Article Guru

The Beatles หนึ่งในแรงขับเคลื่อน ที่ทำให้ชาวตะวันตกสนใจการทำสมาธิ

ไม่มีใครปฏิเสธว่า The Beatles คือหนึ่งในศิลปินผู้ริเริ่มสิ่งใหม่ให้กับวงการดนตรี เพราะตั้งแต่อัลบั้มแรก ไล่ไปจนถึงงานชุดสุดท้าย หรือแม้แต่ผลงานเดี่ยวของสมาชิกแต่ละคน ต่างก็มีการนำเสนอที่แตกต่างออกไป และให้กลิ่นอายที่แปลกใหม่กับเพลงในยุคนั้นอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ The Beatles เป็นวงดนตรีที่โด่งดัง ไม่ว่าจะขยับตัวไปไหน หรือทำอะไร ก็มักจะได้รับความสนใจ จนบางครั้งก็เกิดเป็นเทรนด์บางอย่างขึ้นมาด้วยซ้ำ

พวกเขามีเรื่องให้คนรุ่นหลังกล่าวขานถึงมากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวในช่วงปี 60s ว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนทางดนตรีและแนวคิดครั้งสำคัญของ The Beatles ตอนนั้นมันเป็นยุคที่เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะที่อเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงเรียกร้องสิทธิ์ของคนผิวสี สงครามเวียดนาม สงครามเย็นระหว่างโซเวียตกับสหรัฐ ทำให้คนเกิดความเครียดและอยากหลบหนีจากความเป็นจริงอันน่าหดหู่

จนกระทั่งโลกตะวันตกได้เชื่อมต่อกับโลกตะวันออกผ่านการแลกเปลี่ยนทางดนตรี เริ่มตั้งแต่ปี 1952 Yehudi Menuhin มือไวโอลินชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ได้รับเชิญจากรัฐบาลอินเดียให้ไปแสดงคอนเสิร์ต โดย Jawaharlal Nehru นายกรัฐมนตรีของอินเดียในเวลานั้น แนะนำให้เขาได้รู้จักกับ Ravi Shankar มือซิตาร์ชื่อดัง

ในเวลาต่อมา Menuhin ก็กลายมาเป็นคนที่ช่ำชองในดนตรีคลาสสิกของอินเดีย และทำให้อัลบั้ม West Meets East ที่เขาบรรเลงร่วมกับ Shankar ได้รางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยม Grammy Awards ในปีนั้น รวมถึงได้แสดงกับศิลปินฮินดูสถานสังคีต Ali Akbar Khan ด้วย

หลังจากนั้นไม่กี่ปี สถานีโทรทัศน์ของอเมริกาก็ถ่ายทอดภาพการแสดงของ Ali Akbar Khan ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม ทำให้มีคนรู้จักดนตรีคลาสสิกของฝั่งอินเดียมากขึ้น จน Ravi Shankar ได้มาเปิดการแสดงที่อินเดีย ความสำเร็จในการแสดงครั้งนั้นทำให้เขาออกอัลบั้มกว่าสิบสองชุดที่อเมริกา

อิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมอินเดียยิ่งได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย เมื่อ มหาริชี มเหช โยคี (Maharishi Mahesh Yogi) ได้มาเยือนอเมริกา และยุโรป เพื่อเผยแพร่การศึกษาที่มีจิตสำนึกเป็นฐาน (Consciousness-Based Education) และการปฏิบัติสมาธิล่วงพ้น (Transcendental Meditation ต่อไปเราจะเรียกว่า TM) สู่ชาวตะวันตก หลังจากที่โลกตะวันตกได้ตื่นรู้กับศาสตร์ดังกล่าว ที่ทุกคนมาทำสมาธิร่วมกัน ก็ยิ่งทำให้เครือข่ายนั้นขยายไปเรื่อย

เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางยุค 60s George Harrison ได้ลองใช้ acid เป็นครั้งแรกในปี 1965 “ผมไม่เคยเห็นภาพอะไรแบบนั้นมาก่อน แล้วจู่ สิ่งนั้นก็ปรากฏขึ้นมาในจิตใต้สำนึกของผมจอร์จเล่าถึงการเห็นนิมิตของเหล่าฤาษีที่นั่งบำเพ็ญอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ตอนนั้นเองที่ผลงานของ The Beatles เริ่มได้รับการผสมผสานของประสบการณ์ไซเคเดลิกมากขึ้นเรื่อย

ในปีเดียวกัน เขาไปหา David Crosby จากวง The Byrds ที่ลอสแอนเจลิส ครอสบี้เปิดเพลง Ravi Shankar ให้จอร์จฟัง และเกิดสนใจในงานของคีตกวีผู้นี้มาก จนเมื่อ Shankar มาทัวร์ที่อังกฤษ จอร์จก็ถือโอกาสเข้าไปทำความรู้จักและขอเรียนซิตาร์กับเขา

จอร์จหลงใหลในศาสตร์และศิลป์ของอินเดียมาก เขาและ Patty Boyd ภรรยาในขณะนั้นถึงกับบินไปเยี่ยม Shankar ถึงอินเดียในปีต่อมา และซึมซับเอาวัฒนธรรมตะวันออกมาอย่างเต็มขั้น ซึ่งเขาได้เผยแพร่สิ่งนี้ให้กับเพื่อนร่วมวงคนอื่น ได้สัมผัสกับประสบการณ์ทางดนตรีจากอีกโลก

ปี 1967 The Beatles ยิ่งลงลึกถึงเรื่องราวทางจิตวิญญาณยิ่งขึ้นหลังจากใช้ LSD เพื่อทดลองเขียนเพลงในอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ตอนนั้นเองเป็นช่วงเดียวกับที่ TM ของมหาริชีก็โด่งดังจนได้ออกสื่อ ก็ทำให้จอร์จสนใจและเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการทำสมาธิ เขาเชื่อว่ามนตร์เหล่านี้คือรหัสลับที่สามารถไขเข้าไปเรียนรู้ความเป็นไปของโลกได้ ถึงขนาดไปร่วมงานที่มหาริชีมาอบรมที่โรงแรม Hilton ในลอนดอน (ทุกคนไปยกเว้น Ringo Starr เพราะภรรยาของเขาเพิ่งคลอดลูก)

หลังการได้ฟังมหาริชีสอน ทั้งสามประทับใจในวิธีการสอนอันเรียบง่ายและใช้ได้จริง และโทรไปซักไซ้ให้ริงโก้ไปเรียนด้วยกันที่คอร์ส 10 วันในเวลส์ แน่นอนว่าริงโก้ตอบตกลง จนได้สัมผัสกับตัวตนของมหาริชีและแนวทางปฏิบัติ ความประทับใจในขณะนั้นทำให้พวกเขาทั้งสี่ รวมถึงเพื่อนศิลปิน และนักแสดงอีกหลายชีวิต เดินทางไปเพื่อศึกษากับมหาริชีโดยตรงที่อินเดีย

ที่ Rishikesh ถูกขนานนามว่าเป็นบ้านเกิดแห่งโยคะ เพราะที่นั่นมีอาศรมและวัดกว่าร้อยแห่ง เพื่อรองรับกลุ่มผู้แสวงบุญจำนวนมากที่ตั้งใจมาเพื่อกรรมฐาน อาศรมของมหาริชีก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยตั้งอยู่บนหน้าผาที่ยื่นไปแม่น้ำคงคา รายล้อมไปด้วยพงไพร ลูกศิษย์ลูกหาของมหาริชีเดินทางมายังที่เงียบสงบนี้เพื่อทำสมาธิวันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ โดยมีเสียงเพลงบรรเลงคลออยู่เบา ๆ ตลอดทั้งวัน อาศรมแห่งนี้ได้รับเงินสนับสนุนให้ก่อสร้างจากนักแสดง Doris Duke ที่เป็นผู้ศรัทธาเช่นเดียวกัน

The Beatles เองก็ได้มาสมถกรรมฐานที่นี่ในช่วงกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน ปี 1968 (เพราะหลังจากนั้นวงก็บินกลับบ้านก่อนจะมีข่าวลือว่ามีเรื่องการมั่วสุมทางเพศเกิดขึ้นที่อาศรมแห่งนี้) ระหว่างการพำนักพวกเขาไม่แตะต้องสารเสพติดอื่น ๆ ใช้แต่กัญชาและการทำสมาธิเท่านั้น ซึ่งมันทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีกำลังวังชาแบบที่ไม่ใช่ต้องกระตุ้นจากสารเคมีใด ทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนี่เองที่ทำให้พวกเขาสามารถเขียนเพลงออกมาหลายสิบบทเพลง และเพลงส่วนใหญ่ถูกรวมเข้าไว้ใน White Album ซึ่งเป็น double album เดียวของวงตั้งแต่ทำเพลงมา และหนึ่งในเพลงจากอัลบั้มนี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก Prudence Farrow น้องสาวของนักแสดง Mia Farrow พวกเธอคือมิตรสหายที่พวกเขาชวนให้ไปร่วมกรรมฐานด้วยกัน 

พรูเดนซ์ เป็นคนที่ศรัทธาในวิถีของ TM มาก ครั้งแรกที่เธอได้รู้จักกับศาสตร์ดังกล่าวตอนอายุ 18 เธอก็เฝ้าฝันที่จะได้ไปเรียนกับมหาริชีเสมอมา จนในเวลาต่อมาพี่สาวของเธอได้เทียบเชิญให้ไปบำเพ็ญเพียรที่อาศรมในอินเดีย เธอก็ขอมีอาติดตามไป รวมถึง Johnny น้องชายของพวกเธอด้วย

Prudence Farrow คนซ้ายสุด

ความตั้งใจของพรูเดนซ์ในการปฏิบัติตนเพื่อที่จะได้บรรลุก่อนคนอื่น ทำให้ John Lennon หยิบเรื่องราวมาเขียนเป็นเพลง Dear Prudence จากบทสัมภาษณ์ของเขาในปี 1980 เล่าว่าพรูเดนซ์ขังตัวเองไว้ในห้องกว่าสามสัปดาห์ เพราะเธออยากจะเข้าถึงพระเจ้าได้เร็ว

Dear Prudence, won’t you come out to play?
Dear Prudence, greet the brand new day
The sun is up, the sky is blue
It’s beautiful and so are you
Dear Prudence, won’t you come out to play?

พรูเดนซ์เอ๋ย ไม่ออกมาเล่นด้วยกันหน่อยหรอ
พรูเดนซ์เอ๋ย ให้เช้าวันใหม่ได้ทักทายเธอสักนิด
ดวงอาทิตย์ร้อนแรง ท้องฟ้าแสนสดใส
มันดูสวยงามเช่นเดียวกับเธอ
พรูเดนซ์เอ๋ย จะไม่ออกมาเจอกันหน่อยเหรอ

หลังจากพรูเดนซ์ได้ฟังเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากช่วงเวลาบำเพ็ญภาวนาของเธอ เธอเล่าความรู้สึกว่าฉันก็เหมือนจอร์จแหละ เราอุทิศชีวิตให้กับสิ่งที่คนส่วนใหญ่คงไม่ได้รู้สึก หรือรู้ว่ามันมีอยู่ ซึ่ง Dear Prudence เป็นเพลงที่สวยงาม มันคือความสัจจริงอย่างยิ่งที่พูดถึงเรื่องนั้น สำหรับฉันมันเป็นเพลงเดียวในอัลบั้มที่ถ่ายทอดความทรงจำใน Rishikesh ได้อย่างแจ่มชัด

22 พฤศจิกายน 1968 self-titled album The Beatles หรือที่รู้จักกันในชื่อ White Album ได้วางจำหน่าย ทุกคนตื่นตะลึงกับดนตรีของ The Beatles ที่มีตั้งแต่งานจังหวะคุ้นเคย ไปจนถึงโฟล์ก บลูส์ งานทดลอง avant-garde ชวนหลอนที่ใครต่างคิดไม่ถึง โดยในเวลาต่อมา อัลบั้มนี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิจารณ์ว่าเป็นอัลบั้มที่พูดถึงความไม่สำหลักสำคัญของสิ่งอันในชีวิต และไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แม้ว่าในช่วงนั้นจะเป็นปีที่คุกรุ่นสุด ทั้งเรื่องการเมืองและเกิดความรุนแรงทุกหย่อมหญ้า นี่ก็น่าจะเป็นจุดมุ่งหมายของจอห์นที่ตั้งใจให้อัลบั้มนี้เป็นการหลบหนีจากทุกสิ่ง

ภาพของ The Beatles ที่บำเพ็ญตนอยู่ในอาศรมของมหาริชี รวมถึงเพื่อนศิลปินอย่าง Donovan, Mia Farrow และ Mike Love จาก The Beach Boys ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนมากขึ้น และทาง George Harrison เอง ก็ทำบทสวด หเรกฤษณะ (Hare Krishna Maha-Mantra) เป็นเวอร์ชันของตัวเองที่ร่วมร้องกับเหล่าสาวกเป็นภาษาสันสกฤต และบรรเลงฮาร์โมเนียมลงไป เขาเชื่อว่ามหามนตร์นี้มีความสำคัญกับชีวิตของเขา โดยเนื้อหากล่าวว่าเป้าหมายของชีวิตคือความรักที่บริสุทธิ์อันมีต่อพระกฤษณะภายหลัง เพลงนี้ขึ้นสูงถึงอันดับที่ 12 ของ UK singles chart 

หลังจากการไปค้นพบโลกใหม่ของ The Beatles พวกเขากลับมาบ้านและให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายแขนง และเผยแพร่ความเชื่อทางจิตวิญญาณ ให้คนได้รู้ว่าการทำสมาธิมันช่วยโลกได้อย่างไรในช่วงที่ความโกลาหลและความรุนแรงปะทุขึ้นทุกหนแห่ง

เราเพียงแค่ลองทำ หลังจากที่เรากลับมา เราตระหนักได้ถึงจิตใต้สำนึกที่ลึกลงไป ปัญหาทั้งหมดเกิดจากความเขลา ความไม่รู้แจ้งต่อโลก ดังนั้นแต่ละคนต้องคิดให้ได้ว่าจะทำอะไรให้กับโลกใบนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีเดียวกัน แต่การที่เราได้ระลึกถึงตัวเอง อยู่กับปัจจุบันขณะ โดยที่ไม่ต้องนึกถึงเรื่องอื่น

“สมมติมันจะเกิดการฆาตกรรม ซึ่งเราไม่รู้ว่าฆาตกรคิดอะไรอยู่ แต่การทำสมาธิอาจจะช่วยให้เขาเปลี่ยนใจ คือเราไม่มีทางรู้ได้หรอก แค่มันเป็นสิ่งที่ดี และเรียบง่าย ถ้าคุณอยากให้อธิบายมากกว่านี้คุณอาจจะต้องไปลองถามมหาริชีดูJohn Lennon กล่าว

แม้หลังจากนั้นในปี 1969 จะเป็นปีที่อัลบั้มชุดสุดท้ายของ The Beatles ปล่อยออกมา พวกเขาแต่ละคนต่างแยกย้ายไปทำงานของตัวเอง แต่แนวคิดนั้นก็ยังทำให้จอร์จทำอัลบั้มที่ข้องเกี่ยวกับการเดินทางทางจิตวิญญาณต่อไป เริ่มด้วย All Things Must Pass ที่มีเพลง My Sweet Lord และ หเรกฤษณะมหามนตร์ อยู่ในนั้น และในช่วงเวลาเดียวกัน คนหันมาให้ความสนใจกับการปฏิบัติดังกล่าวมากขึ้น จนถึงกลางทศวรรษที่ 70 มีผู้ฝึก TM กว่า 600,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า 40,000 คนต่อเดือน

ขณะที่แนวคิด TM ของมหาริชีก็ค่อย เลือนหายไปตามกาลเวลา เพราะในยุคสมัยนั้นบางคนก็รับวิถีปฏิบัติมาเพียงเพราะเป็นเทรนด์ หรือบางคนก็ให้การต่อต้านเพราะมองว่าเป็นวิถีฮิปปี้ที่ไม่ได้ให้อะไรกับสังคมอย่างเป็นรูปธรรม แต่กับบางคนในสหรัฐ แนวคิดนี้ก็ยังถูกยึดถือปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

Claire Hoffman นักเขียน Rolling Stone เล่าว่า เธอและคนในชุมชนเล็ก ในแฟร์ฟีลด์ รัฐไอโอว่า ยังนำเอาวิถีการใช้ชีวิตของมหาริชีมาปฏิบัติตาม แม้กระทั่งมีรูปของเขาแขวนไว้ในบ้านหรือสถานศึกษา เธอในขณะนั้นที่เป็นวัยรุ่นก็รู้สึกว่า วิถี TM นั้นช่างคับแคบ เพราะในขณะที่คนอื่นอยู่อย่างสมถะ แต่เธออยากเป็นเด็กวัยรุ่นทั่วไป เธอรู้สึกว่าวิถีนั้นทำให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงกับเธอดูประหลาด ส่วนเธอเองก็กลายเป็นคนที่แปลกแยกจากคนที่บ้าน

เธอให้ข้อสังเกตว่าอันที่จริงแล้วคนอเมริกันบางคน ก็ไม่ได้เข้าใจคอนเซ็ปต์ของการทำสมาธิขนาดนั้น เพราะหลาย คนมองว่า The Beatles คือคนที่ทำให้มหาริชีมีตัวตน และตัวตนของเขาก็มีความเป็นศาสดากับสาวก มากกว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะพาให้ทุกคนหลุดพ้น เพราะสุดท้ายแล้วคนที่เข้าไปฝึกปฏิบัติกับเขาก็ต้องเสียค่าเรียนราคาแพงอยู่ดี

นิตยสาร Life ถึงกับยกให้ปี 1968 เป็น ‘The Year of the Guru’ ที่มีมหาริชีขึ้นปก และภายหลังสื่อวิพากษ์วิจารณ์ว่า TM คือ McDonald’s ของโรงเรียนสอนทำสมาธิ ซึ่งในอีกมุมนึงอาจมองได้ว่า อันที่จริงแล้วมหาริชีอาจจะไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ตัวเองกลายมาเป็นไอคอนทางจิตวิญญาณ เพียงแต่เหล่าสาวกของเขากลับเป็นคนดังที่มีผู้ติดตามมากมายในระดับคลั่งไคล้ ซึ่งมีข้อดีตรงที่แนวปฏิบัตินี้จะแพร่หลายได้ไกล และมีคนติดตามมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะตามมาด้วยข้อเสียที่ต้องมาแก้ต่างกับสังคมด้วย เพียงเพราะการปฏิบัติแบบ TM นั้นไม่ได้เห็นผลแบบเป็นรูปธรรมโดยเร็วกับทุกคน

แต่ภายหลัง David Lynch ผู้กำกับอเมริกัน ผู้ปฏิบัติตามหลัก TM มาตั้งแต่ปี 2002 จากการเข้าร่วมอบรมในยุโรป เขาได้ก่อตั้ง The David Lynch Foundation for Consciousness-Based Education and World Peace เมื่อปี 2005 โดยตั้งใจให้เป็นมูลนิธิที่สนับสนุนการเรียนการสอน TM ในโรงเรียน มีสำนักงานอยู่ที่นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส และแฟร์ฟีลด์ เขาเดินทางไปให้ความรู้ทั่วประเทศเกี่ยวกับหลักปฏิบัติที่เรียบง่ายและนำไปใช้จริงได้มากขึ้น อย่างการทำให้เรารู้สึกเป็นสุข ร่มเย็น และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยังไงได้บ้าง และเลี่ยงการพูดถึงตัวบุคคล ซึ่งความจับต้องได้ และไม่ให้ความรู้สึกว่ามอมเมาประชาชน นั่นเองที่ทำให้ TM กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

Paul McCartney, David Lynch, Ringo Starr

เรื่องของ The Beatles กับ Transcendental Meditation ทำให้คำกล่าวที่ว่าดนตรี คือ soft power’ ไม่ไกลจากความเป็นจริงนัก เพราะเมื่อดนตรีที่เกิดจากกลุ่มเล็ก ได้ถูกเผยแพร่ไปโดยคนที่มีเสียงดัง มีอำนาจในการเล่าข่าวสารที่ทุกคนจะตั้งใจฟัง วันนึงมันจะกลายมาเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่สามารถเชื่อมเอาทั้งวัฒนธรรม และความเชื่อจากมุมเล็ก อีกมุมนึงของโลก มาเผยแพร่จนกลายเป็นวิถีของคนกลุ่มใหญ่ในประเทศได้เหมือนกัน แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้มันจะไม่เห็นผลในเร็ววัน แต่ถ้าเรายังมีความเชื่อ และสามารถอธิบาย สร้างความเข้าใจให้มีคนเห็นคล้อยกับเราได้อย่างมีความอดทน และแลกเปลี่ยนเพื่อการแก้ไขปัญหาที่สังคมประสบร่วมกัน คงจะทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นแยะเลย

อ้างอิง
The Beatles and the Music that Brought Meditation West
How The Beatles learned Transcendental Meditation — and what they thought about it
How the Beatles in India Changed America

Facebook Comments

Next:


Montipa Virojpan

อิ๊ก เนิร์ดดนตรีที่เพิ่งกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนอายุ 25 ชอบเดินเร็ว นอกจากขนมปังกับกาแฟดำแล้วก็สามารถกินไอศกรีมกับคราฟต์เบียร์แทนมื้อเช้าได้