System Sounds cover

Article Story

System Sounds เว็บไซต์ที่ผนวกเสียงดนตรีเข้ากับระบบสุริยะจักรวาล กลายเป็นเพลงชวนตื่นตา

  • Writer: Peerapong Kaewthae
  • Art Director: Tas Suwanasang

เมื่อ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา NASA ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า พวกเขาพบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลเป็นจำนวน 4,000 ดวงแล้ว! พอเราได้ยินประโยชน์ข้างต้นแล้วก็คงได้แต่รำพึงว่า แล้วยังไงหว่า? การไขความลับจักรวาล การเกิดและดับของสิ่งต่าง ๆ เอเลี่ยนหรือการที่เสาะหาดาวที่มนุษย์ไปอยู่ได้ สำหรับทุกคนมันอาจเป็นเรื่องไกลตัวมาก ๆ อย่างน้อยก็คงมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดในช่วงชีวิตเรา แต่มีชาวต่างชาติสามคนที่เห็นความสนุกในการเล่นกับดวงดาวและเสียงดนตรี

Andrew Santaguida คือนักดนตรีที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ส่วน Matt Russo คือนักดาราศาสตร์ที่ชอบเล่นดนตรี นอกจากเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ เขาก็ต้องคอยตอบคำถามเกี่ยวกับดวงดาวของ Andrew ส่วน Dan Tamayo คือเพื่อนซี้ที่มหาลัยของ Matt เขาเป็นนักวิจัยที่สนใจเรื่องระบบสุริยะและวงโคจรของดาวต่าง ๆ แต่ที่ทั้งสามคนมีเหมือนกันคือพวกเขารักทั้งเสียงดนตรีและดวงดาวเหมือน ๆ กัน จึงทำเว็บชื่อ System Sounds ขึ้นมา เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ผ่านเสียงดนตรี ซึ่งแน่นอนว่าเขาเอาดาวเคราะห์ 4,000 ดวง มาทำให้น่าสนใจขึ้นด้วย

แนะนำให้ลองฟังรอบหนึ่งก่อนค่อยอ่านบรรทัดต่อไป ว่าการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มันชวนผ่อนคลายแค่ไหน

เพื่อฉลองที่ NASA สำรวจดางเคราะห์ใหม่ ๆ ได้ครบ 4,000 ดวงตลอดระยะเวลาหลายปี วีดีโอนี้ทำขึ้นมาเรียงตามไทม์ไลน์ของการค้นพบและแปลงให้เป็นเสียงดนตรี บันทึกดาวเคราะห์ใหม่หนึ่งดวงก็จะมีเสียงหนึ่งคีย์ ขนาดของวงกลมก็คือขนาดของวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงนั้น โดยแบ่งตามสีของวิธีที่พบ เช่น Radian Velocity คือตรวจจับความเร็วในการโคจรของดาว imaging คือถ่ายภาพได้ ดาวเคราะห์ดวงในที่ใช้เวลาโคจรนานก็จะให้โน้ตเสียงต่ำหน่อย ดวงไหนโคจรเร็วโน้ตก็จะสูงขึ้น เมื่อเอามาร้อยเรียงกันทั้งสี่พันดวง ก็กลายเป็นออเคสตราแห่งจักรวาลที่ไพเราะสุด ๆ อ่านย่อหน้านี้จบแล้ว ลองไปดูวีดีโอข้างบนอีกทีแล้วสังเกตสิ่งต่าง ๆ ดูอีกรอบจะได้เข้าใจมากขึ้น หรือจะลองดูเวอร์ชั่น 360 องศา ดูก็ได้ ยิ่งน่าตื่นตาขึ้นเป็นกองเลย

ในเว็บไซต์ System Sounds ก็ยังมีของเล่นอีกเยอะแยะให้เราลองไปจิ้ม ๆ กด ๆ ด้วยตัวเองในหัวข้อ ‘PLAY’ อย่างการหยิบ TRAPPIST-1 หรือระบบดาวที่คล้ายกับระบบสุริยะที่เราอยู่ แต่มีดาวเพียง 7 ดวงเท่านั้นมาทำเป็นเกมง่าย ๆ โดยดาวแต่ละดวงจะมีระยะเวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์แคระของมันคล้ายกับ bpm ในการทำดนตรี เราก็จัดการใส่เสียงต่าง ๆ ลงไปทำให้มันเกิดเป็นลูปดนตรีที่น่าสนใจมาก ๆ จากการออกแบบของเราเองว่าระบบดาวอันนี้จะขับเสียงเพลงออกมายังไง ถ้าดูคลิปข้างล่างแล้วอยากเล่นก็กดเข้าไป ตรงนี้ เลย

ในเว็บยังมีตัวอย่างของการหยิบจับดาราศาสตร์จ๋า ๆ มาทำเป็นเสียงดนตรีให้น่าสนใจมากขึ้น พร้อมสอดแทรกความรู้ด้านดาราศาสตร์ที่น่าสนใจควบคู่กันไป ว่าตอนนี้เราค้นพบอะไรบ้างในจักรวาลอันไร้ก้นบึ่ง แถมยังได้เสพดนตรีที่แปลกใหม่จากการทดลองนำสิ่งต่าง ๆ ในอวกาศมาสร้างเสียงได้น่าตื่นเต้น โดยเฉพาะการนำวงแหวนดาวเสาร์มาหาความตื่นลึกหนาบาง แล้วลองเล่นมันแบบแผ่นเสียงดูว่าเสียงมันจะออกมาเป็นยังไง

ใครขี้เกียจอ่านจริง ๆ ก็ลองเข้าไปเล่นใน YouTube ก็ได้ เพราะเขาอัพโหลดหลาย ๆ คลิปไว้ในนั้นหมดแล้ว แค่ฟังเสียงอันน่าพิศวงเหล่านั้นก็ทำให้วันธรรมดากลายเป็นวันที่น่าตื่นเต้นได้แล้ว

จักรวาลยังมีเรื่องลึกลับให้เราได้ค้นหาอีกมากมาย แต่คงไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะพุ่งออกไปนอกอวกาศที่อันตราย เราอยู่บนโลกแล้วใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการต่อยอดสิ่งต่าง ๆ บนโลกให้น่าอยู่ขึ้นกันคนละไม้ละมือดีกว่า วันหนึ่งมนุษย์ต่างดาวอาจเดินทางมาพบเราแล้วเชิญตัวแทนจากโลกให้ไปเป็นนักดนตรีแห่งจักรวาลก็ได้ เหมือนจะไม่มีทาง แต่ใครจะไปเดาออกล่ะว่ามันไม่มีทางเกิดขึ้นจริง!

Facebook Comments

Next:


Peerapong Kaewthae

แม็ค เป็นคนชอบฟังเพลงเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้ และก็ชอบแนะนำวงดนตรีหรือเพลงใหม่ ๆ ให้คนอื่นรู้จักผ่านตัวอักษรตลอดเวลา