งานวิจัยพบ สตรีมมิ่งทำ โลกร้อน มากกว่าซีดี!

Article Guru

งานวิจัยพบ สตรีมมิ่งทำโลกร้อนมากกว่าซีดี!

ยุคเปลี่ยนไป ความสะดวกก็เพิ่มขึ้น ผู้คนหันมาฟังเพลงถูกลิขสิทธิ์ผ่านสตรีมมิ่งแทนการซื้อสินค้า physical อย่างซีดี คาสเซ็ต และไวนิลกันมากขึ้น ด้วยราคาที่ถูกลงและสาเหตุหลาย ๆ ประการ ซึ่งหลาย ๆ คนรวมถึงเราก็น่าจะคิดว่า การไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องขนส่ง ไม่ต้องผลิตสินค้าเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ได้ แต่ล่าสุดนักวิจัยเพิ่งค้นพบว่า สตรีมมิ่งนี่แหละ ตัวทำลายโลก!

รู้หรือไม่: ในปี 1977 ผู้คนยอมควักเงิก 4.83% ของรายได้ต่อสัปดาห์เพื่อซื้อไวนิล แต่เมื่อถึงปี 2013 คนยอมซื้ออัลบั้มแบบดิจิทัลเพียง 1.22% ของเงินเดือนเท่านั้น

สตรีมมิ่งทำ โลกร้อน จริงเหรอ?

The cost of music from theconversation สตรีมมิ่ง ทำ โลกร้อน

The Cost of Music จาก theconversation.com

หลาย ๆ คนน่าจะคิดว่า เมื่อเราซื้อสินค้า physical กันน้อยลง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็ควรจะลดลงด้วย ซึ่งก็ลดลงจริงในแง่ของการใช้พลาสติกในการผลิตสินค้าต่าง ๆ แต่เราขอชวนมาดูสถิติเหล่านี้ก่อน ซึ่งกลุ่มผู้วิจัยจาก University of Glasgow และ University of Oslo ได้ร่วมกันคำนวณออกมา โดยเริ่มต้นจากปี 1977 ที่ยังเป็นยุคไวนิล วงการดนตรีมีการใช้พลาสติก 58 ล้านกิโลกรัมในการผลิตสินค้า ก่อนจะลดจำนวนลงเป็น 56 ล้านกิโลกรัมในปี 1988 ซึ่งเป็นยุคคาสเซ็ต จากนั้นก็เพิ่มขึ้นอีกครั้งตอนเป็นยุคซีดีในปี 2000 ซึ่งใช้พลาสติก 61 ล้านกิโลกรัม แล้วพอเป็นยุคดิจิทัลในปี 2016 ก็ใช้พลาสติกแค่ 8 ล้านกิโลกรัมเท่านั้น

ซึ่งเมื่อเรามาดูในแง่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็พบว่าค่อนข้างสอดคล้องกับจำนวนพลาสติกที่ใช้ผลิตในปีนั้น ๆ เริ่มต้นจาก ปี 1977 ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 140 ล้านกิโลกรัม ก่อนจะเป็นปี 1988 ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 136 ล้านกิโลกรัม จากนั้นก็เพิ่มขึ้นอีกครั้งในยุคซีดีตอนปี 2000 ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก 157 ล้านกิโลกรัม

แต่พอถึงยุคดิจิทัลเท่านั้นแหละ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นกลายเป็น 350 ล้านกิโลกรัมเลยทีเดียว ซึ่งที่น่าตกใจคือนี่เป็นตัวเลขของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเดียวเท่านั้น! โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่พุ่งขึ้นสูงขนาดนี้ก็เกิดจากการต้องเก็บเพลงทั้งหมดทางออนไลน์ ทำให้ต้องใช้พลังงานจำนวนมากหล่อเลี้ยง data center ที่เก็บข้อมูลเหล่านี้ (ซึ่งต้องใหญ่มาก ๆ เพราะแต่ละเจ้าก็มีเพลงกว่า 30-60 ล้านเพลง แถมยังเพิ่มมาใหม่วันละหมื่น ๆ เพลงทุกวัน) แล้วนี่จะเป็นปริมาณเท่าไหร่ในปี 2020? ก็เป็นเรื่องที่ต้องวัดผลกันต่อไป อย่างไรก็ดี ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้คำนวณจากแค่สินค้าที่ขาย ไม่ได้คำนวณพลังงานที่ใช้ระหว่างการขนส่ง พลังงานที่ใช้อัดเพลง พลังงานที่ใช้ผลิตเครื่องดนตรี ฯลฯ ซึ่งถ้าต้องการตัวเลขที่แม่นยำก็คงก็ทำการวิจัยกันเพิ่มอีก

แต่ก็ไม่ใช่ต้องกังวลถึงกับเลิกฟังเพลงนะ ซึ่ง Dr. Matt Brennan ผู้ร่วมดำเนินการวิจัยก็ได้มาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เป้าหมายของการวิจัยครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อบอกคนฟังว่าพวกเขาควรเลิกฟังดนตรี แต่เราต้องการจะทำให้พวกเขาตระหนักว่าการฟังเพลงในยุคดิจิทัลนี้ก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย เราหวังว่าผลวิจัยครั้งนี้จะสามารถผลักดันให้ผู้คนเลือกช่องทางการฟังเพลงที่ยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นบริการที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักดนตรีเช่นเดิม” เพราะฉะนั้นใครถนัดแบบไหนก็เลือกสนับสนุนศิลปินกันทางนั้นนะ ฟังเพลงผ่านช่องทางถูกลิขสิทธิ์ก็สบายใจทั้งคนทำเพลงทั้งคนฟังเพลงแน่นอน

อ่านต่อ

ร่วมหาทางออกให้อนาคตของอุตสาหกรรมดนตรีไทย ในเวิร์กช็อป The Future of Thai Music Industry

ชวนฟังเสียงทะเลจาก KEYNVOR — ศิลปินคลื่นลูกใหม่จากค่าย Universal Music

หมดยุคหวงศิลปินแล้ว! รวมวิธีซัพพอร์ตศิลปินเท่าที่จะนึกออก

อัลบั้ม Greatest Hits ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคสตรีมมิ่ง

 

อ้างอิง
Music streaming has a far worse carbon footprint than the heyday of records and CDs – new findings MUSIC CONSUMPTION HAS UNINTENDED ECONOMIC AND ENVIRONMENTAL COSTS Streaming music is worse for the environment than CDs, vinyl: study
Facebook Comments

Next:


Malaivee Swangpol

มิว (เรียกลัยก็ได้)​ โตมาข้าง ๆ วงมอชแต่ตอนนี้ฟังทุกแนว ชอบอ่านหนังสือ ตามหาของกินอร่อย ๆ และตอนนี้ก็คงกำลังวางแผนเที่ยวรอบโลกอยู่