ้อมโลกไปไกลมาก ผมเห็นภาพชราภาพในหัวชัดแล้วว่าต้องแทนภาพสมาชิกในวงสี่คนนั่งอยู่ แล้วลุคต้องมีความทันสมัยอยู่ ผมก็ไปหาคน ไปตามเว็บบอร์ดที่คนแก่เขารวมตัวกันแล้วก็ไปถาม ไปโพสต์ว่าใครอยากมาแจมโปรเจกต์นี้ มาถ่ายรูปกันเป็นนักดนตรีอะไรแบบนี้ ซึ่งก็อ้อมไปไกล หาอยู่ หาไม่ได้สักที กิตก็ออกไอเดียว่า เอาคนเดียว แล้วแต่งมา แต่มันเซอร์ไพรส์ตรงที่ว่าคนจับไม่ได้นี่แหละ
ยศ: มันเป็นเรื่อง budget ด้วยแหละ ยอมรับเขาไปเถอะ (หัวเราะ) ถ้าไม่สังเกตก็อาจจะไม่เห็น ตอนแรกจะหาสี่คน แต่พอสี่คนหาลำบากแล้วมันก็เปลือง เลยคิดว่าแบบนี้มันดูได้กิมมิคอะไรบางอย่างด้วย
กิต: ตอนถ่ายก็ให้ความรู้สึกอะไรบางอย่างด้วยนะ เพราะว่าเป็นคนเดียวที่อยู่ในห้องซ้อม เล่นอยู่คนเดียว มันให้ความรู้สึกที่เหงา คนแก่
ยศ: เออ ดูแล้วยังเหงาเลย คือถ้าเข้าไปในเพจมันจะมี photo set อยู่ อยู่คนเดียวจับโน่นจับนี่ อาจเป็นเพราะเรารู้ว่าเป็นคนเดียวกันอยู่แล้วมั้ง เราเลยรู้สึกแบบนั้น
ทำไมเลือกที่จะเล่าเรื่องงานศพในเพลงศาลาคนเศร้าให้ออกมาใน sense ของความรื่นเริง
กิต: จริง ๆ ก็ช่วยกันเขียนแหละ มันเหมือนนึกถึงอารมณ์ของคนแก่ที่เขาไปงานอย่างนี้บ่อย ๆ เขาคงมีความรู้สึกว่ามันปลงแล้วอะ มันไม่ได้เสียใจแล้ว ก็เลยคิดว่าอารมณ์เพลงโดยรวมกับเนื้อร้องมันไม่น่าจะเศร้า มันน่าจะปลงกับชีวิตเพราะมาแล้วไม่รู้ตั้งกี่งาน คิดว่าถ้าเปลี่ยนเป็นเรื่องสบาย ๆ ชิน หรือคุ้น ไม่ได้เศร้าเท่าไหร่ ก็น่าจะสนุกดี
เคยลองถามคนแก่ตรง ๆ ไหมว่า เวลาเขาไปงานศพแล้วรู้สึกยังไง
กิต: คิดเอาเองล้วน ๆ เลย (หัวเราะ)
อยากเล่าเรื่องผู้สูงอายุในทิศทางไหนอีก
ยศ: มีเรื่องสุขภาพ ซึ่งจะมาเป็นเพลงต่อไป เดี๋ยวรอฟัง ส่วนคนร้องนี่จะคนเดิมไหม เป็นปัญหาใหญ่เลยครับ
ดร: มีคนรู้จักไหม คุณลุง คุณอา ใครพอว่าง (หัวเราะ)
ยศ: อัดกลอง อัดกีตาร์ เรียบร้อยแล้ว เหลืออัดเบส กับร้อง ความจริงคือเรียบเรียงเสร็จหมดแล้ว มันเป็นเพลงที่พูดถึงการตรวจสุขภาพประจำปีน่ะครับ เลยอยากให้ออกทันปลายปีนี้
ที่ผ่านมาก็ทำเป็น exhibition ไปแล้ว ต่อไปจะนำเสนอรูปแบบอื่นที่แตกมาจากคอนเซปต์นี้อีกหรือเปล่า
วิน: คิดเป็นรายเพลงมากกว่า อย่างงานศพ ก็จัดงานศพ ส่วนเพลงต่อไปก็ยังคิดไม่ออก พยายามจะเกาะให้อยู่ในธีมนี้แหละครับ
ยศ: แต่คงไม่ทำยิ่งใหญ่หรอก งานที่แล้วทำมารู้สึกว่าเกินกว่าที่เราคิดไปตอนแรก มันเหนื่อยทั้งแรงคน แรงเงิน
ดร: มีทิศทางที่พอจะไปเป็นหลัก แต่ยังไม่มีปลายทาง (หัวเราะ) เกาะคอนเซปต์ไว้ก่อน
แต่ละคนจริง ๆ แล้วทำงานอะไรบ้าง
ยศ: ผมเป็นข้าราชการครับ
วิน: ผมทำงานครีเอทีฟ
กิต: ผมสอน product design ครับ
ดร: ผมเป็นทนายความอิสระครับ
เมืองไทยมี concept band บ้างไหม
กิต: หยาดนภาลัย คือมันเป็นใครก็ไม่รู้ที่ทุกคนจะติดภาพใน mv
ยศ: ลองไปหาดู อันนี้คลาสสิกมาก ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือเปล่านะ แต่ก็กวน ๆ อยู่ คล้าย ๆ ของเรา
ดร: คนที่เล่น mv นี่จะเป็นคนเดิมตลอด แล้วทุกคนจะเข้าใจว่าคนนี้คือคุณหยาดนภาลัย แต่จริง ๆ เขาไม่ใช่ แล้วลุงแกหน้าตาเป็นไงวะ เราก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน
กิต: จริง ๆ การไม่มีตัวตนนี่มันก็ได้ผลลัพธ์อะไรที่มันแปลก ๆ ดีเหมือนกันนะ ทำให้คนสนใจตัว content ว่าพูดเรื่องอะไร เนื้อหาเป็นยังไง
ยศ: บางทีคนคิดว่าเป็นคนแก่เล่น แต่พอรู้ว่าเป็นวัยรุ่นเล่น คือตัวเพลงมันเจ๋ง แต่เขาจะรู้สึกแย่ไหม มันจะแบบ งั้น ๆ นี่หว่า หรือสุดท้ายแล้วเขาจะโฟกัสที่อะไร อย่างไปประกวด Thailand’s Got Talent พอเป็นเด็กเล่นก็ โห ดีมาก เก่งมาก เพราะแค่เป็นเด็กเล่น แต่ว่าตัวงานมันก็ไม่ได้ขนาดนั้น แต่เด็กเล่นแล้วยิ่งใหญ่ เราก็กลัวว่าจริง ๆ ของเรามันเล่นทั่วไป งั้น ๆ หรือเปล่า
กลัวไหมว่าคนจะคิดว่า เพราะเราไม่เก่งเราเลยต้องเอาคอนเซปต์มากลบ หรือไปหลอกเขา
กิต: ไม่กลัว เพราะเราไม่เก่งอยู่แล้ว (หัวเราะ)
ยศ: เราก็ไม่ได้กลัวนะ เพราะเราใช้คำคอนเซปต์นำ เจตนาเราก็ไม่ได้หลอกเขาด้วยนะ คือคิดว่าตอนแรกที่ปล่อยไป คนก็รู้แหละเพราะเราใช้คนแก่คนเดียวกันหมด แล้วอย่างบางคนเขารู้จักอาบูเขาก็จะรู้แล้ว
วิน: จริง ๆ แล้วที่เขียนในแคปชั่น เราก็ไม่ได้บอกนะว่าเป็นวงคนแก่เล่น เราเขียนว่า ทำเพลงในมุมมองคนแก่ แต่ด้วยภาพมัน lead ไปแล้ว ซึ่งความเป็นจริง ภาพมันก็เป็นส่วนหนึ่งในการฟังเพลงนะ เพราะเราก็คิดมาแต่ต้นว่าให้เป็นลุคนี้ มีเนื้อเพลงแบบนี้ มันคิดมาแล้วมากกว่า
ยศ: ที่เราเขียนชื่อสมาชิกวงหรือคนที่เกี่ยวข้องในนั้นก็เป็นชื่อจริงของทุกคนหมดเลยนะ แค่ใส่คำว่า ลุง กับ ป้า เข้าไปเฉย ๆ
ดร: ลุงยศ ลุงวิน ลุงกิต ลุงดร ลุงชาลี
ยศ: ลุงชาลี !!! คนมิกซ์เพลง ชื่อมันดูเก่าสุดละ
แล้วตอนชวนลุงพรีเซนเตอร์มาเขายอมมาง่าย ๆ เลยหรอ
ดร: แกชื่อลุงหมานครับ ตอนชวนนี่บอกเลย พรุ่งนี้น้องดรรอแปป ไปหน้ากระจกหวีผมรอเลย แกชอบครับ แกสนุกเลย
คิดไว้แต่แรกเลยไหมว่าจะให้คนแก่มาทำตัววัยรุ่น
วิน: คิดไว้แต่แรกแล้วครับเพื่อให้สอดคล้องกับเพลง เพราะเพลงมันเป็นเพลงวัยรุ่น ถ่ายทอดโดยคนแก่
อะไรคือเอกลักษณ์ของวง The Charapaabs
วิน: วิธีคิด มันคือ concept band ที่ยังไม่มีใครทำอะไรแบบนี้ เท่าที่เช็คดูนะ ถ้าจะมีอะไรที่ต่างจากคนอื่นก็ต่างกันที่เรื่องนี้ คนอื่นเขาทำวง เขาก็คงคิดว่า เออ ทำ ๆ ซ้อม ๆ ไป เดี๋ยวค่อยไปจัดการ แต่เราคิดภาพรวมทั้งหมดก่อนแล้วค่อยทำ วิธีคิดแบบนี้มันก็ไปทำอย่างอื่นได้แหละ ใช้คอนเซปต์นำมากกว่า
กิต: เพลงทั่วไปถูกคิดขึ้นมาจากว่าจะพูดเรื่องอะไร แต่วงนี้มันถูกคิดขึ้นมาก่อนว่าใครเป็นคนพูด จะพูดเรื่องอะไร
ถ้ามีคนให้ไปเล่นสดจะทำยังไง
ยศ: นั่นน่ะสิครับ นี่ก็ยังคิดอยู่ว่าจะทำยังไง
ดร: มี Parking Toy ชวนมาแล้ว
วิน: อย่างวงเมืองนอกมันมีโปรดักชั่น แล้วมีทุนไง อย่าง Gorillaz มันก็ทำ hologram ออกมา แต่วงเรามันทำแบบนั้นไม่ได้ ทุนก็ไม่มี ลุงก็เล่นดนตรีไม่ได้
กิต: ใส่หน้ากากลุงเล่นล่ะมั้ง
ดร: ใส่ชุดผ้าไหมเล่น
ยศ: ไม่ก็แต่งหน้าเป็นคนแก่เล่น
วิน: จริง ๆ ก็ยังเล่นไม่ได้แหละเพราะยังมีเพลงเดียว (หัวเราะ)
คิดจะเปิดตัวให้คนเห็นหน้าค่าตาไหม
กิต: ไม่ครับ ตอนนี้ยัง
ยศ: ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดหน้าตา เปิดมาเขาคงไม่สนใจ
วิน: ให้คนไปอยู่กับคอนเซปต์วง กับเพลงที่ตั้งไว้ดีกว่าครับ สิ่งที่อยากให้คนรู้ มีคนกลุ่มนี้ คิดแบบนี้ ทำดนตรีด้วยวิธีนี้มากกว่า
เสน่ห์ของผู้สูงอายุคืออะไร
ดร: การมองโลกครับ เขาผ่านโลกมาเยอะ ประสบการณ์ มองโลกในมุมที่กว้าง เรียบง่าย และปล่อยวาง
กิต: งี่เง่าเหมือนกันนะพี่
ดร: (เงียบไปพักนึง) ใช่ (หัวเราะ) เราพยายามมองในมุมคนแก่แบบนั้นไง เราไม่ได้มองแบบมนุษย์ป้า มนุษย์ลุง
วิน: อย่างนึงที่เจอในการทำงานตรงนี้ เราพบว่าเวลาคนพูดเรื่องวัย คนก็จะเซอร์ไพรส์ว่าไม่มีคนพูดเรื่องคนแก่แนวนี้มาก่อน
ยศ: คือเพลงเราไม่ได้ทำให้คนแก่ฟัง เราทำให้คนที่เขาฟังเพลงเนี่ยแหละฟัง ดังนั้นเพลงที่พูดถึงเรื่องแนวนี้แบบที่เราฟัง ๆ กันก็คงไม่เยอะเท่าไหร่ มันก็เลยดูน่าสนใจ เพราะเป็นคนรุ่นนี้ฟัง คนแก่จริง ๆ มาฟังก็อาจจะเฉย ๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
คนพูดถึงวงเยอะมาก และแชร์เพลงกันเยอะมาก รู้สึกอย่างไร
ยศ: กลัวเขาจะด่าว่าเราเป็นแก๊งต้มตุ๋น
กิต: งง ๆ เหมือนกันตอนที่เริ่มแชร์ ๆ รู้สึกตั้งคำถามว่าเขาคิดว่าเป็นคนแก่เล่น หรือเขาแชร์เพราะ content ที่จะสื่อสาร
คาดหวังว่าจะมีคนพูดถึงขนาดนี้หรือเปล่า
ยศ: เราไม่ได้คิดเลยนะ จริง ๆ แค่คิดว่าทำ ๆ ปล่อย ๆ ไป สนุกดี
ดร: คิดว่าคนจะชอบฟังกัน กลายมาเป็นคนชอบคนแก่
สิ่งที่ประทับใจในงานศพจนหยิบมาแต่งเพลง
กิต: จริง ๆ ก็ไม่ได้ประทับใจแล้วหยิบมาแต่ง แค่รู้สึกว่าเป็นงานที่มันน่าจะเล่าเรื่องของคนสูงอายุได้ดีเรื่องนึง เลยหยิบมาเฉย ๆ
ยศ: วิธีคิดมันต่างกับคนอื่น เวลาเขาทำเพลงรัก เขาก็จะเล่าเรื่องส่วนตัว แต่เราตั้งต้นไม่ใช่อย่างนั้น
กิต: เราเล่าเรื่องสมมติตัวเองว่าเป็นคนแก่ ว่าถ้าเขาจะเล่า จะเล่าเรื่องอะไร
ถ้าวงการดนตรีไทยเต็มไปด้วย concept band จะเป็นยังไง
ดร: ถ้ามีมากไปก็น่าเบื่อปะครับ
ยศ: แต่ถ้ามีมากขึ้นก็น่าจะสนุกดีนะครับ เพราะยังมีน้อยอยู่ แต่ว่าถ้าคนทำดนตรีเขาก็อยาก express ว่าเราเป็นใคร เราอยากจะสื่อสารอะไร คงไม่ได้จะทำเพลงมาเพื่อสื่อสารแทนคนอื่น ๆ แบบที่เราพยายามจะเป็นอีกคน
ดร: ใช่ ๆ พวกศิลปินจะบอกว่าอัลบั้มนี้มีความเป็นตัวเองมาก เหมือนอัลบั้มที่แล้ว
คาแรกเตอร์ของ The Charapaabs ถ้ามองเป็นคน จะเป็นคนแบบไหน
ยศ: เป็นคนแก่กวน ๆ ผมว่าพวกเราสี่คนนี่ค่อนข้างกวน
วิน: คงเป็นคนแก่กวนตีน เพราะตอนทำเพลง อย่างพี่ยศ หรือกิต จะบอกว่า เพลงนี้ไม่ใช่ชราภาพว่ะ ก็จะถูกคัดออก
ยศ: แบบอันนี้มึงหล่อไปนะ ไม่เอา ดูเป็นวง keep cool
จะมีการนำเสนอวงในรูปแบบอื่นอีกไหมที่จะทำให้แตกต่างจากแบบทั่วไป
วิน: อย่างผมอ่อนสุดในสามคน ผมไม่ค่อยมีสกิลดนตรี แต่ผมชอบฟังเพลง มีความสนใจเรื่องอื่น ทำหนังสั้น ทำศิลปะ ผมรู้สึกว่าโปรเจกต์นี้มันสนุกตรงที่ว่าบางทีการทำเพลงมันไม่ใช่แค่การเล่นดนตรีแล้ว มันเป็นการที่คนมาฟังแล้วได้อะไรอย่างอื่นด้วย ได้ภาพของแบนด์ นิทรรศการอันนั้นจริง ๆ มันก็สนุกดี ถ้าไม่นับว่ามันเหนื่อย แต่มันก็ยังไม่มีใครทำแบบนี้ แต่ถ้าวงอื่นจะทำแบบไหน ผมก็นึกไม่ออก
กิต: มันสนุกตรงนั่งนึกเนี่ยแหละครับ
ยศ: ถ้าให้นึกออกมาจากการก่อกำเนิดของเพลง มันก็นึกไม่ออกครับ คือกว่าเราจะนึกตรงนี้ได้มันก็นานเหมือนกันนะ
กิตเขาเขียนเนื้อเพลงมาแล้วมันมีเสน่ห์ตรงที่เราไม่ได้พูดตรง ๆ ถ้าฟังดี ๆ มันจะไม่มีคำว่างานศพในเนื้อเพลงเลย เลยมาคิดว่าจะให้เพลงชื่ออะไรดี เคาะไปเคาะมา หมุนกันอยู่นานมากก็ได้คำว่า ศาลาคนเศร้า
จะทำเป็นโปรเจกต์แค่ช่วงสั้น ๆ หรอ
ดร: ดูท่ามันก็น่าจะไม่ยาวครับ (หัวเราะ)
ยศ: ถ้ามันมีมุมอะไรให้เราเขียนได้ก็อยากทำไปนะ แต่คือถ้าพอคนรู้ว่า อ้าว เป็นสี่คนนี้เล่น ถ้าทำอะไรต่อมาอีกก็อาจจะเฉย ๆ ก็เหมือนคนเอาป้า กมลา มาร้องเพลงเพลงนึง มันก็… ความรู้สึกคงต่างกันมั้ง
ดร: หรือจะไม่โชว์ (หัวเราะ) ถ้ามันถูกคาดหวังขนาดนี้ก็อย่าเลย เดี๋ยวโดนปาขวดเบียร์ใส่
ยศ: ยากตั้งแต่เริ่มทำแล้ว หาคนอัดก็ว่ายาก ไหนจะไปยากตอนเล่นสดอีก
ความสำคัญของปูชนียบุคคลคืออะไร
ดร: อยู่ให้เราเลี้ยงดูเขาปะครับ ให้เราแสดงความกตัญญูใส่
กิต: จริง ๆ ก็สำคัญหมดหรือเปล่าครับ จะคนแก่ หรือเด็ก ใครก็สำคัญหมด เราทำงานกันโดยที่ไม่ได้คิดว่าคนแก่สำคัญ แค่พูดในมุมที่คนไม่พูด เพราะทุกวัยก็มีมุมมองที่น่าสนใจของตัวเองอยู่แล้ว
ยศ: แล้วแต่ว่าจะมองมุมไหนมากกว่านะ ผมว่าอย่างมนุษย์ป้า เราก็ไม่ได้รู้สึกประทับใจอะไร เราก็มองคนแก่ที่สร้างประโยชน์ให้สังคม
วิน: เราไม่ได้อินขนาดเอามาทำ คือแค่ได้คอนเซปต์ สนุกที่จะได้เล่าเรื่องมากกว่า
ฝากบอกอะไรถึงคนที่คิดว่าเราเป็นวงคนแก่
ดร: เราไม่แก่ (หัวเราะ) เราไม่ได้ตั้งใจหลอกนะ
ยศ: อย่าเกลียดเรานะครับ เราไม่ใช่แก๊งต้มตุ๋น
วิน: บอกว่ามันเป็นการฟังเพลงแบบใหม่ละกันครับ คือเข้าใจว่ามันมีการคาดหวังจากการนำเสนอแบบนี้ แต่ถือว่าด่า ก็ยังดีกว่าไม่พูดถึงเลย อย่างน้อยมันก็เป็น feedback ว่ามีคนที่ทำแบบนี้ขึ้นมา จะชอบ หรือ กูเกลียดมึง แค่ต่อไปจะมีคนพูดถึงว่ามันเคยมีวง The Charapaabs เกิดขึ้นมาแล้วเขามีวิธีคิดแบบนี้ ยังไม่มีใครทำ ก็ถือว่าโอเคแล้ว
ฝากผลงาน
ดร: ก็มีเท่านี้แหละครับผลงาน ฝากให้ติดตามในเฟซบุ๊ก และเรายังไม่แก่นะ (หัวเราะ)
ยศ: ลองปิดภาพลุง แล้วลองฟังเพลงเราดูครับ อยากให้ลองฟังเพลงด้วยแหละ เพราะเวลาเอาภาพนำแล้วเราก็ไปติดว่าคนแก่เล่น อยากให้ลองดูว่าตัวเพลงเป็นยังไง ชอบไหม mv เราก็ไม่ค่อยเหมือน mv เหมือนเป็นบันทึกภาพบรรยากาศในนิทรรศการ มันก็เป็นฟีลอีกแบบนึง ลองดูครับ